วันพุธที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

Wings of the Navy

 

กำลังทางอากาศนาวี หมายถึงกำลังทางอากาศของกองทัพเรือ หรือกำลังทางอากาศที่ได้รับมอบจากเหล่าทัพอื่น ตลอดจนหน่วยบินพลเรือนและอาสาสมัครแห่งรัฐ ที่ขึ้นการควบคุมทางยุทธการกับกำลังทางเรือหรือกำลังนาวิกโยธินของกองทัพเรือ

ความคิดในการจัดตั้งกำลังทางอากาศนาวี (Naval Air Arm) นั้น ได้มีมาตั้ง พ.. 2464 เมื่อพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เสนาธิการกระทรวงทหารเรือ เสนอความเห็นต่อที่ประชุมสภาบัญชาการกระทรวงทหารเรือครั้งที่  3 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.. 2464 ว่า

สมควรเริ่มตั้งกองบินทะเลขึ้นในพ.. 2465 โดยใช้สัตหีบเป็นถาน (ฐานทัพ) และควรเริ่มตั้งต้นซื้อเครื่องบินทะเลเพียง 2 ลำก่อน กับควรให้นายนาวาเอก พระยาประดิยัตินาวาวุธ (ต่อมาเป็นพลเรือโทร พระยาราชวังสัน) ซึ่งกำลังดูงานอยู่ในยุโรปขณะนั้นดูระเบียบการจัดซื้อเครื่องบินทะเลไว้ด้วย สำหรับนักบินนั้นควรนายทหารที่เหมาะสมไปฝากฝึกหัดบินที่กรมอากาศยานทหารบก

สภาพบัญชาการฯ จึงมีมติอนุมัติข้อเสนอนี้ ในการประชุมครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.. 2464 และมอบให้เสด็จในกรมฯ ทรงจัดทำโครงการ (Scheme) ในเรื่องนี้ต่อไป กองการบินทหารเรือจึงถือเอาวันที่ 7 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันคล้ายวันสถาปนาหน่วย และชาวบินนาวีทุกคนได้ยึดถือว่า นายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เป็นองค์บิดาแห่งการบินนาวีด้วย

กำลังอากาศนาวีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการรบทางเรือทั้งการรุกและรับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และได้เพิ่มความสำคัญมากยิ่งขึ้นในสงครามยุคใหม่หลังจากวิวัฒนาการของระบบหาตำบลที่ของอากาศยานด้วยดาวเทียม และระบบอาวุธนำวิถีที่มีความแม่นยำสูงประเภท Precision  Guided Munition (PGM)

บทบาทของกำลังทางอากาศนาวีในปัจจุบันประกอบไปด้วย

-การลาดตระเวนตรวจการณ์ทางทะเล

-การชี้เป้าและการควบคุมอาวุธนำวิถีทำลายเรือรบผิวน้ำที่มีระยะยิงไกลกว่าขอบฟ้าเรดาร์ของเรือ

-การโจมตีเรือรบในทะเล/ในท่าเรือ และการโจมตีทางบก

-การป้องภัยทางอากาศให้กับกองเรือในทะเลโดยการเตือนภัยล่วงหน้าในอากาศ และการสกัดกั้นเครื่องบินโจมตีของข้าศึก

-การยกพลขึ้นบก

-การปราบเรือดำน้ำ

-การวางทุ่นระเบิดและการต่อต้านทุ่นระเบิด

-การค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล

-การประเมินความเสียหายของกำลังรบข้าศึกจากการโจมตีของฝ่ายเรา

-การค้นหาและขจัดคราบน้ำมันในทะเล และภารกิจปลีกย่อยอื่นๆ

เนื่องจากการรบทางเรือในยุคปัจจุบันมีลักษณะรวดเร็ว รุนแรง และเด็ดขาด โดยมักเกิดขึ้นเร็วและยุติลงภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที ดังนั้นถ้ากำลังทางเรือไม่มีกำลังทางอากาศคอยสนับสนุนอยู่ในบริเวณใกล้เคียง หรือมีกำลังทางอากาศอยู่บนเรือแต่ไม่ติดอาวุธและเชื้อเพลิงพร้อมอยู่บนดาดฟ้าบินแล้ว กำลังทางอากาศก็จะไม่สามารถมาร่วมรบได้ทันเวลา

พลเรือเอก ประพัฒน์ กฤษณจันทร์ ตระหนักดีถึงความสำคัญของกำลังทางอากาศนาวีทั้งต่อความสำเร็จในการปฏิบัติภารกิจ และความอยู่รอดของกองเรือในการรบยุคใหม่ ท่านจึงได้พยายามพัฒนาขีดความสามารถของกองการบินทหารเรือ กองเรือยุทธการให้เพียงพอต่อภารกิจอันเป็นสิ่งสำคัญอย่างจริงจัง โดยได้ริเริ่มโครงการต่างๆ ประกอบไปด้วย

การจัดหาเครื่องบินลาดตระเวนทางทะเลระยะไกลแบบ P-3 ORION

          จากแนวความคิดส่งกำลังทางเรือออกไปทำงานในทะเลลึกห่างจากฝั่งมากขึ้นจนเครื่องบินลาดตระเวนทางทะเลระยะใกล้ และเฮลิคอปเตอร์ที่กองทัพเรือมีอยู่ไม่สามารถออกไปให้การสนับสนุนกองเรือได้อย่างต่อเนื่องในระยะไกลเพียงพอ กองทัพเรือจึงมีความจำเป็นต้องจัดหาเครื่องบินลาดตระเวนทางทะเลระยะไกลปฏิบัติการจากสนามบินบนบก และเฮลิคอปเตอร์ที่ได้รับการออกแบบสร้างให้สามารถนำไปใช้งานในทะเลบนเรือฟริเกต และเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์โดยเฉพาะในโอกาสแรก

กองทัพเรือได้เร่งศึกษารายละเอียดและคุณลักษณะของเครื่องบินลาดตระเวนทางทะเลระยะไกลแบบต่างๆ ที่มีใช้งานกันอยู่โดยทั่วไปพบว่าเครื่องบินแบบ P-3C ORION ของกองทัพเรือสหรัฐมีประสิทธิภาพสูงที่สุด และมีใช้งานแพร่หลายมากที่สุด แต่เนื่องจากเครื่องบินลาดตระเวนทางทะเลระยะไกลทุกแบบมีราคาแพงถึงลำละประมาณ 4-5,000 ล้านบาท ซึ่งเกินวิสัยที่กองทัพเรือจะจัดหามาได้ จึงได้หารือกับกองทัพเรือสหรัฐเพื่อแก้ปัญหาการขาดขีดความสามารถด้านนี้ และตัดสินใจแก้ไขปัญหาในลักษณะเดียวกันกับกองทัพเรือหลายประเทศในยุโรปคือเครื่องใช้เครื่องบิน P-3A ซึ่งลำตัวยังอยู่ในสภาพดีมีอายุการใช้งานเหลืออีกหลายสิบปี แต่เปลี่ยนเครื่องยนต์ทั้ง 4 เครื่องใหม่เป็นแบบที่ใช้กับรุ่น P-3C

กองทัพเรือได้ลงนามใน Letter of Offer and Acceptance FMS Case TH-P-SBV เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2534 เพื่อจัดซื้อเครื่องบิน P-3A ในวงเงิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐในลักษณะ As Is Where Is จำนวน 5 เครื่องและอุปกรณ์อีกจำนวนหนึ่ง โดยมีแนวความคิดที่จะนำมาปรับปรุงสภาพให้ใช้งานได้ 3 เครื่อง ส่วนอีก 2 เครื่องจะนำมาถอดเป็นชิ้นส่วนอะไหล่ และได้ลงนามใน LOA FMS Case TH-P-LDP เมื่อ 28 มิถุนายน 2536 วงเงิน 76.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อซ่อมปรับปรุงเครื่องบิน 3 เครื่องให้มีขีดความสามารถในการลาดตระเวนผิวน้ำ การควบคุมและสั่งการ การลาดตระเวนค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย การชี้เป้านอกระยะขอบฟ้าให้กับกองเรือ รวมทั้งการใช้อาวุธต่อต้านเรือดำน้ำ จัดหาอะไหล่ และส่วนสนับสนุนภาคพื้นดินที่จำเป็นในการซ่อมบำรุง จัดเจ้าหน้าที่สนับสนุนทางเทคนิคในสาขาต่างๆ มาประจำการที่กองการบินทหารเรือ กองเรือยุทธการ เพื่อให้คำแนะนำต่อเจ้าหน้าที่กองทัพเรือ รวมทั้งฝึกนักบิน และช่างซ่อมบำรุงในสาขาต่างๆ ประมาณ 60 นาย เพื่อให้มีขีดความสามารถในการบินและการซ่อมบำรุง รวมค่าใช้จ่ายทั้งโครงการเป็นเงิน 86.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,200 ล้านบาท โดยมีราคาเฉลี่ยลำละประมาณ 740 ล้านบาท กองทัพเรือได้รับมอบเครื่องบินทั้งสามลำแล้วในปีงบประมาณ 2540 ทั้งนี้เครื่องบินลำที่สามจะมีขีดความสามารถในการลำเลียงบุคคลสำคัญด้วย

การจัดหาเครื่องบินลาดตระเวนทางทะเลระยะปานกลางแบบดอร์เนียร์ 228-212

          เครื่องบินลาดตระเวนทางทะเลระยะไกลที่กองทัพเรือจัดหามีจำนวนเพียง 3 เครื่อง และการใช้เครื่องบินมีความสิ้นเปลืองสูง ไม่เหมาะสำหรับการปฏิบัติการในระยะใกล้หรือปานกลาง กองทัพเรือจึงจำเป็นต้องจัดหาเครื่องบินลาดตระเวนทางทะเลระยะปานกลางมาเสริมการปฏิบัติการให้มากเพียงพอ

กองทัพเรือได้พิจารณาแล้วเห็นควรให้จัดหาเครื่องบินแบบดอร์เนียร์ 228-212 ของเยอรมันจำนวน 6 เครื่อง แต่เนื่องจากสถานภาพของงบประมาณยังไม่เอื้ออำนวยกองทัพเรือจึงได้เสนอขอให้อนุมัติจัดหาเครื่องบินดอร์เนียร์ 228-212 จำนวน 3 ลำ พร้อมส่วนสนับสนุนในวงเงินประมาณ 660 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณปี 2535-2537 ก่อน เครื่องบินทั้ง 3 ลำซึ่มีราคาเฉลี่ยลำละ 220 ล้านบาท เดินทางมาถึงกองการบินทหารเรือ กองเรือยุทธการ และได้มีการตรวจรับเรียบร้อยแล้วเมื่อ 15 พฤษภาคม 2534 ส่วนอีก 3 เครื่องนั้น พลเรือเอก ประพัฒน์ กฤษณจันทร์ ได้ส่งหน้าที่ไว้ว่าควรจัดหาต่อไปในโอกาสแรก ซึ่งกองทัพเรือได้ดำเนินการจัดหาและรับมอบแล้วในปีงบประมาณ 2537


การจัดหาเครื่องบินโจมตีแบบ A-7E/TA-7C

          ในการรบสมัยใหม่ทั้งกำลังทางเรือและกำลังนาวิกโยธิน จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากกำลังทางอากาศอย่างเพียงพอและต่อเนื่องตลอดเวลา แต่กองทัพอากาศมีภารกิจที่ต้องรับผิดชอบจำนวนมาก โดยเฉพาะด้านการปฏิบัติการทางอากาศยุทธศาสตร์ กองทัพเรือจำได้กำหนดความต้องการเครื่องบินโจมตีไว้ในแผนโครงสร้างกองทัพไทยจำนวน 1 ฝูง (18 ลำ) เพื่อใช้ในการสนับสนุนการปฏิบัติการของกองทัพเรือทั้งในการโจมตีเป้าหมายภาคพื้น การป้องกันภัยทางอากาศให้กองเรือ และสนับสนุนกำลังนาวิกโยธิน

          เนื่องจากเครื่องบินใหม่มีราคาสูง และไม่อยู่ในวิสัยของงบประมาณกองทัพเรือในขณะนั้นจะสนับสนุนได้ กองทัพเรือจึงได้พิจารณาจัดหาเครื่องบินโจมตีแบบ A-7E ของกองทัพเรือสหรัฐ มาซ่อมปรับปรุงให้ใช้งานต่อไปได้อีกประมาณ 20 ปี ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยในการใช้งานในระยะหนึ่งก่อน ในการนี้กองทัพเรือได้จัดหาเครื่องบิน A-7E ในลักษณะ As is Where is จำนวน 38 เครื่องในราคาลำละ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 765,000 บาท เมื่อ 30 เมษายน 2535 และได้ชำระเงินทั้งหมดเรียบร้อยแล้วโดยใช้งานในปีงบประมาณ 2535 ทั้งหมด

          สหรัฐได้จัดเจ้าหน้าที่มาทำ Site Survey เมื่อเดือนพฤษภาคม 2536 เพื่อจัดทำ LOA สำหรับการดำเนินการต่อไปคือ การซ่อมปรับปรุงให้ใช้ราชการได้ 18 ลำ จัดหาอะไหล่และส่วนสนับสนุนในการซ่อมบำรุง และฝึกเจ้าหน้าที่ของกองทัพเรือที่เกี่ยวข้อง

          เนื่องจากกองทัพเรือสหรัฐกำลังซ่อมปรับปรุงสภาพเครื่องบิน A-7E ให้กับกองทัพอากาศกรีซและจะเสร็จสิ้นในเดือนตุลาคม 2536 โรงงานที่ซ่อมบำรุงให้กรีซจะปิดดำเนินการ และเมื่อกองทัพเรือจะนำเครื่องบินเข้าซ่อมในภายหลังจะต้องเปิดดำเนินการใหม่ ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายในการจัดเตรียมเครื่องมือเครื่องใช้ในระดับโรงงานอีก

          ดังนั้น เพื่อให้การซ่อมปรับปรุงสภาพเครื่องบิน A-7E ของกองทัพเรือมีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด ทางสหรัฐจึงเสนอให้ปรับลดจำนวนเครื่องบินที่จัดหาลดเหลือ 21 ลำ และลดการจัดหาอุปกรณ์ที่ยังไม่จำเป็นต้องรีบดำเนินการบางรายการลง เพื่อนำเงินที่ลดลงมาเป็นค่าใช้จ่ายในการซ่อมปรับปรุงสภาพเครื่องบินจำนวน 1 เครื่องภายในเดือนตุลาคม 2536 ก่อนเพื่อดำรงสายการซ่อมทำไว้ ซึ่งการลดจำนวนการจัดหาลงนี้ไม่กระทบต่อแผนการจัดหาเครื่องบินแต่อย่างใด เนื่องจากยังสามารถซ่อมปรับปรุงสภาพให้ใช้งานได้ 18 ลำตามแผนโครงสร้าง

          กองทัพเรือได้รับมอบเครื่องบินโจมตีทั้ง 18 เครื่องแล้วในปีงบประมาณ 2540 โดยประกอบด้วยเครื่องบินที่นั่งเดียว 14 ลำ และแบบสองที่นั่งสำหรับใช้ในการฝึกนักบิน 4 ลำ นับว่ากองทัพเรือได้ก้าวเข้าสู่ยุคเครื่องบินไอพ่นแล้ว

          A-7 Corsair กองทัพเรือแบ่งเป็น A-7E หรือ 'เครื่องบินโจมตีแบบที่ 1 ก' หรือ 'บ.จต.1 ก จำนวน 14 ลำ และ TA-7C (ฝึก) หรือ 'เครื่องบินโจมตีแบบที่ 1 ข' หรือ 'บ.จต.1ข' จำนวน 4 ลำ

การจัดหาเฮลิคอปเตอร์ประจำเรือฟริเกต

          ในปีงบประมาณ 2535 กองทัพเรือได้พิจารณาการจัดหาเฮลิคอปเตอร์แบบ SH-2F Seasprite จากกองทัพเรือสหรัฐจำนวน 6 ลำ เพื่อเป็นเฮลิคอปเตอร์ประจำเรือฟริเกตชุดเรือหลวงเจ้าพระยา และเรือหลวงนเรศวร แต่เนื่องจากสถานภาพทางด้านงบประมาณไม่เอื้ออำนวย จึงต้องเลื่อนมาดำเนินการในปีงบประมาณ 2536 โดยได้ดำเนินการ Site Survey เรียบร้อยแล้ว

          สำหรับในปีงบประมาณ 2537 กองทัพเรือได้รับงบประมาณในการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ดังกล่าวในวงเงิน 1,950 ล้านบาท แต่ไม่สามารถเจรจาตกลงเรื่องงวดการชำระเงินได้สำเร็จ จึงต้องเลื่อนโครงการนี้ออกไปก่อนถูกยกเลิกในเวลาต่อไป

การจัดหาเฮลิคอปเตอร์ประจำเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์แบบ S-70B SEA HAWK

          เนื่องจากเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ไม่มีขีดความสามารถในการปฏิบัติงานด้วยตัวเอง พลเรือเอก ประพัฒน์ กฤษณจันทร์ จึงได้ให้แนวความคิดว่าต้องจัดหาเฮลิคอปเตอร์ขนาดกลางสำหรับใช้งานทางทะเลมาก่อนเป็นลำดับแรก โดยวางแผนให้ดำเนินการส่งมอบให้สอดคล้องกับการรับมอบเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ ในขั้นต่อไปจึงค่อยพิจารณาจัดหาเครื่องบินขึ้นลงแนวดิ่งตามแต่สภาพงบประมาณและโอกาสจะเอื้ออำนวย

          ในการนี้ กองทัพเรือได้ขออนุมัติคณะรัฐมนตรีเพื่อจัดหาเฮลิคอปเตอร์ประจำเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ จำนวน 6 ลำ ในวงเงิน 3,600 ล้านบาท โดยผูกพันงบประมาณตั้งแต่ปี 2536-2540 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติแล้วเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2535 พร้อมกับอนุมัติให้ผูกพันงบประมาณได้ กองทัพเรือได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อคัดเลือกแบบเฮลิคอปเตอร์ที่เหมาะสม และอีกคณะหนึ่งเพื่อเจรจาในการจัดสร้าง ในการคัดเลือกแบบได้มีบริษัทต่างๆ เสนอข้อมูลเฮลิคอปเตอร์ให้คัดเลือกรวม 5 แบบ

          ผลการพิจารณา แบบ SEA HAWK เป็นแบบที่เหมาะสมที่จะจัดหา เนื่องจากเป็นเฮลิคอปเตอร์ที่ Well Proven จัดหาได้โดยวิธี FMS มีอุปกรณ์ติดตั้งทันสมัยใช้ได้ทั้งภารกิจทางทหารและบรรเทาสาธารณภัย ส่วนเฮลิคอปเตอร์อื่นบางแบบไม่มีการป้องกันการกัดกร่อนของน้ำทะเลที่ดีเพียงพอ บางแบบก็ยังไม่มีใช้ในกองทัพใดมาก่อน เนื่องจากเพิ่งวิจัยและพัฒนาสร้างขึ้นใหม่ จึงไม่สามารถมั่นใจในขีดความสามารถ และมีราคาสูงมาก บางแบบก็ใช้งานมานาน อุปกรณ์ล้าสมัย จำนวนผลิตในปัจจุบันน้อยลง ทำให้มีราคาสูงขึ้น กองทัพเรือจึงอนุมัติให้จัดหาเฮลิคอปเตอร์ SEA HAWK โดยวิธี FMS ในวงเงิน 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3,570 ล้านบาท และได้ลงนามใน LOA เมื่อ 28 กันยายน 2536

          ส่วนสนับสนุนบางรายการยังมิได้ดำเนินการจัดหาในครั้งนี้ เนื่องจากยังไม่มีความจำเป็น จนกว่าจะใกล้ช่วงเวลาที่จะได้รับเฮลิคอปเตอร์ เช่น เครื่องมือตรวจจับเป้าใต้น้ำ การเดินสายไฟสำหรับระบบอาวุธเพิ่มเติม และอุปกรณ์สนับสนุนภาคพื้นดิน เป็นต้น จึงได้ชะลอการจัดหาไว้ และได้ดำเนินการในปีงบประมาณ 2538 ในวงเงินประมาณ 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 816 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับสถานภาพงบประมาณที่กองทัพเรือมีอยู่

          กองทัพเรือได้รับมอบเฮลิคอปเตอร์ทั้ง 6 ลำเรียบร้อยแล้วในปีงบประมาณ 2540

การจัดหาเครื่องบินขึ้นลงทางดิ่งแบบ AV-8S/TAV-8S

จากการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเมื่อ 17 มีนาคม 2535 ให้กองทัพเรือว่าจ้างสร้างเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์จำนวน 1 ลำ ซึ่งกำหนดแล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2540 และต่อมาคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2535 ให้กองทัพเรือจัดหาเฮลิคอปเตอร์จำนวน 6 ลำ เพื่อใช้งานกับเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งจะช่วยให้เรือมีขีดความสามารถในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล คุ้มครองผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศ เช่น การขุดก๊าซกลางทะเล ตลอดจนสามารถตรวจตราได้จนถึงเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเล

อนึ่ง การจัดหาเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ออกปฏิบัติงานในพื้นที่ห่างไกลจากฝั่ง หากไม่มีการป้องกันตัวเองที่ดีพอย่อมล่อแหลมต่อภัยคุกคามจากการโจมตีของเรือผิวน้ำ เรือดำน้ำ การโจมตีทางอากาศ และอาวุธนำวิถี อีกทั้งการปฏิบัติภารกิจในระยะไกล กำลังทางอากาศจากฐานบินบนฝั่งไม่สามารถให้ความคุ้มครองได้ตลอดเวลาและโดยต่อเนื่อง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีอาวุธป้องกันตนเอง ซึ่งในหลายประเทศที่มีเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์อยู่จะใช้เครื่องบินขึ้นลงทางดิ่งเป็นอาวุธประจำเรือ เพื่อใช้เป็นอาวุธป้องกันตนเอง ให้ความคุ้มครองโดยใกล้ชิดแก่ขบวนเรือที่อยู่ห่างฝั่ง คุ้มครองเรือประมง และสามารถใช้เป็นเครื่องบินโจมตีเรือผิวน้ำฝ่ายตรงข้ามที่จะรบกวนเส้นทางคมนาคมทางทะเล และการโจมตีเป้าหมายบนฝั่งได้อีกด้วย

นอกจากประโยชน์ดังกล่าวแล้ว ยังเป็นการประหยัดการใช้กำลังไปในตัว เพราะไม่จำเป็นต้องใช้เรือคุ้มกันให้ความปลอดภัยอีกหลายลำ จึงนับว่าสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ให้กองทัพเรือมีการพัฒนาและใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย บนพื้นฐานของการประหยัด ทำให้ประหยัดการใช้กำลังส่วนอื่นลงได้ตามสมควร ดังนั้น เพื่อให้เรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพเรือมีขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจได้โดยสมบูรณ์ จึงมีความจำเป็นต้องเริ่มจัดหาเครื่องบินขึ้นลงทางดิ่ง ซึ่งเป็นเครื่องบินโจมตีทางทะเลเข้าประจำการในโอกาสแรกที่สถานการณ์ด้านงบประมาณอำนวย

แต่เนื่องจากเครื่องบินขึ้นลงทางดิ่งรุ่นใหม่มีราคาลำละกว่า 1,500 ล้านบาท  ซึ่งไม่อยู่ในวิสัยที่กองทัพเรือจะจัดหามาได้ พลเรือเอก ประพัฒน์ กฤษณจันทร์ จึงได้เจรจาทาบทามขอซื้อเครื่องบินขึ้นลงทางดิ่งของกองทัพเรืออังกฤษ และสเปน รวมทั้งนาวิกโยธินสหรัฐ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยในการใช้งานในระยะหนึ่งก่อน โดยมีเป้าหมายที่จะรับมอบเครื่องบินในเวลาที่สอดคล้องกับการรับมอบเรือ กล่าวคือ มีเป้าหมายในการจัดหาให้ครบ 10 ลำ ในปีงบประมาณ 2540 ซึ่งเครื่องบินชนิดนี้อยู่ในแผนโครงสร้างกองทัพไทยที่กระทรวงกลาโหมได้อนุมัติให้กองทัพเรือใช้เป็นเป้าหมายในการเสริมสร้างกำลังกองทัพเรืออยู่แล้ว แต่ช่วงนั้นยังไม่มีประเทศใดยินดีขายเครื่องบินขึ้นลงทางดิ่งให้กับกองทัพเรือ พลเรือเอก ประพัฒน์ กฤษณจันทร์ จึงได้ส่งหน้าที่ให้ผู้บัญชาการกองทัพเรือท่านต่อๆ ไปคอยติดตามเรื่องนี้ตลอดเวลา

ต่อมาโดยที่ประเทศไทยและประเทศสเปนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาก ประกอบกับกองทัพเรือได้ว่าจ้างบริษัทของสเปนเป็นผู้ต่อเรือให้อยู่แล้ว รัฐบาลและกองทัพเรือสเปนจึงประสงค์ที่จะให้เรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพเรือไทย มีขีดความสามารถโดยสมบูรณ์ในคราวเดียวกัน รัฐบาลสเปนจึงได้เสนอขายเครื่องบินขึ้นลงทางดิ่งแบบ AV-8S จำนวน 10 เครื่อง พร้อมอะไหล่ อุปกรณ์ภาคพื้น อาวุธประจำเครื่องบิน และให้การฝึกทหารประจำเรือในการใช้งานเครื่องบินให้ด้วย ในราคามิตรภาพ 115 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,950 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขการชำระเงินตามแต่กองทัพเรือจะสามารถชำระได้เท่าที่สถานการณ์ผูกพันทางงบประมาณจะเอื้ออำนวย

กองทัพเรือได้ประสานกับสำนักงบประมาณแล้ว ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2538 เป็นต้นไป ภาระของกองทัพเรือในด้านงบประมาณเริ่มลดลง จึงมีวงเงินที่สามารถดำเนินการได้ จึงนับว่าเป็นโอกาสที่ดีเพราะสามารถจัดหาได้รวดเร็วและราคาถูก รวมทั้งยังนำมาใช้งานได้อีกนานประมาณ 20 ปี และเพื่อให้การรับมอบเครื่องบินดังกล่าวสามารถดำเนินการได้โดยเร็ว กองทัพเรือจึงได้มีหนังสือกราบเรียน นายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหารสูงสุด เพื่อโปรดทราบและพิจารณาสนับสนุนให้กองทัพเรือจัดหาเครื่องบินขึ้นลงทางดิ่งไว้เป็นอาวุธประจำเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ไว้ชั้นหนึ่ง ก่อนที่จะดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้แจ้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมว่าเห็นควรให้การสนับสนุน แต่ให้กระทรวงกลาโหมแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องราคาและประสิทธิภาพของเครื่องบินโดยถี่ถ้วน

กองทัพเรือได้แต่งตั้งคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิและประสบการณ์ในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณา และเจรจาในเรื่องดังกล่าวตามบัญชาของนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการได้เดินทางไปกองการบินทหารเรือ ณ ฐานทัพเรือโรต้า และกองบัญชาการกองทัพเรือที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน ระหว่างวันที่ 1-9 พฤษภาคม 2536 เพื่อรวบรวมรายละเอียดข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับสภาพที่แท้จริงและชั่วโมงการใช้งานของเครื่องบิน AV-8S แต่ละเครื่อง ตลอดจนระบบการซ่อมบำรุง รวมทั้งส่วนสนับสนุนอื่นๆ ที่จำเป็นของเครื่องบินชนิดนี้ พร้อมกับเจรจาเรื่องราคาและหารือเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานตามโครงการจัดหาเครื่องบิน AV-8S รวมทั้งการสนับสนุนต่างๆ จากกองทัพเรือสเปน

ซึ่งทำให้ทราบว่าเครื่องบินทั้ง 10 เครื่องพร้อมอุปกรณ์ต่างๆ ประจำเครื่องบินยังอยู่ในสภาพที่ดีมาก เนื่องจากอายุการใช้งานยังไม่มากนัก โดยเครื่องบินแต่ละลำมีอายุการใช้งานเฉลี่ยประมาณ 2,000 ชั่วโมง ประกอบกับการบำรุงรักษา รวมทั้งการซ่อมบำรุงระดับต่างๆ ได้กระทำมาอย่างต่อเนื่องโดเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้และประสบการณ์ จึงทำให้อายุการใช้งานของเครื่องบินแต่ละลำเพิ่มขึ้นจาก 6,000 ชั่วโมงเป็น 8,000 ชั่วโมง ดังนั้นหากนำเครื่องบินดังกล่าวมาใช้งานปีละ 200 ชั่วโมงต่อลำ จะใช้งานได้อีกประมาณ 30 ปี ประกอบกับเครื่องบิน AV-8S ของสเปนที่รัฐบาลสเปนเสนอขายให้กับกองทัพเรือไทยมีอายุการใช้งานน้อย และดูแลบำรุงรักษาเป็นอย่างดีมาก โดยกองทัพเรือสเปนใช้งบประมาณเพื่อการปรับปรุงสูงถึงปีละ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงทำให้เชื่อได้ว่าเครื่องบิน AV-8S ของกองทัพเรือสเปนที่รัฐบาลสเปน โดยกระทรวงกลาโหมสเปนเสนอขายให้กับกองทัพเรือนั้น มีสมรรถนะและสภาพที่สมบูรณ์

จากการประชุมหารือกับกองทัพเรือสเปน โดยผู้บัญชาการและเสนาธิการทหารเรือสเปน ที่กองบัญชาการกองทัพเรือสเปน ทราบว่า ในการส่งมอบเครื่องบิน AV-8S ให้กับกองทัพเรือ ทางรัฐบาลสเปนจะดำเนินการแบบ Complete Package คือจะส่งมอบทั้งเครื่องบิน พร้อมอะไหล่เครื่องยนต์ อุปกรณ์สนับสนุนพิเศษภาคพื้นดิน สรรพาวุธประจำเครื่องบิน อะไหล่พิเศษต่างๆ รวมทั้งการฝึกอบรมนักบินและเจ้าหน้าที่เทคนิค ทั้งนี้มีหลักกการว่าจะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับการส่งมอบเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ และการจัดหาเครื่องบิน Harrier II Plus ของกองทัพเรือสเปนมาทดแทน AV-8S รวมทั้งความพร้อมของนักบินของกองทัพเรือไทยด้วย ซึ่งกองทัพเรือสเปนจะดำเนินการฝึกอบรมให้โดยมีเงื่อนไขว่า นักบินของกองทัพเรือจะต้องได้รับการฝึกพื้นฐานนักบินไอพ่นมาก่อน การฝึกนักบินจะต้องฝึกบินด้วยเครื่องบิน AV-8S ที่กองทัพเรือสเปนได้โอนให้กองทัพเรือไทยเรียบร้อยแล้ว ซึ่งคาดว่าจะสามารถฝึกนักบินได้ประมาณปี 2538 โดยจะฝึกนักบินจำนวน 3 ชุดๆ ละ 5 นาย ตามที่กองทัพเรือต้องการ

ในการนี้ผู้แทนกองทัพเรือได้หารือเรื่องราคางวดการชำระเงิน การทำ Site Survey ที่กองการบินทหารเรือ ตลอดจนการดำเนินการในข้อตกลงว่าจะกระทำในลักษณะเดียวกับการจัดหาเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ กับขอให้กองทัพเรือสเปนจัดทำโครงการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ซ่อมบำรุงในระดับต่างๆ ให้สอดคล้องกับหลักการและเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้น รวมทั้งขอรับการสนับสนุนการช่วยเหลือทางเทคนิคเพิ่มเติมด้วย นอกจากนี้ยังขอให้กองทัพเรือสเปนจัดทำรายการอะไหล่ อุปกรณ์สนับสนุน และสรรพาวุธประจำเครื่องบิน โดยแยกเป็นรายการพร้อมราคา รวมทั้งขอรับการสนับสนุนคู่มือและเอกสารทางเทคนิคต่างๆ และขอให้ช่วยดำเนินการให้บริษัทที่สนับสนุนอะไหล่และอุปกรณ์ต่างๆ ให้กับกองทัพเรือสเปน มาสนับสนุนให้กับกองทัพเรือด้วย ซึ่งกองทัพเรือสเปนแจ้งว่าจะดำเนินการให้ได้ตามที่กองทัพเรือต้องการ และต่อมาได้แจ้งผลการดำเนินการในเรื่องต่างๆ ดังกล่าวให้กองทัพเรือรับทราบ

นอกจากนี้กองทัพเรือสเปนได้ส่งเจ้าหน้าที่มาทำ Site Survey ระหว่าง 23 พฤษภาคม 2536 ถึง 1 มิถุนายน 2536 ที่กองการบินทหารเรือ กองเรือยุทธการ เพื่อให้การสนับสนุนพร้อมให้คำแนะนำในเรื่องต่างๆ ที่จำเป็น โดยให้สอดคล้องกับความต้องการอย่างแท้จริง และได้จัดทำผลการสำรวจซึ่งประกอบด้วยสิ่งที่กองทัพเรือจะต้องเตรียมการหรือปรับปรุงเพิ่มเติม รวมทั้งแจ้งรายละเอียดโครงการฝึกอบรมนักบินและเจ้าหน้าที่ซ่อมบำรุงเทคนิค และแนวทางการจัดฝูงบิน AV-8S ให้กองทัพเรือทราบด้วยแล้ว และต่อมาเมื่อ 16 กรกฎาคม 2536 กระทรวงกลาโหมสเปนได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักยุทโธปกรณ์ กระทรวงกลาโหมสเปน และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงาน Defense Export (DEFEX) จำนวน 5 นาย มาหาเรือกองทัพเรือเกี่ยวกับราคาเครื่องบิน พร้อมส่วนสนับสนุนอื่นๆ แบบ Complete Package

ในการนี้กองทัพเรือได้เจรจาต่อรองราคาตามแนวทางที่นายกรัฐมนตรีได้กรุณาให้ไว้อย่างถึงที่สุด ทำให้ฝ่ายสเปนยอมลดราคาลง 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือ 113 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,900 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับเครื่องบินพร้อมระบบสนับสนุนมีราคาเฉลี่ยลำละประมาณ 290 ล้านบาท ซึ่งถูกกว่าการจัดหาเครื่องบินขึ้นลงทางดิ่งใหม่ที่มีราคาลำละกว่า 1,500 ล้านบาท คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้กองทัพเรือจัดหาเครื่องบินขึ้นลงทางดิ่งเมื่อ 29 กันยายน 2536 กองทัพเรือได้รับมอบเครื่องบินขึ้นลงทางดิ่งแล้วในปีงบประมาณ 2540

Harrier (AV-8S) มีจำนวน 9 ลำ แบ่งเป็นประเภท AV-8S จำนวน 7 ลำ และ TAV-8S (ฝึก) จำนวน 2 ลำ

บทสรุป

          ระหว่างปี 2530 ถึง 2540 กำลังทางอากาศนาวีราชนาวีไทยเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด แต่แล้วด้วยพิษต้มยำกุ้งทำให้งบประมาณประจำปีกองทัพเรือลดน้อยแบบฮวบฮาบ เครื่องบินมือสองที่จัดหาจากสหรัฐและสเปนจึงไม่ได้รับการดูแลซ่อมบำรุงตามที่สมควร รวมทั้งเครื่องบินบางรุ่นหาอะไหล่ไม่ได้ไม่ตรงตามข้อมูลคณะกรรมการคัดเลือกแบบอากาศยาน ส่งผลให้เครื่องบินขึ้นลงทางดิ่งแบบ AV-8S เครื่องบินโจมตีแบบ A-7E และ เครื่องบินลาดตระเวนทางทะเลระยะไกลแบบ P-3 ORION ต้องปลดประจำการ เหลือเพียงเครื่องบินลาดตระเวนทางทะเลระยะปานกลางแบบดอร์เนียร์ 228-212 กับเฮลิคอปเตอร์ประจำเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์แบบ S-70B SEA HAWK ซึ่งเป็นเครื่องบินใหม่ยังคงบินได้ทำภารกิจได้ตามปรกติจนปัจจุบัน

++++++++++++++++++++

 

อ้างอิงจาก :

หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือเอก ประพัฒน์ กฤษณจันทร์

          หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือเอก กิตติ นาคะเกศ

ภาพประกอบจาก :

https://web.facebook.com/photo/?fbid=638622739561974&set=basw.AbopMgbRSb1bELvhZPWO1XUjm1scac6zFwlO2OVAzk_r-VCcAzgdzvgNbH1KO4mM5Z1qALbaNjRCAqqB2MHfH8IWQL8j5XLHb5Q9lIVD-4pEIdBOhtyk9w5hJgjMvrlqfJAo_M8C46cn7gftzBt7kjUK&opaqueCursor=Abod3G1v7-GJEcHZQjHc6V1ODFR2mPl_a2k2p8caT-0Rpi3CNFWpYDVteVdjGHmM11W6wy3LXkQeb9rBhW0kS7e0jg78OUXVHtMgyWOUHfQ1mawohj793U8Zt-Hq2iNWKR03_TwfZH1PbIa9EVhOt8dNDgzVBYoXIVKuph-G-bmE43omEhLKqsbtBWdRvGc86bgysXOAM1qTnhHtOH7BwSsTxxhUTqTyTpc_2WG3FnMWrXmKtRfTNnavFVFUMKE7Ig68PyiAWlJ4WS0eHmvFf32t29IjmOwzH-61RBow076ynLx--lkaZzaKnFQQEQ-IOGcpdG4PzUQ8Bb0qi8ul5lfQyxutkkHt8jSdWIdkqn_sH0LNUtfT23PSoDJYaLYq7mds9Sep4dMDMgqY9iZvI8VD6AJ33YabfryNkxUKUf81Uljg6j9c6bSgMAhoKvVcNpcZqlZ48fcmNb1GYlgGkU1OFbzslMKRnnu1-sqJkK74aPMwobYSQW9kDHY3FoPKcMQ9nAO3KlYP8pJtnruUpbkeJwIKJopwy4w2gwGZ7RdxO_2vnJtZuXF8nsYLpGDdW_h-kcS63yVGzKUlQlsC58FW-QqncN1wyIGTrRASzj5Rhg9gu3D7gJSQ3w7-VHIyNR2objTNc92cueZ1ULz1ECVpx3JZ2jWA0EIB1WCiqc_kX4k525a3lNvaZstz5vGMwCvU2ueHkl0VuWXWdpDyPZGieTeOCmY7YOyo9s3yMvVgvy7GbNCBVdw1sZzfmvaZSZRhwMSYYIgI_ihDDuCKsHhQ3Jbl955a0BxWvne5cC4dLgwNPfEUyRj3J0i1XXSLuUtmAp6wASKSf5VDUe1GuKA8en_lDDESK1paOPrK2SyZjA

https://web.facebook.com/photo/?fbid=1103331357093521&set=pcb.1103331540426836

https://www.jetphotos.com/photo/3201

https://web.facebook.com/media/set/?set=a.1501581713191032&type=3&comment_id=1502043243144879&_rdc=1&_rdr

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น