เรือรบผิวน้ำราชนาวีอังกฤษในทศวรรษ 2030
สงครามฟอล์กแลนด์ในปี
1982 กองทัพเรืออังกฤษซึ่งอยู่ในสภาพไม่พร้อม ส่งเรือรบผิวน้ำจำนวน 23 ลำไปแย่งชิงดินแดน ประกอบไปด้วยเรือพิฆาตชั้น Type 82 จำนวน 1 ลำ เรือพิฆาตชั้น Country จำนวน 2 ลำ เรือพิฆาตชั้น Type 42 จำนวน 5 ลำ เรือฟริเกตชั้น Type 22 จำนวน 2 ลำ เรือฟริเกตชั้น Type 21 จำนวน 7 ลำ เรือฟริเกตชั้น Leander จำนวน 4 ลำ และเรือฟริเกตชั้น Rothesay จำนวน 2 ลำ
โดยมีเรือรบอีกจำนวนพอสมควรประจำการอยู่ในประเทศ
วันเวลาผ่านพ้นจนถึงปลายปี
2020 กองเรือรบผิวน้ำราชนาวีอังกฤษขนาดเล็กลงกว่าเดิม
เหลือเพียงเรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศจำนวน 6
ลำกับเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำอีก 13 ลำ รวมแล้วเท่ากับ 19 ลำน้อยกว่าจำนวนเรือไปทำสงครามฟอล์กแลนด์
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้มีด้วยกันหลายประการประกอบไปด้วย
-สหภาพโซเวียตและองค์กรสนธิสัญญาวอร์ซอล่มสลาย
งบประมาณกระทรวงกลาโหมน้อยกว่าเดิมตามภัยคุกคาม
ทุกเหล่าทัพต้องลดกำลังทางทหารตามความเหมาะสม
รวมทั้งกองทัพเรือซึ่งเป็นเส้นเลือกหลักของอังกฤษ
-กองทัพเรืออังกฤษต้องการสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินขนาด
65,000 ตัน รวมทั้งอากาศยานประจำเรืออาทิเช่น
เครื่องบินขับไล่ F-35B เฮลิคอปเตอร์เตือนภัยทางอากาศ Merlin
AEW พวกเขาจำเป็นต้องใช้เงินก้อนโตในการสานฝัน
-สถานะทางการเงินของอังกฤษไม่ดีเหมือนในอดีต
ประสบปัญหาวุ่นวายจนตัดสินใจออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป
สิ่งที่เกิดเป็นเรื่องปรกติสำหรับทุกประเทศ
กองทัพเรืออังกฤษใช้เรือรบ 19
ลำของตัวเองตามปรกติ
มีแผนการจัดหาเรือฟริเกตแทนของเดิมที่ใกล้ปลดประจำการ ด้วยจำนวนเรือ 2 ชั้นแต่จำนวนเท่าเดิมคือ 8+5=13 ลำ
ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน
2020
นายกรัฐมนตรี บอริส
จอห์นสันได้ออกมาเปิดเผยว่า เพื่อเสริมสร้างนาวิกานุภาพ
สหราชอาณาจักรให้เข้มแข็งเหมือนในอดีต จะมีการสร้างเรือรบภายในประเทศมากกว่าเดิม
ฉะนั้นในทศวรรษที่ 2030 อังกฤษจะมีเรือรบผิวน้ำเพิ่มขึ้นจาก 19
ลำเป็น 24 ลำ
จำนวนเรือเพิ่มขึ้นมาอีก
5
ลำ ไม่อาจพลิกโฉมให้กองทัพเรืออังกฤษยิ่งใหญ่ทันทีก็จริง
แต่กลายเป็นเรื่องน่าสนใจจากสื่อมวลชนทั่วโลก
โดยเฉพาะคนอังกฤษเองซึ่งพากันวิเคราะห์เจาะลึก
ผ่านหน้าจอโทรศัพท์หรือแล็บท็อปเนื่องจากผับบาร์ยังไม่เปิด
อันเป็นผลจากการระบาดของโรคร้ายเชื้อสายเมืองผู้ดี (ตอนนี้น่าจะทยอยเปิดกันแล้ว
ส่วนประเทศไทยคงอีกสักพักหนึ่ง)
บทความนี้จำเพราะเจาะจงมาที่เรือ
24
ลำ มีที่มาที่ไปอย่างไร…ประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน…ตามผู้เขียนมาครับ
ภาพใบนี้คือเรือรบผิวน้ำจำนวน
4
แบบของราชนาวีอังกฤษ ตามแผนจะมาครบทั้ง 24 ลำประมาณปี
2036
Type 45 Destroyer
สงครามฟอล์กแลนด์ในปี
1982 อังกฤษส่งเรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศชั้น Type 42 จำนวน
5 ลำเข้าร่วมกองเรือ
เป็นเรือค่อนข้างใหม่เรืออายุมากสุดเพียง 7 ปีเท่านั้น
ปรากฏว่าเรือ 2 ลำจมลงระหว่างการต่อสู้
เรือลำแรกจมเพราะอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบยิงจากเครื่องบิน เรือลำที่สองจมเพราะระเบิดที่เครื่องบินนำมาหย่อน
เรือสองลำจมเพราะภัยคุมคามที่ตัวเองสร้างขึ้นมาเพื่อรับมือ
หาใช่จากเรือดำน้ำหรือเรือผิวน้ำอาร์เจนตินา
สิ่งนี้เองเป็นการตบหน้าราชนาวีอังกฤษจนเลือดกบปาก
อังกฤษสร้างเรือพิฆาตชั้น
Type
42 เข้าประจำการจำนวน 13 ลำ ลำสุดท้ายของ Batch
3 เข้าประจำการปลายปี 1985 ทว่าในปี 1984
หลังสงครามสิ้นสุดเพียง 2 ปี
โครงการจัดหาเรือทดแทนเรือพิฆาตชั้น Type 42
ถูกเขี่ยขึ้นมาทันที
ทำไมอังกฤษเร่งพัฒนาเรือรบรุ่นใหม่? กลัวอาร์เจนตินาบุกระลอกสองอย่างนั้นหรือ?
คำตอบก็คือการพัฒนาแบบเรือจนแล้วเสร็จ
ต้องใช้เวลายาวนานถึง 15 ปีเป็นอย่างต่ำ
ต้องใช้เวลาสร้างเรือ 5-6 ปีต่อหนึ่งลำ
กว่าจะครบทุกลำกินเวลายาวนานถึง 10 ปีขึ้นไป
โครงการนี้เริ่มต้นเดินหน้าปี 1984 เรือทุกลำเข้าประจำการครบในปี
2013 สรุปแล้วต้องใช้เวลารวมกันถึง 29 ปีเต็ม
น้อยกว่าอายุประจำการเรือรุ่นใหม่เพียง 1 ปีเท่านั้น
ฉะนั้นเมื่อเรือรุ่นใหม่เข้าประจำการครบถ้วน
อังกฤษจะเดินหน้าโครงการจัดหาเรือทดแทนต่อทันที
หลังตั้งไข่โครงการจัดหาเรือทดแทนเรือพิฆาตชั้น
Type
42 บังเอิญช่วงนั้นเกิดโครงการขนาดยักษ์ใหญ่ NFR-90 หรือ NATO Frigate Replacement หรือโครงการพัฒนาเรือฟริเกตอเนกประสงค์ร่วมกันระหว่างสมาชิกนาโต้
อังกฤษเข้าร่วมเช่นกันหวังนำเรือใหม่มาแทนเรือพิฆาตชั้น Type 42 นี่แหละ แต่แล้วในปี 1989 อังกฤษกับฝรั่งเศสได้ขอถอนตัวออกจากโครงการ
เพื่อพัฒนาเรือฟริเกตรุ่นใหม่ร่วมกันเพียง 2 ชาติ
ทั้งนี้เนื่องมาจาก NFR-90 ไม่สามารถตอบโจทย์ได้ครบทุกเรื่อง
มีการเซ็นสัญญาในปี
1991
ใช้ชื่อโครงการว่า Common New Generation Frigate หรือ CNGF ปีถัดมาอิตาลีขอร่วมโครงการอีกหนึ่งประเทศ
เพิ่มความมั่นใจว่าโครงการจะไม่ล่มปากอ่าว ตลอดระยะเวลา 8 ปีทุกสิ่งทุกอย่างไปได้สวย
ทว่าในปี 1999 อังกฤษขอถอนตัวจากโครงการ
เพราะความต้องการของตัวเองกับเพื่อนสมาชิกไม่ตรงกัน
ปีเดียวกันอังกฤษเริ่มเดินหน้าเต็มตัว พัฒนาเรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศชั้น Type 45 หรือเรือชั้น Daring ปรากฏเรือต้นแบบตามภาพกราฟิกที่หนึ่ง อวดโฉมคนทั่วโลกครั้งแรกระหว่างเดือนพฤศจิกายน 1999
พิจารณาภาพกราฟิกสักเล็กน้อย ดาดฟ้าหัวเรือไล่มาถึงท้ายเรือความสูงเท่ากันหรือเรียกว่า Flush Deck หัวเรือติดปืนใหญ่ขนาด 155 มม.อังกฤษพัฒนาขึ้นมาใหม่ ถัดไปเป็นแท่นยิงแนวดิ่ง Sylver สำหรับอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Aster ต่อด้วยระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Phalanx หน้าสะพานเดินเรือเยื้องมาทางฝั่งขวา อาวุธทั้งหมดติดตั้งบนดาดฟ้าเรือความสูงเท่ากัน เป็นการออกแบบที่ค่อนข้างแหวกแนวพอสมควร
สะพานเดินเรือกับโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ความสูงใกล้เคียงกัน
สร้างแยกจากกันที่ว่างตรงกลางติดตั้งแท่นยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon
เสากระโดงหลักค่อนข้างสูงพอสมควร เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติรุ่นใหม่อยู่ในโดมกลม สร้างเสากระโดงรองแยกต่างหากกลางลำเรือ
มีเสากระโดงตัวที่สามสำหรับเรดาร์ตรวจการณ์ระยะไกล
ติดตั้งระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Phalanx
เหนือโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์เยื้องมาทางฝั่งซ้าย รองรับเฮลิคอปเตอร์ AW101
Merlin ขนาด 14.6 ตันได้จำนวน 1 ลำ
ปล่องระบายความร้อนติดตั้งกราบขวากราบซ้ายสลับกัน
พื้นที่ว่างอีกฝั่งใช้ติดตั้งเรดาร์ตัวใหญ่หรืออาวุธได้
ดีไซน์นี้ปัจจุบันค่อนข้างได้รับความนิยม
หมายความว่าอังกฤษเป็นผู้ค้นคิดและพัฒนารายแรกๆ บังเอิญโชคร้ายแบบเรือลำนี้ไม่ถูกสร้างจริง
ไม่สร้างก็ดีแล้วเพราะผู้เขียนไม่ค่อยถูกใจเหมือนเรือลำจริง
ปี 2000
หลังผ่านพ้นวิกฤตวายทูเคการแหกตาระดับโลก
มีการแก้ไขแบบเรือจนเสร็จสมบรูณ์ในที่สุด
เดือนธันวาคมกองทัพเรืออังกฤษสั่งซื้อเรือเฟสแรกจำนวน 3 ลำ
ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2001 สั่งซื้อเฟสสองเพิ่มอีก 3 ลำ ถ้าเขียนเพียงเท่านี้ผู้อ่านอาจคิดว่าเป็นไปตามแผน
อังกฤษสั่งซื้อเรือถึง 6 ลำภายใน 8 เดือนถือว่าใจป้ำที่สุดแล้ว
เปล่าเลยครับ…ว่ากันตามตรงโครงการนี้ผิดแผนพอสมควร
แรกเริ่มเดิมทีกองทัพเรืออังกฤษต้องการเรือ
12
ลำ คิดคำนวณถี่ถ้วนราคารวมทั้งโครงการอยู่ที่ 9.4 พันล้านเหรียญ หารออกมาได้เท่ากับ 780 ล้านเหรียญต่อหนึ่งลำ
นำมาทดแทนเรือพิฆาตชั้น Type 42 แบบหนึ่งต่อหนึ่งนั่นเอง
ต่อมาในปี 2004 โครงการถูกลดจำนวนเหลือเพียง 8 ลำ ราคาเฉลี่ยต่อลำตกอยู่ที่ 1 พันล้านเหรียญ
ท้ายที่สุดในปี 2008 ถูกตัดเหลือเพียง 6 ลำหรือเท่ากับสองเฟสแรก ส่งผลให้ราคาเฉลี่ยต่อลำพุ่งมาหยุดที่ 1.2 พันล้านเหรียญ
เรือราคาแพงขึ้นเพราะค่าพัฒนาแบบเรือมีตัวหารน้อยลง
สาเหตุที่อังกฤษซื้อเรือน้อยลงมีหลายปัจจัยด้วยกัน
ไม่อยากเสียเงินตรงนี้ต้องซื้อแบบเรือต่างประเทศมาสร้าง เพียงแต่แบบเรือจะไม่ตรงตามความต้องการที่แท้จริง
รวมทั้งเป็นการทำลายบริษัทออกแบบเรือภายในประเทศ
ต่อไปในภายภาคหน้าอาจเป็นง่อยพึ่งพาตัวเองไม่ได้
จะเห็นได้นะว่าการสร้างเรือรบสักลำไม่ง่ายเลย
ถ้าผู้บริหารโครงการมือไม่ถึงยิ่งไปกันใหญ่
นี่คือสาเหตุที่ออสเตรเลียต้องซื้อเรือจากต่างประเทศ
ไม่เว้นแม้กระทั่งเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งซึ่งเป็นงานง่ายๆ
ซื้อมาแล้วเพื่อการคงอยู่ของอุตสาหกรรมต่อเรือภายในประเทศ
พวกเขาจำเป็นต้องสร้างเองในราคาแพงหูฉี่อันดับต้นๆ ของโลก
กลับมาที่เรือพิฆาต
Type
45 อีกครั้ง นี่คือภาพเรือ D34 HMS Diamond เข้าประจำการปี 2011 สร้างโดยบริษัท BAE Systems จากเมืองกลาสโกว์ประเทศสกอตแลนด์
ระวางขับน้ำปรกติ 5,800 ตัน ระวางขับน้ำเต็มที่ 7,450 ตัน ยาว 152.4 เมตร กว้าง 21.2 เมตร กินน้ำลึกสุด 5.2 เมตร ใช้ระบบขับเคลื่อน IEP
ผสมระหว่างระบบไฟฟ้ากับเครืองยนต์ Gas Turbines ทำความเร็วสูงสุด 30 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 7,000
ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 18 นอต
หัวเรือติดปืนใหญ่
4.5
นิ้ว Mk 8 Mod 1
ต่อด้วยแท่นยิงแนวดิ่ง 48 ท่อยิง
สำหรับอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Aster-30 จำนวน 32 นัดกับ Aster-15 อีก 16 นัด
สร้างคอกเหล็กรูปสี่เหลี่ยมล้อมกรอบแท่นยิง Superstructure แบบชิ้นเดียวยาวหัวจรวดท้าย
สะพานเดินเรือสูงกว่าเดิมนิดหน่อย เสากระโดงหลักสูงขึ้นติดเรดาร์ตรวจการณ์ Type
1045 หรือ Sampson
ปล่องระบายความร้อนย้ายกลับมาอยู่กลางลำ เสากระโดงรองเตี้ยกว่าเดิม
เสากระโดงตัวที่สามเตี้ยกว่าเดิมเช่นกัน ติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ระยะไกล Type
1046 หรือ S-1850M หรือ SMART-L ของ THALES ที่อังกฤษนำมาปรับปรุงเพิ่มเติม
แม้ถูกออกแบบให้เป็นเรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศ
แต่เรือต้นฉบับติดตั้งอาวุธครบทั้ง 3 มิติ
มีแท่นยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon หน้าสะพานเดินเรือ
มีแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำแฝดสองกลางเรือ
มีพื้นที่จัดเก็บตอร์ปิโดสติงเรย์รวมกันจำนวน 24 นัด
ทำงานร่วมกับโซนาร์หัวเรือและเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ
มีการตีโป่งกลางเรือเพื่อติดตั้งระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Phalanx ที่อยู่ถัดไปหน่อยเดียวคือปืนกลอัตโนมัติขนาด 30 มม.
DS-30M Mk2
ตามแผนจะติดตั้งอาวุธจำนวนเท่านี้
ต่อมาไม่นานแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำถูกถอดออก และไม่ติดตั้งโซนาร์หัวเรือ
Type 2050 เหมือนเรือฟริเกต Type 23 แต่สั่งซื้อโซนาร์รุ่น MFS-7000 หรือ Type
2091 จาก Ultra Electronics หรือ EDO จำนวน 6 ระบบมูลค่า 20 ล้านปอนด์ในปี
2002
นำมาใช้งานบนเรือโดยไม่มีตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ
ไม่มีตอร์ปิโดแล้วจะจัดการเรือดำน้ำได้อย่างไร?
ถ้าโซนาร์ MFS-7000 ตรวจเจอเรือดำน้ำเซ่อซ่าของฝ่ายตรงข้าม
ใช้เฮลิคอปเตอร์บินไปหย่อนตอร์ปิโดจากบนฟากฟ้าได้ หรือวิทยุแจ้งให้เรือฟริเกต Type
23 ช่วยจัดการก็ได้
ทว่าในความเป็นจริงเรือติดโซนาร์เพื่อป้องกันตัวมากกว่า MFS-7000 สามารถตรวจจับตอร์ปิโดจากเรือดำน้ำ
รวมทั้งช่วยเตือนภัยทุ่นระเบิดได้ดีในระดับหนึ่ง
ผู้เขียนอยากให้นึกถึงเซนเซอร์ถอยหลังท้ายรถเก๋ง
นั่นแหละครับการใช้งาน MFS-7000 บนเรือพิฆาต Type
45 ถ้าไม่มีอะไรสักอย่างแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า
ระบบเป้าลวงตอร์ปิโดทันสมัยจะทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ
Type 26 Global Combat Ship
เรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำ
Type
23 เข้าประจำการระหว่างปี 1990 ถึง 2002 แม้ถูกปรับปรุงใหญ่ทันสมัยกว่าเดิมแล้วก็จริง แต่อีกไม่นานเรือทั้ง 13
ลำต้องทยอยปลดประจำการ เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2021 ไล่ไปจนถึงกลางปี 2035 ราชนาวีอังกฤษจำเป็นต้องหาเรือใหม่เข้ามาทดแทน
พวกเขาทำทุกอย่างเหมือนโครงการเรือพิฆาต Type 45
โครงการใหม่เริ่มต้นตั้งแต่ปี
1998
โดยใช้ชื่อว่า Future Surface Combatant หรือ FSC สองปีถัดมาจึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อ Global
Combat Ship บริษัท BAE Systems Maritime
ได้รับสัญญามูลค่า 127 ล้านปอนด์ ในการออกแบบเรือมีกำหนดระยะเวลา
4 ปี อ่านคร่าวๆ เพียงเท่านี้อาจคิดว่าเป็นงานหมูตู้
แต่เอาเข้าจริงไม่ง่ายอย่างที่ทุกคนกำลังคาดคิด
การจัดหาเรือรบส่วนใหญ่มีด้วยกัน
2
วิธี หนึ่งประกวดแบบเรือจากหลายบริษัท
สองให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งออกแบบเรือตามความต้องการ วิธีแรกคู่แข่งมีค่อนข้างมาก
วิธีสองคู่แข่งมีรายเดียวคือลูกค้า เชื่อผู้เขียนเถอะครับว่าวิธีสองปวดหัวที่สุด
เป็นอะไรที่ต้องแก้งานแล้วแก้งานอีก เพื่อนำผลงานมาเสนอในวันจบ แล้วลูกค้าบอกว่าอยากเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด
เรือลำใหม่จะมีตัวเรือเพียงแบบเดียว
สามารถปรับเปลี่ยนเป็นรุ่นเรือฟริเกตใช้งานทั่วไป เรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำ
เรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศ รวมทั้งมีรุ่นส่งออก
ช่วงนั้นอังกฤษประสบปัญหาใหญ่ขายเรือรบไม่ออก Global Combat Ship คือความหวังสุดท้ายในคืนมืดมิด ไหนๆ ก็เสียเงินแล้วนี่ต้องใช้งานให้คุ้มค่าหน่อย
Global Combat Ship ถูกกำหนดให้ใช้ชื่อ Type 26 (รุ่นส่งออกคือ Type
27) พนักงาน BAE เป็นผู้พัฒนาตามความต้องการกองทัพเรืออังกฤษ
เรือลำใหม่มีระวางขับน้ำ 6,850 ตัน ยาว 141 เมตร ระยะปฏิบัติการไกลสุด 7,000 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว
18 นอต โดยมีค่าตัวอยู่ที่ 500 ล้านปอนด์ต่อลำ
ต่อมาในปี 2008 ความต้องการจากกองทัพเรือเปลี่ยนแปลงไป
พวกเขาอยากได้เรือขนาดเล็กลงประมาณ 5,400 ตัน แล้วกดราคาให้ต่ำลงอยู่ที่ลำละ
250-350 ล้านปอนด์
ชักเริ่มปวดขึ้นมาเล็กน้อยแล้วใช่ไหม
ยังก่อนครับ…ยังไม่จบ
ปี 2014
กองทัพเรืออังกฤษเปลี่ยนใจอีกครั้ง อยากได้เรือใหญ่เท่าเดิมคือขนาด 6,900
ตัน พนักงาน BAE จำเป็นต้องแก้ไขงานตัวเอง
โดยการหยิบแบบเรือดั้งเดิมมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลง
จนลูกค้าจอมเรื่องมากพึงพอใจในท้ายที่สุด
ก่อนพบแบบเรือฟริเกต
Type
26 ลำจริง ผู้เขียนอยากนำเสนอแบบเรือฟริเกต Type 26 รุ่น Never Built ก่อน
แบบเรือ 4
รุ่น 4 อารมณ์ตามระยะเวลาแตกต่างกัน เริ่มต้นจากหมายเลขหนึ่งรูปร่างกลมๆ
ป้อมๆ หัวเรือติดปืนใหญ่ 127/64 ของ Oto Melara ถัดไปเป็นระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Phalanx
ต่อด้วยแท่นยิงแนวดิ่งอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Ceptor กับอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ/โจมตีชายฝั่ง ท้ายเรือมี
Phalanx อีก 1 ระบบบนโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ ขนาบข้างด้วยปืนกลอัตโนมัติ 30 มม.DS-30M Mk2 สวยดีเหมือนกันครับ…แต่สวยแบบแปลกๆ
มาที่เรือหมายเลขสองกันต่อเลย
แบบเรือผอมเพรียวกว่าเดิมอย่างชัดเจน Phalanx หัวเรือย้ายมาอยู่หลังแท่นยิงแนวดิ่ง
กลางเรือมีที่ว่างสำหรับตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ แท่นยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบกั้นคอกเหล็กโผล่ขึ้นมานิดหน่อย
ปืนกล DS-30M Mk2 ย้ายมาติดกลางเรือค่อนข้างเตี้ย ท้ายเรือมี
Phalanx อีก 1 ระบบติดอยู่ที่กราบขวา ตรงนั้นเป็นโรงเก็บอากาศยานไร้คนขับจึงต่ำกว่าโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์
ว่าแต่ว่า…จะยิงเป้าหมายที่บังเอิญวิ่งมาอีกฝั่งด้วยวิธีไหน?
เรือหมายเลขสามลดขนาดลงมาเหลือเพียง
5,400
ตัน รูปทรงเตี้ยและแบนมีแค่ท่อยิงแนวดิ่ง Sea Ceptor เท่านั้น กลางเรือติดตั้งปืนกล DS-30M Mk2
แท่นยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ และ Phalanx เรียงรายตามแนวยาว
มีโรงเก็บอากาศยานไร้คนขับที่กราบขวา มีพื้นที่อเนกประสงค์หรือ Mission Bay
ใต้ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ใส่ได้ทั้งโซนาร์ลากท้าย เรือยางท้องแข็ง
รวมทั้งตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ เพียงแต่การใช้งานอาจลำบากสักเล็กน้อย
เรือหมายเลขสี่ขนาด
5,400
ตันเช่นเดียวกัน สะพานเดินเรือสูงกว่าเดิมและแหลมกว่าเดิม
แท่นยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบกับ Phalanx หายไป
แต่ได้แท่นยิงแนวดิ่งสำหรับอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ/โจมตีชายฝั่งเพิ่มเติมเข้ามา
โรงเก็บอากาศยานไร้คนขับกับ Mission Bay
ยังคงอยู่ตำแหน่งเดิม จากภาพนี้ระบุว่าเรือฟริเกต Type 26
ใช้ระบบขับเคลื่อน CODLOG
นี่คือส่วนหนึ่งของการทำงานตลอดหลายปี
ที่พนักงาน BAE ต้องเผชิญหน้าอย่างไม่มีทางเลี่ยง
ใครก็ตามที่บอกว่าการออกแบบเรือรบไม่ใช่เรื่องยาก
การสร้างเรือรบด้วยตัวเองเป็นงานง่ายมาก บังเอิญตัวเองยังไม่มีโอกาสได้ทำเท่านั้นเอง
เชื่อผู้เขียนเถอะครับหมอนี่โคตรขี้โม้เลย
ขี้โม้ยิ่งกว่าสมรักษ์บวกสวมจิตรบวกซูเปอร์บอย
เมื่อได้แบบเรือตรงตามความต้องการตัวเอง
เดือนกุมภาพันธ์ 2015 รัฐบาลอังกฤษเซ็นสัญญามูลค่า
859 ล้านปอนด์กับ BAE
เป็นค่าใช้จ่ายเบื้องต้นในการเริ่มต้นโครงการเรือฟริเกต Type 26 ต่อมาในปี 2017 มีการเซ็นสัญญาสร้างเรือจำนวน 3
ลำมูลค่ารวม 3.7 ล้านปอนด์ ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 1.27
พันล้านปอนด์ต่อเรือหนึ่งลำ
จาก 500
ล้านปอนด์กลายเป็น 1,270 ล้านปอนด์ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นชมภาพกราฟิกเรือลำจริงกันก่อนครับ
เรือฟริเกต Type
26 มีระวางขับน้ำปรกติ 6,900 ตัน
ระวางขับน้ำเต็มที่ 8,000 ตัน ใหญ่กว่าเรือพิฆาต Type
45 พอสมควร ยาว 149.9 เมตร กว้าง 20.8 เมตร ใช้ระบบขับเคลื่อน CODLOG ความเร็วสูงสุด 26
นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 7,000 ไมล์ทะเลโดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อน
ขนาดเรือว่าใหญ่โตแล้วระบบอาวุธบนเรือจัดชุดใหญ่ไม่แพ้กัน
ปืนใหญ่หัวเรือขนาด
5
นิ้วของ BAE นั่นแหละครับ
มีแท่นยิงแนวดิ่งอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Ceptor ถึง 48
ท่อยิง ท่อยิงแนวดิ่ง Mk-41 สำหรับอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ/โจมตีชายฝั่งอีก 24 ท่อยิง ระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Phalanx 2
ระบบกลางเรือ ปืนกลอัตโนมัติขนาด 30 มม.
DS-30M Mk2 อีก 2 กระบอกท้ายเรือ ระบบสื่อสาร ระบบดาต้าลิงก์
ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ ระบบเป้าลวงทันสมัยรุ่นใหม่
ส่งผลให้เรือมีราคาแพงกว่าเดิมไปไกลลิบลับ
เรือฟริเกต Type
26 ถูกปรับปรุงให้ใช้งานง่ายขึ้น โดยการย้ายพื้นที่อเนกประสงค์หรือ Mission
Bay จากใต้ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ มาอยู่กลางเรือมีความยาวมากถึง 20
เมตร ในภาพจะเห็นประตูพับได้ระหว่างโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์กับ Phalanx ติดตั้งเครนแขวนเพดานมาพร้อมสรรพ พื้นที่จะทะลุมายังโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ Mission
Bay สามารถใส่เรือยางท้องแข็งหรือยานผิวน้ำไร้คนขับขนาด 15 เมตรได้ 4 ลำ
ใส่ยานสำรวจใต้น้ำหรือยายทำลายทุ่นระเบิดได้ ใส่ตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ขนาด 20
ฟุตได้ถึง 8 ตู้
หรือจะลากอากาศยานไร้คนขับมาจอดในนี้ก็ได้
ไม่จำเป็นต้องสร้างโรงเก็บแยกต่างหากให้เปลืองเงิน
ผู้เขียนขอพามาชมเรือฟริเกต
Type
26 ของจริงลำแรก HMS Glasgow เริ่มสร้างตั้งแต่ปี 2017 ปลายเดือนเมษายน 2021 ที่ผ่านมามีการประกอบตัวเรือ
โดยนำส่วนหัวเรือกับท้ายเรือนำมาประกบกันอย่างเนียนกริบ
ตามแผนจะเข้าประจำการกลางปี 2027
จากมุมนี้มองเห็นช่องปล่อยเรือเล็กกราบซ้ายเรืออีกหนึ่งจุด
เพิ่มเติมเข้ามานอกจากส่วนที่อยู่ใน Mission Bay
เพราะเรือมีราคาแพงทะลุจุดเดือด
รัฐบาลอังกฤษตัดสินใจลดจำนวนจาก 13 ลำเหลือเพียง 8
ลำ เพราะเรือมีความทันสมัยล้ำหน้าเกินคู่แข่งรายอื่น
ออสเตรเลียกับแคนาดาจึงขอซื้อเรือไปใช้งานชาติละ 9 ลำกับ 15
ลำตามลำดับ
ความหวังสุดท้ายในคืนมืดมิด
กลายเป็นดาวดวงเด่นเจิดจรัสบนฟากฟ้า เรือฟริเกต Type 26 มียอดสั่งซื้อถึง 32 ลำ
แซงหน้าทุกชาติในยุโรปไปไกลลิบลับ
อุตสาหกรรมเรือรบส่งออกของอังกฤษมีชีวิตชีวาอีกครั้ง
Type 31e General Purpose Frigate
เนื่องจากรัฐบาลอังกฤษต้องการลดงบประมาณ
โครงการจัดหาเรือฟริเกต Type 26 จำนวน 13 ลำในวงเงิน 11.5 พันล้านปอนด์ ลงมาเหลือ 8 ลำในวงเงิน 8 พันล้านปอนด์ (เฉพาะค่าสร้างเรือ
รวมทุกอย่างจะเท่ากับ 9.87 พันล้านปอนด์ )
ส่งผลให้เรือฟริเกตหายไปจากกองเรือถึง 5 ลำ
กองทัพเรือย่อมอ่อนแอลงโดยไม่จำเป็นต้องอ่านรายงาน
คนอังกฤษบอกว่า…ปัญหามีไว้แก้ไข ในเมื่อเรือฟริเกตหายไป 5 ลำ
เราก็ซื้อเรือฟริเกตเข้ามาเพิ่มอีก 5 ลำ
โดยใช้เงินให้น้อยที่สุดเท่าที่ตัวเองจ่ายได้
ติดอาวุธแค่เพียงป้องกันตนเองได้ไปก่อน เพียงเท่านี้ปัญหาสำคัญก็ลุล่วงได้ด้วยดี
เนื่องมาจากเป็นโครงการเสริมไม่มีในแผนหลัก
ต้องการประหยัดงบประมาณให้มากที่สุด ฉะนั้นไม่จำเป็นต้องพัฒนาแบบเรือขึ้นมาใหม่
ใช้วิธีเปิดให้บริษัทน้อยใหญ่ส่งแบบเรือเข้าแข่งขัน โครงการนี้เริ่มต้นในเดือนกันยายน
2017 รัฐบาลอังกฤษส่ง Request For Information (RFI) มายังบริษัทสร้างเรือภายในประเทศ
ระบุอย่างชัดเจนต้องการเรือฟริเกต 5 ลำในวงเงิน 1.25 พันล้านปอนด์ เรือลำแรกสุดต้องพร้อมเข้าประจำการในปี 2023 (ข้อสุดท้ายนี่โหดมาก)
5 ลำในวงเงิน 1.25 พันล้านปอนด์ หรือลำละ 250 ล้านปอนด์พอดิบพอดี
ข้อมูลจากรัฐบาลและกองทัพเรืออังกฤษมีน้อยนิด
เรือฟริเกตจะค่อนข้างโล่งติดอาวุธจำนวนไม่มาก ทั้งอาวุธและระบบต่างๆ อาจเปลี่ยนแปลงจากรุ่นมาตรฐาน
อันเป็นผลสืบเนื่องจากงบประมาณจำกัดจำเขี่ย
โครงการนี้อาจดูต่ำต้อยไม่น่าได้กำไรเท่าไร ราคาเรือ 5
ลำถูกกว่าเรือ Type 26 ลำเดียวด้วยซ้ำ
บังเอิญบริษัทสร้างเรือขนาดเล็กในอังกฤษไม่คิดเช่นนั้น
นี่คือโอกาสทองฝังเพชรที่ตัวเองจะโค่น BAE ยักษ์ใหญ่
ทุกบริษัทจึงทุ่มสุดตัวเปิดตัวแบบเรือทันสมัยต่อสื่อมวลชน
นี่คือแบบเรือจาก 4 บริษัทประเทศอังกฤษ เริ่มต้นจากหมายเลขหนึ่งบริษัท Steller Systems เสนอแบบเรือ Project Spartan ไม่มีข้อมูลระวางขับน้ำหรือมิติเรือ รูปร่างโดยรวมไม่เหมือนเรืออังกฤษแต่เหมือนเรือยุโรป หัวเรือติดปืนใหญ่ขนาด 5 นิ้ว มีแท่นยิงแนวดิ่ง Mk.41 ถึง 16 ท่อยิง แท่นยิงแนวดิ่ง Sea Ceptor อีก 12 ท่อยิง มีโรงเก็บอากาศยานไร้คนขับและ Mission Bay ขนาดใหญ่ใต้ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ มีระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Phalanx 1 ระบบท้ายเรือ มีปืนกลอัตโนมัติ DS-30M Mk2 อีก 2 กระบอก มีแท่นยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้เรืออีก 8 นัด ติดอาวุธได้เยอะมากจนน่าประทับใจ
จุดอ่อนสำคัญของ
Project
Spartan ก็คือ ตัวเองยังเป็นแค่เพียงเรือกระดาษขายฝัน
ต่อไปคือเรือหมายเลขสองจาก
BAE
Systems Maritime แบบเรือชื่อ Leander ไม่ได้ออกแบบใหม่แต่นำเรือคอร์เวตชั้น
Al Khareef กองทัพเรือโอมานมาปรับปรุง
โดยเพิ่มความยาวจาก 99 เมตรเป็น 117 เมตร
บริเวณกลางเรือความยาวเพิ่มขึ้น 15 เมตร ใส่เรือยางท้องแข็ง พร้อมแผ่นเหล็กปิดถึง
4 ลำ หัวเรือติดปืนใหญ่ 76/62 มม.กับแท่นยิงแนวดิ่ง Sea Ceptor จำนวน 12 ท่อยิง กลางเรือมีแท่นยิงแนวดิ่ง MK-41 จำนวน 8
ท่อยิง มีแท่นยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ 8 นัด
ท้ายเรือมีระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Phalanx 1 ระบบ กับปืนกลอัตโนมัติ DS-30M Mk2 อีก 2 กระบอก
เรือลำนี้ผู้เขียนขอตั้งชื่อว่าน้องแหลม
ระวางขับน้ำ 3,677 ตัน ยาว 117 เมตรเท่าเดิม กว้าง 14.6 เมตร
คนอังกฤษเห็นเรือลำนี้ต่างพูดเหมือนกันว่า…ใช่เลย
นี่แหละเต็งหามเรือฟริเกต Type 31e
ต่อลูกควบลูกครึ่งรับพนันไม่อั้น
เรือหมายเลขสามมาจากบริษัท
BMT
Defence Services เคยได้รับฉายาเต็งหามเรือฟริเกต Type 31e เนื่องจากเปิดตัวต่อหน้าสาธารณชนรายแรก VENATOR-110
มีระวางขับน้ำ 4,000 ตัน ยาว 117 เมตร
กว้าง 18 เมตร กินน้ำลึก 4.3 เมตร
เป็นเรือ Light Frigate ติดอาวุธไม่หนักสักเท่าไร
หัวเรือมีติดปืนใหญ่ 5 นิ้ว แท่นยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ 8
นัด แท่นยิงแนวดิ่ง Sea Ceptor อีก 12 ท่อยิง กลางเรือติดตั้งปืนกลอัตโนมัติ DS-30M Mk2
จำนวน 2 กระบอก
VENATOR-110 ถูกออกแบบเรียบง่ายไม่หวือหวา มีสองรุ่นคือ Patrol Frigate กับ Patrol Ship ให้ลูกค้าเลือกตามความต้องการ
มีรุ่นพิเศษติดตั้งระบบ SAAB จากสวีเดนเพิ่มเข้ามา
แต่ไม่มีระบบปราบเรือดำน้ำบนเรือแม้แต่เวอร์ชันเดียว
เรือหมายเลขสี่มาจากบริษัท
Babcock International
โดยนำแบบเรือจากบริษัท Odense Steel Shipyard ประเทศเดนมาร์กมาปรับปรุงเพิ่มเติม
ตั้งชื่อให้ใหม่ว่า Arrowhead 140 แล้วติดตั้งระบบอำนวยการรบและระบบเรดาร์จาก
THALES ประเทศเนเธอร์แลนด์ ส่งเข้าร่วมชิงชัยกลายเป็นม้าตีนปลายวิ่งแซงทางโค้ง
Arrowhead 140 ระวางขับน้ำ 5,800 ตัน ยาว 138.7 เมตร กว้าง 19.8
เมตร กินน้ำลึก 4.8 เมตร มีปืนใหญ่ 76/62
ที่หัวเรือ กลางเรือติดตั้งแท่นยิงแนวดิ่งได้มากสุด 32 ท่อยิง ท้ายเรือกลอัตโนมัติ DS-30M Mk2 อีก 2
กระบอก ใส่เรือยางท้องแข็ง สองกราบกลางเรือจำนวน 4 ลำ จัดเป็นเรือลำใหญ่ที่สุดและติดอาวุธได้มากที่สุด
ต้นปี
2018
รัฐบาลอังกฤษให้ส่งแบบเรือเข้าสู่รอบชิง บริษัท Babcock กับ BAE มาตามนัด ส่วน BMT
ขอจับมือกับ Babcock แต่ Steller
หายตัวไปไร้ร่องรอย เหลือผู้เล่นเพียงสองรายอังกฤษจำเป็นต้องหยุดพักโครงการ
เริ่มต้นใหม่อีกครั้งต้นปี 2019 คราวนี้ได้บริษัท Thyssenkrupp
Marine Systems จากเยอรมันส่งแบบเรือ Meko A200 เข้าร่วมเป็นรายที่สาม
ปลายปี
2019
รัฐบาลอังกฤษออกมาประกาศว่า แบบเรือ Arrowhead 140 ได้รับการคัดเลือกในโครงการ Type 31e General Purpose Frigate บริษัท Babcock ได้รับสัญญา 1.25 พันล้านปอนด์สร้างเรือฟริเกตจำนวน 5 ลำ
ภาพถัดไปคือเรือฟริเกต
Type
31e ตัวจริงเสียงจริง ติดปืนใหญ่ Bofors 57 mm Mk3 ที่หัวเรือ 1 กระบอก ปืนกล Bofors 40 mm Mk4 อีก 2 กระบอกหัวเรือท้ายเรือ
แท่นยิงแนวดิ่งอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Ceptor 12
ท่อยิง แน่นอนที่สุดใช้ระบบ THALES ทั้งลำ
เรือยังมีพื้นที่ว่างสำหรับอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบกับระบบปราบเรือดำน้ำ
สาเหตุที่เปลี่ยนมาใช้งานปืนใหญ่
57
มม.กับปืนกล 40 มม.
ส่วนหนึ่งเพราะต้องการอุดหนุนสินค้าในประเทศ
อีกส่วนเพราะไม่มีระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Phalanx จึงหันมาพึ่งพากระสุน
3P ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่ากระสุนธรรมดา
Type 32 Frigate
วันที่
20
พฤศจิกายน 2020 นายกรัฐมนตรีบอริส
จอห์นสัน ออกมาเปิดเผยแผนการเสริมสร้างกำลังทหาร
ให้มีความเข้มแข็งมากกว่าเดิมทุกเหล่าทัพ ในอีก 4 ปีข้างหน้าจะใช้งบประมาณสูงขึ้น
24.1 พันล้านปอนด์ หรือเท่ากับค่า GDP ประเทศประมาณ
2.2 เปอร์เซ็นต์ โดยมีการจัดทำแผนระยะยาว 20 ปีรองรับอย่างชัดเจน
ทำไมอังกฤษทุ่มงบประมาณให้กับกองทัพ
ทั้งๆ ที่อยู่ในช่วงโรคระบาดรุนแรงสร้างความเสียหายทั่วโลก เหตุผลสั้นๆ
สถานการณ์ระหว่างประเทศมีความเสี่ยงมากขึ้น
อังกฤษจำเป็นต้องขยายอิทธิพลตัวเองมากกว่าเดิม
การปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยขึ้นมีความจำเป็น รวมทั้งช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตอาวุธภายในประเทศ
หนึ่งในหลายเรื่องราวที่นายกรัฐมนตรีออกมาเปิดเผย
คือการเพิ่มจำนวนเรือรบผิวน้ำจาก 19 ลำเป็น
24 ลำ แบบเรือฟริเกตใหม่เอี่ยมเพิ่มเติมเข้ามาจำนวน 5
ลำ ถูกตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่าเรือฟริเกตชั้น Type 32
เรือรบลำใหม่ซึ่งถูกเปิดตัวโดยนายกรัฐมนตี
ถือเป็นผู้เล่นลับสุดยอดระดับมือพระกาฬ ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีข่าวระแคะระคาย อยู่ดีๆ
ก็ตูมขึ้นมาสร้างความแปลกใจให้กับทุกคน ข้อมูลเรือมีน้อยมากจนถึงมากที่สุด
จะเริ่มเดินหน้าต่อจากโครงการเรือฟริเกตอเนกประสงค์ Type
31e เรือถูกสร้างขึ้นมาเพื่อปกป้องน่านน้ำและอาณาเขตทะเล
เดินทางไปทำภารกิจในน่านน้ำต่างประเทศได้
สนับสนุนกองเรือรักษาความมั่นคงทางทะเลและชายฝั่งได้
อ่านดูคร่าวๆ
ผู้เขียนเข้าใจว่าไว้เฝ้าบ้าน แต่ออกไปซ่าถึงทะเลจีนใต้หรือตะวันออกกลางได้เช่นกัน
หลังตกเป็นข่าวฮ์อฮาสักพักหนึ่ง
วันที่ 8
ธันวาคม 2020
มีข้อมูลจากทีมงานนายกรัฐมนตรีเพิ่มเติมเข้ามาว่า Type 32 คือเรือฟริเกตอเนกประสงค์เหมือนกับ
Type 31 แต่มีการติดตั้งระบบทันสมัยเพิ่มเติมในลักษณะโมดูล
คาดว่าจะมีอุปกรณ์ทำงานอัตโนมัติใช้งานบนเรือ เติมเต็มในสิ่งที่ขาดหายไปอาทิเช่น
ภารกิจกวาดทุ่นระเบิดหรือปราบเรือดำน้ำ
ต่อมาในเดือนมีนาคม
2021
มีข้อมูลจากรายงานเรื่อง Defence in a competitive age กล่าวถึงเรือเพิ่มเติมเล็กน้อย Type 32
จะสร้างในสกอตแลนด์เหมือน Type 26 กับ Type 31 แม้ยังไม่ได้เปิดเผยแบบเรือหรือรายละเอียดโครงการ
แต่ได้กำหนดระยะเวลาการสร้างเรือไว้อย่างครบถ้วน
ลำไหนลงน้ำเดือนไหนเข้าประการเมื่อไรมีแผนการหมดแล้ว
ข้อมูลหลักๆ
มีเท่านี้แหละครับ มิตรรักแฟนเพลงชาวอังกฤษเมื่อได้เสพข่าวสาร
มีข้อถกเถียงมากมายแบ่งออกเป็นสองฝั่งใหญ่ๆ ฝั่งหนึ่งบอกว่าเป็นเรือฟริเกตเหมือน Type
31 แต่ติดตั้งอาวุธและอุปกรณ์ทันสมัยมากขึ้น
โดยเฉพาะอุปกรณ์ทำงานอัตโนมัติทั้งบนอากาศ บนน้ำ และใต้น้ำ
แต่อีกฝั่งบอกว่ามันไม่ใช่เรือฟริเกตแต่เป็นยานแม่หรือ Mother Ship อันเปรียบได้กับจิ๊กซอร์ตัวสุดท้ายของ Royal Navy มีการขุดผี
Venari 85 ซึ่งตายสนิทไปแล้วกลับมาหลอกหลอนอีกครั้ง ลามปามมาถึงเรือ
Multi-Role Combat Vessel กองทัพเรือสิงคโปร์
ซึ่งถูกออกแบบให้เป็นยานแม่ติดอาวุธและเรดาร์โหดมากๆ
ยามแรกพิศ
พบพักตร์ ทักใช่แน่ เรือยานแม่
มาแล้ว น้องแก้วเอ๋ย
ครบหนึ่งปี
เด็จพี่ ร้องไห้เลย เมื่อทรามเชย เผยชาติ พิฆาตใจ
ยังจำบทกลอนที่ผู้เขียนเขียนให้กับเรือ
MRCV
ของสิงคโปร์ได้ไหมครับ บางทีอาจต้องเขียนให้กับ Type 32 อีกลำเสียแล้วกระมัง แต่ต้องรอดูก่อนว่าเรือจริงเป็นยานแม่มากน้อยแค่ไหน
ฝั่งที่บอกว่าเป็นยานแม่จินตนาการกันสนุกสนาน
ฝั่งแรกที่บอกว่าเป็นเรือฟริเกตมีความคึกคักไม่แพ้กัน
มิตรรักแฟนเพลงถูกแบ่งสองฝั่งอย่างชัดเจน ฝั่งหนึ่งบอกว่า BAE
จะได้ล้างตาจากแค้นฝั่งหุ่นเสียที แบบเรือ Leander
จะถูกสร้างต่อเนื่องหลังโครงการเรือฟริเกต Type 26
สิ้นสุดลง อุตสาหกรรมสร้างเรือในประเทศจะเจริญรุ่งเรือง ส่วนอีกฝั่งบอกว่างานนี้ Babcock นอนมาพระสวด แบบเรือ Arrowhead 140 มีพื้นที่กว้างขวางรองรับอุปกรณ์ทันสมัยได้มากมาย
เรื่องถอดๆ ใส่ๆ
เรือเดนมาร์กทำได้ดีกว่าเรืออังกฤษเยอะ พวกเขาพัฒนาระบบ STANFLEX ใช้งานมานานร่วมยี่สิบปีแล้วคุณ
เขียนมาจนหมดเนื้อหายังไม่มีความชัดเจนสักนิด
ผู้เขียนเข้าใจว่าทุกอย่างถูกจัดการเรียบร้อยแล้ว เหลือแค่เพียงรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น
อีกแค่เพียง 4 ปีเรือ Type 32
ลำแรกต้องเริ่มสร้างอย่างจริงจัง
รัฐบาลอังกฤษไม่ใช่วิธีประกวดแบบเรือให้เสียเวลาแน่นอน ไม่แน่นะครับ…สองสามเดือนข้างหน้าอาจได้เห็นแบบเรือของจริงก็ได้
Autonomous Systems
กลับมาที่การขุดผีกันอีกครั้ง ระหว่างปี 2017 บริษัท BMT Defence Services เปิดตัวกวาดทุ่นระเบิดลำใหม่ของตัวเอง ประชาสัมพันธ์สวยหรูว่านี่คือเรือกวาดทุ่นระเบิดอังกฤษในอนาคต แบบเรือ Venari 85 ยาว 85.9เมตร ระวางขับน้ำประมาณ 1,500-1,800 ตัน รองรับการใช้งานอุปกรณ์ทำงานอัตโนมัติหรือ Autonomous Systems มากมายประกอบไปด้วย
ที่เห็นสีเหลืองลำเล็กคือยานใต้น้ำไร้คนขับหรือ Autonomous Underwater
Vehicle หรือ AUV ติดตั้งโซนาร์ตรวจจับทุ่นระเบิดทั้ง
High และ Dual-Frequency Synthetic Aperture Sonar ได้ ทำหน้าที่ค้นหาทุ่นระเบิดในระยะไม่ไกลสักเท่าไร
ลำต่อมาที่เห็นเป็นเรือขนาดใหญ่คือยานผิวน้ำไร้คนขับ หรือ Unmanned Surface
Vehicle หรือ USV ติดตั้งโซนาร์ลากท้ายและหรือยานทำลายทุ่นระเบิด
เพื่อค้นหาและทำลายทุ่นระเบิดระยะประมาณ 15-20 กิโลเมตรจากเรือหรือฝั่ง
หรืออาจติดตั้งโซนาร์ลากท้ายและหรือตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ
เพื่อค้นหาและทำลายเรือดำน้ำระยะประมาณ 15-20 กิโลเมตรจากเรือหรือฝั่ง
ยานผิวน้ำไร้คนขับส่วนใหญ่ขนาดไม่เกิน
16
เมตร ออกแบบมาเพื่อปฏิบัติการเขตน้ำตื้นเป็นหลัก
นำไปใช้งานกลางทะเลลึกอาจไม่เหมาะสมสักเท่าไร เจอคลื่นลมลูกโตเข้าไปอุปกรณ์ราคาแพงถูกจำหน่ายทั้งระบบ
แต่อย่างที่รู้ว่าเรือฟริเกต
Type
31 ทำหน้าที่เฝ้าบ้านเป็นหลัก ใช้งานยานผิวน้ำไร้คนขับเพื่อคุ้มครองช่องแคบอังกฤษ
น่าจะเป็นอะไรที่ลงตัวและเหมาะสมมากที่สุด
หากต้องเดินทางไปกับกองเรือบรรทุกเครื่องบิน อาจทำหน้าที่เรือฟริเกตปราบทุ่นระเบิด
ด้วยยานใต้น้ำไร้คนขับกับยานทำลายทุ่นระเบิดที่ตัวเองพกพามา
ยังมีอุปกรณ์อัตโนมัติอีกหนึ่งรุ่นที่ยังไม่ได้กล่าวถึง อากาศยานไร้คนขับหรือ Unmanned Aerial Vehicle หรือ UAV กองทัพเรืออังกฤษอยากมีอยากได้มานานมากแล้ว โดยเฉพาะรุ่นปีกหมุนขนาดใหญ่บรรทุกอาวุธได้ ในแบบเรือ Type 26 รุ่นอยู่ระหว่างพัฒนา มีโรงเก็บอากาศยานไร้คนขับแยกออกมาต่างหาก เรือฟริเกต Type 31 อาจเป็นลำแรกที่ได้ใช้งานจริง
ตอนนี้เรารู้จักเรือรบผิวน้ำทั้ง 4 แบบกันแล้วนะครับ ต่อไปผู้เขียนขอพามาชมแผนการในอนาคตทั้งหมด ซึ่งกองทัพเรืออังกฤษจัดทำไว้อย่างละเอียดชัดเจนและสมบูรณ์ อันเป็นผลให้คนทำงานสามารถวางแผนได้อย่างละเอียดชัดเจนเช่นกัน
จากภาพจะเห็นแผนปลดประจำการเรือฟริเกต
Type
23 จำนวน 13 ลำ กับแผนสร้างเรือฟริเกต Type
26, Type 31 และ Type 31 จำนวน 18 ลำ ผู้เขียนอยากให้ดูแผนปลดประจำการก่อน มีเรือฟริเกต Type 23 จำนวน 3 ลำต้องขยายเวลาทำภารกิจออกไป 3 ปีครึ่ง อันเป็นผลสืบเนื่องจากความล่าช้าโครงการเรือฟริเกต Type 31
HMS St Albans เรือฟริเกต Type 23 ลำสุดท้ายจะปลดประจำการกลางปี 2035 เมื่อถึงต้นปี 2036 เรือฟริเกต Type 32 ลำสุดท้ายเข้าประจำการ ช่วงเวลานั้นเองกองเรือผิวน้ำอังกฤษจะมีจำนวนเรือ 24
ลำ
มาดูที่การสร้างเรือฟริเกต
Type
26 กันสักนิด HMS Glasgow เรือลำที่หนึ่งใช้เวลาสร้าง
10 ปีเต็ม ส่วน HMS London เรือลำสุดท้ายใช้เวลาสร้างเพียง
6 ปี
ที่เป็นเช่นนี้เพราะเป็นเรือใหม่เอี่ยมไม่เคยสร้างมาก่อน
ต้องเผื่อเวลาเรื่องการแก้ไขปรับปรุงพอสมควร มาถึงเรือลำที่ห้าจึงลดลงมาเหลือ 7
ปี แล้วลดเหลือเพียง 6 ปีในเรือสองลำสุดท้าย
เรือฟริเกต Type
31 โหดกว่ากันพอสมควร เรือลำที่หนึ่งใช้เวลาสร้าง 5 ปี 8 เดือน ส่วนเรือลำสุดท้ายใช้เวลาสร้าง 4
ปี 3 เดือน
เวลาเท่านี้ไทยแลนด์สร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งไม่ทันด้วยซ้ำ ส่วนเรือฟริเกต Type
32 ยืดหยุ่นกว่ากันเล็กน้อย เรือลำที่หนึ่งใช้เวลาสร้าง 5 ปี 8 เดือน ส่วนเรือลำสุดท้ายใช้เวลาสร้าง 5 ปีพอดิบพอดี
ข้อมูลพวกนี้พอบอกอะไรได้เล็กน้อย
เรือฟริเกต Type 31
ใช้แบบเรือซึ่งเคยสร้างจริงมาแล้ว บริษัท Babcock
จึงมั่นใจว่าตัวเองทำได้ เรือฟริเกต Type 32
ใช้เวลาสร้างใกล้เคียงกันมาก รัฐบาลอังกฤษนำความมั่นใจตรงนี้มาจากไหน?
ถ้าไม่ใช่เพราะใช้แบบเรือเดียวกับเรือฟริเกต
Type
31 ก็อาจมั่นใจว่า BAE สามารถเนรมิตเรือชั้น Leander ได้ทันกำหนด
แต่เรือลำนี้ไม่เคยสร้างจริงมาก่อน ถูกปรับปรุงจากคอร์เวตยาว 99 เมตรของโอมาน การสร้างเรือลำแรกอาจมีปัญหาหน้างานเพิ่มเติม เวลา 5 ปี 8 เดือนอาจเข้าประจำการไม่ทัน
ความน่าจะเป็นลงลดมาอีกพอสมควร
ความเห็นส่วนตัวผู้เขียนเอนเอียงมาที่แบบเรือ
Arrowhead
140 มากกว่าลำอื่น
Type 83 Destroyer
ตอนนี้ทุกคนรู้จักเรือครบ
24
ลำแล้ว ผู้เขียนขอนำมาที่โครงการต่อเนื่องสักเล็กน้อย ต้นปี 2036
เรือฟริเกต Type 32 ลำสุดท้ายเข้าประจำการ
ปีนั้นเองเรือพิฆาตป้องภัยทางอากาศ Type 45 ลำแรก HMS
Daring เข้าประจำการครบ 27 ปี
และถ้านับตั้งแต่ปล่อยเรือลงน้ำเท่ากับ 30 ปีพอดี
ใกล้ถึงเวลาปลดประจำการกลับไปพักผ่อนตลอดกาล
กองทัพเรืออังกฤษไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด
พวกเขาขึ้นโครงการเรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศลำใหม่ ใช่ชื่อว่า 4X
Project หรือมีชื่อเล่นว่า Project Castlemaine พร้อมๆ กับเรียกขานเรือลำใหม่ว่า Type
4X
ต่อมาในเดือนมีนาคม
2021 ข้อมูลจากรายงานเรื่อง Defence in a competitive age ฉบับเดิมระบุไว้ว่า เรือพิฆาตลำใหม่จะใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า Type
83 เริ่มต้นเดินหน้าโครงการตั้งแต่ปี 2036 เป็นต้นไป รูปร่างหน้าตาประมาณนี้ครับ
ผู้อ่านอาจนึกสงสัยในใจว่า ทำไมเรือลำใหม่ไม่ใช่รหัสหมายเลขสี่เหมือนเรือลำเก่า แต่ข้ามไปเป็นหมายเลขแปดไกลจากกันลิบลับ เรื่องนี้มีที่มาที่ไปอธิบายได้ดังนี้
รหัสหมายเลขสี่หมายถึงเรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศ
เน้นมาที่เป้าหมายลอยมาบนฟ้าเป็นหลัก
ส่วนเป้าหมายผิวน้ำกับเป้าหมายใต้น้ำไม่เน้นเท่าไร
แค่พอเอาตัวรอดได้ไม่จำเป็นต้องตอบโต้ก็ได้ แต่รหัสหมายเลขแปดเป็นเรือรบอเนกประสงค์รุ่นพิเศษ
ติดตั้งอาวุธครบ 3 มิติสามารถลุยเดี่ยวได้ด้วยตัวเอง
เริ่มต้นเรือฟริเกต Type 81 Tribal อังกฤษออกแบบมาเพื่อใช้งานในตะวันออกกลาง
ขนาดเพียง 2,300 ตันแต่ติดอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea
Cat ถึง 2 แท่นยิง
ลำถัดมาคือเรือพิฆาต
Type
82 Bristal ออกแบบมาเพื่อคุ้มกันเรือบรรทุกเครื่องบินขนาด 63,000 ตันตามโครงการ CVA-01
มีทั้งอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะไกล Sea Dart และ
อาวุธนำวิถีปราบเรือดำน้ำระยะไกล Ikara วางแผนสร้าง 8
ลำบังเอิญโครงการเรือบรรทุกเครื่องบินถูกยกเลิก จึงเหลือแค่เพียงลำเดียวเคยเข้าร่วมสงครามฟอล์กแลนด์มาแล้ว
ข้อมูลคร่าวๆ
ที่ผู้เขียนสามารถหาได้ เรือพิฆาต Type 83
ใช้ตัวเรือฟริเกต Type 26 มาปรับปรุงเพิ่มเติม
ติดตั้งระบบเรดาร์ตรวจการณ์ Sampson
กับเรดาร์ตรวจการณ์ระยะไกล SMART-L หัวเรือใส่ท่อยิงแนวดิ่ง Sylver จำนวน 48 ท่องยิง สำหรับอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Aster-30
จำนวน 32 นัด กับอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ/โจมตีชายฝั่งระยะไกล 16 นัด
กลางเรือมีท่อยิงอาวุธนำวิถี Sea Ceptor จำนวน 24 ท่อยิง ระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Phalanx 2
ระบบ และปืนกลอัตโนมัติ 30 มม.DS-30M
Mk2 อีก 2 กระบอก
มากเพียงพอคุ้มกันกองเรือบรรทุกเครื่องบินได้อย่างสบาย
ตามรหัสเรือพิฆาต
Type
83 ควรมีระบบอาวุธปราบเรือดำน้ำ รวมทั้งเรือฟริเกต Type 31e กับ Type 32 บังเอิญไม่มีมาด้วย
หวังพึ่งพาเรือฟริเกต Type 26 เพียง 8 ลำอาจไม่ทันกาล
ถ้ามาจริงๆ อังกฤษจะมีเรือรบติดโซนาร์ลากท้าย 8+6=14 ลำ
เข้าร่วมกองเรือนาโต้ได้อย่างสบายไม่อับอายชาติอื่น
เพียงแต่ราคาเรือจะแพงมากขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้
เรือพิฆาต Type
83 กับเรือฟริเกต Type 32 มีข้อมูลค่อนข้างน้อย
หากมีโอกาสผู้เขียนอยากเขียนถึงอีกครั้ง สำหรับบทความนี้คงต้องลากันไปก่อน
เจอกันอีกครั้งในบทความถัดไปครับผม +_*
+++++++++++++++++++++++
อ้างอิงจาก
รายงานเรื่อง
:
Defence in a competitive age
https://www.gov.uk/government/publications/defence-in-a-competitive-age
https://www.seaforces.org/marint/Royal-Navy/Destroyer/Daring-Type-45-class.htm
https://www.navylookout.com/new-techniques-used-in-designing-the-type-26-frigate/
https://en.wikipedia.org/wiki/Type_31_frigate
https://www.navylookout.com/type-31-frigate-project-on-schedule-despite-challenges-of-the-pandemic/
https://thaimilitary.blogspot.com/2020/03/type-31e-general-purpose-frigate.html
https://www.navylookout.com/real-hope-for-a-bigger-royal-navy-the-type-32-frigate-concept/
https://ukdefencejournal.org.uk/uk-announces-new-type-83-destroyer/
https://www.theyworkforyou.com/debates/?id=2020-11-19c.487.0&s=%22space+command%22#g487.1
https://www.bmt.org/industries/defence-and-security/surface-systems/bmt-venari-85/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น