โครงการเรือคอร์เวตอาวุธนำวิถี
คณะกรรมการพิจารณาจัดหาเรือคอร์เวต
ตามคำสั่งกองทัพเรือ (เฉพาะ) ที่ 15/2525 ลงวันที่ 20 มกราคม 2525
ได้ดำเนินการตามหน้าที่ที่กองทัพเรือมอบหมายให้มาตามลำดับ
โดยได้เริ่มส่งหนังสือเชิญชวน พร้อมทั้ง Staff-Requirement ให้สถานเอกอัครราชทูตในประเทศไทย 7 แห่ง และตัวแทนในประเทศไทยของบริษัทผู้สร้างเรือในต่างประเทศ
15 รายในวันที่ 24 ธันวาคม 2524 ในการนี้ได้มีบริษัทต่างๆ
ยื่นเอกสารรายละเอียดและซองราคา 11 ราย
จากการพิจารณาข้อเสนอบริษัทต่างๆ
โดยยังมิได้เปิดซองราคา ปรากฏว่ามีบริษัทที่เสนอแบบเรือที่ผ่านการพิจารณาขั้นแรก 3
บริษัทได้แก่ บริษัทซี.เอ็ม.อาร์จากอิตาลี บริษัททาโคม่า
โบ้ทบิลดิ้ง จำกัดจากสหรัฐอเมริกา และบริษัทวอสเปอร์แห่งอังกฤษ แต่เนื่องมาจากแบบเรือของทั้งสามบริษัทดังกล่าวมีข้อบกพร่องในเรื่องต่างๆ
อยู่ด้วยกันทั้งสิ้น กองทัพเรือจึงให้คณะกรรมการรวบรวมข้อบกพร่องทั้งหมดของแต่ละบริษัท
แล้วส่งให้ทราบและแก้ไขและให้ทั้งสามบริษัทยื่นข้อเสนอมาใหม่
โดยให้ยื่นราคาถึงวันที่ 30 กันยายน 2525
เมื่อบริษัททั้งสามยื่นข้อเสนอมาใหม่
กองทัพเรือพิจารณาเห็นว่าราคาเรือของบริษัทวอสเปอร์สูงกว่าอีก 2
บริษัทมาก จึงได้ตกลงใจให้ตัดบริษัทวอสเปอร์ออกจากการพิจารณา
คงเหลือไว้พิจารณาในขั้นสุดท้าย 2 บริษัท อย่างไรก็ตามจากการพิจารณาทบทวนแบบแปลนและรายละเอียดของเรือทั้งสองบริษัทแล้ว
กองทัพเรือเห็นว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมความต้องการ
ระบบอาวุธและลักษณะของเรือบางประการให้เหมาะสม ซึ่งได้ให้คณะกรรมการแจ้งให้บริษัทแก้ไขเพิ่มเติมตามความต้องการกองทัพเรือต่อไป
เมื่อบริษัทซี.เอ็นและบริษัททาโคม่ายื่นข้อเสนอเข้ามาใหม่
คณะกรรมการได้พิจารณาเปรียบบเทียบลักษณะของเรือ รวมทั้งเงื่อนไขและรายละเอียดต่างๆ
ของทั้งสองบริษัทแล้วสรุปพิจารณา และเสนอแนะต่อกองทัพเรือเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2525
ที่ประชุมคณะกรรมการนายทหารชั้นผู้ใหญ่ซึ่งมีผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธาน
ได้ประชุมพิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการ
ประกอบกับข้อพิจารณาผู้บัญชาการทหารเรือเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม
2525 แล้วกองทัพเรือได้ตกลงใจให้คณะกรรมการเจรจากับผู้แทนบริษัททาโคม่าเป็นอันดับแรก
รวมทั้งแจ้งให้บริษัททาโคม่าแก้ไขข้อบกพร่องอีกบางประการ
แล้วเสนอแบบและราคาเรือมาใหม่
คณะกรรมการและอนุกรรมการฝ่ายต่างๆ
ได้เจรจาเงื่อนไขของสัญญาและรายละเอียดของผนวกแนบท้ายสัญญา
กับบริษัททาโคม่าและสามารถเจรจาทำความตกลงกันได้
คณะกรรมการได้เจรจาต่อรองจนถึงขั้นที่คณะกรรมการเห็นว่า
ในระดับกรรมการลู่ทางที่จะให้บริษัททาโคม่าลดราคาลงไปอีกน่าจะมีอยู่น้อยมาก
แต่บริษัททาโคม่าน่าจะลดราคาเรือลงได้อีกในขั้นการต่อรองระดับกองทัพเรือ
จึงนำเรียนผู้บัญชาการทหารเรือว่าควรจะต่อรองกับบริษัททาโคม่าให้ลดราคาเรือลงอยู่ในเกณฑ์ที่พอจะยอมรับได้
ในการประชุมเจรจาขั้นสุดท้ายระหว่างผู้บัญชาการทหารเรือและคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่
กับบริษัททาโคม่าเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2526 ทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงราคาเรือกันได้ในราคา 143 ล้านเหรียญ
คิดเป็นเงินไทยประมาณ 3,296,150,000 บาท (สามพันสองร้อยเก้าสิบหกล้านหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท)
และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 12
เมษายน 2526 ให้กองทัพเรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณเพื่อเป็นค่าสร้างเรือดังกล่าว
ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2527 ถึงปีงบประมาณ 2530
บัดนี้คณะกรรมการและบริษัททาโคม่า
โบ้ทบิลดิ้ง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่าย
ได้เตรียมสัญญาและผนวกแนบท้ายสัญญาไว้พร้อม
ได้ตรวจสอบร่วมกันถูกต้องและลงนามกำกับทุกหน้าเรียบร้อยแล้ว ผู้ที่จะลงนามทั้งในฐานะคู่สัญญาและในฐานะพยานตลอดจนผู้เข้าร่วมในพิธีทั้งสองฝ่ายได้มาพร้อมหน้ากันณ
ที่นี้แล้ว จึงขออนุญาตกราบเรียนเชิญผู้บัญชาการทหารเรือ
ได้ลงนามในสัญญาและผนวกแนบท้ายสัญญารวมสองชุด ร่วมกับ Mr.Robert
M Hill Vice President บริษัททาโคม่าซึ่งได้รับมอบอำนาจจากบริษัท
ให้เป็นผู้ลงนามในฐานะผู้รับจ้างต่อไป ทั้งนี้ได้มีเสนาธิการทหารเรือ
และเจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารเรือลงนามในฐานะพยานฝ่ายกองทัพเรือ และมีเอกอัครราชทูตอเมริกาประจำประเทศไทย
และนายชัยยุทธ กรรณสูตรประธานกรรมการบริษัทอิตัลไทยมารีน จำกัด
ลงนามในฐานะพยานฝ่ายบริษัททาโคม่า โบ้ทบิลดิ้ง
ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้ากองทัพเรือไทยจะมีเรือยามฝั่งเพิ่มขึ้นอีก
2
ลำพร้อมอาวุธเต็มอัตราศึก เช่น ฮาร์ปูน-อัลบราทรอส-ฟาแลงซ์-ปืน 76/62-40/70-ตอร์ปิโดปราบด.พร้อมอิเล็คทรอนิคที่ทันสมัยรวมราคามากกว่า 6 พันล้าน
ในขณะที่อีก 2 เดือนข้างหน้าเรือปืนชุดชลบุรีจะถึงไทยจำนวน 3
ลำ
จึงเป็นที่ไว้วางใจได้ว่ากองทัพเรือไทยไม่น้อยหน้าใครในภูมิภาคนี้เป็นแน่
เรื่องราวหลังจากนั้น
บทความช่วงแรกทั้งหมดผู้เขียนนำมาจากนิตยสารสงคราม
หรือ ALL
WARFARE ปีที่ 6 เล่มที่ 161 วันที่ 30 พฤษภาคม 2526 คัดลอกมาทั้งหมดรวมทั้งคำผิดหรือข้อมูลที่ตีกันเอง
(บริษัทอิตาลีชื่อซี.เอ็ม.อาร์ หรือ ซี.เอ็นกันแน่…งง) เพื่อเป็นการเผยแพร่ขั้นตอนรายละเอียดในการคัดเลือกแบบเรือคอร์เวตอาวุธนำวิถี
ซึ่งค่อนข้างวุ่นวายขายปลาช่อนมีการแก้ไขแบบเรือถึง 3 รอบ เสร็จเรียบร้อยยังมีการเจรจาเรื่องเงินๆ
ทองๆ อีกสักพักใหญ่ๆ แต่ถึงกระนั้นโครงการนี้กลับใช้เวลาค่อนข้างน้อย ส่งหนังสือเชิญชวนเดือนธันวาคม
2524 และมีพิธีลงนามสัญญาเดือนพฤษภาคม 2526 เท่ากับใช้เวลา
17 เดือนในการคัดเลือกแบบเรือคอร์เวตติดอาวุธทันสมัย
ชมภาพประกอบที่หนึ่งกันก่อนนะครับ
ภาพบนเป็นเรือคอร์เวตอาวุธนำวิถีตามแผนการจัดหาในปี 2525
ผู้เขียนวาดและปรับปรุงเพื่อใช้ประกอบบทความนี้โดยเฉพาะ ส่วนภาพล่างเป็นเรือคอร์เวตลำจริงเข้าประจำการสักพักหนึ่งแล้ว
หลักฐานที่ชัดเจนก็คือยังไม่ได้เปลี่ยนหมายเลขเรือเป็นแบบสามหลัก
ได้มาจากท่านจูดาสในกระดานถามตอบ www.thaifighterclub.org
ซึ่งนำมาจากนิตยสารทางทหารต้องขอขอบคุณเป็นอย่างสูง
เรือคอร์เวตอาวุธนำวิถีใช้แบบเรือ
PFMM
Mk.16 ของบริษัททาโคม่า โบ้ทบิลดิ้ง ระวางขับน้ำปรกติ 840 ตัน ระวางขับน้ำเต็มที่ 960 ตัน ยาว 76.8 เมตรหรือ 252 ฟุต กว้าง 9.6 เมตร
กินน้ำลึกสุด 4.5 เมตร ติดปืนใหญ่ Oto 76/62
IROF อัตรายิง 100 นัดต่อนาทีลำแรกของราชนาวีไทย
ติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon ลำแรกของราชนาวีไทย
ติดอาวุธปล่ยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ASPIDE ลำแรกของราชนาวีไทย
และติดระบบเป้าลวง Dagaie รุ่นใหม่ทันสมัยลำแรกของราชนาวีไทย
เรือลำเล็กก็จริงแต่มีพิษสงน่ากลัวประมาทไม่ได้เลย
ความแตกต่างระหว่างเรือตามแผนการกับเรือจริงมีใหญ่ๆ
2 เรื่อง
หนึ่งระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Phalanx หายไปจากท้ายเรือ
สองระบบส่งสัญญาณรบกวนการแพร่คลื่นเรดาร์หรือ ECM รุ่น Elettronica
ELT 318 หายไปจากเสากระโดง ไม่มีจานส่งสัญญาณรบกวน ELT 828 จำนวน 4 ใบทั้งๆ ที่ทำจุดติดตั้งรอไว้แล้ว
สาเหตุที่อุปกรณ์ไม่มาตามนัดคงเป็นเพราะเรื่องงบประมาณ
การต่อรองราคาเรือให้ลดลงมาจนอยู่ในเกณฑ์ที่พอจะยอมรับได้ ผู้เขียนคาดเดาว่าน่าจะมีการตัด
Phalanx กับ Elettronica ELT 318 ECM ออกไป
ไม่มาก็ไม่มา…เรามาเสาะหาข้อมูลจากฝั่งอเมริกากันบ้างดีกว่า นิตยสาร MARITIME
REPORTER AND ENGINEERING NEWS ประจำเดือนตุลาคม 1983 หรือ พ.ศ.2526 ลงข่าวเรื่องนี้ในหน้าที่ห้าว่าบริษัททาโคม่า
โบ้ทบิลดิ้ง ได้รับสัญญาสร้างเรือคอร์เวตขนาด 252 ฟุตจำนวน 2
ลำให้กับกองทัพเรือไทย สัญญามูลค่า 143 ล้านเหรียญสำหรับการออกแบบและสร้างเรือคอร์เวต
บริษัทได้ใบอนุญาตส่งออกอาวุธตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม และเรือไทยมีการออกแบบคล้ายคลึงเรือตรวจการณ์ขนาด
245 ฟุตซึ่งสร้างให้กับพันธมิตรอเมริกาจำนวน 4 ลำ
การปรับปรุงเรือ
เรือตรวจการณ์ขนาด
245 ฟุตสำหรับพันธมิตรอเมริกาคือเรืออะไร?
คำตอบอยู่ในภาพประกอบที่สอง
ระหว่างปี
1981
ถึง 1983 กองทัพเรือซาอุดีอาระเบียเข้าประจำการเรือตรวจการณ์อาวุธนำวิถีขนาดใหญ่
(larger patrol chaser missile craft หรือ PCG) ชั้น Badr จำนวน 4 ลำ ต่อมาไม่นานจึงเปลี่ยนมาเรียกว่าเรือคอร์เวต
เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 1,038 ตัน ยาว 74.7 เมตรหรือ 245 ฟุต กว้าง 9.6 เมตร
กินน้ำลึก 2.6 เมตร ติดปืนใหญ่ Oto 76/62 Compact ที่หัวเรือ 1 กระบอก ระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx ท้ายเรือ 1 ระบบ อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon
จำนวน 8 นัด รวมทั้งตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำอีก 2 แท่นยิง
เรือซาอุมีขนาดใหญ่เคียงกับเรือไทย
ความยาวต่างกันเพียง 7 ฟุต ระวางขับน้ำสูงสุดต่างกันแค่
78 ตัน เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพชัดเจนกว่าเดิม
ผู้เขียนนำเรือทั้งสองลำมาเปรียบเทียบกันในภาพประกอบที่สาม
หัวเรือรูปทรงเหมือนกันติดปืนใหญ่ตำแหน่งเดียวกัน
พื้นที่ว่างระหว่างปืนใหญ่กับสะพานเดินเรือของเรือซาอุ เรือไทยสร้าง Superstructure
ขึ้นมาเพื่อติดปืนกล 40L70 ลำกล้องแฝดจากอิตาลี
สะพานเดินเรือรูปทรงคล้ายกันแต่เรือไทยทรงห้าเหลี่ยมเรือซาอุทรงสี่เหลี่ยม เสากระโดงหลักตำแหน่งใกล้เคียงกันรูปทางแตกต่างกัน
ปล่องระบายความร้อนห่างกันก็จริงแต่ท่อระบายความร้อนหน้าตาเหมือนกัน แท่นยิงตอร์ปิโดเบากับ
Harpoon ค่อนข้างใกล้เคียงกัน ท้ายเรือกดให้เตี้ยใกล้น้ำเหมือนกันมีจุดติดอาวุธใกล้เคียงกัน
เรือรบยุค
80 มักออกแบบให้หัวเรือค่อนข้างสูงใช้ฝ่าคลื่นลมพายุ แล้วค่อยๆ
ลดต่ำลงมาจนถึงบริเวณสะพานเดินเรือ จากนั้นดาดฟ้าเรือจะสูงใกล้เคียงกันยาวไปจรดท้ายเรือ
ทว่าเรือชั้น Badr กับเรือคอร์เวตไทยหัวเรือไม่สูงสักเท่าไร สันเรือขีดเป็นเส้นยาวจรดสะพานเดินเรือ
(ถ้าเป็นรถกระบะนี่คือการตีโป่งออกมาคลุมล้อ) ครั้นพอถึงเสากระโดงดาดฟ้าเรือจะค่อยๆ
ลดต่ำลง นี่คือเอกลักษณ์เฉพาะตัวบ่งบอกถึงความสัมพันธ์อย่างชัดเจน
ก่อนซื้อเรือราชนาวีให้บริษัททาโคม่าแก้แบบเรือถึง
3
ครั้ง จนกระทั่งได้เรือหน้าตาเปลี่ยนไปจากของเดิมแทบจำไม่ได้ ผู้เขียนเดาว่าต้องการติดตั้งระบบเรดาร์เหมือนเรือยุโรป
โดยติดเรดาร์ควบคุมการยิงกับเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำบนเสากระโดงหลัก ส่วนเรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศแยกมาติดบนเสากระโดงรอง
คล้ายกับเรือหลวงมกุฎราชกุมารซึ่งเราซื้อมาจากบริษัทยาร์โรว์ประเทศอังกฤษ
บังเอิญเรือชั้น
Badr ติดเรดาร์ทั้งหมดบนเสากระโดงหลัก
แล้วแยกเรดาร์ควบคุมการยิงมาไว้บนหลังคาสะพานเดินเรือ เหมือนเรือฟริเกตชั้น
Knox ชั้น Garcia หรือชั้น Brook
อาจไม่โดนใจลูกประดู่ไทยพูดแบบนี้ก็คงไม่ผิด แต่ขอโทษที…เรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ AN/SPS-40 ระยะทำการ 200 ไมล์ทะเลเชียวนะครับ
เรือคอร์เวตอาวุธนำวิถีต่างจากเรือต้นแบบพอสมควร
จะเกิดปัญหาในการใช้งานจริงหรือไม่?
เหตุการณ์คล้ายคลึงกัน
ขอมาทุกคนมาที่โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำในปี
2530
หรืออีก 5 ปีถัดมา บริษัทอิตัลไทย มารีนจำกัด นำแบบเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น
Province ของบริษัทวอสเปอร์ ธอร์นิครอพท์แห่งประเทศอังกฤษ มาดัดแปลงยืดเฉพาะความยาวไปอีก
9 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ได้ความยาวตลอดลำใหม่เป็น 62 เมตร จากนั้นจึงใส่อาวุธปราบเรือดำน้ำเข้ามาอย่างพร้อมสรรพ
เพื่อเข้าร่วมชิงชัยโครงการสำคัญมากอีกโครงการหนึ่ง
บริษัทได้ยื่นซองประกวดราคาและรายละเอียดทั้งหมดในวันที่
9 กุมภาพันธ์ 2530 ใช้เวลา 7 เดือนจึงมีการลงนามสัญญาในวันที่
24 กันยายน 2530 เรือต้นฉบับกับเรือที่ได้รับการคัดเลือกหน้าตาตามภาพประกอบที่สี่
กองทัพเรือไทยเล่นท่ายากอีกแล้ว
คราวเป็นการตีลังกลับหลังสามครั้งติดกัน
แบบเรือจากบริษัทวอสเปอร์
ธอร์นิครอพท์ถูกปรับปรุงจนแทบจำไม่ได้ หัวเรือคล้ายกัน จุดติดปืนใหญ่ 76/62
มม.ที่เดียวกัน
สะพานเดินเรือรูปทรงเดียวกันแต่เรือไทยยื่นยาวมาจนสุดไม่เหลือทางเดิน
เสากระโดงรูปร่างเหมือนกันจุดติดตั้งใกล้เคียงกัน
แต่ทว่าครึ่งลำเรือส่วนหลังแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
มีการสร้างปล่องระบายความร้อนขนาดใหญ่สไตล์อังกฤษ
อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบหายไป ใส่อาวุธปราบเรือดำน้ำเข้ามาแทนที่
3
ชนิด (ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ เครื่องยิงระเบิดลึก
และรางปล่อยระเบิดลึก) มีปืนกล 30 มม.ลำกล้องแฝดจากเยอรมันไว้ป้องกันภัยทางอากาศ
กราบเรือสองฝั่งไม่ทาสีดำเหมือนเรือต้นแบบ
การปรับปรุงใหญ่ส่งผลเสียต่อการใช้งานหรือไม่?
ถ้าปรับปรุงกันเองโดยโรงงานห้องแถวมีผลแน่นอน
บังเอิญบริษัทอิตัลไทย มารีนทำข้อตกลงกับบริษัทวอสเปอร์ ให้ออกแบบโครงสร้างตัวเรือใหม่ทั้งหมดตามกฎของลอยด์
และให้สถาบันลอยด์แห่งอังกฤษตรวจรับรองแบบโครงสร้างใหม่ทั้งหมด เท่ากับเป็นการสร้างแบบเรือขึ้นมาใหม่อย่างสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์
ส่งผลให้ผ่านการคัดเลือกได้รับการสร้างจริงจำนวน 7 ลำ ประกอบไปด้วยเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำจำนวน 3 ลำ
เรือตรวจการณ์ปืนจำนวน 3 ลำ
และเรือตรวจการณ์ตำรวจน้ำอีก 1 ลำ
แบบเรือตรวจการณ์ขนาด
62
เมตรจากบริษัทวอสเปอร์ มียอดผลิตมากกว่าแบบเรือ PSMM Mk-5 หรือ Patrol Ship Multi-Mission ของบริษัททาโคม่า ซึ่งบริษัทอิตัลไทย
มารีนนำมาสร้างเรือตรวจการณ์ปืนชั้นเรือหลวงคลองใหญ่จำนวน 6 ลำ
จนถึงปัจจุบันยังคงเป็นอันดับหนึ่งเรือตรวจการณ์ขนาด 50-60 เมตรของไทย
แต่ถ้านับรวมทั้งโลกจำต้องพ่ายแพ้ให้กับ PSMM Mk-5 ซึ่งมีใช้งานกับ
4 ประเทศจำนวนเรือที่สร้างมากถึง 20 ลำ
เรือคอร์เวตอาวุธนำวิถีในปัจจุบัน
เบื้องหลังการจัดหาเรือคอร์เวตอาวุธนำวิถีจบสิ้นแต่เพียงเท่านี้
กองทัพเรือไทยได้เรือรบติดอาวุธ 3 มิติจำนวน 2
ลำชื่อเรือหลวงรัตนโกสินทร์ลำที่สองกับเรือเรือหลวงสุขโขทัยลำที่สอง
เข้าประจำการมาอย่างยาวนานจนถึงปัจุบัน เป็นกำลังรบหลักโดยเฉพาะเรื่องต่อสู้อากาศยาน
จนกระทั่งเรือหลวงนเรศวรกับเรือตากสินได้รับการติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน
ESSM ภาระอันแสนหนักอึ้งของเรือลดลงอย่างฮวบฮาบทันตาเห็น
ภาพประกอบที่ห้าคือเรือหลวงสุโขทัยถ่ายเมื่อเดือนที่แล้ว
สภาพโดยรวมมีการปรับปรุงค่อนข้างน้อยมาก (โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเรือฟริเกตจากประเทศจีน)
มีการติดเรดาร์เดินเรือเพิ่มเติมบนหลังคาสะพานเดินเรือ เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ ZW06 ถูกแทนที่ด้วยของใหม่อย่าง Scout Mk3 ระบบตรวจการแพร่คลื่นเรดาร์หรือ
ESM รุ่น Elettronica ELT 211
ถูกแทนที่ด้วย ES-3601 อันเป็นรุ่นมาตรฐานทัพเรือไทย
บริเวณท้ายเรือแทบมองความเปลี่ยนแปลงไม่เห็น
มีการติด SATCOM สื่อสารผ่านดาวเทียมในจุดที่เตรียมไว้ให้
Phalanx ซึ่งไม่มาตามนัดหมาย อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน
ASPIDE Mk1 มีข้อมูลว่าถูกแทนที่ด้วย ASPIDE 2000 รุ่นใหม่ระยะยิงเพิ่มเป็น 25 กิโลเมตร โชคร้ายอย่างถึงที่สุดผู้เขียนไม่เคยเห็นของจริงสักครั้ง
แม้ไม่มีภาพถ่ายอาวุธทันสมัยจากอิตาลี
บังเอิญผู้เขียนมีข้อมูลจากจัดซื้อจัดจ้างกองทัพเรือมาฝาก
มีการตั้งงบประมาณจัดหาอาวุธปล่อยนำวิถี ASPIDE จำนวน 10 นัดในเดือนกันยายน 2556 โดยใช้งบประมาณปี 2557 วงเงิน 256 ล้านบาทหรือเท่ากับราคานัดละ 25.6 ล้านบาท ภาพประกอบสุดท้ายแสดงข้อมูลหนึ่งเดียวที่พอจะช่วยยืนยันเรื่องนี้
ราคาซื้อจริงอาจคลาดเคลื่อนเล็กน้อย 10 ถึง 15 ล้านประมาณนี้
นี่คือการจัดหา
ASPIDE 2000 มาใช้งานบนเรือหลวงรัตนโกสินทร์กับเรือหลวงสุโขทัย
ยังเหลือแค่เพียงทดลองยิงจริงให้ผู้เขียนได้เห็นเป็นบุญตา จำนวน 10 นัดน่าจะมากเพียงพอกับการใช้งาน 10 ถึง 15 ปี
บทความโครงการเรือคอร์เวตอาวุธนำวิถีเดินทางมาถึงตอนจบ
ภาพประกอบออกแนวเศร้าๆ เก่าๆ หมองๆ หม่นๆ อย่าว่ากันเลยเน่อ
ไว้แก้ตัวในครั้งถัดไปวันนี้ขอกล่าวคำอำลาสวัสดีครับ J
++++++++++++++++
อ้างอิงจาก
นิตยสารสงคราม
หรือ ALL
WARFARE WARFARE ปีที่ 6 เล่มที่ 161 วันที่ 30 พฤษภาคม 2526
นิตยสาร
MARITIME
REPORTER AND ENGINEERING NEWS ประจำเดือนตุลาคม 1983
http://www.supplyonline.navy.mi.th/pdf2/8365.pdf
https://en.wikipedia.org/wiki/Badr-class_corvette
https://thaimilitary.blogspot.com/2019/12/htms-khamronsin.html
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=2129742613833636&id=169697976504786
http://www.shipspotting.com/gallery/photo.php?lid=792682
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น