วันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2565

MODEL 980 ALOFTS SONAR

 

การตรวจจับเรือดำน้ำด้วยโซนาร์หัวเรือในปัจจุบัน ประสิทธิภาพลดลงกว่าเดิมเมื่อเทียบกับช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะเรือดำน้ำรุ่นใหม่ดำน้ำได้นานและมีเสียงรบกวนค่อนข้างน้อย จนโซนาร์หัวเรือซึ่งถูกติดตั้งตายตัวอาจค้นหาไม่พบ หรืออาจค้นพบระยะประชิดล่าช้าเกินไปไม่ทันกาล จำเป็นต้องหาอุปกรณ์ชนิดอื่นมาช่วยเสริมในการค้นหา

หลายประเทศได้พัฒนาโซนาร์ตรวจจับเรือดำน้ำจากท้ายเรือ ทำงานร่วมกับโซนาร์หัวเรือและอากาศยานทั้งรุ่นปีกแข็งและปีกหมุน โซนาร์ท้ายเรือที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายประกอบไปด้วย หนึ่งโซนาร์ลากจูง Variable Depth Sonar หรือ VDS เป็นโซนาร์ภาคส่งทำงานโหมด Active โดยการส่งคลื่นออกไปรอบตัวเพื่อค้นหาเป้าหมาย จะได้รับข้อมูลแบริ่ง (Bearing) หรือทิศทางเป้าหมายและพิกัดระยะของเป้าหมาย  (Range) อย่างชัดเจน โดยมีข้อเสียคือเป็นการเปิดเผยพิกัดตัวเอง

โซนาร์ท้ายเรือชนิดที่สองคือโซนาร์ลากท้าย Towed Array Sonar หรือ TAS เป็นโซนาร์ภาครับทำงานในโหมด Passive คือดักฟังเสียงอย่างเดียว ตรวจจับเป้าหมายไกลกว่าโซนาร์ลากจูงค่อนข้างมาก เพียงแต่ได้รับข้อมูลแบริ่ง (Bearing) หรือทิศทางเป้าหมายเพียงอย่างเดียว ต้องนำมาคิดคำนวณโดยใช้ประสบการณ์อย่างละเอียดถี่ถ้วน

โซนาร์ท้ายเรือชนิดที่สามซึ่งปัจจุบันหาได้ค่อนข้างยาก คือโซนาร์วิเคราะห์สัญญาณเสียง (Sonar Signal Processing Set) สำหรับวิเคราะห์สัญญาณเสียงได้รับมาจากโซโนบุยโดยตรง หรือรับข้อมูลผ่านทางระบบดาต้าลิงก์อากาศยานปีกหมุน เพราะฉะนั้นบทความนี้จะขอพูดถึงโซนาร์ท้ายเรือสองชนิดแรกเท่านั้น

ระบบโซนาร์ท้ายเรือรุ่นใหม่ทันสมัยค่ายตะวันตกในปัจจุบัน ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมีแค่เพียง 2 ระบบคือ หนึ่ง Thales CAPTAS-4 จากฝรั่งเศสและสอง Atlas  ACTAS จากเยอรมัน อันเป็นโซนาร์ตัวท็อปราคาแพงสุดขนาดใหญ่สุด เหมาะสมกับการติดตั้งบนเรือฟริเกตขนาด 4,000 ตันขึ้นไป รองลงมาคือระบบโซนาร์  Thales CAPTAS-2 จากฝรั่งเศสเช่นกัน ขนาดเล็กกว่ารุ่นท็อปติดตั้งบนเรือคอร์เวตขนาด 2,500 ตันได้อย่างสบาย

CAPTAS-4 ก็ดี CAPTAS-2 ก็ดี หรือ ACTAS ก็ดี มีทั้งโซนาร์ลากจูง VDS และโซนาร์ลากท้าย TAS ในการติดตามเป้าหมาย ทำงานได้ทั้งโหมด Active และ Passive ส่งผลให้หลายชาติยกเลิกการติดตั้งโซนาร์หัวเรือ บางชาติเปลี่ยนเป็นโซนาร์เตือนภัยทุ่นระเบิดแทน ส่วนบางชาติปล่อยโล่งโจ้งไว้แบบนั้น เนื่องจากเล็งเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องเสียเงินเพิ่ม

แนะนำข้อมูลกันไปคร่าวๆ แล้วผู้เขียนขอตัดเข้าสู่เนื้อหาบทความ โดยการนำเสนอโซนาร์ท้ายเรือ MODEL 980 ACTIVE LOW-FREQUENCY TOWED SONAR (ALOFTS) จากบริษัท L3 HARRIS ประเทศออสเตรเลีย

ภาพประกอบที่หนึ่งเรือคอร์เวต Tuo Chiang ประเทศไต้หวัน ติดตั้งโซนาร์ MODEL 980 ALOFTS ไว้ที่ท้ายเรือท้าย สามารถทำงานได้อย่างดีเยี่ยมทั้งเขตน้ำตื้นและน้ำลึก อันเป็นรุ่นใหม่ล่าสุดพัฒนาต่อมาจากรุ่น MODEL 780 ในอดีต

บริษัท L3 HARRIS พัฒนาโซนาร์ลากจูง VDS ทำงานโหมด Active ขนาดกะทัดรัดขึ้นมา รูปร่างหน้าตาคล้ายปลาการ์ตูนทาสีขาวคาดเหลือง แล้วนำโซนาร์ลากท้าย TAS มาติดตั้งเพิ่มเติมเข้าไป ที่อยู่ตรงหางเหมือนหัวจ่ายน้ำมันปั๊มบางจากนั่นแหละครับ เลือกปล่อยเฉพาะโซนาร์ลากท้าย TAS เพื่อตรวจจับใต้น้ำแบบเงียบๆ ได้ เมื่ออยากได้พิกัดอย่างชัดเจนจึงปล่อยโซนาร์ลากจูง VDS มาร่วมกันทำงาน นับจากนี้ไปผู้เขียนขอเรียกสั้นๆ ว่าโซนาร์ ALOFTS ก็แล้วกัน

เรือคอร์เวตชั้น Tuo Chiang ต้นแบบลำที่หนึ่งเข้าประจำการปี 2014 มีระวางขับน้ำเต็มที่ 600 ตัน ยาว 60.4 เมตร กว้าง 14.4 เมตร ใช้ระบบขับเคลื่อนดีเซลคู่กับระบบวอเตอร์เจ็ท ความเร็วสูงสุดมากถึง 40 นอต เป็นเรือ Catamaran สองท้องเน้นใช้ความเร็วในการบุกจู่โจม ท้ายเรือฝั่งซ้ายติดตั้งโซนาร์  ALOFTS โดยมีช่องขนาดเล็กสำหรับปล่อยโซนาร์ลากท้าย TAS และช่องขนาดใหญ่สำหรับปล่อยโซนาร์ลากจูง VDS ส่วนฝั่งขวามือเป็นช่องปล่อยเรือยางท้องแข็ง RHIB

ไต้หวันต้องการติดตั้งโซนาร์  ALOFTS กับเรือคอร์เวตทุกลำ ต่อมาในปี 2021 เมื่อเรือคอร์เวตชั้น Tuo Chiang ลำที่สองเข้าประจำการ โซนาร์  ALOFTS กับตอร์ปิเบาปราบเรือดำน้ำได้ถูกถอดออกจากเรือ ได้เรดาร์ตรวจการณ์รุ่นใหม่กับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยานเพิ่มเติมเข้ามา กำหนดให้เป็นเรือคอร์เวตอเนกประสงค์ทำการรบได้เพียง 2 มิติ

เหตุผลที่ไต้หวันถอดโซนาร์  ALOFTS ออกจากเรือคอร์เวต เนื่องจากตัวเรือสั่นเกินไปรบกวนการทำงานโซนาร์ บริษัท L3 HARRIS ขายALOFTS ให้ไต้หวันได้เพียง 1 ระบบก็จริง ทว่าก่อนหน้านี้ไม่นานพวกเขาได้สิงคโปร์เป็นลูกค้ารายใหญ่ สั่งซื้อ ALOFTS มาใช้งานบนเรือฟริเกตชั้น Formidabel จำนวน 6 ลำ โดยไม่ได้ติดตั้งโซนาร์หัวเรือแต่อย่างใด

ภาพประกอบที่สองลูกเรือชาวสิงคโปร์กำลังช่วยกันปล่อยโซนาร์ลากท้าย TAS ลงสู่ทะเล เพื่อตรวจจับเป้าหมายใต้น้ำตามปรกติ นอกจากใช้ค้นหาเรือดำน้ำโดยไม่เปิดเผยตัวเองแล้ว โซนาร์ลากท้ายของ ALOFTS  ยังช่วยแจ้งเตือนการถูกโจมตีจากตอร์ปิโด และสามารถสั่งการให้ระบบเป้าลวงตอร์ปิโดทำงานโดยอัตโนมัติ มีประสิทธิภาพเหมือน CAPTAS-4  และ ACTAS เพียงแต่ระยะตรวจจับเป้าหมายใกล้กว่ากัน อันเป็นเรื่องปรกติทั่วไปเมื่อเทียบกับขนาดและราคา

ในภาพจะเห็นลูกเรือชาวสิงคโปร์ผูกเชือกไว้ด้านหลัง ป้องกันพลัดตกทะเลโดยไม่ได้ตั้งใจซึ่งถือว่าดีมาก ขนาดของ ALOFTS รวมกับอุปกรณ์ปล่อยลงน้ำจัดไม่ใหญ่เท่าไร บริษัท L3 HARRIS ยืนยันว่าติดตั้งบนเรือตรวจการณ์ขนาด 500 ตันได้ แต่ใช้งานได้ดีหรือไม่ดีนั่นอีกเรื่องหนึ่ง นำไปไล่ล่าเรือดำน้ำแล้วเรือตัวเองจมหรือไม่จมก็อีกเรื่องเช่นกัน

มาดูการใช้งานโซนาร์ ALOFTS ของกองทัพเรือสิงคโปร์กันต่อในภาพประกอบที่สาม ช่วงเวลาปรกติโซนาร์ถูกจัดเก็บท้ายเรืออย่างดีเยี่ยม ไม่โดนลมโดนฝนหรือน้ำทะเลถนอมโซนาร์ให้พังช้าลง เมื่อต้องการใช้งานทั่วไปจึงปล่อยโซนาร์ลากท้าย TAS ลงไปก่อน ครั้นตรวจพบว่ามีบางอย่างเคลื่อนไหวผิดปรกติใต้น้ำ โซนาร์ลากจูง VDS จะถูกส่งลงไปค้นหาพิกัดให้ชัดขึ้น เมื่อพบว่ามีความเป็นได้สูงที่จะมีเรือดำน้ำเข้าใกล้ เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำจะถูกส่งไปตรวจสอบด้วยโซนาร์ชักหย่อนหรือ Dipping Sonar หากพบเป้าหมายชัดเจนถึงมีคำสั่งให้จัดการทำลายต่อไป

นอกจากโซนาร์ ALOFTS จะทำงานร่วมกับเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ ยังมีระบบอำนวยการรบปราบเรือดำน้ำหรือ Underwater ASW Combat Management System ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับระบบอำนวยการรบบนเรือได้อย่างดี เรือฟริเกตสิงคโปร์ใช้ระบบอำนวยการรบพัฒนาเองโดยมีต้นแบบจากฝรั่งเศส ส่วนเรือคอร์เวตไต้หวันใช้ระบบอำนวยการรบพัฒนาเองโดยมีต้นแบบจากอเมริกา สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างปรกติไม่มีปัญหารบกวนใจ

ขณะเดียวกัน โซนาร์ ALOFTS ยังสามารถทำงานร่วมกับระบบเป้าลวงตอร์ปิโด และตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำบนเรือผิวน้ำ ป้องกันตัวเองจากภัยร้ายใต้น้ำซึ่งอาจแว้งกัดเอาได้ อันเป็นออปชันทันสมัยที่โซนาร์ทุกรุ่นต้องทำให้ได้

สิงคโปร์ทำสงครามปราบเรือดำน้ำโดยไม่ติดตั้งโซนาร์หัวเรือ เหมือนดั่งเรือรบรุ่นใหม่หลายลำอาทิเช่น เรือฟริเกต Gowind 3100 ของมาเลเซีย เรือฟริเกต Sigma 10514 ของเม็กซิโก เรือคอร์เวต Abu Dhabi ของยูเออี หรือเรือฟริเกต FFG(X) ของอเมริกา นอกจากนี้ยังมีเรือรบใช้งาน ASW Mission Package สามารถใส่หรือถอดอุปกรณ์ปราบเรือดำน้ำได้อย่างสะดวก อาทิเช่นเรือฟริเกต F126 ขนาด 10,000 ตันของเยอรมัน และเรือ LCS ของอเมริกาทั้ง 2 แบบเรือ

 ตอนนี้ผู้อ่านรู้จักโซนาร์ ALOFTS กับการใช้งานโดยสิงคโปร์กันแล้ว ฉะนั้นผู้เขียนจะนำ ALOFTS มาติดตั้งบนเรือรบไทยจำนวน 2 ลำ เพื่อช่วยค้นหาเรือดำน้ำต่างชาติในทะเลอันดามันรวมทั้งอ่าวไทย เป็นการแบ่งเบาภาระเรือหลวงภูมิพลซึ่งมีโซนาร์ ACTAS ใช้งานเพียงลำเดียว โดยกำหนดคุณสมบัติเรือที่จะติดตั้งโซนาร์รุ่นใหม่ทันสมัยไว้ดังนี้

1: มีพื้นที่ติดตั้งโซนาร์ ALOFTS บริเวณท้ายเรือ โดยไม่รบกวนการลงจอดของเฮลิคอปเตอร์

2: มีพื้นที่ติดตั้งแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำกับระบบเป้าลวงตอร์ปิโด

2: สามารถเติมเชื้อเพลิงให้กับเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำได้ นักบินลงมากินข้าวหรือเข้าห้องน้ำได้ มีห้องพักผ่อนของนักบินและผู้ช่วย มีพื้นที่จัดเก็บตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำกับระเบิดลึก

4: ประจำการกองทัพเรือไทยไม่เกิน 20 ปี

สาเหตุที่กำหนดให้เรือมีอายุประจำการไม่เกิน 20 ปี เนื่องจากหลังติดตั้งโซนาร์ควรใช้งานได้อีก 20 ปีเป็นอย่างต่ำ ส่งผลให้เรือฟริเกตจากจีนทั้ง 6 ลำหลุดโผโดยความตั้งใจ เหลือเพียงเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งจากจีนกับอังกฤษเข้าร่วมชิงชัย

จากนี้ไปคือการเปรียบเทียบเรือทั้งสองลำอย่างลึกซึ้ง ชมภาพประกอบที่สี่มุมมองท้ายเรือกันก่อนเลยครับ

เรือทั้งสองลำเป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งเหมือนกันก็จริง แต่มีความแตกต่างด้านกายภาพอย่างชัดเจน วิธีใช้งานเรือย่อมแตกต่างกันตามลักษณะทางกายภาพ ส่วนจะเป็นเช่นไรนั้นมาตรวจสอบรายละเอียดทางกายภาพกันก่อน

เรือหลวงประจวบในภาพเล็กมุมขวาบนใช้แบบเรือจากอังกฤษ ราชนาวีอังกฤษต้องการเรือตรวจการณ์ทนทานคลื่นลมแรง เดินทางไกลพันไมล์ไปดูแลน่านน้ำหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ได้ แบบเรือชั้น River Batch 2 ออกแบบหัวเรือให้อยู่สูงสูงกว่าเรือทั่วไป มีพื้นที่ให้ลูกเรือพักอาศัยยื่นยาวออกมาหน้าสะพานเดินเรือ โดยมาสิ้นสุดเอาดื้อๆ ที่ปล่องระบายความร้อนกลางลำเรือ เหลือแค่เพียงห้องเครื่องยนต์กับห้องควบคุมอากาศยาน ขนาบสองฝั่งด้วยเรือยางท้องแข็ง RHIB จำนวน 2 ลำ

ลานจอดเฮลิคอปเตอร์เรือหลวงประจวบสูงจากพื้นน้ำไม่มากเท่าไร ท้ายเรือถูกปิดตายไม่มีพื้นที่สำหรับติดตั้งโซนาร์ท้ายเรือ โดยที่สองกราบเรือเจาะลึกลงไปประมาณ 80 เซนติเมตรเพื่อใช้เป็นจุดผูกเชือกเรือ

เปรียบเทียบให้ชัดเจนเรืออังกฤษลำนี้เหมือนรถกระบะหน้ายาวตอนเดียว มีการย้ายแผงแอร์มาติดท้ายกระบะเพราะวางเครื่องยนต์ใหม่ และถูกโหลดเตี้ยใช้ยางสปอร์ตส่งผลให้การทรงตัวดียอดเยี่ยม เหมาะสมกับการเดินทางไกลเพื่อขนส่งสินค้าเบ็ดเตล็ด แต่ทำอะไรมากกว่านี้ไม่ได้เสียแล้ว โดยเฉพาะเรือหลวงประจวบซึ่งติดตั้งอาวุธเพิ่มเติมจนล้นลำ

เรือหลวงประจวบต้องติดตั้งโซนาร์ ALOFTS บนลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ติดตั้งแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำท้ายเรือเล็กได้ก็จริง แต่แทบจะไม่เหลือที่ว่างให้ลูกเรือเดินผ่าน การใส่ตอร์ปิโดเข้าแท่นยิงทำได้ยากลำบาก รวมทั้งมุมยิงค่อนข้างอัตคัด ไม่มีที่จัดเก็บตอร์ปิโดเบากับระเบิดลึกสำหรับเฮลิคอปเตอร์ ต้องตากแดดตากลมแล้วหาโซ่มาล็อกป้องกันตกเรือ

สรุปความก็คือเรือหลวงประจวบสอบผ่านแค่เพียงข้อ 4 เท่านั้น

เรือลำที่สองในภาพใหญ่คือเรือหลวงนราธิวาส ใช้แบบเรือประเทศจีนเล็กกว่าเรือหลวงประจวบนิดหน่อย ออกแบบให้เป็นเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่ใช้งานในเขต 200 ไมล์ทะเล มีพื้นที่ติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบบริเวณกลางเรือ แล้วสร้างโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ขนาด 7 ตันขนาบข้างด้วยจุดติดตั้งปืนรอง ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ถูกยกสูงจากพื้นน้ำพอสมควร

หัวเรือเรือหลวงนราธิวาสไม่ได้สูงอะไรมากมาย ตรงกันข้ามกับท้ายเรือถูกยกสูงหนึ่งชั้นเพื่อความอเนกประสงค์ แม้ถูกออกแบบให้ทำหน้าที่ดูแลน่านน้ำตัวเองเป็นหลัก แต่เคยเดินทางไกลไปปราบโจรสลัดที่โซมาเลียมาแล้ว

เปรียบเทียบให้ชัดเจนเรือจีนลำนี้คล้ายรถกระบะหน้าสั้นสองตอน ยกสูงเล็กน้อยส่งผลให้การทรงตัวอาจไม่ดีสักเท่าไร เดินทางไกลไปฮ่องกงแข่งกับเรืออังกฤษคงแพ้ขาดลุ่ย แต่มีพื้นที่ใช้งานเยอะทำอะไรต่อมิอะไรได้อย่างหลากหลาย

สรุปความก็คือเรือหลวงนราธิวาสสอบผ่านทุกข้อ

เรือหลวงนราธิวาสจะถูกติดตั้งโซนาร์ ALOFTS ใต้ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ติดตั้งติดตั้งแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำบนพื้นที่ว่างกลางเรือ ติดตั้งระบบเป้าลวงตอร์ปิโดบนพื้นที่ว่างหลังปืนกลขนาด 20 มม.เรือจะทำงานร่วมกับเฮลิคอปเตอร์ Super Lynx 300 ของราชนาวี ซึ่งนำไปติดตั้งกล้องตรวจการณ์ออปโทรนิกส์ที่ปลายจมูก กับโซนาร์ชักหย่อน Thales FLASH Dipping Sonar ใต้ท้องเครื่องให้เรียบร้อย จากนั้นค่อยจัดหาตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำมาใช้งานภายหลัง

การปรับปรุงเรือหลวงนราธิวาสและเรือหลวงปัตตานี เป็นการปรับปรุงใหญ่ครึ่งอายุการใช้งานไปในตัว ปรับปรุงแล้วเรือจะมีรูปร่างหน้าตาคล้ายภาพประกอบที่ห้า ผู้อ่านท่านใดนำภาพไปใช้ต่ออย่าตัดเครดิตหรือใส่เครดิตตัวเองเลยนะครับ บอกตามตรงผู้เขียนอับอายขายขี้หน้าเพื่อนชาวต่างชาติ อายเสียจนไม่กล้าหลังไมค์ไปขอความช่วยเหลือ ข้อมูลเฉพาะทางบางเรื่องพลอยหดหายไปจากเนื้อหา บทความก็เลยโล้นๆ โล่งๆ ไม่เจาะลึกเรื่องจริงเท่าที่ควร

ใช้งานได้นะครับผู้เขียนไม่หวง แค่ไม่ควรตัดเครดิตทิ้งเท่านั้นเอง

เนื่องจากงบประมาณในการปรับปรุงค่อนข้างจำกัด ระบบอำนวยการรบก็ดี เรดาร์ตรวจการณ์ก็ดี เรดาร์ควบคุมการยิงก็ดียังคงใช้งานของเดิม มีเพียงติดตั้งโซนาร์ ALOFTS ท้ายเรือค่อนมาทางซ้าย เนื่องจากบริเวณกราบขวามีสะพานขึ้นลงเรือ ต่อด้วยแท่นยิงระบบเป้าลวงแบบตายตัวจากเดนมาร์ก โดยเลือกรุ่น 6 ท่อยิงจำนวน 2 ระบบสำหรับเป้าลวงตอร์ปิโด และอีก 6 ท่อยิงจำนวน 2 ระบบสำหรับเป้าลวงอาวุธปล่อยนำวิถี เนื่องจากแท่นยิงราคาไม่แพงจึงแยกเด็ดขาดไปเลยให้เข้าใจชัดเจน

แท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำติดตั้งบนพื้นที่ว่างกลางเรือ เพราะความกว้างขวางสามารถหมุนแท่นได้ 360 องศา ต่อด้วยติดตั้งระบบดักจับสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ ES-601 ESM บนเสากระโดง เพื่อป้องกันตนเองจากอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ ปิดท้ายด้วยการซื้ออาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยานประทับบ่า 9K38 Igla มาใช้งานบนเรือ

ใจจริงผู้เขียนอยากติดตั้งโซนาร์ทันสมัยบนเรือฟริเกต ประมาณว่าขอซื้อเรือชั้น Anzac จากออสเตรเลียจำนวน 2 ลำ พร้อมกับจัดหาโซนาร์ ALOFTS มาติดตั้งเพิ่มเติมที่ท้ายเรือ เพียงแต่อับจนหนทางเป็น What If ที่ไม่มีวัน If อย่างแน่นอน

เรือหลวงนราธิวาสจะทำภารกิจปราบเรือดำน้ำคล้ายคลึงเรือฟริเกต Formidabel ของสิงคโปร์ โดยใช้โซนาร์ท้ายเรือ ALOFTS ค้นหาเป้าหมายร่วมกับเฮลิคอปเตอร์ Super Lynx 300 โดยไม่เกิดปัญหากับระบบอำนวยการรบจากเยอรมัน อาจไม่ดีที่สุดไม่เหมาะสมที่สุดหรือไม่คุ้มค่าที่สุด บังเอิญเป็นเพียงความหวังเดียวในการปรับปรุงเรือเก่าเพื่อใช้งาน

ภาพประกอบสุดท้ายคือบั้นท้ายเรือคอร์เวตปราบเรือดำน้ำชั้น Type 056A กองทัพเรือจีน ซึ่งนำแบบเรือเรือหลวงนราธิวาสมาปรับปรุงให้เหมาะสมกับภารกิจ ท้ายเรือกราบซ้ายติดตั้งโซนาร์ลากท้าย Towed Array Sonar หรือ TAS ในช่องสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก ถัดมาเป็นโซนาร์ลากจูง Variable Depth Sonar หรือ VDS ขนาดใกล้เคียงกับ ALOFTS จีนเคยออกข่าวว่าพัฒนาโซนาร์ VDS ด้วยตัวเอง พิจารณาจากกายภาพน่าจะพัฒนาต่อจากโซนาร์ VDS ของอิตาลี

นี่คือหลักฐานยืนยันว่าเรือหลวงนราธิวาสติดตั้งโซนาร์ ALOFTS ได้แน่นอน การใช้งานและประสิทธิภาพผู้เขียนเดาว่าใกล้เคียงกับโซนาร์จีน เพราะมีขนาดไล่เลี่ยกันเทคโนโลยีไม่แตกต่างกัน แต่ถ้าให้เลือกจริงๆ ผู้เขียนคิดว่า ALOFTS เหนือกว่าเล็กน้อย ระบบอาวุธปราบเรือดำน้ำประเทศจีนยังต้องพัฒนาเพิ่มเติมอีกพอสมควร

เรือหลวงนราธิวาสกับระบบโซนาร์ ALOFTS จะช่วยเติมเต็มในส่วนที่ขาดหาย เป็นการแก้ไขเฉพาะหน้าเพื่อรับมือภัยคุกคามใต้น้ำทะเลอันดามัน จนกว่าลูกประดู่ไทยมีเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำแท้ๆ เข้าประจำการมากเพียงพอ ลงทุนไม่มากหรือใช้คำว่าน้อยที่สุดอาจเหมาะสมกว่า สามารถใช้งานได้จริงโดยลอกการบ้านมาจากกองทัพเรือสิงคโปร์

บทความเรื่อง MODEL 980 ALOFTS SONAR จบลงเท่านี้ แม้ในความจริง ALOFTS ไม่มีใช้งานบนเรือราชนาวีไทย แต่ถูกติดตั้งบนเรือไทยในบทความนี้ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว ผู้เขียนขอกล่าวคำอำลาเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะพบกันใหม่

+++++++++++++++++++++

 

อ้างอิงจาก

https://www.l3harris.com/all-capabilities/model-980-active-low-frequency-towed-sonar

http://www.shipbucket.com/forums/index.php

 https://thaimilitary.blogspot.com/2019/07/multi-role-combat-vessel.html

https://thaimilitary.blogspot.com/2019/02/taiwan-navy-kuang-hua-program.html

https://web.facebook.com/singaporenavy

http://www.mdc.idv.tw/mdc/navy/rocnavy/ch.htm

https://beegeagle.wordpress.com/2013/02/17/htms-pattani-511-and-htms-narathiwat-512-chinese-built-1440-ton-opvs-of-the-royal-thai-navy/

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น