กองทัพเรือโรมาเนียถูกก่อตั้งในปี 1860 หรือ 164 ปีที่แล้ว
ปัจจุบันสังกัดกองเรือนาโต้กำลังพลประมาณ 6,800 นาย
เรือรบส่วนใหญ่มาจากยุคสงครามเย็นค่อนข้างเก่าล้าสมัย โดยใช้แบบเรือ ระบบอาวุธ
และระบบเรดาร์จากสหภาพโซเวียตเป็นหลัก บทความนี้จะพาผู้อ่านมาทำความรู้จักกองทัพเรือโรมาเนียมากขึ้นกว่าเดิม
อดีตเรือลาดตระเวนเบา
ระหว่างปี
1978
อู่ต่อเรือ Mangalia shipyard ในโรมาเนีย
เริ่มสร้างเรือลาดตระเวนเบาอาวุธนำวิถีลำแรกของประเทศ
ตามความต้องการรัฐบาลคอมมิวนิสต์ผู้ปกครองประเทศ
โดยใช้ระบบอาวุธและเรดาร์ได้รับลิขสิทธิ์ผลิตมาจากโซเวียต เพื่อเป็นการเสริมสร้างกำลังทางทะเลให้แข็งแกร่งมากกว่าเดิม
เรือลำใหม่สร้างเสร็จและทดสอบเดือนเรือในปี
1984
ก่อนเข้าประจำการจริงปี 1986 โดยใช้ชื่อว่า Muntenia
(มาจากชื่อเขตปกครองขนาดใหญ่ทางภาคใต้) ทำหน้าที่เรือธงได้เพียง 3
ปีกว่าๆ พลันเกิดเรื่องใหญ่ เดือนธันวาคม 1989 มีการปฏิวัติครั้งสำคัญในโรมาเนีย อันเป็นผลให้ระบบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์สูญสลายหายไปจากแผ่นดินนี้ตลอดกาล
วันที่ 2
พฤษภาคม 1990 เรือธง Muntenia ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Timișoara ซึ่งเป็นชื่อเมืองจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติครั้งสำคัญ
รวมทั้งถูกปรับเปลี่ยนจากเรือลาดตระเวนเบาเป็นเรือพิฆาต ต่อมาในวันที่ 27 สิงหาคม 1990 เรือถูกเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น Mărășești
อันเป็นสถานที่ที่โรมาเนียทำสงครามใหญ่กับเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
วันที่ 1
เมษายน 2001 กองทัพเรือโรมาเนียตัดสินใจปรับเปลี่ยนให้เรือพิฆาต
Mărășești
กลายเป็นเรือฟริเกต สามปีถัดมาตำแหน่งเรือธงถูกส่งต่อให้กับเรือลำอื่น
แต่ถึงกระนั้นเรือฟริเกต F111 Mărășești ยังรับตำแหน่งเรือรบลำใหญ่ที่สุดของโรมาเนียอยู่ดี
อดีตเรือลาดตระเวนเบาปัจจุบันเรือฟริเกตลำนี้มีระวางขับน้ำ
5,790
ตัน ยาว 144.6 เมตร กว้าง 14.8 เมตร กินน้ำลึก 4.9 เมตร ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 4
ตัว ความเร็วสูงสุด 27 นอต อาวุธป้องกันตัวประกอบไปด้วย
ปืนใหญ่ 76 มม.ลำกล้องแฝด AK-726 จำนวน
2 แท่นยิง ระบบป้องกันตนเองระยะประชิด AK-630 จำนวน 4 แท่นยิง และอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ SS-N-2
Styx จำนวน 8 นัด โดยติดไว้ที่หัวเรือ 4
นัดกับท้ายเรืออีก 4 นัด
ระบบอาวุธปราบเรือดำน้ำเหมือนเรือรบโซเวียตขนาดใหญ่โดยทั่วไป
ประกอบไปด้วยแท่นยิงจรวดปราบเรือดำน้ำ RBU-6000 จำนวน 2 แท่นยิง และแท่นยิงแฝดสามตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำขนาด
533 มม.อีก 2 แท่นยิง มีลานจอดกับโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์รองรับ
IAR 330 Puma Naval ซึ่งโรมาเนียซื้อลิขสิทธิ์มาผลิตเองในประเทศ
เรือดำน้ำที่ไม่กล้าดำน้ำ
ระหว่างปี
1985
กองทัพเรือโรมาเนียประจำการเรือดำน้ำชั้น
Kilo ซึ่งได้จัดหาจากโซเวียตจำนวน
1 ลำ ราคาซื้ออยู่ที่ 61.5 ล้านเหรียญถือว่าไม่แพงเมื่อเทียบกับเรือดำน้ำลำอื่น
S-521 Delfinul มีระวางขับน้ำบนผิวน้ำ 2,460
ตัน ระวางขับน้ำขณะดำน้ำ 3,180 ตัน ยาว 72.9
เมตร กว้าง 12.8 เมตร ความเร็วสูงสุดบนผิวน้ำ 12 นอต
ความเร็วสูงสุดขณะดำน้ำ 20 นอต ติดตั้งท่อยิงตอร์ปิโดขนาด 533
มม.จำนวน 6 ท่อยิง
ใช้ลูกเรือจำนวน 54 นาย
S-521
Delfinul รับใช้กองทัพเรือโรมาเนียเป็นเวลา 10 ปีเต็ม ได้ออกปฏิบัติการ 67 ภารกิจจำนวนรวม 2,000
ชั่วโมง เคยทดสอบยิงตอร์ปิโดจำนวน 23 ครั้งและทดสอบปล่อยทุ่นระเบิดอีก
2 ครั้ง ต่อมาในปี 1996 เรือเข้ารับการซ่อมบำรุงและเปลี่ยนแบตเตอรี่รอบที่สอง
บังเอิญช่วงนั้นรัฐบาลโรมาเนียถังแตกเหมือนดั่งเพื่อนบ้านที่อยู่รายล้อม
กองทัพเรือตัดสินใจปลดประจำการ S-521 Delfinul เป็นการชั่วคราว
ห้าปีถัดมาเมื่อมีงบประมาณมากเพียงพอจึงนำเรือกลับเข้าประจำการดังเดิม มีการปรับเปลี่ยนเป็นเรือฝึกใช้งานบริเวณท่าเรือไม่แล่นออกไปไกล
เนื่องจากความไม่พร้อมหลายด้านจนอาจเกิดอันตรายกับลูกเรือ
เรือฟริเกตดาดฟ้าโล่ง
เดือนสิงหาคม
2002 รัฐบาลโรมาเนียขอซื้อต่อเรือฟริเกต Type
22 Batch 2 จากกองทัพเรืออังกฤษจำนวน 2
ลำในวงเงิน 116 ล้านปอนด์ ราคาต่อลำอยู่ที่ 58
ล้านปอนด์โดยมีรายละเอียดสัญญาระหว่างสองชาติประกอบไปด้วย
1.โรมาเนียจะได้เรือฟริเกต Type 22 Batch 2 สภาพใหม่ที่สุดจำนวน 2 ลำ
2.เรือได้รับการซ่อมใหญ่ในอังกฤษสามารถใช้งานต่อได้อีก
20 ปี
3.เรือได้รับการปรับปรุงระบบอาวุธให้เหมาะสมกับความต้องการ
ภาพประกอบที่สามภาพบนคือเรือฟริเกต Regele
Ferdinand (F221) (ชื่อเดิม HMS Coventry F98)
แท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ MM38 Exocet ที่หัวเรือถูกแทนที่ด้วยปืนใหญ่
OTO 76/62 Super Rapid แท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน
Sea Wolf และเรดาร์ควบคุมการยิง Type 911 ถูกถอดออกทั้งหมด เนื่องจาก Sea Wolf
ยุติการผลิตไปแล้วส่วน VL Sea Wolf ต้องใช้งานกับแท่นยิงแนวดิ่งเท่านั้น
โรมาเนียแค่ติดตั้งปืนกล 12.7 มม.เพิ่มจำนวน
4 กระบอกใช้เป็นปืนรองป้องกันตัวระยะประชิด
ภาพประกอบที่สามภาพล่างคือเรือฟริเกต Regina Maria (F222) (ชื่อเดิมHMS
London F95) หัวเรือยาวกว่า Type 22 Batch
1 หลายเมตร มีการยืดความยาวระหว่างสะพานเดินเรือกับเสากระโดงหลัก
ระเบียงสองกราบเรือยาวเสียจนผู้เขียนคิดถึงโรงเรียนเก่าสมัยมัธยมปลาย
ท้ายเรือเห็นเฮลิคอปเตอร์ SA 330 Puma จอดได้อย่างเหมาะเหม็ง
เรือฟริเกต Type
22 Batch 2 ทั้งสองลำเคยมีแผนการปรับปรุงใหญ่
โดยการติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ ระบบอำนวยการรบรุ่นใหม่
และอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน VL MICA โชคร้ายอีกครั้งกองทัพเรือโรมาเนียไม่มีงบประมาณ
ต้องใช้งานตามสภาพเดิมจนถึงตอนนี้เป็นเวลา 22 ปี
และต้องใช้งานต่อไปอีกหลายปีจนกว่าจะมีการจัดหาเรือใหม่
เรือคอร์เวตปราบเรือดำน้ำสร้างเอง
โรมาเนียมีศักยภาพในการสร้างเรือรบด้วยตัวเอง
โดยใช้แบบเรือโซเวียตมาปรับปรุงเล็กน้อยตามความเหมาะสม
ภาพประกอบที่สี่ภาพบนคือเรือคอร์เวตชั้น Tetal-I โรมาเนียสร้างใช้งานจำนวน 4 ลำ ปัจจุบันเหลือเพียง 2
ลำประกอบไปด้วย F-260 Amiral Petre
Barbuneanu และ F-263 Vice-Amiral
Eugeniu Rosca ตามภาพประกอบ
เรือคอร์เวตชั้น
Tetal-I มีระวางขับน้ำเต็มที่ 1,600 ตัน 93 เมตร กว้าง 11.5 เมตร
กินน้ำลึก 3 เมตร ระบบอาวุธป้องกันตัวประกอบไปด้วย ปืนใหญ่ 76
มม.ลำกล้องแฝด AK-726 จำนวน 2 แท่นยิง ปืนกลอัตโนมัติ 30 มม.ลำกล้องแฝด
AK-230 จำนวน 2 แท่นยิง แท่นยิงจรวดปราบเรือดำน้ำ
RBU-2500 จำนวน 2 แท่นยิง และแท่นยิงแฝดสองตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำขนาด
533 มม.อีก 2 แท่นยิง (ทาสีดำ)
ในภายหลังมีการถอดแท่นยิงปืนใหญ่ 76 มม.ท้ายเรือออก กลายเป็นพื้นที่อเนกประสงค์สามารถรับส่งสิ่งของจากเฮลิคอปเตอร์
ภาพประกอบที่สี่ภาพล่างคือเรือคอร์เวตชั้น
Tetal-I I โรมาเนียสร้างใช้งานจำนวน 2
ลำประกอบไปด้วย F-264 Contraamiral
Eustatiu Sebastian และ F-265 Contraamiral
Horia Macellariu ขนาดใหญ่ขึ้นนิดหน่อยแต่ทันสมัยกว่าเดิมค่อนข้างมาก
ระบบอาวุธป้องกันตัวประกอบไปด้วย ปืนใหญ่ 76 มม.รุ่น AK-176
จำนวน 1 แท่นยิง ระบบป้องกันตนเองระยะประชิด AK-630
จำนวน 4 แท่นยิง (เยอะเสียจนน่าตกใจ)
เรือมีแท่นยิงจรวดปราบเรือดำน้ำ
RBU-6000
จำนวน 2 แท่นยิง และแท่นยิงแฝดสองตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำขนาด
533 มม.อีก 2 แท่นยิง เรือบดเพิ่มจาก 1 ลำเป็น 2 ลำอยู่ในตำแหน่งเหมาะสมกว่าเดิม
จัดเป็นเรือคอร์เวตปราบเรือดำน้ำที่ดีที่สุดของโรมาเนียในปัจจุบัน
เรือคอร์เวตอาวุธปล่อยนำวิถีมือสอง
ระหว่างปี 1990 ถึง 1991 กองทัพเรือโรมาเนียได้รับโอนเรือคอร์เวตอาวุธปล่อยนำวิถีชั้น
Project 1241RE หรือ Tarantul-I
จากกองทัพเรือโซเวียตจำนวน 3 ลำ ประกอบไปด้วย F-188 Zborul F-189 Pescarusul และ
F-190 Lastunul
เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 455 ตัน ยาว 56.1 เมตร กว้าง 11.5 เมตร กินน้ำลึก 2.5 เมตร ระบบอาวุธป้องกันตัวประกอบไปด้วย ปืนใหญ่ 76 มม.รุ่น
AK-176 จำนวน 1 แท่นยิง
ระบบป้องกันตนเองระยะประชิด AK-630 จำนวน 2 แท่นยิง และอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ SS-N-2 Styx จำนวน 4 นัด
เรือคอร์เวตชั้น Tarantul-I
เป็นเรือรบผิวน้ำขนาดเล็กที่สุดของกองทัพเรือโรมาเนีย ใช้ระบบขับเคลื่อน COGAG เครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์จำนวน 2 ขนาด 4 ตัว ความเร็วสูงสุด 36
นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 2,200 ไมล์ทะเล
แม้เป็นเรือเก่าแต่การซ่อมบำรุงหรือจัดหาอะไหล่ไม่มีปัญหากวนใจ
เพราะแบบเรือยังถูกใช้งานต่อมีเรือพี่น้องค่อนข้างหนาตา ติดขัดแค่เพียง SS-N-2
Styx น่าจะหมดอายุการใช้งานเป็นที่เรียบร้อย
การจัดหาที่ล้มเหลว
กองทัพเรือโรมาเนียมีแผนการปรับปรุงกำลังรบให้ทันสมัยจำนวนหลายครั้ง
เริ่มต้นจากปี 2015 มีการจัดหาเรือฟริเกต
Sigma 10514 จากบริษัท Damen Group
ประเทศเนเธอร์แลนด์จำนวน 4 ลำในวงเงิน 1.6 พันล้านยูโร กำหนดให้สร้างเองในประเทศทุกลำพร้อมการถ่ายทอดเทคโนโลยี
เป็นโครงการใหญ่ที่สุดสำคัญที่สุดของกองทัพเรือยุคปัจจุบัน แต่แล้วในปี 2017
โครงการนี้ก็ล่มสลายเพราะใช้งบประมาณสูงมากเกินไป
เมื่อโครงการจัดหาเรือฟริเกตรุ่นใหม่ทันสมัยไปต่อไม่ได้
กองทัพเรือโรมาเนียขึ้นโครงการจัดหาเรือคอร์เวตรุ่นใหม่ทันสมัยเป็นการทดแทน
ระหว่างปี 2019 บริษัท Naval
Group ประเทศฝรั่งเศสเป็นผู้ชนะโครงการดังกล่าว
ได้รับสัญญาสร้างเรือคอร์เวต Gowind 2500 จำนวน 4 ลำในวงเงิน 1.2 พันล้านยูโร กำหนดให้เรือลำแรกสร้างในฝรั่งเศสที่เหลือสร้างในโรมาเนีย
เรือลำแรกส่งมอบภายในปี 2026 ที่เหลือทยอยส่งมอบปีละหนึ่งลำ
โครงการนี้กำลังจะเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการ
บังเอิญเกิดโรคระบาดร้ายแรงทั่วโลกชื่อโควิด-19 ขึ้นมาเสียก่อน
รัฐบาลโรมาเนียไม่มีทางเลือกนอกจากนำเงินทั้งหมดมาปกป้องพลเรือน และแล้วในปี 2023
โครงการนี้ก็ล่มสลายเพราะรัฐบาลไม่อนุมัติเซ็นสัญญา
กองทัพเรือโรมาเนียมีแผนการจัดหาเรือดำน้ำเช่นกัน
พวกเขาให้ความสนใจเรือดำน้ำ Scorpène จากฝรั่งเศสจำนวน 3 ลำ กำหนดให้สร้างเองในประเทศเหมือนดั่งโครงการอื่น
เพียงแต่ยังไม่มีเนื้อไม่มีน้ำไม่มีความชัดเจน
รวมทั้งไม่มีอนาคตเพราะเป็นโครงการที่ต้องใช้งบประมาณสูง
อาจส่งผลกระทบต่อการดูแลรักษาซ่อมบำรุงเรือรบสำคัญๆ ทุกลำ
แผนการจัดหาล่าสุดที่ความเป็นไปได้มากที่สุดก็คือ
โครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งจำนวน 2
ลำในวงเงิน 300 ล้านยูโร
กำหนดให้สร้างเองในประเทศเช่นกันแต่ยังไม่มีรายละเอียดโครงการ โครงการนี้เต็งจ๋านอนมาพระสวดคือแบบเรือจากบริษัท
Damen Group ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีทั้งแบบเรืออเนกประสงค์หรือแบบเรือติดอาวุธหนักคล้ายเรือคอร์เวต
กองทัพเรือโรมาเนียจะสมหวังหรือรับประทานแห้วต้องรอดูกันต่อไป
อุตสาหกรรมสร้างเรือของโรมาเนีย
บริษัท Damen Group ประเทศเนเธอร์แลนด์มีอู่ต่อเรือขนาดใหญ่ในโรมาเนียจำนวน 2 แห่ง ปัจจุบันกลายเป็นอู่ต่อเรือหลักบริษัท Damen Group อย่างเป็นทางการ โดยมีผลงานการสร้างเรือเฉพาะลำที่น่าสนใจประกอบไปด้วย
-เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Holland กองทัพเรือเนเธอร์แลนด์จำนวน 2 ลำ
-เรือยกพลขึ้นบกอเนกประสงค์ขนาด 16,800
ตันกองทัพเรือเนเธอร์แลนด์จำนวน 1 ลำ
-เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง OPV 2200 กองทัพเรือปากีสถานจำนวน 2 ลำ
-เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง OPV 2600 กองทัพเรือปากีสถานจำนวน 2 ลำ
-เรือส่งกำลังบำรุงขนาด 20,000 ตันกองทัพเรือเนเธอร์แลนด์จำนวน 1 ลำ
-มีโครงการสร้างเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำกองทัพเรือเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์อีก
4 ถึง 6 ลำ
อุตสาหกรรมสร้างเรือของโรมาเนียค่อนข้างแข็งแกร่งไม่เป็นรองใคร
ไม่ว่าพวกเขาจะขึ้นโครงการอะไรก็ตามในอนาคต โรมาเนียสามารถสร้างเรือทุกลำได้เองในประเทศ
ต่อไปในอนาคตเราอาจเห็นผลงานจากอู่ต่อเรือดินแดนท่านแดร็กคูล่ามากขึ้นกว่าเดิม
บทสรุป
กองทัพเรือโรมาเนียขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน
กำลังรบหลักค่อนข้างล้าสมัยโดยเฉพาะการป้องกันภัยทางอากาศ แต่มีอุตสาหกรรมสร้างเรือที่ค่อนข้างเข้มแข็งเป็นจุดขาย
ในอนาคตเมื่อพวกเขามีงบประมาณมากเพียงพอในการจัดหาเรือรบรุ่นใหม่ทันสมัย
การสร้างเรือด้วยตัวเองจึงเป็นเรื่องง่ายดายไม่ติดขัดปัญหารบกวนจิตใจ
อ้างอิงจาก
https://web.facebook.com/share/p/Buy4BqdSLKSyjYUu/
https://en.wikipedia.org/wiki/Romanian_Naval_Forces
https://www.seaforces.org/marint/Romanian-Navy/Tetal-I-class.htm
https://www.seaforces.org/marint/Romanian-Navy/Tetal-II-class.htm
https://www.seaforces.org/marint/Romanian-Navy/Zborul-class.htm
https://www.damen.com/vessels/defence-and-security/opv/offshore-patrol-vessel-2600-military
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น