วันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2567

Type 22 Frigate in 2024

 

        บทความนี้ผู้เขียนขอเล่าเรื่องราวเรือฟริเกตอันดับหนึ่งในดวงใจ ในส่วนของการถือกำเนิดและเกิดใหม่อีกครั้งภายใต้ธงชาติประเทศอื่น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวสนุกน่าสนใจได้ความรู้เพิ่มเติมไม่มากก็น้อย ไม่พูดพร่ำทำเพลงเข้าสู่เนื้อหาบทความตั้งแต่เดี๋ยวนี้เลย

Type 22 Batch 1 Frigate

        ปี 1966 กองทัพเรืออังกฤษจัดตั้งโครงการเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดใหญ่ใช้ชื่อว่า CVA-01 Aircraft Carrier Programme ผลลัพธ์ตามมาคือการพัฒนาเรือรบรุ่นใหม่เพื่อใช้คุ้มกันเรือบรรทุกเครื่องบินราคาแพง หนึ่งในนั้นคือโครงการเรือฟริเกตรุ่นใหม่ทดแทนเรือฟริเกตชั้น Type 12 Leander ต่อมาในภายหลังมีการปรับเปลี่ยนให้กลายเป็น 2 แบบเรือประกอบไปด้วย เรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำติดอาวุธทันสมัยชั้น Type 22 และเรือฟริเกตอเนกประสงค์ชั้น Type 21 ซึ่งจัดเป็นเรือรบรุ่นประหยัด

        ต่อมาในปี 1972 บริษัท Yarrow Shipbuilders ได้รับสัญญาว่าจ้างสร้างเรือฟริเกต Type 22 Batch 1 จากกองทัพเรืออังกฤษจำนวน 4 ลำ เรือทุกลำเข้าประจำการระหว่างปี 1979 ถึง 1982 มีระวางขับน้ำประมาณ 4,400 ตัน ยาว 131 เมตร กว้าง 14.8 เมตร กินน้ำลึกสุดรวมโดมโซนาร์ 6.1 เมตร ใช้ระบบขับเคลื่อน COGOG เครื่องยนต์แก๊สรุ่นใหม่เทอร์ไบน์แทนที่เครื่องจักรไอน้ำ ความเร็วสูงสุด 30 นอต มีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ Lynx มากถึง 2 ลำ

        จุดเด่นเรือฟริเกต Type 22 Batch 1 คือไม่ได้ติดตั้งปืนใหญ่ที่หัวเรือ แต่เปลี่ยนเป็นแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ MM38 Exocet จำนวน 4 นัด เป็นเรือฟริเกตรุ่นแรกของอังกฤษที่ติดตั้งแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำตั้งแต่เข้าประจำการ รวมทั้งติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Wolf จำนวน 2 แท่นยิงมากถึง 12 นัด

ระหว่างสงครามฟอล์กแลนด์ Sea Wolf ถูกใช้งานจำนวน 8 นัด ยิงเครื่องบินอาเจนตินาตกจำนวน 3 ลำ มีส่วนร่วมหรือคาดว่ายิงเครื่องบินอาเจนตินาตกอีก 2 ลำ ผลงานโดยรวมยิง 8 นัดถูกเป้าหมาย 5 นัดถือว่าดียอดเยี่ยมในระดับเอเกือบบวก

เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายเพราะเศรษฐกิจตกสะเก็ด ภัยคุกคามทางทะเลก็พลอยลดลงแบบฮวบฮาบตามกัน รัฐบาลอังกฤษตัดสินใจปลดประจำการเรือฟริเกต Type 22 Batch 1 ทุกลำ ต่อมาในวันที่ 18 ธันวาคม 1994 รัฐบาลอังกฤษขายเรือฟริเกต Type 22 Batch 1 ทั้ง 4 ลำให้กับบราซิลในราคา 116 ล้านปอนด์ และทยอยส่งมอบเรือครบทุกลำภายในวันที่ 30 กันยายน 1996

Brazilian Navy

เรือฟริเกต Type 22 Batch 1 ย้ายมาอยู่บ้านหลังใหม่ที่อเมริกาใต้ เหตุผลที่รัฐบาลอังกฤษขายเรือให้กับบราซิลนั้นมีอยู่ว่า บราซิลซื้อเรือฟริเกตชั้น Vosper MK10 จากบริษัท Vosper Thornycroft มากถึง 7 ลำ ในเมื่อลูกค้าสำคัญอยากได้ Type 22 Batch 1 มีหรือที่อังกฤษจะไม่ยอมทำตาม

เท่ากับว่ากองทัพเรือบราซิลในยุค 90 ครึ่งหลัง มีเรือฟริเกตติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Wolf จำนวน 4 กับเรือฟริเกตติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Aspide อีก 7 ลำ ผู้เขียนขออนุญาตใช้คำว่ายิ่งใหญ่เกรียงไกรให้ดูเหมาะสมกับข้อเท็จจริง

ภาพประกอบที่หนึ่งเรือฟริเกต F Rademaker (F49) (ชื่อเดิมคือ F89 Battleaxe) เข้าประจำการครั้งที่สองในวันที่ 30 เมษายน 1997 หลังปรับปรุงครึ่งอายุการใช้งานให้เรือมีพร้อมรบอย่างเต็มที่ ระบบเรดาร์และอาวุธเกือบทั้งหมดยังคงเหมือนเดิม ปี 2003 เมื่ออาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ MM38 Exocet หมดอายุการใช้งาน กองทัพเรือบราซิลจึงจัดหา อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ MM40 Exocet มาใช้งานทดแทนในตำแหน่งเดิม

        เนื่องจากเรือฟริเกต Type 22 Batch 1 ไม่ได้ติดปืนใหญ่เหมือนเรือฟริเกตรุ่นอื่น กองทัพเรืออังกฤษจึงติดปืนกลมากกว่าเรือฟริเกตรุ่นอื่น โดยมีทั้งปืนกล 30 มม.ลำกล้องแฝดรุ่น GCM-A จำนวน 2 กระบอก และปืนกล 20 มม.รุ่น GAM-B01 อีก 2 กระบอก บังเอิญตอนขายเรือกองทัพเรืออังกฤษถอด GCM-A ออกเหลือเพียง GAM-B01 บราซิลจำเป็นต้องปรับปรุงจุดนี้เพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัยของเรือตัวเอง

MM40 Exocet

ภาพประกอบที่สองภาพบนซ้ายคือปืนกล 40 มม.รุ่น Bofors 40L70 ที่บราซิลนำมาทดแทนปืนกล 30 มม.ลำกล้องแฝด GCM-A ภาพประกอบที่สองภาพบนขวาคือปืนกล 20 มม.GAM-B01 ซึ่งมาพร้อมเรือ ส่วนภาพใหญ่คือแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ MM40 Exocet นอกจากแท่นยิงกับท่อยิงยังมีการติดตั้งกล่องสี่เหลี่ยมเพิ่มเติมเข้ามา ช่วยในการลดการตรวจจับจากคลื่นอิเล็กทรอนิกส์ไม่มากก็น้อย

สังเกตนะครับแท่นยิง MM40 Exocet บนเรือตั้งทำมุมไม่เกิน 30 องศาเหมือน MM38 Exocet ต่างจากแท่นยิง MM40 Exocet รุ่นใหม่ (เช่น Block 2) ซึ่งจะตั้งทำมุมประมาณ 60 องศาคล้าย Harpoon ข้อเสียก็คือใช้พื้นที่บนเรือเยอะกว่ากัน ส่วนข้อดีเมื่อ Exocet ถูกยิงออกไปจะบินขึ้นสูงไม่เกิน 50 เมตรก่อนลดระดับลงสู่ยอดคลื่น ต่างจาก Exocet Block 2 หรือ Harpoon เมื่อยิงออกไปจะบินขึ้นสูงประมาณ 100 เมตรก่อนลดระดับลงสู่ยอดคลื่น

เหตุผลที่แท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบรุ่นใหม่ตั้งทำมุมประมาณ 60 องศา อาจเป็นเพราะระยะยิงเพิ่มจาก 70 กิโลเมตรเป็น 180 กิโลเมตร โอกาสที่ฝ่ายตรงข้ามจะตรวจพบด้วยสายตาหรือเรดาร์เป็นไปได้ยากมาก ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อ Exocet บินไต่ยอดคลื่นเข้าใกล้เป้าหมายมากขึ้นกว่าเดิม เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ AESA รุ่นใหม่ย่อมตรวจจับได้อยู่ดี

จนถึงปัจจุบันเรือฟริเกต F Rademaker (F49) ยังคงประจำการตามปรกติ

ภาพประกอบที่สามคือเรือฟริเกต Greenhalgh (F46) หรือ F88 Broadsword ซึ่งเคยยิงเครื่องบินขับไล่ Dagger อาเจนตินาตก 1 ลำ ในสงครามฟอล์กแลนด์ (และโดน Dagger ยิงถล่มด้วยปืนกล 30 มม.จนเรือมีรูเยอะแยะไปหมด) ปี 2003 เรือได้รับการติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ MM40 Exocet เช่นเดียวกัน เพียงแต่ท่อยิงไม่มีกล่องสี่เหลี่ยมครอบเหมือนเรือฟริเกต F Rademaker (F49) กลางเรือมองเห็นปืนกล 40 มม.Bofors 40L70 กับปืนกล 20 มม.GAM-B01 อย่างชัดเจน

นี่คือภาพถ่ายเรือฟริเกตอันดับหนึ่งในใจผู้เขียนตลอดกาล

ต้องเป็น Type 22 Batch 1 เท่านั้น Batch อื่นไม่เคยอยู่ในสายตา

เรือฟริเกต Greenhalgh (F46) ปลดประจำการในปี 2021 ส่วนเรืออีก 2 ลำได้แก่เรือฟริเกต F Dodsworth (F47) ปลดประจำการปี 2012 และเรือฟริเกต F Bosísio (F48) ปลดประจำการปี 2015 เท่ากับว่าปัจจุบันกองทัพเรือบราซิลเหลือเรือฟริเกต Type 22 Batch 1 แค่ลำเดียว อายุประจำการมากถึง 44 ปีแซงหน้าเดอะแบกไทยแลนด์ไปไกลลิบลับ

Type 22 Batch 2 Frigate

        ปี 1979 รัฐบาลอังกฤษสั่งซื้อเรือฟริเกต Type 22 Batch 2 จำนวน 6 ลำ บริษัท Yarrow Shipbuilders ได้รับสัญญาว่าจ้างจำนวน 4 ลำ และบริษัท Swan Hunter ได้รับสัญญาว่าจ้างอีก 2 ลำ เรือ Batch 2 ระวางขับน้ำเพิ่มขึ้นจาก 4,400 ตันเป็น 4,800 ตัน ความยาวเพิ่มขึ้นจาก 131 เมตรเป็น 146.5 เมตร ความกว้างเท่าเดิม กินน้ำลึกมากกว่าเดิมเล็กน้อย ส่งผลให้เรือมีความยาวมากขึ้น 15.5 เมตรโดยมีความกว้างเท่าเดิม

        เครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์เปลี่ยนเป็นรุ่นใหม่ประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม ระบบเรดาร์และอาวุธป้องกันตัวเหมือน Batch 1 ทั้งหมด แต่เปลี่ยนระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์เป็นรุ่นทันสมัยมากขึ้น ระบบอำนวยการรบใช้คอมพิวเตอร์รุ่นใหม่กว่าประสิทธิภาพสูง เรดาร์ควบคุมการยิงเปลี่ยนจากรุ่น Type 910 เป็น Type 911 (เฉพาะ 4 ลำหลัง) รวมทั้งเพิ่มโซนาร์ลากท้าย Type 2031 VLF Towed Sonar เข้ามา ติดตั้งใกล้กับเป้าลวงลากท้าย Type 182 Towed Torpedo Decoy บริเวณท้ายเรือ

        โรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ปรับเปลี่ยนจากรองรับเฮลิคอปเตอร์ Lynx จำนวน 2 ลำเป็น Sea King หรือ EH101 Merlin จำนวน 1 ลำ (เฉพาะ 3 ลำสุดท้าย) ขนาดเรือที่ใหญ่ขึ้นและเครื่องยนต์ใหม่จะช่วยให้เรือเงียบกว่าเดิม แต่แล้วเมื่อใช้งานจริงปรากฏว่าเรือยังเงียบไม่พอสมความตั้งใจ

Romanian Naval Forces

        เรือฟริเกต Type 22 Batch 2 จำนวน 6 ลำเข้าประจำการระหว่างปี 1983 ถึง 1988 เวลาผันผ่านถึงเดือนสิงหาคม 2002 รัฐบาลโรมาเนียขอซื้อต่อจำนวน 2 ลำในวงเงิน 116 ล้านปอนด์ ราคาต่อลำอยู่ที่ 58 ล้านปอนด์โดยมีรายละเอียดสัญญาตามนี้

        1.โรมาเนียจะได้เรือฟริเกต Type 22 Batch 2 สภาพใหม่ที่สุดจำนวน 2 ลำ

        2.เรือได้รับการซ่อมใหญ่ในอังกฤษใช้งานต่อได้อีก 20 ปี

        3.เรือได้รับการปรับปรุงระบบอาวุธให้เหมาะสมกับความต้องการ

        ผู้เขียนขอแนะนำให้ทุกคนรู้จักเรือฟริเกต Type 22 Batch 2 กองทัพเรือโรมาเนีย ภาพประกอบที่สี่ภาพบนคือเรือฟริเกต Regele Ferdinand (F221) (ชื่อเดิม HMS Coventry F98) แท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ MM38 Exocet ที่หัวเรือถูกแทนที่ด้วยปืนใหญ่ OTO 76/62 Super Rapid แท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Wolf และเรดาร์ควบคุมการยิง Type 911 ถูกถอดออกทั้งหมด เพราะ Sea Wolf ยุติการผลิตไปแล้วส่วน VL Sea Wolf ต้องใช้งานกับแท่นยิงแนวดิ่ง โรมาเนียแค่ติดตั้งปืนกล 12.7 มม.เพิ่มอีก 4 กระบอกใช้เป็นปืนรองป้องกันตัวระยะประชิด

ดาดฟ้าโล่งคล้ายเรือหลวงช้างๆ ผู้อ่านคงสงสัยเรือทำอะไรได้บ้าง โรมาเนียใช้ในภารกิจปราบเรือดำน้ำเป็นหลัก ภารกิจปราบเรือผิวน้ำปล่อยให้เป็นหน้าที่เรือฟริเกตลำอื่นกับเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถี จัดเป็นเรือรบขนาดใหญ่ที่สุดออกทะเลลึกได้ดีที่สุด

ภาพประกอบที่สี่ภาพล่างคือเรือฟริเกต Regina Maria (F222) (ชื่อเดิมHMS London F95) หัวเรือแหลมกว่าเดิมยาวขึ้นอีกหลายเมตร มีการยืดความยาวระหว่างสะพานเดินเรือกับเสากระโดงหลัก ระเบียงสองกราบเรือยาวเสียจนผู้เขียนคิดถึงโรงเรียนเก่าสมัยมัธยมปลาย ท้ายเรือเห็นเฮลิคอปเตอร์ SA 330 Puma จอดได้อย่างเหมาะเหม็ง

จากเรือฟริเกตสวยที่สุดตลอดกาลใน Batch 1 กลายเป็นเรือฟริเกตดาดฟ้าโล่งขี้เหร่ตลอดกาลใน Batch 2 ไม่มีเรือรบลำไหนแย่งถ้วยบู้บี้คัพจากเรือโรมาเนียไปครอบครอง

Chilean Navy

        เมษายน 2003 รัฐบาลชิลีขอซื้อเรือฟริเกต Type 22 Batch 2 จำนวน 1 ลำในวงเงิน 27 ล้านปอนด์ ราคาค่อนข้างถูกเพราะเป็นการซื้อแบบ Hot Transfer ปลดประจำการแล้วส่งมอบเรือทันที ชิลีใช้งานสักพักหนึ่งจึงปรับปรุงใหญ่โดยใช้บริการบริษัท IAI จากอิสราเอล กลายเป็นเรือฟริเกตน่าเกรงขามชื่อ Almirante Williams (FF-19) (ชื่อเดิม HMS Sheffield F96) ในภาพประกอบที่ห้า

        หัวเรือติดตั้งปืนใหญ่ OTO 76/62 Super Rapid บนระเบียงใกล้เสากระโดงหลักติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon จำนวน 4 นัด (มากกว่านี้ระเบียงอาจหักได้) เรดาร์ควบคุมการยิงเปลี่ยนเป็น EL/M-2221 จำนวน 2 ตัว โดมทรงกลมเสากระโดงรองคือเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ EL/M-2238 ระยะตรวจจับ 350 กิโลเมตร กล่องสี่เหลี่ยมคล้ายถังน้ำข้างปล่องระบายความร้อนคือแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Barak 1 จำนวน 16 ท่อยิง ระยะยิงไกลสุด 12 กิโลเมตรเทียบกับ Sea Wolf ระยะยิง 5 กิโลเมตรถือว่าเพิ่มขึ้น 140 เปอร์เซ็นต์ ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำเปลี่ยนมาใช้งาน Mk46 ของอเมริกา ส่วนเฮลิคอปเตอร์ประจำเรือคือ AS532 Cougar ซึ่งสามารถติดอาวุธได้อย่างหลากหลาย

        Almirante Williams (FF-19) คือเรือฟริเกต Type 22 Batch 2 ที่ทรงพลานุภาพที่สุดในโลก ราคาปรับปรุงเรือย่อมโหดตามกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ เมื่อนำมาติดตั้งระบบเรดาร์และอาวุธอย่างครบครันเรือก็สวยขึ้นมาทันที Almirante Williams สวยทุกมุมมองยกเว้นปืนใหญ่ OTO 76/62 Super Rapid ดูจะเล็กเกินไปเมื่อเทียบกับขนาดเรือ

Type 22 Batch 3 Frigate

ปี 1982 รัฐบาลอังกฤษสั่งซื้อเรือฟริเกต Type 22 Batch 3 จำนวน 4 ลำ บริษัท Yarrow Shipbuilders ได้รับสัญญาว่าจ้างจำนวน 2 ลำ บริษัท Swan Hunter ได้รับสัญญาว่าจ้างจำนวน 1 ลำ และอีก 1 ลำเป็นของบริษัท Cammell Laird ระวางขับน้ำเพิ่มขึ้นจาก 4,800 ตันเป็น 4,900 ตัน ความยาวเพิ่มขึ้นจาก 146.5 เมตรเป็น 148.1 เมตร ระบบเรดาร์ยังคงเหมือนเดิมทว่าได้รับการติดตั้งอาวุธรุ่นใหม่ทันสมัยประกอบไปด้วย

หัวเรือติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 4.5 นิ้วรุ่น Mk8 พื้นที่ว่างหน้าปล่องระบายความร้อนถูกเฉือนออกส่วนหนึ่ง เพื่อติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon จำนวน 8 นัด (ปืนกล 30 มม.ลำกล้องแฝดรุ่น GCM-A ถูกถอดออกไป) พื้นที่ว่างส่วนที่เหลือติดตั้งระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Goalkeeper เป้าลวงอาวุธปล่อยนำวิถีและเป้าลวงตอร์ปิโดเปลี่ยนเป็นรุ่นใหม่ ออปโทรนิกส์ควบคุมการยิงบนหลังคาสะพานเดินเรือเพิ่มจาก 1 ตัวเป็น 2 ตัว ระบบกวนสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์หรือ ECM เปลี่ยนเป็นรุ่น Type 675(2) Jammer

เรือฟริเกต Type 22 Batch 3 มีทุกอย่างครบถ้วนตามที่สมควรมี จุดอ่อนเพียงจุดเดียวซึ่งเคยเป็นจุดแข็งในอดีตก็คืออาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Wolf เรือทั้ง 4 ลำเข้าประจำการระหว่างปี 1988 ถึง 1990 และปลดประจำการในปี 2011 ทุกลำเพื่อประหยัดงบประมาณ โดยไม่การขายต่อให้กับชาติพันธมิตรแม้แต่ลำเดียว

        เรือฟริเกตอายุ 21-24 ปีขายต่อไม่ได้สักลำ เหตุผลมีด้วยกันหลายประการ

1.ลูกค้าคนสำคัญไม่ได้อยู่ในสถานะพร้อมซื้อ

ลูกค้าคนสำคัญของอังกฤษมีด้วยกันสามชาติ หนึ่งบราซิลได้เรือฟริเกต Type 22 Batch 1 ไปแล้ว 4 ลำไม่เหลือเงินแล้ว สองชิลีได้เรือฟริเกต Type 22 Batch 2 จำนวน 1 ลำกับเรือฟริเกต Type 23 อีก 3 ลำ ถ้าอยากซื้อเรือเพิ่มต้องเป็น Type 23 เท่านั้น และสามบังกลาเทศซึ่งซื้อเรือมือสองจากอังกฤษมากที่สุด บังเอิญบังกลาเทศกำลังเล็งเรือฟริเกต Type 053 จากจีนก่อนจัดหามาใช้งานจำนวน 2 ลำ ส่งผลให้ไม่มีชาติไหนสนใจเรือฟริเกต Type 22 Batch 3 อย่างจริงๆ จังๆ

2.ชาติที่ต้องการซื้อเรือฟริเกต Type 22 Batch 3 จะไม่มี Sea Wolf ใช้งาน

        ปัญหาไม่มี Sea Wolf ใช้งานถือว่าค่อนข้างใหญ่ในปี 2003 อยากยิงเครื่องบินได้ต้องปรับปรุงใหญ่เหมือนเรือชิลี บังเอิญในปี 2011 การแก้ปัญหาง่ายกว่าชนิดหน้ามือหลังมือ ยกตัวอย่างเช่นถ้ากองทัพเรือไทยซื้อเรือฟริเกต Type 22 Batch 3 มาใช้งานจำนวน 2 ลำ แท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Wolf กับเรดาร์ควบคุมการยิง Type 911 ถอดออกไปเลย หัวเรือติดตั้งแท่นยิง Mk 49 สำหรับระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด RAM ขนาด 21 ท่อยิง ท้ายเรือติดตั้งปืนกลอัตโนมัติ DS30M Mark 2 จำนวน 1-2 กระบอก ส่วน Goalkeeper ได้ก็ดีไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพียงเท่านี้ก็สามารถใช้งานเรือได้อีก 20 ปีแบบสบายๆ

ปัญหาเรื่องไม่มี Sea Wolf ใช้งานจึงไม่ใช่ปัญหาใหญ่เมื่อเทียบกับปัญหาข้อสุดท้าย

3.เรือมีขนาดใหญ่เกินไป ค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติภารกิจสูงเกินไป ระบบขับเคลื่อนผลาญเชื้อเพลิงมากเกินไป ไม่เหมาะสมกับชาติเล็กชาติน้อยซึ่งมีงบประมาณจำกัด

ก่อนจากกัน

        ปัจจุบันเรือฟริเกต Type 22 เหลือประจำการเพียง 4 ลำจาก 14 ลำ ประกอบไปด้วย Type 22 Batch 1 ของบราซิลจำนวน 1 ลำ Type 22 Batch 2 ของโรมาเนียจำนวน 2 ลำ และ Type 22 Batch 2 ของชิลีอีก 1 ลำ โดยมีเพียงเรือบราซิลลำเดียวที่ไม่ได้ติดตั้งปืนใหญ่หัวเรือ จัดเป็นเรือสภาพเดิมจากโรงงานแค่เปลี่ยนรองเท้าคู่ใหม่เท่านั้น

อ้างอิงจาก

https://www.naval.com.br/ngb/D/D025/D025.htm

https://www.naval.com.br/blog/2013/05/31/fragata-rademaker-pronta-para-receber-misseis-exocet-mm-40

https://www.hazegray.org/navhist/rn/frigates/t22/

https://en.wikipedia.org/wiki/Type_22_frigate

https://x.com/Armada_Chile/status/1302350890184200196

https://www.seaforces.org/marint/Royal-Navy/Frigate/F-85-HMS-Cumberland.htm


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น