วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

Multi-Role Combat Vessel

ยามแรกพิศ พบพักตร์ ทักใช่แน่    เรือยานแม่ มาแล้ว น้องแก้วเอ๋ย
ครบหนึ่งปี เด็จพี่ ร้องไห้เลย          เมื่อทรามเชย เผยชาติ พิฆาตใจ
วันที่ 8 มิถุนายน 1988 RSS Victory (P 88) เรือคอร์เวตลำแรกของกองทัพเรือสิงคโปร์ ได้ทำพิธีปล่อยลงน้ำที่อู่ต่อเรือ Lurssen ประเทศเยอรมันตะวันตก ก่อนเข้าประจำการวันที่ 18 สิงหาคม 1990 เพราะเป็นเรือลำแรกจากจำนวน 6 ลำ จึงกลายเป็นชื่อชั้นเรือไปด้วยเลย เรามาพิจารณาอาวุธต่างๆ บนเรือลำนี้ ไล่จากหัวเรือไปท้ายเรือเพื่อความสะดวก


ปืนใหญ่ OTO Melara 76/62 มม. เรดาร์ตรวจการณ์ Sea Giraffe 150 HC ระยะตรวจจับ 100 กิโลเมตร พร้อมเรดาร์เดินเรือ Kelvin Hughes 1007 อีก 1 ตัว ในภาพยังไม่ได้ติดเรดาร์ควบคุมการยิง กลางเรือเป็นแท่นยิงจรวดปราบเรือรบ Harpoon เลยไปหน่อยเป็นแท่นยิงตอร์ปิโดเบาแฝดสามสำหรับ Whitehead A 244S ตรงกลางเป็น SATCOM เพื่อการสื่อสาร ต่อกันด้วยเรือยางพร้อมเครนขนาดค่อนข้างเล็ก ปิดท้ายด้วยโซนาร์ลากท้าย Thomson Sintra TSM 2064
เรือในยุคนั้นจัดเต็มเรื่องสงครามอิเลคทรอนิกส์ ระบบตรวจจับสัญญาณเรดาร์ใช้ Elisra SEWS ระบบก่อกวนเรดาร์ใช้ Rafael RAN 1101 มีระบบพิสูจน์เป้าหมาย ใช้ระบบอำนวยการรบของ Elbit รวมทั้งระบบเป้าลวง Plessey Shield รุ่น 9 ท่อยิงอีก 2 แท่น เรือคอร์เวตชั้น Victory คือเรือรบที่ดีที่สุดทันสมัยที่สุดของสิงคโปร์


ภาพถัดไปเป็นเรือชั้นเดียวกันในปัจจุบัน ชื่อเรือ RSS  Valiant (P 91) สังกัดกองเรือที่ 188 หมวด 1 มีการปรับปรุงเรือให้ทันสมัยมากขึ้น เปลี่ยนมาใช้เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Sea Giraffe AMB ระยะตรวจจับ 180 กิโลเมตร เรดาร์ควบคุมการยิง Elta EL/M-2221 เพิ่มเป็น 2 ตัว ติดจรวดต่อสู้อากาศยาน Barak I ถึง 16 ท่อยิง ถอดตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำกับโซนาร์ลากท้ายออก ท้ายเรือกลายเป็นแท่นปล่อยอากาศยานไร้คนขับ รวมทั้งมีเรดาร์ควบคุมการยิง (หรือเปล่า?) อีก 2 ตัว
แบบเรือขนาด 62 เมตรของอู่ต่อเรือ Lurssen ขายดีมากๆ เริ่มจากเรือชั้น Kilic ของตุรกีจำนวน 9 ลำ โดยเรียกว่าเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถี เรือชั้น Victory ของสิงคโปร์จำนวน 6 ลำ เรือชั้น Muray Jib ของ UAE จำนวน 2 ลำ ยาวกว่าเดิม 3 เมตรมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ท้ายเรือ รวมทั้งเรือชั้น  Al-Manama ของบาห์เรนอีกจำนวน 2 ลำ มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ท้ายเรือเหมือนเรือ UAE นับรวมกันทุกประเทศจำนวนมากถึง 19 ลำ
เรือคอร์เวตชั้น Victory เป็นกระดูกสันหลังของสิงคโปร์มาอย่างยาวนาน ถึงแม้มีการปรับปรุงจนเพื่อนบ้านยังแอบเคือง แต่เริ่มชราภาพและทำภารกิจในปัจจุบันได้ไม่ดี ปี 2018 รัฐบาลสิงคโปร์ได้ผุดแผนจัดหาเรือรุ่นใหม่ เข้ามาทดแทนในอนาคตที่ไม่ใกล้ไม่ไกล โดยกำหนดคุณสมบัติเรือไว้อย่างสวยหรูว่า
Function as ’Mothership’ for unmanned systems
                แล้ว Mothership คืออะไร? ง่ายๆ ก็คือเรือที่บรรทุกเรือลำเล็กมาด้วยกัน แต่ต้องไม่ใช่อุปกรณ์เสริมของเรือลำนั้น เพราะฉะนั้นเรือบดก็ดี เรือยางก็ดี แพช่วยชีวิตก็ดี สิ่งเหล่านี้ถือเป็นอุปกรณ์เสริมบนเรือ แต่คำนิยามเป็นเพียงข้อกำหนดทั่วไป ไม่จำเป็นต้องทำตามกันทุกประเทศ ปัจจุบันมีเรือ Mothership แท้ๆ ประจำการหรือยัง? เท่าที่เห็นยังครับแต่ในอนาคตจะเริ่มมีเข้ามาเรื่อยๆ โดยหนักไปทางเรือสนับสนุนภารกิจต่อต้านทุ่นระเบิด วันนี้ผู้เขียนมีแบบเรือ Mothership น่าสนใจมาให้ชม



                ลำนี้คือเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งบรรทุกยานผิวน้ำไร้คนขับ เรียกชื่อสั้นๆ ว่า USV OPV ของบริษัท UCL ของแปลกแบบนี้หาได้จากประเทศเดียว เรือมีความยาว 104 เมตร ระวางขับน้ำ 3,000 ตัน ติดปืนกลอัตโนมัติ Mk-46 30 มม.4 กระบอก แท่นยิง TETRAL สำหรับจรวดต่อสู้อากาศยาน Mistral อีก 2 แท่น (จำนวนรวม 8 นัด) บรรทุก USV มาด้วยกันมากสุด 6 ลำ มีเรือยาง RHIB แยกต่างหากอีก 2 ลำ ท้ายเรือมีลานจอดพร้อมโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์แบบพับได้
ตัวเรือ USV ส่วนใหญ่จะจมใต้น้ำ โผล่ขึ้นมาแค่เรดาร์กับจรวดเอนกประสงค์นำวิถีเลเซอร์ เท่ากับ USV มีคุณสมบัติ Semi-Submersible ฉะนั้นฝ่ายตรงข้ามตรวจจับค่อนข้างยาก ถ้าพูดว่า ‘Mothership’ หรือยานแม่ก็ต้องลำนี้เลย แต่อังกฤษไม่รู้จะเอาไปทำอะไรจึงไม่ซื้อ ในอนาคตถ้าภัยคุกคามเปลี่ยนแปลงจากเดิม อาจเห็นพวกเขาส่งเรือลำนี้พร้อม USV รุ่นดำครึ่งตัว ไปคุ้มกันเรือน้ำมันจากกองทัพเรืออิหร่านก็เป็นได้ บอกแล้วเรื่องคิดไปเองผู้เขียนเก่งไม่แพ้ใคร
กลับมาที่ประเทศสิงคโปร์กันอีกครั้ง หลังประกาศเดินหน้าโครงการเรือรบรุ่นใหม่ พวกเขาได้ตั้งชื่อโครงการให้ปวดหัวเล่นว่า Multi-Role Combat Vessel หรือ MRCV โดยจะเข้ามาทดแทนเรือคอร์เวตชั้น Victory ภายในปี 2025 และนี่ก็คือภาพกราฟิกภาพแรกของโครงการ MRCV


เหมือนเอาเรือตรวจการณ์ LMV ชั้น Independence มาขยายความยาว แล้วใส่โรงเก็บเฮลิคอปเตอร์เพิ่มเขามา แต่ผู้อ่านต้องเข้าใจสักนิดว่า เพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มประกาศจัดตั้งโครงการ คนวาดภาพยังไม่มีข้อมูลอะไรในมือ เพราะฉะนั้นยานแม่ของจริงจะไม่ตรงตามนี้ ยานลูกทั้งที่อยู่ผิวน้ำหรือบนอากาศก็เช่นกัน ถ้าเข้าใจตามนี้ก็จะเข้าใจทุกอย่างไปด้วย
ข้อมูลของแบบเรือ MRCV ลำแรกสุด ระวางขับน้ำ 4,000 ตัน ยาว 120 เมตร กว้าง 16 เมตร ความเร็วสูงสุด 28 นอต ระยะทำการ 6,000 ไมล์ทะเลหรือ 11,112 กิโลเมตร ทดตัวเลขทั้งหมดไว้ในใจก่อนนะครับ


ทีนี้เรามาดูยานลูกกันบ้าง เริ่มจากอากาศยานไร้คนขับ ScanEagle น้ำหนักประมาณ 20 กิโลกรัม บินได้เร็วสุด 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ติดอุปกรณ์ตรวจจับที่ส่วนหัว อเมริกาใช้งานในอิรักมาอย่างโชกโชน นำมาติดกับเรือขนาดเล็กได้อย่างลงตัว ส่วนยานผิวน้ำไร้คนขับรุ่น Protector ต้นฉบับที่แท้จริงมาจากอิสราเอล ระวางขับน้ำ 4 ตัน ยาว 9 เมตร ความเร็วสูงสุด 50 นอต มีทั้งเรดาร์เดินเรือกับอุปกรณ์ตรวจจับเป้าหมาย ติดปืนกลอัตโนมัติขนาดเล็กไว้ที่หัวเรือ
ยานลูกทั้ง 2 รุ่นถูกใส่ไว้ในยานแม่ขนาด 4,000 ตัน ยังไม่ค่อยสมจริงสมจังในการทำภารกิจ เพราะยานผิวน้ำไร้คนขับขนาดเล็กมาก และทำภารกิจสกัดกั้นได้เพียงอย่างเดียว สมควรป้องกันชายฝั่งหรือท่าเรือมากกว่า ส่วนอากาศยานไร้คนขับยิ่งไปกันใหญ่ เก่าแล้วและค่อนข้างยุ่งยากเมื่อใช้งานบนเรือ แต่ก็อย่างที่ผู้เขียนบอกไปตั้งแต่แรก คนวาดภาพยังไม่มีข้อมูลอะไรในมือ จำเป็นต้องใส่อุปกรณ์ปัจจุบันเข้าไปเติมเต็ม
เวลาเดียวกับที่เริ่มเดินหน้าโครงการ MRCV สิงคโปร์ต้องการจัดหาเรือใหม่ทดแทนเรือยกพลขึ้นบก ใช้ชื่อโครงการให้ปวดหัวซ้ำซ้อนว่า Joint Multi Mission Ship หรือ JMMS มาทำความรู้จักเรือลำเดิมกันเสียก่อน ในภาพคือเรือชั้น Endurance ซึ่งสิงคโปร์สร้างเองจำนวน 4 ลำ ระวางขับน้ำเต็มที่ 8,500 ตัน ยาว 141 เมตร กว้าง 21 เมตร กินน้ำลึก 5 เมตร ให้สังเกตว่าใช้เรดาร์อิสราเอล มีเรือระบายพลยาว 13 เมตรสองกราบเรือถึง 4 ลำ รวมทั้งหัวเรือมีเครนตัวเล็กติดไว้ด้วย


สิงคโปร์เรียกเรือชั้น Endurance ว่าเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่หรือ LST แต่เป็นเรือ LST รุ่นใหม่ไฉไลยิ่งกว่าเดิม หัวเรือสามารถเปิดกว้างเพื่อยื่นสะพานออกไป ให้รถถังที่บรรทุกมาเดินทางขึ้นสู่ฝั่ง เพียงแต่ท้องเรือไม่ได้เป็นทรงป้านเหมือนเดิม ฉะนั้นวิ่งเกยหาดได้แต่ถอยหลังกลับไม่ได้ (ติดแหงก) ข้อดีก็คือสามารถทรงตัวได้เหมือนเรือทั่วไป นาวิกโยธินไม่เมาคลื่นลมเหมือนกับแต่ก่อน บริเวณท้ายเรือมีอู่ลอยขนาดใหญ่มาก ใส่เรือลำเลียงพลความยาว 25 เมตรได้ถึง 2 ลำ


ว่ากันว่าภาพถ่ายใบเดียวอธิบายครบทุกอย่าง ภาพใบนี้มีทุกคำตอบให้คุณแล้ว เห็นลำเล็กๆ แต่บรรทุกรถถังได้ถึง 18 คัน นาวิกโยธินพร้อมอาวุธ 350-500 นาย โดยใช้พลประจำการแค่เพียง 85 นาย จิ๋วแต่แจ๋วแล้วยังเจ๋งจริงๆ นะจ๊ะจ๋า
มาที่ภาพวาดเรือ JMMS ลำแรกสุดกันบ้าง คล้ายคลึงเรือชั้น Endurance พองลม โดยมีระบบเรดาร์ทันสมัยกว่าเดิม ระวางขับน้ำ 24,000 ตัน ยาว 200 เมตร กว้าง 32 เมตร ความเร็วสูงสุด 20 นอต ระยะทำการ 20,000 ไมล์ทะเลหรือ 37,040 กิโลเมตร รองรับอากาศยานทุกชนิดรวมทั้งเครื่องบิน F-35B


เป็นภาพแรกเริ่มประกาศจัดตั้งโครงการ ฉะนั้นหลายสิ่งหลายอย่างจะเปลี่ยนไป ง่ายๆ เลยก็คือเฮลิคอปเตอร์ประจำเรือ คงไม่เอา S-70B ซึ่งใช้ปราบเรือดำน้ำมาขนนาวิกโยธิน กองทัพอากาศสิงคโปร์มี Super Puma 32 ลำ กับ H225M อีกตั้ง 16+16 ลำ น่าจะเหมาะสมกับภารกิจนี้มากกว่า ส่วนกองทัพเรือสิงคโปร์ไม่มีอากาศยานแต่อย่างใด สำหรับโครงการ JMMS ขอพาดพิงถึงแค่เพียงเท่านี้ มีโอกาสอาจได้เป็นพระเอกตัวจริงในอนาคต
ถึงบรรทัดนี้ผู้เขียนขอสารภาพซื่อๆ ว่า ข้อมูลทั้งหมดเตรียมไว้ตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2018 หรือผ่านมาแล้ว 1 ปีเศษ เขียนบทความตั้งแต่วันนั้นเลยก็ยังได้ แต่ข้อมูลที่มีในมือน้อยเกินไป ถ้าเขียนจริงๆ คงวนไปวนมาว่า ยานแม่มาแล้ว สิงคโปร์เขาไปไกลแล้ว แต่ไม่มีรายละเอียดของโครงการสักนิด ผู้เขียนตัดสินใจดองเค็มกระทั่งครบ 1 ปีจึงหยิบขึ้นมาปัดฝุ่น
โครงการ MRCV มีความชัดเจนมากกว่าเดิม เริ่มกันจากภาพกราฟิกรัฐบาลสิงคโปร์ แสดงขอบเขตการปฏิบัติงานของกองทัพเรือ เริ่มจากพื้นที่ Homeland Security เรียกแบบไทยๆ ก็คือพื้นที่ใกล้ฝั่ง ใช้เรือตรวจการณ์ LMV ชั้น Independence กับยานผิวน้ำไร้คนขับ และอากาศยานไร้คนขับช่วยกันดูแลรอบเกาะ


ทำไมสิงคโปร์เอาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งมาใช้ใกล้ฝั่ง? เพราะว่าลำนี้เล็กที่สุดของกองทัพเรือแล้ว
พื้นที่ชั้นสองเรียกว่า Singapore and her sea line of communications หรือ SLOCs เรียกแบบไทยๆ ก็คือพื้นที่ไกลฝั่ง ใช้เรือฟริเกตชั้น Formidable กับเรือดำน้ำ Type 208SG ช่วยกันดูแล เป็นพื้นที่ทำการรบจริงอะไรทำนองนี้ ส่วนที่อยู่ไกลสุดคือพื้นที่ International Contributions เรียกแบบไทยๆ ก็คือพื้นที่ทะเลหลวง เรือจากโครงการ MRCV จะอยู่ในส่วนนี้ รวมทั้งพื้นที่ SLOCs ด้วย หรือเรียกง่ายๆ ว่ารับงานสองกะ ส่วนเรือจากโครงการ JMMS อยู่ไกลลิบลับลำเดียว
จากภาพกราฟิกหมายความว่าอย่างไร? หมายความสิงคโปร์จะโกอินเตอร์นั่นเอง เรือรุ่นใหม่ของนอกจากใช้ป้องกันประเทศ ยังสามารถเข้าร่วมกับนานาชาติเพื่อทำภารกิจมากมาย ทั้งการรักษาความปลอดภัย ช่วยเหลือภัยพิบัติทางธรรมชาติ ช่วยเหลือภัยพิบัติจากสงคราม หรือขนย้ายพลเรือนจากที่หนึ่งไปยังที่หนึ่ง เรือ JMMS ขนาด 24,000 ตันทำหน้าที่แบกของหนัก ส่วนเรือ MRCV ทำหน้าที่คุ้มกันตลอดเส้นทาง แต่ถ้าชาติมีภัยคุกคามก็สามารถกลับมาช่วยเหลือได้


ภาพถัดไปชักเริ่มเป็นรูปเป็นร่างกว่าเดิม แบบเรือ MRCV ชักเริ่มคล้ายคลึงเรือฟริเกต Formidable มีท่อยิงแนวดิ่งมากถึง 32 ท่อยิง มีเรดาร์ 3 มิติทันสมัยแบบติดถาวร 4 ด้าน อากาศยานไร้คนขับเปลี่ยนรุ่นใหม่ ยานผิวน้ำไร้คนขับก็เปลี่ยนรุ่นใหม่ รวมทั้งมีการเปิดตัวยานใต้น้ำไร้คนขับ เท่ากับว่าตอนนี้มียานลูก 3 แบบด้วยกัน
ข้อมูลในภาพไม่ได้บอกที่มาที่ไป ปีเข้าประจำการเลื่อนไปเป็น 2030 ส่วนรายละเอียดไม่ได้ลงลึกมากนัก แล้วยังเน้นแต่พื้นที่ SLOCs เท่านั้น หมายความว่าอย่างไร? หมายความว่าข้อมูลยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ได้มาเยอะสามารถระบุบางอย่างได้ ยังต้องตามดมกลิ่นกันต่อทุกคนตามข้าพเจ้ามา
และภาพนี้เองที่เฉลยทุกปริศนาคาใจ นี่คือแบบเรือชื่อ Vanguard 130 ของบริษัท ST Engineering พร้อมกับรายละเอียดเรือรบรุ่นใหม่เอี่ยมอ่อง ที่อ่านยังไงก็เหมือนเซิร์ฟเวอร์รุ่นใหม่อยู่ดี


ไล่จากหัวเรือไปท้ายเรือนะครับ ปืนใหญ่ OTO Melara 76/62 มม.มีท่อยิงแนวดิ่งจำนวน 32 ท่อยิง สำหรับจรวดต่อสู้อากาศยาน Aster ต่อด้วยระบบเป้าลวงจรวด Sagem NGDS แบบหมุนแท่นยิงได้ สะพานเดินเรือมีปืนกลอัตโนมัติ 12.7 มม.ทั้งสองกราบ ใช้ระบบเรดาร์ Phased Array แบบฝัง 4 ด้าน มาพร้อมระบบออปโทรนิกส์ STELOP 360 ซึ่งติดกล้องจำนวน 4 จุดจุดละ 5 ตัว เพื่อตรวจสอบพื้นที่รอบตัวเรือตลอด 24 ชั่วโมง
กลางเรือเป็นแท่นยิงจรวดต่อสู้เรือรบ Harpoon ช่องปล่อยตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำน่าจะอยู่ใกล้กัน (ถ้ามี) กลางเรือจะเป็นช่องปล่อยเรือเล็กขนาดใหญ่ ใส่ยานผิวน้ำไร้คนขับไว้ตรงนี้ ส่วนด้านบนเป็นระบบเป้าลวงตอร์ปิโด WASS C310 แบบหมุนได้ ถัดจากช่องปล่อยเรือเล็กเป็น Flushed side door สำหรับปล่อยยานใต้น้ำ ติดตั้งปืนกลอัตโนมัติ 25 มม.ไว้อีก 2 กระบอก ลานจอดรองรับเฮลิคอปเตอร์ขนาด 15 ตัน หรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ Mission Module จำนวน 8 ตู้ ใต้ลานจอดเป็น Mission Deck ขนาดเบ้อเริ่มเทิ่ม ขอพักดมยาดมตราโป๊ยเซียน 5 นาที
เขียนมาตั้งเยอะยังไม่หมดนะครับ รบกวนผู้อ่านช่วยอ่านเองเพราะเมื่อยนิ้วแล้ว Vanguard 130 เป็นแบบเรือฟริเกตลำใหญ่ที่สุดของ ST Engineering ลืมบอกไปว่าใช้สะพานเดินเรือที่มีมุมมอง 360 องศา ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่สมัยนิยมปัจจุบัน ราชนาวีไทยก็มีโอกาสใช้งานสะพานเดินเรือแบบนี้ ถ้าเลือกแบบเรือ Damen OPV2400 ในโครงการเรือสนับสนุนการต่อต้านทุ่นระเบิดลำใหม่ ทดแทนเรือหลวงถลางในอนาคตอีกไม่กี่ปีข้างหน้า


ภาพสุดท้ายมีข้อมูลชัดเจนและครบถ้วน จนทำให้ใครหลายคนเกิดคำถามว่า นี่คือเรือพิฆาตของสิงคโปร์หรือเปล่า? เพราะเรือมีคุณสมบัติมากเพียงพอที่จะเป็น ผู้เขียนขอเปรียบเทียบให้เห็นภาพ
1.Vanguard 130 ระวางขับน้ำ 5,000 ตัน ยาว 130 เมตร กว้าง 18 เมตร ความเร็วสูงสุด 28 นอต ระยะทำการ 16,700 กิโลเมตร
2.เรือ MRCV ลำแรกสุด ระวางขับน้ำ 4,000 ตัน ยาว 120 เมตร กว้าง 16 เมตร ความเร็วสูงสุด 28 นอต ระยะทำการ 6,000 ไมล์ทะเลหรือ 11,112 กิโลเมตร
3.เรือฟริเกต DW3000F ระวางขับน้ำเต็มที่ 3,640 ตัน ยาว 124.1 เมตร กว้าง 14.4 เมตร ความเร็วสูงสุด 30 นอต ระยะทำการ 4,000 ไมล์ทะเลหรือ 7,408 กิโลเมตร
4.เรือพิฆาต KDX-II ของเกาหลีใต้ ระวางขับน้ำเต็มที่ 5,520 ตัน ยาว 150 เมตร กว้าง 17.4 เมตร ความเร็วสูงสุด 29 นอต ระยะทำการ 5,501 ไมล์ทะเลหรือ 10,187 กิโลเมตร
จะเห็นได้ว่า Vanguard 130 มีระยะทำการมากกว่าเรือฟริเกต DW3000F ถึง 2.25 เท่า และมากกว่าเรือพิฆาตชั้น KDX-II ถึง 1.63 เท่า สายพิราบบอกว่าสมควรเป็นเรือพิฆาต ส่วนสายเหยี่ยวอาจไม่เห็นด้วยเท่าไร เพราะติดจรวดต่อสู้อากาศยานได้เพียง 32 นัดเท่าเรือหลวงนเรศวร บังเอิญสายเหยี่ยวลืมนึกไปว่า ถ้า Vanguard 130 เปลี่ยนมาใช้แท่นยิงแนวดิ่ง Mk-41 ปรับปรุงระบบอำนวยการรบเสียใหม่ และติดเรดาร์ควบคุมการยิงตัวที่สอง เมื่อเข้าประจำการในปี 2025 เรือจะสามารถติดจรวด ESSM Block II ได้มากถึง 128 นัดสาแก่ใจสายเหยี่ยวเขาล่ะ
ติ๊งต่างว่าจรวดนัดละ 1.4 ล้านเหรียญ เท่ากับเสียเงินซื้อจรวดมาใส่ให้เต็มท่อ 179.2 ล้านเหรียญหรือ 5,537.28 ล้านบาท (ค่าเงิน 30.9 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ ) ยังไม่รวมซื้อกล่องบรรจุจรวดแฝดสี่อีก 32 กล่อง เพราะไม่สามารถเอาจรวด ESSM ใส่โดยตรงกับแท่นยิงแนวดิ่ง Mk-41 ได้ เป็นเงินเท่าไรก็เท่านั้นไม่ใช่เงินผู้เขียนสาแก่ใจสายเหยี่ยวเขาล่ะ
พิจารณารูปร่างเรือกันอีกสักหน่อย หัวเรือค่อนข้างสูงและปกปิดทุกอย่าง ลูกเรือต้องเปิดหน้าต่างแล้วโยนเชือกผ่านรูเพื่อมัดกับฝั่ง ตามลักษณะเรือ Full Stealth ที่แท้จริง แท่นยิงแนวดิ่งยกสูงเพิ่มเติมอีกครึ่งชั้น ใส่จรวดต่อสู้อากาศยาน Aster-30 หรือ SM-2 ได้อย่างสบายมาก ท้ายเรือค่อนข้างสูงเทียบเท่าหัวเรือ เพราะต้องการ Mission Deck ขนาดใหญ่ เรืออเนกประสงค์รุ่นใหม่จะประมาณนี้ครับ การที่ท้ายเรือหนักขึ้นสูงขึ้นส่งผลต่อการบังคับเรือหรือไม่ คงต้องรอเรือลำจริงเข้าประจำการก่อน ส่วนตัวคิดว่ามีแน่แต่มากน้อยแค่ไหนเท่านั้น


ถัดไปคือยานใต้น้ำไร้คนขับ หรือ  Autonomous Underwater Vehicle หรือ AUV ใช้รุ่น Mercury ซึ่งสิงคโปร์พัฒนาขึ้นมาเอง ยาว 5.8 เมตร ดำได้ลึกสุด 300 เมตร ความเร็วสูงสุด 6 นอต ระยะเวลาปฏิบัติการนานถึง 10 ชั่วโมง ที่เห็นสีดำข้างยานคือโซนาร์ตรวจจับทุ่นระเบิด มีทั้ง High และ Dual-Frequency Synthetic Aperture Sonar ระบบนำทางมีทั้ง Inertial Navigation System (INS) และ Global Positioning System (GPS) ราคาแพงแน่นอนจึงใช้แค่ตรวจจับไม่ใช่ทำลาย


ลำถัดไปเป็นยานผิวน้ำไร้คนขับ หรือ Unmanned Surface Vehicle หรือ USV สิงคโปร์พัฒนาขึ้นมาเองใช้ชื่อว่ารุ่น Venus โดยมีให้เลือกถึง 3 ขนาดเล็ก-กลาง-ใหญ่ และสิงคโปร์เลือกลำใหญ่ใช้งานบนเรือ Venus 16 ยาวถึง 16 เมตร กว้าง 5.2 เมตร ระวางขับน้ำสูงสุด 26 ตัน น้ำหนักบรรทุกมากถึง 10 ตัน ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 35 นอต เวลาปฏิบัติการนานถึง 72 ชั่วโมง สื่อสารด้วยระบบ Datalink ระยะทางไกลสุด 18.5 กิโลเมตร
ในภาพเห็นทั้งเรดาร์ SATCOM รวมทั้งกล้องตรวจการณ์ ภารกิจหลักของ Venus 16 คือการต่อต้านทุ่นระเบิด ที่เห็นเหลืองๆ คือโซนาร์ลากท้าย T-SAS ของ Thales การจัดการทุ่นระเบิดให้ใช้ Venus 16 ลำแรกตรวจจับให้ได้ก่อน แล้วใช้ Venus 16 ลำสองส่งยานทำลายทุ่นระเบิด K-STER ลงไปเก็บแต้ม สองศรีพี่น้องชิปกับเดลอะไรทำนองนี้ เพราะขนาดค่อนข้างใหญ่และทนทะเลกว่าเรือยาง RHIB จึงมีภารกิจรองคือตรวจการณ์ ค้นหาผู้ประสบภัย รวมทั้งลำเลียงพลได้จำนวนหนึ่ง ส่วนภารกิจปราบเรือดำน้ำกับสงครามอิเล็กทรอนิกส์นั้น ใช้คำว่ายังไม่เห็นของผู้เขียนขอยังไม่เชื่อถือ


ปิดท้ายด้วยอากาศยานไร้คนขับ หรือ Unmanned Aerial Vehicle หรือ UAV พวกเขาใช้ SAAB Skeldar ทดแทนรุ่นปีกแข็งซึ่งไม่ค่อยเหมาะสมกับภารกิจ Skeldar ยาว 4 เมตร น้ำหนักบินขึ้นสูงสุด 235 กิโลกรัม ความเร็วสูงสุด 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะเวลาปฏิบัติการ 5 ชั่วโมง บินได้สูงสุด 3,000 เมตร สื่อสารด้วยระบบ Datalink ระยะทางไกลสุด 150-200 กิโลเมตร มองเห็นกล้องตรวจการณ์ตัวใหญ่อย่างชัดเจน
UAV ตัวเล็กไม่ติดเรดาร์และไม่ได้ติดอาวุธ แต่มี Datalink ระยะค่อนข้างไกลน่าสนใจมาก ถ้าสามารถต่อระยะจรวดต่อสู้เรือรบ Harpoon ได้ จะเป็นไอเทมลับอีกชิ้นหนึ่งกันเลยทีเดียว เพราะ UAV ลำเล็กตรวจจับยากกว่าลำใหญ่ ไม่มีเรดาร์ให้ฝ่ายตรงข้ามย้อนรอยเอาง่ายๆ ราคาก็ถูกกว่าใช้เจ้าหน้าที่และพื้นที่น้อยกว่า ส่วนในอนาคตจะมี UAV รุ่นติดอาวุธหรือเปล่า ไว้เป็นเรื่องอนาคตของอนาคตอีกทีแล้วกัน
ถึงตอนนี้ผู้อ่านได้ข้อมูลมากเพียงพอ ที่จะตัดสินว่า Vanguard 130 เป็นเรือพิฆาตได้หรือไม่ แต่สิงคโปร์คงเรียกว่า MRCV ตามชื่อโครงการ เลี่ยงบาลีเหมือนเรือพิฆาตดาดฟ้าเรียบของญี่ปุ่น รูปร่างหน้าตาเรือน่าจะตามนี้เกิน 90 เปอร์เซ็นต์ เหลือแค่เพียงรายละเอียดปลีกย่อย หรือการปรับปรุงครั้งสุดท้ายก่อนสร้างจริง


ความยาว 130 เมตรมากกว่าเรือฟริเกตของเราเล็กน้อย แต่เรือเขาอเนกประสงค์กว่ากันแบบเทียบไม่ติด และน่าจะมีราคาแพงกว่ากันพอสมควร เพียงแต่สิงคโปร์สร้างเรือได้ด้วยตัวเอง และสร้างเรือจำนวนหลายลำติดต่อกัน ต้นทุนตรงนี้จึงลดลงชนิดฮวบฮาบ ในภาพนี้จะเห็น Mission Deck ขนาดใหญ่ท้ายเรือ ใส่เรือยาง RHIB หรือยานผิวน้ำไร้คนขับความยาว 11 เมตร รวมทั้งโซนาร์ลากท้ายปราบเรือดำน้ำ วงเล็บต่อท้ายว่าถ้าไม่ตัดทิ้งเสียก่อน เพราะว่าผู้เขียนยังมองหาไม่เจอเสียที
เรือที่อยู่ถัดกันคือเรือหลวงอ่างทอง เป็นเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่แบบ LPD สิ่งที่แตกต่างกับเรือชั้น Endurance ก็คือ ใช้ระบบเรดาร์จากเดนมาร์ก มีเรือระบายพลยาว 13 เมตรสองกราบเรือแค่ 2 ลำ หัวเรือไม่มีเครนขนาดเล็ก และไม่สามารถเปิดหัวเรือเพื่อลำเลียงรถถังได้ ตอนเข้าประจำการใหม่ๆ ทุกคนพูดว่า นี่คือจิ๊กซอร์ตัวสุดท้าย เราเดินมาถูกทางแล้วครับพี่น้อง ปีนี้แหละเราจะได้แชมป์พรีเมียร์ลีก ปรากฏว่าวันนี้เรือชั้นนี้คงไม่ได้ไปต่อ ถ้าไม่ใช่เรืออินโดนีเซียที่มีราคาถูกแบบไม่น่าเชื่อ ก็น่าจะเป็นเรือจีนมหามิตรของไทยแลนด์ เองวังด้วยประการฉะนี้เอย
แล้วบทความก็เดินทางมาถึงตอนจบ สิงคโปร์ยังมีอะไรน่าสนใจอีกตั้งมากมาย ถ้าผู้เขียนรวบรวมข้อมูลโครงการหนึ่ง ซึ่งพวกเขาใช้เวลาพัฒนาถึง 13 ปีได้มากเพียงพอ อาจเขียนถึงประเทศนี้อีกครั้งวันนี้ลากันไปก่อนสวัสดีครับ ;)

                     -------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น