พลเรือเอกสงัด
ชลออยู่ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารเรือวันที่ 19 พฤศจิกายน
2516 ช่วงนั้นประเทศไทยกำลังวุ่นวายกับสถานการณ์รอบตัว
ทั้งการเมืองภายในประเทศที่กำลังร้อนระอุ
ภัยคุกคามจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่กำลังขยายตัวทั่วประเทศ
ภัยคุกคามจากประเทศเพื่อนบ้าน มีกองกำลังไม่ทราบฝ่ายแทรกซึมผ่านชายแดนเข้ามาในประเทศบ่อยครั้ง
สหรัฐอเมริกาก็เพิ่งถอนตัวจากสงครามเวียดนาม
และกำลังถอนกำลังทหารออกจากประเทศไทยทั้งหมด อาวุธหรืออะไรก็ตามที่ไทยเคยได้ใช้งานฟรีๆ
ย่อมหายตามกันไปด้วย แต่ยังนับว่าโชคดีที่ความช่วยเหลือด้านการทหารยังคงเหมือนเก่า
หลังรับตำแหน่งพลเรือเอกสงัด ชะลออยู่ ได้รับพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เข้าเฝ้า
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เพื่อขอรับพระบรมราชโอวาทในโอกาสที่รับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชกระแสรับสั่งต่อผู้บัญชาการทหารเรือ
มีเรื่องน่าสนใจหลายเรื่องอาทิเช่น
-เกี่ยวกับสหรัฐอเมริกาถอนตัวออกไปจากประเทศไทย
พระองค์ได้มีพระราชกระแสรับสั่งว่าขอให้ทุกคนพยายามยืนด้วยขาของตนเองอย่าไปหวังพึ่งเขาจนหลวมตัว
หรือคิดไปว่าเมื่อไม่ได้รับความช่วยเหลือแล้วจะอยู่ไม่ได้กองทัพไทยต้องพยายามยืนอยู่บนขาของตัวเองให้มากที่สุด
-กำลังรบทางเรือ ควรหันไปใช้เรือเล็กที่มีความเร็วสูงให้มาก
เพราะเรือใหญ่หาได้ยาก ต้องใช้บประมาณและคนมาก กว่าจะรวบรวมได้ก็ใช้เวลานาน
ส่วนเรือเล็กหาได้ง่ายกว่า ใช้งบประมาณน้อยกว่า
-ขอให้เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการตามลำแม่น้ำโขงที่อยู่ตามชายแดน
อย่าได้เกลือกกลั้วกับพวกโสณทุจริต พยายามห่างๆ ไว้
ให้รักษาความดีที่มีอยู่แล้วในขณะนี้ อย่าไปร่วมมือกับผู้ประพฤติมิชอบ
จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ได้ทรงอวยพรและทรงฝากความหวังว่า ผู้บัญชาการทหารเรือ
คงจะได้ปรับปรุงกองทัพเรือให้เจริญก้าวหน้าขึ้นไปตามลำดับ
ระยะเวลาเกือบ
3
ปีที่พลเรือเอกสงัด ชลออยู่หรือ ‘บิ๊กจอว์ส’ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ กองทัพเรือมีการพัฒนาทุกหน่วยงานอย่างเป็นลำดับขั้นตอน
โดยเฉพาะกำลังทางเรือมีการเสริมทัพด้วยเรือรบยุคใหม่ติดอาวุธทันสมัยจำนวนพอสมควร ตามรายละเอียดดังต่อไปนี้
การพัฒนาด้านกำลังรบระหว่างปี
2516 ถึง 2519
ในรอบ
3 ปีที่ผ่านมากองทัพเรือได้มีการพัฒนากำลังรบ เพื่อให้มีการดำเนินการตามนโยบายและแนวปฏิบัติด้านยุทธการได้มากพอสมควร
ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเฉพาะที่สำคัญมีดังต่อไปนี้
การเสริมสร้างกำลังรบ
ได้กำหนดโครงการไว้เป็นลำดับขั้นตอนเพื่อสอดคล้องกับฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศ
พิจารณาถึงข้าศึกที่อาจเป็นไปได้ที่อยู่ใกล้ว่ามีขนาดของกำลัง อาวุธยุทโธปกรณ์
การจัดวางกำลัง ประสิทธิภาพในการรบ ความคล่องตัว
เพื่อให้ได้มาซึ่งกำลังอันเหมาะสมกับภัยคุกคามต่างๆ
ให้สมส่วนกันโดยจัดทำโครงการจัดหาเป็นระยะยาว
ตามเป้าหมายการเสริมกำลังรบไม่ให้เสียงบประมาณรายปีเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะเกินขีดความสามารถของหน่วยเหนือจะจัดสรรเป็นพิเศษให้ได้
รวมทั้งใช้งบประมาณประจำของกองทัพเรือเข้ามาสมทบ
และขอความช่วยเหลือจากมิตรประเทศเท่าที่ทำได้ ผลงานที่ได้ดำเนินการไป
การรับโครงการเดิมมาปฏิบัติต่อ และโครงการที่ได้อนุมัติแล้วซึ่งจะดำเนินการต่อไป
ที่สำคัญๆ มีดังต่อไปนี้
กำลังทางเรือ
ได้กำหนดแนวทางการจัดหาเรือที่เหมาะสม
ควรเป็นเรือเล็กที่มีขีดความสามารถพอตัว
และคล่องตัวทั้งในการรับทางรุกมีอำนาจในการป้องปรามตามสมควร เช่น
เรือยนต์เร็วติดอาวุธนำวิถีพื้นสู่พื้น
นอกจากนั้นก็ได้หากำลังที่มีความอ่อนตัวที่สามารถรับภัยคุกคามได้ทั้งการรบนอกแบบและในแบบ
หรือเป็นเรือที่ใช้งานได้หลายอย่าง เช่น เรือฟริเกตเล็ก
และเรือยนต์ปืนความเร็วสูงเป็นต้น นอกจากนั้นยังได้พิจารณาจัดหาเรืออื่นๆ
อีกเพื่อใช้ในการสนับสนุนการปฏิบัติการ ทั้งทางด้านยุทธการและกิจการพิเศษ เช่น
เพื่อสนับสนุนการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก
และใช้งานเกี่ยวกับเครื่องหมายทางเรือเป็นต้น
ซึ่งการจัดหาเพื่อการเสริมสร้างกำลังรบให้บรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์
ได้ดำเนินการเพื่อให้ได้มาในหลายรูปแบบเท่าที่ปรากฏได้แก่
1.การสั่งต่อเรือจากต่างประเทศ
ได้รับปฏิบัติโครงการต่อเนื่องเพื่อการจัดหา
ก.เรือฟริเกตติดอาวุธนำวิถีพื้นสู่อากาศที่สั่งต่อจากประเทศอังกฤษ คือ ร.ล.มกุฎราชกุมาร เดินทางกลับถึงประเทศไทยเดือนมีนาคม 2517
ข.เรือฟริเกตซึ่งสั่งต่อจากสหรัฐอเมริกาชั้นเดียวกับ ร.ล.ตาปี ซึ่งได้รับมาก่อนนี้แล้ว คือ ร.ล.คีรีรัฐ เดินทางกลับถึงประเทศไทยเดือนสิงหาคม 2517
ค.เรือยนต์เร็วติดอาวุธนำวิถีพื้นสู่พื้น คือจรวด Gabriel จำนวน 3 ลำจากบริษัทสิงคโปร์ชิพบิลดิ้ง
สาธารณรัฐสิงคโปร์ คือ ร.ล.ปราบปรปักษ์
ร.ล.หาญหักศัตรู และ ร.ล.สู้ไพลิน ขณะนี้ได้รับมอบ ร.ล.ปราบปรปักษ์ แล้วตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2519 ส่วนอีก 2 ลำจะได้รับประมาณ 3 เดือนและ 6 เดือน ตามลำดับต่อจากการรับลำแรกแล้ว
โครงการที่จะได้ดำเนินการไปยังไม่แล้วเสร็จ
โครงการต่อเรือยนต์เร็วติดอาวุธนำวิถีพื้นสู่พื้น
คือจรวด Exocet
จำนวน 3 ลำ
โดยรัฐบาลเห็นชอบเพื่อคุ้มครองการสำรวจขุดเจาะน้ำมันในทะเล ซึ่งตรงกับเป้าหมายการเสริมสร้างกำลังรบของกองทัพเรือ
จึงได้ดำเนินการเป็นขั้นตอนเรื่อยมาในขั้นแรกได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้เสียผลประโยชน์และสื่อมวลชนเกือบทำให้การต่อเรือชุดนี้ต้องเลิกล้มไป
แต่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
การดำเนินการโดยถูกต้องตามระเบียบปฏิบัติของราชการ ความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างกำลังกองทัพเรือด้วยความบริสุทธิ์ใจ
ประกอบกับประจักษ์พยานที่ปรากฏ
ได้เป็นสิ่งยืนยันให้รัฐบาลเชื่อถือและอนุมัติให้กองทัพเรือสั่งต่อเรือชุดนี้จากบริษัท
CANTIERE
NAVALE BREDA ประเทศอิตาลี ในวงเงินงบประมาณค่าสร้างเรือทั้ง 3
ลำประมาณ 1,213 ล้านบาทเศษ
และค่าสนับสนุนต่างๆ เช่นค่าใช้จ่ายในการรับเรือ
กรรมการตรวจการจ้างและผู้ควบคุมงาน อุปกรณ์ทดสอบจรวด และอะไหล่ประจำคลัง
ซึ่งต้องจัดหาควบคู่กันไป และให้ได้มาก่อนการรับมอบเรือหรือพร้อมรับมอบเรือ
ซึ่งค่าสนับสนุนดังกล่าวสำหรับเรือทั้ง 3 ลำเป็นเงินประมาณ 523
ล้านบาทเศษ
จึงเป็นงบประมาณทั้งสิ้นในการจัดหาเรือชุดนี้ทั้ง
3
ลำเป็นเงินประมาณ 1,736 ล้านบาทเศษ
ขณะนี้ได้ลงนามสัญญาแล้ว เมื่อ 29 กรกฎาคม 2519 สองลำแรกจะต่อแล้วเสร็จประมาณเมษายน 2522
ลำสุดท้ายประมาณ กรกฎาคม 2522
2.การสั่งต่อในประเทศ
โดยการสนับสนุนอย่างสำคัญของผู้บัญชาการทหารเรือ
กองทัพเรือได้ว่าจ้างบริษัท อู่กรุงเทพจำกัด
อันเป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งอยู่ในความควบคุมของกองทัพเรือ กระทรวงกลาโหม
ต่อเรือให้กองทัพเรืออันเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศ และเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี
ความรู้ความชำนาญ ประสบการณ์ตลอดจนการบริหารในการต่อเรือ
เพื่อให้ก้าวหน้าและมีขีดความสามารถในการต่อเรือที่ทันสมัยยิ่งๆ ขึ้นไป
ก.การต่อเรือใช้งานเครื่องหมายทางเรือ (Buoy Tender) ตามโครงการพัฒนาเครื่องหมายช่วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย
ของกรมอุทกศาสตร์และกระทรวงคมนาคมร่วมกัน ด้วยงบประมาณที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการและได้โอนให้กองทัพเรือเป็นผู้เบิกจ่ายแทน
ในวงเงินค่าจัดสร้างเป็นเงิน 52 ล้านบาทเศษ
เป็นเรือที่มีระวางขับน้ำปรกติ 690 ตัน ระวางขับน้ำเต็มที่ 960
ตัน ความเร็วสูงสุด 12 นอต
ซึ่งจะเป็นเรือที่ทันสมัย มีระยะปฏิบัติการไกล มีขีดความสามารถและคงทนทะเลสูง
ซึ่งจะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเท่าที่ปฏิบัติมา
แม้ว่ากองทัพเรือจะมีเรือที่สามารถใช้ในกิจการนี้อยู่ได้ก็ตาม
แต่ก็เป็นเรือเล็กเก่าและล้าสมัย ไม่สามารถปฏิบัติการไกลจากหน่วยที่ตั้งได้มาก
ทำให้การปฏิบัติการโครงการพัฒนาเครื่องหมายช่วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
อันจะเป็นประโยชน์ต่อการเดินเรือเป็นอย่างยิ่ง
การต่อเรือนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้ว
โดยผู้บัญชาการทหารเรือได้เป็นประธานในพิธีวางกระดูกงู เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2519
ข.โครงการต่อเรือ ATC จำนวน 1 ลำเป็นเรือที่จะใช้บังคับบัญชาและควบคุมปฏิบัติการในลำแม่น้ำ
และการลำเลียงทหาร
8.โครงการต่อเรือ LCVP จำนวน 6 ลำ
เพื่อใช้กับเรือ LST ที่อาจชำรุดเสียหายไป
และสนับสนุนการเคลื่อนจากเรือสู่ฝั่งในการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก
และสนับสนุนการปฏิบัติการในกิจของกองเรือลำน้ำ
3.เรือที่กองทัพเรือต่อเอง
ได้ดำเนินการโดยกรมอู่ทหารเรือนอกเหนือจากการปรับปรุงแก้ไข
ซ่อมบำรุงต่างๆ ในกองทัพเรือ การต่อเรือเองนี้
นอกจากจะเป็นการเสริมสร้างกำลังกองทัพเรือแล้ว
ยังได้ประโยชน์จากการที่เจ้าหน้าที่ของกองทัพเรือมีโอกาสได้รับและพัฒนาความรู้ ความชำนาญ
ประสบการณ์และเทคโนโลยีทางด้านการต่อเรือให้สูงขึ้น จึงได้มีการวิจัย
และสร้างเรือให้เหมาะสมกับภูมิประเทศและสภาพแวดล้อมของประเทศ
เท่าที่ได้ดำเนินการไปแล้วตามโครงการ ได้แก่
ก.โครงการต่อเรือประเภทเรือตรวจฝั่งความเร็วสูง ใช้ในกิจการตรวจรักษาฝั่ง
ป้องกันการแทรกซึมทางทะเล และกิจอื่นๆ เป็นแบบเรือ ต.91 ที่ได้สร้างไปแล้ว
คือเรือ ต.92
ขณะนี้ได้ทำการทดลองแล้วได้ผลเกินกว่าที่คาดคิดไว้มาก กำลังดำเนินการขั้นสุดท้ายเพื่อใช้ในราชการต่อไป
ข.โครงการต่อเรือ Assault Boat กำลังดำเนินการอยู่ในโครงการจำนวน
31 ลำ เพื่อใช้ในการปฏิบัติการในลำแม่น้ำ (Riverine
Operation) โดยเฉพาะสนับสนุนการปฏิบัติการในลำแม่น้ำโขง ของหน่วยปฏิบัติการตามลำแม่น้ำโขงให้ดียิ่งขึ้น
โครงการต่อเรือตรวจการณ์ลำน้ำระบบ
HYDROJET
เพื่อพัฒนาแก้ไขปัญหาที่ได้รับมาแล้วจากการที่ได้ใช้เรือตรวจการณ์แบบใช้เครื่องติดท้าย
ซึ่งมักจะชำรุดเมื่อกระทบกระแทกกับสิ่งใต้น้ำ เช่นสันทราย
จึงได้มีการดำเนินการตามโครงการนี้ โดยได้ต่อและทดลองแล้ว 1 ลำ
ได้ผลเป็นที่น่าพอใจสามารถทำให้เรือยกขึ้นจากแรงหยุ่นของอากาศได้เมื่อใช้ความเร็วประมาณ
23 นอต และทำความเร็วได้สูงสุดถึง 32 นอต
จึงได้สั่งการให้กรมอู่ทหารเรือสร้างเพิ่มเติมขึ้นอีก 2 ลำให้เสร็จภายในปี
2519 นี้
พร้อมทั้งติดอาวุธเพื่อนำไปทดลองทางด้านยุทธการก่อนที่จะนำไปใช้ในกองเรือลำน้ำ
4.ซื้อเรือจากต่างประเทศ
ได้จัดซื้อเรือยกพลขึ้นบกประเภท
LST
จำนวน 1 ลำ คือเรือ LST-722
เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบกของกองเรือยุทธการควบคู่ไปกับการพัฒนากำลังนาวิกโยธิน
และเพื่อใช้ในภารกิจอื่นๆ ของกองเรือยุทธการด้วย
โดยได้ติดต่อซื้อจากสหรัฐอเมริกาตามสภาพที่เป็นอยู่ ซึ่งผลการติดต่อสามารถจะซื้อได้ในราคาประมาณ
6 ล้านบาท แต่จำเป็นต้องได้รับการซ่อมทำและปรับปรุงบ้างก่อนที่จะนำออกใช้ปฏิบัติการ
เมื่อได้เปรียบเทียบการซ่อมทำปรับปรุงแล้ว
ปรากฏว่าการซ่อมทำในต่างประเทศมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าในประเทศมาก
จึงได้ว่าจ้างให้บริษัทเดินเรือของต่างประเทศทำการพ่วงจูงเรือ LST นี้จากสหรัฐอเมริกา เพื่อมาดำเนินการซ่อมทำประเทศในไทย
เสียค่าจ้างพ่วงจูงประมาณ 8.6 ล้านบาท
ซึ่งเมื่อครวมกับค่าซ่อมทำในประเทศซึ่งคาดว่าไม่สูงมากนักแล้ว
ยังถูกกว่าการต่อเรือหรือซื้อเรือใหม่มาก นับว่าเป็นการจัดหาเรือเพื่อเสริมสร้างกำลังรบให้บรรลุเป้าหมายได้รวดเร็วขึ้น
และประหยัดงบประมาณได้มาก
เรือลำนี้เมื่อเดินทางถึงประเทศไทยแล้วจะขอพระราชทานชื่อว่า ‘ร.ล.พระทอง’
5.รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา
ตามโครงการช่วยเหลือทางทหารได้แก่
ก.รับมอบ ร.ล.ปิ่นเกล้า
ซึ่งสหรัฐอเมริกาให้ยืมใช้ราชการตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกา
ซึ่งผู้บัญชาการทหารเรือได้ติดต่อเจรจากับฝ่ายสหรัฐอเมริกาด้วยตนเอง
เพื่อขอซื้อเป็นผลสำเร็จจนเป็นการได้เปล่าในที่สุด ในปี 2519
ข.รับเรือ PCF จำนวน 5 ลำ
เพื่อใช้ในการตรวจรักษาฝั่ง
ค.รับเรือ PRB จำนวน 4 ลำ
สำหรับกองเรือลำน้ำ เพื่อเสริมสร้างกำลังหน่วยปฏิบัติการตามลำแม่น้ำโขง
ให้เป็นไปตามโครงการที่วางไว้ให้มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติการยิ่งขึ้น
6.การพัฒนากองเรือลำน้ำ
หลังจากได้ก่อตั้งกองเรือลำน้ำขึ้นในกองเรือยุทธการเมื่อเดือนกรกฎาคม
2516
นั้น เนื่องจากเป็นกองเรือที่จัดตั้งใหม่
จึงได้มีการปรับปรุงพัฒนาด้านต่างๆ ขึ้นมาตามลำดับ
เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบอย่างสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้
โดยให้แนวทางที่จะปฏิบัติในลำน้ำที่มีภัยคุกคามปรากฏก่อน เช่น แม่น้ำโขง
และได้เตรียมการในการปฏิบัติในลำน้ำอื่นๆ ที่อาจมีภัยคุกคามเกิดขึ้นก็ได้ต่อไป
โดยได้ดำเนินการพัฒนาในเรื่องต่างๆ ดังนี้
ก.การเตรียมกำลัง
ได้จัดเตรียมกำลังทางเรือที่จะใช้ปฏิบัติการในลำน้ำทั้งที่จัดหาเอง
และรับการช่วยเหลือจากต่างประเทศตามที่กล่าวมาแล้ว
รวมทั้งวิจัยพัฒนาเรือที่ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาที่ได้รับจากสภาพแวดล้อม
และภูมิประเทศของลำน้ำในประเทศ และลำน้ำชายแดนที่ต้องรับผิดชอบ
ข.พัฒนาองค์บุคคล ยุทธวิธีและหลักนิยม
โดยฝึกอบรมกำลังพลที่จะต้องไปปฏิบัติหน้าที่หมุนเวียนกัน
โดยนำเอาหลักนิยมและยุทธวิธีที่นาวีต่างประเทศเคยใช้ได้ผล มาประยุกต์กับสภาพความเป็นจริงของประเทศให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้ได้ผล
โดยมุ่งที่ลำน้ำโขงเป็นลำดับแรก และแม่น้ำอื่นๆ ที่รับผิดชอบในลำดับต่อมา
เพื่อเป็นการเตรียมการไว้เมื่อเกิดภัยคุกคามขึ้น
ค.พัฒนาปรับปรุงสิ่งก่อสร้างต่างๆ
สนับสนุนเจ้าหน้าที่และกำลังที่ไปปฏิบัติหน้าที่ตามลำน้ำโขง เช่น สิ่งก่อสร้าง
ที่พักอาศัย และสิ่งอำนวยความสะดวกแพพักอาศัยสำหรับสถานีเรือต่างๆ
ชนิดเฟอร์โรซีเมนต์ อู่ลอยชนิดเฟอร์โรซีเมนต์
ยานพาหนะและสิ่งอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการซ่อมบำรุงให้สูงขึ้นเพื่อผลในการปฏิบัติงาน
กำลังอากาศนาวี
มีแนวทางเพื่อการจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติมตามแผนพัฒนากำลังรบ
และเพื่อทดแทนเครื่องบินที่หมดอายุใช้งาน
เนื่องจากได้เล็งเห็นแล้วว่ากำลังอากาศนาวีที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอที่จะปฏิบัติภารกิจตามแผนป้องกันประเทศเป็นเครื่องบินแบบเก่าอาจใช้ราชการต่อไปได้อีกไม่นานนัก
และอาจไม่มีชิ้นส่วนอะไหล่สนับสนุนจำเป็นต้องจัดหาเพิ่มเติมและทดแทน
จึงได้จัดตั้งเป็นโครงการต่อเนื่องระยะยาว เท่าที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ได้แก่
1.การจัดซื้อจากต่างประเทศ
ได้ดำเนินการจัดซื้อ
บ.
US-2C จากสหรัฐ 1 เครื่องโดยวิธี FMS ตามโครงการจัดหาเครื่องบิน ซึ่งจะสามารถใช้เป็นเครื่องบินลากเป้าความเร็วสูงซึ่งกองทัพเรือยังขาดอยู่
เพื่อใช้ในการฝึกต่อสู้อากาศยาน โดยครั้งแรกจะซื้อ บ.
ที่มีอยู่ในสหรัฐโดยเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 10.7 ล้านบาท
ต่อมาได้เจรจาขอซื้อตามสภาพที่มีอยู่ ณ ที่ขาย คือประเทศฟิลิปปินส์
ซึ่งได้ทำการตรวจสอบแล้วอยู่ในสภาพที่นำมาใช้ราชการได้เลย
ได้ตกลงติดต่อซื้อขายกันในราคาประมาณ 3 ล้านบาท
ซึ่งเป็นราคาที่ถูกมากและเป็นการประหยัดงบประมาณ
ซึ่งได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปรับและเดินทางกลับประเทศไทยแล้ว เมื่อต้นเดือนกันยายน 2519
นี้
2.รับการช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา
บ. ที่ได้รับมาเหล่านี้ สำเร็จด้วยการเจรจาของผู้บัญชาการทหารเรือ
กับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งไทยและสหรัฐเป็นส่วนใหญ่
ทำให้การพัฒนากำลังอากาศนาวีตามโครงการเป็นไปโดยรวดเร็วยิ่งขึ้น
ซึ่งได้รับเครื่องบินชนิดต่างๆ ดังนี้
-เครื่องบิน C-47 รับเพิ่มเติมอีกจำนวน 18 เครื่อง
-เครื่องบิน O1 รับเพิ่มเติมอีกจำนวน 5 เครื่อง
-เครื่องบิน U-17 รับใหม่จำนวน 13 เครื่อง
-เฮลิคอปเตอร์ UH-1H รับใหม่จำนวน 3 เครื่อง
อนึ่งสำหรับเครื่องบิน
U-17 นั้น เดิมสหรัฐได้ตกลงขายให้กับกองทัพเรือ 7 เครื่อง
ผู้บัญชาการทหารเรือได้ติดต่อเจรจากับฝ่ายสหรัฐอเมริกาจนเป็นการให้เปล่า
ซึ่งเป็นการประหยัดงบประมาณของชาติได้เป็นอันมาก
และก็ได้รับการช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก 6 เครื่อง
รวมทั้งสิ้นเป็น 13 เครื่อง สำหรับเฮลิคอปเตอร์ UH-1H
นั้นกองทัพเรือได้อนุมัติหลักการให้จัดหาเพิ่มเติมอีก 3 ลำ โดยวิธี FMS แบบสินเชื่อ
กำลังนาวิกโยธิน
ได้กำหนดแนวความคิดที่จะเสริมสร้างให้มีขีดความสามารถในการยกพลขึ้นบกได้ในระดับกองพันผสมให้สมบูรณ์
ซึ่งจำเป็นต้องจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์และเรือสนับสนุนการยกพลขึ้นบกควบคู่กันไป
และจะเพิ่มขีดความสามารถเป็นขั้นตอนไปจนถึงสามารถยกพลขึ้นบกในอ่าวไทยได้ในระดับกรมผสม
รวมทั้งปฏิบัติภารกิจพิเศษอื่นๆ โดยไม่รวมกองพันที่จัดเป็นกำลังรักษาความปลอดภัย
ได้มีการดำเนินการตามโครงการนี้มาเป็นลำดับ เท่าที่ดำเนินการไปแล้ว ได้แก่
1.ได้จัดตั้งกองพันทหารราบที่ 8 กรมผสมนาวิกโยธินขึ้น
โดยกำหนดให้มีที่ตั้งประจำอยู่ที่สถานีทหารเรือสงขลา
2.ได้จัดตั้งกองร้อยสารวัตรทหารเรือขึ้นอีก 1 กองร้อย
ประจำที่ฐานทัพเรือสัตหีบ
3.วางแผนจัดตั้ง กองพันทหารราบที่ 9 กรมผสมนาวิกโยธินขึ้น
ได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว โดยจะจัดให้มีที่ตั้งอยู่ที่จังหวัดนราธิวาส
ขณะนี้ได้ซื้อที่ดินและการก่อสร้างเล็กน้อยบางส่วนไปบ้างแล้ว
แต่โครงการจริงจะดำเนินการในปีงบประมาณ 2522
4.จัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ประจำหน่วยให้มีสมรรถนะสูงขึ้นด้วยงบประมาณประจำของกองทัพเรือ
เช่น
-จัดหารถ LVTP-7 จำนวน 9 คัน
-จัดหาอาวุธปืน M-16 เป็นอาวุธประจำกายจนได้ครบทุกคน
5.รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา
โดยรับรถยกพลขึ้นบกที่จำเป็นสำหรับการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก
มาเสริมรถยกพลขึ้นบกแบบเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมไปมาก ที่ได้รับมาแล้วมี
-รถ LVTP-7 จำนวน 13 คัน
-รถ LVTR-7 จำนวน 1 คัน
จากผลการพัฒนาด้านนี้จึงทำให้ขีดความสามารถในการยกพลขึ้นบกด้วย
การใช้รถยกพลขึ้นบกนับว่าสูงเกินกว่า 1 กองพันผสมยกพลขึ้นบก
เป็นไปตามเป้าหมายในขั้นแรกแล้ว
การปรับปรุงกำลังและการช่วยเหลือตนเอง
ก.การปรับปรุงเรือ
ได้มีแนวทางปฏิบัติ
โดยมีโครงการดำเนินการตามระยะเวลา เพื่อทำให้เรือที่ยังมีคุณค่าสำหรับใช้ในราชการกองทัพเรือมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
เพิ่มขีดความสามารถทางด้านยุทธการของเรือเก่าให้ใช้การไปได้อีกชั่วระยะเวลาหนึ่ง
ปรับปรุงให้เรือชั้นเดียวกันมีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อก่อให้เกิดความสะดวกในการใช้ทางยุทธการ
การฝึกและการส่งกำลังบำรุง สำหรับที่มีอายุราชการนานและคุณค่าทางยุทธการลดลง
ก็ดัดแปลงให้เป็นเรือที่มีหน้าที่ในการฝึกเป็นภารกิจหลัก
และมีหน้าที่ทางยุทธการเป็นภารกิจรอง
ทั้งนี้ได้ใช้งบประมาณประจำของกองทัพเรือเอง
และหรือความช่วยเหลือจากมิตรประเทศ แต่หากพิจารณาแล้ว
เห็นว่าจะสิ้นเปลืองงบประมาณในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโดยไม่คุ้มค่า
จะได้ปลดระวางเพื่อไม่ให้เป็นภาระอีกต่อไป
โครงการนี้ได้ดำเนินการตามแนวทางที่กำหนดไว้ตลอดมา
และปัจจุบันก็กำลังดำเนินการต่อไปตามระยะเวลา
ข.การปรับปรุงอาวุธยุทโธปกรณ์ของนาวิกโยธิน
มีแนวปฏิบัติเช่นเดียวกับการปรับปรุงเรือ ขณะนี้ได้มีการปรับปรุงรถยกพลขึ้นบกเก่า คือ LVT-4 ซึ่งใช้ราชการมานานขาดชิ้นส่วนอะไหล่ โดยปรับปรุงและยุบรถ LVT-4 จากจำนวนที่มีทั้งหมด และสามารถดำเนินการให้เป็นรถที่พร้อม
และมีขีดความสามารถที่จะใช้ได้แล้วเป็นจำนวน 9 ลำ
เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบกให้สูงตามนโยบายที่ได้กำหนดไว้
ค.การเปลี่ยนอาวุธประจำการของทหาร
อาวุธประจำการของทหารในกองทัพเรือส่วนใหญ่คือปืน
M1
ได้ล้าสมัยและคุณค่าทางการรบต่ำลง จึงได้ดำเนินการจัดหาอาวุธปืน M-16
ที่ทันสมัยพร้อมทั้งลูกปืนและส่วนประกอบ
จนสามารถเปลี่ยนอาวุธประจำการของทหารทุกหน่วยในกองทัพเรือให้ใช้ปืน M-16 เป็นอาวุธประจำกายได้ตั้งแต่ปี 2519 เป็นต้นไป
ง.ศูนย์ยุทธการทางเรือ
ความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งขึ้น
เพื่อควบคุมการปฏิบัติการของกำลังทางเรือในทะเล ทั้งในยามปรกติ
และหากสถานการณ์ฉุกเฉินจะได้สามารถควบคุมความเคลื่อนไหวต่างๆ ในทะเล
เพื่อให้การรักษาความมั่นคงทางทะเลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ยังเพื่อใช้เป็นศูนย์สั่งการและรวบรวมข่าวสารในภารกิจอื่นๆ
ของกองทัพเรือด้วย ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการตามแผนแล้ว โดยจะได้จัดตั้งขึ้นในอาคารยุทธกีฬาที่กำลังก่อสร้างอยู่ในบริเวณพระราชวังเดิม
จ.โครงการจัดหาอมภัณฑ์เพื่อช่วยเหลือตัวเอง
จากการที่สหรัฐอเมริกาจะเลิกช่วยเหลือทั้งสิ้น
ลูกปืนและอมภัณฑ์ต่างๆ ที่เคยได้รับการช่วยเหลือก็จะได้หมดไป
ความจำเป็นในการจัดหาจึงได้ดำเนินการโดยเร่งด่วน
นอกจากการจัดซื้อจากต่างประเทศแล้ว
กองทัพเรือยังได้เห็นถึงความสำคัญที่จำเป็นจะต้องเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตให้ได้
เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณในการจัดหา
และเป็นหลักประกันให้มีอมภัณฑ์ที่จำเป็นจะต้องใช้ทั้งยุทธการและการฝึก
รวมทั้งที่จะต้องเก็บไว้เป็นอัตรามูลฐาน
อัตราสงครามและเป็นกระสุนสำรองสงครามให้เพียงพอ
ผู้บัญชาการทหารเรือจึงได้อนุมัติโครงการให้กรมสรรพาวุธทหารเรือดำเนินการเพื่อการผลิตลูกปืน
40
มม. และ 20 มม. คาดว่าจะดำเนินการผลิตตั้งแต่ปีงบประมาณ 2520 เป็นต้นไป
ซึ่งในขั้นแรกนี้สามารถที่จะผลิตลูกปืนฝึกได้ก่อน
และได้มีการวิจัยต่อไปให้สามารถผลิตลูกปืนชนิดและขนาดอื่นๆ
ตามความจำเป็นที่ต้องการจะใช้
บทสรุปปิดท้าย
การเสริมทัพช่วงเวลาที่พลเรือเอกสงัด
ชลออยู่เป็นผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นไปตามแผนพัฒนากำลังรบ
เป็นโครงการต่อเนื่องระยะยาว และเป็นไปตามสถานการณ์ทั้งในประเทศและนอกประเทศ
ผลงานสำคัญคือเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้นเรือหลวงราชฤทธิ์จากอิตาลี
แม้ถูกโจมตีจากผู้เสียผลประโยชน์และสื่อมวลชนเกือบทำให้โครงการล้ม ทว่าท้ายสุดการจัดหาเรือคุ้มครองการสำรวจน้ำมันในทะเลก็ประสบความสำเร็จ
โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ความเร็วสูงเดินหน้าไปเรื่อยๆ
จากเรือ ต.92 จนถึงเรือ ต.99 เรือตรวจการณ์ลำน้ำจำนวนมากเข้าประจำการรับใช้ชาติตามแผนการ
เรือใช้งานเครื่องหมายทางเรือยังประจำการจนถึงปัจจุบัน ยานรบสะเทินน้ำสะเทินบก LVTP-7 เป็นกำลังรบหลักให้กับนาวิกโยธินจนปัจจุบัน อากาศยานที่ได้รับจากอเมริกาถูกใช้งานอย่างคุ้มค่าและมีประโยชน์ในการป้องกันประเทศ
โครงการพึ่งพาตัวเองถือเป็นการเริ่มต้นที่ถูกต้องเหมาะสม ภาพรวมดูดีเหมาะสมกับสถานการณ์และงบประมาณ
เพียงแต่กองทัพเรือยังไม่มีเรือฟริเกตรองรับการใช้งานเฮลิคอปเตอร์แม้แต่ลำเดียว
++++++++++++++++++++
อ้างอิงจาก
:
หนังสือ ‘ผลงานของพลเรือเอก สงัด ชลออยู่’
ภาพประกอบจาก
:
https://web.facebook.com/RoyalThaiNavyFanpage/posts/5000483473312463?_rdc=1&_rdr
https://web.facebook.com/photo.php?fbid=1382949942499946&set=pb.100023548596728.-2207520000.&type=3
https://www.thaifighterclub.org/
https://thaimilitary.blogspot.com/2019/06/tank-landing-ship.html
https://web.facebook.com/photo/?fbid=4409447332416083&set=pcb.4409447542416062
https://www.fleet.navy.mi.th/thaifly/index.php/history/detail/history_id/123
https://web.facebook.com/photo?fbid=846614649623154&set=pcb.846615189623100
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น