วันพุธที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2565

U.S. Navy Carrier Air Wing

          บทความนี้เป็นความอยากรู้ของผู้เขียนอย่างปุบปับว่า อากาศยานบนเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์กองทัพเรืออเมริกา ประกอบไปด้วยเครื่องบินอะไรจำนวนเท่าไรและใช้ทำภารกิจใด เนื่องจากไม่มีเหตุผลอย่างชัดเจนย่อมไม่มีการปูเรื่องหรือเท้าความถึงอดีตกาล ฉะนั้นแล้วอย่ามัวพิรี้พิไรเข้าสู่เนื้อหากันเลยดีกว่า

ยุค 60

ภาพประกอบที่ 1 คือเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ลำแรกของกองทัพเรืออเมริกา USS Enterprise (CVN-65) เข้าประจำการวันที่ 25 พฤศจิกายน 1961 ภาพใบนี้ถ่ายในปี 1962 หรือเข้าประจำการได้เพียงปีเดียว เรือบรรทุกเครื่องบินระวางขับน้ำ 93,284 ตันมีอากาศยานชนิดต่างๆ ดังนี้

1.เครื่องบินขับไล่ (VF) F-4 Phantom II จำนวน 1 ฝูง 12 ลำ กับเครื่องบินขับไล่ F-8 Crusader จำนวน 1 ฝูง 12 ลำ เรือบรรทุกเครื่องบินบางลำยังคงประจำการเครื่องบินขับไล่รุ่นเก่า F-3D Skyknight ซึ่งสามารถติดอาวุธนำวิถีอากาศสู่อากาศระยะเกินสายตา AIM-7 Sparrow ได้แล้ว

2.เครื่องบินโจมตี (VA) A-4 Skyhawk จำนวน 3 ฝูงบิน 36 ลำ ในภาพประกอบจะจอดเรียงกันที่หัวเรือฝั่งขวา ส่วนฝั่งซ้ายคือ F-4 Phantom II ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ากัน ส่วนแถวขวามือกลางเรือคือ F-8 Crusader ซึ่งฝรั่งเศสจัดหาไปใช้งานบนเรือตัวเอง A-4 Skyhawk ขนาดกะทัดรัดราคาไม่แพงค่าซ่อมบำรุงถูก จึงถูกกองทัพเรือหลายชาติใช้งานลากยาวมาจนถึงปี 2020 ก่อนหายหน้าไปอย่างถาวรเมื่อเรือบรรทุกเครื่องบินของบราซิลต้องปลดประจำการ

3.เครื่องบินโจมตีขนาดใหญ่ (VAH) A-5 Vigilante จำนวน 1 ฝูงบิน 10-12 ลำ ในภาพประกอบจอดโดดเด่นกลางเรือไล่ไปจนถึงสะพานเดินเรือจำนวน 3 ลำ เครื่องบินลำนี้ใหม่มากเข้าประจำการพร้อมกับ USS Enterprise (CVN-65) แต่อายุใช้งานไม่ยาวนานสักเท่าไรเนื่องจากกองทัพเรือได้ปรับเปลี่ยนยุทธวิธี

4.เครื่องบินเตือนภัยล่วงหน้า (VAW) E-2A Hawkeye จำนวน 4 ลำ เห็นจานเรดาร์กลมๆ กันบ้างไหมเอ่ย

5.เครื่องบินลาดตระเวนถ่ายภาพ (VFP) RF-8G Crusader จำนวน 4 ลำ

นอกจากอากาศยานประจำเรือบรรทุกเครื่องบินแล้ว ยังมีเครื่องบินลำเลียง (VR) C-1 Trader บินไปกลับระหว่างสนามบินกับเรือบรรทุกเครื่องบิน เพื่อรับส่งเจ้าหน้าที่หรือลำเลียงยุทธปัจจัยต่างๆ มาที่เรือ รวมทั้งบางภารกิจมี C-1 Trader ประจำการชั่วคราวบนเรือจำนวน 2 ลำ

จำนวนรวมอากาศยานทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 70 ลำ

ยุค 70

            ภาพประกอบที่ 2 คือเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Enterprise (CVN-65) ระหว่างปี 1973 เครื่องบินขับไล่ F-8 Crusader เครื่องบินโจมตี A-4 Skyhawk รวมทั้งเครื่องบินโจมตีขนาดใหญ่ A-5 Vigilante ปลดประจำการแล้ว อากาศยานประจำเรือบรรทุกเครื่องบินประกอบไปด้วย

1.เครื่องบินขับไล่ (VF) F-4 Phantom II จำนวน 2 ฝูง 24 ลำ หมดยุคสมัย F-8 Crusader ของเรืออากาศเอก คาซามะ ชินไปเสียแล้ว เครื่องบินขับไล่ 2 เครื่องยนต์รุ่นใหม่จอดเรียงรายบริเวณท้ายเรือ มีใช้งานทั้งกองทัพเรือและกองทัพอากาศอเมริกา แต่มีผลงานไม่โดดเด่นสักเท่าไรทั้งสงครามเวียดนามหรือสงครามยมคิปปูร์

2.เครื่องบินโจมตี (VA) A-7 Corsair II จำนวน 2 ฝูง 24 ลำ จอดเรียงรายตั้งแต่หัวเรือไล่มาถึงกลางเรือ รูปร่างหน้าตาหากมองผิวเผินอาจนึกว่า F-8 Crusader แต่สั้นกว่าอ้วนกว่ากันพอสมควร ฐานล้อหน้าอยู่ใต้ห้องนักบินขณะที่ฐานล้อหน้า F-8 Crusader อยู่เลยไปอีกหนึ่งฟุตเศษ บรรทุกระเบิดได้มากกว่า A-4 Skyhawk พอสมควร

3.เครื่องบินโจมตีทุกสภาวะอากาศ (VA) A-6 Intruder จำนวน 1 ฝูง 12 ลำ ออกแบบให้ใช้งานบนเรือบรรทุกเครื่องบินโดยเฉพาะ ใช้นักบิน 2 นายขนาดเล็กกว่าเครื่องบินโจมตี A-5 Vigilante ก็จริง แต่คล่องตัวกว่าทันสมัยกว่าและติดอาวุธได้หลากหลายกว่า ในภาพจอดอยู่ท้ายเรือ 2 ลำ หัวเรือ 2 ลำ รวมทั้งหน้าสะพานเดินเรืออีกหลายลำ

4.เครื่องบินเตือนภัยล่วงหน้า (VAW) E-2A Hawkeye จำนวน 4-6 ลำ ในภาพมองเห็น 2 ลำบริเวณหัวเรือ

5.เครื่องบินลาดตระเวนสอดแนม (RVAH) RA-5C Vigilante จำนวน 4 ลำ ในภาพมองเห็น 3 ลำจอดติดสะพานเดินเรือ ปรับปรุงมาจากเครื่องบินโจมตีขนาดใหญ่ A-5 Vigilante ซึ่งมีระยะเวลาประจำการน้อยนิด

6.เครื่องบินสงครามอิเล็กทรอนิกส์ (VAQ) EKA-3B Skywarrior จำนวน 4 ลำ ในภาพไม่ปรากฏบนดาดฟ้า

7.เฮลิคอปเตอร์ลำเลียง (HC) SH-3A Sea King จำนวน 6 ลำ กองทัพเรืออเมริกาเริ่มใช้งานเฮลิคอปเตอร์รุ่นใหม่แล้ว Sea King ติดตั้งอุปกรณ์ปราบเรือดำน้ำรุ่นใหม่ทันสมัยได้ แต่ได้รับภารกิจลำเลียงค้นหาและกู้ภัยบนเรือบรรทุกเครื่องบิน เนื่องจากยุค 60 ถึง 70 กองทัพเรืออเมริกามีเรือบรรทุกเครื่องบินปราบเรือดำน้ำจำนวนหนึ่ง

เครื่องบินลำเลียง (VR) C-1 Trader ถูกปรับเปลี่ยนมาใช้งานรุ่น C-2 Greyhound

            นอกจากอากาศยานประจำการบนเรือตามปรกติแล้ว เรือบางลำยังมีเครื่องบินลาดตระเวน RF-8G Crusader กับเครื่องบินเติมเชื้อเพลิง KA-3B Skywarrior เพิ่มเติมเข้ามาจำนวนหนึ่ง ถึงแม้เครื่องบินโจมตี A-4 Skyhawk หายไปจาก USS Enterprise (CVN-65) แล้ว แต่ยังคงประจำการกับฝูงบินนาวิกโยธินอีกนานพอสมควร รวมทั้งบนเรือบรรทุกเครื่องบินปราบเรือดำน้ำจากยุคสงครามโลกครั้งที่สองอีกหลายลำ

จำนวนรวมอากาศยานทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 80-90 ลำ

USS Enterprise (CVN-65) ปลดประจำการวันที่ 1 ธันวาคม 2012

ยุค 80

            ภาพประกอบที่ 3 คือเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Carl Vinson (CVN-70) ถูกพัฒนาให้ทันสมัยมากกว่า USS Enterprise (CVN-65) พอสมควร เรือเข้าประจำการวันที่ 13 มีนาคม 1982 ปัจจุบันยังคงประจำการอยู่ในทะเลจีนใต้ ภาพถ่ายใบนี้ถ่ายในเดือนธันวาคม 1986 อากาศยานประจำเรือบรรทุกเครื่องบินประกอบไปด้วย

1.เครื่องบินขับไล่ (VF) F-14 Tomcat จำนวน 2 ฝูง 24 ลำ เจ้าแมวอ้วนของพี่ทอม ครุซ จอดเรียงรายอยู่ที่ท้ายเรือ เพราะสามารถปรับความกว้างของปีกได้จึงไม่จำเป็นต้องพับปีกขณะลงลิฟต์

2.เครื่องบินโจมตี (VA) A-7 Corsair II จำนวน 2 ฝูง 24 ลำ จอดเรียงรายบริเวณหัวเรือฝั่งขวามือ

3.เครื่องบินโจมตีทุกสภาวะอากาศ (VA) A-6E Intruder จำนวน 1 ฝูง 10-12 ลำ จอดเรียงรายบริเวณหัวเรือฝั่งซ้ายมือ

4.เครื่องบินเติมเชื้อเพลิง KA-6D Intruder จำนวน 4 ลำ อยู่ฝูงบินเดียวกับ A-6E Intruder

5.เครื่องบินเตือนภัยล่วงหน้า (VAW) E-2C Hawkeye จำนวน 4-6 ลำ

6.เครื่องบินสงครามอิเล็กทรอนิกส์ (VAQ) EA-6E Intruder จำนวน 4 ลำ

7.เครื่องบินตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ (VS) S-3 Viking จำนวน 10 ลำ จอดบริเวณกลางเรือมองเห็นชัดเจน

8.เฮลิคอปเตอร์ลำเลียง (HC) SH-3A Sea King จำนวน 6 ลำ

สาเหตุที่เครื่องบินลาดตระเวนปราบเรือดำน้ำ S-3 Viking ถูกเพิ่มเติมเข้ามา 1 ฝูง เนื่องจากกองทัพเรืออเมริกาทยอยปลดประจำการเรือบรรทุกเครื่องบินปราบเรือดำน้ำ ส่งผลให้เรือทำภารกิจปราบเรือดำน้ำได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งทำภารกิจปราบเรือผิวน้ำได้ดียิ่งขึ้นเช่นกัน อันเนื่องมาจาก A-6E Intruder ได้รับการติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ AGM-84A Harpoon เรียบร้อยแล้ว

วันที่ 18 เมษายน 1988 เครื่องบิน A-6E Intruder จำนวน 2 ลำยิง Harpoon จำนวน 2 นัด กับอาวุธนำวิถีเลเซอร์ AGM-123 Skipper II จำนวน 4 นัด รวมทั้งระเบิดลูกปราย Rockeye อีก 2 นัด ใส่เรือฟริเกต IRIS Sahand กองทัพเรืออิหร่าน ส่งผลให้เรือเกิดความเสียหายอย่างหนักและจมในเวลาต่อมา ก่อนหน้านี้ 2 ปี A-6E Intruder เคยใช้ Harpoon โจมตีเรือตรวจการณ์ของลิเบียจำนวน 2 ลำ เพียงแต่ไม่ได้นับแต้มเพราะไม่มีหลักฐานมากเพียงพอ

นอกจากอากาศยานประจำการบนเรือตามปรกติแล้ว เรือบางลำยังมีเครื่องบินลาดตระเวน RF-8G Crusader กับเครื่องบินตรวจการณ์สอดแนม (VQ) EA-3B Skywarrior เพิ่มเติมเข้ามาจำนวนหนึ่ง ในภาพมองเห็น EA-3B ลำหนึ่งจอดอยู่ตรงกลางระหว่างแถว A-6 กับ A-7

จำนวนรวมอากาศยานทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 86-92 ลำ สมน้ำสมเนื้อเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ระวางขับน้ำ 101,300 ตัน

ยุค 90

            ภาพประกอบที่ 4 คือเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Carl Vinson (CVN-70) ระหว่างปี 1998 อันเป็นช่วงเวลาเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่บนเรือบรรทุกเครื่องบิน กองทัพเรืออเมริกาปลดประจำการเครื่องบินโจมตีทุกรุ่น แล้วนำเครื่องบินขับไล่โจมตี F/A-18 C/D Hornet เข้ามาประจำการทดแทน รวมทั้งแทนที่เครื่องบินขับไล่ F-14 Tomcat ซึ่งสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เพียงแต่ในภาพประกอบ F/A-18 ยังทดแทนเครื่องบินโจมตีไม่ครบทุกฝูง

อากาศยานประจำเรือบรรทุกเครื่องบินประกอบไปด้วย

1.เครื่องบินขับไล่ (VF) F-14 Tomcat จำนวน 1 ฝูง 12 ลำ มีเรือบรรทุกเครื่องบินเพียง 2 จาก 10 ลำที่ยังคงมี F-14 Tomcat จำนวน 2 ฝูง ในอนาคตกองทัพเรือจะนำ F/A-18 E/F Super Hornet มาใช้งานแทนจนครบทุกลำ

2.เครื่องบินขับไล่โจมตี (VFA) F/A-18 C/D Hornet จำนวน 2 ฝูง 24 ลำ เข้ามาแทนที่เครื่องบินโจมตี A-7 Corsair II ซึ่งถูกขายต่อราคาประหยัดให้กับพันธมิตรรวมทั้งกองทัพเรือไทย ในภาพประกอบจอดอยู่กลางเรือปะปนร่วมกับเครื่องบินขับไล่และเครื่องบินโจมตี รูปทรงทันสมัยใช้ 2 เครื่องยนต์แต่กินน้ำมันน้อยกว่า F-14 พอสมควร

F/A-18 C/D Hornet ทำภารกิจได้ทั้งขับไล่สกัดกั้นและโจมตีทิ้งระเบิด โดยนำเครื่องบินต้นแบบ YF-17 Cobra ซึ่งพ่ายแพ้ต่อ YF-16 ในการคัดเลือกเครื่องบินขับไล่ขนาดเล็กกองทัพอากาศ มาปรับปรุงเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับการใช้งานบนเรือบรรทุกเครื่องบิน ทั้งเรื่องความแข็งแรงของแอร์เฟรมและการขยายขนาดถังน้ำมัน เป็นการปลุกผีส่งผลให้เครื่องบินที่กองทัพอากาศเมินมีอายุยืนยาวจนถึงปัจจุบัน เพียงแต่รูปร่างหน้าตาผิดแปลกไปจากรุ่นเดิมพอสมควร

F/A-18 A/B Hornet เข้าประจำการกองทัพเรืออเมริกาปี 1980 ต่อมาในปี 1987 จึงเป็นคิวของ F/A-18 C/D Hornet นอกจากจะมีการปรับปรุงโน่นนั่นนี่ให้ทันสมัยมากกว่าเดิม F/A-18 D สองที่นั่งยังสามารถทำการรบได้ดีเทียบเท่า F/A-18 C รุ่นที่นั่งเดี่ยว และดีกว่ากันอย่างชัดเจนในภารกิจโจมตีทิ้งระเบิดตอนกลางคืน

ผู้เขียนเขียนถึงแตนแตนอาละวาดเยอะพอสมควร เนื่องจากในอนาคต F/A-18 มีบทบาทมากกว่าเครื่องบินทุกรุ่น เพราะเครื่องบินมีความอเนกประสงค์ไม่แตกต่างจาก F-16 A/B Fighting Falcon ซึ่งปัจจุบันยังคงมีขายเช่นกัน ต่างกันแค่เพียง F-16 Black 70 รูปร่างหน้าตาใกล้เคียงรุ่นแรกสุด และยังคงได้รับความนิยมทั่วโลกมีคำสั่งซื้อทุกปี

            3.เครื่องบินโจมตีทุกสภาวะอากาศ (VA) A-6E Intruder จำนวน 1 ฝูง 10-12 ลำ จะถูกแทนที่ด้วย F/A-18 C/D Hornet ในปีถัดไป ส่วนเครื่องบินเติมเชื้อเพลิง KA-6D Intruder ถูกแทนที่ด้วย Air Refueling Pod หรือ Aerial Refueling Store บนเครื่องบิน F/A-18 โดยถูกเรียกขานสั้นๆ ว่า Buddy Hornet

4.เครื่องบินเตือนภัยล่วงหน้า (VAW) E-2C Hawkeye จำนวน 4 ลำ

5.เครื่องบินสงครามอิเล็กทรอนิกส์ (VAQ) EA-6E Intruder จำนวน 4 ลำ

6.เครื่องบินตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ (VS) S-3 Viking จำนวน 8 ลำ

7.เฮลิคอปเตอร์ลำเลียง (HC) HH-60H Rescue Hawk จำนวน 2 ลำ กับเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ (HS) SH-60F Oceanhawk จำนวน 4 ลำ

8.เครื่องบินตรวจการณ์สอดแนม (VQ) EA-3B Skywarrior ยังมีใช้งานเช่นกันแต่ค่อนข้างน้อยนิด

จำนวนรวมอากาศยานทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 70 ลำ

จำนวนอากาศยานลดลงจากเดิมอย่างชัดเจน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและกลุ่มวอร์ซอ กองทัพเรืออเมริกาถูกตัดงบประมาณก้อนใหญ่เหมือนดั่งเหล่าทัพอื่น จำเป็นต้องลดรุ่นและจำนวนอากาศยานประจำเรือบรรทุกเครื่องบิน รวมทั้งกำลังก้าวเข้าสู่ยุคเครื่องขับไล่อเนกประสงค์อย่างเต็มตัว

ปี 201x

            ภาพประกอบที่ 5 คือเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Carl Vinson (CVN-70) ระหว่างปี 2016 ซึ่งจัดเป็นยุคแตนอาละวาดครองเมืองอย่างแท้จริง บนเรือ

1.เครื่องบินขับไล่โจมตี (VFA) F/A-18 C/D Hornet กับ F/A-18 E/F Super Hornet จำนวน 4 ฝูง 44 ลำ

ในภาพประกอบส่วนใหญ่จะเป็น Super Hornet ซึ่งยาวกว่า Hornet ประมาณ 3 ฟุตและหนากว่ากันพอสมควร ข้อแตกต่างชัดเจนระหว่างเครื่องบินสองรุ่นหากมองจากมุมบน ให้ผู้อ่านสังเกตเครื่องบิน 3 ลำที่จอดเรียงกันอยู่ทางกราบซ้ายของเรือ ลำบนสุดคือ F/A-18 F Super Hornet สองที่นั่ง โคนปีกใต้ห้องนักบินจะกางมากกว่าและทาสีเข้มรูปสามเหลี่ยม ส่วนอีก 2 ลำคือ F/A-18 C Hornet ที่นั่งเดี่ยว โคนปีกกางออกนิดเดียวทาสีอ่อนตามปรกติ

            2.เครื่องบินสงครามอิเล็กทรอนิกส์ (VAQ) EA-18G Growler จำนวน 5 ลำ เป็นเครื่องบินตระกูลเดียวกับ F/A-18 F Super Hornet สองที่นั่ง ข้อแตกต่างสำคัญคือปลายปีกติดอุปกรณ์สงครามอิเล็กทรอนิกส์ ในภาพประกอบจะจอดเรียงกันจำนวน 3 ลำที่หัวเรือ ที่ผู้เขียนบังเอิญทราบเพราะแอบดูภาพถ่ายใบอื่นเรียบร้อยแล้ว

3.เครื่องบินเตือนภัยล่วงหน้า (VAW) E-2C Hawkeye จำนวน 4 ลำ

4.เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ (HS) MH-60R Seahawk จำนวน 11 ลำ

5.เฮลิคอปเตอร์ลำเลียงปราบเรือผิวน้ำ (HC) MH-60S Knighthawk จำนวน 8 ลำ

            6.เครื่องบินลำเลียง (VR) C-2 Greyhound จำนวน 2 ลำ บินไปบินกลับระหว่างเรือกับสนามบิน

            นอกจากเครื่องบินโจมตีทุกรุ่นจะปลดประจำการอย่างถาวร เครื่องบินตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ S-3 Viking ยังถูกแทนที่ด้วยเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ MH-60R Seahawk ในจำนวนมากกว่า ส่วน S-3 Viking ถูกส่งไปจัดเก็บในทะเลทรายเหมือนดั่ง F-14 Tomcat โดยไม่มีใครทราบว่าจะกลับมาโบยบินได้อีกหรือไม่

            จำนวนรวมอากาศยานทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 70 ลำ

            เรือบรรทุกเครื่องบิน USS Carl Vinson (CVN-70) ในปี 2016 ถูกปรับปรุงใหม่เช่นกัน แท่นยิง Mk.29 สำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ESSM ลดลงจาก 3 แท่นยิงเหลือเพียง 2 แท่นยิง เรดาร์ควบคุมการยิง Mk.95 ลดลงจาก 6 ตัวเหลือเพียง 4 ตัว แล้วใส่แท่นยิง Mk.49 สำหรับระบบป้องกันตนเองระยะประชิด RAM จำนวน 2 แท่นยิงเพิ่มเติมเข้ามา ส่วนระบบป้องตนเองระยะประชิด Phalanx มีจำนวน 2 ระบบเท่าเดิม

เรือติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ AN/SPQ-9B ไว้ที่บนสุดเสากระโดง เรดาร์ตัวนี้ผู้เขียนดองเค็มบทความเป็นเวลา 4 ปีกว่าๆ เข้าไปแล้ว ตอนนี้ลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่าวางพล็อตเรื่องเอาไว้เช่นไรฮา

ปี 202x

            ปัจจุบันกองทัพเรืออเมริกาประจำการ F-35C Lightning II จำนวน 1 ฝูงบินบนเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Carl Vinson (CVN-70) เครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ยุคที่ 5 รุ่นใหม่ทันสมัยเข้ามาทดแทนเครื่องบิน F/A-18 C/D Hornet ฝูงสุดท้ายของกองทัพเรือ ซึ่งปลดประจำการจากเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Carl Vinson (CVN-70) ช่วงต้นปี 2019 เป็นลำสุดท้ายของกองทัพ F-35C จะเข้ามาทดแทน F/A-18 E/F Super Hornet เช่นกันเพียงแต่ไม่ทั้งหมด

            กองทัพเรืออเมริกาสั่งซื้อ F/A-18 E/F Super Hornet Block 3 จำนวน 78 ลำเข้าประจำการ แตนอาละวาดตัวใหม่ติดตั้งถังน้ำมันแนบลำตัวเหมือนดั่ง F-16 Block 70 จะทำงานร่วมกับ F-35C และ EA-18G Growler รวมทั้งรุ่นเก่าอย่าง Super Hornet ขึ้นอยู่กับว่าภารกิจนั้นๆ ต้องการทำอะไรมีอันตรายมากน้อยแค่ไหน

            เครื่องบินลำเลียงเป็นอีกหนึ่งรุ่นที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง C-2 Greyhound รับใช้ชาตินานมากแล้วควรพักผ่อนตลอดกาล กองทัพเรือจึงได้สั่งซื้อเครื่องบินลำเลียงขึ้นลงแนวดิ่ง CMV-22B Osprey มาทำหน้าที่แทน อีกไม่ช้าไม่นานจะเข้าประจำการอย่างจริงๆ จังๆ  เพียงแต่ว่ารุ่นปราบเรือดำน้ำคงไม่มาเพราะแพงเกินไป

อากาศยานไร้คนขับเติมเชื้อเพลิง MQ-25 Stingray ก็เป็นอีกรุ่นที่กำลังพัฒนา ต้นแบบลำที่หนึ่งกับลำจริงแตกต่างกันพอสมควร MQ-25 จะเป็นเครื่องบินบัดดี้ให้กับ F-35C ในการรบแถวหน้า มีโอกาสรอดตัวจากอาวุธทันสมัยฝ่ายตรงข้ามมากกว่าเครื่องบินรุ่นเก่า และถึงแม้ถูกยิงตกก็ไม่สูญเสียนักบินฝีมือดีแต่อย่างใด

กองทัพเรืออเมริกามีเรือบรรทุกเครื่องบินประมาณ 10 ลำ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้าประจำการและทำภารกิจทั่วโลก เป็นแสนยานุภาพ เวหานุภาพ และฐานทัพอากาศเคลื่อนที่อันทรงประสิทธิภาพ ปัจจุบันยังไม่มีอากาศยานไร้คนขับรุ่นติดอาวุธประจำการบนเรือ ดูเหมือนอเมริกายังไม่ได้สนใจพัฒนาอย่างเต็มตัว ชาติอื่นที่มีเรือบรรทุกเครื่องบินทั้งเล็กและใหญ่ก็เช่นเดียวกัน ความสนใจวนเวียนอยู่ที่ F-35B F-35C Super Hornet Block 3 หรือ Rafale M เท่านั้น ขนาดจีนยังได้พยายามพัฒนาเครื่องบินประจำเรือยุค 5 ด้วยตัวเอง มีแค่เพียงตุรกีที่อยากนำอากาศยานไร้คนขับมาใช้งานบนเรือ ไม่ใช่อะไรแค่อเมริกาไม่ยอมขาย F-35B ให้เท่านั้นเอง

บทความ U.S. Navy Carrier Air Wing จบลงสั้นๆ ห้วนๆ แต่เพียงเท่านี้ อากาศร้อนจัดโควิดระบาดดูแลตัวเองให้ดีนะครับ ไว้ผู้เขียนว่างกว่านี้จะเขียนบทความยาวกว่านี้ให้อ่านเน่อ ^__*

++++++++++++++++++++++++++++

อ้างอิงจาก

https://www.navysite.de/cvn/cvw.htm

https://classicnavalair.tumblr.com/post/153627258234/classicnavalair-hms-ark-royal-tied-up-at-norfolk

https://www.seaforces.org/usnships/cvn/CVN-65-USS-Enterprise.htm

https://www.seaforces.org/usnships/cvn/CVN-70-USS-Carl-Vinson.htm

https://www.ainonline.com/aviation-news/defense/2018-08-30/navy-builds-f-35c-iote-first-turkish-f-35-pilot-flies

https://www.autoevolution.com/news/us-navy-mq-25-stingray-tanker-drone-undergoes-testing-at-sea-177079.html#agal_5

https://www.seaforces.org/usnair/VRM/VRM-30.htm

https://twitter.com/CcibChris/status/1456895627263107073...

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น