ระหว่างปี
2017
กองทัพเรือปากีสถานผุดแผนการปรับปรุงกำลังรบ กองเรือผิวน้ำถูกขยายใหญ่โตกว่าเดิมเป็น
50 ลำ โดยมีเรือฟริเกตกับเรือคอร์เวตมากถึง 20 ลำ ส่วนกองเรือดำน้ำจะถูกเสริมทัพด้วยเรือรุ่นใหม่ทันสมัย
ผู้เขียนเคยเขียนถึงเรื่องนี้อย่างละเอียดในบทความปี 2021
ผู้อ่านทุกคนสามารถทบทวนข้อมูลได้ตามลิงก์ด้านล่าง
ในการเสริมทัพมีโครงการสำคัญโครงการหนึ่งยังขาดความชัดเจน
นั่นคือ Unspecified
Frigate Project หรือโครงการสร้างเรือฟริเกตทันสมัยขนาด
5,000 ตัน ปากีสถานตั้งใจใช้แบบเรือประเทศจีนมาปรับปรุงเพิ่มเติม
มีการเซ็นข้อตกลงร่วมกันเรียบร้อยแล้วในปี 2020 เพียงแต่รายละเอียดโครงการไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน
ต่อมาในวันที่
21
เมษายน 2021
มีการให้ข่าวว่ารัฐบาลปากีสถานตัดสินใจเลือกบริษัท ASFAT จากตุรกี
เป็นผู้ออกแบบเรือฟริเกตในโครงการ Unspecified Frigate แทนที่บริษัทจากประเทศจีน
การตัดสินใจเลือกบริษัทตุรกีสร้างความประหลาดใจให้กับทุกคน
สาเหตุที่รัฐบาลปากีสถานยอมถอยห่างจากจีนผู้อ่านเดากันไปก่อน ใกล้จบบทความเมื่อไรผู้เขียนจะกลับมาเฉลยปริศนาคาใจ
หลังจากทราบข่าวบรรดามิตรรักแฟนเพลงชาวปากีสถาน
พากันคาดเดาแบบเรือฟริเกตรุ่นใหม่ว่ามีรูปร่างหน้าตาเช่นไร จนกระทั่งเมื่อมีการจัดงานแสดงอาวุธ
International
Defence Industry Fair 2021 หรือ IDEF 2021
ระหว่างวันที่ 17-20 สิงหาคม 2022 ที่ประเทศตุรกี
บริษัท ASFAT นำแบบเรือฟริเกตใหม่เอี่ยมของตัวเองมาจัดแสดงในงาน
แจ้งรายละเอียดว่านี่คือโมเดลเรือฟริเกตชั้น Jinnah ของกองทัพเรือปากีสถาน
ส่วนเรือคอร์เวต MİLGEM ที่ปากีสถานสั่งซื้อจำนวน 4 ลำก่อนหน้านี้
ถูกตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่าเรือคอร์เวตชั้น Babur ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน
ผู้เขียนขออธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมสักเล็กน้อย
วันที่
5
กรกฎาคม 2018 ปากีสถานสั่งซื้อเรือคอร์เวตจากตุรกีจำนวน
4 ลำในวงเงิน 1-1.5 พันล้านเหรียญ โดยใช้ชื่อโครงการว่า
MİLGEM/Jinnah Class Project ผู้เขียนและคนทั่วโลกพลอยเข้าใจว่าโครงการเรือคอร์เวตขนาดใหญ่ใช้ชื่อเรือคอร์เวตชั้น
Jinnah แต่แล้วในความเป็นจริงโครงการดังกล่าวได้แอบเก็บซ่อนความลับสำคัญ
เป็นไปได้ว่าปากีสถานเลือกแบบเรือตุรกีตั้งแต่แรกเพียงแต่ไม่ได้พูดถึงอย่างชัดเจน
เนื่องจากในงาน
IDEF
2021 บริษัท ASFAT นำมาโชว์แค่เพียงโมเดลเรือ
บรรดามิตรรักแฟนเพลงชาวปากีสถานต้องคาดเดาข้อมูลตามจินตนาการ จนกระทั่งถึงต้นปี 2022
มีการเผยแพร่โบรชัวร์ตามภาพประกอบที่สอง เรือฟริเกตชั้น Jinnah คือการนำเรือคอร์เวตชั้น Babur
มาขยายใหญ่โตกว่าเดิม ระวางขับน้ำเพิ่มเป็น 3,300 ตัน
(ของเดิม 2,980) ยาว 119.45 เมตร (ของเดิม
108.2 เมตร) และกว้าง 15.4 เมตร
(ของเดิม 14.8 เมตร)
ระบบขับเคลื่อนใช้เครื่องยนต์ดีเซลขนาด
6 MW จำนวน 4 ตัว มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลขนาด
620 Kw จำนวน 4 ตัว พร้อมกับระบบไฟฟ้าสำรองขนาด
250 Kw อีก 1 ตัว ความเร็วสูงสุดอยู่ที่
26 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 4,000 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว
17 นอต สามารถบรรทุกน้ำดื่มสะอาด 85 ตัน
เชื้อเพลิงเรือจำนวน 250 ตัน และเชื้อเพลิง JP-5 สำหรับอากาศยานปีกหมุนอีก 30 ตัน
ระบบอาวุธผู้เขียนขออนุญาตไล่จากหัวเรือมาถึงท้ายเรือ
เริ่มต้นจากจรวดปราบเรือดำน้ำรูปร่างหน้าตาคล้าย RBU-6000 ของรัสเซียจำนวน 2 แท่นยิง ผู้เขียนคาดว่าน่าจะเป็นรุ่น
Type 87 เหมือนเรือฟริเกตชั้น Type 054A/P จากจีน เนื่องจาก RBU-6000 ขนาดใหญ่โตเกินกว่าจะติดตั้งที่หัวเรือ
2 แท่นยิงคู่กัน แต่ไม่ว่าจะเป็นอาวุธรัสเซียหรืออาวุธจีนก็แปลกประหลาดพอๆ
กัน เรือฟริเกตค่ายตะวันตกติดอาวุธค่ายตะวันออกมันไม่ใช่นะเจี๊ยบ
ถัดจากจรวดปราบเรือดำน้ำคือปืนใหญ่
Oto
76/62 Super Rapid ยกสูงครึ่งชั้นจำนวน 1
กระบอก ต่อด้วยพื้นที่ติดตั้งแท่นยิงแนวดิ่งยกสูงขึ้นอีกครึ่งชั้น
สำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Albatros NG จำนวน 16
นัด กลางเรือติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ/โจมตีชายฝั่ง Harbah ระยะยิง 700 กิโลเมตรจำนวน 8 นัด ต่ำลงมาคือแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำแฝดสามแต่ยังไม่ทราบรุ่น
เหนือโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ติดตั้งระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Gokdeniz ใช้ปืนกล 35 มม.ลำกล้องแฝด โดยมีปืนกลอัตโนมัติ
SMASH ขนาด 30 มม.ติดตั้งขนาบสองกราบเรือ
ระบบเรดาร์และระบบอื่นๆ
ประกอบไปด้วย เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Smart-S
Mk2 ของ THALES สร้างโดยตุรกี เรดาร์ควบคุมการยิง
STING-EO Mk2 ของ THALES สร้างโดยตุรกีเช่นกัน
ระบบอำนวยการรบ G-MSYS จากตุรกี โซนาร์หัวเรือ Yakamos
ระยะทำการ 30 กิโลเมตรจากตุรกี อุปกรณ์ดักจับคลื่นอิเล็กทรอนิกส์
RES-2NC ESM จากตุรกีอีกแล้ว ระบบเป้าลวงอาวุธปล่อยนำวิถี MASS
จากเยอรมัน ระบบเป้าลวงตอร์ปิโด HIZIR จากตุรกีเช่นกัน
ติดตั้งแท่นยิงขนาด 8 ท่อยิงรุ่นปรับทิศทางได้ไว้ที่สองกราบเรือ
ทำงานร่วมกับโซนาร์ลากท้าย HIZIR-LFAS Low Frequency Towed Active Sonar สำหรับตรวจจับและเตือนภัยตอร์ปิโด มีระบบเป้าลวงตอร์ปิโดแบบลากสายติดตั้งเพิ่มเติมมากับโซนาร์ลากท้าย
ระบบเป้าลวงตอร์ปิโดจากตุรกีจัดว่าดียอดเยี่ยม
ค่อนข้างเหมาะสมกับเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ทร.ไทย
ตอนนี้บริษัท
Aselsan
กำลังเร่งพัฒนาโซนาร์ลูกจูงรุ่น DUFAS Low
Frequency Towed Active Sonar System ตั้งใจนำมาติดตั้งบนเรือฟริเกตชั้น
Istanbul ของตัวเองซึ่งปล่อยลงน้ำไปแล้ว 1 ลำ สำเร็จเมื่อไรเรือฟริเกตชั้น Jinnah ซึ่งเป็นแบบเรือครอบครัวเดียวกันย่อมใช้งานได้เช่นกัน
เรือฟริเกตชั้น
Jinnah คือเรือฟริเกตอเนกประสงค์ทำงานได้หลากหลาย ระบบอาวุธกับระบบเรดาร์เกือบทั้งหมดใช้รุ่นเดียวกับเรือคอร์เวตชั้น
Babur มีแค่เพียงปืนกลอัตโนมัติถูกปรับเปลี่ยนจากรุ่น STOP ขนาด 25 มม.เป็น SMASH ขนาด 30 มม. ทว่าเรือลำจริงอาจเปลี่ยนกลับมาเป็นรุ่น
STOP ก็ได้ไม่ใช่เรื่องยาก
เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาชมภาพประกอบที่สามกันต่อ
นี่คือการเปรียบเทียบทางกายภาพระหว่างเรือฟริเกตชั้น Jinnah
กับเรือคอร์เวตชั้น Babur
หัวเรือถูกเพิ่มเติมความยาวสำหรับติดตั้งจรวดปราบเรือดำน้ำ ปืนใหญ่กับแท่นยิงแนวดิ่งถูกยกสูงเชื่อมโยงมาถึงสะพานเดินเรือ
อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Albatros NG เพิ่มขึ้นจาก 12
นัดเป็น 16 นัด โดยใช้แท่นยิงแนวดิ่ง Cold
Launch รุ่น GWS-35 จากประเทศอังกฤษ
Superstructure
รูปทรงห้าเหลี่ยมถูกแปลงโฉมเป็นรูปทรงหกเหลี่ยม เสากระโดงเรือหน้าตาคล้ายเดิมร่วมๆ
เก้าสิบเปอร์เซ็นต์ อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ/โจมตีชายฝั่ง
Harbah เพิ่มขึ้นจาก 6 นัดเป็น 8
นัด ปล่องระบายความร้อนสั้นกว่าเดิมบางกว่าเดิมนิดหน่อย
ลานจอดกับโรงเก็บรองรับเฮลิคอปเตอร์ขนาด 10 ตันเช่นเดียวกัน น่าจะได้ใช้งานร่วมกับเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ
Z-9EC จากจีน
ภาพรวมเรือทั้งสองรุ่นรูปร่างหน้าตาใกล้เคียงกันมาก
แต่ในความเหมือนมีความแตกต่างสามารถแยกออกอย่างชัดเจน บังเอิญมิตรรักแฟนเพลงชาวปากีสถานไม่ค่อยถูกใจสักเท่าไร
พวกเขาอยากได้เรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศขนาด 5,000 ตัน มาพร้อมแท่นยิงแนวดิ่ง 32 ท่อยิงกับระบบเรดาร์ AESA 4 ทิศทางบนเสากระโดง ทุกคนพากันตั้งคำถามทำไมไม่เอาเรือฟริเกต
Type 054B ของจีนมาปรับปรุงเพิ่มเติม?
(แท้จริงแล้วจีนยังไม่มีเรือฟริเกต Type 054B แม้แต่ลำเดียว ยังคงมุ่งมั่นกับการสร้างเรือฟริเกต
Type 054A ต่อไป)
ลำนั้นต่างหากที่เหมาะสมกับโครงการสำคัญของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าไม่ยอมเด็ดขาดข้าพเจ้าไม่ต้องการแบบเรือจากตุรกี
อารมณ์น่าจะคล้ายๆ
มิตรรักแฟนเพลงชาวไทยสมัยโครงการเรือฟริเกตสมรรถนะสูง พูดอย่างไม่อายสมัยนั้นผู้เขียนเองออกอาการงอแงเช่นกัน
อยากได้โน่นนั่นนี่ตามที่ทร.ไทยอ้างอิงถึงในแผ่นกระดาษ
เมื่อผู้เขียนเติบโตเป็นวัยรุ่นตอนปลายจึงเริ่มเข้าใจชัดเจนว่า งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรไม่ใกล้เคียงราคาเรือฟริเกตในฝัน
รวมทั้งบรรดาลูกยาวน้อยใหญ่ทำงานร่วมกับระบบ SAAB ไม่ได้ สุดท้ายจึงปลงตกไม่คิดอยากมีอยากได้อีกต่อไป
สาเหตุที่รัฐบาลและกองทัพเรือปากีสถานเลือกแบบเรือจากตุรกี
เนื่องจากโครงการ Unspecified Frigate กำหนดให้สร้างเรือฟริเกตทั้ง 6 ลำในประเทศ บริษัท ASFAT จากตุรกีทั้งยินดีและเต็มใจสนับสนุนการสร้างเรือด้วยตัวเอง
ตรงกันข้ามกับบริษัท CSSC จากจีนซึ่งเน้นขายเรือฟริเกตสร้างโดยอู่ต่อเรือตัวเอง
เรื่องนี้โทษ CSSC เพียงฝ่ายเดียวก็คงไม่เหมาะสม
พวกเขาทำตามนโยบายรัฐบาลจีนซึ่งไม่นิยมถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ให้กับลูกค้า
นี่คือเหตุผลสำคัญที่ปากีสถานตัดสินใจถอยห่างจากมิตรแท้
เมื่อสร้างเรือคอร์เวตชั้น
Babur จำนวน 2 ลำเสร็จเรียบร้อย อู่ต่อเรือ
Karachi Shipyard บริษัท KSEW
จะเตรียมความพร้อมสถานที่สักพักหนึ่ง ก่อนเริ่มต้นเดินหน้าสร้างเรือฟริเกตชั้น Jinnah จำนวน 6 ลำต่อกันไปเลย
โครงการสำคัญโครงการนี้กินเวลาอย่างน้อยที่สุด 10 ปี รวมกับโครงการเรือคอร์เวตชั้น
Babur ซึ่งใช้เวลาประมาณ 5 ปีเสร็จ เท่ากับเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้คนในประเทศยาวนานถึง
15 ปี
นี่คือ
15
ปีแห่งความรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมสร้างเรือในประเทศ และเป็น 15
ปีของก้าวแรกในการพึ่งพาตัวเองอย่างมั่นคงยืนยาวถาวร ปากีสถานเคยล้มเหลวกับโครงการเรือดำน้ำชั้น
Agosta-90B จากฝรั่งเศสซึ่งล้าสมัยเกินไป
ต่อด้วยโครงการเรือฟริเกตชั้น F22P จากจีนจนเปลี่ยนใจมาสั่งซื้อเรือฟริเกต
Type 054A/P
นาทีนี้ปากีสถานใส่เกียร์ห้าเดินหน้าเต็มตัว
วันที่ 20 พฤษภาคม 2022 เรือคอร์เวตชั้น Babur สร้างเองลำแรกชื่อ
PNS BADR (F281) ทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำเรียบร้อยแล้ว ส่วนเรือฟริเกตชั้น
Jinnah คัดเลือกบริษัทร่วมโครงการเกือบครบถ้วนแล้วเช่นกัน
เพราะฉะนั้นภายในปี 2035 กองทัพเรือปากีสถานจะมีเรือติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน
Albatros NG กับระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Gokdeniz มากถึง 10 ลำ
+++++++++++++++++++++++
อ้างอิงจาก
https://www.shephardmedia.com/news/naval-warfare/pakistan-navy-has-designs-on-jinnah-class-frigates/
https://thaimilitary.blogspot.com/2021/07/pakistan-navy-supremacy.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น