“อนิจจา วาสนา ชะตาเอ๋ย ไฉนเลย มาทอดทิ้ง ให้สิ้นหวัง
เพียงไม่นาน
โครงการยักษ์ เริ่มผุพัง
ถึงมีตังค์ ก็ยังม้วย ซวยจับใจ”
ปัจจุบันกองทัพเรือออสเตรเลียมีโครงการเสริมทัพจำนวน
3
โครงการ ประกอบไปด้วย SEA 5000 โครงการเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำชั้น
Hunter จำนวน 9 ลำ ผู้ได้รับการคัดเลือกคือแบบเรือฟริเกต
Type 26 จากอังกฤษตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม
2018 ปรากฏว่าการออกแบบแบบเรือเกิดความล่าช้ามาก โดยเฉพาะเสากระโดงหลักขนาดมหึมาอันเป็นปัญหาใหญ่โต
ครั้นถึงต้นปี 2022 โครงการนี้ต้องกลับไปนับหนึ่งที่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง
โครงการถัดไปคือ
SEA
1000 เรือดำน้ำโจมตีดีเซล-ไฟฟ้าชั้น Attack จำนวน 12 ลำ วันที่ 26 เมษายน
2016 รัฐบาลออสเตรเลียตัดสินใจเลือกแบบเรือ Shortfin
Barracuda Block 1A บริษัท DCNS (หรือ Naval Group ในปัจจุบัน) จากฝรั่งเศสเป็นผู้ชนะเลิศ
โชคร้ายการออกแบบแบบเรือลำจริงมีปัญหาอีกครั้ง โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนจากพลังงานนิวเคลียร์เป็นดีเซล-ไฟฟ้า ครั้นถึงวันที่ 16 กันยายน 2021 รัฐบาลออสเตรเลียตัดสินใจยกเลิกโครงการ SEA 1000 พร้อมกับตั้งโครงการ
AUKUS ขึ้นมาเพื่อจัดหาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์รุ่นใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีผสมผสานระหว่างเรือดำน้ำอังกฤษกับอเมริกา
เละไปแล้วสองโครงการระดับหลายหมื่นล้านเหรียญ
เรามาพูดถึงโครงการยักษ์ที่สามกันต่อดีกว่า
SEA 1180 คือชื่อโครงการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Arafura กองทัพเรือออสเตรเลียต้องการจัดหามาใช้งานจำนวน 12 ลำ
อู่ต่อเรือในประเทศ ASC ใช้แบบเรือ OPV 80 ของบริษัท Lurssen ประเทศเยอรมันเข้าร่วมชิงชัย
และได้รับการคัดเลือกจากรัฐบาลออสเตรเลียในวันที่ 24 พฤศจิกายน
2017
ผู้เขียนเคยเขียนถึงโครงการนี้พร้อมบทกลอนเรียบร้อยแล้ว
อ่านทบทวนได้ตามลิงก์ด้านล่างนี้ครับ
SEA
1180 Offshore Combat Vessel Program
โครงการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Arafura ตอนนี้สร้างจริงจำนวน
3 ลำ เรือลำที่หนึ่ง HMAS Arafura (OPV 203) ทำพิธีปล่อยลงน้ำเรียบร้อยแล้วในวันที่
16 ธันวาคม 2021
เนื่องจากโครงการนี้มีความคืบหน้ามากพอสมควร
กองทัพเรือออสเตรเลียจึงตัดสินใจเดินหน้าโครงการใหม่เพิ่มเติม และโครงการที่ว่านั่นก็คือ
‘SEA 1905 Maritime Mine Countermeasures’ หรือโครงการเรือล่าทำลายทุ่นระเบิดไกลฝั่ง
SEA
1905 ถือกำเนิดขึ้นมาในเดือนเมษายน 2019 กองทัพเรือออสเตรเลียต้องการเรือล่าทำลายทุ่นระเบิดรุ่นใหม่
นำมาทดแทนเรือล่าทำลายทุ่นระเบิดใกล้ฝั่งชั้น Huon จำนวน 4
ลำในอนาคต ต่อมาในปีเดียวกันนายกรัฐมนตรี Scott Morrison แจ้งนโยบายหนึ่งระหว่างหาเสียงเลือกตั้งว่า จะจัดหาเรือสนับสนุนการล่าทำลายทุ่นระเบิดจำนวน
2 ลำให้กับกองทัพเรือตามโครงการ SEA 1905
หลังจากนั้นจะจัดหาเรือสำรวจทางอุทกศาสตร์รุ่นใหม่ภายใต้โครงการ SEA 2400 พร้อมกับระบุว่ากองทัพเรือออสเตรเลียจะมีเรือขนาด 2,000 ตันจำนวน 20 ลำ ประจำการทดแทนเรือตรวจการณ์ขนาด 50
เมตร เรือล่าทำลายทุ่นระเบิดใกล้ฝั่ง และเรือสำรวจทางอุทกศาสตร์รุ่นเก่าทั้งหมด
ผู้อ่านอย่าเพิ่งสับสนคำพูดท่านผู้นำ
เดี๋ยวผู้เขียนขยายความให้อย่างชัดเจน สาเหตุที่นายกรัฐมนตรีระบุขนาดเรือเท่ากันทั้งหมด
เนื่องจากกองทัพเรือจะใช้แบบเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งจากเยอรมัน
มาปรับปรุงนิดหน่อยให้กลายเป็นเรือล่าทำลายทุ่นระเบิดกับเรือสำรวจทางอุทกศาสตร์
เพราะฉะนั้นเรือทั้งสามชนิดจึงใช้แบบเรือร่วมกัน
แท้จริงแล้วโครงการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น
Arafura ถูกออกแบบให้ทำภารกิจล่าทำลายทุ่นระเบิดกับเรือสำรวจทางอุทกศาสตร์ได้
โดยการติดตั้งตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์จำนวน 2 ใบบนลานจอดเฮลิคอปเตอร์
เมื่อกองทัพเรือต้องการจัดหาเรือล่าทำลายทุ่นระเบิดแท้ๆ ขึ้นมาภายหลัง
จึงนำเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Arafura
มาปรับปรุงเพิ่มเติมเล็กน้อย โดยการปรับปรุงให้ช่องปล่อยเรือเล็กที่บั้นท้ายซึ่งรองรับเรือเล็กความยาวถึง
11 เมตร ให้ทำงานร่วมกับยานผิวน้ำไร้คนขับปราบทุ่นระเบิดรุ่นใหม่จากบริษัท
Thales รวมทั้งจัดหาอุปกรณ์ตรวจจับและปราบทุ่นระเบิดรุ่นใหม่ทันสมัยจาก
Thales กับ L3-Harris มาใช้งานบนเรือตัวเอง
ภาพประกอบที่หนึ่งภาพใหญ่คือเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง HMAS Arafura (OPV 203) ระหว่างทำพิธีปล่อยลงน้ำ นี่คือเรือต้นแบบที่ถูกนำมาปรับปรุงเป็นเรือล่าทำลายทุ่นระเบิด ส่วนภาพเล็กมุมบนซ้ายกรอบแดงคือเรือล่าทำลายทุ่นระเบิดใกล้ฝั่งชั้น Huon ใช้แบบเรือ Lerici จากประเทศอิตาลีจึงมีรูปร่างหน้าตาคล้ายเรือล่าทำลายทุ่นระเบิดใกล้ฝั่งชั้นเรือหลวงลาดหญ้าแห่งราชนาวีไทย และภาพเล็กมุมบนขวากรอบเหลืองคือยานผิวน้ำไร้คนขับปราบทุ่นระเบิดรุ่น Apollo ของกองทัพเรืออังกฤษ กำลังแบกโซนาร์ตรวจจับทุ่นระเบิดสีเหลืองสดไว้ที่ท้ายเรือ สามารถทำงานในพื้นที่เสี่ยงภัยโดยไม่ต้องนำเรือใหญ่เข้าไปเสี่ยงตาย สินค้าทันสมัยจากบริษัท Thales ประเทศฝรั่งเศสจะทำงานร่วมกับเรือตรวจการณ์ขนาด 80 เมตรจากบริษัท Lurssen ประเทศเยอรมัน
ข้อดีของการใช้แบบเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งปรับปรุงเป็นเรือล่าทำลายทุ่นระเบิดก็คือ
เรือสามารถเดินทางไกลไปพร้อมกับกองเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์
สามารถจัดการทุ่นระเบิดได้ถึงแนวหน้าแบบทันทีทันใด กองเรือไม่จำเป็นต้องรอคอยเรือล่าทำลายทุ่นระเบิดใกล้ฝั่ง
ไม่จำเป็นต้องแบ่งเรือไปคอยคุ้มกันระหว่างปฏิบัติหน้าที่ และด้วยอุปกรณ์ทันสมัยมากมายบนเรือล่าทำลายทุ่นระเบิดที่แท้จริง
สามารถจัดการทุ่นระเบิดได้ดีกว่าเรือตรวจการณ์วางตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ 2
ใบ เหมือนที่กำลังฮอตฮอทติดลมบนอยู่กับกองทัพเรือหลายชาติ
เห็นหน้าตาคร่าวๆ
ของเรือลำใหม่กันไปแล้ว ผู้เขียนขอย้อนกลับที่โครงการ SEA
1180 หรือโครงการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Arafura สักเล็กน้อย ระหว่างสร้างเรือเกิดปัญหาติดขัดนิดหน่อยเพียง 2 ประการ เรื่องแรกคือความล่าช้าอันเกิดมาจากโรคระบาดร้ายแรงทั่วโลก
ส่งผลให้เรือตรวจการณ์ลำแลกต้องเลื่อนการเข้าประจำการออกไปก่อน
และเรื่องที่สองคือการยกเลิกคำสั่งซื้อปืนกลอัตโนมัติ Leonardo Marlin 40 จากบริษัทอิตาลี
ก่อนหน้านี้ปืนกลอัตโนมัติ
Leonardo
Marlin 40 ได้ถูกคัดเลือกเป็นปืนหลัก
ทำงานร่วมกับออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง EOS500 จากบริษัท SAAB
ประเทศสวีเดน แต่แล้วเมื่อเรือตรวจการณ์ลำที่หนึ่งทำพิธีปล่อยลงน้ำ
รัฐบาลออสเตรเลียตัดสินใจยกเลิกการครอบครอง Marlin 40 รายแรกของโลก
และให้ข่าวว่าจะติดปืนกลอัตโนมัติ Typhoon ขนาด 25 มม.จากบริษัท Rafale ประเทศอิสราเอลบนเรือ
HMAS Arafura (OPV 203)
เหตุผลในการยกเลิกคำสั่งซื้อ
Leonardo
Marlin 40 จำนวน 12 กระบอกก็คือ ‘อาวุธปืนมีปัญหาด้านเทคนิค’ พูดอีกอย่างก็คืออาวุธปืนยังพัฒนาไม่เสร็จสมบูรณ์
ไม่สามารถส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าได้ตามกำหมด
ครับ…รายแรกของโลกก็แบบนี้แหละ
ภาพประกอบที่สองซ้ายมือคือ
Leonardo
Marlin 40 ผู้ไม่มาตามนัด ส่วนขวามือคือ Rafale Typhoon 25 mm ผู้มาแทนที่
ปืนรุ่นนี้กองทัพเรือออสเตรเลียมีประจำการจำนวนมาก จึงไม่มีปัญหาทางเทคนิคหรือการใช้งานอย่างแน่นอน
และเนื่องมาจากขนาดลำกล้องปืนลดลงกว่าเดิม ส่งผลให้ระยะยิงหวังผลลดลงจาก 4,000
เมตรเหลือเพียง 2,000 เมตร
สร้างความเสียหายต่อเป้าหมายน้อยลงกว่าเดิม อัตรายิงสูงสุดลดลงกว่าเดิม
รวมทั้งไม่สามารถใช้งานกระสุนปืนอเนกประสงค์รุ่นใหม่ การป้องกันตัวจากภัยคุกคามน้อยใหญ่พลอยลดลงตามกัน
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม…การเปลี่ยนอาวุธปืนแทบไม่ส่งผลกระทบ
ออสเตรเลียตั้งอยู่โดดเดี่ยวไม่มีภัยคุกคามในระยะหลายพันไมล์ ส่วนเพื่อนบ้านชาติเดียวคือนิวซีแลนด์ทั้งเกาะมีแต่แกะคงทำอะไรไม่ได้
ปัจจุบันกองทัพเรือมีเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำ 8 ลำ (อนาคตจะมีเพิ่มเป็น
9 ลำ) กับเรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศอีก 3 ลำ มากเพียงพอในการปกป้องน่านน้ำตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัย โดยไม่จำเป็นต้องติดอาวุธหนักให้กับเรือตรวจการณ์
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม(อีกครั้ง)….เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Arafura
สามารถติดอาวุธปืนประสิทธิภาพสูงกว่าเดิมได้ อาทิเช่นปืนกลอัตโนมัติ RAPICFire
Naval Gun ขนาด 40 มม. สินค้าจากบริษัท
Thales มาพร้อมกระสุนไร้ปลอกรุ่นใหม่
ได้รับการคัดเลือกให้ติดตั้งกับเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง เรือน้ำมัน
รวมทั้งเรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่กองทัพเรือฝรั่งเศส นอกจากนี้ยังมีสองศรีพี่น้องปืนกลอัตโนมัติ
Bofors 40 Mk4 ขนาด 40 มม. กับปืนใหญ่ Bofors 57 Mk3 ขนาด 57 มม.จากบริษัท BAE
ประเทศอังกฤษ ใช้งานร่วมกับกระสุนฉลาด 3P
จัดการเป้าหมายได้ถึง 6 รูปแบบโดยใช้ลูกกระสุนเพียงชนิดเดียว
ภาพประกอบสุดท้ายภาพบนคือเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น
Arafura ผู้เขียนปรับปรุงภาพวาดให้ใกล้เคียงเรือลำจริงมากที่สุด
(แต่ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยไม่ชัดเจนอยู่ดี) เปลี่ยนมาใช้งานปืนกลอัตโนมัติ Typhoon ขนาด 25 มม.เรียบร้อยแล้ว
กลางเรือมีจุดปล่อยเรือยางท้องแข็งยาว 8.5 เมตรจำนวน 2
ลำ ลานจอดเฮลิคอปเตอร์วางตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์จำนวน 2 ใบ ทำงานร่วมกับอากาศยานไร้คนขับ Schiebel Camcopter S-100 ท้ายเรือมีจุดปล่อยเรือยางท้องแข็งยาว 11 เมตรอีก
1 ลำ เรือตรวจการณ์ลำนี้มีเรือเล็กถึง 3 ลำเหมาะสมกับภารกิจ
ภาพประกอบสุดท้ายภาพล่างคือเรือล่าทำลายทุ่นระเบิดตามโครงการ
‘SEA
1905 Maritime Mine Countermeasures’
รูปร่างหน้าตาคล้ายเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Arafura ถึง 95
เปอร์เซ็นต์ หัวเรือติดตั้งเครนอเนกประสงค์ขนาดเล็กเพิ่มเข้ามา
1 ตัว ใต้ท้องเรือติดตั้งโซนาร์เตือนภัยทุ่นระเบิด
เครนใหญ่สำหรับยกเรือยางท้องแข็งกับวางตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์
สามารถใช้งานร่วมกับยานใต้น้ำทำลายทุ่นระเบิดได้อีกหนึ่งภารกิจ ท้ายเรือมีจุดปล่อยยานผิวน้ำไร้คนขับปราบทุ่นระเบิดขนาด
11 เมตร เท่ากับว่าเรือลำนี้มีคุณลักษณะ Mother Ship ในระดับหนึ่ง ส่วนลานจอดเฮลิคอปเตอร์หากไม่ติดตั้งตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์
สามารถใช้เฮลิคอปเตอร์ Bell 429 บินมารับเจ้าหน้าที่หน่วย EOD
ไปจัดการเก็บกู้ทุ่นระเบิดกลางทะเลด้วยมือได้
โครงการ
SEA
1905 ได้รับการอนุมัติสร้างเรือจำนวน 2 ลำในเฟสหนึ่ง
เท่ากับว่าตอนนี้แบบเรือ OPV 80 ได้รับการสร้างแน่ๆ จำนวน 12+2=14
ลำ ยังเหลืออีก 6 ลำต้องรอดูอนาคตภายภาคหน้าต่อไป
และข้อมูลสุดท้ายที่ผู้เขียนอยากอธิบายให้ชัดเจนก็คือเรื่อง ‘ราคาเรือ’
เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น
Arafura ราคาลำละ 300 ล้านเหรียญออสเตรเลียหรือ 7,346
ล้านบาท
เรือล่าทำลายทุ่นระเบิด
SEA
1905 ราคาลำละ 500 ล้านเหรียญออสเตรเลียหรือ 12,260 ล้านบาท
ราคาแพงที่แพงขึ้นมาจากอุปกรณ์ตรวจจับและล่าทำลายทุ่นระเบิด
หากกองทัพเรือไทยต้องการปรับปรุงเรือตรวจการณ์ให้ทำภารกิจปราบทุ่นระเบิดบ้าง
เตรียมงบประมาณไว้เลย 4,914 ล้านบาทต่อลำเท่านั้นเอง
+++++++++++++++++++++++
อ้างอิงจาก
https://news.defence.gov.au/tags/sea-1905-phase-1
https://www.globalsecurity.org/military/world/australia/sea-1905.htm
http://www.shipbucket.com/forums/viewtopic.php?f=13&t=9540&p=188527&hilit=Arafura#p188527
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น