วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

Three Powers of the Andaman

 

      

          วันที่ 3 สิงหาคม 2014 ผู้เขียนลงภาพวาดเรือคอร์เวต Anawrahta 771 เวอร์ชันปี 2006 ของกองทัพเรือพม่าเป็นลำแรกใน www.shipbucket.com ต่อมาได้ทยอยลงภาพวาดเรือรบลำอื่นจำนวน 18 ลำในเวลา 3 เดือน 26 วัน เสร็จเรียบร้อยจึงสลับมาวาดภาพเรือชนิดต่างๆ แห่งราชนาวีไทย และเริ่มลงภาพเรือหลวงสารสินธุเวอร์ชันปี 1950 เป็นลำแรกในวันที่ 5 ธันวาคม 2014 ปัจจุบันในปี 2022 ผู้เขียนมีภาพวาดเรือไทยที่ถูกเผยแพร่มากกว่า 90 ลำ นับเฉพาะ Real Design นะครับยังมี Never Built Design อีก 18 ลำ

          เหตุผลที่ผู้เขียนตัดสินใจวาดภาพเรือเพื่อนบ้านก่อนง่ายดายมาก เรือพม่าทุกลำไม่มีแปลนเรือจำเป็นต้องวาดเองออกแบบเองทั้งหมด โดยใช้ภาพถ่ายเท่าที่หาได้จากอินเทอร์เน็ตเป็นข้อมูลหลัก ข้อผิดพลาดกับความคลาดเคลื่อนมากกว่าเรือชาติอื่นก็จริง ทว่าหลังจากผ่านการทำงานยากมากที่สุดสำเร็จเรียบร้อย ผู้เขียนจะสามารถวาดภาพเรือรบชาติไหนก็ได้รุ่นไหนก็ได้ นี่คือโจทย์ท้าทายมากที่สุดในบรรดางานอดิเรกที่ตัวเองเคยทำ

          วันเวลาผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็วมาก อีกไม่กี่วันจะครบ 8 ปีที่ผู้เขียนลงภาพเรือคอร์เวต Anawrahta 771 เวอร์ชันปี 2006 กองทัพเรือพม่ามีการเสริมทัพด้วยเรือชนิดต่างๆ จำนวนมาก โดยจะทำพิธีเข้าประจำการพร้อมกับในวันที่ 24 ธันวาคมของทุกปีอันเป็นวันกองทัพเรือพม่า คล้ายวันกองทัพอากาศพม่าที่มีพิธีประจำการเครื่องบินชนิดต่างๆ และเป็นช่องทางสำคัญในการติดตามข่าวสารทางทหารจากเพื่อนบ้านทางภาคเหนือ

          และในวาระพิเศษผู้เขียนตั้งใจเขียนบทความพิเศษ เปรียบเทียบกำลังรบระหว่างกองทัพพม่ากับเพื่อนบ้านผู้มีน่านน้ำติดกันสองชาติ ได้แก่บังกลาเทศทางทิศเหนือและไทยแลน์ทางทิศใต้ โดยเน้นมาที่เรือทำภารกิจหลัก 3 อย่างประกอบไปด้วย ปราบเรือผิวน้ำ ปราบเรือดำน้ำ ปิดท้ายด้วยป้องกันภัยทางอากาศ และเนื่องมาจากเรือทุกลำสามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยตัวเอง การจัดวางกำลังป้องกันน่านน้ำย่อมเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ไม่มีจำนวนตายตัว ผู้เขียนจึงขอเปรียบเทียบโดยการนับจำนวนเรือทุกลำไม่แบ่งแยกเป็นทัพเรือย่อย


เรือดำน้ำ

          ปี 2014 ทแกล้วทหารสามเกลอแห่งอันดามันยังไม่มีเรือดำน้ำแม้แต่ชาติเดียว

ในปีนั้นเองกองทัพเรือบังกลาเทศสั่งซื้อเรือดำน้ำชั้นหมิงหรือ Type 035G มือสองจากจำนวน 2 ลำในวงเงิน  203.5 ล้านเหรียญ เรือ BNS Nabajatra S161 กับ BNS Joyjatra S162 เข้าประจำการพร้อมกันวันที่ 12 มีนาคม 2017 เรือชั้นหมิงปรับปรุงมาจากเรือชั้น Type 033 Romeo จากโซเวียต มีระวางขับน้ำ 2,110 ตันขณะดำน้ำ ยาว 76 เมตร กว้าง 7.6 เมตร ความเร็วสูงสุด 15 นอตบนผิวน้ำ และ 18 นอตที่ใต้น้ำ ดำน้ำได้ลึกสุด 300 เมตร ใช้ระบบโซนาร์จีนที่ซื้อลิขสิทธิ์โซนาร์ฝรั่งเศสมาสร้างเอง มีท่อยิงตอร์ปิโดขนาด 533 มม.จำนวน 8 ท่อยิง (หัวเรือ 6 ท่อยิง ท้ายเรือ 2 ท่อยิง) ทำงานร่วมกับตอร์ปิโด Yu-4 จากจีนระยะยิงไกลสุด 15 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุด 40 นอต

ภาพประกอบที่หนึ่งเรือดำน้ำชั้นหมิงของบังกลาเทศคือลำล่าง ส่วนลำบนคือเรือดำน้ำชั้นหมิงกองทัพเรือพม่าชื่อ UMS Min Ye Kyaw Htin (72) เข้าประจำการวันที่ 24 ธันวาคม 2021 โดยไม่ปรากฏข้อมูลว่าพม่าใช้งบประมาณเท่าไรหรือใช้สิ่งใดแลกเปลี่ยนกับจีน ในการจัดหาเรือดำน้ำมือสองลำนี้มาเข้าประจำการแบบเร่งด่วน

เรือดำน้ำมือสองโผล่มาร่วมงานวันกองทัพเรือพม่าครั้งล่าสุดชนิดช็อกโลก ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตระบุว่าเป็นเรือรุ่น Type 035B ใหม่กว่าและทันสมัยกว่าเรือดำน้ำบังกลาเทศเล็กน้อย เพียงแต่ประสิทธิภาพไม่ได้แตกต่างกันขนาดเดินตามหลังครึ่งก้าว ถ้าไม่บังเอิญพม่ามีเรือดำน้ำชั้น Kilo มือสองประจำการอยู่ก่อนแล้ว 1 ลำ

วันที่ 24 ธันวาคม 2020 เรือ UMS Minye Theinkhathu (71) ทำพิธีเข้าประจำการอย่างยิ่งใหญ่ เรือลำนี้ในอดีตเป็นของกองทัพเรืออินเดียชื่อ INS Sindhuvir (S58) เข้าประจำการปี 1988 ก่อนขายต่อให้กับพม่าในปี 2020 โดยใช้แบบเรือ Project 877EKM จากโซเวียตซึ่งขายดิบขายดีทั่วโลก เรือมีระวางขับน้ำ 3,076 ตันขณะดำน้ำ และ 2,325 ขณะลอยตัวบนผิวน้ำ ความเร็วสูงสุด 11 นอตบนผิวน้ำ และ 19 นอตที่ใต้น้ำ ดำน้ำได้ลึกสุด 300 เมตร ใช้ระบบโซนาร์ทันสมัยตัวแรงจากโซเวียต มีท่อยิงตอร์ปิโดขนาด 533 มม.จำนวน 6 ท่อยิง สำหรับตอร์ปิโด Type 53 กับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ 3M-54 Kalibr แต่ไม่ทราบเหมือนกันว่าพม่าจัดหามาใช้งานหรือไม่

พม่ากับบังกลาเทศมีเรือดำน้ำ 2 ลำเท่ากัน เพียงแต่พม่านำหน้าครึ่งก้าวเพราะมีเรือทันสมัยกว่า 1 ลำ

ตัดกลับมาที่กองทัพเรือไทยกันบ้าง วันที่ 2 กรกฎาคม 2015 คณะกรรมการคัดเลือกแบบเรือมีมติเลือกเรือดำน้ำ S26T จากจีนเป็นผู้ชนะโครงการ ต่อมาในวันที่ 5 พฤษภาคม 2017 รัฐบาลไทยสั่งซื้อเรือดำน้ำ S26T ลำที่หนึ่งในวงเงิน 390 ล้านเหรียญ ตอนนั้นเองมีคำพูดติดปากคนไทยทั้งประเทศว่า เรือดำน้ำซื้อ 2 แถม 1 บ้าง ดำน้ำได้นาน 21 วันบ้าง เราได้ของแถมจากจีนเยอะมากบ้าง บ่งบอกถึงความยินดีปรีดาในการจัดหาอาวุธสำคัญ

ปีงบประมาณ 2020 กับ 2021 กองทัพเรือพยายามดันโครงการสั่งซื้อเรือดำน้ำ S26T ลำที่สองและสาม บังเอิญถูกต่อต้านจากมวลชนคนหมู่มากทั่วประเทศ จนโครงการจัดหาเรือดำน้ำเพิ่มเติมต้องล่มสลายตลอดกาล นี่คือปรากฏการณ์ที่ผู้เขียนไม่เคยนึกฝันว่าจะได้เห็นกับตา โชคร้ายที่ความโชคร้ายไม่สิ้นสุดแต่เพียงเท่านี้ ปี 2022 สถานทูตเยอรมันออกมาแจ้งข่าวอย่างเป็นทางการว่า เยอรมันไม่ส่งออกเครื่องยนต์ติดเรือดำน้ำให้ประเทศจีนตามมติสหภาพยุโรป รวมทั้งไม่เคยได้รับการติดต่อจากจีนเรื่องซื้อเครื่องยนต์ MTU มาใส่ในเรือดำน้ำ S26T ของไทย

ปี 2022 ทแกล้วทหารสามเกลอแห่งอันดามัน เหลือเพียงราชนาวีไทยชาติเดียวยังไม่มีเรือดำน้ำ หลังจากเสียเวลาไป 7-8 ปีกับจ่ายเงินไปแล้ว 7,700 ล้านบาท สิ่งที่ได้รับกลับคืนคือโครงการจัดหาอาวุธที่คนทั้งประเทศรู้จักดี และพากันคาดเดาต่างๆ นานาว่าทำเช่นไรเรือดำน้ำไทยถึงจะมีเครื่องยนต์


เรือบรรทุกอากาศยานขนาดใหญ่

          โดยทั่วไปเรือชนิดนี้มีแค่เพียงอาวุธป้องกันตัว แต่สามารถทำภารกิจต่างๆ ได้จากอากาศยานประจำเรือ ผู้เขียนจึงนำมาใส่ในบทความด้วยไม่อยากละเลย รวมทั้งแอบเข้าข้างทร.ไทยที่ทำคะแนนหายเรื่องเรือดำน้ำ

          เริ่มต้นกันที่กองทัพพม่าเป็นชาติแรก พวกเขามีเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ซื้อมาจากเกาหลีใต้จำนวน 1 ลำ UMS Moattama (1501) เข้าประจำการวันที่ 24 ธันวาคม 2019 เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 7,300 ตัน ยาว 125 เมตร กว้าง 22 เมตร กินน้ำลึก 5 เมตร มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ขนาดใหญ่จำนวน 2 จุด รองรับเฮลิคอปเตอร์ลำเลียง Mi-17 ได้อย่างสบาย และมีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ขนาด 10 ตันอีก 1 ลำ

          กองทัพเรือพม่ามีเฮลิคอปเตอร์ AS365 Dauphin 2 จากฝรั่งเศสจำนวน 7 ลำ (เพิ่งได้รับเพิ่มเติมปลายปี 2021 อีก 2 ลำ) ตอนเข้าประจำการจะทำพร้อมเครื่องบินลำอื่นของกองทัพอากาศ ฉะนั้นต้นสังกัดที่แท้จริงของเฮลิคอปเตอร์อาจเป็นกองทัพอากาศ ก่อนหน้านี้ข้อมูลจากหลายฝ่ายระบุว่าเฮลิคอปเตอร์คือรุ่น Z-9C จากจีน ผู้เขียนตรวจสอบแล้วพบว่าจมูกเครื่องเหมือน AS365 Dauphin 2 รุ่นใช้งานทั่วไปมากกว่า จมูกเครื่องก็เลยไม่ยาวเพราะไม่ได้ติดเรดาร์ตรวจสภาพอากาศเหมือนดั่ง Z-9 กัมพูชา

          ในเมื่อ AS365 Dauphin 2 ของพม่าเป็นรุ่นลำเลียงกู้ภัย จึงไม่สามารถติดอาวุธทำภารกิจปราบเรือผิวน้ำหรือเรือดำน้ำ บังเอิญถ้าพรุ่งนี้มะรืนนี้พม่าซื้อ HARBIN Z-9D ติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ CM-501 มาใช้คุ้มกันกองเรือ เรือ UMS Moattama จะสามารถทำภารกิจปราบเรือผิวน้ำแบบทางอ้อมได้

          กองทัพเรือบังกลาเทศไม่มีเรือบรรทุกอากาศยานขนาดใหญ่ เปิดโอกาสทองฝังเพชรให้ลูกประดู่สยามทำแต้มไล่หลัง กองทัพเรือไทยมีเรือบรรทุกอากาศยานขนาดใหญ่จำนวน 2 ลำ ประกอบไปด้วยบรรทุกเครื่องบินจักรีนฤเบศร 911 มีเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ S-70B จำนวน 6 ลำเป็นเขี้ยวเล็บ (โดยมี 3 ลำติดโซนาร์ชักหย่อน HELRAS) ทำภารกิจปราบเรือดำน้ำได้ดีที่สุดในบรรดาสามเกลอ เรือยังมีพื้นที่ว่างสำหรับเฮลิคอปเตอร์รุ่นอื่นอีกจำนวนพอสมควร

          ส่วนเรืออีกหนึ่งลำคือเรือหลวงอ่างทอง 791 เรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ลำนี้ทร.ไทยซื้อมาจากสิงคโปร์ เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 7,600 ตัน ยาว 141 เมตร กว้าง 21 เมตร กินน้ำลึก 4.6 เมตร มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ขนาดใหญ่จำนวน 2 จุด และมีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ขนาด 10 ตันอีก 2 ลำ ถ้าวันพรุ่งนี้เรานำเฮลิคอปเตอร์ Super Lynx 300 มาติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Sea Venom ระยะยิง 20 กิโลเมตร จะสามารถทำภารกิจปราบเรือผิวน้ำแบบทางอ้อมเหมือนเรือพม่าได้เช่นกัน

          ผู้เชียนขอพูดถึงกองบินทหารเรือบังกลาเทศสักนิด พวกเขายังอยู่ในช่วงตั้งไข่เพราะเริ่มจัดตั้งในปี 2011 หรือ 11 ปีที่แล้ว มีเพียงเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงกู้ภัย AW109P จำนวน 2 ลำ กับเครื่องบินตรวจการณ์ Dornier 228NG ติดเรดาร์ AESA จากอิตาลีอีก 3 ลำ บังกลาเทศมีโครงการจัดหาเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ กับโครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำประจำเรือฟริเกต เพียงแต่ความสำคัญน้อยกว่าโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ระหว่างนี้จึงขึ้นโครงการสร้างเรือระบายพลขนาดใหญ่ด้วยตัวเองไปพลางๆ ก่อน


เรือฟริเกต

          กองทัพเรือพม่ามีเรือฟริเกตจำนวน 5 ลำ ประกอบไปด้วยเรือฟริเกตชั้นเจียงหู Type 053H1 จำนวน 2 ลำได้แก่ F22 (UMS Mahar Bandoola) กับ F23 (UMS Mahar Thiha Thura) เรือมือสองจากจีนเข้าประจำการวันที่ 30 เมษายน 2012 (ตอนนั้นยังไม่นิยมประจำการเรือวันกองทัพเรือ) มีระวางขับน้ำเต็มที่ 1,730 ตัน ยาว 103.2 เมตร กว้าง 10.7 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ Type 79 ขนาด 100 มม.ลำกล้องแฝด 2 กระบอก ปืนกล Type 76 ขนาด 37 มม.ลำกล้องแฝด 4 กระบอก อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-802 จำนวน 8 ท่อยิง และจรวดปราบเรือดำน้ำ Type 81 แฝดห้าจำนวน 2 แท่นยิง

          เรือทั้งสองลำค่อนข้างเก่าตอนนี้อายุ 36 ปีกับ 34 ปีตามลำดับ ปี 2014 พม่าเปลี่ยนอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบจากรุ่น SY-1 Silkworm เป็น C-802 รุ่นใหม่กว่า ที่เหลือไม่ได้ทำอะไรตัดสินใจใช้งานตามมีตามเกิด

          เรือฟริเกตลำที่สามพม่าสร้างเองในปี 2008 และเข้าประจำการปี 2010 นับว่าเร็วพอสมควร UMS Aung Zeya F11 ระวางขับน้ำประมาณ 2,500 ตัน ยาว 108 เมตร กว้าง 13.5 เมตร ใช้ระบบเรดาร์จากจีนกับอินเดียผสมผสานกัน ติดตั้งจรวดปราบเรือดำน้ำ Type 81 แฝดห้าจำนวน 2 แท่นยิง ต่อด้วยปืนใหญ่ 76/62 มม.จำนวน 1 กระบอก และแท่นยิงควบคุมด้วยรีโมทขนาดหกท่อยิงจากเกาหลีเหนือ ส่วนอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะใกล้ใช้งานร่วมกับแท่นยิงนั้น บางแหล่งข่าวแจ้งว่าเป็น 9K32 Strela-2 หรือ SA-7b จากยุคสงครามเย็น แต่บางแหล่งข่าวแจ้งว่าเป็น 9K38 Igla รุ่นใหม่กว่าประสิทธิภาพสูงกว่า ให้เค้นคำตอบจริงๆ ผู้เขียนขอเดาว่ารุ่น HT-16PGJ ที่เกาหลีเหนือพัฒนาขึ้นมาเอง ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อความสะดวกบทความนี้ผู้เขียนขออนุญาตเลือก Igla

UMS Aung Zeya ติดตั้งปืนกล AK360 ขนาด 30 มม.หกลำกล้องรวบจำนวน 4 กระบอกรอบตัวเรือ เป็นเรือลำแรกของพม่าที่มีระบบป้องกันตนเองระยะประชิดหรือ CIWS ใช้งาน ขณะเข้าประจำการ UMS Aung Zeya ติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Kumsong-3 หรือ Kh-35 เวอร์ชันเกาหลีเหนือ ทว่าปัจจุบัน Kumsong-3 ถูกถอดออกจากเรือเสียแล้ว ส่วนจะกลายเป็นรุ่นไหนไว้อีกสักพักผู้เขียนจะกลับมาเขียนถึง

หลังประสบความสำเร็จกับเรือฟริเกตสร้างในประเทศลำแรก กองทัพเรือพม่าเดินหน้าสร้างเริ่มเพิ่มอีก 2 ลำทันที โดยการปรับปรุงขนาดเรือให้ใหญ่ขึ้นระวางขับน้ำประมาณ 3,000 ตัน ออกแบบลดการตรวจจับด้วยเรดาร์จนดูสวยสดงดงาม ลานจอดท้ายเรือสั้นลงแต่มีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ขนาด 7 ตันเพิ่มเติมเข้ามา เปลี่ยน CIWS จากรุ่น AK360 ของรัสเซียเป็นรุ่น NG-18 จากจีน ใช้ปืนกล 30 มม.หกลำกล้องรวบรุ่นเดียวกันแต่ปรับปรุงป้อมปืนให้ทันสมัยขึ้น รวมทั้งลดจำนวน CIWS ลงเล็กน้อยจาก 4 กระบอกเหลือเพียง 3 กระบอก

UMS Kyan Sitta F12 เข้าประจำการวันที่ 31 มีนาคม 2104 ส่วน UMS Sin Phyu Shin F14 เข้าประจำการวันที่ 24 ธันวาคม 2015 ปีนั้นน่าจะเป็นปีแรกของพิธีประจำการเรือในวันกองทัพเรือพม่า ต่อมาเมื่อทราบข่าวว่าบังกลาเทศซื้อเรือดำน้ำชั้นหมิงมาใช้งาน เพื่อนบ้านติดกันต้องเร่งปรับปรุงสงครามใต้น้ำของตัวเอง มีการติดตั้งโซนาร์หัวเรือ HUMSA HMS-X กับตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Shyena จากอินเดียบนเรือฟริเกตทั้งสองลำ UMS Kyan Sitta F12 กับ UMS Sin Phyu Shin F14 จึงสามารถทำการรบได้ 3 มิติอย่างแท้จริง

อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบบนเรือฟริเกตสร้างเองทั้งสามลำ พิจารณาตามประสิทธิภาพและความสำคัญของเรือ สมควรใช้งาน C-802A ระยะยิง 180 กิโลเมตรที่เพิ่งจัดหาในปี 2014 กับ 2016 ส่วน C-802 ระยะยิง 120 กิโลเมตรที่มีการจัดหาในปี 2005, 2009 และ 2011 สมควรใช้งานบนเรือฟริเกตชั้นเจียงหู เรือคอร์เวต เรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถี และเรือตรวจการณ์อาวุธนำวิถีขนาดเล็ก

กองเรือฟริเกตชาติถัดไปคือบังกลาเทศ พวกเขามีเรือฟริเกตใช้งานจำนวน 7 ลำ เริ่มต้นจาก เดอะแบก’ BNS Bangabandhu F25 เรือฟริเกตชั้น DW 2000-H ซื้อมาจากเกาหลีใต้ มีระวางขับน้ำเต็มที่ 2,380 ตัน ยาว 103.7 เมตร กว้าง 12.5 เมตร กินน้ำลึก 3.8 เมตร ตั้งติดปืนใหญ่ 76/62 มม.จำนวน 1 กระบอก ปืนกล Bofors 40/70 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 2 กระบอก อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Otomat  Mk. II Block IV จำนวน 8 ท่อยิง อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศ FM-90 ระยะยิง 15 กิโลเมตรจำนวน 8 ท่อยิง ปิดท้ายด้วยตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Whitehead A244S จำนวน 6 ท่อยิง

สองลำถัดไปคือเรือฟริเกตตรวจการณ์มือสองชั้น Hamilton จากอเมริกา BNS Somudra Joy F28 กับ BNS Somudra Avijan F29 เข้าประจำการปี 2013 กับปี 2016 มีค่าปรับปรุงลำละ 12 ล้านเหรียญ ระวางขับน้ำเต็มที่ 3,250 ตัน ยาว 115.2 เมตร กว้าง 13.1 เมตร กินน้ำลึก 4.6 เมตร ความเร็วสูงสุด 29 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 16,000 ไมล์ทะเล มีปืนใหญ่ 76/62 มม.เพียง 1 กระบอกไว้ป้องกันตัว แต่เป็นเรือลำใหญ่ที่สุดออกทะเลลึกได้ดีที่สุด เหมาะสมกับภารกิจช่วยตรวจการณ์ ต้อนรับแขก รวมทั้งงานจุกจิกทั่วไป

สองลำถัดไปคือเรือฟริเกตเจียงหู Type 053H2 หน้าตาคล้ายคลึงเรือหลวงเจ้าพระยาของทร.ไทย BNS Abu Bakar F15 กับ BNS Ali Haider F17เข้าประจำการปี 2014 บังกลาเทศซื้อต่อจากจีนลำละ 40 ล้านเหรียญ (รวม C-802A ด้วยจำนวนหนึ่ง) เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 1,960 ตัน ยาว 103.2 เมตร กว้าง 11.3 เมตร กินน้ำลึก 3.2 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ Type 79 ขนาด 100 มม.ลำกล้องแฝด 2 กระบอก ปืนกล Type 76 ขนาด 37 มม.ลำกล้องแฝด 4 กระบอก อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-802 จำนวน 8 ท่อยิง และจรวดปราบเรือดำน้ำ Type 81 แฝดห้าจำนวน 2 แท่นยิง รวมทั้งเปลี่ยนระบบสื่อสารกับระบบเป้าลวงรุ่นทันสมัยกว่าเดิม

                และสองลำสุดท้ายคือเรือฟริเกตเจียงเว่ย Type 053H3 ซื้อต่อจากจีนเช่นกัน BNS Umar Farooq F16 กับ BNS Abu Ubaidah F19 เข้าประจำการวันที่ 5 พฤศจิกายน 2020 อายุเพียง 22 ปีกับ 23 ปีสามารถรับใช้ชาติได้อีกนานพอสมควร เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 2,393 ตัน ยาว 112 เมตร กว้าง 12.4 เมตร กินน้ำลึก 4.3 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ Type 79A ขนาด 100 มม.ลำกล้องแฝด 2 กระบอก ปืนกล Type 76A ขนาด 37 มม.ลำกล้องแฝด 4 กระบอก อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-802A จำนวน 8 ท่อยิง จรวดปราบเรือดำน้ำ Type 3200 แฝดหกจำนวน 2 แท่นยิง และอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศ FM-90 จำนวน 8 ท่อยิง โดยมีลานจอดกับโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ขนาด 7 ตันบริเวณท้ายเรือ

          BNS Umar Farooq F16 กับ BNS Abu Ubaidah F19 ติดตั้งโซนาร์หัวเรือ SJD-7 เหมือนกับเรือหลวงนเรศวรก่อนปรับปรุงใหม่ เพียงแต่ไม่มีตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำไม่ทราบว่าเพราะเหตุใด

          กองเรือฟริเกตชาติสุดท้ายคือราชนาวีไทย มีเรือฟริเกตประจำการรวมกันมากถึง 10 ลำ

เริ่มต้นจากเรือฟริเกตเจียงหูมือหนึ่งจากจีนจำนวน 4 ลำ แบ่งเป็นรุ่น Type 053HT จำนวน 2 ลำคือเรือหลวงเจ้าพระยา 455 กับเรือหลวงบางปะกง 456 เข้าประจำการปี 1991 ข้อมูลทุกอย่างเหมือนเรือ BNS Abu Bakar F15 ของบังกลาเทศ โดยมีข้อแตกต่างสามประการคือหนึ่งใช้เครื่องยนต์ดีเซลต่างกัน สองอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-801 หมดอายุการใช้งานแล้ว ทร.ไทยยังไม่มีแผนการจัดหา C-802A มาใช้งานทดแทน และสามระบบเป้าลวงเป็นรุ่นเก่ากว่าประสิทธิภาพต่ำกว่า อาจมีอุปกรณ์อื่นๆ แตกต่างกันบ้างแต่ไม่สำคัญสักเท่าไร

เรือฟริเกตเจียงหูอีก 2 ลำใช้ชื่อรุ่น Type 053HT(H) เรือหลวงกระบุรี 457 กับเรือหลวงสายบุรี 458 เข้าประจำการปี 1992 รูปร่างหน้าตาโดยรวมเหมือนเรือหลวงเจ้าพระยา แต่ถอดปืนใหญ่ 100 มม.กระบอกท้ายออกแทนที่ด้วยลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ต่อมาในปี 2009 มีการจัดหาอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-802A มาใช้งานแทน C-801 ปี 2010 เรือทั้งสองลำถูกปรับปรุงครึ่งอายุการใช้งาน โดยการเปลี่ยนระบบอำนวยการรบ เรดาร์ตรวจการณ์ เรดาร์ควบคุมการยิง ปืนใหญ่ 100 มม. รวมทั้งปืนกล 37 มม.เป็นรุ่นใหม่จากประเทศจีน

สองลำถัดไปใช้แบบเรือ F25T จากประเทศจีนเช่นกัน เรือหลวงนเรศวร 421 กับเรือหลวงตากสิน 422 เข้าประจำการปี 1994 กับ 1995 ตามลำดับ เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 2,895 ตัน ตัน ยาว 120.5 เมตร กว้าง 13.7 เมตร กินน้ำลึก 4.8 เมตร ขณะเข้าประจำการติดตั้งอาวุธผสมผสานระหว่างจีนกับตะวันตก ต่อมาในปี 2012 มีการปรับปรุงใหญ่โดยถอดอุปกรณ์จากจีนออกทั้งหมด เปลี่ยนมาใช้งานอาวุธตะวันตกกับระบบเรดาร์จาก SAAB

เรือติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 5 นิ้วจำนวน 1 กระบอก ปืนกล 30 มม.จำนวน 2 กระบอก อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon Block 1 G จำนวน 8 ท่อยิง อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ESSM จำนวน 8 ท่อยิง (ใส่ ESSM ได้มากสุด 32 นัด) และตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mk.46 จำนวน 6 ท่อยิง เป็นเรือฟริเกตจากจีนเพียง 2 ลำจาก 6 ลำที่สามารถทำการรบ 3 มิติได้อย่างแท้จริง

เรือฟริเกตไทยผ่านไปแล้ว 6 ลำ มาถึงลำที่ 7 ใหม่ที่สุดทันสมัยที่สุดติดอาวุธครบครันที่สุด เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช 471 ใช้แบบเรือ DW3000F จากเกาหลีใต้ เข้าประจำการปี 2019 ราคาเรืออยู่ที่ 14,997 ล้านบาท มีระวางขับน้ำเต็มที่ 3,700 ตัน ยาว 124.1 เมตร กว้าง 14.4 เมตร กินน้ำลึก 5 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ 76/62 มม. จำนวน 1 กระบอก ปืนกล 30 มม.จำนวน 2 กระบอก อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon Block 2 จำนวน 8 ท่อยิง อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ESSM จำนวน 8 ท่อยิง (ใส่ ESSM ได้มากสุด 32 นัด) ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mk.54 จำนวน 6 ท่อยิง และระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Phalanx CIWS อีก 1 แท่นยิง

สองลำถัดไปคือเรือฟริเกตตรวจการณ์ชั้น PF-103 จากอเมริกา เรือหลวงตาปี 431 กับเรือหลวงคีรีรัฐเข้าประจำการปี 1971 กับ 1974 ตามลำดับ ระวางขับน้ำเต็มที่ 1,172 ตัน ยาว 88.3 เมตร กว้าง 10.1 เมตร กินน้ำลึก 4.3 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ 76/62 มม.จำนวน 1 กระบอก ปืนกล 40 มม.จำนวน 1 กระบอก ปืนกล 20 มม.อีก 2 กระบอก โดยมีโซนาร์หัวเรือ DSQS-21C กับตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mk.44 จำนวน 6 ท่อยิงเป็นไพ่เด็ด

เรือลำสุดท้ายจากอังกฤษเข้าประจำการตั้งแต่ปี 1973 เรือหลวงมกุฎราชกุมาร 433 มีระวางขับน้ำเต็มที่ 2,072 ตัน ยาว 97.56 เมตร กว้าง 10.97 เมตร กินน้ำลึก 4.50 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 4.5 นิ้วจำนวน 2 กระบอก ปืนกล 40 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 1 กระบอก จรวดปราบเรือดำน้ำ Limbo แฝดสามจำนวน 1 แท่นยิง และตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Sting Ray จำนวน 6 ท่อยิงทำงานร่วมกับโซนาร์หัวเรือ DSQS-21C

เรือ 3 ลำสุดท้ายรับใช้ราชนาวีไทยยาวนานตั้งแต่ 48 ปีถึง 51 ปี อุปกรณ์ต่างๆ บนเรือย่อมชำรุดเสียหายตามกาลเวลา ยังคงสามารถทำภารกิจปราบเรือดำน้ำได้ บังเอิญผู้เขียนไม่ทราบว่าอุปกรณ์ตรวจจับเรือดำน้ำทำงานได้ดีมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งไม่ทราบว่าปัจจุบันใช้ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำรุ่นอะไร รวมทั้งไม่สามารถคาดเดาว่าเรือยังต้องประจำการยาวนานถึงเมื่อไร แต่ยังคงใส่ชื่อเรือทั้ง 3 ลำในกองเรือฟริเกตราชนาวีไทยต่อไป

สรุปคะแนนกองเรือฟริเกตสามเกลอแห่งอันดามัน กองทัพเรือไทยมีเรือ 10 ลำได้อันดับหนึ่ง กองทัพเรือบังกลาเทศมีเรือ 7 ลำได้อันดับสอง และกองทัพเรือพม่ามีเรือ 5 ลำได้อันดับสาม

-ภารกิจปราบเรือผิวน้ำ ทั้งสามชาติมีเรือฟริเกตติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบจำนวน 5 ลำเท่ากัน ประสิทธิภาพใกล้เคียงกันระยะยิงไม่แตกต่างกัน เพื่อความยุติธรรมผู้เขียนตัดสินใจให้ครองแชมป์ร่วมกัน

          -ภารกิจปราบเรือดำน้ำระยะไกล กองทัพเรือไทยมีเรือติดตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำจำนวน 6 ลำได้อันดับหนึ่ง กองทัพเรือพม่ามีเรือติดตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำจำนวน 2 ลำได้อันดับสอง กองทัพเรือบังกลาเทศมีเรือติดตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำเพียง 1 ลำได้อันดับสาม

           -ภารกิจปราบเรือดำน้ำระยะใกล้ กองทัพเรือไทยมีเรือติดจรวดปราบเรือดำน้ำจำนวน 5 ลำ กองทัพเรือพม่ามีเรือติดจรวดปราบเรือดำน้ำจำนวน 5 ลำ สองชาติมีจำนวนเรือเท่ากันครองแชมป์ร่วมกัน ส่วนกองทัพเรือบังกลาเทศมีเรือติดจรวดปราบเรือดำน้ำจำนวน 4 ลำได้อันดับสอง

          -ภารกิจป้องกันภัยทางอากาศ ทั้งสามชาติมีเรือฟริเกตติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยานจำนวน 5 ลำเท่ากัน แต่ ESSM กองทัพเรือไทยระยะยิง 50 กิโลเมตรได้อันดับหนึ่ง ส่วน FM-90 กองทัพเรือบังกลาเทศระยะยิง 15 กิโลเมตรได้อันดับหนึ่ง และ Igla กองทัพเรือพม่าระยะยิง 6 กิโลเมตรได้อันดับสาม

          ภาพรวมกองทัพเรือไทยยังคงนำหน้าพม่าหนึ่งก้าว เมื่อเรือฟริเกตขนาด 135 เมตรของพม่าเข้าประจำการ เขาจะแซงหน้าเราเรื่องปราบเรือผิวน้ำทันที แซงหน้าเราเรื่องป้องกันภัยทางอากาศในการนับจำนวน และใกล้เคียงเราเรื่องปราบเรือดำน้ำมากขึ้น พูดให้ชัดเจนก็คือตอนนี้พม่าหายใจรดต้นคอไทยแลนด์

          ส่วนบังกลาเทศเรายังคงนำหน้าประมาณหนึ่งก้าวครึ่ง เขาเคยมีข่าวกับเรือฟริเกตชั้นเจียงเว่ยลำที่สามจากจีน เพียงแต่ผู้เขียนคาดเดาว่าเปลี่ยนใจไม่จัดหาเพิ่มเติมแล้ว จำนวนเรือฟริเกต 7 ลำมีค่าใช้จ่ายและค่าซ่อมบำรุงพอสมควร บังกลาเทศน่าจะจัดหาเรือฟริเกตใหม่เอี่ยมทดแทนของเดิมในอีก 10-15 ปีข้างหน้า


เรือคอร์เวต

          ปี 1996 กองทัพเรือพม่าเริ่มต้นโครงการเสริมสร้างกำลัง โดยการสร้างเรือคอร์เวตขนาด 77 เมตรจำนวน 3 ลำ กับเรือตรวจการณ์ขนาด 45 เมตร เฟสแรกจำนวน 4 ลำ โชคร้ายเรือคอร์เวตลำที่สามสร้างไปแล้วประมาณครึ่งลำ เกิดความเสียหายอย่างหนักจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ (พายุนาร์กีส) รัฐบาลพม่าตัดสินใจยุติการสร้างเรือคอร์เวตลำดังกล่าว เพื่อขึ้นโครงการสร้างเรือฟริเกตขนาด 108 เมตรจำนวน 3 ลำเป็นก้าวถัดไป

          โครงการสร้างเรือคอร์เวตทั้งสองลำสำเร็จลุล่วงด้วยดี UMS Anawrahta 771 ลำแรกเข้าประจำการปี 2001 เรือมีระวางขับน้ำ 1,105 ตัน ยาว 77 เมตร ความกว้างกับกินน้ำลึกเท่าไรไม่มีข้อมูลเปิดเผย เป็นเรือรบพม่าลำแรกที่มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ (แต่ยังไม่มีโรงเก็บ) ปัจจุบันติดตั้งจรวดปราบเรือดำน้ำ Type 81 แฝดห้าจำนวน 2 แท่นยิง ปืนใหญ่ 76/62 มม.จำนวน 1 กระบอก ปืนกล 40 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 1 กระบอก ปืนกล 14.5 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 2 กระบอก และอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-802 จำนวน 4 ท่อยิง โดยใช้ระบบเรดาร์จากจีนกับรัสเซีย (ผลิตโดยจีน) ผสมผสานกัน และใช้ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์กับระบบเป้าลวงจากจีน

เรือคอร์เวตลำที่สอง UMS Bayinnaung 772 เข้าประจำการปี 2003 ทุกอย่างเหมือนเรือลำแรกเพียงไม่มีปืนกล 40 มม.ลำกล้องแฝดยุคสงครามโลกครั้งที่สอง สาเหตุเกิดจากตอนปรับปรุงเรือเพื่อใช้งานอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-802 เรือ UMS Bayinnaung ติดตั้งบนหลังคา Supersturcture ตำแหน่งเดียวกับปืนกล 40 มม. ส่วนเรือ UMS Anawrahta ติดตั้งบนดาดฟ้าเรือต่ำลงมาหนึ่งชั้น เมื่อย้ายแท่นยิง C-802 มาติดตั้งบนดาดฟ้าเรือเหมือนดั่งเรือคอร์เวตลำแรก จึงปล่อยจุดติดตั้งบนหลังคา Supersturcture ว่างโล่งจนถึงปัจจุบัน

หลังจากเรือคอร์เวตลำที่สองเข้าประจำการประมาณ 9 ปี โครงการสร้างเรือฟริเกตความยาว 108 เมตรเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว พม่าจึงกลับมาสร้างเรือคอร์เวตลำที่สามเพื่อให้มีเรือครบถ้วนตามแผนการ โดยนำแบบเรือเก่ามาปรับปรุงใหม่ลดการตรวจจับด้วยเรดาร์ ขนาดใหญ่ขึ้นเล็กน้อยเพิ่มโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ขนาด 7 ตัน เปลี่ยนมาใช้งานระบบเรดาร์จากจีนบวกอินเดียเหมือนเรือฟริเกต รวมทั้งติดตั้งอาวุธเหมือนเรือฟริเกตตามมาตรฐานใหม่

UMS Tabinshwehti 773 เข้าประจำการวันกองทัพเรือพม่าปี 2016  ติดตั้งจรวดปราบเรือดำน้ำ Type 81 แฝดห้าจำนวน 2 แท่นยิง ปืนใหญ่ 76/62 มม.จำนวน 1 กระบอก อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-802 จำนวน 4 ท่อยิง มีระบบป้องกันตนเองระยะประชิด NG-18 จากจีนจำนวน 2 กระบอก ใช้ปืนกล 30 มม.หกลำกล้องรวบอัตรายิงสูงสุด 4,000 นัดต่อนาที นับเป็นเรือคอร์เวตพม่าลำแรกที่มี CIWS ไว้ป้องกันตัว UMS Tabinshwehti ยังได้ติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Igla ขนาดหกท่อยิงหน้าสะพานเดินเรืออีก 1 แท่นยิง

กองเรือคอร์เวตชาติถัดไปคือบังกลาเทศ กองทัพเรือเริ่มสร้างกองเรือคอร์เวตขึ้นมาครั้งแรกในปี 2010 โดยการขอซื้อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Castle จากอังกฤษจำนวน 2 ลำ มาปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยการติดตั้งระบบตรวจจับทันสมัยกับอาวุธหนักเพิ่มเติมเข้ามาบนเรือ

BNS Bijoy F35 กับ BNS  Dhaleshwari F36 คือชื่อเรือคอร์เวตสองลำแรกของบังกลาเทศ เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 1,427 ตัน ยาว 81 เมตร กว้าง 11.5 เมตร กินน้ำลึก 3.6 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ H/PJ-26 ขนาด 76 มม.จากจีนจำนวน 1 กระบอก อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-704 จากจีนจำนวน 4 นัด โดยใช้เรดาร์ตรวจการณ์ Type-360 Seagull และเรดาร์ควบคุมการยิง Type-347G จากประเทศจีนเช่นกัน แต่ไม่มีการเปิดเผยว่าใช้ระบบอำนวยการรบจากจีนรุ่นไหนกันแน่

เรือคอร์เวตอังกฤษติดอาวุธและเรดาร์จีนทั้งลำ มีใช้งานแค่เพียงกองทัพเรือบังกลาเทศรายเดียว

เรือคอร์เวตมือสองจากอังกฤษถูกปรับปรุงและเริ่มใช้งานจริงๆ จังๆ ต่อมาในปี 2012 บังกลาเทศสั่งซื้อเรือคอร์เวต Type 056 จากประเทศจีนจำนวน 2 ลำ ประกอบไปด้วย BNS Shadhinota F111 กับ BNS Prottoy F112 เข้าประจำการวันที่ 19 มีนาคม 2016 พร้อมกับ เท่ากับว่าตอนนี้กองเรือคอร์เวตพวกเขามีเรือจำนวน 4 ลำ

เรือคอร์เวต Type 056 รุ่นส่งออกสะพานเดินเรือแตกต่างจากเรือจีนเล็กน้อย เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 1,330 ตัน ยาว 91.1 เมตร กว้าง 11.14 เมตร กินน้ำลึก 3.37 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ H/PJ-26 ขนาด 76 มม.จำนวน 1 กระบอก ปืนกลอัตโนมัติ H/PJ-17 จำนวน 2 กระบอก อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-802A จำนวน 4 นัด และระบบป้องกันตนเองระยะประชิด FL-3000N จำนวน 8 นัด

FL-3000N ออกแบบมาเพื่อจัดการอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบโดยเฉพาะ ถ้าเป้าหมายความเร็วต่ำกว่าเสียงจัดการได้ที่ระยะทาง 9 กิโลเมตร ถ้าเป้าหมายความเร็วเหนือเสียงจัดการได้ที่ระยะทาง 6 กิโลเมตร ส่งผลให้เรือมีทั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะใกล้กับ CIWS รุ่นใหม่ทันสมัยไปพร้อมกัน บังกลาเทศคือชาติแรกที่จีนยอมขาย CIWS รุ่นอาวุธปล่อยนำวิถีประจำเรือบรรทุกเครื่องบินให้ใช้งาน

สิ่งที่น่าสนใจของเรือคอร์เวต Type 056 ของบังกลาเทศก็คือ ไม่ได้ติดตั้งโซนาร์และตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ สาเหตุน่าจะเป็นเพราะต้องการลดราคาเรือให้อยู่ในระดับเหมาะสม รวมทั้งบังกลาเทศยังไม่ต้องการใช้งานอาวุธปราบเรือดำน้ำรุ่นใหม่ทันสมัย เนื่องจากเพื่อนบ้านในทะเลอันดามันยังไม่มีเรือดำน้ำใช้งาน

ต่อมาในช่วงกลางปี 2015 บังกลาเทศสั่งซื้อเรือคอร์เวต Type 056 เพิ่มเติมอีก 2 ลำ BNS Shongram F113 กับ BNS Prottasha F114 ทยอยเข้าประจำการระหว่างปี 2020 มีความแตกต่างจากเรือ 2 ลำแรกเล็กน้อยได้แก่ ติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ SR2410C อันเป็นเรดาร์ส่งออกรุ่นใหม่ ระยะตรวจจับไกลสุด 150 กิโลเมตร ติดตามเป้าหมายให้กับอาวุธปล่อยนำวิถีที่ระยะไกลสุด 60 กิโลเมตร จึงทำงานร่วมกับ FL-3000N ได้อย่างดีเยี่ยม

เท่ากับว่าในปัจจุบันกองเรือคอร์เวตบังกลาเทศมีกำลังรบทั้งหมดจำนวน 6 ลำ

กองเรือคอร์เวตชาติสุดท้ายคือประเทศไทย วันที่ 24 ธันวาคม 1982 คณะกรรมการพิจารณาจัดหาเรือคอร์เวต ได้ส่งหนังสือเชิญชวนพร้อม Staff-Requirement ให้กับบริษัทผู้สร้างเรือในต่างประเทศจำนวน 15 ราย ต่อมาวันที่ 26 มีนาคม 1983 บริษัททาโคม่าจากอเมริกาได้รับการคัดเลือก ให้สร้างเรือคอร์เวตอาวุธนำวิถีจำนวน 2 ลำในวงเงินราคา 143 ล้านเหรียญ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 3,296,150,000 บาท

เรือคอร์เวตอาวุธนำวิถีใช้แบบเรือ PFMM Mk.16 ของบริษัททาโคม่า โบ้ทบิลดิ้ง ระวางขับน้ำปรกติ 840 ตัน ระวางขับน้ำเต็มที่ 960 ตัน ยาว 76.8 เมตร กว้าง 9.6 เมตร กินน้ำลึก 4.5 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ 76/62 มม.จำนวน 1 กระบอก ปืนกล 40 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 1 กระบอก ปืนกล 20 มม.จำนวน 2 กระบอก อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon Block 1 C จำนวน 8 ท่อยิง อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ASPIDE 2000 จำนวน 8 ท่อยิง ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mk.46 จำนวน 6 ท่อยิง และระบบเป้าลวง Dagaie ปรับเปลี่ยนทิศทางได้อีก 1 แท่นยิง โดยใช้ระบบอำนวยการรบกับเรดาร์จาก Thales ทั้งลำ ส่วนโซนาร์หัวเรือใช้รุ่น DSQS-21C ตามมาตรฐานกองทัพเรือ

เรือหลวงรัตนโกสินทร์ 441 เข้าประจำการวันที่ 26 กันยายน 1986 เรือหลวงสุโขทัยเข้าประจำการวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 1987 ปิดโครงการเรือคอร์เวตอาวุธนำวิถีจากอเมริกาไว้เพียงเท่านี้ ต่อมาในปี 1995 มีข้อมูลจากนิตยสาร Conway’s All the Woeld’s Fighting Ships 1947-1995 ระบุว่า กองทัพเรือไทยมีแผนการสร้างเรือคอร์เวตในประเทศโดยใช้แบบเรือ PFMM Mk.16 จากอเมริกา แต่ถูกยกเลิกและเปลี่ยนมาเป็นโครงการสร้างเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำในประเทศ ส่งผลให้เรือคอร์เวตชั้นเรือหลวงรัตนโกสินทร์มีเพียง 2 ลำเท่าเดิม

สรุปคะแนนกองเรือคอร์เวตสามเกลอแห่งอันดามัน กองทัพเรือบังกลาเทศมีเรือ 6 ลำได้อันดับหนึ่ง กองทัพเรือพม่ามีเรือ 3 ลำได้อันดับสอง และกองทัพเรือไทยมีเรือ 2 ลำได้อันดับสาม

-ภารกิจปราบเรือผิวน้ำ กองทัพเรือบังกลาเทศมีเรือติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ 6 ลำได้อันดับหนึ่ง กองทัพเรือพม่ามีเรือติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ 3 ลำได้อันดับสอง กองทัพเรือไทยมีเรือติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ 2 ลำได้อันดับสาม

          -ภารกิจปราบเรือดำน้ำระยะไกล กองทัพเรือไทยมีเรือติดตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำจำนวน 2 ลำได้อันดับหนึ่ง กองทัพเรือพม่ากับกองทัพเรือบังกลาเทศไม่มีแม้แต่ลำเดียวครองอันดับสองร่วมกัน

           -ภารกิจปราบเรือดำน้ำระยะใกล้ กองทัพเรือพม่ามีเรือติดจรวดปราบเรือดำน้ำจำนวน 3 ลำได้อันดับหนึ่ง กองทัพเรือไทยกับกองทัพเรือบังกลาเทศไม่มีแม้แต่ลำเดียวครองอันดับสองร่วมกัน

-ภารกิจป้องกันภัยทางอากาศ กองทัพเรือบังกลาเทศมีเรือติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยานจำนวน 4 ลำได้อันดับหนึ่ง กองทัพเรือไทยมีเรือติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยานจำนวน 2 ลำได้อันดับสอง กองทัพเรือพม่ามีเรือติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยานจำนวน 1 ลำได้อันดับสาม

          ราชนาวีไทยจัดหาเรือคอร์เวตมาใช้งานเป็นชาติแรกก็จริง ทว่าปัจจุบันโดนบังกลาเทศแซงหน้าไปไกลลิบลับ รวมทั้งถูกพม่าแย่งอันดับสองไปครองเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่าน สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากเราเปลี่ยนมาใช้งานเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง บังเอิญติดขัดปัญหาน้อยใหญ่นับถึงปัจจุบันมีเรือประจำการเพียง 4 ลำ


เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ

          ปี 1990 รัฐบาลพม่าเสริมทัพครั้งใหญ่ให้กับกองทัพเรือ โดยการจัดหาเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้น Type 037 Hainan มือสองจากจีนมากถึง 10 ลำ  เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 400 ตัน ยาว 58.77 เมตร กว้าง 7.2 เมตร ติดตั้งจรวดปราบเรือดำน้ำ Type 81 แฝดห้าจำนวน 4 แท่นยิง ปืนใหญ่ 57 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 2 กระบอก ปืนกล 25 มม.ลำกล้องจำนวน 2 กระบอก รวมทั้งรางปล่อยระเบิดลึกท้ายเรือจำนวน 2 ราง

เรือ Submarine Chaser มือสองจากจีนถูกกำหนดให้ใช้หมายเลข 441 ถึง 450 ปัจจุบันพม่ายังมีเรือชั้น Type 037 Hainan ใช้งานจำนวน 8 ลำ มีเพียง 2 ลำคือเรือหมายเลข 443 กับ 446 ถูกปลดประจำการ แต่เพราะความชราภาพของเรือและภัยคุกคามใต้น้ำสาหัสกว่าเดิม กองทัพเรือตัดสินใจขึ้นโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ติดอาวุธปราบเรือดำน้ำทันสมัย กำหนดให้สร้างเองในประเทศโดยใช้แบบเรือ PGG 063 มาปรับปรุงให้เหมาะสม

เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้น Yan Nyein Aung ทันสมัยพอสมควร เรือมีระวางขับน้ำ 600 ตัน ยาว 63 เมตร กว้าง 7.5 เมตร กินน้ำลึก 1.75 เมตร ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 3 ตัวทำงานร่วมกับระบบ Water Jet เพื่อเพิ่มความเร็ว เหมาะสมกับกองทัพเรือพม่าที่ใช้แม่น้ำสายสำคัญเป็นเส้นทางสัญจร ตอนนี้มีเรือเข้าประจำการในวันกองทัพเรือพม่า 2020 แล้วจำนวน 2 ลำ ประกอบไปด้วย Yan Nyein Aung 633 กับ Yan Ye Aung 636

ระบบอาวุธบนเรือมีทั้งเก่าและใหม่คละเคล้ากันไป ประกอบไปด้วยจรวดปราบเรือดำน้ำ Type 81 แฝดห้าจำนวน 2 แท่นยิง ปืนใหญ่ 57 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 1 กระบอก ปืนกล 25 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 2 กระบอก โดยมีเขี้ยวเล็บแหลมคมคือโซนาร์หัวเรือ HUMSA HMS-X กับตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Shyena จากอินเดีย กลายเป็นเรือลำที่ 3 และ 4 ของกองทัพเรือที่มีอาวุธปราบเรือดำน้ำรุ่นใหม่ทันสมัย

เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำจำนวน 10 ลำส่งพม่าขึ้นสู่อันดับหนึ่งอย่างแน่นอน

มาที่กองเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำบังกลาเทศกันต่อ ก่อนหน้านี้พวกเขามีเรือชั้น Type 037 Hainan จำนวน 2 ลำเช่นกัน โชคร้ายถูกจำหน่ายเพราะเสียหายหนักจากการใช้งาน 1 ลำ ที่เหลืออีก 1 ลำถูกส่งมอบให้กับหน่วยยามฝั่ง เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำมือสองจากจีนเหลือแค่เพียงเรือชั้น Type 062-I Haizhui ลำเดียว

BNS Barkat P711 ระวางขับน้ำเพียง 170 ตัน ยาว 41 เมตร กว้าง 5.3 เมตร กินน้ำลึก 1.8 เมตร ติดตั้ง ปืนกล 37 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 2 กระบอก ปืนกล 14.5 มม.ลำกล้องจำนวน 2 กระบอก และรางปล่อยระเบิดลึกท้ายเรืออีกจำนวน 2 ราง เปรียบเทียบง่ายๆ ก็คือนำเรือ ต.91 มาติดรางปล่อยระเบิดลึกนั่นเอง

ระหว่างปี 1975 ยูโกสลาเวียโอนเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้น Kraljevica จำนวน 2 ลำให้กับบังกลาเทศ BNS Karnafuli P314 และ BNS Tista P315 มีระวางขับน้ำประมาณ 200 ตัน ยาว 41 เมตร กว้าง 6.3 เมตร ติดตั้งปืนกล 40 มม.จำนวน 2 กระบอก ปืนกล 20 มม.จำนวน 2 กระบอก จรวดปราบเรือดำน้ำขนาด 128 มม.จำนวน 2 แท่นยิง และรางปล่อยระเบิดลึกท้ายเรือจำนวน 2 ราง มีการปรับปรุงเรือครั้งใหญ่ในปี 1995 และ 1998 ตามลำดับ สถานะปัจจุบันยังคงประจำการทั้งสองลำ บังเอิญอาวุธปราบเรือดำน้ำบนเรือถูกถอดออกแล้ว กองทัพเรือบังกลาเทศนำมาใช้งานในภารกิจตรวจการณ์ทั่วไป

หลังจัดหาเรือมือสองมาใช้งานเป็นที่เรียบร้อย ปี 2009 กองทัพเรือบังกลาเทศสั่งซื้อเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่จากจีนจำนวน 2 ลำ โดยมีออปชันสร้างเองในประเทศพร้อมการถ่ายทอดเทคโนโลยีอีก 2 ลำ เรือลำนี้ติดตั้งทั้งจรวดปราบเรือดำน้ำและอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ กลายเป็นเรืออเนกประสงค์ทำภารกิจได้อย่างหลากหลาย

BNS Durjoy P811 และ BNS Nirmul P813 เข้าประจำการพร้อมกันวันที่ 29 สิงหาคม 2013 เรือมีระวางขับน้ำ 648 ตัน มีความยาว 64.2 เมตร กว้าง 9 เมตร ติดตั้งจรวดปราบเรือดำน้ำ Type 81 แฝดห้าจำนวน 2 แท่นยิง ปืนใหญ่ 76 มม.จำนวน 1 กระบอก ปืนกล 30 มม.แท่นคู่จำนวน 2 กระบอก อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-704 จำนวน 4 นัด มาพร้อมเรดาร์ตรวจการณ์ Type 364 ระยะทำการ 75 กิโลเมตร และเรดาร์ควบคุมการยิง Type 347G เหมือนเรือคอร์เวตทั้ง 6 ลำ โดยมีโซนาร์หัวเรือ ESS-3 ทำงานคู่กับจรวดปราบเรือดำน้ำ Type 81

รัฐบาลบังกลาเทศทำตามคำสัญญาที่ตัวเองขอเวลาไม่นาน วันที่ 30 มิถุนายน 2014 ตัวแทนกองทัพเรือเซ็นสัญญาสั่งซื้อเรือชั้น Durjoy จำนวน 2 ลำ กับอู่ต่อเรือในประเทศ Khulna เรือ BNS Durgam P814 กับ BNS Nishan P815 เข้าประจำการพร้อมกับวันที่ 8 พฤศจิกายน 2017 นี่คือเรือตรวจการณ์ติดโซนาร์ 2 ลำแรกสร้างเองในประเทศ เท่ากับว่าบังกลาเทศมีเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่ชั้น Durjoy จำนวน 4 ลำตามแผนการ

เคยมีข่าวผ่านตาในอินเทอร์เน็ตว่า บังกลาเทศจัดหาตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ ET52 มาใช้งานบนเรือชั้น Durjoy  เพียงแต่ผู้เขียนไม่เคยเห็นภาพถ่ายแท่นยิงตอร์ปิโดเบาสักครั้ง รวมทั้งพื้นที่บนเรือขนาด 64.2 เมตรไม่เหลือจุดติดตั้งอาวุธแล้ว อยากใช้งานจริงๆ ต้องถอดแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-704 ออกสถานเดียว

มาปิดท้ายกันที่กองเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำราชนาวีไทย วันที่ 27 พฤศจิกายน 1986 กองทัพเรือออกหนังสือเชิญชวนอู่ต่อเรือต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ ให้เสนอราคาและรายละเอียดสำหรับการสร้างเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ บริษัทอิตัลไทยมารีนเป็นผู้ชนะการคัดเลือกโครงการสำคัญ โดยใช้แบบเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น Province จากบริษัทวอสเปอร์ธอร์นิครอพท์ประเทศอังกฤษ มาดัดแปลงให้เหมาะสมภารกิจและยืดเฉพาะความยาวออกไป 9 เปอร์เซ็นต์ จาก มีการลงนามสัญญาสั่งซื้อเรือจำนวน 3 ลำในวันที่ 24 กันยายน 1987

เรือหลวงคำรณสินธุ 531 เข้าประจำการวันที่ 29 กรกฎาคม 1992 เรือหลวงทยานชล 532  เข้าประจำการวันที่ 5 กันยายน 1992 ทั้งสองลำสร้างโดยบริษัทอิตัลไทยมารีน ส่วนเรือหลวงล่องลม 533 สร้างโดยกรมอู่ทหารเรือตามสัญญา เข้าประจำการวันที่ 2 ตุลาคม 1992 เป็นลำสุดท้าย โครงการนี้นับเป็นก้าวกระโดดสำคัญของอู่ต่อเรือในประเทศ เพราะเรือถูกติดตั้งอาวุธและอุปกรณ์ทันสมัยเหมือนดั่งเรือคอร์เวตราคาแพง

เรือชั้นเรือหลวงคำรณสินธุระมีวางขับน้ำ 475 ตัน ยาว 62 เมตร กว้าง 8.22 เมตร กินน้ำลึก 4.5 เมตร ความเร็วสูงสุด 25 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 2,850 ไมล์ ติดตั้งปืนใหญ่ 76/62 มม.จำนวน 1 กระบอก ปืนกล 30 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 1 กระบอก ปืนกลขนาด 12.7 มม.จำนวน 4 กระบอก แท่นยิงตอร์ปิโดเบาแฝดสามจำนวน 2 แท่น แท่นยิงระเบิดลึกจำนวน 2 แท่น รางปล่อยระเบิดลึกจำนวน 1 ราง และรางปล่อยทุ่นระเบิดอีก 2 ราง

เรือใช้ระบบอำนวยการรบ NAUTIS-P จากอังกฤษ เรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ Plessey AWS-4 ระยะตรวจจับไกลสุด 110 กิโลเมตร และเรดาร์ควบคุมการยิง Sea Archer 1A Mod 2s จากอังกฤษเช่นกัน โซนาร์หัวเรือ DSQS-21C จากเยอรมันทำงานร่วมกับตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Sting Ray จากอังกฤษ ช่วงเวลาที่เรือเข้าประจำการถือว่าทันสมัยที่สุดในย่านอาเซียน รวมทั้งมีการนำแบบเรือมาปรับปรุงใหม่อีกครั้งเป็นเรือตรวจการณ์ปืน สร้างให้กับกองทัพเรือจำนวน 3 ลำและกองบังคับการตำรวจน้ำอีก 1 ลำ

หลังจากผ่านการรับใช้ชาติมาอย่างยาวนาน ปี 2012 เรือชั้นเรือหลวงคำรณสินธุทุกลำได้รับการปรับปรุงครึ่งอายุ โดยการติดตั้งระบบอำนวยการรบ TATTICOS ทดแทน NAUTIS-P กับติดตั้งออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง Mirador ทดแทน Sea Archer 1A Mod 2s แล้วเปลี่ยนมาใช้งานตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mk.46 ทดแทน Sting Ray และเนื่องมาจาก ปืนกล 30 มม.ลำกล้องแฝดไม่มีอะไหล่ซ่อมบำรุง ปี 2022 กองทัพเรือจึงสั่งซื้อปืนกลอัตโนมัติ DS-30M Mk.2 กับออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง EOFCS จากอังกฤษมาใช้งานทดแทน คาดว่าการเปลี่ยนปืนรองจะเสร็จครบถ้วนทุกลำภายในปี 2023-2024

สรุปคะแนนกองเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ กองทัพเรือพม่ามีเรือ 10 ลำได้อันดับหนึ่ง กองทัพเรือบังกลาเทศมีเรือ 7 ลำได้อันดับสอง และกองทัพเรือไทยมีเรือ 3 ลำได้อันดับสาม

          -ภารกิจปราบเรือดำน้ำระยะไกล กองทัพเรือไทยมีเรือติดตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำจำนวน 3 ลำได้อันดับหนึ่ง กองทัพเรือพม่ามีเรือติดตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำจำนวน 2 ลำได้อันดับสอง กองทัพเรือบังกลาเทศไม่มีแม้แต่ลำเดียวได้อันดับสาม

           -ภารกิจปราบเรือดำน้ำระยะใกล้ กองทัพเรือพม่ามีเรือติดจรวดปราบเรือดำน้ำจำนวน 10 ลำได้อันดับหนึ่ง กองทัพเรือบังกลาเทศมีเรือติดจรวดปราบเรือดำน้ำจำนวน 4 ลำได้อันดับสอง ส่วนกองทัพเรือไทยไม่มีแม้แต่ลำเดียวได้อันดับสาม

          อนาคตของ Submarine Chaser ผู้เขียนขอใช้คำว่าไม่ถึงกับดีไม่ถึงกับเลว กองทัพเรือพม่ายังมีความต้องการเรือชั้น Yan Nyein Aung นำมาใช้งานแทนเรือเก่าที่มีอายุอานามหลายสิบปี กองทัพเรือบังกลาเทศคงสิ้นสุดโครงการเพียงเท่านี้ก่อน ส่วนกองทัพเรือไทยไว้รออีกสัก 10-15 ปีค่อยว่ากันใหม่


เรือตรวจการณ์อาวุธนำวิถีกับเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถี

          ปี 1994 รัฐบาลพม่าสั่งซื้อเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น Type-037-1G Houxin จากจีนจำนวน 6 ลำ นำมาประจำการทดแทนเรือเร็วตอร์ปิโดรุ่นเก่าล้าสมัย กองทัพเรือได้รับเรือใหม่เข้าประจำการระหว่างปี 1995-1997 ด้วยระบบอาวุธทรงประสิทธิภาพระยะยิงมากกว่า 40 กิโลเมตร ช่วยพลิกโฉมกองเรือให้เข้มแข็งกว่าเดิมทันควัน

          เรือชั้น Type-037-1G มีระวางขับน้ำเต็มที่ 478 ตัน ยาว 62.8 เมตร กว้าง 7.2 เมตร กินน้ำลึก 2.4 เมตร ติดตั้งปืนกล 37 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 2 กระบอก ปืนกล 14.5 มม.ลำกล้องจำนวน 2 กระบอก อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-801 จำนวน 4 นัด เมื่อ C-801 หมดอายุการใช้งานเรือทั้ง 6 ลำเปลี่ยนมาติดตั้ง C-802 แม้ไม่ค่อยได้ออกงานเหมือนเรือสร้างเองในประเทศ แต่เรือชั้น Type-037-1G ยังคงเป็นกำลังรบหลักจนถึงปัจจุบัน

          พม่ามีโครงการสร้างเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีเช่นกัน โดยใช้แบบเรือ A49M ที่ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าออกแบบเองหรือจีนออกแบบ มาสร้างเรือต้นแบบลำแรกและเข้าประจำการในวันกองทัพเรือพม่าปี 2015 เรือหมายเลข 491 มีระวางขับน้ำประมาณ 500 ตัน ยาวประมาณ 49 เมตร ติดตั้งระบบป้องกันตนเองระยะประชิด NG-18 ขนาด 30 มม.จำนวน 1 กระบอก ปืนกล 14.5 มม.แฝดสี่จำนวน 2 กระบอก อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-802 จำนวน 4 นัด โดยใช้ระบบเรดาร์จากประเทศจีนทั้งหมด รวมทั้งเรดาร์ตรวจการณ์ Type 362 ระยะตรวจจับ 100 กิโลเมตรที่ปรกติมีใช้งานบนเรือฟริเกตกับเรือคอร์เวต เพียงแต่ไม่มีโดมทรงกลมครอบเรดาร์เพราะเรือมีขนาดเล็ก

          วันกองทัพเรือพม่าปี 2020 เรือหมายเลข 492 เข้าประจำการเป็นลำที่สอง ทิ้งระยะห่างจากลำแรกมากถึง 5 ปี มีความเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเรื่องเจาะช่องระบายน้ำในเสากันตกแบบทึบ กับเปลี่ยนรูปทรงอุปกรณ์สื่อสารบนเสากระโดงหลัก และจนถึงตอนนี้ยังไม่มีความเคลื่อนไหวเรื่องการสร้างเรือลำที่สาม

          ปี 1996 กองทัพเรือพม่าเริ่มต้นโครงการเสริมสร้างกำลัง โดยการสร้างเรือเรือตรวจการณ์ขนาด 45 เมตร เฟสแรกจำนวน 4 ลำ จากนั้นจึงสร้างมาเรื่อยๆ จนครบ 20 ลำตามแผนในปี 2013 เรือชั้น 5-Series ประกอบไปด้วยเรือตรวจการณ์ปืนจำนวน 15 ลำ กับเรือตรวจการณ์อาวุธนำวิถีจำนวน 5 ลำ ประกอบไปด้วยเรือหมายเลข 556,557 และ 558 อันเป็นเรือเฟสแรก กับ 561 และ 562 อันเป็นเรือเฟสสอง

เรือตรวจการณ์อาวุธนำวิถีชั้น 5-Series มีระวางขับน้ำประมาณ 350 ตัน ยาว 47 เมตร เรือเฟสแรกติดตั้งปืนกล 30 มม.ลำกล้องแฝด AK230 จำนวน 2 กระบอก ปืนกล 14.5 มม.แฝดสี่จำนวน 2 กระบอก อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-802 จำนวน 2 นัด ใช้เรดาร์ตรวจการณ์ Type 362 กับเรดาร์ควบคุมการยิง Type 347G จากจีน ขณะที่เรือเฟสสองเปลี่ยนมาใช้เรดาร์ควบคุมการยิง MR-104 Rys จากรัสเซีย เพิ่มแท่นยิงเป้าลวง Chaff and Flare บนหลังคาสะพานเดินเรือ ถอดปืนกล 30 มม. AK230 กระบอกหลังออกไป แทนที่ด้วยสิ่งที่ผู้เขียนคาดเดาว่าเป็นแท่นยิง Gibka จากรัสเซีย สำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Igla จำนวน 4 นัด

นี่คือข้อมูลในการวาดเรือหมายเลข 556, 561 และ 562 ระหว่างปี 2014 อันที่จริงผู้เขียนตั้งใจวาดเรือหมายเลข 557 ด้วยอีกหนึ่งลำ บังเอิญทุกอย่างเหมือนเรือหมายเลข 556 จึงตัดสินใจไม่นำมาเผยแพร่

ต่อมาในปี 2020 เรือหมายเลข 561 ถูกปรับปรุงใหม่ให้ทันสมัยขึ้น โดยการติดตั้งเรดาร์ควบคุมการยิง Type 347G ทดแทน MR-104 Rys ติดตั้งระบบป้องกันตนเองระยะประชิด NG-18 ทดแทนปืนกล AK230 แต่แท่นยิงเป้าลวงบนหลังคาสะพานเดินเรือหายไป และสิ่งที่ผู้เขียนคาดเดาว่าเป็นแท่นยิง Gibka สำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Igla จากภาพประกอบคล้ายเป็นป้อมปืนขนาดเล็กที่ไม่ได้ติดตั้งปืนเสียมากกว่า

จากหลักฐานใหม่สามารถสรุปความได้ว่า แท่นยิงแฝดสี่ Gibka ไม่มีใช้งานบนเรือตรวจการณ์พม่า และจากหลักฐานใหม่พม่ามีเรือติด CIWS เพิ่มขึ้นอีก 1 ลำ ทุกครั้งที่มีงานใหญ่พวกเขาจะนำเรือหมายเลข 561 มาอวดโฉม โดยไม่มีเรือหมายเลข 556,557, 558 หรือ 562 อยู่ร่วมในคลิปวิดีโอ ผู้เขียนไม่กล้ายืนยันว่าเรืออีก 4 ลำติดตั้ง CIWS จากจีนหรือไม่ จึงขอยึดถือตามหลักฐานเก่าว่ายังคงใช้งานปืนกล AK230 เหมือนเดิม

Type-037-1G จำนวน 6 ลำ+A49M จำนวน 2 ลำ+5-Series จำนวน 5 ลำ=13 ลำ พม่ามีเรือเล็กติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบมากถึง 13 ลำถือว่าเยอะมาก

ตัดกลับมาที่เพื่อนรักเพื่อนแค้นคือกองทัพเรือบังกลาเทศ พวกเขามีเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่ชั้น Durjoy จำนวน 4 ลำ ติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-704 จำนวน 4 นัดไว้ที่ท้ายเรือ ระยะยิงไกลสุด 35 กิโลเมตรน้อยกว่า C-802 พอสมควร แต่มีขนาดกะทัดกว่ากว่าติดตั้งบนเรือได้จำนวนมากกว่า ราคาประหยัดกว่าสามารถจัดหามาใช้งานได้มากกว่า ถูกใช้งานเป็นอาวุธมาตรฐานสำหรับเรือขนาดเล็กกับเรือคอร์เวตมือสอง

บังกลาเทศมีเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีเช่นกัน ปี 1988 มีการจัดหาเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น Type 021 จำนวน 4 ลำมาใช้งาน เรือใหม่เอี่ยมมีระวางขับน้ำ 171 ตัน ยาว 38.6 เมตร กว้าง 7.6 เมตร ติดตั้งปืนกล AK230 ลำกล้องแฝดจำนวน 2 กระบอก โดยมีอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ SY-1 Silkworm จำนวน 4 นัด เป็นหมัดเด็ดในการลักลอบโจมตีกองเรือขนาดใหญ่ฝ่ายตรงข้าม ใช้ความเร็ว 35 นอตกับความชำนาญภูมิประเทศเป็นตัวช่วย

มีการปรับปรุงใหญ่เรือทุกลำในปี 2009  โดยการติดตั้งระบบเรดาร์ใหม่ทั้งหมด และเปลี่ยนมาใช้งานจรวดต่อสู้เรือรบ C-704 ทดแทน SY-1 Silkworm จึงมั่นใจได้ว่าจะได้เห็นเรือชั้น Type 021 อีกนานพอสมควร

Durjoy จำนวน 4 ลำ+ Type 021 จำนวน 4 ลำ=8 ลำ บังกลาเทศมีเรือเล็กติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบน้อยกว่าพม่าเพียง 5 ลำถือว่าไม่ห่างกันสักเท่าไร

ปิดท้ายกันด้วยราชนาวีไทยผู้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เราปลดประจำการเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีจำนวน 6 ลำ ทว่าได้เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งอาวุธนำวิถีมาทดแทนเพียง 1 ลำเท่านั้น

เรือหลวงประจวบคีรีขันธ์เข้าประจำการปี 2019  ใช้แบบเรือ River Batch 2 จากอังกฤษเหมือนเรือหลวงกระบี่ แต่ติดตั้งเรดาร์ควบคุมการยิงแตกต่างกัน ความยาวลานจอดเลิคอปเตอร์ไม่เท่ากัน เรือมีระวางขับน้ำ 1,960 ตัน ยาว 90.5 เมตร กว้าง 13.5 เมตร กินน้ำลึก 3.7 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ 76/62 มม.จำนวน 1 กระบอก ปืนกล 30 มม.จำนวน 2 กระบอก และอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon Block 2 จำนวน 8 ท่อยิง เป็นเรือตรวจการณ์ชั้น River Batch 2 ที่ติดอาวุธหนักมากที่สุด โดยการตัดออปชันเสริมอย่างเครนอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ทิ้ง

 

         

สรุปคะแนนกองเรือตรวจการณ์อาวุธนำวิถี กองทัพเรือพม่ามีเรือติด C-802 จำนวน 13 ลำได้อันดับหนึ่ง กองทัพเรือบังกลาเทศมีเรือติด C-704 จำนวน 8 ลำได้อันดับสอง ส่วนกองทัพเรือไทยมีเรือติด Harpoon Block 2 จำนวน 1 ลำครองอันดับสามโดยไม่มีคู่แข่ง

          เรือชนิดนี้ทร.ไทยยังห่างไกลจากสองเกลอพอสมควร อยากให้ใกล้เคียงกว่าเดิมต้องไล่ติดลูกยาวบนเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง เพียงแต่การแบกลูกยาวไปไล่จับเรือประมงต่างชาติอาทิตย์ละสี่ห้าวัน อาจส่งผลกระทบต่อเรือและลูกยาวที่แบกไปด้วยโดยไม่ได้ตั้งใจ รวมทั้งเรือต้องหนักกว่าเดิมและพื้นที่ว่างบนเรือหายไปทันที


เรือตรวจการณ์ปืนกับเรือเร็วโจมตีอาวุธปืน

          หัวข้อนี้เกี่ยวข้องกับเรือตรวจการณ์และเรือเร็วโจมตีทุกลำ ที่มีการติดตั้งอาวุธปืนขนาด 57 มิลลิเมตรขึ้นไป บรรจุกระสุนเข้ารังเพลิงอัตโนมัติโดยใช้แมกาซีนแบบไหนก็ได้ หัวข้อนี้สามารถตัดกองทัพเรือพม่าออกไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากพวกเขาไม่มีเรือตรงตามคุณลักษณะแม้แต่ลำเดียว

          เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งกับเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำของพม่า ใช้ปืนใหญ่ 57 มม.Type 66 ลำกล้องแฝดจากจีนบรรจุกระสุนด้วยมือ ส่วนเรือตรวจการณ์ความยาว 47 เมตรกับเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีทุกลำ ใช้ปืนกลอัตโนมัติขนาด 30 มม.ถึง 37 มม.ในการป้องกันตนเอง ไม่ตรงตามคุณลักษณะจึงถูกผู้เขียนตัดทิ้งทั้งหมด

          กองทัพเรือบังกลาเทศมีเรือตรงตามคุณลักษณะจำนวน 5 ลำ ประกอบไปด้วยเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่ชั้น Durjoy จำนวน 4 ลำ ติดตั้งปืนใหญ่ AK-176 จีนซื้อลิขสิทธิ์รัสเซียมาผลิตเองโดยใช้ชื่อว่า H/PJ-26 รูปร่างหน้าตาป้อมปืนเปลี่ยนไปนิดหน่อย อัตรายิงสูงสุด 120 นัดต่อนาทีโดยมีกระสุนพร้อมยิงจำนวน 152 นัด

          เรือลำที่ห้าของบังกลาเทศมีประวัติความเป็นมาน่าประหลาดใจ ระหว่างปี 1995 หน่วยยามฝั่งบังกลาเทศถูกจัดตั้งขึ้นมา รัฐบาลสั่งซื้อเรือตรวจการณ์ Sea Dragon จำนวน 1 ลำจากอู่ต่อเรือฮุนไดมาให้ใช้งาน แต่แล้วเมื่อมีการส่งมอบสินค้าระหว่างปี 1998  เรือกลับถูกย้ายมาประจำการกองทัพเรือโดยใช้ชื่อ BNS Madhumati P911 ส่วนหน่วยยามฝั่งได้รับโอนเรือลำอื่นของกองทัพเรือมาใช้งานทดแทน

BNS Madhumati ระวางขับน้ำเต็มที่ 635 ตัน  ยาว 60.8 เมตร กว้าง 8 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ Bofors 57 มม.จำนวน 1 กระบอก ปืนกล Bofors 40 มม.จำนวน 1 กระบอก และปืนกลขนาด 20 มม.อีก 2 กระบอก หน่วยยามฝั่งมีแผนการจัดหารวมทั้งสิ้น 6 ลำ บังเอิญติดขัดเรื่องงบประมาณยังไม่ได้สั่งเพิ่ม และเรื่องงบประมาณนี่เองส่งผลให้เรือลำนี้กลายเป็นเสือข้ามฟาก ยังคงใช้งานได้ตามปรกติแม้เป็นเรือเพียงลำเดียวไม่เหมือนใคร

ปิดท้ายบทความที่ราชนาวีไทยอันเป็นที่รักยิ่ง เรามีเรือเร็วโจมตีอาวุธปืนชั้นเรื่องหลวงชลบุรีจำนวน 3 ลำ ซื้อมาจากอิตาลีโดยใช้แบบเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถี MV400 มาปรับปรุงเล็กน้อย ทยอยเข้าประจำการระหว่างปี 1983 จนครบทุกลำ เรือมีระวางขับน้ำ 450 ตัน ยาว 60.4 เมตร กว้าง 8.8 เมตร กินน้ำลึก 2.0 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ OTO 76/62 Compact จำนวน 2 กระบอก และปืนกล Breda 40L70 ลำกล้องแฝดจำนวน 1 กระบอก มาพร้อมเรดาร์ตรวจการณ์จำนวน 1 ตัว เรดาร์ควบคุมการยิงจำนวน 2 ตัว ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์มาครบทั้ง ECM และ ESM ทำงานร่วมกับแท่นยิงเป้าลวงแฝดหกจำนวน 4 แท่นยิง

เรือลำที่สามถึงลำที่หกคือเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้นเรือหลวงคำรณสินธุ เรือลำที่เจ็ดคือเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์กับปืนใหญ่ OTO 76/62 Super Rapid ป้อมปืน Stealth อัตรายิงสูงสุด 120 นัดต่อนาทีดีที่สุดในกองทัพเรือ เรือลำที่เจ็ดคือเรือหลวงกระบี่แฝดคนละฝาของเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ ติดตั้งปืนใหญ่ OTO 76/62 Compact มือสองผ่านการซ่อมใหญ่เรียบร้อยแล้ว เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณไม่ให้บานปลายเกินเหตุ

เรือลำที่แปดและเก้าคือเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้นเรือหลวงปัตตานี ระวางขับน้ำ 1,440 ตัน ยาว 95.5 เมตร กว้าง 11.6 เมตร กินน้ำลึก 3.0 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ OTO 76/62 Super Rapid ป้อมปืนธรรมดาจำนวน 1 กระบอก กับปืนกล 20 มม.จากแอฟริกาใต้อีก 2 กระบอก เรือชั้นนี้มีลานจอดและโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ขนาด 7 ตัน มีจุดติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบจำนวน 8 ท่อยิง และเป็นหนึ่งในเก้าเรือจีนที่เข้าประจำการในปัจจุบัน

เรือลำที่สิบถึงเรือลำที่สิบสองเป็นเรือตรวจการณ์ชั้น PSMM Mk-5  บริษัทอิตัลไทยมารีนสร้างให้กับกองทัพเรือจำนวน 6 ลำ ระวางขับน้ำ 300 ตัน ยาว 50.14 เมตร กว้าง 7.28 เมตร กินน้ำลึก 2.8 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ 76/50 รุ่นเก่าจำนวน 1 กระบอก ปืนกล 40/60 มม.จำนวน 1 กระบอก และปืนกล 20 มม.GAM-BO1 อีก 2 กระบอก ต่อมาในปี 1989 เรือจำนวน 3 ลำได้รับการปรับปรุงใหม่ โดยการติดตั้งปืนใหญ่ OTO 76/62 Compact ทดแทนปืนใหญ่ 76/50 และปืนกล 40/70 มม.รุ่นใหม่ทดแทนปืนกล 40/60 มม.รุ่นเก่า

สรุปคะแนนกองเรือตรวจการณ์ปืน ลูกประดู่ไทยนำโด่งเป็นจ่าฝูงด้วยจำนวน 12 ลำ บังกลาเทศตามมาห่างๆ ด้วยจำนวน 5 ลำ ส่วนพม่าไม่มีแม้แต่ลำเดียวคว้าอันดับสามไปครอบครอง

และจากคะแนนผู้เขียนสามารถสรุปความได้ว่า หากเกิดเหตุกระทบกระทั่งอันอาจส่งผลให้ใช้กำลังเข้าห้ำหั่น พม่าต้องส่งเรือตรวจการณ์ติด C-802 จำนวนไม่รู้กี่ลำของตัวเองมาคุมเชิง บังกลาเทศมีตรวจการณ์ติด C-704 ใช้งานในจำนวนมากเพียงพอ ส่วนเรือตรวจการณ์ปืนทั้ง 12 ลำของทร.ไทยไม่เหมาะสมกับภัยคุกคาม จำเป็นต้องส่งเรือใหญ่ติด Harpoon มาอวดโฉม เรือใหญ่ลำเล็กที่สุดของเราคือเรือคอร์เวตชั้นเรือหลวงรัตนโกสินทร์ งานนี้เดอะแบกต้องแบกจนหลังโก่งอีกแล้วสินะ เมื่อไรจะมีเรือเล็กรุ่นใหม่มาช่วยแบ่งเบาภาระเสียที


จากนี้ไปคือการสรุปคะแนนรวมตามระบบอาวุธ ผู้เขียนขอนับจำนวนเรือไม่ใช่จำนวนอาวุธที่ได้ติดตั้ง

เรือติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน

-อันดับหนึ่งคือกองทัพเรือบังกลาเทศ มีเรือติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยานจำนวน 7 ลำ แบ่งเป็นติด FM-90 จำนวน 3 ลำ และติด FL-3000N อีกจำนวน 4 ลำ

-อันดับสองคือกองทัพเรือไทย มีเรือติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยานจำนวน 6 ลำ แบ่งเป็นติด ESSM จำนวน 3 ลำ ติด Aspide 2000 จำนวน 2 ลำ และติด Mistral อีกจำนวน 1 ลำ

-อันดับสามคือกองทัพเรือพม่า มีเรือติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Igla จำนวน 4 ลำ

เรือติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ

-อันดับหนึ่งคือกองทัพเรือพม่า มีเรือติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบจำนวน 21 ลำ แบ่งเป็นติด C-802 จำนวน 18 ลำ และติด C-802A อีกจำนวน 3 ลำ

-อันดับสองคือกองทัพเรือบังกลาเทศ มีเรือติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบจำนวน 19 ลำ แบ่งเป็นติด C-802A จำนวน 8 ลำ ติด C-704 จำนวน 10 ลำ และติด Otomat อีกจำนวน 1 ลำ

-อันดับสามคือกองทัพเรือไทย มีเรือติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบจำนวน 8 ลำ แบ่งเป็นติด Harpoon จำนวน 6 ลำ และติด C-802A อีกจำนวน 2 ลำ

เรือติดตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ

          -อันดับหนึ่งคือกองทัพเรือไทย มีเรือติดตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำจำนวน 11 ลำ

          -อันดับสองคือกองทัพเรือพม่า มีเรือติดตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำจำนวน 4 ลำ

-อันดับสามคือกองทัพเรือบังกลาเทศ มีเรือติดตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำจำนวน 1 ลำ

เรือติดจรวดปราบเรือดำน้ำ

          -อันดับหนึ่งคือกองทัพเรือพม่า มีเรือติดจรวดปราบเรือดำน้ำจำนวน 18 ลำ

          -อันดับสองคือกองทัพเรือบังกลาเทศ มีเรือติดจรวดปราบเรือดำน้ำจำนวน 8 ลำ

-อันดับสามคือกองทัพเรือไทย มีเรือติดจรวดปราบเรือดำน้ำจำนวน 5 ลำ

เรือติดปืนใหญ่อัตโนมัติ

          -อันดับหนึ่งแบบทิ้งห่างคือกองทัพเรือไทย มีเรือติดปืนใหญ่อัตโนมัติจำนวน 25 ลำ ประกอบไปด้วยปืนใหญ่ขนาด 5 นิ้วจำนวน 2 ลำ ปืนใหญ่ขนาด 4.5 นิ้วจำนวน 1 ลำ ปืนใหญ่ขนาด 100 มม.จำนวน 4 ลำ และปืนใหญ่ขนาด 76 มม.จำนวน 18 ลำ (ถ้าผู้เขียนนับไม่ตกหล่นนะ)

          -อันดับสองคือกองทัพเรือบังกลาเทศ มีเรือติดปืนใหญ่อัตโนมัติจำนวน 18 ลำ ประกอบไปด้วยปืนใหญ่ขนาด 100 มม.จำนวน 4 ลำ ปืนใหญ่ขนาด 76 มม.จำนวน 13 ลำ และปืนใหญ่ขนาด 57 มม.จำนวน 1 ลำ

-อันดับสามคือกองทัพเรือพม่า มีเรือติดปืนใหญ่อัตโนมัติขนาด 76 มม.จำนวน 6 ลำ

เรือติดปืนระบบป้องกันตนเองระยะประชิดอาวุธปืน

-อันดับหนึ่งคือกองทัพเรือพม่า มีเรือระบบป้องกันตนเองระยะประชิด NG-18 จำนวน 7 ลำ

-อันดับสองคือกองทัพเรือไทย มีเรือระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Phalanx จำนวน 1 ลำ

-อันดับสามคือกองทัพเรือบังกลาเทศ ไม่มีเรืออาวุธชนิดนี้แม้แต่ลำเดียว

เรือติดปืนระบบป้องกันตนเองระยะประชิดอาวุธปล่อยนำวิถี

-อันดับหนึ่งคือกองทัพเรือบังกลาเทศ มีเรือระบบป้องกันตนเองระยะประชิด FL-3000N จำนวน 4 ลำ

-อันดับสองคือกองทัพเรือไทย มีเรือระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Sadral จำนวน 1 ลำ

-อันดับสามคือกองทัพเรือพม่า ไม่มีเรืออาวุธชนิดนี้แม้แต่ลำเดียว

บทสรุป

กองทัพเรือพม่าตอนนี้ลอยตัวแล้ว พวกเขามีเรือฟริเกต 5 ลำและกำลังสร้างเรือฟริเกตขนาด 135 เมตรอีก 1 ลำ เรือคอร์เวต 3 ลำคงไม่สร้างเพิ่มแน่นอน นำเงินมาลงเรือฟริเกตขนาด 135 เมตรลำที่สองเหมาะสมกว่า ส่วนเรือดำน้ำ 2 ลำใช้ฝึกลูกเรือไปก่อนอีก 8 ปีค่อยว่ากันใหม่ เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำติดตอร์ปิโดมีอยู่ 2 ลำ น่าจะจัดหาเพื่อทดแทนเรือเก่าอีกประมาณ 2-4 ลำ เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งเข้าประจำการแล้วจำนวน 2 ลำ สร้างเพิ่มสามปีต่อหนึ่งลำเป็นตัวเลขกำลังเหมาะสม ส่วนเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีสร้างเพิ่มก็ได้ไม่สร้างก็ไม่เดือดร้อน

สิ่งที่เป็นปัญหาน่าจะเกี่ยวข้องกับเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ พม่าแค่ซื้อโซนาร์ชักหย่อนค่ายยุโรปมาใช้งานสัก 2 ระบบ ต่อด้วยปรับปรุงเฮลิคอปเตอร์ AS365 Dauphin 2 จำนวน 4 ลำให้ใช้งานตอร์ปิโด Shyena จากอินเดียได้ เพียงเท่านี้น่าจะรับมือภัยคุกคามจากใต้น้ำได้ดีในระดับหนึ่ง

กองทัพเรือบังกลาเทศอยู่ในสภาพลอยตัวเช่นกัน เรือดำน้ำ 2 ลำ เรือฟริเกต 7 ลำ เรือคอร์เวต 6 ลำ เรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่ 4 ลำ มากเพียงพอสำหรับการปกป้องน่านน้ำตัวเอง โครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งจำนวน 6 ลำตอนนี้สำคัญเป็นอันดับหนึ่ง หากเลือกเรือสกอตแลนด์ขนาดเล็กจะใช้งบประมาณไม่มากเท่าไร อู่ต่อเรือในประเทศได้รับอานิสงส์อย่างเต็มที่ แต่ถ้าเลือกเรือขนาดใหญ่มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ จะได้เรืออเนกประสงค์นำมาทดแทนเรือคอร์เวตมือสองในอนาคตได้ เพียงแต่งบประมาณอาจเพิ่มสูงขึ้นร่วมๆ สองเท่าตัว และถ้าต้องการสร้างเรือเองในประเทศจำนวนหนึ่ง ต้องจ่ายเงินค่าโน่นนั่นนี่เพื่อเติมเต็มความฝันอีกพอสมควร

สิ่งที่เป็นปัญหาน่าจะเกี่ยวข้องกับสงครามใต้น้ำ วิธีการแก้ไขง่ายดายมากคือทยอยส่งเรือคอร์เวตชั้น Type 056 จำนวน 4 ลำ ไปติดตั้งโซนาร์หัวเรือกับตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำที่ประเทศจีน ส่วนเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำยังไม่ต้องรีบร้อนก็ได้ ฝึกฝนนักบินให้ชำนาญเสียก่อนอีก 5-10 ปีค่อยตั้งโครงการก็ยังไม่สาย

กองทัพเรือไทยภาพรวมถือว่าค่อนข้างดี อาจมีปัญหาเรื่องเรือเล็กติดอาวุธปล่อยนำวิถี แต่นำจุดเด่นเรื่องเรือฟริเกตมาหักลบกลบหนี้สำเร็จ ครั้นพอเจาะลึกถึงเรื่องประสิทธิภาพและอายุการใช้งาน พาลพบเจอปัญหาน้อยใหญ่แอบหลบซ่อนใต้พรมผืนหนา ถ้ามีโอกาสจะชี้แจงรายละเอียดแยกเป็นกองเรือให้นะครับ สำหรับบทความยาวเรื่องทแกล้วทหารสามเกลอแห่งอันดามัน ผู้เขียนต้องขออำลาจากกันตรงนี้จนกว่าจะพบกันใหม่

                             +++++++++++++++++++++++

อ้างอิงจาก

https://thaimilitary.blogspot.com/2021/04/bangladesh-navy-2021.html

https://thaimilitary.blogspot.com/2016/08/bangladesh-navy.html

http://www.shipbucket.com/forums/viewtopic.php?f=12&t=5475

https://web.facebook.com/superboy.shipbucket

https://www.newsvl.ru/vlad/2019/11/02/185136/

https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_equipment_in_the_Myanmar_Navy

https://twitter.com/DefenseDtb/status/1497074773729640451

https://web.facebook.com/109613600762194/photos/a.110409977349223/211664403890446/

https://thaidefense-news.blogspot.com/2021/12/blog-post.html?showComment=1644943665266

https://web.facebook.com/DTB2.O/photos/a.360752467835795/586455688598804/

https://web.facebook.com/Laemsing561

https://www.navy.mi.th/index.php/main/detail/content_id/18099

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น