วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

Royal Thai Navy in 1963

 

โครงการปรับปรุงเรือปี 2506

         ในคำบรรยายเรื่อง ‘นโยบายกองทัพเรือ’ โดยพลเรือเอก สวัสดิ์ ภูติอนันต์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ณ โรงเรียนเสนาธิการทหาร วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ 2506 มีเรื่องหนึ่งน่าสนใจเหลือเกินจนผู้เขียนอยากนำมาเผยแพร่ต่อ เป็นบันทึกเรื่องความพยายามครั้งหนึ่งของราชนาวีไทย

กองทัพเรือสร้างเรือกวาดทุ่นระเบิด

         (เริ่มต้นคำบรรยาย) แม้ว่าในขณะนี้กองทัพเรือยังไม่ได้รับงบประมาณสำหรับบำรุงกำลังทางเรือ เนื่องจากรัฐบาลยังมีภาระในการพัฒนาเศรษฐกิจอยู่มากก็ตาม กองทัพเรือได้ตระหนักถึงภารกิจที่จะต้องปฏิบัติในสงครามอนาคต และมิได้นิ่งนอนใจคอยรับความช่วยเหลือจากมิตรประเทศแต่อย่างเดียว กองทัพเรือได้พยายามปรับปรุงกำลังทางเรือที่มีอยู่ โดยถืออันดับความสำคัญของเรือที่จะปรับปรุง ตามสภาพของภัยที่อาจคุกคามในสงครามอนาคต และตามสถานการณ์ปัจจุบันดังนี้คือ

-เรือกวาดทุ่นระเบิดเป็นอันดับหนึ่ง

-เรือปราบเรือดำน้ำเป็นอันดับสอง

-เรือสำหรับทำการรุกรานทางน้ำเป็นอันดับสาม

-เรือบริการและเรืออื่นๆ เป็นอันดับต่อไป ขณะนี้กำลังดำเนินการคือ

1.พิจารณาสร้างเรือกวาดทุ่นระเบิดแบบเรือหลวงท่าดินแดง ด้วยไม้ชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทย เช่น ไม้สัก ไม้ตะเคียน เป็นต้น และใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ของเก่าที่กองทัพเรือมีอยู่ ซึ่งขณะนี้ตัวเรือกำลังทรุดโทรมและเสื่อมสภาพไปตามอายุขัย หรือถ้าทำได้จะขอความช่วยเหลือในเรื่องเครื่องจักรและอุปกรณ์จากสหรัฐอเมริกา ขณะนี้กำลังเจรจาของแบบแปลนรายละเอียดจากสหรัฐอเมริกา และทาบทามขอเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ ด้วย

ในเรื่องไม้และการสร้างนั้น เจ้าหน้าที่ได้พิจารณาแล้วว่า จะสามารถสร้างเรือได้ด้วยเครื่องมือและช่างที่มีอยู่โดยใช้เวลาลำละประมาณ 1 ปี และต้องเสียค่าไม้ประมาณลำละ 8 แสนบาท (ราคาเรือแบบนี้ที่สร้างในต่างประเทศประมาณลำละ 45 ล้านบาท) จริงอยู่ สหรัฐอเมริกาได้มีโครงการให้เรือใหม่แบบเดียวกันกับเราแล้ว แต่จำนวนที่ให้มานั้นไม่พอที่จะปฏิบัติภารกิจในสงครามอนาคต ประกอบกับโครงการให้เรือประเภทนี้เป็นโครงการระยะยาว ไม่แน่ใจว่าจะถูกตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงเสียเมื่อใด

หากเราสามารถสร้างเรือแบบนี้ขึ้นใช้เองแล้ว แม้ว่าจะไม่ดีเท่ากับเรือที่ได้รับความช่วยเหลือหรือที่สร้างในต่างประเทศก็ตาม เราก็ยังสามารถใช้เรือที่สร้างเองนั้นในการฝึกหัดและปฏิบัติหน้าที่ในสงครามเย็นได้ กับทั้งยังเป็นการเพิ่มความชำนาญและความมั่นใจให้แก่ช่างต่อเรือของเราด้วย

การขอความช่วยเหลือโดยฝ่ายเราร่วมออกค่าใช้จ่ายด้วยเช่นในกรณีเรือกวาดทุ่นระเบิด เราออกค่าสร้างตัวเรือและขอเครื่องจักรกับอาวุธจากเขา เข้าใจว่าจะได้รับการสนับสนุนมากกว่าขอซื้อเรือทั้งลำ ในเรื่องการสร้างเรือกวาดทุ่นระเบิดนี้เมื่อได้รับแบบแปลนรายละเอียดมาแล้ว จะได้พิจารณาและวางแผนโดยละเอียดต่อไป และเข้าใจว่าคงเริ่มได้ในปีงบประมาณ 2507 เป็นอย่างช้า (สิ้นสุดคำบรรยาย)

คำบรรยายผู้บัญชาการทหารเรือค่อนข้างชัดเจน กองทัพเรือต้องการสร้างเรือกวาดทุ่นระเบิดแบบเรือหลวงท่าดินแดง ซึ่งเป็นเรือเก่าสมัยสงครามโลกครั้งที่สองได้รับมาจากสหรัฐอเมริกา กองทัพเรือจะสร้างตัวเรือด้วยไม้ในประเทศโดยใช้งบประมาณ 8 แสนบาท ส่วนแบบแปลนเรือ เครื่องจักร อาวุธ และอุปกรณ์ต่างๆ จะขอความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา

เป็นแนวคิดที่ไม่ได้แปลกแหวกแนวอะไรเลย  ช่วงนั้นสหรัฐอเมริกาสนับสนุนให้ชาติพันธมิตรสร้างเรือเองจากแบบเรือยุคเก่า ยกตัวอย่างเช่นอู่ต่อเรือ Bazan สร้างเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำขนาด 83 ฟุตให้กองทัพเรือสเปนจำนวนหนึ่ง โดยใช้แบบเรือเรือตรวจการณ์ขนาด 83 ฟุตของหน่วยยามฝั่งสหรัฐอเมริกาจากยุคสงครามโลกครั้งที่สอง เพียงแต่ไม่ทราบว่าพวกเขาขอความช่วยเหลือเรื่องเครื่องจักร อาวุธ และอุปกรณ์ต่างๆ เหมือนเราหรือไม่

หมายเหตุ : เหตุผลที่เรือกวาดทุ่นระเบิดสร้างด้วยไม้เพราะไม้ไม่กระตุ้นให้ทุ่นระเบิดทำงาน แต่เอาเข้าจริงเรือกวาดทุ่นระเบิดหลายลำก็จมเพราะทุ่นระเบิดอยู่ดี ฉะนั้นจึงถือเป็นเรืออันตรายและทำภารกิจอันตรายมาก กองทัพเรือในปี 2506 ถึงให้ความสำคัญอยู่ในลำดับต้นๆ

ภาพประกอบที่หนึ่งคือเรือหลวงลาดหญ้าลำที่หนึ่ง เรือกวาดทุ่นระเบิดที่ราชนาวีไทยต้องการสร้างด้วยตัวเองหน้าตาแบบนี้เลย เป็นเรือสนับสนุนการกวาดทุ่นระเบิด YMS-1 ของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาสร้างในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่างปี 2490 กองทัพเรือไทยได้รับโอนมาใช้งานจำนวน 3 ลำ เรือมีระวางขับน้ำ 270 ตัน ยาว 41 เมตร กว้าง 7.47 เมตร กินน้ำลึก 2.4 เมตร เป็นเรือยุคเก่าช่างกองทัพเรือไทยสร้างตัวได้อย่างสบาย

บังเอิญโครงการสร้างเรือกวาดทุ่นระเบิดในประเทศไม่เกิดขึ้นจริง กองทัพเรืออาจสร้างเรือไม่เสร็จหรือไม่ได้สร้างเลยไม่แน่ใจ เหตุผลที่มีความเป็นไปได้ผู้เขียนตั้งสมมุติฐานไว้ 3 ข้อได้ตามนี้

1.รัฐบาลให้งบประมาณน้อยเกินไปจนไม่หลงเหลือนำมาสร้างเรือ มีความเป็นไปได้เหมือนกันแต่ค่อนข้างน้อยนิด เพราะราคาสร้างตัวเรือเพียง 8 แสนบาทน่าจะพอจัดสรรได้ไม่ยาก

2.สหรัฐอเมริกาไม่สนับสนุน มีความเป็นไปได้สูงกว่าสมมุติฐานข้อที่หนึ่ง

3.กองทัพเรือเปลี่ยนนโยบาย มีความเป็นได้สูงกว่าสมมุติฐานสองข้อแรก

ข้อเท็จจริงที่ตามมาซึ่งอาจเกิดจากสหรัฐอเมริกาสนับสนุนด้วยวิธีการอื่น หรือกองทัพเรือเปลี่ยนนโยบายในภายหลังก็คือ ราชนาวีไทยได้รับมอบเรือกวาดทุ่นระเบิดใหม่เอี่ยมจากสหรัฐอเมริกาจำนวน 4 ลำ

ภาพประกอบที่สองคือเรือหลวงบางแก้วลำที่สอง เป็นเรือกวาดทุ่นระเบิดชั้น MSC-294 ซึ่งสหรัฐอเมริกาสร้างขึ้นมาเพื่อแจกจ่ายชาติพันธมิตร เรือมีระวางขับน้ำ 384 ตัน ยาว 43.5 เมตร กว้าง 8.1 เมตร กินน้ำลึก 2.7 เมตร ติดตั้งอุปกรณ์กวาดทุ่นระเบิดรุ่นใหม่ทันสมัย ทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำในปี 2507 และเข้าประจำการราชนาวีไทยปี 2508

สหรัฐอเมริกามอบเรือกวาดทุ่นระเบิดชั้น MSC-294 ใหม่เอี่ยมให้กับกองทัพเรือไทยจำนวน 4 ลำ บวกเรือหลวงโพสามต้นซึ่งเป็นเรือกวาดทุ่นระเบิดและเรือฝึก เรือหลวงรางเกวียนเรือพี่เลี้ยงเรือกวาดทุ่นระเบิด และเรือกวาดทุ่นระเบิดเขตน้ำตื้นขนาดเล็กจำนวนหนึ่ง ถือว่ามากเพียงพอสำหรับการปฏิบัติภารกิจของกองเรือทุ่นระเบิด จำนวนเรือมากกว่ากองเรือทุ่นระเบิดในปัจจุบันด้วยซ้ำ

โครงการสร้างเรือกวาดทุ่นระเบิดในประเทศจึงไม่เกิดขึ้นจริง

เรือตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ

(เริ่มต้นคำบรรยาย) 2.พิจารณาซ่อมและดัดแปลงเรือตอร์ปิโดใหญ่ 7 ลำให้ทันสมัยขึ้น มีความสามารถในการลาดตระเวนระยะไกล การต่อสู้กับเรือผิวน้ำด้วยปืนใหญ่และตอร์ปิโด และการทิ้งทุ่นระเบิดทางยุทธวิธี หากการทรงตัวของเรือเหมาะสมก็จะติดตั้งอุปกรณ์ค้นหาเรือดำน้ำ และอาวุธปราบเรือดำน้ำเพิ่มขึ้น การดัดแปลงและซ่อมทำเรือเหล่านี้ใช้เงินค่าสร้างเรือลาดตระเวนที่รัฐบาลอิตาลีชดเชยให้ประมาณ 36 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขว่าต้องซื้อสิ่งของจากประเทศอิตาลี

เหตุที่กองทัพเรือยืนยันที่จะซ่อมและดัดแปลงเรือเหล่านี้ก็ด้วยเหตุผลหลายประการ ประการแรกเห็นว่าตัวเรือและเครื่องจักรยังอยู่ในสภาพที่พอจะซ่อมได้ ในเรื่องนี้เจ้าหน้าที่จัสแมกให้ความเห็นว่าการซ่อมเรือให้ทันสมัยนั้น ถ้าต้องใช้เงินไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ของราคาเรือแบบเดียวกันที่สร้างใหม่แล้วก็นับว่าคุ้มค่า เรือแบบเรือตอร์ปิโดใหญ่นี้เจ้าหน้าที่จัสแมกประเมินราคาสร้างใหม่ลำละ 100 ล้านบาท เมื่อเราประมาณค่าซ่อมและดัดแปลงรวมทั้งค่าซื้อกระสุนด้วยเพิ่มเติมทั้ง 7 ลำเป็นเงินประมาณ 44 ล้านบาท จึงนับว่าสมควรแล้วที่เจ้าหน้าที่จัสแมกก็เห็นชอบด้วย และรับพิจารณาเปลี่ยนปืนใหญ่ประจำเรือให้เป็นแบบอเมริกันในโอกาสต่อไป

เหตุผลประการที่สองเพื่อใช้เงินที่ได้รับคืนในการจัดหาชิ้นส่วนอะไหล่ต่างๆ ที่จำเป็น เพราะเรือเหล่านี้สร้างที่อู่ต่อเรือในอิตาลี นอกจากนั้นภารกิจในการลาดตระเวนชายแดน และเตรียมส่งกำลังรบไประงับความไม่สงบบริเวณชายแดนกัมพูชา ซึ่งกองทัพเรือต้องปฏิบัติเรื่อยมาตั้งแต่เกิดกรณีพิพาทกับกัมพูชานั้น แสดงให้เห็นว่ายังมีความจำเป็นต้องใช้เรือเหล่านี้อยู่ในระยะเวลา 5-10 ปีข้างหน้า ยังไม่แน่ใจว่ากองทัพเรือจะได้เรืออื่นๆ มาทดแทนเรือตอร์ปิโดใหญ่ ดังนั้นการซ่อมและดัดแปลงเรือเหล่านี้จึงนับว่าสมควร

ในขณะนี้กำลังดำเนินการขอ Specification ของอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะสั่งซื้อจากอิตาลี เพื่อตรวจสอบกับความต้องการของเราเพื่อสั่งซื้อเอามาใช้งานในการซ่อมต่อไป สำหรับเรือหลวงชุมพรซึ่งเข้าอู่ทำการซ่อมใหญ่นั้น ก็ได้เริ่มดัดแปลงสะพานเดินเรือและเสาด้วยวัสดุคงคลังที่มีอยู่เพื่อเป็นการทดลองว่า จะเป็นไปตามโครงการได้เพียงใด และจะได้เป็นแนวทางในการดัดแปลงเรือลำอื่นด้วย

3.พิจารณาจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์บางอย่าง ให้แก่เรือที่ไม่อยู่ในข่ายได้รับความช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกา และกองทัพเรือยังมีความจำเป็นต้องใช้เรือเหล่านั้น เช่นเรือหลวงแม่กลองเป็นต้น เพื่อเพิ่มพูนความสามารถให้แก่เรือเหล่านั้นตามสมควร (สิ้นสุดคำบรรยาย)

ข้อมูลจากคำบรรยายผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้เขียนสรุปใจความทั้งหมดได้ตามนี้

1.กองทัพเรือได้รับเงินเงินชดเชยค่าสร้างเรือลาดตระเวนจากรัฐบาลอิตาลีประมาณ 36 ล้านบาท กว่าจะได้รับเงินจริงก็เลยเวลาส่งมอบเรือไปแล้ว 20 ปี เป็นหนี้ก้อนโตที่ติดอยู่ในอกลูกประดู่ไทยมาอย่างยาวนาน และมาในช่วงเวลาเหมาะสมหลังกองทัพเรือถูกพิษการเมืองเล่นงานอย่างรุนแรง

2.ค่าซ่อมและปรับปรุงเรือตอร์ปิโดใหญ่จำนวน 7 ลำอยู่ที่ 44 ล้านบาท รวมกระสุนปืนใหญ่แต่ไม่รวมปืนใหญ่จากสหรัฐอเมริกา จึงเป็นไปได้ว่าใช้เงินจริงไม่ถึง 44 ล้านเพราะไม่ได้ซื้อกระสุนปืนใหญ่

3.การปรับปรุงเรือตอร์ปิโดใหญ่เกิดขึ้นจริงเพียง 4 ลำ การซ่อมและเปลี่ยนปืนใหญ่เกิดขึ้นทั้ง 7 ลำ ส่วนการดัดแปลงสะพานเดินเรือและเสากระโดงมีเพียงเรือหลวงชุมพร เรือหลวงตราด และเรือหลวงภูเก็ตจำนวน 3 ลำ โดยมีเรืออีกหนึ่งลำเปลี่ยนมาใช้เสากระโดงตั้งตรงด้านบนติดเรดาร์เดินเรือจากยุคสงครามโลกครั้งที่สอง

4.การปรับปรุงให้เรือตอร์ปิโดใหญ่วางทุ่นระเบิดทางยุทธวิธี หรือการติดตั้งโซนาร์ตรวจจับเรือดำน้ำกับอาวุธปราบเรือดำน้ำตามคำบรรยาย ไม่เคยเกิดขึ้นจริงรวมทั้งบนเรือหลวงชุมพร

5.หนึ่งในเหตุผลที่กองทัพเรือต้องการปรับปรุงเรือตอร์ปิโดใหญ่ เพราะมีเรือตรวจการณ์ไม่เพียงพอต่อภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ จำเป็นต้องมีเรือติดปืนใหญ่ไว้ยิงสนับสนุนกองกำลังภาคพื้นดิน รวมทั้งช่วยเหลือในภารกิจปราบเรือดำน้ำ แต่เอาเข้าจริงการปรับปรุงเรือกลับไปไม่สุดตามความตั้งใจด้วยเหตุผลต่างๆ นานา

ภาพประกอบที่สามเรือหลวงปัตตานีและเรือหลวงจันทบุรีจอดอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา มีเรือหลวงนาคากับเรือหลวงแรดจอดเรียงกันบริเวณกราบซ้าย ช่างภาพชาวอเมริกันถ่ายภาพนี้ในปี 2513 เป็นหลักฐานชัดเจนการปรับปรุงเรือหลวงปัตตานีและเรือหลวงจันทบุรีไม่ได้สร้างเสากระโดงใหม่ ไม่มีการติดตั้งเรดาร์เดินเรือรุ่นใหม่ ไม่มีการต่อเติมห้องวิทยุ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงเพียงอย่างเดียวคือปืนใหญ่ทั้งหมดบนเรือ ส่วนเรือหลวงนาคาที่จอดติดกันมีทั้งเรดาร์เดินเรือและระบบสื่อสารรุ่นใหม่

ภาพประกอบที่สี่ภาพเล็กมุมบนซ้ายคือเรือตอร์ปิโดใหญ่หลังการปรับปรุงใหญ่ หัวเรือ-ท้ายเรือติดปืนใหญ่ Mk 22 ขนาด 76/50 มม. ป้อมปืนกลางเรือติดปืนกลโบฟอร์สขนาด 40L60 มม. ส่วนป้อมปืนขนาดเล็กอีก 2 ป้อมปืนติดปืนกลเออริคอนขนาด 20 มม.มีความแตกต่างจากเรือหลวงชุมพรพอสมควรโดยเฉพาะเสากระโดง

ภาพประกอบที่สี่ภาพใหญ่เรือหลวงชุมพรในปี 2563 หลังปลดประจำการในปี 2523 เรือถูกส่งมาจอดหน้าพระตำหนักหาดทรายรีจังหวัดชุมพร สังเกตนะครับเสากระโดงถูกปรับปรุงใหม่เป็นรุ่น 3 เสา ติดตั้งเรดาร์เดินเรือรุ่นใหม่จำนวน 1 ตัว มีการต่อเติมห้องวิทยุด้านหลังสะพานเดินเรือ ส่วนเสากระโดงรองติดป้อมปืนกลท้ายเรือหายไป หัวเรือ-ท้ายเรือติดปืนใหญ่โบฟอร์สขนาด 75/51 มม.ปลดประจำการแล้ว ป้อมปืนกลางเรืออีก 2 จุดติดปืนกลแมดเสนขนาด 20 มม.ปลดประจำการแล้วเช่นกัน ส่วนปืนใหญ่ Mk 22 ขนาด 76/50 มม.ปืนกลโบฟอร์สขนาด 40L60 มม.และปืนกลเออริคอนขนาด 20 มม.ถูกถอดนำไปใช้งานบนเรือลำอื่น

ภาพประกอบที่ห้าเป็นท้ายเรือเรือหลวงชุมพรปี 2563 จะเห็นนะครับว่าแท่นยิงตอร์ปิโดกลางเรือลดจาก 2 แท่นยิงเหลือเพียง 1 แท่นยิง ป้อมปืนใกล้ปืนใหญ่กระบอกหลังหายไป ป้อมปืนระหว่างแท่นยิงตอร์ปิโดสร้างขึ้นมาใหม่ขนาดใหญ่กว่าเดิม ถ้าถอดปืนใหญ่ท้ายเรือออกจะมีพื้นที่ว่างพอสมควร สามารถติดตั้งแท่นยิงระเบิดลึกกับรางปล่อยระเบิดลึกเหมือนเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้นเรือหลวงสารสินธุ

บังเอิญการติดตั้งอาวุธปราบเรือดำน้ำมีปัญหากวนใจ เนื่องจากท้ายเรือเป็นรูปทรงรีค่อนข้างแคบเหมือนเรือรุ่นเก่าอาทิเช่นเรือหลวงพระร่วง (เรือรุ่นใหม่จะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมค่อนข้างกว้าง) การติดตั้งรางปล่อยระเบิดลึกทำได้เพียง 1 รางถือว่าน้อยเกินไป การติดตั้งรางปล่อยทุ่นระเบิดก็ทำได้เพียง 1 รางถือว่าน้อยเกินไปเช่นกัน นอกเสียจากจะสร้างระเบียงสำหรับติดตั้งรางปล่อยทุ่นระเบิดหรือระเบิดลึกสองกราบเรือ เหมือนเรือหลวงแม่กลองซึ่งมีบั้นท้ายทรงรีคล้ายกันและมีอายุใกล้เคียงกัน

อาจเป็นเพราะเหตุผลนี้เรือตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำจึงไม่เกิดขึ้นจริง

อ้างอิงจาก

อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือเอกสวัสดิ์ ภูติอนันต์

https://www.bloggang.com/m/viewdiary.php?id=aumteerama&month=10-2020&date=14&group=12&gblog=244

https://www.shipscribe.com/thai/images/above.html

https://www.history.navy.mil/


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น