วันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2564

Top News 2021

 

ก่อนปี 2021 จะผ่านพ้นไปในอีกไม่ถึง 20 วัน ผู้เขียนขอนำบทความเล็กๆ หรือข่าวสารซึ่งเคยเผยแพรในเฟซบุ๊กส่วนตัว มานำเสนอเป็นบทความปิดท้ายให้อ่านกันยาวๆ เป็นการทบทวนเนื้อ คัดเลือกมาจำนวน 10 เรื่องติดตามได้เลยครับ

Vol1

คืนนี้ก่อนนอนผู้เขียนมีของดีจากอู่ต่อเรือ Navantia สเปนมาฝาก เรือคอร์เวต Navante 2200 ลำแรกของกองทัพเรือซาอุดิอาระเบีย เริ่มทดสอบเดินเรือในอ่าว Cádiz เพื่อตรวจสอบและแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้เรียบร้อย

เรือคอร์เวตใหม่เอี่ยมชื่อ NB 546 Al Jubail จะทดสอบเดินเรือเป็นเวลา 2 เดือนเต็ม เสร็จเรียบร้อยจึงนำกลับมาซ่อมบำรุงทาสีใหม่ให้เรียบร้อย เตรียมส่งมอบให้กับลูกค้ากระเป๋าหนักที่ตะวันออกกลาง ซึ่งตามสัญญาคาดว่าจะครบทุกลำภายในปี 2024

กองทัพเรือซาอุดีอาระเบียเซ็นสัญญามูลค่า 1.8 พันล้านยูโร ซื้อเรือคอร์เวต Avante 2200 จำนวน 5 ลำจาก Navantia นำมาทดแทนเรือคอร์เวตเก่าซึ่งมีอายุใกล้ครบ 40 ปีแล้ว เรือถูกปรับปรุงเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับความต้องการ ระวางขับน้ำเต็มที่ 2,470 ตัน ยาว  104 เมตร กว้าง 14 เมตร กินน้ำลึก 3.8 ใช้ระบบขับเคลื่อน CODAD เครื่องยนต์ดีเซล 4 ตัว ความเร็วสูงสุด 25 นอต ออกปฏิบัติการได้นานสุด 21 วัน

ระบบอาวุธและเรดาร์บนเรือสนุกสนานตื่นเต้นเร้าใจมาก พลิกไปพลิกมาตลอดเวลาราวกับภาพยนตร์ทอง 2 ของอาฉลอง ข้อมูลที่ชัดเจนร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่มีครับ ทว่าตอนนี้มีภาพที่ชัดเจนแล้วไม่ใช่เหรอ เรามาไล่ตรวจสอบจากหัวเรือถึงท้ายไปพร้อมกัน

ปืนหลักเป็น Oto 76/62 Super Rapid จากอิตาลี มองเห็นแท่นยิงแนวดิ่งเรียงตัวแบบประหลาดนับได้ 16 ท่อยิง สำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน VL MICA พลิกโผไปจาก ESSM ซึ่งเป็นเต็งหนึ่งตลอดกาลหน้าตาเฉย บอกตามตรงผู้เขียนยังเกือบพลาดหน้าแหกหมอไม่รับเย็บ

ใช้ระบบอำนวยการรบของ Navantia เรดาร์ควบคุมการยิงหน้าตาเหมือน CEROS200 ของ SAAB แต่กลับกลายเป็น DORNA ของ Navantia เช่นกัน ระบสงครามอิเล็กทรอนิกส์มีทั้ง ECM และ ESM ของ Indra จากสเปนเช่นกัน เลยสะพานเดินเรือไปเล็กน้อยเห็นจุดติดตั้งปืนกลอัตโนมัติ RWS ขนาดไม่น่าเกิน 25 มม.แต่ไม่มีข้อมูลจริงๆ

เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ TRS-4D AESA ระยะทำการ 250 กิโลเมตร ที่ว่างกลางเรือใส่เรือยางท้องแข็ง RHIB ขนาด 5.5 เมตรพร้อมเครน ที่ว่างข้างปล่องระบายความร้อนสำหรับแท่นยิงระบบเป้าลวง (ยังไม่ได้ติดตั้ง) ถัดไปหน่อยเดียวเป็นแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ MM40 Exocet Block III ซาอุถีบเต็งจ๋า Harpoon Block II ตกทะเลแดงอย่างสุดแสนโหดร้าย

บนหลังคาโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์คือระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Millenium Gun พร้อมออปทรอนิกส์ควบคุมการยิง DORNA (เดี๋ยวนี้ DORNA เริ่มส่งออกได้หลายประเทศแล้ว อินโดนีเซียจัดหามาใช้งานเจ้าแรกในอาเซี่ยน) ขนาบสองกราบเรือด้วยแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ เป็นอันว่าติดอาวุธครบทั้ง 3 มิติ

ทีนี้มาชมภาพประกอบที่สองกันต่อ มองเห็นลานจอดและโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ขนาด 10 ตัน มีห้องควบคุมอากาศยานที่กราบขวา Avante 2200 มีโซนาร์ปราบเรือดำน้ำทั้งหัวเรือและท้ายเรือ ในภาพมองเห็นช่องปล่อยตีโป่งเล็กน้อยอย่างชัดเจน ตามข่าวบอกว่าเป็น CAPTAS 2 ของ Thales ทำงานได้ทั้งโหมด Passive และ Active ขนาดกะทัดรัดแต่ประสิทธิภาพสุดเร้าใจ

แหม่...เรือคอร์เวตยุคนี้ไม่ธรรมดาเอาเสียเลย ถ้าซาอุจัดหา VL MICA NG ระยะยิง 40 กิโลเมตรมาใช้งาน จะช่วยป้องกันภัยทางอากาศได้ดีกว่าเดิม

https://twitter.com/Navanti.../status/1435211445499842560

Vol2

ผู้เขียนมีเรือสวยๆ จากฝรั่งเศสมาให้ชม นี่คือเรือ Courbet F712 ผ่านการปรับปรุงใหม่เรียบร้อยแล้ว เธอเป็น 1 ใน 5 เรือฟริเกตชั้น Lafayatte ที่คนทั่วโลกรู้จักดี ใช้แบบเรือ FL-3000 ลดการตรวจจับด้วยคลื่นเรดาร์หรือ Stealth รุ่นแรกๆ ของโลก ขายดิบขายดีถึง 20 ลำประจำการอยู่ใน 4 ชาติ ช่วงปี 200x ใครไม่รู้จัก Lafayatte ถือว่าเชยระเบิดระเบ้อ

แม้แบบเรือทันสมัยล้ำยุคจนหลายชาติตาค้าง แต่กองทัพเรือฝรั่งเศสติดอาวุธเพียง 2 มิติเท่านั้น ตัดระบบปราบเรือดำน้ำออกไปทั้งหมด ไม่มีระบบแท่นยิงแนวดิ่งทั้งๆ ที่มีพื้นที่รองรับ ด้วยเหตุผลสั้นๆ ใช้ดูแลเขตเศรษฐกิจจำเพาะตัวเองเท่านั้น

ตอนซื้อเรือถูกกำหนดภารกิจไว้แบบนี้ก็จริง แต่ที่ผู้เขียนเห็นภาพบ่อยครั้งในช่วงหลังๆ ก็คือ เรือทำหน้าที่ประกบเรือยกพลขึ้นบกดาดฟ้าเรียบชั้น Mistral แล่นขนาบข้างไปไหนไปกันถึงตะวันออกกลางมาแล้วด้วยซ้ำ โดยมีอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Exocet กับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Crotale เป็นอาวุธหลักคู่กาย

Courbet F712 เข้าประจำการ วันที่ 1 เมษายน 1997 ต่อมาในเดือนตุลาคม 2020 เรือถูกปรับปรุงใหญ่ครั้งแรก โดยเปลี่ยนระบบอำนวยการรบจาก Tativic เป็น Senit เหมือนเรือฟริเกตรุ่นใหม่ ติดตั้งออปทรอนิกส์ควบคุมการยิงปืนใหญ่ 100 มม.รุ่น  Sea Eagle ใช้อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Exocet MM40  Block 3C รุ่นใหม่ล่าสุด ติดตั้งโซนาร์ปราบเรือดำน้ำ Thales Kingklip ที่หัวเรือ มาพร้อมระบบเป้าลวงตอร์ปิโด Canto รุ่นใหม่

ไม่มีแท่นยิงตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำบนเรือ แต่มีตอร์ปิโด MU 90 บนเฮลิคอปเตอร์ประจำเรือ อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Crotale หมดอายุแล้วถูกถอดออกไป ใส่แท่นยิง Sadral ขนาด 6 ท่อยิงสำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Mistral จำนวน 2 แท่นยิงเข้ามาแทน ระยะยิงหดลงมาจาก 15 กิโลเมตรเหลือเพียง 6 กิโลเมตร

แท่นยิง Sadral เป็นของเก่าจากเรือฟริเกตชั้น Georges Leygues นำมาปรับปรุงใหม่ใส่ระบบตรวจจับเป้าหมายรุ่นใหม่ ทำงานร่วมกับ Mistral 3 รุ่นล่าสุดยิงเรือยางพลีชีพหรือเรือตรวจการณ์ขนาดเล็กได้ เป็นทางเลือกที่ประหยัดเงินที่สุดแม้อาจไม่เหมาะสมที่สุด

เรือฟริเกตชั้น Lafayatte เพียง 3 ลำเท่านั้นที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ เพื่อให้มีความทันสมัยประจำการไปอีกพักหนึ่ง Courbet F712 ปรับปรุงเสร็จปี 2021 และมีแผนปลดประจำการปี 2031 อายุการใช้งาน 34 ปีถือว่าสมควรกับเหตุและผล ฝรั่งเศสไม่อยากเสียเงินปรับปรุงมากไปกว่านี้ นำเงินมาสร้างเรือฟริเกต FTI ประจำการแทนในอนาคตดีกว่า ถ้าเป็นเรือไทยงานนี้ต้องมีชุดใหญ่ไฟกะพริบแน่นอน

https://www.seaforces.org/.../Frigat.../F-712-FS-Courbet.htm

Vol3

วันที่ 11 สิงหาคม 2021 รายการโทรทัศน์แห่งหนึ่งของเติร์กเมนิสถาน ได้นำเสนอข่าวเรือคอร์เวตลำใหม่สร้างเองในประเทศทำการส่งมอบกับกองทัพเรือ โดยมีพิธีเข้าประจำการเรืออย่างเป็นทางการ ประธานาธิบดี Kurbankulu Berdimuhammedov เป็นประธานในพิธีดังกล่าว

ย้อนเวลากลับไปวันที่ 2 สิงหาคม 2019 กองทัพเรือเติร์กเมนิสถาน เซ็นสัญญากับบริษัท Gulhan & Dearsan Business Partnership สั่งซื้อเรือคอร์เวตความยาว 65 เมตรจำนวน 1 ลำ ตามโครงการเรือคอร์เวตชั้น Turkmen ที่เพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่ เรือลำนี้จะสร้างเรือที่เมือง Turkmenbashi และเป็นเรือรบลำแรกที่เติร์กเมนิสถานสร้างเองในประเทศ  โดยใช้แบบเรือจากอู่ต่อเรือ Dearsan ประเทศตุรกีซึ่งเป็นคู่ค้าบริษัท Gulhan นี่คือข้อมูลปลายปี 2019 ซึ่งผู้เขียนเขียนไว้ในบทความ "Tuzla Class Anti-Submarine Patrol Boat"

ผ่านไป 2 ปีพอดิบพอดี เรือคอร์เวตสร้างเองของเติร์กเมนิสถานปรากฏโฉมอวดชาวโลกเป็นครั้งแรก ทว่าแบบเรือกลับกลายเป็น Corvette C92จากบริษัท Dearsan เจ้าเดิม โดนใช้สถานที่สร้างเรือในฐานทัพเรือ Turkmenbashi จนแล้วเสร็จ ติดระบบอาวุธและเรดาร์รุ่นใหม่ทันสมัยมากกว่าเรือฟริเกตแท้ๆ หลายชาติด้วยซ้ำ พอดีผู้เขียนไม่ได้ตามข่าวนี้ต่อจึงไม่ทราบเหตุผลที่เปลี่ยนแบบเรือ แต่ประทานโทษ...เรือลำใหม่โหดกว่าเดิมหลายเท่าตัว

Corvette C92 ระวางขับน้ำ 1,600 ตัน (ใกล้เคียงเรือหลวงกระบี่) ยาว  91.4  เมตร กว้าง 13.3 เมตร กินน้ำลึก 3.5 เมตรไม่รวมโดมโซนาร์ ระบบขับเคลื่อนแบบ CODAD ใช้เครื่องยนต์ MAN 18VP185 จำนวน 4 ตัว ความเร็วสูงสุด 26 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 4,000 ไมล์ทะเล ตัวเรือสร้างจากเหล็กเก๋งเรือเป็นอลูมีเนียมใช้ลูกเรือ 100 นาย

ระบบอาวุธไล่จากหัวเรือเป็นปืนใหญ่ Oto 76/62 Super Rapid รุ่นเดียวกับเรือหลวงภูมิพล ต่อด้วยแท่นยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน VL-MICA จำนวน 2 ระบบ 16 นัด ซึ่งดูเหมือนว่าเติร์กเมนิสถานจะติดตั้งแค่เพียง 8 นัด (ต้องรอนับท่อยิงของจริงก่อนผู้เขียนถึงกล้ายืนยัน) ต่อด้วยปืนกลอัตโนมัติ STAMP RWS 12.7 มม.อีก 2 กระบอก ตุรกีผลิตเองรูปร่างหน้าตาคล้ายปืนกลอิตาลีเหลือเกิน

กลางเรือมีแท่นยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ  OTOMAT Mk2 Bl 4 จำนวน 8 นัด เติร์กเมนิสถานใช้จรวดจากอิตาลีอยู่ก่อนแล้วแต่ในภาพกราฟิกผู้เขียนมองไม่เห็นแท่นยิง ต่อด้วยแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำอีก 2 แท่นยิงซึ่งผู้เขียนมองไม่เห็นเช่นกัน  ติดตั้งระบบเป้าลวงตอร์ปิโด HIZIR ไว้กลางเรือ ระบบเป้าลวงอาวุธนำวิถีไม่ทราบรุ่นตั้งอยู่ใกล้กับปืนกลอัตโนมัติ STOP RWS ขนาด 25 มม.อีก 2 กระบอก

เหนือโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Gokdeniz ซึ่งใช้ปืนกล 35 มม.ลำกล้องแฝดสร้างโดยตุรกีเป็นอาวุธใหม่เอี่ยมอ่อง ที่อยู่ด้านหลัง Gokdeniz คือจรวดปราบเรือดำน้ำ Roketsan ขนาด 6 ท่อยิงระยะยิง 2 กิโลเมตร เท่ากับว่าเรือคอร์เวตชั้น Corvette C92 ชื่อ Deniz Han ของเติร์กเมนิสถาน มีอาวุธปราบเรือดำน้ำถึง 2 ชนิดด้วยกัน

ระบบตรวจจับมีทั้งเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติในโดมรูปกรวยบนสุดเสากระโดง เรดาร์ควบคุมการยิงอาวุธปืน 1ตัว ออปทรอนิกส์ตรวจการณ์ 2 ตัวหน้าหลัง ระบบค้นหาและติดตามอินฟราเรด ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ทั้ง ECM และ ESM รวมทั้งระบบดาต้าลิงก์ทันสมัยให้ลูกค้าเลือกใช้งาน แต่เรือ Deniz Han ไม่ได้ติดอุปกรณ์แจมเรดาร์หรือ ECM เพราะมีราคาแพงเกินไป รายละเอียดที่ชัดเจนทั้งหมดต้องรอในภายหลังนะครับ แต่ทว่าผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นอุปกรณ์ที่ตุรกีสร้างเองทั้งหมด รวมทั้งระบบอำนวยการรบ G-MSYS หรือ GENESIS ต้องมาอย่างแน่นอน

ปากีสถานสั่งซื้อเรือคอร์เวตชั้น MILGEM จากตุรกีจำนวน 4 ลำ สร้างเองในประเทศ 2 ลำโดยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการต่อเรือรุ่นใหม่ (เรือคอร์เวตลำที่ 1 เพิ่งทำพิธีปล่อยเรือไปหมาดๆ เมื่อวานนี้ที่ตุรกี) เติร์กเมนิสถานสั่งซื้อเรือคอร์เวตชั้น Corvette C92 จากตุรกีจำนวน 1 ลำ สร้างเองในประเทศโดยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการต่อเรือรุ่นใหม่ นี่คือวิธีการซื้อเรือรบที่สุดแสนคุ้มค่ายิ่งกว่าแฟลตปลาทองรังสิต

อ้างอิงจาก

https://en.defenceturk.net/dearsan-c92-corvette.../...

https://twitter.com/Barbaro.../status/142596607023030682

Vol4

ระหว่างปี 2011 กองทัพเรือมาเลเซียผุดโครงการใหญ่ที่สุดมูลค่า 1.9 พันล้านเหรียญขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า Second Generation Patrol Vessel หรือ SGPV  เพื่อจัดหาเรือฟริเกตรุ่นใหม่ทันสมัยจำนวน 6 ลำเข้าประจำการ มีบริษัทเอกชนต่างชาติเข้าร่วมชิงชัยจำนวน  6 ราย ผลการตัดสินผู้ชนะเลิศคือ DCNS จากฝรั่งเศส หรือ Naval Group ในปัจจุบัน  ซึ่งเสนอแบบเรือ Gowind 2500 รุ่นใหม่ทันสมัยของตัวเอง

คัดเลือกแบบเรือได้แล้วเรื่องถัดไปคือการเจรจาต่อรอง มาเลเซียต้องการปรับปรุงขยายขนาดเรือใหญ่โตกว่าเดิม และต้องการสร้างเรือทุกลำในประเทศด้วยตัวเอง โดยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีกับทรัพย์ทางปัญญาจากฝรั่งเศส การเจรจาต่อรองและปรับปรุงเรือกินเวลาจนถึงปลายปี 2014 ชื่อโครงการถูกเรียกใหม่สั้นกว่าเดิมว่า Littoral combat ships หรือ LCS มูลค่ารวมโครงการขยับขึ้นมาจบที่ 2.8 พันล้านเหรียญ ขนาดเรือยาวขึ้นกลายเป็น 111 เมตร ระวางขับน้ำสูงขึ้นเช่นกันอยู่ที่ 3,100 ตัน แบบเรือ LCS ลำนี้จึงถูกเรียกชื่อใหม่ว่า Gowind 3100 และใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่าเรือฟริเกตชั้น Maharaja Lela

มีการก่อตั้งบริษัทย่อยของ Boustead Naval Shipyard หรือ  BNS อู่ต่อเรือขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศขึ้นมา รองรับการสร้างเรือฟริเกตรุ่นใหม่ทันสมัยจำนวน 6 ลำ มีการปรับปรุงสถานที่รวมทั้งก่อสร้างจุดประกอบเรือในร่ม เพิ่มเติมอุปกรณ์ทันสมัยสำหรับยกชิ้นส่วนเรือประกอบกัน ตอนนี้มาเลเซียพร้อมสร้างเรือฟริเกตแล้ว

เรือ LCS ลำที่หนึ่งกำหนดให้ใช้ชื่อ  Maharaja Lela 2501 มีพิธีวางกระดูกงูวันที่ 8 มีนาคม 2016 มีพิธีปล่อยเรือลงน้ำเป็นข่าวโด่งดังทั่วโลกในวันที่ 24 สิงหาคม 2017 เรือจะสร้างแล้วเสร็จพร้อมทดสอบเดินเรือในปี 2018 ส่งมอบให้กับกองทัพเรือและเข้าประการจริงภายในปี 2019

เนื่องจากสถานที่กับอุปกรณ์ต่างๆ มีความพร้อมเต็มที่ เรือ LCS ลำที่สอง ลำที่สาม และลำที่สี่ทยอยสร้างเพิ่มเติมระหว่างปี 2017 ถึง 2018 ทุกสิ่งทุกอย่างดูสวยหรูงดงามเป็นไปตามแผนการทั้งหมด ทว่าหลังจากนั้นไม่นานเค้าลางความวุ่นวายค่อยๆ ปรากฏตัวขึ้นมา เนื่องจากเรือลำที่หนึ่งสร้างเท่าไรก็สร้างไม่เสร็จเสียที

ปี 2020 รัฐบาลมาเลเซียออกมาเปิดเผยว่าโครงการอภิมหาโพรเจ็คเกิดปัญหาใหญ่ การก่อสร้างไม่เป็นไปตามแผนการรวมทั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น อันเป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาหลายอย่างรุมเร้าเข้ามา ทั้งเรื่องอู่ต่อเรือ BNS ทำงานล่าช้าติดขัดปัญหาโน่นนั่นนี่วุ่นวายไปหมด เรื่องการเมืองภายในประเทศมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลและฟ้องร้องคดีทุจริต รวมทั้งเรื่องงบประมาณที่ต้องจัดหาเพิ่มเติมในช่วงเวลาไม่มีเงิน บวกกับเจอพิษร้ายโรคระบาดรุนแรงระดับ Global Panic คุกคาม จนต้องปิดประเทศเป็นเวลายาวนานข้ามวันข้ามปี

ข่าวสารโครงการ Second Generation Patrol Vessel  หรือ Littoral combat ships เงียบหายไปประมาณหนึ่งปีกว่าๆ ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2021 รัฐบาลมาเลเซียออกมาเปิดเผยว่าจะเริ่มต้นเดินหน้าโครงการนี้อีกครั้ง ให้อู่ต่อเรือ BNS เจ้าปัญหาจัดการเหมือนเดิม ไม่ใช้บริการจาก Naval Group ตามแผนสอง หรือยกเลิกโครงการไปเลยตำแผนสาม กำหนดส่งมอบเรือลำที่หนึ่ง Maharaja Lela 2501 เลื่อนไปเป็นปี 2025

โครงการนี้มาเลเซียจ่ายเงินไปแล้วประมาณ 1.8 พันล้านเหรียญ การสร้างเรือแล้วเสร็จประมาณ 55.7 เปอร์เซ็นต์จำเป็นต้องเดินหน้าต่อสานให้จบ มูลค่ารวมโครงการสูงขึ้นแน่นอนมากน้อยแค่ไหนว่ากันอีกที

วันนี้ผู้เขียนมีภาพเรือ Maharaja Lela 2501 เพิ่งถ่ายได้ไม่กี่วันที่ผ่านมามาฝาก รูปร่างหน้าตาใกล้เคียงภาพเดิมในพิธีปล่อยเรือลงน้ำปี 2017 เพียงแต่ไม่มีเสากระโดงเรือ Integrated Mast คาดว่าถอดออกไปเก็บรักษาที่อื่น จอดอยู่ในจุดประกอบเรือในร่มไล่เรียงไปกับเพื่อนๆ อีก 3 ลำ สภาพภายนอกทรุดโทรมเล็กน้อยตามกาลเวลานั่นแหละครับ

รอดูกันต่อไปว่าปี 2025 เรือฟริเกตสร้างเองในประเทศลำแรกของมาเลเซีย...จะมาตามนัดหรือไม่

อ้างอิงจาก

https://twitter.com/xaviervav/status/1460961330505129987...

https://adj.com.my/.../malaysia-to-go-ahead-with-delayed.../

https://en.wikipedia.org/wiki/Maharaja_Lela-class_frigate

https://www.malaysiandefence.com/run-for-your-lives/

Vol 5

        คิดว่าเพื่อนๆ สมาชิกอาจเบื่อเรือเก่ากันแล้ว ผู้เขียนขอพาทุกคนมาที่งานแสดงอาวุธ Defence Exhibition Athens 2021 หรือ DEFEA 2021 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 กรกฎาคม 2021 ที่กรุงเอเธนประเทศกรีซ บริษัท Fincantieri จากอิตาลีนำแบบเรือฟริเกต FREMM ของตัวเองมาจัดแสดงในงานนี้ด้วย นี่คือแบบเรือ 1 ใน 6 ที่เข้าร่วมชิงชัยโครงการ Hellenic Navy's Future Frigate ของกรีซที่กำลังเข้มข้นดุเดือดเร้าใจ และเป็นแบบเรือที่ผู้เขียนชื่นชอบเพราะเต็มไปด้วยปืนจำนวนมาก

เรือฟริเกตชั้น FREMM เวอร์ชันอิตาลีขายดิบขายดีพอสมควร นอกจากอียีปต์ขอซื้อเรือต่อไปจากกองทัพเรือตัวเองจำนวน 2 ลำแล้ว ยังถูกคัดเลือกในโครงการจัดหาเรือฟริเกต FFG(X) ของอเมริกา อันมีมูลค่าค่อนข้างสูงเพราะมีจำนวนรวมมากถึง 15 ลำ ต่อด้วยทัพเรืออินโดนีเซียต้องการจัดหามากถึง 6 ลำ ยอดขายรวมมีโอกาสแซงหน้า Type 26 ของอังกฤษอย่างแน่นอน

มาชมข้อมูลโมเดลเรือที่ถูกนำมาจัดแสดง เรือฟริเกตชั้น FREMM เวอร์ชันกรีซหรือเปล่าไม่แน่ใจ มีระวางขับน้ำเต็มที่ประมาณ 6,500 ตัน ยาว 144 เมตร กว้าง 19.7 เมตร บริเวณหัวเรือติดตั้งปืนใหญ่ Oto 127/64 Vulcano ยิงกระสุนต่อระยะโจมตีชายฝั่งได้ไกลสุดถึง 100 กิโลเมตร ถัดไปหน่อยเดียวเป็นแท่นยิงแนวดิ่ง SYLVER 50จำนวน 32 ท่อยิง สำหรับอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Aster-15 กับ Aster-30 (ใส่ได้ท่อยิงละ 1 นัด) หรือ Albatros NG (ใส่ได้ท่อยิงละ 2 นัด) รวมทั้งอาวุธนำวิถีโจมตีชายฝั่งระยะไกล

หลังคาสะพานเดินเรือติดเรดาร์ตรวจการณ์ 2 มิติ Selex RAN-30X/I ทำงานได้มาถึง 4 โหมดรวมทั้งตรวจจับเป้าหมายผิวน้ำระยะเกินขอบฟ้า สูงขึ้นมาหน่อยเดียวเป็นเรดาร์ควบคุมการยิง Selex NA-25X บนสุดเสากระโดงคือเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ  Selex SPY-790 EMPAR มาพร้อมอุปกรณ์ตรวจจับคลื่นอิเล็กทรอนิกส์และระบบเรดาร์พิสูจน์ฝ่าย 360 องศา โคนเสากระโดงติดอุปกรณ์รบกวนคลื่นอิเล็กทรอนิกส์ NETTUN0 4100 นี่คือแจมเมอร์ตัวเจ๋งที่สุดของฝั่งยุโรปอิตาลีไม่ยอมขายให้ใครง่ายๆ

ต่ำลงมาจาก NETTUN0 4100 เพียงเล็กน้อยคือปืนกลอัตโนมัติ Oto KBA25 ขนาด 25 มม.อาวุธมาตรฐานกองทัพเรืออิตาลีในปัจจุบัน พื้นที่กลางเรือติดตั้งแท่นยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ Otomat/Teseo Mk2 จำนวน 8 นัด สลับกับปืนกลอัตโนมัติ Oto Single Fast Forty ขนาด 40 มม. บริษัท Fincantieri ระบุว่าเป็นปืนรอง ( ส่วน KBA25 เป็นปืนรองของปืนรองอีกทีสินะ)

Oto Single Fast Forty ในภาพเป็นเวอร์ชันเก่าหาได้ยากมาก ถ้ารุ่นใหม่ล่าสุดป้อมปืนทรงเหลี่ยมเหมือนบนเรือยกพลขึ้นบกของตุรกีหาได้ยากเช่นกัน (ที่ขายดีจะเป็นรุ่นลำกล้องแฝด) อัตรายิงถูกปรับปรุงให้ยิงเร็วสุดถึง 450 นัดต่อนาที บรรจุกระสุนในป้อมปืน 144 นัดไม่ต้องใช้งานพื้นที่ใต้ดาดฟ้าเรือ

KBA25 มีอุปกรณ์ควบคุมการยิงมาพร้อมสรรพ   แต่ Single Fast Forty ไม่มีจำเป็นต้องจัดหาเพิ่มเติม ในภาพอาจอยู่ขนาบสองข้างเสากระโดงรองก็เป็นได้ บนเสากระโดงรองมีเรดาร์เดินเรือสำหรับควบคุมเฮลิคอปเตอร์ลงจอด กับเรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ Selex RAN-21S ระยะทำการไกลสุด 120 กิโลเมตร เข้ามาช่วยเสริมการทำงานให้กับ EMPAR เรดาร์หลักรุ่นใหม่ทันสมัย

ทั้งปืนกล Single Fast Forty และเรดาร์ Selex RAN-21S มาจากยุค 80 โน่น ทำไมถึงมาโผล่บนเรือยุค 2021 ผู้เขียนไม่เข้าใจเหมือนกัน แต่ก็เอาเถอะเรามาว่ากันต่อดีกว่าเนอะ ข้างปล่องระบายความร้อนติดตั้งแท่นยิงเป้าลวงอาวุธนำวิถี SCLAR-H สามารถกระดกปรับทิศทางได้ บนโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์คือปืนใหญ่ Oto76/62 STRALES กับเรดาร์ควบคุมการยิง Selex NA-25X ลำกล้องปืนขนาดใหญ่โตกว่า Single Fast Forty ก็จริง บังเอิญถูกจัดให้เป็นอาวุธป้องกันตนเองระยะประชิดหรือ CIWS

มีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์รองรับ NH90 NFE หรือ AW101 Merlin ฝั่งขวามือ ส่วนฝั่งซ้ายเป็นโรงเก็บอากาศยานไร้คนขับขนาดพอสมควร ท้ายเรือมีจุดติดตั้งโซนาร์ทันสมัยรุ่น CAPTAS-4 เพียงแต่ผู้เขียนเข้าใจว่าไม่ได้ติดตั้ง เพราะเป็นแบบเรือฟริเกตอเนกประสงค์จึงตัดออกไปพร้อมระบบเป้าลวงตอร์ปิโด

โซนาร์ปราบเรือดำน้ำหัวเรือเป็นรุ่น Thales USM 4110 ทำงานคู่กับตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mu 90 บังเอิญไม่ได้ติดตั้งโซนาร์ CAPTAS-4 ประสิทธิภาพในการตรวจจับน้อยลงกว่าเดิม ข้อมูลระบบปราบเรือดำน้ำผู้เขียนขอเปรียบเทียบกับเรือฟริเกต FREMM ของอิตาลี ลูกค้าอยากติด CAPTAS-4 เพิ่มบนเรือเวอร์ชันนี้ย่อมทำได้ แต่อาจต้องตัด Single Fast Forty ออกไปเพื่อติดระบบเป้าลวงตอร์ปิโด

เป็นการอธิบายที่ค่อนข้างยาวพอสมควร เนื่องจากเรือมีอาวุธปืนชนิดต่างๆ ถึง 6 กระบอกรอบลำ แล้วยังเหลือพื้นที่ว่างติดปืนกล 12.7 มม.เพิ่มเติมได้อีก 4-6 กระบอก เรื่องนี้ต้องยกความดีความชอบให้กับแบบเรือรุ่นใหม่ ส่งผลให้เรือสามารถติดอาวุธแบบ Heavyweight ได้ตามความต้องการลูกค้า

อ้างอิงจาก

https://twitter.com/D__Mitch/status/1414855299073196032

Vol 6

วันที่ 13 สิงหาคม 2021 เรือยกพลขึ้นบกดาดฟ้าเรียบ ITS Trieste (L 9890) ของกองทัพเรืออิตาลี  เริ่มทดสอบเดินเรืออย่างเป็นทางการบริเวณท่าเรือเมืองเนเปิ้ล โดยได้ติดตั้งระบบต่างๆ เพิ่มเติมมากกว่าเดิม ประกอบไปด้วย

เรดาร์ตรวจการณ์ระยะกลาง Leonardo Kronos Star Fire AESA แปะอยู่เหนือสะพานเดินเรือมองเห็นชัดเจน ส่วนเรดาร์ตรวจการณ์ระยะไกล Leonardo Kronos Power Shield  AESA ซึ่งตัองแปะคู่กันตอนนี้ของยังไม่มา อุปกรณ์สำคัญอีกหนึ่งชนิดคือระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ Elettronica Neptune 4100 ECM เป็นโดมกลมๆ ติดที่ปลายหัวเรือในภาพถ่ายจะอยู่เหนือเรือลากจูง ประสิทธิภาพสูงมากแจมอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบตกน้ำได้อย่างสบาย

อุปกรณ์ชิ้นนี้อิตาลีค่อนข้างหวงเป็นพิเศษ ถึงขนาดไม่ยอมขายให้อียิปต์ที่ซื้อต่อเรือฟริเกต FREMM ของตัวเองไปใช้งานจำนวน 2 ลำ แต่กลับมีติดบนเรือคอร์เวตต่อสู้อากาศยานของกาตาร์ซึ่งสร้างในอิตาลีเช่นกัน

ITS Trieste ขนาดใหญ่โตกว่าเรือบรรทุกเครื่องบินแท้ๆ ของอิตาลีด้วยซ้ำ ระวางขับน้ำเต็มที่ 33,000 ตัน ยาว 245 เมตร กว้าง 47 เมตร กินน้ำลึก 6.1 เมตร นอกจากระบบเรดาร์ซึ่งจัดแน่นจัดเต็มแล้ว ระบบอาวุธป้องกันตัวเองยังไม่น้อยหน้าเรือลำไหน โดยมีทั้งปืนใหญ่ 76/62 มม.รุ่น STRALES ยิงกระสุนนำวิถีต่อสู้อากาศยานรุ่น DART ได้ใช้เป็น CIWS จำนวน 3 กระบอก ปืนกลอัตโนมัติ 25 มม.ไว้ยิงเรือเล็กอีก 3 กระบอก และแท่นยิงแนวดิ่ง SYLVER-50 จำนวน 2 ระบบ 16 ท่อยิง สำหรับอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ASTER-30 ระยะยิง 100 กิโลเมตรจำนวน 16 นัด หรือ Albators NG ( CAMM ER) ระยะยิง 40 กิโลเมตรจำนวน 32 นัด

ลานบินขนาดใหญ่โตยาวถึง 230 เมตร กว้าง 36 เมตร ในภาพถ่ายติดตั้งสกีจัมป์เรียบร้อยแล้วที่กราบซ้าย เป็นอุปกรณ์สำคัญอีกหนึ่งอย่างเพิ่มเข้ามาหลังพิธีปล่อยเรือลงน้ำ ITS Trieste รองรับอากาศยานได้มากสุดถึง 30 ลำ มีจุดขึ้นลงสำหรับเฮลิคอปเตอร์ถึง 9 จุด มีลิฟต์ขนาด 40 ตันอีก 2 ตัว โรงเก็บอากาศยานใต้ดาดฟ้าเรือชั้นสองยาว 107 เมตร กว้าง 21 เมตร บรรจุอากาศยานชนิดต่างๆ ได้จำนวน 14 ลำ หรืออาจผสมยานพาหนะน้ำหนักเบาอาทิเช่นรถลำเลียงพล รถบรรทุก รถหุ้มเกราะเข้ามาจำนวนหนึ่ง

บริเวณชั้นล่างสุดท้ายเรือเป็นอู่ลอยหรือ well deck ความยาว 50 เมตร กว้าง 15 เมตร บรรจุเรือระบายพลขนาด 23 เมตรได้จำนวน 4 ลำ ที่อยู่ถัดไปเป็นโรงจอดยานพาหนะน้ำหนักมากอาทิเช่นรถถัง ยาว 55 เมตร กว้าง 18 เมตรอยู่สูงกว่าอู่ลอยขึ้นมาเล็กน้อย เรือลำนค้มีห้องพักรองรับนาวิกโยธินจำนวน 605 นาย มากเพียงที่จะทำภารกิจสำคัญๆ ตามคำสั่งกองทัพเรือ

ด้วยคุณสมบัติต่างๆ ซึ่งผู้เขียนพิมพ์เสียจนปวดนิ้ว ส่งผลให้เรือทำภารกิจได้อย่างหลากหลาย ตั้งแต่ช่วยเหลือประเทศเล็กๆ จากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ไปจนถึงทำลายประเทศเล็กๆ ด้วยอาวุธและกำลังทหารบนเรือ แต่เนื่องมาจากราคาเรือค่อนข้างแพงโหดเลือดสาด อิตาลีมีกำลังสร้างขึ้นมาใช้งานแค่เพียงลำเดียว โดยมีกำหนดเข้าประจำการจริงในปี 2022 นับเป็นเรือลำใหญ่ที่สุดของตัวเองหลังยุคสงครามโลกครั้งที่สอง

https://twitter.com/WarshipCam/status/1426233654846558210

https://www.seaforces.org/.../Amph.../L-9890-ITS-Trieste.htm

Vol 7

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2021 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกองทัพประเทศฝรั่งเศส แสดงความยินดีต่อการพร้อมปฏิบัติการจริงของเรือ Alsace D656 ซึ่งเป็นเรือฟริเกตชั้น FREMM ลำที่ 7 จากจำนวน 8 ลำ โดยเป็นเพียง 2 ลำที่ถูกกำหนดให้ทำภารกิจป้องกันภัยทางอากาศ และมีอีกหนึ่งลำชื่อ Lorraine D657 ตอนนี้กำลังทดสอบเดินเรือพร้อมประจำการปีหน้า

Alsace D656 เข้าประจำการวันที่ 16 เมษายน 2021 ลูกเรือใช้เวลาฝึกซ้อมครึ่งปีจนพร้อมออกสนามรบจริง ติดตั้งอาวุธและเรดาร์เหมือนรุ่นปราบเรือดำน้ำจำนวน 6 ลำแรก ระบบโซนาร์และอาวุธปราบเรือดำน้ำมาครบถ้วน ระบบป้องภัยจากเรือดำน้ำมาครบถ้วนเช่นกัน ไม่เหมือนเรือฟริเกตชั้น FREMM ของอิตาลีรุ่นปราบเรือผิวน้ำถูกตัดโซนาร์ลากท้ายกับเป้าลวงตอร์ปิโดออกไป

สิ่งที่แตกต่างสำคัญๆ มีเพียงเรื่องระบบแท่นยิงแนวดิ่ง VLS หน้าสะพานเดินเรือ รุ่นปราบเรือดำน้ำใช้แท่นยิง Sylver A43 จำนวน 16 ท่อยิงสำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Aster-15 ระยะยิง 30 กิโลเมตรจำนวน 16 นัด กับแท่นยิง Sylver A70 จำนวน 16 ท่อยิงสำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีโจมตีชายฝั่ง Storm Shadow ระยะยิง 1,000 กิโลเมตรจำนวน 16 นัด ทว่า Alsace D656 ติดตั้งแท่นยิง Sylver A50 จำนวน 32 ท่อยิงสำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Aster-15 ระยะยิง 30 กิโลเมตร และหรือ Aster-30 ระยะยิง 120 กิโลเมตรจำนวน 32 นัด

สิ่งที่แตกต่างมากกว่านี้ก็คือมีการปรับปรุงระบบอำนวยการรบ SETIS ให้ดีกว่าเดิม คอนโซนควบคุมและสั่งการเพิ่มขึ้นเป็น 20 หน้าจอ มีการปรับปรุงระบบเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Herakles ระยะทำการ 300 กิโลเมตรให้ตรวจจับเป้าหมายดียิ่งขึ้น ใช้เรดาร์ควบการยิงปืนใหญ่รุ่น Thales STIR EO MK 2 ทดแทนของเก่าซึ่งเป็นออปโทรนิกส์รุ่น Sagem Najir ปรับปรุงระบบสื่อสารให้รองรับภารกิจป้องกันภัยทางอากาศ รวมทั้งมีการเสริมโครงสร้างสะพานเรือรองรับน้ำหนักซึ่งเพิ่มเติมขึ้นมา

Alsace D656 กับ Lorraine D657 ถูกเรียกชื่อชั้นย่อยว่า FREMM-DA เข้ามาเสริมทัพการป้องกันภัยทางอากาศให้กับกองเรือ แต่ยังคงสามารถทำภารกิจอื่นๆ ได้ดีเหมือนเดิม สมกับเป็นเรือฟริเกตอเนกประสงค์ยุคใหม่ที่แท้จริง ทั้งคู่จะเป็นตัวช่วยเรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศแท้ๆ ชั้น Horizon ซึ่งฝรั่งเศสมีเพียง 2 ลำเท่านั้น เนื่องจากเรือฟริเกตชั้น Cassard ติด SM-1 ปลดประจำการครบถ้วนแล้วทั้ง 2 ลำ

https://twitter.com/.../status/1462745032281178119/photo/1

https://www.mbda-systems.com/.../the-alsace-the-french.../

Vol 8

วันที่ 30 กรกฎาคม 2021 บริษัท Saab ประเทศสวีเดนได้เซ็นสัญญากับ German Federal Office of Bundeswehr Equipment, Information Technology and In-Service Support หรือ BAAINBw อันเป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงกลาโหมประเทศเยอรมัน จัดตั้งขึ้นมาในปี 2012 เพื่อดูแลการจัดหาและปรับปรุงอาวุธให้กับทหารทุกเหล่าทัพ

สัญญามูลค่า 4.6 พันล้านโครนสวีเดนเกี่ยวข้องกับการปรับปรุงเรือฟริเกตชั้น Brandenburg หรือ F123 กองทัพเรือเยอรมัน ประกอบไปด้วยติดตั้งระบบอำนวยการรบ 9LV เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติระยะไกล Sea Giraffe 4A เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติระยะใกล้ Sea Giraffe 1X และเรดาร์ควบคุมการยิง Ceros 200 ซึ่งมาพร้อมเสาอากาศช่วยนำวิถีอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานและระบบพิสูจน์ฝ่ายจากบริษัทคู่ค้า

ชมภาพประกอบกันสักนิด เสากระโดงหลักกับเสากระโดงรองเหมือนเรือหลวงภูมิพลของเราเลยแฮะ เพียงแต่ในโดมเสากระโดงหลักเป็นเรดาร์ Sea Giraffe 1X ไม่ใช่ Sea Giraffe AMB โดยส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าเหมาะสมที่สุดแล้ว เรดาร์ 1X กับ 4A เปิดตัวใกล้เคียงกันเพื่อทำงานร่วมกัน ช่วยเติมเต็มให้กันและกันเสริมจุดอ่อนลบจุดด้อย ต่อไปในอนาคตจะเห็นเรือติดเรดาร์คู่นี้ทั้งหมดอย่างแน่นอน

เรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำชั้น Brandenburg หรือ  F123 เยอรมันมีจำนวน 4 ลำ ทยอยเข้าประจำการตั้งแต่ปี 1994 ถึง 1996 ใช้ระบบอำนวยการรบ Atlas Elektronik ของเยอรมันทำงานคู่กับระบบเรดาร์ Thales ของเนเธอร์แลนด์ ต่อมาในปี 2005 ได้มีการปรับปรุงเรือครั้งแรก โดยเปลี่ยนมาใช้ระบบอำนวยการรบ TACTICOS ของเนเธอร์แลนด์พร้อมเรือฟริเกต F122 จำนวน 8 ลำ (หมายความว่าใครซื้อ  F122 ไปจะได้ระบบอำนวยการรบ TACTICOS สินะ) การปรับปรุงเรือครั้งที่สอง F123 ย้ายค่ายมาอยู่ Saab แบบล้างบาง ไม่เกรงใจบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งยุโรปทั้งสองรายสักนิด

เรื่องราวที่เยอรมันแปลกประหลาดพิกล เรือฟริเกตรุ่นใหม่ F125 ยังใช้ระบบอำนวยการรบประเทศตัวเองอยู่เลย ทำไม F123 ถึงพลิกโผมาเลือก Saab ผู้เขียนไม่มีความเห็นจริงๆ มันต้องมีเบื้องลึกเบื้องหลังมากกว่านี้ แต่ทว่าเรื่องราวที่สวีเดนแปลกประหลาดยิ่งกว่า

ในรอบหลายปีมานี้ Saab ขายเครื่องบิน Gripen ไม่ได้เลย ล่าสุดก็พ่ายแพ้ยับเยินที่สวิสเซอร์แลนด์ซึ่งเคยเลือกซื้อ Gripen E ไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่สินค้าใช้งานทางทะเลกลับขายดีเทน้ำเทท่า ดีลที่ได้รับจากฟินแลนด์และเยอรมันช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ตัวเองให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ขนาดอเมริกาซึ่งผลิตได้ทุกอย่างตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ ยังขอซื้อเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Sea Giraffe AMB ไปติดบนเรือตัวเอง ซื้อเรดาร์ควบคุมการยิง Ceros 200 ไปติดบนเรือส่งออกขายให้ซาอุดีอาระเบียกับกรีซ กินน้อยแต่กินนานแล้วยังได้กินต่อไปเรื่อยๆ

การปรับปรุงเรือฟริเกตจำนวน 4 ลำ Saab ได้รับสัญญาแค่ระบบอำนวยการรบกับระบบเรดาร์ จึงไม่มีข้อมูลการปรับปรุงระบบอาวุธซึ่งบางอย่างล้าสมัยไปแล้ว ผู้เขียนคาดเดาว่าปืนใหญ่ 76/62 มม. ระบบป้องกันตนเองระยะประชิด RAM ปืนกลอัตโนมัติขนาด 27 มม. รวมทั้งระบบเป้าลวง MASS จะไม่เปลี่ยนแปลง แต่อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Sparrow อาจได้ ESSM มาแทนที่ ส่วนอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ MM38 Exocet ในภาพประกอบ เยอรมันนำ Harpoon มาใช้งานแทนสักพักใหญ่ๆ แล้ว ถ้ายังไม่หมดอายุคงใช้งานไปก่อนดีกว่าเสียเงินซื้อใหม่

https://www.saab.com/.../saab-receives-order-to-modernise

Vol 9

เพื่อนๆ สมาชิกทุกคนรู้จักเดอะแบกทัพเรืออียิปต์กันหมดแล้ว วันนี้ผู้เขียนขอพามาพบ ‘เดอะภาระ’ หรือ ‘เดอะถ่วง’

ปี 1984 ถึง 1985 กองทัพเรืออียิปต์เข้าประจำการเรือฟริเกตซื้อจากจีนจำนวน 2 ลำ Type 053 HE ของพวกเขามีความแตกต่างจากต้นฉบับหลายจุดด้วยกัน เรือมีระวางขับน้ำปรกติ 1,425 ตัน ระวางขับน้ำเต็มที่ 1,700 ตัน ยาว 103.2 เมตร กว้าง 10.2 เมตร กินน้ำลึก 3.05 เมตร ใช้เครื่องยนต์ดีเซล SEMT-Pielstick จำนวน 2 เครื่อง ทำความเร็วสูงสุด 25.5 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 4,000 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 15 นอต

ระบบอาวุธป้องกันตนเองประกอบไปด้วย จรวดปราบเรือดำน้ำ Type 86 หรือ RBU-1200 จำนวน 4 แท่นยิง (รวมทั้งหมด 20 ท่อยิง) ปืนใหญ่ขนาด 57 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 2 แท่นยิง ปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 37 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 6 แท่นยิง ปิดท้ายด้วยอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ SY-1 Silkworm จำนวน 4 นัด

ที่ผู้เขียนใช้คำว่าเดอะภาระอาจดูรุนแรงไปบ้าง เนื่องจากเรือมีแต่อาวุธเก่าโซเวียตยุคสงครามเย็นช่วงแรกๆ อียิปต์ไม่เคยปรับปรุงให้ทันสมัยมีแบบไหนก็ใช้แบบนั้น เกิดการปะทะกับเรือฟริเกตรุ่นใหม่ทันสมัยจากชาติใดก็ตาม นอกจากทำอะไรเขาไม่ได้ตัวเองยังเอาตัวไม่รอด จำเป็นเหลือเกินที่เรือลำอื่นจะต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ

ผู้เขียนขอนำเรือหลวงเจ้าพระยาของไทยมาเปรียบเทียบ เนื่องจากในปัจจุบันกลายเป็นเดอะภาระทร.ไทยไปเสียแล้ว เริ่มต้นจากหัวเรือมาถึงท้ายเรือเข้าใจง่ายดี จรวดปราบเรือดำน้ำ Type 86 เขามี 4 แท่นยิงส่วนเรามีแค่ 2 แท่นยิง ปืนใหญ่เรือเราขนาด 100 มม.อำนาจทำลายล้างดีกว่าเขาซึ่งมีขนาดเพียง 57 มม. เรดาร์ตรวจการณ์ใช้รุ่นเดียวกันฉะนั้นคะแนนเท่ากัน ปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 37 มม.เขามี 6 แท่นยิงเหนือกว่าเราซึ่งมี 4 แท่นยิง อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-801 จำนวน 8 นัดของเราเหนือกว่า SY-1 Silkworm จำนวน 4 นัดของเขา

สรุปคะแนนได้ฝั่งละ 2 แต้มเท่ากันพอดี ไม่มีผลแพ้ชนะไปวัดกันที่เดอะแบกต่อไป

เนื้อหาบทความ Egyptian Navy Air Defence System ครึ่งแรกบ่งบอกอย่างชัดเจนว่า เรือคอร์เวตชั้น Descubierta ก็ดี เรือฟริเกตชั้น Knox ก็ดี หรือเรือฟริเกตชั้น Oliver Hazard Perry ก็ดี อายุการใช้งานมากกว่า 30 ปีขึ้นไปทั้งสิ้น จำเป็นต้องหาเรือใหม่ทันสมัยเข้ามาประจำการทดแทน

ที่อียิปต์ซื้อเรือรบแบบรัวๆ มีเหตุผลที่ดีรองรับ เมื่อพวกเขาได้เรือใหม่ต้องปลดประจำการเรือเก่าตามวาระ เรือฟริเกต Type 053 HE อวดโฉมชาวโลกครั้งสุดท้ายระหว่างปี 2019 คือการเข้าร่วมฝึกซ้อมกับเรือฟริเกตชั้น Floreal แห่งกองทัพเรือฝรั่งเศส หลังจากนั้นก็หายไปเลยน่าจะปลดประจำการในปี 2020

ภาพประกอบจาก

https://commons.wikimedia.org/.../File:Egyptian_frigate

Vol 10

เช้าวันพุธผู้เขียนพาไปเยี่ยมประเทศเพื่อนบ้าน ในภาพถ่ายคือเฮลิคอปเตอร์ AW159 Wildcat กองทัพเรือฟิลิปปินส์ มองเห็นทั้งเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ AESA จากอิตาลีรุ่น Seaspray multi-mode electronically-scanning (E-scan) ที่ใต้คาง และกล้องตรวจการณ์ออปโทรนิกส์ทันสมัยที่ปลายจมูก มาพร้อมโซนาร์ชักหย่อนหรือ Dipping Sonar รุ่น Compact FLASH (Folding Light Acoustic System for Helicopters) จาก THALES ทำภารกิจปราบเรือดำน้ำและเรือผิวน้ำได้เป็นอย่างดี

ในภาพ Wlidcat ติดตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ K745 Chung Sang Eo หรือ Blue Shark จากเกาหลีใต้ ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตบอกว่ายิงได้ไกลสุดถึง 19 กิโลเมตร ฟิลิปปินส์สั่งซื้อ Wildcat จำนวน 2 ลำมูลค่า 100 ล้านเหรียญกว่าๆ นำมาประจำการบนเรือฟริเกตใหม่ 2 ลำซื้อมาจากเกาหลีใต้ ซึ่งมีราคาค่อนข้างเป็นมิตรภาพกับกระเป๋าสตางค์ แต่สามารถติดอาวุธทันสมัยเพิ่มเติมได้เพราะมีพื้นที่ว่างสำหรับแท่นยิงแนวดิ่ง VLS จำนวน 8 ท่อยิง กับจุดติดตั้งระบบป้องกันตนเองระยะประชิดหรือ CIWS อีก 1 ระบบ

AW159 Wildcat น้ำหนักบินขึ้นสูงสุดประมาณ 6 ตัน มีใช้งานกับกองทัพเรืออังกฤษ 28 ลำ กองทัพบกอังกฤษ 34 ลำ กองทัพเรือเกาหลีใต้ 8 ลำ และกองทัพเรือฟิลิปปินส์ล่าสุดอีก 2 ลำ บริษัทผู้ผลิตนำเฮลิคอปเตอร์ Westland Super Lynx มาพัฒนาเพิ่มเติมให้ทันสมัยมากขึ้น นอกจากตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำชนิดต่างๆ แล้ว ยังสามารถติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีอากาศ-สู่-พื้น Martlet ระยะยิง 8 กิโลเมตร และ Sea Venom ระยะยิง 20 กิโลเมตร สำหรับจัดการเป้าหมายผิวน้ำและบนชายฝั่งได้ด้วย

เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำประจำเรือฟริเกตคือสิ่งที่ราชนาวีไทยขาดหายไป การทำภารกิจในปัจจุบันจะนำเรือหลวงจักรีนฤเบศรออกทะเล โดยมีเรือรบจำนวนหนึ่งตามไปช่วยคุ้มกันผิวน้ำใต้น้ำอีกหนึ่งทอด หากเรือหลวงจักรีติดขัดปัญหาออกทะเลไม่ได้จริงๆ กองเรือฟริเกตที่ 1 และ 2 มีเพียงเรือหลวงภูมิพลลำเดียวที่สามารถรองรับเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ S-70B อาจเป็นเพราะเหตุนี้กองทัพเรือจึงกำหนดให้เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำใหม่ที่กำลังจะจัดหาในอนาคต  ต้องมีลานจอดและโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ขนาด 10 ตัน

อ่านทบทวนอีกครั้งรู้สึกแปลกดีเหมือนกัน ทำไมไม่จัดหาเรือฟริเกตแท้ๆ มาใช้งานเหมือนชาวบ้านชาวช่อง แต่ก็อย่างว่าผู้เขียนอาจเข้าใจผิดไปเองก็ได้ กลับมาพูดถึงเฮลิคอปเตอร์กับแผนเสริมทัพฟิลิปปินส์กันต่อดีกว่าเนอะ

อย่างที่ผู้เขียนเคยเขียนบทความถึงพวกเขากำลังจะซื้อเรือคอร์เวตเพิ่มอีก 2 ลำ ขนาดใหญ่กว่าติดอาวุธเยอะกว่าเรือฟริเกตลำใหม่ด้วยซ้ำ ในอนาคตหากฟิลิปปินส์ซื้อ Wildcat มาเพิ่มอีก 2 ลำ ส่วนตัวผู้เขียนมองว่าค่อนข้างดีมากเมื่อเทียบกับงบประมาณที่ใช้งาน มีเรือผิวน้ำดีๆ 4 ลำแล้วสามารถนำเงินมาทุ่มซื้อเรือดำน้ำสัก 2 ลำเพิ่มเติมได้ หวังว่าพรรคพวกจะไม่ยางแตกไปเสียก่อนเหมือนเพื่อนบ้านตัวเองเน่อ

เครดิตภาพถ่ายจาก

http://navy.mil.ph

บทความ Philippine Navy Corvette Acquisition Project

https://thaimilitary.blogspot.com/.../philippine-navy

 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น