วันศุกร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2564

Bangladesh Navy 2021

 กองทัพเรือบังกลาเทศ 2021

         บังกลาเทศมีพื้นที่ในท้องทะเล 118,813 ตารางกิโลเมตร ทรัพยากรกลางมหาสมุทรอินเดียมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ทว่ากองทัพเรือค่อนข้างล้าสมัยไร้ประสิทธิภาพ กำลังรบหลักเป็นเรือฟริเกตมือสองจากอังกฤษ กับเรือตรวจการณ์ขนาดเล็กจากรัสเซียและจีน รับมือภัยคุกคามจากอาวุธทันสมัยได้น้อยเต็มทน รวมทั้งไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้เลย ต้องซื้อเรือจากต่างประเทศมาใช้งานเพียงอย่างเดียว

ต่อมาในปี 2009 รัฐบาลในตอนนั้นผุดแผน Forces Goal 2030 ขึ้นมา เพื่อปรับปรุงทุกเหล่าทัพให้เข้มแข็งกว่าเดิม กองทัพเรือบังกลาเทศได้รับอานิสงส์จากเรื่องนี้เช่นกัน แผนใหญ่แผนนี้กินระยะเวลานานถึง 20 ปีเต็ม แบ่งเป็น 4 เฟสโดยแต่ละเฟสใช้เวลาละ 5 ปี นับถึงตอนนี้ผ่านไปแล้วครึ่งทางคือ 10 ปีเต็ม การเสริมกำลังทางเรือมีตัวเลขน่าสนใจประกอบไปด้วย (ไม่นับรวมหน่วยยามฝั่ง)

-จัดตั้งกองเรือดำน้ำ ซื้อเรือดำน้ำมาใช้งานจำนวน 2 ลำ

-ซื้อเรือฟริเกตเพิ่มจำนวน 6 ลำ นำมาทดแทนเรือเก่าและขยายกองเรือให้ใหญ่ขึ้น

-จัดตั้งกองเรือคอร์เวต ซื้อเรือคอร์เวตมาใช้งานจำนวน 6 ลำ

-สร้างเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่ติดอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบจำนวน 4 ลำ

-สร้างเรือตรวจการณ์ขนาด 50 เมตรจำนวน 5 ลำ

-ซื้อเครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเลจำนวน 2 ลำ

-ซื้อเฮลิคอปเตอร์ค้นหาและกู้ภัยจำนวน 2 ลำ

-ซื้อเรือสำรวจขนาดใหญ่จำนวน 1 ลำ

-สร้างเรือสำรวจอุทกศาสตร์ขนาดเล็กจำนวน 2 ลำ

นอกจากนี้ยังได้จัดหาเรือน้ำมันขนาดต่างๆ จำนวน 3 ลำ เรือระบายพลจำนวน 2 ลำ รวมทั้งยานเกราะสะเทินน้ำสะเทินบกอีกจำนวน 6 ลำ ไม่นับรวมโครงการเล็กๆ น้อยๆ จำนวนมากมาย เวลา 10 ปีกองทัพเรือบังกลาเทศจัดชุดใหญ่ไฟกะพริบครบถ้วนทุกกองเรือ

ผู้เขียนเคยเขียนถึงกองทัพเรือบังกลาเทศไปแล้วในปี 2016 ฉะนั้นในบทความนี้จะเน้นมาที่กองเรือรบหลัก ประกอบไปด้วยเรือดำน้ำ เรือฟริเกต และเรือคอร์เวต แผนการในอนาคต กับการพึ่งพาตัวเองเท่านั้น ใครอยากอ่านเรื่องราวในอดีตเป็นการปูทาง เชิญตามลิงก์ด้านล่างได้เลย

Bangladesh Navy

เรือดำน้ำ

         ระหว่างปี 2014 บังกลาเทศสั่งซื้อเรือดำน้ำ Type 035G Ming มือสองจากจีนราคา 203.5 ล้านเหรียญ BNS Nabajatra S161 กับ BNS Joyjatra S162 เข้าประจำการวันที่ 12 มีนาคม 2017 พร้อมกัน เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 2,110 ตันระหว่างดำ ยาว 76 เมตร กว้าง 7.6 เมตร ความเร็วสูงสุด 15 นอตบนผิวน้ำ และ 18 นอตระหว่างดำ สามารถดำน้ำได้ลึกสุด 300 เมตร

Type 035G Ming ใช้ระบบโซนาร์จีนโดยนำโซนาร์ฝรั่งเศสมาพัฒนา มาพร้อมตอร์ปิโดขนาด 533 มม. Yu-4 ระยะยิงไกลสุด 15 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุด 40 นอต รวมทั้งได้ข่าวว่าจัดหาตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำรุ่น ET-40 ระยะยิงไกลสุด 30 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุด 25 นอตมาใช้งานเช่นกัน

         เรือทั้ง 2 ลำเริ่มเข้าประจำการปี 1990 ได้รับการปรับปรุงใหญ่ก่อนส่งมอบให้กับบังกลาเทศ น่าจะใช้งานได้อีก 20 ปีคือถึงปี 2037 ถึงตอนนั้นค่อยว่ากันใหม่ว่าจะไปเรือลำไหน

จากภาพถ่ายจะเห็นว่ารูปทรงเรือค่อนข้างโบราณ โดยเฉพาะสะพานเดินเรือขัดหูขัดตาเสียเหลือเกิน เนื่องจาก Type 035G Ming ถูกพัฒนาจากเรือชั้น Type 033 Romeo ของโซเวียตจากยุคห้าศูนย์ แต่ถึงกระนั้นส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าคุ้มค่าเงิน การรบจริงอาจไม่ทัดเทียมเรือดำน้ำรุ่นใหม่ก็จริง ทว่าอย่างน้อยเป็นการช่วยฝึกฝนเจ้าหน้าที่กับลูกเรือ ให้มีความรู้ความสามารถจากการใช้งานจริง เรือรบตัวเองยังได้ฝึกฝนการค้นหาและไล่ล่าเรือดำน้ำ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเรือจากมหามิตรแต่อย่างใด

การมาของเรือรูปทรงโบราณจำนวน 2 ลำ ส่งผลให้พม่าต้องเร่งปรับปรุงการทำสงครามใต้น้ำ รองรับภัยคุกคามรูปแบบใหม่จากเพื่อนรักเพื่อนแค้น เป็นการแก้เกมเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้ก่อน

เรือฟริเกต

         ผู้เขียนขอไล่เรียงเรือฟริเกตบังกลาเทศไปทีละแบบเรือ เริ่มต้นจาก เดอะแบก ซึ่งมีหนึ่งเดียวเท่านั้นชื่อ BNS Bangabandhu F25 เป็นเรือฟริเกตอเนกประสงค์ชั้น DW 2000-H จากอู่ต่อเรือแดวูหรือ DSME ประเทศเกาหลีใต้ ระวางขับน้ำเต็มที่ 2380 ตัน ยาว 103.7 เมตร กว้าง 12.5 เมตร กินน้ำลึก 3.8 เมตร ตั้งปืนใหญ่ Oto 76/62 มม.จำนวน 1 กระบอก ปืนกล Bofors 40/70 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 2 กระบอก อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ Otomat  Mk. II Block IV จำนวน 8 นัด อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศ FM-90 ระยะยิง 15 กิโลเมตรจำนวน 8 นัด ปิดท้ายด้วยตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Whitehead A244S จำนวน 6 นัด

เรือลำนี้ใช้เรดาร์รุ่นใหม่ทันสมัยจากค่ายตะวันตก รวมทั้งระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ทั้ง ECM และ ESM จาก THALES โดยมีเรดาร์ควบคุมการยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศ FM-90 รุ่น Type 345 จากจีนโผล่เข้ามาเป็นข้าวนอกนา เป็นเรือลำเดียวที่มีตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ จัดหามาใช้งานตั้งแต่ปี 2001 ทว่ามีปัญหาใหญ่ต้องกลับไปแก้ไขที่เกาหลีใต้ ก่อนเข้าประจำการอีกครั้งกลางปี 2007 ฉะนั้นเรือไม่ได้อยู่ในโครงการ Forces Goal 2030 แต่อย่างใด

ที่มีเพียงลำเดียวเพราะภัยคุกคามยังไม่ปรากฏ ต่อมาในปี 2020 พม่าจัดหาเรือดำน้ำ Kilo Project 877 จากอินเดียเข้าประจำการ และมีแนวโน้มว่าจะซื้อเรือดำน้ำใหม่เพิ่มเติม เล็งมาที่เรือดำน้ำ Kilo Project 636 รุ่นใหม่จากรัสเซีย ฉะนั้นอีกไม่นานบังกลาเทศจำเป็นต้องขยับตัวครั้งใหญ่

เรือฟริเกตสองลำถัดไปคือ BNS Somudra Joy F28 กับ BNS Somudra Avijan F29 เป็นเรือฟริเกตตรวจการณ์มือสองจากอเมริกา อดีตเป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งอาวุธนำวิถีชั้น Hamilton บังกลาเทศจัดหาเข้าประจำการปี 2013 กับ 2016 มีค่าใช้จ่ายซ่อมแซมปรับปรุงลำละ 12 ล้านเหรียญ

เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 3,250 ตัน ยาว 115.2 เมตร กว้าง 13.1 เมตร กินน้ำลึก 4.6 เมตร ความเร็วสูงสุด 29 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 16,000 ไมล์ทะเล ระบบอาวุธมีเพียงปืนใหญ่ 76/62 มม.จำนวน 1 กระบอก แต่เป็นเรือลำใหญ่ที่สุดออกทะเลลึกได้ดีที่สุด อายุมากแล้วก็จริงทว่ายังมีประจำการครบทุกลำ ล่าสุดคือหน่วยยามฝั่งเวียดนามกำลังจะได้รับเรือชั้นนี้เข้าประจำการ

เรือฟริเกตสองลำถัดไปคือ BNS Abu Bakar F15 กับ BNS Ali Haider F17 เป็นเรือชั้น Type 053H2 (Jianghu-III) รูปร่างคล้ายคลึงเรือหลวงเจ้าพระยาของเรานี่แหละ เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 1,960 ตัน ยาว 103.2 เมตร กว้าง 11.3 เมตร กินน้ำลึก 3.2 เมตร ติดปืนใหญ่ขนาด 100 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 2 กระบอก ปืนกล 37 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 4 กระบอก จรวดต่อสู้เรือดำน้ำ RBU-1200 จำนวน 2 แท่นยิง และอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-802A จำนวน 8 นัด ติดตั้งระบบเป้าลวงรุ่นทันสมัยกว่าเรือหลวงเจ้าพระยา เปลี่ยนมาใช้ระบบสื่อสารใหม่เอี่ยมทันสมัยจากนี้

เรือทั้งสองลำเข้าประจำการวันที่ 1 มีนาคม 2014 ถัดมาเพียงเดือนกว่าๆ BNS Ali Haider ได้เข้าร่วมกับสหประชาชาติ ในภารกิจรักษาความปลอดภัยน่านน้ำเลบานอน ทดแทนเรือเดิมตัวเองซึ่งทำภารกิจมาร่วม 4 ปี เรียกว่าลูกเรือยังไม่ทันชำนาญก็ออกปฏิบัติการจริงกันแล้ว

ในภาพถ่ายไล่จากใกล้ไปไกล ประกอบไปด้วยเรือ BNS Abu Bakar กำลังฝึกทางทะเลร่วมกับกองทัพเรืออินเดีย ลำที่สองคือเรือคอร์เวตปราบเรือดำน้ำชั้น Kamorta ขนาด 3,000 ตันของอินเดีย ต่อด้วยเรือคอร์เวต Type 56 ลำใหม่ของตัวเอง ที่อยู่ไกลสุดคือคอร์เวตชั้น Kora ขนาด 1,400 ตันของอินเดีย แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยมระหว่างสองประเทศ

เรือฟริเกตชั้น Type 053H2 (Jianghu-III) เข้าประจำการปี 2014 มูลค่าในการจัดหาอยู่ที่ลำละ 40 ล้านเหรียญ (รวม C-802A ด้วยจำนวนหนึ่ง) ถูกปรับปรุงใหม่มีหลายอย่างทันสมัยกว่าเรือหลวงเจ้าพระยา ทว่าอายุเรือนับถึงปีนี้คือ 35 ปีกับ 34 ปีเข้าไปแล้ว เมื่อถึงปี 2030 เรือจะมีอายุ 43 ปีกับ 44 ปีตามลำดับ ความเห็นส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าเรือมีอายุมากเกินไป

บังกลาเทศคุ้นเคยกับการใช้งานเรือมือสอง พวกเขาน่าจะมีแผนรับมือจัดเตรียมไว้ล่วงหน้า

เรือฟริเกตลำใหม่

มาถึงเรือฟริเกตลำที่ 5 และ 6 ที่บังกลาเทศจัดหามาใช้งานตามโครงการ Forces Goal 2030 เพิ่งเข้าประจำการปีที่ผ่านมาสดๆ ร้อนๆ นั่นคือเรือชื่อ BNS Umar Farooq F16 กับ BNS Abu Ubaidah  F19 เป็นเรือฟริเกตชั้น Type 053H3 (Jiangwei II) จากประเทศจีน และเป็นเรือลำเดียวกับที่เคยตกเป็นข่าวใหญ่โตว่า จีนจะยกให้ไทยจำนวน 2 ลำระหว่างปีที่แล้วนั่นเอง

เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 2,393 ตัน ยาว 112 เมตร กว้าง 12.4 เมตร กินน้ำลึก 4.3 เมตร ติดปืนใหญ่ขนาด 100 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 1 กระบอก ปืนกล 37 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 4 กระบอก จรวดต่อสู้เรือดำน้ำ Type 3200 ขนาด 6 ลำกล้องจำนวน 2 แท่นยิง (แตกต่างจาก RBU-1200 ซึ่งมีเพียง 5 ลำกล้อง) อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-802A จำนวน 8 นัด และอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศ FM-90 จำนวน 8 นัด มีลานจอดกับโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ขนาด 7 ตันบริเวณท้ายเรือ

เรือทั้ง 2 ลำเข้าประจำการวันที่ 5 พฤศจิกายน 2020 เพิ่งมีอายุ 21 ปีกับ 22 ปีถือว่าค่อนข้างน้อยสำหรับเรือมือสอง อยู่รับใช้ชาติได้อีกอย่างน้อยๆ 20 ปีเต็ม ใช้อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศ FM-90 เหมือนเรือ BNS Bangabandhu หรือเดอะแบก แม้เป็นการจัดหาเรือมือสองเข้าประจำการ ทว่ามีความคอมม่อนกับอาวุธเดิมน่าประทับใจมาก นี่คือหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่บังกลาเทศเล็งเรือชั้นนี้

ภาพนี้คือเรือ BNS Umar Farooq กำลังวิ่งทดสอบหลังเข้าประจำการ ผู้เขียนตัดมาจากคลิปวิดีโอซึ่งมีความละเอียดไม่มากเท่าไร ฉะนั้นภาพถ่ายอาจไม่ชัดเจนโปรดทำใจเล็กน้อย

เรือชั้นนี้มีความทันสมัยพอสมควร จริงอยู่ไม่ได้ติดตั้งตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ บังเอิญติดตั้งโซนาร์หัวเรือ SJD-7 เหมือนเรือหลวงนเรศวรก่อนปรับปรุง จีนนำโซนาร์รุ่น DE-1164 ของอิตาลีมาใช้งานโดยใช้ชื่อใหม่ ส่วนอิตาลีนำโซนาร์ AN/SQS-56B รุ่นส่งออกของอเมริกามาใช้งานโดยใช้ชื่อใหม่เช่นกัน เท่ากับว่าเรือฟริเกตบังกลาเทศใช้โซนาร์ตระกูลเดียวกับเรือฟริเกตชั้น Oliver Hazard Perry ของอเมริกา ค้นหาเป้าหมายที่ทะเล่อทะล่าเข้ามาโดยความชะล่าใจ แล้วให้เฮลิคอปเตอร์บินไปหย่อนตอร์ปิโดใส่ได้เช่นกัน แผนนี้หลายชาติรวมทั้งอังกฤษเคยใช้งานมาก่อนในยุคเจ็ดศูนย์

ระบบอำนวยการรบเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่แตกต่างออกไป Type 053H2 (Jianghu-III) ใช้อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศ FM-90 ซึ่งแปลงร่างมาจาก Crotale จากประเทศฝรั่งเศส จำเป็นต้องใช้งานระบบอำนวยการรบ ZJK-3C ซึ่งซื้อลิขสิทธิ์ระบบอำนวยการรบ TAVITAC จาก Thomson-CSF ประเทศฝรั่งเศสมาใช้งาน มีความทันสมัยกว่า ZKJ-3 บนเรือหลวงเจ้าพระยาและ Poseidon-3 บนเรือหลวงกระบุรีค่อนข้างมาก นับรวมระบบโซนาร์หัวเรือ SJD-7 เข้ามาด้วย ส่งผลให้เรือสามารถติดตั้งตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำได้ไม่ยาก ถ้าบังกลาเทศต้องการจริงๆ มีหรือจีนจะไม่ยอมจัดให้

ภาพถัดไปเรือ BNS Abu Ubaidah กำลังวิ่งทดสอบในคลิปเดียวกัน มองเห็นเรือ BNS Umar Farooq เป็นลำถัดไป ส่วนลำสุดท้ายเป็นเรือคอร์เวตใหม่เอี่ยมอ่อง เข้าประจำการวันเดียวกับเรือฟริเกตทั้งสองลำ อีกไม่นานได้เจอตัวจริงในบทความนี้อย่างแน่นอน

บังกลาเทศสั่งซื้อเรือฟริเกตทั้ง 2 ลำปลายปี 2018 ส่งมอบปลายปี 2020 และช่วงปลายปี 2019 มีข่าวว่าพวกเขาอยากได้เรืออีก 2 ลำ มีการกำหนดชื่อเรือจำนวน 1 ลำเรียบร้อยแล้ว ตั้งใจนำมาทดแทนเรือฟริเกต Type 053H2 (Jianghu-III) ในอนาคต เป็นจริงตามนี้พวกเขาจะมีเรือติดอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศ FM-90 ถึง 5 ลำ ศัพท์วัยรุ่นตอนปลายแถวบ้านใช้คำว่า เฟี้ยวเงาะ

ทว่าข่าวนี้ยังไม่เป็นทางการสักเท่าไร ยังหาข่าวยืนยันจากรัฐบาลหรือกองทัพเรือทั้งสองชาติไม่พบ ต้องรอดูกันไปว่าเจียงเว่ยจะมาตามนัดหรือเลยมาจอดแถวๆ แคว้นเสียม

เรือคอร์เวต

         บังกลาเทศเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่จริงจังกับเรือคอร์เวต ถึงขนาดจัดหาเพิ่มเติมถึง 6 ลำภายในเวลาเพียง 10 ปี ที่สำคัญเป็นเรือใหม่เอี่ยมติดอาวุธทันสมัยถึง 4 ลำ มาพร้อมระบบป้องกันตนเองระยะประชิดแบบอาวุธนำวิถี อันเป็นรุ่นมาตรฐานเรือบรรทุกเครื่องบินประเทศจีน

         เรือสองลำแรกคือเรือคอร์เวตมือสองชั้น Castle จากอังกฤษ ผู้เขียนเคยเขียนถึงหลายครั้งฉะนั้นจะไม่อ้อมค้อม BNS Bijoy F35 กับ BNS  Dhaleshwari F36 มีระวางขับน้ำเต็มที่ 1,427 ตัน ยาว 81 เมตร กว้าง 11.5 เมตร กินน้ำลึก 3.6 เมตร ติดปืนใหญ่ H/PJ-26 ขนาด 76 มม.จำนวน 1 กระบอก อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-704 จากจีนจำนวน 4 นัด ปืนกล Oerlikon 20/70 มม.อีก 2 กระบอก โดยใช้เรดาร์ตรวจการณ์และเรดาร์ควบคุมการยิงจากจีน

         บังกลาเทศซื้อเรือทั้งสองลำในปี 2010 ปรับปรุงใหม่หมดแล้วเข้าประจำการในปีถัดไป แบบเรือเป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งใช้งานกลางทะเล ฝ่าคลื่นลมได้ดีเทียบเท่าเรือฟริเกตจีนซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ากัน ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ออกแบบมาเพื่อ Sea King ขนาด 10 ตัน ทว่า Chinook ขนาด 22 ตันเคยบินลงมาแล้วระหว่างสงครามฟอล์กแลนด์

หลังเรือคอร์เวตมือสองจากอังกฤษเข้าประจำการ ต่อมาในปี 2012 บังกลาเทศสั่งซื้อเรือคอร์เวต Type 056 จากประเทศจีนจำนวน 2 ลำ BNS Shadhinota F111 กับ BNS Prottoy F112 เข้าประจำการวันที่ 19 มีนาคม 2016 เท่ากับว่าตอนนี้กองเรือคอร์เวตมีเรือจำนวน 4 ลำ

         เรือคอร์เวต Type 056 รุ่นส่งออกสะพานเดินเรือแตกต่างจากของแท้เล็กน้อย ระวางขับน้ำเต็มที่ 1,330 ตัน ยาว 91.1 เมตร กว้าง 11.14 เมตร กินน้ำลึก 3.37 เมตร ติดปืนใหญ่ H/PJ-26 ขนาด 76 มม.จำนวน 1 กระบอก ปืนกลอัตโนมัติ H/PJ-17 จำนวน 2 กระบอก อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-802A จำนวน 4 นัด และอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน FL-3000N จำนวน 8 นัด

FL-3000N ออกแบบมาเพื่อจัดการอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ ถ้าความเร็วต่ำกว่าเสียงได้ที่ระยะทาง 9 กิโลเมตร ถ้าความเร็วเหนือเสียงได้ที่ระยะทาง 6 กิโลเมตร ส่งผลให้เรือมีทั้งอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะใกล้กับ CIWS รุ่นใหม่ทันสมัยไปพร้อมกัน บังกลาเทศคือชาติแรกที่จีนส่งออก FL-3000N ให้ใช้งาน บ่งบอกเป็นนัยว่าใครคือลูกค้ารายสำคัญของตัวเอง

ในภาพคือเรือ BNS Prottoy มองเห็นแท่นยิง FL-3000N ขนาด 8 ท่อยิงอย่างชัดเจน จรวดถูกออกแบบให้ยิงออกไปก่อนค่อยล็อกเป้าหมายทีหลัง ยิงใส่อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบพร้อมกันหลายนัดในเวลาใกล้เคียงกัน ทันสมัยกว่า CIWS ระบบปืนซึ่งจัดการเป้าหมายได้ครั้งละหนึ่งนัด ในภาพเล็กเรือ BNS Shadhinota ทดสอบยิง FL-3000N ใส่เป้าหมาย หลังเข้าประจำการจริงได้เพียงไม่นาน

เรือคอร์เวตชั้นนี้ใช้อาวุธจีนทั้งลำก็จริง ทว่าระบบเรดาร์ส่วนใหญ่แปลงร่างมาจากยุโรป เรดาร์ตรวจการณ์ 2 มิติ SR-60A นำเรดาร์ตรวจการณ์ RAN-10 ของอิตาลีมาพัฒนา เรดาร์ควบคุมการยิง  TR47C นำเรดาร์ตรวจการณ์ RTN-20 ของอิตาลีมาพัฒนาเช่นกัน ส่วนเรดาร์ตัวใหญ่ท้ายแท่นยิง FL-3000N  คือเรดาร์ตรวจการณ์ Kelvin Hughes SharpEye S-band จากอังกฤษ มีเรดาร์เดินเรือ Kelvin Hughes SharpEye X-band อีก 1 ตัวบนเสากระโดงเรือ

ช่องออกเรือเล็กมีแผ่นโลหะปิดบังอย่างแน่นหนา ไม่ได้เป็นตาข่ายใช้ลอกชักขึ้นชักลงเหมือนเรือฟริเกต DW-3000F จากเกาหลีใต้ มิตรรักแฟนเพลงชาวไทยคงไม่ชอบใจรุ่นส่งออกสักเท่าไร แต่ถ้าเป็นรุ่นปราบเรือดำน้ำมาพร้อมโซนาร์ลากท้ายค่อยว่ากัน

เนื่องจากไม่มีระบบปราบเรือดำน้ำเหมือนเรือต้นฉบับ ราคาเรือไม่แพงเกินไปบังกลาเทศจึงสนใจค่อนข้างมาก ต่อมากลางปี 2015 พวกเขาสั่งซื้อเรือคอร์เวต Type 056 รุ่นส่งออกเพิ่มเติม 2 ลำ BNS Shongram F113 กับ BNS Prottasha F114 ทยอยเข้าประจำการระหว่างปี 2020 มีความแตกต่างจากเรือ 2 ลำแรกเล็กน้อย เป็นการปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้นดีกว่าเรือต้นฉบับด้วยซ้ำ

ส่วนภาพนี้คือเรือ BNS Shongram เข้าร่วมกับสหประชาชาติ ในภารกิจรักษาความปลอดภัยน่านน้ำเลบานอน หลังจากตัวเองเข้าประจำการได้ไม่ครบ 2 เดือนอีกแล้ว เพื่อทดแทนเรือ NS Bijoy (เรือคอร์เวตชั้น Castle) ซึ่งเกิดความเสียหายจากการระเบิดใหญ่ที่ท่าเรือกรุงเบรุต

ภาพนี้เห็นความแตกต่างจากเรือ 2 ลำแรกไม่ชัดเจน ชมภาพถัดไปซึ่งชัดเจนกว่ากันดีกว่า

         นี่คือภาพถ่ายระยะใกล้เรือ BNS Shongram มองเห็นเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ SR2410C รุ่นใหม่เอี่ยมอ่อง นำมาแทนที่เรดาร์ตรวจการณ์ 2 มิติ SR-60A มีระยะทำการไกลสุด 150 กิโลเมตร ติดตามเป้าหมายให้อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานที่ระยะไกลสุด 60 กิโลเมตร ทำงานคู่กับอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน FL-3000N ได้อย่างดีเยี่ยม ที่อยู่ด้านหน้าคือเรดาร์เดินเรือ Kelvin Hughes SharpEye X-band มีเรดาร์เดินเรือตัวที่ 3 รุ่นโดมกลมเพิ่มเข้ามา 1 ตัว มีจานดาวเทียม SATCOM เพิ่มอีก 1 ใบ นี่คือสิ่งแตกต่างระหว่างเรือคอร์เวต Type 056 เฟสแรกกับเฟสสอง

         เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ SR2410C เรือคอร์เวต Type 056 ของจีนไม่มีสักลำ บังกลาเทศเป็นชาติแรกที่ได้ประเดิมเรดาร์ใหม่ หน้าเรดาร์ควบคุมการยิง TR47C มีกล้องตรวจการณ์ออปทรอนิกส์ติดตั้งมาด้วย อุปกรณ์ตัวนี้ใช้ควบคุมการยิงบนเรือหลายลำ ข้างเสากระโดงติดตั้งระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งอุปกรณ์ตรวจจับคลื่นอิเล็กทรอนิกส์หรือ ESM และอุปกรณ์รบกวนการแพร่คลื่นอิเล็กทรอนิกส์หรือ ECM อาจไม่ทันสมัยเหมือนของตะวันตกแต่มาครบนะครับคุณ

โครงการใหม่

         บังกลาเทศมีเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Island มือสองจากอังกฤษจำนวน 6 ลำ เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 1,260 ตัน ยาว 59.5 เมตร กว้าง 11 เมตร กินน้ำลึกสุด 4.5 เมตร ติดปืนกล Bofors 40/70 มม จำนวน 1 กระบอกที่หัวเรือเท่านั้น ถูกออกแบบสำหรับใช้งานกลางทะเลลึก มีความคงทนคลื่นลมได้ดีกว่าเรือขนาดใกล้เคียงกัน แต่อายุมากแล้วผ่านการใช้งานมาอย่างยาวนาน กองทัพเรือบังกลาเทศต้องการเรือใหม่จำนวน 6 ลำเข้าประจำการทดแทน

         วันที่ 23 มกราคม 2020 บริษัท Chittagong Dry Dock Limited (CDDL) ซึ่งเป็นอู่ต่อเรือภายในประเทศ ได้รับสัญญาสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งจำนวน 6 ลำจากกองทัพเรือบังกลาเทศ ตามสัญญา CDDL จะส่งเทียบเชิญไปยังบริษัทสร้างเรือชั้นนำทั่วโลก ให้ส่งแบบเรือตัวเองเข้าร่วมชิงชัยในโครงการสำคัญ ส่วนจะสร้างในประเทศหรือนอกประเทศค่อยมาเจรจากัน

คุณสมบัติคร่าวๆ เรือมีระวางขับน้ำประมาณ 2,000 ตัน ความเร็วสูงสุดอย่างน้อย 20 นอต ระยะปฏิบัติการณ์ 4,000 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 12 นอต ยาวมากกว่า 85 เมตรขึ้นไป กว้างประมาณ 14 เมตร ลานจอดท้ายเรือรองรับเฮลิคอปเตอร์ขนาด 11 ตัน ทนทะเลได้ถึงระดับ Sea State 6 ตั้งตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ 20 ฟุตได้ 2 ตู้ โดยมีปืนกล 30 มม.กับ 12.7 มม.เป็นอาวุธป้องกันตัว

โครงการนี้เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง Damen OPV 1800 Sex Axe มีคุณสมบัติใกล้เคียงที่สุด ถือเป็นตัวเต็งหามจากมิตรรักแฟนเพลงชาวบังกลาเทศ บังเอิญแบบเรือจากเนเธอร์แลนด์ราคาแพงไม่ใช่เล่นๆ เรือจำนวน 6 ลำถือเป็นโครงการน่าหนักใจพอสมควร บังกลาเทศเองใช่มีงบประมาณมากมาย ต้องรอดูกันต่อไปว่า Sex Axe จะมาตามนัดหรือกลายเป็นเรือจีน

โครงการถัดไปคือ Large-type Patrol Ship (LPS)  หรือเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่เป็นพิเศษ ใหญ่กว่าเรือ Large Patrol Craft (LPC) ของตัวเองพอสมควร กำหนดให้ติดตั้งอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบถึง 8 นัด โครงการนี้ตุรกีผ่านเข้ารอบเป็นรายแรก โดยการเสนอแบบเรือคอร์เวตชั้น MİLGEM ขนาด 2,400 ตันของตัวเอง มาพร้อมอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ ATMACA ของตัวเองเช่นกัน

เป็นโครงการที่แปลกประหลาดพอสมควร เพราะเรือ LPS ขนาดใหญ่กว่าเรือคอร์เวตด้วยซ้ำ ติดอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบมากกว่าจาก 4 นัดเป็น 8 นัด แบบเรือที่เข้ารอบแรกทันสมัยกว่าเรือฟริเกตทุกลำของตัวเอง ถ้ามีแท่นยิงแนวดิ่งติดตั้งมาด้วยจะยิ่งเฮไปกันใหญ่ นี่มันอะไรกันวุ้ย!

ตอนนี้ผู้เขียนอยากเห็นผู้เข้ารอบรายอื่น ถึงจะสามารถบอกทิศทางของโครงการได้ ที่พอบอกได้ในตอนนี้คือเรือมีราคาแพงแน่นอน แล้วบังกลาเทศจะไปหาเงินมาจากไหน

ถ้าคิดว่า 2 โครงการที่เพิ่งผ่านไปน่าตื่นเต้นตกใจ โครงการที่ 3 ของพี่เขาน่าตื่นเต้นตกใจยิ่งกว่า ปลายเดือนตุลาคม 2020 มีข่าวว่ากองทัพเรือบังกลาเทศอยากได้เรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์!

ใช่ครับเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์อ่านไม่ผิด

ที่มาที่ไปมาจากตุรกีเจ้าเดิมนั่นแหละ มาปั่นหูบังกลาเทศเรื่องเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ เพื่อเติมเต็มโครงการ Forces Goal 2030 ให้สวยหรูมากยิ่งขึ้น ข้อมูลโครงการนี้โผล่ออกมาค่อนข้างน้อย มิตรรักแฟนชาวบังกลาเทศเพลงพูดถึงเรือยกพลขึ้นบกดาดฟ้าเรียบหรือ LH ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะมิตรรักแฟนเพลงชาวไทยก็มักพูดถึงเช่นกัน โชคร้ายเรือมีราคาแพงเกินไปรวมทั้งใหญ่เกินไป บางทีอาจเป็นเรือยกพลขึ้นบกมีอู่ลอยหรือ LPD จอดเฮลิคอปเตอร์ได้ 2 ถึง 3 ลำ

กองทัพเรือบังกลาเทศมีเฮลิคอปเตอร์ AW109 จำนวน 2 ลำ จะมีเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ไปเพื่ออะไร? จริงอยู่ใช้เฮลิคอปเตอร์จากเหล่าทัพอื่นก็ได้ แต่ต้องฝึกฝนบินขึ้นลงเรือให้เกิดความชำนาญ ไม่เช่นนั้นพลัดตกทะเลเสียทั้งของเสียทั้งคน เป็นโครงการน่าตื่นเต้นตกใจและน่าติดตามมาก

การพึ่งพาตัวเอง       

         บังกลาเทศสร้างเรือด้วยตัวเองได้ดีระดับหนึ่ง บทความเดิมลงไว้แล้วฉะนั้นผู้เขียนจะเขียนถึงเล็กน้อย เริ่มต้นจากโครงการเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่หรือ Large Patrol Craft (LPC) ปี 2009 พวกเขาสั่งซื้อเรือจากประเทศจีนจำนวน 2 ลำ ต่อมาในปี 2014 จึงสั่งซื้อเพิ่มอีก 2 ลำโดยสร้างเองภายในประเทศ ถือเป็นเรือรบลำใหญ่สุดที่บังกลาเทศสร้างด้วยตัวเอง

         เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 648 ตัน ยาว 64 เมตร กว้าง 9 เมตร กินน้ำลึก 3 เมตร ติดปืนใหญ่ H/PJ-26 ขนาด 76 มม.จำนวน 1 กระบอก ปืนกล Oerlikon 20/70 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 2 กระบอก อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ C704 จำนวน 4 นัด จรวดปราบเรือดำน้ำ EDS-25A ขนาด 6 ลำกล้องจำนวน 2 แท่นยิง ทำงานร่วมกับโซนาร์หัวเรือ ESS-3 ระยะทำการประมาณ 8 กิโลเมตร

ภาพบนฝั่งซ้ายมือคือ BNS Nishan P815 เรือลำสุดท้ายในโครงการ นับเป็นฝาแฝดกับเรือ Littoral Mission Ship (LMS) ของมาเลเซียซึ่งสั่งจากจีน 4 ลำเช่นกัน โดยมีออปชันสร้างเอง 2 ลำเช่นกันทว่ายกเลิกในท้ายที่สุด เรือลำนี้ติดอาวุธครบ 3 มิติประมาทไม่ได้เหมือนกัน

ภาพบนฝั่งขวามือคือเรือระบายพลขนาดใหญ่หรือ LCU สร้างโดยอู่ต่อเรือ Khulna Shipyard หรือ KSY ยาว 42 เมตร ระวางขับน้ำ 415 ตัน ใกล้เคียงเรือหลวงราวีซึ่งเราสร้างเองภายในประเทศ KSY ยังมีผลงานเป็นเรือน้ำมันขนาด 68 เมตร BNS Khan Jahan Ali เรือลากจูงชั้น Damen Stan Tug 3008 จำนวน 2 ลำ เป็นอู่ต่อเรือเก่าแก่อายุมากกว่า 60 ปีเข้าไปแล้ว

ภาพล่างฝั่งซ้ายคือเรือตรวจการณ์ปืนชั้น Padma ของอู่ต่อเรือ KSY เช่นกัน เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 270 ตัน ยาว 50.4 เมตร กว้าง 7.5 เมตร กินน้ำลึก 1.9 เมตร กองทัพเรือบังกลาเทศสั่งซื้อจำนวน 5 ลำ ติดตั้งปืนกล 37 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 2 แท่นยิง ปืนกล Oerlikon 20/70 มม.อีก 2 กระบอก นอกจากนี้ยังได้สั่งเพิ่มอีกจำนวน 5 ลำ ขณะนี้อยู่ระหว่างการสร้างในอู่ต่อเรือ

เรือตรวจการณ์ชั้น Padma หน่วยยามฝั่งบังกลาเทศมีประจำการจำนวน 3 ลำ รวมทั้งมีอีก 2 ลำสร้างเสร็จแล้วปล่อยลงน้ำแล้ว แตกต่างกันตรงหัวเรือใช้ราวกับตกแบบทึบทำจากโลหะ เสากระโดงสูงขึ้นเพื่อติดเรดาร์เดินเรือจำนวน 2 ลำ และใช้ปืนกลอัตโนมัติขนาด 25 มม.จากอิตาลีที่หัวเรือ (อาวุธมาตรฐานหน่วยยามฝั่ง) กับปืนกล 12.7 มม.อีกจำนวน 2 กระบอก

เท่ากับว่าตอนนี้เรือตรวจการณ์ขนาด 50 เมตรมีสร้างแน่นอน 15 ลำ เป็นการสนับสนุนอู่ต่อเรือภายในประเทศที่น่าอิจฉามาก ประเทศไทยควรทำแบบนี้ติดต่อกันสักสองปีหนึ่งลำก็ยังดี

ภาพล่างฝั่งขวาคือเรือสำรวจอุทกศาสตร์ตัวเรือแฝด สร้างขึ้นมาจำนวน 2 ลำเข้าประจำการพร้อมเรือฟริเกตชั้น Type 053H3 (Jiangwei II) ปลายปีที่แล้ว เรือ BNS Darshak (H581) กับ BNS Tallashi (H582) มีความยาว 32.78 เมตร กว้าง 8.4 เมตร กินน้ำลึก 3.17 เมตร ใช้เครื่องยนต์ดีเซลจำนวน 2 ตัว ความเร็วสูงสุด 12 นอต ข้อมูลเรือมีเพียงเท่านี้เนื่องจากเป็นเรือใหม่มาก

บทสรุปก่อนจาก

         การเสริมทัพกองทัพเรือบังกลาเทศในรอบ 10 ปี ส่งผลให้พวกเขามีความน่าเกรงขามมากกว่าเดิม โดยเฉพาะกำลังรบหลักอันประกอบไปด้วยเรือดำน้ำจำนวน 2 ลำ เรือฟริเกตจำนวน 7 ลำ เรือคอร์เวตจำนวน 6 ลำ และเรือตรวจการณ์อาวุธนำวิถีอีก 4 ลำ ผู้เขียนขอนำมาเทียบกับกองทัพเรือไทยให้พอเห็นภาพได้ดังนี้ (นับเรือทุกลำที่ยังไม่ปลดประจำการรวมทั้งเรือหลวงมกุฎราชกุมาร ยกเว้นเรือหลวงปิ่นเกล้าหนึ่งลำผู้เขียนขอเถอะนะ)

         บังกลาเทศมีเรือดำน้ำ 2 ลำ : ไทยมีเรือดำน้ำ 0 ลำ

         บังกลาเทศมีเรือฟริเกต 7 ลำ : ไทยมีเรือฟริเกต 8 ลำ

บังกลาเทศมีเรือคอร์เวต 6 ลำ : ไทยมีเรือคอร์เวต 4 ลำ

บังกลาเทศมีเรือตรวจการณ์อาวุธนำวิถี 4 ลำ : ไทยมีเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ 3 ลำ

เทียบกันตามนี้กำลังทางเรือเราไม่เป็นรองสักเท่าไร ยกเว้นแค่เพียงกองเรือดำน้ำเท่านั้น ต่อไปผู้เขียนจะเปรียบเทียบอาวุธสำคัญๆ ซึ่งมีใช้งานบนเรือ

บังกลาเทศมีเรือติดอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศ 7 ลำ (เรือฟริเกต 3 ลำกับเรือคอร์เวต 4 ลำ) : ไทยมีเรือติดอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศ 6 ลำ (เรือฟริเกต 3 ลำ เรือคอร์เวต 2 ลำ และเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ 1 ลำ)

บังกลาเทศมีเรือติดอาวุธป้องกันตนเองระยะประชิดหรือ CIWS 4 ลำ (เรือคอร์เวต 4 ลำ โกงมากๆ เลยเพราะ FL-3000N แท้เชียว) : ไทยมีเรือติดอาวุธป้องกันตนเองระยะประชิดหรือ CIWS 2 ลำ (เรือฟริเกต 1 ลำกับเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ 1 ลำ)

บังกลาเทศมีเรือติดอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือ 15 ลำ (เรือฟริเกต 5 ลำ เรือคอร์เวต 6 ลำ และเรือตรวจการณ์ 4 ลำ) : ไทยมีเรือติดอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ 10 ลำ (เรือฟริเกต 7 ลำ เรือคอร์เวต 2 ลำ เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง 1 ลำ) นับรวมเรือหลวงเจ้าพระยากับเรือหลวงบางปะกงซึ่งยังคงติดตั้งแท่นยิง C-801 บนเรือ ถ้าผู้เขียนไม่นับจะลดลงมาเหลือเพียง 8 ลำ

บังกลาเทศมีเรือติดตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ 1 ลำ (เรือฟริเกต 1 ลำ) : ไทยมีเรือติดตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ 11 ลำ (เรือฟริเกต 4 ลำ เรือคอร์เวต 4 ลำ เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ 3 ลำ)

บังกลาเทศมีเรือติดจรวดปราบเรือดำน้ำ 8 ลำ (เรือฟริเกต 4 ลำ เรือตรวจการณ์ 4 ลำ) : ไทยมีเรือติดจรวดปราบเรือดำน้ำ 4 ลำ (เรือฟริเกต 4 ลำ)

จะเห็นได้ว่าบังกลาเทศอ่อนเรื่องอาวุธปราบเรือดำน้ำทันสมัย แก้ไขง่ายๆ โดยซื้อเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ Z-9 จากจีน และติดตั้งแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำบนเรือฟริเกตชั้น Type 053H3 (Jiangwei II) จำนวน 2 ลำ เพียงเท่านี้น่าจะพอทำให้พม่าเกรงขามกว่าเดิม

ส่วนไทยตกเป็นรองเรื่องอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศ อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ และระบบป้องกันตนเองระยะประชิด เอ่อเราจะเริ่มแก้ไขจากตรงไหนดี? ไว้ค่อยว่ากันทีหลังแล้วกันเนอะ แต่ถึงอย่างไรเรายังนำเขาอยู่หนึ่งก้าว เพราะบังกลาเทศไม่มีเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์

บทความนี้ขอสิ้นสุดแต่เพียงเท่านี้ ปี 2030 เมื่อโครงการ Forces Goal 2030 เสร็จสมบูรณ์เรียบร้อย ผู้เขียนจะกลับมาเขียนให้อ่านอีกครั้งโปรดติดตามตอนต่อไป

+++++++++++++++++++++

อ้างอิงจาก

https://defence.pk/pdf/threads/bangladesh-navy.168818/page-380

https://www.navaltoday.com/2020/01/23/cddl-bangladesh-navy-orders-six-offshore-patrol-vessels/

https://en.wikipedia.org/wiki/Forces_Goal_2030

https://en.wikipedia.org/wiki/Padma-class_patrol_vessel

https://www.savunmasanayist.com/ada-sinifi-korvet-ve-atmaca-bangladeste-kisa-listeye-girdi/

https://defence.pk/pdf/threads/ada-class-corvette-and-atmaca-shortlisted-in-bangladesh-navy.694540/

https://www.facebook.com/DTB2.O/posts/556269664950740/

http://forceindia.net/cover-story/surging-ahead/

https://www.militaryimages.net/threads/bangladesh-military-photos.6165/page-15

https://www.facebook.com/TheBangladeshNavy

https://defence.pk/pdf/threads/bangladesh-navy.168818/page-367

 

 

 

 

 

             

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น