สารคดี
'Warship: Life at Sea' ซึ่งออกอากาศทางช่อง Channel
5 ประเทศอังกฤษในเวลา 3 ทุ่ม ได้เปิดเผยข้อมูลว่าหลังไตรมาสที่สองปี
2020 หรือประมาณ 18 เดือนที่แล้ว โซนาร์ลากท้ายเรือฟริเกตกองทัพอังกฤษลำหนึ่ง
บังเอิญชนเข้ากับเรือดำน้ำปริศนาของรัสเซียโดยไม่ได้ตั้งใจ
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกลางมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ
ช่วงเวลาเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำชั้น Type 23 ชื่อ
HMS Northumberland ออกลาดตระเวนตามปรกติ มีการปล่อยโซนาร์ S2087
หรือ Thales CAPTAS-4 ออกจากท้ายเรือ
เพื่อค้นหาเรือดำน้ำรัสเซียซึ่งทำการลาดตระเวนตามปรกติเช่นกัน
ระบบโซนาร์
S2087
รุ่นใหม่ทันสมัยประกอบไปด้วย หนึ่งโซนาร์ลากจูง Variable
Depth Sonar(VDS) สีเหลืองสดรูปร่างคล้ายตัวทีหรือปลาหางตั้ง
เป็นโซนาร์ภาคส่งทำงานโหมด Active โดยการปิงคลื่นออกไปรอบตัวค้นหาเป้าหมายได้อย่างชัดเจน
และสองโซนาร์ลากท้าย Towed Array Sonar (TAS) รูปร่างยาวๆ ดำๆ คล้ายคลึงไส้ดินสอยังไงยังงั้น
เป็นโซนาร์ภาครับทำงานในโหมด Passive คือดักฟังเสียงอย่างเดียว
สามารถตรวจจับเป้าหมายได้ไกลสุดถึง 150 กิโลเมตร
บนเรือฟริเกต
Type
23 ระบบโซนาร์ทั้ง 2 ชนิดแยกจากกันนะครับ ภาพประกอบที่หนึ่งภาพใหญ่คือการปล่อยโซนาร์
Towed Array Sonar ลงน้ำ มองเห็นแท่งดินสอดำๆ
อยู่ในสายลากหรือ Rope Tail โดยมี Acoustic Module แทรกอยู่ในสายลากด้านหลังจำนวนมากช่วยดักจับคลื่นเสียงใต้น้ำ
ส่วนภาพประกอบเล็กมุมบนขวาคือการปล่อยโซนาร์ Variable Depth Sonar สีเหลืองสดออกมา มองเห็นสายลาก Towed Array Sonar อยู่ด้านบนแยกจากกันอย่างชัดเจน
เพราะฉะนั้นโซนาร์
S2087 ของอังกฤษมีอุปกรณ์ครบถ้วน ไม่ใช่รุ่นประหยัดอย่างที่หลายคนเข้าใจผิด ขณะที่เรือฟริเกตชั้น
FREMM ของฝรั่งเศสติด Variable Depth Sonar ไว้ตรงกลาง ส่วน Towed Array Sonar ถูกย้ายมาอยู่กราบซ้ายเรือ
เป็นอีกหนึ่งลำซึ่งแยกระบบโซนาร์ทั้ง 2 ชนิดออกจากกัน
การติดตั้งโซนาร์แยกกันส่งผลให้น้ำหนักรวมทั้งระบบเท่ากับ
34
ตัน ทั้งบนเรือฟริเกตชั้น Type 23 กับ Type
26 ของอังกฤษ และเรือฟริเกตชั้น FREMM ของฝรั่งเศสกับอิตาลี
ต่อมาในภายหลัง Thales ได้พัฒนาระบบโซนาร์ Thales CAPTAS-4 รุ่น Compact เพิ่มเติมขึ้นมา
โดยจับ Towed Array Sonar มารวมไว้กับ Variable Depth
Sonar น้ำหนักลดลงเหลือเพียง 20 ตันมีใช้งานบนเรือฟริเกต
FTI หรือ Belharra
ซึ่งฝรั่งเศสกับกรีซสั่งซื้อไปใช้งาน รวมทั้งมีรุ่นหนักน้ำรวมเพียง 20 ตันใช้งานบนเรือฟริเกต F110 รุ่นใหม่ล่าสุดของสเปน
ส่วนเรือฟริเกต FFG(X) ของอเมริกาผู้เขียนยังไม่มีข้อมูลแต่อย่างใด
การใช้งานระบบโซนาร์ทั้งสองชนิดแตกต่างกัน
Passive
Sonar จะรับได้ข้อมูลแบริ่ง (Bearing) หรือทิศทางเป้าหมายเท่านั้น
ส่วน Active Sonar จะได้รับข้อมูลทั้งทิศทางและพิกัดระยะ (Range) ของเป้าหมาย เรือผิวน้ำสามารถค้นหาตำแหน่งเรือดำน้ำได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
แต่ต้องไม่ลืมด้วยว่าเรือดำน้ำค้นหาเราจากคลื่น Active Sonar ที่ปิงออกไปได้แม่นยำเช่นกัน
ปัญหาที่เกิดขึ้นตามเนื้อหาสารคดีก็คือ
เรือ HMS
Northumberland ใช้ Towed Array Sonar ซึ่งสามารถปล่อยได้ไกลสุด
2 กิโลเมตร และลึกสุดถึง 235 เมตร ค้นหาเรือดำน้ำรัสเซียในระดับลึกพอสมควร
บังเอิญเรือดำน้ำลอยลำสูงกว่าและชนเข้ากับสายลากตามภาพประกอบที่สาม ไม่แน่ใจระบบโซนาร์เสียหายมากน้อยแค่ไหน
รวมทั้งไม่แน่ใจว่าเรือดำน้ำเสียหายมากน้อยแค่ไหน
หลังเกิดเหตุการณ์
HMS
Northumberland ยกเลิกภารกิจลาดตระเวน กลับมาซ่อมแซมระบบโซนาร์ที่ฐานทัพเรือในสกอตแลนด์ทันที
เวลาผ่านพ้นไป 18 เดือนหรือหนึ่งปีครึ่งถึงได้มีการเปิดเผยข้อมูลผ่านสารคดี
มีเรื่องน่าสนใจที่ผู้เขียนอยากพูดถึง
เรื่องที่หนึ่งการใช้โซนาร์ลากท้าย Towed Array Sonar ตรวจจับเป้าหมายในน่านน้ำสากล นี่คือเรื่องปรกติของการลาดตระเวนสั่งสมประสบการณ์
เรือผิวน้ำตรวจจับเรือดำน้ำได้ไม่ใช่เรื่องแปลก และไม่ใช่เรื่องน่ายินดีหรือเอาไปคุยโวโอ้อวด
เพราะเรือดำน้ำสามารถตรวจจับเรือผิวน้ำได้เช่นกัน แต่เรือดำน้ำสามารถล่องหนหายตัวราวปาฏิหาริย์ตอนไหนก็ได้
เหมือนที่เรือดำน้ำรัสเซียเล่นเกมแมวจับหนูจนแล่นมาชนสายลากโซนาร์ของอังกฤษ
ในเมื่อการตรวจจับเรือดำน้ำพบเป็นเรื่องปรกติ
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าควรบุกควรถอยหรืออยู่นิ่งๆ ที่เดิม?
คำตอบก็คือ…เรือผิวน้ำต้องรู้เส้นทางเรือดำน้ำให้ชัดเจนที่สุด
ไม่ใช่รู้แค่มีเรือดำน้ำแถวๆ นี้แต่ตามต่อไม่ได้ เมื่อรู้ตำแหน่งและทิศทางชัดเจนผู้การเรือสามารถคิดคำนวณได้ว่า
อยากให้เรืออยู่นิ่งเฉยแบบเดิมหรือสั่งโจมตีหรือเข้าเกียร์ถอย
ยกตัวอย่างเช่นกองเรือบรรทุกเครื่องบินอังกฤษแล่นผ่านทะเลจีนใต้เมื่อปีที่แล้ว
กองทัพเรือจีนนำเรือดำน้ำตัวเองสะกดรอยตามในน่านน้ำสากล อันเป็นเรื่องปรกติเรือดำน้ำทุกชาติสามารถทำเช่นนี้ได้
อยู่มาวันหนึ่งเรือฟริเกต Type 23 ซึ่งทำหน้าคุ้มกันพบความผิดปรกติใต้น้ำด้วย
Towed Array Sonar จึงมีคำสั่งให้เปลี่ยนมาใช้ Variable
Depth Sonar (VDS) ตรวจสอบโดยการปิงหาพิกัด กระทั่งพบว่ามีความเป็นได้สูงที่เรือดำน้ำจีนเข้าใกล้กองเรือในระดับอันตราย
จึงมีคำสั่งให้เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ Merlin บินไปตรวจสอบด้วยโซนาร์ชักหย่อน
Thales FLASH Dipping Sonar ในจุดต้องสงสัย จนพบชัดเจนว่าเรือดำน้ำจีนย่องเข้าใกล้กองเรือบรรทุกเครื่องบินมากเกินงาม
เมื่อเรือดำน้ำรู้ตัวว่าถูกตัวเองตรวจพบจึงยอมล่าถอยออกไป
การตรวจสอบด้วย
VDS
Sonar และ Dipping Sonar คล้ายเป็นคำเตือนไปถึงเรือดำน้ำ
ให้รีบถอนตัวออกไปโดยเร่งด่วนไม่เช่นนั้นเจอตอร์(ปิโด) แน่นอน อารมณ์คล้ายดั่งล็อกเป้าอากาศยานด้วยเรดาร์ควบคุมการยิง
นี่คือสิ่งที่สมควรปฏิบัติในช่วงเวลาปรกตินะครับ หากเป็นช่วงเกิดสงครามคงไล่ยิงกันตั้งแต่ไก่โห่ไปนานแล้ว
โซนาร์
S2087
หรือ Thales CAPTAS-4
มีความพิเศษเหนือโซนาร์รุ่นอื่นอีกหนึ่งเรื่อง ทันทีที่ Towed Array Sonar ตรวจพบความผิดปรกติใต้น้ำ ระบบอำนวยการรบปราบเรือดำน้ำจะสั่งปล่อย Variable
Depth Sonar ลงน้ำเพื่อตรวจสอบพิกัดอย่างรวดเร็ว การเตรียมตัวรับมือภัยคุกคามจากใต้น้ำย่อมเร็วขึ้นตามกัน
แต่ลูกเรือต้องเปิดระบบอัตโนมัติไว้ก่อนนะครับ
ย้อนกลับมาที่กองทัพเรือไทยกันบ้าง
เรามีระบบโซนาร์ ACTAS (Active Towed Array Sonar) จากบริษัท Atlas Electronics ซึ่งมีความทันสมัยมากที่สุดจำนวน
1 ระบบ ค้นหาเป้าหมายได้ทั้งโหมด Active ด้วยระบบ Active Variable-Depth Towed Body ติดตั้ง Transducer
จำนวน 2 ชุดพร้อมสายเคเบิ้ลยาว 400 เมตร และค้นหาเป้าหมายในโหมด Passive
ด้วยระบบ Dependent Passive Towed Array จำนวน
2 ชุด พร้อมสายเคเบิ้ลยาว 500 เมตร ซึ่งต่อพ่วงอยู่กับ Active
Variable-Depth Towed Body เพื่อประหยัดพื้นที่ ระยะตรวจจับไกลสุดประมาณ
60 กิโลเมตร ทำงานร่วมกับระบบอำนวยการรบปราบเรือดำน้ำ ATLAS Modular ASW
Combat System (AMACS) ทว่าผู้เขียนไม่เคยเห็นของจริงบนเรือฟริเกตไทยอย่างชัดๆ
สักครั้ง
ระบบโซนาร์ทันสมัยจากเยอรมันราคาแพงไม่ใช่เล่นๆ
อุปกรณ์ปราบเรือดำน้ำบนเรือหลวงภูมิพลนับรวมกันทั้งหมด (ทั้งโซนาร์ ตอร์ปิโด และระบบอำนวยการรบ)
ผู้เขียนเข้าใจว่าจ่ายไป 100 ล้านเหรียญได้ทอนกลับคืนไม่กี่บาท
แต่ดูเหมือนจะเป็นทางเลือกเดียวของราชนาวีไทยในปัจจุบัน ครึ้มอกครึ้มใจเปลี่ยนมาเลือกโซนาร์
Thales CAPTAS-4 เข้าคงวุ่นวายพิลึก
+++++++++++++++++++++++
อ้างอิงจาก
http://trishul-trident.blogspot.com/2021/05/actas-fitment-on-ins-tabar-ffg.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น