วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

Pakistan Navy Supremacy

 

กองทัพเรือปากีสถานในปี 2017 เทียบกับอินเดียค่อนข้างเสียเปรียบพอสมควร กำลังรบหลักประกอบไปด้วยเรือฟริเกต Type 21 มือสองจากอังกฤษจำนวน 5 ลำ อดีตเคยมี 6 ลำแต่ปลดประจำการไปแล้ว 1 ลำ (อดีตเคยเป็นเรือพิฆาตปัจจุบันกลายเป็นเรือฟริเกต) เรือฟริเกต F22P จากจีนจำนวน 4 ลำ (สร้างเองภายในประเทศ 1 ลำ) และเรือฟริเกต Oliver Hazard Perry มือสองจากอเมริกาอีก 1 ลำ (มาแต่เรือเปล่าถอดอาวุธออกทั้งหมด)

เรือมือสองทุกลำค่อนข้างชราภาพติดอาวุธล้าสมัย ส่วนเรือใหม่จากจีนใช้อาวุธและเรดาร์จากยุคสงครามเย็น ระยะทำการน้อยนิดประสิทธิภาพค่อนข้างต่ำ ไม่อาจรับมือภัยคุกคามรูปแบบใหม่ซึ่งอันตรายกว่าเดิม

กองเรือดำน้ำเองมีสถานะไม่แตกต่างกัน จริงอยู่พวกเขาได้รับลิขสิทธิ์ผลิตและขายเรือดำน้ำ Agosta-90B จากฝรั่งเศส ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจนสามารถสร้างเรือดำน้ำด้วยตัวเอง แต่องค์ความรู้ที่ได้รับเก่าเสียจนไม่เหลือความคุ้มค่า ปากีสถานสร้างเรือดำน้ำ Agosta-90B เองเพียง 1+1 ลำ (สร้างเอง 1 ลำสร้างร่วมกับฝรั่งเศสอีก 1 ลำ) รวมของเดิมเท่ากับ 3 ลำ โดยมีรุ่นเก่ากว่าคือ Agosta-70 อีก 2 ลำเข้าประจำการตั้งแต่ปี 1979 กับ 1980 เรือ  2 ลำนี้แท้จริงเป็นของแอฟริกาใต้ บังเอิญเจ้าของถูกสหประชาชาติคว่ำบาตรฝรั่งเศสจึงนำมาขายต่อ

ด้วยเหตุผลความล้าสมัยบรรดาเรือรบหลัก ปากีสถานต้องการเสริมทัพด้วยงบประมาณก้อนโต

พวกเขาวางแผนปรับปรุงครั้งสำคัญ มีการเพิ่มเติมเรือตรวจการณ์ใช้ทำภารกิจยามปรกติ กองเรือผิวน้ำถูกขยายใหญ่กว่าเดิมเป็น 50 ลำ โดยจะเป็นเรือฟริเกตกับเรือคอร์เวตถึง 20 ลำ กองเรือดำน้ำจะถูกเสริมทัพด้วยเรือรุ่นใหม่ทันสมัย ผู้เขียนขอแบ่งการจัดหาออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ ประกอบไปด้วยเรือจีนกับเรือยุโรปง่ายๆ เท่านี้เอง

เรือฟริเกต Type 054A/P

ระหว่างปี 2017 ปากีสถานสั่งซื้อเรือฟริเกต Type 054A/P จากจีนจำนวน 2 ลำ ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน 2018 มีการสั่งซื้อเพิ่มอีก 2 ลำ จำนวนรวมเท่ากับ 4 ลำตามความต้องการ จีนส่งออกเรือฟริเกตรุ่นกระดูกสันหลังของตัวเองเป็นผลสำเร็จ หลังจากที่เคยนำเสนอให้กองทัพเรือไทยในปี 2013 แต่ถูกปฏิเสธ เพราะไม่ได้ติดตั้งระบบเรดาร์และอาวุธตามความต้องการ รูปร่างหน้าเรือตรงตามภาพประกอบภาพนี้เลย

นี่คือเรือฟริเกต Type 054A รุ่นส่งออก มีความแตกต่างจากเรือต้นฉบับเพียงเล็กน้อย ผู้เขียนเคยเขียนบทความเรือฟริเกตลำนี้ของจีนอย่างละเอียด ผู้อ่านท่านใดสนใจเข้าไปทบทวนข้อมูลกันก่อนได้เลย

Type 054 Frigate

การสั่งซื้อฟริเกตจากจีนสร้างความยินดีปรีดาทั้งสองฝ่าย ท่ามกลางเสียงหัวเราะกับรอยยิ้มมีเบื้องลึกเบื้องหลังนิดหน่อย ภาพเล็กมุมบนซ้ายถ่ายวันที่ 23 มีนาคม 2019 ที่อู่ต่อเรือ Hudong Zhonghua ระหว่างพิธีวางกระดูกเรือฟริเกต Type 054A/P ลำที่สอง ในภาพเบื้องหลังมีวงเล็บต่อท้ายว่าเป็นเรือฟริเกต F22P Batch II

Type 054A/P เกี่ยวข้องอะไรกับ F22P? จีนเอาเรือรุ่นเดิมไปแช่น้ำมันก๊าดให้พองขึ้นใช่ไหม?

คำตอบก็คือไม่เกี่ยวข้องกันเลยสักนิด เรือฟริเกต F22P ระวางขับน้ำ 3,000 ตัน จีนนำเรือชั้น Type 053H3 มาปรับปรุงใหม่ แล้วติดโซนาร์หัวเรือเยอรมันกับตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำเพิ่มเติมเข้ามา ส่วน Type 054A/P ระวางขับน้ำ 4,000 ตัน มีความคล้ายคลึงเรือชั้น La Fayette ของฝรั่งเศสทั้งเรื่องรูปทรงและขนาด ความเกี่ยวข้องที่ปรากฏอยู่ในภาพถ่ายก็คือ ปากีสถานหยิบยืมชื่อมาใช้งานในการสั่งซื้อเรือ

ทำไมต้องหยิบยืมชื่อ? ตั้งชื่อโครงการใหม่ไปเลยไม่ง่ายกว่าเหรอ?

เหตุผลหลักเกี่ยวเนื่องกับการใช้งบประมาณ คนปากีสถานค่อนข้างชื่นชมเรือฟริเกต F22P มาก ส่วนหนึ่งเพราะเรือลำที่สี่สร้างขึ้นเองในประเทศ เป็นเรือฟริเกตป้ายแดงชุดแรกหลังจากใช้เรือมือสองมานาน ราคาค่อนข้างถูกติดอาวุธครบ 3 มิติ ขณะที่เรือฟริเกต Type 054A/P ราคาแพงกว่ากันพอสมควร เรือทุกลำสร้างในจีนปากีสถานจ่ายเงินอย่างเดียว ไม่มีการสร้างงานคนในชาติไม่ได้อะไรกลับคืน อาจตกเป็นประเด็นให้เกิดเรื่องระหองระแหงขึ้นมา

กองทัพเรือปากีสถานพยายามหาทางเบี่ยงเบน จึงได้หยิบยืมชื่อ F22P Batch II มาเป็นชื่อร่วมโครงการ จริงอยู่งบประมาณรัฐบาลเป็นคนจ่ายเงิน ชั่วดีอย่างไรตัวเองได้เรือครบทุกลำแน่นอน แต่การทำความเข้าใจกับประชาชนสำคัญเช่นกัน ไม่ใช่ร่อนเอกสาร 11 หน้าให้ดูแล้วพูดตัดบท ทำแบบนี้มีแต่จะสร้างศัตรูมากกว่าเดิม

ผู้อ่านอาจคิดว่านี่มันเป็นการต้มหมู ไม่ว่าโครงการใช้ชื่อไหนจีนสร้างเรือครบทุกลำอยู่ดี ไม่ใช่ครับชื่อโครงการมีความสำคัญอย่างแยบยล ผู้เขียนขอเก็บไว้เฉลยกลางบทความก็แล้วกัน

ย้อนกลับมาสู่คำถามสำคัญ ทำไมปากีสถานไม่สร้างเรือลำที่สี่ด้วยตัวเอง? ในอดีตเคยสร้างเรือฟริเกต F22P มาแล้วนี่นา มีปัญหาเรื่องเครนเหมือนกับประเทศไทยหรือเปล่า?

จริงๆ เรื่องเครนไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ถ้ารัฐบาลไทยกำหนดให้สร้างเรือฟริเกตขึ้นเองในประเทศ อู่ต่อเรือเอกชนหาอุปกรณ์ทั้งหมดได้อยู่แล้ว ขอแค่เพียงไม่กำหนดให้ส่วนราชการสร้างเรือเท่านั้น เพราะมันมักติดขัดปัญหาเรื่องโน่นนั่นนี่นุ่นแน่ไม่มีหยุด เหมือนดั่งที่เคยพบเจอในการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง

กลับมาที่ปากีสถานอีกครั้ง ปัญหาสำคัญเรื่องหนึ่งที่กองทัพเรือประสบก็คือ ขาดแคลนเรือฟริเกตใช้งานอย่างรุนแรง อันเป็นผลสืบเนื่องจากเรือชั้น Type 21 ทุกลำสภาพย่ำแย่เต็มทน สัญญาระบุชัดเจนว่าเรือฟริเกต Type 054A/P เฟสแรกจำนวน 2 ลำ ต้องพร้อมส่งมอบให้กองทัพเรือภายในปี 2021 ส่วนเรือเฟสสองอีก 2 ลำจีนต้องสร้างต่อเนื่องกันไปเลย พร้อมส่งมอบภายในปี 2024 เป็นอันสิ้นสุดโครงการ (บางแหล่งข่าวบอกว่าปี 2023)

เรือลำแรกสร้างในปี 2018 เรือลำที่สองสร้างในปี 2019 ต้องส่งมอบภายในปี 2021 เท่ากับใช้เวลาเพียง 4 ปีกับ 3 ปีเท่านั้น สำหรับจีนซึ่งสร้างเรือรบทุกวันบอกว่าสิวๆ แต่ทว่ากับปากีสถานนี่คือปัญหาใหญ่หลวง เรือฟริเกต F22P จีนใช้เวลาสร้าง 2 ปีพร้อมเข้าประจำการ แต่พอตัวเองสร้างเองใช้เวลามากกว่ากันสองเท่าตัว

วันที่ 22 กันยายน 2020 เรือฟริเกต Type 054A/P ลำที่หนึ่งถูกปล่อยลงน้ำ ต่อมาในวันที่ 29 มกราคม 2021 เรือฟริเกตลำที่สองถูกปล่อยลงน้ำเช่นกัน ส่วนเรือฟริเกตลำที่สามและสี่ทำพิธีตัดเหล็กเรียบร้อยแล้ว รูปร่างหน้าตาเรือลำจริงหลังทำพิธีปล่อยลงน้ำตามภาพประกอบที่สอง

เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 4,000 ตัน ยาว 134 เมตร กว้าง 16 เมตร กินน้ำลึก 5 เมตร ใช้ระบบขับเคลื่อน CODAD ความเร็วสูงสุด 27 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 8,025 ไมล์ทะเล มีจุดเด่นที่แท่นยิงแนวดิ่ง VLS จำนวน 32 ท่อยิง รองรับอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน HQ-16 กับอาวุธนำวิถีปราบเรือดำน้ำ Yu-8 โดยมีเรดาร์ควบคุมการยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานจำนวน 4 ตัว จัดการเป้าหมายบนอากาศได้พร้อมกันถึง 4 ทิศทาง

ปราการด่านสุดท้ายของเรือคือระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Type 1130 จำนวน 2 ระบบ ติดตั้งออปทรอนิกส์ทรงกลมในภาพมองเห็นชัดเจน ส่วนรุ่นเก่า Type 730 ใช้ออปทรอนิกส์ทรงกลมผสมเหลี่ยม ปืนกล 30 มม.11 ลำกล้องรวบจีนเคลมว่ายิงได้เร็วสุด 11,000 นัดต่อนาที โดยมีกระสุนในแมกาซีนใต้ดาดฟ้าเรือ 1,280 นัด จัดการเป้าหมายความเร็ว 4 มัคได้ด้วยอัตราความสำเร็จ 96 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขค่อนข้างโหดมันฮายิ่งกว่าอาวุธจากรัสเซีย เพียงแต่ผู้เขียนอยากเห็นคลิปวิดีโอการทดสอบจริงมากกว่า

ข้อแตกต่างระหว่างเรือจีนกับเรือปากีสถานมีด้วยกัน 4 เรื่องใหญ่ หนึ่งใช้งานระบบดาต้าลิงก์รุ่นส่งออก สองปากีสถานติดตั้งอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ/โจมตีชายฝั่ง Harbah ระยะยิงไกลสุด 700 กิโลเมตร สามารถติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ได้ในกรณ๊จำเป็น แต่ด้วยขนาดค่อนข้างใหญ่จึงติดได้ไม่เกิน 6 นัด ไพ่เด็ดไม้ตายชิ้นนี้เป็นการนำอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-602 ของจีนมาพัฒนาเพิ่มเติม เป็นการย้อนรอยมังกรเหมือนดั่งที่จีนเคยทำกับชาติอื่น

ข้อแตกต่างที่สามอยู่ที่บนสุดเสากระโดงหลัก เรือปากีสถานติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ SR2410C รุ่นใหม่ เนื่องมาจากเรดาร์มีคุณสมบัติใกล้เคียง SMART-S MK2 ของ THALES ใครหลายคนจึงเข้าใจว่ามีระยะทำการ 250 กิโลเมตร ทว่าโบร์ชัวร์บริษัท CSOC ในปี 2017 ระบุชัดเจนว่า SR2410C ระยะทำการไกลสุด 150 กิโลเมตร ฉะนั้นเรดาร์ของจริงประสิทธิภาพสมควรใกล้เคียงกับโบร์ชัวร์

ทำไมปากีสถานเปลี่ยนเรดาร์ตรวจการณ์หลัก? คิดอย่างไรก็สมควรใช้ของเดิมเหมือนเรือจีน

อย่างที่ทุกคนทราบกันดี Type 054A ใช้เรดาร์ Type 382 ซึ่งปรับปรุงมาจากเรดาร์รัสเซีย มีระยะทำการไกลสุดประมาณ 250 กิโลเมตร มีความเข้ากันได้ดีกับระบบอำนวยการรบ เป็นเรดาร์หลักกองทัพเรือจีนใช้งานมาเนิ่นนาน ผู้เขียนเข้าใจว่าเรดาร์ SR2410C ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้งานกับเรือส่งออกเป็นหลัก จะเห็นได้ว่านอกจากติดตั้งบนเรือฟริเกตปากีสถาน ก่อนหน้านี้ได้โผล่บนเรือคอร์เวต Type 056 บังกลาเทศเรียบร้อยแล้ว ประสิทธิภาพเรดาร์ไม่จำเป็นต้องสูงส่งสักเท่าไร ราคาไม่ควรสูงเกินไปจนลูกค้าเกิดความลังเล

การพัฒนาเรดาร์ SR2410C มีเบื้องลึกเบื้องหลังเช่นกัน ก่อนหน้านี้ในปี 2013 อัลจีเรียสั่งซื้อเรือคอร์เวต C28A จากจีนจำนวน 3 ลำ ลูกค้าต้องการติดตั้งเรดาร์ 3 มิติรุ่นใหม่ทันสมัย จีนในตอนนั้นมีแค่เพียงเรดาร์ 2 มิติ Type 360 เหมือนบนเรือหลวงกระบุรี สุดท้ายต้องยอมให้เรดาร์ SMART-S MK2 ของ THALES ติดตั้งบนเรือ

บาดแผลเล็กน้อยสร้างความเจ็บปวดต่อพญามังกร ผู้ถูกลูบคมต้องนำเรดาร์ยุโรปมาใช้งานกับระบบอำนวยการรบตัวเอง (โดยมีหน้าจอคอนโซลระบบอำนวยการรบ THALES Taticos เพิ่มเติมเข้ามา) ผลสืบเนื่องจากการพัฒนาเรดาร์ SR2410C สำเร็จเสร็จสิ้น ปรากฏชัดเจนบนเรือรบปากีสถานกับบังกลาเทศ

นับจากวันนี้เป็นต้นไปลูกค้ารายใดที่สั่งซื้อเรือรบจีน จะต้องติดตั้งระบบเรดาร์กับอาวุธจีนเท่านั้น การปรับปรุงเรือต้องพึ่งพาจีนเพียงชาติเดียว อารมณ์คล้ายคลึงสั่งซื้อเรือรบรัสเซียนั่นแหละครับ

ข้อแตกต่างสุดท้ายให้สังเกตภาพเล็กมุมบนซ้าย เรือฟริเกต Type 054A+ รุ่นใหม่ล่าสุดของจีน ติดโซนาร์ลากท้าย H/SJG-206 Towed Line Array Sonar (TLAS) กับโซนาร์ลากจูง H/SJG-311 Towed Variable-Depth Sonar (TVDS) บริเวณท้ายเรือ แต่เรือฟริเกต Type 054A/P ของปากีสถานไม่มีโซนาร์ลากจูง TVDS เพราะกราบซ้ายเรือไม่ได้เจาะช่องเหมือนดั่งเรือจีน ส่วนกราบขวามีช่องปล่อยโซนาร์ลากท้าย TLAS ตามปรกติ ระบบเป้าลวงตอร์ปิโดแบบลากท้ายไม่มีแล้วเช่นกัน ผู้เขียนคิดว่าเก่าเกินไปติดตั้งไว้ก็ไม่เกิดประโยชน์

เรือดำน้ำชั้น HANGOR

หลังเข้าประจำการเรือดำน้ำชั้น Agosta-90B สร้างเองในประเทศได้ไม่นาน กองทัพเรือปากีสถานรู้ซึ้งชัดเจนว่าเทคโนโลยีที่ได้รับมาจากฝรั่งเศสล้าสมัยเกินไป ในการเสริมทัพจึงมุ่งมาทางเรือดำน้ำชั้น Type 214 จากประเทศเยอรมัน ซึ่งมีความทันสมัยกว่าเรือดำน้ำชั้น Type 209/1400 ของอินเดียคู่รักคู่แค้น มีการเจรจาค่อนข้างยาวนานเพื่อสั่งซื้อ Type 214 จำนวน 3 ลำ โชคร้ายไม่บังเกิดผลและต้องยุติลงอย่างเด็ดขาดในปี 2011 จากนั้นไม่นานปากีสถานได้หันมามองเรือดำน้ำจากประเทศจีน

บริษัท China Shipbuilding & Offshore International Co. Ltd หรือ CSOC นำเรือดำน้ำส่งออกรุ่นใหม่ชื่อ S20 ติดตั้งระบบ Air-Independent Propulsion หรือ AIP มานำเสนอ ข่าวสารในช่วงแรกบอกว่าพัฒนามาจากเรือดำน้ำ Type 041 หรือเรือชั้น Yuan ซึ่งถูกลดขนาดให้เล็กกว่าเดิมเพื่อใช้ส่งออกโดยเฉพาะ แต่ผู้เขียนคิดว่าข้อมูลอาจคลาดเคลื่อนสักเล็กน้อย น่าจะเป็นเรือดำน้ำชั้น Type 039A ถูกลดขนาดลงมามากกว่า

ต่อมาในเดือนเมษายน 2015 รัฐบาลปากีสถานตัดสินใจซื้อเรือดำน้ำ S20 จำนวน 8 ลำ ปีถัดมามีการเปิดเผยรายละเอียดโครงการ เรือดำน้ำเฟสแรกจำนวน 4 ลำสร้างโดยประเทศจีน กำหนดส่งมอบระหว่างปี 2022 ถึง 2023 เรือดำน้ำเฟสสองจำนวน 4 ลำสร้างโดยอู่ต่อเรือ Karachi Shipyard & Engineering Works หรือ KSEW ของปากีสถาน กำหนดส่งมอบภายในปี 2028 เป็นอันปิดโครงการราคารวม 5 พันล้านเหรียญ

อ่านดูคร่าวๆ ค่อนข้างดีมากและราคาแพงมาก แต่จะดีแตกหรือไม่โปรดติดตามต่อไปเรื่อยๆ

หลังการสั่งซื้อข้อมูลต่างๆ เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ต้นแบบ S20 ซึ่งปากีสถานตั้งชื่อรุ่นว่า HANGOR กลับกลายมาเป็นเรือดำน้ำชั้น Type 039A ตามข้อเท็จจริง เพียงแต่ข้อมูลเรือดำน้ำ S20 เผยแพร่ออกมาน้อยเหลือเกิน น้อยยิ่งกว่าเรือดำน้ำ S26T ที่จีนขายให้กับประเทศไทย อันเปรียบได้กับแฝดคนละฝาของเรือดำน้ำปากีสถาน

          ข้อมูลในปี 2015 เรือดำน้ำ S20 มีความยาว 66 เมตร กว้าง 8 เมตร สูง 8.2 เมตร ระวางขับน้ำ 1,850 ตันที่ผิวน้ำ 2,300 ตันระหว่างดำน้ำ ความเร็วสูงสุด 18 นอต ระยะทำการไกลสุด 8,000 ไมล์ที่ความเร็ว 16 นอต ออกปฏิบัติการได้นานสุด 60 วัน ดำน้ำลึกสุด 300 เมตร โดยใช้ลูกเรือ 38 นาย

          ข้อมูลในปี 2018 ตรงตามภาพประกอบที่สาม เรือดำน้ำ S20 หรือชั้น HANGOR มีความยาว 76 เมตร กินน้ำลึก 6.2 เมตร ระวางขับน้ำ 2,800 ตัน ความเร็วสูงสุด 10 นอต เทียบกับปี 2015 ยาวกว่าเดิมถึง 10 เมตร ระวางขับน้ำมากขึ้น 500 ตัน นี่คือข้อมูลที่จัดแสดงพร้อมกับโมเดลเรือ

ส่วนเรือดำน้ำ S26T ของกองทัพเรือไทย มีความยาว 77.7 เมตร กว้าง 8.6 เมตร กินน้ำลึก 6.2 เมตร ระวางขับน้ำ 2,600 ตัน ข้อมูลแท้จริงจากโมเดลเรือมีเพียงเท่านี้ ข้อมูลที่เหลือตรงกับข้อมูลเรือดำน้ำ S20 ในปี 2015 ผู้เขียนไม่อยากเทใจเชื่อถือสักเท่าไร มีข้อมูลเรือดำน้ำ S26T ที่นำเสนอให้กับกองทัพเรือไทย หลุดออกมาทางสื่อมวลชนจนเป็นข่าวฮือฮาเมื่อไม่นานมานี้ แต่มันไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ผู้เขียนไม่กล้าใช้งานตัวเลขเหล่านั้น

ข้อมูลเรือดำน้ำ S20 มีค่อนข้างน้อยมาก แต่ข่าวคราวความเคลื่อนไหวตลอด 6 ปีน้อยกว่ากันหลายเท่าตัว ตามแผนเรือดำน้ำสร้างในจีน 4 ลำจะทยอยส่งมอบตั้งแต่ปีหน้า ทว่าจนถึงทุกวันนี้กลับไม่พบข้อมูลแม้แต่นิดเดียว แตกต่างจากเรือดำน้ำสิงคโปร์สร้างในเยอรมัน ลำนี้มีทั้งภาพและรายละเอียดเผยแพร่ทั่วโลกตลอดเวลา

ผู้เขียนตั้งใจรอคอยภาพถ่ายเรือดำน้ำลำจริงก่อน ถึงลงมือเขียนบทความกองทัพเรือปากีสถานที่ดองมานานแสนนาน เฝ้ารอเสียจนโครงการอื่นแซงหน้าไปหมดแล้ว จึงตัดสินใจไม่รอแล้วเขียนบทความเลยดีกว่า

ไว้เรือดำน้ำ S20 ลำจริงเผยโฉมอย่างเป็นทางการ เราค่อยมาคุยเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่งแล้วกัน

PMSA New Ships

          ปากีสถานมีการจัดตั้งหน่วยยามฝั่งมาเนิ่นนาน ทำงานอิสระแยกจากกองทัพเรืออย่างชัดเจน เพื่อบังคับใช้กฎหมายในแม่น้ำน้อยใหญ่และน่านน้ำอาณาเขต พื้นที่รับผิดชอบไกลสุดจากชายฝั่งไม่เกิน 12 ไมล์ทะเล มีแค่เพียงเรือตรวจการณ์ขนาดเล็กราคาไม่แพงค่าใช้จ่ายต่ำ เหมาะสมกับภารกิจรวมทั้งขอบเขตความรับผิดชอบ

          ต่อมาเมื่อมีการกำหนดพื้นที่เศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเล กองทัพเรือปากีสถานมีการจัดตั้ง Pakistan Maritime Security Agency หรือ PMSA ขึ้นมา ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในพื้นที่เศรษฐกิจจำเพาะ รวมทั้งการค้นหาและกู้ภัยผู้ประสบเหตุกลางทะเล พูดให้ชัดเจนก็คือหน่วยยามฝั่งสังกัดกองทัพเรือนั่นเอง

          PMSA เปรียบได้กับลูกเมียน้อยของคนขับรถขององค์ชายสิบสี่ เรือตรวจการณ์ส่วนใหญ่ซื้อต่อจากชาติอื่น หรือได้รับโอนจากอเมริกาซึ่งตอนนี้ไม่ค่อยถูกกันเท่าไร ค่อนข้างชราภาพเวลาใช้งานมักพบเจอแต่ปัญหากวนใจ อันเป็นเรื่องปรกติทั่วไปของเรือชราภาพ ไม่แตกต่างจากลูกเมียน้อยของคนขับรถขององค์ชายสิบสี่ของชาติอื่น

          เมื่อปากีสถานผุดโครงการจัดหาเรือดำน้ำจากประเทศจีน พร้อมๆ กับต้องการจัดหาเรือฟริเกตอีกจำนวนหนึ่ง ใครบางคนมีความคิดเรื่องการจัดหาเรือใหม่ให้ PMSA เมื่อจีนรับรู้ความต้องการจึงได้สนองตอบอย่างรวดเร็ว โดยการเสนอแบบเรือ 600T COAST GURAD PATROL VESSEL กับ 1500T  OPV (Offshore Patrol Vessel) แบบแพกเกตเหมารวมราคาค่อนข้างประหยัด รัฐบาลปากีสถานตัดสินใจสั่งซื้อเรืออย่างไม่ยากเย็น บริษัท China Shipbuilding Trading Company หรือ CSTC ของจีน ได้รับสัญญาซื้อเรือ 6 ลำก่อนเรือดำน้ำด้วยซ้ำ

          ภาพบนคือเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชั้น Hingol ระวางขับน้ำ 600 ตัน ยาว 68 เมตร กว้าง 8.7 เมตร ตัวเรือสร้างจากเหล็กส่วนเก๋งเรือเป็นวัสดุอลูมิเนียม หัวเรือติดตั้งปืนกลอัตโนมัติ H/PJ-17 30 มม.จากจีน 1 กระบอก ติดปืนกล 12.7 มม.ได้อีก 2 กระบอกแต่ในภาพไม่มี กลางเรือมีพื้นที่โล่งสำหรับวางตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ ท้ายเรือใส่เรือยางท้องแข็งยาว 6.5 เมตรความเร็ว 40 นอตได้อีก 2 ลำ

เรือตรวจการณ์ชั้น Hingol มีจำนวน 4 ลำ แบ่งเป็น 3 ลำแรกสร้างในจีนโดยบริษัท CSTC ส่วนลำสุดท้ายสร้างโดยบริษัท Karachi Shipyard & Engineering Works หรือ KSEW ของปากีสถาน รวมทั้งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการต่อเรือจาก CSTC มาด้วย สรุปก็คือใช้แผนเดียวกับการจัดหาเรือฟริเกต F22P นั่นเอง

ขอพาทุกคนกลับมายังใต้สุดของดินแดนแหลมทอง มาเลเซียผุดโครงการ Littoral Mission Ship หรือ LMS ขึ้นมา เพื่อจัดหาเรือตรวจการณ์อเนกประสงค์จำนวน 18 ลำ เรือเฟสแรก 4 ลำบริษัท China Shipbuilding & Offshore International Co. Ltd หรือ CSOC ได้รับการคัดเลือก แบ่งเป็น 2 ลำแรกสร้างในจีนส่วน 2 ลำหลังสร้างในมาเลเซีย บังเอิญมาเลเซียประสบปัญหาเรื่องเงินๆ ทองๆ ส่งผลให้เรือ 2 ลำหลังย้ายกลับไปสร้างในจีน

แบบเรือจากโครงการ LMS ระวางขับน้ำ 700 ตัน ยาว 69 เมตร กว้าง 9 เมตร รูปร่างหน้าตาเหมือนเรือตรวจการณ์ 600 ตันของ PMSA ราวกับฝาแฝด ต่างกันแค่เพียง Superstructure สองกราบเรือนั้นปิดสนิท ไม่ได้เจาะช่องเว้าๆ แหว่งๆ เหมือนเรือปากีสถาน ที่เป็นเช่นนั้นเพราะใช้แบบเรือต้นฉบับเหมือนกันนั่นเอง

          พิจารณาภาพประกอบกันอีกครั้ง ภาพล่างคือเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Kashmir ระวางขับน้ำ 1,500 ตัน ยาว 94 เมตร กว้าง 12.2 เมตร ความเร็วสูงสุด 26 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 3,500 ไมล์ หัวเรือติดตั้งปืนกลอัตโนมัติ H/PJ-17 30 มม.จากจีน 1 กระบอก ติดปืนกล 12.7 มม.ได้อีก 2 กระบอกแต่ในภาพไม่มี พื้นที่กลางเรือใส่เรือยางท้องแข็งได้มากสุดถึง 4 ลำ ท้ายเรือมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ขนาดกลางโดยที่ไม่มีโรงเก็บ

เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Kashmir มีจำนวน 2 ลำ แบ่งเป็นลำแรกสร้างในจีนโดยบริษัท CSTC ส่วนลำสุดท้ายสร้างโดยบริษัท KSEW ปากีสถาน รูปร่างหน้าตาเหมือนเคยเห็นที่ไหนมาก่อน เพราะเรือลำนี้เป็นน้องสาวในไส้แท้ๆ ของเรือหลวงปัตตานี แต่ถูก CSTC นำมาปรับปรุงโน่นนั่นนี่แล้วตั้งชื่อให้ใหม่ว่า 1500T  OPV

ชื่อบริษัทสร้างเรือจากจีนผู้เขียนงงเหลือเกิน จำไม่ได้ว่าใครเป็นบริษัทใหญ่ ใครเป็นบริษัทลูก แล้วเล่นตั้งชื่อคล้ายกันยิ่งปวดหัวหนักกว่าเดิม CSTC เอย CSIC เอย CSOC เอย CSSC เอยให้ตายเถอะโรบิ้น

Unspecified Frigate

          นับถึงตอนนี้ปากีสถานซื้อเรือจากจีนจำนวน 18 ลำพอดิบพอดี สร้างในจีน 12 ลำสร้างเองในประเทศเพียง 6 ลำ ความเห็นส่วนตัวผู้เขียนมองว่าเสียของ ทำไมไม่สร้างเรือฟริเกต Type 054A/P เองสัก 1 หรือ 2 ลำ ขนาดเรือดำน้ำคุณพี่ยังกล้าสร้างเองตั้ง 4 ลำ เรือฟริเกตสร้างง่ายกว่านี่นาทำไมยกให้จีนสร้างทั้งหมด

          เหตุผลสำคัญนอกจากรีบใช้เรือฟริเกต นั่นคือปากีสถานมีโครงการสร้างเรือฟริเกตขนาด 5,000 ตันในประเทศจำนวน 6 ลำ โดยใช้แบบเรือจากประเทศจีนมาปรับปรุงเพิ่มเติม มีการเซ็นสัญญาเรียบร้อยแล้วในปี 2020 ทว่ารายละเอียดโครงการใหญ่ยังไม่ถูกเปิดเผย ผู้เขียนจึงไม่มีอะไรมานำเสนอนอกจากคำบอกกล่าว

          ในการซื้อเรือฟริเกต Type 054A/P ปากีสถานตั้งชื่อโครงการร่วมว่า F22P Batch II แล้วระบุเพิ่มเติมว่าโครงการถัดไปจะสร้างเรือฟริเกตด้วยตัวเอง เป็นการลดแรงเสียดทานรวมทั้งหาเสียงสนับสนุนในตัว ทั้งๆ ที่ตอนนั้นโครงการเรือฟริเกต 5,000 ตันยังไม่เป็นรูปเป็นร่างด้วยซ้ำ

          นี่แหละครับวิธีการบริหารโครงการใหญ่ให้สำเร็จลุล่วง ต้องมีทั้งบู๊และบุ๋นไม่ใช่เดินหน้าฆ่าล้างโคตร รายละเอียดเรือฟริเกตลำใหม่ตอนนี้ไม่มีเลย บางทีอาจแบ่งเป็นรุ่นอเนกประสงค์กับป้องกันภัยทางอากาศ


          จากภาพประกอบคือการสร้างเรือชนิดต่างๆ ด้วยตัวเอง ภาพใหญ่เป็นพิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งขนาด 1,500 ตันลำที่สองชื่อ PMSS Kolachi 144 ที่อู่ต่อเรือ Karachi ในวันที่ 9 กันยายน 2018 ภาพเล็กมุมบนขวาเป็นพิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งขนาด 600 ตัน ชื่อ PMSS Zhob 1073 ที่อู่ต่อเรือ Karachi เช่นกันในวันที่ 21 พฤษภาคม 2019 ส่วนภาพเล็กมุมบนซ้ายเป็นแบบเรือ Type 054X จากประเทศจีน อันเป็นหนึ่งในทางเลือกการสร้างเรือฟริเกต Type 054B ในอนาคต เรือฟริเกตปากีสถานอาจใช้แบบเรือลำนี้พัฒนาเพิ่มเติม

          การสร้างเรือจากแบบเรือใหม่เต็มไปด้วยปัญหาน้อยใหญ่ ขนาดอังกฤษสร้างเรือได้เองตั้งแต่ยุคกัปตันแจ๊ค สแปร์โรว์ยังเรืองอำนาจ ในการสร้างเรือฟริเกต Type 26 ลำแรกมีการเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้ถึง 10 ปี ก่อนลดลงมาเหลือ 6 ปีในการสร้างเรือลำที่แปดลำสุดท้าย จู่ๆ ปากีสถานสร้างเรือฟริเกต 5,000 ตันถือว่าเป็นงานท้าทายมาก

บริษัท KSEW ของปากีสถานขนาดใหญ่โตพอสมควร เคยสร้างทั้งเรือฟริเกตและเรือดำน้ำมาแล้ว พวกเขามีงานช้างสร้างเรือดำน้ำ S20 จำนวน 4 ลำ ต่อด้วยงานแมมมอธสร้างเรือฟริเกต 5,000 ตันอีก 6 ลำ หากทำสำเร็จจะขึ้นมาเทียบเท่าบริษัทสร้างเรือระดับโลก แต่ถ้าทำไม่สำเร็จงานนี้ตัวใครตัวมันสถานเดียว

          แต่ก็นั่นแหละครับงานนี้อาจมีคดีพลิกระดับโลกก็ได้ ไว้รอเห็นพิธีตัดเหล็กเสียก่อนผู้เขียนถึงจะเชื่อ

เรือคอร์เวต MILGEM

          วันที่ 5 กรกฎาคม 2018 แบบเรือ MILGEM จาก Military Factory and Shipyard Management Corporation หรือ ASFAT จากตุรกี ได้รับการคัดเลือกในโครงการเรือคอร์เวตขนาดใหญ่ กองทัพเรือปากีสถานต้องการจัดหาเรือจำนวน 4 ลำ ตามแผนปรับปรุงใหญ่เพิ่มเรือฟริเกตกับเรือคอร์เวตเป็น 20 ลำ

          รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมตุรกีออกอาการดีใจสุดขีด นี่คือครั้งแรกที่ตุรกีขายเรือรบขนาดใหญ่สำเร็จ เป็นก้าวสำคัญในการแย่งชิงเค้กก้อนโตจากเจ้าเดิม รวมทั้งเป็นการประกาศศักยภาพทางการทหารของตุรกี

นี่คือเรือคอร์เวตชั้น MILGEM กองทัพเรือปากีสถาน เป็นภาพกราฟิกสวยงามเปิดเผยข้อมูลอย่างชัดเจน (เกาหลีใต้แกสมควรจำไว้บ้าง ทำอะไรแบบนี้ให้ลูกค้าสักทีเถอะ) แบบเรือจากตุรกีถูกขยายใหญ่โตกว่าเดิม ระวางขับน้ำเพิ่มเป็น 2,980 ตัน (ของเดิม 2,400 ตัน) ยาว 108.2 เมตร (ของเดิม 99.56 เมตร) กว้าง 14.8 เมตร (ของเดิม 14.4 เมตร)  กินน้ำลึก 4.1 เมตร (ของเดิม 3.9 เมตร) เป็นเรือคอร์เวตขนาดใหญ่โตตามชื่อโครงการ

ระบบอาวุธบนเรือประกอบไปด้วย ปืนใหญ่ Oto 76/62 Super Rapid ที่หัวเรือ 1 กระบอก ต่อด้วยแท่นยิงแนวดิ่งจากจีนจำนวน 16 ท่อยิง สำหรับอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน HQ-16 ระยะยิง 40 กิโลเมตร บริเวณกลางเรือติดตั้งอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ/โจมตีชายฝั่ง Harbah ระยะยิง 700 กิโลเมตรจำนวน 6 นัด ต่ำลงมาเป็นแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำแฝดสาม สูงขึ้นไปเล็กน้อยคือปืนกลอัตโนมัติ STOP RWS ขนาด 25 มม.จากตุรกี บนโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ติดตั้งระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Gokdeniz ใช้ปืนกล 35 มม.ลำกล้องแฝดสร้างโดยตุรกีเช่นกัน เห็นหน้าตาหงิมๆ แบบนี้อาวุธป้องกันตัวไม่ธรรมดาเอาเสียเลย

ระบบเรดาร์บนเรือประกอบไปด้วย เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Smart-S Mk2 ของ THALES เรดาร์ควบคุมการยิงปืนใหญ่ STING-EO Mk2 ของ THALES เช่นกัน แต่เป็นเวอร์ชันตุรกีซื้อลิขสิทธิ์มาสร้างเอง ถัดไปเป็นเรดาร์ควบคุมการยิงอาวุธวิถีต่อสู้เรือรบ Type 345 จากจีนจำนวน 2 ตัวที่หัวเรือ-ท้ายเรือ ในภาพยังเห็นเรดาร์ควบคุมการยิงอีก 1 ตัวถัดจากเรดาร์ Type 345 คิดว่าเป็นความเข้าใจผิดของคนทำภาพเพราะไม่รู้จะเอาไปใช้กับอะไร

เรือใช้ระบบอำนวยการรบ G-MSYS ตุรกีพัฒนาขึ้นมาเอง (จริงๆ ก็รุ่น GENESIS นั่นแหละครับ) โซนาร์ปราบเรือดำน้ำหัวเรือรุ่น Yakamos จากตุรกีเช่นกัน มีระยะทำการประมาณ 30 กิโลเมตร อุปกรณ์ตรวจจับคลื่นอิเล็กทรอนิกส์หรือ ESM ใช้รุ่น RES-2NC จากตุรกีอีกแล้ว ใช้งานระบบเป้าลวงอาวุธนำวิถี MASS จากเยอรมัน กับระบบเป้าลวงตอร์ปิโด HIZIR รุ่นใหม่เอี่ยมตุรกีนำเสนอ โดยมีทั้งแท่นยิงเป้าลวงขนาด 8 ท่อยิงที่สองกราบเรือ ทำงานร่วมกับโซนาร์ลากท้าย HIZIR Towed Array สำหรับตรวจจับตอร์ปิโดโดยเฉพาะ

เรือคอร์เวตปากีสถานใหญ่กว่าเรือคอร์เวตตุรกีพอสมควร ติดตั้งระบบแท่นยิงแนวดิ่งได้มากสุด 16 ท่อยิง ขณะที่เรือต้นฉบับไม่มีพื้นที่รองรับแต่อย่างใด สาเหตุเป็นเพราะใช้แบบเรือ MILGEM Batch II หรือเรือฟริเกตชั้น Istanbul ซึ่งเคยปรากฏโฉมครั้งแรกในงานแสดงอาวุธ IDEF 2015 เริ่มสร้างเป็นเรือลำจริงตั้งแต่ปี 2017 รูปร่างหน้าตาคล้ายเรือคอร์เวตขนาดใหญ่ของปากีสถานถึง 90 เปอร์เซ็นต์

เรือชั้น Istanbul ตุรกีสร้างเสร็จแล้วจำนวน 1 ลำ TCG Istanbul F-515 เผยโฉมวันที่ 17 มกราคม 2021 ติดตั้งแท่นยิงแนวดิ่ง Mk-41 จำนวน 16 ท่อยิง ตุรกีอยากใช้งานอาวุธนำวิถีปราบเรือดำน้ำ VL-ASROC บนเรือลำนี้ แต่อเมริกายอมขายให้หรือเปล่าต้องรอดูกันอีกที ผู้เขียนไม่กล้ายืนยันจนกว่าจะเห็นของจริงเสียก่อน

สัญญาซื้อเรือคอร์เวตกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า เรือ 2 ลำแรกสร้างในตุรกีส่วน 2 ลำหลังสร้างในปากีสถาน มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างเรือจากตุรกีโดยไม่หมกเม็ด ปากีสถานกำหนดให้คอร์เวตใช้ชื่อว่าชั้น Jinnah  

วันที่ 4 มิถุนายน 2020 มีพิธีวางกระดูกงูเรือคอร์เวตชั้น Jinnah ลำแรกที่อู่ต่อเรือ Istanbul Naval Shipyard ในประเทศตุรกี

วันที่ 25 ตุลาคม 2020 มีพิธีวางกระดูกงูเรือคอร์เวตชั้น Jinnah ลำที่สองที่อู่ต่อเรือ Karachi Shipyard บริษัท KSEW ในประเทศปากีสถาน

วันที่ 5 พฤษภาคม 2021 มีพิธีวางกระดูกงูเรือคอร์เวตชั้น Jinnah ลำที่สามที่อู่ต่อเรือ Istanbul Naval Shipyard ในประเทศตุรกี

วันที่ 15 มิถุนายน 2021 มีพิธีตัดเหล็กเรือคอร์เวตชั้น Jinnah ลำที่สี่ที่อู่ต่อเรือ Karachi Shipyard บริษัท KSEW ในประเทศปากีสถาน ในพิธีมีความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้น ชมภาพประกอบถัดไปกันก่อนครับ

แบบเรือเปลี่ยนแปลงจากเดิมหลายจุดด้วยกัน เรดาร์ควบคุมการยิง Type 345 จากจีนหายไป แท่นยิงแนวดิ่งลดจาก 16 ท่อยิงเหลือเพียง 12 ท่อยิง รวมทั้งเตี้ยกว่าเดิมลงมาอยู่ระดับดาดฟ้าเรือ SATCOM ตัวใหญ่ใกล้ปล่องระบายความร้อนหายไปแล้ว จุดติดตั้งปืนกลอัตโนมัติ STOP RWS ไม่ได้ตีโป่งออกมาแล้ว เรดาร์ควบคุมการยิงปริศนาหายไปแล้วเช่นกัน มีแค่เพียง SATCOM ใบเล็กสำหรับระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม

ภาพกราฟิกล่าสุดเรือค่อนข้างสะอาดตา โดยเฉพาะปล่องระบายความร้อนกลับมาเป็นอย่างที่ควรเป็น ไม่มี SATCOM กับเรดาร์ควบคุมการยิงเกะกะให้โดนรมควันเล่น เพิ่มคุณสมบัติ Stealth ให้กับเรือได้อีกเล็กน้อย

การเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้นกับระบบป้องกันภัยทางอากาศ ปากีสถานเลือกอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Albatros NG ของบริษัท MBDA อังกฤษ นำมาทดแทนอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน HQ-16 จากจีน

Albatros NG เคยมีชื่อเดิมว่า CAMM-ER บริษัทผู้ผลิตนำอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน CAMM หรือ Sea Ceptor ระยะยิง 25 กิโลเมตรมาพัฒนาเพิ่มเติมจนมีระยะยิงเพิ่มขึ้นเป็น 40 กิโลเมตร สามารถสกัดกั้นอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบได้ดีกว่า HQ-16 จากจีน โดยไม่จำเป็นต้องใช้งานเรดาร์ควบคุมการยิงบนเรือ แค่ติดจานส่งสัญญาณช่วยนำวิถีระหว่างเดินทางก็เพียงพอแล้ว เพียงแต่ราคาย่อมแพงกว่ากันตามเทคโนโลยีนั่นเอง

ทำไมปากีสถานเลือก Albatros NG ก่อนพิธีตัดเหล็กเรือคอร์เวตลำที่สี่? เรื่องนี้มีเบื้องลึกเบื้องหลังใช่หรือไม่?

คำถามนี้ผู้เขียนยังไม่พบคำตอบชัดเจน เป็นไปได้ว่าอาจเกิดความขัดแย้งระหว่างทำงาน การนำอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานจีนมาใช้งานกับระบบอำนวยการรบตุรกี ค่อนข้างยากมากและอาจจำเป็นต้องเปิดเผย Souce Code ในการทำงานร่วมกันอาจประสบปัญหาใหญ่โต คุยกันไปคุยกันมาสักพักหนึ่งยังตกลงกันไม่ได้ ปากีสถานจึงตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้งาน Albatros NG เป็นชาติที่สองต่อจากอิตาลีซึ่งเหมารวมใช้งานทั้ง 3 เหล่าทัพ

จากภาพประกอบเรือใช้แท่นยิงแนวดิ่ง Cool Launch รุ่น GWS-35 เหมือน Sea Ceptor จำนวนสองระบบเท่ากับ 12 ท่อยิงน้อยกว่าเดิม 4 ท่อยิง ความเห็นส่วนตัวคิดว่าเพียงพอแล้วต่อภัยคุกคาม สามารถยิงสกัดอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบแบบดับเบิลได้ถึง 6 ครั้ง ไม่น่ามีเรือลำไหนถูกโจมตีติดต่อกันมากกว่านี้กระมังครับ

ผู้อ่านอาจสงสัยทำไมไม่ใช้แท่นยิง ExLS ซึ่งสามารถใส่ Sea Ceptor ได้ถึง 4 นัดต่อ 1 ท่อ ไม่ก็ใช้แท่นยิง Sylver ซึ่งสามารถใส่ Albatros NG ได้ถึง 2 นัดต่อ 1 ท่อยิง ดูอย่างกองทัพเรือไทยสิ ใช้แท่นยิง Mk-41 ใส่ ESSM ได้ถึง 4 นัดต่อ 1 ท่อ วงเล็บต่อท้ายต้องมี MK25 Quad Pack Canister สำหรับบรรจุ ESSM ด้วยนะจ๊ะ

ความเห็นส่วนตัวกรณี 1 ท่อยิงใส่จรวดได้ 4 นัด มีทั้งดีและเลวตรงกับคำว่า ได้มา 4 เสียไป 4’

ขอยกตัวอย่างโดยใช้เรือไทยติดแท่นยิง Mk-41 เนื่องมาจากโลกมนุษย์ถูกรุกรานจากพวกเอเลี่ยน มีการจัดตั้งกองเรือนานาชาติเพื่อขับไล่ศัตรูร่วมกันทั่วโลก รัฐบาลไทยส่งเรือฟริเกตร่วมทำภารกิจจำนวน 2 ลำ

เช้าวันหนึ่งอากาศสดชื่นท้องฟ้าปลอดโปร่ง การลาดตระเวนหาข่าวตกเป็นของเรือรบไทยแลนด์ เรือหลวงนเรศวรบรรจุ ESSM จำนวน 8 นัดที่ท่อยิงหมายเลข 1 และ 2 ส่วนเรือหลวงตากสินใช้งาน ESSM หมดแล้วตั้งแต่เมื่อวาน จำเป็นต้องบรรจุ Sea Sparrow แบ่งมาจากเยอรมันจำนวน 8 นัดที่ท่อยิงหมายเลข 1 ถึง 8

ขณะที่เรือทั้งสองลำแล่นตะบึงคู่กันในทะเลดำ ทันใดนั้นเองได้ถูกโจมตีจากอากาศยานไร้คนขับขนาดเล็ก ส่งออกมาจากยานแม่ซึ่งแอบกบดานอยู่ใต้ท้องทะเล พลยิงปืนกล 12.7 มม.บนเรือสองลำจัดการเป้าหมายสำเร็จ บังเอิญส่วนหางอากาศยานไร้คนขับร่วงหล่นลงสู่ดาดฟ้า กระทบท่อยิงหมายเลข 1 บนเรือทั้งสองลำเข้าอย่างจัง

ความเสียหายที่เกิดขึ้นมีเพียงเล็กน้อย แค่ท่อยิงหมายเลข 1 บุบบู้บี้จนไม่สามารถเปิดได้ ส่งผลให้เรือหลวงนเรศวรเหลือ ESSM เพียง 4 นัด ในท่อยิงหมายเลข 2 ส่วนเรือหลวงตากสินเหลือ Sea Sparrow ถึง 7 นัดในท่อยิงหมายเลข 2 ถึง 8 ความผิดพลาดเล็กๆ ครั้งนี้สร้างความแตกต่างถึง 3 นัด ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความอยู่รอดของเรือหลวงนเรศวร นี่แหละครับความหมายคำว่า ได้มา 4 เสียไป 4’ จากผู้เขียน

อเมริกาหรือซาอุดีอาระเบียอาจใส่ ESSM จำนวน 32 นัดใน 8 ท่อยิงได้อย่างสบาย พังพินาศไป 2 ท่อยิงยังเหลือ ESSM พร้อมใช้งานอีก 24 นัด แต่ปากีสถานไม่มีเงินซื้อ Albatros NG มากมายขนาดนั้นแน่นอน ฉะนั้นเรือคอร์เวตชั้น Jinnah เลือกใช้งานแท่นยิง GWS-35 ผู้เขียนคิดว่าเหมาะสมที่สุด

การเลือกติดตั้งอุปกรณ์ใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน มีความเหมาะสมกับการทำสงครามไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน บังเอิญแต่ละประเทศมีแนวทางการใช้งานอาวุธไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเรือฟริเกต Type 26  ของอังกฤษติดตั้งแท่นยิง GWS-35 ถึง 48 ท่อยิงสำหรับ Sea Ceptor 48 นัด เป็นการรับประกันว่าจะมีจรวดมากเพียงพอในการรบ ส่วนเรือฟริเกต Type 26  ของแคนาดาติดตั้งแท่นยิง ExLS จำนวน 6 ท่อยิงสำหรับ Sea Ceptor 24 นัด เหลือที่ว่างค่อนข้างมากสำหรับติดตั้งอุปกรณ์อย่างอื่น นี่คือความแตกต่างซึ่งถูกกำหนดโดยแนวทางหาใช่ตัวเรือ

การสั่งซื้อเรือคอร์เวตรุ่นใหม่ทันสมัยจากตุรกี โดยที่ตัวเองได้สร้างเรือเองจำนวนครึ่งหนึ่ง พร้อมๆ ได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างเรือยุคใหม่ บวกการสร้างเรือติดกันแบบรัวๆ ดั่งปืนกลหกลำกล้องรวบ ถือเป็นดีลการสั่งซื้อที่คุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง เหมาะสมกว่ามาเลเซียสร้างเรือฟริเกตเองจำนวน 6 ลำ พอเกิดปัญหาเงินช็อตทุกอย่างพลันเลือนสลาย เหมาะสมกว่าประเทศไทยซึ่งชอบสั่งซื้อเรือทีละลำ ผลก็คือเรือฟริเกต DW-3000F ซึ่งถูกคัดเลือกตั้งแต่ปี 2013 ผ่านไปแล้วถึง 8 ปียังไม่ปรากฏคำสั่งซื้อเรือลำที่สองเสียที

เรือคอร์เวต Damen OPV 1900

          ระหว่างปี 2017 รัฐบาลปากีสถานเซ็นสัญญากับบริษัท Damen ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซื้อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น OPV 1900 จำนวน 2 ลำ ในการสั่งซื้อกองทัพเรือปากีสถานขอปรับปรุงแบบเรือเพิ่มเติม ส่งผลให้ขนาดเรือใหญ่กว่าเดิมจาก 1,900 ตันเป็น 2,300 ตัน รวมทั้งถูกกำหนดให้เป็นเรือคอร์เวตอย่างเป็นทางการ

          ในการคัดเลือกคู่แข่งสำคัญคือเรือ Swift 75M Corvette จากบริษัท Swiftships ประเทศอเมริกา รูปร่างหน้าตาเหมือนเรือชั้น LCS-1 ลดขนาดลงมาเหลือเพียง 76.3 เมตร ทำคะแนนคู่คี่สูสีกับเรือ OPV 1900 แบบเฉือนกันแค่ปลายจมูก โชคร้ายสุดๆ เมื่อลูกค้าต้องการให้ปรับปรุงเรือตามความต้องการ บริษัทชื่อแปลกประหลาดจากอเมริกาไม่สามารถทำตามได้ หวยจึงมาออกที่เจ้าพ่อเรือตรวจการณ์อันดับหนึ่งจากเนเธอร์แลนด์

          กองทัพเรือปากีสถานต้องการใช้งานระบบอาวุธและเรดาร์จากจีน อันที่จริงไม่ได้ยากเย็นสักเท่าไร บังเอิญเรือ Swift 75M Corvette ระวางขับน้ำเพียง 1,250 ตัน พื้นที่ว่างบนเรือจึงค่อนข้างจำกัดจำเขี่ย ติดอาวุธจีนเข้าไปไม่สามารถทำภารกิจเสริมได้ดีเหมือนเดิม แตกต่างจากเรือคู่แข่งซึ่งถูกออกแบบให้มีพื้นที่ว่างมากเพียงพอ

          การเซ็นสัญญากำหนดให้ Damen สร้างเรือลำแรกส่วนปากีสถานสร้างเรือลำที่สอง อันเป็นความประสงค์เหมือนดั่งหลายโครงการที่ผ่านมา โชคร้ายอย่างถึงที่สุดช่วงเวลาดังกล่าวหาอู่ต่อเรือในประเทศไม่ได้ บริษัท KSEW เจ้าประจำงานล้นมือจนไม่เหลือช่องว่างให้เสียบ กองทัพเรือต้องยอมตัดใจมอบให้ Damen สร้างเรือทั้งสองลำ

          ว่าแล้ว Damen จึงโยนงานนี้ให้อู่ต่อเรือในโรมาเนีย นี่คือการประเดิมสนามครั้งแรกของน้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ เรือลำที่หนึ่งปล่อยลงน้ำเดือนพฤษภาคม 2019 ก่อนส่งมอบในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 โดยใช้ชื่อว่า PNS Yarmook หมายเลข F-271 เรือคอร์เวตรุ่นใหม่ถูกกำหนดชื่อว่าเรือชั้น Yarmook ตามชื่อเรือลำแรก

          เรือลำที่สองปล่อยลงน้ำเดือนกันยายน 2019 ก่อนส่งมอบในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 โดยใช้ชื่อว่า PNS Tabuk หมายเลข F-272 เรือคอร์เวตทั้งสองลำปากีสถานจะติดอาวุธเองแล้วเข้าประจำการภายในปี 2021

          ในภาพประกอบคือเรือ PNS Yarmook หลังทำพิธีปล่อยลงน้ำ ดาดฟ้าและเสากระโดงเรือค่อนข้างโล่งโจ้ง เพราะยังไม่ได้ติดระบบอาวุธกับเรดาร์หลัก เรือมีระวางขับน้ำ 2,300 ตัน ยาว 90 เมตร กว้าง 14.4 เมตร ความเร็วสูงสุด 23 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 6,000 ไมล์ทะเล ใช้ลูกเรือ 60 นาย ออกทะเลได้นานสุด 40 วัน

          ผู้เขียนมีข้อเปรียบเทียบระหว่างเรือคอร์เวตแท้ๆ MILGEM กับเรือคอร์เวตเทียมแท้ๆ OPV 1900 เรือตุรกีออกทะเลได้นานสุด 15 วัน ส่วนเรือเนเธอร์แลนด์ออกทะเลได้นานสุด 40 วัน ตัวเลขต่างกันค่อนข้างมากอย่างน่าตกใจ เนื่องจากลำหลังเป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งแอบปลอมตัวมานั่นเอง

ฉะนั้นใครก็ตามอยากแปลงเรือรบเป็นเรือตรวจการณ์ อยากให้เปรียบเทียบข้อมูลหลายด้านอย่างละเอียด คุณอาจพบว่ามันเป็นแค่ความพยายามที่แสนไร้ค่า คนใช้งานจริงจะประสบปัญหาต่างๆ มากมาย สู้เก็บเงินซื้อเรือตรวจการณ์ใหม่ไปเลยราคาอาจแพงหน่อย แต่สามารถทำภารกิจอย่างเต็มประสิทธิภาพได้อีก 40 ปีเต็ม

ราคาเรืออยู่ที่ประมาณ 75- 90 ล้านเหรียญ ไม่แพงเท่าไรเพราะเป็นเรือเปล่าไม่ได้ติดอาวุธ มาพิจารณารูปร่างเรือกันสักเล็กน้อย มีความแตกต่างจากเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งทุกรุ่นของ Damen ดูแล้วคล้ายคลึงเรือฟริเกตตระกูล Sigma เสียมากกว่า เพียงแต่ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ถูกเฉือนทิ้งออกไปเล็กน้อย ส่งผลให้เรือดูแตกต่างจากบรรดาพี่ๆ น้องๆ ของตัวเอง แต่ยังคงเอกลักษณ์ของเอกบุรุษจากดินแดนกังหันลมอย่างชัดเจน

บริเวณหัวเรือมีจุดติดตั้งปืนกลอัตโนมัติ H/PJ-17 30 มม.จากจีน 1 กระบอก สะพานเดินเรือรูปทรงแปดเหลี่ยมมีมุมมองกว้างถึง 320 องศา บนหลังคามีจุดติดตั้งกล้องตรวจการณ์กลางคืน เสากระโดงรูปทรงสวยงามติดแค่เพียงเรดาร์เดินเรือ มีปีกโผล่ออกมาด้านหลังสำหรับติด SATCAM ขนาดใหญ่ กลางเรือเป็นจุดติดตั้งอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-208A จำนวน 8 นัด หลังปล่องระบายความร้อนบริเวณกราบขวาเหนือสะพานขึ้นเรือ เป็นจุดติดตั้งระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Type 1130 จากจีน มาพร้อมกับพื้นที่สำหรับแมกาซีนใต้ดาดฟ้าเรือ

เรือคอร์เวต OPV 1900 มีลานจอดกับโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ขนาด 7 ตัน ใต้ลานจอดเป็นจุดวางตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์จำนวน 2 ตู้ บั้นท้ายมีจุดปล่อยเรือยางท้องแข็งความเร็วสูงขนาด 11.5 เมตร หลังปล่องระบายความร้อนบริเวณกราบซ้ายตรงข้าม Type 1130 CIWS เป็นจุดปล่อยเรือยางท้องแข็งขนาด 6.5 เมตร ถัดลงมาชั้นล่างยังมีจุดปล่อยเรือยางท้องแข็งขนาดไม่เกิน 4 เมตร หรือใช้งานภารกิจอื่นอาทิเช่นปล่อยยานใต้น้ำไร้คนขับ

ชมภาพประกอบสุดท้ายกันต่อเลย ภาพจากมุมบนเห็นรายละเอียดเรืออย่างชัดเจน สร้างจุดติดตั้งอาวุธทุกชนิดไว้อย่างครบถ้วน ส่วนของจริงจะมาตามนัดหรือไม่ต้องรอดูภายหลัง แบบเรือจาก Damen มีจุดเด่นเรื่องความกว้างขวางกับความอเนกประสงค์ บนลานจอดเฮลิคอปเตอร์สังเกตดีๆ จะเห็นช่องวางตู้คอนเทนเนอร์จำนวน 2 ตู้ เจาะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเวลาใช้งานให้พลิกขึ้นมาด้านบน ใช้เครนขนาดใหญ่หย่อนตู้คอนเทนเนอร์ลงมาติดตั้งให้เสร็จเรียบร้อย จากนั้นค่อยๆ ปิดกลับคืนกลายเป็นจุดรับส่งอากาศยานปีกหมุนต่อไป

บริเวณท้ายเรือถูกตัดเว้าแหว่งออกไปเล็กน้อย มีจุดรับส่งเรือยางท้องแข็งขนาด 11.5 เมตรอยู่ตรงกลาง ขนาบด้วยพื้นที่ว่างใช้หย่อนอุปกรณ์ปราบทุ่นระเบิด หรือจะติดรางยาวสำหรับวางทุ่นระเบิดก็ยังได้ เรือคอร์เวตลำนี้จัดเป็นเรือเนกประสงค์ตัวจริงเสียงจริง รองรับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ได้อย่างหลากหลาย ติดตั้งอาวุธทันสมัยไว้ป้องกันตัวมากพอสมควร ขาดแค่เพียงสุดยอดอภิมหาอมตะนิรันดร์กาลปืนใหญ่ Oto 76/62 มม.เท่านั้นเอง

แม้ปากีสถานไม่ได้สร้างเรือ OPV 1900 แม้แต่ลำเดียว ทว่าพวกเขาได้ส่งคนไปเรียนรู้หน้างานถึงโรมาเนีย รวมทั้งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการต่อเรือจากเนเธอร์แลนด์ มีข่าวแว่วๆ ว่ากองทัพเรืออยากได้เพิ่มอีก 2 ลำเป็น 4 ลำ จะได้สร้างเรืออเนกประสงค์ด้วยตัวเองประมาณว่าร้อนวิชา เพียงแต่ความน่าจะเป็นค่อนข้างริบหรี่เลือนราง เพราะต้องชนกับ 2 โครงการใหญ่ทั้งเรือดำน้ำ S20 และเรือฟริเกต 5,000 ตันซึ่งมีความสำคัญมากที่สุด

ก่อนจบมีความเห็นส่วนตัวเล็กน้อย ผู้เขียนคิดว่าเรือลำนี้เหมาะสมกับราชนาวีไทยเช่นกัน ปืนกล 30 มม.หัวเรือเปลี่ยนเป็นปืนใหญ่ Oto 76/62 uper Rapid ส่วน Type 1130 CIWS ท้ายเรือเปลี่ยนเป็นปืนกล Bofors 40 Mk4 อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบติดก็ได้ไม่ติดก็ตามใจ ถ้าต้องการเน้นป้องกันภัยทางอากาศให้เปลี่ยน Bofors 40 Mk4 เป็นระบบป้องกันตนเองระยะประชิด FL-3000N ขนาด 8 ท่อยิง กลางเรือติดปืนกลอัตโนมัติ DS-30M Mk2 จำนวน 2 กระบอก ส่วนระบบเป้าลวงให้นำมาติดบนหลังคาสะพานเดินเรือ เหมือนกับเรือหลายๆ ลำรวมทั้งเรือหลวงนเรศวรกับเรือหลวงตากสินของราชนาวีไทย

ถ้าอยากประหยัดใช้งานแค่อาวุธปืนอย่างเดียว ให้สลับ DS-30M Mk2 ทั้ง 2 กระบอกมาติดข้างโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ เพิ่มออปทรอนิกส์ควบคุมการยิงอีก 1 ตัวบนปีกหลังเสากระโดงก็ได้ SAMCOM ลูกใหญ่ติดบนแท่นใหญ่ระหว่างปล่องระบายความร้อน แล้วโยกจุดปล่อยเรือยางท้องแข็งมาอยู่กลางเรือ เท่ากับว่ามีเรือยางท้องแข็งขนาด 11.5 เมตร 1 ลำ ขนาด 6.5 เมตร 2 ลำ และขนาด 4 เมตรอีก 1 ลำ มีตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์อีก 2 ตู้

บทสรุป

ตอนนี้ผู้เขียนนับเรือรบผิวน้ำขนาดใหญ่ได้ครบ 20 ลำแล้ว ส่วนเรือดำน้ำได้เพิ่มมาอีกตั้ง 8 ลำ สามารถปลดระวางเรือรบชราภาพทั้งหมดได้อย่างสบายใจ นับเป็นการเสริมทัพที่น่าตื่นตาตื่นใจพอสมควร

สำหรับโครงการอื่นของปากีสถานที่น่าสนใจก็คือ พวกเขาอยากซื้อเรือตรวจการณ์ขนาด 57 เมตรจากอู่ต่อเรือ Dearsan Shipyard ประเทศตุรกีจำนวน 20 ลำ ซึ่งโดยทั่วไปทุกคนรู้จักในชื่อเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้น Tuzla (P-1200) มีความทันสมัยติดอาวุธได้อย่างหลากหลายครบ 3 มิติ เข้ามาเติมเต็มกองเรือตรวจการณ์ของตัวเองให้แข็งแกร่งกว่าเดิม ผู้เขียนเคยเขียนบทความถึงเรือลำนี้แล้วลองหาอ่านดูนะครับ

บทความกองทัพเรือปากีสถานต้องสิ้นสุดแต่เพียงเท่านี้ แม้ว่าเรื่องราวน้อยใหญ่ยังไม่จบสิ้นทั้งหมดก็ตาม เมื่อเรือดำน้ำสร้างเองในประเทศเริ่มเข้าประจำการ ผู้เขียนอาจเขียนถึงอีกครั้งไว้เจอกันตอนนั้นสวัสดีครับ

                             +++++++++++++++++++++++

อ้างอิงจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_active_Pakistan_Navy_ships

https://quwa.org/2020/05/27/pakistan-navy-ships-yarmook-class-corvette/

https://quwa.org/2020/10/10/outgoing-pakistan-navy-chief-reveals-50-ship-vision-2/

https://defenceforumindia.com/threads/pak-navy-news-images-and-discussion.77225/page-2

https://twitter.com/SyedAhm80419774/status/1405604420210003983

https://quwa.org/2020/05/15/pakistan-navy-ships-type-054a-p-frigate/

https://twitter.com/developingpak/status/1297153269475741696

https://quwa.org/2019/11/11/profile-pakistans-new-hangor-submarine/

https://defence.pk/pdf/threads/pakistan-turkey-4-milgem-ada-class-corvettes-contract-construction-started.566857/page-64

https://defence.pk/pdf/threads/pakistan-navy-type-054ap-frigates-update-news-discussion.561440/page-128

https://worldnavalnews.com/pakistan-awarded-opv-contract-to-damen/

http://www.pid.gov.pk/?p=41509

https://defence.pk/pdf/threads/pakistan-navys-2300-tons-opvs-launched-by-damen.618868/

https://twitter.com/tcsavunma/status/1334131066593026051

https://twitter.com/arkeonaval/status/1332585020310040578

https://twitter.com/YorukIsik/status/1233731369538289670

https://www.karachishipyard.com.pk/ongoing-projects/

https://defence.pk/pdf/threads/mpvs-four-600-t-two-1500t-for-the-pmsa-discussions.429179/page-5

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น