วันที่ 6 พฤศจิกายน 2013
รัฐบาลอังกฤษเซ็นสัญญาซื้อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งรุ่นใหม่จำนวน 3 ลำจากบริษัท BAE Systems Maritime ในราคา 348 ล้านปอนด์รวมอะไหล่และการสนับสนุนต่างๆ ให้กับเรือจำนวน 3 ลำ โดยใช้แบบเรือตรวจการณ์ชั้น River Batch 2
ซึ่งถูกปรับปรุงจากแบบเรือชั้น River ค่อนข้างเยอะมากจนเกือบจำกันไม่ได้
ใช้คณิตศาสตร์ระดับอนุบาลในการชี้แจงรายละเอียด
เรือตรวจการณ์ชั้น River Batch 2
ราคาเฉลี่ยลำละ 116 ล้านปอนด์
แปลงเป็นเงินไทยในวันเขียนบทความเท่ากับลำละ 5,187 ล้านบาท
เรือทุกลำสร้างโดยอู่ต่อเรือทันสมัยในสกอตแลนด์
ไม่โดนแดดไม่โดนน้ำไม่โดนฝนไม่โดนหิมะจนกระทั่งวันทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำ
ผู้เขียนขอเท้าความถึงเรื่องราวในอดีตเล็กน้อย
เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น River สร้างโดยบริษัท Vosper
Thornycroft หนึ่งในสองบริษัทสร้างเรือยักษ์ใหญ่ของอังกฤษในอดีต ผู้เชี่ยวชำนาญเรื่องเรือตรวจการณ์ขายให้กับประเทศต่างๆ
นับร้อยลำ ระหว่างปี 2009 Vosper Thornycroft ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น
VT Group สร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Port of
Spain จำนวน 3
ลำให้กับหน่วยยามฝั่งตรินิแดดและโตเบโก โดยใช้แบบเรือ River Batch 2 ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อกองทัพเรืออังกฤษ
เรือตรวจการณ์รุ่นใหม่จำนวน
3 ลำมีมูลค่ารวม 150 ล้านปอนด์ แต่แล้วในปี 2012 เมื่อเรือสร้างเสร็จ 2
ลำลูกเรือถูกส่งมาฝึกซ้อมที่อังกฤษ (บริษัท VT Group ถูกควบรวมเข้ากับ
BAE Systems Maritime แล้ว)
ปรากฏว่ารัฐบาลตรินิแดดและโตเบโกยกเลิกสัญญาเอาดื้อๆ บริษัท BAE จำเป็นต้องขายเรือให้กับกองทัพเรือบราซิลในราคา 133
ล้านปอนด์ ถูกลงกว่าเดิมนิดหน่อยขาดทุนกำไรนิดหน่อย
และได้ประสบการณ์เสียวเพิ่มพูนมากขึ้นพอสมควร
ปี 2009 กองทัพเรือไทยซื้อสิทธิบัตรแบบเรือตรวจการณ์ชั้น River Batch 2 มาสร้างเองจำนวน 2 ลำ
ประกอบไปด้วยเรือหลวงกระบี่เข้าประจำการปี 2013
กับเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์เข้าประจำการปี 2019
เร็วกว่าโครงการเรือตรวจการณ์รุ่นใหม่ของอังกฤษถึง 4 ปี
เพราะอังกฤษมีเรือตรวจการณ์ชั้น River จำนวน 4 ลำอายุไม่กี่ปีไว้ใช้งาน
เหตุผลที่อังกฤษสั่งซื้อเรือตรวจการณ์รุ่นใหม่เพิ่ม
เนื่องจากรัฐบาลอยากส่งเรือเดินทางไกลทั่วโลกมากขึ้น เรือตรวจการณ์ชั้น River
ขนาดเล็กเกินไปอุปกรณ์ต่างๆ บนเรือน้อยเกินไป
จึงตัดสินใจซื้อเรือรุ่นใหม่ 3 ลำนำมาทดแทนเรือเดิม
HMS Forth (P222)
HMS Forth คือเรือตรวจการณ์ชั้น River Batch 2 ลำที่หนึ่ง
เข้าประจำการวันที่ 18เมษายน 2018
ทดสอบเดินเรือให้เกิดความชำนาญและแก้ไขข้อบกพร่องประมาณ 20
เดือน ต่อมาในวันที่ 13 มกราคม 2020 HMS Forth ถูกส่งไปดูแลหมู่เกาะฟอล์กแลนด์แทนเรือตรวจการณ์ลำเก่า
ประจำการยาวนานจนถึงวันนี้และอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ยังไม่มีกำหนดกลับ
HMS Forth คงคุณสมบัติเดิมของตรวจการณ์ชั้น River ไว้อย่างครบถ้วน
ออกแบบให้ทนทานทรหดดูแลซ่อมบำรุงน้อยนิด สามารถใช้งานได้ถึงปีละ 300 วันในทุกสภาวะอากาศ ภาพประกอบที่หนึ่งซึ่งดูเหมือนโปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง
The Batman ที่กำลังจะเข้าโรง HMS Forth จอดเทียบท่าท่ามกลางหิมะโปรยปรายทั่วหมู่เกาะฟอล์กแลนด์
อันเป็นเหตุการณ์ปรกติที่ลูกเรือต้องเผชิญปีหนึ่งๆ มากกว่าหนึ่งร้อยวัน
นอกจากภารกิจเฝ้าดินแดนห่างไกลแผ่นดินแม่มากถึง
12,000 กิโลเมตร ระหว่างโควิคระบาด HMS Forth รับหน้าที่นำวัคซีนไปแจกจ่ายประชากรตามเกาะน้อยใหญ่
เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่เรือตรวจการณ์ในปัจจุบันต้องรับผิดชอบ
ขณะที่ภารกิจหลักดูแลความปลอดภัยหมู่เกาะฟอล์กแลนด์
ดูเหมือนไม่มีอะไรให้ต้องคิดมากจนสิวหัวช้างขึ้น
ทั้งกองเรือผิวน้ำและกองเรือดำน้ำประเทศอาร์เจนตินา อยู่ในสภาพย่ำแย่ยับเยินยู่ยี่ยวบยาบยิ่งกว่าเดิมหลายเท่าตัว
ปัญหาใหญ่ปัญหาเดียวของลูกเรือ
HMS
Forth ก็คือ ความเหงาอันเกิดจากการทำงานจำเจน่าเบื่อหน่าย
ในสถานที่ห่างไกลแสงสีเสียงและสิ่งเจริญหูเจริญตา
หากเป็นลูกเรือเพิ่งแต่งงานป้ายแดงยิ่งเหงาวังเวงเหว่หว้าไปกันใหญ่
HMS Medway (P223)
เรือตรวจการณ์ชั้น
River
Batch 2 ลำที่สองเข้าประจำการวันที่ 19
กันยายน 2019 ต่อมาในเดือนมกราคม 2020 HMS Medway ถูกส่งไปทำภารกิจแรกโดยการเข้าร่วมกองเรือเฉพาะกิจ Atlantic Patrol
Task (North) ดูแลความปลอดภัยและรักษากฎหมายที่ทะเลแคริบเบียนมหาสมุทรแอตแลนติก
ทำงานร่วมกับหน่วยยามฝั่งสหรัฐอเมริกาแบบไปไหนไปกัน
อังกฤษส่งเรือตัวเองมาทำภารกิจนี้หลายปีแล้ว
เป้าหมายสำคัญคือสกัดจับยาเสพติดซึ่งถูกลักลอบขนส่งทางเรือ
จากผู้ผลิตเดินทางไกลอ้อมโลกผ่านประเทศน้อยใหญ่
มาสิ้นสุดที่พ่อค้ายารายย่อยในตรอกเล็กๆ แคบๆ กรุงลอนดอน
ผลงานตลอดสองปีของ
HMS
Medway ถือว่าดีมาก
เมื่อต้องการซ่อมบำรุงหรือสับเปลี่ยนกำลังเรือต้องเดินทางมาเยือนฟลอริดา
ที่นี่มีอู่ต่อเรือบริษัทลูก BAE ซึ่งซ่อมบำรุง HMS
Medway จนแล้วเสร็จในวันที่ 21 มกราคม 2021 ที่ผ่านมา
นอกจากฟลอริดามีฐานทัพเรือขนาดใหญ่และศูนย์ฝึกนาวิกโยธินระดับหัวกะทิ
เป็นสถานที่อันเต็มไปด้วยเรื่องราวสุดประหลาดแต่คนในท้องที่กลับมองว่าปรกติ
ที่นี่ยังมีธรรมชาติอันแสนงดงามรอต้อนรับผู้มาเยือนทุกราย
ประเทศอังกฤษอากาศแย่ฝนตกหนักบ้างเบาบ้างทั้งปี ความอับชื้นที่สั่งสมเรื่อยๆ
จนผู้ชายหัวล้านไวกว่าเดิม เมื่อได้มาเจอป่าดิบชื้นเก่าแก่
ท้องฟ้าสีครามไร้เมฆบดบัง แดดจัดยามบ่ายเล้าโลมเลียร่างกาย
ลูกเรืออังกฤษทุกรายพากันติดใจอยากมาเยี่ยมบ่อยครั้ง
ภาพประกอบที่สอง HMS
Medway จอดเทียบท่าอยู่ที่หมู่เกาะเวอร์จิ้น โดยมีเรือขนส่งกำลังบำรุงขนาดใหญ่
RFA Wake Night อยู่เคียงข้างฝั่งซ้าย
เรือสองลำจับคู่ทำภารกิจในทะเลแคริบเบียนเคียงข้างกัน โดยมีเฮลิคอปเตอร์ 1 ลำเก็บอยู่ในโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ RFA Wake Night เมื่อถึงเวลาทำภารกิจถึงบินมาร่วมทัพกับ
HMS Medway
HMS Medway ยังคงประจำการทะเลแคริบเบียนต่อไปเรื่อยๆ ส่วน RFA Wake Night อาจต้องกลับประเทศก่อนเพื่อซ่อมบำรุงตามวงรอบ ก่อนหน้านี้ในปี 2020 คู่หู HMS Medway คือ RFA Argus สร้างวีรกรรมสกัดจับยาเสพติดร่วมกันมูลค่ารวม 357
ล้านปอนด์ สามารถซื้อเรือตรวจการณ์ชั้น River Batch 2
ใหม่เอี่ยมถอดด้ามได้ถึง 2.68 ลำ
ยาเสพติด 357 ล้านปอนด์หากหลุดไปถึงอังกฤษเมื่อไร
ความวอดวายบรรลัยจักรมาเยือนผู้คนโดยไม่เลือกชนชั้นหรือฐานะ นี่คือสาเหตุสำคัญที่ HMS
Medway มาประจำการในทะเลแคริบเบียน
HMS Trent (P224)
เรือตรวจการณ์ชั้น
River
Batch 2 ลำที่สามเข้าประจำการวันที่ 3 สิงหาคม
2020 HMS Trent ถูกส่งไปทำภารกิจนอกประเทศอย่างรวดเร็ว
โดยการเข้าร่วมภารกิจ Operation Sea Guardian ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
พร้อมเรือหลายลำจากชาติต่างๆ ซึ่งเป็นสมาชิกองค์กรนาโต้
ถือเป็นการเปิดตัวโดยการทำภารกิจจริงกันเลยทีเดียว
ต่อมาในปี 2021
HMS Trent ถูกส่งมาประจำการฐานทัพเรือ Gibraltar ของอังกฤษ หากมีภารกิจในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนถึงเดินทางไปร่วมทัพ
จนกระทั่งถึงช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2021
เรือตรวจการณ์อายุปีเดียวได้รับภารกิจใหม่เอี่ยมอ่อง
คือการเดินทางมาเยือนมหาสมุทรแอตแลนติกเหมือน HMS Medway เพื่อสร้างสัมพันธไมตรีที่เคยห่างหายไปนานแสนนาน
กับประเทศน้อยใหญ่ในทวีปแอฟริกาตะวันตกซึ่งมีพื้นที่ติดทะเล
ตัวแทนอย่างเป็นทางการราชนาวีอังกฤษเดินทางมาเยือนกานาเป็นแห่งแรก
อดีตอาณานิคมของสหราชอาณาจักรซึ่งแยกตัวอย่างเด็ดขาดในปี 1960 ต่อด้วยประเทศเซเนกัลอดีตอาณานิคมของฝรั่งเศส
ปิดท้ายด้วยแกมเบียประเทศที่เล็กที่สุดในทวีปแอฟริกา
รูปร่างคล้ายปืนใหญ่หักกลางอดีตอาณานิคมสหราชอาณาจักรเช่นกัน
การเดินทางครั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษหน่วยคอมมานโดที่ 42 ร่วมมากับเรือจำนวนหนึ่ง
มีการฝึกซ้อมร่วมกันทางทะเลกับประเทศเจ้าบ้าน
คล้ายการฝึกซ้อม CARAT ซึ่งกองทัพเรืออเมริกาซ้อมรบกับหลายชาติในเอเชีย
จากนั้น HMS Trent จะเข้าจอดเทียบท่าให้ลูกเรือพักผ่อนเป็นเวลาหลายวัน
เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษจะทำการฝึกสอนหลักสูตรต่างๆ ให้กับทหารประเทศเจ้าบ้าน
ปิดท้ายด้วยโครงการจิตอาสาสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่ คล้ายการฝึกซ้อม Cobra
Gold ในประเทศไทยแต่ขนาดแตกต่างกันพอสมควร
ภาพประกอบที่สาม HMS
Trent จอดอยู่ในท่าเรือประเทศแกมเบีย
การเดินทางครั้งนี้ต้องจัดที่พักอาศัยให้หน่วยคอมมานโดที่ 42
อย่างเพียงพอ นี่คือหนึ่งในจุดเด่นซึ่งมีอยู่บนเรือตรวจการณ์ชั้น River
Batch 2
เขียนมาถึงตอนนี้ผู้เขียนได้ข้อมูลสำคัญเพิ่มเติม
เรือลำที่หนึ่ง HMS Forth ทดสอบใช้งานเป็นเวลา
20 เดือน เรือลำที่สอง HMS Medway ทดสอบใช้งานเพียง
4 เดือน ส่วนเรือลำที่สาม HMS Trent ทดสอบใช้งานโดยทำภารกิจจริง
ปัญหาต่างๆ ถูกแก้ไขหมดสิ้นตั้งแต่เรือลำแรก
เรือลำที่สองและสามจึงมีความพร้อมในการใช้งานอย่างเต็มที่
ฉะนั้นคำกล่าวที่ว่า
‘เราควรสร้างลำแรกแล้วใช้งานไปสักพักหนึ่ง
เพื่อรวบรวมข้อบกพร่องก่อนสร้างเรือลำที่สอง’
ไม่มีชาติไหนเขาทำกันหรอกมันเสียเงินเสียเวลา เรือจะดีย่อมดีตั้งแต่แบบเรือ…เรือจะเลวย่อมเลวตั้งแต่แบบเรือเช่นกัน
HMS Tamar (P233)
วันที่
8
ธันวาคม 2016 รัฐบาลอังกฤษเซ็นสัญญาซื้อเรือตรวจการณ์ชั้น
River Batch 2 เพิ่มจำนวน 2 ลำในราคา 287
ล้านปอนด์ รวมอะไหล่และการสนับสนุนต่างๆ ให้กับเรือจำนวน 5 ลำ ราคาเฉลี่ยเรือเฟสสองตกอยู่ที่ลำละ 143.5 ล้านปอนด์
แปลงเป็นเงินไทยในวันเขียนบทความเท่ากับลำละ 6,417 ล้านบาท
แพงขึ้นกว่าเฟสแรกเมื่อสามปีก่อนประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์
ที่ราคาสูงขึ้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะอะไหล่และการสนับสนุนต่างๆ จากเรือ 3 ลำแรก
ทำไมอังกฤษต้องการสิ่งนี้เพิ่มเติมเข้ามาในสัญญา?
ต้องเข้าใจนะครับว่าเรือเป็นพาหนะเหมือนรถกระบะ
ครบกำหนดต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง กรองอากาศ หัวเทียนอะไรพวกนี้
หากมีอะไหล่ชำรุดเสียหายจะได้เคลมกับบริษัทผู้ผลิต
รวมทั้งจัดการขัดสนิมทาสีใหม่ทั้งลำให้กลับมาสวยเช้งดังเดิม สิ่งที่กองทัพเรืออังกฤษซื้อจาก
BAE
คล้ายโปรแกรม BSI เวลาผู้อ่านซื้อ BMW
Series 5 นั่นเอง
ถึงเวลาเอาเรือเข้าซ่อมบำรุงตามวงรอบโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่รวมเรือ 3 ลำแรกเข้ามาด้วยเข้าใจว่าต้องการขยายระยะเวลา
เรือเฟสสองได้รับหน้าที่ป้องกันการกระทำความผิดทางทะเล
ในพื้นที่ห่างไกลจากประเทศทดแทนเรือฟริเกตชั้น Type 23 ซึ่งสมควรกลับมาเป็นเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำตามหน้าที่เดิม
HMS
Tamar เข้าประจำการวันที่ 17 ธันวาคม 2020
นี่คือเรือลำแรกของราชนาวีอังกฤษนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลก
ที่ได้รับการทาสีพราง Dazzle Camouflage ซึ่งเคยได้รับความนิยมสูงในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
ผ่านพ้นทดสอบใช้งานวันที่ 6 พฤษภาคม 2021 HMS Tamar
ถูกส่งมาทำงานชิ้นแรกที่ช่องแคบอังกฤษร่วมกับเรืออีกลำ
คอยดูแลกิจการการประมงให้กับดินแดนปกครองตัวเองเจอร์ซีย์
ซึ่งมักเกิดเหตุกระทบกระทั่งกับเรือประมงและเรือตรวจการณ์ฝรั่งเศสบ่อยครั้ง
ต่อมาในมิถุนายน
2021
HMS Tamar ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้กับการประชุมสุดยอดผู้นำ G7
ครั้งที่ 44
เสร็จสิ้นภารกิจลูกเรือได้พักผ่อนในประเทศสักพักหนึ่ง จนกระทั่งวันที่ 7 กันยายนจึงออกเดินทางไกลพร้อมเรือเฟสสองอีกหนึ่งลำ ไปทำหน้าที่ป้องกันการกระทำความผิดทางทะเลในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
ภาพประกอบที่สี่
HMS
Tamar จอดอยู่ที่ฐานทัพเรือเพิร์ลฮาร์เบอร์บนเกาะโอวาฮูประเทศสหรัฐอเมริกา
เห็นสัญลักษณ์มังกรแดงประดับสองกราบเรืออย่างชัดเจน อังกฤษจะใช้เพิร์ลฮาร์เบอร์เป็นฐานทัพหลักของเรือทั้งสองลำ
HMS Spey (P234)
เรือตรวจการณ์ชั้น
River
Batch 2 ลำที่ห้าเข้าประจำการวันที่ 18 มิถุนายน
2021 ทาสีพราง Dazzle Camouflage
เหมือนเรือลำที่สี่แต่ไม่มีมังกรแดง
ล่องเรืออวดคนในประเทศไม่ถึงสามเดือนต้องเดินทางไกลเสียแล้ว HMS Spey ถูกส่งไปทำภารกิจป้องกันการกระทำความผิดทางทะเลในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
เป็นการทำหน้าที่ระยะยาวมากอย่างน้อยที่สุด 5 ปีขึ้นไป
คาดการณ์ว่าเรือสามารถทำภารกิจนี้โดยไม่กลับประเทศนานถึง 10 ปี
ภาพประกอบที่ห้า HMS Spey กำลังแล่นนำหน้าเรือตรวจการณ์หน่วยยามฝั่งสหรัฐอเมริกา USCGC Stratton ซึ่งมีระวางขับน้ำ 4,500 ตันใหญ่กว่ากันพอสมควร แต่ทำงานร่วมกันได้เพราะเรืออังกฤษถูกออกแบบให้ทนทานคลื่นลม มิฉะนั้นไม่อาจดูแลความปลอดภัยให้กับหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ ซึ่งมีคลื่นลมรุนแรงกระแสน้ำเชี่ยวและเต็มไปด้วยธารน้ำแข็ง ได้มาโลดแล่นชายทะเลหน้าเกาะฮาวายตามภาพถ่าย ลูกเรือบอกว่าทะเลแถบนี้สะดวกสบายราวกับถนนมอเตอร์เวย์
การมาประจำการภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกช่วงแรกค่อนข้างเรียบง่าย
HMS
Spey กับ HMS Tamar
ลาดตระเวนร่วมกับเรือตรวจการณ์หน่วยยามฝั่งอเมริกา
อาจมีฉายเดี่ยวบ้างแต่ไม่เป็นทางการเหมือน HMS Trent
ไปเยือนแอฟริกาตะวันตก ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าทะเลแถบนี้เต็มไปด้วยปัญหาน้อยใหญ่
ประเทศต่างๆ มีทั้งความขัดแย้งและเรือรบทันสมัยไว้ต้อนรับแขก
ทะเล่อทะล่าเข้าไปอาจโดนยิงสวนบาดเจ็บปางตาย ทำงานก๊อกๆ แก๊กๆ
ไปก่อนยังเหลือเวลาให้ปรับตัวอีกหลายปี
เดือนมกราคม 2022 HMS Spey มีผลงานชิ้นแรกกับเขาเสียที
โดยการเดินทางมาที่ตองกาเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษย์ธรรม หลังจากตองกาเกิดภูเขาไฟใต้ทะเลระเบิดและเกิดสึนามิถล่มตามมา
ขณะเขียนบทความเรือยังเดินทางมาไม่ถึงที่หมาย
เลยไม่รู้กันว่าอังกฤษบรรทุกอะไรมาบนลานจอดเฮลิคอปเตอร์บ้าง
กองทัพเรืออังกฤษมีเรือตรวจการณ์ชั้น
River
Batch 2 จำนวน 5 ลำ
เรือทุกลำถูกส่งมาประจำการนอกประเทศระยะยาว
จำเป็นต้องใช้เรือลำอื่นดูแลความปลอดภัยน่านน้ำตัวเอง
รัฐบาลอังกฤษจึงตัดสินใจประจำการเรือตรวจการณ์ชั้น River
ต่อไป โดยมีแค่เพียงลำเดียวถูกขายต่อให้กับประเทศพันธมิตร
รายละเอียดเรือทุกลำอธิบายคร่าวๆ ได้ดังนี้
River Class Batch 1
HMS
Tyne (P281) คือเรือตรวจการณ์ชั้น River
ลำที่หนึ่ง เข้าประจำการวันที่ 4 กรกฎาคม 2003 แทนเรือตรวจการณ์ชั้น Island ซึ่งถูกขายต่อให้กับบังกลาเทศ
กองทัพเรืออังกฤษทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัท Vosper Thornycroft เป็นเวลา 5 ปี เมื่อถึงปลายปี 2012 ใกล้หมดสัญญาครั้งที่สอง รัฐบาลอังกฤษขอซื้อขาดเรือลำนี้พร้อมเรืออีกสองลำในราคา
39 ล้านปอนด์
ระหว่างปี
2017
ถึง 2019
อังกฤษมีแผนลดประจำการเรือตรวจการณ์ชั้น River ทุกลำ HMS
Tyne จะปลดประจำการในเดือนพฤษภาคม 2018
เมื่อถึงกำหนดการเรือถูกหยุดใช้งานแต่กลับไม่มีพิธีปลดประจำการ เนื่องจาก HMS
Forth เรือตรวจการณ์ชั้น River Batch 2
ลำที่หนึ่งมีความล่าช้าในการก่อสร้าง รัฐบาลจึงเปลี่ยนแผนนำเรือเก่ากลับมาประจำการต่อไป
ภาพประกอบที่หกหมายเลขหนึ่งคือ
HMS Tyne (P281) ในปี 2019
ได้รับการปรับปรุงใหม่สามารถใช้งานได้อีกหลายปี เรือลำนี้เพิ่งอายุ 18 ปี 5 เดือนไล่เลี่ยเรือหลวงปัตตานีของเรา
จะได้โลดแล่นปกป้องกองเรือประมงอังกฤษไปอีกยาวนาน
ภาพประกอบที่หกหมายเลขสองคือ
HMS
Severn (P282) เรือตรวจการณ์ชั้น River
ลำที่สอง เข้าประจำการวันที่ 31 กรกฎาคม 2003 ทำพิธีปลดประจำการอย่างเป็นทางการไปแล้วในวันที่ 27 ตุลาคม
2017 รับใช้ชาติเพียง 14 ปีเท่านั้นถือว่าสั้นมาก
เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนใจเรือลำนี้จึงกลับมาโลดแล่นอีกครั้ง
แต่มาค่อนข้างช้าเป็นลำสุดท้ายในวันที่ 28 สิงหาคม 2021
รางวัลปลอบใจให้แด่เรือปลดประจำการคือลายพราง
Western
Approaches สีเขียวฟ้าเทา เรือตรวจการณ์ชั้น River ติดตั้งปืนกล 20 มม.GAM-BO1
ที่หัวเรือ 1 กระบอก กับปืนกล 7.62 มม.FN
MAG L7 2 กระบอกสองกราบเรือ
ติดตั้งเครนอเนกประสงค์ที่หัวเรือกับกลางเรือจำนวน 2 ตัว
ท้ายเรือวางตู้คอนเทนเนอร์ Multi Mission ขนาด 20 ฟุตได้อีก 2 ใบ
ภาพประกอบที่หกหมายเลขสามคือ
HMS
Mersey (P283) เรือตรวจการณ์ชั้น River
ลำที่สาม เข้าประจำการวันที่ 28 ธันวาคม 2003 เรือลำนี้ไม่เคยมีประสบการณ์เสียวเรื่องปลดประจำการ
แต่เป็นผู้สร้างประสบการณ์เสียวให้กับพ่อค้ายาตั้งแต่ปี 2016 ถึง 2017 HMS Mersey ถูกกองทัพเรืออังกฤษส่งไปไล่ล่าเรือขนยาเสพติดเป็นเวลา
13 เดือน ต้องเดินทางไกลระยะทาง 48,000 ไมล์แวะท่าเรือ 32 แห่งใน 19 ประเทศ
ทำลายทุกสถิติที่เคยมีของกองเรือตรวจการณ์อังกฤษในช่วงนั้น
ภาพประกอบที่หกหมายเลขสี่คือ
HMS
Clyde (P257) เรือตรวจการณ์ชั้น River
ลำที่สี่ เข้าประจำการวันที่ 30 มกราคม 2007 แทนที่เรือตรวจการณ์ชั้น Castle การมาทำงานที่หมู่เกาะฟอล์กแลนด์จำเป็นต้องสร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์
บริษัท BAE ได้ปรับปรุงท้ายเรือ HMS Clyde ให้เฮลิคอปเตอร์ Sea King และ Merlin แวะลงจอดเพื่อเติมน้ำมันได้
HMS
Clyde ปลดประจำการวันที่ 20 ธันวาคม 2019
และถูกขายต่อให้กับกองทัพเรือบาห์เรนวันที่ 7 สิงหาคม
2020 โดยไม่มีปืน DS3OB เพราะอังกฤษถอดไปใช้กับเรือลำอื่น
เข้าประจำการอีกครั้งโดยใช้ชื่อ RBNS Al-Zubara (OPV80) เหตุผลที่ขายนอกจากหน้าตาแตกต่างจากเรือลำอื่นเล็กน้อย
ยังมีเรื่องเรือได้รับการซ่อมบำรุงน้อยกว่าลำอื่นเพราะอยู่ไกลปืนเที่ยง
เท่ากับว่าในปี
2022
กองทัพเรืออังกฤษมีเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งจำนวน 8 ลำ ประจำการภายในประเทศจำนวน 3 ลำ
ถูกส่งออกไปทำงานต่างๆ ทั่วโลกจำนวน 3 ลำ
อังกฤษไม่จำเป็นต้องส่งเรือรบไปทำภารกิจตบเด็กอีกต่อไป
ออปชันเสริม
เรือตรวจการณ์ชั้น
River
Batch 2 มีออปชันเสริมเหมือนดั่งเรือตรวจการณ์ลำอื่น
สามารถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ Mission Module
รวมกันมากสุดถึง 4 ใบ ภาพประกอบที่เจ็ดคือ HMS Medway แล่นอยู่ในทะเลแคริบเบียน
วางตู้คอนเทนเนอร์สีน้ำเงินเข้มที่กราบซ้ายหลังจุดปล่อยเรือเล็ก
ส่วนกราบขวาวางตู้คอนเทนเนอร์สีน้ำเงินเข้มโดมีเรือยางอยู่บนหลังคาตู้
ลานจอดเฮลิคอปเตอร์วางตู้คอนเทนเนอร์สีแดงเลือดนกไว้หนึ่งใบ
ยังเหลือที่ว่างวางตู้คอนเทนเนอร์ได้อีกหนึ่งใบ
และเหลือพื้นที่รองรับอากาศยานไร้คนขับปีกหมุนขนาดเล็กอีกหนึ่งลำ
ภาพเล็กมุมบนซ้ายมือคือตู้คอนเทนเนอร์กราบซ้ายเรือของ
HMS
Medway หลังคาตู้วางเรือยางติดเครื่องยนต์ขนาดเล็กจำนวนหนึ่งลำ
สังเกตนะครับว่าตู้คอนเทนเนอร์ชิดมาทางกราบเรือค่อนข้างมาก
หากไม่ทำเช่นนี้จะไม่สามารถเปิดประตูห้องเครื่องยนต์ได้
และไม่สามารถใช้งานท่อเติมเชื้อเพลิงกลางทะเลได้
สาเหตุเกิดจากความอินดี้ของบริษัทสร้างเรืออังกฤษ
ซึ่งออกแบบให้ติดตั้งตู้คอนเทนเนอร์ในตำแหน่งนี้
หากลูกล็อกตู้กับพื้นไม่ดีอาจพลัดหล่นสู่ทะเลน้ำตาตกใน
เรือหลวงกระบี่วางตู้คอนเทนเนอร์ได้ตามภาพ
เรือหลวงประจวบวางได้เช่นกันแต่จะมีปัญหาเล็กน้อย
ตู้คอนเทนเนอร์อาจถูกไอเสียร้อนจัดจากอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ
เพราะเราดัดแปลงเรือให้ติดตั้ง Harpoon ทดแทนเครนขนาดใหญ่
ภาพเล็กมุมบนขวามือคือตู้คอนเทนเนอร์กราบขวาเรือของ
HMS
Spey ได้รับการทาสีพราง Dazzle Camouflage
บ่งบอกชัดเจนว่าต้องอยู่กับเรือไปอีกยาวนาน ในตู้น่าจะโล่งๆ
ไว้เก็บยาเสพติดที่ยึดมาจากพ่อค้ายา
ติดตั้งถาวรเลยก็ดีเหมือนกันเพราะเรือไม่มีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์
ถัดไปเล็กน้อยคือกล่องโลหะขนาดใหญ่พอสมควร
อาจเอาไว้ใส่อุปกรณ์จุกจิกหรือธงแสดงสัญลักษณ์ต่างๆ บนเรือ
กองทัพเรืออังกฤษใช้งานพื้นที่ว่างสองกราบเรืออย่างคุ้มค่าที่สุด
ระบบอาวุธ
เรือตรวจการณ์ชั้น
River
Batch 2 ติดตั้งอาวุธจำนวน 4 ชนิดด้วยกัน
ภาพประกอบที่แปดหมายเลขหนึ่งคือปืนกลอัตโนมัติ 30 มม.ซึ่งผู้เขียนไม่แน่ใจว่านำปืนเก่ารุ่น DS30B มาติดระบบควบคุมด้วยรีโมทเพิ่มเติม
ทำงานร่วมกับออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง MSI EOFCS
หรือว่าเป็นปืนใหม่รุ่น DS30M Mk2
ซึ่งติดตั้งระบบควบคุมด้วยรีโมทจากโรงงาน
ปืนกล 30
มม.ถูกติดตั้งที่หัวเรือตำแหน่งเดียวกับปืนใหญ่
76 มม.เรือหลวงกระบี่ ใช้ปืน Mk44 Bushmaster II อัตรายิงสูงสุด 200 นัดต่อนาที ฝั่งซ้ายมือเป็นกล่องกระสุน 30 มม.จำนวน 200 นัด
ส่วนฝั่งขวาเป็นที่นั่งพลยิงควบคุมปืนด้วยระบบไฟฟ้า
เรือรบและเรือช่วยอังกฤษมักใช้ป้อมปืน 30 มม.หน้าตาแบบนี้
เพื่อให้มั่นใจว่าตัวเองสามารถใช้ปืนได้แม้อุปกรณ์ควบคุมการยิงชำรุดเสียหาย รวมทั้งในหลายๆ
สถานการณ์ใช้อาวุธปืนจากสายตามนุษย์เหมาะสมที่สุด
ภาพประกอบที่แปดหมายเลขสองคือปืนกลหนัก
12.7
มม.M2 Browning อัตรายิงสูงสุดประมาณ 600
นัดต่อนาที
นี่คืออาวุธปืนที่ได้รับความนิยมทั่วโลกตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง
ถูกติดตั้งระหว่างสองกราบเรือไม่ไกลจากสะพานเดินเรือ ตำแหน่งเดียวกับปืนกลหนัก 12.7
มม. Browning บนเรือหลวงกระบี่นั่นเอง
อาวุธชนิดนี้แปลกดีเหมือนกัน
ผู้เขียนนึกว่ากองทัพเรืออังกฤษเลิกใช้งานแล้ว มีการติดตั้ง Quick
Change Barrel ซึ่งเป็นด้ามจับทาสีเหลืองตรงโคนลำกล้องปืน
ช่วยให้การเปลี่ยนลำกล้องปืนซึ่งทำงานหนักจนร้อนจัดได้รวดเร็วกว่าเดิม
วิธีการก็คือห้ามไก-เปิดฝาปิดห้องลูกเลื่อน-ตรวจสอบกระสุนค้าง
ปลดล็อกโดยการเลื่อน Quick Change Barrel จากตำแหน่งซ้ายมือมาอยู่ตรงกลาง
จากนั้นให้ดึงลำกล้องปืนออกแล้วนำของใหม่มาเสียบกลับคืน เลื่อน Quick
Change Barrel จากตรงกลางมาอยู่ซ้ายมือเพื่อล็อกลำกล้องปืน
ใส่สายกระสุน-ปิดฝาปิดห้องลูกเลื่อน-ปลดห้ามไกเป็นอันเสร็จเรียบร้อย
ถ้าเคยทำจนเกิดความชำนาญจะใช้เวลาไม่เกิน 5 วินาที
เร็วเสียจนแรมโบ้เรียกพี่โทนี่ จาเรียกพ่ออุ้ยเสี่ยวป้อเรียกลุง
ภาพประกอบที่แปดหมายเลขสามคือปืนกล
7.62
มม.หกลำกล้องรวบ M 134 Minigun อัตรายิงสูงสุดประมาณ 4,000 นัดต่อนาทีค่อนข้างโหดพอสมควร
ถูกติดตั้งระหว่างสองกราบเรือไม่ไกลจากเสากระโดงเรือ ตำแหน่งเดียวกับปืนกลอัตโนมัติ
DS30M Mk2 บนเรือหลวงกระบี่ ไม่มี Quick
Change Barrel เพราะใช้หกลำกล้องผลัดกันยิงช่วยระบายความร้อน
แต่ทว่าด้วยอัตรายิงค่อนข้างสูงลำกล้องปืนจะร้อนจนสีแดงต้องหยุดใช้งานอยูดี
จุดติดตั้งปืนกล M 134 Minigun
ถูกเจาะช่องว่างเล็กน้อย ฐานอาวุธปืนล้ำออกมาจากตัวเรือเล็กน้อย
และปล่อยให้สายกระสุนลากยาวมาจากพื้น จุดเด่นของปืนคืออัตรายิงไม่ใช่การทำลายล้าง
เพราะฉะนั้นต้องใช้จุดเด่นให้เหมาะสมที่สุด
ภาพประกอบที่แปดหมายเลขสี่คือปืนกล
7.62 มม.FN MAG L7 อัตรายิงสูงสุดประมาณ 1,000 นัดต่อนาที มี Quick Change Barrel เช่นกันถูกติดตั้งฝั่งขวามือ
นี่คือปืนกลเบาซึ่งได้รับความนิยมจากเรือรบอังกฤษทุกลำ
รวมทั้งเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ซึ่งมีไว้ป้องกันตัวขณะจอดเทียบท่า
ถูกติดตั้งระหว่างสองกราบเรือท้ายลานจอดเฮลิคอปเตอร์
เป็นการเสริมจุดอ่อนป้องกันการลอบโจมตีท้ายเรือจากผู้ก่อการร้าย
เรือตรวจการณ์ชั้น
River
Batch 2 บางลำจะติด FN MAG L7 ทดแทน M2
Browning
ผู้เขียนคาดเดาว่าตำแหน่งติดปืนกลสองกราบเรือไม่ไกลจากสะพานเดินเรือ
เพิ่มเติมเข้ามาหลังเรือลำแรกเข้าประจำการและทดสอบใช้งาน
เป็นการป้องกันการโจมตีจากเรือเล็กบริเวณหัวเรือให้ดีกว่าเดิม
ในคลังแสงมีปืนกลรุ่นไหนต้องเอามาใช้งานไปพลางๆ ก่อน
เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งอังกฤษติดอาวุธค่อนข้างเบา
อาวุธทุกชนิดไม่มีการเจาะดาดฟ้าเรือเพื่อสร้างคลังแสง
ส่งผลให้ภายในตัวเรือมีพื้นที่ใช้งานค่อนข้างมาก
อันเป็นแนวกองทัพเรืออังกฤษกับเรือตรวจการณ์ตัวเองตั้งแต่อดีต
พื้นที่ภายในตัวเรือ
ในเมื่อไม่มีการเจาะดาดฟ้าเรือเพื่อสร้างคลังแสง
เรือตรวจการณ์ชั้น River Batch 2
จึงมีพื้นที่กว้างขวางพอสมควร ประกอบกับเรือถูกออกแบบให้มีรูปทรงทันสมัย สร้าง Superstructure
ใช้เป็นที่พักอาศัยตั้งแต่หลังปืนหลัก สะพานเดินเรือถอยลึกเข้ามากินพื้นที่เพียงเล็กน้อย
เสากระโดงทั้งเล็กและเปิดโล่งหัวท้ายน้ำหนักค่อนข้างเบา
แม้ความกว้างเรือจะไม่เพิ่มขึ้นจากเรือชั้น River รุ่นเก่าก็ตาม
แต่พื้นที่ใช้สอยมากขึ้นจากการออกแบบกับความยาวเรือที่เพิ่มขึ้น
ภาพประกอบที่เก้าคือพื้นที่ใช้สอยภายในเรือตรวจการณ์ชั้น
River
Batch 2 ถูกตกแต่งอย่างสวยงามคล้ายบ้านเดี่ยวราคาเจ็ดแปดล้าน
ภาพรวมค่อนข้างโล่งและโปร่งแม้ถูกแบ่งกั้นเป็นห้องต่างๆ
สังเกตนะครับว่าภาพการตกแต่งภายในรวมทั้งพรมปูพื้น
มีความแตกต่างกันเนื่องจากภาพถ่ายมาจากเรือสองลำ
อังกฤษให้ความสำคัญพื้นที่ใช้สอยภายในเรือค่อนข้างสูง
เพื่อให้ลูกเรือซึ่งต้องพลัดพรากจากแผ่นดินเกิดไปไกล
ได้พักอาศัยใช้ชีวิตร่วมกันเป็นเวลายาวนาน
โดยไม่เบื่อหน่ายหรือมีอาการเศร้าซึมส่งผลกระทบต่อการทำงาน
นอกจากนี้ยังต้องมีห้องพักสำหรับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษจำนวนหนึ่ง และพื้นที่จัดเก็บอุปกรณ์ต่างๆ
สำหรับทำภารกิจเสริมอีกพอสมควร
ต้องการติดปืนใหญ่
76
มม.พื้นที่ใช้สอยหายไปทันทีหนึ่งห้อง
ติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบเครนใหญ่สำหรับยกตู้คอนเทนเนอร์หายไปเช่นกัน
หากใช้เรือในพื้นที่ 200 ไมล์ทะเลผู้เขียนคิดว่าคงพอกล้อมแกล้ม
แต่ถ้าหากใช้เรือเดินทางข้ามโลกอาจเกิดผลกระทบพอสมควร โดยเฉพาะกับเรือตรวจการณ์ยาว
90 เมตรระวางขับน้ำเพียง 2,000 ตัน
การติดตั้งอาวุธเพิ่มเติม
ช่วงเวลาที่มีการสั่งซื้อเรือตรวจการณ์ชั้น
River
Batch 2 มีข่าวชิ้นหนึ่งจากนิตยสาร Forbes แสดงรายละเอียดว่า
ในอนาคตหากเกิดเหตุฉุกเฉินมีเรือรบไม่เพียงพอ
เนื่องจากรัฐบาลต้องการหั่นจำนวนเรือฟริเกต Type 26 จาก 13
ลำเหลือเพียง 8 ลำ กองทัพเรืออังกฤษอาจติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือกับปืนใหญ่ขนาด
57 มม.บนเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำใหม่ อย่างไรก็ตามกองทัพเรืออังกฤษไม่เคยเปิดเผยเรื่องนี้กับสื่อมวลชนสักครั้ง
การติดตั้งอาวุธเพิ่มบนเรือตรวจการณ์ชั้น
River
Batch 2 มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน?
ผู้เขียนคิดว่าในปี
2017
ความเป็นไปได้อยู่ที่ยี่สิบเปอร์เซ็นต์ แต่พอเข้าสู่ปี 2021 ความเป็นไปได้มีค่าเท่ากันศูนย์
รัฐบาลอังกฤษต้องการสร้างกองทัพเรือให้เข้มแข็งกว่าเดิม
หวังแผ่อิทธิพลตัวเองออกไปทั่วโลกให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้
กองเรือผิวน้ำซึ่งประจำการเรือรบแท้ๆ ไม่ใช่เรือตรวจการณ์
กำลังจะถูกเพิ่มเติมจำนวนเรือจาก 19 ลำเป็น
24 ลำ
เรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำ
Type
23 ซึ่งจะทยอยปลดประจำการจำนวน 13 ลำ
ถูกแทนที่ด้วยเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำ Type 26 จำนวน 8
ลำ เรือฟริเกตอเนกประสงค์ Type 31e ซึ่งไม่ได้ติดตั้งอาวุธปราบเรือดำน้ำจำนวน
5 ลำ และเรือฟริเกตใหม่เอี่ยม Type 32 อีก
5 ลำ Type 32 ติดอาวุธและเรดาร์เหมือน Type
31e ทุกประการ แต่มีอุปกรณ์ทำงานอัตโนมัติอาทิเช่นยานใต้น้ำไร้คนขับ
ยานผิวน้ำไร้คนขับ หรืออากาศยานไร้คนขับรุ่นปีกหมุนเพิ่มเติมเข้ามาบนเรือ
8+5+5=18 เท่ากับว่ารัฐบาลอังกฤษทดแทนเรือฟริเกตเก่า
13 ลำด้วยเรือฟริเกตใหม่ 18 ลำ
การมาของเรือฟริเกตชั้น
Type
31e กับ Type 32 ส่งผลให้เรือตรวจการณ์ชั้น River
Batch 2 ติดอาวุธน้อยนิดเหมือนเก่า
ความเป็นไปได้ถ้าหากมีการปรับปรุงในอนาคตก็คือ ถอดปืนกลอัตโนมัติ 30 มม.DS30B ที่หัวเรือออกไป
เพื่อแทนที่ด้วยปืนกลอัตโนมัติ 40 มม. Bofors
40mm Mk4 ซึ่งสามารถใช้กระสุน 3P
จัดการเป้าหมาย 6 รูปแบบได้ตามสถานการณ์
อังกฤษมีแผนเปลี่ยนปืนรองจากขนาด
30
มม.เป็น 40 มม.ตั้งแต่โครงการเรือฟริเกตชั้น Type 26 มาเริ่มเดินหน้าเต็มตัวในเรือฟริเกตชั้น
Type 31e ซึ่งติดปืนกล Bofors 40mm Mk4
ลำละสองกระบอก ในเมื่อตอนนี้ปืน 40 มม.กลับคืนสู่
Royal Navy อย่างเป็นทางการ ฉะนั้นการติดตั้ง Bofors
40mm Mk4 บนเรือตรวจการณ์ชั้น River Batch 2
ย่อมเหมาะสมที่สุด
อย่างไรก็ตาม…ผู้เขียนคิดว่าอังกฤษยังคงใช้งาน DS30B บนเรือตรวจการณ์ต่อไปอย่างน้อยๆ
สิบปีเต็ม
+++++++++++++++++++++
อ้างอิงจาก
https://twitter.com/HMS_Medway
https://en.wikipedia.org/wiki/River-class_offshore_patrol_vessel
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น