วันอาทิตย์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2564

New Rookies of Taiwan Navy and Coast Guard

 

             ปี 2021 สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ค่อนข้างร้อนระอุ กองเรือประมงจีนรุกล้ำพื้นที่เศรษฐกิจจำเพาะประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้การคุ้มครองจากเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งตัวเอง มีการปะทะกับเรือตรวจการณ์ชาติอื่นบ่อยครั้ง มีการใช้ปืนฉีดน้ำความดันสูงยิงใส่กัน มีการใช้กราบเรือกระแทกกันราวกันอเมริกันฟุตบอล

            เวลาเดียวกันกองทัพเรือจีนเริ่มเผยแสนยานุภาพ มีการส่งเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่หนึ่งออกวิ่งทดสอบ มีเครืองบินขับไล่ J-15 ฝึกบินขึ้นลงสร้างเสริมประสบการณ์ โดยมีกองเรือคุ้มกันจำนวนหนึ่งแล่นตามประกบ เรือบรรทุกเครื่องบินลำที่สองของจีนสร้างเสร็จแล้วเช่นกัน ส่วนลำที่สามซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าและเปลี่ยนมาใช้รางดีดหรือ Catapult ตอนนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างมีภาพหลุดออกมาเป็นระยะๆ

            ภัยคุกคามทั้งสองชนิดทุกประเทศวิตกกังวล แต่ภัยคุกคามซึ่งทวีความรุนแรงมากที่สุดก็คือ เครื่องบินจากกองทัพอากาศจีนจำนวนหนึ่ง จงใจบินรุกล้ำแนวป้องกันภัยทางอากาศประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะไต้หวันพบเจอแขกไม่ได้รับเชิญชนิดรายวัน เฉพาะอย่างยิ่งวันที่ 15 มิถุนายน 2021 แห่กันมาถึง 28 ลำ ทั้งเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ เครื่องบินโจมตีระยะไกล เครื่องบินเตือนภัยทางอากาศ เครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเล รวมทั้งเครื่องบินสงครามอิเล็กทรอนิกส์

            ภัยคุกคามทั้งสามชนิดจากจีนแผ่นดินใหญ่ บรรดาเรือมากมายของไต้หวันที่ลอยลำปกป้องท้องทะเล คือด่านแรกสุดที่ต้องพบเจอทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ บทความนี้ผู้เขียนขอพามาพบกับพัฒนาการสำคัญๆ จากหน่วยยามฝั่งและกองทัพเรือไต้หวันอัปเดตจนถึงปัจจุบัน นับเฉพาะสิ่งที่มีต้นแบบเผยโฉมให้ชาวโลกเห็นแล้วเท่านั้น สิ่งที่เป็นเพียงภาพกราฟิกสวยงามขออนุญาตผ่านไปก่อนนะครับ

Taiwan Coast Guard

วันที่ 29 เมษายน 2021 ที่ผ่านมา มีพิธีรับมอบเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Chiaya สร้างโดยอู่ต่อเรือ CSBC อันทันสมัย ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวินทำหน้าที่ประธานตามปรกติ เรือลำใหม่ถือเป็นเรือขนาดใหญ่ที่สุดของหน่วยยามฝั่ง มีระวางขับน้ำสูงสุด 5,044 ตัน ยาว 12.5 เมตร กว้าง 16.5 เมตร ใช้เครื่องยนต์ดีเซล MTU จากเยอรมันทำงานความเร็วสูงสุด 24 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุดถึง 10,000 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 12 นอตติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบถ้วน มาพร้อมลานจอดและโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ขนาด 10 ตัน

เนื่องจากเป็นเรือขนาด 5,000 ตันลำที่หนึ่ง หมายเลขเรือจึงถูกกำหนดให้ใช้ CG50001 ตามระเบียบอันดีงาม อาวุธซึ่งถูกติดตั้งไว้ป้องกันตนเองประกอบไปด้วย ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงยิงได้ไกล 120 เมตรจำนวน 3 กระบอก ปืนกลอัตโนมัติ 20 มม.ลำกล้องเดี่ยว XTR-101 Remote Weapon System จำนวน 2 กระบอก และแท่นยิงจรวดขนาด 2.75 นิ้วรุ่นใหม่เอี่ยมอ่องอีก 1 แท่นยิงที่หัวเรือ

โดยทั่วไปเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งมักติดตั้งปืนใหญ่ 76/62 มม.ไว้ที่หัวเรือ ข้อดีก็คือสามารถจัดการเป้าหมายผิวน้ำ เป้าหมายชายฝั่ง และเป้าหมายบนอากาศได้ดีระดับหนึ่ง แต่มีข้อเสียต้องใช้พื้นที่ใต้ดาดฟ้าเรือพอสมควร สำหรับแมกาซีนกระสุนปืนกับห้องเก็บกระสุนสำรอง ข้อเสียสำคัญกว่าก็คือปัจจุบันปืนมีราคาแพงมาก โดยเฉพาะปืนจากอิตาลีมีขายแค่รุ่น Super Rapid ซึ่งแพงกว่ารุ่น Compact ไปไกลลิบลับ รวมทั้งต้องใช้อุปกรณ์ควบคุมการยิงแยกต่างหาก ผู้เขียนกำเงินไป 20 ล้านเหรียญแล้วออกเดินทางไปอิตาลี ขากลับประเทศอาจเหลือเงินไม่พอซื้อพิซซ่ากับกาแฟเพื่อกินประทังชีพ

ด้วยเหตุผลเรื่องขนาดและราคาปืน หน่วยยามฝั่งไต้หวันจึงเปลี่ยนมาใช้จรวดขนาด 2.75 นิ้วรุ่นใหม่ โดยนำท่อยิงแฝดเจ็ดซึ่งมีใช้งานบนอากาศยานจำนวนหกท่อยิง มาติดรวมกันบนแท่นยิงหันซ้ายขวาได้กระดกขึ้นลงได้ เท่ากับว่ามีจรวดขนาด 2.75 นิ้วหรือ 70 มม.พร้อมใช้งานถึง 42 นัด มากเพียงพอในการป้องกันตนเองจากภัยคุกคามผิวน้ำ สามารถยิงสกัดหรือสร้างความเสียหายได้ดีระดับหนึ่ง ปัจจุบันหน่วยยามฝั่งไต้หวันยังคงใช้งานจรวดรุ่นไม่นำวิถี แต่อีกไม่นานจะเปลี่ยนมาใช้งานจรวดรุ่น Zhenhai ฉะนั้นระบบอาวุธที่แสดงอยู่ในภาพเล็กมุมบนซ้ายมือ จึงมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า ‘Zhenhai Rocket Weapon System’

อาวุธใหม่เอี่ยมมาจากโครงการ Sky Blade Project คือการพัฒนาอาวุธประจำตัวอากาศยานไร้คนขับติดอาวุธรุ่น Tengyun ของกองทัพอากาศไต้หวัน ในอดีต Sky Blade ใช้เป็นชื่อโครงการอาวุธนำวิถีอากาศ-สู่-อากาศรุ่นหนึ่ง แต่ถูกโยกย้ายมาใช้งานกับจรวดขนาด 2.75 นิ้วมีระบบนำวิถี คล้ายคลึงจรวด Hydra 70 ของอเมริกาซึ่งถูกพัฒนาต่อเป็น Advanced Precision Kill Weapon System หรือ APKWS อันเป็นจรวด 2.75 นิ้วนำวิถีเลเซอร์ระยะยิงไกลสุด 11 กิโลเมตร ใช้งานได้กับอากาศยานทั้งปีกหมุนและปีกแข็ง

จรวด Zhenhai ถูกพัฒนาขึ้นมา 2 รุ่นได้แก่ หนึ่ง Mk.4 รุ่นใช้งานบนอากาศยานไร้คนขับจะชี้เป้าหมายด้วยระบบเลเซอร์ ระยะยิงไกลสุดอยู่ที่ประมาณ 10 กิโลเมตร และสองรุ่น Mk.66 ใช้งานบนเรือทำงานร่วมกับกล้องตรวจจับภาพด้วยความร้อน SeaFLIR 280-HD แท่นยิง Zhenhai Rocket Weapon System มีมุมกดต่ำสุด -15 องศา มุมเงยสูงสุด 50 องศา สามารถปล่อยจรวดขนาด 2.75 นิ้ว ระยะยิงหวังผลอยู่ที่ 5,000 เมตร ระยะยิงไกลสุดอยู่ที่ 8,000 เมตร ไม่มีระบบนำวิถีจึงมีราคาถูกกว่ารุ่น Mk.4 พอสมควร

Zhenhai รุ่น Mk.66 มีหัวรบชนิดต่างๆ ถึง 4 แบบให้เลือกใช้งาน ประกอบไปด้วย เจาะเกราะ แตกอากาศ กระทบแตก และส่องสว่าง หัวรบชนิดสุดท้ายให้กำลังหลายร้อยแรงเทียน ลอยอยู่บนอากาศนานถึง 5 นาที เหมาะสมกับภารกิจค้นและกู้ภัยยามค่ำคืน พลอยทำให้เรือมีความอเนกประสงค์มากขึ้น บนเรือยังมีกล้องตรวจการณ์กลางคืนเพิ่มเข้ามาอีก 1 ตัว ใช้เป็นอุปกรณ์ควบคุมการยิงสำรองได้ในกรณีฉุกเฉิน

ตามแผนการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Chiaya จะถูกสร้างจำนวน 4 ลำ ปัจจุบันสร้างเสร็จแล้ว 2 ลำส่งมอบแล้ว 1 ลำ ส่วนอีก 2 ลำกำลังทยอยตามมาในอนาคต บนเรือลำนี้มีห้องผ่าตัด ห้องพักคนป่วย รวมทั้งห้องเอกซเรย์ทันสมัย ออกแบบมาเพื่อเป็นเรือตรวจการณ์ไกลโดยเฉพาะ ให้บังเอิญหน่วยยามฝั่งไต้หวันยังมีเรือรุ่นใหม่อีกหนึ่งลำ ซึ่งเจ็บจิ๊ดเจ็บแสบเปรี้ยวสะใจท่านผู้ชมยิ่งกว่านินจาคริสติน่า

วันที่ 27 เมษายน 2020 มีพิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Amping ลำที่หนึ่ง ก่อนเข้าประจำการจริงเดือนธันวาคม 2020 หน่วยยามฝั่งต้องการเรือจำนวน 12 ลำ สั่งซื้อไปแล้วจำนวน 8 ลำ เข้าประการแล้วจำนวน 1 ลำ และอยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 2 ลำ เป็นแบบเรือที่สามารถเข้าร่วมสงครามได้ในยามที่ชาติถูกรุกราน

เรือหมายเลข CG6001  ถูกตั้งชื่อว่า Amping อันเป็นชื่อชั้นเรือไปด้วย เรือ Catamarun จากอู่ต่อเรือ JSSC ลำนี้ปรับปรุงมาจากเรือคอร์เวตชั้น Tuojiang ของกองทัพเรือไต้หวัน ให้เหมาะสมกับภารกิจของหน่วยยามฝั่งมากที่สุด เรือมีระวางขับน้ำสูงสุด 600 ตัน ยาว 65.4 เมตร กว้าง 14.8 เมตร กินน้ำลึก 2.1 เมตร ความเร็วสูงสุดถึง 44 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 3,250 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 12 นอต

ระบบอาวุธป้องกันตนเองประกอบไปด้วย ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงยิงได้ไกล 120 เมตรจำนวน 1 กระบอกที่หัวเรือ ต่อด้วย Zhenhai Rocket Weapon System จำนวน 42 ท่อยิง และปืนกลอัตโนมัติ 20 มม.ลำกล้องแฝด XTR-102 Remote Weapon System จำนวน 1 กระบอกที่ท้ายเรือ มีเรือยางท้องแข็งความเร็ว 30 นอตจำนวน 1 ลำ กับจุดติดตั้งตู้คอนเทรนเนอร์อเนกประสงค์ขนาด 20 ฟุตอีก 1 ตู้

จุดเด่นของเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Amping ก็คือ มีจุดติดตั้งอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ Hsing Feng II ระยะยิง 160 กิโลเมตร กับ Hsing Feng III ความเร็วเหนือเสียงระยะยิง 400 กิโลเมตรได้รวมกันถึง 16 นัด นำตัวเลข 12 มาคูณกับเลข 16 ได้เท่ากับ 192 ฉะนั้นในยามชาติเกิดสงครามเรือชั้นนี้ของหน่วยยามฝั่งไต้หวัน สามารถติดอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบได้มากสุดถึง 192 นัด ใช้เป็นก๊อกสองในการหยุดยั้งเรือรบฝ่ายตรงข้าม

เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Chiaya กับ Amping ช่วยพลิกโฉมให้หน่วยยามฝั่งไต้หวันเข้มแข็งกว่าเดิม มีเรือที่เหมาะสมกับภารกิจมากกว่าเดิม รวมทั้งมีไอเท็มลับเอาไว้เผื่อเหลือเผื่อขาด

Taiwan Navy

ระหว่างปี 2019 ผู้เขียนเคยเขียนถึงกองทัพเรือไต้หวัน 3 บทความติดกัน โดยเฉพาะบทความสุดท้ายเป็นการปูเรื่องไว้สำหรับอนาคต บทความปัจจุบันจึงถือเป็นตอนที่ 4 ต่อจากของเดิม เรือที่วันก่อนยังเป็นแค่เพียงเศษกระดาษ วันนี้กลับกลายเป็นของจริงลอยลำกลางทะเลลึกเสียแล้ว ผู้อ่านท่านใดอยากรู้ที่มาที่ไปของเรือแต่ละลำ เข้าไปเสพความสุขความสำราญจากบทความเดิมตามลิงก์นี้ได้เลย

https://thaimilitary.blogspot.com/2019/05/taiwan-navy-future-program.html

Taiwan Navy: The Future Program

Guided Missile Corvette and TC-2N

วันที่ 2 พฤษภาคม 2021 เรือคอร์เวตอาวุธนำวิถี PGG-619 ROCS Ta Chiang ของกองทัพเรือไต้หวัน ทำการทดสอบวิ่งในทะเลเป็นครั้งแรก มีการติดตั้งอาวุธปืนและระบบเรดาร์ทั้งหมดอย่างครบครัน

เรือหมายเลข 619 เป็นเรือคอร์เวตชั้น Min Chiang ลำที่ 1 จากจำนวน 3 ลำในเฟสแรกสุด พัฒนาปรับปรุงจากเรือคอร์เวตต้นแบบ PGG-618 ROCS Tuo Chiang ซึ่งเข้าประจำการตั้งแต่ปี 2014 เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 685 ตัน ยาว 65 เมตร กว้าง 14.8 เมตร กินน้ำลึก 2.1 เมตร ความเร็วสูงสุดถึง 44 นอต แต่ถ้าแบกอาวุธเต็มลำจะลดลงมาเหลือ 30 นอต โดยมีระยะปฏิบัติการไกลสุด 1,800 ไมล์ทะเล

อาวุธบนเรือประกอบไปด้วย ปืนใหญ่ 76/62 มม.รุ่นใหม่ล่าสุดที่หัวเรือ 1 กระบอก ระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Phalanx ท้ายเรือ 1 ระบบ มีจุดติดตั้งอาวุธนำวิถีกลางลำเรือค่อนข้างยาว มีเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติรุ่นใหม่เพิ่มเติมเข้ามา ความคล่องตัวกับอาวุธที่แบกจนหลังแอ่นคือจุดเด่นเรือ Catamaran ลำนี้

ต่อมาในการทดสอบเดินเรือครั้งที่สอง ROCS Ta Chiang ได้รับการติดตั้งแท่นยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Tien Chien 2N หรือ TC-2N เป็นแท่นยิงแฝดสองวางซ้อนกันสี่ชั้นรวมแล้วเท่ากับแปดนัด (ภายในสี่เหลี่ยมสีแดง) สีจะเข้มๆ หน่อยอยู่ก่อนถึง SATCOM พอมองเห็นไหมครับ ผู้เขียนขอเรียกชื่อว่าแท่นยิงแนวตั้งก็แล้วกัน สาเหตุเป็นเพราะอะไรอีกไม่นานคงได้รู้กัน

National Chuang-shan Institute of Science and Technology หรือ NCSIST พัฒนา TC-2N จากอาวุธนำวิถีอากาศ-สู่-อากาศ Sky Sword II ของกองทัพอากาศ รุ่นใหม่ล่าสุดมีระยะยิงไกลถึง 100 กิโลเมตร แต่เวอร์ชันใช้งานบนเรือระยะยิงไกลสุดเพียง 30 กิโลเมตร แม้มีบูทเตอร์ช่วยส่งจรวดขึ้นสู่ฟากฟ้าก็ตาม ติดตั้งเรดาร์ตรวจจับเป้าหมายไว้ที่ปลายจมูก ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเรดาร์ควบคุมการยิงบนเรือ ระหว่างเดินทางรับคำสั่งจากเรดาร์ตรวจการณ์บนเรือด้วยระบบดาต้าลิงก์

ขนาดแท่นยิงค่อนข้างกะทัดรัด ผู้อ่านเห็นแล้วบอกว่านำมาติดบนเรือหลวงเจ้าพระยาได้หรือไม่? ไอ้ได้น่ะได้อยู่หรอกครับ ทว่าสมควรใช้งานแท่นยิงแฝดสองซ้อนสองรวมกันแล้วเท่ากับสี่นัดมากกว่า

ทำไมใช้แท่นยิงแฝดสองซ้อนสี่ไม่ได้ ทั้งๆ ที่เรือหลวงเจ้าพระยาใหญ่กว่าเรือไต้หวันตั้งเยอะ?

เรื่องนี้มีที่มาที่ไปครับ เรือคอร์เวตไต้หวันสร้างแท่นยิงถาวรกลางเรือแบ่งออกเป็นสี่ช่อง โดยแต่ละช่องมีความสูงประมาณ 5 เมตร มีประตูเปิดปิดด้านล่างช่วยระบายความร้อนลูกจรวด การนำแท่นยิงแฝดสองซ้อนสี่มาติดตั้งต้องบอกว่าเป็นเรื่องหมูตู้ ทีนี้ถ้านำมาใช้งานบนเรือหลวงเจ้าพระยาของเราบ้าง จะมีแค่เพียงรางเหล็กรองรับจรวดซ้อนสี่นัดในแนวตั้ง ความมั่นคงระหว่างปล่อยจรวดน้อยกว่ากัน เจอพายุลมแรงเข้าไปสร้างปัญหามากขึ้นกว่าเดิม นี่ยังไม่พูดถึงเรื่องการสะท้อนเรดาร์จากเรือข้าศึกจากแท่นยิงสูงโด่เด่

เพราะฉะนั้นใช้งานแท่นแฝดสองซ้อนสองบนเรือหลวงเจ้าพระยาจะเหมาะสมมากที่สุด

คำถามถัดไปประสิทธิภาพ TC-2N มีมากน้อยแค่ไหน เทียบกับ ESSM ของอเมริกาได้หรือไม่?

ตอบสั้นๆ คือยังเทียบกันไม่ได้ คิดว่าใกล้เคียง Sea Sparrow รุ่นท้ายๆ มากกว่า เพียงแต่ระบบนำวิถีกับระบบดาต้าลิงก์ดีกว่ากันเล็กน้อย TC-2N พัฒนามาจากอาวุธนำวิถีอากาศ-สู่-อากาศ Sky Sword II ยิงเครื่องบินซึ่งเป็นเป้าหมายใหญ่ได้แน่นอน ยิงอากาศยานไร้คนขับซึ่งขาดความเร็วและความคล่องตัวได้แน่นอน แต่เมื่อเผชิญหน้ากับอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบรุ่นใหม่ ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าเครื่องบิน มีความคล่องตัวสูงมาก ใช้วิธีบินเรี่ยน้ำในระดับต่ำ รวมทั้งสามารถเปลี่ยนทิศทางบินระหว่างเข้าโจมตี TC-2N เอาไม่อยู่อย่างแน่นอน

คำถามถัดไปแล้วไต้หวันมีแผนรับมือเรื่องนี้อย่างไร?

ตอบสั้นๆ คือใช้ระบบป้องกันตนเองระยะประชิด ตอนถัดไปจะพูดถึงเรื่องนี้อีกครั้ง ในแผนระยะยาว TC-2N จะถูกพัฒนาทันสมัยกว่าเดิม รุ่น Block II สามารถรับมืออาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบได้ดีขึ้น แต่ต้องใช้เวลาบวกประสบการณ์บวกความรู้บวกเทคโนโลยีบวกโน่นนั่นนี่ กระโดดก้าวเดียวกลายเป็นจรวดเทพคงทำไม่ได้

TC-2N จะมาแทนที่อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะใกล้กับระยะกลางทั้งหมดของกองทัพเรือไต้หวัน TC-2 จะมาแทนที่อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะใกล้ทั้งหมดของกองทัพบกและกองทัพอากาศไต้หวัน แต่ Sky Sword II ไม่สามารถแทนที่อาวุธนำวิถีอากาศ-สู่-อากาศระยะเกินสายตาของกองทัพอากาศได้ทั้งหมด ต้องรอรุ่นใหม่ซึ่งทันสมัยกว่า ประสิทธิภาพสูงกว่า และมีความน่าเชื่อถือมากกว่าถึงจะทำสำเร็จ

กลับมาที่เรือคอร์เวตเจ้าของฉายา Aircraft Carrier Killer  อีกครั้ง กองทัพเรือไต้หวันต้องการจัดหาเรือชั้นนี้จำนวน 12 ลำ แบ่งเป็นรุ่นปราบผิวน้ำจำนวน 6 ลำ รุ่นป้องกันภัยทางอากาศ 3 ลำ และรุ่นปราบเรือดำน้ำอีก 3 ลำ บังเอิญเรือต้นแบบ ROCS Tuo Chiang ซึ่งติดตั้งโซนาร์ลากท้าย VDS กับตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ ผลการใช้งานถือว่าสอบตกได้คะแนนต่ำมาก ROCS Ta Chiang  ก็เลยไม่ได้ติดตั้งระบบปราบเรือดำน้ำ สังเกตได้ว่าท้ายเรือกราบซ้ายไม่มีช่องปล่อยโซนาร์แล้ว ส่วนช่องปล่อยเรือเล็กที่กราบขวายังอยู่ตามปรกติ 

          แผนการจัดหาอาจเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม โดยเฉพาะรุ่นปราบเรือดำน้ำอาจหายไปเลยก็ได้ แต่เรือคอร์เวตอาวุธนำวิถีชั้น Ta Chiang จำนวน 3 ลำที่สร้างในเฟสแรก จะติดตั้งอาวุธตามภาพกราฟิกอย่างแน่นอน ประกอบไปด้วยอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน TC-2N จำนวน 16 นัด (จุดสีเหลือง) อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ Hsing Feng II ระยะยิง 160 กิโลเมตร จำนวน 8 นัด (จุดสีชมพู) และอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบความเร็วเหนือเสียง Hsing Feng III ระยะยิง 400 กิโลเมตร (จุดสีฟ้า) อีก 4 นัด นับรวมทั้งหมดจะมีจรวดชนิดต่างๆ บนเรือลำนี้ถึง 28 นัด ทั้งเรือและจรวดพัฒนาและสร้างใช้งานเองภายในประเทศ

            ในภาพมองเห็นเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ CS/MPQ-90 Bee Eye X-band Rotating Passive Phased Array Radar  อยู่ก่อนถึง Phalanx พัฒนาขึ้น,kโดย Chinese Academy of Sciences  เพิ่งติดตั้งบนเรือลำนี้เป็นลำแรก มีประสิทธิภาพสูงโดยเฉพาะการติดตามเป้าหมายทางอากาศ ทำงานร่วมกับอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน TC-2N ได้เป็นอย่างดี แม้เป็นเพียงเรดาร์ PESA ไม่ใช่ AESA รุ่นใหม่เอี่ยมก็ตาม

            CS/MPQ-90 Bee Eye ถูกไต้หวันใช้งานแบบยกโหล ต่อไปในอนาคตจะมีประจำการครบทุกเหล่าทัพ กองทัพบกกับกองทัพอากาศใช้งานร่วมกับอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน TC-2 ซึ่งเป็นรุ่นใช้งานบนบก เผยโฉมครั้งแรกในงาน IDEX 2019 โดยติดแท่นยิงแฝดสี่บนรถบรรทุกหกล้อ ตามข่าวระยะยิงลดลงมาเหลือเพียง 15 กิโลเมตร และไม่มีบูทเตอร์ติดท้ายจรวดเพื่อลดราคา แต่ผู้เขียนไม่กล้าฟันธงรอดูของจริงในอนาคตดีกว่า

ทั้ง TC-2N หรือ TC-2 รวมทั้ง Bee Eye PESA Radar ได้รับคำสั่งซื้อทั้งหมดแล้ว ฉะนั้นในอนาคตจะได้เห็นภาพจริงอย่างแน่นอน ภาพประกอบด้านบนคือการทดสอบยิง TC-2N บนเรือฟริเกตชั้น Knox ของกองทัพเรือไต้หวันในปี 2014 ถือเป็นการทดสอบรุ่นใช้งานทางทะเลครั้งแรกสุด มองเห็นเรดาร์ CS/MPQ-90 Bee Eye ติดไว้ท้ายเรืออย่างชัดเจน ในการทดสอบจรวดต้นแบบยังไม่ได้ติดบูทเตอร์แต่อย่างใด

TC-2N ใช้งานบนเรือกับ TC-2 ใช้งานบนบกต่างกันที่บูทเตอร์ ช่วยเพิ่มอัตราเร่งกับระยะทางซึ่งรุ่นใช้งานบนบกไม่จำเป็นต้องใช้ ฉะนั้นแล้วราคาแตกต่างกันอย่างแน่นอน ผู้เขียนคิดว่าท่อยิง TC-2N น่าจะใช้งาน TC-2 ได้ แต่ท่อยิง TC-2 ซึ่งยาวเพียง 4 เมตรไม่น่ารองรับ TC-2N ติดบูทเตอร์ยาวมากกว่า 4 เมตรได้

Guided Missile LPD and Sea Oryx

          วันที่ 9 มิถุนายน 2020 ไต้หวันทำพิธีวางกระดูกเรือเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่สร้างเองในประเทศ เรือซึ่งมีราคา 163 ล้านเหรียญถูกกำหนดให้ใช้หมายเลข 1401 ต่อมาในวันอังคารที่ 13 เมษายน 2021 มีพิธีปล่อยเรือลงน้ำพร้อมการเฉลิมฉลองทั่วประเทศ ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวินทำหน้าที่ประธานจัดงานตามปรกติ

เรือลำแรกในโครงการ Fortune Project ซึ่งเริ่มเดินหน้าตั้งแต่ปี 20017 ถูกกำหนดชื่ออย่างเป็นทางการว่า LPD 1401 ROCN Yushan ชื่อเรือสร้างโดยอู่ต่อเรือ CSBC Corporation Taiwan มาจากชื่ออุทยานแห่งชาติยวี่ซัน หรือที่คนทั่วโลกล้วนรู้จักดีในชื่อภูเขาหยก โครงการนี้สำคัญกับไต้หวันพอสมควร แต่ไม่มากเท่าภัยคุกคามอื่นซึ่งกำลังจ่อคอหอยตัวเอง ส่งผลให้เรือลำที่สองถูกเลื่อนออกไปอย่างเลี่ยงไม่ได้

ทำไมไต้หวันต้องมีเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่? หรือต้องการบุกตลบหลังจีนเหมือนในนิยาย?

ไม่ถึงขนาดนั้นหรอกครับ ไต้หวันจำเป็นต้องมีเรือให้นาวิกโยธินตัวเองใช้งาน แล้วเรือที่มีอยู่ในปัจจุบันมันชราภาพหมดแล้ว จำเป็นต้องสร้างขึ้นมาทดแทนจำนวนหนึ่งเท่านั้นเอง นาวิกโยธินที่ไต้หวันมีอยู่ประมาณหนึ่งหมื่นนายก็เช่นกัน มีไว้ยกพลขึ้นบกเกาะเล็กเกาะน้อยของตัวเองเท่านั้น หน้าที่หลักคือป้องกันทหารจีนยกพลเข้ามาในพื้นที่ไต้หวัน รวมทั้งทำภารกิจพิเศษเช่นลักลอบโจมตีจากใต้ทะเล

เรือลำใหม่ช่วยให้นาวิกโยธินทำภารกิจสะดวกขึ้น ROCN Yushan มีระวางขับน้ำเต็มที่ 10,600 ตัน ยาว 153 เมตร กว้าง 23 เมตร กินน้ำลึกสุด 5.8 เมตร ความเร็วสูงสุด 21 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 7,000 ไมล์ทะเล แต่ถ้าแบกมาเต็มลำจะลดเหลือเพียง 5,000 ไมล์ทะเล บรรทุกยานเกราะ AAV-7 ได้จำนวน 9 คัน มีเรือระบายพลขนาดใหญ่ LCU จำนวน 1 ลำ เรือระบายพลขนาดกลาง LCM อีก 4 ลำ

ท้ายเรือมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ขนาดใหญ่ รองรับเจ้ายักษ์ CH-47D Chinook ได้อย่างสบาย มีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ขนาด 10 ตันจำนวน 2 ลำ บนเรือมีเตียงนอนรวมทั้งสิ้น 673 เตียง สำหรับลูกเรือ 190 เตียง สำหรับนาวิกโยธิน 250 เตียง มีเตียงว่าง 233 เตียงสำรองเพื่อทำภารกิจอื่นๆ (ลำเลียงทหารเพิ่มเติมก็ได้) อ่านดูคร่าวๆ ค่อนข้างอเนกประสงค์พอสมควร คุ้มค่างบประมาณ 163 ล้านเหรียญในการสร้างเรือ

ระบบอาวุธป้องกันตนเองประกอบไปด้วย ปืนใหญ่ 76/62 มม.ใช้ป้อมปืนไต้หวันจำนวน 1 กระบอก ระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx CIWS จำนวน 2 ระบบ ปืนกลอัตโนมัติ 20 มม.ลำกล้องเดี่ยว XTR-101 RWS จำนวน 2 กระบอก รวมทั้งมีจุดติดตั้งอาวุธนำวิถีบริเวณกลางเรือค่อนข้างกว้าง

จุดติดตั้งอาวุธนำวิถีนี่เองคือสาเหตุของเรื่องดราม่า พิธีปล่อยเรือลงน้ำมีการเผยแพร่ข่าวออกไปทั่วโลก บังเอิญข้อมูลค่อนข้างคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เนื่องจากทุกคนอ่านภาษาจีนไต้หวันหรือฮกเกี้ยนไม่ออก ส่วนคนที่อ่านออกก็ดันมั่นใจตัวเองเกิดเหตุ ไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลจากทางการไต้หวันให้ชัดเจนเสียก่อน

ดราม่าเรื่องนี้คืออะไรอย่างนั้นหรือ? ผู้เขียนพอสรุปเรื่องราวได้ดังนี้

สำหรับคนที่ไม่เคยตามข่าวไต้หวันมาก่อน จะลงข้อมูลว่าเรือ ROCN Yushan ติดอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ Hsing Feng II และ Hsing Feng III รวมกันจำนวน 16 นัด

สำหรับคนที่เคยตามข่าวไต้หวันแต่ดันชะล่าใจ จะลงข้อมูลว่าเรือ ROCN Yushan ติดอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน TC-2N  จำนวน 16 นัด และอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ Hsing Feng III อีกจำนวน 4 นัด

ส่วนผู้เขียนซึ่งตามข่าวไต้หวันและมั่นใจเบ้าหน้าตัวเองมาก ลงข้อมูลว่าเรือ ROCN Yushan ติดอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน TC-2N  จำนวน 16 นัดเท่านั้น

บังเอิญข้อเท็จจริงที่กองทัพเรือไต้หวันระบุชัดเจน เป็นการหักปากกาเซียนตัวปลอมทั่วโลกจนร้องกรี๊ดๆ เพราะเรือ ROCN Yushan ติดอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน TC-2N  ได้มากถึง 32 นัด

เพื่อเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริง เรามาชมจุดสร้างปัญหาชวนหัวกันต่อเลย นี่คือแท่นยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน TC-2N แน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ยังไม่ได้ติดตั้งท่อยิงเข้าไปเท่านั้นเอง ชมภาพเล็กมุมขวามือกันก่อนนะครับ นี่คือต้นแบบแท่นยิง TC-2N ตั้งแต่ปี 2017 เป็นท่อยิงแฝดสี่ซ้อนสองซ้อนตั้งทำมุม 60 องศา นับรวมกันได้เท่ากับแปดนัดต่อหนึ่งแท่นยิง ผู้เขียนขอเรียกชื่อว่าแท่นยิงแนวนอนตามคุณลักษณะ

ไต้หวันออกแบบแท่นยิงให้เหมาะสมกับการใช้งาน ท่อยิงทั้งแปดจะเสียบเข้าไปในแท่นยิงพอดิบพอดี โดยมีท่อบังคับทิศทางไอพ่นให้ลอยสูงทำมุม 60 องศา บนเรือลำใหม่ติดตั้งแท่นยิงดังกล่าว 2 จุดสลับกัน ข้อมูลทั้งหมดระบุว่าเรือติดตั้ง TC-2N ได้เพียง 16 นัดเท่านั้น แล้ว 32 นัดมาจากไหนกันล่ะพ่อเอ๊ย!

คำตอบที่ตอนนี้ผู้เขียนนึกออกมีสามทางเลือก หนึ่งแท่นยิงของจริงมีความสูงมากกว่าแท่นยิงต้นฉบับ ใส่ท่อยิงแฝดสี่ซ้อนสี่ชั้นนับรวมกับเท่ากับ 16 นัด จำนวน 2 แท่นเท่ากับเรือมี TC-2N จำนวน 32 นัด

คำตอบที่สองดูเหมือนแท่นยิงใหม่จะกว้างกว่าแท่นยิงต้นแบบ ฉะนั้นต้องเป็นท่อยิงแฝดแปดซ้อนสองชั้นนับรวมกับเท่ากับ 16 นัด จำนวน 2 แท่นเท่ากับเรือมี TC-2N จำนวน 32 นัด

คำตอบที่สามนี่คือแท่นยิงแนวนอนต้นแบบนี่แหละ ใส่ TC-2N ได้มากสุด 8 นัดเหมือนเดิม แต่ทว่าเรือสามารถติดตั้งได้มากถึง 4 แท่นยิง (ปรกติจะติดเพียง 2 แท่นยิง) โดยการติดตั้งหันหน้าชนกันเวลายิงใช้วิธียิงสลับกัน ฉะนั้นในยามสงครามเรือสามารถแบก TC-2N ไปได้มากสุดถึง 32 นัด

คำตอบที่ถูกต้องอาจต้องใช้เวลารอคอย เมื่อไรก็ตามที่เรือติดท่อยิง TC-2N บนแท่นยิงที่สร้างไว้แล้วล่วงหน้า เราจะได้รู้กันว่าคำตอบข้อไหนกันแน่คือสิ่งถูกต้อง

โอยอ่านแล้วปวดหัว ไปเรื่องระบบเรดาร์บนเรือกันบ้างดีกว่า

เรือยกพลขึ้นบกชั้น Yushan ของไต้หวัน ได้รับแรงบันดาลใจจากเรือชั้น San Antonio ของอเมริกา มีการสร้างเสากระโดงสองต้นหัวเรือท้ายเรือ ในเสากระโดงเป็นโดมสำหรับครอบเรดาร์เหมือนเรืออเมริกา เรือไต้หวันติดตั้งอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน TC-2N ฉะนั้นเรดาร์ CS/MPQ-90 Bee Eye มาด้วยแน่นอน ปัญหาก็คือเรดาร์อีกตัวคืออะไรกันแน่? หรือมีแค่เพียงเรดาร์ CS/MPQ-90 Bee Eye ตัวเดียวเท่านั้น

ความเห็นส่วนตัวผู้เขียนคิดว่ามีจุดติดตั้งเรดาร์เพิ่มเติม เตรียมไว้สำหรับเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ AESA ที่ไต้หวันกำลังพัฒนา ใช้เป็นเรดาร์หลักบนเรือฟริเกตเบาขนาด 1,500 ตัน ใช้เป็นเรดาร์รองบนเรือฟริเกตขนาด 4,530 ตัน และใช้เป็นเรดาร์เสริมบนเรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศขนาด 7,000 ตัน ส่วนจะได้ติดตั้งบนเรือ LPD โครงการ Fortune Project หรือเปล่า อาจต้องรอดูหลังเรือเข้าประจำการสักพักหนึ่ง

เรือยกพลขึ้นบกลำใหม่จบสิ้นแต่เพียงเท่านี้ เราไปต่อกันที่เรือยกพลขึ้นบกลำเก่าจากยุคสงครามโลก USS Dukes Country LST-735 เข้าประจำการวันที่ 26 เมษายน 1944 และปลดประจำการเดือนมีนาคม 1946 ทั้งๆ ที่มีอายุการใช้งานเพียง 1 ปี 11 เดือน สาเหตุเป็นเพราะสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงแล้ว

USS Dukes Country พร้อมเรืออีกหลายสิบลำ ต้องจอดเรียงรายผูกเชือกติดกันอยู่ในท่าเรือ มีตัวแทนประเทศต่างๆ ที่สนใจแวะมาเยี่ยมชม แต่ไม่มีใครซื้อทั้งๆ ที่ลดราคาให้เหลือเพียงหนึ่งในสาม สาเหตุเป็นเพราะช่วงนั้นเศรษฐกิจตกสะเก็ดทั่วโลก จนกระทั่งในปี 1950 เรือ USS Dukes Country กลับเข้าประจำการอีกครั้ง อันเป็นผลสืบเนื่องจากสงครามเกาหลีระเบิดขึ้นนั่นเอง

หลังสงครามเกาหลีสิ้นสุดลง USS Dukes Country ถูกกองทัพเรือไต้หวันเช่าซื้อนานถึง 17 ปี ต่อมาในปี 1974 จึงขอซื้อขาดตั้งชื่อว่า ROCK Chung Hai LST-219 เรือยกพลขึ้นบกลำแรกถูกใช้งานมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งถึงปี 2017 จึงถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ROCK Kao Hsiung โดยใช้หมายเลขเรือ LCC-1 และเปลี่ยนหน้าที่มาเป็นเรือทดสอบระบบอาวุธทันสมัยชนิดต่างๆ โดยหนักมาที่ระบบป้องกันภัยทางอากาศเป็นหลัก

2021 ลบด้วย 1944 เท่ากับ 77 ปี ไต้หวันใช้เรืออายุ 77 ปีแบบไม่เกรงใจคนแก่สักนิด

จากภาพถ่ายมีข้อมูลระบุชัดเจน ฝั่งซ้ายสุดที่ว่างกลางเรือสร้าง Superstructure ยกสูงขึ้นมา เพื่อติดตั้งระบบแท่นยิงแนวดิ่ง Mk.41 ซึ่งไต้หวันซื้อมาจากอเมริกา หวังใช้งานกับอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานจำนวน 2 รุ่นของตัวเอง ถัดมาหลังเสากระโดงคือเรดาร์ CS/MPQ-90 Bee Eye ถัดไปหน่อยเดียวคือแท่นยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน TC-2N รุ่นแนวตั้งใช้งานบนเรือคอร์เวต ปิดท้ายด้วยระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Sea Oryx ขนาด 24 ท่อยิง ต้นแบบมาแล้วฉะนั้นอีกไม่นานเข้าประจำการแน่นอน

 Sea Oryx พัฒนาจากอาวุธนำวิถีอากาศ-สู่-อากาศ Tien Chien-1 ของกองทัพอากาศ นำมาปรับปรุงให้เหมาะสมกับการใช้งานบนเรือ อารมณ์เดียวกับ RAM ของอเมริกาหรือ FL-3000N ของจีนนั่นเอง ระยะยิงไกลสุด 9 กิโลเมตร ระยะยิงสูงสุด 3 กิโลเมตร นำวิถีอินฟราเรดมีระบบดาต้าลิงก์รับข้อมูลระหว่างเดินทางได้ ใช้ระบบ Lock-on-after-launch คือยิงออกไปก่อนบังคับทิศทางด้วยเรดาร์ตรวจการณ์ เข้าใกล้เป้าหมายตัวจับความร้อนที่ปลายจมูกเริ่มต้นทำงาน เมื่อล็อกเป้าได้ Sea Oryx จะพุ่งเข้าใส่แล้วตูมเกิดเป็นโกโก้ครันช์!

ต้นแบบ Sea Oryx ในภาพเป็นรุ่น 24 ท่อยิง นำมาใช้งานบนบกเพื่อป้องกันภัยระยะประชิด 

ชมภาพถัดไปกันต่อนะครับ ภาพใหญ่คือ Sea Oryx 24 ท่อยิงทาสีพรางดูกลมกลืน ที่เห็นไกลๆ คือระบบเรดาร์ Shipborne Phase Array หรือ ADAR-HP รุ่นใช้งานบนบก ระยะตรวจจับไกลสุดถึง 400 กิโลเมตร อนาคตจะถูกใช้งานบนเรือฟริเกตขนาด 4,530 ตัน คู่กับอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Bow Three หรือ Tiangong-3 ซึ่งมีระยะยิงไกลสุด 200 กิโลเมตร โดยใช้แท่นยิงแนวดิ่ง Mk.41ของอเมริกานั่นเอง

Sea Oryx รุ่นใช้งานบนเรือมีขนาด 16 ท่อยิงตามภาพเล็กฝั่งขวามือ จะถูกติดตั้งบนเรือขนาดใหญ่ตั้งแต่เรือฟริเกตแท้ๆ ขึ้นไป ภาพเล็กฝั่งซ้ายมือคือรุ่น 12 ท่อยิงขนาดกะทัดรัด ติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติสำหรับติดเป้าหมายไว้ด้านบน อารมณ์เดียวกับ Sea Ram ของอเมริกานั่นเอง จะถูกติดตั้งบนเรือฟริเกตเบาขนาด 1,500 ตัน และเรือคอร์เวตขนาด 685 ตัน รวมทั้งเรือสำคัญๆ ขนาดเล็กบางลำ

Mine Laying Ship and Glory Star

          โครงการเรือยกพลขึ้นบกขนาดหนึ่งหมื่นตันผ่านไปแล้ว ถัดไปคือโครงการเรือเล็กแต่มีความสำคัญไม่แพ้กัน ในการป้องกันภัยจากเรือรบจำนวนมหาศาลของจีน รวมทั้งเรือดำน้ำซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี กองทัพเรือไต้หวันต้องการตัวช่วยมาคอยสนับสนุน และหนึ่งในนั้นก็คือทุ่นระเบิดทันสมัยชนิดต่างๆ

ทุ่นระเบิดเป็นอาวุธยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทว่าจนถึงปัจจุบันยังทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ว่ากันว่าหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา อาวุธที่สร้างความเสียหายให้กับเรือรบอเมริกามากที่สุดก็คือ ทุ่นระเบิดรุ่นเก่าโบราณหงำเหงือกของฝ่ายตรงข้าม โดนเข้าไปหลายลำสร้างความเสียหายพอสมควร

ในเมื่อกองเรืออเมริกาเคยวอดวายมาแล้ว ไฉนเลยกองเรือจีนจะวอดวายตามกันไม่ได้ ไต้หวันพัฒนาทุ่นระเบิดรุ่นใหม่ขึ้นมาหลายรุ่น พร้อมกับสั่งซื้อเรือวางทุ่นระเบิดความเร็วสูง 4 ลำเข้าประจำการ

วันที่ 4 สิงหาคม 2020 อู่ต่อเรือ Taiwanese shipbuilder Lungteh Shipbuilding ทำพิธีปล่อยเรือวางทุ่นระเบิดชั้น Min Jiang ลำที่หนึ่งลงน้ำ เรือ ROCS Min Jiang ใช้หมายเลขเรือ FMLB-1 ซึ่งย่อมาจาก Fast Mine Laying Boat มีระวางขับน้ำ 347 ตัน ยาว 41 เมตร กว้าง 8.8 เมตร กินน้ำลึก 1.7 เมตร ความเร็วสูงสุด 15 นอต อาวุธป้องกันตัวประกอบไปด้วยปืนกล 20 มม.T75 จำนวน 1 กระบอก และปืนกล 7.62 มม.T74 อีก 2 กระบอก ออกแบบให้ควบคุมเรือจากบนฝั่งหรือใช้ลูกเรือคุมเรือก็ได้ ภายในเรือสามารถบรรทุกทุ่นระเบิดจำนวนหนึ่งบนราง มาพร้อมระบบปล่อยอัตโนมัติบริเวณท้ายเรือกราบขวา

เรือวางทุ่นระเบิดความเร็วสูงชั้น Min Jiang สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องมีลูกเรือบนเรือ ภารกิจหลักคือขัดขวางการยกพลขึ้นบกทหารจีน โดยการส่งเรือออกไปเสี่ยงตายวางทุ่นระเบิดดักหน้า ควบคุมระยะไกลเอาเทคโนโลยีเข้าสู้ว่าอย่างนั้น เพียงแต่ผู้เขียนไม่แน่ใจระบบควบคุมทางไกลติดตั้งหรือยัง

เรือทั้ง 4 ลำวางกระดูกเรือเรียบร้อยแล้ว ROCS Min Jiang ปล่อยลงน้ำแล้วอยู่ระหว่างทดสอบเดินเรือ ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการป้องกันตัว แบบเรือก็ง่ายๆ ตามภาพไม่มีอะไรพิเศษ อู่ต่อเรือเอกชนในไทยพากันลูบปากบอกว่าหมูตู้ ที่ยากสักหน่อยคือระบบวางทุ่นระเบิดอัตโนมัติกับระบบควบคุมเรือจากระยะไกล

ปรกติกองทัพเรือไต้หวันใช้เรือระบายพลขนาดใหญ่หรือ LCU วางทุ่นระเบิด ในอนาคตจะถูกแทนที่ด้วยเรือ FMLB รุ่นใหม่ทันสมัย อาวุธโบราณแต่ทรงประสิทธิภาพยังคงใช้งานได้ดีเสมอ

ภาพถัดไปคือทุ่นระเบิดรุ่นใหม่กองทัพเรือไต้หวัน มีด้วยกัน 4 แบบเริ่มจากภาพบนซ้ายมือคือ Wan Xiang CAPTOR Mine หรือทุ่นระเบิดปราบเรือดำน้ำ ภาพบนขวามือคือ Floating Mine หรือทุ่นระเบิดลอยซึ่งจะลอยอยู่บนผิวน้ำ ภาพล่างซ้ายมือคือ Moored Mine หรือทุ่นระเบิดทอดประจำที่ จะลอยอยู่ในระดับความลึกที่ตั้งไว้ โดยมีสมอที่ก้นทะเลตรึงทุ่นระเบิดไว้กับที่ ส่วนภาพล่างขวามือคือ Wan Xiang Bottom Mine หรือ Grounded Mine ทุ่นระเบิดวางบนพื้นทะเล แต่ในภาพเป็นรุ่นฝึกไม่มีหัวรบบรรจุอยู่ภายใน

ข้อมูลเรื่องทุ่นระเบิดไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์นะครับ เป็นศาสตร์ความรู้ที่ผู้เขียนไม่สามารถหยั่งลึกได้ รวมทั้งข้อมูลจากไต้หวันค้นพบแค่เพียงสองรุ่น อาจมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นโปรดพิจารณาอย่างรอบคอบ

เรือลำถัดไปผู้เขียนเคยเขียนถึงมาก่อนเช่นกัน เป็นเรือลำเล็กมากที่สุดของบทความ เนื่องจากไต้หวันพัฒนาอาวุธจำนวนมาก จำเป็นต้องมีเรือทดสอบในการติดตั้งอาวุธต้นแบบ เรือลำนี้ต้องมีขนาดเล็กค่าใช้จ่ายไม่สูง แต่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงเรือรบซึ่งจะนำอาวุธไปใช้งานจริง

เหมือนจะง่ายแต่ไม่ง่าย ไต้หวันมีเรือคอร์เวตกับเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งความเร็ว 44 นอตใช้งาน เรือเล็กโดยทั่วไปความเร็วต่ำกว่ากันพอสมควร การทดสอบอาจได้ผลลัพธ์ไม่เหมาะสมสักเท่าไร ด้วยเหตุนี้โครงการสำคัญโครงการหนึ่งจึงได้เกิดขึ้น โดยใช้ชื่อว่า ‘Glory Star Offshore Test Platform’

แบบเรือในโครงการถูกจัดแสดงในงาน KIMD EXPO 2018 (ภาพเล็กมุมขวา) เพราะไม่มีรายละเอียดผู้เขียนพลอยเข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่า นี่คือเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถี Catamarun ขนาดเล็กรุ่นส่งออก แท้ที่จริงเป็นเรือทดสอบควมเร็วสูงรุ่นใหม่ต่างหาก ไต้หวันสร้างเรือเพื่อใช้งานเองหาใช่ส่งออกแต่อย่างใด

เรือลำนี้มีชื่อว่า Glory Star สร้างโดย Zhongshan Research Institute of Science and Longde Shipbuilding Industry ทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำวันที่ 9 มีนาคม 2019 เรือมีระวางขับน้ำ 80 ตัน ยาว 28 เมตร กว้าง 8.8 เมตร กินน้ำลึก 1.3 เมตร ความเร็วสูงสุด 35 นอตต่ำกว่าความต้องการไป 5 นอต

แบบเรือมีความคล้ายคลึงเรือคอร์เวตอาวุธนำวิถีชั้น Tuojiang หลังเข้าประจำการ Glory Star เริ่มต้นทำงานตัวเองทันที ในภาพใหญ่ Superstructure หรือกล่องครอบอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบถูกถอดออกไป ท้ายเรือวางตู้คอนเทรนเนอร์ห้องทำงานสีดำ มีเสาสูงอยู่ด้านบนน่าจะไว้ติดตั้งเรดาร์ต้นแบบ หัวเรือติดปืนกลอัตโนมัติ 20 มม.ลำกล้องแฝด XTR-102 RWS ได้ 1 กระบอก เพียงแต่ในภาพถ่ายไม่ได้ติดตั้งเอาไว้

ภาพถัดไปถือเป็นภาพหมู่รวมดาวสาวสยาม Glory Star สามารถทำหน้าที่ได้อย่างคล่องตัว ภาพซ้ายสุดเป็นการทดสอบระบบเรดาร์ CS/MPQ-90 Bee Eye รุ่นใช้งานบนบก ติดตั้งอยู่บนตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 2 ฟุต แล้วนำมาวางท้ายเรือเพื่อทดสอบระบบ Mobile Radar ส่วนภาพกลางคือการทดสอบปืนกลอัตโนมัติรุ่นใหม่ของไต้หวัน มีชื่อเรียกยาวๆ ว่า Carrier-based Chain Gun Remote Control System โดยนำปืนกล 30 มม.รุ่น ATK MK-44 30mm Chain Gun มาติดตั้งบนป้อมปืนที่ไต้หวันพัฒนาขึ้นมาเอง ติดตั้งกล้องโทรทัศน์ กล้องตรวจจับความร้อน รวมทั้งเลเซอร์วัดระยะ บรรจุกระสุน 30 มม.ในป้อมปืนมากถึง 600 นัด

ไต้หวันจะนำปืนกลอัตโนมัติ 30 มม.มาใช้งานแทนที่ปืนกล 40 มม. บนเรือรบ เรือช่วยรบ และเรือยามฝั่งที่เคยใช้งาน Bofors 40L70 ทุกลำ ส่วนที่หัวเรือน่าจะเป็นปืนกลอัตโนมัติ 20 มม.ลำกล้องเดี่ยว XTR-101 RWS ใช้ลำกล้องปืน XTM102 ขนาด 20x102 สั้นกว่าปืนกลทั่วไป มาที่ภาพขวามือกันบ้างนะครับ Glory Star ติดตั้งแท่นยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบระยะใกล้ยังไม่เปิดเผยชื่อ ขนาดกะทัดรัดใช้งานบนเรือเล็กได้อย่างสบาย จอดอยู่ในอู่แห้งเพื่อรอรับการซ่อมบำรุง ลำเล็กๆ แบบนี้แต่เผ็ดจิ๊ดจ๊าดยิ่งกว่าพริกสวน

ผู้อ่านอาจมีคำถามค้างคาใจเรื่องหนึ่งว่า ไต้หวันจะพัฒนาอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบระยะใกล้ไปเพื่ออะไร คำตอบก็คือใช้งานกับ Micro Missile Boats ครับ โดยการนำเรือ Glory Star มาทำเป็นเรือรบเต็มรูปแบบ โดยการติดอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบระยะใกล้จำนวน 4 นัด ตามข่าวคือต้องการจัดหาถึง 60 ลำ ทำหน้าที่ป่วนเรือจีนที่เจาะเข้ามาถึงชายฝั่งไต้หวันสำเร็จ บังเอิญโครงการถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากงบประมาณไม่เพียงพอ

ของเล่นไต้หวันมีเยอะจริงๆ ด้วย ประเทศนี้คือสวรรค์บนดินของบรรดานักพัฒนาอาวุธ โชคร้ายไต้หวันไม่สามารถพัฒนาทุกอย่างด้วยตัวเอง จำเป็นต้องพึ่งพาต่างชาติโดยการเสียเงินจ้างมาช่วยงาน

Kang Ding-Class Upgrade Programme

          ย้อนกลับไปในปี 1988 กองทัพเรือไต้หวันผุดโครงการ Kuang Hua II Patrol Frigate ขึ้นมา เพื่อจัดหาเรือฟริเกตชั้น Ulsan จากเกาหลีใต้จำนวน 16 ลำ ใช้ระบบอำนวยการรบ ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งอาวุธของตัวเอง ราคาเฉลี่ยลำละ 100 ล้านเหรียญเท่านั้น ก่อนมีการเซ็นสัญญาจริงเพียงไม่กี่วัน รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศยกเลิกไม่ขายเรือกะทันหัน เพราะถูกกดดันอย่างหนักหน่วงมากที่สุดจากกรุงปักกิ่ง

            ไต้หวันเปลี่ยนใจหันมาซื้อเรือฟริเกตชั้น Lafayette จากฝรั่งเศสจำนวน 6 ลำ โดยมีออปชั่นสร้างเรือตั้งแต่ลำที่ 7 ด้วยตัวเอง พร้อมการถ่ายโอนเทคโนโลยีสร้างเรือลำนี้ให้กับไต้หวัน

เรือฟริเกตชั้น Lafayette มีระวางขับน้ำเต็มที่ 3,600 ตัน ยาว 124.2 เมตร กว้าง 15.4 เมตร ทยอยเข้าประจำการตั้งปี 2006 ใช้ระบบทั้งหมดจากบริษัท Thomson ประเทศฝรั่งเศส รวมทั้งโซนาร์ลากท้าย ATAS(V)2 Towed Array Sonar System มีทั้งโหมด Active และ Passive ในการค้นหาเป้าหมาย ทุกอย่างดีหมดยกเว้นอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Chaparral ค่อนข้างล้าสมัยยิงเครื่องบินจีนรุ่นใหม่ไม่ทันแน่นอน

วันเวลาผันผ่านมาจนถึงปัจจุบัน Sea Chaparral จำเป็นต้องปลดประจำการในอีกไม่นาน กองทัพเรือไต้หวันจึงถือโอกาสปรับปรุงเรือเสียเลย โดยเลือกบริษัท THALES จากฝรั่งเศสเข้ามาช่วยดูแล

ผู้อ่านอาจมีคำถามว่าทำไมไต้หวันต้องพึ่งพาคนอื่นด้วย?

ในเมื่อเรือฟริเกตชั้น Knox กับเรือพิฆาตชั้น Gearing พวกเขาปรับปรุงด้วยมือตัวเอง จนกลายมาเป็นเรือฟริเกตชั้น Knox กับเรือพิฆาตชั้น Gearing ที่ทรงประสิทธิภาพมากที่สุดในโลก

คืออย่างนี้ครับเรือฟริเกตชั้น Knox กับเรือพิฆาตชั้น Gearing ค่อนข้างชราภาพแล้ว เป็นแบบเรือเก่าจากยุคสงครามโลกกับยุคสงครามเย็น การปรับปรุงไม่ต้องคิดอะไรแค่ใส่ๆ เข้าไป แต่เรือฟริเกตชั้น Lafayette ใช้แบบเรือใหม่เอี่ยมทันสมัยที่สุด ใช้เทคโนโลยีลดการตรวจจับด้วยเรดาร์ของจริงแท้ๆ ไต้หวันอยากปรับปรุงเองแต่ความรู้ความสามารถไม่เพียงพอ อาจทำให้เรือเสียคุณลักษณะที่ดีไปโดยไม่ได้ตั้งใจ

โครงการนี้จำเป็นต้องพึ่งพาบริษัท THALES จากฝรั่งเศส เริ่มต้นเดินหน้าอย่างจริงจังในปี 2022 ที่เป็นเช่นนั้นเพราะต้องหลีกทางให้โครงการอื่น ทั้งการจัดหาอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon รุ่นใช้งานบนบก และพัฒนาอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Bow Three หรือ Tiangong-3 ระยะยิงไกลสุด 200 กิโลเมตร

รายละเอียดการปรับปรุงยังไม่มีการเปิดเผย เท่าที่แอบฟังคนไต้หวันคุยกันพอสรุปได้ว่า ต้องการติดตั้งอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน TC-2N แทนที่ Sea Chaparral โดยจะใช้งานแท่นยิงแนวดิ่ง Mk.41 ของอเมริกา กำหนดให้ 1 ท่อยิงใส่ TC-2N ได้ 4 นัด เพราะฉะนั้น Mk.41 หนึ่งระบบ 8 ท่อยิงใส่ TC-2N ได้ 24 นัด

งานนี้ไต้หวันเล่นท่ายากมาก ส่งผลให้ตัวเองต้องว่าจ้างมืออาชีพมาช่วย โครงการนี้จำเป็นต้องประสบความสำเร็จเท่านั้น ในอนาคต TC-2N กับแท่นยิงแนวดิ่ง Mk.41 จะถูกใช้งานบนเรือฟริเกตชั้น Oliver Hazard Perry จำนวนหนึ่ง เพื่อแทนที่อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน SM-1 ซึ่งกำลังจะหมดอายุ ถัดไปจะนำมาใช้งานบนเรือฟริเกตขนาด 4,530 ตัน และเรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศขนาด 7,000 ตัน

ถ้าหากโครงการนี้ล้มเหลวยังมีทางเลือกสำรอง หนึ่งใช้แท่นยิงแนวนอน TC-2N เหมือนเรือ LPD แต่ลดเหลือเพียง 16 ท่อยิง และสองติดตั้งระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Sea Oryx ในแผนที่สองยังมีให้เลือกสองทางแยกจากกัน หนึ่งติด Sea Oryx แทนที่ Sea Chaparral และสองติด Sea Chaparral แทนที่ Phalanx บนโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ แล้วโยก Phalanx มาแทนที่ Sea Chaparral หน้าสะพานเดินเรือ

เรือฟริเกตชั้น Kang Ding โฉมใหม่จะเป็นเช่นไร น่าจะได้รู้กันภายในปี 2023 อย่างแน่นอน

บทสรุป

          ไต้หวันเป็นดินแดนในฝันแห่งหนึ่งของผู้เขียน เพราะมีข้อมูลจำนวนมากให้ตามอ่านตามศึกษา รวมทั้งมีข้อมูลหลายด้านนำเสนอโดยไม่ปิดบัง อาทิเช่นความเร็วหรือระยะปฏิบัติการของเรือ มีตัวเลขทั้งระวางขับน้ำปรกติและระวางขับน้ำสูงสุด อ่านแล้วสนุกมากเมื่อนำมาเขียนยิ่งสนุกไปกัน

            บทความกองทัพเรือไต้หวันประจำปี 2021 สิ้นสุดเพียงเท่านี้ โครงอื่นยังไม่มีต้นแบบเผยโฉมต่อชาวโลก ต้องรอต่อไปไม่ว่าจะเป็นโครงการเรือฟริเกตเบาขนาด 1,500 ตัน เรือฟริเกตขนาด 4,530 ตัน เรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศขนาด 7,000 ตัน หรือเรือดำน้ำลำใหม่ที่กำลังซุ่มพัฒนา เจอกันใหม่บทความหน้าสวัสดีครับ

                                    +++++++++++++++++++++++

อ้างอิงจาก

https://twitter.com/stoa1984

http://www.mdc.idv.tw/mdc/navy/rocnavy/ch.htm

https://www.navalnews.com/naval-news/2020/08/taiwan-launches-1st-mine-laying-ship-for-roc-navy/

https://www.dtmdatabase.com/News.aspx?id=1013&fbclid=IwAR1_izF18fHFATtkNFDms5L-G8RYp_M1mWCqWKTOKJ_kyft4ZDFRHgGcIdU

https://www.navalnews.com/naval-news/2021/04/taiwans-first-lpd-launched-by-local-shipbuilder-csbc/

https://en.wikipedia.org/wiki/Yushan-class_landing_platform_dock

https://twitter.com/GuyPlopsky

https://twitter.com/taiwanmilitary?lang=es

https://en.wikipedia.org/wiki/Anping-class_offshore_patrol_vessel

https://www.navalnews.com/naval-news/2021/02/taiwan-to-upgrade-its-la-fayette-frigates-with-new-air-defense-combat-systems/

https://en.wikipedia.org/wiki/Republic_of_China_Navy

https://www.taiwannews.com.tw/en/news/3659564

https://www.taiwannews.com.tw/en/news/3770420

https://highwaynewspro.com/news-features/taiwan-reveals-land-based-variant-of-naval-point-defense-missile-system-to-guard-key-sites/

https://missiledefenseadvocacy.org/defense-systems/tien-chien-2n-tc-2n/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น