ในงานแสดงอาวุธ Defence Exhibition Athens 2021 หรือ DEFEA 2021 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 กรกฎาคม 2021 ที่กรุงเอเธนประเทศกรีซ บริษัท Lockheed Martin นำแบบเรือฟริเกตซึ่งเข้าร่วมชิงชัยโครงการ Hellenic Navy's Future Frigate แห่งกองทัพเรือกรีซมาจัดแสดงในงาน มีการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า HF2 ย่อมาจาก Hellenic Navy Future Frigates นั่นเอง
บางแหล่งข่าวอ้างว่า
HF2 มีโอกาสชนะเลิศในลำดับต้นๆ นี่คือแบบเรือรุ่นส่งออกเรือ littoral
combat ship หรือLCS ชั้น Freedom แห่งกองทัพเรืออเมริกา รู้จักกันโดยทั่วไปในชื่อ Multi-Mission
Surface Combatant หรือ MMSC ลูกค้ารายแรกที่ Lockheed
Martin เสนอแบบเรือน่าจะเป็นกองทัพเรือไทย
ผู้เขียนเคยอ่านเจอช่วงโครงการเรือฟริเกตสมรรถนะสูง โชคร้ายถึงเวลาเอาจริงอเมริกากลับไม่ยื่นซองประกวด
ประเทศแรกที่สั่งซื้อเรือ
MMSC คือสิงห์ทะเลทรายซาอุดีอาระเบีย จำนวน 4 ลำวงเงิน 1.96
พันล้านเหรียญหรือเท่ากับลำละ 499 ล้านเหรียญ
เรือมีระวางขับน้ำ 3,600 ตัน ยาว 118 เมตร
กว้าง 17.6 เมตร กินน้ำลึก 4.3 เมตรไม่รวมโดมโซนาร์
ความเร็วสูงสุด 30 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 5,000 ไมล์ทะเล ติดตั้งแท่นยิงแนวดิ่ง MK 41 หนึ่งระบบ 8
ท่อยิง ขนาดโดยรวมใกล้เคียงเรือหลวงภูมิพลของเรา
ราคาแพงกว่ากันก็จริงแต่ไม่ได้มากมายสักเท่าไร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะค่าสร้างเรือในอเมริกาสูงกว่าเอเชีย
โครงการ
Hellenic
Navy's Future Frigate บริษัท Lockheed Martin
เสนอแบบเรือรุ่นเดียวกับซาอุดีอาระเบีย ต่างกันแค่เพียงจุดติดตั้งเรดาร์ควบคุมการยิง
กับใช้ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์เหมือนกองทัพเรืออเมริกา ทว่าแบบเรือ HF2 ในงาน DEFEA 2021 มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น
อันเป็นผลสืบเนื่องจากความต้องการลูกค้ากระเป๋าหนัก รบกวนผู้อ่านแวะชมภาพประกอบที่หนึ่งกันก่อน
ภาพนี้คือโมเดลเรือ
HF2 มาพร้อมความแปลกและสุดแตกต่าง มีการติดตั้งแท่นยิงแนวดิ่งจำนวน 11
ท่อยิงหน้าสะพานเดินเรือ เพิ่มเติมจากของเดิมซึ่งมีแค่เพียง
8 ท่อยิงตามปรกติ
ถาม: ทำไมถึงมีท่อยิงแนวดิ่งเพิ่มเติมขึ้นมา?
ตอบ: เป็นความต้องการจากกองทัพเรือกรีซ
ถาม: ทำไมถึงมีท่อยิงแนวดิ่งจำนวน 11 ท่อยิง?
ตอบ: เพราะมีแท่นยิงแนวดิ่งติดคู่กันจำนวน 2 ชนิด 2 ระบบ
ถาม: ทำไมถึงมีแท่นยิงแนวดิ่งติดคู่กันจำนวน 2 ชนิด 2 ระบบ?
ตอบ: เพราะต้องการใช้งานอาวุธที่แตกต่างกัน
ปรกติแท่นยิงแนวดิ่งจะมีจำนวนท่อยิงเป็นเลขคู่ ยกเว้นบางรุ่นติดตั้งเครนเข้ามาจำนวนจึงลดลงจาก
8 ท่อยิงเหลือ 5 ท่อยิง บังเอิญโมเดลเรือ HF2 มีแท่นยิงแนวดิ่งจำนวน 2 ระบบ ประกอบไปด้วย MK
41 Vertical Launching System จำนวน 8 ท่อยิง กับ
Extensible Launching System อีกจำนวน 3 ท่อยิง
ย้อนเวลากลับไปช่วงกลางทศวรรษที่
80 กองทัพเรืออเมริกานำแท่นยิงแนวดิ่ง MK 41 มาใช้งานทดแทนแท่นยิงรุ่นเก่า
ซึ่งมีแมกาซีนขนาดใหญ่โตใต้ดาดฟ้าเรือ เวลาใช้งานจะโหลดอาวุธนำวิถีขึ้นมาเสียบบนแท่นปล่อยรุ่นเดี่ยวหรือแฝด
ข้อดีของ MK 41 ก็คือสามารถยิงซัลโวพร้อมกันได้หลายท่อยิง
ไม่ต้องกังวลใจเรื่องความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นกับแท่นปล่อย
และสามารถใช้งานกับอาวุธต่างๆ ได้หลากหลายกว่าเดิม
ภาพประกอบที่สองเป็นข้อมูลทั่วไปของแท่นยิงแนวดิ่ง
MK
41 ในปี 2016 โดยหนึ่งระบบประกอบไปด้วย 8
ท่อยิง ใช้งานอาวุธนำวิถีชนิดต่างๆ ได้มากถึง 12 แบบ และเนื่องมาจากถูกออกแบบให้เป็นแท่นยิงสหกรณ์ จำเป็นต้องใช้งาน Canister
หรือกล่องบรรจุขนาดพอดีกับอาวุธ บริษัท Lockheed Martin พัฒนากล่องบรรจุขึ้นมาถึง 6 รุ่นด้วยกัน
มีทั้งรุ่นเล็กความยาว 5.8 เมตรกับรุ่นใหญ่ความยาว 6.7
เมตร รองรับอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน อาวุธนำวิถีปราบเรือดำน้ำ
และอาวุธนำวิถีโจมตีชายฝั่งระยะไกล
ข้อมูลปัจจุบันจะมีอาวุธรุ่นใหม่อย่าง
SM-3
SM6 LRASM หรือ VL JSM เพิ่มเติมเข้ามา ส่งผลให้ MK 41 กลายเป็นแท่นยิงสหกรณ์ที่เจ๋งที่สุดในสามโลก
แต่ถึงกระนั้นก็ตามบริษัทผู้ผลิตยังคงไม่ค่อยพอใจ จึงได้ซุ่มพัฒนา Extensible
Launching System หรือ ExLS ขึ้นมาตามภาพประกอบที่สาม
ExLS เปรียบได้กับกล่องบรรจุหรือ Canister รุ่นพิเศษ
ออกแบบมาเพื่อใช้งานกับแท่นยิงแนวดิ่ง MK 41 และ MK
57 รุ่นใหม่ซึ่งมีขนาด 4 ท่อยิง ออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้งานอาวุธชนิดใหม่
ประกอบไปด้วยระบบเป้าลวง Nulka อาวุธนำวิถีพื้น-สู่-พื้นขนาดเล็ก NLOS-LS และอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน
RAM Block II อันเป็นระบบป้องกันตนเองระยะประชิดหรือ CIWS
รุ่นใหม่ทันสมัยมากที่สุด
ปรกติอเมริกามีแต่เรือรบขนาดใหญ่
ติดตั้งแท่นยิงแนวดิ่ง MK 41 เอาไว้อย่างน้อยๆ
ก็ 90 ท่อยิง ย่อมมีที่ว่างสำหรับ ExLS
อย่างแน่นอน Lockheed Martin จึงได้ทุ่มทุนพัฒนาหวังกินรวบแค่รายเดียว
บังเอิญโชคร้ายโครงการนี้เต็มไปด้วยปัญหาน้อยใหญ่ จนถึงทุกวันนี้ยังมองไม่เห็นฝั่งลอยเท้งเต้งต่อไปเรื่อยๆ
เรื่องของเรื่องก็คือ…ถึงไม่มี ExLS กองทัพเรืออเมริกาก็ไม่เดือดร้อน
ระบบเป้าลวง Nulka มีแท่นยิงส่วนตัวอยู่แล้ว อาวุธนำวิถี NLOS-LS ถูกยกเลิกโครงการตั้งนานแล้ว ส่วน RAM Block II
ซึ่งกลายมาเป็น CIWS หลักทดแทน Phalanx นั้น กองทัพเรืออยากใช้งานรุ่น Sea Ram ติดตั้งบนแท่นยิง
Mk 15 ของ Phalanx
การพัฒนา
RAM
Block II เพื่อใช้งานร่วมกับ ExLS
ค่อนข้างวุ่นวาย อาวุธถูกออกแบบให้ใช้แท่นยิงปรกติขนาดกะทัดรัด อยากนำมาใช้งานกับท่อยิงแนวดิ่งไม่ว่ารุ่นไหนก็ตาม
จำเป็นต้องติดตั้งท่อไอพ่นปรับทิศทางเพิ่มเติมเข้ามาด้วย
เสียค่าพัฒนาเป็นเงินก้อนโตรวมทั้งใช้เวลาพอสมควร ราคาต่อนัดย่อมแพงกว่าเดิมอย่างเลี่ยงไม่ได้
ทั้งรัฐบาลอเมริกาและ Raytheon บริษัทผู้ผลิตไม่มีใครอยากจ่าย
ขายแบบเดิมดีกว่าแค่นี้ก็รวยไม่รู้เรื่องแล้ว
โครงการใช้งาน
ExLS ร่วมกับแท่นยิงแนวดิ่ง MK 41 ค่อนข้างสิ้นหวัง
ผู้บริหารบริษัท Lockheed Martin ตัดสินใจพลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาส
โดยการนำเทคโนโลยีที่ตัวเองพัฒนามานานพอสมควร สร้างแท่นยิงแนวดิ่งรุ่นใหม่ขึ้นมาโดยตั้งชื่อว่า
3-Cell Extensible Launching System
ภาพประกอบที่สี่คือระบบแท่นยิงแนวดิ่งรุ่นใหม่ล่าสุด
โดยการนำชิ้นส่วนสำคัญๆ แท่นยิงแนวดิ่ง MK 41 มาปรับปรุงใหญ่
ให้มีขนาดกะทัดรัดใช้งานบนเรือลำเล็กลำน้อยได้อย่างสบาย มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี
2017 โดยการทดสอบยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea
Ceptor ขึ้นสู่ฟากฟ้า
ExLS หนึ่งท่อยิงใส่ Sea Ceptor ได้ 4 นัด ฉะนั้น 3-Cell Extensible Launching System
จะใส่ Sea Ceptor ได้ 12 นัด
ผู้เขียนมองไม่เห็นระบบระบายความร้อนจากภายในท่อยิง (MK 41 มีช่องระบายความร้อนอยู่ตรงกลาง)
ตีความเอาเองได้ว่า ExLS รองรับระบบอาวุธจุดชนวนแบบ Cool
Launch เท่านั้น
สาเหตุที่
3-Cell
Extensible Launching System มีเพียง 3 ท่อยิง
แตกต่างจากระบบอื่นๆ ผู้เขียนพออธิบายได้ดังนี้ ตามปรกติท่อยิงแนวดิ่งมีความกว้างความยาวไม่เท่ากัน
MK 41 เรียงท่อยิงติดกันโดยใช้ด้านสั้นกว่าประกบกัน ส่วน ExLS เรียงท่อยิงติดกันโดยใช้ด้านยาวกว่าประกบกัน
ส่งผลให้ติดตั้งท่อยิงได้เพียง 3 ท่อยิงโดยมีความกว้างใกล้เคียงกัน
แต่สั้นกว่ากันอย่างเห็นได้ชัดเหมาะสมกับการใช้งานบนเรือเล็ก
การติด
ExLS เพิ่มเข้ามามีบทสรุปเพียงเรื่องเดียว
ต้องการใช้งานอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Ceptor จำนวน 12
นัด บนเรือ HF2 ยังมีแท่นยิงแนวดิ่ง MK
41 อีก 8 ท่อยิง กองทัพเรือกรีซต้องการใช้งานอาวุธชนิดใด?
แนวคิดที่ 1
อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ESSM จำนวน 32
นัด
ทางเลือกนี้มีความเป็นไปได้สูง
ESSM ระยะยิง 50 กิโลเมตรใช้เป็นด่านสกัดแรก หลุดเข้ามายังมี
Sea Ceptor ระยะยิง 25 กิโลเมตรช่วยจัดการ
โดยไม่จำเป็นต้องใช้เรดาร์ควบคุมการยิงบนเรือ
บังเอิญทางเลือกนี้มีจุดอ่อนขนาดใหญ่
แบบเรือ HF2 เวอร์ชันแรกติดตั้งเรดาร์ควบคุมการยิง CEROS 200 จำนวน
2 ตัว เหนือสะพานเดินเรือกราบซ้าย 1 ตัวกับใต้เสากระโดงกราบขวา
1 ตัว ส่วนแบบเรือ HF2
เวอร์ชันล่าสุดมีเรดาร์ควบคุมการยิงเพียงตัวเดียว ส่วน CEROS 200 ใต้เสากระโดงกราบขวากลับหายไป กลับกลายมาเป็นจานส่งสัญญาณนำวิถีให้ Sea
Ceptor ระหว่างเดินทาง
ภาพประกอบที่ห้าแสดงหลักฐานชัดเจนว่า
เหนือโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ไม่มี CEROS 200 ติดตั้งเหมือนเรือซาอุดีอาระเบีย
เรดาร์ควบคุมการยิง 1 ตัวกับ ESSM จำนวน
32 นัด เป็นอะไรที่ไม่เข้ากันอย่างถึงที่สุด
เพราะยิงได้เพียงทิศทางเดียวแม้ลูกดกแค่ไหนก็ตาม ผู้เขียนได้ลองตรวจสอบภาพกราฟิกแบบเรือ
HF2 เวอร์ชันล่าสุด แต่ไม่พบ CEROS 200
ตัวที่สองเช่นเดียวกัน ฉะนั้นข้อมูลจากโมเดลเรือน่าจะถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์
ยังมีอีกหนึ่งประเด็นให้ต้องคิดหนัก
เหนือโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ติดตั้งแท่นยิง MK 49
ขนาด 21 ท่อยิงสำหรับ RAM ระยะยิง 10
กิโลเมตรซึ่งกรีซมีใช้งานอยู่ก่อนแล้ว ส่งผลให้อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานบนเรือประกอบไปด้วย
ESSM จำนวน 32 นัด Sea Ceptor จำนวน 12 นัด และ RAM
อีกจำนวน 21 นัด
เรือฟริเกต
3,600
ตันติดอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน 65 นัดผู้เขียนคิดว่าเยอะเกินไป
ที่สำคัญมีด้วยกันถึง 3 ขนาดโดยใช้แท่นยิงแตกต่างกันทั้งหมด
เวลาซ่อมบำรุงหรือจัดหาอาวุธเพิ่มคงวุ่นวายพิลึกกึกกือ
แนวคิดที่ 2
อาวุธนำวิถีปราบเรือดำน้ำ VL-ASROC จำนวน 8
นัด
เรือฟริเกต
HF2 ใช้ระบบอำนวยการรบ COMBATSS-21 ของอเมริกา
ว่ากันว่ามี DNA ระบบอำนวยการรบ Aegis พอสมควร
ทำงานร่วมกับโซนาร์หัวเรือและโซนาร์ลากท้าย THALES CAPTAS 2 ในการค้นหาเรือดำน้ำเหมือนเรือซาอุดีอาระเบีย
(ถ้ากรีซตกลงจัดหาตามนี้นะครับ) การปรับปรุงให้เรือใช้งาน VL-ASROC ได้ผู้เขียนคิดว่าไม่ยาก ในเมื่อระบบอำนวยการรบเป็นของอเมริกาอยู่แล้วนี่นา
สนนราคาเมื่อจับมาหารจำนวนเรือใหม่บวกเรือเก่าที่กรีซต้องการปรับปรุงใหญ่ มีความคุ้มค่าน่าลงทุนเพราะมีอย่างน้อยๆ
8 ลำเข้าไปแล้ว
แต่แนวคิดนี้ก็มีจุดอ่อนใหญ่โตเช่นกัน
เรื่องแรกต้องใช้เงินจัดหา VL-ASROC มาใช้งานจำนวนมาก
เรื่องที่สองอเมริกายอมขายให้หรือเปล่า และเรื่องที่สุดท้ายเรือฟริเกต HF2 ไม่มีจุดเด่นเรื่องปราบเรือดำน้ำ การนำตัวเองเข้ามาเสี่ยงในระยะยิง VL-ASROC ซึ่งอยู่ในระยะยิงตอร์ปิโด 533 มม.เช่นกัน เป็นอะไรที่ไม่ค่อยดีเอาเสียเลย
แนวคิดที่ 3
อาวุธนำวิถีปราบเรือดำน้ำ VL-ASROC จำนวน 6
นัด กับอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ESSM จำนวน 8
นัด
เมื่อลดจำนวน
ESSM
เหลือแค่ 8 นัดจะเหมาะสมกับ CEROS 200 เพียง 1 ตัว ได้ VL-ASROC
เพิ่มขึ้นมาอีก 6 นัดเป็นส่วนผสมที่ลงตัวเหมาะเจาะ
วงเล็บต่อท้ายสำหรับผู้การเรือขนทรายรอนแรมไปยังปากน้ำ
ถ้าเลือกใช้งานแนวคิดนี้คงสนุกสนานยิ่งเฮฮากว่าเดิม
บนเรือจะมี ESSM จำนวน 8 นัด
Sea Ceptor จำนวน 12 นัด RAM จำนวน 21 นัด VL-ASROC จำนวน 6
นัด NSM จำนวน 8 นัด
ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำอีกอย่างน้อยๆ 6 นัด ยังไม่รวมอาวุธชนิดต่างๆ
สำหรับใช้งานบนเฮลิคอปเตอร์
อาวุธบนเรือมีความหลากหลายเกินไป
ถ้าเป็นเรือพิฆาตขนาด 8,000 ตันก็ว่าไปอย่าง
ทำได้ก็จริงแต่ไม่ดี
แนวคิดที่ 4 อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน SM-2 จำนวน 8 นัด
ระบบอำนวยการรบ
COMBATSS-21 อาจใช้งาน SM-2 ได้ก็จริง
แต่เรดาร์ควบคุมการยิง CEROS 200 ขนาดเล็กเกินไป
รวมทั้งไม่เคยใช้งานร่วมกับ SM-2 มาก่อน ควรเปลี่ยนมาใช้รุ่นอื่นซึ่งมีขนาดใหญ่กว่านี้ทำงานร่วมกับ
SM-2 ได้แน่ๆ ดีกว่า อาทิเช่น STIR 1.8 ของเนเธอร์แลนด์หรือ AN/SPG-51 ของอเมริกา
ฉะนั้นแนวคิดนี้ความเป็นไปได้มีน้อยมาก
กรีซอยากใช้งานตามนี้จริงๆ เท่ากับเป็นการเสียของเปล่า เพราะ SM-2
จะแสดงศักยภาพของตัวเองได้เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น
อาวุธชนิดอื่นไม่น่าเป็นไปได้สักรุ่น
SM-3
ก็ดี SM-6 ก็ดี Tomahawk ก็ดี หรือ LRASM ก็ดีอเมริกาคงไม่ยอมขาย ส่วน VL
JSM ของนอร์เวย์ซึ่งกำลังเร่งพัฒนาอยู่นั้น ในเมื่อบนเรือมี NSM
จำนวน 8 นัดตั้งโดดเด่นกลางลำเรือ จะยังต้องการ
VL JSM ในท่อยิงแนวดิ่งราคาแพงไปเพื่ออะไรกัน
ขอพากลับมาที่
3-Cell
Extensible Launching System อีกครั้ง บริษัท Lockheed
Martin พยายามเร่ขายสินค้าใหม่ไปทั่วโลก นอกจากกองทัพเรือกรีซยังพอมีลูกค้าให้ความสนใจ
เพียงแต่ไม่มากเท่าไรใช้คำว่าค่อนข้างเงียบดีกว่า สาเหตุอาจเป็นเพราะยังไม่เคยเข้าประจำการจริง
รวมทั้งปัจจุบันใช้งานได้เพียง Sea Ceptor รุ่นเดียว
ภาพประกอบสุดท้ายมาจากบริษัท
STM
ประเทศตุรกี จับมือกับอู่ต่อเรือ Brasfels Shipyard ของบราซิล นำเสนอแบบเรือ MILGEM ในโครงการ Tamandaré
Class Corvettes หรือ CCT กองทัพเรือบราซิลต้องการซื้อเรือคอร์เวตอเนกประสงค์จำนวน
4 ลำ พร้อมสัญญาซ่อมบำรุง 8 ปีภายใต้งบประมาณ 1.6 พันล้านเหรียญ
มีการติดตั้งแท่นยิง ExLS ขนาด 3 ท่อยิงหน้าสะพานเดินเรือ
สำหรับ Sea Ceptor จำนวน 12 นัด
จะเห็นได้ว่า
ExLS
ใช้พื้นที่ค่อนข้างน้อยมาก เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง เรือยกพลขึ้นบก
เรือน้ำมัน หรือเรือช่วยรบชนิดต่างๆ สามารถใช้งานได้อย่างสบาย ในโครงการ CCT แบบเรือ MEKO-A100 บริษัท Thyssenkrupp จากเยอรมันเป็นผู้ชนะเลิศ โชคร้ายกองทัพเรือบราซิลเลือกใช้งานแท่นยิงแนวดิ่ง
GWS-35 ซึ่งออกแบบมาสำหรับ Sea Ceptor
โดยเฉพาะ ExLS ขนาด 3 ท่อยิงจึงขายไม่ออกด้วยประการฉะนี้
แต่แล้วในที่สุด
Lockheed
Martin ก็ได้ลูกค้ารายแรก ใช่ใครที่ไหนประเทศแคนาดาคนในครอบครัวสุดที่รัก
กองทัพเรือต้องการใช้งาน ExLS ในโครงการ Canada’s
Surface Combatants หรือ CSC จำนวนรวม 15
ลำ ผู้ถูกคัดเลือกคือแบบเรือฟริเกต Type 26 จากอังกฤษคนในครอบครัวตัวเองเช่นกัน
ชมภาพเล็กมุมซ้ายมือไปด้วยกันนะครับ
บริเวณกลางเรือระหว่างแท่นยิง NSM กับปล่องระบายความร้อน
คือจุดติดตั้ง ExLS จำนวน 2 ระบบ 6
ท่อยิงเรียงตามขวาง สำหรับ Sea Ceptor จำนวน 24
นัด
เรือ
CSC
ติดตั้งแท่นยิงแนวดิ่ง MK 41 จำนวน 32 ท่อยิงหน้าสะพานเดินเรือ แคนาดาอยากใช้งาน ESSM SM-2
SM-6 และ Tomahawk บนเรือ
โดยมีระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Sea Ram จำนวน 2 ระบบที่กลางเรือ ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงถอด Sea Ram
ออกไปแล้วใส่ Sea Ceptor เข้ามาแทน ส่งผลให้ Lockheed
Martin ขายสินค้าใหม่เอี่ยมอ่องได้เสียที ไม่รู้ว่ามีเบื้องลึกเบื้องหลังอะไรหรือเปล่านะ
แคนาดาใช้งาน
Sea
Ceptor เป็นระบบป้องกันตนเองระยะประชิดบนเรือฟริเกต Type 26 ส่วนอังกฤษใช้งาน Sea
Ceptor เป็นอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานบนเรือฟริเกต Type 26 และใช้ Phalanx เป็นระบบป้องกันตนเองระยะประชิด นี่คือสองแนวทางที่แตกต่างกันแม้ใช้แบบเรือรุ่นเดียวกัน
การใช้งานแท่นยิงแนวดิ่งหลายแบบบนเรือลำเดียว
ปัจจุบันกลายเป็นเรื่องปรกติไปเสียแล้ว ถ้า HF2
ได้รับการคัดเลือกจากกองทัพเรือกรีซ จะกลายเป็นเรือลำแรกบนโลกที่ติดตั้งแท่นยิงแนวดิ่ง
11 ท่อยิง รวมทั้งอาจเป็นแนวทางยอดนิยมต่อไปในภายภาคหน้า โดยใช้เงินน้อยกว่าติดตั้งแท่นยิงแนวดิ่ง
MK 41 จำนวน 16 ท่อยิง
อ้างอิงจาก
http://shipbucket.com/forums/viewtopic.php?f=16&t=8539
https://twitter.com/D__Mitch/status/1414947871313600517?s=19
https://www.lockheedmartin.com/en-us/products/multi-mission-surface-combatant.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น