วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

34 Rules of Submarine

 

ข้อห้ามบางอย่างเมื่อไปหัดในเรือดำน้ำ

        อีกไม่นานกองทัพเรือไทยจะมีเรือดำน้ำสร้างโดยประเทศจีนใช้งาน ผู้เขียนขอนำบทความ 'ข้อห้ามบางอย่างเมื่อไปหัดในเรือดำน้ำ' ซึ่งรวบรวมจากบันทึก เรือเอกสวัสดิ์ จันทนมณี มาให้อ่านกันไปพลางๆ ก่อนเป็นน้ำจิ้ม จะได้เข้าใจชัดเจนถึงความยากลำบากในการใช้ชีวิตในเรือดำน้ำ ซึ่งมีความแตกต่างจากเรือผิวโดยทั่วไปต้องมีข้อห้ามและความระมัดระวังมากกว่าเดิม

                +++++++++++++++++++

ในโอกาสที่ทหารเรือไทยถูกส่งไปหัดและศึกษาที่เมืองไมซูรุซึ่งเป็นฐานทัพเรือของญี่ปุ่น ทางปกครองได้ออกข้อห้ามหลายสิบข้อเพื่อความปลอดภัยของชีวิต และให้ดำเนินไปตามข้อบังคับของกระทรวงทหารเรือญี่ปุ่น

ข้อบังคับบางข้อบางท่านอาจเห็นว่าไม่น่าบังคับ ดังนั้นจำเป็นต้องมีคำอธิบายประกอบเพื่อให้เข้าใจแจ่มแจ้ง

ทางปกครองได้กำหนดไว้ 34 ข้อด้วยกันคือ

1.ห้ามถ่ายและสเกทช์ภาพหรือวิว

ด้วยเหตุที่เมืองนี้เป็นฐานทัพเรือ วิวต่างๆ จึงเป็นของสงวนยิ่งนัก นอกจากนั้นวิวตามเมืองต่างๆ เช่นโกเบก็ห้ามเช่นกัน ส่วนเมืองใดที่เป็นฐานทัพแม้แต่ภาพก็ถ่ายไม่ได้ ตามร้านเราจะหาซื้อบัตรภาพไม่ได้เช่นเดียวกัน ท่าเรือแทบทุกท่าเรือเราจะเห็นป้ายเขียนคำว่า 'Fortified Zone' เป็นส่วนมาก

2.การส้วมให้กระทำเสียก่อนการเข้ารบ

ในระหว่างดำน้ำห้ามส้วม

ก่อนกระทำการดำผู้บังคับการเรือมักกำหนดเวลาไว้ล่วงหน้าเสมอ ทหารทุกคนต้องส้วมให้เสร็จสิ้นเสียก่อน เพราะว่าเมื่อดำลงไปแล้วการส้วมจะลำบากสักหน่อย โดยเหตุที่ส้วมมีอยู่ส้วมเดียว และถ้าส้วมภายในเรือ (หมายถึงภายในเปลือกในของเรือ) แล้วจะทำให้เหม็นและต้องใช้น้ำเป่า ซึ่งเป็นเรื่องลำบากกว่าเรือบนผิวน้ำมาก

ในเวลาสงครามถ้าเรือดำตั้งหลายๆ ชั่วโมง การส้วมก็พึงกระทำได้ภายในเรือ แต่อย่างไรก็ตามทหารทุกคนต้องหัดอดกลั้นในกิจชนิดนี้ สำหรับผู้ที่มีท้องร่วงก็จำเป็นต้องอนุญาต

ในการหัดของพวกเราที่แล้วๆ มานั้น ห้องส้วมเขาใช้เป็นห้องเก็บเสบียงเสียทีเดียว เพื่อกันความยุ่งยากเสียแต่ต้นมือ และการหัดของเราก็ไม่เคยเกิน 2 ชั่วโมงสักคราวเดียว

3.ในเวลาแล่นเรือบนผิวน้ำอนุญาตให้พักบนดาดฟ้าและในห้องเครื่องได้

ในเวลาแล่นเรือบนผิวน้ำนั้น ผู้มีหน้าที่ก็ไปประจำหน้าที่ของตน ส่วนผู้ที่ออกยามแล้วอาจจะพักได้ตามที่ซึ่งกำหนดไว้ การที่กำหนดไว้ทั้งแห่งนั้นก็เพื่อสะดวกทั้งพรรคนาวินและพรรคกลิน

อากาศในห้องเครื่องนั้นอับกว่าอากาศบนดาดฟ้านิดหน่อยเท่านั้น แม้ว่าในเวลาชาร์จไฟฟ้าก็ตาม มีเครื่องพัดลมระบายอากาศอยู่เสมอ ดังนั้นเราจะรู้สึกว่าอากาศทั้งภายนอกและภายในเรือเกือบไม่ผิดกันเลย

การที่อนุญาตให้เช่นนั้นก็มีประโยชน์มิให้ทหารฝ่ายไทยไปรุ่มร่ามแก่คนประจำหน้าที่ของเขาด้วยอีกประการหนึ่ง ส่วนผู้ที่ต้องการความรู้เพิ่มเติมก็ย่อมมีโอกาสสืบถามได้จากคนประจำหน้าที่นั้นๆ

4.เวลาแล่นเรือให้ระวังหมวกตกน้ำ

เมื่อขึ้นบนดาดฟ้าบางขณะลมแรง ทหารย่อมระวังหมวกของตนเอง ถ้าตกน้ำเสียจะหาเปลี่ยนไม่ได้ ดังนั้นถ้าผู้ใดไม่มั่นใจควรเอาสายรัดคางลงเสีย

5.ต้องขึ้นลงที่ฝาจมโพล่และบันไดโดยรวดเร็ว

การที่บังคับให้ขึ้นลงโดยรวดเร็วนี้เพื่อหัดให้เป็นนิสัยต่อไปในเบื้องหน้า เพื่อประโยชน์แก่การเตรียมเรือเข้ารบหรือเวลาถูกคลื่นใหญ่

บางครั้งแม้ไม่มีความประสงค์จะดำก็ตาม ถ้ามีคลื่นใหญ่จำต้องถือท้ายภายในเรือ คนต้องลงประจำหน้าที่ภายในเรือทั้งหมด ดังนั้นจึงต้องลงบันไดโดยรวดเร็วทยอยกันลงไป ถ้าชักช้าคลื่นอาจจะสาดเข้ามาในฝาจมโพล่ ซึ่งจะเกิดอุบัติเหตุภายหลังได้

การขึ้นลงบันไดห้ามมิให้สาวราวบันได ต้องจับตรงราวมิฉะนั้นนิ้วมืออาจถูกคนอื่นเหยียบก็ได้ ด้วยเหตุที่ช่องลงหรือฝาจมโพล่มีเนื้อที่เฉพาะคนๆ เดียว ดังนั้นจึงต้องหันหน้าเข้าหาขั้นบันได และต้องไต่โดยรวดเร็วจึงจะทันการไม่ว่าโอกาสใด

6.ต้องระวังศีรษะและเท้าให้จงหนัก

ด้วยเหตุที่ภายในเรือมีแป๊บ, วาล์ว, เกช และอื่นๆ ระเกะระกะไปหมด ทหารทุกคนต้องสวมหมวกไว้เสมอ มิฉะนั้นศีรษะอาจจะกระแทกสิ่งเหล่านั้นได้ และการเดินต้องดูซ้ายดูขวาให้ทั่ว ที่ใดควรมุดหรือควรยึดตัวจักได้รู้ไว้ เพื่อสะดวกแก่การทำงานในเวลาแสงน้อย

การที่ให้ระวังเท้าด้วยนั้น ก็กลัวจะเตะอะไรต่อมิอะไรนั่นเอง

ทั้งนี้เป็นการหัดให้ทหารทุกนายรู้จักระวังตัว และหัดสังเกตเพื่อเอาไว้ใช้ในการเวลาฉุกละหุก

7.เวลากลางคืนห้ามขึ้นบนดาดฟ้า

ทหารย่อมมีที่พักผ่อนของตนในห้องอยู่แล้ว ผู้ที่ว่างงานต้องอยู่ในห้องนี้ การที่ห้ามขึ้นนั้นก็เพื่อต้องการมิให้ตกน้ำเท่านั้นเอง เพราะดาดฟ้าเป็นเหล็กโดยมาก แต่ภายหลังเมื่อมีความชินและความระมัดระวังตัวเองได้ดีพอแล้ว ก็เป็นอันว่าอนุญาตให้ขึ้นบนดาดฟ้าได้

ส่วนเวลากลางวันนั้นแม้จะตกน้ำลงไป ก็สามารถช่วยเหลือกันได้โดยทันท่วงที

8.ห้ามสูบบุหรี่และจุดไฟภายในเรือ

การที่ห้ามจุดไฟหรือสูบบุหรี่นี้ ก็เพื่อป้องกันการระเบิดซึ่งเกิดจากเปลวเพลิงนั้น

ทหารทุกคนถ้าอดบุหรี่ได้ก็เป็นอันไม่ต้องกังวลไปอีกข้อหนึ่ง แต่ตามความสังเกตของข้าพจ้าเห็นว่านักดำน้ำทุกคนสูบบุหรี่จัด ทั้งนี้เพราะเวลาดำหรือลงไปอยู่ในเรือเป็นเวลานานๆ ความกระหายบุหรี่ย่อมมีมาก ครั้นขึ้นบนดาดฟ้าได้เป็นต้องสูบตั้ง 2-3 มวนซ้อนก็มี

ภายในเรือเขาใช้ Torchlight หรือ Flashlight (ไต้ไฟฟ้า) กันทั่วไป แต่ตามปรกติในที่เปิดเผยแสงไฟฟ้าก็สว่างพอแล้ว การหุงต้มก็ใช้ความร้อนจากไฟฟ้า

9.เวลาเตรียมเรือเข้ารบห้ามอยู่บนดาดฟ้า

เวลาเตรียมเรือเข้ารบก็คือขั้นแรกของการเตรียมดำนั่นเอง ผู้มีหน้าที่ต้องตรวจตราทุกคนมิให้หลงอยู่ในส้วมได้ และตรวจหน้าที่ของตนให้เรียบร้อยจึงรายงานผู้บังคับการเรือ แล้วให้รีบลงไปภายในเรือทุกคน

ถ้าบังเอิญหลงอยู่บนดาดฟ้าด้วยประการใดๆ ก็ตาม และเมื่อเรือดำลงไปแล้วให้โยกเทเลกราฟให้อยู่ตรง 'หยุด' ไว้เสมอแต่ถ้าทำไม่สำเร็จให้พยายามเอามือปิดหน้ากล้องตาเรือไว้ เพราะผู้บังคับการเรือย่อมไม่กล้าดำเลยถ้ากล้องตาเรือถูกอะไรปิดเสียก่อน แต่ห้ามแกล้งให้น้ำเข้าเรือเพราะเรืออาจเป็นอันตรายได้ง่าย ต้องคิดถึงชีวิตคนหมู่มาก

10.ขณะดำให้พูดค่อยๆ

ขณะดำน้ำอยู่นั้นเสียงเครื่องจักรย่อมอึกทึกมากโดยที่อยู่ในเขตจำกัด ดังนั้น 'คำสั่ง' จากผู้บังคับการหรือต้นเรือเท่านั้นที่ต้องใช้ตะโกนอย่างชัดถ้อยชัดคำ ส่วนคำสั่งของต้นกลย่อมใช้สัญญาณเพราะถึงตะโกนก็ฟังออกได้ยาก

11.ขณะดำห้ามเคลื่อนที่ก่อนได้รับอนุญาต

การเคลื่อนที่ในตามทางยาวย่อมทำให้ทริม (Trim) เปลี่ยน คืออาจจะด้อยหัวหรือด้อยท้าย น้ำหนักคนเพียงคนเดียวเรือเล็กๆ ของเราก็ย่อมรู้สึกตัว ดังนั้นถ้าเรือเปลี่ยนน้ำหนักไปก็ต้องรายงานเสียก่อน เพื่อต้นเรือจักได้เตรียมแก้ไขได้ทันท่วงที

การเปลี่ยนที่ในทางตามขวางอนุญาตให้ทำได้

การเปลี่ยนยมอนุญาตให้ทำได้โดยปริยาย เพราะน้ำหนักที่ใช้สับเปลี่ยนนั้นมาชดเชยกันอยู่แล้ว ดังนั้นจึงเป็นหลักที่ถือกันอยู่ว่าตนต้องรู้จักที่นอนของตนดี ไม่ต้องไปเที่ยวนอนนอกเขตกำหนด

12.เมื่อเกิดอุบัติเหตุทำห้ามการใดๆ โดยพลการ

เมื่อเกิดอุบัติเหตุเช่นไฟลุก, น้ำเข้าเรือ, เรือเอียง, เรือด้อย เครื่องเสีย หรืออื่นๆ ให้รีบตะโกนทางกระบอกพูดรายงานมายังหอบังคับการทันที ห้ามมิให้ทำงานโดยพลการ

อย่างไรก็ตามอย่าถือเถรตรงนัก เช่นไฟไหม้จะมัวรอคำสั่งตามแบบนั้นก็เรียกว่าขาดปฏิภาณ หัวหน้างาน ณ ที่นั้นต้องรีบมาเอากระบอกฉีดยาดับเพลิงไปเตรียมไว้ก่อนก็ได้ ส่วนการดับนั้นผู้บังคับการเรือหรือนายยามจะได้สั่งต่อภายหลัง เพราะอยู่กันใกล้ๆ แค่นี้เอง

ขอย้ำว่าอนุญาตให้ทำก่อนได้ในเมื่อเห็นว่าปลอดภัยหรือป้องกันภัยที่จะลุกลามขึ้น แต่อย่าลืมตะโกนรายงานให้ทันท่วงทีเป็นอันขาด เพราะชีวิตของคนทุกคนย่อมอยู่ในกำมือของผู้บังคับการเรือซึ่งรับผิดชอบตลอดลำ

13.ขณะดำห้ามวิ่ง

การวิ่งย่อมทำให้ทริมเปลี่ยนเร็วจักมีอันตราย อีกประการหนึ่งพื้นที่ภายในเรือนั้นเป็นเหล็กทำให้ลื่นง่าย ถ้าวิ่งเท้าอาจพลาดสอดไปทำอันตรายแก่เครื่องอุปกรณ์ใดๆ หรือเท้าอาจเป็นอันตรายได้

อันตรายที่เกิดจากทริมเปลี่ยนนี้คืออาจทำให้หัวทิ่มหรือหัวเชิด ซึ่งอาจเป็นเหตุให้กรดในหม้อหกทำให้ช็อตและระเบิดขึ้นได้ หรือมิฉะนั้นหัวเรืออาจทิ่มดิ่งลงไปก็ได้

ก่อนดำน้ำทุกคราวต้นเรือย่อมคำนวณและถ่ายน้ำบรรจุน้ำไว้ดีแล้ว ถ้ามีการเปลี่ยนทริมคราวใดต้องรายงานให้หอบังคับการทราบเสมอเพื่อเตรียมแก้ไข

14.ห้ามจับต้องวาล์วต่างๆ

ผู้ไม่มีหน้าที่ห้ามจับหรือหมุนวาล์วเล่นเป็นอันขาด เพราะอาจทำให้น้ำทะเลรั่วไหลเข้ามาในเรือโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นเหตุให้เรือจมดิ่งลงก้นทะเลได้ง่าย

อีกประการหนึ่งถ้าเป็นวาล์วอากาศ อากาศจะรั่วไหลโดยไม่รู้ตัวเป็นเหตุให้โผล่ไม่ขึ้นก็ได้

15.ห้ามนำเป้าโลหะเข้าใกล้หรือถูกต้องสวิตช์ไฟฟ้า

ทั้งนี้เพื่อป้องกันไฟฟ้าช็อต ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดระเบิดขึ้นได้

16.ห้ามใช้ชุดเพื่ออบอุ่นร่างกาย

การใช้ชุด (ใคโรใบ) เพื่ออบอุ่นร่างกาย ผู้ใช้ย่อมต้องจุดชุดแล้วไฟก็ลุกอยู่ภายในชุดนั้น ไฟในชุดนั้นเองจะเป็นเหตุให้เกิดระเบิดขึ้นได้ ดังนั้นจึงห้ามใช้เสียทีเดียว แต่สำหรับเมื่อมาในสยามแล้ว อากาศย่อมไม่หนาวที่จะมาจุดชุดกันได้ นับว่าหมดปัญหาข้อนี้ไปโดยไม่ต้องกังวล

17.ห้ามทิ้งเศษกระดาษนอกที่ที่กำหนด

ที่สำหรับทิ้งกระดาษหรือเศษผงภายในเรือมีกระป๋องอยู่ที่หน้าห้องสูทกรรมแห่งเดียว ผู้ใดใช้กระดาษ (เช่นกระดาษเช็ดน้ำมูก) ต้องเก็บไว้ในกระเป๋าของตนแล้วนำมาทิ้งลงทะเลภายหลังจึงจะสะดวกมาก

การที่สั่งห้ามนี้เพื่อป้องกันสกปรก แล้วป้องกันกระดาษเหล่านั้นเข้าไปอุดรูหรือช่องต่างๆ เสีย

18.ห้ามแขวนเสื้อผ้านอกที่ที่กำหนด

เสื้อผ้าในที่นี้หมายถึงเสื้อผ้าทุกชนิดตลอดจนถุงเท้า, ถุงมือ ยิ่งเป็นของเล็กๆ ก็ยิ่งสำคัญมากเพราะมองไม่ใคร่เห็น การที่ห้ามนี้ก็เพื่อป้องกันมิให้เข้าไปพันหรือเข้าไปมัดสิ่งเคลื่อนไหว เช่นคันต่อเครื่องถือท้ายหรือคันต่อเทเลกราฟเป็นต้น

19.ต้องประหยัดน้ำจืดให้มากที่สุด

ถังน้ำจืดในเรือบรรจุได้ไม่ถึง 2 ตัน ดังนั้นต้องประหยัดกันยิ่งกว่าเรือรบชนิดใดๆ ทั้งหมด ข้อนี้ไม่จำเป็นต้องอธิบาย เวลาเดินทางถ้าถังอับเฉาใด (ซึ่งไม่จำเป็นต้องถ่ายน้ำ) จะบรรจุน้ำจืดไว้บ้างก็ควร

20.ห้ามวางของผิดที่

ทั้งนี้เกี่ยวกับทริมดังอธิบายไว้แล้ว และอีกประการหนึ่งก็เข้าตำรา ‘หยิบก็ง่าย หายก็รู้ ดูก็งาม’

21.ให้อาเจียนในที่ที่กำหนด

ภายในเรือไม่มีกระโถน ที่ที่กำหนดให้อาเจียนก็คือบนดาดฟ้า แต่ข้อนี้ย่อมสุดวิสัยที่ผู้ต้องการอาเจียนจะทนได้ในเมื่อผู้นั้นอยู่ภายในเรือ ข้อสำคัญมีว่าเมื่ออาเจียนแล้วรีบเช็ดเสีย

22.ห้ามบ้วนน้ำลาย

น้ำลายต้องหัดกลืน มิฉะนั้นต้องมายืนอยู่บนดาดฟ้าเรือตลอดเวลา จะมีได้อีกวิธีหนึ่งก็คือบ้วนใส่กระดาษแล้วใส่กระเป๋าไว้

23.ต้องจัดเวรทำความสะอาดและตั้งโต๊ะ

ข้อนี้เป็นธรรมดาไม่ต้องอธิบาย แต่เมื่อได้ไปหัดจริงๆ พวกเราไม่ต้องทำความสะอาดสักหน ส่วนการตั้งโต๊ะพวกเราก็มีแต่ปิ่นโตไปรับอาหารจากสูทกรรมญี่ปุ่นเท่านั้น ไม่เห็นต้องตั้งโต๊ะสักครั้ง

โต๊ะอาหารก็คือกระดานเตียงนอนของทหารนี่เอง แต่พับได้หรือหลุบปีกได้ เวลานอนก็กางออกเป็นพื้นธรรมดาไป

24.ห้ามรับประทานอาหารพิเศษ

คำว่า ‘อาหารพิเศษ’ คืออาหารทุกสิ่งนอกจากทางเรือแจกให้รับประทาน ทั้งนี้เพื่อหัดทหารไทยให้อดทน หรือมิให้พกของจุกจิกไปจะรุงรังเปล่าๆ

อาหารที่ทางเรือแจกให้รับประทานนั้นเหมือนกันหมดทุกคนตั้งแต่ผู้บังคับการเรือจนถึงพลประจำเรือ

25.ห้ามเข้าครัว

ครัวที่เรือนั้นเข้าไป  3 คนก็เบียดกันแล้ว ใครขืนเข้าไปเรียกว่าขโมยของรับประทานเท่านั้น

26.ห้ามรับประทานอาหารนอกที่ที่กำหนด

ทหารต้องรับประทานที่โต๊ะอาหารเว้นเสียแต่วันใดที่แน่น ผู้บังคับบัญชาอาจจะสั่งให้ขึ้นมารับประทานบนดาดฟ้าได้เป็นการครั้งคราว

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่พื้นท้องเรือเปิดเพื่อตรวจสอบแบตเตอรี่ พวกเราต้องกระจายกันรับประทานโดยทั่วไป เราต้องระวังเสียแย่เพราะถ้าปิ่นโตอลูมิเนียมซึ่งถืออยู่นั้น ถ้าตกลงไปถูกหม้อไฟฟ้าเข้าแล้วอาจจะทำให้ไฟช็อตขึ้นได้

27.จัดสิ่งของให้เรียบร้อยเสมอ

สิ่งของที่นำติดตัวไปนั้นมีผ้าห่มนอน 2 ผืน ถุงมือทำงาน หมวกเสื้อกางเกงทำงาน เสื้อคลุมกันหนาว ปิ่นโต เครื่องล้างหน้าสีฟัน (บางครั้งถ้ามีกำหนดจะพบนายทหารผู้ใหญ่ พวกนายทหารเราก็มีถุงมือขาวและเครื่องราชอิสริยาภรณ์จำลองไปด้วย)

การจัดให้เรียบร้อยนั้นไม่จำเป็นต้องอธิบาย ทั้งนี้ก็เพื่อให้เป็นระเบียบ

28.ห้ามนอนนอกที่ที่กำหนด

เนื่องด้วยทริมดังกล่าวแล้ว และเพื่อจะตรวจคนได้ง่าย  

29.เมื่อยังไม่ถอดรองเท้า ห้ามเหยียบโต๊ะ เก้าอี้ หรือที่เท้าแขน

ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้สิ่งของที่ถูกเหยียบนั้นสกปรกเท่านั้นเอง

30.เวลาส้วมต้องใช้กระดาษอย่างนิ่มชำระ

เสร็จแล้วต้องสูบน้ำไล่ทิ้ง

ส้วมบนดาดฟ้าเท่านั้นที่พวกเราใช้ส้วมกัน (เพราะส้วมในเรือกลายเป็นคลังเสบียงไปเสียแล้ว)

การที่ป้องกันก็เพื่อมิให้ส้วมตัน

31.การส้วมให้ปฏิบัติตามคำแนะนำ

คำแนะนำที่ปิดไว้ในส้วมภายในเรือเป็นอันว่าไม่ได้อ่าน เพราะไม่เคยได้ใช้ส้วมสักที

32.ห้ามใช้รองเท้าที่ตอกหมุดที่พื้น

หมุดที่พื้นรองเท้าคือเหล็กกันรองเท้าสึก การที่ห้ามเช่นนี้ก็เพื่อป้องกันมิให้ลื่นเวลาอยู่ในเรือประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งก็เพื่อป้องกันมิให้เกิดประกายไฟในเวลาเดิน

33.ให้ปฏิบัติตามคำสั่ง

ข้อนี้ไม่ต้องอธิบาย

34.อาหารที่จัดให้ แม้ไม่รับประทานก็ต้องเสียเงิน

ข้อนี้เพื่อตัดความยุ่งยากจากคนที่กินบ้างเว้นบ้าง

‘ข้อห้ามบางอย่าง’ รวม 34 ข้อนี้นายนาวาเอก ยัดซุชิโร ท่านผู้ปกครองทหารเรือดำน้ำไทย ได้ให้ไว้เมื่อก่อนออกเดินทางไปรับเรือโระ 64 จากไมซูรุมายังโกเบ ดังนั้นจึงมีบางข้อที่บ่งตรงถึงทหารไทย ดังที่ท่านเคยได้พบข้อบกพร่องหรือความปฏิบัติตนอันควรต้องตักเตือน อีกประการหนึ่งคราวนี้เป็นคราวแรกที่พวกเราจะได้ลงหัดในเรือดำน้ำด้วย ดังนั้นท่านจึงวางกฎเหล่านี้ไว้ละเอียดมากสักหน่อย

+++++++++++++++++++

ข้อห้ามบางอย่างรวม 34 ข้อสิ้นสุดลงเพียงเท่านี้ โดยคร่าวๆ นอกจากต้องรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบภายในเรือ สิ่งสำคัญมากที่พูดถึงบ่อยครั้งคือเรื่องส้วมภายในเรือ ซึ่งทหารเรือดำน้ำไทยใช้เป็นห้องเก็บเสบียงไม่เคยใช้งานสักครั้ง สิ่งที่ผู้เขียนอ่านแล้วไม่เข้าใจก็คือเรื่องส้วมบนดาดฟ้า เรือดำน้ำมีส้วมบนดาดฟ้าตรงไหน??

หมายเหตุ : เรือโระ 64 หรือ RO-64 คือเรือดำน้ำที่ใช้ในการฝึกทหารเรือดำน้ำไทย เรือมีระวางขับน้ำ 1,301 ตันขณะดำน้ำ ยาว 78.39 เมตร เทียบกับเรือดำน้ำชั้นมัจฉานุซึ่งมีระวางขับน้ำ 430 ตันขณะดำน้ำ ยาว 51 เมตร ต้องบอกว่าเรือโระ 64 มีขนาดใหญ่กว่าพอสมควร ฉะนั้นปัญหาเรื่องส้วมเรือดำน้ำไทยย่อมมีมากกว่าเรือดำน้ำญี่ปุ่นไปด้วย

                            +++++++++++++++++++

อ้างอิงจาก : อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือเอกสนอง ธนศักดิ์

https://en.wikipedia.org/wiki/Japanese_submarine_Ro-64

 

       

 

       

 

 

 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น