วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2567

Secondhand Ship from Great Britain Part 1

 

        หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งรัฐบาลอังกฤษริเริ่มนโยบายสำคัญเรื่องหนึ่ง คือการขายต่ออาวุธที่ปลดประจำการหรือเป็นส่วนเกินของกองทัพตัวเอง หนึ่งในนั้นคือบรรดาเรือรบจำนวนมากของ The Royal Navy บทความนี้จึงเป็นการรวบรวมข้อมูลเรือรบและเรือช่วยรบมือสองที่อังกฤษขายต่อให้กับประเทศพันธมิตรระหว่างปี 1982 ถึง 2011 เพราะมีเรือจำนวนค่อนข้างมากบทความนี้จึงยาวพอสมควรอย่างเลี่ยงไม่ได้

ปี 1982

        1.เดือนกุมภาพันธ์เรือฟริเกต HMS Lynx ถูกขายต่อให้กับบังกลาเทศในราคา 1.5 ล้านปอนด์ เป็นเรือฟริเกตชั้น Leopard ระวางขับน้ำเต็มที่ 2,520 ตัน ยาว 101 เมตร กว้าง 10.6 เมตร กินน้ำลึก 3 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ 102 มม.แท่นคู่จำนวน 2 กระบอก ปืนต่อสู้อากาศยาน Bofors 40L60 มม.จำนวน 1 กระบอก และจรวดปราบเรือดำน้ำ Squid อีก 1 แท่นยิง เป็นเรือฟริเกตชั้น Leopard ลำที่สองที่อังกฤษขายให้กับบังกลาเทศ

        นอกจากเรือฟริเกตชั้น Leopard จำนวน 2 ลำคือ BNS Ali Haider กับ BNS Abu Bakar บังกลาเทศยังได้จัดหาเรือฟริเกตชั้น Salisbury จำนวน 1 ลำตั้งแต่ปี 1976 เรือรบมือสองจากอังกฤษทั้ง 3 ลำช่วยให้กองทัพเรือบังกลาเทศมีความแข็งแกร่งมากกว่าเดิม รวมทั้งเป็นการถ่วงดุลกองทัพเรือปากีสถานซึ่งบังกลาเทศเพิ่งแยกตัวออกมาในปี 1971

        2.เดือนกุมภาพันธ์เรือพิฆาต HMS Norfolk และเรือส่งกำลังบำรุงขนาดใหญ่ RFA Tidepool ถูกขายต่อให้กับชิลีในราคา 8.2 ล้านปอนด์และ 1.8 ล้านปอนด์ HMS Norfolk คือเรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศชั้น County อายุเพียง 12 ปี (ราคาเรือใหม่ประมาณ 14 ล้านปอนด์) ระวางขับน้ำ 6,200 ตัน ยาว 158.54 เมตร กว้าง 16 เมตร กินน้ำลึก 6.4 เมตร อังกฤษขายต่อให้กับชิลีพร้อมอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Seaslug ระยะยิงไกลสุด 27 กิโลเมตร 

                       
       HMS Norfolk คือจุดเริ่มต้นโครงการเรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศกองทัพเรือชิลี ผู้เขียนเคยเขียนบทความอย่างละเอียดตามลิงก์ด้านล่างเลยครับ

https://thaimilitary.blogspot.com/2020/08/chilean-navy-air-defence-frigate.html

สำหรับ RFA Tidepool เป็นเรือส่งกำลังบำรุงขนาดใหญ่ชั้น Tide มีระวางขับน้ำ 27,400 ตัน ยาว 177.9 เมตร กว้าง 21.72 เมตร กินน้ำ 9.78 เมตร กองทัพเรือชิลีซื้อเรืออายุ 19 ปีมาใช้เติมเชื้อเพลิงกลางทางทะเล ให้กับเรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศจำนวน 4 ลำรวมทั้งเรือฟริเกตในอนาคตของตัวเอง ส่งผลให้กองเรือปฏิบัติการได้อย่างยาวนานมากกว่าเดิม

3.เดือนมีนาคมเรือพิฆาต HMS London ถูกขายต่อให้กับปากีสถานในราคา 2 ล้านปอนด์ เป็นเรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศชั้น County เช่นเดียวกันแต่มีอายุ 19 ปี กองทัพเรือปากีสถานจัดให้เป็นเรือลาดตระเวนชื่อ PNS Babur เข้าประจำการปี 1982 และปลดประจำการปี 1993 อายุราชการย้ายมาอยู่ประเทศใหม่เพียง 11 ปีเท่านั้น

        เรือลาดตระเวน PNS Babur 1982 คือเรือที่โลกลืมอย่างแท้จริงอีกหนึ่งลำ ขนาดผู้เขียนเคยเขียนบทความถึงกองทัพเรือบังกลาเทศหลายครั้งยังเผลอลืมเลือน บทความนี้จึงขอแก้ตัวโดยการลงภาพเรือ PNS Babur ภายหลังการปรับปรุงในปี 1989 แท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Seaslug ที่ท้ายเรือถูกถอดออก (อังกฤษไม่ขายให้) เรดาร์ควบคุมการยิง Type 901 ถูกแทนที่ด้วยระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx ไม่มีการติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ MM38 Exocet แทนที่ปืนใหญ่ 4.5 นิ้วกระบอกที่สอง เท่ากับว่าอังกฤษขายเรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศชั้น County ลำที่ไม่ได้รับการปรับปรุงให้กับปากีสถาน ราคาเรือจึงถูกเหมือนได้เปล่าเมื่อเทียบกับเรือชิลี

        ปีงบประมาณ 1981-1982 อังกฤษขายเรือมือสองจำนวน 4 ลำได้เงิน 13.5 ล้านปอนด์ สังเกตนะครับพวกเขาขายเรือให้ทั้งบังกลาเทศและปากีสถานซึ่งในตอนนั้นยังมีความขัดแย้งนิดหน่อย เมื่อจีนผลิตอาวุธได้มากเพียงพอจึงตามลายแทงลอกการบ้าน โดยการขายอาวุธให้กับหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้ยิงใส่กัน

3.เดือนสิงหาคมเรือฟริเกต HMS Bacchante และ HMS Dido ถูกขายต่อให้กับนิวซีแลนด์ในราคา 11 ล้านปอนด์และ 7 ล้านปอนด์ ทั้งสองลำคือเรือฟริเกตชั้น Type 12I Leander อายุ 13 ปีและ 19 ปีตามลำดับ จึงมีราคาแตกต่างกันถึง 4 ล้านปอนด์อย่างเลี่ยงไม่ได้

เรือทั้งสองลำมีระวางขับน้ำเต็มที่ 3,200 ตัน ยาว 113 เมตร กว้าง 12 เมตร กินน้ำลึก 6 เมตร ข้อแตกต่างก็คือ HMS Bacchante ติดปืนใหญ่ 4.5 นิ้วลำกล้องแฝดที่หัวเรือ ส่วน HMS Dido ติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีปราบเรือดำน้ำ Ikara ที่หัวเรือ กลางเรือมีปืนกล 40L60 มม.จำนวน 2 กระบอกเหมือนกัน ท้ายเรือมีแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Cat และแท่นยิงจรวดปราบเรือดำน้ำ Limbo เหมือนกัน

นิวซีแลนด์ใช้เรือฟริเกต HMS Bacchante ถึงปี 2000 ส่วนเรือฟริเกต HMS Dido ถึงปี 1995 ก่อนถูกแทนที่ด้วยเรือฟริเกตชั้น Anzac ใหม่เอี่ยมสร้างโดยประเทศออสเตรเลีย ถือเป็นการก้าวเท้าออกสู่ร่มเงาอังกฤษครั้งแรกตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ปีงบประมาณ 1982-1983 อังกฤษขายเรือมือสองจำนวน 2 ลำได้เงิน 17 ล้านปอนด์ ภาพประกอบคือเรือฟริเกต HMS Dido ซึ่งเข้าประจำการกองทัพเรือนิวซีแลนด์ในชื่อ HMNZS Southland เป็นการขายเรือฟริเกตรุ่นเก่าหลังสงครามฟอล์กแลนด์สิ้นสุดเพียง 2 เดือน ทั้งที่ตัวเองเพิ่งเสียเรือรบจำนวน 4 ลำและเสียหายหนักบ้างเบาบ้างอีกนับสิบลำ

ปี 1983

ไม่มีการขายเรือแม้แต่ลำเดียว

ปี 1984

        1.เดือนมีนาคมเรือพิฆาต HMS Antrim ถูกขายต่อให้กับชิลีในราคา 8.5 ล้านปอนด์ เป็นเรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศชั้น County ลำที่สองจากยอดรวม 4 ลำทั้งโครงการ เหตุผลที่ชิลีทยอยซื้อเนื่องจากอังกฤษทยอยปลดประจำการเรือ และถูกแทนที่ด้วยเรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศชั้น Type 42 Batch 2 ที่ได้รับการปรับปรุงให้หัวเรือยาวกว่าเดิม

        2.เดือนมีนาคมเรือฟริเกต HMS Gurkha HMS Tartar และ HMS Zulu ถูกขายต่อให้กับอินโดนีเซียในราคา 2.5 ล้านปอนด์ 2.5 ล้านปอนด์ และ 3.5 ล้านปอนด์ตามลำดับ

        ผู้อ่านส่วนใหญ่คงไม่ทราบว่าอินโดนีเซียเคยประจำการเรือฟริเกตชั้น Type 81 Tribal จากอังกฤษจำนวน 3 ลำ เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 2,700 ตัน ยาว 109.73 เมตร กว้าง 12.88 เมตร กินน้ำลึก 5.33 เมตร ติดปืนใหญ่ 4.5 นิ้วรุ่น Mark 5 จำนวน 2 กระบอก ปืนกลขนาด 20 มม.จำนวน 2 กระบอก แท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Cat จำนวน 2 แท่นยิง และแท่นยิงจรวดปราบเรือดำน้ำ Limbo จำนวน 1 แท่นยิง รวมทั้งมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็กรองรับ Westland Wasp

        ภาพประกอบคือเรือฟริเกต HMS Gurkha ซึ่งมีชื่อใหม่ว่า KRI Wilhelmus Zakarias Yohannes (333) อังกฤษออกแบบให้เรือลำนี้ใช้งานในตะวันออกกลางเหมาะสมกับอินโดนีเซีย อาวุธที่ติดตั้งก็ค่อนข้างมาก (เพราะใช้รหัส Type 8x) รวมทั้งมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ อินโดนีเซียใช้งานเรือทั้ง 3 ลำจนถึงปี 1999-2000 จึงปลดประจำการ

       ปีงบประมาณ 1983-1984 อังกฤษขายเรือมือสองจำนวน 4 ลำได้เงิน 16 ล้านปอนด์

ปี 1985

ไม่มีการขายเรือแม้แต่ลำเดียว

ปี 1986

        1.เดือนเมษายนเรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Hermes ถูกขายต่อให้กับอินเดียในราคา 22.5 ล้านปอนด์ เป็นเรือบรรทุกเครื่องบินชั้น Centaur ลำสุดท้ายของกองทัพเรืออังกฤษ

        HMS Hermes (R12) มีระวางขับน้ำเต็มที่ 28,000 ตัน ยาว 224.6 เมตร กว้าง 39.6 เมตร กินน้ำลึก 8.5 เมตร เป็นเรือบรรทุกเครื่องบิน CATOBAR ขนาดเล็กมีรางดีดเครื่องบินจำนวน 2 ราง ต่อมาได้ถูกปรับปรุงให้รองรับการใช้งานเครื่องบินขับไล่ F-4K Phantom แต่ดูเหมือนจะใช้งานไม่ค่อยสะดวกอังกฤษวางแผนขายต่อให้กับออสเตรเลีย บังเอิญขายไม่ออกจึงปรับปรุงเรืออีกครั้งให้รองรับเครื่องบินขับไล่ขึ้นลงทางดิ่ง Sea Harrier ได้เป็นเรือธงในการทำสงครามแย่งชิงหมู่เกาะฟอล์กแลนด์กับอาเจนตินาในปี 1982 ถัดมาอีกเพียง 4 ปีจึงปลดประจำการแล้วขายต่อให้กับอินเดีย

        กองทัพเรืออินเดียปรับปรุงเรือนิดหน่อยก่อนเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น INS Viraat ใช้งานร่วมกับเครื่องบินขับไล่ขึ้นลงทางดิ่ง Sea Harrier ที่ตัวเองมีประจำการอยู่แล้ว เพิ่งปลดประจำการในปี 2021 เท่ากับว่าอดีตเรือธง The Royal Navy มีอายุการใช้งาน 62 ปี

        ภาพประกอบคือเรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Hermes (R12) ขณะเข้าร่วมสงครามฟอล์กแลนด์ในฐานะเรือธง เรือถูกปรับปรุงให้ติดลานสกีจัมป์ที่หัวเรือ ลานจอดกราบซ้ายถูกขยายกว้างกว่าเดิมหลายเมตร เป็นเรือที่อาเจนตินาอยากยิงให้จมบังเอิญตัวเองทำไม่สำเร็จ

        2.เดือนเมษายนเรือสำรวจทางทะเล HMS Hydra ถูกขายต่อให้กับอินโดนีเซียในราคา 2 ล้านปอนด์ และถูกเปลี่ยนชื่อเป็น KRI Dewa Kembar ใช้หมายเลข 932

        HMS Hydra มีระวางขับน้ำเต็มที่ 2,945 ตัน ยาว 79 เมตร กว้าง 15.4 เมตร กินน้ำลึก 4.9 เมตร ติดตั้งระบบตรวจจับใต้น้ำยุคเก่าไว้อย่างพร้อมสรรพ อินโดนีเซียใช้งานเรือเข้าประจำการปี 1966 มาจนถึงปัจจุบัน ทว่าเรือลำนี้ยังมีอายุน้อยกว่าเรือหลวงจันทรของเราซึ่งเข้าประจำการตั้งแต่ปี 19961 และยังไม่ปลดประจำการ

        เรือสำรวจทางทะเลมักถูกใช้งานค่อนข้างยาวเหมือนกันทุกชาติ

        3.เดือนกันยายนเรือพิฆาต HMS Antrim ถูกขายต่อให้กับชิลีในราคา 8.5 ล้านปอนด์ เป็นเรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศชั้น County ลำที่สามจากยอดรวม 4 ลำทั้งโครงการ สังเกตนะครับอังกฤษขายเรือพิฆาตให้ชิลีราคาเท่าปี 1984 และแพงกว่าปี 1982 เล็กน้อย

        ปีงบประมาณ 1986-1987 อังกฤษขายเรือมือสองจำนวน 3 ลำได้เงิน 33 ล้านปอนด์

ปี 1987

        1.เดือนกรกฎาคมเรือพิฆาต HMS Fife ถูกขายต่อให้กับชิลีในราคา 12 ล้านปอนด์ เป็นเรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศชั้น County ลำที่สี่จากยอดรวม 4 ลำ ราคาแพงกว่าเรืออีก 3 ลำพอสมควรเพราะมาพร้อมอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Seaslug จำนวนมาก เหตุผลก็คือกองทัพเรืออังกฤษปลดประจำการเรือพิฆาตชั้น County ครบถ้วนทุกลำแล้ว

        ปีงบประมาณ 1987-1988 อังกฤษขายเรือมือสองจำนวน 1 ลำได้เงิน 12 ล้านปอนด์

ปี 1988

1.เดือนพฤษภาคมเรือฟริเกต HMS Apollo และ HMS Diomede ถูกขายต่อให้กับปากีสถานในราคาลำละ 9 ล้านปอนด์เท่ากัน ทั้งสองลำคือเรือฟริเกตชั้น Type 12I Leander อายุ 16 ปีและ 17 ปีตามลำดับ

ภาพประกอบคือเรือฟริเกต HMS Diomede F16 ก่อนถูกเปลี่ยนชื่อเป็น PNS Shamsher (F 263) เป็นเรือฟริเกต Batch 3 อังกฤษตั้งใจติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Wolf และอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ MM38 Exocet บริเวณหัวเรือ ทว่าโครงการถูกยกเลิกหลังปรับปรุงเรือไปแล้วเพียง 1 ลำ สุดท้ายมีเรือฟริเกตชั้น Type 12I Leander เพียงลำเดียวติดตั้ง Sea Wolf ขนาด 6 ท่อยิงไว้ที่หัวเรือ

เรือฟริเกตชั้น Type 12I Leander ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ถูกสร้างขึ้นมาจำนวน 26 ลำประจำการอยู่ใน 8 ประเทศ ปัจจุบันยังมีประจำการอยู่ในกองทัพเรืออินโดนีเซีย ถือเป็นเรือฟริเกตอีกหนึ่งลำจากอังกฤษที่ประสบความสำเร็จพอสมควร

1.เดือนสิงหาคมเรือคอร์เวต HMS Swallow และ HMS Swift ถูกขายต่อให้กับไอร์แลนด์ในราคาลำละ 4 ล้านปอนด์เท่ากัน ทั้งสองลำคือเรือคอร์เวตชั้น Peacock สร้างโดยอู่ต่อเรือ Hall Russell ระวางขับน้ำสูงสุด 763 ตัน ยาว 62.6 เมตร กว้าง 10 เมตร กินน้ำลึก 2.72 เมตร กองทัพเรืออังกฤษใช้เรือคอร์เวตชั้น Peacock ดูแลความปลอดภัยให้กับฮ่องกง ต่อมาเมื่องบประมาณลดลงจึงขายต่อให้กับไอร์แลนด์จำนวน 2 ลำ เมื่อฮ่องกงกลับคืนสู่อ้อมกอดประเทศจีนเรือที่เหลืออีก 3 ลำถูกขายต่อให้กับฟิลิปปินส์

เพราะเป็นกำลังหลักของกองเรือตรวจการณ์ที่ 6 ราชนาวีอังกฤษประจำเกาะฮ่องกง HMS SWALLOW P242 ในภาพประกอบจึงติดตั้งปืนใหญ่ OTO 76/62 Compact ที่หัวเรือ เป็นเรือรบเพียง 5 ลำของราชนาวีอังกฤษที่ติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 76/62 มม.ถัดมาเพียง 4 ปีเพราะปัญหาเรื่องการเงินอังกฤษจึงปล่อยเรือให้ไอร์แลนด์ในราคาค่อนข้างถูก

ปีงบประมาณ 1988-1989 อังกฤษขายเรือมือสองจำนวน 4 ลำได้เงิน 26 ล้านปอนด์

ปี 1989

        1.เดือนกรกฎาคมเรือดำน้ำ HMS Olympus ถูกขายต่อให้กับแคนาดาในราคา 2.66 ล้านปอนด์ เป็นเรือดำน้ำชั้น Oberon ผ่านภารกิจน้อยใหญ่มากมายก่อนถูกปรับปรุงให้มีพื้นที่สำหรับเจ้าหน้าที่จู่โจมใต้น้ำ เมื่ออายุราชการครบ 18 ปีเรือถูกขายต่อให้กับกองทัพเรือแคนาดาโดยไม่มีการเปลี่ยนชื่อใหม่

        เหตุผลที่แคนาดาไม่เปลี่ยนชื่อเพราะไม่เคยนำเรือลำนี้เข้าประจำการ ใช้เป็นเรือดำน้ำฝึกหัดที่ฐานทัพเรือในเมือง Halifax จนถึงปี 2000 จึงปลดประจำการและกลายเป็นพิพิธภัณฑ์เรือดำน้ำประจำเมือง Barrow-in-Furness ต่อมาในปี 2011 HMS Olympus ถูกขายให้กับบริษัทเอกชนเพื่อนำไปแยกชิ้นส่วนขายเหมือนเรือทุกลำ

        เป็นการจัดหาเรือดำน้ำฝึกหัดที่น่าสนใจมากของกองทัพเรือแคนาคา

ปีงบประมาณ 1989-1990 อังกฤษขายเรือมือสองจำนวน 1 ลำได้เงิน 2.66 ล้านปอนด์

2.เดือนพฤศจิกายน เรือฟริเกต HMS Achilles ถูกขายต่อให้กับชิลีในราคา 2.4 ล้านปอนด์ เป็นเรือฟริเกตชั้น Leander Batch 3B เข้าประจำการปี 1970 ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยกว่าเดิม แต่ยังคงติดอาวุธเหมือนคือปืนใหญ่ 4.5 นิ้วลำกล้องแฝดที่หัวเรือ กลางเรือมีปืนกล 40L60 มม.จำนวน 2 กระบอก ท้ายเรือมีแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Cat และแท่นยิงจรวดปราบเรือดำน้ำ Limbo โดยไม่มีโซนาร์ลากท้ายรุ่นใหม่ทันสมัย

หลังประจำการครบ 20 ปีเรือฟริเกต HMS Achilles ถูกขายต่อให้กับกองทัพเรือชิลีถูกตั้งชื่อว่า Ministro Zenteno อาวุธทุกอย่างยังคงเหมือนเดิมจนกระทั่งปลดประจำการในปี 2006 อังกฤษสร้างเรือฟริเกตลำนี้ด้วยงบประมาณ 6.27 ล้านปอนด์ ใช้งานครบ 20 ปีจึงขายต่อในราคา 2.4 ล้านปอนด์ ผู้เขียนขอยกย่องว่าใช้เงินได้อย่างคุ้มค่าตัวจริงเสียงจริง

ปี 1990

        1.เดือนมีนาคม เรือฟริเกต HMS Penelope กับ HMS Danae ถูกขายต่อให้กับเอกวาดอร์ในราคารวม 14.584 ล้านปอนด์ ทั้งสองลำเป็นเรือฟริเกตชั้น Leander Batch 2B ได้รับการติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Exocet MM38 จำนวน 4 นัดบริเวณหัวเรือ พลอยทำให้เรือทำภารกิจต่อต้านเรือผิวน้ำดีกว่าเรือฟริเกตชั้นเดียวกัน

        ก่อนการติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Exocet MM38 ระหว่างปี 1973 เรือฟริเกต HMS Penelope ทดสอบติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Wolf ขนาด 6 ท่อยิงบริเวณท้ายเรือ กองทัพเรืออังกฤษมีแผนนำเรือออกไปแล่นทดสอบแต่แล้วกลับยกเลิกทั้งหมด จนกระทั่งปี 1977 จึงถอดแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถี Sea Wolf รุ่นต้นแบบออกจากเรือ

        ส่วนเรือฟริเกต HMS Danae นอกจากติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Exocet MM38 จำนวน 4 นัด ยังเพิ่มแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Cat ขนาด 4 ท่อยิงบริเวณหัวเรือเพิ่มอีกหนึ่งจุด ถัดมาเพียงปีเดียวเรือฟริเกต HMS Penelope จึงติดตั้ง Sea Cat ที่หัวเรือตามกัน

        เรือฟริเกตทั้งสองลำปลดประจำการปี 1991 ก่อนขายต่อให้กับกองทัพเรือเอกวาดอร์ได้ราคาค่อนข้างดีมาก โดยใช้ชื่อว่า BAE Eloy Alfaro (FM-01) กับ BAE Morán Valverde (FM-02) ตอนขายเรืออาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Cat หมดอายุแล้วเหลือเพียง Exocet เอกวาดอร์ก็ใช้ไปแบบนั้นเพราะไม่มีงบประมาณปรับปรุงเรือ

ต่อมาในปี 2008 เรือทั้งสองลำปลดประจำการและถูกแทนที่ด้วยเรือฟริเกตชั้น Leander มือสามจากกองทัพเรือชิลี ซึ่งมีการปรับปรุงใหม่ติดตั้งระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx บนหลังคาโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ทดแทน Sea Cat

        กองทัพเรือเอกวาดอร์มักใช้งานแต่เรือฟริเกตมือสองหรือมือสาม ตอนนี้เรือฟริเกต Leander ติด Phalanx ชราภาพมากแล้ว อิตาลีจึงเสนอขายเรือฟริเกตชั้น Maestrale ในราคา 120 ล้านยูโรให้ แต่ดูเหมือนเอกวาดอร์จะไม่สนใจสักเท่าไร ครั้งก่อนพวกเขาซื้อเรือฟริเกตชั้น Leander จำนวน 2 ลำจากชิลีในราคา 28 ล้านเหรียญ โดยใช้น้ำมันแลกไม่เสียเงินสดแม้แต่เหรียญเดียว อิตาลีเขี้ยวลากดินขนาดนี้เห็นทีจะหาลูกค้าไม่ไหว

ปีงบประมาณ 1990-1991 อังกฤษขายเรือมือสองจำนวน 3 ลำได้เงิน 16.948 ล้านปอนด์

อ้างอิงจาก

 https://web.archive.org/web/20210826193028/https://www.theyworkforyou.com/wrans/?id=2010-06-21a.2351.h

https://www.shipspotting.com/photos/2167923

https://markarweb.wordpress.com/hms-norfolk/

https://www.reddit.com/r/WarshipPorn/comments/12ss4qj/2923_x_1870pakistani_destroyer_pns_babur_formerly/

https://navymuseum.co.nz/explore/by-collections/ships/southland-leander-class-frigate/

https://militerium.com/angkatan-laut/kri-wilhelmus-zakaria-yohannes-332/

https://web.facebook.com/War1982/photos/a.513738178786464/1652009001626037/?type=3&_rdc=1&_rdr

https://www.shipspotting.com/photos/699007

https://www.shipspotting.com/photos/39899

https://www.shipspotting.com/photos/61943

 

 

 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น