วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2564

Egyptian Navy Air Defence System

         

กองทัพเรืออียิปต์มีการเสริมทัพอย่างต่อเนื่อง จนมีเรือรบชนิดต่างๆ ครบถ้วนทุกกองเรือ ติดอาวุธและเรดาร์รุ่นใหม่ทันสมัย สร้างความน่าเกรงขามให้กับฝ่ายตรงข้าม อียิปต์ผลักดันตัวเองขึ้นมายืนโดดเด่นในอันดับต้นๆ หากพูดถึงกองทัพเรือในดินแดนตะวันออกกลาง วินาทีนี้บ้านเกิดโมฮัมเหม็ด ซาลาห์ครองตำแหน่งจ่าฝูง

ผู้เขียนเฝ้ามองพัฒนาการกองทัพเรืออียิปต์มาเนิ่นนาน ในวันนี้เองมีความตั้งใจเขียนบทความถึงพวกเขาเป็นครั้งแรก โดยเลือกที่จะเขียนถึงระบบป้องกันภัยทางอากาศ เน้นมาที่อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยานกับระบบป้องกันตนเองระยะประชิด อันเป็นอาวุธสำคัญในการรักษากองเรือให้อยู่รอดปลอดภัย

ไม่พูดพล่ำทำเพลงเดี๋ยวยาวเกินเหตุ เข้าสู่เนื้อหาบทความกันเลยดีกว่า

อาวุธจากอเมริกา

ระหว่างปี 1984 กองทัพเรืออียิปต์ประจำการเรือคอร์เวตอาวุธนำวิถีชั้น Descubierta สร้างโดยอู่ต่อเรือBAZAN ประเทศสเปนจำนวน 2 ลำ เรือชื่อ El Suez (F946) กับ Abou Qir (F941) ถือเป็นการยกระดับและสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน เพราะเป็นเรือรบรุ่นใหม่ทันสมัยติดอาวุธครบ 3 มิติที่แท้จริง

เห็นดีไซน์ปล่องระบายความร้อนรูปตัววีไหมครับ นี่คืออัตลักษณ์ช่วยบ่งบอกอย่างชัดเจนว่า  BAZAN ใช้แบบเรือประเทศเยอรมันมาพัฒนาเพิ่มเติม ใช่ใครที่ไหนแต่เป็นแบบเรือตระกูล Meko นั่นเอง

เรือคอร์เวตมีระวางขับน้ำสูงสุด 1,482 ตัน ยาว 88.8 เมตร กว้าง 10.4 เมตร กินน้ำลึก 3.8 เมตร ใช้เครื่องยนต์ดีเซล MTU จำนวน 4 ตัว ความเร็วสูงสุด 25 นอต ระยะปฏิบัติการ 4,000 ไมล์ทะเล ระบบอาวุธป้องกันตนเองประกอบไปด้วย ปืนใหญ่ Oto 76/62  Compact ที่หัวเรือ 1 กระบอก ปืนกล Bofors 40L70 จำนวน 2 กระบอก จรวดปราบเรือดำน้ำ Bofors ขนาด 375 มม.จำนวน 1 แท่นยิง ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำแท่นยิงแฝดสาม 2 แท่นยิง อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon จำนวน 8 นัด อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ASPIDE Mk1 จำนวน 8 นัด ผู้เขียนใช้คำว่าติดอาวุธล้นลำไม่น่าจะมีใครคัดค้านนะครับ

ระบบเรดาร์บนเรือก็มากันล้นลำเช่นกัน บนสุดเสากระโดงคือเรดาร์ควบคุมการยิง WM25 สำหรับอาวุธปืนและ ASPIDE มาพร้อมระบบควบคุมการยิงสำรอง Target Designstion Sight หรือ TDS จำนวน 2 ตัว มีเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ ZW-06 เรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ DA-05 ระบบตรวจการแพร่คลื่นเรดาร์หรือ ESM รุ่น Elettronica ELT 211 ระบบส่งสัญญาณรบกวนการแพร่คลื่นเรดาร์หรือ ECM รุ่น Elettronica ELT 318 มองเห็นจานส่งสัญญาณรบกวน ELT 828 จำนวน 4 ใบอย่างชัดเจน ปิดท้ายด้วยโซนาร์ปราบเรือดำน้ำรุ่น DE-1167 LF ที่หัวเรือ มีพื้นที่ว่างเล็กน้อยท้ายปืนกล 40 มม.ใช้เป็นจุดรับส่งคนหรือยุทธปัจจัยจากเฮลิคอปเตอร์

เรือคอร์เวตชั้น Descubierta ของอียิปต์ขนาดใกล้เคียงเรือหลวงรัตนโกสินทร์ ยาวกว่ากันเพียง 12 เมตรแต่ระวางขับน้ำมากกว่าถึง 522 ตัน ระบบเรดาร์เหมือนกันราวกับลอกการบ้าน ระบบอาวุธใกล้เคียงกันเหลือเกิน แต่เรืออียิปต์มีจรวดปราบเรือดำน้ำ Bofors กับระบบ ECM เพิ่มเติมเข้ามา

ช่วงเวลาที่กองทัพเรือไทยมีโครงการเรือคอร์เวตอาวุธนำวิถี ไม่ทราบเหมือนกันว่าบริษัท BAZAN ยื่นซองเข้าประกวดหรือไม่ ถ้าได้ลำนี้มาแทน PFMM Mk.16 ของบริษัททาโคม่า โบ้ทบิลดิ้ง จะทำหน้าที่ดูแลคุ้มครองเรือหลวงจักรีนฤเบศรได้ดีกว่าเดิม โดยเฉพาะเมื่อต้องออกสู่ทะเลลึกคลื่นลมแรงตลอดเวลา

กองทัพเรืออียิปต์ปรับปรุงเรือทั้ง 2 ลำให้ทันสมัยกว่าเดิม ระบบตรวจการแพร่คลื่นเรดาร์หรือ ESM รุ่น Elettronica ELT 211 ถูกแทนที่ด้วย ES-3601เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ ZW06 ยังอยู่ที่เดิมก็จริง แต่มีเรดาร์ Scout Mk3 เพิ่มเติมเข้ามาที่ปลายปีกขวาเรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ DA-05 รวมทั้งมีการติดตั้งระบบโซนาร์ลากท้าย Variable Depth Sonar หรือ VDS บริเวณท้ายเรือ ผู้เขียนขอเดาว่าเป็นรุ่น Thomson Sintra TSM 2064 ติดประมาณก่อนปี 2000 เนื่องจากเป็นรุ่นยอดนิยมใช้งานบนเรือขนาดเล็กจำนวนหลายชาติ

อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ASPIDE Mk1 ผลิตโดยบริษัท Selenia ประเทศอิตาลี โดยการซื้อลิขสิทธิ์ AIM-7E Sea Sparrow ของอเมริกามาปรับปรุงเพิ่มเติมแล้วผลิตเอง ระยะยิงลดลงมาเล็กน้อยจาก 10 ไมล์ทะเลเหลือ 8 ไมล์ทะเล ต้องใช้เรดาร์ควบคุมการยิงช่วยนำวิถีจนกระทั่งพุ่งทำลายเป้าหมาย ส่วนแท่นยิง Albatros ขนาด 8 ท่อยิงก็ซื้อลิขสิทธิ์แท่นยิง Mk-29 ของอเมริกามาผลิตเองเช่นกัน มีเพียงแท่นยิง Albatros ขนาด 4 ท่อยิงที่ Selenia พัฒนาขึ้นมาด้วยตัวเอง

เรือคอร์เวตชั้น Descubierta กับ ASPIDE Mk1 เป็นเสาหลักให้กองทัพเรืออียิปต์ตั้งแต่ปี 1984 ถึงปี 1996 เมื่อมีเรือฟริเกตจากอเมริกาตามมาสมทบภาระอันหนักอึ้งก็พลันเบาบาง ขณะที่เรือหลวงรัตนโกสินทร์กับ ASPIDE Mk1 เป็นเสาหลักให้กองทัพเรือไทยตั้งแต่ปี 1986 ถึงปี 2016 หรือ 30 ปีเต็ม ต้องรอให้เรือหลวงนเรศวรกับเรือหลวงตากสินปรับปรุงครึ่งอายุการใช้งานเสียก่อน ตำแหน่งเดอะแบกหาใช่ได้มาเพราะจับฉลากได้

ปัจจุบันเรือคอร์เวตชั้น Descubierta ยังคงประจำการตามปรกติ ในภาพประกอบเรือ El Suez (F946) กำลังฝึกซ้อมทางทะเล PASSEX กับเรือพิฆาต USS Winston กองทัพเรืออเมริกาในทะเลแดงระหว่างปี 2018 ไม่ทราบว่ามีการซ้อมยิง ASPIDE เหมือนเรือหลวงรัตนโกสินทร์เคยซ้อมยิงกับเรือรบอเมริกาด้วยหรือไม่

เรือลำถัดไปเป็นเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น Ambassador MK III อันเป็นแบบเรือบริษัท VT Halter Marine ประเทศอเมริกา (ผู้เขียนเพิ่งรู้จักวันนี้เอง) เข้าประจำการระหว่างปี 2013 ถึงปี 2015 จำนวน 4 ลำ โดยใช้งบประมาณ 1.29 พันล้านเหรียญหรือลำละ 322.5 ล้านเหรียญ เห็นราคาแล้วหมดความอยากได้ในบัดดล

เรือทันสมัยจาก VT Halter Marine มีระวางขับน้ำ 600 ตัน ยาว 63 เมตร กว้าง 10 เมตร กินน้ำลึก 2 เมตร ใช้เครื่องยนต์ดีเซล MTU 4 ตัวทำความเร็วสูงสุด 41 นอต ระยะปฏิบัติ 2,000 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 15 นอต ใช้ระบบอำนวยการรบ TATICOS เรดาร์ควบคุมการยิง STING-EO เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ MRR-3D NG และเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ Scout Mk3 พูดง่ายๆ ก็คือใช้ระบบ THALES แบบยกลำ ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ก็ใช้ของ THALES เช่นกัน มาพร้อมระบบ Datalink ทันสมัยมาตรฐานกองทัพเรืออียิปต์

อาวุธป้องกันตนเองประกอบไปด้วย ปืนใหญ่ Oto 76/62 Super Rapid ที่หัวเรือ อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon จำนวน 8 นัดบริเวณกลางเรือ ต่อกันด้วยระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Phalanx  Block 1B รุ่นใหม่ล่าสุด ท้ายเรือติดตั้งระบบป้องกันตนเองระยะประชิด RAM โดยใช้แท่นยิง Mk 49 ขนาด 21 ท่อยิง ภาพใหญ่อาจมองไม่ชัดเจนผู้เขียนมีภาพเล็กมุมบนขวาเพิ่มเติมเข้ามา

ระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Phalanx  Block 1B ใช้ปืนกล 20 มม.หกลำกล้องรวบทำงานคู่กับเรดาร์ตรวจการณ์ เรดาร์ติดตามเป้าหมาย และระบบออปทรอนิกส์ชุดใหญ่จัดเต็ม ทำงานอัตโนมัติจัดการเป้าหมายด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาเจ้าหน้าที่ ระยะยิงไกลสุดประมาณ 3 กิโลเมตร ระยะยิงหวังผลอยู่ที่ 2 กิโลเมตร

ระบบป้องกันตนเองระยะประชิด RIM-166 Rolling Airframe Missile หรือ RAM เป็นอาวุธทันสมัยที่อเมริกา เยอรมัน และเดนมาร์กพัฒนาร่วมกัน ต่อมาเดนมาร์กได้ขอถอนตัวก่อนอาวุธผลิตใช้งานจริง ส่งผลให้แท่นยิงขนาด 10 ท่อยิงซึ่งเดนมาร์กตั้งใจนำมาใช้บนเรือตัวเอง ไม่มีการผลิตขึ้นมาเพื่อใช้งานจริงไปด้วย

ในการออกแบบช่วงแรกซึ่งยังคงอยู่ครบทั้ง 3 ชาติ ตัวจรวดจะนำเทคโนโลยีบางอย่างจาก STINGER และ SIDE WINDER มาใช้งาน ระยะยิงอยู่ที่ประมาณ 5 ถึง 10 กิโลเมตร โดยมีความเร็วสูงสุด 2.5 มัค

เมื่อ RAM ถูกยิงออกมาจะหมุนรอบตัวเองเพื่อรักษาเสถียรภาพและทิศทาง (ตามชื่อนั่นแหละครับ) นำวิถีโดยการแพร่คลื่นอิเล็กทรอนิกส์จากเรดาร์เป้าหมาย จากนั้นระบบนำวิถีจากการแพร่คลื่นความร้อนที่หัวจรวด จะถูกกระตุ้นให้เริ่มทำงานเพื่อนำวิถีในช่วงสุดท้าย กรณีการกระตุ้นมีปัญหาหรือไม่สามารถล็อกเป้าจากการแพร่คลื่นความร้อน จะใช้การแพร่คลื่นอิเล็กทรอนิกส์จากเรดาร์เพื่อพุ่งทำลายเป้าหมาย

จากคอนเซ็ปต์จะพบว่า RAM ออกแบบมาเพื่อจัดการอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ มีระบบนำวิถีภาครับ 2 ระบบทำงานคู่กัน ปัญหาก็คือราคาค่อนข้างแพง แต่ใช้จัดการอากาศยานไร้คนขับ เฮลิคอปเตอร์ หรือเครื่องบินที่ไม่ได้เปิดเรดาร์ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ใช้งานระบบนำวิถีจากการแพร่คลื่นความร้อนได้เพียงอย่างเดียว

เมื่อผลิตขึ้นมาใช้งานจริงมีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ความเร็วสูงสุดลดลงมาเหลือเพียง 2 มัค รองรับระบบนำวิถีซึ่งมีประสิทธิภาพน้อยกว่าเดิม (จรวดวิ่งเร็วเท่าไรระบบนำวิถีต้องมีประสิทธิภาพสูงตามกัน) ถอดระบบนำวิถีโดยการแพร่คลื่นอิเล็กทรอนิกส์จากเรดาร์เป้าหมายออกไป ใช้สัญญาณวิทยุในการตรวจวัดทิศทางและความเร็วเป้าหมาย ทำงานคู่กับระบบนำวิถีจากการแพร่คลื่นความร้อน ราคาถูกลงจนสามารถผลิตออกมาใช้งานจริงสำเร็จ และจัดการเป้าหมายที่ไม่มีเรดาร์หรือไม่เปิดเรดาร์ได้ดีกว่าเดิม

ระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Phalanx  Block 1B และ RAM บนเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น Ambassador MK III มีประสิทธิภาพสูงกว่า ASPIDE Mk1 บนเรือคอร์เวตชั้น Descubierta แบบเทียบกันไม่ติด เพียงแต่ระยะยิงหวังผลน้อยกว่ากันพอสมควร เพราะถูกออกแบบให้ป้องกันเรือเป็นปราการด่านสุดท้าย

Phalanx Block 1B ราชนาวีไทยมีใช้งานบนเรือหลวงภูมิพลจำนวน 1 ระบบ ส่วน RAM เรายังไม่เคยมีใช้งานมาก่อน ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าควรจัดหามาติดตั้งกับเรือรบรุ่นใหม่ในอนาคต เพราะมีขนาดกะทัดรัด น้ำหนักเบา ใช้พื้นที่ไม่มาก และไม่ใช่พื้นที่ใต้ดาดฟ้าเรือ ราคาอาจแพงเล็กน้อยแต่ไม่ต้องใช้งานอุปกรณ์ควบคุมการยิง

ถ้าสู้ราคา RAM อเมริกาไม่ไหวจริงๆ หันมามอง RAM เมืองจีนก็ได้นะครับ

เรือเล็กยิงไกลเรือใหญ่ยิงใกล้

กองเรือฟริเกตอียิปต์ก่อนปี 2000 น่าเกรงขามไม่ใช่น้อยๆ กำลังรบหลักคือเรือมือสองจากอเมริกาจำนวน 6 ลำ ประกอบไปด้วยเรือฟริเกตชั้น Knox จำนวน 2 ลำ และเรือฟริเกตชั้น Oliver Hazard Perry จำนวน 4 ลำ โดยมีเรือฟริเกตส่งออกชั้น Type 053 จากจีนจำนวน 2 ลำเป็นเดอะภาระหรือลูกหาบ

ผู้เขียนขอเขียนถึงเรือฟริเกตชั้น Knox ไม่ยาวสักเท่าไร ประกอบไปด้วยเรือชื่อ Domyat (F961) กับ Rashid (F966) เข้าประจำการพร้อมกันในปี 1994 เป็นการเช่าซื้อระยะยาว 4 ปีพร้อมๆ กับเรือฟริเกตชั้น Oliver Hazard Perry อีก 3+1 ลำในวงเงิน 165 ล้านเหรียญ ราคาดุเดือดพอสมควรแต่ค่อนข้างสมเหตุสมผล

 ต่อมาในปี 1998 อียิปต์ได้ขอซื้อขาดเป็นเจ้าของเรือโดยสมบูรณ์แบบ ทีเด็ดทีขาดของเรือชั้น Knox คืออาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ RUR-5 ASROC สามารถบรรทุกไปกับเรือได้มากสุด 16 นัด (ในแท่นยิง 8 นัด สำรองในแมกาซีนอีก 8 นัด) นอกจากนี้ยังมีตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mark 46 อีก 24 นัด นี่คือเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำที่ดีที่สุดของอเมริกาในยุคสงครามเย็น สร้างด้วยมาตรฐานสูงสุดตัวเรือมีความแข็งแกร่งยิ่งกว่าเรือรุ่นใหม่

ระบบป้องกันภัยทางอากาศสำคัญๆ เหมือนเรือหลวงพุทธฯ ของเราทั้งสองลำ บริเวณท้ายเรือติดตั้งระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Phalanx  Block 0 จำนวน 1 ระบบ เรือที่อเมริกาขายต่อทุกลำจะถอดแท่นยิง Mk 25 สำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Sparrow ออกไปแล้วใส่ Phalanx เข้ามาแทน เนื่องจากไม่อยากขาย  Sea Sparrow ให้กับประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกนาโต้ อันเป็นผลสืบเนื่องจากสงครามเย็นกับโซเวียตนั่นเอง

เรือทั้งสองลำอายุค่อนข้างมากคือ 47 ปีกับ 48 ปี สถานะปัจจุบันยังไม่ปลดประจำการก็จริง แต่อียิปต์รับเรือที่จะเข้ามาทำหน้าที่แทนเรียบร้อยแล้ว ระหว่างปี 2020 มีภาพถ่ายเรือ Domyat (F961) ฝึกซ้อมทางทะเลกับเรือฟริเกตฝรั่งเศส นี่อาจเป็นภารกิจสุดท้ายของเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำที่ดีที่สุดลำหนึ่ง

ลำถัดไปคือเรือฟริเกตหน้าตาประหลาดที่สุดในโลก ระหว่างปี 1994 ถึง 1998 อียิปต์เช่าซื้อเรือฟริเกต ชั้น Oliver Hazard Perry จำนวน 4 ลำจากอเมริกา ก่อนทำการซื้อขาดในเวลาต่อมาเหมือนเรือฟริเกตชั้น Knox ข้อแตกต่างคือเรือชั้นนี้อายุน้อยกว่าร่วมๆ 10 ปี ออกแบบใหม่หมดมีความทันสมัยขึ้นอย่างชัดเจน ใช้ระบบขับเคลื่อนรุ่นใหม่ไม่ต้องอุ่นเครื่องก่อนออกเดินทาง รวมทั้งติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน SM-1 บริเวณหัวเรือ

SM1-MR (RIM-67B Standard Medium Range) คืออาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะกลาง เริ่มเข้าประจำการในปี 1967ความเร็วสูงสุด 2.5 มัค ระยะยิงไกลสุด 19 ไมล์ทะเลหรือ 30.6 กิโลเมตร และยิงได้สูงถึง 60,000-80,000 ฟิต ออกแบบมาเพื่อรับมือเครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกลของโซเวียต อียิปต์ได้ SM-1 มาใช้งานเท่ากับเป็นการถีบตัวเองจากใต้ถุนขึ้นสู่เหล่าเต๊งชั้นสอง นี่คือการยกระดับโดยเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างน้อย

ที่อเมริกายอมปล่อยเรือฟริเกตชั้น Oliver Hazard Perry มีสาเหตุมาจากการล่มสลายของโซเวียต ในเมื่อภัยคุกคามมีขนาดลดลงอย่างเห็นได้ชัด งบประมาณที่กระทรวงกลาโหมได้รับย่อมน้อยลงตามกัน เรือฟริเกตรุ่นใหม่จำนวน 50 ลำจำเป็นต้องปล่อยออกไปบางส่วน  นี่คือที่ไปที่มาของเหตุการณ์กรุแตกในช่วงปี 1994 ถึงปี 2000 ซึ่งได้เกิดขึ้นกับสมาชิกนาโต้ครบทุกชาติพูดแบบนั้นก็คงได้

พันตรีแจ็ค รีชเชอร์ ต้องออกจากกองพันทหารสารวัตรหน่วยพิเศษที่ 110 เพราะโซเวียตล่มสลาย เรือฟริเกตชั้น Oliver Hazard Perry ถูกปล่อยให้เช่าด้วยเหตุผลเดียวกัน การได้ครอบครอง SM1 สร้างความอุ่นใจให้กับกองทัพเรืออียิปต์ จริงอยู่ในปัจจุบันอาจล้าสมัยไม่น่าสนใจแล้ว แต่ต้องไม่ลืมว่าในอดีต SM1 เกิดมาเพื่อเป็นผู้ชนะที่แท้จริง ผ่านการทดสอบอย่างดุเดือดเพื่อเป็นตัวเลือกดีหนึ่งอันดับหนึ่งทัพเรืออเมริกา

SM-1 เบียดเอาชนะโครงการ RIM-55 Typhoon ซึ่งนำ RIM-24 Tartar มาพัฒนาเพิ่มเติมให้มีระยะยิงมากขึ้น แล้วถีบให้ Tartar ต้องปลดประจำการเร็วกว่าเดิม กองทัพเรืออเมริกาใช้งานอย่างโชกโชนในทุกๆ สมรภูมิ เคยยิงเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีของอิหร่านมาแล้ว เข้าเป้าหมายอย่างแม่นยำจนสะพานเดินเรือเกิดไฟไหม้เสียหายอย่างหนัก บังเอิญหัวรบขนาดเล็กเกินไปไม่อาจส่งเรือข้าศึกลงไปนอนก้นทะเล

SM-1 มีรุ่นระยะยิง 120 กิโลเมตรตามมาในภายหลัง โชคร้ายใช้งานกับเรือฟริเกตอียิปต์ไม่ได้เพราะเรดาร์ควบคุมการยิงตัวเล็กเกินไป เรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศก็เป็นรุ่น 2 มิติไม่รองรับภารกิจนี้ อันเป็นผลสืบเนื่องจากความพยายามลดต้นทุนโครงการ ไม่อย่างนั้นอเมริกาจะสร้างเรือฟริเกตรุ่นใหม่ไม่ครบจำนวน 

กลับมาที่ภาพประกอบเรือฟริเกตกันอีกครั้ง หลังคาโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์มีการติดตั้งระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Phalanx  Block 1 จำนวน 1 ระบบ กลางเรือมีปืนใหญ่76/62 ติดอยู่ในตำแหน่งค่อนข้างประหลาด แต่ด้วยอาวุธทั้ง 3 ชนิดทำให้เรือกลายเป็นเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำที่มีระบบป้องกันภัยทางอากาศที่ดีที่สุด หลายชาตินำไปใช้งานเป็นเรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศ ด้วยเหตุผลสำคัญ SM-1 จำนวน 40 นัดบนเรือราคาไม่แพง

ชมภาพเล็กมุมบนซ้ายมือกันสักเล็กน้อย เรือฟริเกต Alexandria (F911) ได้รับการปรับปรุงใหม่ในปี 2020 โดยการใส่เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Smart-S Mk2 AESA เข้ามาแทนที่เรดาร์ AN/SPS-49 ระยะทำการน้อยกว่าเดิมก็จริงแต่ค้นหาเป้าหมายติดตามเป้าหมาย ได้ดีกว่าเดิม อียิปต์ ผู้เขียนไม่มีรายละเอียดว่าการปรับปรุงทำอะไรบ้าง รวมทั้งเจอภาพเรือชั้นนี้แค่เพียงลำเดียวเท่านั้น หากมีข้อมูลมากกว่าจะนำมาลงให้อ่านอีกครั้ง

เรือลำถัดไปเป็นของใหม่เอี่ยมอ่องอายุไม่กี่ปี เป็นแบบเรือที่หลายชาติถวิลหาอยากมีอยากได้ เบื้องหน้าเบื้องหลังมีความสลับซับซ้อนวุ่นวายพอสมควร ผู้เขียนขอเขียนถึงแค่เพียงสั้นๆ ให้พอเข้าใจเรื่องราว

ระหว่างปี 2011 กองทัพเรือรัสเซียสั่งซื้อเรือยกพลขึ้นบกดาดฟ้าเรียบชั้น Mistral จากฝรั่งเศสจำนวน 2 ลำ กำหนดให้สร้างในฝรั่งเศส 1 ลำในรัสเซีย 1 ลำ เสร็จเรียบร้อยจึงนำมาทดสอบเดินเรือในฝรั่งเศส แก้ไขปัญหาจุกจิกและเตรียมส่งมอบเรือในปี 2015 โครงการนี้คือความร่วมมือระหว่างสองชาติใหญ่เป็นครั้งแรก

เรือยกพลขึ้นบกดาดฟ้าเรียบชั้น Mistral มีระวางขับน้ำเต็มที่ 21,300 ตัน ยาว 200 เมตร  กว้าง 32 เมตร กินน้ำลึก 6.3 เมตร ขนาดกำลังพอเหมาะไม่เล็กเกินเหตุไม่ใหญ่เกินไป ใช้เครื่องยนต์ดีเซล Wartsila จากฟินแลนด์จำนวน 3 เครื่อง (เรือฝรั่งเศสใช้เครื่องยนต์ดีเซล Roll-Royce แค่ 2 เครื่อง) ความเร็วสูงสุด 18.8 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 10,700 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 15 นอต

เรือมีจุดขึ้นลงเฮลิคอปเตอร์จำนวน 6 ตำแหน่ง สามารถบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ได้มากสุด 16 ลำ อู่ลอยหรือ Well Deck ใส่เรือระบายพลขนาด 150 ตันได้ 4 ลำ มีพื้นที่เก็บยานยนต์ชนิดต่างๆ ได้มากสุดถึง 70 คัน รวมรถถังหลักขนาด 60 ตันจำนวน 13 ลำเข้าไป มีจุดติดอาวุธน้ำหนักไม่มากจำนวน 4 จุดรอบตัวเรือ

เรือมีความอเนกประสงค์ทำภารกิจได้หลากหลาย ทำสงครามก็ได้ช่วยคนก็ดีเหมาะสมกับยุคสมัย ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามแผนการ โชคร้ายในปี 2014 รัสเซียใช้กำลังทหารบุกเข้าไปในยูเครน ฝรั่งเศสจำเป็นต้องระงับการส่งเรือออกไปเรื่อยๆ ผลการเจรจาระหว่างสองชาติได้บทสรุปในเดือนกันยายน 2015 เรืออยู่กับฝรั่งเศสแต่ต้องจ่ายค่าเรือคืนให้รัสเซีย ถัดมาเพียงไม่กี่วันรัฐบาลอียิปต์ขอซื้อไปใช้งานเป็นเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์

ปี 2016 เรือยกพลขึ้นบกดาดฟ้าเรียบสร้างร่วมกันระหว่างฝรั่งเศสกับรัสเซีย เข้าประจำการกองทัพเรืออียิปต์แลกกับค่าเสียหาย 950 ล้านยูโร ใช้แบบเรือฝรั่งเศสก็จริงแต่ถูกปรับปรุงให้เหมาะสมกับรัสเซีย ฉะนั้นหลายสิ่งหลายอย่างถูกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ต้องนับถือน้ำใจตาอยู่ละครับที่กล้าเสี่ยงตายเข้ามาครอบครอง

ได้เรือมาใช้งานอียิปต์ไม่ได้ทำอะไรเพิ่มเติม บนเสากระโดงมีเรดาร์ตรวจการณ์ 1 ตัว กับเรดาร์เดินเรือ อีก 2 ตัว จุดติดตั้งอาวุธทั้งหมดยังเป็นเพียงแท่นยิงโล่งๆ อาจเป็นเพราะกองทัพเรือต้องใช้งบประมาณกับเรื่อง จึงได้มีการปรับปรุงระบบป้องกันภัยทางอากาศแบบง่ายๆ รบกวนผู้อ่านชมภาพประกอบกันเสียก่อน

ด้านล่างลูกศรสีแดงคือยานยนต์ล้อยางรุ่นฮัมวี่ของอเมริกา ติดตั้งระบบป้องกันภัยทางอากาศ AN/TWQ-1 Avenger มาพร้อมอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน FIM-92 Stringer จำนวน 8 นัด

Stringer นำวิถีจากการแพร่คลื่นความร้อนของเป้าหมาย ระยะยิงไกลสุด 5 กิโลเมตร ขนาดกะทัดรัดน่ารักน่าชัง ประสิทธิภาไว้ใจได้เสมอ ผ่านศึกสงครามมาแล้วอย่างโชกโชน มีทั้งรุ่นประทับบ่ายิง ติดตั้งบนแท่นยิงแฝดสอง ติดตั้งบนแท่นยิงแฝดสี่เหมือนในภาพ และรุ่นใช้งานบนอากาศยานปีกหมุนกับอากาศยานไร้คนขับ

การนำ Avenger มาใช้งานบนเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ขนาด 21,300 ตัน เป็นทางเลือกชั่วคราวจนกว่าเรือจะได้รับการติดอาวุธ ถามผู้เขียนว่าดีไหมคำตอบก็คืองั้นๆ ข้อดีคือสามารถนำ Avenger มาติดตั้งมุมไหนของเรือก็ได้ เพียงแต่ต้องยึดติดด้วยโซ่ทั้ง 4 มุมให้หนาแน่น ข้อเสียก็คือต้องรอให้ Stringer ล็อกเป้าหมายเกิดเสียงดังตุ๊งเสียก่อนถึงจะกดปุ่มยิงได้ ใช้งานจริงรับรองชักช้าไม่ทันรับประทานแน่นอน

แต่ก็อย่างว่าของแบบนี้มีย่อมดีกว่าไม่มี

ฝรั่งเศสมาแล้วจ้า

          วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2015 บริษัท DCNS เซ็นสัญญาร่วมกับรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมอียิปต์ เรื่องการส่งมอบเรือฟริเกตขนาด 6,000 ตันจำนวน 1 ลำ ในสัญญาเป็นเรือสร้างเสร็จแล้วพร้อมส่งมอบในอีกไม่กี่เดือน

          เรือลำดังกล่าวถูกตั้งชื่อไว้แล้วว่า D-651 Normandie เป็นเรือฟริเกตชั้น Aquitaine ลำที่สองกองทัพเรือฝรั่งเศส โดยใช้แบบเรือชั้น FREMM ซึ่งถูกออกแบบร่วมกันระหว่างฝรั่งเศสกับอิตาลี แต่ติดอาวุธกับเรดาร์แตกต่างกันตามความต้องการแต่ละชาติ รูปร่างหน้าตาก็แตกต่างกันสามารถแยกแยะได้อย่างชัดเจน

D-651 Normandie อยู่ระหว่างทดสอบเดินเรือขั้นตอนสุดท้าย ในเมื่อ DCNS หรือปัจจุบันคือบ Naval Group กล้าขายต่อให้อียิปต์ หมายความว่าเคลียร์กับเจ้าของเดิมเรียบร้อยแล้ว ช่วงเวลาดังกล่าวอียิปต์ซื้ออาวุธจากฝรั่งเศสค่อนข้างมาก ทั้งเรือคอร์เวตรุ่นใหม่ 4 ลำ เรือฟริเกต 1 ลำ เครื่องบินขับไล่ Rafale อีก 24 ลำ รวมทั้งให้ความสนใจเรือยกพลขึ้นบกดาดฟ้าเรียบชั้น Mistral ซึ่งประสบปัญหาส่งมอบให้กับรัสเซียตามสัญญาไม่ได้

แล้วนี่อียิปต์สายแข็งมาจากไหน ถึงกล้าปาดหน้าเค้กแย่งเรือฟริเกตหน้าตาเฉย

ก่อนอื่นเลยต้องเข้าใจกันก่อนว่า ประธานาธิบดีฝรั่งเศสทุกรายมีหน้าที่ขายอาวุธเป็นงานหลัก ขายให้กับทุกชาติที่อยากซื้อยกเว้นโซเวียตกับกลุ่มวอร์ซอ ประเทศที่ซื้อไปนำมายิงกันเองฉันก็จะขายอยู่ดี สำหรับดีลอียิปต์มีออปชันพิเศษสำหรับลูกค้าคนพิเศษ คือตัดอาวุธที่เตรียมส่งมอบให้กับกองทัพมาประเคนถึงที่ ทั้งเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่และเรือฟริเกตทันสมัย ถ้าฝรั่งเศสซื้อเรือคอร์เวตไว้ด้วยประธานาธิบดีคงพร้อมตัดให้เห็นเช่นกัน

นอกจากเรื่องตัดอาวุธฝรั่งเศสยังช่วยเหลือเรื่องเงินๆ ทองๆ โดยการหาแหล่งเงินกู้ระยะยาวดอกเบี้ยต่ำมานำเสนอ บริการ One Stop Service สำหรับลูกค้ากระเป๋าหนักมีที่นี่ที่เดียวเท่านั้น เมื่อรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมอียิปต์เดินยิ้มแป้นออกมาขึ้นรถ เขาไม่ทันรู้ตัวสักนิดว่าประเทศมีหนี้สินเพิ่มขึ้นห้าพันล้านยูโร

เบื้องหลังพ่อค้าอาวุธรายใหญ่จากเมืองน้ำหอมมีเพียงเท่านี้ ชมรายละเอียดเรือฟริเกตชื่อ ENS Tahya Misr (FFG-1001) กันสักนิด เรือมีระวางขับน้ำ 6,000 ตัน ยาว 142 เมตร กว้าง 19.8 เมตร กินน้ำลึก 4.9 เมตร ระบบขับเคลื่อน CODLOG ความเร็วสูงสุด 27 นอต ระยะปฏิบัติการ 6,000 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 15 นอต

อาวุธป้องกันตนเองประกอบไปด้วย ปืนใหญ่ Oto 76/62 Super Rapid ที่หัวเรือ ปืนกลอัตโนมัติ 20 มม. Nexter Narwhal เหนือโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ MM40 Exocet Block 3 ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mu 90 ทีเด็ดทีขาดคืออาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Aster 15 จำนวน 16 นัด ทำงานร่วมกับเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Herakles รูปทรงสี่เหลี่ยมพิระมิดบนยอดเสากระโดง

Aster 15 พัฒนาขึ้นมาด้วยเทคโนโลยีใหม่เอี่ยม สามารถจัดการอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบได้เป็นอย่างดี โดยใช้เรดาร์ตรวจการณ์ช่วยนำวิถีเข้าใกล้เป้าหมาย จากนั้นเรดาร์ที่ปลายจมูกจะทำการล็อกเป้าหมายด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเรดาร์ควบคุมการยิงบนเรือ สามารถยิงพร้อมกันหลายทิศทางในโหมดซัลโว

ระยะยิงไกลสุดของ Aster 15 คือ 30 กิโลเมตร ระยะยิงใกล้สุด 1.5 กิโลเมตรใช้งานแทนระบบป้องกันตนเองระยะประชิดหรือ CIWS ได้ ถูกติดตั้งบนเรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศของฝรั่งเศส อิตาลี และอังกฤษ ราคาอาจแพงสักนิดแต่มาประหยัดเรื่องเรดาร์ควบคุมการยิง นี่คือมือวางอันดับหนึ่งจากยุโรปตัวจริงเสียงจริง

ปรกติเรือฟริเกตชั้น Aquitaine จะมีแท่นยิงแนวดิ่งจำนวน 32 ท่อยิง ทว่าเรือ ENS Tahya Misr มีเพียง 16 ท่อยิง (ผู้เขียนใส่ภาพเล็กไว้ที่มุมบนซ้าย) เนื่องจากไม่ได้ติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีโจมตีชายฝั่งระยะไกล อุปกรณ์สำคัญที่หายไปด้วยคืออุปกรณ์รบกวนคลื่นอิเล็กทรอนิกส์หรือ ECM รุ่น NETTUN0 4100 กับระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมทางทหาร Syracuse ซึ่งกองทัพเรือฝรั่งเศสใช้ช่วยนำวิถีให้กับอาวุธปล่อยหลายรุ่น

การจัดหาเรือฟริเกตลำนี้ไม่ได้อยู่ในแผนระยะยาว อียิปต์นำมาเสริมทัพเพิ่มเติมหาใช่ทดแทนเรือเก่าปลดประจำการ ส่งผลให้พวกเขามีระบบป้องกันภัยทางอากาศทันสมัยเทียบเท่ากองทัพเรือซาอุดีอาระเบีย วันใดหากเกิดสงครามเรือลำนี้จะเป็นด่านแรกในการเข้าปะทะ และเป็นเรือรบตัวท๊อปอันดับหนึ่งในเขตทะเลแดง

ช่วงครึ่งแรกของบทความบ่งบอกอย่างชัดเจนว่า เรือคอร์เวตกับเรือฟริเกตอียิปต์อายุมากกว่า 30 ปีทุกลำ มีความจำเป็นต้องเสริมทัพด้วยเรือรบใหม่เอี่ยมทันสมัย หนึ่งในนั้นก็คือโครงการเรือคอร์เวตอเนกประสงค์

ระหว่างปี 2014 รัฐบาลอียิปต์เซ็นสัญญากับบริษัท DCNS มูลค่า 1 พันล้านยูโรหรือ 1.2 ล้านเหรียญ เพื่อจัดหาเรือคอร์เวตชั้น Gowind 2500 เข้าประจำการจำนวน 4 ลำ เมื่อนำตัวเลขมาหารสี่เท่ากับเรือราคาลำละ 300 ล้านเหรียญ โดยเรือ 2 ลำแรกสร้างในฝรั่งเศสเรือ 2 ลำหลังสร้างในอียิปต์ พร้อมการถ่ายทอดเทคโนโลยีการต่อเรือยุคใหม่ให้กับลูกค้า อันเป็นสูตรการจัดหาอาวุธที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย สมควรเป็นอย่างยิ่งที่ชาติอื่นจะลอกการบ้านแบบโต้งๆ ไม่ต้องใช้แผนหักเหลี่ยมเหนือชั้นให้มันวุ่นวายเอาตามนี้เลย

ได้เรือรบรุ่นใหม่รูปทรงลดการตรวจจับด้วยเรดาร์เท่านั้นยังไม่พอ จำเป็นต้องจัดหาอาวุธทันสมัยนำมาใช้งานกับเรือด้วย อียิปต์จึงล้วงกระเป๋าควักเงินให้ฝรั่งเศสอีก 500 ล้านยูโร เพื่อให้เรือตัวเองมีความน่าเกรงขามมากขึ้น ทำการรบจริงได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ มูลค่ารวมโครงการที่แท้จริงอยู่ที่ประมาณ 1.5 พันล้านยูโร

เรือคอร์เวตสวยมากๆ ลำนี้ระวางขับน้ำ 2,500 ตัน ยาว 102 เมตร กว้าง 16 เมตร กินน้ำลึกสุด 5.4 เมตร ระบบขับเคลื่อน CODED ความเร็วสูงสุด 25 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 4,500 ไมล์ที่ความเร็ว 15 นอต ใช้ระบบอำนวยการรบ SETIS ของ DCNS ทำงานร่วมกับระบบเรดาร์จาก THALES แบบยกลำ มาพร้อมโซนาร์หัวเรือ Kingklip กับโซนาร์ลากท้าย CAPTAS-2 เทียบกับเรือขนาดเท่าๆ กัน Gowind 2500 ไม่เป็นสองรองใคร

อาวุธป้องกันตนเองประกอบไปด้วย ปืนใหญ่ Oto 76/62 Super Rapid ที่หัวเรือ ปืนกลอัตโนมัติ 20 มม. Nexter Narwhal เหนือโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ MM40 Exocet Block 3 ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mu 90 และอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน VL MICA จำนวน 16 นัด

VL MICA พัฒนาจากอาวุธปล่อยนำวิถีอากาศ-สู่-อากาศ MICA ของฝรั่งเศส มีทั้งรุ่นนำวิถีเรดาร์กับรุ่นนำวิถีคลื่นความร้อน ระยะยิงไกลสุดประมาณ 20 กิโลเมตร ใส่ได้ทั้งแท่นยิงเฉพาะความลึก 4 เมตรจำนวน 6 ถึง 12 ท่อยิง หรือแท่นยิง SYLVY ราคาแพงกว่าจำนวน 8 ถึง 16 ท่อยิง ยิงเครื่องบิน 4 ลำจาก 4 ทิศทางได้อย่างง่ายดาย ใช้วิธี Log on after lunch สุดแสนทันสมัย มีอุปกรณ์เสริมช่วยนำวิถีระหว่างเดินทางหาเป้าหมาย

แต่ VL MICA มีปัญหากับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ เพราะไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อรับมือโดยเฉพาะ จึงทำได้ไม่ดีเหมือน Aster 15 ESSM หรือ Sea Ceptor ได้รับความนิยมหลายชาติจัดหาไปใช้งานก็จริง ทว่าไม่มีชาติใดในยุโรปซื้อมาติดบนเรือตัวเองสักลำ ขณะที่ Umkhonto ของแอฟริกาใต้กลับมีใช้งานที่ฟินแลนด์

ปี 2019 กองทัพเรือโรมาเนียเลือก Gowind 2500 เป็นผู้ชนะโครงการจัดหาเรือทดแทนเรือฟริเกต Type 22 จำนวน 3 ลำ ถ้าโครงการนี้ไม่ถูกยกเลิกปี 2026 โรมาเนียจะเป็นชาติแรกในยุโรปที่ได้ใช้งาน VL MICA

เรามาชมภาพประกอบสุดท้ายกันสักเล็กน้อย นี่คือเรือคอร์เวตชื่อ ENS Luxor หมายเลข 986 ขณะทำพิธีปล่อยลงน้ำวันที่ 14 พฤษภาคม 2020 เป็นเรือ Gowind 2500 ลำที่สองที่อียิปต์สร้างเองในประเทศ ใช้เวลาสร้าง 1 ปีกว่าๆ ถือว่าเร็วใช้ได้เลย ส่วนภาพเล็กคือเรือคอร์เวตชื่อ ENS El Moez หมายเลข 981 ขณะทำพิธีปล่อยลงน้ำวันที่ 12 พฤษภาคม 2019 เป็นเรือ Gowind 2500 ลำแรกสุดที่อียิปต์สร้างขึ้นเองในประเทศ

ปัจจุบันการสร้างเรือรบด้วยตัวเองไม่ใช่เรื่องยาก เติร์กเมนิสถานกับอียิปต์แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนที่สุด ปัจจุบันเรือคอร์เวต Gowind 2500 เข้าประจำการแล้ว 2 ลำ นำมาทดแทนเรือฟริเกต Type 053 HE หรือเดอะภาระผู้โด่งดัง เรืออีก 2 ลำจะนำมาทดแทนเรือคอร์เวต Descubierta หรือเดอะแบก ใช้เป็นเรือด่านสองทำงานเล็กๆ น้อยๆ ประเภทตบเด็กเตะคนแก่ และเป็นกำลังหนุนให้เรือด่านแรกในกรณีเจอของแข็งโป๊ก

อียิปต์มีออปชันซื้อเรือคอร์เวตชั้น Gowind 2500 อีก 2 ลำ ทว่าผู้เขียนดูจากทรงไม่มีการจัดหาเพิ่มเติม เพราะฉะนั้น VL MICA จะมีใช้งานแค่เพียง 4 ลำ ยกเว้นเกิดคดีพลิกกับโครงการจัดหาเรือฟริเกตในอนาคต

โครงการเรือฟริเกตทดแทนเรือรบอเมริกา

          ถึงแม้อียิปต์ใช้เงินหลายพันล้านยูโรจัดหาเรือมาจากฝรั่งเศส ทั้งเรือฟริเกต เรือคอร์เวต และเรือยกพลขึ้นบกดาดฟ้าเรียบ แต่กระดูกสันหลังกองเรือผิวน้ำยังมีปัญหา เรือฟริเกตชั้น Knox จำนวน 2 ลำกับเรือฟริเกตชั้น Oliver Hazard Perry อีก 4 ลำ อายุอานามมากกว่า 30 ปีเรียกคุณลุงได้อย่างเต็มปาก จำเป็นเหลือเกินที่จะต้องเสียเงินก้อนโตเพื่อเติมเต็ม โดยแบ่งออกเป็น 2 โครงการตามความเร่งรีบและความเหมาะสม

          ระหว่างปี 2020 รัฐบาลอียิปต์ข้อซื้อเรือฟริเกตชั้น Carlo Bergamini จากอิตาลีจำนวน 2 ลำ อันเป็นเรือชั้น FREMM ซึ่งถูกออกแบบร่วมกันระหว่างอิตาลีฝรั่งเศส โดยใช้วิธีการจัดหาเหมือนเรือชั้น FREMM ลำที่หนึ่ง คือขอซื้อเรือซึ่งสร้างเสร็จแล้วรอส่งมอบกองทัพเรืออิตาลี มูลค่ารวมอยู่ที่ 1.2 พันล้านยูโรหรือลำละ 600 ล้านยูโร

          ซื้อเรือด้วยวิธีนี้คุณจะได้สินค้าเร็วกว่าเดิมถึง 4 ปี ไม่ต้องมีคณะกรรมการจัดหาเรือ ไม่ต้องส่งซองเข้าประกวดให้เปลืองแสตมป์ ไม่ต้องนับคะแนนหรือกำหนดคุณสมบัติต่างๆ สนใจลำไหนกำเงินเข้าไปหาแล้วเดินจากมาแบบเชิดๆ หยิ่งๆ วิธีนี้ใช้ได้กับลูกค้ากระเป๋าหนักเท่านั้น และต้องเคลียร์กับเจ้าของเดิมให้เรียบร้อยเสียก่อน

          ที่กองทัพเรืออียิปต์เลือกซื้อเรือจากอิตาลีนั้นมีที่มาที่ไป จะนำเรือใหม่มาร่วมกองเรือกับเรือ FREMM จากฝรั่งเศสซึ่งมีลำเดียวโด่เด่ ถึงแม้หลายสิ่งหลายอย่างไม่เหมือนกันทว่าโครงสร้างเรือย่อมเหมือนกัน การซ่อมบำรุงทำได้สะดวกกว่าเลือกแบบเรือใหม่จากอังกฤษหรือเนเธอร์แลนด์

เรือชื่อ ENS Al-Galala (FFG-1002) กับ ENS Bernees (FFG-1003) เข้าประจำการเรียบร้อยแล้ว ใช้หมายเลขเรือต่อจากเรือฟริเกต ENS Tahya Misr (FFG-1001) มีระวางขับน้ำ 6,700 ตัน ยาว 144.6 เมตร กว้าง 19.7 เมตร กินน้ำลึก 4.9 เมตร ระบบขับเคลื่อน CODLOG ความเร็วสูงสุด 27 นอต ระยะปฏิบัติการ 6,800 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 15 นอต เป็นเรือฟริเกตก็จริงแต่ขนาดใหญ่โตกว่าเรือพิฆาตหลายลำ

อาวุธป้องกันตนเองประกอบไปด้วย ปืนใหญ่ Oto 127/64 ที่หัวเรือ ปืนใหญ่ Oto 76/62 Strales เหนือโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ ปืนกลอัตโนมัติ Oerlikon KBA 25 มม. อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Otomat Mk-2/A (ยังไม่เคยเห็นบนเรือเสียทีผู้เขียนจึงไม่ค่อยแน่ใจ) ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mu 90 ต่อด้วยอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Aster 15 จำนวน 16 นัด ทำงานร่วมกับเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Kronos Grand Naval ในโดมทรงกลมบนยอดเสากระโดง

เรือทั้งสองลำเป็นเวอร์ชันใช้งานทั่วไป ไม่มีโซนาร์ลากท้าย CAPTAS-4 กับระบบเป้าลวงตอร์ปิโด แต่ได้ปืนใหญ่ 5 นิ้วยิงกระสุนนำวิถี Vulcano ระยะยิง 100 กิโลเมตรเพิ่มเติมเข้ามา นอกจาก Aster 15 ซึ่งถูกจัดหามาเพิ่มจำนวน 50 นัดแล้ว ยังได้ระบบป้องกันตนเองระยะประชิดขนาดลำกล้อง 3 นิ้วช่วยป้องกันภัย

Oto 76/62 Strales สามารถยิงกระสุนนำวิถี DART สกัดเป้าหมายกลางอากาศอย่างแม่นยำ เป็น CIWS ชนิดปืนที่มีระยะยิงไกลที่สุด อิตาลีใช้เป็นระบบ CIWS บนเรือฟริเกต เรือพิฆาต เรือบรรทุกเครื่องบิน รวมมาถึงเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง อียิปต์เป็นชาติที่สองที่ได้จัดหา Strales ไปใช้งาน ลูกค้ารายแรกคือกองทัพเรือโคลัมเบีย ติดตั้งบนเรือฟริเกตเบาชั้น Almirante Padilla ซึ่งใช้แบบเรือเยอรมันเหมือนเรือคอร์เวตประเทศมาเลเซีย

Oto 76/62 Strales ทันสมัยล้ำหน้าเกินใครก็จริง แต่กำลังจะตกรุ่นเพราะมีสินค้าใหม่กะทัดรัดกว่าและเหมาะสมกว่า นั่นคือปืนใหญ่ Oto 76/62 รุ่น Sovraponte ออกแบบมาเพื่อเป็น CIWS โดยเฉพาะ ขนาดและน้ำหนักเบากว่าเดิม ไม่ใช้พื้นที่ใต้ดาดฟ้าเรือเป็นคลังกระสุน สามารถทำหน้าที่ได้เหมือน Strales ทุกประการ

ต้นเดือนสิงหาคม 2021 มีข่าวชิ้นหนึ่งถูกเผยแพร่ผ่านทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก อิตาลีอนุมัติขายกระสุนต่อระยะ Vulcano ขนาด 5 นิ้ว กับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Aster 30 ให้กับอียิปต์ เพียงแต่ข่าวนี้ยังไม่ถูกยืนยันทั้งจากคนขายและคนซื้อ เพราะฉะนั้นผู้อ่านฟังหูไว้หูแล้วกันนะครับ

Aster 30 คือการนำ Aster 15 มาใส่บูตเตอร์เพิ่มเติมเข้ามา ยาวขึ้นกว่าเดิมระยะยิงไกลขึ้นเป็น 100 กิโลเมตร รวมทั้งมีรุ่นใหม่ยิงสกัดขีปนาวุธพิสัยไกลได้ด้วย สามารถใช้งานบนเรือ FREMM ทั้งของฝรั่งเศสและอิตาลี ถ้าอียิปต์ได้มาเสริมทัพจะสร้างความอบอุ่นใจให้ทั้งกองเรือ

มิตรรักแฟนเพลงของผู้เขียนมีข้อสงสัยว่า อิตาลีขายเรือฟริเกตตัวเองให้อียิปต์จากนั้นจะอย่างไรต่อ?

 คำตอบง่ายๆ คือสร้างใหม่เพิ่มเติ่มอีก 2 ลำ ลำที่หนึ่งทำพิธีวางกระดูกเรือวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2021 ส่วนลำที่สองจะวางกระดูกเรือภายในปีนี้ สร้างเสร็จแล้วจะปล่อยลงนำในปี 2024 เข้าประจำการกุมภาพันธ์ 2025 กับสิงหาคม 2025 ตามลำดับ เท่ากับว่าอิตาลีใช้เวลาสร้างเรือจนพร้อมเข้าประจำการเพียง 4 ปี

สาเหตุหลักที่การสร้างเรือใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากเคยสร้างมาแล้วรัวๆ ถึง 10 ลำ เรือฟริเกต FREMM ของอิตาลีขายให้กองทัพเรืออเมริกาได้ด้วย สั่งซื้อแล้ว 3 ลำในอนาคตจะตามมาอีกสิบกว่าลำ ฉะนั้นทีมงานทุกคนมีความพร้อมเสียเหลือเกิน ชาติไหนมีเงินอยากได้เรือเร็วๆ ติดต่อ Fincantieri โดยตรงได้เลย

เรือฟริเกตชั้น FREMM จากอิตาลีทั้ง 2 ลำจะเข้ามาแทนเรือฟริเกตชั้น Knox ใช้เป็นเรือด่านแรกพร้อมปะฉะดะเรือทุกลำที่ริอ่านบุกรุกเข้ามา ส่วนเรือใหม่ที่จะมาแทนเรือฟริเกตชั้น Oliver Hazard Perry อันที่จริงอียิปต์จัดหาก่อนเรือชั้น FREMM จากอิตาลีเสียด้วยซ้ำ แต่เป็นเรือสร้างใหม่ย่อมมีความล่าช้ากว่ากันตามปรกติ

เดือนพฤศจิกายน 2018 บริษัท ThyssenKrupp Marine Systems หรือ TKMS แห่งประเทศเยอรมัน ขายเรือฟริเกตชั้น Meko-A200EN ให้กับกองทัพเรืออียิปต์จำนวน 4 ลำ แบ่งเป็น 3 ลำแรกสร้างในเยอรมันและลำสุดท้ายสร้างในประเทศลูกค้า TKMS จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปเป็นที่ปรึกษาจนเรือสร้างเสร็จ โดยมีออปชันซื้อเรือเพิ่มอีก 2 ลำในอนาคต มูลค่ารวมอยู่ที่ 2.7 พันล้านเหรียญ หรือลำละ 675 ล้านเหรียญหรือ 500 ล้านยูโร

Meko-A200EN เป็นเรือฟริเกตอเนกประสงค์รุ่นใหม่ มีใช้งานในกองทัพเรือแอฟริกาใต้จำนวน 4 ลำ กับกองทัพเรืออัลจีเรียอีก 2 ลำ ระวางขับน้ำเต็มที่ 3,700 ตัน ยาว 121 เมตร กว้าง 16.7 เมตร ข่าวในช่วงแรกอียิปต์จะติดตั้งระบบอาวุธและเรดาร์คล้ายเรืออัลจีเรีย ภาพประกอบสุดท้ายคือโมเดลเรือซึ่งถูกนำมาจัดแสดง

อียิปต์เลือกติดอาวุธแบบ Power Full บนเรือฟริเกตลำใหม่ ปืนใหญ่หัวเรือขนาด 5 นิ้วรุ่น Oto 127/64 ต่อด้วยแท่นยิงแนวดิ่ง 32 ท่อยิงสำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Umkhonto ปืนกลอัตโนมัติ 20 มม. Nexter Narwhal จำนวน 2 กระบอกหัวเรือท้ายเรือ อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon อีก 16 นัดกลางเรือ มีโซนาร์หัวเรือกับตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำไม่ทราบรุ่น ติดตั้งเป้าลวงอาวุธปล่อยนำวิถีกับตอร์ปิโดมาพร้อมสรรพ

เรืออัลจีเรียใช้ระบบอำนวยการรบกับเรดาร์จาก SAAB  บังเอิญโมเดลเรือติดเรดาร์ตรวจการณ์คล้ายคลึงเรดาร์ THALES  ผู้เขียนจึงไม่แน่ใจตกลงแล้วใช้ตัวไหนกันแน่ อยากให้ชัดเจนไว้รอดูของจริงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ถ้าได้ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์เจ๋งๆ มาด้วยจะ Power Full มากกว่านี้

          หลังเซ็นสัญญามีเรื่องดราม่าเกิดขึ้นเล็กน้อย ระหว่างปี 2019 อียิปต์สั่งซื้ออาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Umkhonto รุ่นนำวิถีเรดาร์ 96 นัด กับรุ่นนำวิถีอินฟราเรดอีก 32 นัด ตั้งใจนำมาใช้งานบน Meko-A200EN จำนวน 4 ลำ เรื่องดราม่าก็คือบริษัท Denel ผู้ผลิต Umkhonto ประสบปัญหาด้านการเงินจนธนาคารไม่กล้าค้ำประกันสัญญา อียิปต์จึงยกเลิกคำสั่งซื้อแล้วหันมองน้ำพริกถ้วยเก่าซึ่งเคยจัดหามาแล้ว 100 นัด

          วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2021 บริษัท MBDA ฝรั่งเศสแจ้งข่าวว่า กองทัพเรืออียิปต์คือลูกค้ารายแรกที่สั่งซื้ออาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน VL MICA NG (New Generation) บริษัทไม่ได้เปิดเผยว่าลูกค้าจะนำไปใช้งานบนเรือลำไหน มีการคาดเดาจากหลายแหล่งข่าวจุดหมายปลายทางคือ Meko-A200EN แน่นอน

          VL MICA NG พัฒนาจากอาวุธปล่อยนำวิถีอากาศ-สู่-อากาศ MICA NG อันเป็นรุ่นใหม่ล่าสุด พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้งานกับเครื่องบิน Rafale เริ่มวางขายเดือนตุลาคม 2020 และพร้อมส่งมอบปี 2026 ผ่านไปเพียง 4 เดือนได้ลูกค้ารายแรกประเดิมสนาม มีแนวโน้มว่าจะขายดีถ้าไม่ถูกคนกันเองเตะสกัดเสียก่อน

สินค้าใหม่ยิงได้ไกลกว่าเดิมสองเท่าหรือ 40 กิโลเมตรด้วยความเร็ว 4 มัค สามารถใช้งานแท่นยิงรุ่นเดิมไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม เรดาร์ตรวจจับที่ปลายจมูกเปลี่ยนเป็นรุ่น AESA มีระบบ Datalink รุ่นใหม่ช่วยนำวิถีระหว่างเดินทางเข้าหาเป้าหมาย ประสิทธิภาพใกล้เคียง ESSM หรือ Aster 15 มากขึ้น เพียงแต่ว่ารุ่นเดิมคือ VL MICA ก็มีคำอธิบายสวยหรูไม่แตกต่างกัน แต่แล้วทำไมไม่มีชาติใดในยุโรปจัดหามาใช้งานเสียที

ต้องรอพิสูจน์ในอนาคตว่า VL MICA NG ดีจริงตามคำกล่าวอ้างหรือไม่ ข้อพิสูจน์ที่ดีที่สุดคือกองทัพเรือฝรั่งเศสควรจัดหามาใช้งานบ้าง กล้าๆ หน่อยแล้วจะรุ่งมิตรรักแฟนเพลงท่านหนึ่งได้กล่าวไว้

กลับมาที่เรือฟริเกต Meko-A200EN อีกครั้ง วันที่ 30 เมษายน 2021 มีพิธีปล่อยเรือฟริเกตลำแรกลงน้ำที่ประเทศเยอรมัน ในภาพเล็กมุมล่างขวาจะเป็นบั้นท้ายเรือลำนี้ ส่วนเรือลำใหญ่ในภาพเล็กคือเรือฟริเกตลำที่สอง กำลังจะมีพิธีปล่อยเรือลงน้ำภายในเดือนกันยายน พร้อมๆ กับการเดินหน้าสร้างเรือลำที่สามควบคู่กันไป

อู่ต่อเรือเยอรมันสร้างเรือได้รวดเร็วไม่แพ้จีน ตุรกี ฝรั่งเศส หรืออิตาลี โครงการนี้ถ้ามีปัญหาน่าจะเป็นเรือลำที่สี่แค่ลำเดียว อียิปต์ต้องการสร้างเองมันน่าหวาดเสียวตรงนี้แหละ ผู้เขียนสมมุติว่าทุกอย่างเป็นไปตามแผนการ กองเรือผิวน้ำขนาดใหญ่ของอียิปต์ในปี 2026 มีความเป็นไปได้ 2 ทางเลือก

ทางเลือกที่หนึ่งปลดประจำการเรือเก่าทั้งหมด พวกเขาจะมีเรือคอร์เวต Gowind 2500 จำนวน 4 ลำ เรือฟริเกต FREMM จำนวน 3 ลำ และเรือฟริเกต Meko-A200EN จำนวน 4 ลำ รวมทั้งหมดเท่ากับ 11 ลำ โดยมีอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยานตระกูล Aster กับ VL MICA ช่วยป้องกันภัยทางอากาศ

ทางเลือกที่สองปรับปรุงเรือฟริเกตชั้น Oliver Hazard Perry ใช้งานต่อไปอีก 1-2 ลำ เหมือนเรือฟริเกต Alexandria (F911) ซึ่งใส่เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Smart-S Mk2 เข้ามา พวกเขาจะมีเรือคอร์เวต Gowind 2500 จำนวน 4 ลำ เรือฟริเกต FREMM จำนวน 3 ลำ เรือฟริเกต Meko-A200EN จำนวน 4 ลำ และเรือฟริเกตแค้นได้ก็ตายยากจากอเมริกาอีก 2 ลำ รวมทั้งหมดเท่ากับ 12 ถึง 13 ลำ โดยมีอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยานตระกูล Aster VL MICA และ SM-1 (ถ้ายังใช้งานได้) ช่วยป้องกันภัยทางอากาศ

เป็นไปได้ว่าอียิปต์อาจปรับปรุงเรือฟริเกต Alexandria (F911) เพียงลำเดียว อยู่กองเรือเดียวกับเรือชั้น FREMM ไปอีกสักพักหนึ่ง เมื่อโครงการสร้างเรือ Meko-A200EN ด้วยตัวเองเสร็จเรียบร้อย อาจมีการจัดหาเรือชั้น FREMM เพิ่มเติมเข้ามาอีก 1 ลำ จะได้มี 4 ลำครบถ้วนเหมือนดั่งกองเรืออื่นๆ

สำหรับกองเรือผิวน้ำขนาดเล็กมีระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Phalanx  Block 1B กับระบบป้องกันตนเองระยะประชิด RAM ช่วยดูแลป้องกันภัยทางอากาศ อียิปต์มีเรือติดปืนกล 30 มม.หกลำกล้องรวบรุ่น AK630 กับปืนกล 40 มม.ลำกล้องแฝดรุ่น DARDO ใช้งานจำนวนหนึ่ง อาจไม่ค่อยทันสมัยแต่ยังใช้งานได้ดีระดับหนึ่ง

บทความเรื่อง Egyptian Navy Air Defence System ยิ่งเขียนยิ่งสนุกยิ่งน่าสนใจ ผู้เขียนไม่อยากให้จบจริงๆ แต่มันถึงเวลาแล้ว ไว้พบกันใหม่บทความหน้าซึ่งอาจไม่ยาวเท่านี้….สวัสดีรอบวงครับผม

++++++++++++++++

อ้างอิงจาก

เอกสารดาวน์โหลด : Egypt becomes the first international customer for MBDA’s VL MICA New Generation surface-to-air system

https://twitter.com/cavasships/status/1004745094203957248

https://dfnc.ru/en/world-news/vl-mica-ng-missiles-for-the-egyptian-navy/

https://www.navalnews.com/tag/egypt/

https://www.navyrecognition.com/index.php/naval-news/naval-news-archive/year-2015-news/february-2015-navy-naval-forces-defense-industry-technology-maritime-security-global-news/2426-new-success-in-egypt-for-dcns-and-its-fremm-frigate-plus-some-technical-details.html

https://www.navyrecognition.com/index.php/naval-news/naval-news-archive/year-2015-news/june-2015-navy-naval-forces-defense-industry-technology-maritime-security-global-news/2836-dcns-transfered-the-fremm-frigate-tahya-misr-to-the-egyptian-navy.html

https://en.wikipedia.org/wiki/ENS_Tahya_Misr

https://www.navyrecognition.com/index.php/naval-news/naval-news-archive/2021/april/10078-egyptian-frigate-meko-a200en-to-be-launched.html

https://www.reddit.com/r/WarshipPorn/comments/g88mwc/scale_model_of_thyssenkrupps_meko_a200en_for/

https://twitter.com/mahmouedgamal44

https://besthqwallpapers.com/ships/ens-bernees-ffg-1003-egyptian-navy-egyptian-frigate-egyptian-warships-171792

https://en.wikipedia.org/wiki/FREMM_multipurpose_frigate

https://www.defenceweb.co.za/featured/egypt-selects-vl-mica-missile-for-its-frigates-after-umkhonto-deal-falls-through/

https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_ships_of_the_Egyptian_Navy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น