บนลานจอดแสดงอาวุธกลางแจ้งข้างพิพิธภัณฑ์นาวิกโยธิน
เปรียบได้กับโกดังคลังเก็บอาวุธขนาดย่อมๆ
ที่นี่เต็มไปด้วยเขี้ยวเล็บลูกนาวีแห่งกองทัพเรือไทย ตั้งแต่สมัยสงครามอินโดจีน
สงครามมหาเอเชียบูรพา สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม เลยมาถึงสงครามเย็น
เมื่อปลดประจำการจึงนำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์นาวิกโยธิน
หนึ่งในนั้นคือปืนใหญ่ต่อสู้รถถังขนาด
๓๗ มม. เป็นปืนประเภทลากจูง ขนาดความกว้างปากลำกล้อง ๓๗ มม.ชนิดลำกล้องสั้นผลิตในญี่ปุ่น แบ่งเป็น ๒ รุ่นคือรุ่นลำกล้องยาวกับรุ่นลำกล้องสั้น
กองทัพเรือจัดหามาใช้งานปี 2485 ระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา
บรรจุอยู่ในกองต่อสูรถถังจำนวน ๑ กองร้อย
ทหารเรือเรียกปืนใหญ่ต่อสู้รถถังขนาด
๓๗ มม.ว่า ‘ปืนสู้รถถังขนาด ๓๗’ ปืนรุ่นนี้มีบทบาทในเหตุการณ์กบฏวันที่
๒๙ มิถุนายน ๒๔๙๔ หรือที่เรียกสั้นๆว่า ‘กบฏแมนฮัตตัน’ บังเอิญเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดจากทางการ (รัฐบาล
ทหารบก และตำรวจ) ฝ่ายทหารเรือไม่มีใครบันทึกข้อมูลทุกคนที่เกี่ยวข้องถ้าไม่ถูกจับกุมก็หนีออกนอกประเทศ
เรื่องราวที่ผู้เขียนตั้งใจถ่ายทอดต่อขอให้ถือเป็นเรื่องราวในสภากาแฟ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคัดลอกจาก
‘หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่’ เป็นนิทานชาวไร่ ตอนที่ ๖๖ เขียนโดย น.อ.สวัสดิ์ จันทนี คัดลอกมาเฉพาะการดวลกันระหว่างปืนสู้รถถังกับรถถัง
ผู้เขียนคัดลอกตรงทุกตัวอักษรและการเว้นวรรคของ
น.อ.สวัสดิ์ จันทนี
ฝันร้ายของรถถังตำรวจไทย
ขอย้อนกล่าวถึงวีรกรรมของจ่าเรือสารสินธุบ้าง
เคราะห์ร้ายที่ข้าพเจ้าสืบหานามไม่ได้
จ่าเรือนี้และดูเหมือนจะมีจ่าเรืออื่นสมทบด้วย เมื่อกลับไปเรือที่บางนาไม่ได้
ก็มั่วสุมอยู่ในกองสัญญาณหมด ที่แท้มันก็อยากจะรบอยู่แล้วนั่นเอง
เลยแกล้งบอกปัดมาว่ารถรางก็ไม่ได้เพราะไม่มีไฟ
ไปทางถนนสุขุมวิทก็ไม่ได้เพราะไม่มีรถประจำทาง
เป็นอันว่าตกคลักอยู่ที่กองสัญญาณมากมาย
ปืนสู้รถถังขนาด
๓๗ ที่กองสัญญาณมีอยู่สามกระบอก ต่างฉวยไปคนละกระบอก จ่าพวกนี้ฉวยมาได้ ๑ กระบอกในเช้าวันที่
๓๐ มิ.ย. เวลา ๐๘๐๐
ก็มาตั้งอยู่ข้างพระหัตถ์ขวาพระบรมรูปรัชกาลที่ ๖ ทางถนนที่จะไปสี่แยกราชประสงค์
บังเหลี่ยมตึกโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ไว้ มิให้คนเดินถนนพระราม ๔ มองเห็นปืน
เขาตั้งไว้จังก้ากลางถนนบรรุลูกพร้อม แต่ตัวไปนั่งซุ่มกินเหล้ากันอยู่ข้างต้นไม้
ตำรวจ ฯ
คงมีแผนการบุกจากสามย่านไปทางศาลาแดง ดังนั้นรถถังตำรวจ ฯ
จึงเลื้อยมาที่ละคันจากสามย่าน
เหมือนกับนัดกันไว้กับนางพยาบาล
พอนางพยาบาลเห็นรถถังตำรวจ ฯ ผ่านหน้าโรงพยาบาลก็ตะโกนบอกพวกจ่าว่าเขามาแล้ว
จ่านั่นก็รอจังหวะให้เป้าโผล่เสียก่อน
เมื่อเห็นต้วมเตี้ยมมาใกล้จะถึงเส้นเล็งเขาก็เดินจากที่ซ่อนมากระตุกไกแซะเข้าให้
กระสุนปืนหวือมากระทบแตกที่รถถังตำรวจ ฯ คันแรก ตำรวจ ฯ
ให้รถเมล์เหลืองมาลากเอากลับไป จ่าแกก็บรรจุกระสุนนัดที่ ๒ ใหม่
แล้วก็กลับไปนั่งกินเหล้ากันต่อไป
เหมือนกับเล่นภาพยนตร์
รถถังตำรวจ ฯ คันที่ ๒ ต้วมเตี้ยมมาอีก “หญิงคอยเหตุ” ก็บอกให้พวกจ่าเรารู้ตัวไว้แต่เนิ่นๆ อีกเช่นเลย
จ่าก็กะพอจะเข้าเส้นเล็งก็เดินมากระตุกไกอีกแซะหนึ่งแล้วบรรจุนัดที่ ๓ ต่อไป ตำรวจ
ฯ ก็ให้รถเมล์เหลืองมาลากรถถังคันที่ ๒ กลับไปอีก จ่าก็กลับไปนั่งกินเหล้าต่อไป
คันที่ ๓ ก็โดนอีแบบนี้อีก
โดนทีหนึ่งก็ให้รถเมล์เหลืองลากไปเสียทีหนึ่ง
แล้วก็ส่งเหยื่อมาให้ทหารเรือสังหารใหม่ เราจ้องแต่รถถังปรปักษ์เท่านั้น
คนไม่เกี่ยว
คันที่ ๔ ก็อ้ายทำนองเดียวกัน
ต้องให้รถเมล์เหลืองมาลากไปอีก
คันที่ ๕
ไม่เข็ด คงนึกว่าทหารเรือหมดกระสุน แล่นต้วมเตี้ยมมาอีก
โดนโผงเข้าอีกต้องเป็นภาระของรถเมล์เหลืองอีก
คันที่ ๖-๗-๘-๙-๑๐-๑๑ ถูกยิงทำนองเดียวกันหมด และก็ถูกรถเมล์เหลืองลากไปคืนรังตามเคย
แสนยานุภาพของตำรวจ
ฯ ทางด้านนี้ คงหมดแค่นี้เอง ไม่มีโผล่มาอีกเลย
คุณเผ่าคงเต้นวังปารุสกวันกระเทือนแน่
จ่าสามคนพิฆาตรถถังได้
๑๑ คัน ถ้าบังเอิญเป็นฝ่ายรัฐบาลคงได้ติดเหรียญกันเต็มหน้าอกแน่
แต่นี่เป็นพวกกบฏเลยอด! วีรกรรมอันนี้ไม่น่าจะให้สูญไปเฉยๆ
ใครรู้จักนามจ่าพวกนี้ขอให้บอกบรรณาธิการนาวิกศาสตร์ด้วยเจ้าข้า
จะได้เอาไว้จำกันเล่น
นอกจานั้นข้าพเจ้าขอวันทยาหัตถ์พวกนางพยาบาลของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พ.ศ. ๒๔๙๔ ไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า
มีใจช่วยพวกทหารเรือจริงๆ โดยมิหวังค่าตอบแทนใดๆ รายชื่อค้นได้ง่าย
ไปหาจากโรงพยาบาลเป็นเจอะแน่
ข้าพเจ้าถามว่าทำไมมันมากคันนักล่ะ
จะฝอยละกระมัง เขายืนยันว่าได้รับฟังมาเช่นนั้นจริงๆ
ดังนั้นใครเห็นว่าที่กล่าวไว้นี้ผิด ขอได้โปรดส่งข่าวมาแก้ไขได้
ทีนี้มาพิจารณากันว่าปืนต่อสู้รถถังกระบอกนี้ตั้งอยู่ตรงจุดไหน
และสถานที่ที่จ่าแกกินเหล้าแกนั่งตรงไหน
ข้าพเจ้าคิดว่าปืนกระบอกนี้คงตั้งอยู่ในรางรถรางสายประตูน้ำเฉลิมโลกนั่นเอง
ปากกระบอกเล็งไปทางถนนสีลมตามแนวรถราง
ตัวจ่าคงนั่งบังต้นไม้อยู่มิให้คนทางถนนพระราม ๔ มองเห็น และก็ต้องแอบมิให้ตำรวจ ฯ
ที่อยู่บ้านเก่าของคุณยมราชเห็นด้วย (เวลานี้ตำรวจ ฯ
จะมายึดชัยภูมิบนตึกของคุณยมราชหรือยังก็ไม่รู้เพราะยังเช้าอยู่
แต่เวลาภายหลังนั้นปรากฎว่าตำรวจ ฯ ได้ยิง ร.ต.
พิทักษ์ เจริญศิริ เสียอานคารถฮาล์ฟแทรคดังได้กล่าวมาแล้ว)
คำกล่าวเรื่องที่ตั้งของปืนกระบอกนี้ของข้าพเจ้าจะผิดหรือถูกไม่รู้
เขียนเดาไปตามเหตุการณ์ เพราะปรากฎว่าจ่าพวกนี้ไม่โดนตำรวจ ฯ ยิงเลย
พอเห็นรถถังตำรวจ ฯ แล่นข้ามรถรางก็ลุกเดินมากระตุกไกเอาดื้อๆ
เป็นไม่มีผิดสักนัดเดียว ส่วนรถถังตำรวจ ฯ ก็ไม่เฉลียวใจว่าโดนยิงทางข้าง
นึกว่าคงยิงมาจากลุมพินีหรือทางกองสัญญาณ พอโดนยิงเข้าไปโป้งหนึ่งรถก็ต้องหยุด
ตีนตะขาบคงขัดข้อง บางทีรถจะหันเสียด้วยกระมังเลยเกิดงงไม่ได้พิจารณาให้ดีว่าถูกเข้าอย่างไร เลยแล่นกันมาเป็นหางให้จ่าแกซ้อมมือเสียสนุกไป
แต่ถ้ารถถังตำรวจ ฯ ขืนแล่นตรงไปได้ก็มีหวังเจอคุณพิทักษ์ เจริญศิริ
บนรถฮาล์ฟแทรคแน่
คุณพิทักษ์
เจริญศิริ เมื่อเห็นรถถังตำรวจ ฯ และเสียงปืนทางศาลาแดงเงียบ
จึงเอาฮาล์ฟแทรคแล่นมาที่ศาลาแดงในเวลาต่อมา
แล้วตั้งยันอยู่ที่นั่นเพราะกลัวจะมีกำลังข้าศึกบุกเข้ามาทางสีลมอีก จึงโดนตำรวจ ฯ
บนสโมสรแพทย์ (คือบ้านเจ้าคุณยมราช) ยิงเอาถึง ๕ แผล เลยกลายเป็นวีรบุรุษของฝ่ายแพ้ไป
ตำรวจ ฯ
คนไหนไม่ทราบทางวางแผนให้รถถังแล่นเรียงหนึ่งตามกันมาจากสามย่านแต่เพียงด้านเดียว
แสดงว่าเขาอ่านหนังสือน้อยเล่มไปหน่อย แต่กระนั้นก็ตามเขาก็เป็นฝ่ายชนะในที่สุด
อ้ายฝ่ายเรากลับต้องเป็นฝ่ายวิ่งหนีหางจุกตูดไป คนอ่านหนังสือน้อยเล่มกลับเก่งไปได้แฮะ!
คุยกันท้ายบทความ
นิทานชาวไร่
ตอนที่ ๖๖ มีองค์กอบนิทานหรือนิยายอย่างครบถ้วน
พระเอกคือจ่าทหารเรือสามคนกับปืนสู้รถถังขนาด ๓๗
คนร้ายระดับกีกี้คือรถถังตำรวจจำนวน ๑๑ คัน
(วิ่งมาตายสถานเดียวไม่กีกี้ให้เรียกอะไร) บุคคลผู้วางแผนการบุกสีลมรับตำแหน่งลาสบอส
เขามีตำรวจบนบ้านเจ้าคุณยมราชเป็นลูกน้องมือขวา
นางเอกคือนางพยาบาลไม่ระบุนามเธอมีน้ำเสียงทรงพลัง และเพื่อนพระเอกผู้ดวงซวยคือ ร.ต. พิทักษ์ เจริญศิริ กับรถฮาล์ฟแทรค
สถานที่ยิงกันตามที่
น.อ.สวัสดิ์ จันทนี กล่าวถึงแอดรู้จักเป็นอย่างดี
เพราะตัวเองเคยทำงานแถวสีลมตั้งหลายปี คิดว่าสามารถค้นหาเส้นทางรถรางสายประตูน้ำเฉลิมโลกได้
ปัจจุบันไม่ได้อยู่กรุงเทพไปสำรวจสถานที่จริงไม่ได้ ตอนที่ชอบมาเดินเล่นศาลาแดงก็ดันไม่เคยอ่านนิทานชาวไร่
คิดถึงเรื่องนี้ทีไรรู้สึกเสียดายเสียเหลือเกิน
อ้างอิงข้อมูลจาก
หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ
พลเรือเอกสงัด ชลออยู่
ภาพประกอบจาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น