วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2565

M58 Batch 2 Patrol Boat

เรือตรวจการณ์ขนาด 50 เมตร (ความยาวระหว่าง 50 ถึง 59 เมตร) ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เพราะมีขนาดใหญ่เพียงพอเผชิญคลื่นลมแรงกลางท้องทะเล ติดตั้งอาวุธป้องกันตัวเองได้ดีระดับหนึ่ง สมรรถนะ ความเร็ว และระยะปฏิบัติการเหมาะสมกับภารกิจ แม้แต่ประเทศที่มีการจัดตั้งหน่วยยามฝั่งแยกจากกองทัพเรือ ยังคงประจำการเรือตรวจการณ์ขนาด 50 เมตรเหมือนเดิม ขณะที่เรือลำเล็กกว่ามักถูกโอนย้ายไปอยู่หน่วยยามฝั่ง

กองทัพเรือไทยมีเรือตรวจการณ์ขนาด 50 เมตรใช้งานจำนวนหนึ่ง ประกอบไปด้วยเรือตรวจการณ์ปืนชั้นเรือหลวงสัตหีบจำนวน 6 ลำ (ภาพประกอบที่หนึ่งมุมบนซ้าย) เข้าประจำการระหว่างปี 2626 ถึง 2529 ใช้แบบเรือ PSMM Mk5 จากอเมริกามาปรับปรุงให้เหมาะสมความต้องการ เข้าประจำการได้เพียงไม่กี่ปี เรือหลวงสัตหีบ เรือหลวงตากใบ และเรือหลวงคลองใหญ่ ได้รับการปรับปรุงโดยการติดตั้งปืนใหญ่ 76/62 มม.ปืนกล 40/70 มม.และออปโทรนิก์ควบคุมการยิง NA-18 จากอิตาลี (ภาพประกอบที่หนึ่งมุมบนขวา) จึงได้มีการแบ่งเรือออกเป็น 2 ชั้นย่อยในภายหลัง คือเรือชั้นเรือหลวงสัตหีบกับเรือชั้นเรือหลวงกันตังซึ่งไม่ได้ติดตั้งอาวุธทันสมัย

เรือหลวงสัตหีบมีความยาว 50.14 เมตรตรงปกแบบเป๊ะเว่อร์

ภาพประกอบที่หนึ่งมุมล่างซ้ายคือเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้นเรือหลวงคำรณสินธุ กองทัพเรือมีจำนวน 3 ลำเข้าประจำการระหว่างปี 2535-2536 โดยใช้แบบเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น Province Class ของอังกฤษ มาขยายความยาวเพิ่มเติม 9 เปอร์เซ็นต์จาก 56.7 เมตรเป็น 62 เมตร จากนั้นสร้างปล่องระบายความร้อนขนาดใหญ่สไตล์อังกฤษไว้ที่กลางเรือ กลายเป็นเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่ที่สุดติดอาวุธทันสมัยมากที่สุด

ภาพประกอบที่หนึ่งมุมล่างขวาคือเรือตรวจการณ์ปืนชั้นเรือหลวงหัวหิน กองทัพเรือมีจำนวน 3 ลำเข้าประจำการปี 2544 โดยใช้เรือหลวงคำรณสินธุมาปรับปรุงเล็กน้อยเป็นเรือตรวจการณ์ปืน ติดตั้งปืนใหญ่ 3 นิ้วกับปืนกล 40 มม.จากยุคสงครามโลกไว้ป้องกันตัว อันเป็นผลสืบเนื่องจากงบประมาณจัดหาเรือค่อนข้างจำกัด

โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ขนาด 50 เมตรทดแทนเรือเดิม

เรือตรวจการณ์จำนวน 12 ลำมีอายุใช้งานตั้งแต่ 21 ถึง 39 ปี ถือว่าค่อนข้างมากสมควรตั้งโครงการจัดหาใหม่เสียที เมื่อนายกโรมหัวหน้าพรรคกัญชาเสรีประชาธิปไตย เอาชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์กลับมาเป็นผู้นำประเทศอีกครั้ง หนึ่งในนโยบาย 214 ข้อที่เขาให้สัญญาว่าจะคืนความสุขประชาชนก็คือ โครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ขนาด 50 เมตรจำนวน 11 ลำโดยใช้เวลารวมทั้งสิ้น 16 ปี

ทำไมซื้อเรือเก่า 11 ลำทดแทนเรือเก่า 12 ลำ?

คำตอบก็คือเพราะมีเรือใหม่อยู่แล้ว 1 ลำ และเรือใหม่ลำนี้เองคือนางเอกของบทความนี้

การคืนความสุขทำได้โดยการจัดหาเรือตรวจการณ์ M58 จากบริษัทมาร์ซัน แบ่งเป็น 4 เฟสแต่ละเฟสใช้เวลา 4 ปี เฉพาะเฟสแรกจัดหาเรือจำนวน 2 ลำ อีกสามเฟสที่เหลือจัดหาเรือจำนวน 3 ลำ โดยมีข้อแม้ว่าในแต่ละเฟสมาร์ซันต้องให้บริษัทเอกชนรายอื่น ช่วยสร้างเรือ 1 ลำเพื่อกระจายความรู้ความสามารถในการสร้างเรือ

เรือตรวจการณ์ M58 มีความยาว 58 เมตร กว้าง 9.3 เมตร กินน้ำลึก 2.5 เมตร รูปร่างหน้าตากึ่งทันสมัยกึ่งอนุรักษ์นิยมผู้เขียนตัดสินใจไม่ถูก อยากให้ผู้อ่านพิจารณาภาพประกอบที่สองไปพร้อมกัน จะมองเห็นพื้นที่ว่างบริเวณกลางเรือค่อนข้างเยอะพอสมควร สามารถติดตั้งตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ได้ตามสมัยนิยม ทว่าในภาพลูกประดู่ไทยนำเต็นท์ผ้าใบมาวางพร้อมเดินสายไฟ กันแดดกันฝนได้ก็จริงแต่ป้องกันความร้อนได้น้อยนิด

จุดนี้เองที่นายกโรมเห็นแล้วไม่ค่อยชอบใจ เขาต้องการสร้างห้องประชุมอเนกประสงค์ขนาด 8x8 เมตรเพิ่มเติมเข้ามา ใช้เป็นห้องทำงานหรือห้องพักเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษ รวมทั้งต้องการเปลี่ยนแนวทางการติดตั้งอาวุธป้องกันตัว ให้เหมาะสมกับภารกิจในปัจจุบันซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากยุคสงครามเย็น

การปรับปรุงเรือมีปัญหาเล็กน้อยตามภาพประกอบที่สาม เรือตรวจการณ์ M58 มีห้องพักลูกเรือบริเวณหัวเรือกับท้ายเรือ ถูกกั้นขวางด้วยห้องเครื่องยนต์กับเครื่องปั่นไฟซึ่งมีด้วยกันถึง 3 ตัว ใต้ดาดฟ้าเรือไม่มีทางเดินเชื่อมกันระหว่างหัวเรือกับท้ายเรือ จำเป็นต้องสร้างทางขึ้นลงบริเวณท้ายเรือใกล้กับปืนกลขนาด 30 มม.


ภาพใหญ่มองเห็นทางขึ้นลงบริเวณท้ายเรืออย่างชัดเจน ขนาดค่อนข้างใหญ่เข้าใจว่ามีพื้นที่เก็บกระสุนปืนกลขนาด 30 มม.อยู่ในนั้น การปรับปรุงแบบเรือไม่สามารถโยกย้ายทางขึ้นลงไปไว้ที่อื่น ครั้นจะถอดออกไปเลยก็ไม่สะดวกกับการใช้ชีวิตของลูกเรือ จำเป็นต้องติดตั้งให้มันเกะกะหัวใจเล่นๆ ในตำแหน่งเดิม

นอกจากนี้บริเวณสองกราบเรือยังมีท่อระบายอากาศกับท่อดูดอากาศ ติดตั้งอยู่เหนือห้องเครื่องยนต์สองตัวหลังอันเป็นจุดกางเต็นท์ผ้าใบ อุปกรณ์สำคัญทั้งสองชิ้นถอดออกไม่ได้เช่นเดียวกัน แต่จำเป็นต้องย้ายตำแหน่งเล็กน้อยเพราะการสร้างห้องประชุมอเนกประสงค์ ในความเป็นจริงอาจมีวิธีแก้ไขเพียงแต่ผู้เขียนขอไม่ปรับเปลี่ยน

จากแปลนเรือจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ปืนใหญ่ 76/62 มม.จากอิตาลีกินพื้นที่ใต้ดาดฟ้าเรือพอสมควร หากใช้งานปืนชนิดอื่นซึ่งออกแบบให้จัดเก็บลูกกระสุนในป้อมปืน จะมีพื้นที่บริเวณหัวเรือสำหรับพักผ่อนหรือทำอะไรก็ได้เพิ่มเติมเข้ามา ตรงนี้ก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่นายกโรมเห็นแล้วไม่ค่อยชอบใจ

หลังการประชุมอย่างยาวนานมีข้อสรุปชัดเจนว่า ระหว่างจัดหาเรือตรวจการณ์ M58 เฟสหนึ่งตั้งแต่ปี 2023 ถึงปี 2026 จะมีการออกแบบเรือตรวจการณ์ M58 Batch 2 ให้เสร็จสมบูรณ์ไปพร้อมกัน

โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ปราบเรือผิวน้ำคืนความสุขเฟสหนึ่ง (ระยะเวลาตั้งแต่ปี 2023 ถึงปี 2026)

          จัดหาเรือตรวจการณ์ขนาด 50 เมตรจำนวน 2 ลำ กำหนดให้ใช้แบบเรือตรวจการณ์ M58 Batch 1 สร้างโดยบริษัทมาร์ซันจำนวน 1 ลำ สร้างโดยบริษัทอิตัลไทยมารีนจำนวน 1 ลำ

          โครงการนี้จะสร้างเรือเหมือนเรือหลวงแหลมสิงห์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ผู้เขียนจึงขออ้างอิงตัวเลขจากในอดีต

-ราคาเรือเปล่าพร้อมระบบสื่อสารและเรดาร์เดินเรือเท่ากับ 700 ล้านบาท

-ระบบอำนวยการรบ Thales Tacticos บวกปืนใหญ่ Oto 76/62 มม.รุ่น Compact มือสอง บวกปืนกลอัตโนมัติ DS-3OM Mark 2 เท่ากับ 500 ล้านบาท

-ราคาสร้างเรือหนึ่งลำ 1,200 ล้านบาท

-ราคาสร้างเรือสองลำ 2,400 ล้านบาท

-ค่าเงินเฟ้อกับความผันผวนค่าเงินบาท 80 ล้านบาท

-จัดหาเรือ 2 ลำราคาสร้างเรือลดลง 30 ล้านบาท

-ราคารวมทั้งโครงการ 2,400+80-30=2,450 ล้านบาท

ปี 2026 เรือหลวงท่าฉาง 562 และเรือหลวงปะทิว 563 จะเข้าประจำการร่วมกับเรือหลวงแหลมสิงห์ 561 ส่วนเรือหลวงกันตัง 524 เรือหลวงเทพา 525 และเรือหลวงท้ายเหมือง526 ซึ่งไม่ได้ติดตั้งอาวุธทันสมัย ถูกปลดประจำการหลังรับใช้ชาติอย่างยาวนานถึง 40 ปี

โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ปืนคืนความสุขเฟสสอง (ระยะเวลาตั้งแต่ปี 2027 ถึงปี 2030)

          จัดหาเรือตรวจการณ์ขนาด 50 เมตรจำนวน 3 ลำ กำหนดให้ใช้แบบเรือตรวจการณ์ M58 Batch 2 สร้างโดยบริษัทมาร์ซันจำนวน 2 ลำ สร้างโดยบริษัทซีเครสท์มารีนจำนวน 1 ลำ

          ชมภาพประกอบไปพร้อมๆ กันเลย เรือตรวจการณ์ M58 Batch 2 คือลำบนนั่นเอง ส่วนครึ่งลำหน้าเหมือนเดิมทุกประการ ส่วนครึ่งลำหลังสร้างห้องประชุมอเนกประสงค์ขนาด 8x8 เมตรเพิ่มเติมเข้ามา ทางขึ้นลงห้องพักลูกเรือบริเวณท้ายเรือยังอยู่ที่เดิม ท่อระบายอากาศกับท่อดูดอากาศขยับมาด้านท้ายประมาณ 6-8 เมตร

          นายกโรมต้องการเปลี่ยนแนวทางการติดตั้งอาวุธป้องกันตัว รวมทั้งควบคุมงบประมาณไม่ให้บานปลายมากเกินไป (เหมือนโครงการในอดีตนั่นแหละครับ) ฉะนั้นเรือเฟสสองจึงไม่มีระบบอำนวยการรบ หัวเรือติดตั้งปืนกลอัตโนมัติ DS-3OM Mark 2 จำนวน 1 กระบอก จุดติดอาวุธกลางเรือใช้ปืนกล M2 ขนาด 12.7 มม.จำนวน 2 กระบอก จุดติดอาวุธท้ายเรือปล่อยไว้โล่งๆ แบบเดิมไปก่อน นำตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์มาวางตามสมัยนิยมได้ หรือต้องการกางเต็นท์ผ้าใบตามหลักนิยมก็สามารถทำได้เช่นกัน

-ราคาเรือเปล่าพร้อมระบบสื่อสารและเรดาร์เดินเรือลำละ 750 ล้านบาท

-ราคาสร้างเรือ 3 ลำ 2,250 ล้านบาท

-จัดหาเรือ 3 ลำราคาสร้างเรือลดลง 50 ล้านบาท

-ปืนกลอัตโนมัติ DS-3OM Mark 2 จำนวน 3 กระบอกนำมาจากเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชั้น ต.991 ส่วนปืนกล M2 ขนาด 12.7 มม.จำนวน 6 กระบอกนำมาจากเรือชั้นเรือหลวงกันตัง จ่ายแค่เพียงค่าซ่อมบำรุงคืนสภาพจำนวนรวม 40 ล้านบาท

-ออปทรอนิสก์ควบคุมการยิง EOFCS จำนวน 3 ระบบ 60 ล้านบาท

-ราคารวมทั้งโครงการ 2,250-50+40+60=2,300 ล้านบาท

-ราคารวมต่อลำ 766.66 ล้านบาท

ปี 2030 เรือหลวงสทิงพระ 564 เรือหลวงอ่าวลึก 565 และเรือหลวงดอนสัก 566 จะเข้าประจำการ ส่วนเรือหลวงสัตหีบ 521 เรือหลวงตากใบ 522 และเรือหลวงคลองใหญ่ 523 ถูกปลดประจำการหลังรับใช้ชาติอย่างยาวนานตั้งแต่ 44 ถึง 47 ปี

โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำคืนความสุขเฟสสาม (ระยะเวลาตั้งแต่ปี 2031 ถึงปี 2034)

          จัดหาเรือตรวจการณ์ขนาด 50 เมตรจำนวน 3 ลำ กำหนดให้ใช้แบบเรือตรวจการณ์ M58 Batch 2.5 สร้างโดยบริษัทมาร์ซันจำนวน 2 ลำ สร้างโดยบริษัทอิตัลไทยมารีนจำนวน 1 ลำ

          การจัดหาเรือเฟสสามย้อนกลับมาที่บริษัทอิตัลไทยมารีนอีกครั้ง เพราะในอดีตอิตัลไทยมารีนเคยสร้างเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้นเรือหลวงคำรณสินธุจำนวน 2 ลำ มีประสบการณ์มากกว่ามาร์ซันซึ่งเคยสร้างแค่เพียงเรือตรวจการณ์ปืน ทั้งสองบริษัทต้องทำงานร่วมกันเพื่อสร้างเรือ 3 ลำให้แล้วเสร็จภายใน 4 ปี

          ในภาพประกอบเรือตรวจการณ์ M58 Batch 2.5 คือลำล่าง ทั้งเรดาร์และอาวุธถูกจัดแน่นจัดเต็มไม่แพ้ชาติไหน ใช้ระบบอำนวยการรบ Thales Tacticos หัวเรือติดตั้งปืนใหญ่ Oto 76/62 มม.รุ่น Compact มือสอง กลางเรือติดตั้งปืนกลอัตโนมัติ DS-3OM Mark 2 จำนวน 1 กระบอก ท้ายเรือติดตั้งแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำแฝดสาม Mark 32 จำนวน 2 แท่นยิง มีจุดติดตั้งแท่นยิงเป้าลวงตอร์ปิโด Mk.137 หกท่อยิงใกล้ทางขึ้นลงท้ายเรือแต่ยังไม่ได้ติด มีจุดติดตั้งรางปล่อยระเบิดลึกท้ายเรือแต่ยังไม่ได้ติดเช่นเดียวกัน

          เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจจับให้สูงกว่าเดิม มีการติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ 3 มิติ Sea Giraffe 1X เพิ่มเติมเข้ามา ระบบโซนาร์หัวเรือเป็นอุปกรณ์สำคัญเช่นเดียวกัน เยอรมันไม่ได้ผลิตโซนาร์สำหรับเรือรบขนาดเล็กนานมากแล้ว ต้องจัดหาจากอินเดียซึ่งมีโครงการสร้างเรือคอร์เวตขนาด 70 เมตรใช้งานเขตน้ำตื้นจำนวน 16 ลำ เรือเฟสสามจึงติดโซนาร์หัวเรือจากบริษัท DRDO จากอินเดีย ส่วนตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำใช้รุ่น Mk.46 ของเก่าในคลังแสง แล้วจัดหาตอร์ปิโดรุ่นใหม่ Mk.54 จากอเมริกามาใช้งานทดแทนบนเรือฟริเกต

-ราคาเรือเปล่าพร้อมระบบสื่อสารและเรดาร์เดินเรือเท่ากับ 750 ล้านบาท

-ราคาสร้างเรือ 3 ลำ 2,250 ล้านบาท

-จัดหาเรือ 3 ลำราคาสร้างเรือลดลง 50 ล้านบาท

-ค่าเงินเฟ้อ 30 ล้านบาท

-ระบบอำนวยการรบ Thales Tacticos บวกปืนใหญ่ Oto 76/62 มม.รุ่น Compact มือสอง บวกปืนกลอัตโนมัติ DS-3OM Mark 2 สำหรับเรือ 3 ลำเท่ากับ 1,500 ล้านบาท

          -โซนาร์หัวเรือบริษัท DRDO จำนวน 3 ระบบ 1,000 ล้านบาท

          -เรดาร์ตรวจการณ์ Sea Giraffe 1X จำนวน 3 ระบบ 400 ล้านบาท

          -แท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำแฝดสาม Mark 32 จำนวน 6 แท่นยิง นำของเก่าจากเรือหลวงมกุฎราชกุมาร เรือหลวงตาปี เรือหลวงคีรีรัฐ มาปรับปรุงซ่อมแซมคืนสภาพใช้งบประมาณ 50 ล้านบาท

-ราคารวมทั้งโครงการ 2,250-50+30+1500+1,000+400+50=5,180 ล้านบาท

-ราคารวมต่อลำ 1,726.66 ล้านบาท

ปี 2034 เรือหลวงตองปลิว 571 เรือหลวงพาลี 572 และเรือหลวงสารสินธุ 573 จะเข้าประจำการ  ส่วนเรือหลวงคำรณสินธุ 531 เรือหลวงทยานชล 532 และเรือหลวงล่องลม 533 อยู่ในสถานะสำรองราชการหลังรับใช้ชาติอย่างยาวนานถึง 42 ปี กองทัพเรือจะพิจารณาปลดประจำการในอีก 4 ปีถัดมา

โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ปืนคืนความสุขเฟสสี่ (ระยะเวลาตั้งแต่ปี 2035 ถึงปี 2038)

          จัดหาเรือตรวจการณ์ขนาด 50 เมตรจำนวน 3 ลำ กำหนดให้ใช้แบบเรือตรวจการณ์ M58 Batch 2 สร้างโดยบริษัทมาร์ซันจำนวน 2 ลำ สร้างโดยบริษัทยูนิไทยจำนวน 1 ลำ

ทั้งอุปกรณ์และอาวุธต่างๆ บนเรือเฟสสาม เหมือนโครงการสร้างเรือตรวจการณ์ปืนคืนความสุขเฟสสองทุกประการ

-ราคาเรือเปล่าพร้อมระบบสื่อสารและเรดาร์เดินเรือเท่ากับ 750 ล้านบาท

-ราคาสร้างเรือ 3 ลำ 2,250 ล้านบาท

-จัดหาเรือ 3 ลำราคาสร้างเรือลดลง 50 ล้านบาท

-ค่าเงินเฟ้อ 60 ล้านบาท

-ปืนกลอัตโนมัติ DS-3OM Mark 2 จำนวน 3 กระบอก นำมาจากเรือชั้นเรือหลวงคำรณสินธุ

-ปืนกล M2 ขนาด 12.7 มม.จำนวน 6 กระบอก นำมาจากเรือชั้นเรือหลวงคำรณสินธุ

-ออปทรอนิสก์ควบคุมการยิง EOFCS จำนวน 3 ระบบ นำมาจากเรือชั้นเรือหลวงคำรณสินธุ

-ราคารวมทั้งโครงการ 2,250-50+60=2,260 ล้านบาท

-ราคารวมต่อลำ 753.33 ล้านบาท

ปี 2038 เรือหลวงคุระบุรี 567 เรือหลวงทับสะแก 568 และเรือหลวงไม้แก่น 569 จะเข้าประจำการ ส่วนเรือหลวงหัวหิน 541 เรือหลวงแกลง 542 และเรือหลวงศรีราชา 543 ถูกปลดประจำการหลังรับใช้ชาติอย่างยาวนาน 37 ปี หลังปลดประจำการเรือหลวงศรีราชาย้ายมาสังกัดตำรวจน้ำ ถูกตั้งชื่อว่าเรือกัปตันเอส.เย.เอมส์โดยใช้หมายเลข 1805

เท่ากับว่าราคาสร้างเรือตรวจการณ์ขนาด 50 เมตรจำนวน 11 ลำในระยะเวลา 12 ปี ใช้งบประมาณในการจัดหารวมทั้งสิ้น 2,450+2,300+5,180 +2,260=12,190 ล้านบาท

โครงการคืนความสุขของนายกโรมจำนวน 4 เฟส ช่วยสร้างงานให้อู่ต่อเรือในประเทศยาวนานถึง 16 ปี

ภาพประกอบสุดท้ายคือกองเรือตรวจการณ์ขนาด 50 เมตรราชนาวีไทย มีเรือติดปืนใหญ่ Oto 76/62 มม.จำนวน 6 ลำเท่าเดิม มีเรือติดตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำจำนวน 3 ลำเท่าเดิม โดยไม่มีเรือติดอาวุธเก่าจากยุคสงครามโลกครั้งที่สองอีกต่อไป เท่ากับว่ามีเรือเหมาะสมกับโลกยามสงบสุขจำนวน 6 ลำ และมีเรือเหมาะสมกับโลกยามเกิดสงครามจำนวน 6 ลำ จำนวนเรือคละเคล้ากันไปในสัดส่วนค่อนข้างเหมาะสม

ก่อนจบบทความผู้เขียนขอเลี้ยวกลับมาที่ปืนใหญ่ Oto 76/62 มม. ปัจจุบันอิตาลีมีขายแค่รุ่นใหม่ Super Rapid ซึ่งมีราคาสูงถึงกระบอกละ 370 ล้านบาท ปืนใหญ่รุ่น Compact มือสองชักเริ่มลดน้อยลงตามกาลเวลา หลังปี 2030 ไปแล้วน่าจะหาของดีราคาถูกได้ยากพอสมควร ส่วนปืนใหญ่รุ่น Super Rapid มือสองมีจำนวนน้อยนิดตามยอดขาย ไม่เหมือนรุ่น Compact ซึ่งนิยมติดตั้งบนเรือฟริเกตและเร็วโจมตีอาวุธนำวิถี บางลำติดตั้งถึง 2 กระบอกอาทิเช่นเรือเร็วโจมตีปืนชั้นเรือหลวงชลบุรี การขายสินค้ามือสองจึงค่อนข้างแพร่หลายได้รับความนิยม

ต่อไปการจัดหาปืนใหญ่ Oto 76/62 มม.มือสองจะยากลำบากกว่าเดิม ทางเลือกเพิ่มเติมที่หนึ่งคือซื้อปืนใหญ่ที่เกาหลีใต้หรือตุรกีผลิตขึ้นมาเอง (ถ้าตุรกีได้ลิขสิทธิ์ผลิตขายต่างชาติในอนาคต) ใช้ป้อมปืนรุ่น Super Rapid แต่อัตรายิง 80 นัดต่อนาทีเท่ารุ่น Compact โดยมีทางเลือกที่สองคือการจัดหาปืนใหญ่ 57 มม. หรือปืนกล 40 มม.รุ่นใหม่มาใช้งานทดแทน อาวุธเหล่าไม่ใช่พื้นที่ใต้ดาดฟ้าเรือแลกกับจำนวนลูกกระสุนลดน้อยลง

          ปืนใหญ่ Oto 76/62 มม.รุ่นไม่ใช่พื้นที่ใต้ดาดฟ้าเรือมีขายเหมือนกัน แต่เป็นรุ่นป้องกันตนเองระยะประชิดหรือ CIWS บริษัทผู้ผลิตติดเรดาร์วัดระยะไว้ที่ด้านหน้าป้อมปืน ทำงานร่วมกับกระสุนนำวิถี DART สำหรับจัดการเป้าหมายกลางอากาศ ราคาจึงค่อนข้างสูงน่าจะใกล้เคียงรุ่น Super Rapid อัตรายิง 120 นัดต่อนาที

          โครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ขนาด 50 เมตรจำนวน 11 ลำสิ้นสุดลงแต่เพียงเท่านี้ ผู้อ่านทุกคนน่าจะเข้าใจชัดเจนว่าเป็นบทความ What If ประจำปี 2022 นี่คือบทความ What If ซึ่งใกล้เคียงความจริงมากที่สุด

                             +++++++++++++++++++++++

อ้างอิงจาก

https://web.facebook.com/Laemsing561

http://www.fleet.navy.mi.th/patrolsqdn/index.php/main/index

http://marsun.th.com/th/ship_product/m58-patrol-gun-boat/?cat=90

https://thaimilitary.blogspot.com/2019/12/htms-khamronsin.html

http://www.supplyonline.navy.mi.th/pdf2/16628.pdf

http://www2.fleet.navy.mi.th/patrolsqdn/index.php/history/detail/history_id/67

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น