วันพุธที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

RTN UAV Target Drone

 

เป้าบินกองทัพเรือไทย

ช่วงนี้โครงการจัดซื้อเป้าบินไอพ่นแบบอัตโนมัติมูลค่า 49.8 ล้านบาทกำลังโด่งดัง ผู้เขียนขออนุญาตข้ามประเด็นปัญหาเพราะหาอ่านได้ทั่วไป แต่อยากรวบรวมข้อมูลเป้าบินชนิดต่างๆ ของกองทัพเรือไทยไว้ในบทความ ไม่พูดพร่ำทำเพลงมุ่งตรงเข้าสู่เนื้อหากันเลยก็แล้วกัน


ปีงบประมาณ 2563 กรมสรรพาวุธทหารเรือเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างน่าสนใจมากฉบับหนึ่ง

เลขที่ประกาศ : ฉ.100/2563

ประกาศเรื่อง : จ้างซ่อมทำระบบควบคุมการบินอัตโนมัติของเป้าบิน Snipe Mk.5 และเป้าบิน Banshee Jet จำนวน 1 งาน

ผู้ได้รับการคัดเลือก : บริษัท โกลบอล เทคโนโลยี่ แอนด์ เอ๊กซ์-อิม จำกัด

ราคาที่เสนอ : 6,500,000.00 บาท

เหตุผลที่ได้รับการคัดเลือก : เสนอเอกสารการเสนอราคา ถูกต้อง ครบถ้วน ตรงตามเงื่อนไขที่ทางราชการกำหนด เสนอราคาไม่เกินวงเงินที่ทางราชการกำหนด

นี่คือหลักฐานชัดเจนแจ่มแจ๋วมากที่สุด ระหว่างปี 2563 กองทัพเรือมีเป้าบินใช้งานจำนวน 2 รุ่นขึ้นไป

เป้าบินพิสัยกลางระยะยิงหวังผลใกล้ Snipe Mk.5

          เป้าบินรุ่นนี้มีใช้งานกับสามเหล่าทัพมาอย่างยาวนาน ระบบป้องกันภัยทางอากาศทุกชนิดและทุกรุ่นเคยทดสอบร่วมกับ Snipe และเป็นเป้าหมายให้กองทัพอากาศพัฒนาเป้าบินรุ่นใหม่ประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน ภาพประกอบที่หนึ่งคือ Snipe Mk.5 กองทัพอากาศไทย ของกองทัพเรือผู้เขียนจนด้วยเกล้าในการหาภาพถ่าย

ข้อมูลทั่วไปของเป้าบิน Snipe Mk.5

น้ำหนักโดยประมาณ 80 กิโลกรัม

เครื่องยนต์ 22 แรงม้า 350 ซีซี (ใช้ใบพัด)

ความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

เพดานบินสูงสุด 1,000 เมตร

ความจุน้ำมันเชื้อเพลิง 15 ลิตร

บินได้นานสุด 1.30 ชั่วโมง

น้ำมันเชื้อเพลิงแบบผสมน้ำมันหล่อลื่น เบนซิน 95

การควบคุมทางระยะ ใช้วิทยุไม่มีอุปกรณ์ภาคขยายกำลังส่งควบคุมระยะไกลสุด 2 กิโลเมตร สามารถเพิ่มอุปกรณ์ภาคขยายกำลังส่งในตู้ควบคุมระยะไกลสุด 30 กิโลเมตร

ปัจจุบัน Snipe Mk.5 ยังมีใช้งานตามปรกติ และมีอะไหล่ขายตามปรกติหาซื้อได้ไม่ลำบาก

เป้าบินพิสัยกลางระยะยิงหวังผลไกล Banshee Jet

          Banshee Jet คือสินค้าจากอังกฤษมีรุ่นย่อยจำนวนหลายรุ่น กองทัพเรือไม่ใส่หมายเลขรุ่นต่อด้านหลังจึงไม่อาจระบุชัดเจน แต่ถึงกระนั้นก็ตามผู้เขียนมีข้อมูลจากกรมสรรพาวุธทหารเรือ ระบุไว้ในเอกสารจัดซื้อจัดจ้างถึงประสิทธิภาพเป้าบินพิสัยกลางระยะยิงหวังผลไกลรุ่นนี้ใจความว่า

-ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 425 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

-เวลาทำการบินไม่น้อยกว่า 50 นาที

-ระยะการควบคุมไม่น้อยกว่า 40 กิโลเมตร

-มีระดับเพดานการบินอย่างน้อยระหว่าง 5 เมตรถึง 8,000 เมตร

นำข้อมูลมาเปรียบเทียบพบว่าใกล้เคียงกับเป้าบิน Banshee Jet 40 จากบริษัท Meggitt ประเทศอังกฤษตามภาพประกอบที่สอง

ข้อมูลทั่วไปของเป้าบิน Banshee Jet 40

ยาว 2.49 เมตร

กว้าง 2.95 เมตร

สูง 0.78 เมตร

น้ำหนักโดยประมาณ 40 กิโลกรัม

เครื่องยนต์ Static Thrust Gas Turbine Engine จำนวน 1 ตัว (ไอพ่น)

ความเร็วสูงสุด 302 ไมล์หรือ 486 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ความเร็วเดินทาง 102 ไมล์หรือ 164 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

เพดานบินสูงสุด 8,000 เมตร

เพดานบินต่ำสุด 5 เมตร

ระยะบินไกลสุด มากกว่า 100 กิโลเมตร

บินได้นานสุด มากกว่า 65 นาทีที่ความเร็วเดินทาง

มากกว่า 425 กิโลเมตรต่อชั่วโมงกับ 486 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใกล้เคียงกันที่สุดในตระกูล Banshee Jet เป้าบินพิสัยกลางระยะยิงหวังผลไกล Banshee Jet คือเป้าบินรุ่นทันสมัยมากที่สุดของกองทัพเรือจนถึงปีนี้

เป้าบินพิสัยกลางแบบไอพ่น Phoenix Jet

ปีงบประมาณ 2563 กรมสรรพาวุธทหารเรือเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างน่าสนใจมากอีกหนึ่งฉบับ

เลขที่ประกาศ  : ค.072/2563

ประกาศเรื่อง  : ซื้อเป้าบินพิสัยกลางแบบไอพ่น จำนวน 1 ระบบ

ผู้ได้รับการคัดเลือก  : บริษัท ซีซีจี จำกัด

ราคาที่เสนอ  : 49,700,000.00 บาท

เหตุผลที่ได้รับการคัดเลือก : เสนอเอกสารหลักฐาน รวมทั้งรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุ ถูกต้องครบถ้วนตามที่ทางราชการกำหนด เสนอราคาต่ำกว่าวงเงินที่ทางราชการกำหนด

โครงการจัดซื้อเป้าบินพิสัยกลางแบบไอพ่นรุ่นใหม่จำนวน 1 ระบบ ผลการคัดเลือกเป้าบิน Phoenix Jet จากบริษัท QinetiQ ประเทศออสเตรเลียชนะแบบไร้คู่แข่ง เนื่องจากบริษัท ซีซีจี จำกัดเสนอราคาเพียงบริษัทเดียว

ข้อมูลทั่วไปของเป้าบิน Phoenix Jet

ยาว 2.4 เมตร

กว้าง 2.2 เมตร

สูง 0.74 เมตร

น้ำหนักโดยประมาณ 66 กิโลกรัม

น้ำหนักบรรทุกสูงสุด 3.5 กิโลกรัม

เครื่องยนต์ Jet Engine จำนวน 1 ตัว (ไอพ่น)

ความเร็วสูงสุด มากกว่า 330 นอตหรือ 611 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

เพดานบินสูงสุด 6,000 เมตร

เพดานบินต่ำสุด 15 เมตร

ระยะบินไกลสุด 100 กิโลเมตร

บินได้นานสุด  60 นาที

Phoenix Jet มีขนาดและประสิทธิภาพใกล้เคียง Banshee Jet 40 เพดานบินต่ำสุดและสูงสุดสู้กันไม่ได้ก็จริง ทว่าความเร็วสูงสุดมากกว่าพอสมควร เท่ากับว่าเป้าบินพิสัยกลางแบบไอพ่นรุ่นใหม่จะเร็วกว่าเดิม เหมาะสมกับการทดสอบระบบป้องกันภัยทางอากาศรุ่นใหม่ทันสมัยเป็นอย่างยิ่ง

การจัดซื้อเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง สิ่งที่กำลังเป็นปัญหากองทัพเรือต้องจัดการให้ชัดเจน

ราคา 49.7 ล้านบาทได้ Phoenix Jet จำนวน 3 ลำตามภาพประกอบที่สาม จับมาหารง่ายๆ เท่ากับลำละ 16.56 ล้านบาท รางปล่อยในภาพเล็กไม่มีการจัดซื้อแต่อย่างใด ผู้ขายจะปรับปรุงรางปล่อยของเก่าให้สามารถใช้งาน Phoenix Jet ได้ ถ้าใช้รางปล่อย Banshee Jet 40 ที่มีขนาดใกล้เคียงกัน ใช้เครื่องยนต์ไอพ่นเหมือนกัน ไม่น่ามีปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น บังเอิญ Phoenix Jet น้ำหนักเครื่องมากกว่าฉะนั้นต้องละเอียดรอบคอบ

ปล่อยเป้าบินขึ้นสู่ท้องฟ้าหรือ Lunch เสร็จเรียบร้อย เมื่อเลิกใช้งานต้องนำเป้าบินลงจอดบนพื้นดินหรือพื้นน้ำ ภาพประกอบที่สี่คือวิธีลงจอดหรือ Recovery ของ Phoenix Jet รวมทั้ง Banshee Jet 40 และ Snipe Mk.5 โดยการดับเครื่องยนต์กางร่มชูชีพอัตโนมัติขนาดใหญ่ที่อยู่กลางลำ เป้าบินจะค่อยๆ ลอยต่ำสู่พื้นดินหรือพื้นน้ำอย่างปลอดภัย แล้วส่งเจ้าหน้าที่ออกไปเก็บกลับมาซ่อมบำรุงตามปรกติ การลงจอดอีกหนึ่งวิธีคือร่อนลงให้ท้องเป้าบินไถลไปกับพื้น วิธีหลังต้องใช้ความชำนาญของเจ้าหน้าที่ควบคุมภาคพื้นดินมากพอสมควร

การใช้งานเป้าบินกับระบบป้องกันภัยทางอากาศ

          เป้าบินส่วนใหญ่มีพื้นที่บรรทุกอุปกรณ์ต่างๆ ในลำตัว สำหรับการฝึกและทดสอบระบบป้องกันภัยทางอากาศ ทั้งปืนต่อสู้อากาศยานหรืออาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ยกตัวอย่างจากข้อมูล Banshee Jet 40

-ติดตั้งพลุควันได้มากสุด 8 อัน เหมาะสมกับการฝึกและทดสอบการตรวจจับเป้าหมายด้วยสายตา

-ติดตั้งพลุความร้อนได้มากสุด 16 อัน เหมาะสมกับการฝึกและทดสอบการตรวจจับเป้าหมายด้วระบบอินฟราเรด

-ติดตั้ง Luneberg เลนส์สะท้อนคลื่นเรดาร์ได้ เพื่อสร้างหน้าตัดเรดาร์หรือ Radar Cross Section เหมาะสมกับการฝึกและทดสอบการตรวจจับเป้าหมายด้วยระบบเรดาร์

เป้าบินพิสัยกลางระยะยิงหวังผลไกล Banshee Jet สามารถจำลองตัวเองเป็นอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ เพราะบินต่ำห่างจากพื้นดินได้ถึง 5 เมตร บินผาดแผลงโดยการดิ่งปักหัว 45 องศาแล้วกลับมาบินระดับปรกติได้ มีความเร็วและความคล่องตัวมากเพียงพอ เพียงแต่ความเร็วสูงสุดดูเหมือนจะน้อยเกินไป

          เป้าบินพิสัยกลางแบบไอพ่น Phoenix Jet ติดอุปกรณ์ต่างๆ ในลำตัวได้เหมือนกันทั้งหมด ระดับบินต่ำสุดมากกว่า Banshee Jet คือ 15 เมตรจากพื้นดิน แต่ความเร็วสูงสุดเหนือกว่าคือมากกว่า 611 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  การฝึกและทดสอบการตรวจจับเป้าหมายด้วยระบบเรดาร์หรืออินฟราเรดมีความคล้ายจริงมากกว่า

          การใช้งานเป้าบินกับระบบป้องกันภัยทางอากาศ ไม่ได้หมายถึงทดสอบยิงด้วยอาวุธจริงเพียงอย่างเดียว การซ้อมแห้งใช้เรดาร์ตรวจจับเป้าหมายบ่อยครั้งมีความสำคัญกว่า ความชำนาญเกิดจากการฝึกซ้อมมากที่สุดและนานที่สุด ความเชี่ยวชาญสามารถส่งต่อให้กับผู้โชคร้ายคนถัดไปด้วยข้อมูลการทดสอบ Phoenix Jet จะเข้ามาผนึกกำลังกับ Snipe Mk.5 และ Banshee Jet เพื่อฝึกฝนเจ้าหน้าที่ให้เชี่ยวชาญเรื่องการป้องกันภัยทางอากาศ

การทดสอบยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน

          มีข้อมูลหนึ่งน่าสนใจเช่นกันจนผู้เขียนต้องใส่เพิ่มในบทความ

คำถาม : ตอนที่กองทัพเรือทดสอบยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ESSM ใช้เป้าบินขนาดใหญ่กว่า ความเร็วสูงกว่า และมีความเหมาะสมกว่า Phoenix Jet ใช่หรือไม่?

          คำตอบ : ถูกต้องนะครับ

          คำถาม : ถ้าเช่นนั้นจะซื้อ Phoenix Jet มาเพื่ออะไร? ทำไมไม่ใช้เป้าบินรุ่นเก่าที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า

          คำตอบ : เพราะกองทัพเรือไม่มีเป้าบินรุ่นนั้นนี่ครับ

          คำถาม : อ้าวแล้ววัตถุผู้โชคร้ายถูก ESSM สอยร่วงทะเลเป็นของใคร?

          คำตอบ : กองทัพเรืออเมริกาจ้ะ

          ภาพประกอบที่ห้ามาจากการทดสอบยิงระหว่างการฝึกผสมทางทะเล CARAT 2015

วันที่ 3 กันยายน 2015 เรือสนับสนุนการยกพลขึ้นบก USS Germantown (LSD 42) กองทัพเรืออเมริกาปล่อยเป้าบินไอพ่น BQM-74E ลำที่อยู่ใกล้สุดในภาพขึ้นสู่ฟากฟ้า เรือหลวงนเรศวรกองทัพเรือไทยใช้อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ESSM ใหม่เอี่ยมอ่อง สอย BQM-74E ลงไปเป็นเศษขยะสามหมื่นปีไม่สลายในท้องทะเล

กองทัพเรืออเมริกาฝึกผสมทางทะเลกับสมาชิกอาเซียนทุกปีโดยใช้ชื่อรหัส CARAT ชาติไหนมีอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยานใช้งานบนเรือรบตัวเอง อเมริกามักปล่อย BQM-74E ขึ้นฟ้าให้เพื่อนทดสอบระบบป้องกันภัยทางอากาศ ยิงถูกแทงจำหน่ายส่งเอกสารให้ผู้บัญชาการเซ็น ยิงไม่ถูกส่งคนไปเก็บ BQM-74E กลับมาใช้งานใหม่

ข้อมูลทั่วไปของเป้าบิน BQM-74E

ยาว 3.94 เมตร

กว้าง 1.46 เมตร

สูง 0.71 เมตร

น้ำหนักโดยประมาณ 249 กิโลกรัม

เครื่องยนต์ Williams J400-WR-404 Turbojet จำนวน 1 ตัว (ไอพ่น)

ความเร็วสูงสุด 606 ไมล์หรือ 972 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

เพดานบินสูงสุด 12,000 เมตร

ระยะบินไกลสุด 227.8 กิโลเมตร

บินได้นานสุด  68 นาที

ประสิทธิภาพ BQM-74E เหนือกว่า Phoenix Jet ตามต้นทุนและราคาขาย

ระหว่างปี 2005 กองทัพเรืออเมริกาซื้อเป้าบินไอพ่น BQM-74E จำนวน 60 ลำมูลค่ารวม 24 ล้านเหรียญ จับมาหารง่ายๆ เท่ากับลำละ 400,000 เหรียญ ทีนี้ถ้ากองทัพเรือไทยอยากซื้อมาใช้งานสัก 2 ลำ ต้องบวกค่าเงินที่เพิ่มขึ้น 18 ปี บวกจำนวนจัดหาน้อยลงจาก 60 ลำเป็น 2 ลำ บวกเป็นลูกค้าจากดินแดนไกลโพ้นหาใช่อเมริกาหรือสมาชิกนาโต้ บวกโน่นนั่นนี่เข้าไปผู้เขียนตั้งราคาให้เองเท่ากับลำละ 650,000 เหรียญหรือ 21.8 ล้านบาท

          Phoenix Jet ลำละ 16.56 ล้านบาท BQM-74E ลำละ 21.8 ล้านบาท ถือว่าไม่ห่างกันพอสู้ราคาไหว เพียงแต่ว่านอกจากกองทัพเรืออเมริกาไม่มีประเทศไหนได้ใช้งานเนี่ยสิ

          คำถาม : ถ้าอเมริกาไม่ขาย BQM-74E อเมริกาไม่ส่ง BQM-74E ขึ้นบินระหว่างฝึก CARAT (ซึ่งมันเป็นสิทธิ์ของเขา) แต่เราต้องการทดสอบยิง ESSM ลูกจริงจะทำเช่นไร?

          คำตอบ : เสียสละ Phoenix Jet จำนวน 1 ลำ

          วันที่ 12 มีนาคม 2020 เรือฟริเกต HMAS Arunta (FFH 151) ที่กลับมาประจำการกองทัพเรือออสเตรเลียอีกครั้ง หลังเข้ารับการปรับปรุงติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติระยะไกล CEAFAR2-L เป็นเวลา 20 เดือน ทดสอบยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ESSM ใส่ Phoenix Jet สินค้าประเทศตัวเอง เป้าบินไอพ่นอัตโนมัติยาว 2.4 เมตรถูก ESSM ยาว 3.66 เมตรส่งไปเกิดโลกใหม่ใต้ทะเลสองหมื่นโยชน์ การทดสอบประสบความสำเร็จง่ายๆ แค่นี้เอง แม้ Phoenix Jet ประสิทธิภาพต่ำกว่า BQM-74E แต่ยังพอทดแทนกันได้

ปัญหาก็คือกองทัพเรือไทยมี Phoenix Jet เพียง 3 ลำ ปัญหาถัดไปอย่างที่ทราบกันดีปัจจุบันอากาศยานไร้คนขับ กลายเป็นภัยคุกคามใหญ่มีผลงานทุกวันในสนามรบระหว่างรัสเซียกับยูเครน จำเป็นต้องใช้งาน Phoenix Jet ในการฝึกและทดสอบระบบป้องกันภัยทางอากาศชนิดต่างๆ ปัญหาสุดท้ายการจัดซื้อในปีงบประมาณ 2563 ยังมีเรื่องวุ่นวายไม่สะเด็ดน้ำ ฉะนั้นการฝึกยิง Phoenix Jet ด้วยอาวุธจริงในช่วงปีสองปีนี้ไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง

หมายเหตุ : สำหรับเป้าบินรุ่นอื่นของกองทัพเรือ ถ้ามีข้อมูลผู้เขียนจะเขียนบทความเพิ่มเติมในภายหลัง

                                        +++++++++++++++++++++++

อ้างอิงจาก

http://www.supplyonline.navy.mi.th/shortcut.php?showdept=%A1%C3%C1%CA%C3%C3%BE%D2%C7%D8%B8%B7%CB%D2%C3%E0%C3%D7%CD&byear=63&x=1

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=10210623957872527&id=1754826908&mibextid=Nif5oz

https://web.facebook.com/RoyalThaiNavyFanpage/posts/pfbid0AzWRt34jhdypxkUbq34V4kKmrqP1fhUCbiW4arpqVfWTbad5GY7TmB98PCdNcCzvl

https://www.defenceconnect.com.au/maritime-antisub/5820-phoenix-jet-used-to-sharpen-hmas-arunta-s-missile-firing

https://www.airaffairs.com.au/products/phoenix-jet-uav/

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น