วันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2566

ASROC Frigate

 

อาวุธปล่อยนำวิถีปราบเรือดำน้ำ RUR-5 ASROC คือหมัดเด็ดใช้ในการเผด็จศึกเรือดำน้ำจากระยะไกล สามารถโจมตีเป้าหมายตั้งแต่ระยะทาง 10 กิโลเมตรขึ้นไป มีลักษณะผสมระหว่างอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบกับอาวุธปราบเรือดำน้ำ โดยมีอุปกรณ์สำคัญๆ ที่จำเป็นต้องใช้งานประกอบไปด้วย

    - อาวุธปล่อยนำวิถี

    - แท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถี

    - ระบบโซนาร์สำหรับตรวจจับและพิสูจน์ทราบเป้าหมาย เพื่อส่งข้อมูลไปยังเครื่องควบคุม

    - ระบบควบคุมการยิง มีหน้าที่ควบคุมการโคจรของอาวุธนำวิถี ให้เดินทางไปถึงยังจุดหมายที่กำหนด ก่อนปลดอาวุธปราบเรือดำน้ำให้ตกสู่พื้นน้ำ

อาวุธปล่อยนำวิถีปราบเรือดำน้ำ RUR-5 ASROC ประกอบไปด้วย โครงลูกจรวดใช้บรรจุอาวุธปราบเรือดำน้ำ มอเตอร์ขับเคลื่อนตัวจรวด และชุดกลไกปลดอาวุธปราบเรือดำน้ำให้ตกสู่พื้นน้ำ ASROC จะเดินทางสู่เป้าหมายด้วยระบบขับเคลื่อนเชื้อเพลิงแข็ง ก่อนที่อาวุธปราบเรือดำน้ำจะลงสู่พื้นน้ำเหนือตำแหน่งที่ตั้งข้อมูลไว้ล่วงหน้า

ถ้าอาวุธปราบเรือดำน้ำเป็นตอร์ปิโด ทันทีที่ตอร์ปิโดแยกตัวจากโครงจรวด ร่มหน่วงความเร็วท้ายตอร์ปิโดจะกางออก เพื่อลดอัตราความเร็วในการตกสู่พื้นน้ำ และควบคุมการตกสู่พื้นน้ำให้มีความปลอดภัย ร่มจะปลดออกโดยอัตโนมัติเมื่อตอร์ปิโดตกถึงพื้นน้ำ และแบตเตอรี่ตอร์ปิโดจะเริ่มทำงานเมื่อสัมผัสน้ำทะเล

ถ้าอาวุธปราบเรือดำน้ำเป็นระเบิดลึกนิวเคลียร์ ทันทีที่แยกตัวจากโครงจรวด ลูกระเบิดลึกจะยังคงโคจรต่อไปด้วยแรงเฉื่อย โดยใช้ครีบหางรักษาเสถียรภาพการทรงตัว ซึ่งครีบหางจะกางออกโดยอัตโนมัติ และหลุดออกเมื่อกระทบกับพื้นน้ำโดยแรง ลูกระเบิดลึกจะจมลงและระเบิดตามความลึกที่กำหนดไว้

อเมริกาเริ่มต้นพัฒนา RUR-5 ASROC ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1950 ตั้งใจนำมาประจำการทดแทน RUR-4 Weapon Alpha ซึ่งล้าสมัยและมีระยะยิงค่อนข้างสั้น Weapon Alpha รูปร่างหน้าตาคล้ายปืนใหญ่ขนาด 5.25 นิ้ว ใช้ยิงระเบิดลึกขนาด 238 กิโลกรัมได้ไกลสุดเพียง 730 เมตร เมื่ออเมริกาพัฒนาตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ Mark 44 เข้าประจำการเป็นที่เรียบร้อย จึงได้ต่อยอดกลายเป็น RUR-5 ASROC ระยะยิงไกลสุด 10 กิโลเมตร

ราชนาวีไทยเคยมี RUR-5 ASROC ใช้งานบนเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำจากสหรัฐอเมริกาจำนวน 2 ลำ

เรือฟริเกตชุดเรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

การจัดหาเรือฟริเกตที่มีขนาดใหญ่และสมรรถนะสูง รวมทั้งติดตั้งอาวุธที่ทันสมัยนั้น จะต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการที่สูงมาก ดังนั้นแนวคิดที่จะหาเรื่องที่สร้างใหม่ให้ได้ครบตามความต้องการกองทัพเรือ จึงมีความเป็นไปได้ไม่ง่ายนัก อย่างไรก็ตามเมื่อสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงเนื่องจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ทำให้สหรัฐอเมริกาเริ่มพิจารณาการสะสมอาวุธลงเพื่อลดค่าใช้จ่ายในด้านการป้องกันประเทศ โดยได้กำหนดแผนที่จะปลดเรือ เครื่องบิน และอาวุธหลายประเภทออกจากการประจำการด้วยวิธีการขายหรือให้เช่าแก่ประเทศพันธมิตร

ในการนี้กองทัพเรือจึงมีความสนใจที่จะจัดหาเรือฟริเกตที่กองทัพเรือสหรัฐจะปลดระวางประจำการดังกล่าว เนื่องจากมีราคาถูก และยังคงมีอายุใช้งานได้อีกนาน อีกทั้งสมรรถนะและระบบอาวุธก็มีความสามารถสูงตามมาตรฐานกองทัพเรือสหรัฐ ซึ่งจะสามารถตอบสนองความต้องการทางยุทธการและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ทางเรือของกองทัพเรือได้เป็นอย่างดี

เพื่อเป็นการจัดหาขีดความสามารถด้านการป้องกันภัยทางอากาศเป็นพื้นที่ (Area Air Defence) ให้แก่กองเรือในทะเล รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการรบพื้นน้ำ และปราบเรือดำน้ำ กองทัพเรือจึงได้แสดงความจำนงที่จะจัดหาเรือพิฆาตชั้น Charles F. Adam (DDG-2) ซึ่งมีขนาด สมรรถนะ และขีดความสามารถ รวมทั้งระบบอาวุธเช่นเดียวกับเรือฟริเกตแบบที่กองทัพเรือต้องการ โดยมีอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะปานกลางแบบ Standard Missile SM-1 ระยะยิง 25 ไมล์ทะเลเป็นอาวุธหลัก แต่กองทัพเรือสหรัฐได้ชี้แจงว่า เรือพิฆาตชั้น Charles F. Adam มีอายุมากถึง 30 ปีแล้ว จะต้องใช้งบประมาณในการบำรุงรักษาสูงมาก อีกทั้งระบบต่างๆ ก็มีความสลับซับซ้อนและยุ่งยากต่อการบำรุงรักษา จึงได้เสนอแนะเรือฟริเกตชั้น Knox ซึ่งมีอายุน้อยกว่าถึง 10 ปี มีระบบอุปกรณ์ต่างๆ ทันสมัยและยุ่งยากน้อยกว่า โดยที่ขีดความสามารถและสมรรถนะรวมทั้งระบบอาวุธอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน และเนื่องจาก เรือฟริเกตชั้น Knox นี้ กองทัพเรือสหรัฐได้ทยอยส่งมอบให้กับกองทัพเรือของประเทศพันธมิตร ทั้งในลักษณะการขายและให้เช่าในราคาถูกแล้วหลายประเทศ ได้แก่ กรีซ ไต้หวัน อียิปต์ และตุรกี เป็นต้น จึงมีประสบการณ์ในการปรับปรุงเรือและฝึกอบรมกำลังพลให้สามารถใช้เรือได้เป็นอย่างดี ซึ่งหากกองทัพเรือจัดหาเรือฟริเกตชั้น Knox ดังกล่าว ก็เชื่อถือได้ว่าจะสามารถรับมอบเรือมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า

เมื่อพิจารณาว่าเรือฟริเกตชั้น Knox ยังมีอายุไม่มากนัก การซ่อมบำรุงและจัดหาอะไหล่ยังดำเนินการได้โดยสะดวก เพราะยังคงมีเรือดังกล่าวประจำการอยู่ในกองทัพเรือสหรัฐ และกองทัพเรือของประเทศพันธมิตรหลายประเทศ มีเฮลิคอปเตอร์ประจำเรือพร้อมโรงเก็บ อีกทั้งระบบอาวุธก็คล้ายคลึงกับแบบที่กองทัพเรือจัดหามาติดตั้งบนเรือฟริเกตชุดเรือหลวงนเรศวร ซึ่งจะช่วยทำให้การส่งกำลังบำรุงให้กับเรือดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด เพราะสามารถใช้สิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์บางอย่างร่วมกันได้ กองทัพเรือจึงตกลงใจที่จะพิจารณาดำเนินการจัดหาเรือดังกล่าวมาใช้ราชการจำนวน 4 ลำ

ในขั้นแรกกองทัพเรือสหรัฐ สามารถจัดหาเรือฟริเกตชุดนี้ให้กองทัพเรือไทยได้เพียง 2 ลำ แต่เมื่อพลเรือเอก ประพัฒน์ กฤษณจันทร์ เดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกาตามคำเชิญของผู้บัญ๙การทหารเรือสหรัฐ ท่านได้ชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นของกองทัพเรือในการจัดหาเรือฟริเกตชั้น Knox จำนวน 4 ลำ จนสหรัฐเข้าใจและยอมเลื่อนความต้องการของไทยไว้เป็นลำดับแรก แต่เป็นที่น่าเสียดายที่กองทัพเรือสามารถจัดหาเรือชุดนี้ได้เพียง 2 ลำเท่านั้น โดยกองทัพเรือได้รับมอบเรือลำแรก คือ เรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก 461 แล้ว เมื่อ 30 กรกฎาคม 2537 ส่วนเรือหลวงพุทธเลิศหล้านภาลัย 462 ได้รับมอบจากสหรัฐเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2541

โครงการเรือฟริเกตสมรรถนะสูง

เรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกกับเรือหลวงพุทธเลิศหล้านภาลัย คือเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำทันสมัยที่สุดในย่านอาเซียน แต่เนื่องมาจากเป็นเรือเก่าเหลืออายุการใช้งานเพียง 20 กว่าปี ฉะนั้นในปี 2556 รัฐบาลจึงได้อนุมัติให้กองทัพเรือจัดหาเรือฟริเกตรุ่นใหม่จากประเทศเกาหลีใต้จำนวน 1 ลำในวงเงิน 14,600 ล้านบาท ลดจากแผนเดิมจำนวน 2 ลำในวงเงิน 30,000 ล้านบาทตามความต้องการกองทัพเรือ ใช้งบผูกพันระหว่างปี 2556-2561 ระยะเวลาสร้าง 1,800 วัน ระหว่างสร้างเรือกองทัพเรือได้จัดส่งกำลังพลไปเรียนรู้ระบบเรือ (Platform System) และระบบการรบ (Combat System) ที่ประเทศเกาหลีใต้เพื่อรองรับการใช้งานในอนาคต

เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช (FFG-471) เข้าประจำการวันที่ 7 มกราคม 2562 เป็นเรือฟริเกตรุ่นใหม่ทันสมัยจัดเต็มเรื่องระบบปราบเรือดำน้ำจากเยอรมัน หัวเรือติดตั้งโซนาร์ Atlas Elektronik DSQS-24C ทำงานในย่านความถี่ปานกลาง ค้นหาเป้าหมายได้ทั้งโหมด Active ที่ความถี่ 6 ถึง 9 KHz และโหมด Passive ที่ความถี่ 1 ถึง 11 KHz ตรวจจับได้ทั้งเรือผิวน้ำ เรือดำน้ำ หรือวัตถุขนาดเล็กอาทิเช่นยานใต้น้ำไร้คนขับหรือทุ่นระเบิด สามารถแจ้งเตือนภัยเมื่อตรวจพบตอร์ปิโด รวมทั้งใช้สื่อสารกับเรือดำน้ำฝ่ายเดียวกัน สามารถเลือกส่งความถี่ได้ไกลสุด 40 กิโลเมตร และมีระยะตรวจจับหวังผลอยู่ที่ประมาณ 15 กิโลเมตร

ท้ายเรือติดตั้งโซนาร์ลากท้าย Atlas Electronics ACTAS (Active Towed Array Sonar) รุ่นใหม่ทันสมัยดีที่สุดจากเยอรมัน ค้นหาเป้าหมายได้ทั้งโหมด Active ด้วยระบบ Active Variable-Depth Towed Body ติดตั้ง Transducer จำนวน 2 ชุดพร้อมสายเคเบิลยาว 400 เมตร และค้นหาเป้าหมายในโหมด Passive ด้วยระบบ Dependent Passive Towed Array จำนวน 2 ชุด พร้อมสายเคเบิลยาว 500 เมตร ซึ่งต่อพว่งจาก Active Variable-Depth Towed Body ระยะตรวจจับตั้งแต่ 2 ถึง 60 กิโลเมตร ใช้ระบบอำนวยการรบปราบเรือดำน้ำ ATLAS Modular ASW Combat System (AMACS) ควบคุมโซนาร์ DSQS-24C และ ACTAS ให้ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ เทียบกับเรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกถือว่าดีขึ้นตามระดับเทคโนโลยี

เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชประสิทธิภาพสูงกว่าเรือฟริเกตรุ่นเก่าก็จริง โชคร้ายไม่สามารถใช้งานอาวุธปล่อยนำวิถีปราบเรือดำน้ำ RUM-139 VL-ASROC จากท่อยิงแนวดิ่ง Mk.41 Vertical Launching System ได้ เหตุผลก็คือระบบอำนวยการรบจากสวีเดน กับระบบอำนวยการรบปราบเรือดำน้ำจากเยอรมัน ไม่เคยทำงานร่วมกับ VL-ASROC จากสหรัฐอเมริกา เรือฟริเกตสมรรถนะสูงจึงมีสมรรถนะสูงแค่เพียงนามปากกา จนถึงปัจจุบันกองทัพเรือยังไม่มีวิธีอุดช่องว่างจากการขาดหายไปของ RUR-5 ASROC เรือหลวงพุทธทั้งสองลำ

โชคดีในโชคร้ายสินค้าจากประเทศจีนสามารถแก้ปัญหาใหญ่ให้กับกองทัพเรือ

อาวุธปล่อยนำวิถีปราบเรือดำน้ำ Yu-8E/ET-80

          จีนพัฒนาอาวุธปล่อยนำวิถีปราบเรือดำน้ำมานานพอสมควร รุ่นใหม่ล่าสุดคือ YU-8 ใช้งานร่วมกับแท่นยิงแนวดิ่งพัฒนาขึ้นมาเอง ระยะยิงไกลสุดไม่รวมระยะยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำเท่ากับ 50 กิโลเมตร มีใช้งานบนเรือฟริเกต Type 054A เรือฟริเกต Type 054B (เมื่อเรือเข้าประจำการ) เรือพิฆาต Type 052D และเรือพิฆาต Type 055 ขนาดหนึ่งหมื่นตัน

          นอกจากพัฒนาอาวุธปล่อยนำวิถีปราบเรือดำน้ำเพื่อใช้งานเองแล้ว จีนยังได้ต่อยอดพัฒนาอาวุธปล่อยนำวิถีปราบเรือดำน้ำรุ่นส่งออกใช้ชื่อว่า YU-8E (E ย่อมาจากคำว่า Export) ใช้งานร่วมกับแท่นยิงแนวดิ่งพัฒนาขึ้นมาเอง ระยะยิงไกลสุดไม่รวมระยะยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำเท่ากับ 30 กิโลเมตร สามารถใช้งานบนเรือฟริเกต Type 054AE และเรือพิฆาต Type 052DE ซึ่งเป็นเรือรบรุ่นส่งออกทั้งสองรุ่น

          ต่อมาไม่นานบริษัทผู้ผลิตได้กำหนดชื่อใหม่จาก YU-8E เป็น ET-80 แต่ถึงกระนั้นจะเรียกชื่อไหนก็คือสินค้าชนิดเดียวกัน แม้ ET-80 จะถูกลดประสิทธิภาพยิงได้ไกลสุดแค่ 30 กิโลเมตร แต่ถึงกระนั้นเมื่อเทียบกับ RUM-139 VL-ASROC ซึ่งยิงได้ไกลสุด 22 กิโลเมตร ยังถือว่าสินค้าจากประเทศจีนนำหน้าอยู่สองเสาไฟ

          ติ๊งต่างว่ากองทัพเรือขอเปลี่ยนเรือดำน้ำ S26T เป็นเรือฟริเกต ผู้เขียนแนะนำว่ารัฐบาลสมควรต่อรองให้จีนยอมขายเรือฟริเกตชั้น Type 054A Flight 3 แทนที่จะเอารุ่นส่งออกเหมือนกองทัพเรือปากีสถาน เรือต้องมาพร้อมโซนาร์ลากท้ายรุ่นส่งออก TLAS-1 (Towed Line Array Sonar) ซึ่งจีนนำโซนาร์ลากท้าย H/SJG-206 ของตัวเองมาตัดออปชันออกเล็กน้อย ทำงานร่วมกับโซนาร์ลากจูงรุ่นส่งออก TVDS-1 (Towed Variable-Depth Sonar) ซึ่งถูกปรับปรุงจากโซนาร์ลากจูง H/SJG-311 ของจีนให้มีประสิทธิภาพลดลงเล็กน้อย

          ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าจีนพัฒนาโซนาร์ลากจูงรุ่นส่งออก TVDS-1 เสร็จหรือยัง แต่ถึงกระนั้นถ้ากองทัพเรือสั่งซื้อเรือฟริเกต Type 054A/T ปลายปี 2023 กว่าเรือจะสร้างเสร็จพร้อมประจำการก็อีก 3 ปีเต็ม ถึงตอนนั้น TVDS-1 ต้องพร้อมส่งมอบให้กับลูกค้าเงินหนา เผลอๆ ไทยแลนด์นี่แหละคือลูกค้ารายแรกตัดหน้าปากีสถาน

          ภาพประกอบที่ห้าคือเรือหลวงแม่กลองลำที่สอง 481 เรือฟริเกต Type 054A/T ลำแรกของราชนาวีไทย แท่นยิงแนวดิ่งหัวเรือบรรจุอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน LY-80N (หรือ HQ-16 รุ่นส่งออก) ระยะยิงไกลสุด 40 กิโลเมตรจำนวน 24 นัด กับอาวุธปล่อยนำวิถีปราบเรือดำ ET-80 ระยะยิง 30+ กิโลเมตรจำนวน 8 นัด หัวเรือติดตั้งปืนใหญ่ H/PJ-26 ขนาด 76 มม. กลางเรือติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-802A จำนวน 8 ท่อยิง ระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Type 1130 ใช้ปืนกล 30 มม.สิบเอ็ดลำกล้องจำนวน 2 ระบบ แท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ YU-7 รุ่นแฝดสามจำนวน 6 ท่อยิง แท่นยิงเป้าลวง Type 726-4 ขนาด 24 ท่อยิงจำนวน 2 แท่นยิง ทำงานร่วมกับระบบดักจับการแพร่คลื่นอิเล็กทรอนิกส์ HZ-100 ESM

          เห็นเสากระโดงรองเหนือปล่องระบายความร้อนหรือเปล่าครับ ในโดมทรงกลมติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ Type 362 หรือชื่อรุ่นส่งออก MR-36A ระยะตรวจจับไกลสุด 100 กิโลเมตร รบกวนผู้อ่านทุกคนกรุณาทด MR-36A ไว้ในใจสักครู่หนึ่ง

อาวุธปล่อยนำวิถีปราบเรือดำน้ำ Yu-11E/ET-81

          เรือหลวงแม่กลอง 481 เข้ามาปิดจุดอ่อน ASROC Frigate ได้อย่างดีเยี่ยมก็จริง แต่ต้องไม่ลืมว่า เรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก 461 กับเรือหลวงพุทธเลิศหล้านภาลัย 462 แบก RUR-5 ASROC รวมกันมากสุดถึง 48 นัด (ถ้าจำเป็นต้องทำ) เท่ากับว่าลูกประดู่ไทยยังเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไม่ครบถ้วนทุกระบวนท่า

ผู้เขียนขอริอ่านปรับปรุงเรือหลวงเจ้าพระยา 455 กับเรือหลวงบางปะกง 456 ให้กลายเป็นเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำติดลูกยาวหรือ ASROC Frigate กำหนดให้แล้วเสร็จภายในปี 2025 สามารถประจำการต่อได้อีก 20 ปีหรือถึงปี 2045 เท่ากับว่าเรือทั้งสองลำมีอายุราชการมากกว่า 50 ปีไปโดยปริยาย

          หมัดเด็ดของเรือหลวงเจ้าพระยาคืออาวุธปล่อยนำวิถีปราบเรือดำน้ำรุ่นส่งออก YU-11E ซึ่งมีชื่อใหม่ว่า ET-81 ใช้งานร่วมกับแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-802A โดยมีการปรับปรุงเล็กน้อย ET-81 ใช้ระบบขับเคลื่อนเทอร์โบเจ๊ตมีบูตเตอร์ช่วยเร่งความเร็วที่ด้านท้าย ระยะยิงไกลสุดไม่รวมระยะยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำมากถึง 60 กิโลเมตร ยิงจากแท่นยิงบนฝั่งได้ด้วยเป็นอีกหนึ่งออปชันที่น่าสนใจมาก

          บริษัทผู้ผลิตระบุว่า ET-81 สามารถใช้งานบนเรือคอร์เวต Type 056 เรือคอร์เวต C28A เรือฟริเกต F-22P และเรือฟริเกต Type 054AE สังเกตนะครับว่าเรือบางรุ่นไม่มีโซนาร์ลากท้ายก็ยังสามารถใช้งานได้ โดยใช้เป็นฐานยิงเคลื่อนที่เดินทางไปพร้อมกองเรือ หน้าที่ตรวจจับและกำหนดเป้าหมายมอบให้กับเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ เมื่อได้พิกัดจากเฮลิคอปเตอร์ผู้การเรือจะสั่งยิง ET-81 มายังตำแหน่งต้องสงสัย ปล่อยให้ระบบตรวจจับในตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำทำหน้าที่ค้นหาและตีต่อเป้าหมายด้วยตัวเอง

          การปรับปรุงเรือหลวงเจ้าพระยา 455 กับเรือหลวงบางปะกง 456 ให้มีอายุใช้งานถึงปี 2045 ผู้เขียนขอเปลี่ยนมาใช้อาวุธ เรดาร์ และอุปกรณ์ต่างๆ เหมือนเรือฟริเกต Type 054A/T ประกอบไปด้วย

-ระบบอำนวยการรบ ZKJ-5

-ปืนใหญ่ H/PJ-26 ขนาด 76 มม.แทนที่ปืนใหญ่ขนาด 100 มม.หัวเรือ

-เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ Type 362

-เรดาร์ควบคุมการยิงรุ่นส่งออก TR47C

-ระบบดาต้าลิงก์

-ระบบดักจับการแพร่คลื่นอิเล็กทรอนิกส์ HZ-100 ESM

-อาวุธปล่อยนำวิถีปราบเรือดำน้ำ ET-81 จำนวน 7 นัด

-อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-802A จำนวน 1 นัด (กันผีหลอก)

-แท่นยิงเป้าลวง Type 726-4 ขนาด 24 ท่อยิงจำนวน 2 แท่นยิง แทนที่ปืนกล 37 มม.ลำกล้องแฝดท้ายเรือ

-ระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Type 1130 จำนวน 1 ระบบ

-สร้าง Superstructure สำหรับคลังแสงกระสุนปืนกลขนาด 30 มม.ระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Type 1130 และจัดเก็บเป้าลวงอาวุธปล่อยนำวิถีกับเป้าลวงตอร์ปิโด

-สร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์แทนที่ปืนใหญ่ขนาด 100 มม.ท้ายเรือ

-ท้ายเรือติดตั้งโซนาร์ลากท้ายรุ่นส่งออก TLAS-1 (Towed Line Array Sonar)

-เรดาร์เดินเรือ โซนาร์หัวเรือ และอาวุธเก่าบางชนิดยังคงติดตั้งและใช้งานตามเดิม

โซนาร์ลากท้าย TLAS-1 ใช้ตรวจจับเรือดำน้ำจากระยะไกล ก่อนส่งพิกัดอย่างคร่าวๆ ให้เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำช่วยค้นหาเป้าหมายใต้น้ำต่อไป รวมทั้งใช้เป็นโซนาร์เตือนภัยตอร์ปิโดทำงานร่วมกับระบบเป้าลวงตอร์ปิโดจากจีน ส่วนโซนาร์ลากจูงรุ่นส่งออก TVDS-1 ไม่จำเป็นต้องซื้อมาติดให้เสียเงิน ไม่ว่าอย่างไรเราคงไม่นำเรือฟริเกตทั้งสองลำเข้าใกล้เรือดำน้ำฝ่ายตรงข้ามแน่นอน

ภาพประกอบที่เจ็ดคือเรือหลวงเจ้าพระยา 455 หลังการปรับปรุงใหญ่ในปี 2025 เนื่องจากบนเรือมีแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีจำนวน 8 ท่อยิง ในภารกิจปราบเรือดำน้ำผู้เขียนกำหนดให้ติดตั้ง ET-81 จำนวน 7 นัดกับ C-802A จำนวน 1 นัด ถ้าเป็นภารกิจปราบเรือผิวน้ำอาจเปลี่ยนเป็น ET-81 จำนวน 1 นัดกับ C-802A จำนวน 7 นัดอะไรทำนองนี้ การป้องกันภัยทางอากาศดีขึ้นกว่าเดิมเพราะได้ระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Type 1130 มาช่วยคุมท้าย ส่วนเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำตามภาพประกอบอาจมาหรือไม่มาก็ได้โปรดจงทำใจ

หลังการปรับปรุงเรือหลวงเจ้าพระยา 455 จะอยู่รับใช้ชาติได้อีก 20 ปีเต็ม

ของฝากนักกอล์ฟ

          เรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำติดลูกยาวหรือ ASROC Frigate จำนวน 3 ลำอาจมากเพียงพอในการป้องกันกองเรือ ทว่าไหนๆ ก็ไหนๆ แล้วเรายังมีเรือฟริเกตติด C-802A อีก 2 ลำนี่นา ผู้เขียนจึงอยากปรับปรุงเรือหลวงกระบุรี 457 กับเรือหลวงสายบุรี 458 ให้สามารถแบกอาวุธปล่อยนำวิถีปราบเรือดำน้ำ ET-81 ไปกับเรือได้ ใช้เป็นฐานยิงเคลื่อนที่โดยไม่จำเป็นต้องติดตั้งโซนาร์ลากท้าย TLAS-1 ให้เปลืองเงิน

โครงการนี้แค่ปรับปรุงแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีให้รองรับ ET-81 เผื่อไว้ในกรณีฉุกเฉิน ทำก็ดีไม่ทำก็ได้ไม่ส่งผลกระทบต่อกองเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำติดลูกยาวแต่อย่างใด

เรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำติดลูกยาวหรือมีความสำคัญอย่างไร?

อันที่จริงถ้ากองทัพเรือมีเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำจำนวนมากเพียงพอ ลูกยาวจากจีนหรือสหรัฐอเมริกาจะกลายเป็นส่วนเกินไม่มีใครต้องการ บังเอิญเรามีเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำเพียง 6 ลำ มีโซนาร์ชักหย่อนแค่เพียง 3 ระบบ เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำทุกลำอายุมากกว่า 25 ปี และเรามีเรือฟริเกตรองรับเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำขนาด 10 ตันแค่เพียง 1 ลำ

เรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำติดลูกยาวจะเข้ามาเติมเต็มสิ่งที่ขาดหาย

ยกตัวอย่างเช่นเมื่อเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ S-70B ตรวจจับเป้าหมายใต้น้ำได้อย่างชัดเจน ทว่าตัวเองไม่มีตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำเฮลิคอปเตอร์ลำอื่นก็ดันอยู่อีกฟากของขอบฟ้า เรือหลวงสายบุรี 458 ซึ่งอยู่ห่างออกไป 50 กิโลเมตรจะส่ง ET-81 ลอยละล่องขึ้นสู่เวหาเข้ามาช่วยเหลือได้ทันท่วงที ET-81 อาจยิงไม่ถูกในนัดเดียว (ส่วนใหญ่ก็ยิงกันไม่ค่อยถูก) แต่ยังสามารถผลักดันเรือดำน้ำฝ่ายตรงข้ามให้ยอมล่าถอยออกจากน่านน้ำเขตหวงห้าม

ติ๊งต่างว่าเรามีเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำใหม่เอี่ยมจำนวน 12 ลำกับโซนาร์ชักหย่อนจำนวน 6 ชุด เรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำติดลูกยาวคงไม่จำเป็นแม้แต่ลำเดียว ใช้เฮลิคอปเตอร์นี่แหละครับแทนอาวุธปล่อยนำวิถี

เวลาเดียวกันเรือหลวงช้างลำที่สาม 792 จะได้รับการปรับปรุงไม่ให้เป็นเรือยกพลขึ้นบกดาดฟ้าโล่ง ใช้วิธีเดียวกับเรือหลวงเจ้าพระยาคือยกอาวุธและเรดาร์จากเรือฟริเกต Type 054A/T มาใช้งานประกอบไปด้วย

-ระบบอำนวยการรบ ZKJ-5 (อาจยังไม่ติดก็ได้ถ้างบประมาณไม่เพียงพอ)

-เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ Type 362

-ระบบดาต้าลิงก์

-ระบบดักจับการแพร่คลื่นอิเล็กทรอนิกส์ HZ-100 ESM

-แท่นยิงเป้าลวง Type 726-4 ขนาด 24 ท่อยิงจำนวน 2 แท่นยิง

-ระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Type 1130 จำนวน 1 ระบบที่หัวเรือ แทนที่ปืนใหญ่ H/PJ-26 ขนาด 76 มม.เพราะไม่รู้จะติดไปเพื่ออะไร

-นำปืนกลขนาด 20 มม. GAM-BO1 จากคลังแสงกองทัพเรือจำนวน 4 กระบอกมาติดตั้งรอบลำเรือ

          ได้ของเพียงเท่านี้ผู้เขียนคิดว่ามากเพียงพอแล้ว โดยเฉพาะระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Type 1130 สำคัญมากที่สุด อนาคตถ้างบประมาณประเทศเกินดุลมากๆ ค่อยหา RAM เมืองจีนมาใช้งาน

บทสรุป

          ขณะที่ทุกคนรุมประณามหยามเหยียดเรือฟริเกตจีนอย่างน่าเกลียดมากจนถึงมากที่สุด ผู้เขียนกลับมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ มองเห็นวิธีแก้ไขปัญหาขนาดใหญ่ที่ถูกละเลย มองเห็นวิธีอุดช่องโหว่อันเกิดจากเรือฟริเกตสมถรรนะสูงไม่สูงจริงเหมือนชื่อ รวมทั้งมองเห็นวิธีปรับปรุงเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งให้กลับมาเป็นเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำติดลูกยาว เหตุผลที่ผู้เขียนมองเห็นโอกาสมากมายเพราะราชนาวีไทยมีเรือจีนถึง 10 ลำ!

          ผู้อ่านละครับมองเห็นอะไรบ้าง??

++++++++++++++++++++

อ้างอิงจาก :

หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือเอก ประพัฒน์ กฤษณจันทร์

https://thaimilitary.blogspot.com/2016/11/royal-thai-navy-anti-submarine-weapon.html

https://thaimilitary.blogspot.com/2023/07/the-off-shore-navy.html

https://picryl.com/media/a-port-view-of-the-frigate-uss-barbey-ff-1088-firing-two-harpoon-missiles-from-f28099

https://twitter.com/andavamas/status/1595768085847629825

https://web.facebook.com/groups/586945348127017/posts/2305473479607520/

https://www.sohu.com/a/721579764_100185604

 

         

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น