เมื่อบราซิลสร้างเรือคอร์เวตด้วยตัวเอง
ปี1977
รัฐบาลบราซิลได้เริ่มต้นโครงการขนาดใหญ่ อีกทั้งมีความสำคัญต่อกองทัพเรือมากที่สุด
นั่นคือการสร้างเรือคอร์เวตชั้น Inhaúma ขึ้นมาเองภายในประเทศ
โดยราชนาวีมีความต้องการจำนวน 12 ถึง 16 ลำ เรือถูกออกแบบโดยวิศวกรชาวบราซิล ภายใต้ความช่วยเหลือจากบริษัท Marine
Technik ประเทศเยอรมัน ก่อนหน้านี้ในปี 1970 พวกเขาเคยสร้างเรือฟริเกตชั้น
Mk10 2 ลำ ภายใต้ความช่วยเหลือจากบริษัทอังกฤษเจ้าของแบบเรือมาแล้ว
(ต่อมาภายหลังสร้างเพิ่มอีก 1 ลำ) ทำให้เกิดความมั่นใจว่าจะสามารถสร้างเรือรบได้เอง
ระวางขับน้ำก็น้อยกว่าเดิมไม่น่ายากเย็นเท่าไร
ที่ต้องการเป็นจำนวนมากเพื่อนำมาทดแทนเรือเก่า
อันประกอบไปด้วยเรือพิฆาตชั้น Gearing เรือพิฆาตชั้น Allen
M. Sumner และเรือพิฆาตชั้น Fletcher
ซึ่งเป็นเรือเก่าจากยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ที่บราซิลเช่าซื้อมาจากอเมริกาผ่านการใช้งานมาอย่างโชกโชน
อ่านดูคร่าวๆ คล้ายประเทศไทยเมื่อกาลครั้งหนึ่ง
สมัยที่เราสร้างเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้นคำรณสินธุ
กับเรือตรวจการณ์ปืนชั้นเรือหลวงสัตหีบขึ้นมาเอง ก่อนเข้าสู่เนื้อหาชมภาพคอนเซ็ปต์เรือลำนี้ดูสักนิด
จะเห็นได้ว่าเรือบราซิลใช้ตัวอักษร
V นำหน้าหมายเลขเรือ ต่างเรือฟริเกตใช้ซึ่งใช้ตัวอักษร F เหมือนกับประเทศอื่นๆ รูปทรงคล้ายเรือปลายยุค 70 ถึงต้นยุค
80 นั่นแหละครับ หัวเรือติดปืนใหญ่ขนาด 4.5 นิ้วหนึ่งกระบอก กลางเรือมีแท่นยิงจรวดต่อสู้เรือรบกับแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ
ตัวเรือยกสูงหนึ่งชั้นยาวมาถึงลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ด้านข้างโรงเก็บเป็นจุดติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน
ท้ายเรือถูกตัดให้ต่ำลงใช้เป็นจุดผูกเชือกท้ายเรือ เรือลำนี้ถูกแบ่งสร้างเป็นบล็อกแล้วนำมาประกอบภายหลัง
ใช้เทคโนโลยีใหม่เอี่ยมอ่องกันเลยทีเดียว อ่านดูคร่าวๆ คิดว่าเข้าทีและเป็นเรือรบที่ดีมากลำหนึ่ง
เมื่อโครงการได้รับอนุมัติกองทัพเรือเดินหน้าทันที
โดยการสั่งซื้อเรือคอร์เวต 2 ลำแรกในวันที่ 15
กุมภาพันธ์ 1982 และสั่งซื้ออีก 2 ลำในวันที่ 9 มกราคม 1986 (รวมเป็น
4 ลำในสองเฟสแรก) ต่อมาในวันที่ 13
ธันวาคม 1986 มีพิธีปล่อยเรือลำแรกชื่อ V30 Inhaúma ลงน้ำอย่างเป็นทางการ ส่วนวันที่ 8 มิถุนายน 1987 เป็นคิวของเรือลำที่สองชื่อ V31 Jacejuai
ครั้นถึงวันที่ 12 ธันวาคม 1989 เรือ V30
Inhauma เข้าประจำการอย่างเป็นทางการ ทุกสิ่งทุกอย่างกำลังเข้าทางผู้มีความมุมานะ
.ในภาพคือเรือ
V30 Inhaúma สร้างเสร็จทั้งลำแล้วในปี 1988 แต่ยังเก็บงานไม่เรียบร้อยมีแค่ปืนใหญ่หัวเรือกระบอกเดียว นี่คือเรือคอร์เวตซึ่งถูกออกแบบโดยคนบราซิล
และสร้างขึ้นเองภายในประเทศโดยคนบราซิล
ท่ามกลางความโชคดีบังเอิญมีความโชคร้ายแทรกเข้ามา
เมื่อเศรษฐกิจบราซิลเริ่มไม่ดีเหมือนเดิมอีกต่อไป รัฐบาลจำเป็นต้องเตะถ่วงการสร้างเรือเฟสใหม่ออกไป
และให้บังเอิญอู่ต่อเรือมีปัญหาเรื่องเงินๆ ทองๆ จนถึงขั้นล้มละลาย ทำให้การสร้างเรือลำท้ายๆ
ล่าช้ากว่ากำหนดการ และเต็มไปด้วยปัญหาน้อยใหญ่ตามแก้แทบไม่ไหว เรือลำที่ 4
ชื่อ V33 Frontin ได้เข้าประจำการวันที่ 11
มีนาคม 1994 โน่น เท่ากับใช้เวลา 12 ปีเต็มในการสร้างเรือ 4 ลำ ท่ามกลางความโล่งใจทั้งจากคนจ่ายเงินและคนรับเงิน
ซึ่งอยากปิดโครงการกลับไปนอนตีพุงอยู่บ้านสบายใจกว่า
แน่นอนที่สุดโครงการนี้ต้องหยุดชะงักชั่วคราว
รัฐบาลให้กองทัพเรือประเมินผลเรือคอร์เวตต้นแบบสักพักใหญ่ๆ
ถ้าตัวเรือไม่มีปัญหาและการคลังเองก็ไม่มีปัญหา วันใดวันหนึ่งโครงการอภิมหาโปรเจกต์อาจได้เดินหน้าต่อ
ชมภาพเรือคอร์เวตลำจริงกันต่อเลยครับ
ในภาพคือเรือชื่อ V32 Júlio de Noronha ซึ่งเป็นลำที่สามจากสี่ลำ สะพานเดินเรือตีโป่งออกมาเล็กน้อย
เสากระโดงหลักใช้แผ่นเหล็กปิดทั้งหมด (ภาพเรือคอนเซ็ปต์เป็นเสาแบบโปร่ง)
กลางเรือเหมือนของเดิมไม่มีเปลี่ยนแปลง แต่โรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ตีโป่งทางเดินทั้งสองกราบ
เนื่องจากความกว้างของเรือมีค่อนข้างน้อย
เรือมีระวางขับน้ำปรกติ
1,700
ตัน ระวางขับน้ำเต็มที่ 2,000 ตัน ยาว 95.8
เมตร กว้าง 11.4 เมตร กินน้ำลึก 4.2 เมตร ติดปืนใหญ่ 4.5 นิ้ว 1 กระบอก
ปืนกล Bofors 40L70 ป้อมปืนเหมือนเรือหลวงราชฤทธิ์อีก 2
กระบอก จรวดต่อสู้เรือรบ Exocet MM40 จำนวน 4
นัด ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mk46 อีก 6
นัด ใช้เรดาร์อังกฤษ โซนาร์เยอรมัน เรดาร์ควบคุมการยิงอิตาลี
ออบทรอนิกส์ควบคุมการยิงสวีเดน ระบบอำนวยการรบอังกฤษ และเครื่องยนต์จากเยอรมันบวกอเมริกา
มีราคาสุทธิลำละ 150 ล้านเหรียญ เทียบกับเรือจากยุโรปคิดว่าคงสูสีกันมาก
แต่ถ้าเทียบกับเรือจีนยุคนั้นจะแพงกว่าสองสามเท่าตัว
หน้าตาใกล้เคียงเรือคอร์เวตชั้น
Kasturi ของมาเลเซีย ขนาดและระวางขับน้ำก็ใกล้เคียงกัน ท้ายเรือนี่เหมือนกันราวแพะกับแกะ
เพียงแต่ไม่มีจรวดปราบเรือดำน้ำของ Bofors หลังปืนหลัก การออกแบบเรือสมัยก่อนมักคล้ายคลึงกันตามยุคสมัย
อยู่ที่ว่าติดตั้งเรดาร์หรืออาวุธอะไรเข้าไปบ้าง เรือสมัยนั้นเน้นติดปืนหลักขนาดค่อนข้างใหญ่
ตามหลักการระดมยิงชายฝั่งที่มีความจำเป็นสูง อย่างเรือคอร์เวตมาเลเซียเองก็ใช้ปืน 100
มม. ของฝรั่งเศส เพิ่งมาถอดออกตอนปรับปรุงใหญ่เมื่อไม่กี่ปีนี้เอง
ทว่าปัจจุบันนิยมใช้ปืนหลักขนาด 76/62 มม.กับ 57 มม. เท่านั้น ผู้เขียนไม่ได้ตำหนิอะไรหรอกแค่เห็นแล้วรู้สึกเบื่อๆ
ชมภาพท้ายเรือกันบ้างดีกว่า
มีที่ว่างค่อนข้างเยอะตั้งโต๊ะตีปิงปองได้สบาย ถ้าเป็นยุค 50
คงเหมาะสมกับติดตั้งรางระเบิดลึก แต่บราซิลคิดการใหญ่ไปไกลกว่านั้นเยอะ
พวกเขาอยากได้ระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx เนื่องมาจากสงครามฟอคแลนด์ระหว่างอังกฤษกับอาเจนตินาในปี
1982 เรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศชั้น Type 42 ของอังกฤษ โดนยิงจมลงด้วยจรวดต่อสู้เรือรบ Exocet เพียงนัดเดียว
บราซิลจึงอยากได้ไอเทมลับจากอเมริกามาใช้ป้องกันเรือ
แต่แล้วก็แห้วเหมือนกับหลายชาติรวมทั้งไทยในตอนนั้น
Phalanx มีราคาค่อนข้างแพงและอเมริกายังหวงของ โอกาสจะได้มาครอบครองค่อนข้างลำบากลำบน
เหลียวมองคู่แข่งรายอื่นซึ่งตอนนั้นมีด้วยกันหลายเจ้า
ที่ว่าตั้งหลายเจ้าก็ดันแพ้ภัยตัวเองไปเรื่อยๆ รวมทั้งตัวเรือมีปัญหาส่วนตัวเพิ่มเข้ามา
อาทิเช่น Phalanx หนักเกินกว่าแบบเรือรองรับได้ ความสูงของอาวุธรบกวนการจอดเฮลิคอปเตอร์
และอยู่ใกล้ผิวน้ำเกินไปทำให้อาวุธอาจเสียหายเร็วกว่าเดิม
เมื่อเรือคอร์เวตทั้ง
4
ลำเข้าประจำการครบถ้วน ช่วงเวลานั้นเรือเก่าจำนวนมากทยอยปลดประจำการ
จนก่อให้เกิดกองเรืออำพรางมีแต่ตำแหน่งกับท่าเรือว่างเปล่า บราซิลจำเป็นต้องซื้อเรือฟริเกตมือสองชั้น
Type 22 Batch I จากอังกฤษจำนวน 4 ลำ มาใช้งานทดแทนโครงการเรือคอร์เวตซึ่งถูกดองเค็ม
ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการอยู่ดี
เรือฟริเกต
Type 22 Batch I หน้าตาประหลาดกว่าเรือทุกลำ เพราะไม่ติดตั้งปืนใหญ่ไม่ว่าจะหัวเรือกลางเรือหรือท้ายเรือ
(อังกฤษเพิ่งนำมาใส่ในเรือ Batch III) และทั้งๆ ที่เป็นเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำโดยกำเนิด
แต่กลับได้รับหน้าที่ป้องกันภัยทางอากาศระยะใกล้ ให้กับเรือบรรทุกเครื่องบินทั้ง 2
ลำในสงครามฟอคแลนด์ เนื่องจากตัวเองติดจรวดต่อสู้อากาศยาน Sea
Wolf จำนวน 12 นัด ยิงเป้าหมายระยะใกล้แม่นยำกว่าจรวด
Sea Dart หรือ Sea Cat รวมทั้ง Sea
Slag
ปัญหาขาดแคลนเรือรบผิวน้ำยังคงวิกฤต
ต้องรีบแก้ไขเร่งด่วนไม่อย่างนั้นลำบากหนัก
เมื่อเคลียร์เรื่องคาใจกับรัฐบาลเป็นที่เรียบร้อย
กองทัพเรือบราซิลได้หวนกลับมามองน้ำพริกถ้วยเก่า ด้วยการขึ้นโครงการสร้างเรือคอร์เวตอีกครั้ง
โดยจะสร้างเรือจำนวน 10 ลำ ใช้แบบเรือเดิมจำนวน 4
ลำ และแบบเรือปรับปรุงใหม่อีก 6 ลำ เข้าสู่ปี 1996
เรือลำแรกจากโครงการใหม่ถูกสร้างขึ้นมา ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดเรืออีก 9
ลำจะทยอยตามมา แต่ทว่าเหตุการณ์กลับไม่ได้เป็นดั่งใจคาดหวัง
กาลครั้งหนึ่งเอเรนเคยถามมิคาสะในช่วงเวลาคับขันว่า
ทำไมเธอกับอามีนต้องออกไปล่อไททันเพศเมียเพื่อปกป้องเขาด้วย การกระทำเช่นนั้นอาจทำให้ใครคนใดคนหนึ่งต้องตาย
มิคาสะตอบกลับมาสั้นๆ ว่า ‘This World is Cruel’ แปลเป็นไทยง่ายๆ
ก็คือ “โลกนี้มันช่างโหดร้าย”
ก่อนสวมฮูดปิดบังใบหน้าแล้ววิ่งออกไปเผชิญหน้าความตาย ใช่แล้วครับผู้อ่านทุกท่าน
กองทัพเรือบราซิลอาจเคยรู้จักคำว่าโหดร้ายมาก่อน แต่ไม่มีครั้งไหนโหดร้ายเจ็บปวดได้เทียบเท่าครั้งนี้อีกแล้ว
เรือลำแรกซึ่งใช้แบบเรือชั้น
Inhaúma มาปรับปรุงเพิ่มเติม บราซิลไม่ได้ปรับปรุงอะไรมากมายเลย โดยมีความยาวเพิ่มขึ้นมาแค่
8 เมตร เรือลำนี้ต้องทำพิธีปล่อยลงน้ำในปี 1999 ก่อนเข้าประจำการจริงในอีกไม่เกิน 3 ปีถัดมา
แต่เอาเข้าจริงกว่าจะให้สุภาพสตรีตีขวดแชมเปญใส่หัวเรือ ก็ปาเข้าไปปลายปี 2002
ติดโรคเลื่อนนานมาก และเข้าประจำการจริงเดือนสิงหาคมปี 2008 โน่น เท่ากับว่าใช้เวลาสร้างเรือรวมทั้งสิ้น 10 ปี
ผลลัพธ์ตามมาก็คือโครงการนี้ต้องถูกยกเลิก
นี่คือเรือลำแรกและลำเดียวของโครงการน้ำพริกถ้วยเก่า
เรือโทนลำนี้ชื่อ V34 Barroso หน้าตากลับไปเหมือนเรือคอนเซ็ปต์ที่เยอรมันช่วยออกแบบให้ ไม่ว่าจะสะพานเดินเรือก็ดี
กราบข้างโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ก็ดี เพียงแต่เสากระโดงหลักและรองทันสมัยมากขึ้น ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ยาวขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย
อีกทั้งติดตั้งอาวุธปืนกลน้อยกว่าเดิมด้วยซ้ำ แต่ทว่าเรือลำนี้ใช้เวลาสร้างยาวนานถึง
10 ปี หมายความว่าแบบเรือต้องมีปัญหามาตั้งแต่พิมพ์เขียว
V34 Barroso ระวางขับน้ำปรกติ 1,800 ตัน ระวางขับน้ำเต็มที่ 2,300
ตัน ยาว 103.4 เมตร กว้าง 11.4 เมตร กินน้ำลึก 4.5 เมตร
ใช้เรดาร์และระบบอำนวยการรบใหม่ก็จริง แต่ติดระบบอาวุธเหมือนเดิมทุกประการ
ยกเว้นปืนรองถูกเปลี่ยนมาเป็น Bofors 40 mm Mk3 โดยติดแค่เพียงกระบอกเดียวบนโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์
ถูกจัดให้เป็นเรือ Frontline หรืออยู่แถวหน้าสุดของกองเรือ
ทั้งนี้เนื่องมาจากเป็นเรือรบที่มีอายุน้อยที่สุด เพียงแต่ขนาดเล็กเกินไปที่จะออกไปเผชิญมหาสมุทร
ท้ายเรือคือส่วนที่แตกต่างอย่างชัดเจน
สร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์เต็มพื้นที่สี่เหลี่ยม เว้นพื้นที่ไว้เพียงเล็กน้อยสำหรับผูกเชือกท้ายเรือ
โดยไม่รองรับ Phalanx หรือ CIWS ราคาแพงรุ่นอื่น
ในภาพจะเห็นปืนกล Bofors 40 mm Mk3 หันมาทางซ้ายมือของภาพ
โดยมีออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง EOS400 หันตามเช่นกัน
กองทัพเรือบราซิลจัดให้เป็นระบบอาวุธป้องกันระยะประชิดหรือ CIWS รุ่นมาตรฐานตัวเอง ด้วยอานุภาพของกระสุน 3P ผู้เขียนคิดว่าพอถูๆ
ไถๆ ได้
แม้บราซิลเคยสร้างเรือคอร์เวตถึง
4
ลำแล้วก็ตาม และลำใหม่ที่สร้างก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่อลังการ ทว่าพวกเขาดันทำพลาดจนต้องยกเลิกในท้ายที่สุด
เป็นบทเรียนสำคัญสอนให้ทุกคนได้รับรู้ว่า การปรับปรุงแบบเรือไม่ใช่นึกอยากทำก็ทำได้เลย
ต้องมีการทดสอบอย่างละเอียดตามหลักการสร้างเรือ ไม่อย่างนั้นอาจเป็นเหมือนเรือคอร์เวตโทนลำนี้
โครงการนี้เต็มไปด้วยปัญหาน้อยใหญ่
นอกจากปัญหาเรื่องการเงินและการออกแบบ ยังมีปัญหาสำคัญเรื่องคุณภาพการสร้างเรือ
ซึ่งทำได้ไม่ดีเทียบเท่ามาตรฐานสากล ปัญหาเกิดจากเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ
ความรู้ความชำนาญของบุคลาการ รวมทั้งปัญหาเรื่องการเงินของอู่ต่อเรือ ส่งผลกระทบมายังอายุการใช้งานอย่างชัดเจน
ปัจจุบันเรือจำนวน 3 ลำปลดประจำการเรียบร้อยแล้ว
โดยมีอายุการใช้งานเพียง 25 ปีถึง 28 ปีเท่านั้น
ที่เหลืออีก 1 ลำใกล้ถึงเวลาพักผ่อนตลอดกาล
บราซิลจำเป็นต้องขึ้นโครงการเรือคอร์เวตใหม่อีกครั้ง
โดยครั้งนี้พวกเขาห้ามทำพลาดซ้ำซ้อนเด็ดขาด
ปี
2012
มีภาพคอนเซ็ปต์จากโครงการหลุดออกมา ใช้ชื่อว่า CV03 หรือเรือคอร์เวตหมายเลข 3 ง่ายๆ แค่นี้เอง
รูปร่างหน้าตาสวยงามและทันสมัยกว่าเดิม
โดยเฉพาะหัวเรือเหมือนเรือคอร์เวตจากเนเธอร์แลนด์ หรือสเปน ไม่ก็จีนแผ่นใหญ่สักแห่งสิน่า
ครั้นพอผู้เขียนไล่มองไปเรื่อยๆ จนถึงบั้นท้าย กลับพบว่านี่คือเรือ V34 Barroso ไปแอบเหลาหน้ามาใหม่
การจัดวางอาวุธเหมือนเดิมทุกประการ ปล่องระบายความร้อนยกของเดิมมาใส่
ลานจอดและโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ก็เหมือนของเดิม เพียงแต่โดยภาพรวมสวยงามกว่าเดิมตามยุคสมัย
รวมทั้งอาจติดตั้งจรวดต่อสู้อากาศยานท่อยิงแนวดิ่งได้
ความรู้สึกเหมือนกับว่า…เลิกกับแฟนเก่าไปสองรอบแล้ว แต่พอเขาเอาดอกมะลิมาง้อก็ยอมใจอ่อนรอบที่สาม
ภาพเรือคอนเซ็ปต์อาจยังไม่ตรงใจเท่าไร
กองทัพเรือบราซิลใช้เวลาอีก 3 ปีเต็ม
ในการพัฒนาแบบเรือใหม่เอี่ยมอ่องขึ้นมาอย่างมุ่งมั่น จนกระทั่งในงานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์
LAAD 2015 ซึ่งถูกจัดขึ้นในกรุงริโอ เดอจาเนโร ประเทศตัวเอง
พวกเขาได้เผยโมเดลเรือ CV03 ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่อีกครั้ง
พร้อมกับเปิดเผยโครงการสร้างเรือคอร์เวตด้วยตัวเองในอนาคต โดยใช้ชื่อว่าเรือชั้น Tamandaré
รูปร่างหน้าตาเรือคอร์เวตลำใหม่ตามนี้เลยครับ
ความรู้สึกเหมือนกับว่า…เลิกกับแฟนเก่าไปสามรอบแล้ว แต่พอเขาเอาพวงมาลัยมาง้อก็ยอมใจอ่อนรอบที่สี่
เรือลำใหม่ระวางขับน้ำเต็มที่
2,790 ตัน ยาว 103.4 เมตร กว้าง 12.8 เมตร ความเร็วสูงสุด 25 นอต ทดข้อมูลตรงนี้ไว้ในใจก่อนนะครับ
รูปทรงเหมือนเรือยุค 90 ทั้งที่เข้าสู่ปี 2015 เข้าไปแล้ว ทั้งนี้เนื่องมาจากนำเรือ V34 Barroso มาขยายให้ใหญ่ขึ้น หัวเรือกับสะพานเดินเรือขี้เหล่กว่าเดิม
การจัดวางอาวุธยังคงเหมือนเดิม ปล่องระบายความร้อนเป็นสิ่งเดียวที่ดูต่างออกไป พูดกันตรงๆ
คนบราซิลภูมิใจเรือลำนี้ค่อนข้างมาก แต่รัฐบาลกับกองทัพเรือดูเหมือนจะไม่ปลื้มสักเท่าไร
ผู้เขียนไม่มีอคติกับเรือลำนี้นะครับ
ถ้าเอกชนไทยออกแบบเรือหน้าตาเหมือนกันเลย
และสามารถสร้างออกมาใช้งานได้จริงในราคาเหมาะสม
ผู้เขียนจะอวยสุดหัวใจและภาคภูมิใจกับเรือลำนี้ โชคร้ายแบบเรือ CV03 ไม่มีความคุ้มค่าที่จะสร้างจริง เพราะนำแบบเรือจากยุคสงครามเย็นมาปรับปรุงใหม่
เมื่อชาวบราซิลนึกถึงคำพูดมิคาสะก็รีบถอยหลังทันที
มีอยู่จุดหนึ่งอยากให้สังเกตเล็กน้อย
บริเวณสองกราบของโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์
ติดตั้งอุปกรณ์บางอย่างล้นออกมาด้านข้างตัวเรือ ผู้อ่านคิดว่ามันคืออะไรเหรอครับ?
บอกใบ้ให้นิดเดียวว่ามาจากประเทศสเปน
อุปกรณ์ชิ้นนี้หายไปจากองทัพเรือไทยเกือบหมดแล้ว อีกสักพักจะมาเฉลยใครตอบถูกเจอกันที่ร้านน้องจอยหมูกระทะ
กาลครั้งหนึ่งเมื่อมิคาสะรู้ว่าเอเรนเสียชีวิตแล้ว
เธอหมดความพยายามที่จะมีชีวิตอีกต่อไป สาวน้อยผู้แสนอาภัพเปรยกับตัวเองเบาๆ ว่า ‘This
World is Cruel and Beautiful’ แปลเป็นไทยง่ายๆ
ก็คือ “โลกนี้โหดร้ายก็จริงแต่สวยงามมาก” เปรียบได้กับลูกประดู่บราซิลซึ่งเคยล้มเหลวสองครั้งติดกัน
แต่พวกเขาจำเป็นต้องเดินหน้าต่อเพื่อสานฝันให้สำเร็จ
วันที่
18
มิถุนายน 2018 กองทัพเรือบราซิลเริ่มต้นโครงการ
Tamandaré Class Corvettes หรือ CCT โดยต้องการซื้อเรือคอร์เวตเอนกประสงค์จำนวน
4 ลำ พร้อมสัญญาซ่อมบำรุง 8 ปีภายใต้งบประมาณ
1.6 พันล้านเหรียญ เงื่อนไขสำคัญก็คือต้องสร้างเองภายในประเทศ
คุณสมบัติเรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 2,790 ตัน ยาว 103.4
เมตร กว้าง 12.8 เมตร ความเร็วสูงสุด 25
นอต กำหนดให้ติดอาวุธกับอุปกรณ์ต่างๆ ตามมาตรฐาน หรือพูดง่ายๆ
ว่าต้องดีเทียบเท่าแบบเรือ CV03 นั่นเอง
เนื่องจากเป็นโครงการใหญ่กับประเทศใหญ่
เป็นลูกค้าหน้าใหม่ที่ซื้อจริงและอาจซื้อเพิ่มในอนาคต
มีความเหมาะสมที่จะทุ่มหมดหน้าตักเพื่อไขว้คว้า
จึงมีบริษัทชั้นนำเข้าร่วมโครงการนี้มากถึง 9 ราย
ส่วนใหญ่มาจากยุโรปแต่มีเอเชียโผล่เข้ามานิดหน่อย ผู้เขียนขอแนะนำแบบเรือเข้าร่วมโครงการสัก
3 รุ่น จริงๆ อยากได้ครบทุกลำแต่หาข้อมูลได้เพียงเท่านี้
แบบเรือลำแรกมาจากประเทศอินเดีย
หลังบราซิลประกาศเดินหน้าโครงการ CCT เพียง 10
วัน บริษัท Garden Reach Shipbuilders & Engineers หรือ GRSE ของอินเดีย จับมือกับบริษัท Sinergy
Group Corporate ของบราซิลซึ่งมีอู่ต่อเรือ EISA shipyard เป็นของตัวเอง นำเสนอแบบเรือ Project 28
รุ่นปรับปรุงใหม่เข้าร่วมโครงการ โดยใช้ระบบอำนวยการรบบริษัท Elbit Systems จากอิสราเอล รูปร่างหน้าตาของเรือลำแรกประมาณนี้เลยครับ
แบบเรือ
Project
28 ก็คือเรือคอร์เวตปราบเรือดำน้ำชั้น Kamorta
ของกองทัพเรืออินเดีย มีระวางขับน้ำเต็มที่ 3,300 ตัน ยาว 109
เมตร กว้าง 14.14 เมตร กินน้ำลึก 3.7 เมตร เรือต้นแบบไม่ได้ติดตั้งจรวดต่อสู้เรือรบกับจรวดต่อสู้อากาศยาน
เรือที่นำเสนอจึงต้องมีการปรับปรุงเพิ่มเติม โดยการตัดดาดฟ้าสูงหนึ่งชั้นหน้าสะพานเดินเรือทิ้ง
เพื่อใส่ท่อยิงแนวดิ่งจรวดต่อสู้อากาศยาน Sea Ceptor 12 ท่อยิง
(จุดเดียวกับคลังแสงจรวดปราบเรือดำน้ำ RBU-6000 เพราะฉะนั้นไม่มีปัญหาเรื่องพื้นที่ใต้ดาดฟ้าเรือ
) กับจรวดต่อสู้เรือรบ Exocet MM40 จำนวน 4 นัด กลางเรือใส่ตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ได้ 2 ตู้
ท้ายเรือมีปืนอัตโนมัติขนาด 25 มม.
กับแท่นยิงจรวดต่อสู้อากาศยานระยะใกล้ Simbad-RC โผล่เข้ามา 2
แท่น
ย้อนกลับไปวันที่ 17
กุมภาพันธ์ 2016 เรือลำนี้ชนะเลิศโครงการเรือฟริเกตฟิลิปปินส์
ซึ่งต้องการซื้อเรือ 2 ลำในวงเงิน 321 ล้านเหรียญ
(หรือลำละ 160.5 ล้านเหรียญ) บังเอิญโชคร้ายถูกตัดสิทธิ์เพราะสถานะการเงินอู่ต่อเรือไม่ผ่านเกณฑ์
หวยจึงมาออกที่บริษัทฮุนไดจากเกาหลีใต้ ทำให้ฟิลิปปินส์ได้เรือฟริเกตที่ดีมากลำหนึ่งไปใช้งาน
GRSE ใช้แบบเรือลำนี้นำเสนอให้กับฟิลิปปินส์
ความสวยงามลดลงจากเรือต้นฉบับพอสมควร แต่ไม่ถึงกับขี้ริ้วขี้เหล่แอบพาไปวัดตอนตีสามได้
ตัวเลขมิติเรือผู้เขียนอ้างอิงจากเรือฟิลิปปินส์นะครับ
มีความแตกต่างจากเรือต้นฉบับอินเดียสักเล็กน้อย
เรือลำถัดไปมาจากประเทศที่มีดินแดนสองทวีป
และมีนโยบายการทหารสองด้านทำเอาวุ่นวายไปหมด ประเทศนั้นก็คือตุรกีดินแดนไก่งวง
บริษัท
STM จากตุรกีจับมือกับอู่ต่อเรือ Brasfels Shipyard ของบราซิล นำเสนอแบบเรือ MILGEM รุ่นปรับปรุงในโครง
CCT ชมภาพแบบเรือในโครงการนี้กันก่อนดีกว่า
เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่
2,970
ตัน มากกว่าต้นฉบับซึ่งมีแค่เพียง 2,300 ตัน ยาว
103.4 เมตรขณะที่ต้นฉบับยาว 99.5 กว้าง
14.4 เมตร กินน้ำลึก 3.9 เมตรเท่าเดิม
ใช้เรดาร์กับระบบอำนวยการรบจาก Thales ติดปืนใหญ่ 76/62
ที่หัวเรือ ปืนกล Bofor 40 mm Mk4 ท้ายเรือ
ปืนกลอัตโนมัติ 12.7 มม.อีก 2 กระบอก จรวดต่อสู้เรือรบ Exocet MM40 จำนวน 4
นัด ส่วนแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำอยู่ในตัวเรือ
ลานจอดกับโรงเก็บรองรับเฮลิคอปเตอร์ S-70B ขนาด 10 ตัน
เนื่องจากแบบเรือเดิมไม่รองรับแท่นยิงแนวดิ่งสำหรับจรวดต่อสู้อากาศยาน
ได้มีการปรับปรุงเพิ่มความยาวหัวเรือเล็กน้อย จากนั้นจึงใส่ท่อยิง ExLS
จำนวน 3 ท่อยิงเข้าไป สำหรับจรวดต่อสู้อากาศยาน
Sea Ceptor จำนวน 12 นัด (จรวด 4 นัดต่อ 1 ท่อยิง)
ประหยัดพื้นที่ก็จริงแต่ดูเหมือนจะเป็นจุดอ่อน บราซิลอยากได้ท่อยิงเดี่ยว 12
ท่อยิงซึ่งใช้งานและดูแลง่ายกว่า
ก่อนอื่นเลยผู้เขียนออกตัวว่าชอบแบบเรือต้นฉบับมาก
ค่อนข้างทันสมัยแม้ไม่รอบรับแท่นยิงแนวดิ่งก็ตาม ครั้นพอเจอแบบเรือปรับปรุงเข้าไปถึงกับตะลึงแล
จึงตัดสินใจขออนุญาตไม่วิจารณ์เรื่องความสวยงาม
ตุรกีคาดหวังกับโครงการนี้ไว้ค่อนข้างสูง แบบเรือ MILGEM ของพวกเขาขายให้ปากีสถานได้แล้ว 4 ลำ ตอนนี้กำลังนำเสนอให้กับประเทศโคลัมเบียอยู่
โดยใช้แบบเรือย่อยชื่อ CF3500 ซึ่งมีขนาดใหญ่โตที่สุด ขณะนี้พี่เติร์กเริ่มบุกตลาดโลกอย่างจริงจังและหนักหน่วง
เรือลำที่สามมาจากทวีปยุโรปแท้ๆ
บ้าง เมื่อบริษัท Damen จากเนเธอร์แลนด์จับมือกับบริษัท
Saab ประเทศบราซิล
(สวีเดนเข้ามาตั้งเพื่อรองรับการผลิตเครื่องบินกริเพน) นำเสนอแบบเรือ Sigma
10514 ของตัวเองโดยใช้ระบบเรดาร์กับระบบอำนวยการรบของ Saab พอได้ยินแล้วรู้สึกยิ่งใหญ่อลังการงานสร้าง
ไม่ทราบว่าแบบเรือจะสวยงามมากน้อยแค่ไหน
แบบเรือของพวกเขาหน้าตาแบบนี้เลย
ระวางขับน้ำมาตรฐาน 2,575 ตัน ยาว 105.11 เมตร กว้าง 14.02 เมตร กินน้ำลึกประมาณ 4 เมตรกว่า ติดปืนหลักขนาด 57 มม. มีแท่นยิงแนวดิ่งจำนวน 8 ท่อ หน้าสะพานเดินเรือมีที่ว่างติดปืนกลเพิ่มเติมได้
ใช้เรดาร์ 3 มิติ Sea Giraffe AMB
เรดาร์ควบคุมการยิง Ceros200 และระบบอำนวยการรบ 9LV กลางเรือติดจรวดต่อสู้เรือรบจำนวน 4 นัด บนโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ติดปืนกล
40 มม.กับออปทรอนิกส์ควบคุมการยิง EOS500
สังเกตบนท้องฟ้าเห็นเครื่องบินกริเพนไหมครับ
คนขายต้องการสื่อว่ามีระบบดาต้าลิงก์กับกองทัพอากาศด้วยนะ
แผนการนี้เคยประสบความสำเร็จกับบางประเทศมาแล้ว แต่บราซิลมีดาตาลิงก์ตัวเองทั้งกองทัพเรือและกองทัพอากาศ
คงไม่อยากได้ของแพงจากสวีเดนสักเท่าไร แบบเรือ Sigma 10514 ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย
อินโดนีเซียวางแผนว่าจะจัดหาจำนวน 4-6 ลำ ตอนนี้เฟสแรก 2
ลำพร้อมเข้าประจำการแล้ว แต่เรือฟริเกต Sigma 10514 ที่ดีที่สุดอยู่ที่ประเทศเม็กซิโก
นี่คือเรือฟริเกตอเนกประสงค์ชื่อ
POLA
101 ARM Reformador สร้างขึ้นเองโดยอู่ต่อเรือภายในประเทศ
ติดอาวุธทันสมัยล้นลำตั้งแต่หัวจรวดท้าย เริ่มจากปืนใหญ่ 57 มม.ยิงได้เร็วสุด 220 นัดต่อนาที
ถัดไปเป็นแท่นยิงแนวดิ่ง MK56 จำนวน 8 ท่อยิง
สำหรับจรวดต่อสู้อากาศยาน ESSM (เม็กซิโกซื้อมาเฟสแรก 6
นัด) ต่อด้วยปืนกลอัตโนมัติขนาด 25 มม.ใช้เรดาร์กับระบบอำนวยการรบจาก Thales กลางเรือมีจรวดต่อสู้เรือรบ
Harpoon Block II อีก 8 นัด บนโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ติดแท่นยิงจรวด RAM Block II อีก 21 นัดใช้เป็น CIWS ที่ดียอดเยี่ยม
ท้ายเรือติดตั้งโซนาร์ท้าย Thales CAPTAS-2 ซึ่งมีโหมดการทำงานทั้ง
Passive และ Active จัดว่าทันสมัยมากที่สุด
โดยใช้ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำรุ่นใหม่ Mk-54 จากอเมริกา
เรือติดตั้งอาวุธกับอุปกรณ์ที่เราคุ้นเคยเป็นอย่างดี
ยกเว้นแค่เพียงระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์จากสเปน นั่นคือระบบตรวจจับสัญญาณเรดาร์ Indra RIGEL RESM และระบบก่อกวนสัญญาณเรดาร์ Indra RIGEL RECM ซึ่งสเปนมีใช้งานบนเรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศระบบเอจิส
สังเกตนะครับว่าไม่เกี่ยวข้องกับระบบอำนายการรบ ไม่จำเป็นต้องติดระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ของ
Thales
เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการจัดหาสิ่งที่ดีที่สุดเหมาะสมที่สุด
และเม็กซิโกจัดแน่นจัดเต็มจัดบึกมากที่สุด เสียดายก็แต่ติดเรดาร์ควบคุมการยิงจรวด ESSM แค่ตัวเดียว ตามปริมาณจรวดซึ่งตัวเองมีไม่เยอะสักเท่าไร
ชมแบบเรือที่เข้าร่วมโครงการพอหอมปากหอมคอแล้ว
มาพบกับแบบเรือผู้ได้รับการคัดเลือกกันบ้างดีกว่า วันที่ 29
มีนาคม 2019 กองทัพเรือบราซิลประกาศว่าบริษัท Thyssenkrupp
จากเยอรมันกับบริษัท Embraer จากบราซิล
คือผู้ชนะเลิศโครงการ Tamandaré Class Corvettes หรือ CCT โดยใช้แบบเรือ MEKO A-100 ซึ่งมีรูปร่างหน้าตาประมาณนี้
เรือผู้ชนะโครงการระวาง
3,455
ตัน ยาว 107.2 เมตร กว้าง 16 เมตร มีอายุการใช้งานยาวนานถึง 40 ปี ถูกออกแบบด้วยเทคโนโลยีทันสมัยจากเยอรมัน
ไม่ว่าจะเป็น MEKO Platform Modularity และ MEKO
Configuration Modularity รวมทั้ง MEKO Mission
Modularity เพราะมีความทันสมัยสูงการต่อเรือจึงต้องใช้เทคโนโลยีสูงขึ้นตามกัน
เรือติดตั้งปืนใหญ่
Bofors
57 mm Mk3 แท่นยิงจรวดต่อสู้อากาศยาน Sea Ceptor จำนวน 12 ท่อยิง กลางเรือติดจรวดต่อสู้เรือรบ Exocet
MM40 จำนวน 4 นัด
แท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำอยู่ในตัวเรือ ท้ายเรือมีปืนกล Bofors 40
mm Mk4 1 กระบอก กับปืนกลอัตโนมัติ 12.7 มม.อีก 2 กระบอก ลานจอดกับโรงเก็บรองรับเฮลิคอปเตอร์ S-70B
ใช้เรดาร์ 3 มิติ Artisan 3D จาก BAE ใช้เรดาร์ควบคุมการยิง STIR 1.2 EO จาก Thales จำนวน 1 ตัว กับออปทรอนิกส์ควบคุมการยิง
Paseo XLR จาก SAFRAN จำนวน 2 ตัว ติดโซนาร์หัวเรือ ASO713 จาก ATLAS ระบบอำนวยการรบก็ ATLAS ประเทศเยอรมัน
ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นก็คือ
ใช้ระบบตรวจจับสัญญาณเรดาร์ Indra RIGEL RESM
และระบบก่อกวนสัญญาณเรดาร์ Indra RIGEL
RECM จากสเปน ผู้อ่านเห็นแท่งยาวๆ หัวมนข้างเสากระโดงเรือไหมครับ
สิ่งนี้ก็คือ Uplink Antenna ทำหน้าที่รับส่งข้อมูลให้กับจรวดต่อสู้อากาศยาน
Sea Ceptor ซึ่งเป็นจรวดที่มีระบบนำวิถีอยู่ในหัวรบ เมื่อยิงออกไปแล้วจะวิ่งเข้าหาเป้าหมายด้วยตัวเอง
ไม่จำเป็นต้องใช้เรดาร์ควบคุมการยิงบังคับทิศทาง มีความทันสมัยมากก็จริงแต่ก็พบจุดอ่อนเช่นกัน
เช้าวันหนึ่งกลางมหาสมุทรกว้างใหญ่
เจ้าหน้าที่เรดาร์ตรวจพบฝ่ายตรงข้ามบุกรุกเข้ามา ผู้การเออร์วินสั่งยิงจรวดสกัดกั้นเครื่องบินที่ตำแหน่ง
10
นาฬิกา ต่อมาครู่เดียวดันตรวจเจอจรวด C-802
ที่ตำแหน่ง 8 นาฬิกา ผู้การจำเป็นต้องสั่งยิงจรวดนัดที่สองขึ้นไปสกัดกั้น
ทีนี้ถ้าเรือไม่เหลือจรวดแล้วก็เอวังด้วยประการฉะโน้น แต่ด้วยอุปกรณ์ชิ้นนี้ท่านผู้การสามารถสั่งเปลี่ยนเป้าหมาย
ให้จรวดวิ่งปะทะจรวดด้วยกันที่ตำแหน่ง 8 นาฬิกาได้ นี่คือการปิดจุดอ่อนขนาดใหญ่โตอย่างชาญฉลาด
ที่ผู้เขียนเขียนถึงว่ากันตามหลักการนะครับ
ส่วนในการปฏิบัติการจริงมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาปะปน
จรวดอาจเปลี่ยนทิศทางพุ่งชนจรวดอย่างแม่นยำ หรือจรวดอาจเปลี่ยนทิศทางไม่ทันจึงได้แห้วไป
รวมทั้งจรวดอาจวิ่งตรงเข้าใส่เป้าหมายเดิม
ทุกอย่างเกิดขึ้นได้หมดในสนามรบด้วยเหตุผลต่างๆ นาๆ แต่ถึงอย่างไรก็สมควรมี Uplink
Antenna ติดไว้บนเรือ ปรกติแล้วจรวด Sea Ceptor จะติดอุปกรณ์ชิ้นนี้จำนวน 2 ตัว ครอบคลุมทิศทาง 360
องศามีความเหมาะสมที่สุด
ต่อไปนี้จะเขียนถึงแบบเรือกันสักนิด
ข้อมูลจากบริษัทผู้ผลิตแบ่งเรือตระกูลนี้ออกเป็น 4 รุ่นประกอบไปด้วย
1. MEKO
100 RMN ของมาเลเซีย
2. MEKO
A-100 PL ของโปแลนด์
3. K130
ของเยอรมัน
4. MEKO
A-100 ตัวปัจจุบัน ซึ่งสามารถแบ่งรุ่นย่อยออกเป็น 3 รุ่นตามระวางขับน้ำ ประกอบไปด้วย
4.1 MEKO A-100 Mk I
4.2 MEKO A-100 Mk II
4.3 MEKO A-100 Mk III ซึ่งมีขนาดใหญ่โตมากที่สุด และเป็นแบบเรือชนะเลิศโครงการ
CCT ประเทศบราซิล
ปีนี้ผู้เขียนเขียนถึงแบบเรือใหม่
4
บทความเข้าไปแล้ว โดยทุกแบบเรือมีพื้นที่ใช้งานอเนกประสงค์เรียกว่า Mission
Deck หรือ Mission Bay ติดตั้งมาให้ครบทุกลำ
เรือจากเยอรมันก็มีและมีเยอะกว่าเรือชาติอื่น แบ่งออกเป็น Forward Mission
Deck Flex บริเวณกลางเรือระหว่างเสากระโดงสองต้น
สามรถติดจรวดต่อสู้เรือรบกับตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ได้ 1 ตู้
แต่ถ้าถอดจรวดออกจะติดตู้คอนเทนเนอร์ได้ 2 ตู้ ส่วนจุดที่สอง
After Mission Deck Flex อยู่บริเวณใต้ลานจอดเฮลิคอปเตอร์
บรรทุกเรือยางท้องแข็ง RHIB ขนาด 11 เมตรได้
2 ลำ พร้อมตู้คอนเทนเนอร์เอนกประสงค์อีก 4 ตู้ หรือจะติดตั้งเฉพาะตู้คอนเทนเนอร์ได้ถึง 6 ตู้ด้วยกัน
นี่แหละครับระบบ MEKO Mission Modularity จากประเทศเยอรมัน
เพราะฉะนั้นเรือ
MEKO
A-100 Mk III สามารถแบกตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ได้มากสุด
8 ตู้ และมีเรือยางท้องแข็ง RHIB ขนาด 8
เมตรอีก 1 ลำที่กราบเรือฝั่งขวา
นี่คือออปชันเสริมที่บราซิลได้รับจากเรือคอร์เวตลำใหม่
เรื่องต่อไปก็คือระบบตรวจจับสัญญาณเรดาร์
Indra RIGEL RESM และระบบก่อกวนสัญญาณเรดาร์ Indra RIGEL RECM จากประเทศสเปน ซึ่งในตอนนี้กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย
นอกจากมีใช้งานในกองทัพเรือสเปน เม็กซิโก และบราซิลรายล่าสุดแล้ว เยอรมันยังซื้อไปใช้งานบนเรือคอร์เวตชั้น
K130 ของตัวเองตั้งนานแล้ว RIGEL มีทั้งระบบตรวจจับและก่อกวนเรดาร์รวมอยู่ด้วยกัน
ทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี
โดยไม่ผู้มัดกับระบบอำนวยการรบแต่อย่างใด
นี่คือภาพถ่ายเรือชื่อ
POLA
101 ARM Reformador ประเทศเม็กซิโก ระบบตรวจจับสัญญาณเรดาร์ Indra RIGEL RESM อยู่ในโดมตัวเล็กใกล้เรดาร์ 3 มิติ ส่วนระบบก่อกวนสัญญาณเรดาร์ Indra RIGEL
RECM อยู่ในโดมตัวใหญ่ใต้ ESM อีกที
สามารถก่อกวนเรดาร์ข้าศึกได้ตั้งแต่ 3 จนถึง 12 รูปแบบ นี่คืออุปกรณ์ที่หายไปจากกองทัพเรือไทยนานพอสมควร
จริงอยู่
Indra RIGEL สู้คู่แข่งจากอเมริกาหรืออิตาลีซึ่งแพงกว่ากันไม่ได้
แต่มีประสิทธิภาพสูงได้รับการยอมรับจากหลายชาติ
ผ่านการปฏิบัติงานจริงในอ่าวเอเดนกับทะเลเมอดิเตอร์เรเนียนมาแล้ว ลูกประดู่ไทยไม่สนใจสักนิดเลยเหรอครับ
ซื้อมาใช้งานบนเรือหลวงจักรีนฤเบศรก็ดูเข้าที
สเปนน่าจะให้ราคาพิเศษในฐานะลูกค้าเก่าแก่
ให้เรานำสินค้าไปประชาสัมพันธ์ประเทศเพื่อนบ้าน
เหมือนที่เราเคยทำกับเครื่องบินกริเพนมาก่อนหน้านี้
วันเวลาผ่านพ้นจนมาถึงวันที่
5
มีนาคม 2020 บริษัท Thyssenkrupp จากเยอรมันกับบริษัท Embraer จากบราซิล
ได้เซ็นสัญญามูลค่ารวม 2 พันล้านเหรียญ ในโครงการ Tamandaré
Class Corvettes หรือ CCT ของกองทัพเรือบราซิล
สังเกตได้ว่ามูลค่าโครงการเพิ่มขึ้น 400 ล้านเหรียญ
รายละเอียดเท่าที่บริษัทคู่สัญญากับกองทัพเรือเปิดเผยมีดังนี้
1.สร้างเรือคอร์เวต
MEKO-A100 จำนวน 4 ลำ
2.เรือทั้ง
4 ลำสร้างในประเทศบราซิล โดยลำแรกต้องใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศมากกว่า
30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเรืออีก 3 ลำต้องใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศมากกว่า
40 เปอร์เซ็นต์
3.โครงการนี้ก่อให้เกิดการจ้างงานโดยตรง
1,000 ตำแหน่ง และการจ้างงานทางอ้อมอีก 4,000 ตำแหน่ง
4.อู่ต่อเรือ
Alianca-Oceana ของบริษัท Embraer
จะได้รับการถ่ายโอนเทคโนโลยีการสร้างเรือในระดับแข็งแกร่ง
รองรับการดูแลซ่อมบำรุงเรือคอร์เวตทันสมัยทั้ง 4 ลำได้ตลอดอายุการใช้งาน
5.
อู่ต่อเรือ Alianca-Oceana จะสามารถเข้าแข่งขันเพื่อตอบสนองความต้องการของกองทัพเรือในอนาคตได้
หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ…สามารถสร้างเรือรบได้เองในอนาคต
6.บริษัท
Atech ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท Embraer จะได้รับการถ่ายโอนเทคโนโลยีระบบอำนวยการรบจากบริษัท ATLAS และ L3
รองรับการดูแลซ่อมบำรุงเรือคอร์เวตทันสมัยทั้ง 4 ลำ
รวมทั้งพัฒนาระบบอำนวยการรบของตัวเองขึ้นมา
7
จะมีการปรับปรุงใหญ่เรือคอร์เวต V34 Barroso ให้มีความสามารถทัดเทียมเรือคอร์เวตจากโครงการ CCT คร่าวๆ
ก็คือเปลี่ยนระบบอำนวยการรบกับระบบสื่อสาร เปลี่ยนระบบอาวุธกับเรดาร์ทั้งหมด รวมทั้งติดตั้งจรวดต่อสู้อากาศยาน
Sea Ceptor เท่ากับว่าบราซิลจะได้เรือรบทันสมัยถึง 5 ลำ นี่คือเรื่องใหม่ที่เพิ่มเข้ามาในโครงการราคาแพง
ผู้เขียนค้นหาเรื่องสัญญาซ่อมบำรุง
8
ปีไม่เจอ ไม่ทราบว่าตัดทิ้งไปแล้วหรือไม่ได้ชี้แจงสื่อมวลชน
เพราะฉะนั้นยังไม่ขอยืนยันนะครับ อาจมีสัญญาหรือไม่มีก็ได้ รวมทั้งไม่ทราบว่าสัญญามีมูลค่าเท่าไรกันแน่
ปัจจุบันการขายอาวุธมักทำกันเป็นแพ็กเกจรวม ไม่สามารถนำจำนวนเรือมาหารกันดื้อๆ เป็นราคาต่อลำ
รวมทั้งบางครั้งสัญญาอาจเปลี่ยนแปลงในภายหลัง
ในวันเดียวกันบริษัท
Thyssenkrupp ได้เผยแพร่วิดีโอโปรโมทสินค้า ปรากฏว่าเรือในโครงการมีความเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย
ปืนใหญ่ 57 มม.ถูกแทนที่ด้วยปืนใหญ่ 76/62
มม.ส่วนเรดาร์ 3 มิติกลายเป็น
TRS-4D ของ HENSOLDT ซึ่งมีระยะตรวจจับไกลสุด
250 กิโลเมตร รวมทั้งปืนกล 40 มม.ถูกแทนที่ด้วยปืนกล 30 มม. ผู้เขียนเดาว่าน่าจะเป็นรุ่น
DS-30MR ซึ่งกองทัพเรือบราซิลมีใช้งานอยู่แล้ว
บนเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น River
กับเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์มือสองจากอังกฤษ
ไม่ทราบเหมือนกันว่าเป็นเรือเวอร์ชันจริงหรือยัง
ผู้เขียนขอจัดให้เป็นเวอร์ชันล่าสุดก็แล้วกัน สังเกตนะครับว่ายังใช้แท่นยิงแนวดิ่ง
12
ท่อยิง ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยถ้าเรือมีพื้นที่ควรใช้ท่อยิงเดี่ยวแบบนี้
ส่วน Uplink Antenna จรวดต่อสู้อากาศยานเปลี่ยนตำแหน่งเล็กน้อย
โดยติดอยู่เหนือสะพานเดินเรือฝั่งซ้ายมือหนึ่งตัว กับด้านหลังออปทรอนิกส์ควบคุมการยิงท้ายเรืออีกหนึ่งตัว
เสากระโดงหลังมองเห็นระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์จากสเปนอย่างชัดเจน
ชมภาพโมเดลเรือลำนี้อย่างชัดเจนบ้าง
สังเกตนะครับว่าสะพานเดินเรือใช้ Superstructure ค่อนข้างเตี้ย ไม่สูงชะลูดตูดปอดยอดขุนพลเหมือนเรือเกาหลีใต้
ส่งผลดีมายังการทรงตัวรวมทั้งการพรางตัว ซึ่งอาจไม่มากมายเท่าไรในเวลาปรกติ
แต่เมื่อเจอพายุใหญ่กลางทะเลลึกทุกคนจะเริ่มเข้าใจ
เรือรบยุคใหม่จากเยอรมันมักถูกออกแบบให้เตี้ยๆ แบนๆ
โมเดลเรือติดปืนใหญ่
76/62
มม.กับเรดาร์ TRS-4D มองเห็นอย่างชัดเจน
ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ก็เช่นกัน ส่วนปืนกล 30 มม.ยังมองไม่ค่อยชัดเท่าไร หมายความว่าปืนกล 40 มม.จะหายไปจากบราซิลอย่างนั้นหรือ?
คงต้องรอดูกันต่อไปอีกสักพักหนึ่ง ประเทศที่คัดเลือกแบบเรือกันอย่างโปร่งใส
ไม่น่ามีอะไรหมกเม็ดโผล่ออกมาภายหลังให้ครางฮือ
ที่เห็นชัดเจนอีกอย่างก็คือโซนาร์หัวเรือรุ่น
ASO713
ในเว็บไซด์บริษัท ATLAS มีโซนาร์หัวเรือขายอยู่เพียง
2 รุ่น คือรุ่น ASO713 กับ ASO723 แตกต่างกันเล็กน้อย จนถึงนาทีนี้ผู้เขียนยังสงสัยอยู่เลยว่า เป็นรุ่นเดียวกับเรือหลวงนเรศวรแต่นำมาเปลี่ยนชื่อใหม่
หรือว่าเป็นรุ่นใหม่เอี่ยมเพิ่งออกมาได้ไม่นานเท่าไร ถ้ามีเวลาว่างจะหาคำตอบมาให้อีกครั้งหนึ่ง
สัญญาโครงการนี้เซ็นแล้วก็จริงแต่ปัญหายังไม่จบ
วันที่ 27
มีนาคม 2020 หรือไม่กี่วันที่ผ่านมา
กองทัพเรือบราซิลได้ออกมาแถลงการณ์ว่า จะยกเลิกการปรับปรุงเรือคอร์เวต V34 Barroso ออกไปจากโครงการ
เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงมากที่จะล้มเหลว อย่างที่รู้กันแหละครับว่าแบบเรือค่อนข้างโบราณ
กองทัพเรือบราซิลเองถึงแม้ตอนแรกดึงดันอยากไปต่อ
ครั้นพอนึกถึงประโยคเด็ดประโยคนั้นขึ้นมาในสมอง ก็พลันใส่เกียร์ถอยไม่คิดที่จะลองดีอีกต่อไป
เพราะฉะนั้นสัญญาโครงการนี้จะต้องมีการแก้ไข
จำนวนเงินอาจลดลงจนใกล้เคียงสัญญาฉบับเดิม หรืออาจเพิ่มเติมส่วนอื่นเข้ามาอาทิเช่นเรือลำที่
5 (มั่วแล้ว!) ถามว่าทำได้ไหมทำได้อยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าเจรจาความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน
อีกสักพักใหญ่ๆ น่าจะมีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องนี้ รวมทั้งความชัดเจนเรื่องแบบเรือที่จะสร้างเป็นลำจริง
เรือทั้ง
4
ลำมีแผนเข้าประจำการระหว่างปี 2025 ถึง 2028
หลังจากนั้นบราซิลซึ่งได้รับการถ่ายโอนเทคโนโลยีไปแล้วจะทำอย่างไร?
ถ้าเป็นผู้เขียนจะซื้อเรือ MEKO A-100 ต่ออีก 4
ลำ นำมาทดแทนเรือฟริเกตชั้น Type 22 ที่สุดแสนชราภาพ
มีการปรับปรุงเล็กน้อยให้เหมาะสมมากขึ้น โดยการใส่โซนาร์ลากท้าย ATLAS
ACTAS เข้ามาด้วย ท้ายเรือมี Mission Deck ขนาดใหญ่โตไม่น่ามีปัญหา
เพียงเท่านี้บราซิลจะมีเรือรบขนาด 3,455 ตันเหมือนกันถึง 8
ลำ โดยที่ 4 ลำทำหน้าที่ปราบเรือดำน้ำ และอีก 4
ลำทำหน้าที่ปราบเรือผิวน้ำ ตรงตามความต้องการ Common Fleet ที่เคยฝันถึงมาเนิ่นนาน
เมื่อโครงการเรือคอร์เวต
MEKO
A-100 Batch II สำเร็จเรียบร้อย จากนั้นผู้เขียนจะนำองค์ความรู้มาพัฒนาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง
ระวางขับน้ำสัก 2,000 ตันไม่น่ายากเกินความสามารถ แล้วสร้างขึ้นมาใช้งานสัก
4 ลำก่อนในเฟสแรก ถ้าทำตามแผนนี้โอกาสล้มเหลวแบบเดิมคงมีน้อยมาก
แต่ถ้าเกิดห้าวจัดอยากพัฒนาแบบเรือคอร์เวตขึ้นมาเอง (อีกแล้ว)
หรือเป็นเสือข้ามห้วยซื้อเรือฟริเกต Type 054BR จากจีนมาใช้งาน
งานนี้ไม่แคล้วเละเป็นโจ๊กกองปราบเหมือนเดิมอีกครั้ง
กองทัพเรือประเทศกาแฟอร่อยคือตัวอย่างที่ดี
พวกเขาล้มลุกคลุกคลานมาตลอด 38 ปีเต็ม
เพื่อได้พบว่าตัวเองนั้นไม่มีศักยภาพเพียงพอ ที่จะสร้างเรือรบด้วยตัวเองแต่เพียงผู้เดียว
จำเป็นต้องใช้วิธีใช้เงินซื้อความสำเร็จ ซึ่งเป็นวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสมมากที่สุด
ผู้เขียนหวังว่าบราซิลจะประสบความสำเร็จ ทำทุกอย่างได้ตามต้องการและมีความสุขกับผลที่ได้ลัพธ์
เหมือนสาวน้อยมิคาสะที่ต่อมาไม่นานเธอได้รู้ว่า เอเรนยังไม่ตายและเขาแข็งแกร่งมากขึ้นกว่าเดิม
บทความดองเค็มบทความนี้ต้องขออำลาแต่เพียงเท่านี้
สวัสดีรอบวงอย่าลืมอยู่แต่ในบ้านเพื่อชาตินะครับ J
-------------------------------------
อ้างอิงจาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น