วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2564

Portuguese Navy M-frigates

 

สาธารณรัฐโปรตุเกสตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทวีปยุโรป เป็นหนึ่งในสมาชิกองค์การสินธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต้ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง เพื่อถ่วงดุลอำนาจกับฝ่ายคอมมิวนิสต์และช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ถูกภัยคุกคามจากภายนอก เนื่องจากเป็นชาติเล็กๆ จำนวนประชากรประมาณสิบล้านคน ขนาดกองทัพจึงเล็กตามกันจำนวนทหารเพียงสามหมื่นกว่านาย อาวุธที่มีใช้งานส่วนมากค่อนข้างเก่าไม่ค่อยทันสมัยสักเท่าไร

โปรตุเกสเคยเป็นมหาอำนาจทางการทหารของยุโรป กองเรือของพวกเขายึดครองดินแดนทวีปแอฟริกาก่อนชาติอื่น เส้นทางเดินเรือจากยุโรปไปยังอินเดียโปรตุเกสคือผู้บุกเบิก มีเส้นทางการค้าทางทะเลยาวไกลมากกว่า 15,000 กิโลเมตร รวมทั้งแวะมาเยี่ยมเยียนอยุธยาเพื่อเผยแผ่ศาสนากับทำมาค้าขาย

อดีตกองทัพเรือโปรตุเกสเคยยิ่งใหญ่เกรียงไกรแต่ทว่าในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งพวกเขาอ่อนแออย่างเห็นได้ชัด กองเรือตัวเองถูกเรือดำน้ำเยอรมันไล่ยิงอย่างเมามือจมไปถึง 96 ลำ หลังสงครามโลกครั้งที่สองกลับกลายมาเป็นลูกไล่อเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส แต่เนื่องมาจากอยู่ในช่วงสงครามเย็นกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ จึงมีเรือคอร์เวตกับเรือฟริเกตเข้าประจำการพอสมควร เมื่อสหภาพโซเวียตกับกลุ่มวอร์ซอร์ล่มสลายนาโต้พาลล่มสลายตามกัน สมาชิกทุกประเทศลดงบประมาณทางทหารแบบฮวบฮาบเนื่องจากไม่มีความจำเป็น

กองทัพเรือโปรตุเกสเองถูกหางเลขเข้าไปเต็มๆ  ผู้เขียนขอยกตัวอย่างโดยไม่ได้ไล่เรียงตามวันเวลา

-เรือฟริเกตกับเรือคอร์เวตรุ่นเก่าซึ่งมีปืนใหญ่ 100 มม.เป็นอาวุธหลักนั้น มีแผนการติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบได้ถูกยกเลิกทั้งหมด ลากใช้งานอาวุธเดิมเป็นกองเรือปืนเหมือนเดิมต่อไป

-เรือฟริเกตชั้น Vasco da Gama ซึ่งใช้แบบเรือ Meko 200 จากเยอรมันสร้างขึ้นเพียงเฟสเดียวจำนวน 3 ลำ เฟสที่สองปรับเปลี่ยนเป็นจัดหาเรือฟริเกตมือสองจากเพื่อนบ้านมาใช้งาน

-เรือดำน้ำชั้น Tridente ซึ่งใช้แบบเรือ Type 209PN จากเยอรมันถูกตัดงบจาก 3 ลำเป็น 2 ลำ

-โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Viana do Castelo ซึ่งพัฒนาขึ้นมาเองจำนวน 10 ลำ เพื่อทดแทนเรือคอร์เวตกับเรือตรวจการณ์รุ่นเก่า อู่ต่อเรือในประเทศเดินหน้าสร้าง 2 ลำแรกในปี 2004 จากนั้นหยุดยาวไป 11 ปีถึงกลับมาเริ่มสร้างเพิ่มเติมอีก 2 ลำ ตอนนี้เข้าประจำการแล้ว 4 ลำส่วนอีก 6 ลำเป็นเพียงแผนการ

เรือฟริเกตมือสองจากเนเธอร์แลนด์

สิ่งที่เกิดขึ้นกับโปรตุเกสเกิดขึ้นกับอดีตคู่รักคู่แค้นเก่าเช่นกัน ก่อนโซเวียตล่มสลายไม่กี่ปีเนเธอร์แลนด์สร้างเรือฟริเกตอเนกประสงค์ชั้น Karel Doorman หรือ M-frigates จำนวน 8 ลำเข้าประจำการ เมื่องบประมาณทางทหารลดลงจำนวนเรือจำเป็นต้องลดตามกัน ระหว่างปี 2004 ถึง 2006 เนเธอร์แลนด์ขาย M-frigates จำนวน 6 ลำออกไปเลือกเก็บ 2 ลำใหม่ที่สุดไว้ประจำการ และหนึ่งในสามลูกค้าผู้โชคดีคือกองทัพเรือโปรตุเกส

เรือฟริเกตมือสอง 2 ลำเข้าประจำการปี 2007 โปรตุเกสตั้งชื่อว่าเรือชั้น Bartolomeu Dias ประกอบไปด้วย Bartolomeu Dias F333 กับ Dom Francisco de Almeida F334 เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 3,320 ตัน ยาว 122 เมตร กว้าง 14 เมตร กินน้ำลึกสุด 6.1 เมตร ระบบขับเคลื่อน CODOG ความเร็วสูงสุด 32 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 4,000 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 18 นอต รูปร่างหน้าตาปรากฏชัดเจนในภาพประกอบที่หนึ่ง

นี่คือเรือฟริเกต Dom Francisco de Almeida F334 ปืนใหญ่หัวเรือ Oto 76/62  mm Compact ซึ่งทุกคนรู้จักกันดี พื้นที่ว่างหน้าสะพานเดินเรือติดแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีก็จริง แต่ถูกปล่อยโล่งมีเพียงปืนกล 12.7 มม.2 กระบอกกับทุ่นลอยกันเรือกระแทกฝั่ง ทั้งนี้เนื่องมาจากเลือกใช้งานแท่นยิงแนวดิ่ง Mk48 จำนวน 16 ท่อยิง ติดอยู่บริเวณกราบซ้ายเรือโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ สำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Sparrow

เพราะเป็นเรือเนเธอร์แลนด์อุปกรณ์ต่างๆ บนเรือจึงเป็นของ  Signaal ยกชุด ใช้ระบบอำนวยการรบรุ่น DAISY VII เหมือน S-frigates หรือระบบอำนวยการรบ SEWACO FD รุ่นปรับปรุงตามความต้องการเนเธอร์แลนด์ โซนาร์ปราบเรือดำน้ำหัวเรือรุ่น  PHS-36 บนเสากระโดงคือเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ SMART-S Mk1 ทำงานร่วมกับเรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศระยะไกล LW08 โดยมีเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ Scout เข้ามาเสริมทัพ

ติดตั้งเรดาร์ควบคุมการยิง STIR 1.8 จำนวน 2 ตัว ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ APECS II/700 ทำหน้าที่ดักจับและรบกวนการแพร่คลื่นอิเล็กทรอนิกส์ (เป็นทั้ง ESM และ ECM) ติดอยู่หน้าสะพานเดินเรือกราบขวากับโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์กราบซ้าย ทำงานร่วมกับระบบเป้าลวง Mk 36 SRBOC จำนวน 4 ท่อยิงใกล้ๆ เรือยาง RHIB

มีปืนกล 12.7 มม.อีก 2 กระบอกข้างสะพานเดินเรือ อาวุธปล่อยต่อสู้เรือรบ Harpoon จำนวน 8 นัดติดอยู่กลางลำ ถัดไปเล็กน้อยคือท่อยิงแฝดสองตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mk 46 ในห้องคลังแสง ระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Goalkeeper อยู่บนโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ ท้ายเรือเป็นระบบเป้าลวงตอร์ปิโด AN/SLQ-25 Nixie แบบลากท้าย มาพร้อมระบบสื่อสารรุ่นใหม่ทันสมัยตรงตามมาตรฐานนาโต้

การปรับปรุงเรือ

          รับเรือมาแล้วโปรตุเกสใช้งานเรือทั้งสองลำในสภาพตามมีตามเกิด  เนื่องจากต้องทุ่มงบประมาณให้กับเรือดำน้ำรุ่นใหม่ติดระบบ AIP จากเยอรมัน วันเวลาผ่านพ้นจนถึงวันที่ 27 เมษายน 2018  มีการเปิดเผยว่าเรือฟริเกตชั้น Bartolomeu Dias ทั้งสองลำจะถูกส่งไปปรับปรุงที่เนเธอร์แลนด์ โครงการนี้จะเสร็จเรียบร้อยภายในปี 2019 เพื่อให้เรือมีประสิทธิภาพสูงขึ้นทำงานร่วมกับกองเรือนาโต้ได้ และมีอายุประจำการยาวนานถึงปี 2035

          ข่าวในตอนนั้นว่าเช่นนั้นนะครับ เรือมาชมภาพประกอบที่สองกันต่อดีกว่า ภาพบนคือเรือ Bartolomeu Dias F333 จอดในท่าเรือประเทศเนเธอร์แลนด์วันที่ 21 มกราคม 2018 ส่วนภาพล่างเรือลำเดิมถูกถอดอาวุธและเรดาร์ทั้งหมดในวันที่ 19 มิถุนายน 2018 นี่คือการปรับปรุงเรือตามปรกติไม่น่ามีเป็นพิเศษ หลังปรับปรุงแล้วเสร็จเรือจึงเดินทางกลับสู่ดินแม่ ภาพประกอบที่สามคือ Bartolomeu Dias F333 หลังการปรับปรุง

          เรือลำนี้เดินทางถึงโปรตุเกสวันที่ 25 ตุลาคม 2021 มีการเผยแพร่ข่าวและมีพิธีต้อนรับขับสู้กันพอสมควร เมื่อผู้เขียนบวกลบคูณหารแล้วต้องพบกับความประหลาดใจเรือใช้เวลาปรับปรุงถึง 2 ปี 9 เดือน

          เวลา 2 ปี 9 เดือนจีนสร้างเรือฟริเกตได้ 1 ลำแต่เนเธอร์แลนด์ปรับปรุงเรือได้ 1 ลำ

          การปรับปรุงใช้เวลายาวนานจนน่าตกใจ ทว่าผู้เขียนมีเรื่องน่าตกใจมาเล่าขานให้ฟังเป็นตัวอย่าง โปรตุเกสตั้งงบประมาณปรับปรุงเรือลำจำนวน 50 ล้านยูโร ต้องการให้เหมือนเรือเนเธอร์แลนด์กับเบลเยียมให้มากที่สุด เพียงแต่ระบบปราบเรือดำน้ำจะไม่มีโซนาร์ลากจูง VDS ทำงานโหมด Active ของ Ultra Electronics มาพิจารณาจากภาพประกอบไปพร้อมกันว่า Bartolomeu Dias F333 ได้ของใหม่อะไรมาบ้าง

          เริ่มต้นจากเสากระโดงทรงแปดเหลี่ยมใหญ่โตกว่าเดิม เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ SMART-S Mk1 กับเรดาร์ควบคุมการยิง STIR 1.8 อยู่ในตำแหน่งเดิม เพิ่มออปโทรนิกส์ควบคุมการยิงตัวเล็กมากหน้า STIR 1.8 ตัวแรก ใช้ควบคุมปืนใหญ่ 76/62 มม.ในกรณี STIR 1.8 ไม่ว่างกำลังควบคุม Sea Sparrow (หรือไม่ก็ใช้คุมปืนถาวรให้ STIR 1.8 ช่วยส่งข้อมูลเป้าหมาย) เสากระโดงทั้ง 4 ทิศทางติดตั้ง GateKeeper เพิ่มเติมเข้ามา สำหรับตรวจสอบรอบตัวเรือ 360 องศาตลอด 24 ชั่วโมง ทันสมัยกว่ากล้องตรวจการณ์ตอนกลางคืนปรกติทั่วไป

          GateKeeper จะมีทั้งสิ้น 4 ระบบรวมกัน ใน 1 ระบบมีกล้องโทรทัศน์กับกล้องตรวจจับความร้อน 3 ตัววางเรียงกัน ตรวจจับเรือตรวจการณ์ได้ไกลสุด 7 กิโลเมตร เรือยางไกลสุด 2 กิโลเมตร หรือคนว่ายน้ำเข้ามาไกลสุด 600 เมตร เพียงแต่ระบบเลเซอร์วัดระยะถูกตัดออกไปเนื่องจากไม่ได้ใช้ควบคุมการยิง

          ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ระบบรบกวนการแพร่คลื่นอิเล็กทรอนิกส์ APECS II หน้าสะพานเดินเรือกราบขวาหายไป แต่เสา AR-700 หรือ HK-253 สำหรับดักจับการแพร่คลื่นอิเล็กทรอนิกส์ยังคงอยู่ อุปกรณ์อีกหนึ่งชิ้นที่เปลี่ยนใหม่คือจานดาวเทียมสื่อสารใต้เสากระโดง ของใหม่ขนาดเล็กลงกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด อุปกรณ์ชิ้นถัดไปที่ได้รับการปรับปรุงก็คือ….เอ่อก็คือเอ่อหมดแล้วครับ

          ใช่ครับการปรับปรุงซึ่งใช้เวลาเวลา 2 ปี 9 เดือนจบสิ้นแต่เพียงเท่านี้

ปัญหาในการปรับปรุงเรือ

          ผู้เขียนเห็นครั้งแรกรู้สึกทันทีว่าน้อยมาก น้อยเกินไปเมื่อเทียบกับงบประมาณ 50 ล้านยูโร เพื่อให้ปริศนาค้างคาใจถูกขจัดออกไปหมด จึงหาภาพประกอบที่สี่มาให้รับชมเพื่อความชัดเจน

          พี่น้องผู้ถูกชะตากรรมพลัดพรากเจอหน้ากันอีกครั้ง ฝั่งขวามือคือ Bartolomeu Dias F333 ของโปรตุเกส ส่วนฝั่งซ้ายคือ HNLMS Van Amstel F831 แห่งราชนาวีเนเธอร์แลนด์ ให้เวลาผู้อ่านตรวจสอบความแตกต่าง 5 นาทีแล้วกัน ตรงไหนไม่เหมือนเอาปากกามาวงเดี๋ยวผู้เขียนแจกโชคมะลิเงินล้าน

          ติ๊กตอกติ๊กตอกติ๊กตอกติ๊กตอกติ๊กตอก

          ครบเวลาแล้วขอเฉลยเลยแล้วกัน นอกจากโทนสีซึ่งเรือโปรตุเกสค่อนมาทางเขียวอย่างเห็นได้ชัด สิ่งที่แตกต่างกันก็คือเรือเนเธอร์แลนด์มีเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ SeaWatcher 100 Active Phased Array Surface Detection And Tracking Radar ฝังรอบเสากระโดงเรือ 4 ทิศทาง ระยะตรวจจับไกลสุด 80 กิโลเมตร สามารถค้นหาเป้าหมายผิวน้ำ 360 องศาตลอด 24 ชั่วโมง ใช้ควบคุมการลงจอดเฮลิคอปเตอร์ได้ด้วย ใช้เป็นเรดาร์เดินเรือได้ ใช้ตรวจจับเป้าหมายขนาดเล็กๆ บนผิวน้ำอาทิเช่นทุ่นระเบิดได้

          โปรตุเกสต้องการ SeaWatcher 100 ซึ่งใช้พื้นที่ค่อนข้างเยอะ เสากระโดงเรือจึงถูกปรับปรุงให้เหมือน HNLMS Van Amstel F831 ของเนเธอร์แลนด์ โชคร้ายเหลือกิน SeaWatcher 100 ไม่มาตามนัดหมาย อุปกรณ์ชิ้นนี้รูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวๆ สีอ่อนเล็กน้อย อยู่เหนือ GateKeeper ซึ่งมีตำแหน่งติดตั้งแปลกๆ ไม่มากนัก

          ข้อแตกต่างระหว่างเรือสองลำอีกอย่างก็คือ อุปกรณ์ดักจับการแพร่คลื่นอิเล็กทรอนิกส์ Vigile APX ซึ่งจะติดหน้าและหลังเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ SMART-S Mk1 ซึ่งเป็น ESM รุ่นใหม่ล่าสุดทันสมัยที่สุดของ THALES

          ทำไม SeaWatcher 100 กับ Vigile APX ESM ไม่มาตามนัด?

          ผู้เขียนสามารถอธิบายได้ด้วยคำว่า เงินไม่มางานไม่เดิน

โปรตุเกสตั้งงบประมาณเพียงพอสำหรับติดตั้งอุปกรณ์ทันสมัยทั้งหมด บังเอิญเมื่อเรือลำแรกของตัวเองเริ่มปรับปรุงได้เพียงเล็กน้อย พวกเขาไม่ได้จ่ายเงินก้อนที่สองให้อู่ต่อเรือเอกชนเนเธอร์แลนด์ การปรับปรุงจึงถูกดองเค็มอย่างเลี่ยงไม่ได้ เรือจอดนิ่งในอู่แห้งโดยเปลี่ยนเสากระโดงใหม่แล้ว ต่อมาไม่นานรัฐบาลโปรตุเกสยื่นข้อเสนอใหม่ให้ โดยการตัด SeaWatcher 100 กับ Vigile APX ESM ออกไป เรื่องราวจึงได้จบลงด้วยประการฉะนี้

Vigile APX ESM ติดตั้งเพิ่มเติมในภายหลังได้ง่ายมาก เรือเนเธอร์แลนด์ช่วงแรกยังคงใช้งาน เสา AR-700 ไปก่อนเช่นกัน แต่ SeaWatcher 100 คงไม่มาแน่นอนแล้วล่ะครับ

เรือลำที่สอง Dom Francisco de Almeida F334 ตอนนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุง มีกำหนดเดินทางกลับระหว่างปี 2022 ถ้าไม่เกิดคดีพลิกเสียก่อน อุปกรณ์ที่ถูกปรับปรุงเหมือน Bartolomeu Dias F333 ร้อยเปอร์เซ็นต์

บทสรุปปิดท้าย

เรือฟริเกตชั้น Bartolomeu Dias ต้องประจำการถึงปี 2035 เป็นอย่างต่ำ พิจารณาเพียงเท่านี้ผู้เขียนคงบอกว่ากองทัพเรือโปรตุเกสอาการหนัก นอกจากเรือดำน้ำที่เหลือไม่มีความน่าเกรงขามสักลำ แต่หากพิจารณาโดยนำแผนที่กับนาโต้เข้ามาข้องเกี่ยว พบว่าภัยคุกคามเดียวของโปรตุเกสอาจเป็นโมรอคโค  แม้มีความเป็นไปได้น้อยมากจนถึงน้อยมากที่สุดก็ตาม กองเรือผิวน้ำสูสีกันก็จริงแต่โมรอคโคไม่มีเรือดำน้ำ ที่สำคัญสเปนกับฝรั่งเศสอยู่ห่างออกไปหน่อยเดียว สองชาติเป็นสมาชิกนาโต้ย่อมมาช่วยเหลือโปรตุเกสแน่นอน

มีเรื่องน่าสนใจเล็กน้อยมาฝากในช่วงท้ายบทความ เรือฟริเกตชั้น Brandenburg หรือ F123 ของเยอรมันกับเรือฟริเกตชั้น Bartolomeu Dias ของโปรตุเกส เรือทั้งสองลำสร้างห่างกันเพียงไม่กี่ปี ใช้ระบบเรดาร์เหมือนกัน 85 เปอร์เซ็นต์ ใช้ระบบอาวุธเหมือนกัน 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นเรือมาตรฐานนาโต้จากยุคเดียวกันพูดแบบนี้ก็คงได้ ปรับปรุงใหญ่เรือโปรตุเกส SeaWatcher 100 ไม่มาด้วยซ้ำ ส่วนเรือเยอรมันถอดระบบเรดาร์ของ THALES ออกทั้งหมดแล้วใส่ SAAB เข้ามาแทน ค่าปรับปรุงเรือย่อมแตกต่างกันตามเงินในกระเป๋าสตางค์

บทความนี้ไม่มีอะไรน่าสนใจ ค่อนข้างหดหู่รันทดใจเสียมากกว่า ที่ผู้เขียนเลือกนำมาเสนอเนื่องจากทุกชาติไม่ว่ารวยหรือจนเล็กหรือใหญ่ มีโอกาสถังแตกไม่เหลือเงินปรับปรุงกองทัพมากน้อยว่ากันไป รวมทั้งประเทศไทยซึ่งกู้เงินมาใช้สอยช่วงโควิคระบาดกี่ล้านล้านบาทจำไม่ได้เหมือนกัน

ให้ความสนใจเรื่องพวกนี้บ้างก็ดี บางทีเรือหลวงตากสินอาจประจำการถึงปี 2040 โน่น

                                        +++++++++++++++++++++++

อ้างอิงจาก

https://www.seaforces.org/marint/Portuguese-Navy/Frigate/F-333-NRP-Bartolomeu-Dias.htm

https://www.seaforces.org/marint/Portuguese-Navy/Frigate/F-334-NRP-Francisco-de-Almeida.htm

https://marineschepen.nl/schepen/kareldoorman.html

https://www.maritimequest.com/warship_directory/netherlands/pages/hnlms_van_nes_f833_page_1.htm

https://www.navaltoday.com/2018/04/27/portuguese-navy-frigate-to-undergo-midlife-upgrade/

https://www.defesaaereanaval.com.br/tag/nrp-bartolomeu-dias-f-333

https://shisportting.com

https://twitter.com/MarinhaPT/status/1452643407030067203

 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น