วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2567

Unmanned Underwater Vehicle and Submersible Vehicle

 

ยานใต้น้ำไร้คนขับเมดอินไทยแลนด์

       บทความนี้ผู้เขียนรวบรวมโครงการยานใต้น้ำไร้คนขับสร้างโดยคนไทย นำมาบันทึกเก็บไว้รวมกันเพื่อความสะดวกสบายในการค้นหาข้อมูล เป็นบทความสั้นๆ เท่าที่ผู้เขียนสามารถค้นหาข้อมูลได้ ถ้ามีการสร้างยานใต้น้ำไร้คนขับรุ่นใหม่สัญญาว่าจะกลับมาเขียนถึงอีกครั้ง

เป้าฝึกปราบเรือดำน้ำ

       หลังจากประเทศไทยปลดระวางเรือดำน้ำทุกลำในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2494 ก็ไม่มีโอกาสจัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการอีกเลย ส่งผลให้เทคโนโลยีด้านตรวจจับและปราบเรือดำน้ำขาดหายไป ต่อมาในปี 2543 กองทัพเรือมีโครงการการออกแบบและสร้างเป้าฝึกปราบเรือดำน้ำระยะที่ 1 เป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ (สวพ.ทร.)

       ยานใต้น้ำขนาดเล็กซึ่งถูกกำหนดให้เป็นเป้าฝึกมีการเคลื่อนที่ใต้น้ำแบบ Random ใช้พลังงานแบตเตอรี่เป็นตัวขับเคลื่อน อยู่ในน้ำได้นานสุด 2 ชั่วโมง สามารถแล่นสลับฟันปลาในแนวดิ่งด้วยความเร็ว 3 นอต ดำน้ำลึกสุดไม่เกิน 30 เมตร สามารถส่งสัญญาณเสียงใต้น้ำไปปรากฏบนหน้าจอโซนาร์เรือผิวน้ำ ลักษณะเดียวกับที่เกิดจากการตรวจพบเรือดำน้ำจริง ราคาสร้างลำละประมาณ 3 แสนบาทถ้าซื้อจากต่างประเทศราคาประมาณ 1 ล้านบาท

       ยานใต้น้ำไร้คนขับเมดอินไทยแลนด์ลำแรกมีข้อบกพร่องหลายประการ จนไม่สามารถนำมาใช้ฝึกทางการทหารได้อย่างสมบูรณ์ เป็นอันว่าโครงการการออกแบบและสร้างเป้าฝึกปราบเรือดำน้ำระยะที่ 1 จำเป็นต้องหยุดชะงักแค่เพียงเท่านี้

       ต่อมาในปี 2551 ภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับกรมอู่ทหารเรือ กรมอิเล็กทรอนิกส์ทหารเรือ และบริษัทนนทรีจำกัด ร่วมมือกันพัฒนายานใต้น้ำไร้คนขับขนาดเล็กขึ้นมาอีกครั้ง อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการการออกแบบและสร้างเป้าฝึกปราบเรือดำน้ำระยะสุดท้าย

       ปี 2553 ยานใต้น้ำลำแรกชื่อ 'ไกรทอง' ถูกส่งมอบให้กองทัพเรือนำไปทดสอบเป็นเป้าฝึกปราบเรือดำน้ำ หรือ Mobile Target อนาคตจะมีการส่งมอบยานใต้น้ำอีก 2 ลำได้แก่ 'สุดสาคร' กับ 'วิชุดา' ปิดโครงการได้อย่างสดสวยงดงามใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 6 ล้านบาท

       งานวิจัยฝีมือคนไทยทำจากเหล็กทั้งลำ รูปร่างหน้าตาคล้ายตอร์ปิโดทาสีเหลืองทั้งลำ ยาว 3.10 เมตร กว้าง 0.45 เมตร น้ำหนัก 300 กิโลกรัม ความเร็วสูงสุด 3 นอต ดำน้ำได้ลึกสุด 30 เมตร อยู่ในน้ำได้นานสุด 4 ชั่วโมง มีรูปแบบการเคลื่อนที่ใต้น้ำถึง 10 แบบ สามารถส่งสัญญาณเสียงใต้น้ำไปปรากฏบนหน้าจอโซนาร์เรือผิวน้ำ ติดตั้งระบบ GPS และระบบส่งวิทยุเพื่อแจ้งที่ให้เรือผิวน้ำมาจัดเก็บขึ้นเรือ


       ยานใต้น้ำสร้างโดยคนไทยราคาลำละประมาณ 9 แสนบาท ถูกกว่าซื้อจากต่างประเทศซึ่งประสิทธิภาพใกล้เคียงกันถึง 5 เท่า มีการทดสอบใช้งานยานใต้น้ำไร้คนขับบริเวณอ่าวสัตหีบระหว่างเกาะตอม่อกับเกาะพระ ก่อนส่งมอบให้กองทัพเรือนำไปใช้งานต่อไป ผลการทดสอบเป็นที่น่าพอใจของทุกฝ่าย อุปกรณ์ทั้งหมดทำงานได้อย่างถูกต้องตามที่ตั้งโปรแกรมไว้ ไม่มีปัญหาการรั่วซึม ยานเคลื่อนที่ท่ามกลางกระแสน้ำและสภาวะแวดล้อมจริงได้เป็นอย่างดี

       สถานะปัจจุบันของ 'ไกรทอง' 'สุดสาคร' และ 'วิชุดา' ผู้เขียนหาข้อมูลไม่เจอ เวลาผ่านพ้นไปเกือบ 14 ปียานใต้น้ำทั้ง 3 ลำอาจปลดประจำการไปแล้วก็เป็นได้

งานวิจัยยานใต้น้ำขนาด 12 เมตร

หลังจากการปลดระวางประจำการเรือดำน้ำ 4 ลำในปี 2494 เทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องกับเรือดำน้ำและการปฏิบัติภารกิจใต้ทะเลได้ห่างหายไป กองทัพเรือมีแนวความคิดวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวเนื่องกับยานใต้น้ำให้กลับมาอีกครั้ง จึงได้มอบให้สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ (สวพ.ทร.) เป็นเจ้าของโครงการสร้างต้นแบบยานใต้น้ำขนาดเล็กขึ้นเองในประเทศ

การวิจัยมีจุดหมายศึกษาพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการออกแบบและสร้างยานใต้น้ำขนาดเล็กขึ้นเองในประเทศเน้นการพึ่งพาตนเองและใช้ ทรัพยากรใน ประเทศให้มากที่สุด อีกทั้งกระจายความรู้สู่สถาบันการศึกษาและอู่ต่อเรือในประเทศ ซึ่งทางสำนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม (สวท.กห.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) เล็งเห็นถึงความสำคัญจึงสนับสนุนงบประมาณสำหรับ โครงการวิจัยยาน ใต้น้ำขนาดเล็กโครงการนี้ ซึ่งสิ่งที่จะได้จากงานวิจัยคือ ยานใต้น้ำ ที่สามารถใช้ในการสำรวจสมุทรศาสตร์ และทรัพยากรใต้ทะเล สิ่งก่อสร้างในทะเล พร้อมทั้งก่อเกิดองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับ เทคโนโลยีการสร้างยานใต้น้ำขึ้นในประเทศด้วยความสามารถของคนไทย

การวิจัยและพัฒนายานใต้น้ำขนาดเล็กโครงการนี้มี พล.ร.ต.รศ.ดร.พงศ์สรร ถวิลประวัติป็นนายทหารโครงการดำเนินการออกแบบรายละเอียดเพื่อนำไปสู่ การสร้างต้นแบบยานใต้น้ำขนาดเล็กภายในประเทศ การวิจัยที่เกิดขึ้นเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ที่มีอยู่ให้เป็นรูปธรรม การออกแบบและสร้างต้นแบบยานใต้น้ำ ขนาดเล็กไม่เพียงก่อเกิดประโยชน์อเนกประสงค์นำ ไปประยุกต์ใช้ทางด้านกิจการพลเรือน และการทหารหาก แต่ยังก่อเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีเกี่ยวกับการ ออกแบบและการสร้าง ยานใต้น้ำให้เกิดขึ้นอีกครั้งคณะนักวิจัยและที่ปรึกษาโครงการครั้งนี้ ต่างเป็นผู้ที่มีความรู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องหลายสาขาอีกทั้งมี ประสบการณ์การซ่อมและสร้างเรือ ผิวน้ำเป็นอย่างดีได้ทำงานร่วมกัน

โครงการนี้ได้รับงบประมาณจากสวท.กห. 25 ล้านบาทและสวทช. 5 ล้านบาท ระยะเวลาวิจัยตั้งแต่ปีงบประมาณ 2548 ถึง 2554 โครงการแบ่งออกเป็น 2 ระยะประกอบไปด้วย

1.ศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับขีดความสามารถของยานใต้น้ำเบื้องต้น

2. สร้างยานใต้น้ำขึ้นเองในประเทศ โดยได้รับการถ่ายโอนเทคโนโลยีที่จำเป็นจากต่างประเทศ เพื่อนำไปสู่การสร้างยานให้เสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดคือ 4 ปี

ต่อมาในวันที่ 28 มีนาคม 2551 พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานพิธีปฐมฤกษ์สร้างยานใต้น้ำขนาดเล็ก ที่บริษัท อู่กรุงเทพฯ จำกัด ซึ่งได้รับการว่าจ้างจากสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ (สวพ.ทร.) การสร้างยานเสร็จสมบูรณ์มีการทดสอบดำน้ำในปี 2554 ตรงตามแผนการ

 คุณลักษณะเฉพาะของยานใต้น้ำขนาดเล็ก

       -ความยาวตลอดลำเรือประมาณ 12 เมตร

       -ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.80 เมตร

       -วัสดุตัวเรือรับแรงกดเป็นเหล็กหนา 15 มม. เปลือกเรือชั้นนอกเป็นไฟเบอร์กลาส

       -ระวางขับน้ำใต้น้ำประมาณ 27 ตัน

       -ระบบขับเคลื่อน Thruster มอเตอร์จำนวน 5 ตัว

       -ระบบไฟฟ้า แบตเตอรี่ตะกั่วกรดจำนวน 264 หม้อ หม้อละ 2 V 300AH

       -ระบบอากาศหายใจ ถังเก็บออกซิเจนขนาด 50 ลิตร จำนวน 6 ถัง

       -ติดตั้งระบบฟอกอากาศ ระบบปรับอากาศ ระบบลอยตัวฉุกเฉิน (Drop weight) ระบบบัลลาส ระบบทรงตัว ระบบเดินเรือ และระบบสื่อสาร

       -ความเร็วเดินทาง 3 ถึง 5 นอต

       -ปฏิบัติภารกิจใต้น้ำระดับความลึกไม่เกิน 30 เมตร

       -ปฏิบัติการต่อเนื่อง 3 ถึง 5 ชม.

       -กำลังพลประจำเรือ 3 นาย

       ผลการทดสอบผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ยานสามารถดำน้ำได้จริงไม่มีปัญหาติดขัดตรงไหน สถานะปัจจุบันงานวิจัยยานใต้น้ำขนาด 12 เมตรจัดเก็บอยู่ในโรงเก็บอู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ

อ้างอิงจาก

https://web.facebook.com/media/set/?set=a.662284070450880.1073741863.546940131985275&paipv=0&eav=Afbih-9WFYbanCMOW6IpNX2t5tWF3fe-pDIQTGpFmyIw5FLbk_RIn0tUDfuHpeaK0JM&_rdc=1&_rdr

https://pantip.com/topic/37873683

http://www.dockyard.navy.mi.th/.../Subma.../craft/index.html

https://web.facebook.com/share/p/zaKqQXUvVBUQ6tom/

https://web.facebook.com/share/p/pNkfFT8yGaVqPwXV/

วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2567

Naval Equipment Procurement (HTMS Chang)

การติดตั้งอาวุธบนเรือหลวงช้าง

       วันที่ 22 เมษายน 2567 สำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ กองทัพเรือ ลงประกาศแผนการจัดซื้อจัดจ้างรหัส P๖๗๐๔๐๐๑๘๒๖๐ ชื่อโครงการซื้อระบบอำนวยการรบ ระบบตรวจการณ์ ระบบควบคุมการยิง ระบบอาวุธ และระบบไยโร พร้อมอุปกรณ์สนับสนุนที่เกี่ยวข้อง สำหรับโครงการเพิ่มขีดความสามารถระบบการรบสำหรับการปฏิบัติการทางเรือจำนวน 1 ระบบ งบประมาณโครงการ 920 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดโครงการตามนี้

1.เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องจัดซื้อ

กองทัพเรือจัดหาเรือยกพลขึ้นบกอเนกประสงค์ขนาดใหญ่สนับสนุนการปฏิบัติการเรือดำน้ำ (เรือหลวงช้าง) ตามความต้องการในการใช้กำลัง เพื่อปฏิบัติภารกิจตามแผนป้องกันประเทศ การรักษาอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติ การรักษากฎหมาย การเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงกับมิตรประเทศ การสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนาพื้นที่ตามแนวชายฝั่งทะเลและเกาะต่างๆ การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษย์ธรรมแก่ประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนการสนับสนุนการปฏิบัติงาน/ฝึกของหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและนอกกองทัพเรือ ซึ่งการเพิ่มขีดความสามารถการรบสำหรับการปฏิบัติการทางเรือครั้งนี้ เป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับเรือหลวงช้าง เพื่อให้เป็นบัญชาการในปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก การรบผิวน้ำ การป้องกันภัยทางอากาศ การปฏิบัติการร่วมระหว่างเรือกับอากาศยาน รวมทั้งการตรวจการณ์ การป้องกันภัยผิวน้ำ และการป้องกันภัยทางอากาศ ให้เป็นไปตามแผนงานการพัฒนาขีดความสามารถเรือหลวงช้างที่กองทัพเรือได้กำหนดไว้

2.ขอบเขตของงานหรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะสำหรับโครงการที่จัดซื้อ

กองทัพเรือมีความประสงค์จะพัฒนาและเสริมสร้างขีดความสามารถระบบการรบ สำหรับการปฏิบัติการทางเรือให้กับเรือยกพลขึ้นบกอเนกประสงค์ขนาดใหญ่สนับสนุนการปฏิบัติการเรือดำน้ำ (เรือหลวงช้าง) โดยการจัดหา ออกแบบ ปรับปรุง ติดตั้ง เชื่อมต่อ และทดสอบระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องประกอบไปด้วย ระบบอำนวยการรบ ระบบตรวจการณ์ ระบบควบคุมการยิงระบบอาวุธ และระบบไยโร พร้อมอุปกรณ์สนับสนุนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการสนับสนุนเรื่องการส่งกำลังบำรุงอะไหล่ เครื่องมือ เอกสารการทดสอบทดลอง น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น การฝึกอบรมและการถ่ายทอดเทคโนโลยี การตรวจรับ การรับประกัน การรับประกันพิธีกรรมต่างๆ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นราคายกเว้นค่าอากรศุลกากร แต่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีอากรอื่นๆ ค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งปวงไว้แล้วจนกระทั่งส่งมอบงาน ณ ท่าเทียบเรืออู่ราชนาวีมหิดล กรมอู่ทหารเรือ ตำบลสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี หรือพื้นที่ที่กองทัพเรือจะกำหนด มีวงเงินรวมไม่เกิน 920,000,000.00 บาท (เก้าร้อยยี่สิบล้านบาทถ้วน) ผูกพันงบประมาณจำนวน 3 ปีตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567-2569 โดยมีกำหนดส่งมอบงานภายในระยะเวลา 720 วันนับถัดจากวันลงนามในสัญญา

3.ราคากลางของพัสดุที่จะจัดซื้อ

เป็นราคาซื้อระบบอำนวยการรบ ระบบตรวจการณ์ ระบบควบคุมการยิง ระบบอาวุธ และระบบไยโร พร้อมอุปกรณ์สนับสนุนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการสนับสนุนเรื่องการส่งกำลังบำรุง อะไหล่ เครื่องมือ เอกสารการทดสอบทดลอง น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น การฝึกอบรมและการถ่ายทอดเทคโนโลยี การตรวจรับ การรับประกัน การรับประกันพิธีกรรมต่างๆ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นราคายกเว้นค่าอากรศุลกากร แต่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีอากรอื่นๆ ค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งปวงไว้แล้วจนกระทั่งส่งมอบงาน ณ ท่าเทียบเรืออู่ราชนาวีมหิดล กรมอู่ทหารเรือ ตำบลสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี หรือพื้นที่ที่กองทัพเรือจะกำหนด มีวงเงินรวมไม่เกิน 920,000,000.00 บาท (เก้าร้อยยี่สิบล้านบาทถ้วน)

4.วงเงินที่จะจัดซื้อ

เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567-2569

5.กำหนดส่งมอบงาน

กำหนดส่งมอบระบบอำนวยการรบ ระบบตรวจการณ์ ระบบควบคุมการยิง ระบบอาวุธ และระบบไยโร พร้อมอุปกรณ์สนับสนุนที่เกี่ยวข้อง สำหรับโครงการเพิ่มขีดความสามารถระบบการรบสำหรับการปฏิบัติการทางเรือ รวมถึงการสนับสนุนเรื่องการส่งกำลังบำรุง อะไหล่ เครื่องมือ เอกสารการทดสอบทดลอง น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น การฝึกอบรมและการถ่ายทอดเทคโนโลยี การตรวจรับ การรับประกัน การรับประกันพิธีกรรมต่างๆ และอื่นๆ ณ ท่าเทียบเรืออู่ราชนาวีมหิดล กรมอู่ทหารเรือ ตำบลสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี หรือพื้นที่ที่กองทัพเรือจะกำหนด ที่ถูกต้องครบถ้วนให้กับกองทัพเรือ ภายในระยะเวลา 720 วันนับถัดจากวันลงนามในสัญญา

       โครงการเพิ่มขีดความสามารถระบบการรบสำหรับการปฏิบัติการทางเรือเป็นของเรือหลวงช้าง LPD-792 งบประมาณเพียง 920 ล้านบาทถือว่าค่อนข้างน้อยแค่ 24.97 ล้านเหรียญ ฉะนั้นการติดตั้งอาวุธป้องกันตัวจึงเป็นไปอย่างจำกัดจำเขี่ย ผู้เขียนคาดเดาว่านอกจากระบบอำนวยการรบ ระบบเรดาร์ ระบบไยโร ซึ่งต้องมาอย่างแน่นอน งบประมาณที่เหลือน่าจะจัดหาปืนกลอัตโนมัติขนาด 30 มม.ได้อีก 2 กระบอก ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการที่กองทัพเรือได้จัดแสดงในพิธีเข้าประจำการเรือ

       ฉะนั้นกองทัพเรือต้องมีโครงการจัดหาอาวุธเพิ่มเติมในภายหลัง เนื่องจากปืนใหญ่ OTO 76/62 มม.ของใหม่กระบอกละ 370 ล้านบาท รวมทั้งต้องติดตั้งเรดาร์ควบคุมการยิงรุ่นดีๆ หน่อยด้วย

       ภาพประกอบคือการติดตั้งอาวุธบนเรือหลวงช้างตามความต้องการกองทัพเรือ หัวเรือจะติดตั้งอาวุธหลักคาดว่าจะเป็นปืนใหญ่ขนาด 76 มม.ต่ำลงมาเล็กน้อยคือจุดติดตั้งแท่นยิงเป้าลวงส่วนหัวเรือจำนวน 2 แท่นยิง สังเกตนะครับกองทัพเรือเลือกใช้ภาพแท่นยิงเป้าลวงรุ่นใหม่จากอังกฤษ Trainable ซึ่งสามารถกระดกแท่นยิงปรับเปลี่ยนทิศทางได้ ถ้าตัวนี้มาจริงผู้เขียนขอตั้งตัวเองเป็นหัวหน้ากองอวย Trainable สาขาไทยแลนด์อย่างเป็นทางการ

       หน้าสะพานเดินเรือติดตั้งปืนกลขนาด 20 มม.จำนวน 2 กระบอก ปัจจุบันกองทัพเรือนำอาวุธเก่ามาติดตั้งเป็นที่เรียบร้อย มีปืนกลขนาด 12.7 มม.อีก 4 กระบอกบริเวณกลางเรือกับท้ายเรือ เพราะเรือค่อนข้างยาวจึงติดตั้งเป้าลวงส่วนกลางเรือเพิ่มอีก 2 แท่นยิง ไม่ไกลจากปล่องระบายความร้อนคือจุดติดตั้งปืนกลอัตโนมัติขนาด 30-40 มม.จำนวน 2 กระบอก

       กองทัพเรือใส่ปืนกล 40 มม.ให้ผู้เขียนดีใจเล่นเสียอย่างนั้น เอาเข้าจริงๆ ไม่น่าจัดหาได้เพราะมีราคาแพงกว่าปืนกล 30 มม.พอสมควร การติดตั้งอาวุธบนเรือหลวงช้างน่าจะเป็นไปตามภาพประกอบ กองทัพเรือทำภาพนี้เองฉะนั้นไม่มีผิดพลาดอย่างแน่นอน

Terma C-Flex for Thai Navy

       วันที่ 15 พฤษภาคม 2567 สำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ กองทัพเรือได้ประกาศราคากลาง/ประกาศร่าง TOR โครงการซื้อระบบอำนวยการรบ ระบบตรวจการณ์ ระบบควบคุมการยิง ระบบอาวุธ และระบบไยโร พร้อมอุปกรณ์สนับสนุนที่เกี่ยวข้อง สำหรับโครงการเพิ่มขีดความสามารถระบบการรบสำหรับการปฏิบัติการทางเรือจำนวน 1 ระบบ งบประมาณโครงการ 920 ล้านบาท โดยมีแหล่งที่มาของราคากลางจากบริษัทต่อไปนี้

1.บริษัท Leonardo S.p.A อิตาลี

2.บริษัท Thales Nedeland B.V. เนเธอร์แลนด์

3.บริษัท Navantia S.A. S.M.E. สเปน

4.บริษัท ASELSAN ELEKTRONIK SANAYI TICARET A.S. ตุรกี

5.บริษัท Israel Aerospace Industry (IAI) อิสราเอล

6.บริษัท Hartech Technologies Ltd. อิสราเอล

7.บริษัท Rafael Advanced Defense Systems Ltd. อิสราเอล

       ต่อมาในวันที่ 17 มิถุนายน 2567 บริษัทยูไนเต็ดดีเฟนซ์เทคโนโลยี ได้ยื่นซองเอกสารเข้าร่วมโครงการเพิ่มขีดความสามารถระบบการรบสำหรับการปฏิบัติการทางเรือ ให้กับเรือยกพลขึ้นบกอเนกประสงค์ขนาดใหญ่สนับสนุนการปฏิบัติการเรือดำน้ำ (เรือหลวงช้าง) โดยร่วมมือกับบริษัท TERMA ประเทศเดนมาร์กในการปรับปรุงเรือตามความต้องการกองทัพเรือ จึงเป็นไปได้ว่าเรือหลวงช้างจะได้รับการติดตั้งอุปกรณ์ดังต่อไปนี้

       1.ระบบอำนวยการรบ C-Flex

       2.เรดาร์ตรวจการณ์ 2 มิติ Scantner 4100 2D

       3.ระบบควบคุมการยิง C-Fire (ใช้ออปโทรนิกส์ควบคุมการยิงรุ่น C-Fire EO)

       4. ระบบไยโร Safran Sigma 40

       5.ปืนกลอัตโนมัติ DS30M Mark 2 จำนวน 2 กระบอก

       ระบบอำนวยการรบ C-Flex มีใช้งานในประเทศไทยบนเรือลำเดียว ติดตั้งอยู่บนเรือหลวงอ่างทอง LPD-791 ซึ่งเป็นเรือยกพลขึ้นบกอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ลำแรกของราชนาวีไทย ถ้าบริษัทยูไนเต็ดดีเฟนซ์เทคโนโลยีได้รับการคัดเลือกให้ปรับปรุงเรือ เท่ากับว่ากองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธการจะมีเรือติดตั้งระบบอำนวยการรบ C-Flex จำนวน 2 ลำ

       สำหรับประเทศไทย C-Flex อาจไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายเทียบเท่า Tacticos จากบริษัท Thales หรือ 9LV จากบริษัท Saab แต่มีจุดเด่นถูกติดตั้งบนเรือหลวงอ่างทองซึ่งเป็นเรือชนิดเดียวกัน ฉะนั้นในกรณีเร่งด่วนลูกเรือเรือหลวงช้างทุกนายถูกกองกำลังไม่ทราบฝ่ายควบคุมตัว ลูกเรือเรือหลวงอ่างทองสามารถเข้าปฏิบัติการแทนที่ได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งในอนาคตถ้ากองทัพเรือจัดหาเรือ LPD หรือ LST เพิ่มเติมแล้วติดตั้งระบบอำนวยการรบ C-Flex กองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธการจะมีความยืดหยุ่นในการทำภารกิจไม่น้อยหน้ากองเรืออื่น เพราะสามารถผลัดเปลี่ยนกำลังพลได้อย่างคล่องตัวสามารถจัดส่งไปลงเรือลำไหนก็ได้

       เท่ากับว่าแผนการติดตั้งระบบอำนวยการรบราชนาวีไทยจะเป็นไปตามนี้

       1.เรือฟริเกตและเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ใช้ 9LV จากบริษัท Saab

       2.เรือตรวจการณ์ใช้ Tacticos จากบริษัท Thales

       3.เรือยกพลขึ้นบกใช้ C-Flex จากบริษัท Terma

       4.เรือดำน้ำจีนอยากใช้อะไรก็ใช้ไปเถอะ

หมายเหตุ

สังเกตนะครับกองทัพเรือไม่ได้สอบถามราคากลางจากบริษัท TERMA ประเทศเดนมาร์ก ฉะนั้นการสอบถามราคากับการเข้าร่วมโครงการจึงไม่มีความเกี่ยวข้องกัน ส่วนเรื่องกองทัพเรือมีระบบอำนวยการรบใช้งานหลายแบบ ก็เป็นเรื่องปรกติแม้แต่กองทัพเรือสหรัฐอเมริกาหรือกองทัพเรือจีน ยังแยกระบบอำนวยการรบเรือแต่ละชนิดให้มีความแตกต่างกัน

อ้างอิงจาก

https://web.facebook.com/photo?fbid=798983688879814&set=a.424440696334117

https://www.navy.mi.th/procurement-tor/2488

https://pantip.com/topic/42724248

https://x.com/ThaiPBSNews/status/965243773323116545

https://www.shipspotting.com/photos/3557937

 

วันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2567

The Legend of Type 21 Frigate

 

        ระหว่างปี 1969 บริษัท  Vosper Thornycroft ได้รับสัญญาสร้างเรือฟริเกตอเนกประสงค์ชั้น Type 21 จำนวน 3 ลำจากรัฐบาลอังกฤษ ถัดมาอีก 2 ปีมีการสั่งซื้อเพิ่มจำนวน 5 ลำโดยให้บริษัท Yarrow Shipbuilders ช่วยสร้างเรือเพื่อความรวดเร็ว เรือฟริเกตรุ่นใหม่ทั้ง 8 ลำเข้าประจำการระหว่างปี 1974 ถึง 1978

        เมื่อได้เรือฟริเกตชั้น Type 21 เข้าประจำการครบทุกลำ กองทัพเรืออังกฤษทยอยปลดประจำการหรือขายต่อเรือฟริเกตชั้น Type 41 หรือเรือชั้น Leopard กับเรือฟริเกต Type 61 หรือเรือชั้น Salisbury จำนวนทั้งหมด รวมทั้งมีการขายต่อเรือฟริเกตชั้น Type 12 หรือเรือชั้น Leander บางลำให้กับประเทศพันธมิตร

The Original Type 21 Frigate

        ก่อนหน้านี้เรือฟริเกตอังกฤษทั้งรุ่น Type 41 Type 61 หรือ Type 12 จะมีรูปทรงโบราณใกล้เคียงกัน หัวเรือถูกออกแบบให้ค่อนข้างสูงเป็นพิเศษเพื่อสู้คลื่นลม ก่อนตัดเตี้ยลงประมาณ 1 เมตรเพื่อติดตั้งปืนใหญ่หน้าสะพานเดินเรือ บริเวณท้ายเรือติดตั้งจรวดปราบเรือดำน้ำ Limbo ซึ่งกินพื้นที่ค่อนข้างมาก โดยอาจมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็กเพิ่มเติมเข้ามา ทว่าเรือฟริเกต Type 21 ซึ่งถูกปรับปรุงจากเรือฟริเกตรุ่นส่งออกชั้น Vosper MK5 และ Mk7 มีความแตกต่างจากเรือฟริเกตรุ่นเก่าอย่างชัดเจน

Vosper Thornycroft ปรับปรุงให้เรือฟริเกต Type 21 มีความทันสมัยหัวจรวดท้าย รองรับการทำสงครามทางทะเลยุคเปลี่ยนถ่ายได้เป็นอย่างดี เพียงแต่ติดตั้งอาวุธป้องกันตัวค่อนข้างน้อยประกอบไปด้วย ปืนใหญ่ขนาด 4.5 นิ้วจำนวน 1 กระบอก ปืนกลขนาด 20 มม.จำนวน 2 กระบอก และอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Cat จำนวน 4 นัด

ต่อมาในปี 1979 กองทัพอังกฤษมีแผนการปรับปรุงเรือจำนวน 5 จุดประกอบไปด้วย

1.ติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ MM38 Exocet ในการปรับปรุงมีการติดตั้งจริงบนเรือจำนวน 6 ลำจาก 8 ลำ

2.ติดตั้งแท่นยิงแฝดสาม STWS-1 สำหรับตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mk 46 ในการปรับปรุงมีการติดตั้งจริงเฉพาะเรือบางลำแต่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูล

3.เปลี่ยนเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำจากรุ่น Wasp เป็น Lynx

4.เปลี่ยนโซนาร์หัวเรือเป็นรุ่น Type 2016 ข้อเสนอนี้กองทัพเรืออังกฤษบอกปัดไม่ทำเพราะเห็นว่าไม่จำเป็น

5.แทนที่อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Cat ด้วย Sea Wolf และเปลี่ยนเรดาร์ควบคุมการยิงตัวหลังเป็นรุ่น Type 910 ข้อเสนอนี้กองทัพเรืออังกฤษบอกปัดไม่ทำโดยอ้างว่าจะทำให้ท้ายเรือหนักเกินไป

ผลจากบอกปัดของกองทัพเรืออังกฤษจะตามมาในภายหลัง

หลังการปรับปรุงเรือฟริเกตอเนกประสงค์ชั้น Type 21 แต่ละลำมีความแตกต่างกันมากบ้างน้อยมาก ภาพประกอบที่หนึ่งคือเรือฟริเกต HMS Ambuscade (F172) ถ่ายในปี 1982 หลังสงครามฟอล์กแลนด์เสร็จสิ้นแล้ว หัวเรือติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 4.5 นิ้วรุ่น Mk8 ถัดไปเล็กน้อยคือแท่นยิงเป้าลวง Corvus ขนาด 8 ท่อยิงจำนวน 2 แท่นยิง ระเบียงสะพานเดินเรือติดตั้งปืนกล Oerlikon ขนาด 20 มม.จำนวน 2 กระบอก บนหลังคาโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Cat ขนาด 4 ท่อยิง

การปรับปรุงที่เกิดขึ้นกับเรือ HMS Ambuscade (F172) มีเพียงสองอย่าง หนึ่งได้เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ Lynx มาใช้งาน และสองติดตั้งแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำบริเวณสองกราบเรือข้างโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์

หมายเหตุ : ยุค 70 กองทัพเรืออังกฤษมีหลักนิยมในการทำสงครามปราบเรือดำน้ำค่อนข้างแปลก พวกเขาจะใช้โซนาร์จำนวน 2 ตัวบนเรือช่วยกันตรวจจับเป้าหมาย ก่อนสั่งการให้เฮลิคอปเตอร์บินไปทิ้งตอร์ปิโดเบาตามพิกัดที่ตรวจพบ (ฉะนั้นเราจะได้คำว่า Wasp Action! ทุกครั้งที่เรือต้องการทำลายเป้าหมายใต้น้ำ) ต่างจากหลักนิยมสหรัฐอเมริกาในยุค 70 ชนิดหน้ามือหลังมือ กองทัพเรือสหรัฐอเมริกาจะส่งเฮลิคอปเตอร์หรือเครื่องบินบินมาตรวจสอบเป้าหมายด้วยโซนาร์ชักหย่อนหรือโซโนบุย จากนั้นจึงให้เรือฟริเกตแล่นเข้ามายิงทำลายด้วยอาวุธปล่อยนำวิถีปราบเรือดำน้ำ ASROC หรือตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ หลักนิยมสหรัฐอเมริกาทหารเรือไทยในยุคนั้นมีความคุ้นเคยเป็นอย่างดี

ต่อมาในยุค 80 อังกฤษเริ่มปรับเปลี่ยนหลักนิยมหลังเข้าประจำการเฮลิคอปเตอร์ Westland Sea King โดยการใช้เฮลิคอปเตอร์ตรวจสอบเป้าหมายด้วยโซนาร์ชักหย่อน และใช้เฮลิคอปเตอร์อีกลำทิ้งตอร์ปิโดทำลายเป้าหมายใต้น้ำ ทว่าช่วงแรกต้องใช้งานเฮลิคอปเตอร์ Sea King บนเรือบรรทุกเครื่องบินเท่านั้น เมื่อเรือฟริเกต Type 22 Batch 2 เข้าประจำการจริงจึงจะสามารถนำ Sea King ไปกับเรือได้

เพราะเป็นเรือฟริเกตรุ่นประหยัดนอกจากติดตั้งอาวุธค่อนข้างน้อย ระบบเรดาร์และอุปกรณ์อื่นๆ บนเรือจึงกลายเป็นรุ่นประหยัดตามกัน เริ่มจากใช้งานโซนาร์รุ่นเก่า Type 184M สำหรับตรวจจับเป้าหมายและ 162M สำหรับระบุเป้าหมาย ใช้เรดาร์ตรวจการณ์รุ่น Type 992Q ระยะทำการ 112 กิโลเมตร เรดาร์พิสูจน์ฝ่าย Type 1010 กับเรดาร์เดินเรือ Type 1006 อย่างละหนึ่งตัว ส่วนเรดาร์ควบคุมการยิง Type 912 จำนวน 2 ตัวอังกฤษซื้อเรดาร์ควบคุมการยิง RTN-10X จากอิตาลีมาใช้งาน ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ถูกตัดทิ้งผู้เขียนหาไม่เจอ ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อให้ราคาสร้างเรืออยู่ในงบประมาณที่ค่อนข้างจำกัดจำเขี่ย

สังเกตบริเวณสองกราบเรือข้างโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์กันสักนิด เรือ HMS Ambuscade (F172) ถูกเจาะเป็นช่องสามเหลี่ยมขนาดใหญ่นะครับ

ภาพประกอบที่สองเรือฟริเกต HMS Amazon (F169) ในปี 1986 ภาพเล็กมุมบนขวาเรือติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ MM38 Exocet จำนวน 4 ท่อยิงหน้าสะพานเดินเรือ และโยกแท่นยิงแท่นยิงเป้าลวง Corvus มาไว้กลางเรือ (สร้างระเบียงยื่นออกมาเล็กน้อย) เป็นการปรับปรุงตามแผนการ Exocet Programme กับเรือรบสำคัญๆ  ทุกลำของอังกฤษ แท่นยิง Exocet ส่งผลให้เรือหน้าตาดุดันไม่เกรงใจใครมากกว่าเดิม

ภาพใหญ่ฝั่งซ้ายสุดคือจุดผูกเรือบริเวณท้ายเรือ กราบขวาติดตั้งเครนขนาดเล็กสำหรับปล่อยเป้าลวงตอร์ปิโดแบบลากจูงรุ่น Type 182 บนลานจอดคือเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ Lynx HAS2 บนโรงเก็บคือแท่นยิงแฝดสี่ GWS-24 บรรจุอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Cat จำนวน 2 นัด ต่ำลงมาเล็กน้อยติดตั้งปืนกล Oerlikon ขนาด 20 มม. เท่ากับว่าเรือฟริเกต HMS Amazon (F169) ไม่ได้ติดตั้งแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ

สังเกตบริเวณสองกราบเรือข้างโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์กันสักนิด เรือ HMS Amazon (F169) ถูกเจาะเป็นช่องสามเหลี่ยมขนาดเล็ก เข้าใจว่าจุดนี้สามารถถอดแผ่นอะลูมิเนียมออกได้หรือใส่เข้าไปใหม่ได้ แต่ผู้เขียนไม่ทราบเหตุผลรู้แค่เพียงบางภาพ HMS Amazon (F169) เป็นช่องสามเหลี่ยมขนาดใหญ่บางภาพก็เป็นช่องสามเหลี่ยมขนาดเล็ก

Type 21 Frigate Export Version

นอกจากขายทำมาค้าขายกับกองทัพเรืออังกฤษตามปรกติ ระหว่างปี 1975 บริษัท Vosper Thornycroft เสนอแบบเรือฟริเกตชั้น Type 21 รุ่นส่งออกให้กับกองทัพเรืออาเจนตินา โดยการนำแบบเรือดั้งเดิมมาขัดเกลาเพียงเล็กน้อย มีการปรับเปลี่ยนใช้อาวุธรุ่นใหม่ทันสมัยกว่าเดิม และติดตั้งเรดาร์รุ่นส่งออกผสมปนเปกับรุ่นใช้งานในประเทศ

เรือฟริเกตรุ่นส่งออกระวางขับน้ำและความยาวใกล้เคียงรุ่นดั้งเดิม หัวเรือติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 4.5 นิ้วรุ่น Mk8 หน้าสะพานเดินเรือและหลังคาโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Wolf น้ำหนักเบาขนาด 2 ท่อยิงจำนวน 4 แท่นยิง ส่งผลให้เรือมี Sea Wolf ไว้ยิงเครื่องบินฝ่ายตรงข้ามจำนวน 8 นัด

สะพานเดินเรือรูปทรงหกเหลี่ยมผสมครึ่งวงกลมเหมือนเดิม Superstructure ข้างเสากระโดงหลักขยายความกว้างเท่าสองกราบเรือ ใช้เป็นจุดติดตั้งปืนกล 30 มม.ลำกล้องแฝด GCM-A จำนวน 2 กระบอก แท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ MM38 Exocet จำนวน 4 ท่อยิง และแท่นยิงเป้าลวง Corvus ขนาด 8 ท่อยิงจำนวน 2 แท่นยิง โดยมีแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำรุ่น Mk 32 จำนวน 2 แท่นยิงข้างโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์

เรือใช้เรดาร์ตรวจการณ์ S685 N หรือรุ่นส่งออกของ Type 992Q ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ S810 P เรดาร์เดินเรือ Type 1006 เรดาร์ควบคุมการยิง Type 910 จำนวน 2 ตัวเหมือนเรือฟริเกต Type 22 และโซนาร์ PMS 32 หรือรุ่นส่งออกของ Type 184M

เทียบกับ Type 21 รุ่นดั้งเดิมซึ่งเน้นความประหยัดตามงบประมาณ Type 21 รุ่นส่งออกทันสมัยกว่าเพราะมี Sea Wolf ถึง 8 นัดและมีแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ เพียงแต่แท่นยิงแฝดสองของ Sea Wolf ค่อนข้างรุงรังเกินไป ถ้าเปลี่ยนมาใช้งานแท่นยิงแฝดสี่ซึ่งมีน้ำหนักเบาเช่นเดียวกันน่าจะเหมาะสมมากกว่า

ผลการคัดเลือกอาเจนตินาซึ่งอุดหนุนเรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศ Type 42 ไปแล้วจำนวน 2 ลำ ให้ความสนใจเรือฟริเกต Meko 360 จากเยอรมันมากกว่า Type 21 ท้ายที่สุดจึงจัดหามาใช้งานจำนวน 3 ลำในปี 1980

Type 21 Command Frigate

ระหว่างปี 1985 บริษัท Vosper Thornycroft เสนอแบบเรือฟริเกตชั้น Type 21 Command Frigate ให้กับกองทัพเรือปากีสถาน เป็นการนำแบบเรือฟริเกต Type 21 มาปรับปรุงให้มีความทันสมัยมากกว่าเดิม จนมีหน้าตาแตกต่างจากเดิมโดยเฉพาะส่วนหัวเรือ Superstructure กลางเรือถูกเฉือนออกใช้เป็นจุดติดตั้งอาวุธรุ่นใหม่ ส่วนปล่องระบายความร้อน โรงเก็บและลานจอดเฮลิคอปเตอร์ยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

หัวเรือติดตั้งปืนใหญ่ OTO 76/62 Compact หน้าสะพานเดินเรือคือแท่นยิงแนวดิ่ง GWLS-26 สำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Wolf จำนวน 16 ท่อยิง ใช้เรดาร์ตรวจการณ์ AWS-09 เรดาร์ควบคุมการยิง ST1802SW จำนวน 2 ตัว กลางเรือติดแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon จำนวน 8 นัด ใช้ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ APECS II จาก Thales หลังคาสะพานเดินเรือติดตั้งระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx และมีแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำแฝดสามรุ่น Mk 32 จำนวน 2 แท่นยิง

Type 21 Command Frigate ใช้ระบบเรดาร์และอาวุธรุ่นใหม่ทันสมัย ฉะนั้นราคาเรือย่อมไม่น่ารักน่าชังเหมือน Type 21 รุ่นดั้งเดิม ปากีสถานในปี 1985 ไม่มีเงินซื้อเรือป้ายแดงต้องเช่าเรือฟริเกตจากสหรัฐอเมริกาใช้งานต่อไป

Vosper MK10 Frigate

        ระหว่างปี 1970 บริษัท Vosper Thornycroft ขายเรือฟริเกตชั้น Vosper MK10 ให้กับกองทัพเรือบราซิลจำนวน 7 ลำ แบ่งเป็นเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำจำนวน 4 ลำ เรือฟริเกตปราบเรือผิวน้ำจำนวน 2 ลำ และเรือฝึกจำนวน 1 ลำ ตามสัญญาเรือฟริเกต 4 ลำสร้างในอังกฤษส่วนเรือฟริเกตและเรือฝึกอีก 3 ลำสร้างในบราซิล เรือฟริเกตและเรือฝึกชั้น Niterói ทุกลำเข้าประจำการระหว่างปี 1976 ถึง 1986

หมายเหตุ : บราซิลสร้างเรือฟริเกตลำแรกตั้งแต่ปี 1972 พวกเขาใช้ความพยายามสร้างเรือด้วยตัวเองมานานแสนนาน ทว่าจนถึงปัจจุบันบราซิลยังไม่สามารถสร้างเรือฟริเกตได้ด้วยตัวเอง ต้องเสียเงินรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีสร้างเรือรุ่นใหม่จากเยอรมัน ฉะนั้นการสร้างเรือฟริเกตไม่ใช่หมูตู้ที่อยู่ดีๆ ใครนึกอยากสร้างก็สร้างได้

เรือฟริเกต Type 21 มีระวางขับน้ำเต็มที่ 3,250 ตัน ยาว 117 เมตร กว้าง 12.7 เมตร กินน้ำลึกสุด 5.8 เมตร ส่วนเรือฟริเกต Vosper MK10 ระวางขับน้ำเต็มที่ 3,707 ตัน ยาว 129.2 เมตร กว้าง 13.5 เมตร กินน้ำลึกสุด 5.5 เมตร รูปร่างหน้าตาเรือสองรุ่นมีความคล้ายคลึงกันมาก ประมาณว่านำ Type 21 มาต่อความยาวท้ายเรือเพื่อติดอาวุธเพิ่มเติม กลายเป็นเรือส่งออกรุ่นสุดท้ายในตระกูล Vosper MK ซึ่งมีขนาดใหญ่โตมากที่สุด

ภาพประกอบที่ 5 คือเรือฟริเกต Vosper MK10 รุ่นปราบเรือผิวน้ำ ติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 4.5 นิ้วรุ่น Mk8 จำนวน 2 กระบอกที่หัวเรือ-ท้ายเรือ ติดตั้งจรวดปราบเรือดำน้ำ Bofors ขนาด 375 มม.รุ่นสองลำกล้องหน้าสะพานเดินเรือ ติดตั้งปืนกล Bofors 40L70 จำนวน 2 กระบอกข้างเสากระโดงหลัง กลางเรือติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ MM38 Exocet จำนวน 4 ท่อยิงในภายหลัง ถัดไปเป็นแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำแฝดสามรุ่น Mk 32 จำนวน 2 แท่นยิง บนหลังคาโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์คือแท่นยิงแฝดสี่ GWS-24 อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Cat จำนวน 2 แท่นยิงหรือ 8 นัด

เรือฟริเกต Vosper MK10 รุ่นปราบเรือดำน้ำติดอาวุธแตกต่างกันเล็กน้อย ปืนใหญ่ขนาด 4.5 นิ้วท้ายเรือถูกแทนที่ด้วยแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีปราบเรือดำน้ำ Ikara ระยะยิง 19 กิโลเมตร และไม่มีการติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ MM38 Exocet ใช้เรดาร์เหมือนกันประกอบไปด้วย เรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ AWS2 เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ ZW-06 เรดาร์ควบคุมการยิง RTN-10X จำนวน 2 ตัว โซนาร์หัวเรือ EDO-610E ส่วนโซนาร์ลากท้าย EDO-700E มีเฉพาะรุ่นปราบเรือดำน้ำจำนวน 4 ลำ

นี่คือยุคเรืองรองมากที่สุดของเรือฟริเกตส่งออกจากอังกฤษ หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็อยู่ในยุคขาลงเหมือนกันทั้ง Vosper Thornycroft และ Yarrow Shipbuilders

Falklands War

        วันที่ 5 เมษายน 1982 หลังอาเจนตินาใช้กำลังบุกยึดฟอล์กแลนด์เพียง 3 วัน กองเรือเฉพาะกิจของอังกฤษออกเดินทางจากท่าเรือเมือง Portsmouth มาหยุดพักเพื่อเตรียมความพร้อมครั้งสุดท้ายที่เกาะ Ascension ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นฐานทัพส่วนหน้า หลังเติมน้ำมัน รับเสบียง ทาสีเครื่องบินและเรือบางลำเสร็จเรียบร้อย กองเรือจึงออกเดินทางเข้าสู่เขตประกาศสงครามระหว่างอังกฤษกับอาเจนตินา โดยมีเรือฟริเกต Type 21 จำนวน 7 ลำจาก 8 ลำเข้าร่วมกองเรือเฉพาะกิจเพื่อทำสงคราม

        การจัดขบวนเรือแถวหน้าจะมีเรือฟริเกต Type 21 จำนวน 7 ลำ และเรือพิฆาต Type 42 จำนวน 5 ลำ แล่นปะปนกันเป็นรูปครึ่งวงกลม ใช้อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Cat กับ Sea Dart ช่วยป้องกันภัยทางอากาศ เรือฟริเกต Type 22 จำนวน 2 ลำ และเรือพิฆาตชั้น County จำนวน 2 ลำตามประกบเรือบรรทุกเครื่องบินทั้ง 2 ลำ ใช้อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Wolf กับ Sea Seaslug ช่วยป้องกันเรือที่มีความสำคัญมากที่สุด ส่วนเรือฟริเกต Type 12M และ Type 12L กับเรือพิฆาต Type 82 ซึ่งไม่ค่อยพร้อมรบสักเท่าไรอยู่แถวสองช่วยคุ้มครองกองเรือที่ตามมาด้านหลัง

        ต่อมาเมื่อเรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศ HMS Sheffield (D80) ถูกยิงจมด้วยอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ AM39 Exocet อังกฤษรีบเปลี่ยนแผนนำเรือพิฆาต Type 42 มาจับคู่กับเรือฟริเกต Type 22 เพื่อป้องกันเรือบรรทุกเครื่องบิน โดยมีเรือพิฆาต Type 82 ซึ่งมีแค่ 1 ลำทำหน้าที่สนับสนุน หวังใช้ Sea Wolf กับ Sea Dart เป็นปราการด่านสุดท้ายป้องกันไข่ในหิน ส่งผลให้เรือฟริเกต Type 21 ซึ่งอยู่แถวหน้าต้องเจองานหนักมากกว่าเดิม โชคดีเหลือเกินระหว่างเดินทางไม่ถูกโจมตีจากอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ AM39 Exocet

สงครามฟอล์กแลนด์สิ้นสุดลงในวันที่ 14 มิถุนายน 1982 กองทัพเรืออังกฤษสูญเสียเรือฟริเกต Type 21 ระหว่างทำการรบจำนวน 2 ลำประกอบไปด้วย

วันที่ 21 พฤษภาคม 1982 ระหว่างทำหน้าที่คุ้มกันการยกพลขึ้นบก เรือฟริเกต HMS Ardent (F184) ถูกโจมตีด้วยเครื่องบินโจมตี A-4Q Skyhawk กองทัพเรืออาเจนตินา ระเบิดขนาด 1,000 ปอนด์ตกใส่ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ท้ายเรือเกิดไฟไหม้อย่างรุนแรง เจ้าหน้าที่บนเรือควบคุมเพลิงไม่ได้เกิดความเสียหายอย่างหนัก วันรุ่งขึ้น HMS Ardent (F184) จึงลงสู่ท้องทะเลไม่ไกลจากเกาะฟอล์กแลนด์

วันที่ 23 พฤษภาคม 1982 ระหว่างทำหน้าที่คุ้มกันการยกพลขึ้นบก เรือฟริเกต HMS Antelope (F170) ถูกโจมตีด้วยเครื่องบินโจมตี A-4B Skyhawk กองทัพอากาศอาเจนตินา เจ้าหน้าที่บนเรือพยายามยิงสกัดด้วยอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Cat แต่พลาดเป้าหมาย ในการโจมตีรอบที่สองระเบิดขนาด 1,000 ปอนด์ลูกหนึ่งตกใส่เรือแต่ไม่ระเบิด กัปตันรีบนำเรือหลบออกมาจากสมรภูมิเพื่อกู้ระเบิด โชคร้ายไม่ประสบความสำเร็จเรือฟริเกต HMS Antelope (F170) จึงระเบิดไฟลุกท่วมลำและจมลงไม่ไกลจากชายฝั่ง San Carlos ซึ่งใช้เป็นจุดยกพลขึ้นบก

ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเรือฟริเกตทั้ง 2 ลำมาจากการสนับสนุนการยกพลขึ้นบก อาเจนตินาใช้เครื่องบินลอบเข้าโจมตีโดยบินระดับต่ำ อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Cat สกัดกั้นไม่สำเร็จจึงเกิดความสูญเสีย 2 ครั้งติดกัน ถ้ากองทัพเรืออังกฤษตัดสินใจติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Wolf บนเรือฟริเกต Type 21 ความสูญเสียอาจลดลงเหลือเพียง 1 ลำหรือไม่สูญเสียเลยเป็นไปได้เหมือนกัน

กองเรือเฉพาะกิจอังกฤษมีเรือติดตั้ง Sea Cat จำนวน 17 ลำ 21 แท่นยิง ยิงเครื่องบินอาเจนตินาตก 0 ลำ มีส่วนร่วมหรือคาดว่ายิงเครื่องบินอาเจนตินาตกจำนวน 1 ลำ

กองเรือเฉพาะกิจอังกฤษมีเรือติดตั้ง Sea Wolf จำนวน 3 ลำ 5 แท่นยิง ยิงเครื่องบินอาเจนตินาตกจำนวน 3 ลำ มีส่วนร่วมหรือคาดว่ายิงเครื่องบินอาเจนตินาตกอีก 2 ลำ

        สถิติในการรบระหว่าง Sea Cat กับ Sea Wolf แตกต่างกันเสียจนน่าใจหาย

Type 21 Frigate for Pakistan

        ระหว่างปี 1988 หลังยกเลิกแผนการจัดหาเรือฟริเกต Type 21 Command Frigate รัฐบาลปากีสถานเจรจากับรัฐบาลอังกฤษเรื่องความเป็นไปได้ในการซื้อเรือฟริเกต Type 21 มาใช้งาน ต่อมาในปี 1992 รัฐบาลอังกฤษตัดสินใจขายเรือฟริเกต Type 21 จำนวน 6 ลำหรือทั้งหมดให้กับรัฐบาลปากีสถาน นำมาประจำการทดแทนเรือฟริเกตชั้น Brooke จำนวน 4 ลำ และเรือฟริเกตชั้น Garcia อีก 4 ลำที่เช่ามาจากสหรัฐอเมริกา

        การส่งมอบเรือทั้ง 6 ลำเกิดขึ้นระหว่างปี 1993 ถึง 1994 กองทัพเรือปากีสถานกำหนดให้เป็นเรือพิฆาตชั้น Tariq ใช้ตัวอักษร D นำหน้าหมายเลขเรือ ราคาเรือฟริเกตมือสองจากอังกฤษจำนวน 6 ลำอยู่ที่ 59.33 ล้านปอนด์

        กองทัพเรือปากีสถานใช้งานเรือพิฆาตทั้ง 6 ลำตามปรกติ จนกระทั่งปี 2002 อาวุธปล่อยนำวิถี Sea Cat และ MM38 Exocet หมดอายุการใช้งาน จึงได้มีการปรับปรุงเรือแบ่งออกเป็น 2 รุ่นย่อยประกอบไปด้วย

        1.รุ่นปราบเรือผิวน้ำจำนวน 3 ลำตามภาพประกอบที่ 7 หน้าสะพานเดินเรือติดตั้งติดแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon จำนวน 8 ท่อยิงทดแทน MM38 Exocet หลังคาโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ติดตั้งระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx ทดแทน Sea Cat เสากระโดงหลักติดเสาร์สัญญาณระบบสื่อสารและระบบ ESM จาก Thales เปลี่ยนมาใช้งานระบบเป้าลวง MASS จากเยอรมัน โดยมีเรือจำนวน 2 ลำติดตั้งแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ

2.รุ่นป้องกันภัยทางอากาศจำนวน 3 ลำตามภาพประกอบที่ 8 หน้าสะพานเดินเรือติดตั้งติดแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน LY-60 จำนวน 6 ท่อยิงทดแทน MM38 Exocet เรดาร์ควบคุมการยิงตัวหน้าเปลี่ยนเป็นรุ่น Type 345 หลังคาโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ติดตั้งปืนกลขนาด 30 มม.รุ่น DS30B จำนวน 2 กระบอกทดแทน Sea Cat เสากระโดงหลักติดเสาร์สัญญาณระบบสื่อสารและระบบ ESM จาก Thales เปลี่ยนมาใช้งานระบบเป้าลวง MASS จากเยอรมัน ไม่มีเรือแม้แต่ลำเดียวติดตั้งแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ

        ปัจจุบันเรือพิฆาตชั้น Tariq หรือเรือฟริเกตชั้น Type 21 ปลดประจำการครบทุกลำ

ก่อนจากกัน

        วันที่ 25 กันยายน 2023 รัฐบาลปากีสถานประกาศส่งมอบเรือฟริเกต PNS Tariq (D-181) ให้กับรัฐบาลอังกฤษ เพื่อนำไปจัดทำพิพิธภัณฑ์ลอยน้ำที่ Clyde Maritime Heritage Centre เมือง Glasgow ประเทศ Scotland การปรับปรุงสถานที่จะแล้วเสร็จภายในปี 2024 เรือฟริเกต HMS Ambuscade (F172) ได้หวนกลับคืนสู่แผ่นดินแม่อีกครั้ง เพราะตอนที่สร้างเรือลำนี้ก็สร้างใน เมือง Glasgow ประเทศ Scotland

อ้างอิงจาก

https://www.seaforces.org/marint/Royal-Navy/Frigate/Amazon-Type-21-class.htm

https://www.secretprojects.co.uk/threads/rn-type-21-weapons-fits.33772/

https://www.secretprojects.co.uk/threads/royal-navy-destroyers-and-frigates-post-1966.39460/page-3

https://en.wikipedia.org/wiki/Type_21_frigate

https://quwa.org/pakistan-navy-news/pakistan-sends-type-21-frigate-back-to-the-uk-2/

https://x.com/falklands_utd/status/734002075399421952

https://en.wikipedia.org/wiki/Tariq-class_destroyer

https://babriet.tripod.com/navy/stat/type21.htm