วันที่
1
ตุลาคม 2530 กองทัพเรือไทยยังอยู่ในสภาพของกองทัพเรือชายฝั่ง
(Coastal Navy) โดยมีเรือตรวจการณ์ขนาดเล็กที่ใช้ในภารกิจป้องกันการแทรกซึมทางทะเลของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์จำนวนมาก
โดยเรือเล็กเหล่านี้มีขีดความสามารถในการป้องกันตัวเองในการรบทางเรืออย่างจำกัดมาก
กองทัพเรือไทยมีเรือรบขนาดใหญ่ที่สามารถออกปฏิบัติการในทะเลลึกและมีขีดความสามารถในการรบทางเรือยุคใหม่จำนวนน้อย
เรือรบขนาดใหญ่ที่มีอยู่ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 40 ถึง 50
ปี และใกล้หมดคุณค่าทางยุทธการแล้ว
เรือรบสมัยใหม่ที่มีอยู่บ้างก็มีขนาดเล็ก
ระยะปฏิบัติการจำกัดและไม่สามารถปฏิบัติการในสภาพคลื่นลมแรง
ประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ
กองทัพเรือไทยไม่มีเรือรบที่มีดาดฟ้าและโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์เลยแม้แต่ลำเดียว ทั้งๆ
ที่เฮลิคอปเตอร์ได้เข้ามามีบทบาทในการรบทางเรือกว่าสามทศวรรษแล้ว
ทั้งในด้านการลาดตระเวนตรวจการณ์ การเตือนล่วงหน้าในอากาศ การปราบเรือดำน้ำ
การโจมตีเรือรบผิวน้ำ การค้นหาและกู้ภัย การชี้เป้าและควบคุมอาวุธนำวิถีระยะยิงพ้นขอบฟ้าเรดาร์
ด้วยข้อจำกัดอันร้ายแรงดังกล่าว
กองทัพเรือไทยในช่วงนั้นจึงต้องกำหนดยุทธศาสตร์ทางเรือในลักษณะพึ่งพากองทัพเรือของประเทศมหาอำนาจ
ในการคุ้มครองจำนวนหลายร้อยหลายพันลำที่ต้องลำเลียงยุทธปัจจัยสำคัญ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถดำรงอยู่และกองทัพไทยสามารถทำการรบได้โดยต่อเนื่อง
ทำให้ประเทศไทยในช่วงนั้นตกอยู่ในภาวะความมั่นคงอันไม่แท้จริง (False
Sense of security) โดยสิ้นเชิง
การเสริมกำลังด้วยเรือขนาดใหญ่ มีขีดความสามารถในการปฏิบัติการไกลฝั่งและในสภาพคลื่นลมแรงจึงเป็นความจำเป็น
ระหว่างปี 2530 ถึง 2540 กองทัพเรือได้จัดหาเรือชนิดต่างๆ
เข้าประจำการ เพื่อปรับเปลี่ยนจากกองทัพเรือชายฝั่ง (Coastal Navy) เป็นกองทัพเรือไกลฝั่ง (Off-Shore Navy) โดยเริ่มต้นจากโครงการเรือฟริเกตขนาด
2,000 ตันจำนวน 4 ลำ อันเป็นความจำเป็นเร่งด่วนเป็นลำดับแรก
เรือฟริเกตชุดเรือหลวงเจ้าพระยา
การที่กองทัพเรือต้องดูแลรับผิดชอบทะเลทั้งด้านอ่าวไทยและอันดามัน อีกทั้งพื้นที่ผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของประเทศไทยยังได้ขยายตัวออกไปอีกมาก ทำให้ต้องมีเรือรบขนาดเรือฟริเกตจำนวนไม่ต่ำกว่า 20 ลำ เพื่อให้มีขีดความสามารถในการคุ้มครองเส้นทางคมนาคม แต่เนื่องจากขณะที่ พลเรือเอก ประพัฒน์ กฤษณจันทร์ ก้าวเข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ เมื่อ 1 ตุลาคม 2530 นั้น กองทัพเรือยังมีเรือฟริเกตไม่เพียงพอกับความต้องการ และส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 40 ปีแล้วเกือบทั้งนั้น พลเรือเอก ประพัฒน์ กฤษณจันทร์ จึงได้ตัดสินใจเพิ่มขีดความสามารถด้านนี้ก่อนเป็นอันดับแรก โดยการจัดหาเรือฟริเกตระวางขับน้ำเต็มที่ 1,924 ตัน ความยาว 103.2 เมตร ความเร็ว 30 นอต จำนวน 4 ลำ ความจำเป็นที่ต้องการเรือในปริมาณถึง 4 ลำโดยเร่งด่วน ทำให้ไม่สามารถเลือกเรือที่ดีที่สุดในโลกได้เพราะมีราคาถึง 4,000 ล้านบาท ท่านจึงได้ตั้งคณะกรรมการศึกษาเรือที่ต่อในสาธารณะประชาชนจีน (สปจ.) ซึ่งพบว่าเรือฟริเกตที่ออกแบบสร้างโดย สปจ. ได้มีการพัฒนาโดยมีการนำระบบของยุโรปตะวันตกมาใช้งานมากขึ้น จนมีขีดความสามารถประมาณร้อยละ 80 ของเรือที่สร้างโดยกลุ่มประเทศตะวันตก
พลเรือเอก
ประพัฒน์ กฤษณจันทร์ จึงได้ตัดสินใจสั่งสร้างเรือฟริเกตจาก สปจ. จำนวน 4 ลำ
ซึ่งเดิมมีราคาเพียงลำละ 1,200 ล้านบาท
แต่ได้ปรับปรุงเครื่องจักรใหญ่ เครื่องจักรช่วยและระบบเพลาใบจักรที่เปลี่ยนลำบากในภายหน้า
โดยเลือกใช้ของเยอรมนีซึ่งเป็นระบบมาตรฐานสากล
และเป็นเป็นระบบมาตรฐานของกองทัพเรือไทยอยู่แล้ว
แนวความคิดในการประหยัดค่าจัดหาเรือรบของท่านคือการจัดหาเรือที่สร้างตัวเรือใน สปจ. ติดตั้งระบบศูนย์ยุทธการและระบบอาวุธของ สปจ.
มาก่อน เมื่อครบกำหนดเวลาปรับปรุงระบบอาวุธที่ Half Life หรือประมาณ
15 ปีแล้ว จึงค่อยปรับปรุงเครื่องมือค้นหา ระบบอาวุธ
และระบบศูนย์ยุทธการให้ทันสมัยจนกลายเป็นเรือรบรุ่นใหม่
ซึ่งสามารถประหยัดงบประมาณในการจัดหาเรือใหม่ได้เป็นจำนวนมาก
ในช่วงนั้นสปจ.เพิ่งเริ่มส่งเสริมการค้าอาวุธใหม่ๆ
จึงยอมตกลงตามความต้องการของกองทัพเรือเป็นส่วนใหญ่
อีกทั้งยังยอมมอบอาวุธยุทโธปกรณ์หลายอย่างให้โดยไม่คิดมูลค่า
รวมทั้งยอมถ่ายทอดเทคโนโลยีในการสร้างเรือให้กองทัพเรือด้วย
เมื่อตกลงราคากันได้ก็ปรากฏว่า
กองทัพเรือมีงบประมาณไม่เพียงพอจนเกือบต้องลดจำนวนเรือลงเหลือ 2 ลำ แต่กองทัพเรือได้ต่อรองราคาลงอีกจนเหลือลำละประมาณ 1,700 ล้านบาท โดยฝ่ายจีนยอมลดกำไรให้หมด
อีกทั้งยังยอมให้กองทัพเรือชำระเงินในงวดแรกต่ำมาก
และยินยอมทำสัญญาในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล
ซึ่งสามารถลดข้อครหาเกี่ยวกับพ่อค้าคนกลางค้ากำไรเกินควร และยังเป็นข้อดีในเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี
การควบคุมการสร้างเรือ
และการบริหารหลังการส่งมอบเรือได้ดีกว่าการทำสัญญากับบริษัทเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจของต่างประเทศอีกด้วย
จึงได้มีการลงนามในสัญญาว่าจ้างสร้างเรือฟริเกตชั้น 053 HT จำนวน
2 ลำ คือเรือหลวงเจ้าพระยา และเรือหลวงบางปะกง และเรือชั้น 053
HT (H) จำนวน 2 ลำ
ซึ่งมีดาดฟ้าเฮลิคอปเตอร์แทนปืนใหญ่ 100 มิลลิเมตรท้ายเรือ
คือเรือหลวงกระบุรี และเรือหลวงสายบุรี เมื่อ 18 กรกฎาคม 2531
หลังจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้กองทัพเรือก่อหนี้ผูกพันเมื่อ 29
มิถุนายน 2531
ตามข้อตกลงการจ้างสร้างเรือชุดนี้กำหนดให้มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ใช้
และเจ้าหน้าที่ซ่อมบำรุงทั้งระดับเรือและระดับโรงงานอย่างครบถ้วน
อีกทั้งยังมีการฝึกอบรมการต่อเรือทั้งในด้านการออกแบบต่อเรือ
การสั่งวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการต่อเรือ การควบคุมการต่อเรือ
และการบริหารโครงการต่อเรืออย่างครบวงจรทั้งที่ศูนย์วิจัยการต่อเรือและที่อู่ต่อเรือ
ซึ่งกองทัพเรือได้ส่งนายทหารจำนวน 16 คน
ที่ยังมีอายุราชการเหลืออยู่นานไปฝึกอบรมการต่อเรือที่ สปจ.
เป็นระยะเวลาคนละ 2 ปีด้วย
เรือฟริเกตทั้งหมดได้เดินทางจากอู่หูตง
เมืองเซี่ยงไฮ้ กลับประเทศไทย และได้ขึ้นระวางประจำการสังกัดกองเรือฟริเกตที่ 2
กองเรือยุทธการ โดยหลวงเจ้าพระยา (455) ขึ้นระวางประจำการเมื่อ 5 เมษายน
2533 เรือหลวงบางปะกง (456) ขึ้นระวางประจำการเมื่อ 20
กรกฎาคม 2533 เรือหลวงกระบุรี (457) ขึ้นระวางประจำการเมื่อ 16
มกราคม 2534 และเรือหลวงสายบุรี (458) ขึ้นระวางประจำการเมื่อ 4
สิงหาคม 2534
เรือฟริเกตชุดนี้เป็นเรือฟริเกตชุดแรกในประวัติศาสตร์อันยาวนานของกองทัพเรือไทย ที่ได้มีการสั่งต่อพร้อมกันถึง 4 ลำ ปัจจุบันเรือทั้ง 4 ลำเป็นม้าใช้งานสำคัญของกองทัพเรือ
เรือฟริเกตชุดเรือหลวงนเรศวร
เรือฟริเกตชุดนี้เป็นเรือที่ พลเรือเอก ประพัฒน์
กฤษณจันทร์ ใฝ่ฝันที่จัดหาให้กองทัพเรือไทยเป็นเวลานานแล้ว ถึงขนาดลงทุนเขียนแบบ Conceptual
Design ด้วยตัวท่านเอง แล้วให้บริษัทออกแบบต่อเรือของ สปจ. ออกแบบรายละเอียดเป็นพิมพ์เขียว และทำ Model Tank Test อย่างสมบูรณ์ เรือชุดนี้เป็นเรือฟริเกตอเนกประสงค์ (General
Purpose Frigate) สามารถปฏิบัติการในทะเลลึกในสภาพคลื่นลมแรงได้ดีกว่าเรือฟริเกตชุดเรือหลวงเจ้าพระยา
มีขีดความสามารถในการรบทั้ง 3 มิติ
โดยมีทั้งดาดฟ้าเรือและโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ประจำเรือ
สามารถนำเฮลิคอปเตอร์ออกทะเลไปด้วยอย่างปลอดภัยในทุกสภาพอากาศ
เรือชุดนี้มีขนาดและขีดความสามารถใกล้เคียงกับเรือฟริเกตทั้งสมัยของกองทัพเรือต่างๆ
ในยุโรป เช่น เรือฟริเกตชั้น LUPO ของกองทัพเรืออิตาลี
เนื่องจากเรือฟริเกตชุดนี้จะเป็นกำลังรบที่สำคัญของกองทัพเรือต่อไป
ท่านจึงไม่ยอมผลีผลามเชื่อถือผลงานออกแบบและทดลองหุ่นจำลองเรือของจีนเลยทันที
แต่ได้ส่งแบบเรือและผลการทดลองใน Model Tank Test
ให้กับกองทัพเรือสหรัฐช่วยตรวจสอบอย่างละเอียดด้วยคอมพิวเตอร์ที่กองทัพเรือสหรัฐใช้การออกแบบ
แตรวจสอบผลการทำ Model Tank Test สำหรับเรือรบของเรือสหรัฐเอง
ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบเรือของกองทัพเรือสหรัฐ
ได้ช่วยแก้ไขแบบเรือทั้งการจัดห้องต่างๆ ภายในเรือให้สะดวกต่อการปฏิบัติการ
และลดความเสียหายจากอาวุธของข้าศึก การปรับปรุงการทรงตัวของเรือ
การเสริมความมั่นคงของดาดฟ้าเรือการปรับปรุงระบบสนับสนุนต่างๆ
บนดาดฟ้าบินและในโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์
รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการทนต่อลมที่เข้าปะทะด้านข้างของตัวเรือจาก 90
นอตตามมาตรฐานการต่อเรือของกองทัพเรือจีนเป็น 100 นอตตามมาตรฐานสหรัฐ
เพื่อให้เรือชุดนี้มีขีดความสามารถในการปฏิบัติการในทะเลลึกได้สูงขึ้น
นอกจากนี้สหรัฐยังได้ช่วยแก้ไขแบบเรือเพื่อลดพื้นที่สะท้อนคลื่นเรดาร์ลงอีกด้วย
นับว่าเป็นเรือไทยชุดแรกที่ใช้เทคโนโลยีล่องหน (Stealth Technology)
เรือชุดนี้มีระวางขับน้ำเต็มที่
2,980 ตัน ความยาว 120 เมตร
ความเร็วสูงสุด 32 นอต
นับว่าเป็นเรือฟริเกตที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีความเร็วสูงที่สุดเท่าที่กองทัพเรือเคยมี
ตัวเรือออกแบบสร้างโดยอู่ต่อเรือของจีนเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ส่วนเครื่องจักรใหญ่
เครื่องจักรช่วย และเพลาใบจักรเป็นของเยอรมนีและสหรัฐที่ใช้กันทั่วไป
และเป็นมาตรฐานของกองทัพเรือไทยอยู่แล้ว
เว้นเครื่องกังหันก๊าซซึ่งมีใช้กันทั่วโลกรวมทั้งกองทัพเรือสหรัฐ
แต่กองทัพเรือไทยเพิ่งสั่งซื้อมาใช้ราชการเป็นครั้งแรก
สำหรับระบบค้นหาเป้านั้นใช้ของเนเธอร์แลนด์เป็นหลัก
ส่วนระบบอาวุธใช้ของกองทัพเรือสหรัฐเป็นสำคัญ
โดยกองทัพเรือยอมรับระบบควบคุมและสั่งการของจีนบางส่วนเท่าที่รับได้เพื่อลดราคาเรือลงให้มากที่สุด
ในด้านการติดตั้งและเชื่อมต่อระบบอาวุธของเรือชุดนี้ซึ่งกองทัพเรือจะดำเนินการเองในประเทศไทยนั้น
เพื่อความรอบคอบและเป็นการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี
กองทัพเรือได้ตกลงว่าจ้างหน่วยงานเชื่อมต่อระบบอาวุธของสหรัฐ
เพื่อให้เข้ากับระบบควบคุมและสั่งการของจีนและสหรัฐ
โดยในลำแรกกองทัพเรือตกลงให้เจ้าหน้าที่สหรัฐเป็นผู้ดำเนินการและเจ้าหน้าที่ของไทยฝึกงาน
ส่วนลำที่สองนั้นฝ่ายไทยจะเป็นผู้เชื่อมต่อระบบอาวุธเอง
โดยสหรัฐจะคอยติดตามผลการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยอย่างใกล้ชิด
สำหรับระบบอาวุธตลอดจนเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์อื่นๆ
ที่จำเป็นนั้น กองทัพเรือได้ตกลงใจที่จะจัดหาจากสหรัฐเป็นส่วนใหญ่
เนื่องจากเห็นว่ากองทัพเรือลงทุนสร้างเรือฟริเกตขนาดใหญ่ด้วยงบประมาณสูงพอสมควร
จึงต้องการให้เรือมีขีดความสามารถในการรบสูง
อาวุธของสหรัฐนั้นมีสมรรถนะและความเชื่อถือได้สูงมาก
เพราะสหรัฐลงทุนทำการวิจัยและพัฒนาอย่างละเอียดรอบคอบโดยใช้ระยะเวลานานและเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก
ส่วนทางด้านการเมืองระหว่างประเทศก็นับว่าสหรัฐเป็นพันธมิตรที่ดี
ให้ความช่วยเหลือประเทศไทยมาโดยตลอด ให้บริการหลังการขายเป็นไปด้วยดี อะไหล่ต่างๆ
จัดหาได้สะดวกและยังมีใช้งานไปอีกนาน
เพราะสหรัฐเองก็ยังใช้อาวุธที่กองทัพเรือจะจัดหา และที่สำคัญมากอีกประการก็คือสหรัฐสามารถให้ความช่วยเหลือในด้านเทคโนโลยี
รวมทั้งสามารถฝึกอบรมทั้งระดับผู้ใช้งานและผู้ซ่อมให้แก่กองทัพเรือได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตามเพื่อความประหยัด
กองทัพเรือจึงจำเป็นต้องเลือกใช้ระบบอาวุธและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของจีนบางแบบที่ทันสมัยและพอยอมรับได้ไปก่อน
ในขั้นการพิจารณาระบบอาวุธที่จะใช้งานกับเรือชุดนี้
กองทัพเรือทราบตั้งแต่ต้นแล้วว่า
ระบบไฟฟ้าของเรือต่างกับระบบไฟฟ้าที่ใช้กับระบบอาวุธของสหรัฐ
และต้องจัดหาเครื่องแปลงความถี่ไฟฟ้ารวมทั้งเครื่องทำความเย็นเพื่อระบายความร้อนของเรดาร์อากาศ
และเรดาร์ควบคุมการยิงอาวุธเพิ่มเติมในภายหลัง
อย่างไรก็ตามในขั้นการทำข้อตกลงจ้างสร้างเรือ
กองทัพเรือยังไม่สามารถซื้อเครื่องแปลงความถี่ไฟฟ้าและเครื่องทำความเย็นดังกล่าวได้
เพราะยังไม่ได้รับรายละเอียดข้อมูลคุณลักษณะความต้องการที่แท้จริง
ผลการเจรจากับอู่ต่อเรือจงหัวของจีน
สามารถตกลงราคาและงวดการชำระเงินได้ตามความสามารถในการชำระเงินของกองทัพเรือในช่วงนั้น
โดยกองทัพเรือได้ปรับโครงการพัฒนากองทัพและชะลอโครงการบางโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต่ำกว่า
แล้วนำงบประมาณที่เตรียมไว้มาร่วมสมทบอีกหนึ่งทาง คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเมื่อ 19
กันยายน 2532 ให้กองทัพเรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณในโครงการนี้
และอนุมัติให้ผู้บัญชาการทหารเรือลงนามในหนังสือตกลงจ้างเรือฟริเกตชุดนี้ในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล
จำนวน 2 ลำแทนรัฐบาลไทย ซึ่งได้มีการลงนามกันที่กรุงเทพเมื่อ
21 กันยายน 2532
เมื่อรวมราคาเรือพร้อมอาวุธและระบบเรดาร์ต่างๆ แล้ว เรือฟริเกตชุดนี้มีราคาลำละ 4,725
ล้านบาท ซึ่งถูกกว่าเรือฟริเกตขนาดเดียวกันที่สร้างในยุโรป
และมีราคาเฉลี่ยลำละประมาณ 8,000 ล้านบาท
ทำให้เรือฟริเกตชุดเรือหลวงนเรศวรเป็นที่สนใจของกองทัพเรือต่างๆ อาทิเช่น
อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย
ซึ่งต่อมากองทัพเรือออสเตรเลียได้ตัดสินใจเปลี่ยนปืนขนาด 76 มิลลิเมตร
ของเรือฟริเกต ANZAC เป็นปืนขนาด 127 มิลลิเมตร
แบบเดียวกับเรือฟริเกตชุดเรือหลวงนเรศวรด้วย
ตามข้อตกลงการจ้างสร้างเรือชุดนี้กำหนดให้มีการฝึกอบรมระดับผู้ใช้งานและผู้ซ่อมอย่างครบถ้วน
อีกทั้งยังมีการฝึกอบรมการต่อเรือเช่นเดียวกับเรือฟริเกตชุดแรกซึ่งกองทัพเรือไทยได้ส่งนายทหารสัญญาบัตรอีก
16
คนไปรับการฝึกอบรมเป็นระยะเวลา 2 ปี
กองทัพเรือได้รับมอบเรือหลวงนเรศวร
มาใช้ราชการในกองเรือฟริเกตที่ 2 กองเรือยุทธการแล้ว
ตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2537 และได้รับมอบเรือหลวงตากสินแล้วตั้งแต่
24 ตุลาคม 2538 เรือทั้งสองลำได้รับการติดตั้งและเชื่อมต่อระบบอาวุธ
รวมทั้งได้ทำงานยิงตรวจรับอาวุธเรียบร้อยแล้ว
โดยดำเนินการในประเทศด้วยฝีมือของทหารเรือไทยเองทั้งสิ้น ทั้งที่เรือหลวงนเรศวร (421) ได้ขึ้นระวางประจำการเมื่อ 14 ธันวาคม 2537 และเรือหลวงตากสินขึ้นระวางประจำการเมื่อ 28 ธันวาคม
2538
เรือฟริเกตชุดเรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
การจัดหาเรือฟริเกตที่มีขนาดใหญ่และสมรรถนะสูง
รวมทั้งติดตั้งอาวุธที่ทันสมัยนั้น จะต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการที่สูงมาก
ดังนั้นแนวคิดที่จะหาเรื่องที่สร้างใหม่ให้ได้ครบตามความต้องการกองทัพเรือ
จึงมีความเป็นไปได้ไม่ง่ายนัก
อย่างไรก็ตามเมื่อสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงเนื่องจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต
ทำให้สหรัฐอเมริกาเริ่มพิจารณาการสะสมอาวุธลงเพื่อลดค่าใช้จ่ายในด้านการป้องกันประเทศ
โดยได้กำหนดแผนที่จะปลดเรือ เครื่องบิน
และอาวุธหลายประเภทออกจากการประจำการด้วยวิธีการขายหรือให้เช่าแก่ประเทศพันธมิตร
ในการนี้กองทัพเรือจึงมีความสนใจที่จะจัดหาเรือฟริเกตที่กองทัพเรือสหรัฐจะปลดระวางประจำการดังกล่าว
เนื่องจากมีราคาถูก และยังคงมีอายุใช้งานได้อีกนาน
อีกทั้งสมรรถนะและระบบอาวุธก็มีความสามารถสูงตามมาตรฐานกองทัพเรือสหรัฐ
ซึ่งจะสามารถตอบสนองความต้องการทางยุทธการและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ทางเรือของกองทัพเรือได้เป็นอย่างดี
เพื่อเป็นการจัดหาขีดความสามารถด้านการป้องกันภัยทางอากาศเป็นพื้นที่
(Area
Air Defence) ให้แก่กองเรือในทะเล
รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการรบพื้นน้ำ และปราบเรือดำน้ำ กองทัพเรือจึงได้แสดงความจำนงที่จะจัดหาเรือพิฆาตชั้น
Charles F. Adam (DDG-2) ซึ่งมีขนาด สมรรถนะ
และขีดความสามารถ รวมทั้งระบบอาวุธเช่นเดียวกับเรือฟริเกตแบบที่กองทัพเรือต้องการ
โดยมีอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะปานกลางแบบ Standard Missile SM-1 ระยะยิง 25 ไมล์ทะเลเป็นอาวุธหลัก
แต่กองทัพเรือสหรัฐได้ชี้แจงว่า เรือพิฆาตชั้น Charles F. Adam มีอายุมากถึง 30 ปีแล้ว
จะต้องใช้งบประมาณในการบำรุงรักษาสูงมาก อีกทั้งระบบต่างๆ
ก็มีความสลับซับซ้อนและยุ่งยากต่อการบำรุงรักษา จึงได้เสนอแนะเรือฟริเกตชั้น Knox
ซึ่งมีอายุน้อยกว่าถึง 10 ปี มีระบบอุปกรณ์ต่างๆ
ทันสมัยและยุ่งยากน้อยกว่า
โดยที่ขีดความสามารถและสมรรถนะรวมทั้งระบบอาวุธอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน
และเนื่องจาก เรือฟริเกตชั้น Knox นี้
กองทัพเรือสหรัฐได้ทยอยส่งมอบให้กับกองทัพเรือของประเทศพันธมิตร
ทั้งในลักษณะการขายและให้เช่าในราคาถูกแล้วหลายประเทศ ได้แก่ กรีซ ได้หวัน อียิปต์
และตุรกี เป็นต้น
จึงมีประสบการณ์ในการปรับปรุงเรือและฝึกอบรมกำลังพลให้สามารถใช้เรือได้เป็นอย่างดี
ซึ่งหากกองทัพเรือจัดหาเรือฟริเกตชั้น Knox ดังกล่าว
ก็เชื่อถือได้ว่าจะสามารถรับมอบเรือมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า
เมื่อพิจารณาว่าเรือฟริเกตชั้น Knox ยังมีอายุไม่มากนัก การซ่อมบำรุงและจัดหาอะไหล่ยังดำเนินการได้โดยสะดวก
เพราะยังคงมีเรือดังกล่าวประจำการอยู่ในกองทัพเรือสหรัฐ
และกองทัพเรือของประเทศพันธมิตรหลายประเทศ มีเฮลิคอปเตอร์ประจำเรือพร้อมโรงเก็บ
อีกทั้งระบบอาวุธก็คล้ายคลึงกับแบบที่กองทัพเรือจัดหามาติดตั้งบนเรือฟริเกตชุดเรือหลวงนเรศวร
ซึ่งจะช่วยทำให้การส่งกำลังบำรุงให้กับเรือดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด
เพราะสามารถใช้สิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์บางอย่างร่วมกันได้
กองทัพเรือจึงตกลงใจที่จะพิจารณาดำเนินการจัดหาเรือดังกล่าวมาใช้ราชการจำนวน 4
ลำ
ในขั้นแรกกองทัพเรือสหรัฐ สามารถจัดหาเรือฟริเกตชุดนี้ให้กองทัพเรือไทยได้เพียง 2 ลำ แต่เมื่อพลเรือเอก ประพัฒน์ กฤษณจันทร์ เดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกาตามคำเชิญของผู้บัญ๙การทหารเรือสหรัฐ ท่านได้ชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นของกองทัพเรือในการจัดหาเรือฟริเกตชั้น Knox จำนวน 4 ลำ จนสหรัฐเข้าใจและยอมเลื่อนความต้องการของไทยไว้เป็นลำดับแรก แต่เป็นที่น่าเสียดายที่กองทัพเรือสามารถจัดหาเรือชุดนี้ได้เพียง 2 ลำเท่านั้น โดยกองทัพเรือได้รับมอบเรือลำแรก คือ เรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก 461 แล้ว เมื่อ 30 กรกฎาคม 2537 ส่วนเรือหลวงพุทธเลิศหล้านภาลัย 462 ได้รับมอบจากสหรัฐเมื่อ พ.ศ. 2541
เรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์
กองทัพเรือมีภารกิจที่ต้องกระทำต่อเนื่องตลอดเวลา
ทั้งในยามสงบและยามสงครามโดยเฉพาะในเรื่องของการป้องกันผลประโยชน์ของชาติทางทะเลและบริเวณชายฝั่ง
การช่วยเหลือประชาชนในการบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดจากภัยพิบัติทางทะเล
การรักษากฎหมาย เช่น การปราบปรามการลักลอบขนส่งและค้ายาเสพติดให้โทษ
การค้าน้ำมันเถื่อน เป็นต้น การดำรงการคมนาคมทางทะเลเข้า-ออกอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ดังนั้นหากเส้นทางการคมนาคมทางทะเลถูกปิดลงแล้ว
ย่อมเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างร้ายแรง
จึงจำเป็นที่จะต้องคุ้มครองปกป้องเส้นทางคมนาคมทางทะเลดังกล่าวให้สามารถทำการขนส่งสิ่งอุปโภคบริโภคให้ได้อย่างต่อเนื่อง
ประกอบกับสภาพทางภูมิประเทศของอ่าวไทยที่มีลักษณะคล้ายก้นถุง
ซึ่งเป็นลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ง่ายต่อการปิดล้อม
กองทัพเรือจึงต้องปรับเปลี่ยนกำลังรบจากเดิมที่เป็นลักษณะกองทัพเรือชายฝั่ง
(Coastal
Navy) ที่ใช้เรือขนาดเล็กเป็นกำลังหลักในการป้องกันทางทะเลในแนวใกล้ชายฝั่งหรือจำกัดเพียงพื้นที่ในอ่าวไทย
ปรับเปลี่ยนเป็นกองทัพเรือไกลฝั่ง (Off-Shore Navy) ซึ่งใช้เรือขนาดใหญ่ที่มีความคงทนทะเลสูง
สามารถอยู่ปฏิบัติการในทะเลลึกนอกอ่าวไทยได้เป็นเวลานาน
โดยไม่ต้องกลับมารับการส่งกำลังบำรุงที่ฐานทัพ
ทั้งนี้ก็เพื่อสามารถให้การป้องกันได้ตั้งแต่ระยะไกล
และเมื่อออกไปป้องกันระยะไกลเช่นนี้แล้วก็จำเป็นจะต้องมีขีดความสามารถป้องกันภัยทางอากาศ
ให้กับกองเรือในทะเลซึ่งอยู่นอกระยะปฏิบัติการของเครื่องบินจากฐานบินบนบก
ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้กองทัพเรือจำเป็นต้องมีเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์
เพื่อให้สามารถเป็นเรือบัญชาการรบ และสามารถบรรทุกเฮลิคอปเตอร์/เครื่องบินเพื่อการป้องกันภัยให้กับกองเรือในทะเลได้
นอกจากนั้น
กองทัพเรือยังได้พิจารณาถึงประชาชนผู้ประสบภัยในทะเลและบริเวณชายฝั่ง
ซึ่งภัยพิบัติทางธรรมชาติมีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
และแต่ละครั้งก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
ดังเช่นครั้งที่เกิดพายุไต้ฝุ่นเกย์เมื่อปี พ.ศ.2532 เรือประมงถูกพายุพัดจมลงในทะเล ทำให้ชาวประมงต้องสูญหายและล้มตายจำนวนมาก
แม้กองทัพเรือจะใช้ความพยายามอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม
แต่ก็จำกัดด้วยคุณลักษณะและขนาดของเรือ รวมทั้งอากาศยานที่มีอยู่
ทั้งนี้เนื่องจากเฮลิคอปเตอร์ในขณะนั้นมีรัศมีปฏิบัติการไม่ไกล ทำให้มีเวลาในการปฏิบัติการในอากาศน้อย
การช่วยเหลือจึงเป็นไปอย่างจำกัด ไม่สามารถกระทำได้อย่างเต็มที่
ด้วยเหตุผลและความจำเป็นดังกล่าวในปีงบประมาณ
2531
กองทัพเรือจึงได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเรือสินค้าเก่ามาดัดแปลงเป็นเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์เช่นเดียวกับเรือฝึกนักบินนาวีของกองทัพเรืออังกฤษ
ซึ่งกองทัพเรือพบว่าการดำเนินการดังกล่าวมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก
แต่มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 5-6,000 พันล้านบาท
กองทัพเรือจึงได้พิจารณาแนวความคิดในการต่อเรือใหม่
ซึ่งจากการสอบถามราคาเรือขนาดประมาณ 5-8,000 ตัน
กับอู่ต่อเรือยุโรปหลายแห่งพบว่าอยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงกับการนำเรือสินค้ามาดัดแปลง
เมื่อกองทัพเรือได้แก้ไขปัญหาเร่งด่วนเรื่องการขาดแคลนเรือฟริเกต
โดยการสั่งต่อเรือดังกล่าวจากสาธารณะประชาชนจีนจำนวน 6
ลำ และได้ติดต่อขอเช่า/ซื้อเรือฟริเกตชั้น Knox
จำนวน 4 ลำจากสหรัฐแล้ว ก็เกิดเหตุการณ์ต่างๆ
ที่นำไปสู่การสั่งการจากรัฐบาลให้กองทัพเรือเร่งจัดหาเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ตามที่ได้กล่าวไว้แล้ว
ดังนั้นในปีงบประมาณ 2533 กองทัพเรือจึงได้ดำเนินการขั้นตอนต่างๆ
จนกระทั่งเสนอขออนุมัติตกลงว่าจ้างสร้างเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ จากบริษัทเบรเมอร์
วูลแคน ประเทศเยอรมนีในราคาประมาณ 5,200 ล้านบาท
ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ มีมติอนุมัติให้กองทัพเรือผูกพันงบประมาณเมื่อ 22 มกราคม 2534 ในการนี้
กองทัพเรือได้ลงนามว่าจ้างสร้างเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์กับบริษัทเบรเมอร์ วูลแคน
เมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2534 และต่อมาเมื่อ
22 กรกฎาคม 2534 กองทัพเรือได้บอกเลิกสัญญาดังกล่าว
เนื่องจากคู่สัญญาปฏิบัติผิดสัญญา
หลังจากที่กองทัพเรือได้บอกยกเลิกสัญญากับบริษัทเบรเมอร์
วูลแคนแล้ว ได้ดำเนินการจัดหาใหม่โดยใช้งบประมาณที่ได้รับการอนุมัติแล้ว
พร้อมทั้งได้กำหนดคุณลักษณะเพิ่มขึ้นจากเดิมตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพเรือสหรัฐ
เพื่อให้ได้เรือที่มีขีดความสามารถช่วยเหลือประชาชนมากยิ่งขึ้น
โดยเพิ่มขีดความสามารถในด้านการปฏิบัติการของเฮลิคอปเตอร์
เพิ่มขนาดของเรือให้ใหญ่ขึ้นจากเดิมขนาด 8,700 ตันเป็น
11,238 ตัน
เพื่อให้มีความคงทนทะเลสูงโดยมีขีดความสารถปฏิบัติการในขณะที่มีคลื่นลมแรงจัดได้
สามารถอยู่ปฏิบัติการในทะเลได้นานวัน และสามารถนำอากาศยานไปกับเรือได้มากขึ้น
จากการเพิ่มขนาดของเรือจากเดิมถึงประมาณ 3,500 ตัน
หรือประมาณร้อยละ 45 ทำให้เรือมีราคาสูงขึ้นแต่ก็มีผลดีต่อการทำให้เรือมีพื้นภายในที่กว้างขวางสำหรับช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลมากขึ้น
รวมทั้งให้การรักษาพยาบาลฉุกเฉินเมื่อจำเป็นได้
ด้านการจัดสร้างเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์
การทัพเรือได้ดำเนินการในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาลเพื่อความโปร่งใส
ผลการพิจารณาข้อมูลทางด้านเทคนิค
ราคาเรือ และส่วนสนับสนุน รวมทั้งการให้การสนับสนุนของกองทัพเรือประเทศผู้ผลิต
ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อความพร้อมทางด้านยุทธการของเรือ
กองทัพเรือได้ตกลงใจเลือกแบบเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์บริษัทบาซาน (BAZAN) ซึ่งมีราคารวมต่ำที่สุด
โดยเมื่อคิดราคาเรือตันละ 1 ล้านบาทกับขนาดเรือที่เพิ่มขึ้น
3,500 ตันแล้ว
ราคาเรือที่บริษัทเสนอจัดว่าต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมาก
และกองทัพเรือสเปนมีเรือต้นแบบอยู่แล้ว
การสร้างเรือก็จะใช้ทีมงานชุดเดียวกับที่สร้างเรือดังกล่าว
ซึ่งทราบปัญหาที่เกี่ยวข้องดี น่าจะสร้างเรือให้กองทัพเรือได้ดีกว่า
นอกจากนั้นรัฐบาลสเปนยังมีมติให้กระทรวงอุตสาหกรรม
กระทรวงกลาโหม และกองทัพเรือ ให้ความช่วยเหลือในการสร้างเรือ การให้ความรู้
และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กองทัพเรือได้มีขีดความสามารถในการใช้เรือ
เพื่อการป้องกันประเทศและการช่วยเหลือประชาชนได้เป็นอย่างดี อีกทั้งการให้การสนับสนุนของกองทัพเรือสเปนในด้านต่างๆ
ก็มีความครบถ้วนสมบูรณ์กว่าทุกบริษัท ไม่ว่าจะในด้านการควบคุมการสร้างเรือ
การทดสอบระบบต่างๆ ของเรือ การให้การสนับสนุนในการฝึกร่วมกับเรือของกองทัพเรือสเปน
การฝึกกำลังพลประจำเรือบรรทุกเครื่องบินของกองทัพเรือสเปน
รวมทั้งความรู้ในด้านยุทธการต่างๆ
อันมีความจำเป็นและมีประโยชน์อย่างยิ่งในการเพิ่มความรู้ความสามารถของกำลังพลของกองทัพเรือ
ในการใช้เรือได้อย่างเหมาะสม
และสามารถพึ่งตนเองได้โดยเฉพาะในการซ่อมบำรุงในโอกาสต่อไป
และการสนับสนุนเพื่อให้คนประจำเรือสามารถใช้เรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ซึ่งกองทัพเรือไม่เคยมีใช้งานมาก่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถจัดการระบบต่างๆ
ให้ใช้เรือได้อย่างปลอดภัย
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ 17
มีนาคม 2535 อนุมัติให้กองทัพเรือว่าจ้างสร้างเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์จำนวน
1 ลำ จากบริษัทบาซาน ประเทศสเปน ในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล
และกองทัพเรือได้ลงนามในสัญญาว่าจ้างสร้างเรือกับบริษัทบาซานเมื่อ 27 มีนาคม 2535 ในวงเงินประมาณ 7,100 ล้านบาท ต่อมาเมื่อ 31 ตุลาคม 2535 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้กองทัพเรือจัดซื้อเครื่องมือและส่วนสนับสนุน
รวมทั้งระบบอาวุธป้องกันตนเองระยะประชิดในวงเงินประมาณ 2,100 ล้านบาท ราคารวมเรือทั้งสิ้นประมาณ 9,400 ล้านบาท
ซึ่งถูกกว่าเรือประเภทเดียวกันและมีขนาดใกล้เคียงกันที่กองทัพเรืออิตาลีจัดหาในวงเงินประมาณ
25,000 ล้านบาทมาก
เพื่อความเป็นสิริมงคลและเป็นขวัญกำลังใจแก่กองทัพเรือ
ตลอดจนเตือนให้ระลึกถึงพระมาหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์แห่งราชวงศ์จักรี
ที่ได้ปกครองแผ่นดินด้วยทศพิธราชธรรมจนประเทศชาติมีความมั่นคงเป็นปึกแผ่น
มีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับอารยประเทศ ทำให้พสกนิกรอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุกต่อเนื่องกันมากว่า
200
ปี กองทัพเรือจึงได้เสนอของพระราชทานชื่อเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์
ให้มีความหมายถึงพระราชวงศ์หรือพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี
โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า ‘เรือหลวงจักรีนฤเบศร’ (H.T.M.S. CHAKRI NARUBET) ซึ่งมีความหมายว่า ‘ผู้เป็นใหญ่แห่งราชวงศ์จักรี’
ภารกิจยามสงบ
1. ปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล
2. ปฏิบัติการอพยพประชาชน
3. ปฏิบัติการคุ้มครองและรักษาสิ่งแวดล้อมในทะเลและบริเวณชายฝั่ง
4. คุ้มครองผลประโยชน์ของชาติในทะเล
ภารกิจยามสงคราม
1. ทำหน้าที่เป็นเรือธง
2. ควบคุมและบังคับบัญชากองเรือในทะเล
3. ควบคุมการปฏิบัติการป้องกันภัยทางอากาศให้กับกองเรือ
4. ควบคุมการปฏิบัติการป้องกันภัยผิวน้ำให้กับกองเรือ
5. ควบคุมการปฏิบัติการปราบเรือดำน้ำ
6. สนับสนุนการปฏิบัติการทางทหารทั้งปวง
เรือหลวงจักรีนฤเบศรมีคุณลักษณะที่สำคัญคือ
มีขนาดระวางขับน้ำสูงสุด 11,238 เมตริกตัน
กินน้ำลึก 6.12 เมตร มีความยาว 182.6 เมตร
ทำความเร็วได้สูงสุด 26.6 นอต สามารถปฏิบัติการได้ไกลถึง 10,000
ไมล์ทะเล และมีความคงทนทะเลสูงมาก
โดยสามารถปฏิบัติงานในทะเลในขณะที่มีลมพายุแรงได้ (ปฏิบัติการปรกติได้ถึง Sea
State 6 อยู่รอดได้ถึง Sea State 9) จากคุณลักษณะที่สำคัญดังกล่าว
ทำให้เรือมีขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจได้อย่างกว้างขวาง
ทั้งในยามสงบและยามสงคราม จัดเป็น 'กำลังหลัก' ของกองทัพเรือในการปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจได้เป็นอย่างดียิ่ง
เรือหลวงจักรีนฤเบศรได้ออกเดินทางจากประเทศสเปนเพื่อกลับประเทศไทย
เมื่อ 1 กรกฎาคม 2540 โดยมีเรือหลวงนเรศวรและเรือหลวงกระบุรีเป็นเรือคุ้มกัน
ใช้เส้นทางสเปน-อิตาลี-อียิปต์-ซาอุดีอาระเบีย-อินเดีย-ไทย
โดยเดินทางถึงจังหวัดภูเก็ตและฐานทัพเรือสัตหีบเมื่อ 4 สิงหาคม
2540 และ 10 สิงหาคม 2540 ตามลำดับ
เรือส่งกำลังบำรุง
ตามที่กองทัพเรือได้จัดสร้างเรือฟริเกตจำนวน
6
ลำ และเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ 1 ลำ
รวมทั้งจัดหาเรือฟริเกตจากสหรัฐอีก 4 ลำ
ซึ่งการจะให้เรือใหญ่ขนาดนี้สามารถปฏิบัติการในทะเลลึกได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน
โดยไม่ต้องกลับเข้ารับการส่งกำลังบำรุงที่ฐานทัพ
เพื่อให้การใช้เรืออย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพนั้นจำเป็นต้องมีเรือส่งกำลังบำรุงที่สามารถให้การสนับสนุนการกำลังบำรุงในทะเลเรือดังกล่าวได้
ซึ่งกองทัพเรือได้กำหนดความต้องการของเรือส่งกำลังบำรุงไว้ในแผนพัฒนากองทัพ
จึงได้ขออนุมัติโครงการจัดหาเรือส่งกำลังบำรุงจำนวน 1 ลำ
ในวงเงิน 1,650 ล้านบาท
(รวมวงเงินเผื่อเหลือเผื่อขาดจากความต้องการในโครงการร้อยละ 10 ด้วย) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2534
ให้กองทัพเรือก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณได้ ระหว่างปี 2534-2538
รวม 4 ปี
แต่เนื่องมาจากแบบเรือที่บริษัทต่างๆ
เสนอมาให้กองทัพเรือคัดเลือกนั้น
มีคุณลักษณะทางเทคนิคไม่ตรงตามความต้องการของกองทัพเรือที่กำหนดไว้ตามความต้องการ
ฝ่ายเสนาธิการกองทัพเรือพิจาณาแล้วว่า แบบดังกล่าวน่าจะไม่ปลอดภัย
โดยเฉพาะในด้านการปฏิบัติงานของกำลังพลในขณะรับ-ส่งสิ่งของกลางทะเลเมื่อสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย
จึงได้ขอยกเลิกการดำเนินการดังกล่าวเพื่อพิจาณาจัดหาใหม่
หลังจากที่ยกเลิกการดำเนินการแล้ว
กองทัพเรือได้สั่งการให้พิจารณาปรับแต่งการกำหนดคุณลักษณะของเรือส่งกำลังบำรุงตามความต้องการของฝ่ายเสนาธิการใหม่
พร้อมกับขออนุมัติกระทรวงการคลังกันเงินปีงบประมาณ 2535 จำนวน 100 ล้านบาทที่ได้จัดสรรไว้สำหรับโครงการนี้
เพื่อเบิกจ่ายเหลื่อมปีในปีงบประมาณ 2536 เป็นกรณีพิเศษกรณีไม่มีหนี้ผูกพัน
ซึ่งได้รับอนุมัติให้จนถึง 30 กันยายน 2536
สำหรับการกำหนดคุณลักษณะของเรือส่งกำลังบำรุงตามความต้องการของฝ่ายเสนาธิการใหม่
ได้พิจารณาภารกิจและขีดความสามารถที่กองทัพเรือต้องการ คือ
สามารถส่งกำลังบำรุงให้กองเรือที่ประกอบไปด้วยเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ กับเรือฟริเกต
ที่ทำหน้าที่เป็นเรือคุ้มกันได้เป็นเวลาที่นานเพียงพอด้วยสมรรถนะของเรือส่งกำลังบำรุงที่จะจัดหานี้
ประกอบกับได้พิจารณาแล้วว่าสถานะภาพงบประมาณของกองทัพเรือไม่เอื้ออำนวยต่อการจัดหาเรือส่งกำลังบำรุงได้อีกในอนาคตอันใกล้
จึงได้กำหนดคุณลักษณะให้สอดคล้องกับระบบการรับส่งกำลังบำรุงในทะเลของเรือในกองทัพเรือที่จะต้องประกอบกำลังออกไปปฏิบัติการในทะเลลึก
รวมทั้งได้ระบุมาตรฐานของระบบอุปกรณ์ที่จำเป็นต่างๆ ให้รัดกุมยิ่งขึ้น
เพื่อทำให้เรือส่งกำลังบำรุงได้มาตรฐาน มีประสิทธิภาพ
และสนองความต้องการของกองทัพเรือได้เป็นอย่างดี
จากการพิจารณาแบบเรือที่บริษัทต่างๆ
เสนอมาใหม่ ปรากฏว่าแบบเรือของบริษัท China Ship-building
and Trading CompanyLimited (CSTC) สามารถสนองตอบความต้องการของกองทัพเรือได้ดีกว่าแบบเรืออื่นๆ
โดยมีคุณลักษณะทางเทคนิค สมรรถนะ และความปลอดภัยเหมาะสม และน่าเชื่อถือได้มากที่สุด
ราคาในมาตรฐานเดียวกันต่ำที่สุด จึงเป็นแบบเรือที่ควรพิจารณาจ้างสร้างต่อไป
นอกจากนั้นเมื่อพิจารณาองค์ประกอบในด้านความสัมพันธ์อันดีต่อกันระหว่างรัฐบาลไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน
(สปจ.) ซึ่งรัฐบาล สปจ.
แสดงความจำนงและเจตนาดีในการช่วยเหลือประเทศไทย
โดยการซื้อข้าวสารจำนวนหนึ่งจากประเทศไทยอันจะมีส่วนช่วยเหลือต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมเป็นอย่างมาก
ดังนั้น กองทัพเรือจึงได้เจรจากับบริษัท CSTC
ก่อนเป็นลำดับแรก โดยหากการเจรจาไม่ได้ผลจึงจะเจรจากับบริษัทอื่นต่อไป
กองทัพเรือได้ต่อรองเจรจากับบริษัท CSTC ในการปรับแต่งคุณลักษณะเรือส่งกำลังบำรุงให้ได้มาตรฐานสากล
และมีความปลอดภัยสูงตรงตามความต้องการของกองทัพเรือยิ่งขึ้น
โดยได้เพิ่มเงื่อนไขให้บริษัทจัดทำตัวเรือเป็นแบบ 2 ชั้น (Double
Hull) เนื่องจากตามกฎสากลว่าด้วยการควบคุมมลภาวะในทะเล (MARPOL) กำหนดว่าเรือบรรทุกน้ำมันขนาดระวางขับน้ำตั้งแต่ 5,000 ตันขึ้นไป ซึ่งทำสัญญาจ้างสร้างภายหลัง 6 กรกฎาคม 2536
จะต้องมีตัวเรือเป็นแบบ 2 ชั้น
ซึ่งถึงแม้เรือส่งกำลังบำรุงกองทัพเรือไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎดังกล่าว
แต่เพื่อแสดงถึงเจตนาดีในการช่วยรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมในทะเล และเพื่อป้องกันปัญหาในการเข้าจอดในเมืองท่าต่างประเทศ
กองทัพเรือจึงได้ให้เพิ่มเงื่อนไขในการสร้างตัวเรือเป็นแบบ 2 ชั้นดังกล่าว โดยบริษัทคิดราคาเพิ่มอีกประมาณ 1,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ได้ต่อรองให้บริษัทเปลี่ยนระบบใบจักรเรือจากชนิดปรับไม่ได้
(FPP-Fixed Pitch Propeller) เป็นชนิดปรับได้ (CPP-Controllable
Pitch Propeller) ซึ่งกองทัพเรือให้บริษัทเสนอเป็นรายการเผื่อเลือก (Option)
ทั้งนี้เพื่อให้เรือมีความคล่องตัวในการหันเลี้ยวมากขึ้น
อันจะทำให้เรือมีความปลอดภัยสูงขึ้นในขณะเข้าเทียบและออกจากเทียบท่า
ซึ่งจะต้องเพิ่มเงินอีกประมาณ 1,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ
และเพื่อให้เรือมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น
กองทัพเรือยังได้ขอให้บริษัทติดตั้งระบบแก๊สเฉื่อย (Inert
Gas System) เพื่อลดจุดวาบไฟของน้ำมันในถังคิดเป็นมูลค่าประมาณ 300,000
ดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งยังของให้บริษัทใช้สีกันเพรียงชนิดพิเศษ (Autopolishing
Paint) เพื่อให้ท้องเรือมีความคงทนต่อการกัดกร่อนของเพรียง
อันจะทำให้อายุใช้งานของเรือก่อนเข้าอู่ยาวนานยิ่งขึ้น
ซึ่งบริษัทได้คิดเงินเพิ่มอีก 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ
รวมสิ่งที่กองทัพเรือขอให้ปรับปรุงในการรายการหลักนี้คิดเป็นมูลค่า
2,400,000
ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรายการดังกล่าวกองทัพเรือได้ต่อรองลงมาเหลือเพียง 1,500,000
ดอลลาร์สหรัฐ (ต่ำกว่ามูลค่าจริงถึง 900,000
ดอลลาร์สหรัฐ)
และยังต่อรองให้เพิ่มอุปกรณ์ระบบย่อยของเรือให้อีกหลายรายการ
เพื่อช่วยให้สภาพความเป็นอยู่
และการปฏิบัติการภายในเรือมีความสะดวกและได้มาตรฐานยิ่งขึ้น
ดังนั้นราคาเรือเมื่อรวมการปรับปรุงคุณลักษณะทางเทคนิคแล้วจะเป็นเงินทั้งสิ้น
57.5
ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,454 ล้านบาท
ซึ่งยังต่ำกว่าวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้ถึง 195,825,000 บาท หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 11.87
ของวงเงินดังกล่าว จากผลการเจรจาข้างต้นกับบริษัท CSTC
ราคาเรือส่งกำลังบำรุงจะเป็นราคาแบบตายตัว เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 57.5 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,454 ล้านบาท
คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้กองทัพเรือลงนามในข้อตกลงว่าจ้างสร้างเรือในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล
เมื่อ 28
กันยายน 2536 และกองทัพเรือได้ลงนามในข้อตกลงว่าจ้างสร้างเรือ
เมื่อ 29 กันยายน 2536
กองทัพเรือได้รับเรือส่งกำลังบำรุง
ซึ่งได้รับพระราชทานชื่อเรือว่า เรือหลวงสิมิลัน
มาใช้ราชการในสังกัดกองเรือยุทธบริการ กองเรือยุทธการ เมื่อ 16
สิงหาคม 2539
บทสรุป
นอกจากเรือฟริเกตมือสองชั้น
Knox จากกองทัพเรือสหรัฐที่จัดหาได้เพียง 2
จาก 4 ลำ โครงการที่เหลือกองทัพเรือสามารถจัดหาเรือเข้าประจำการได้ครบตามความต้องการ
กองทัพเรือชายฝั่ง (Coastal Navy) ถูกปรับเปลี่ยนเป็นกองทัพเรือไกลฝั่ง
(Off-Shore Navy) สมดั่งใจหวัง
รวมทั้งทำให้กองเรือฟริเกตเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกหนึ่งกองเรือ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งมโหฬารของกองทัพเรือในเวลาต่อ
++++++++++++++++++++
อ้างอิงจาก
:
หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือเอก ประพัฒน์ กฤษณจันทร์
ภาพประกอบจาก
:
https://thaidefense-news.blogspot.com/2017/03/455-456.html
https://web.facebook.com/photo/?fbid=3395789377194130&set=pcb.3395791173860617
https://thaidefense-news.blogspot.com/2018/01/871.html
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%A5%E0%B9%8C:HTMS_Chakri_Naruebet.jpg
https://web.facebook.com/photo/?fbid=227821167319445&set=a.301792071985773
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น