วันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2562

SEA 1180 Offshore Combat Vessel Program


ออสเตรเลียตั้งอยู่บนเกาะขนาดใหญ่ ในมหาสมุทรอินเดีย แปซิฟิก และแอนตาร์กติก เพราะถูกโอบล้อมด้วยทะเลครบทุกด้าน กองทัพเรือจึงมีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ Royal Australian Navy หรือ RAN ประจำการเรือรบกับเรือช่วยรบจากอังกฤษเป็นหลัก เนื่องจากตนเองอยู่ห่างทวีปยุโรปไกลแสนไกล จึงต้องดิ้นรนจนสามารถสร้างเรือรบได้เอง

ในบรรดาเรือรบน้อยใหญ่ที่สร้างเองนั้น เรือกวาดทุ่นระเบิดชั้น Bathurst คือสิ่งที่พวกเขาภูมิใจมากที่สุด ระวางขับน้ำเต็มที่ 1,000 ตัน ยาว 57 เมตร กว้าง 9.4 เมตร กินน้ำลึก 2.6 เมตร เรือลำแรกถูกปล่อยลงน้ำในปี 1940 และมียอดรวมทั้งหมดถึง 60 ลำ แบ่งเป็น 36 ลำของออสเตรเลีย ของอังกฤษ 20 ลำ และอีก 4 ลำเป็นของอินเดีย

เรือลำนี้มักถูกเรียกขานว่าเรือคอร์เวต ถ้าพูดถึง ‘Australian Corvette’ หมายถึงลำนี้ไม่ผิดไปจากนี้ นอกจากอุปกรณ์ในการจัดการทุ่นระเบิดแล้ว ยังติดปืนใหญ่ขนาด 4 นิ้วที่หัวเรือ ปืนกล 20 มม.ที่กลางเรือ ปืนกลขนาด 40 มม.ที่ท้ายเรือ และเครื่องยิงระเบิดลึกทั้งสองกราบเรือ ทำงานได้หลากหลายภารกิจ มีความเอนกประสงค์สมกับฉายา ค่าใช้จ่ายค่อนข้างต่ำตามขนาดเรือ คนออสเตรเลียทั้งภูมิใจและประทับใจมาก ติดอันดับหนึ่งตลอดกาลพูดแบบนั้นก็คงได้


ลำนี้คือเรือกวาดทุ่นระเบิดชื่อ HMAS Castlemaine (J 244) ซึ่งถูกจัดเก็บเป็นพิพิธภัณฑ์แบบลอยน้ำ (ส่วนลำอื่นจัดเก็บไว้บนฝั่ง) สภาพเรือค่อนข้างดีเพราะมีการซ่อมบำรุงทุกปี ใครผ่านไปแถววิกตอเรียแวะถ่ายภาพร่วมกันได้ อยากให้นึกถึงเรือหลวงโพธิ์สามต้นเอาไว้ ทั้งขนาด รูปร่าง และการติดอาวุธคล้ายคลึงกันมาก น้องพี่ที่รักคลานตามกันมาทำนองนี้

หลังสงครามโลกครั้งที่สองผ่านพ้นไป อุตสาหกรรมต่อเรือพุ่งขึ้นสู่จุดรุ่งเรือง มีการสร้างเรือพิฆาตชั้น Daring เข้าประจำการในปี 1957 เป็นเรือรบสมรรถนะสูงลำแรกที่สร้างขึ้นเอง ระวางขับน้ำ 3,820 ตัน ยาว 120 เมตร กว้าง 13 เมตร ติดปืนใหญ่ 4.5 นิ้ว QF Mk V ลำกล้องแฝดถึง 3 กระบอก ปืนออกแบบให้ต่อสู้อากาศยานได้อย่างดีเยี่ยม อัตรายิงสูงมากถึง 24 นัดต่อนาที อังกฤษใช้ปืน QF Mk V เป็นเวลายาวนานหลายสิบปี บ่งบอกถึงความมั่นใจในประสิทธิภาพอาวุธ


ต่อจากเรือพิฆาตชั้น Daring จำนวน 3 ลำ ออสเตรเลียยังคงมั่นใจอาวุธอังกฤษเช่นเคย พวกเขาสร้างเรือพิฆาตคุ้มกันชั้น Type 12M และ Type 12I ขึ้นมาอีก 6 ลำ ติดตั้งจรวดต่อสู่อากาศยาน Seacat ที่พัฒนาจากจรวดต่อสู้รถถัง Malkara ของตัวเอง และจรวดปราบเรือดำน้ำ Ikara ที่ตนเองพัฒนาขึ้นมา อังกฤษยังขอซื้อ Ikara ไปใช้งานเป็นจำนวนมาก

การเปลี่ยนแปลงคือสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ออสเตรเลียใช้งานเรือรบอังกฤษมาตลอด แต่ในปี 1965 พวกเขาหันมาซื้อเรือพิฆาตอาวุธนำวิถีชั้น Charles F. Adams จากอเมริกาจำนวน 3 ลำ (ปรับปรุงให้ใช้งานจรวดปราบเรือดำน้ำ Ikara ได้) สาเหตุที่ซื้อเพราะจรวดต่อสู้อากาศยาน RIM-24 Tartar ยิงได้ไกลสุด 16 ถึง 32 กิโลเมตร (แล้วแต่รุ่น) น้ำหนักเบาใช้พื้นที่ใต้ดาดฟ้าเรือไม่มาก ติดบนเรือขนาด 4,000 ตันได้อย่างสบาย ถ้าพวกเขาเลือกจรวดต่อสู้อากาศยานอังกฤษ จะได้จรวด Seaslug ซึ่งต้องใช้พื้นที่ใต้ดาดฟ้าเรือมหาศาล ติดบนเรือขนาดต่ำกว่า 6,000 ตันไม่ไหวแน่นอน

ใช้อาวุธอเมริกาแล้วเริ่มติดใจ เมื่อเรือรบรุ่นเก่าชราภาพตามกาลเวลา กองทัพเรือจึงได้ผุดโครงการ Australian Light Destroyer Project หรือ DDL ขึ้นมา ช่วงแรกใช้แบบเรืออังกฤษระวางขับน้ำ 2,100 ตัน ต่อมาถูกขยายใหญ่โตจนถึง 4,200 ตัน ติดจรวดต่อสู้เรือรบ Harpoon ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mk 46 และจรวดต่อสู้อากาศยาน RIM-66 Standard จากอเมริกา แต่การขยายแบบเรือก่อให้เกิดปัญหามากมาย รัฐบาลออสเตรเลียตัดสินใจยกเลิกโครงการในปี 1974


ตอนนั้นเองมีใครคนหนึ่ง พลันคิดถึง ‘Australian Corvette’ ขึ้นมา เขาจึงได้อารัมภบทกลางที่ประชุมว่า...

              “อนิจจา วาสนา ชะตาเอ๋ย                    ไฉนเลย มาทอดทิ้ง จนสิ้นหวัง
เพียงไม่นาน โครงการนี้ เริ่มผุพัง           ไม่มีตังค์ เพราะมันแพง แรงจับใจ
ดีดีแอล ติดจรวด ชวดไปแล้ว               หนุ่มสายแบ๊ว นึกอดรน ทนไม่ไหว
พลันเสนอ ความคิดฉัน อันไฉไล           ออสของเรา สมควรใช้ ความพอเพียง
เรือคอร์เวต นั่นปะไร คือคำตอบ            ท่านผู้เฒ่า อาจไม่ชอบ อยากส่งเสียง
แต่ทุกท่าน โปรดรับฟัง  อย่าเอนเอียง    ตัวกระผม จะเรียบเรียง จับใจความ
นานมาแล้ว เราสร้างเรือ เพื่อชาวโลก    ดับทุกข์โศก ให้มวลชน คนสยาม
ดับนาซี ดับญี่ปุ่น รุ่นลายคราม             อิตาลี ก็หมูหาม แพ้ตามกัน
เหตุอันใด เราถึงไม่ ลอกการบ้าน          จากอีวาน จากสมพร จากจอห์นสัน
เราต้องใช้ เรือลำน้อย คอยป้องกัน        ขอทุกท่าน โปรดไตร่ตรอง ด้วยสองตา
แม้เป็นเรือ กระจ้อยร่อย  ลอยเท้งเต้ง    แต่อาวุธ ก็สุดเจ๋ง เก่งหนักหนา
ปราบผิวน้ำ ปราบใต้น้ำ ลอบเข้ามา      มีนามว่า น้อง VEDETTE เสร็จทุกราย

              ออสเตรเลียให้ความสนใจ Vickers Vedette จากอังกฤษแต่ติดอาวุธอเมริกา เรือมีระวางขับน้ำ 1,200 ตัน ยาว 72 เมตรที่ระดับผิวน้ำ และกว้าง 10 เมตร แบ่งเป็น Type 642 สำหรับปราบเรือดำน้ำ มีลานจอดรองรับเฮลิคอปเตอร์รุ่นใหม่ และ Type 633 สำหรับปราบเรือผิวน้ำ ติดตั้งจรวดต่อสู้เรือรบ Harpoon กับปืนต่อสู้อากาศยาน GDM-C 35 มม.ลำกล้องแฝดเพิ่มเข้ามา ออสเตรเลียมีความต้องการประมาณ 8-10 ลำ โดยแบ่งออกเป็น 2 รุ่นจำนวนใกล้เคียงกัน


อู่ต่อเรือ Cockatoo ซึ่งใหญ่โตที่สุดทันสมัยที่สุด พร้อมที่จะสร้างเรือลำน้อยให้ตามต้องการ แต่อนิจจากองทัพเรือตัดสินใจไม่เอา และเลือกเรือฟริเกตชั้น Oliver Hazard Perry จากอเมริกาแทน นอกจากเรือมีขนาดเล็กเกินไป ติดจรวดต่อสู้อากาศยานไม่ได้แล้วนั้น เรือของ Vickers ยังเป็นแค่เพียงเรือกระดาษ สรุปงานนี้น้องวะเด็จเสร็จน้องเพอร์รี่

สุภาษิตชาวออสเตรเลียกล่าวไว้ว่า ลูกผู้ชาย 20 ปีล้างแค้นก็ยังไม่สายระหว่างสร้างเรือฟริเกตชั้น Aazac หรือ Meko 200 ในปี 199x อยู่นั้น ทัพเรือมีความคิดใหม่เอี่ยมขึ้นมาว่า อยากได้เรือรบขนาดไม่ใหญ่แต่ทันสมัย ใช้รบจริงก็ได้ใช้ตรวจการณ์ก็ดีเยี่ยม โครงการไอโอเฟิร์สชอร์ เพทรอล หรือ IO1shore Patrol หรือ The OPC Project จึงได้ถือกำเนิดขึ้น

ต่อมาไม่นานเพื่อนบ้านมาเลเซียเข้ามาร่วมทีม เพราะต้องการขยายกองทัพเรือให้ใหญ่กว่าเดิม ยอดรวมทั้งโครงการพุ่งมาหยุดที่ 39 ลำ มาเลเซียต้องการเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่จำนวน 27 ลำ ติดเฉพาะอาวุธปืนใช้ป้องกันตัวเท่านั้น ขณะที่ออสเตรเลียต้องการเรือ Joint Patrol Vessel หรือ JPV จำนวน 12 ลำ ( ตั้งชื่อใหม่อีกแล้ววุ้ย) ซึ่งบางครั้ง บางคน และสื่อบางฉบับก็เรียกว่าเรือคอร์เวต โครงการนี้จึงมีชื่อเรือนับไม่ถ้วนให้ปวดหัวเล่น

มีผู้เข้าร่วมชิงชัย 2 บริษัท อู่ต่อเรือ Transfield เสนอแบบเรือ JPV ซึ่งมีชื่อใหม่ให้ปวดหัวเพิ่มว่า ‘Australia’s Pocket Battleship’ ระวางขับน้ำ 1,500 ตัน ยาว 81 เมตร กว้าง 12.5 เมตร ติดปืนใหญ่ 57 มม.จรวดต่อสู้อากาศยาน Sea Sparrow พร้อมแท่นยิงแนวดิ่ง Mk 41 VLS เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติรุ่นใหม่ จรวดต่อสู้เรือรบ Harpoon และปืนกล DS-30B ขนาด 30 มม. โดยมีระบบตรวจจับการแพร่คลื่นเรดาร์หรือ ESM รวมทั้งระบบเป้าลวง Nulka ที่ตนเองพัฒนาร่วมกับอเมริกา 

 
ส่วนอู่ต่อเรือ Tenix เสนอแบบเรือ OPC ขนาด 80 เมตร ใช้แบบเรือเดียวกันโดยมีจุดแตกต่างเล็กน้อย ติดปืนใหญ่ 76/62 มม.กับปืนกล 40 มม.เป็นอาวุธหลัก สามารถติดจรวดต่อสู้เรือรบกับตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำได้ เรือทั้ง 2 แบบรองรับเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ SH-2G Sea Spike ซึ่งมีจรวดต่อสู้เรือรบ AGM-119B Penguin เป็นไม้เด็ดโดนใจ

                The OPC Project ก็คือ Offshore Combat Vessel ตามชื่อบทความนั่นเอง ปัจจุบันนิยมเรียกว่าเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง หรือ OPV (เพียงแต่เรือออสเตรเลียติดอาวุธเยอะมาก) แบบเรือจาก Transfield ถูกคัดเลือกอย่างไม่เป็นทางการ ช่วงแรกยังติดแค่เพียงปืนหลักกับปืนรอง โดยมีพื้นที่รองรับอาวุธจรวดทันสมัยในอนาคต โชคร้ายออสเตรเลียตัดสินใจที่จะไม่เอา กลับลำไปสร้างเรือตรวจการณ์ขนาด 50 เมตรแทน มาเลเซียจึงหันมาซื้อเรือชั้น Meko 100 จากเยอรมัน

สุภาษิตชาวออสเตรเลียกล่าวไว้ว่า ลูกผู้ชายนับสาม ก้าวเข้าสู่ปี 2012 อย่างเป็นทางการ ทัพเรือเริ่มคิดถึงเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งอีกแล้ว แค่พูดเปรยๆ กับคนใกล้ตัวเพียงไม่กี่คำ อู่ต่อเรือ Austal พลันเสนอแบบเรือ MRV 80 (Multi-Role Vessel) มาให้ทันที คราวนี้เป็นเรือ Trimaran ซึ่งใช้ตัวเรือ 3 ตัวเรือประกบกัน (เรือชนิดนี้ Austal เชี่ยวชาญมากเป็นพิเศษ) ยาวเพียง 80 เมตรแต่กว้างถึง 21 เมตร กินน้ำลึก 3.2 เมตร มีปืนใหญ่ 57 มม.กับปืนกล 12.7 มม.ไว้ป้องกันตัว ลานจอดและโรงเก็บรองรับเฮลิคอปเตอร์รุ่น NH-90 (NH ย่อมาจาก Nato Helicopter) รวมทั้งติดตั้งไอเทมลับสุดยอดไว้ที่ท้ายเรือ




                ใต้ลานจอดเป็นพื้นที่ Mission Desk หรือ Logistics Desk มีขนาดใหญ่โตถึง 500 ตารางเมตร ใส่ยานเกราะล้อยางหรือรถลำเลียงพลได้จำนวนหนึ่ง พร้อมทหารและอาวุธครบมือจำนวน 87 นาย มีสะพานเหล็กขึ้นลงแบบพับเก็บได้ติดถาวร ถ้ามีผู้ก่อการร้ายยึดครองชายหาดไวท์ฮาเวน สามารถยกพลขึ้นบกเพื่อตลบหลังได้อย่างรวดเร็ว

                บริษัทยังได้นำเสนอแบบเรือติดอาวุธทันสมัย ความยาวเพียง 72 เมตร แต่มีทั้งปืนใหญ่ 76/62 รุ่นใหม่ แท่นยิงแนวดิ่งจำนวน 16 ท่อยิง ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ ปืนกลอัตโนมัติ 27 มม.ระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด RAM ใช้ระบบเรดาร์ทันสมัย CEAFAR คู่กับ CEAMOUNT รวมทั้งระบบเป้าลวงจากเยอรมัน ส่วน Mission Desk ก็ยังอยู่ที่เดิมนะครับ


                โชคร้ายออสเตรเลียเป็นเกาะกลางทะเล ห่างไกลจากชาวบ้านไม่รู้กี่พันไมล์ ผู้ก่อการร้ายหน้าไหนจะบุกมายึดครอง แม้แต่เรือผู้อพยพจากประเทศโลกที่สาม ก็ไม่สามารถฝ่าคลื่นลมแรงมาถึงชายฝั่ง ลูกผู้ชายนับสามจึงต้องนับสี่กันต่อไป

                หลังเงื้อง่าราคาแพงอยู่พักใหญ่ ปี 2015 กองทัพเรือจึงได้เริ่มโครงการ SEA 1180 Phase 1 Offsore Patrol Vessel จำนวนเรือเฟสแรกเท่ากับ 12 ลำ สร้างเองในประเทศเหมือนทุกโครงการ ผู้เข้ารอบ 3 คนสุดท้ายประกอบไปด้วย

                เรือลำแรกมาจากอู่ต่อเรือ Austal ใช้แบบเรือ OPV 80 ของ Fassmer ประเทศเยอรมัน ซึ่งมีการสร้างจริงใช้งานจริงมาแล้วหลายลำ ระวางขับน้ำ 1,850 ตัน ยาว 80.6 เมตร กว้าง 13 เมตร กินน้ำลึก 3.9 เมตร จากภาพวาดเรือสวยมากและเอนกประสงค์มาก มีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ขนาด 10 ตัน ใต้ลานจอดตั้งตู้คอนเทนเนอร์ Mission Mudule ได้ 2 ตู้ ติดปืนกล Bofors 40 มม.Mk4 ที่หัวเรือ มีเรือยาง RHIB ขนาด 7.5 เมตร 2 ลำ และเรือยาง Interceptor ขนาด 11 เมตรอีก 1 ลำ


                พิจารณาจากโบชัวร์ที่มาจัดแสดง  นี่คือเต็งหามนอนมาพระสวดของโครงการ แต่ไม่รู้ว่าตรงความต้องการมากน้อยแค่ไหน ไว้ผู้เขียนจะย้อนกลับมาอีกทีนะครับ คุยเรื่องเรือลำที่สองซึ่งมาแรงแซงทางโค้งกันก่อน

ถ้าพูดถึงอู่ต่อเรือ Damen ขึ้นมาล่ะก็ ทุกคนจะต้องร้องว่า อ๋อสุดยิกเลยครับลูกพี่ เพราะเป็นอู่ต่อเรือใหญ่โตระดับโลก มีแบบเรือมากมายให้ลูกค้าเลือกเสียเงิน และเป็นเจ้าพ่อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งที่แท้จริง ก่อนหน้านี้ Damen เพิ่งสร้างเรืออเนกประสงค์ให้ออสเตรเลีย เรือชื่อ MV Sycamore ใช้แบบเรือ OPV2400 ขนาดใหญ่โตแต่ราคาไม่แพง ทุกคนจึงแอบหมายมั่นปั้นมือไว้ว่า โครงการนี้ Damen จะยอมเทหน้าตักรักหมดใจ เสนอแบบเรือลำใหญ่ที่สุดเพื่อเกทับคู่แข่ง

ปรากฏว่างานนี้เกิดคดีพลิก นี่คือโมเดลเรือจาก Damen อย่างเป็นทางการ เรือลำนี้เคยสร้างให้ยูเอีมาแล้ว ยาว 67 เมตร กว้าง 11 เมตร ระวางขับน้ำหาข้อมูลไม่พบ ออกแบบหัวเรือตรงตามคุณสมบัติ ‘Sea Axe’  มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์เท่าแมวนอนหวด ตู้ Mission Mudule ตั้งอยู่ด้านท้าย ใส่เรือยาง RHIB ได้เพียง 2 ลำ และที่สำคัญเล็กกว่าคู่แข่งพอสมควร


เรื่องแปลกที่น่าสนใจก็คือ เรือลำนี้ติดปืนกล 25 มม.ที่หัวเรือ ผู้เขียนพลันโลกสวยกลางแดดแจ๋ว่า บางที Damen อาจส่งโมเดลเรือผิดลำก็เป็นได้ จนมาได้เจอภาพจำลอง 3 มิติภาพนี้เข้า เริ่มปลงตกว่า Damen ส่งโมเดลเรือถูกลำแน่แล้ว เพราะเป็นเรือลำเดียวกันแน่นอน ทุกอย่างเหมือนกันหมดยกเว้นติดปืนกล 40 มม.


ทำไม Damen ถึงได้ล้มมวยหน้าตาเฉย? เรื่องนี้ต้องมีที่มาที่ไปอย่างแน่นอน คุยเรื่องเรือลำสุดท้ายกันก่อนดีกว่า

เป็นเรือจากเยอรมันกันอีกแล้ว อู่ต่อเรือ Lurssen จับมือกับ ASC ผู้เป็นเจ้าถิ่น เสนอแบบเรือ OPV 80 ซึ่งเคยสร้างให้บรูไนมาแล้วถึง 4 ลำ ระวางขับน้ำ 1,640 ตัน ยาว 80 เมตร กว้าง 13 เมตร บั้นท้ายสูงเหมือนเรือ Austal แต่ผอมเพรียวกว่ากัน ติดปืนกล 40 มม.หน้าตาประหลาดดี ตั้งตู้ Mission Mudule หลังปล่องระบายความร้อน ไม่มีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ มีเรือยาง RHIB ขนาด 8.5 เมตร 2 ลำ และเรือยาง Interceptor ขนาด 11.5 เมตรอีก 1 ลำ


เห็นแบบเรือครบถ้วนหมดแล้ว มาพิจารณาจากเรือจริงกันต่อดีกว่า ผู้เขียนเริ่มจากการตัดเรือ Damen ที่เล็กเกินไปทิ้ง แล้วพาทุกคนมายังเรือ OPV ของชิลี ซึ่งใช้แบบเรือเดียวกันกับของ Austal ชมภาพเรือจริงขณะปฏิบัติงานจริงอะไรจริง


ความรู้สึกแรกพบก็คือนี่มันยานแม่ของพวกเอเลี่ยนไม่ใช่เหรอ? เรือมี Superstructure ค่อนข้างสูงมาก สูงเสียจนน่ากลัวเวลาเจอคลื่นลมแรง ความสวยที่เคยมีผู้เขียนหาไม่เจอ และที่สำคัญเนื้อเรื่องไม่ตรงกับปก เรือลำจริงไม่มีช่องปล่อยเรือด้านท้ายหรือ Stern Launched ฉะนั้นแบบเรือจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไข พื้นที่ตรงนั้นยังต้องตั้ง Mission Mudule อีก 2 ตู้ เบียดเสียดยัดเยียดอยู่ใต้ลานจอด โดยมีเสาเรือต้นเล็กต้นน้อยเกะกะเต็มไปหมด

แบบเรือ Damen ซึ่งติดตั้ง Mission Mudule ใต้ลานจอดนั้น บนลานจอดจะเจาะช่องเปิดได้จำนวน 2 ช่อง สำหรับหย่อนตู้ลงมาจากด้านบน แน่นอนที่สุดว่าจุดดังกล่าวต้องมีการซ่อมบำรุง เจอแดดเจอฝนนานวันเข้าก็เริ่มเสียหาย เรือของ Austal มีเครนหนึ่งตัวบนลานจอด คงเอาไว้ยก Mission Mudule แต่ตัวนิดเดียว ส่วนโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ขนาด 10 ตันนั้น กองทัพเรือระบุอย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการ เพราะจะใช้อากาศยานไร้คนขับ Schiebel Camcopter S-100


ส่วนลำนี้เป็นเรือบรูไนซึ่งใช้แบบเรือของ ASC เป็นเรือที่มีเขี้ยวเล็บแหลมคมจากโรงงาน ติดปืนใหญ่ 57 มม.ปืนกล 20 มม.ปืนกล 12.7 มม.ใส่จรวดต่อสู้เรือรบได้มากสุด 8 นัด ติดระบบเป้าลวง 2 ระบบ ติดระบบ ESM ติดระบบ IFF ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ค่อนข้างยาว วางตู้ Mission Mudule แล้วยังจอดเฮลิคอปเตอร์ลำเล็กได้ ใต้ลานจอดมี Mission Deck ขนาดมหึมา กับช่องปล่อยเรือเล็กใหญ่โตราวกับอู่ลอย เดี๋ยวจะหาว่าผู้เขียนอวยกันไม่ไว้หน้าชมภาพเคลื่อนไหวกันดีกว่า


                                              Lurssen PV 80 offshore patrol vessel

ผลการคัดเลือกแบบเรือจาก ASC เป็นผู้ชนะ มีความแตกต่างจากเรือบรูไนเพียงเล็กน้อย สะพานเดินเรือไม่มีระเบียงด้านหน้า ราวกันตกของเดิมเป็นแผ่นเหล็กยาวถึงลานจอด ได้ถูกตัดทิ้งเหลือแค่เพียงบริเวณส่วนหัวเรือ ติดตั้งเหล็กช่วยประคองเวลาปล่อยเรือเล็ก เป็นอุปกรณ์เสริมซึ่งทำงานโดยอัตโนมัติ ใส่เครนขนาดใหญ่โตไว้สองกราบเรือ ยกตู้ Mission Mudule ขึ้นมาตั้งบนเรือได้ รวมทั้งอุปกรณ์อื่นๆ ในภารกิจเสริม ใช้ระบบจาก SAAB และ L3 ซึ่งเป็นมาตรฐานกองทัพเรือ


เรือ 2 ลำแรกสร้างโดย ASC ออสเตรเลียใต้ ที่เหลืออีก 10 ลำย้ายไปสร้างออสเตรเลียตะวันตก สาเหตุก็คือผู้ชนะเลิศงานยุ่ง ต้องปรับปรุงเรือดำน้ำชั้น Collins ทั้ง 6 ลำ สร้างเรือฟริเกตขนาด 8,800 ตันจากอังกฤษอีก 9 ลำ ต่อด้วยเรือดำน้ำขนาด 4,500 ตันจากฝรั่งเศสถึง 12 ลำ โชคดีที่เรือฟริเกตระบบเอจิสจากสเปนทั้ง 3 ลำ เรียบร้อยหมดแล้วไม่อย่างนั้นไม่มีช่องเสียบ เหตุผลอีกเรื่องคือการกระจายรายได้และสร้างงาน ก็เลยต้องจ้างอู่ต่อเรือคู่แข่งขันมารับช่วงต่อ

ประเด็นต่อไปเห็นจะไม่พ้นเรื่องเงิน โครงการนี้มีตัวเลขค่อนข้างสูงมาก ทั้งที่เป็นแค่เพียงเรือตรวจการณ์ติดปืนกล แต่ถ้าผู้อ่านเริ่มเจาะลึกในรายละเอียด จะพบว่ามันไม่ได้สูงและออกจะน้อยนิด ออสเตรเลียมีค่าสร้างเรือที่แพงที่สุดในโลก แต่ถึงแพงแค่ไหนพวกเขาก็จำเป็นต้องสร้าง หักค่าใช้จ่ายตรงโน้นตรงนั้นตรงนี้ออกแล้ว จะเหลือเงินเฉลี่ยต่อเรือหนึ่งลำไม่มากเลย บริษัทที่ไม่มีคู่ค้าขนาดใหญ่เข้าร่วมทีมด้วย ส่วนใหญ่แล้วสายป่านไม่ถึงกันทุกราย

Navantia จากสเปนเสนอแบบเรือขนาด 1,400 ตัน ขณะที่ Damen ก็มวยล้มต้มคนดู ส่วนแบบเรือ Austal ดันไม่ตรงกับความต้องการ กองทัพเรือจึงเลือกทางเลือกที่ยุ่งยากน้อยที่สุด และมีราคาเหมาะสมกับสตางค์ในกระเป๋า

เรื่องต่อไปที่เป็นประเด็นก็คือ ปืนกล 40 มม.กำลังกลับมาอีกครั้ง อะไรนะ! ปืนที่ใช้ในสงครามโลกครั้งที่สองนั่นใช่ไหม? จะเอาอะไรมาสู้ DS-3OMR รุ่นใหม่ได้ สู้ได้สิครับและสู้ได้ดีอย่างชนิดสมน้ำสมเนื้อ


ปืนที่ถูกคัดเลือกก็คือ Leonardo Marlin 40 ในอดีตใช้ชื่อ OTO FORTY LIGHT แต่ขายไม่ออก ครั้นเปลี่ยนชื่อใหม่ก็ได้ลูกค้ารายใหม่ทันที ป้อมปืนมีขนาดกะทัดรัด หนักเพียง 1.9 ถึง 2.1 ตัน (ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ช่วยเล็ง) ไม่ใช้พื้นที่ใต้ดาดฟ้าเรือ โดยมีกระสุนพร้อมยิง 72 นัด ยิงเรือผิวน้ำได้สัก 4 ครั้ง เฮลิคอปเตอร์ได้ 2 ครั้ง แต่ถ้าเป็นเครื่องบินหรือจรวดกรุณารัวไม่หยุด มีชนิดกระสุนให้เลือกถึง 3 แบบ และมีอัตรายิงสูงสุด 300 นัด/นาที นี่คือสิ่งที่ปืน 30 มม.ของ DS-30MR สู้ไม่ได้

นอกจาก Marlin 40 แล้ว ยังมีปืนที่น่าสนใจอีก 2 รุ่น ขวามือคือ BAE Bofors 40 Mk4 ที่คุ้นหน้า หนัก 2.3 ตัน มีกระสุนพร้อมยิง 100 นัด บราซิลเป็นลูกค้าสำคัญอยู่ในตอนนี้ ส่วนซ้ายมือเป็นเป็นรุ่นใหม่ของ Thales ชื่อว่า RAPICFire Naval Gun พัฒนามาจากรุ่นใช้งานบนบกนั่นเอง อัตรายิงสูงสุด 200 นัด/นาทีก็จริง แต่ใช้กระสุนไร้ปลอกรุ่นใหม่เอี่ยม ติดตั้งอุปกรณ์ช่วยเล็งรุ่นทันสมัย จึงน่าจะแม่นยำกว่าคู่แข่งทั้งสองราย และแพงกว่ากันอย่างแน่นอนทำใจได้เลย


ทำไมต้องเป็น 40 มม.? ประการแรกระยะยิงหวังผล 4,000 เมตร มากกว่า 25 มม.ถึง 2 เท่าตัว ประการต่อมาสร้างความเสียหายได้มากกว่า คือดีกว่า 30 มม.ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกับเป้าหมายเรือผิวน้ำ รวมทั้งมีกระสุนรุ่นใหม่ให้เลือกใช้งาน และด้วยอัตรายิงที่สูงกว่าจึงยิงอากาศยานได้ดีกว่า นอกจากออสเตรเลียกลับมาใช้งานแล้ว ยังมีอีกชาติที่แอบพัฒนามาอย่างยาวนาน มุ่งหวังให้เป็น CIWS ในราคาจับต้องได้ ชาตินั้นก็คืออังกฤษซึ่งในอดีตดวงอาทิตย์ไม่เคยตกดิน

พวกเขาตั้งใจติดตั้งบนเรือฟริเกตชั้น Type 26 กับ Type 31 โผล่มาครั้งแรกตั้งแต่ปี 2011 โน่น จนถึงปัจจุบันโครงการก็ยังจับต้องไม่ได้ และคงอีกนานเพราะโจทย์ค่อนข้างยากมาก เรือลำใหม่จะใช้ปืน DS-30MR ของเก่าไปก่อน กระทั่งปืนรุ่นใหม่พร้อมใช้งานค่อยนำมาสลับ ประเทศขายปืนเริ่มหาทางหนีทีไล่กันแล้ว ประเทศซื้อปืนมองทางเลือกอื่นไว้ก็ไม่เสียหาย

เรื่องถัดไปคือภารกิจรอง สนับสนุนการปราบทุ่นระเบิดกับสำรวจทางอุทกศาสตร์ เรื่องแรกเคยเขียนถึงหลายครั้งแล้ว ฉะนั้นบทความนี้จะขอพูดถึงเรื่องที่สอง การสำรวจทางอุทกศาสตร์คืออะไร? คือการเก็บรวบรวมข้อมูลจากพื้นที่ที่เป็นทะเล ไม่ว่าจะเป็น ความลึก (Depth) สภาพของท้องน้ำ (Water bed) คลื่น (Wave) กระแสน้ำ (Current) น้ำขึ้นและน้ำลง (Tide) จุดประสงค์หลักก็คือ สำรวจร่องน้ำเพื่อการเดินเรือ และสำรวจเพื่อการก่อสร้าง วางสายไฟ สายเคเบิ้ล หรือติดตั้งแท่นขุดเจาะ

จุดประสงค์ในทางทหารก็มีเช่นกัน โดยเฉพาะการใช้งานเรือดำน้ำซึ่งต้องเก็บความลับสุดยอด เส้นทางในการเดินเรือเข้า-ออกฐานทัพสำคัญมาก เพราะเป็นพื้นที่สุ่มเสี่ยงต่อการเปิดเผยตัวเอง การสำรวจทางอุทกศาสตร์ช่วยเหลือคุณได้มาก โดยเฉพาะการหาร่องน้ำในการดำเข้าดำออก รวมทั้งร่องน้ำใช้ในการดำเรือระดับปลอดภัย


ออสเตรเลียมีเรือสำรวจขนาด 2,200 ตันจำนวน 2 ลำ ในภาพใหญ่คือ HMAS Melville เข้าประจำการปี 2000 ใช้ระบบสำรวจใต้น้ำจาก Atlas เยอรมันทั้งลำ ค่อนข้างทันสมัยและมีอุปกรณ์ครบถ้วน ส่วนลำเล็กกว่าชื่อ HMAS Benalla (II) ออสเตรเลียมีอยู่จำนวน 3 ลำ ระวางขับน้ำ 325 ตัน ใช้สำรวจพื้นที่ใกล้ฝั่งหรือเขตน้ำตื้น ใช้ระบบสำรวจใต้น้ำจาก Thales เนเธอร์แลนด์ อายุมากหน่อยเข้าประจำการปี 1990 เรือ 3 ลำหลังจะถูกแทนที่ด้วยเรือตรวจการณ์ในอนาคต

                ผู้อ่านอาจมีคำถามในใจว่าเอาเรือรบมาทำเรือสำรวจมันจะดีหรือ? ขอพาทุกท่านย้อนอดีตกันอีกสักครั้ง ภาพนี้คือเรือฟริเกต HMAS Diamantina (K377) เป็นเรือชั้น River ของอังกฤษซึ่งพวกเราคุ้นหน้าคุ้นตา อเมริกานำแบบเรือไปพัฒนาเป็นเรือฟริเกตชั้น Tacoma ซึ่งก็คือเรือหลวงประแสร์กับเรือหลวงท่าจีนที่เราซื้อต่อช่วงสงครามเกาหลี


                 ออสเตรเลียมีเรือฟริเกตชั้น River รวมทั้งสิ้น 22 ลำ ครั้นเข้าสู่ปี 1956 ได้มีการปรับปรุงเรือเก่าหลายลำ เพื่อใช้เป็นเรือสำรวจทางอุทกศาสตร์ HMAS Diamantina ก็ถูกปรับปรุงเช่นกัน ปี 1978 เรือเปลี่ยนมาใช้หมายเลข GOR266 ในภาพกำลังสำรวจมหาสมุทรอินเดียอยู่ ติดปืนกล 40 มม.ไว้เพียงกระบอกเดียว ที่เหลือเต็มไปด้วยอุปกรณ์สำรวจทางทะเล

การใช้เรือรบสำรวจทางอุทกศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องไม่แปลกเพราะเคยทำมาก่อน คำถามตามมาก็คือแล้วเรือตรวจการณ์จะไปสำรวจอะไรได้? ผู้เขียนขอพามายังอินโดนีเซียกันบ้าง เพื่อเยี่ยมชมเรือสำรวจลำใหม่ล่าสุดของพวกเขา


เรือลำนี้ต่อขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศส ติดปืนกล 20 มม.จากแอฟริกาใต้ ใช้ระบบตรวจสอบใต้น้ำจากนอร์เวย์ทั้งลำ มีพื้นที่รองรับเจ้าหน้าที่ขนาดใหญ่โต และมีพื้นที่ติด Mission Mudule เพิ่มได้อีก 2 ตู้ เรือตรวจการณ์จะใช้ Mission Mudule เพื่อทำภารกิจ โดยใช้ตู้แรกเป็นห้องทำงานเจ้าหน้าที่ ตู้ที่สองจัดเก็บอุปกรณ์ในการสำรวจใต้น้ำ ประกอบไปด้วย

Multibeam and scanning sonars แบบ 3 มิติ ทำงานควบคู่ไปกับโปรแกรมทันสมัย มียานสำรวจใต้น้ำหรือ AUV สักสองลำ ถ้าจะให้ดีควรมี Multibeam หรือ Singlebeam Echosounders เพิ่มเข้ามา รองรับการสำรวจใต้น้ำแบบเร่งด่วน ไปกับกองเรือได้โดยไม่เป็นภาระหรือตัวถ่วง อาทิเช่นยกพลขึ้นบกร่วมกับนาโต้ ส่วนจะเป็นที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไรค่อยว่ากัน

ผู้เขียนเริ่มปูเรื่องตั้งแต่ช่วงสงครามโลก จนมาถึงคุณสมบัติเรือตรวจการณ์ลำใหม่ บทความค่อนข้างยาวจนผู้อ่านแอบบ่นในใจ ฉะนั้นแล้วขอมอบภาพวาดเรือชั้น Arafura ให้เป็นรางวัล นั่งวาดจนปวดตาปวดข้อมือเชียวนะนั่น


นอกจากอากาศยานไร้คนขับแล้ว ยังมีเฮลิคอปเตอร์ EC-135 T2 มาทำงานร่วมกัน เรือเฟสแรก 12 ลำหน้าตาแบบนี้ ส่วนเรือเฟสสองจะได้เป็น Australian Corvette ลำที่สองหรือไม่ ต้องตามอ่านกันต่อไปสวัสดีปีใหม่ไทยทุกคนนะครับ ;)

อ้างอิงจาก


1 ความคิดเห็น:

  1. บทความนี้อารมณ์ศิลปินขึ้นก็เลยแต่งกลอน จัดหน้าอย่างดีในโน้ตบุ๊คแล้วนะ....พออ่านในมือถือแล้วตกบรรทัดไม่รู้เรื่อง ต้องมาขยับอ่านในคอมพิวเตอร์ไม่สวยเลย ชีวิตมันเศร้า >__<

    ตอบลบ