วันอาทิตย์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

SeaFox Mine Disposal System

 

เรือหลวงหนองสาหร่าย ปฏิบัติภารกิจเป็นวันที่ 5 ส่งยานล่าทำลายทุ่นระเบิดสำรวจพื้นที่รอบท่อส่งน้ำมัน

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 พลเรือโท ปกครอง  มนธาตุผลิน เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารเรือ ในฐานะโฆษกกองทัพเรือได้เปิดเผยว่า กองทัพเรือ โดยทัพเรือภาคทื่ 1 ยังคงสนับสนุนการแก้ไขปัญหาน้ำมันดิบรั่วไหลที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง อย่างต่อเนื่องสำหรับวันนี้เป็นวันที่ 5 ของแผนปฏิบัติการ "ปิด-ดูด-อุด" ท่อน้ำมันรั่วใต้ทะเล เรือหลวงหนองสาหร่าย กองเรือทุ่นระเบิด กองเรือยุทธการ ซึ่งได้สนับสนุนทัพเรือภาคที่ 1 ในการปฏิบัติภารกิจ ได้ทำการส่งยานล่าทำลายทุ่นระเบิดใต้น้ำสำรวจใต้น้ำ ลงสำรวจท่อส่งน้ำมันบริเวณทุ่น SMP ยังไม่พบความผิดปกติ

สำหรับทาง บ.SPRC ได้เปิดเผยภารกิจจบลงที่ดูดน้ำมันค้างท่อ ได้ถึง 15,420 ลิตร จากที่คาดการณ์ไว้แต่เดิมว่ามีค้างท่อ 12,000 ลิตร เพราะมีน้ำมันค้างท่อมากเกินกว่าที่คาดการณ์  สรุปเนื้องาน คิดเป็น 40.2% จากที่ตั้งเป้าไว้ที่ 47.2% ของแผนงานโดยรวม 

นอกจาก เรือหลวงหนองสาหร่าย ที่ได้ปฏิบัติภารกิจในการส่งนักประดาน้ำ และยานล่าทำลายทุ่นระเบิดทำการสำรวจใต้ทะเลแล้ว ทัพเรือภาคที่ 1 ยังได้จัดเรือหลวงแสมสาร และเรือ ต.237 คอยสนับสนุนในการลาดตระเวน และการสนับสนุนการขจัดคราบน้ำมันเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินอีกด้วย และจะร่วมสนับสนุนจนกว่าภารกิจจะเสร็จสิ้น

++++++++++++++++++++++++++++

ข้อมูลด้านบนคือข่าวสารประจำวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565 ของเว็บเพจกองเรือยุทธการ Royal Thai Fleet กองทัพเรือส่งเรือหลวงหนองสาหร่ายสำรวจพื้นที่รอบท่อส่งน้ำมันเป็นวันที่ 5 โดยใช้ยานล่าทำลายทุ่นระเบิด Seafox จากเยอรมันในการตรวจสอบท่อส่งน้ำมันใต้ทะเล บทความนี้เรามาทำความรู้จักอุปกรณ์ชนิดนี้กันสักนิด

ยานล่าทำลายทุ่นระเบิด Seafox แห่งราชนาวีไทย มีชื่อเจ้าของและผู้ผลิตโชว์หราอย่างชัดเจนบนแพนหาง 


ระหว่างปี 2530 ประเทศไทยเข้าประจำการเรือล่าทำลายทุ่นระเบิดชั้น M48 จากบริษัท Friedrich Lurssen Werft ประเทศเยอรมนีจำนวน 2 ลำ ประกอบไปด้วยเรือหลวงบางระจันหมายเลข 631 และเรือหลวงหนองสาหร่ายหมายเลข 632 เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 444 ตัน ยาว 48 เมตร กว้าง 9.3 เมตร กินน้ำลึก 2.75 เมตร ติดตั้งปืนกล GAM-BO1 ขนาด 20 มม.จำนวน 3 กระบอกไว้ป้องกันตัว ติดตั้งระบบอำนวยการรบ Atlas MWS-80R และโซนาร์ค้นหาทุ่นระเบิด Atlas DSQS-11H จากเยอรมันมาพร้อมสรรพ โดยมียานทำลายทุ่นระเบิดรุ่น Pluto Plus และเครื่องกวาดทุ่นระเบิดแบบกลไก Atlas Elektronik SDG 31 double Oropesa สำหรับจัดการทุ่นระเบิดใต้น้ำ

ต่อมาในปี  2559 กองทัพเรือได้เซ็นสัญญาปรับปรุงเรือทั้ง 2 ลำกับบริษัท THALES UK Limited สหราชอาณาจักร มูลค่าประมาณ 2,750 ล้านบาท หรือประมาณ 70 ล้านยูโร มีการซ่อมแซมตัวเรือทั้งลำ เปลี่ยนระบบอำนวยการรบกับจาก Atlas MWS-80R เป็นThales M-cube และระบบโซนาร์ตรวจจับทุ่นระเบิดจาก Atlas DSQS-11H เป็น Thales TSM2022 Mk III ให้เหมือนเรือล่าทำลายทุ่นระเบิดชั้นเรือหลวงลาดหญ้าจากอิตาลีซึ่งเป็นรุ่นใหม่กว่า ติดตั้งระบบอุปกรณ์สื่อสารใหม่ ซ่อมแซมระบบเครื่องจักร ระบบไฟฟ้า สัญญาปรับปรุงเรือได้รวมการจัดหาเครื่องวัดค่าอิทธิพลตัวเรือแบบเคลื่อนที่หรือ Mobility Signature Test Range จำนวน 1 ระบบ สำหรับตรวจวัดค่าอิทธิพลของเรือชนิดต่างๆ ในกองทัพเรือเพิ่มเติมเข้ามา

การปรับปรุงช่วยยืดอายุการประจำการไปได้อย่างน้อยๆ  25 ปี และเพื่อให้เรือทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้นกว่าเดิม สมควรจัดหาอุปกรณ์ทันสมัยสำหรับปราบทุ่นระเบิดมาใช้งานทดแทนรุ่นเก่า


วิธีใช้งานให้นำ Seafox มาติดตั้งบนรางปล่อยเฉพาะ จากนั้นใช้เครนยกออกไปด้านข้างเรือแล้วหย่อนลงสู่ท้องทะเล บริเวณท้ายยานมองเห็นสายไฟเบอร์ออปติกสีส้มอย่างชัดเจน มีสายแข็งสีขาวป้องกันการฉีกขาดยาวประมาณ 40 เซนติเมตร


สายไฟเบอร์ออปติกบนเรือหลวงเรือหลวงหนองสาหร่าย ความยาวมากสุดอยู่ที่ประมาณ 2,000 เมตร แต่ข้อมูลจากบริษัทผู้ผลิตระบุว่าควบคุมได้ไกลสุด 1,200 เมตรขึ้นไป


ย้อนกลับไปในปี 2554 กองทัพเรือไทยได้จัดหายานล่าทำลายทุ่นระเบิดแบบ Seafox จากบริษัท Atlas Electronik GmBH ประเทศเยอรมันจำนวน 3 ระบบ นำมาติดตั้งบนเรือหลวงบางระจัน และเรือหลวงหนองสาหร่ายลำละ 1 ระบบ ประกอบไปด้วยอุปกรณ์ต่างๆ พร้อมยานล่าทำลายทุ่นระเบิด Seafox I จำนวน 2 ลำ ส่วนระบบที่ 3 เป็นชุดเคลื่อนที่ Seafox Mobile รองรับภารกิจชุดต่อต้านทุ่นระเบิดเคลื่อนที่ หรือ MCM Mobility Team สามารถนำไปใช้งานบนเรือลำไหนก็ได้รวมทั้งเรือยางท้องแข็งขนาด 7 เมตร แต่โดยปรกติมักถูกติดตั้งอยู่บนเรือหลวงลาดหญ้า 633

ยานล่าทำลายทุ่นระเบิด Seafox คือยานสำรวจใต้น้ำแบบมีสายบังคับไร้คนขับ หรือ ROV (Remotely Operated Vehicle) ทำงานแบบ Stand Alone ไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่อกับระบบอำนวยการรบ ส่งผลให้มีความคล่องตัวและอ่อนตัวในการทำภารกิจรูปแบบต่างๆ บริษัทผู้ผลิตพัฒนา Seafox ขึ้นมาจำนวน 3 รุ่นประกอบไปด้วย

1. Seafox I ใช้สำหรับการพิสูจน์ทราบ (Identify) เป้าต่างๆ มีความยาว 1.3 เมตร หนัก 43 กิโลกรัม ความเร็วสูงสุด 6 นอต ดำน้ำลึกสุด 300 เมตร ระยะปฏิบัติการไกลสุด 1.2 กิโลเมตรขึ้นไปหรือเท่ากับ 100 นาที ควบคุมการใช้งานด้วยสายไฟเบอร์ออปติกที่อยู่ด้านหลัง มีกล้องทีวีติดตั้งอยู่ที่ปลายจมูกพร้อมไฟฉาย 2 ดวง

2. Seafox C ใช้สำหรับการต่อต้านทุ่นระเบิด โดยสามารถจุดระเบิดได้ 2 แบบ คือ การชนระเบิด และ การใช้ Shaped Charge ทำลายตัวทุ่นระเบิด มีหัวรบขนาด 1.4 กิโลกรัมเพิ่มเติมเข้ามาจากรุ่น I

3. Seafox T ใช้สำหรับการฝึก Seafox C โดยจะมีการ Simulate ขั้นตอนการจุดระเบิดได้


หน้าจอคอนโซนในการควบคุม Seafox คือแลปท็อปฝั่งขวาที่เจ้าหน้าที่กำลังใช้งาน ส่วนหน้าจอฝั่งซ้ายผู้เขียนคาดเดาว่าคือระบบโซนาร์ตรวจจับทุ่นระเบิดบนเรือ


ภาพจากกล้องทีวี Seafox I ซึ่งถูกปล่อยลงไปสำรวจความเสียหายท่อส่งน้ำมันใต้ทะเล อาจไม่ดีที่สุดเพราะไม่ใช่ยานสำรวจใต้น้ำของแท้แต่พอกล้อมแกล้มแหละครับ


ปัจจุบันมีกองทัพเรือ 10 ชาติใช้งานยานล่าทำลายทุ่นระเบิด Seafox ราคาอุปกรณ์ทันสมัยจากเยอรมันอยู่ที่ 10,000 ถึง 15,000 เหรียญ หรือ 3.24 ล้านบาทถึง 4.86 ล้านบาทต่อ Seafox จำนวน 1 ลำ ความแตกต่างของราคาอยู่ที่ว่าเป็นรุ่น Seafox I หรือ Seafox C กันแน่ ส่วน Seafox T สำหรับฝึกแบบ Simulate ไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไร

ยานล่าทุ่นระเบิดที่กองทัพเรือใช้สำรวจท่อน้ำมันคือรุ่น Seafox I ข้อแตกต่างกับ Seafox C ซึ่งใช้ทำลายทุ่นระเบิดจริง (ฉะนั้นเมื่อลงน้ำแล้วจะไม่ย้อนกลับมาที่เรือ) ก็คือ แพนหางบนรุ่น I จะทาสีสะท้อนแสงไว้อย่างชัดเจน ส่วนรุ่น C ไม่ได้ทาปล่อยให้เป็นสีเข้มเหมือนกับตัวยาน อาจไม่ถูกก็ได้นะครับเพราะผู้เขียนเปรียบเทียบกับ Seafox C ต่างประเทศ Seafox C ราชนาวีไทยเคยทดสอบทำลายทุ่นระเบิดจริง 1 ครั้งในปี 2560 ทว่าภาพจริงหายากมากเห็นเพียงคลิปวิดีโอขณะหย่อนลงน้ำ ผู้เขียนพยายามมองอยู่นานน่าจะไม่ได้ทาสะท้อนแสงไว้บนแพนหาง

นี่คือการนำอุปกรณ์ใช้งานทางการทหารมาใช้งานด้านพลเรือนได้อย่างเหมาะสม และเป็นเหตุผลสำคัญในการจัดหาอุปกรณ์ทันสมัยเข้าประจำการ กองทัพเรือมีความต้องการชุดต่อต้านทุ่นระเบิดเคลื่อนที่เร็วหรือ Mobility MCM Team จำนวน 3 หน่วย นำมาทดแทนเรือกวาดทุ่นระเบิดใกล้ฝั่งชั้นเรือหลวงบางแก้วซึ่งปลดประจำการไปหลายปีแล้ว ตอนนี้เพิ่งมีประจำการ 1 หน่วยแบบลอยๆ ยังขาดอยู่อีก 2 หน่วย ขณะที่เรือชั้นเรือหลวงลาดหญ้ายังไม่มี Seafox ใช้งานเช่นกัน


ชุดต่อต้านทุ่นระเบิดเคลื่อนที่เร็วหรือ Mobility MCM Team มีกำลังพลเท่านี้แหละครับ นำ Seafox I มาโชว์เพียงรุ่นเดียวส่วน Seafox C อยู่ในกล่องเหมือนทุกครั้ง


ชุดต่อต้านทุ่นระเบิดเคลื่อนที่เร็วหรือ Mobility MCM Team ระหว่างปฏิบัติภารกิจบนเรือตังเก สายไฟเบอร์ออปติกมีความยาวน้อยกว่าบนเรือน่าจะไม่เกิน 1,000 เมตร เพื่อให้มีน้ำหนักเบาลงใช้งานบนเรือขนาดเล็กได้อย่างสะดวก


ในปีงบประมาณ 2562 กรมสรรพวุธกองทัพเรือขึ้นโครงการจัดซื้อระบบยานล่าทำลายทุ่นระเบิดแบบเคลื่อนที่จำนวน 2 ระบบ ในวงเงิน 137.040 ล้านบาทนำมาทดแทนยานล่าทำลายทุ่นระเบิด Pluto Plus บนเรือชั้นเรือหลวงลาดหญ้าจำนวน 2 ลำ โดยมีรายชื่อ Seafox เข้าร่วมชิงชัยกับคู่แข่งจากประเทศฝรั่งเศส เพียงแต่สถานะโครงการยังไม่มีบริษัทผู้ได้รับการคัดเลือก ฉะนั้นเท่ากับว่ายังไม่มีการสั่งซื้อหรือโครงการถูกดองนั่นเอง

ยานล่าทำลายทุ่นระเบิด Seafox จำนวน 4 ระบบ กับเรือพี่เลี้ยงเรือกวาดทุ่นระเบิดลำใหม่ คือสิ่งจำเป็นที่ขาดหายไปในกองเรือทุ่นระเบิดไทย ผู้เขียนคาดหวังว่ากองทัพเรือจะจัดหาเข้าประจำการโดยเร็ว

++++++++++++++++++++++++++++

อ้างอิงจาก

https://thaidefense-news.blogspot.com/2017/05/blog-post_7.html?m=1

https://thaidefense-news.blogspot.com/2016/07/blog-post.html?m=1

https://web.facebook.com/1386133114966691/photos/a.1386159908297345/1652642511649082/?type=3&_rdc=1&_rdr

https://web.facebook.com/story.php?story_fbid=270999581845320&id=100068058390761&_rdc=1&_rdr

https://web.facebook.com/MineSquadron

https://web.facebook.com/royalthaifleet2020

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น