วันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2567

The Legend of Type 21 Frigate

 

        ระหว่างปี 1969 บริษัท  Vosper Thornycroft ได้รับสัญญาสร้างเรือฟริเกตอเนกประสงค์ชั้น Type 21 จำนวน 3 ลำจากรัฐบาลอังกฤษ ถัดมาอีก 2 ปีมีการสั่งซื้อเพิ่มจำนวน 5 ลำโดยให้บริษัท Yarrow Shipbuilders ช่วยสร้างเรือเพื่อความรวดเร็ว เรือฟริเกตรุ่นใหม่ทั้ง 8 ลำเข้าประจำการระหว่างปี 1974 ถึง 1978

        เมื่อได้เรือฟริเกตชั้น Type 21 เข้าประจำการครบทุกลำ กองทัพเรืออังกฤษทยอยปลดประจำการหรือขายต่อเรือฟริเกตชั้น Type 41 หรือเรือชั้น Leopard กับเรือฟริเกต Type 61 หรือเรือชั้น Salisbury จำนวนทั้งหมด รวมทั้งมีการขายต่อเรือฟริเกตชั้น Type 12 หรือเรือชั้น Leander บางลำให้กับประเทศพันธมิตร

The Original Type 21 Frigate

        ก่อนหน้านี้เรือฟริเกตอังกฤษทั้งรุ่น Type 41 Type 61 หรือ Type 12 จะมีรูปทรงโบราณใกล้เคียงกัน หัวเรือถูกออกแบบให้ค่อนข้างสูงเป็นพิเศษเพื่อสู้คลื่นลม ก่อนตัดเตี้ยลงประมาณ 1 เมตรเพื่อติดตั้งปืนใหญ่หน้าสะพานเดินเรือ บริเวณท้ายเรือติดตั้งจรวดปราบเรือดำน้ำ Limbo ซึ่งกินพื้นที่ค่อนข้างมาก โดยอาจมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็กเพิ่มเติมเข้ามา ทว่าเรือฟริเกต Type 21 ซึ่งถูกปรับปรุงจากเรือฟริเกตรุ่นส่งออกชั้น Vosper MK5 และ Mk7 มีความแตกต่างจากเรือฟริเกตรุ่นเก่าอย่างชัดเจน

Vosper Thornycroft ปรับปรุงให้เรือฟริเกต Type 21 มีความทันสมัยหัวจรวดท้าย รองรับการทำสงครามทางทะเลยุคเปลี่ยนถ่ายได้เป็นอย่างดี เพียงแต่ติดตั้งอาวุธป้องกันตัวค่อนข้างน้อยประกอบไปด้วย ปืนใหญ่ขนาด 4.5 นิ้วจำนวน 1 กระบอก ปืนกลขนาด 20 มม.จำนวน 2 กระบอก และอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Cat จำนวน 4 นัด

ต่อมาในปี 1979 กองทัพอังกฤษมีแผนการปรับปรุงเรือจำนวน 5 จุดประกอบไปด้วย

1.ติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ MM38 Exocet ในการปรับปรุงมีการติดตั้งจริงบนเรือจำนวน 6 ลำจาก 8 ลำ

2.ติดตั้งแท่นยิงแฝดสาม STWS-1 สำหรับตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mk 46 ในการปรับปรุงมีการติดตั้งจริงเฉพาะเรือบางลำแต่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูล

3.เปลี่ยนเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำจากรุ่น Wasp เป็น Lynx

4.เปลี่ยนโซนาร์หัวเรือเป็นรุ่น Type 2016 ข้อเสนอนี้กองทัพเรืออังกฤษบอกปัดไม่ทำเพราะเห็นว่าไม่จำเป็น

5.แทนที่อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Cat ด้วย Sea Wolf และเปลี่ยนเรดาร์ควบคุมการยิงตัวหลังเป็นรุ่น Type 910 ข้อเสนอนี้กองทัพเรืออังกฤษบอกปัดไม่ทำโดยอ้างว่าจะทำให้ท้ายเรือหนักเกินไป

ผลจากบอกปัดของกองทัพเรืออังกฤษจะตามมาในภายหลัง

หลังการปรับปรุงเรือฟริเกตอเนกประสงค์ชั้น Type 21 แต่ละลำมีความแตกต่างกันมากบ้างน้อยมาก ภาพประกอบที่หนึ่งคือเรือฟริเกต HMS Ambuscade (F172) ถ่ายในปี 1982 หลังสงครามฟอล์กแลนด์เสร็จสิ้นแล้ว หัวเรือติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 4.5 นิ้วรุ่น Mk8 ถัดไปเล็กน้อยคือแท่นยิงเป้าลวง Corvus ขนาด 8 ท่อยิงจำนวน 2 แท่นยิง ระเบียงสะพานเดินเรือติดตั้งปืนกล Oerlikon ขนาด 20 มม.จำนวน 2 กระบอก บนหลังคาโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Cat ขนาด 4 ท่อยิง

การปรับปรุงที่เกิดขึ้นกับเรือ HMS Ambuscade (F172) มีเพียงสองอย่าง หนึ่งได้เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ Lynx มาใช้งาน และสองติดตั้งแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำบริเวณสองกราบเรือข้างโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์

หมายเหตุ : ยุค 70 กองทัพเรืออังกฤษมีหลักนิยมในการทำสงครามปราบเรือดำน้ำค่อนข้างแปลก พวกเขาจะใช้โซนาร์จำนวน 2 ตัวบนเรือช่วยกันตรวจจับเป้าหมาย ก่อนสั่งการให้เฮลิคอปเตอร์บินไปทิ้งตอร์ปิโดเบาตามพิกัดที่ตรวจพบ (ฉะนั้นเราจะได้คำว่า Wasp Action! ทุกครั้งที่เรือต้องการทำลายเป้าหมายใต้น้ำ) ต่างจากหลักนิยมสหรัฐอเมริกาในยุค 70 ชนิดหน้ามือหลังมือ กองทัพเรือสหรัฐอเมริกาจะส่งเฮลิคอปเตอร์หรือเครื่องบินบินมาตรวจสอบเป้าหมายด้วยโซนาร์ชักหย่อนหรือโซโนบุย จากนั้นจึงให้เรือฟริเกตแล่นเข้ามายิงทำลายด้วยอาวุธปล่อยนำวิถีปราบเรือดำน้ำ ASROC หรือตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ หลักนิยมสหรัฐอเมริกาทหารเรือไทยในยุคนั้นมีความคุ้นเคยเป็นอย่างดี

ต่อมาในยุค 80 อังกฤษเริ่มปรับเปลี่ยนหลักนิยมหลังเข้าประจำการเฮลิคอปเตอร์ Westland Sea King โดยการใช้เฮลิคอปเตอร์ตรวจสอบเป้าหมายด้วยโซนาร์ชักหย่อน และใช้เฮลิคอปเตอร์อีกลำทิ้งตอร์ปิโดทำลายเป้าหมายใต้น้ำ ทว่าช่วงแรกต้องใช้งานเฮลิคอปเตอร์ Sea King บนเรือบรรทุกเครื่องบินเท่านั้น เมื่อเรือฟริเกต Type 22 Batch 2 เข้าประจำการจริงจึงจะสามารถนำ Sea King ไปกับเรือได้

เพราะเป็นเรือฟริเกตรุ่นประหยัดนอกจากติดตั้งอาวุธค่อนข้างน้อย ระบบเรดาร์และอุปกรณ์อื่นๆ บนเรือจึงกลายเป็นรุ่นประหยัดตามกัน เริ่มจากใช้งานโซนาร์รุ่นเก่า Type 184M สำหรับตรวจจับเป้าหมายและ 162M สำหรับระบุเป้าหมาย ใช้เรดาร์ตรวจการณ์รุ่น Type 992Q ระยะทำการ 112 กิโลเมตร เรดาร์พิสูจน์ฝ่าย Type 1010 กับเรดาร์เดินเรือ Type 1006 อย่างละหนึ่งตัว ส่วนเรดาร์ควบคุมการยิง Type 912 จำนวน 2 ตัวอังกฤษซื้อเรดาร์ควบคุมการยิง RTN-10X จากอิตาลีมาใช้งาน ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ถูกตัดทิ้งผู้เขียนหาไม่เจอ ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อให้ราคาสร้างเรืออยู่ในงบประมาณที่ค่อนข้างจำกัดจำเขี่ย

สังเกตบริเวณสองกราบเรือข้างโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์กันสักนิด เรือ HMS Ambuscade (F172) ถูกเจาะเป็นช่องสามเหลี่ยมขนาดใหญ่นะครับ

ภาพประกอบที่สองเรือฟริเกต HMS Amazon (F169) ในปี 1986 ภาพเล็กมุมบนขวาเรือติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ MM38 Exocet จำนวน 4 ท่อยิงหน้าสะพานเดินเรือ และโยกแท่นยิงแท่นยิงเป้าลวง Corvus มาไว้กลางเรือ (สร้างระเบียงยื่นออกมาเล็กน้อย) เป็นการปรับปรุงตามแผนการ Exocet Programme กับเรือรบสำคัญๆ  ทุกลำของอังกฤษ แท่นยิง Exocet ส่งผลให้เรือหน้าตาดุดันไม่เกรงใจใครมากกว่าเดิม

ภาพใหญ่ฝั่งซ้ายสุดคือจุดผูกเรือบริเวณท้ายเรือ กราบขวาติดตั้งเครนขนาดเล็กสำหรับปล่อยเป้าลวงตอร์ปิโดแบบลากจูงรุ่น Type 182 บนลานจอดคือเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ Lynx HAS2 บนโรงเก็บคือแท่นยิงแฝดสี่ GWS-24 บรรจุอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Cat จำนวน 2 นัด ต่ำลงมาเล็กน้อยติดตั้งปืนกล Oerlikon ขนาด 20 มม. เท่ากับว่าเรือฟริเกต HMS Amazon (F169) ไม่ได้ติดตั้งแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ

สังเกตบริเวณสองกราบเรือข้างโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์กันสักนิด เรือ HMS Amazon (F169) ถูกเจาะเป็นช่องสามเหลี่ยมขนาดเล็ก เข้าใจว่าจุดนี้สามารถถอดแผ่นอะลูมิเนียมออกได้หรือใส่เข้าไปใหม่ได้ แต่ผู้เขียนไม่ทราบเหตุผลรู้แค่เพียงบางภาพ HMS Amazon (F169) เป็นช่องสามเหลี่ยมขนาดใหญ่บางภาพก็เป็นช่องสามเหลี่ยมขนาดเล็ก

Type 21 Frigate Export Version

นอกจากขายทำมาค้าขายกับกองทัพเรืออังกฤษตามปรกติ ระหว่างปี 1975 บริษัท Vosper Thornycroft เสนอแบบเรือฟริเกตชั้น Type 21 รุ่นส่งออกให้กับกองทัพเรืออาเจนตินา โดยการนำแบบเรือดั้งเดิมมาขัดเกลาเพียงเล็กน้อย มีการปรับเปลี่ยนใช้อาวุธรุ่นใหม่ทันสมัยกว่าเดิม และติดตั้งเรดาร์รุ่นส่งออกผสมปนเปกับรุ่นใช้งานในประเทศ

เรือฟริเกตรุ่นส่งออกระวางขับน้ำและความยาวใกล้เคียงรุ่นดั้งเดิม หัวเรือติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 4.5 นิ้วรุ่น Mk8 หน้าสะพานเดินเรือและหลังคาโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Wolf น้ำหนักเบาขนาด 2 ท่อยิงจำนวน 4 แท่นยิง ส่งผลให้เรือมี Sea Wolf ไว้ยิงเครื่องบินฝ่ายตรงข้ามจำนวน 8 นัด

สะพานเดินเรือรูปทรงหกเหลี่ยมผสมครึ่งวงกลมเหมือนเดิม Superstructure ข้างเสากระโดงหลักขยายความกว้างเท่าสองกราบเรือ ใช้เป็นจุดติดตั้งปืนกล 30 มม.ลำกล้องแฝด GCM-A จำนวน 2 กระบอก แท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ MM38 Exocet จำนวน 4 ท่อยิง และแท่นยิงเป้าลวง Corvus ขนาด 8 ท่อยิงจำนวน 2 แท่นยิง โดยมีแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำรุ่น Mk 32 จำนวน 2 แท่นยิงข้างโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์

เรือใช้เรดาร์ตรวจการณ์ S685 N หรือรุ่นส่งออกของ Type 992Q ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ S810 P เรดาร์เดินเรือ Type 1006 เรดาร์ควบคุมการยิง Type 910 จำนวน 2 ตัวเหมือนเรือฟริเกต Type 22 และโซนาร์ PMS 32 หรือรุ่นส่งออกของ Type 184M

เทียบกับ Type 21 รุ่นดั้งเดิมซึ่งเน้นความประหยัดตามงบประมาณ Type 21 รุ่นส่งออกทันสมัยกว่าเพราะมี Sea Wolf ถึง 8 นัดและมีแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ เพียงแต่แท่นยิงแฝดสองของ Sea Wolf ค่อนข้างรุงรังเกินไป ถ้าเปลี่ยนมาใช้งานแท่นยิงแฝดสี่ซึ่งมีน้ำหนักเบาเช่นเดียวกันน่าจะเหมาะสมมากกว่า

ผลการคัดเลือกอาเจนตินาซึ่งอุดหนุนเรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศ Type 42 ไปแล้วจำนวน 2 ลำ ให้ความสนใจเรือฟริเกต Meko 360 จากเยอรมันมากกว่า Type 21 ท้ายที่สุดจึงจัดหามาใช้งานจำนวน 3 ลำในปี 1980

Type 21 Command Frigate

ระหว่างปี 1985 บริษัท Vosper Thornycroft เสนอแบบเรือฟริเกตชั้น Type 21 Command Frigate ให้กับกองทัพเรือปากีสถาน เป็นการนำแบบเรือฟริเกต Type 21 มาปรับปรุงให้มีความทันสมัยมากกว่าเดิม จนมีหน้าตาแตกต่างจากเดิมโดยเฉพาะส่วนหัวเรือ Superstructure กลางเรือถูกเฉือนออกใช้เป็นจุดติดตั้งอาวุธรุ่นใหม่ ส่วนปล่องระบายความร้อน โรงเก็บและลานจอดเฮลิคอปเตอร์ยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

หัวเรือติดตั้งปืนใหญ่ OTO 76/62 Compact หน้าสะพานเดินเรือคือแท่นยิงแนวดิ่ง GWLS-26 สำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Wolf จำนวน 16 ท่อยิง ใช้เรดาร์ตรวจการณ์ AWS-09 เรดาร์ควบคุมการยิง ST1802SW จำนวน 2 ตัว กลางเรือติดแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon จำนวน 8 นัด ใช้ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ APECS II จาก Thales หลังคาสะพานเดินเรือติดตั้งระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx และมีแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำแฝดสามรุ่น Mk 32 จำนวน 2 แท่นยิง

Type 21 Command Frigate ใช้ระบบเรดาร์และอาวุธรุ่นใหม่ทันสมัย ฉะนั้นราคาเรือย่อมไม่น่ารักน่าชังเหมือน Type 21 รุ่นดั้งเดิม ปากีสถานในปี 1985 ไม่มีเงินซื้อเรือป้ายแดงต้องเช่าเรือฟริเกตจากสหรัฐอเมริกาใช้งานต่อไป

Vosper MK10 Frigate

        ระหว่างปี 1970 บริษัท Vosper Thornycroft ขายเรือฟริเกตชั้น Vosper MK10 ให้กับกองทัพเรือบราซิลจำนวน 7 ลำ แบ่งเป็นเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำจำนวน 4 ลำ เรือฟริเกตปราบเรือผิวน้ำจำนวน 2 ลำ และเรือฝึกจำนวน 1 ลำ ตามสัญญาเรือฟริเกต 4 ลำสร้างในอังกฤษส่วนเรือฟริเกตและเรือฝึกอีก 3 ลำสร้างในบราซิล เรือฟริเกตและเรือฝึกชั้น Niterói ทุกลำเข้าประจำการระหว่างปี 1976 ถึง 1986

หมายเหตุ : บราซิลสร้างเรือฟริเกตลำแรกตั้งแต่ปี 1972 พวกเขาใช้ความพยายามสร้างเรือด้วยตัวเองมานานแสนนาน ทว่าจนถึงปัจจุบันบราซิลยังไม่สามารถสร้างเรือฟริเกตได้ด้วยตัวเอง ต้องเสียเงินรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีสร้างเรือรุ่นใหม่จากเยอรมัน ฉะนั้นการสร้างเรือฟริเกตไม่ใช่หมูตู้ที่อยู่ดีๆ ใครนึกอยากสร้างก็สร้างได้

เรือฟริเกต Type 21 มีระวางขับน้ำเต็มที่ 3,250 ตัน ยาว 117 เมตร กว้าง 12.7 เมตร กินน้ำลึกสุด 5.8 เมตร ส่วนเรือฟริเกต Vosper MK10 ระวางขับน้ำเต็มที่ 3,707 ตัน ยาว 129.2 เมตร กว้าง 13.5 เมตร กินน้ำลึกสุด 5.5 เมตร รูปร่างหน้าตาเรือสองรุ่นมีความคล้ายคลึงกันมาก ประมาณว่านำ Type 21 มาต่อความยาวท้ายเรือเพื่อติดอาวุธเพิ่มเติม กลายเป็นเรือส่งออกรุ่นสุดท้ายในตระกูล Vosper MK ซึ่งมีขนาดใหญ่โตมากที่สุด

ภาพประกอบที่ 5 คือเรือฟริเกต Vosper MK10 รุ่นปราบเรือผิวน้ำ ติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 4.5 นิ้วรุ่น Mk8 จำนวน 2 กระบอกที่หัวเรือ-ท้ายเรือ ติดตั้งจรวดปราบเรือดำน้ำ Bofors ขนาด 375 มม.รุ่นสองลำกล้องหน้าสะพานเดินเรือ ติดตั้งปืนกล Bofors 40L70 จำนวน 2 กระบอกข้างเสากระโดงหลัง กลางเรือติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ MM38 Exocet จำนวน 4 ท่อยิงในภายหลัง ถัดไปเป็นแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำแฝดสามรุ่น Mk 32 จำนวน 2 แท่นยิง บนหลังคาโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์คือแท่นยิงแฝดสี่ GWS-24 อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Cat จำนวน 2 แท่นยิงหรือ 8 นัด

เรือฟริเกต Vosper MK10 รุ่นปราบเรือดำน้ำติดอาวุธแตกต่างกันเล็กน้อย ปืนใหญ่ขนาด 4.5 นิ้วท้ายเรือถูกแทนที่ด้วยแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีปราบเรือดำน้ำ Ikara ระยะยิง 19 กิโลเมตร และไม่มีการติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ MM38 Exocet ใช้เรดาร์เหมือนกันประกอบไปด้วย เรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ AWS2 เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ ZW-06 เรดาร์ควบคุมการยิง RTN-10X จำนวน 2 ตัว โซนาร์หัวเรือ EDO-610E ส่วนโซนาร์ลากท้าย EDO-700E มีเฉพาะรุ่นปราบเรือดำน้ำจำนวน 4 ลำ

นี่คือยุคเรืองรองมากที่สุดของเรือฟริเกตส่งออกจากอังกฤษ หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็อยู่ในยุคขาลงเหมือนกันทั้ง Vosper Thornycroft และ Yarrow Shipbuilders

Falklands War

        วันที่ 5 เมษายน 1982 หลังอาเจนตินาใช้กำลังบุกยึดฟอล์กแลนด์เพียง 3 วัน กองเรือเฉพาะกิจของอังกฤษออกเดินทางจากท่าเรือเมือง Portsmouth มาหยุดพักเพื่อเตรียมความพร้อมครั้งสุดท้ายที่เกาะ Ascension ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นฐานทัพส่วนหน้า หลังเติมน้ำมัน รับเสบียง ทาสีเครื่องบินและเรือบางลำเสร็จเรียบร้อย กองเรือจึงออกเดินทางเข้าสู่เขตประกาศสงครามระหว่างอังกฤษกับอาเจนตินา โดยมีเรือฟริเกต Type 21 จำนวน 7 ลำจาก 8 ลำเข้าร่วมกองเรือเฉพาะกิจเพื่อทำสงคราม

        การจัดขบวนเรือแถวหน้าจะมีเรือฟริเกต Type 21 จำนวน 7 ลำ และเรือพิฆาต Type 42 จำนวน 5 ลำ แล่นปะปนกันเป็นรูปครึ่งวงกลม ใช้อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Cat กับ Sea Dart ช่วยป้องกันภัยทางอากาศ เรือฟริเกต Type 22 จำนวน 2 ลำ และเรือพิฆาตชั้น County จำนวน 2 ลำตามประกบเรือบรรทุกเครื่องบินทั้ง 2 ลำ ใช้อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Wolf กับ Sea Seaslug ช่วยป้องกันเรือที่มีความสำคัญมากที่สุด ส่วนเรือฟริเกต Type 12M และ Type 12L กับเรือพิฆาต Type 82 ซึ่งไม่ค่อยพร้อมรบสักเท่าไรอยู่แถวสองช่วยคุ้มครองกองเรือที่ตามมาด้านหลัง

        ต่อมาเมื่อเรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศ HMS Sheffield (D80) ถูกยิงจมด้วยอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ AM39 Exocet อังกฤษรีบเปลี่ยนแผนนำเรือพิฆาต Type 42 มาจับคู่กับเรือฟริเกต Type 22 เพื่อป้องกันเรือบรรทุกเครื่องบิน โดยมีเรือพิฆาต Type 82 ซึ่งมีแค่ 1 ลำทำหน้าที่สนับสนุน หวังใช้ Sea Wolf กับ Sea Dart เป็นปราการด่านสุดท้ายป้องกันไข่ในหิน ส่งผลให้เรือฟริเกต Type 21 ซึ่งอยู่แถวหน้าต้องเจองานหนักมากกว่าเดิม โชคดีเหลือเกินระหว่างเดินทางไม่ถูกโจมตีจากอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ AM39 Exocet

สงครามฟอล์กแลนด์สิ้นสุดลงในวันที่ 14 มิถุนายน 1982 กองทัพเรืออังกฤษสูญเสียเรือฟริเกต Type 21 ระหว่างทำการรบจำนวน 2 ลำประกอบไปด้วย

วันที่ 21 พฤษภาคม 1982 ระหว่างทำหน้าที่คุ้มกันการยกพลขึ้นบก เรือฟริเกต HMS Ardent (F184) ถูกโจมตีด้วยเครื่องบินโจมตี A-4Q Skyhawk กองทัพเรืออาเจนตินา ระเบิดขนาด 1,000 ปอนด์ตกใส่ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ท้ายเรือเกิดไฟไหม้อย่างรุนแรง เจ้าหน้าที่บนเรือควบคุมเพลิงไม่ได้เกิดความเสียหายอย่างหนัก วันรุ่งขึ้น HMS Ardent (F184) จึงลงสู่ท้องทะเลไม่ไกลจากเกาะฟอล์กแลนด์

วันที่ 23 พฤษภาคม 1982 ระหว่างทำหน้าที่คุ้มกันการยกพลขึ้นบก เรือฟริเกต HMS Antelope (F170) ถูกโจมตีด้วยเครื่องบินโจมตี A-4B Skyhawk กองทัพอากาศอาเจนตินา เจ้าหน้าที่บนเรือพยายามยิงสกัดด้วยอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Cat แต่พลาดเป้าหมาย ในการโจมตีรอบที่สองระเบิดขนาด 1,000 ปอนด์ลูกหนึ่งตกใส่เรือแต่ไม่ระเบิด กัปตันรีบนำเรือหลบออกมาจากสมรภูมิเพื่อกู้ระเบิด โชคร้ายไม่ประสบความสำเร็จเรือฟริเกต HMS Antelope (F170) จึงระเบิดไฟลุกท่วมลำและจมลงไม่ไกลจากชายฝั่ง San Carlos ซึ่งใช้เป็นจุดยกพลขึ้นบก

ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเรือฟริเกตทั้ง 2 ลำมาจากการสนับสนุนการยกพลขึ้นบก อาเจนตินาใช้เครื่องบินลอบเข้าโจมตีโดยบินระดับต่ำ อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Cat สกัดกั้นไม่สำเร็จจึงเกิดความสูญเสีย 2 ครั้งติดกัน ถ้ากองทัพเรืออังกฤษตัดสินใจติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Wolf บนเรือฟริเกต Type 21 ความสูญเสียอาจลดลงเหลือเพียง 1 ลำหรือไม่สูญเสียเลยเป็นไปได้เหมือนกัน

กองเรือเฉพาะกิจอังกฤษมีเรือติดตั้ง Sea Cat จำนวน 17 ลำ 21 แท่นยิง ยิงเครื่องบินอาเจนตินาตก 0 ลำ มีส่วนร่วมหรือคาดว่ายิงเครื่องบินอาเจนตินาตกจำนวน 1 ลำ

กองเรือเฉพาะกิจอังกฤษมีเรือติดตั้ง Sea Wolf จำนวน 3 ลำ 5 แท่นยิง ยิงเครื่องบินอาเจนตินาตกจำนวน 3 ลำ มีส่วนร่วมหรือคาดว่ายิงเครื่องบินอาเจนตินาตกอีก 2 ลำ

        สถิติในการรบระหว่าง Sea Cat กับ Sea Wolf แตกต่างกันเสียจนน่าใจหาย

Type 21 Frigate for Pakistan

        ระหว่างปี 1988 หลังยกเลิกแผนการจัดหาเรือฟริเกต Type 21 Command Frigate รัฐบาลปากีสถานเจรจากับรัฐบาลอังกฤษเรื่องความเป็นไปได้ในการซื้อเรือฟริเกต Type 21 มาใช้งาน ต่อมาในปี 1992 รัฐบาลอังกฤษตัดสินใจขายเรือฟริเกต Type 21 จำนวน 6 ลำหรือทั้งหมดให้กับรัฐบาลปากีสถาน นำมาประจำการทดแทนเรือฟริเกตชั้น Brooke จำนวน 4 ลำ และเรือฟริเกตชั้น Garcia อีก 4 ลำที่เช่ามาจากสหรัฐอเมริกา

        การส่งมอบเรือทั้ง 6 ลำเกิดขึ้นระหว่างปี 1993 ถึง 1994 กองทัพเรือปากีสถานกำหนดให้เป็นเรือพิฆาตชั้น Tariq ใช้ตัวอักษร D นำหน้าหมายเลขเรือ ราคาเรือฟริเกตมือสองจากอังกฤษจำนวน 6 ลำอยู่ที่ 59.33 ล้านปอนด์

        กองทัพเรือปากีสถานใช้งานเรือพิฆาตทั้ง 6 ลำตามปรกติ จนกระทั่งปี 2002 อาวุธปล่อยนำวิถี Sea Cat และ MM38 Exocet หมดอายุการใช้งาน จึงได้มีการปรับปรุงเรือแบ่งออกเป็น 2 รุ่นย่อยประกอบไปด้วย

        1.รุ่นปราบเรือผิวน้ำจำนวน 3 ลำตามภาพประกอบที่ 7 หน้าสะพานเดินเรือติดตั้งติดแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon จำนวน 8 ท่อยิงทดแทน MM38 Exocet หลังคาโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ติดตั้งระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx ทดแทน Sea Cat เสากระโดงหลักติดเสาร์สัญญาณระบบสื่อสารและระบบ ESM จาก Thales เปลี่ยนมาใช้งานระบบเป้าลวง MASS จากเยอรมัน โดยมีเรือจำนวน 2 ลำติดตั้งแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ

2.รุ่นป้องกันภัยทางอากาศจำนวน 3 ลำตามภาพประกอบที่ 8 หน้าสะพานเดินเรือติดตั้งติดแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน LY-60 จำนวน 6 ท่อยิงทดแทน MM38 Exocet เรดาร์ควบคุมการยิงตัวหน้าเปลี่ยนเป็นรุ่น Type 345 หลังคาโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ติดตั้งปืนกลขนาด 30 มม.รุ่น DS30B จำนวน 2 กระบอกทดแทน Sea Cat เสากระโดงหลักติดเสาร์สัญญาณระบบสื่อสารและระบบ ESM จาก Thales เปลี่ยนมาใช้งานระบบเป้าลวง MASS จากเยอรมัน ไม่มีเรือแม้แต่ลำเดียวติดตั้งแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ

        ปัจจุบันเรือพิฆาตชั้น Tariq หรือเรือฟริเกตชั้น Type 21 ปลดประจำการครบทุกลำ

ก่อนจากกัน

        วันที่ 25 กันยายน 2023 รัฐบาลปากีสถานประกาศส่งมอบเรือฟริเกต PNS Tariq (D-181) ให้กับรัฐบาลอังกฤษ เพื่อนำไปจัดทำพิพิธภัณฑ์ลอยน้ำที่ Clyde Maritime Heritage Centre เมือง Glasgow ประเทศ Scotland การปรับปรุงสถานที่จะแล้วเสร็จภายในปี 2024 เรือฟริเกต HMS Ambuscade (F172) ได้หวนกลับคืนสู่แผ่นดินแม่อีกครั้ง เพราะตอนที่สร้างเรือลำนี้ก็สร้างใน เมือง Glasgow ประเทศ Scotland

อ้างอิงจาก

https://www.seaforces.org/marint/Royal-Navy/Frigate/Amazon-Type-21-class.htm

https://www.secretprojects.co.uk/threads/rn-type-21-weapons-fits.33772/

https://www.secretprojects.co.uk/threads/royal-navy-destroyers-and-frigates-post-1966.39460/page-3

https://en.wikipedia.org/wiki/Type_21_frigate

https://quwa.org/pakistan-navy-news/pakistan-sends-type-21-frigate-back-to-the-uk-2/

https://x.com/falklands_utd/status/734002075399421952

https://en.wikipedia.org/wiki/Tariq-class_destroyer

https://babriet.tripod.com/navy/stat/type21.htm

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น