ทศวรรษที่
70
กองทัพเรืออิตาลีมีโครงการสร้างเรือฟริเกตรุ่นใหม่ทันสมัยจำนวน 2
โครงการ ประกอบไปด้วยเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำชั้น Maestrale กับเรือฟริเกตปราบเรือผิวน้ำชั้น Lupo โดยลำหลังจะรับตำแหน่งเรือฟริเกตรุ่นส่งออกอีกหนึ่งภารกิจ
อิตาลีพัฒนาเรือฟริเกตปราบเรือผิวน้ำชั้น
Lupo ขึ้นมาก่อน พร้อมส่งสารเทียบเชิญไปยังหลายชาติที่ให้ความสนใจ ชาติแรกที่ตอบตกลงเข้าร่วมโครงการคือเปรูจำนวน
4 ลำ ถัดมาจึงเป็นเวเนซุเอลาจำนวน 6 ลำ
กองทัพเรืออิตาลีใช้งานเองจำนวน 4 ลำ ต่อมาในภายหลังอิรักสนใจจัดหาเพิ่มเติมอีก
4 ลำ ยอดรวมทั้งโครงการเท่ากับ 18 ลำประสบความสำเร็จเกินเป้าหมาย
โครงการเริ่มเดินหน้าสร้างเรือในปี
1974
แบ่งเป็นเรืออิตาลีจำนวน 4 ลำ เรือเปรูจำนวน 2
ลำ และเรือเวลาซูเอล่าจำนวน 6 ลำต่อกันไปเลย เรือลำแรกของอิตาลี
F 564 Lupo เข้าประจำการวันที่ 12
กันยายน 1977 เรือลำแรกของเปรู BRP Carvajal FM-51 เข้าประจำการวันที่ 5
กุมภาพันธ์ 1979 ส่วนเรือลำแรกของเวเนซุเอลา
F-21 Mariscal Sucre เข้าประจำการวันที่
10 พฤษภาคม 1980 ความเร็วในการสร้างเรือจัดว่าไม่ธรรมดา
เรือฟริเกตชั้น
Lupo
ของเปรูเฟสแรกจำนวน 2 ลำเข้าประจำการพร้อมกันในปี
1979 เรือเฟสสองอีก 2 ลำเข้าประจำการปี
1984 กับปี 1987 มีการย้ายอู่ต่อเรือหลีกทางให้โครงการเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำชั้น
Maestrale ที่อิตาลีสั่งซื้อ 8 ลำ
กับโครงการเรือฟริเกตชั้น Lupo ของอิรักจำนวน 4 ลำอันมีมูลค่ามากกว่า
เรือฟริเกตชั้น Lupo
สำหรับเปรู
ภาพประกอบที่หนึ่งคือเรือฟริเกตชั้น
Lupo
ของเปรูเฟสสอง ลำไกลคือ BRP Montero FM-53 ส่วนลำใกล้คือ BRP
Mariátegui FM-54 เรือมีระวางขับน้ำปรกติ 2,206 ตัน ระวางขับน้ำเต็มที่ 2,525 ตัน ยาว 113.2 เมตร กว้าง 11.3 เมตร กินน้ำลึก 3.7 เมตร ใช้ระบบขับเคลื่อน CODOG ความเร็วสูงสุด 35
นอตโดยใช้เครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์ หรือ 21 นอตโดยใช้เครื่องยนต์ดีเซล
ระยะปฏิบัติการไกลสุด 4,350 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 16 นอต
แม้เป็นเรือรุ่นส่งออกทว่าตั้งแต่หัวเรือจนถึงปล่องระบายความร้อนเหมือนเรือต้นแบบ
ระบบเรดาร์มีความแตกต่างจากเรือต้นแบบเพียงเล็กน้อย หัวเรือติดตั้งปืนใหญ่ OTO
Melara 127/54 มม.จำนวน 1 กระบอก ใต้สะพานเดินเรือติดตั้งแท่นยิงเป้าลวงอาวุธปล่อยนำวิถี SCLAR ปรับเปลี่ยนทิศทางได้จำนวน 2 แท่นยิง
(ทั้งทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง) ถัดไปบริเวณสองกราบเรือคือแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ
Otomat Mk 2 จำนวน 8 นัด ใต้จุดปล่อยเรือเล็กคือแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ
Mk.46 จำนวน 6 นัด
ความแตกต่างที่ชัดเจนเริ่มต้นตั้งแต่ปล่องระบายความร้อนเป็นต้นไป
อิตาลีใช้งานเฮลิคอปเตอร์ AB-212ASW แต่เปรูใช้งานเฮลิคอปเตอร์ ASH-3D Sea King ส่งผลให้เรือฟริเกตเปรูต้องถอดโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์แบบพับได้ออกไป
เพื่อขยายลานจอดให้มากเพียงพอสำหรับเฮลิคอปเตอร์ขนาด 10 ตัน
เริอฟริเกตปี
1984
ขนาด 2,500 ตัน Sea King
ลงจอดได้ เทียบกับเรือฟริเกตชั้น Type 054A/P ปี 2022 ขนาด 4,000 ตันของปากีสถาน Sea King ลงจอดไม่ได้ ผู้เขียนอยากหัวเราะเป็นภาษาเปรูหรืออะไรก็ได้
มาชมของแปลกในภาพประกอบที่สองกันต่อ
ภาพถ่ายใบนี้คือเรือฟริเกตชั้น Lupo ของเปรูลำที่สองชื่อ
BRP Villavicencio FM-52 แต่ใช้ดีไซน์การออกแบบเรือฟริเกตชั้น
Lupo ของเวเนซุเอลา ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ท้ายเรือถูกเฉือนออกไปทำเป็นจุดผูกเชือกเรือ
เฮลิคอปเตอร์ ASH-3D Sea King
ลงจอดได้เช่นกันโดยที่หางเครื่องอาจล้นลานจอด มีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็กยัด AB-212ASW เข้าไปได้เพียงครึ่งลำเท่านั้น
เวเนซุเอลาใช้เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ
AB-212ASW
และไม่ต้องการโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์แบบพับเก็บได้ เรือฟริเกตจึงถูกปรับปรุงบั้นท้ายให้กลายเป็นเช่นนี้
แต่เปรูใช้เฮลิคอปเตอร์ลำเลียง ASH-3D Sea King ขนาดใหญ่กว่ากันพอสมควร ทำไมเรือฟริเกตลำที่สองถึงเลือกดีไซน์เวเนซุเอลาผู้เขียนเองก็ไม่เข้าใจ
ภาพประกอบที่สองเห็นความแตกต่างจากเรือต้นแบบชัดเจน
จุดติดตั้งปืนกล OTO Breda 40L70 มม.ลำกล้องแฝดถูกยกสูงระดับเดียวกับ Otomat Mk 2
จุดติดตั้งเรดาร์ควบคุมการยิงเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย
เรดาร์ควบคุมการยิงเปลี่ยนมาใช้งานรุ่น RTN-10X Orion
เหมือนหัวเรือ
แต่ปรับปรุงให้สามารถนำวิถีอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Aspide ได้ รวมทั้งใช้งานแท่นยิง Albatross ขนาด 8 ท่อยิงที่อิตาลีพัฒนาเอง
สังเกตนะครับว่าเหนือแท่นยิง
Albatross ติดอุปกรณ์อะไรไม่ทราบค่อนข้างใหญ่ แตกต่างจากแท่นยิง Albatross บนเรือหลวงสุโขทัยอุปกรณ์ชิ้นนี้เล็กกว่ากันพอสมควร
เรือฟริเกตชั้น
Lupo
จำนวน 4 ลำเข้ามายกระดับกองทัพเรืออย่างชัดเจน
ใครกันจะกล้าคาดเดาว่าปี 1979 เปรูมีเรือรบทันสมัยติดอาวุธครบ
3 มิติ มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์รองรับ Sea King ลำใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่ม สามารถจมเรือดำน้ำ เรือฟริเกต
และเครื่องบินขับไล่ฝ่ายตรงข้ามได้ด้วยการโจมตีเพียงครั้งเดียว
ปี
1979
ทร.ไทยไม่มีเรือรบสักลำที่มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ท้ายเรือ
ปี
1979
ทร.ไทยมีเรือหลวงมกุฎราชกุมารลำเดียวติดอาวุธปล่อยนำวิถี
Seacat ที่ไม่เคยเก็บแต้มสำเร็จ
เรือฟริเกตชั้น Lupo
มือสองจากอิตาลี
ย้อนกลับมาที่โครงการเรือฟริเกตชั้น
Lupo อีกครั้ง ปี 1980 อิรักลูกค้าเงินถูงเงินถังสั่งซื้อเรือจำนวน
4 ลำจากอู่ต่อเรือ Cantieri Navali Riuniti หรือ
CNR โดยใช้แบบเรือเดียวกันกับกองทัพเรืออิตาลียกเว้นเรดาร์ควบคุมการยิง
Aspide จากนั้นไม่นานได้เกิดสงครามระหว่างอิรักกับอิหร่านขึ้นมา
เมื่ออู่ต่อเรือ CNR สร้างเรือเสร็จจึงไม่อาจส่งมอบสินค้าให้เจ้าของ
จำเป็นต้องจอดเทียบท่าให้เพรียงเกาะเล่นไปตามยถากรรม ต่อมาในปี 1994 รัฐบาลอิตาลีตัดสินใจซื้อเรือมาใช้งานเอง ยอดรวมเรือฟริเกตปราบเรือผิวน้ำเพิ่มจำนวนจาก
4 ลำเป็น 8 ลำ
เวลาผ่านไป
10
ปีกองทัพเรืออิตาลีต้องการเดินหน้าโครงการเรือฟริเกตรุ่นใหม่ จึงอยากประหยัดอยากลดจำนวนเรือฟริเกตชั้น
Lupo ซึ่งมีมากเกินไป
เมื่อกองทัพเรือเปรูทราบข่าวรีบติดต่อเข้ามาทันที
เนื่องจากตัวเองมีเรือฟริเกตรุ่นเดียวกันใช้งานอยู่แล้วจำนวน 4 ลำ
วันที่
3
พฤศจิกายน 2004 รัฐบาลอิตาลีทำสัญญาขายเรือฟริเกตชั้น
Lupo จำนวน 2 ลำแรกให้กับรัฐบาลเปรู
ปีถัดมาขายเรือฟริเกตอีก 2 ลำให้เปรูเช่นเดียวกัน
เก็บเรือฟริเกต 4 ลำหลังที่สร้างให้กับอิรักไว้ใช้งานต่อไป
วันที่
11
มิถุนายน 2005 เรือลำแรก BAP Aguirre FM
55 เดินทางถึงเปรู เรือลำที่สอง BAP Palacios FM 56 ตามมาในวันที่ 27 กรกฎาคม 2005 เรือลำที่สามลำที่สี่มาร่วมชายคาวันที่ 26 มกราคม 2006
เท่ากับว่า กองทัพเรือเปรูมีเรือฟริเกตชั้น Lupo จำนวน 8 ลำจอดเรียงกันจนล้นท่าเรือ
ภาพประกอบที่สามคือเรือฟริเกต
BAP
Aguirre FM 55 เสากระโดงรองเป็นแบบทืบทาสีดำป้องกันคราบสกปรก
ท้ายเรือมีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์แบบพับได้กับเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ AB-212ASW ที่เปรูซื้อมาใช้งานในภายหลัง
จุดติดตั้งปืนกล OTO Breda 40L70 มม.ลำกล้องแฝดอยู่ในระดับดาดฟ้าเรือ
เรดาร์ควบคุมการยิง Aspide กลับกลายเป็นรุ่น Mk.95 จากอเมริกา ใต้ลานจอดเจาะช่องระบายอากาศไว้เพียง 3 ช่อง
นี่คือข้อแตกต่างระหว่างเรือฟริเกตต้นแบบกับเรือฟริเกตรุ่นส่งออกจากอิตาลี
การปรับปรุงครึ่งอายุการใช้งาน
เปรูใช้งานเรือฟริเกตใหม่ทั้ง
4
ลำไปเรื่อยๆ จนถึงปี 2010 จึงได้ริเริ่มโครงการปรับปรุงครึ่งอายุการใช้งานซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่
หนึ่งในนั้นคือการปรับปรุงการป้องกันภัยทางอากาศ โดยใช้งบประมาณ 50 ล้านเหรียญทำให้เรือใช้งานอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน RIM-7M Sea Sparrow ได้
ใช่ครับ…เปรูทิ้ง Aspide ของอิตาลีหันมาใช้งาน Sea
Sparrow จากอเมริกา
การเปลี่ยนแปลงไม่ได้ยุ่งยากสักเท่าไร
เรดาร์ควบคุมการยิง Mk.95
ถูกปรับปรุงให้ทันสมัยเทียบเท่ารุ่นใหม่ ส่วนแท่นยิง Albatross ขนาด 8 ท่อยิงที่อิตาลีพัฒนาเองยิ่งปรับปรุงง่ายดาย
เพราะอิตาลีซื้อลิขสิทธิ์แท่นยิง Mk.29
ของอเมริกามาพัฒนาเพิ่มและขายเองได้ด้วย (เหมือน Aspide
ที่ซื้อลิขสิทธิ์ Sea Sparrow) ให้บังเอิญเรือ 4 ลำแรกอิตาลียังพัฒนาระบบต่างๆ ไม่ดีพอ ต้องใช้งานเรดาร์ควบคุมการยิง Mk.95 และแท่นยิง Mk.29 สร้างเองโดยมีการปรับปรุงเพียงเล็กน้อย
การกลับมาใช้งาน Sea Sparrow จึงไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
ผู้อ่านหลายคนอาจนึกสงสัยในใจว่า
ทำไมเรือฟริเกตเปรูกับเวเนซุเอลาใช้แท่นยิง Albatross รุ่นแรกกับเรดาร์ควบคุมการยิง RTN-10X Orion
คำตอบก็คือเรือสร้างเสร็จช้ากว่ากันพอสมควร
ตอนนั้นอิตาลีพัฒนาระบบต่างๆ สำหรับรุ่นส่งออกได้แล้ว
เพียงแต่ประสิทธิภาพอาจไม่ดีเทียบเท่าของตัวเองที่พัฒนาเสร็จในภาพหลัง
และเริ่มใช้งานบนเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำชั้น Maestrale ในปี 1984 เป็นลำแรก
อาวุธรุ่นส่งออกก็ประมาณนี้ทุกชาติแหละครับ
อดีตเคยเป็น-ปัจจุบันยังเป็น-อนาคตต้องเป็นต่อไป
เท่ากับว่าเรือฟริเกตชั้น
Lupo
จำนวน 4 ลำล่าสุดของเปรู
ใช้งานอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน RIM-7M Sea
Sparrow เป็นอาวุธคู่กาย
ทำไมเปรูถึงไม่เลือก
Aspide
2000 ผู้เขียนคาดเดาได้ดังนี้
1.สมัยก่อนอเมริกาไม่ขาย Sea Sparrow ให้กับชาติเล็ก
ต่อมาเมื่อพวกเขายอมขายเปรูจึงซื้อมาใช้งาน
2.การปรับปรุงให้เรือใช้งาน Aspide 2000 ราคาแพงกว่า
เพราะอุปกรณ์ต่างๆ บนเรือเป็นของอเมริกา
3.ไม่ประทับใจผลงาน Aspide ในอดีต
สินค้าเมดอินอิตาลีพาลไม่ได้ไปต่อ
เรดาร์ตรวจการณ์
3 มิติรุ่นใหม่
โครงการปรับปรุงครึ่งอายุการใช้งานไม่ได้สิ้นสุดแค่ระบบป้องกันภัยทางอากาศ
วันที่ 23
พฤษภาคม 2010 บริษัท SELEX System จากอิตาลีได้รับสัญญาจากกองทัพเรือเปรู
ในการจัดหาเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ KRONOS NV จำนวน 2 ตัว กับระบบอำนวยการรบ IPN-20 จำนวน 2 ระบบ นำมาติดตั้งบนเรือฟริเกต BAP
Aguirre FM 55 กับ BAP Bolognesi FM 57
การปรับปรุงเรือทำโดยอู่ต่อเรือ SIMA ภายในประเทศเปรูจนแล้วเสร็จ
KRONOS NV คือเรดาร์ตรวจการณ์ Active Electronically Scanned Array (AESA) ทำงานในโหมด C-Band ระยะตรวจจับไกลสุด 180 กิโลเมตร อยู่ในตระกูลเดียวกับเรดาร์ตรวจการณ์ KRONOS Naval MFRA ซึ่งเป็นรุ่นท็อปขนาดใหญ่กว่า ระยะตรวจจับไกลสุดเพิ่มขึ้นเป็น 250
กิโลเมตร KRONOS Naval MFRA ทำงานร่วมกับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยานตระกูล
Aster ได้เป็นอย่างดี เปรูนำ KRONOS NV
มาแทนที่เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ/อากาศ 2 มิติรุ่น RAN 11L/X หรือ MM/SPS-774 ระยะตรวจจับ 46 กิโลเมตรซึ่งล้าสมัยไปแล้วและหาอะไหล่ค่อนข้างยาก
IPN-20 คือระบบอำนวยการรบจากบริษัท Selenia ในอดีต ปัจจุบันอยู่ในส่วนบริษัท
SELEX ในเครือบริษัท Leonardo พัฒนาต่อจากรุ่น
IPN-10 ที่มีใช้งานบนเรือฟริเกตชั้น Lupo รุ่นส่งออกของเปรูกับอิรัก
การเปลี่ยนระบบอำนวยการรบให้ทันสมัยกว่าเดิมจึงไม่ส่งผลกระทบกับอาวุธหรืออุปกรณ์ต่างๆ
บนเรือ
นอกจากนี้ยังมีการจัดหาอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ
MM40
Exocet Block 2 จากฝรั่งเศสมาใช้งานทดแทน Otomat Mk 2 มีการปรับปรุงระบบสื่อสารและอุปกรณ์ทั้งหมดให้พร้อมใช้งานดังเดิม
ภาพประกอบที่สี่ภาพใหญ่คือเรือฟริเกต
BAP
Bolognesi FM 57 มองเห็นเรดาร์ตรวจการณ์ KRONOS
NV บนเสากระโดงที่สร้างใหม่เหนือสะพานเดินเรือ
ช่องว่างระหว่างเสากระโดงหลังกับเสากระโดงรองติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ MM40
Exocet Block 2 จำนวน 4 ท่อยิง
ส่วนภาพเล็กคือเรือฟริเกต BAP Aguirre FM 55
ที่ได้รับการปรับปรุงเหมือนกันทุกอย่าง มีทั้ง KRONOS NV ทั้ง
MM40 Exocet Block 2 และ Sea Sparrow
สองลำนี้จึงเปรียบได้กับเรือฟริเกตสมรรถนะสูงตัวตึงของเปรู
เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Lupo
เมื่อการปรับปรุงเรือฟริเกตในปี
2011
สิ้นสุดลง ถัดมาเพียง 2 ปีรัฐบาลตัดสินใจโอนเรือฟริเกต
BRP Carvajal FM-51 จากกองทัพเรือมาสังกัดหน่วยยามฝั่ง
ใช้เป็นเรือธงในภารกิจตรวจการณ์เขตเศรษฐกิจพิเศษ 200 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง
ทำหน้าที่เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งไปพลางๆ ก่อนเพราะยังไม่มีงบประมาณซื้อเรือใหม่
วันที่
26
ธันวาคม 2013 เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง BAP
Guardiamarina San Martin (PO-201) เข้าประจำการหน่วยยามฝั่งเปรูอย่างเป็นทางการ
จากภาพประกอบที่ห้าอาวุธบนเรือเหลือเพียงปืนใหญ่ OTO Melara 127/54
มม.จำนวน 1 กระบอก กับปืนกล OTO
Breda 40L70 มม.ลำกล้องแฝดอีก 2 กระบอก เรดาร์ควบคุมการยิงจำนวน
4 ตัวเหลือแค่ RTN-10X Orion เหนือสะพานเดินเรือเพียงตัวเดียว แต่ถึงกระนั้น BAP Guardiamarina
San Martin (PO-201) ยังถือเป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งติดปืนกระบอกโตที่สุดในโลกลำหนึ่ง
เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ/อากาศ RAN 11L/X ยังถูกติดตั้งบนเสากระโดง
แต่เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ MM/SPQ-2 ระยะตรวจจับ 74 กิโลเมตรที่เสากระโดงรองถูกถอดออกไป โดยมีเรดาร์เดินเรือ Sperry
Marine มาช่วยเสริมทัพอีก 2 ตัว
ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์และระบบปราบเรือดำน้ำถูกถอดออกทั้งหมด เรือตรวจการณ์ไม่จำเป็นต้องติดอะไรมากมันเปลืองทั้งงบประมาณและกำลังพล
ภาพประกอบที่หกมาจากพิธีสวนสนามทางทะเลในปี
2020
ภาพบนเรือฟริเกต BRP Mariátegui FM-54
อันเป็นเรือชุดแรกไม่ได้ปรับปรุงให้ใช้งาน Sea Sparrow ได้ แต่มีการปรับปรุงให้เปลี่ยนมาใช้
MM40 Exocet Block 2 เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ/อากาศ RAN 11L/X บนเสากระโดงหลักถูกแทนที่ด้วยเรดาร์เดินเรือ
Sperry Marine เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ MM/SPQ-2 บนเสากระโดงรองแบบโปร่งยังอยู่ที่เดิม
สองกราบเรือค่อนข้างโล่งเนื่องจากถอดแท่นยิง Otomat Mk2
ออกไปแล้ว
ส่วนภาพล่างคือเรือฟริเกต
BAP
Quiñones FM 58
อันเป็นเรือชุดสอง ถูกปรับปรุงให้ใช้งาน Sea Sparrow
ได้แล้ว แต่ไม่ได้ถูกปรับปรุงให้ใช้งาน MM40 Exocet Block 2 (สลับกันไปสลับกันตามแต่ความสะดวกของกองทัพเรือเปรู)
เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ/อากาศ RAN 11L/X บนเสากระโดงหลัง กับเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ MM/SPQ-2
เสากระโดงรองแบบทืบยังอยู่ตามปรกติ
มีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์แบบพับเก็บได้ของเก่าจากอิตาลี
เหตุผลที่
MM40
Exocet Block 2 มาไม่ครบทุกลำเพราะราคาค่อนข้างแพง
แล้วเปรูก็ดันมีเรือฟริเกตชั้น Lupo ตั้ง 7 ลำซื้อมาใส่รวดเดียวไม่ไหว เรือบางลำต้องใส่แท่นยิง Otomat ไว้หลอกฝ่ายตรงข้ามทั้งที่ในท่อยิงไม่มีอะไร ปัจจุบัน Otomat Mk 2 หมดอายุทุกนัดแล้วคล้าย C-801
บนเรือหลวงบางปะกงนั่นแหละครับ
อนาคตเรือฟริเกตชั้น Lupo
ปัจจุบันเรือฟริเกตทั้ง
7
ลำมีอายุ 45 ถึง 36 ปี
กองทัพเรือเปรูควรจัดหาเรือฟริเกตรุ่นใหม่ทันสมัยมาใช้งานแทน
ให้บังเอิญเรือดำน้ำจากเยอรมันจำนวน 6 ลำที่มีอายุระหว่าง 38 ถึง 49 ปี ต้องเข้าร่วมโครงการปรับปรุงยืดอายุการใช้งานใช้งบประมาณค่อนข้างมาก
เรือคอร์เวตอาวุธนำวิถีจากฝรั่งเศสจำนวน 6 ลำที่มีอายุระหว่าง
42 ถึง 43 ปี ค่อนข้างชราภาพต้องใช้งบประมาณซ่อมบำรุงค่อนข้างสูง
และยังไม่ได้จัดหาอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบรุ่นใหม่มาทดแทน MM38 Exocet
ส่งผลให้โครงการจัดหาเรือฟริเกตรุ่นใหม่ไม่ได้แจ้งเกิดเสียที
เพราะตัวเองมีแต่เรือเก่าไม่พร้อมรบเท่าที่ควร
กองทัพเรือเปรูแก้ปัญหาชั่วคราวโดยการซื้อเรือคอร์เวตมือสองชั้น Pohang
จากเกาหลีใต้มาใช้งานจำนวน 2 ลำ
และยืดอายุการใช้งานเรือฟริเกต 4 ลำหลังที่ซื้อต่อจากอิตาลี
โดยการติดตั้งระบบตรวจจับการแพร่คลื่นอิเล็กทรอนิกส์หรือ ESM รุ่นใหม่ ติดตั้งออปโทรนิกส์ตรวจการณ์และควบคุมการยิง
โครงการนี้คาดว่าจะเสร็จทุกลำภายในปี 2023 เรือฟริเกตทั้ง 4
ลำจะสามารถใช้งานต่อได้ถึงประมาณปี 2035
หรือมากกว่านิดหน่อย
เรือฟริเกตอีก
3
ลำใช้งานไปเรื่อยๆ จนหมดสภาพก็ปลดประจำการ
ลำไหนมีอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ MM40 Exocet Block 2 ให้โยกไปใส่เรือที่ยังประจำการ
มีข่าวว่าเรือฟริเกต BAP Villavicencio FM-52 อายุ 44
ปีปลดประจำการแล้วในเดือนกันยายน 2022
เพียงแต่ผู้เขียนหาข้อมูลอย่างเป็นทางการมาช่วยยืนยันไม่ได้
หากเป็นจริงเท่ากับว่าปัจจุบันกองทัพเรือเปรูเหลือเรือฟริเกตชั้น Lupo จำนวน 6 ลำ
ที่ผ่านเปรูเคยมีการตั้งโครงการจัดหาเรือฟริเกตรุ่นใหม่เช่นกัน
อาทิเช่นในงานแสดงอาวุธ NAVDEX 2015 เมือง Abu
Dhab ประเทศยูเออี บริษัท Navantia จากสเปนแสดงแบบเรือฟริเกต
F-538 ขนาด 3,800 ตันสำหรับเปรู
ตามโครงการจัดหาเรือฟริเกตจำนวน 5 ลำที่เป็นข่าวในช่วงนั้น
ต่อมาในปี 2017 บริษัท Navantia
เสนอแบบเรือฟริเกต Alfa 4000 MM (ชื่อใหม่ของ
F-538 ผู้เข้ารอบชิงเรือฟริเกตสมรรถนะสูงกองทัพเรือไทย) ให้กับกองทัพเรือเปรูอีกครั้ง
แต่แล้วไม่นานข่าวสารความเคลื่อนไหวโครงการเรือฟริเกต 5 ลำก็ค่อยๆ
เลือนหายไป
อนาคตเปรูจะเหลือเรือฟริเกตเพียง
4
ลำเท่านั้น โดยมีเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งขนาดใหญ่เข้ามาช่วยเสริมทัพ
ข้อมูลคร่าวๆ พวกเขาต้องการเรือขนาด 1,500-2,000 ตัน ยาว 80-100
เมตร กว้าง 10-14 เมตร มีเรือยางท้องแข็งจำนวน
2 ลำกับเฮลิคอปเตอร์ 1 ลำ
ตั้งราคาไว้ที่ลำละประมาณ 85 ล้านเหรียญ
ความต้องการเฟสแรกจำนวน 3 ลำ กำหนดให้สร้างเองภายในประเทศ
เพียงแต่โครงการไม่คืบหน้าเท่าที่ควรเพราะติดปัญหาโควิด-19
85 ล้านเหรียญหรือ 2,934 ล้านบาทกับเรือตรวจการณ์ขนาด 1,500
ตันขึ้นไปมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ อาวุธป้องกันตัวคงมีแค่เพียงปืนกลขนาดไม่เกิน
40 มม.1 กระบอก (หากเงินเหลืออาจได้ปืนใหญ่
76/62 มม.มือสองมาใช้งาน) กับปืนกลขนาดไม่เกิน
20 มม.อีก 2 กระบอก
แต่ถ้าเลือกแบบเรือ P71 บริษัท Vittoria จากอิตาลีเหมือนประเทศมอลต้า จะได้เรือขนาด 1,800 ตันติดปืนกล
25 มม.1 กระบอกที่หัวเรือในราคา 48
ล้านยูโรเท่านั้น มีเรือเล็กขนาด 9.1
เมตรจำนวน 2 ลำ มีเครนขนาดใหญ่ 1 ตัว และมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ขนาด
7 ตันน่าสนใจมาก
เปรูเป็นลูกค้าเก่าอิตาลีอยู่แล้วยิ่งน่าสนใจไปกันใหญ่
ให้บังเอิญโครงการนี้เกาหลีใต้ประกาศเดินหน้าเต็มตัว
โพโมชันซื้อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง 3 ลำแถมเรือคอร์เวตชั้น
Pohang 1 ลำถูกใช้งานอย่างแน่นอน
การเปลี่ยนแปลงแบบเรือจากเรือฟริเกตเป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง
ถือเป็นเรื่องปรกติทั่วไปของกองทัพเรือทั่วโลก
เปรูที่เคยมีเรือฟริเกตติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยานชั้นเดียวกันจำนวน 8
ลำ ยังหันมาใช้งานเรือตรวจการณ์ขนาด 2,000 ตันราคาประหยัดติดอาวุธไม่มากทำงานทดแทน
รอดูกันต่อไปว่าสุดท้ายแล้วเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งของเปรูจะมาจากบริษัทไหนและมีหน้าตาเช่นไร
กองทัพเรือเปรูคือหนึ่งในกองทัพเรือในฝันของผู้เขียน
ปี 2012
พวกเขามีเรือดำน้ำหน้าตาเหมือนกันจำนวน 6 ลำ
มีเรือฟริเกตหน้าตาเหมือนกันจำนวน 8 ลำ
และมีเรือคอร์เวตอาวุธนำวิถีหน้าตาเหมือนกันอีก 6 ลำ นี่คือสิ่งที่ผู้เขียนอยากให้เกิดขึ้นกับกองทัพเรือไทยเหลือเกิน
เสียดายก็แต่…แม้แต่ในความฝันยังไม่อาจเป็นจริง
+++++++++++++++++++++++
อ้างอิงจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Lupo-class_frigate
https://www.aofs.org/2010/04/23/ssi-kronos-radars-will-equip-peruvian-aguirre-class-frigates/
https://maquina-de-combate.com/blog/?p=72821
https://web.archive.org/web/20131227124018/https://www.marina.mil.pe/notas-de-prensa/125
https://www.janes.com/defence-news/news-detail/peruvian-navy-surface-fleet-plan-focuses-on-new-opvs
https://www.infodefensa.com/texto-diario/mostrar/3076585/navantia-ofrece-familia-fragatas-alfa-peru
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น