เรือดำน้ำ
S800
ในงานแสดงอาวุธ
Euronaval
2006 ระหว่างวันที่ 23
ถึง 27 ตุลาคม 2006 ที่กรุงปารีส
ประเทศฝรั่งเศส บริษัท Rubin Design Bureau จากรัสเซียกับบริษัท
Fincantier จากอิตาลี นำเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้ารุ่นใหม่ล่าสุดชื่อ S1000 มาเปิดตัวครั้งแรก สร้างความฮือฮาให้กับผู้ร่วมงานจากทุกมุมโลกกลายเป็นข่าวใหญ่โต
เรือดำน้ำ
S1000 ถือกำเนิดจากการความร่วมมือระหว่างบริษัท Rubin
กับ Fincantier เพื่อสร้างเรือดำน้ำรุ่นส่งออกขายให้กับประเทศในโลกที่สาม
โดยนำเรือดำน้ำ Amur-950 ของบริษัท Rubin มาปรับปรุงเพิ่มเติม ทำงานร่วมกับระบบขับเคลื่อนจากยุโรป แล้วใส่ระบบ AIP
ของบริษัท Fincantier
ที่ได้รับเทคโนโลยีจากเยอรมันเพิ่มเติมเข้ามา เรือดำน้ำรุ่นส่งออกลำนี้จึงมีประสิทธิภาพสูงกว่าเรือต้นแบบ
และเหมาะสมกว่าถ้าต้องการเจาะตลาดลูกค้าใหม่ที่ไม่ได้ใช้งานอาวุธรัสเซียโดยเฉพาะ
โครงการร่วมระหว่างสองชาติมีการพัฒนาแบบเรือจำนวน
3
รุ่น ประกอบไปด้วย
-เรือดำน้ำรุ่น S500 ขนาดเล็กสุด
-เรือดำน้ำรุ่น S800 ขนาดกลาง
-เรือดำน้ำรุ่น S1000 ขนาดใหญ่สุด
วิธีตั้งชื่อรุ่นคิดกันเอาง่ายๆ
ตามขนาดเรือ เพียงแต่ให้ความสำคัญรุ่น S1000
ที่คาดว่าจะหาลูกค้าสำเร็จมากที่สุด รวมทั้งสร้างผลกำไรให้สองบริษัทคู่ค้ามากที่สุด
อันเป็นเรื่องปรกติของการค้าขายทั่วไปนั่นแหละครับ
รู้ประวัติที่มาการพัฒนาแบบเรืออย่างคร่าวๆ
แล้ว ไปชมแบบเรือของจริงกันต่อเลยครับ
เรือดำน้ำ S800
เวอร์ชันรัสเซีย/อิตาลี
ภาพประกอบที่หนึ่งคือเรือดำน้ำจากโครงการร่วมระหว่างสองชาติ
ภาพบนเรือดำน้ำ S1000 ผู้เขียนนำมาจากโบร์ชัวร์บริษัท
Fincantier ปัจจุบัน ส่วนภาพล่างคือเรือดำน้ำ S800 ตั้งแต่ปี 2008 สังเกตนะครับว่าเหมือนกันหัวจรดท้ายราวฝาแฝด
หากนำเรือดำน้ำต้นแบบ Amur-950 มาเปรียบเทียบจะเป็นแฝดสามกันเลยทีเดียว
ระบบขับเคลื่อนใช้เครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบขนาด
715
kW จำนวน 2 ตัว กับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 650
kW จำนวน 2 ตัว ใช้แบตเตอรี่แบบตะกั่วขนาด 112
เซลล์จำนวน 2 ชุดตามปรกติ ติดตั้งระบบ AIP
แบบ Fuel cell ขนาด 200 kW เพิ่มเติมเข้ามา หางเสือเรือรูปตัว X ทำงานร่วมกับใบจักรชนิด
7 แฉก
ระบบอำนวยการรบมีคอนโซลปฏิบัติการ
5
คอนโซล มีระบบโทรศัพท์ใต้น้ำหรือ Underwater Telephone ใช้กล้องตาเรือรุ่นออปโทรนิกส์ทันสมัย มีทั้งกล้องโทรทัศน์
เลเซอร์วัดระยะ และกล้องตรวจจับความร้อน
มีระบบดักจับสัญญาณคลื่นอิเล็กทรอนิกส์หรือ ESM ปิดท้ายด้วยเรดาร์เดินเรืออีก
1 ตัว
ระบบตรวจจับใต้น้ำประกอบไปด้วย
โซนาร์เตือนภัยทุ่นระเบิดที่หัวเรือ โซนาร์ Conformal Array สีขาวๆ ยาวๆ ตรงหัวเรือสไตล์รัสเซีย และโซนาร์ Intercept Array เป็นตุ่มเล็กๆ อยู่ตำแหน่งหลังสุดบนหอบังคับการ
โซนาร์
Intercept
Array ทำหน้าที่ตรวจจับการแพร่คลื่นโซนาร์แบบ Active จากอากาศยาน เรือผิวน้ำหรือเรือดำน้ำ อาจเรียกว่าโซนาร์เตือนภัยโซนาร์ได้เช่นกัน
หลักการทำงานคล้าย ESM แค่เปลี่ยนจากดักจับคลื่นเรดาร์เป็นคลื่นโซนาร์จากการปิง
ฉะนั้นอาจเรียกว่าโซนาร์ดักจับการแพร่คลื่นโซนาร์ได้เช่นกัน
โซนาร์
Intercept
Array ทำงานแยกต่างหากจากระบบอำนวยการรบ
ติดตั้งเพิ่มเติมในภายหลังได้อย่างง่ายดาย อาทิเช่นเมื่อทูร์เคียพัฒนาโซนาร์ Intercept
Array สำเร็จจึงนำมาติดบนเรือดำน้ำ Typ3 209/1300 อายุการใช้งานมากกว่า 40 ปีของตัวเอง
ฉะนั้นแล้วผู้เขียนจะขอพูดถึงสิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิต
ติ๊งต่างว่า…ระหว่างปี 2013-2015 กองทัพเรือไทยประจำการเรือดำน้ำ
Type 206 จำนวน 4 ลำ (ใช้เวลาปรับปรุงเรือที่เยอรมันนานหน่อยเพราะเรามีเรือตั้ง 4 ลำ) หลายปีต่อมาเราอยากใช้งานโซนาร์ Intercept
Array จึงจัดหาจากทูร์เคียมาติดตั้งเอง เท่ากับว่ากองทัพเรือไทยมีเรือดำน้ำขนาด
500 ตันที่ทรงพลานุภาพที่สุดของโลก
เรือหลวงสุดสาครติดโซนาร์
Intercept
Array ที่อู่ต่อเรือราชนาวีมหิดล
คุณพระคุณเจ้า! ผู้เขียนทำอะไรลงไปไม่รู้ตัวจริงๆ
กลับมาที่เรือดำน้ำ
S1000
กันอีกครั้ง เพราะต้นแบบคือเรือดำน้ำรัสเซียทำให้ S1000 หมัดหนักเป็นพิเศษ หัวเรือติดตั้งท่อยิงตอร์ปิโดขนาด 533 มม.จำนวน 6 ท่อยิง คลังแสงในเรือสามารถจัดเก็บตอร์ปิโดได้
8 นัด จำนวนรวมที่ S1000 แบกได้จึงเท่ากับ
14 นัด ได้ตอร์ปิโดนำวิถีสายไฟเบอร์ Black Shark จากอิตาลีเป็นหมัดเด็ด พร้อมกับไอเท็มลับอาวุธปล่อยนำวิถีโจมตีชายฝั่ง Club-S จากรัสเซียให้ลูกค้ากระเป๋าหนักได้เลือกใช้งาน
ภาพประกอบที่หนึ่งภาพล่างคือเรือดำน้ำ
S800
รุ่นรองลงมา ขนาดเล็กลงนิดหน่อย ระวางขับน้ำลดลงประมาณ 200 ตัน ความยาวลดลงนิดเดียวแทบไม่เห็นความแตกต่าง มาพิจารณาภายในเรือไปพร้อมกัน
จะเห็นนะครับว่าบริเวณหัวเรือเหมือนกันทุกอย่าง จัดเก็บตอร์ปิโดในคลังแสงจำนวน 8
นัดเท่ากัน แต่เนื่องมาจากเป็นรุ่นรองอาจมีบางอย่างถูกตัดออกไป
อาทิเช่นใช้งานอาวุธปล่อยนำวิถีโจมตีชายฝั่ง Club-S ไม่ได้
หรือไม่ได้ติดตั้งโซนาร์ Intercept Array บนหอบังคับการ
บวกกับขนาดเรือเล็กลงทำให้ราคาถูกกว่ารุ่น S1000 ในระดับหนึ่ง
จุดที่แตกต่างอย่างชัดเจนประกอบไปด้วย
ห้องศูนย์ยุทธการ S1000 อยู่ใต้หอบังคับการเยื้องไปทางด้านหลัง
ห้องศูนย์ยุทธการ S800 อยู่ใต้หอบังคับการเยื้องมาทางด้านหน้า
แบตเตอรี่แบบตะกั่วขนาด 112 เซลล์ของ S1000 ทั้ง 2 ชุดวางเรียงกัน ส่วน S800 แบตเตอรี่ชุดหน้ายังอยู่ตำแหน่งเดิม แต่แบตเตอรี่ชุดหลังย้ายไปท้ายเรือใกล้มอเตอร์ขับเคลื่อน
รวมทั้ง S800 มีถังกลมๆ ขนาดใหญ่สีฟ้าเพิ่มเติมเข้ามาไม่ทราบว่าคืออะไร
ความเห็นส่วนตัวตำแหน่งดังกล่าวเหมาะสมกับระบบ
AIP
แบบ Full Cell ที่อิตาลีได้มาจากเยอรมัน
เพียงแต่รูปร่าง AIP จะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมทรงสูง ผู้เขียนกลับไปตรวจสอบโบร์ชัวร์อีกครั้ง
ปรากฏว่า AIP แบบ Full Cell
น่าจะอยู่ด้านบนแบตเตอรี่ชุดหลังของ S800 ตำแหน่งที่มีท่อกลมๆ
บนดาดฟ้าเรือนั่นแหละครับ
เป็นการคาดเดาจากบุคคลผู้มีความรู้ด้านเทคนิคและกายภาพเรือดำน้ำเพียงน้อยนิด
เรือดำน้ำ S800
สำหรับอินเดีย
เมื่อสินค้าพัฒนาเสร็จสมบูรณ์ต้องขาย
สิ่งแรกที่สมควรทำคือหาลูกค้ารายแรกให้สำเร็จ
ระหว่างเดือนตุลาคม
2008 กองทัพเรืออินเดียเริ่มต้นเดินหน้าโครงการจัดหาเรือดำน้ำรุ่นใหม่ติดระบบ AIP
หรือ Project 75(I)
จำนวน 6 ลำ ตั้งใจประจำการต่อจากเรือดำน้ำชั้น Scorpene จากฝรั่งเศสจำนวน 6 ลำจากโครงการ Project 75 ที่เพิ่งปิดโครงการสดๆ ร้อนๆ และเนื่องมาจากการบริหารงานของอินเดียถ้าไม่ล่าช้าก็ล่าช้าอย่างถึงที่สุด
ส่งผลให้โครงการ Project 75(I)
มีการยื่นข้อเสนอจริงในเดือนธันวาคม 2012
แชมป์เก่าฝรั่งเศสส่ง
Super
Scorpene เข้าร่วมชิงชัย เยอรมันส่ง Type 214 เกาหลีใต้ส่ง
Type 212 HDW สเปนส่ง S-80 (ช่างกล้า) ญี่ปุ่นส่ง Soryu เข้าร่วมในภายหลัง Rubin กับ Fincantier ส่ง S1000 ปิดท้ายด้วย
Rubin บริษัทเดียวส่ง Amur-1650 อาวุธรัสเซียทั้งลำ
บริษัท
Rubin จากรัสเซียไม่ได้ผิดกฎนะครับ ทุกบริษัทสามารถส่งแบบเรือเท่าไรก็ได้
ย้อนกลับไประหว่างปี
2008
ถึง 2011 บริษัท Rubin
กับ Fincantier ส่ง S1000 กับ S800
สองแบบเรือเข้าร่วมชิงชัย (เท่ากับว่า S800 ถูกเสนอให้กับอินเดียก่อนปากีสถานเป็นเวลา
15 ปี) บังเอิญ S800 ถูกถอดออกไปก่อนมีการยื่นข้อเสนอ
และ Rubin ตัดสินใจส่ง Amur-1650
เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งจากลูกค้าเก่า
โชคร้ายเหลือเกินโครงการ
Project
75(I) เกิดความล่าช้าอย่างถึงที่สุด
อันเป็นผลกระทบจากโครงการ Project 75
มีความล่าช้าเรื่องการก่อสร้าง กว่าเรือดำน้ำ Scorpene ลำแรกจะเข้าประจำการก็ปี
2016 ต่อมาในปี 2014 ความสัมพันธ์ระหว่าง
Rubin กับ Fincantier ต้องขาดสะบั้น
อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากรัสเซียใช้กำลังทหารรุกรานยูเครน โครงการร่วมระหว่างสองชาติสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการนับแต่นั้นเป็นต้นมา
บริษัท
Fincantier ยังคงถือสิทธิ์แบบเรือ S1000 เหมือนเดิม
เพียงแต่ค่อนข้างล้าสมัยเมื่อเทียบกับเรือดำน้ำรุ่นใหม่
ทำให้ไม่มีลูกค้ากระเป๋าหนักใจใหญ่ใจถึงสั่งซื้อไปใช้งานตราบจนถึงปัจจุบัน
ตราบจนถึงปัจจุบันโครงการ
Project
75(I) ยังไม่มีผู้ได้รับการคัดเลือกเช่นเดียวกัน
Shallow
Water Assault Submarine (SWAS) Program
ระหว่างปี
1993
ปากีสถานมีเรือดำน้ำขนาดเล็กหรือ Midget Submarine เข้าประจำการ โดยใช้แบบเรือ MG-110 จากบริษัท Cos.Mo.S
ประเทศอิตาลีที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเรื่อง Midget
Submarine มาสร้างด้วยตัวเองโดยอู่ต่อเรือในประเทศชื่อ
KS&EW จำนวน 3 ลำ
ภาพประกอบที่สองภาพบนคือเรือดำน้ำชั้น
Cosmos ระวางขับน้ำ 102 ตันขณะลอยลำกับ 110 ตันขณะดำน้ำ ยาว 27.25 เมตร กว้าง 2.3 เมตร ใช้เครื่องยนต์ดีเซลไฟฟ้าในการขับเคลื่อน ความเร็วสูงสุด 9 นอตขณะลอยลำกับ 6 นอตขณะดำน้ำ ดำน้ำได้ลึกสุด 110
เมตร ระยะปฏิบัติการไกลสุด 2,500 ไมล์ทะเล
ออกทะเลได้นานสุด 20 วัน ใช้ลูกเรือ 6 นาย
รองรับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษ 8 นายหรือ 2 ทีม
เรือดำน้ำชั้น
Cosmos ติดตั้งท่อยิงตอร์ปิโดขนาด 533 มม.ไม่ทราบจำนวน โดยมีตอร์ปิโดปราบเรือผิวน้ำรุ่น Mk.8
ยุคสงครามโลกของที่สองจากอเมริกาเป็นอาวุธป้องกันตัว แต่ถึงกระนั้นก็ตามเรือดำน้ำที่ปากีสถานสร้างเองไม่เหมาะสมกับการรบเต็มรูปแบบ
เป็นเพียงยานใต้น้ำลำเลียงเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษไปทำภารกิจ
ก่อนหน้านี้ระหว่างปี
1972
ถึง 1973 ปากีสถานประจำการเรือดำน้ำขนาดเล็กชั้น
SX-404 จากบริษัท Cos.Mo.S ประเทศอิตาลีจำนวน
6 ลำ ระวางขับน้ำ 41 ตัน ยาว 16
เมตร สำหรับลำเลียงหน่วยปฏิบัติการพิเศษใต้น้ำ พวกเขามีความเชี่ยวชาญและสร้างเรือดำน้ำขนาดเล็กได้ด้วยตัวเอง
แล้วยังต่อยอดพัฒนาเรือรุ่นใหม่ขึ้นมาเองและเข้าประจำการแบบเงียบๆ ไม่บอกใคร
บังเอิญเรือดำน้ำชั้น Cosmos
กับเรือดำน้ำที่ปากีสถานพัฒนาขึ้นมาเองขนาดเล็กเกินไป ไม่สามารถทำภารกิจที่เรือดำน้ำขนาดทั่วไปสามารถทำได้
ความต้องการเรือดำน้ำขนาดเล็กรุ่นใหม่
ขนาดใหญ่กว่า ติดอาวุธมากกว่า ได้พลันเกิดขึ้นอย่างเงียบเชียบตั้งแต่กลางปี 2017 เนื่องจากกองทัพเรือปากีสถานต้องเสริมทัพหลายทางจึงไม่มีงบประมาณ ต่อมาในปี
2021 การโยนหินถามทางได้พลันเกิดขึ้น มีการตั้งโครงการ Shallow Water Assault Submarine หรือ SWAS ขึ้นมา เปิดโอกาสให้บริษัทสร้างเรือทั่วโลกนำเสนอผลงานตัวเอง
แต่ยังไม่มีกำหนดการคัดเลือกแบบเรืออย่างชัดเจน
เรือดำน้ำ STM-500
จากทูร์เคีย
ในงาน
Naval
Systems Seminar 2021 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 พฤศจิกายน 2021 ที่กรุงอังคารา
ประเทศทูร์เคีย STM Combat Systems Group บริษัทสร้างเรือยักษ์ใหญ่ของทูร์เคียได้เปิดเผยข้อมูลว่า
โครงการเรือดำน้ำขนาดเล็ก STM 500
จะเริ่มต้นเดินหน้าอย่างเต็มตัวภายในปี 2022
ภาพประกอบที่สองภาพล่างคือแบบเรือ
STM
500 มีระวางขับน้ำประมาณ 550 ตัน ยาว 42 เมตร กว้า 8.5 เมตร ใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซล 2 ตัวทำงานร่วมกับแบตเตอรี่ Lithium-Ion
โดยมีออปชันเสริมระบบ AIP ยังไม่มีการเปิดเผยรุ่น
ระยะปฏิบัติการไกลสุด 4,000 ไมล์ทะเลเมื่อติดตั้งระบบ AIP ออกทะเลนานสุด 30 วัน ดำน้ำลึกสุด 250 เมตร มีที่พักสำหรับลูกเรือ 18 นาย
รองรับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษจำนวน 6 นาย
หมายเหตุ
: โบร์ชัวร์ที่ผู้เขียนโหลดมาจากบริษัท STM ไม่มีข้อมูลเรื่องเครื่องยนต์แม้แต่ประโยคเดียว
จากภาพประกอบเรือดำน้ำ
STM
500 บรรทุกยานใต้น้ำ Swimmer Delivery Vehicle (SDV) มาด้วยจำนวน 1 ลำ
เป็นออปชันเสริมยืนยันความสามารถการทำภารกิจแทรกซึมจากใต้น้ำ
ถึงเป็นเรือดำน้ำขนาดเล็กแต่อุปกรณ์ต่างๆ
อัดแน่นเหมือนเรือดำน้ำทั่วไป มีระบบอำนวยการรบ เรดาร์เดินเรือ
กล้องตาเรือแบบออปโทรนิกส์ ระบบดักจับสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์หรือ ESM
ระบบเป้าลวงตอร์ปิโดซึ่งทูร์เคียผลิตได้เอง
เสาสัญญาณสื่อสารลอยผิวน้ำก็มี ระบบโซนาร์จัดเต็มมีทุกชนิดให้ลูกค้าเลือกใช้ตามงบประมาณ
STM 500 มีท่อตอร์ปิโดขนาด 533 มม.จำนวน 4 ท่อยิง สามารถยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบได้
2 ท่อยิง แบกตอร์ปิโดหรืออาวุธปล่อยไปด้วยถึง 8 นัด (4 นัดในท่อยิง+4นัดในคลังแสง) เรือลำเล็กก็จริงแต่มีห้องกัปตันแยกเป็นสัดส่วน มีทั้งห้องครัวห้องรับประทานอาหารสำหรับจัดเก็บอาหารและน้ำดื่ม
การสร้างเรือดำน้ำ
STM
500 ลำแรกเริ่มต้นในเดือนมิถุนายน 2022 ยังไม่มีการเปิดเผยว่าเรือลำแรกสร้างให้กับชาติไหน
มีการคาดเดาว่าถ้าไม่ใช่ทูร์เคียก็ปากีสถานตามโครงการ SWAS ข้อมูลเรื่องเรือปากีสถานเป็นเพียงข่าวลือผ่านโลกโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก
เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตไม่เคยเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นทางการ
แต่แล้วไม่นานมิตรรักแฟนเพลงชาวทูร์เคียทั้งหลาย พร้อมใจกันเต้นระบำและส่งเสียงเฮดังสนั่นทั่วกรุงอังคารา
วันที่
14 พฤศจิกายน 2022 บริษัท STM
จับมือกับพันธมิตรประกอบไปด้วย ASELSAN MKE และ ASFAT ยื่นข้อเสนออย่างเป็นทางการมายังกองทัพเรือปากีสถาน เพื่อส่งแบบเรือ STM
500 เข้าร่วมชิงชัยโครงการ Shallow Water Assault Submarine หรือ SWAS
โดยยกตัวอย่างประสิทธิภาพเรือดำน้ำ Type 206 ที่มีขนาดใกล้เคียงกันอย่างเกินหน้าเกิน เป็นการชักจูงให้ลูกค้าเห็นดีเห็นงามและตัดสินใจสั่งซื้อสินค้าตัวเอง
ใช่ครับ…คนทั่วโลกยังคงประทับใจประสิทธิภาพเรือดำน้ำ Type 206 ตัวเล็กหมัดหนักจากเยอรมัน
นอกจากปากีสถานบริษัท
STM ยังได้เสนอขายสินค้าตัวเองไปเรื่อย
รวมทั้งฟิลิปปินส์ที่ตั้งโครงการจัดหาเรือดำน้ำจำนวน 2 ลำ
เพียงแต่ความหวังค่อนข้างเลือนรางเพราะมีคู่แข่งยั้วเยี้ยไปหมด
และอุปสรรคสำคัญที่สุดคืองบประมาณของฟิลิปปินส์นั่นแหละ
เรือดำน้ำนอกจากราคาแพงยังมีค่าใช้จ่ายค่าซ่อมบำรุงสูงเอาการ
ต้องคิดหน้าคิดหลังให้ละเอียดถี่ถ้วนไม่เช่นนั้นตัวเองอาจประสบปัญหากระเป๋าฉีก
ทันทีที่เรือดำน้ำ Type 206 เอ๊ย! เรือดำน้ำ STM 500 เปิดตัวเข้าร่วมโครงการ
ทุกคนทั่วโลกพร้อมใจกันยกให้เป็นเต็งจ๋านอนมาพระสวด
และด้วยความสัมพันธ์อันดีเยี่ยมระหว่างทูร์เคียกับปากีสถาน
จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีม้าตัวใหม่สอดแทรกเข้ามา บังเอิญบริษัทสร้างเรือยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งไม่ยอมให้เรื่องราวจบง่ายๆ
เช่นนี้
ถัดมาเพียง
4
วันในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2022 บริษัท Fincantier จากอิตาลีประกาศก้องอย่างทระนงองอาจว่า
จะส่งแบบเรือดำน้ำขนาดเล็กชื่อ S800 เข้าร่วมชิงชัยโครงการ SWAS ของปากีสถาน
ปัญหาก็คือ
Fincantier พัฒนาแบบเรือดำน้ำ S800 เสร็จเรียบร้อยหรือยัง?
เรือดำน้ำ S800
เวอร์ชันอิตาลี
วันที่
1
เมษายน 2022 นาย Giuseppe Bono ซีอีโอบริษัท Fincantier ใshสัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเรื่องการดำเนินงานของบริษัท
มีการสอบถามเรื่องสินค้าใหม่ที่ดูเหมาะสมกับประเทศยูเออี นาย Giuseppe Bono ตอบคำถามว่าบริษัท Fincantier
ให้ความสำคัญกับเรือคอร์เวตขนาด 4,000 ตัน
ระบบอัตโนมัติไร้คนขับ และเรือดำน้ำรุ่นใหม่ล่าสุด
ท่านซีอีโอขยายความชัดเจนกว่าเดิมว่า
S800
คือเรือดำน้ำขนาดเล็กที่ได้รับการถ่ายโอนด้านเทคนิคและการปฏิบัติการจากเรือดำน้ำ
Type 212A และ Type 212NSF บริษัท Fincantier เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์และเป็นผู้สร้างเรือ เรานำประสบการณ์ทั้งหมดมาออกแบบเรือให้ทันสมัย
มีรูปทรงลดการตรวจจับจากโซนาร์ มีความคล่องตัวสูง ดำน้ำได้ลึก
มีอุปกรณ์อัตโนมัติช่วยการทำงาน ขนาดเรือเหมาะสมกับเขตน้ำตื้นหรือพื้นที่ที่มีการจราจรทางน้ำแน่นหนา
ทำภารกิจยาวนานในเขตน้ำลึกหรือมหาสมุทรได้อย่างดีเยี่ยมเช่นกัน ระบบอำนวยการรบ
ระบบตรวจจับ และระบบอาวุธมีประสิทธิภาพเทียบเท่าเรือดำน้ำ Type 212NSF
ข้อมูลจากท่านซีอีโอน่าสนใจพอสมควร
โชคร้ายเหลือเกินยูเออีซื้อเรือคอร์เวต Gowind 2500 จากฝรั่งเศสเรียบร้อยแล้ว
ระบบอัตโนมัติไร้คนขับสินค้าจากจีนมาแรงกว่า เหลือแค่เพียงเรือดำน้ำขนาดเล็กนี่แหละที่พอเจาะตลาดได้
กองทัพเรือยูเออีแสดงท่าทางสนใจจัดหาเรือดำน้ำมาเนิ่นนาน
ที่หมายตาไว้ได้แก่เรือชั้น Dolphin ลำเก่าจากอิสราเอล ถ้า Fincantier ยื่นข้อเสนอที่เหมาะสมบางทีพวกเขาอาจถูกหวยตะวันออกกลาง
เรามาชมภาพเรือดำน้ำ
S800
เวอร์ชันอิตาลีที่แท้จริงกันต่อดีกว่า
ในงานแสดงอาวุธ
IDEX/NAVDEX
2023
ระหว่างวันที่ 20 ถึง 24 กุมภาพันธ์ 2023ที่ยูเออี
บริษัท Fincantieri
จากอิตาลีเปิดตัวเรือดำน้ำขนาดเล็กชั้น S800 โดยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าพัฒนาขึ้นมาโดยใช้แนวคิด
ประสบการณ์ และเทคโนโลยีที่ตัวเองได้ร่วมพัฒนาเรือดำน้ำชั้น Type 212 และ Type 212NFS
S800 เวอร์ชันอิตาลีมีระวางขับน้ำ 750 ตันขณะลอยลำกับ
850 ตันขณะดำน้ำ ยาว 51 เมตรเส้นผ่าศูนย์กลางตัวเรือทนความดัน
4.5 ม. ดำน้ำได้ลึกสุด 250 เมตร หางเสือเรือรูปตัว X ทำงานร่วมกับใบจักรชนิด
7 แฉก (ผู้เขียนขยายภาพนับให้แล้ว) หัวเรือติดตั้งท่อยิงตอร์ปิโดขนาด
533 มม.จำนวน 5 ท่อยิง
คลังแสงในเรือสามารถจัดเก็บตอร์ปิโดได้ 4 นัด จำนวนรวมที่ S800
แบกได้จึงเท่ากับ 9 นัด
เรือดำน้ำรุ่นดีเซล-ไฟฟ้ารุ่นใหม่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล
V-batt
เทอร์โบชาร์จ 12 สูบ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบซิงโครนัส และแบตเตอรี่จำนวน
2 ชุดตามปรกติ โดยมีระบบ AIP Fuel cell
จำนวน 2 โมดุลให้กำลังรวม 70 kW ความเร็วสูงสุดที่ใต้น้ำมากกว่า 15 นอต ความเร็วสูงสุดที่ใต้น้ำโดยใช้ระบบ AIP คือ 4.5
นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 4,500 ไมล์ทะเล ออกทะเลได้นานสุด 30 วัน ปฏิบัติการใต้น้ำต่อเนื่องนานสุด
7 วัน ใช้ลูกเรือ 18 นาย รองรับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษ 8
นายหรือ 2 ทีม
จากข้อมูลขั้นต้นเรือดำน้ำรุ่นใหม่ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซลตามปรกติ
ภาพประกอบที่สามผู้เขียนแอบจิ๊กมาจากเว็บเพจกัปตันนีโม
ขอบคุณตรงนี้เลยเดี๋ยวใส่ลิงก์อ้างอิงไว้ท้ายบทความ รูปทรงเปลี่ยนแปลงไปแลดูคล้ายคลึงเรือดำน้ำ
Type 212NFS ภาพประกอบที่สามภาพบนมองเห็นหางเสือเรือรูปตัว
X ทำงานร่วมกับใบจักรชนิด 7 แฉก
อันเป็นมรดกตกทอดจากโครงการร่วมระหว่างสองชาติในอดีต หอบังคับการย้ายมาอยู่กลางเรือเกือบพอดิบพอดี
Diving plane หรือ fairwater planes ย้ายจากหอบังคับการมาอยู่หัวเรือด้านบน
อันเป็นตำแหน่งยอดนิยมเรือดำน้ำขนาดเล็กรุ่นใหม่ของจีนติดจุดนี้เช่นเดียวกัน
ภาพประกอบที่สามภาพล่างแสดงให้เห็นภายในตัวเรืออย่างคร่าวๆ
หัวเรือด้านบนติดตั้งโซนาร์ตามปรกติ ถัดไปสีแดงคือห้องพักลูกเรือ พื้นที่ด้านล่างคือท่อยิงตอร์ปิโดขนาด
533
มม.จำนวน 5 ท่อยิงกับคลังแสงเก็บตอร์ปิโดได้อีก
4 นัด กลมๆ ตรงโคนหอบังคับการคือระบบโทรศัพท์ใต้น้ำ
พื้นที่ส่วนท้ายเรือคือเครื่องยนต์ดีเซล V-batt เทอร์โบชาร์จ
12 สูบ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบซิงโครนัส ระบบ AIP แบบ Fuel
cell ขนาด 70 kW และระบบมอเตอร์ขับเคลื่อนเชื่อมต่อมายังใบจักรชนิด
7 แฉก
อ้าว…แล้วแบตเตอรี่เรือดำน้ำ S800 เวอร์ชันอิตาลีอยู่ที่ไหน?
เรือดำน้ำ S800
เวอร์ชันรัสเซีย/อิตาลี VS เรือดำน้ำ S800 เวอร์ชันอิตาลี
ภาพประกอบที่สี่คือการเปรียบเทียบระหว่างแฟนเก่ากับกิ๊กใหม่
ภาพบนคือเรือดำน้ำ S800 ปี 2008 ส่วนภาพล่างคือเรือดำน้ำ S800 ปี 2023 รุ่นใหม่ล่าสุด ผู้เขียนขอใช้ข้อมูล S1000 ในการอ้างอิงให้กับ
S8000 ปี 2008 เพราะเรือสองลำเหมือนกันเกือบทั้งหมดยกเว้นความยาว
ฉะนั้นข้อมูลอาจผิดพลาดได้ขอชี้แจงให้ชัดเจน
S800
ปี 2008 เส้นผ่าศูนย์กลางตัวเรือทนความดัน 5.5
เมตร มากกว่า S800 ปี 2023 ถึง 1 เมตร ความยาวไม่มีข้อมูลไม่อาจเปรียบเทียบได้
จำนวนท่อยิงตอร์โดมากกว่า (6 ท่อยิงกับ 5 ท่อยิง) จำนวนตอร์ปิโดมากกว่า (14 นัดกับ 9 นัด) หากพิจารณาเฉพาะการติดอาวุธเรือเชื้อสายโรมานอฟสกี้ทำคะแนนได้ดีกว่า
แต่ถ้าเปรียบเทียบจากเทคโนโลยีเรือเชื้อสายมัลดีนี่ทำคะแนนทิ้งห่าง
โดยเฉพาะการออกแบบตัวเรือลดการตรวจจับจากโซนาร์ ทำให้เรือดูแตกต่างอย่างชัดเจนจนกลายเรือลำใหม่ไปเลย
ท้ายเรือยังคงใช้งานหางเสือเรือรูปตัว X ทำงานร่วมกับใบจักรชนิด
7 แฉกต่อไป ความยาวท้ายเรือสั้นกว่ารูปทรงอ้วนกลมกว่าตามสมัยนิยม
ผู้เขียนคาดเดาว่าระบบขับเคลื่อนประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน
ฉะนั้นเรือดำน้ำ S800 ปี 2023 จะใช้เครื่องยนต์ดีเซล V-batt เทอร์โบชาร์จ 12 สูบจำนวน
2 ตัว ให้กำลังประมาณ 715 kWหรือใกล้เคียง
ใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบซิงโครนัสจำนวน 2 ตัว
ให้กำลังประมาณ 650 kWหรือใกล้เคียง เป็นข้อมูลจากการคาดเดาผู้เขียนถึงใส่คำว่าหรือใกล้เคียงเข้ามาในบทความ
บริษัท
Fincantieri นำแบบเรือ S800 จากโครงการร่วมระหว่างสองชาติมาพัฒนาด้วยตัวเองจริง
และนำแนวคิด ประสบการณ์ กับเทคโนโลยีที่ตัวเองพัฒนาเรือดำน้ำชั้น Type 212A และ Type 212NFS
มาปรับปรุงเรือลำนี้จริง ผู้เขียนใช้คำว่า All New เรือใหม่ทั้งลำก็คงไม่ใช่
ใช้คำว่า Facelift เหล้าเก่าในขวดใหม่ก็คงไม่เหมาะ
สงสัยต้องใช้คำว่าเกิดใหม่จากเถ้าถ่านเหมือนนกฟีนิกส์กระมังครับ
จากภาพประกอบมองเห็นรายละเอียดภายใน
มากเพียงพอที่จะทำความรู้จักเรือได้ในระดับหนึ่ง
เพียงแต่ผู้เขียนยังคงติดใจสงสัยว่า…แบตเตอรี่เรือดำน้ำ
S800 เวอร์ชันอิตาลีอยู่ที่ไหน?
การค้นหาแบตเตอรี่เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ
วิธีง่ายที่สุดคือนำภาพเรือดำน้ำที่มีการออกใกล้เคียงมาเปรียบเทียบ
ภาพประกอบที่ห้าคือโครงสร้างเรือดำน้ำชั้น
Type 212A ที่ทุกคนคุ้นเคยกันดี เรือลำนี้ใช้ระบบ AIP
แบบ Fuel cell และเป็นต้นแบบที่ Fincantieri นำมาพัฒนาเรือดำน้ำ S800 เวอร์ชันตัวเงอง แบตเตอรี่
Type 212A อยู่บริเวณหัวเรือค่อนมาตรงกลาง
ใต้พื้นที่ Living Area อันเป็นส่วนคลังแสงจัดเก็บตอร์ปิโด
ที่อยู่ชั้นถัดไปคือพื้นที่สำหรับห้องพักลูกเรือ พบจุดติดตั้งบนเรือต้นแบบแล้วการค้นหาบนเรือใหม่ย่อมทำได้ไม่ยาก
ภาพประกอบที่หกเป็นการเปรียบเทียบระหว่างเรือดำน้ำ
Type 212A ภาพบน กับเรือดำน้ำ S800
เวอร์ชันอิตาลีปี 2023 ภาพล่าง การติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ
ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน แบตเตอรี่ Type 212A อยู่ชั้นล่างสุดบริเวณหัวเรือค่อนมาตรงกลาง ฉะนั้นแบตเตอรี่ S800 ต้องอยู่ชั้นล่างสุดบริเวณหัวเรือค่อนมาตรงกลาง
ภาพประกอบที่หกภาพล่าง
แบตเตอรี่คือสีฟ้าอ่อนยาวๆ ใต้คลังแสงไล่มาถึงกลางเรือ และเป็นไปได้ว่าจะใช้แบตเตอรี่
Lithium-Ion เพราะเรือดำน้ำ Type 212NFS ที่บริษัท
Fincantieri กำลังจะสร้างให้กับกองทัพเรืออิตาลี
เปลี่ยนมาใช้งานแบตเตอรี่ Lithium-Ion แล้ว S800 จึงสมควรใช้งานรุ่นเดียวกัน
เรามาตรวจสอบอุปกรณ์ภายในตัวเรือ
S800
กันบ้าง ที่เห็นเป็นแท่งยาวๆ ท้ายเรือด้านบนคือถังออกซิเจนเหลว ตำแหน่งเดียวกับ
Type 212A เพียงแต่ขนาดไม่เท่ากัน หน้าหอบังคับการลักษณะคล้ายตอร์ปิโดเบาคือถังไฮโดรเจน
ต่างจาก Type 212A
ที่ติดถังไฮโดรเจนรอบตัวเรือรูปวงกลมตามภาพประกอบที่ห้า จุดติดตั้งระบบ AIP
แบบ Fuel cell
จะอยู่ใต้ถังออกซิเจนเหลวบริเวณหัวถัง ตำแหน่งเดียวกับ Type 212A เพราะลอกการบ้านกันมา พื้นที่ Living Area อันเป็นส่วนคลังแสงกับห้องพักลูกเรือยังเหมือนกันราวกับฝาแฝด
Fincantieri ใช้แนวคิด ประสบการณ์ และเทคโนโลยีจากเรือดำน้ำชั้น Type 212A และ Type 212NFS มาใส่ในเรือดำน้ำรุ่นส่งออกลำใหม่ อุปกรณ์ภายในเรือก็เลยเหมือนกันมากกว่า 80
เปอร์เซ็นต์ คำพูดท่านซีอีโอเรื่อง S800 มีประสิทธิภาพเทียบเท่าเรือดำน้ำ
Type 212NSF ใกล้เคียงความจริงมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์เช่นเดียวกัน
แต่ก็แค่ 80 เปอร์เซ็นต์ไม่สามารถใช้งานแทน
Type 212NSF โดยตรงได้
สิ่งที่อาจเป็นปัญหาตัดแข้งตัดขาเรือดำน้ำ
S800
เรือทุกลำล้วนมีเจ้ากรรมนายเวรแตกต่างกันออกไป
ไม่มีเรือลำไหนสมบูรณ์ทุกอย่างรวมทั้งเรือดำน้ำใหม่เอี่ยมจากอิตาลี
เรือทุกลำต้องพบอุปสรรคขวากหนามและต้องฝ่าฟันให้สำเร็จ
หากทำไม่สำเร็จย่อมขายไม่ออกและกลายเป็นบุคคลผู้โลกลืมในท้ายที่สุด
ผู้เขียนให้ความเห็นตัวเองเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้
3
หัวข้อสำคัญ
1.ราคา
เรือที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์ทันสมัยย่อมมีราคาแพง
เมื่อเรือราคาแพงย่อมเสียเปรียบคู่แข่งขันเป็นธรรมดา บริษัท Fincantieri ต้องตั้งราคา S800 ให้เหมาะสม
ถึงจะได้รับการคัดเลือกจากปากีสถานหรือชาติอื่นที่สนใจ
2.การซ่อมบำรุง
เรือที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์ทันสมัยย่อมดูแลซ่อมบำรุงยากกว่าเดิม
เมื่อเรือมีค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงแพงย่อมเสียเปรียบคู่แข่งขันเป็นธรรมดา บริษัท Fincantieri ต้องตั้งราคาอะไหล่และการบริการหลังการขายให้เหมาะสม
ถึงจะได้รับการคัดเลือกจากปากีสถานหรือชาติอื่นที่สนใจ
3.ลำเดียวของโลก
โดยทั่วไปสินค้าจากอิตาลีจะมีใช้งานในกองทัพตัวเอง
เพราะถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับความต้องการจากกองทัพ บังเอิญเรือดำน้ำ S800
เป็นสินค้าส่งออกตั้งแต่สมัยโครงการร่วมระหว่างสองชาติ
กองทัพเรืออิตาลีไม่มีใช้งานทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
หากปากีสถานหรือชาติใดก็ตามอยากซื้อ S800 ไปเสริมทัพ ต้องพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบก่อนเซ็นสัญญาจ่ายเงินว่า
ยอมรับการเป็นชาติเดียวของโลกหรือลำเดียวของโลกได้หรือไม่
เฉพาะความเห็นสุดท้ายเรือดำน้ำ
STM
500 ค่อนข้างได้เปรียบ
บริษัทได้รับคำสั่งสร้างเรือลำแรกจากลูกค้าไม่เปิดเผยรายชื่อแล้ว
หากปากีสถานตัดสินใจเลือกจะเป็นชาติที่สองของโลก ยกเว้นแค่เพียงลูกค้าไม่เปิดเผยรายชื่อรายดังกล่าวคือปากีสถาน
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม…ผู้เขียนยังคงติดใจเรื่องหนึ่ง เครื่องยนต์ดีเซลเรือดำน้ำ STM 500 อยู่ที่ไหน?
+++++++++++++++++++++++
อ้างอิงจาก
https://en.defenceturk.net/stm-500-mini-submarine-to-join-pakistans-swas-program/
https://defence.pk/pdf/threads/shallow-water-submarines-the-case-for-pakistan.675973/
https://www.adnec.ae/en/eventlisting/international-defence-exhibition-and-conference-idex-2023
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=746431753504879&id=100044141844026&mibextid=Nif5oz
https://www.sec.gov/Archives/edgar/data/804154/000119312507183355/dex991.htm
https://www.fincantieri.com/en/products-and-services/naval-vessels/s1000/
http://pakmade.blogspot.com/p/submar.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น