อาวุธปราบเรือดำน้ำบนเรือรบราชนาวีไทย ตอนที่ 2 : จรวดปราบเรือดำน้ำ
ความเดิมตอนที่แล้ว ---> Royal Thai Navy Anti-Submarine Weapon Part I : Depth Charge
หลังได้รู้จักระเบิดลึกเป็นที่เรียบร้อย ผู้เขียนจะเขียนถึงอาวุธปราบเรือดำน้ำชนิดถัดไป ได้แก่ เครื่องยิงลูกระเบิดปราบเรือดำน้ำ หรือ Anti-Submarine Mortar จรวดปราบเรือดำน้ำ หรือ Anti-Submarine Rocket และ อาวุธนำวิถีปราบเรือดำน้ำ หรือ Anti-Submarine Missile อาวุธทั้งหมดเป็นพัฒนาการที่ต่อเนื่องกัน ระยะเวลาคาบเกี่ยวหรือต่อเนื่องกัน และใช้วิธียิงออกจากเรือเช่นเดียวกัน จึงรวบรวมไว้ในตอนนี้พร้อมหน้ากัน แม้ตัวอาวุธจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง โดยเฉพาะอาวุธชนิดท้ายสุดที่ทันสมัยที่สุด
เครื่องยิงลูกระเบิดปราบเรือดำน้ำ Hedgehog
อย่างที่ผู้อ่านทราบกันดีอยู่แล้ว ว่าเรือดำน้ำเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สอง สร้างความเสียหายอย่างมากให้กับฝ่ายสัมพันธมิตร แม้ว่ากองทัพเรืออังกฤษในตอนนั้น จะติดตั้งเครื่องยิงระเบิดลึกบนเรือรบทุกลำ แต่ก็ยังมีอัตรายิงช้าเกินไป ระยะทำการสั้นเกินไป จำนวนที่ยิงมีน้อยเกินไป .ใช้เวลาในการบรรจุนานเกินไป รวมทั้งขาดความแม่นยำอีกด้วย อังกฤษจึงได้ค้นคิดอาวุธปราบเรือดำน้ำรุ่นใหม่ ที่สามารถช่วยปิดจุดอ่อนที่ว่ามา โดยมีค่าใช้จ่ายไม่สุงเกินไป รวมทั้งมีขนาดไม่ใหญ่เกินไปด้วย
อาวุธดังกล่าวเข้าประจำการในปี 1942 และเข้าสู่การรบทางทะเลอันดุเดือดทันที โดยมีสถิติกับเรือดำน้ำเยอรมันดังนี้ ทำการโจมตี 268 ครั้ง สามารถทำลายเป้าหมายได้ 47 เป้าหมาย ค่าเฉลี่ยอยู่ที่การโจมตี 5.7 ครั้งต่อ 1 เป้าหมาย เป็นสถิติที่ไม่เลวเลยใช่ไหมครับ นั่นเป็นเพราะการโจมตีมีความรุนแรงกว่าเดิม ระยะทำการไกลกว่าเดิม รัศมีการโจมตีมากกว่าเดิม และมีความแม่นยำมากกว่าเดิม ทั้งนี้ก็เพราะใช้ระบบโซนาร์ ในการค้นหาเป้าหมายใต้น้ำ รวมทั้งควบคุมการยิงอาวุธรุ่นใหม่
อาวุธที่ว่าก็คือ Hedgehog ถูกตั้งชื่อตามลักษณะแท่นยิง ซึ่งประหนึ่งมีหนามแหลมเหมือนขนเม่น แท่นยิงมีลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยม ในกล่องมีเหล็กแท่งสำหรับติดตั้งลูกระเบิดจำนวน 24 นัด ลูกระเบิดมีขนาดกว้าง 7.2 นิ้ว ยาว 1.18 เมตร หนัก 29 กิโลกรัม น้ำหนักหัวรบอยู่ที่ 16 กิโลกรัม ระยะยิงไกลสุดประมาณ 250 เมตร ระยะยิงใกล้สุดประมาณ 37 เมตร แบ่งออกเป็น 3 รุ่นย่อยตามชนิดหัวรบ
ลูกระเบิดทั้ง 24 นัดจะถูกยิงออกไปไล่เรี่ยกัน แล้วตกลงสู่พื้นน้ำเป็นพื้นที่กว้างตามกำหนด การใช้งาน Hedgehog ทำได้หลายรูปแบบ ถ้าใช้จรวด Mark 10 จะสร้างพื้นที่ทำลายล้างเป็นรูปไข่ กว้าง 59 เมตร ยาว 51 เมตร เหมาะกับการยิงถล่มเป้าหมายที่ชัดเจน หรือถ้าใช้จรวด Mark 11 จะสร้างพื้นที่ทำลายล้างเป็นรูปวงกลม กว้างและยาว 244 เมตร เหมาะกับการป้องกันตัวเองจากเป้าหมาย รวมทั้งใช้ยิงเพื่อเปิดทางแก่ให้กองเรือ
แท่นยิงรุ่นแรกสุดคือ Mark 10 ควบคุมการยิงด้วยมือ โดยมีจุดลั่นไกอยู่ด้านหลังแท่นยิง ติดตั้งแผ่นเหล็กกำบังความร้อน เมื่อทุกอย่างพร้อมและได้รับคำสั่งยิง พลยิงจะหมุนจุดลั่นไกตามเข็มนาฬิกาติดต่อกัน จนกว่าลูกจรวดทุกนัดจะยิงออกไปจนครบ แท่นยิงรุ่นถัดมาคือ Mark 11 ได้มีการพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น ควบคุมการยิงด้วยระบบไฟฟ้าจากจากสะพานเดินเรือ และใช้โซนาร์รุ่นใหม่ค้นหาเป้าหมายใต้น้ำ
การบรรจุลูกจรวดใช้เวลาเพียง 3 นาที จึงสามารถยิงเป้าหมายได้อย่างต่อเนื่อง ลูกจรวดมีขนาดเล็ก จัดเก็บง่าย ดูแลง่าย ติดตั้งกับเรือเล็กเช่นเรือตรวจการณ์ชั้น PC-461 ได้ เรืออังกฤษมักใช้งานร่วมกับโซนาร์ค้นหาเป้าหมาย Type 127D มีระยะตรวจจับไกลสุด 2,286 เมตร หรือโซนาร์ค้นหาและโจมตีรุ่น Type 144 ซึ่งเป็นโซนาร์แบบ Retractable เมื่อไม่ใช้งานสามารถจัดเก็บใต้ท้องเรือได้ (มีระยะตรวจจับใกล้เคียงโชนาร์ Type 127D ) ขณะที่เรืออเมริกามักใช้งาน Hedgehog ร่วมกับโซนาร์แอสดิค ( ASDIC) รวมทั้งโซนาร์ AN/SQS 17B ที่เป็นรุ่นใหม่กว่า
Hedgehog ประจำการในกองทัพเรือหลายสิบประเทศ เป็นระยะเวลายาวนานหลายสิบปี หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด เป็นช่วงเวลาทองของอาวุธปราบเรือดำน้ำชนิดนี้ อเมริกายังได้พัฒนาระบบแท่นยิง Mark 15 เพิ่มเติมขึ้นมาในภายหลัง แท่นยิงรุ่นใหม่ทำงานด้วยระบบไฟฟ้าสมบรูณ์แบบ บังคับควบคุมทิศทางแท่นยิงได้ ทำงานร่วมกับระบบโซนาร์ AN/SQS 17B น้ำหนักรวมทั้งแท่นยิงอยู่ที่ 7.9 ตัน Mark 15 ถูกติดตั้งบนเรือพิฆาตปราบเรือดำน้ำจำนวนมาก หลายประเทศยังได้จัดหาไปใช้งาน อาทิเช่น ตุรกี ชิลี
เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ Papudo (P 37) ของชิลี หัวเรือติดตั้งแท่นยิง Mark 15 จำนวน 1 ระบบ
เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ L'Opiniatre (P 642) ของฝรั่งเศส หัวเรือติดตั้งแท่นยิง Mark 11 จำนวน 1 ระบบ
เรือพิฆาต USS Sarsfield (DD-837) ของอเมริกา หน้าสะพานเดินเรือติดตั้งแท่นยิง Mark 15 จำนวน 1 ระบบตรงกลาง และแท่นยิง Mark 11 จำนวน 2 ระบบขนาบซ้าย-ขวา ทำให้มี Hedgehog พร้อมใช้งานจำนวน 72 นัด
USS Sarsfield (DD-837) มีประวัติที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เป็นเรือพิฆาตชั้น Gearing ขนาด 3,460 ตัน เข้าประจำการในปี 1945 โดยติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 5 นิ้วแท่นคู่จำนวน 3 แท่นยิง ปืนต่อสู้อากาศยาน 40/60 มม.แท่นคู่จำนวน 6 กระบอก ปืนต่อสู้อากาศยาน 20 มม.จำนวน 11 กระบอก รวมทั้งตอร์ปิโด 533 มม. จำนวน 10 แท่นยิง หลังสงครามโลกได้ถอดปืนใหญ่ 5 นิ้วหน้าสะพานเดินเรือออก แล้วใส่ Hedgehog จำนวน 3 แท่นยิงเข้าไปแทนที่ ปี 1967 ได้รับการปรับปรุงใหญ่ตามโครงการ FRAM Upgrade โดยติดตั้งแท่นยิงแฝดสาม Mark 32 สำหรับตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ Mark 44 จำนวน 2 แท่นยิง แท่นยิงแฝดแปด Mark 112 สำหรับอาวุธนำวิถีปราบเรือดำน้ำ RUR-5 ASROC รวมทั้งระบบโซนาร์ SQS-23 ที่มีระยะตรวจจับไกลสุดถึง 40,000 หลา หรือ 36.57 กิโลเมตร
ปี 1977 USS Sarsfield (DD-837) ถูกโอนไปให้ไต้หวัน โดยใช้ชื่อ Te Yang (DD-25) ก่อนเปลี่ยนมาเป็น DDG-925 ในภายหลัง ไต้หวันปรับปรุงเรือครั้งใหญ่อีกครั้ง ด้วยการติดตั้งปืนใหญ่ Oto 76/62 มม.จำนวน 1 กระบอก จรวดต่อสู้อากาศยาน SM-1 จำนวน 10 นัด จรวดต่อสู้เรือรบ Hsiung Feng II จำนวน 8 นัด รวมทั้งระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Phalanx CIWS เพิ่มเติมในภายหลัง เรือลำนี้ปลดประจำการในปี 2005 ก่อนกลายมาเป็นเรือพิพิธภัณฑ์ในท้ายสุด ระยะเวลา 60 ปีที่เข้าประจำการ เรือได้รับการติดตั้งอาวุธที่ดีที่สุดในแต่ล่ะยุคสมัย จำนวนมากที่สุดเท่าที่สามารถโหลดได้ ใช้ระบบเรดาร์และเซนเซอร์ที่ดีที่สุด เพื่อให้เรือมีความพร้อมรบมากที่สุด
กองทัพเรือไทยเคยติดตั้งระบบแท่นยิง Mark 11 บนเรือรบจำนวน 5 ลำ ได้แก่ ได้แก่ เรือหลวงท่าจีน (ลำที่สอง) เรือหลวงประแสร์ (ลำที่สอง) เรือหลวงปิ่นเกล้า เรือหลวงตาปี และเรือหลวงคีรีรัฐ นับเป็นอาวุธปราบเรือดำน้ำมาตราฐานรุ่นหนึ่ง ก่อนปลดประจำการจนหมดในปี 1984 เมื่อเรือหลวงคีรีรัฐถอด Hedgehog แท่นยิงท้ายสุดออกจากเรือ ปิดตำนานอาวุธปราบเรือดำน้ำชนิดนี้ไว้ที่ 33 ปี แต่ถ้ารวมเครื่องยิงลูกระเบิดชนิดต่อไป ซึ่งใช้ลูกระเบิดรุ่นเดียวกัน ลูกระเบิดจะมีอายุประการในกองทัพเรือไทยเท่ากับ 37 ปี
ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าบนเรือหลวงปิ่นเกล้า ยังคงมีแท่นยิง Mark 11 ติดตั้งอยู่หรือไม่ แต่เนื่องมาจากเรือปลดประจำการไปแล้ว อยู่ในสถานะเรือครูเข้าร่วมพิธีสำคัญเท่านั้น เท่ากับว่าอาวุธทุกชนิดบนเรือไม่ได้ประจำการ รวมทั้งอาวุธปราบเรือดำน้ำในตำนานชื่อ Hedgehog ด้วย
เรือหลวงคีรีรัฐก่อนปี 1984 ยังคงมีแท่นยิง Mark 11 หน้าสะพานเดินเรือ แม่สาวเซ็กซี่ขี้เหร่ของผู้เขียน เป็นเรือฟริเกตตรวจการณ์ชั้น PF-103 จำนวนไม่กี่ลำบนโลก
เครื่องยิงลูกระเบิดปราบเรือดำน้ำ Mousetrap
หลังอังกฤษประจำการเครื่องยิงลูกระเบิดปราบเรือดำน้ำ Hedgehog แล้ว สัมพันธมิตรทุกประเทศต่างทยอยจัดหามาใช้งานบ้าง อเมริกาเองได้ประจำการ Hedgehog เช่นกัน โดยใช้ระบบแท่นยิง Mark 10 ทำงานควบคู่ระบบโซนาร์ ASDIC จากนั้นจึงพัฒนาต่อเป็นระบบแท่นยิง Mark 11 และ Mark 15 ตามที่ทราบกันไปแล้ว
อเมริกาไม่ได้หยุดแค่เพียงเท่านี้ เพราะต้องการติดตั้งอาวุธบนเรือขนาดเล็กด้วย แต่ถ้าใช้แท่นยิง Mark 11 ก็จะวุ่นวาย จำเป็นต้องถอดปืนใหญ่หัวหน้าออกไปด้วย จึงพัฒนาแท่นยิงขนาดกระทัดรัดขึ้น บรรจุลูกระเบิดจำนวน 4 นัดในรุ่น Mark 20 และ 8 นัดในรุ่น Mark 22 แท่นยิงถูกออกแบบให้เป็นระบบราง มีน้ำหนักเบาพับเก็บอยู่บนดาดฟ้าเรือ เมื่อต้องการใช้งานจึงกางรางขึ้นทำมุม 48 องศา สามารถยิงได้ไกลสุดประมาณ 280 เมตร ทำให้เรือขนาดเล็กติดตั้ง Mousetrap ได้อย่างสะดวก เป็นอาวุธที่ใช้งานง่าย ใช้พื้นที่น้อย ราคาไม่แพง ประจำการอยู่บนเรือตรวจการณ์กองทัพเรืออเมริกา หน่วยยามฝั่งอเมริกา รวมทั้งมิตรประเทศที่ได้รับโอนเรือหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เรือลำเล็กสุดที่ติดตั้ง Mousetrap คือเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชั้น 83 ฟุต
เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้น PC-461 ของอเมริกา สามารถจมเรือดำน้ำและเรือผิวน้ำของเยอรมัน อิตาลี และญี่ปุ่นรวมกันจำนวน 13 ลำ เกือบทั้งหมดมาจากปืนใหญ่และระเบิดลึก ทั้งจากรางปล่อยด้านท้ายเรือหรือเครื่องยิงกราบเรือซ้ายและขวา ส่วน Mousetrap ที่อยู่ด้านหัวเรือนั้น ผู้เขียนยังไม่พบหลักฐานที่ชัดเจน ว่าสามารถจมเรือดำน้ำได้กี่ลำกันแน่ (หรืออาจมีสถิติเท่ากับศูนย์) นั่นเป็นเพราะมีจำนวนลูกระเบิดน้อยเกินไป การยิงซัลโวชุดล่ะ 8 นัดครอบคลุมพื้นที่ไม่มาก ต่างจาก Hedgehog ที่มีจำนวนลูกระเบิดถึง 24 นัด
กองทัพเรือไทยประจำการ Mousetrap ตั้งแต่ปี 1947 บนเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้น PC-461 จำนวน 8 ลำ โดยติดตั้งแท่นยิง Mark 20 จำนวน 2 รางหน้าปืนใหญ่หัวเรือ ควบคุมการยิงด้วยระบบไฟฟ้าจากสะพานเดินเรือ นอกจากนี้ยังติดตั้งบนเรือหลวงบางปะกง (ลำที่หนึ่ง) เมื่อเปลี่ยนภารกิจมาเป็นเรือฝึกในภายหลัง เรือปลดประจำการประมาณปี 1985 ทำให้ Mousetrap ได้ปลดประจำการตามไป เป็นอาวุธที่ผู้เขียนชื่นชอบเป็นพิเศษ
เรือหลวงสุครีพกลับจากการซ่อมแซมที่เกากวมในปี 1965 มองเห็นแท่นยิง Mark 20 ได้อย่างชัดเจน ด้านล่างคือภาพผ่าครึ่งลูกระเบิด Mousetrap ซึ่งใช้งานกับ Hedgehog ด้วยเช่นกัน
เครื่องยิงลูกระเบิดปราบเรือดำน้ำ Limbo
ย้อนกลับไปสงครามโลกครั้งที่สองอีกครั้ง หลังอังกฤษเข้าประจำการเครื่องยิงลูกระเบิดปราบเรือดำน้ำ Hedgehog ได้เพียงปีเดียว พวกเขาก็พัฒนาอาวุธชนิดใหม่สำเร็จ Squid Anti Submarine Mortar เป็นระบบแท่นยิงลูกระเบิดชนิดแฝดสาม ขนาดลำกล้อง 305มม.น้ำหนักรวม 7 ตัน ลูกระเบิดมีขนาด 177 กิโลกรัม หัวรบขนาด 94 กิโลกรัม ควบคุมการยิงอัตโนมัติด้วยระบบโซนาร์ ระยะยิงไกลสุดประมาณ 250 เมตร โจมตีได้ลึกสุดที่ 270 เมตร สามารถบรรจุลูกระเบิดเพิ่มด้วยระบบรางไฟฟ้า หรือจะเรียกเครื่องยิงลูกระเบิดรุ่นเฮฟวี่เวทก็ได้นะครับ
ลูกระเบิดตกสู่พื้นน้ำทำมุมสามเหลี่ยมกว้าง 37 เมตร ด้วยลูกระเบิดลึกที่มีขนาดใหญ่ขึ้น หัวรบขนาดใหญ่ขึ้น จึงมีความรุนแรงในการโจมตีมากกว่าเดิม กองทัพเรืออังกฤษติดตั้ง Squid บนเรือรบประมาณ 70 ลำ ผลการโจมตีระหว่างสงครามจำนวน 50 ครั้ง สามารถทำลายเรือดำน้ำข้าศึกได้ถึง 17 ลำ ค่าเฉลี่ยอยู่ที่การโจมตี 2.94 ครั้งต่อ 1 เป้าหมาย เป็นสถิติที่ที่สุดในยุคนั้นกันเลยทีเดียว
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง Squid เป็นอาวุธปราบเรือดำน้ำมาตราฐานของอังกฤษ โดยมีการผลิตออกมาจำนวน 195 ระบบ แต่ด้วยระยะยิงที่สั้นพอสมควร ทำให้มีปัญหาในการรับมือเรือดำน้ำรุ่นใหม่ จึงพัฒนาอาวุธที่ทันสมัยมากกว่าเดิม ระยะยิงไกลกว่าเดิม แต่ใช้ลูกระเบิดชนิดเดียวกัน
ระบบแท่นยิง ระบบรางโหลดบรจุ และคลังเก็บลูกระเบิดของ Squid
อำนาจการทำลายของลูกระเบิดหนัก 177 กิโลกรัมจำนวน 3 นัด
ในปี 1955 (หรือ 12 ปีหลังจาก Squid เข้าประจำการ) Limbo Anti Submarine Mortar Mark 10 ได้เข้าประจำการบนเรือรบลำแรก โดยการนำ Squid มาปรับปรุงใหม่ทั้งหมด ใช้ลำกล้องเครื่องยิงจรวดยาวมากกว่าเดิม จนสามารถเพิ่มระยะยิงเป็น 366 เมตรถึง 914 เมตร ทำงานร่วมกับระบบโซนาร์รุ่นใหม่ ได้แก่ Type 170 และ Type 174 ทว่าน้ำหนักรวมทั้งระบบก็เพิ่มขึ้นเป็น 35 ตันด้วย (รวมลูกระเบิดจำนวน 51 นัด สามารถยิงซัลโวได้รวม 17 ชุด) จึงต้องการพื้นที่ติดตั้งขนาดใหญ่ตาม เนื่องจากขนาดลำกล้องที่ยาวเทอะทะ จึงนิยมติดตั้ง Limbo ทั้งระบบใต้ดาดฟ้าใหญ่ เรือบางลำสร้างหลังคาคลุมด้านบน เมื่อใช้งานจึงเปิดหลังคาออกแล้วยกแท่นยิงขึ้น
Limbo เข้าประจำการบนเรือรบจำนวนมาก เรือบางลำติด Limbo ถึง 2 ระบบตามความยาวเรือ นอกจากกองทัพเรืออังกฤษแล้ว ยังมีอีกหลายชาติจัดหาเครื่องยิงลูกระเบิดรุ่นทั้งใหญ่และยาวไปใช้งาน ราชนาวีไทยไม่ยอมน้อยหน้าชาติอื่น ในปี 1973 จึงได้ Limbo มาพร้อมเรือหลวงมกุฎราชกุมาร ก่อนปลดประจำการอาวุธในปี 1988 โดยติดตั้งตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ Sting Ray ทดแทน (เท่ากับประจำการประมาณ 15 ปี) ใกล้เคียงช่วงเวลาที่อังกฤษปลดประจำการอาวุธชนิดนี้ Limbo ได้เข้าร่วมสงครามฟอร์คแลนด์ในปี 1982 ด้วย แต่กองเรืออังกฤษค้นหาเรือดำน้ำอาร์เจนติน่าไม่เจอ จึงไม่มีการใช้งาน Limbo แต่อย่างใด
แม้ Limbo จะปลดประจำการไปแล้ว แต่อาวุธยังคงติดตั้งอยู่ในเรือหลวงมกุฎราชกุมาร ในอนาคตถ้าปลดประจำการและจัดทำเป็นเรือพิพิธภัณฑ์ แค่เอาแท่นยิงจรวดซีแคทและเรดาร์ควบคุมการยิง กลับมาติดตั้งอีกครั้งในตำแหน่งเดิม ก็จะได้เรือที่สมบรูณ์แบบอีกลำหนึ่ง ปัญหาก็คือซีแคทยังอยู่ไหม
สงครามอินเดีย-ปากีสถานวันที่ 9 ธันวาคม 1971 มีการปะทะกันระหว่างเรือดำน้ำของปากีสถาน กับเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำของอินเดีย เรือดำน้ำ PNS Hangor (S131) ชองปากีสถาน ได้ยิงตอร์ปิโดใส่เรือฟริเกต INS Khukri (F149) ของอินเดียแล้วรีบฉากหนี ตอร์ปิโดลูกสุดท้ายโดนที่บริเวณถังน้ำมัน ทำให้เรือฟริเกตชั้น Type 14 Blackwood ขนาด 1,200 ตันจมลงใน 5 นาที เรือฟริเกต INS Kirpan (F144) ของอินเดียได้โจมตีคืนด้วยระเบิดลึก ทว่า PNS Hangor หลบหนีไปไกลแล้ว ส่วนเครื่องยิงลูกระเบิดปราบเรือดำน้ำ Limbo จำนวน 2 แท่นยิง ก็ดันเสียหายใช้งานไม่ได้ เรือดำน้ำปากีสถานลาดตระเวนต่อไปอีก 4 วัน ก่อนหันหัวเรือกลับสู่ฐานทัพโดยสวัสดิภาพ
เรือฟริเกตชั้น Type 14 Blackwood เคยติดตั้งตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำขนาด 533 มม.รุ่น Mk 20 Bidderจำนวน 4 ท่อยิง แต่ถอดออกหลังประจำการได้ไม่นาน เพราะอาวุธประสบปัญหาพอสมควร จึงหันมาพัฒนาตอร์ปิโดขนาด 324 มม.ทดแทน ครั้นเข้าร่วมสงครามภายใต้กองทัพเรืออินเดีย จึงสู้เรือดำน้ำรุ่นใหม่ของปากีสถานไม่ได้ ทั้งในด้านระบบอาวุธและระบบตรวจจับเป้าหมาย
ขนาดลูกระเบิด Limbo และ Squid เทียบกับลูกระเบิด Hedgehog และ Mousetrap
จรวดปราบเรือดำน้ำ Type 86 (RBU-1200)
จรวดปราบเรือดำน้ำ หรือ Anti-Submarine Rocket เป็นอาวุธปราบเรือดำน้ำพิสัยใกล้และพิสัยปานกลาง มีลักษณะเป็นลูกจรวดไม่นำวิถี (Rocket) ขับเคลื่อนในตัวด้วยเชื้อเพลิงแข็ง ควบคุมระยะยิงด้วยการคำนวณมุมกระดก และความเร็วต้นของจรวดจากระบบคอมพิวเตอร์ สามารถจุดชนวนหัวรบได้ 3 วิธี ได้แก่ ชนวนระเบิดด้วยการตั้งเวลา ชนวนเฉียดระเบิด (Proximity) ด้วยอิทธิพลของอำนาจแม่เหล็กหรือเสียง และชนวนระเบิดด้วยการตั้งระยะลึก โดยมีระยะยิงตั้งแต่ 500 เมตร ถึง 6,000 เมตร
ปี 1991 กองทัพเรือไทยได้สั่งซื้อเรือฟริเกตจำนวน 4 ลำจากจีน โดยแบ่งเป็นชั้น Type 053HT Jianghu-III จำนวน 2 ลำ ได้แก่ เรือหลวงบางปะกง (ลำที่สอง) กับเรือหลวงเจ้าพระยา (ลำที่สอง) และชั้น Type 053HT-H Jianghu-III จำนวน 2 ลำ ได้แก่ เรือหลวงกระบุรี กับเรือหลวงสายบุรี เรือทั้ง 4 ลำติดตั้งระบบโซนาร์ SJD-5 ทำงานควบคู่กับจรวดปราบเรือดำน้ำ Type 86 กองทัพเรือไทยใช้คำเรียกว่า Rocket Depth Charge หรือ RDC แบบ 86 อาจเป็นเพราะมันคือระเบิดลึกขับเคลื่อนในตัวนั่นเอง
จรวดปราบเรือดำน้ำ Type 86 พัฒนาปรับปรุงมาจากรุ่น RBU-1200 ของโซเวียต แท่นยิงขนาดกระทัดรัดน้ำหนักเพียง 620 กิโลกรัม มีท่อยิงจรวดปราบเรือดำน้ำจำนวน 5 ท่อ แท่นยิงยาว 1.390 เมตร กว้าง 1.140 เมตร สุง 1.150 เมตร ควบคุมการยิงด้วยระบบไฟฟ้าจากสะพานเดินเรือ สามารถเลือกยิงทีล่ะนัดหรือซัลโวหมดทั้ง 5 นัดก็ได้ สามารถควบคุมด้วยมือในกรณีฉุกเฉินได้ ลูกจรวดมีน้ำหนัก 69.6 กิโลกรัม หัวรบ TNT มีน้ำหนัก 30.1 กิโลกรัม หัวรบTBA มีน้ำหนัก 32 กิโลกรัม ลูกจรวด ยาว 1.228 เมตร กว้าง 0.252 เมตร ระยะยิงไกลสุดเมื่อกระดกมุม 45 องศาเท่ากับ 1,200 เมตร ถึง 1,450 เมตร รัศมีการทำลายด้วยหัวรบ TNT เท่ากับ 6 เมตร รัศมีการทำลายด้วยหัวรบ TBA เท่ากับ 9 เมตร ตั้งระเบิดได้ที่ความลึกมากสุด 300 เมตร
เนื่องจากอาวุธค่อนข้างเก่ามาก RBU-1200 เริ่มเข้าประจำการในปี 1956 ทำงานควบคู่กับ Tamir-11 (MG-11) Search Light Sonar ซึ่งเป็นโซนาร์แบบ Retractable มี Telescoping Arm ยื่นออกมาจากใต้ท้องเรือ เมื่อไม่ต้องการใช้งานสามารถหดเก็บได้ จีนได้ขอซื้อลิคสิทธิ์อาวุธมาผลิตเองในชื่อ จรวดปราบเรือดำน้ำ Type 86 และ SJD-3 telescoping high frequency active sonar บังเอิญว่าเรือของไทยใช้ระบบโซนาร์ SJD-5 ซึ่งนำ SJD-3 มาปรับปรุงให้ทันสมัยมากขึ้น การตรวจจับเป้าหมายจึงทำได้ดีขึ้น ทว่าประสิทธิภาพอาวุธยังคงเดิมนะครับ
โชคของการยิงโดนของ Type 86 เมื่อเป้าใต้น้ำอยู่ในระดับความลึกไม่เกิน 100 เมตร โชคของการยิงโดนเป้าในการยิงแบบซัลโวจำนวน 10 นัด จะมีค่าน้อยกว่าหรือเท่ากับ 10 เปอร์เซนต์ เป้าหมายจะถูกทำลายถ้าอยู่ในรัศมีของลูกจรวดไม่เกิน 5 เมตร เป้าหมายจะได้รับความเสียถ้าอยู่ในรัศมีของลูกจรวดไม่เกิน 5 ถึง 10 เมตร (ขึ้นอยู่กับชนิดของหัวรบด้วย) เรือฟริเกตชั้น Jianghu-III ทุกลำ สามารถจัดเก็บลูกจรวดในคลังได้จำนวน 30 นัด โดยมีช่องโหลดอาวุธที่หัวเรือระหว่างแท่นยิงทั้งสองด้าน แต่การบรรจุลูกจรวดต้องทำด้วยมือนะครับ โดยการกระดกท่อยิงทำมุม 4 องศา จากนั้นจึงทำการบรรจุทีล่ะนัดจนครบทุกท่อ
จรวดปราบเรือดำน้ำ Type 86และ ระบบโซนาร์ SJD-5 ยังคงขายได้ต่อไปเรื่อย ๆ เพราะมีลูกค้ากระเป๋าเบาจัดหาใช้งานสม่ำเสมอ จึงไม่น่ามีปัญหาในเรื่องการซ่อมบำรุงหรือจัดหาลูกจรวดเพิ่มเติม กองทัพเรือไทยได้มีการซ้อมยิง Type 86 มาโดยตลอด อาวุธยังคงทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ แม้ประสิทธิภาพจะน้อยนิดแต่ถ้ายิงโดนก็จมนะเออ ผู้เขียนแค่ติดใจเรื่องระบบโซนาร์ SJD-5 เท่านั้น ว่ายังคงสามารถใช้งานได้ดีมากน้อยแค่ไหน
เรือหลวงกระบุรีทดสอบยิงจรวดปราบเรือดำน้ำ Type 86 ในปี 2012
อาวุธนำวิถีปราบเรือดำน้ำ RUR-5 ASROC
อาวุธนำวิถีปราบเรือดำน้ำ เป็นระบบอาวุธปราบเรือดำน้ำระยะไกล สามารถโจมตีเป้าหมายตั้งแต่ระยะ 10 กิโลเมตรขึ้นไป มีลักษณะผสมกันระหว่างอาวุธนำวิถี พื้น-สู่-พื้น กับอาวุธปราบเรือดำน้ำ ได้แก่ ตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำหรือระเบิดลึกนิวเคลียร์ มีส่วนประกอบสำคัญดังนี้
- อาวุธนำวิถี
- แท่นยิงอาวุธนำวิถี
- ระบบโซนาร์สำหรับตรวจจับและพิสูจน์ทราบเป้าหมาย เพื่อส่งข้อมูลไปยังเครื่องควบคุม
- ระบบควบคุมการยิง มีหน้าที่ควบคุมการโคจรของอาวุธนำวิถี ให้เดินทางไปถึงยังจุดหมายที่กำหนด ก่อนปลดอาวุธปราบเรือดำน้ำให้ตกสู่พื้นน้ำ
อาวุธนำวิถีปราบเรือดำน้ำประกอบไปด้วย โครงลูกจรวดใช้บรรจุอาวุธปราบเรือดำน้ำ มอเตอร์ขับเคลื่อนตัวจรวด และชุดกลไกปลดอาวุธปราบเรือดำน้ำให้ตกสู่พื้นน้ำ อาวุธนำวิถีเดินทางสู่เป้าหมายด้วยระบบขับเคลื่อนเชื้อเพลิงแข็ง ก่อนปลดอาวุธปราบเรือดำน้ำลงสู่พื้นน้ำ เหนือตำแหน่งที่ได้ตั้งข้อมูลไว้ล่วงหน้า
ถ้าอาวุธปราบเรือดำน้ำเป็นตอร์ปิโด ทันทีที่ตอร์ปิโดแยกตัวจากโครงจรวด ร่มหน่วงความเร็วท้ายตอร์ปิโดจะกางออก เพื่อลดอัตราความเร็วในการตกสู่พื้นน้ำ และควบคุมการตกสู่พื้นน้ำให้มีความปลอดภัย ร่มจะปลดออกโดยอัตโนมัติเมื่อตอร์ปิโดตกถึงพื้นน้ำ และแบตเตอรี่ตอร์ปิโดจะเริ่มทำงานเมื่อสำผัสน้ำทะเล
ถ้าอาวุธปราบเรือดำน้ำเป็นระเบิดลึกนิวเคลียร์ ทันทีที่แยกตัวจากโครงจรวด ลูกระเบิดลึกจะยังคงโคจรต่อไปด้วยแรงเฉื่อย โดยใช้ครีบหางรักษาเสถียรภาพการทรงตัว ซึ่งครีบหางจะกางออกโดยอัตโนมัติ และหลุดออกเมื่อกระทบกับพื้นน้ำโดยแรง ลูกระเบิดลึกจะจมลงและระเบิดตามความลึกที่กำหนดไว้
อเมริกาเริ่มต้นพัฒนาอาวุธนำวิถีปราบเรือดำน้ำตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1950 เพื่อนำมาแทนที่ RUR-4 Weapon Alpha ซึ่งล้าสมัยและมีระยะยิงสั้นมาก Weapon Alpha มีรูปร่างหน้าตาคล้ายปืนใหญ่ขนาด 5.25 นิ้ว แต่ทว่าใช้ยิงระเบิดลึกขนาด 238 กิโลกรัมได้ไกลเพียง 730 เมตร เมื่ออเมริกาพัฒนาตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ Mark 44 สำเร็จเรียบร้อย จึงต่อยอดมาเป็น RUR-5 ASROC (ย่อมาจากAnti-Submarine ROCket) ในท้ายที่สุด
ASROC เริ่มเข้าประจำการในปี 1959 บนเรือ USS Norfolk (DL-1) ซึ่งเป็นเรือพิฆาตขนาดใหญ่ระวางขับน้ำ 5,600 ตัน อเมริกาเรียกเรือชนิดนี้ว่า Destroyer Leader (DL) ถือกำเนิดมาจากโครงการ Hunter-Killer Cruiser ในอดีต โดยมีภารกิจหลักคือปราบเรือดำน้ำ จึงติดตั้ง RUR-4 Weapon Alpha จำนวน 4 ระบบที่หัวเรือและท้ายเรือ RUR-5 ASROC ถูกติดตั้งทดแทน Weapon Alpha ด้านท้ายเรือ อาวุธนำวิถีปราบเรือดำน้ำรุ่นใหม่ สามารถบรรจุตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ Mark 44 หรือระเบิดลึก Mark 17 ที่ใช้หัวรบนิวเคลียร์ W44
หลัง USS Norfolk (DL-1) ปรับปรุงแล้วเสร็จได้ไม่นาน โครงการ FRAM Upgrade (Fleet Rehabilitation and Modernization) จึงเริ่มเดินหน้าทันที FRAM Upgrade คือการปรับปรุงใหญ่เรือพิฆาตชั้น Gearing เรือจะได้รับการติดตั้ง แท่นยิงแฝดแปด Mark 112 สำหรับอาวุธนำวิถีปราบเรือดำน้ำ RUR-5 ASROC และแท่นยิงแฝดสาม Mark 32 สำหรับตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ Mark 44 รวมทั้งระบบโซนาร์ AN/SQS-23 ที่ทันสมัย โดยที่ FRAM II (หรือเฟสสอง) จะปรับปรุงท้ายเรือให้เป็นลานจอดกับโรงเก็บ รองรับอากาศยานไร้คนขับปราบเรือดำน้ำ QH-50 DASH จึงมีความยืดหยุ่นในการทำภารกิจมากกว่าเดิม เรือพิฆาตชั้น Gearing จำนวน 94 ลำได้รับการปรับปรุง เมื่อรวมกับเรือพิฆาตชั้น Allen M. Sumners อีกจำนวน 33 ลำที่ปรับปรุงเพิ่มเติม ส่งผลให้ ASROC กลายเป็นระบบอาวุธปราบเรือดำน้ำรุ่นมาตราฐาน ของกองทัพเรืออเมริกาไปในทันที
หมายเหตุ : ปัจจุบันอากาศยานไร้คนขับขนาดเล็ก กำลังได้รับความนิยมชนิดล้นหลาม และมีใช้งานแทบทุกกองทัพเรือก็ว่าได้ เพียงแต่เปลี่ยนภารกิจมาเป็นลาดตระเวณหาข่าว รับ-ส่งข้อมูลให้กับเรือรบและอาวุธนำวิถี รวมทั้งต่อต้านเรือผิวน้ำ (ได้ในระดับหนึ่ง) QH-50 DASH แค่เกิดเร็วไป 50 กว่าปีเท่านั้นเอง
ASROC ถูกควบคุมด้วย Underwater Battery Fire Control System Mark 114 เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุมอาวุธปราบเรือดำน้ำ จัดเตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ในการยิงอาวุธปราบเรือดำน้ำ ออกคำสั่งในการหันหรือกระดกแท่นยิง ช่วยในการติดตามเป้าหมายให้กับโซนาร์ รวมทั้งให้ข้อมูลเรดาร์เมื่อต้องการติดตามเป้าหมายด้วยเรดาร์ ควบคุมการยิงแท่นยิงแฝดแปด Mark 112 สำหรับอาวุธนำวิถีปราบเรือดำน้ำ RUR-5 ASROC และแท่นยิงแฝดสาม Mark 32 สำหรับตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ Mark 44 ระบบหลักของ Mark 114 FCS ประกอบไปด้วย
- Attack Console Mark 53 MOD 0 ส่วนประมวลผลกลางระบบควบคุมการยิง
- Position Indicator Mark 78 MOD 2 แสดงข้อมูลของเรือยิง เรือเป้าหมาย และข้อมูลในการใช้อาวุธ
- Stabilization Computer Mark 134 ให้ข้อมูลการหันและกระดกกับระบบควบคุมการยิง
- Relay Transmitter Mark 43 ตรวจสอบการทำงานของระบบสัญญาณ สามารถสั่งหยุดสัญญานได้
ASROC เข้าประจำการมาอย่างยาวนาน เข้าร่วมสงครามทางทะเลก็หลายครั้ง โดยครั้งสำคัญที่สุดก็คือวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา (Cuban Missle Crisis) ในปี 1962 เมื่อรัฐบาลอเมริกาส่งกองทัพเรือไปปิดล้อมน่านน้ำทะเลแคริบเบี้ยน เพื่อกดดันให้โซเวียตถอนขีปนาวุธพิสัยไกลออกจากคิวบา จึงมีการเผชิญหน้ากับเรือดำน้ำโซเวียตจำนวนหนึ่ง เรือรบอเมริกากดดันเรือดำน้ำโซเวียตอย่างหนัก ด้วยการทิ้งระเบิดลึกเข้าใส่จำนวนมาก เพื่อให้เรือดำน้ำหันหัวกลับหรือหยุดแล้วลอยลำขึ้น ระเบิดลึก Mark 17 หัวรบนิวเคลียร์ถูกติดตั้งกับ ASROC ทันที แท่นยิงแฝดแปด Mark 112 อยู่ในสถานะพร้อมยิง แต่อาวุธไม่ได้ใช้งานเพราะการเจรจาประสบผลสำเร็จ
สงครามทางทะเลครั้งอื่นที่เรือรบอเมริกาเข้าร่วม ได้แก่ สงครามอิรัก–อิหร่าน (Iran–Iraq War) ระหว่างปี 1980 ถึง 1988 ปฏิบัติการโมร์วาริด (Operation Morvarid) ในปี 1980 ซึ่งเป็นการรบทางทะเลกับกองทัพเรืออิหร่าน ปฏิบัติการโล่ทะเลทราย (Operation Desert Shield) และปฏิบัติการพายุทะเลทราย (Operation Desert Storm) ในสงครามอิรัก-คูเวต (หรือสงครามอ่าวเปอร์เซีย) ระหว่างปี 1990-1991 รวมทั้งสงครามอิรัก (Operation Iraqi Freedom) ในปี 2003 แต่สงครามที่เอ่ยถึงทั้งหมด ไม่พบการเผชิญหน้ากับเรือดำน้ำฝ่ายตรงข้าม ASROC จึงไม่ได้ใช้งานหรือเตรียมพร้อมแต่อย่างใด
ย้อนกลับไปเมื่อเมื่อ 22 ปีที่แล้ว ราชนาวีไทยเข้าประจำการอาวุธนำวิถีปราบเรือดำน้ำเป็นครั้งแรก เมื่อเรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เข้าประจำการในวันที่ 30 กรกฎาคม 1994 ต่อด้วยเรือหลวงพุทธเลิศหล้านภาลัย เข้าประจำการในวันที่ 27 พฤศจิกายน 1996 เรือทั้งสองลำได้รับการโอนมาจากกองทัพเรืออเมริกา เป็นเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำชั้น Knox ชื่อ USS Truett (FF-1095) และ USS Ouellet (FF-1077) ตามลำดับ
เรือฟริเกตอเมริกามาพร้อม RUR-5A Mod 4 ASROC บรรจุตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ Mark 46 ซึ่งเป็นรุ่นใหม่ล่าสุด ASROC มีความยาว 4.5 เมตร น้ำหนัก 487 กิโลกรัม ระยะทำการไกลสุดประมาณ 19 กิโลเมตร แท่นยิงแฝดแปด Mark 112 สามารถโหลดอาวุธโดยอัตโนมัติจากคลังใต้สะพานเดินเรือ คลังสามารถจัดเก็บลูกจรวดได้จำนวน 16 นัด เมื่อรวมกับตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ Mark 46 ในคลังอีกจำนวน 24 นัด ทำให้เรือสามารถทำภารกิจได้ถึงยุโรป โดยไม่ต้องกลัวกระสุนหมดกลางทางเสียก่อน ส่วนผลการทำภารกิจผู้เขียนไม่อาจทราบได้
เรือหลวงพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ปลดประจำการไปแล้ว เหลือเพียงเรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกลำเดียวเท่นั้น ที่สามารถใช้งานอาวุธทันสมัยชนิดนี้ได้ แต่ก็มีแนวโน้มจะถูกปลดระวางในอีก 5 ถึง 10 ปี
RUM-139 VL-ASROC คืออาวุธนำวิถีปราบเรือดำน้ำรุ่นใหม่ล่าสุด พัฒนาต่อจาก RUR-5 ASROC นั่นแหละ โดยใช้ระบบแท่นยิงแนวดิ่ง Mark 41 Vertical Launching System (VLS) ซึ่งมีติดตั้งอยู่บนเรือฟริเกตชั้นเรือหลวงนเรศวร รวมทั้งเรือฟริเกตลำใหม่ต่อจากเกาหลีใต้ด้วย ผู้เขียนแอบคาดหวังในใจเพียงลำพังว่า กองทัพเรือไทยอาจจะมี RUM-139 VL-ASROC เข้าประจำการในอนาคตไม่ใกล้ไม่ไกล
บทส่งท้าย
บทความเรื่อง อาวุธปราบเรือดำน้ำบนเรือรบราชนาวีไทย ตอนที่ 2 : จรวดปราบเรือดำน้ำ ก็ได้จบลงแบบกระท่อนกระแท่น บทความตอนต่อไปจะเป็นตอนจบของไตรภาค ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าจะมีเรื่องอื่นแซงคิวหรือไม่ ตามอ่านเพื่อเป็นกำลังใจกันต่อไปนะครับ ;)
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ้างอิงจาก
http://www.navsource.org/archives/05/0201.htm
http://www.seaforces.org/wpnsys/SURFACE/RUR-5-ASROC.htm
https://de.wikipedia.org/wiki/RBU-1200
https://en.wikipedia.org/wiki/Naval_weaponry_of_the_People's_Liberation_Army_Navy
https://en.wikipedia.org/wiki/Limbo_(weapon)
http://www.navsource.org/archives/05/837.htm
http://www.navweaps.com/Weapons/WAMUS_ASW.php
http://www.navweaps.com/Weapons/WAMBR_ASW.php#Hedgehog
http://www.ussjpkennedyjr.org/gearings.html
http://www.navweaps.com/Weapons/WAMBR_ASW.php
http://www.fleet.navy.mi.th/ftc/test56/2210.pdf
https://en.wikipedia.org/wiki/USS_Norfolk_(DL-1)
http://www.ww2pcsa.org/patrol-craft.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น