หลังสงครามโลกครั้งที่สองหน่วยยามฝั่งสหรัฐอเมริกาขยายตัวใหญ่กว่าเดิม
จากที่เคยมีเพียงเรือตรวจการณ์ลำเล็กลำน้อยคอยคุ้มครองชายฝั่ง
ได้ถูกแทนที่ด้วยเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่โตกว่าเดิม
ตัวเรือเป็นเหล็กเก๋งเรือเป็นอะลูมิเนียม ออกแบบให้มีความอเนกประสงค์มากกว่าเดิม
มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์บริเวณท้ายเรือเพิ่มเติมความล้ำสมัย
ทว่ารัฐบาลสหรัฐอเมริกาไม่ได้คาดหวังเพียงเท่านี้
เนื่องจากกองทัพเรือต้องเดินทางไปทำภารกิจนอกประเทศ
บางภารกิจจำเป็นต้องใช้งานเรือขนาดใหญ่เป็นเวลานาน เพื่อลาดตระเวนตรวจการณ์ในเขตน้ำตื้นร่วมกับเรือขนาดเล็ก
ไม่เหมาะสมกับเรือพิฆาตหรือเรือฟริเกตซึ่งถูกออกแบบให้ทำการรบในเขตน้ำลึก หน่วยยามฝั่งจึงขึ้นการขึ้นโครงการสร้างเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่สำหรับทำภารกิจนอกประเทศ
เรือตรวจการณ์ขนาด 378 ฟุต
ปี 1963 บริษัท Avondale Shipyards
ได้รับสัญญาสร้างเรือตรวจการณ์ขนาด 378 ฟุตจากหน่วยยามฝั่งสหรัฐอเมริกาจำนวน
12 ลำ เรือลำแรก USCGC Hamilton (WHEC-715)
เข้าประจำการวันที่ 18 มีนาคม 1967 ส่วนเรือลำสุดท้าย
USCGC John Midgett (WHEC-726) เข้าประจำการวันที่ 17
มีนาคม 1972
ส่งผลให้กองเรือหน่วยยามฝั่งออกปฏิบัติการทั่วโลกได้อย่างทัดเทียมกองทัพเรือ
เรือตรวจการณ์ชั้น
Hamilton มีระวางขับน้ำเต็มที่ 3,250 ตัน ยาว 116 เมตร กว้าง 13 เมตร
กินน้ำลึก 4.6 เมตร ใช้ระบบขับเคลื่อน CODOG เครื่องยนต์ดีเซลจำนวน 2 ตัวทำงานร่วมกับเครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์จำนวน
2 ตัว ความเร็วสูงสุด 29 นอต
ระยะปฏิบัติการไกลสุด 14,000 ไมล์ทะเล ออกทะเลได้นานสุด 45
วัน ใช้ลูกเรือ 167 นาย ถูกออกแบบให้เดินทางไปพร้อมเรือบรรทุกเครื่องบินเหมือนเรือฟริเกตหรือเรือพิฆาต
มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ขนาดใหญ่โตพอสมควรบริเวณท้ายเรือ
ประสิทธิภาพเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่ชั้น
Hamilton จากยุค 60 เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งรุ่นใหม่ยุคปัจจุบันทุกลำยังกินไม่ลง
ทั้งเรื่องความเร็ว ระยะปฏิบัติการ และระยะเวลาออกทะเล
เป็นของดีของเด็ดจากหน่วยยามฝั่งสหรัฐอเมริกาอย่างแท้จริง
ภาพประกอบที่หนึ่งคือเรือตรวจการณ์
USCGC Hamilton (WHEC-715) หัวเรือติดตั้งปืนใหญ่ขนาด
5/38 นิ้ว รุ่น Mark 30 ทำงานร่วมกับเรดาร์ควบคุมการยิง Mark
56 GFCS มีปืนกลขนาด 12.7 มม.จำนวน 2 กระบอกข้างสะพานเดินเรือ
หลังจุดรับส่งเรือเล็กติดตั้งแท่นยิงแฝดสามรุ่น Mark 32
สำหรับตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ มาพร้อมโซนาร์หัวเรือรุ่น AN/SQS-38 ประสิทธิภาพปานกลาง
เท่ากับว่าเรือชั้นนี้คือเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
ทำไมเรือตรวจการณ์หน่วยยามฝั่งติดตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ?
เหตุผลก็คือเรือไม่ได้อยู่เฝ้าบ้านเพียงอย่างเดียว
ต้องออกมาทำภารกิจในพื้นที่ห่างไกลอาทิเช่นน่านน้ำประเทศเวียดนามใต้
แล้วในช่วงนั้นสหภาพโซเวียตมีเรือดำน้ำโจมตีดีเซล-ไฟฟ้าจำนวนมหาศาล
ส่งผลให้เรือจำเป็นต้องมีอาวุธป้องกันตัวจากภัยคุกคาม
ระบบเรดาร์บนเรือประกอบไปด้วย
เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ AN/SPS-64v ที่เสากระโดงหลัก เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ/อากาศ AN/SPS-29D
ที่เสากระโดงรอง ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ AN/SLA-10B เสากระโดงทาสีดำสนิทตัดกับสีขาวบนตัวเรือดูน่าเกรงขามบวกงามสง่า
ครับ…นี่คือเรือตรวจการณ์หน่วยยามฝั่งสหรัฐอเมริกาในยุค
60
สงครามเวียดนาม
ปี 1970 เรือตรวจการณ์ USCGC
Sherman (WHEC-720) ถูกส่งมาประจำการในน่านน้ำประเทศเวียดนาม เพื่อขัดขวางการก่อความไม่สงบจากทางทะเลของฝ่ายตรงข้าม
ขัดขวางการแทรกซึมเหล่าจารชนเข้าสู่เวียดนามใต้
รวมทั้งตัดเส้นทางลำเลียงอาวุธยุทธปัจจัยโดยใช้เรือสินค้าติดอาวุธ USCGC
Sherman จึงได้เข้าร่วมภารกิจ Operation Market Time ตามคำสั่งรัฐบาลสหรัฐอเมริกา
ภาพประกอบที่สองเรือมีการปรับปรุงระบบอาวุธปราบเรือดำน้ำ
หน้าสะพานเดินเรือติดตั้งจรวดปราบเรือดำน้ำ Hedgehog
จำนวน 2 แท่นยิงหรือ 48 นัด
หน่วยยามฝั่งสหรัฐอเมริกาทยอยติดตั้ง Hedgehog
บนเรือชั้นนี้จนครบทุกลำ ส่งผลให้หัวเรือหนักกว่าเดิมสิบกว่าตันอย่างเลี่ยงไม่ได้
นี่คือสิ่งที่ต้องแลกเปลี่ยนเมื่อคุณต้องการติดอาวุธเพิ่ม
วันที่ 21 พฤศจิกายน 1970 USCGC Sherman ทำหน้าที่สกัดกั้นเรือฝ่ายตรงข้ามบริเวณชายฝั่ง และสามารถจมเรือสินค้าติดอาวุธของเวียดนามเหนือจำนวน
1 ลำบริเวณปากแม่น้ำแม่โขง โดยใช้ปืนใหญ่ขนาด 5 นิ้วที่หัวเรือยิงใส่จากระยะ
2,600 หลา เก็บแต้มแรกให้กับกองเรือหน่วยยามฝั่งสหรัฐอเมริกาได้อย่างน่าภาคภูมิใจ
เรือตรวจการณ์หน่วยยามฝั่งเอาชนะการดวลปืนที่ปากแม่น้ำ
เป็นเรื่องเล่าขานที่เจ้าหน้าที่หน่วยยามฝั่งรุ่นลูกรุ่นหลานจะได้รับฟังไปอีกยาวนานหลายสิบปี
FRAM Program
หลังเข้าประจำการรับใช้ชาติยาวนานถึง 20 ปีเต็ม จึงได้เวลาปรับปรุงครึ่งอายุการใช้งานเรือตรวจการณ์ชั้น
Hamilton โครงการ Fleet Rehabilitation and
Modernization หรือ FRAM ใช้เวลาตั้งแต่ปี 1986 ถึงปี 1990 เรือจำนวน 12 ลำเข้ารับการปรับปรุงโดยใช้อู่ต่อเรือจำนวน
2 แห่ง โดยมีเรือจำนวน 5 ลำติดอาวุธหนักตามภาพประกอบที่สาม
หัวเรือสร้าง Superstructure
ยื่นยาวมาเชื่อมต่อกับสะพานเดินเรือ
(การปรับปรุงเรือหลวงตาปีกับเรือหลวงคีรีรัฐได้รับอิทธิพลจากเรือลำนี้)
ปืนใหญ่ขนาด 5/38 นิ้ว รุ่น Mark 30
ถูกแทนที่ด้วยปืนใหญ่ขนาด 76 มม.รุ่น Mark
75 (OTO 76/62 Compact เวอร์ชันสหรัฐอเมริกา)
ทำงานร่วมกับเรดาร์ควบคุมการยิง Mark 92 mod 1 GFCS (WM-25 เวอร์ชันสหรัฐอเมริกา)
จรวดปราบเรือดำน้ำ Hedgehog ถูกแทนที่ด้วยแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ
Harpoon ท้ายเรือติดตั้งระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx
เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ/อากาศ AN/SPS-29D เปลี่ยนเป็นรุ่น AN/SPS-40B
ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ AN/SLA-10B
เปลี่ยนเป็นรุ่น AN/WLR-1C
รวมทั้งติดตั้งแท่นยิงเป้าลวงอาวุธปล่อยนำวิถี SRBOC
และเป้าลวงตอร์ปิโดรุ่นลากท้าย AN/SLQ-25 NIXIE
มีเรือเพียง 5
ลำที่ได้รับการติดตั้ง Harpoon และ Phalanx เหตุผลที่ติดตั้งเพื่อป้องกันภัยคุกคามจากสหภาพโซเวียตและกลุ่มวอซอร์ ช่วงนั้นความตึงเครียดด้านการเมืองค่อนข้างสูงเป็นพิเศษ
จึงมีข้อเสนอให้เพิ่มอำนาจการยิงต่อเรือตรวจการณ์หน่วยยามฝั่ง
นี่คือที่มาที่ไปของ Cutters
with Missiles
ทดสอบยิง Harpoon
วันที่ 16 มกราคม 1990 เรือตรวจการณ์ USCGC Mellon
(WHEC-717) ทดสอบยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon นอกเมือง Oxnard รัฐ California นับเป็นครั้งแรกของโลกที่ตรวจการณ์สามารถยิงอาวุธรุ่นใหม่ทันสมัยเผด็จศึกเป้าหมายผิวน้ำ
อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ
Harpoon พัฒนาโดยบริษัท McDonnell Douglas ปัจจุบันคือ Boeing Defense, Space & Security
ปี 1965 กองทัพเรือสหรัฐอเมริกาเห็นสหภาพโซเวียตมีอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ
P-15 Termit ใช้งาน
และนำเรือเร็วอาวุธนำวิถีมาข่มขู่กองเรือตัวเองในวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา
จึงได้ขึ้นโครงการพัฒนาอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบรุ่นใหม่
กำหนดให้ทันสมัยกว่าระยะยิงไกลกว่า P-15 Termit โดยการติดตั้งระบบนำวิถีในหัวรบไม่ต้องพึ่งพาเรดาร์ควบคุมการยิงจากเรือ
ระยะยิงไกลสุดมากกว่า 24 ไมล์ทะเลหรือ 45 กิโลเมตร ใช้งานกับเรือดำน้ำได้โดยใช้ท่อยิงตอร์ปิโดขนาด 533 มม.
อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ
Harpoon นัดแรกถูกส่งมอบในปี 1977 ระยะยิงไกลสุดเพิ่มเป็น
75 ไมล์ทะเลหรือ 139 กิโลเมตร USCGC
Mellon (WHEC-717) คือเรือลำแรกและลำเดียวที่ได้ทดสอบยิง Harpoon ใส่เป้าหมายกลางทะเล
กลับมาที่การปรับปรุงเรือตามโครงการ
FRAM กันอีกครั้ง
อย่างที่ทราบกันดีมีการติดตั้งอาวุธรุ่นใหม่ทันสมัยจำนวนมาก
สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนวณให้ละเอียดถี่ถ้วนก็คือน้ำหนัก เพราะส่งกระทบค่อนข้างมากต่อประสิทธิภาพเรือ
อาทิเช่นการปรับปรุงเรือหลวงตาปีกับเรือหลวงคีรีรัฐ น้ำหนักเรือที่เพิ่มขึ้นบวกปัญหาเรื่องการถ่วงดุลส่งผลให้เรือไม่เหมือนเดิม
บังเอิญเรือตรวจการณ์ชั้น Hamilton หลังการปรับปรุงติดอาวุธน้ำหนักเบากว่าเดิม
เรามาคำนวณด้วยคณิตศาสตร์อนุบาลหมีน้อยกันสักนิด
อาวุธที่ถูกถอดออกประกอบไปด้วย ปืนใหญ่ขนาด 5/38 นิ้ว รุ่น Mark 30 หนัก 20.5 ตัน
จรวดปราบเรือดำน้ำ Hedgehog จำนวน 2 แท่นยิงหนัก
14.4 ตัน (รวมทุกอย่าง) น้ำหนักรวมอาวุธอยู่ที่ประมาณ 34.9
ตัน
อาวุธที่ถูกติดตั้งประกอบไปด้วย ปืนใหญ่ขนาด 76 มม.รุ่น Mark
75 หนัก 8.2 ตัน แท่นยิง MK141 จำนวน 2 แท่นยิงหนัก 11.8 ตัน
อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon จำนวน 8 นัดหนัก 6 ตัน ระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx หนัก 6.8 ตัน น้ำหนักรวมอาวุธอยู่ที่ประมาณ 32.8
ตัน
เท่ากับว่าเรือตรวจการณ์ชั้น Hamilton ติดอาวุธเบากว่าเดิม 2.1 ตัน บวก Superstructure ที่หัวเรือกับเพิ่มโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์แบบพับได้
น้ำหนักเรือหลังการปรับปรุงมากกว่าเดิมเล็กน้อยส่งผลกระทบต่อเรือค่อนข้างน้อยนิด
ถอด Harpoon
ตามแผนการเรือตรวจการณ์ชั้น Hamilton ทุกลำจะได้รับการติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ
Harpoon
ทว่าในความเป็นจริงแผนการติดตั้งสำเร็จเรียบร้อยเพียง 5 ลำ ต่อมาในปี
1992 แท่นยิง MK141
ถูกถอดออกจากเรือทุกลำตามมติในที่ประชุมของวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา
เหตุผลก็คือสหภาพโซเวียตและกลุ่มวอซอร์ล่มสลายไปแล้ว
ไม่มีภัยคุกคามแล้วเรือตรวจการณ์หน่วยยามฝั่งไม่จำเป็นต้องใช้งาน Harpoon
มีการปรับปรุงเรืออีกครั้งโดยการถอดแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ
Harpoon
แท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำและโซนาร์หัวเรือ ถอดเป้าลวงตอร์ปิโดรุ่นลากท้าย AN/SLQ-25 NIXIE จากนั้นจึงติดตั้งปืนกลขนาด 25 มม.แทนที่แท่นยิงตอร์ปิโดเบา
และติดตั้งระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx เพิ่มเติมจนครบทุกลำ
ภาพประกอบที่ห้าเรือตรวจการณ์ USCGC Mellon (WHEC-717) หลังการปรับปรุงในปี
1992 แท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบถูกถอดออกไปพร้อมกับแท่นยิงตอร์ปิโดเบา
มองเห็นโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์แบบพับอย่างชัดเจน ส่วนระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx ที่บั้นท้ายเรือน่าจะอยู่ในโหมดหยุดทำงานชั่วคราว
ปลดประจำการ
หลังรับใช้ชาติมาอย่างยาวนานเรือทุกลำต้องปลดประจำการ
ปรกติเรือรบกองทัพเรือสหรัฐอเมริกามักปลดประจำการในปีที่ 30 ทว่าเรือตรวจการณ์หน่วยยามฝั่งกลับพลิกผันชนิดหน้ามือหลังมือ
เรือตรวจการณ์ USCGC Hamilton (WHEC-715)
ปลดประจำการลำแรกในวันที่ 28 มีนาคม 2011 อายุราชการ 44 ปี และเรือตรวจการณ์ USCGC
Douglas Munro (WHEC-724) ปลดประจำการลำสุดท้ายในวันที่ 27 เมษายน 2021 อายุราชการมากถึง 50 ปี
หน่วยยามฝั่งสหรัฐอเมริกาใช้งานเรือโหดยิ่งกว่ากองทัพเรือไทย
สิ่งที่แตกต่างก็คือเรือตรวจการณ์ชั้น Hamilton ได้รับการซ่อมบำรุงอย่างดีเยี่ยม
แม้ปลดประจำการแล้วก็ยังสามารถปรับปรุงยืดอายุเรือใช้งานได้
รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจึงมีแนวคิดโอนเรือทุกลำให้กับประเทศพันธมิตร
โดยมีค่าใช้งานปรับปรุงเรือลำละประมาณ 10 ล้านเหรียญ
ผู้โชคดีได้รับแจกเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่ฟรีประกอบไปด้วย
-ฟิลิปปินส์จำนวน 3 ลำ
-เวียดนามจำนวน 3 ลำ
-ศรีลังกาจำนวน 2 ลำ
-บังกลาเทศจำนวน 2 ลำ
-ไนจีเรียจำนวน 2 ลำ
ภาพประกอบที่หกคือเรือตรวจการณ์
USCGC John Midgett (WHEC-726) ถูกส่งต่อให้กับหน่วยยามฝั่งเวียดนามโดยใช้ชื่อว่า CSB 8021 ปืนใหญ่ขนาด 76 มม.รุ่น Mark
75 กับเรดาร์ควบคุมการยิง Mark 92 mod 1 GFCS ยังอยู่เหมือนเดิม
ส่วนเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ/อากาศ AN/SPS-40B ปืนกลอัตโนมัติขนาด 25 มม.รุ่น
Mk 38 Mod 2
และระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx ถูกถอดออก
สภาพเรือหลังการปรับปรุงยังคงดีเยี่ยมใช้งานต่ออีก 15-20 ปีได้อย่างสบาย
บทสรุปปิดท้าย
จนถึงปัจจุบันเรือตรวจการณ์ชั้น
Hamilton ยังคงประจำการครบถ้วนทุกลำ
เรือลำแรก USCGC
Hamilton (WHEC-715) ซึ่งมีชื่อใหม่ว่า BRP Gregorio del
Pilar (PS-15) อายุ 57 ปี ส่วนเรือลำสุดท้าย
USCGC John Midgett (WHEC-726)
ซึ่งมีชื่อใหม่ว่า CSB 8021 อายุ 52 ปี
นี่คือเรือตรวจการณ์ขนาด 378 ฟุตที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่โลกมนุษย์เคยสร้างมา
อ้างอิงจาก
https://thetidesofhistory.com/2023/10/22/378s-hamilton-class-coast-guard-cutters/
https://en.wikipedia.org/wiki/Hamilton-class_cutter
https://www.flickr.com/photos/upnorthmemories/6952902660
https://chuckhillscgblog.net/tag/whec/
https://web.facebook.com/photo/?fbid=2056453144398204&set=a.193627974014073
https://www.maritimehawaii.com/2021/07/csb-8021/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น