นี่คือบทความ What If ประจำปี 2024 ของผู้เขียน ผู้อ่านคนไหนยึดมั่นอยู่กับความจริงขอแนะนำให้ข้ามไปอ่านเรื่องอื่น ไม่พูดพร่ำทำเพลงเข้าสู่เนื้อหารายละเอียดกันเลย
บทนำ
ปัจจุบันเรือตรวจการณ์ปืนชั้นเรือหลวงสัตหีบจำนวน
6
ลำมีอายุประจำการตั้งแต่ 38 ปีถึง 41 ปี เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้นเรือหลวงคำรณสินธุจำนวน 3 ลำมีอายุประจำการ 32 ปี
และเรือตรวจการณ์ปืนชั้นเรือหลวงหัวหินจำนวน 3 ลำมีอายุประจำการ
23 ปี อนาคตเรือทั้ง 12 ลำต้องทยอยปลดประจำการและสร้างเรือใหม่ทดแทน
บริษัท Damen มองเห็นช่องทางรวยจึงนำเสนอแบบเรือตรวจการณ์อเนกประสงค์กับราชนาวีไทย
แบบเรือที่ถูกนำเสนอชื่อ
MMPB
6410 ย่อจากคำว่า Multi-Mission Patrol Boat
วิศวกรบริษัท Damen นำแบบเรือคอร์เวต SIGMA 5910 มาปรับปรุงใหม่กลายเป็นเรือตรวจการณ์ทันสมัย เรือมีระวางขับน้ำประมาณ
700 ตัน ยาว 63.94 เมตร กว้าง 10.20
เมตร กินน้ำลึก 3.12 เมตร ใช้ระบบเคลื่อน CODAD
ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซล MAN จำนวน 3 ตัว ความเร็วสูงสุด 26 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 2,200
ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 15 นอต
แบบเรือ MMPB
6410 ใช้รูปทรงลดการตรวจจับจากเรดาร์ในระดับหนึ่ง
เนื่องจากกองทัพเรือกำหนดแผนระยะยาวประจำการเรือฟริเกตจำนวน 8 ลำ บวกเรือตรวจการณ์ไกลอีกจำนวน 12 ลำ
เท่ากับว่าราชนาวีไทยมีเรือใหญ่ทำหน้าที่รับแขกมากถึง 20 ลำ
เรือตรวจการณ์อเนกประสงค์จึงกำหนดให้ติดอาวุธป้องกันตัวจากภัยคุกคามทั่วไป
หัวเรือติดตั้งราวกันตกแบบทึบครึ่งหนึ่งแบบโปร่งครึ่งหนึ่ง
ติดตั้งปืนกลอัตโนมัติ DS30M Mark 2 ขนาด 30
มม.เป็นปืนหลัก สามารถใช้งานปืนกลอัตโนมัติขนาด
40 มม.ได้โดยไม่ต้องปรับปรุงเรือ เหตุผลที่ตัดปืนใหญ่
OTO 76/62 Super Rapid ออกเพราะราคาค่อนข้างแพง เทียบกับค่าเงินบาทในปัจจุบันกระบอกละ
400 ล้านบาท ซื้อ 12 กระบอกเป็นเงิน 4,800
ล้านบาทหนักหนาสาหัสเกินไป โครงการนี้ DS30M Mark 2 วิ่งเข้าวินโดยไม่มีคู่แข่งสักรายรบกวนจิตใจ
สะพานเดินเรือรูปทรงแปดเหลี่ยมตามสมัยนิยม
เก๋งเรือค่อนข้างยาวมีพื้นที่ใช้สอยมากกว่าเรือตรวจการณ์รุ่นเก่า กลางเรือมีพื้นที่ว่างรองรับเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษจำนวนหนึ่ง
ราวกันตกดาดฟ้าเรือชั้นสองและท้ายเปลี่ยนเป็นรุ่นทึบ
เพราะเรือขนาดใหญ่กว่าเดิมจึงทนคลื่นลมแรงดีกว่าเดิม สามารถปฏิบัติการในเขตน้ำตื้นได้ตามปรกติ
เพราะต้องจัดหาระบบอำนวยการรบมาใช้งานจำนวนค่อนข้างมาก
กองทัพเรือจึงถือโอกาสพัฒนาระบบอำนวยการรบรุ่นใหม่ โดยซื้อลิขสิทธิ์ระบบอำนวยการรบ
C-Flex จากบริษัท TERMA ประเทศเดนมาร์ก นำมาปรับปรุงให้เหมาะสมความต้องการและเข้ากันได้กับระบบดาต้าลิงก์พัฒนาเองกลายเป็น
TCombat Mk 1 ระบบอำนวยการรบแห่งประเทศไทย
เมื่อพัฒนาเสร็จจึงนำมาติดตั้งบนเรือตรวจการณ์ ต.997 ต.998
ต.114 และ ต.115 ใช้เป็นเรือทดสอบเพื่อกำจัดจุดอ่อนอันเกิดจากความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม
เท่ากับว่ากองทัพเรือต้องการ
TCombat
Mk 1 จำนวน 12+4=16 ระบบ ในอนาคตถ้ามีการสร้างเรือตรวจการณ์หรือเรือยกพลขึ้นบกทั้ง
LST และ LPD กองทัพเรือจะเลือกใช้งาน TCombat
Mk 1 ไม่สนใจ TATICTOS ของบริษัท Thales
เพราะมีราคาแพงเกินไป
ระบบเรดาร์บนเรือประกอบไปด้วย
เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ TERMA Scantner 4100 จำนวน
1 ตัวบนยอดเสากระโดง เรดาร์เดินเรือจำนวน 2 ตัวกลางเสากับปีกซ้ายเสากระโดง ออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง TERMA C-Fire มีกล้องตรวจการณ์ออปโทรนิกส์อีก 1 ตัวหน้าเรดาร์ Scantner
4100 ข้างเสากระโดงติดตั้งปืนกลขนาด 12.7 มม.จำนวน 2 กระบอก ที่ว่างกลางเรือสามารถติดตั้งแท่นยิงเป้าลวงหรืออุปกรณ์ส่งเสียงรบกวนระยะไกล
LRAD และโดยปรกติจะใช้เป็นจุดรับ-ส่งสิ่งของกลางทะเลจากเรือลำอื่น
ปล่องระบายความร้อนขนาดกำลังเหมาะสมคือสิ่งเพิ่มเติมเข้ามา
สองกราบเรือติดตั้งแพชูชีพฝั่งละ 2 ตัว ถัดไปคือปืนกลอัตโนมัติขนาด
20 มม.รุ่น Nexter Narwhal ใช้เป็นปืนรอง เพราะมีน้ำหนักเบากว่าและราคาถูกกว่า DS30M Mark 2 ท้ายเรือกราบขวาติดตั้งเครนเดวิดกับเรือยางท้องแข็งลำใหญ่ขนาด 6.8 เมตร ท้ายเรือกราบซ้ายติดตั้งเครนอเนกประสงค์ขนาด 3.2 ตันกับเรือยางท้องแข็งลำเล็กขนาด 3.5 เมตร
ถัดจากจุดรับส่งเรือเล็กคือพื้นที่อเนกประสงค์ขนาด 11.5x9 เมตร
ซึ่งจะช่วยให้เรือทำภารกิจได้อย่างหลากหลาย
ประสิทธิภาพเรือ
ภารกิจต่างๆ
ที่เรือตรวจการณ์อเนกประสงค์ลำนี้ทำได้มีรายละเอียดดังนี้
1.ลาดตระเวนตรวจการณ์
เรือเดินทางไปทำภารกิจโดยไม่ติดออปชันเสริม
พื้นที่ว่างท้ายเรือใช้เป็นลานจอดอากาศยานไร้คนขับปีกหมุนรุ่น S100
หรือ MARCUS-B รวมทั้งอากาศยานไร้คนขับปีกแข็งรุ่น
Scan Eagle พร้อมอุปกรณ์รับส่งแบบครบเซต
2.ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล
นอกจากใช้พื้นที่ท้ายเรือในการอพยพผู้ประสบภัยตามเกาะแก่งต่างๆ
ยังสามารถใช้เครนขนาด 3.2 ตันจัดเก็บของกิน
ของใช้ น้ำดื่ม เสื้อผ้า ยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์
3.วางทุ่นระเบิด
เรือสามารถติดตั้งรางปล่อยทุ่นระเบิดจำนวน
2
ราง บรรทุกทุ่นระเบิดปราบเรือดำน้ำได้ประมาณ 20 นัด
4.ป้องปรามเรือดำน้ำ
การติดตั้งระเบิดลึกปราบเรือดำน้ำใช้หลักการเดียวกับภารกิจวางทุ่นระเบิด
สามารถติดตั้งรางระเบิดลึกจำนวน 2 รางกับเครื่องยิงระเบิดลึกจำนวน
2 ตัว
5.กวาดทุ่นระเบิด
เรือจะติดตั้งตู้คอนเทนเนอร์ขนาด
20
ฟุตจำนวน 2 ใบตามภาพประกอบที่สอง
ใบแรกจัดเก็บอุปกรณ์ต่างๆ ใบที่สองใช้เป็นห้องควบคุม การรับส่งยานใต้น้ำชนิดต่างๆ ใช้เครนพับเก็บได้กราบซ้ายเรือ
ติดตั้งตู้คอนเทนเนอร์แล้วยังเหลือพื้นที่ว่างจำนวนหนึ่ง
6.สำรวจทางอุทกศาสตร์
ใช้หลักการเดียวกับภารกิจกวาดทุ่นระเบิด
7.โรงพยาบาลฉุกเฉิน
ติดตั้งตู้คอนเทนเนอร์ขนาด
20
ฟุตจำนวน 2 ใบใช้เป็นห้องตรวจกับห้องผ่าตัด
8.ลำเลียงเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษ
ติดตั้งตู้คอนเทนเนอร์ขนาด
20
ฟุตจำนวน 2 ใบใช้เป็นห้องพักเพิ่มเติม
9.ส่งเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษเข้าทำภารกิจ
กราบขวาติดตั้งตู้คอนเทนเนอร์ขนาด
20
ฟุตใช้เป็นห้องพักที่สองหรือห้องประชุม กราบซ้ายจัดเก็บอุปกรณ์ต่างๆ
พร้อมกับเรือยางท้องแข็งขนาด 3.5 เมตรอีก 2 ลำ ใช้เป็นพาหนะนำเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษเข้าสู่พื้นที่ทำภารกิจ
10.ปราบเรือผิวน้ำ
ปราบเรือผิวน้ำไม่ใช่ภารกิจหลักของเรือตรวจการณ์
MMPB
6410 กองทัพเรือมีเรือฟริเกตจำนวน 8 ลำกับเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งจำนวน
12 ลำในการรับมือภัยคุกคาม
กรณีเร่งด่วนยังสามารถขอกำลังสนับสนุนจากกองทัพอากาศ
ให้ส่งเครื่องบินขับไล่มาไล่ยิงถล่มเรือฝ่ายตรงข้ามจนย่อยยับอับปาง
แต่ถึงกระนั้นบริษัท Damen ยังได้นำเสนอการปรับปรุงเรือรองรับภารกิจปราบเรือผิวน้ำจำนวน
2 แบบตามภาพประกอบที่สาม
10.1 ติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบจำนวน 4-8 นัด เป็นวิธีการง่ายๆ โดยใช้พื้นที่อเนกประสงค์ท้ายเรือ
ติดตั้งแล้วยังเหลือพื้นที่ใช้งานท้ายเรือจำนวนหนึ่ง
แต่เรือต้องปรับปรุงหลายอย่างเพื่อรองรับการใช้งานอาวุธปล่อยนำวิถี
อาทิเช่นติดตั้งคอนโซลควบคุมการยิงในห้องยุทธการ
ปรับปรุงระบบอำนวยการรบให้รองรับการใช้งาน เปลี่ยนมาใช้งานเรดาร์ตรวจการณ์ 3
มิติรุ่นใหม่ราคาแพง
ติดตั้งระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์และแท่นยิงเป้าลวง
ถ้าอาวุธปล่อยนำวิถีใช้งานระบบดาต้าลิงก์ได้ต้องติดตั้งเสาอากาศเพิ่ม
การปรับปรุงส่งผลให้ราคาเรือเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าตัว
10.2
ใช้ยานเกราะล้อยาง 8x8 ติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีพื้น-สู่-พื้น Spike NLOS ขนาด 4
ท่อยิง นำรถหุ้มเกราะมาจอดท้ายเรือแล้วยึดกับตัวเรือไว้อย่างแน่นหนา
เวลาใช้งานพลยิงจะรับข้อมูลทิศทางเป้าหมายจากพลเรดาร์ประจำเรือ
ก่อนใช้เลเซอร์ล็อกเป้าหมายแล้วยิง Spike NLOS
ใส่เป้าหมายระยะทางไกลสุด 32 กิโลเมตร
เป็นวิธีการง่ายๆ
ไม่ยุ่งยากไม่ต้องปรับปรุงเรือ ประสิทธิภาพแค่พอกล้อมแกล้มไม่ถึงกับดียอดเยี่ยม
การติดตั้งจริงต้องเลือกว่าจะใช้แท่นยิงหรือรถหุ้มเกราะอย่างใดอย่างหนึ่ง
ผู้เขียนแค่ทำภาพเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างอาวุธสองชนิด
11.ป้องกันภัยทางอากาศ
ใช้หลักการเดียวกับภารกิจปราบเรือผิวน้ำ
10.2
โดยนำระบบป้องกันภัยทางอากาศระยะใกล้ Avenger มาใช้งานบนเรือตามภาพประกอบที่สี่
เป็นรถหุ้มเกราะ 4x4
ขนาดเล็กติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน FIM-92 Stinger ระยะยิง 5 กิโลเมตรจำนวน 8 ท่อยิง
สำหรับจัดการอากาศยานไร้คนขับทุกชนิดและเฮลิคอปเตอร์ซึ่งมีความเร็วต่ำ
เวลาใช้งานพลยิงจะรับข้อมูลทิศทางเป้าหมายจากพลเรดาร์ประจำเรือ
ปืนกลขนาด
30
มม.กับ 20 มม.จัดการจัดการอากาศยานไร้คนขับขนาดเล็กได้เช่นกัน
เพียงแต่กระสุนปืนรุ่นปรกติไม่มีระบบนำวิถี โอกาสยิงถูกเป้าหมายขนาดเล็กที่ระยะ 4
กิโลเมตรแทบเป็นไปได้ ปล่อยให้เป้าหมายเข้าใกล้มากกว่านี้ก็อาจเป็นอันตรายต่อเรือและสถานที่
จำเป็นต้องใช้ระบบป้องกันภัยทางอากาศระยะใกล้ Avenger
ช่วยปิดช่องว่าง
12.ปราบเรือดำน้ำ
ภารกิจนี้ต้องปรับปรุงเรือตรวจการณ์
MMPB
6410 ค่อนข้างมากตามภาพประกอบที่ห้า เริ่มจากปรับปรุงระบบอำนวยการรบ
TCombat Mk 1 ให้รองรับการทำสงครามใต้น้ำ เรดาร์ตรวจการณ์
2 มิติ TERMA Scanter 6002 ติดจานใบเล็กด้านบนเพื่อใช้งานระบบพิสูจน์ฝ่ายหรือ IFF ที่ว่างกลางเรือติดตั้งแท่นยิงเป้าลวงขนาด 130 มม.รุ่นหกท่อยิงจำนวน 2 แท่นยิง
ท้ายเรือติดตั้งแท่นยิงแฝดสามสำหรับตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mk 54 รวมทั้งเลือกว่าจะติดตั้งโซนาร์หัวเรือขนาดเล็กซึ่งในปัจจุบันหาค่อนข้างยาก
หรือเลือกใช้งานโซนาร์ลากจูงขนาดเล็กจากบริษัทนอร์เวย์ซึ่งใช้งานในเขตน้ำตื้นได้อย่างดีเยี่ยม
เนื่องจากท้ายเรือค่อนข้างสูงตามสมัยนิยม
การจัดเก็บโซนาร์ลากจูง VDS ใช้วิธีเจาะช่องท้ายเรือโดยไม่ปิดด้านบน
ตัดปัญหาลูกเรือสร้างความเสียหายต่อโซนาร์โดยไม่ได้ตั้งใจ
เรือตรวจการณ์
MMPB
6410 เวอร์ชันปราบเรือดำน้ำจะมีการสร้างอย่างแน่นอน
การสร้างเรือในประเทศตามโครงการ
บริษัท
Damen
ไม่มีอู่ต่อเรือในประเทศจำเป็นต้องหาบริษัทคู่ค้าร่วม
พวกเขาติดต่อบริษัทมาร์ซันกับบริษัทซีเครสท์มารีนจนได้ข้อตกลงร่วมกัน
จึงนำเสนอข้อมูลเรื่องระยะเวลากับจำนวนเรือต่อคณะกรรมการคัดเลือกแบบเรือตามภาพประกอบที่หก
1.เรือตรวจการณ์
MMPB 6410 เฟสแรกจำนวน 6 ลำใช้เวลาสร้าง
6 ปี
เรือหนึ่งลำใช้เวลาสร้าง
ทดสอบ จนกระทั่งพร้อมเข้าประจำการเป็นเวลา 3 ปี
บริษัทมาร์ซันสร้างเรือพร้อมกันได้จำนวน 2 ลำ
บริษัทซีเครสท์มารีนสร้างเรือได้จำนวน 1 ลำ เวลา 3 ปีสร้างเรือได้จำนวน 3 ลำ ฉะนั้นเรือ 6 ลำใช้เวลาสร้าง 6 ปี โดยเรือ 3 ลำแรกประจำการแทนเรือตรวจการณ์ปืนชั้นเรือหลวงสัตหีบชุดที่ไม่ได้ปรับปรุงเรือ
เรือ 3 ลำหลังประจำการแทนเรือชั้นเรือหลวงสัตหีบชุดที่มีการปรับปรุงเรือ
เหตุผลที่ต้องกระจายงานเนื่องจากอู่ต่อเรือในประเทศไทยขนาดค่อนข้างเล็ก
ไม่อาจมอบพื้นที่สร้างเรือทั้งหมดของตัวเองให้กับโครงการ จึงแบ่งให้มาร์ซันสร้าง 2
ลำซีเครสท์มารีนสร้างอีก 1 ลำ ก่อนที่บริษัท Damen
จะส่งมอบเรือสร้างเสร็จต่อไปยังกองทัพเรือ
2.เรือตรวจการณ์
MMPB 6410 เฟสสองจำนวน 3 ลำใช้เวลาสร้าง
5 ปี
เรือเฟสสองเป็นรุ่นปราบเรือดำน้ำราคาแพงกว่ารุ่นปรกติ
โครงการจะหยุดสร้างเรือ 2 ปีให้อู่ต่อเรือเคลียร์งานตัวเองทั้งหมด
และให้กองทัพเรือแบ่งงบประมาณไปดูแลส่วนอื่น จากนั้นจึงให้มาร์ซันสร้าง 2 ลำซีเครสท์มารีนสร้างอีก 1 ลำภายในเวลา 3 ปี นำมาทดแทนเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้นเรือหลวงคำรณสินธุ
3.เรือตรวจการณ์
MMPB 6410 เฟสสองจำนวน 3 ลำใช้เวลาสร้าง
5 ปี
เรือเฟสสองกลับมาเป็นเวอร์ชันปรกติอีกครั้ง
ใช้แผนเดิมหยุดสร้าง 2 ปีแล้วให้มาร์ซันสร้าง
2 ลำซีเครสท์มารีนสร้างอีก 1 ลำภายในเวลา
3 ปี นำมาทดแทนเรือตรวจการณ์ปืนชั้นเรือหลวงหัวหินเป็นอันจบโครงการใช้เวลา
16 ปี
เพื่อนๆ
สมาชิกอาจมีข้อสงสัยในใจว่า เรือตรวจการณ์ปืนชั้นเรือหลวงหัวหินอายุประจำการเพียง
23 ปีทำไมรีบปลด เหตุผลก็คือโครงการใช้เวลารวมทั้งหมด 16 ปี กว่าจะส่งมอบเรือเฟสสามเรือตรวจการณ์ปืนชั้นเรือหลวงหัวหินจะมีอายุ 23+16=39
ปี
นี่คือเหตุผลในการวางแผนระยะยาวสร้างเรือตรวจการณ์
12
ลำในเวลา 16 ปี
คุยกันปิดท้าย
โครงการเรือตรวจการณ์อเนกประสงค์เป็นอะไรที่ง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก เหมาะสมกับการดำเนินงานจริงได้ผลสำเร็จจริงตามความตั้งใจ แบบเรือไม่มีความซับซ้อนอู่ต่อเรือทุกแห่งในประเทศสร้างได้ ถ้ากองทัพเรือทำได้จริงซึ่งผู้เขียนคิดว่าทำได้แน่นอน จะเป็นประโยชน์ต่อโครงการเรือฟริเกตและโครงการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งไม่มากก็น้อย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น