วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2564

Philippine Navy Corvette Acquisition Project

 

กองทัพเรือฟิลิปปินส์ก่อนปี 2010 ทั้งอ่อนแอและขาดความเข้มแข็ง อันเป็นผลสืบเนื่องจากงบประมาณในแต่ละปีค่อนข้างน้อยนิด ทหารเรือต้องใช้งานเรือรบมือสองของอเมริกาจากยุคสงครามโลก ใช้เรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่มือสองของอังกฤษจากฮ่องกง กับเรือตรวจการณ์ขนาดเล็กได้รับบริจาคจากเกาหลีใต้

แผนการปรับปรุงกองทัพเรือให้ทันสมัยเริ่มต้นอย่างช้าๆ โดยการจัดหาเรือตรวจการไกลฝั่งชั้น Hamilton ขนาด 3,250 ตัน ปลดประจำการจากหน่วยยามฝั่งอเมริกาแต่ยังคงสภาพดี ระหว่างปี 2011 ถึง 2016 กองทัพเรือฟิลิปปินส์ได้รับโอนเรือจำนวน 3 ลำ เสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมลำละประมาณ 10 ล้านเหรียญ

เรือตรวจการไกลฝั่งชั้น Hamilton เป็นเพียงโครงการเร่งด่วน นำมาทดแทนเรือเก่ายุคสงครามโลกครั้งที่สองไปก่อน รัฐบาลกับกองทัพเรือฟิลิปปินส์มีแผนใหญ่เรียกว่า ‘Maritime Security Projection Package’ เพื่อจัดหาอาวุธทันสมัยโดยแบ่งออกเป็น 3 Horizon แต่ละ Horizon ใช้เวลา 5 ปี หรือรวมกันเท่ากับ 15 ปี

Horizon ที่หนึ่งระหว่างปี 2013 ถึง ปี 2017 ฟิลิปปินส์ต้องการจัดหาเรือฟริเกตอาวุธนำวิถีจำนวน 2 ลำ กับเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำประจำเรือฟริเกตอีก 2 ลำ เรือฟริเกตชั้น Jose Rizal จากเกาหลีใต้ราคาลำละ 168.45 ล้านเหรียญ กับเฮลิคอปเตอร์ AW159 Wildcat รุ่น Full Option จากอิตาลีราคาลำละ 50.5 ล้านเหรียญคือผลสำเร็จในความพยายาม Horizon แรก ตอนนี้เข้าประจำการแล้วกำลังสั่งซื้อตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ

Horizon ที่สองระหว่างปี 2018 ถึง ปี 2022 ฟิลิปปินส์ต้องการจัดหาเรือฟริเกตอาวุธนำวิถีจำนวน 2 ลำ เรือคอร์เวตจำนวน 6 ลำ เรือดำน้ำจำนวน 2 ลำ เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำประจำเรือฟริเกตจำนวน 2 ลำ เครื่องบินตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำจำนวน 3 ลำ และเครื่องบินตรวจการณ์ขนาดเล็กอีก 5 ลำ

Horizon ที่สามระหว่างปี 2023 ถึง ปี 2027 ฟิลิปปินส์ต้องการจัดหาเรือฟริเกตอาวุธนำวิถีจำนวน 2 ลำ เรือคอร์เวตจำนวน 6 ลำ เรือดำน้ำจำนวน 4 ลำ เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำประจำเรือฟริเกตจำนวน 2 ลำ และเครื่องบินตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำจำนวน 3 ลำ

เพราะฉะนั้นเมื่อเข้าสู่ปี 2032 กองทัพเรือฟิลิปปินส์จะมีเรือดำน้ำจำนวน 6 ลำ เรือฟริเกตอาวุธนำวิถีจำนวน 6 ลำ เรือคอร์เวตจำนวน 6 ลำ เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำประจำเรือฟริเกตจำนวน 6 ลำ เครื่องบินตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำจำนวน 6 ลำ และเครื่องบินตรวจการณ์ขนาดเล็กอีก 5 ลำ

 หากฟิลิปปินส์ทำได้จริงตามแผน 15 ปี จะมีแต่คนอ้าปากหวอน้ำลายหกด้วยความอิจฉา

ผู้เขียนขอออกตัวแทนว่านี่เป็นเพียงแผนจัดหา ของจริงทำได้บ้างไม่ได้บ้างไม่ว่ากัน ขอแค่เดินตามแผนการอย่าแตกแถวเท่านั้นพอ ควรชื่นชมเขาที่อย่างน้อยที่สุดก็ไม่ทำให้ลูกหลานเดือนร้อน

Horizon ที่สองทั้งเรือฟริเกตอาวุธนำวิถี เรือดำน้ำ และเครื่องบินตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำไม่มาตามนัด ติดขัดเรื่องเงินๆ ทองๆ อันเป็นปัญหาสำคัญ มีแค่เพียงเครื่องบินตรวจการณ์รุ่น King Air TC-90 ได้รับบริจาคจากญี่ปุ่นจำนวน 5 ลำ กับเรือคอร์เวตขนาด 1,200 ตันชั้น Pohang ได้รับบริจาคจากเกาหลีใต้จำนวน 1 ลำเท่านั้น แต่ทว่ากองทัพเรือยังคงเก็บรักษาไอเท็มลับสุดยอดเป็นท่าไม้ตาย นั่นคือโครงการจัดหาเรือคอร์เวตรุ่นใหม่ทันสมัยจำนวน 2 ลำ ในวงเงิน 555 ล้านเหรียญหรือลำละ 277.5 ล้านเหรียญ

เรือคอร์เวตแพงกว่าเรือฟริเกตชั้น Jose Rizal ถึงลำละ 109.5 ล้านเหรียญ เป็นไปได้อย่างไร?

โครงการเรือฟริเกตชั้น Jose Rizal แบ่งเป็นราคาเรือเปล่าลำละ 168.45 ล้านเหรียญ ยังไม่รวมค่าอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบกับตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ อย่างน้อยๆ ต้องใช้เงินในการจัดหาอีก 80 ล้านเหรียญหรือลำละ 40 ล้านเหรียญ นอกจากนี้ยังมีค่าโน่นนั่นนี่เพิ่มเติมเข้ามา ราคาเรือพร้อมรบควรอยู่แถวๆ 220 ล้านเหรียญ

ส่วนโครงการเรือคอร์เวตใช้งบประมาณ 555 ล้านเหรียญ ไม่มีข้อมูลว่ารวมค่าอาวุธเข้าไปด้วยหรือไม่ และเนื่องมาจากเรือต้องติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ส่งผลให้ราคาแพงขึ้นกว่าเดิมอย่างเลี่ยงไม่ได้ ผู้เขียนขอตั้งราคาเรือไว้ที่ลำละ 277.5 ล้านเหรียญไปก่อน จนกว่าจะพบหลักฐานใหม่นำมาหักล้างในภายหลัง

กองทัพเรือฟิลิปปินส์เริ่มต้นเดินหน้าโครงการจัดหาเรือคอร์เวตในปี 2019 มีการเผยแพร่รายละเอียดกับระบบอาวุธต่างๆ บนเรือ เสียงตอบรับจากบริษัทสร้างเรือหลายรายเริ่มดังกระหึ่ม แต่แล้วจู่ๆ เกิดเคราะห์ซ้ำกรรมซัดโดยไม่ทันตั้งหลัก ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาดจากเมืองอู่ฮั่นประเทศจีนไปทั่วโลก ฟิลิปปินส์ก็เหมือนๆ กับชาติอื่นต้องปิดประเทศเพื่อป้องกันภัยร้าย รายได้หดหายทันควันสวนทางกับรายจ่ายพุ่งพรวดทันตาเห็น

ระหว่างปี 2020 กองทัพเรือฟิลิปปินส์ทนแรงเสียดทานไม่ไหว ประกาศเลื่อนโครงการจัดหาเรือคอร์เวตจำนวน 2 ลำมาอยู่ใน Horizon ที่สอง ยอมถอยยอมกลืนเลือดด้วยรู้ดีน้ำเชี่ยวอย่าเอาเรือขวาง ขณะที่บางประเทศบอกว่ากู้เงินมาแล้วจะเอาไปซื้อเรือดำน้ำลำที่สองนะจ๊ะ จนถึงบัดนี้เรือลำดังกล่าวยังคงกบดานไม่โผล่ผิวน้ำเสียที

โครงการจัดหาเรือคอร์เวตเงียบหายไปสักพักใหญ่ แต่แล้วจู่ๆ ช่วงกลางปี 2021 ก็กลับเข้ามาเดินหน้าได้อีกครั้ง ติดตั้งระบบอาวุธมากกว่าเดิมในบางหัวข้อ รายละเอียดคร่าวๆ ของโครงการมีดังนี้

จำนวนเรือ: 2 ลำในวงเงิน 555 ล้านเหรียญ

ระวางขับน้ำ: มากกว่า 2,000 ตันเหมือนเรือฟริเกตชั้น Jose Rizal

ระบบขับเคลื่อน: ดีเซลล้วนหรือดีเซลไฟฟ้าเท่านั้น

ความเร็วสูงสุด: 25 นอตเหมือนเรือฟริเกตชั้น Jose Rizal

ระยะปฏิบัติการนานสุด: 4,000 ถึง 4,500 ไมล์ทะเล

ระยะเวลาออกทะเลนานสุด: 21 ถึง 28 วัน

ลานจอดและโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์: รองรับอากาศยานปีกหมุนขนาด 10 ตัน

ระบบอาวุธประกอบไปด้วย

ปืนหลัก: ขนาด 76/62 มม. Oto Melara Super Rapid จำนวน 1 กระบอก

ปืนรอง: ขนาด 30 มม.จำนวน 2 กระบอก

ระบบป้องกันตนเองระยะประชิด: จำนวน 1 ระบบ

ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ: แท่นยิงแฝดสามจำนวน 2 แท่นยิง

อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ: จำนวน 8 ท่อยิง

อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน: แท่นยิงแนวดิ่งจำนวน 16 ท่อยิง (ข้อมูลปี 2019 ระบุไว้เพียง 8 ท่อยิง)

ระบบเรดาร์ต่างๆ ประกอบไปด้วย

เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติจำนวน 1 ตัว

เรดาร์เดินเรือจำนวน 2 ตัว

เรดาร์ควบคุมการยิงจำนวน 1 ตัว

โซนาร์ตรวจจับเรือดำน้ำที่หัวเรือจำนวน 1 ตัว

ออปชั่นเสริม (แล้วแต่บริษัทจะใส่เพิ่มเติมเข้ามาเอง หมายความว่าบนเรือจะไม่ได้ติดตั้งเอาไว้)

โซนาร์ลากท้าย Towed Array Sonar System หรือ TASS

เรดาร์เดินเรือสำหรับควบคุมการลงจอดอากาศยาน

ระบบเครื่องช่วยเดินอากาศหรือ TACAN

กล้องตรวจการณ์กลางคืน

อุปกรณ์ตรวจจับคลื่นอิเล็กทรอนิกส์หรือ ESM

ระบบเป้าลวง

เมื่อต้องการเพิ่มเติมจำนวนอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน แต่งบประมาณในการจัดหาเรือยังคงเท่าเดิม กองทัพเรือฟิลิปปินส์ใช้วิธีการตัดอุปกรณ์ออกไปส่วนหนึ่ง โดยคาดหวังว่าจะสามารถจัดหาเพิ่มเติมได้ในภายหลัง หรือให้บริษัทเข้าร่วมประมูลใส่เข้ามาเป็นออปชั่นเสริม ผู้เขียนไม่แน่ใจนี่คือแผนการที่เหมาะสมหรือไม่ โดยเฉพาะระบบ  Soft Kill ซึ่งสำคัญมากที่สุดกลับหายเรียบ แต่ในเมื่อฟิลิปปินส์เลือกแบบนี้ก็คงต้องเอาตามนี้

แม้ไม่ได้ระบุชื่ออาวุธอย่างชัดเจนก็ตาม ทว่าฟิลิปปินส์อยากใช้งานรุ่นเดียวกับเรือฟริเกตชั้น Jose Rizal อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ SSK-700 C-Star กับตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ K745 Blue Shark คือทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติกับระบบอำนวยการรบอาจแตกต่างออกไปก็ได้ เพราะเรือติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยานมาตั้งแต่แรกเริ่ม ถ้ามันจำเป็นต้องเปลี่ยนก็เปลี่ยนไม่สมควรดื้อดึง

เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำก็เช่นกัน AW159 Wildcat เจ้าเดิมนอนมาพระสวดไร้คู่แข่งขัน ปัญหาก็คือราคาค่อนข้างแพงเพราะเป็นรุ่น Full Option อาจต้องเลื่อนไปก่อนจนกว่าจะได้เรือครบตามต้องการ

วันที่ 10 สิงหาคม 2021 มีการเผยแพร่ข้อมูลโครงการเพิ่มเติมว่า บริษัทต่างชาติจำนวน 4 รายตอบรับเข้าร่วมโครงการ โดยมีแบบเรือจำนวน 6 ลำโผล่ขึ้นมาในเนื้อหาข่าว

ทำไม 4 บริษัทถึงมี 6 แบบเรือ? ฟิลิปปินส์กำลังเล่นท่ายากอยู่หรือเปล่า?

ผู้เขียนขอออกตัวแทนอีกครั้งว่าไม่แปลก ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและข้อตกลงของแต่ละชาติ ยกตัวอย่างเช่นโครงการจัดหาเรือคอร์เวตประเทศแอฟริกาใต้ หรือ Project Sitron ซึ่งตัดสินผลในปี 1999 บริษัท German Frigate Consrtium หรือ GFC จากประเทศเยอรมัน ส่งแบบเรือ Meko 200 SAN กับ Meko A200 SAN เข้าร่วมชิงชัย คะแนนรวมได้อันดับ 3 กับอันดับ 2 ตามลำดับจึงไม่ผ่านการคัดเลือก

บังเอิญบริษัท Bazan ของสเปนซึ่งได้อันดับหนึ่ง มีปัญหาเรื่องระยะเวลาส่งมอบเรือช้าเกินไป รวมทั้งวิธีการชำระเงินไม่ถูกอกถูกใจลูกค้า รัฐบาลแอฟริกาใต้จึงหันมาคุยกับอันดับสองดูบ้าง สุดท้ายตัดสินใจสั่งซื้อเรือ Meko A200 SAN จำนวน 4 ลำ ทั้งๆ เรือเยอรมันราคาแพงกว่าเรือสเปนพอสมควร

ตอนนี้ผู้อ่านมองเห็นภาพรวมชัดเจนกว่าเดิมแล้ว ผู้เขียนขอนำแบบเรือเข้าร่วมโครงการมาแนะนำตัว เริ่มจากบริษัทครองตำแหน่งเต็งบ๊วยไล่มาจนถึงเต็มหาม แค่พอเป็นน้ำจิ้มด้วยยังไม่มีรายละเอียดชัดเจนมากนัก

1.บริษัท ASFAT ประเทศตุรกีเสนอแบบเรือจำนวน 2 แบบ ประกอบไปด้วยแบบเรือคอร์เวตชั้น MILGEM รุ่นปรับปรุงเพิ่มเติม เนื่องจากแบบเรือดั้งเดิมไม่มีพื้นที่สำหรับติดตั้งแท่นยิงดิ่ง

จากภาพประกอบรูปเล็กมุมบนคือแบบเรือ MILGEM ที่อู่ต่อเรือ ASFAT เสนอให้กับกองทัพเรือบราซิล ติดตั้งแท่นยิงแนวดิ่ง ExLS ขนาด 3 ท่อยิง สำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Ceptor จำนวน 12 นัด ผู้เขียนนำภาพมาแก้ไขจนได้ท่อยิงเพิ่มเป็น 16 ท่อยิง เพื่อรองรับความต้องการกองทัพเรือฟิลิปปินส์

หลังคาโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์เปลี่ยนปืนกล Bofors 40 Mk 4 เป็นระบบป้องกันตนเองระยะประชิด ขนาบซ้าย-ขวาด้วยปืนกลอัตโนมัติขนาด 30 มม.อีก 2 กระบอก เพียงเท่านี้ก็ตรงตามความต้องการของลูกค้า แบบเรือ MILGEM มีระวางขับน้ำ 2,400 ตัน ยาว 99.56 เมตร รุ่นปรับปรุงอาจยาวกว่าเดิมสักเล็กน้อย

เรือชั้น MILGEM เข้าประจำการกองทัพเรือตุรกีจำนวน 4 ลำ แต่ไม่ใช่รุ่นปรับปรุงไม่มีแท่นยิงแนวดิ่งหน้าสะพานเดินเรือ คะแนนหัวข้อมีเรือเข้าประจำการแล้วก็เลยก้ำกึ่ง ดีกว่าไม่มีแต่ด้อยกว่ามีเข้าใจกันไหมนะ

แบบเรือที่สองของบริษัท ASFAT คือเรือฟริเกตชั้น Istanbul ของกองทัพเรือตุรกี ตอนนี้สร้างลำที่ 1 จากจำนวน 4 ลำในเฟสแรกเสร็จแล้ว ในภาพด้านล่างคือเรือชื่อ TCG Istanbul F-515 ใช้แบบเรือเดียวกับเรือคอร์เวตชั้น Jinnah ของปากีสถาน โดยมีจุดติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบยาวกว่ากันเล็กน้อย  

เรือมีระวางขับน้ำ 3,000 ตัน ยาว 113.2 เมตร กว้าง 14.4 เมตร กินน้ำลึก 4.05 เมตร มาพร้อมระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Gokdeniz ของตุรกี และปืนกลอัตโนมัติขนาด 30 มม.รุ่น SMASH ของตุรกี ระบบอำนวยการรบก็ของตุรกี เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ เรดาร์เดินเรือ เรดาร์ควบคุมการยิง ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบตุรกีสร้างเองทั้งหมด (บางอย่างพัฒนาด้วยตัวเอง บางอย่างซื้อลิขสิทธิ์มาผลิตเอง และบางอย่างพัฒนาร่วมกับชาติอื่น) ปืนใหญ่ขนาด 76/62 มม.ตุรกีก็มีแต่ยิงได้เพียง 80 นัดต่อนาที

ข้อดีของเรือชั้น Istanbul คือมีการสร้างจริงแน่ๆ จำนวน 8 ลำ ติดอาวุธได้อย่างล้นหลาม และมีข้อเสนอสร้างเรือลำที่สองในประเทศฟิลิปปินส์ (รวมทั้งแบบเรือชั้น MILGEM รุ่นปรับปรุงด้วย) ข้อเสียคือเป็นผู้เล่นหน้าใหม่เพิ่งลงสนามใหญ่ได้ไม่นาน กับระบบอาวุธและเรดาร์บนเรือต้องพึ่งพาตุรกีเพียงชาติเดียว

อ่าฟิลิปปินส์จะสร้างเรือคอร์เวตด้วยตัวเอง

อ่าอ่าอ่า!

ปัจจุบันการขายเรือพร้อมออปชั่นสร้างเรือในประเทศลูกค้า (ครึ่งหนึ่งหรือทั้งหมด) พร้อมการถ่ายโอนเทคโนโลยีการสร้างเรือรบรุ่นใหม่ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายชาติไหนก็สามารถสร้างได้ เติร์กเมนิสถานเอย ปากีสถานเอย อียิปต์เอย เม็กซิโกเอย รวมทั้งมาเลเซียซึ่งโครงการมีปัญหาเพราะขาดเงิน ประเทศเหล่านี้เดินหน้าสร้างเรือรบด้วยออปชั่นนี้ทั้งสิ้น ทั้งๆ ที่บางประเทศไม่เคยสร้างตรวจการณ์ยาว 50 เมตรเลยด้วยซ้ำ

ฉะนั้นการสร้างเรือรบในประเทศไทยจึงไม่ใช่เรื่องยาก บริษัทต่างชาติจะช่วยจัดการทุกสิ่งทุกอย่างให้ กองทัพเรือแค่คอยสำรวจความคืบหน้าแล้วก็จ่ายเงิน แต่สิ่งที่เราต้องเข้าใจตรงกันก่อนก็คือ ถ้าบริษัทสร้างเรือในประเทศต้องการเข้าร่วมโครงการ คุณต้องดิ้นรนทำธุรกิจค้าร่วมกับบริษัทต่างชาติเอาเอง ที่สำคัญที่สุดกองทัพเรือต้องไม่นึกอยากสร้างเรือเอง อาจให้เช่าสถานที่สร้างเรือแต่ไม่ควรยุ่งเกี่ยวนั่งมองอย่างเดียว

แบบเรือจากบริษัท ASFAT ค่อนข้างดีมาก บังเอิญคู่แข่งขันกระดูกแข็งโป๊กประมาทไม่ได้สักนิด ตอนนี้ตุรกียังใหม่มากกับประเทศฟิลิปปินส์ ผู้เขียนขอยกให้เป็นเต็งสี่ทั้งๆ ที่น่าสนใจเหลือเกิน

ผู้เขียนขอพามาชมแบบเรือจากเต็งสามกันต่อ คราวนี้มาจากเมืองน้ำหอมรูปร่างสวยสง่าหัวจรดท้าย

2. บริษัท Naval Group ประเทศฝรั่งเศสเสนอแบบเรือคอร์เวต Gowind 2500 เรือมีระวางขับน้ำ 2,500 ตัน ยาว 102 เมตร กว้าง 16 เมตร กินน้ำลึกสุด 5.4 เมตร ใช้ระบบขับเคลื่อน CODED สุดทันสมัย ความเร็วสูงสุด 25 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 4,500 ไมล์ที่ความเร็ว 15 นอต ตรงตามความต้องการพอดิบพอดี

รูปทรงเรือลดการสะท้อนคลื่นเรดาร์หรือ Stealth เวอร์ชันสอง พัฒนาต่อมาจากเรือฟริเกตชั้น Lafayate ซึ่งเป็นเรือฟริเกตรูปทรง Stealth ตัวจริงเสียงจริง จึงดีที่สุดในบรรดาแบบเรือทั้งหมดที่เข้าร่วมชิงชัย

Gowind 2500 ติดตั้งแท่นยิงแนวดิ่งสำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยานจำนวน 16 ท่อยิง เมื่อนำมาปรับปรุงติดอาวุธตามความต้องการของลูกค้า อาจวุ่นวายสักเล็กน้อยแต่ผู้เขียนคิดว่าพอทำได้ ปืนกล 20 มม.เหนือโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์เปลี่ยนเป็นขนาด 30 มม.แต่ควรเลือกรุ่นติดอุปกรณ์ควบคุมการยิงไว้พร้อมสรรพ จุดติดตั้งเรดาร์เดินเรือและควบคุมการลงจอดหลังปล่องระบายความร้อน เปลี่ยนเป็นระบบป้องกันตนเองระยะประชิดรุ่นไม่ใช้พื้นที่ใต้ดาดฟ้าเรือ อาทิเช่น Phalanx Sea Ram Millennium Gun หรือ Gokdeniz

สรุปแล้วสามารถทำได้ตามความต้องการ เพียงแต่บริเวณท้ายเรืออาจดูวุ่นวายสักเล็กน้อย

แบบเรือจากฝรั่งเศสทันสมัยที่สุดและสวยที่สุด ขนาดกะทัดรัดแต่พิษสงรอบตัวประมาทไม่ได้เลย ปัญหาสำคัญของ Gowind 2500 มีเพียงเรื่องเดียว ราคา 277.5 ล้านเหรียญต่อลำสามารถซื้อได้จริงหรือไม่?

ระหว่างปี 2014 รัฐบาลอียิปต์เซ็นสัญญาซื้อเรือจำนวน 4 ลำในราคาลำละ 300 ล้านเหรียญ แต่ไม่มีระบบป้องกันตนเองระยะประชิด ต่อมาในปี 2019 กองทัพเรือโรมาเนียเลือก Gowind 2500 เป็นผู้ชนะโครงการจัดหาเรือทดแทนเรือฟริเกต Type 22 คราวนี้ราคาเรือขยับพรวดมาหยุดที่ 357 ล้านเหรียญ

จะมองแบบนี้ก็ได้นะครับ ตามข้อมูลเรือชั้น Gowind 2500 มีทั้งโซนาร์หัวเรือ Kingklip กับโซนาร์ลากท้าย CAPTAS-2 สุดทันสมัย ถ้าถอด CAPTAS-2 ออกไปจะประหยัดเงินพอสมควร ระบบขับเคลื่อนเปลี่ยนมาใช้ CODAD ดีเซลล้วนเหมือนเรือชั้น Gowind ของมาเลเซีย แล้วตัดโน่นนั่นนี่ออกไปเพื่อกดราคาให้ต่ำที่สุด

แต่ถึงกระนั้นยังได้เสียเงินซื้อระบบป้องกันตนเองระยะประชิด ขี้หมูขี้หมาควรมีอย่างน้อยๆ 16 ล้านเหรียญ รวมทั้งช่วงที่อียิปต์เซ็นสัญญาซื้อเรือจำนวน 4 ลำ ผู้เขียนจำได้ว่าติดแค่โซนาร์หัวเรือ Kingklip เท่านั้น ไม่มีโซนาร์ลากท้าย  CAPTAS-2 ก็เลยไม่รู้จะตัดทิ้งอีท่าไหน เพียงแต่ผู้เขียนยังหาหลักฐานชัดเจนมายืนยันไม่ได้ ไม่กล้าออกตัวแรงกลัวรถกระป๋องวิ่งตกไหล่เขา เอาเป็นว่าเรื่องโซนาร์ CAPTAS-2 ตอนนี้ฟังหูไว้หูแล้วกัน

อันที่จริงเรือลำนี้เคยมีดราม่ามาก่อน Naval Group ค่อนข้างหวงแบบเรือตัวเองพอสมควร มาเลเซียอยากใช้งานระบบอำนวยการรบของ THALES กับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ESSM แต่ Naval Group ไม่ยอมทำตามใจอย่างไรก็ไม่ยอม มาเลเซียจำเป็นต้องใช้งาน VL MICA กับ SETIS เหมือนเดิมต่อไป

เรือคอร์เวตชั้น Gowind 2500 ได้รับความนิยมพอสมควร นอกจากอียิปต์ทยอยเข้าประจำการจำนวน 4 ลำ มาเลเซียสร้างรุ่นขยายขนาดเป็น 3,100 ตันจำนวน 6 ลำ ชนะเลิศโครงการจัดหาที่โรมาเนียรอการสั่งซื้ออีก 4 ลำ วันที่ 25 มีนาคม 2019 ยูเออียังเซ็นสัญญาซื้อเรืออีก 2 ลำวงเงิน 850 ล้านเหรียญหรือลำละ 425 ล้านเหรียญ โดยเปลี่ยนมาใช้อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ESSM กับระบบอำนวยการรบ SETIS เป็นครั้งแรก หมายความว่า Naval Group ยอมถอยทัพลดความอินดี้ลงเสียแล้ว

นอกจากดีลที่มีการเซ็นสัญญาหรือทำข้อตกลงร่วมกัน ยังมีข่าวความเคลื่อนไหวในวันที่ 7 มิถุนายน 2021 ว่า อินโดนีเซียสนใจสั่งซื้อเครื่องบินขับไล่ Rafale จำนวน 36 ลำ เรือดำน้ำชั้น Scorpene จำนวน 4 ลำ และเรือคอรเวตชั้น Gowind 2500 อีก 2 ลำ ในวงเงินรวม 10 พันล้านเหรียญ

ผู้เขียนให้ Gowind 2500 เป็นเต็งสามทั้งที่แบบเรือดีที่สุด เนื่องจากความจู้จี้จุกจิกประเทศผู้ผลิต แต่ถึงกระนั้นยังมีเรื่องน่าตื่นเต้นมาบอก บริษัท Naval Group มีข้อเสนอสร้างเรือลำที่สองในประเทศฟิลิปปินส์เช่นกัน

อ่าฟิลิปปินส์จะสร้างเรือคอร์เวต Stealth ของฝรั่งเศสด้วยตัวเอง

อ่าอ่าอ่า!

แบบเรือจาก 2 บริษัทแรกผ่านพ้นไปแล้ว ต่อไปเรามาพบผู้แข่งขันจากดินแดนกังหันลม

3. บริษัท Damen Group เสนอแบบเรืออเนกประสงค์ SIGMA จำนวน 2 รุ่นให้เลือก หนึ่งแบบเรือคอร์เวตตรวจการณ์ SIGMA 9113 ระวางขับน้ำ 1,700 ตัน ยาว 90.71 เมตร กว้าง 13.02 เมตร กินน้ำลึก 3.6 เมตร ขนาดกะทัดรัดก็จริงแต่ติดอาวุธครบ 3 มิติ มีประจำการในกองทัพเรืออินโดนีเซียจำนวน 4 ลำ

ในภาพประกอบ SIGMA 9113  คือลำล่างหมายเลข 365 มองเห็นแท่นยิงแฝดสี่ TETRAL ติดอยู่บนหลังคาสะพานเดินเรือ สำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Mistral ระยะยิง 5 กิโลเมตร เป็นการออกแบบที่แปลกแหวกแนวไม่ซ้ำใคร แต่การดูแลซ่อมบำรุงหรือใส่ Mistral ในท่อยิงน่าจะลำบากพอสมควร

เมื่อพิจารณาคุณสมบัติเรือโดยรวม SIGMA 9113 ไม่ตรงตามความต้องการกองทัพเรือฟิลิปปินส์ เรือมีระวางขับน้ำไม่ถึง 2,000 ตัน ไม่มีจุดติดตั้งแท่นยิงแนวดิ่งแม้แต่ท่อเดียว ไม่มีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ทุกขนาด ติดระบบป้องกันตนเองระยะประชิดแทนแท่นยิง TETRAL ท้ายเรือได้ก็จริง แต่ยังขาดพื้นที่สำหรับปืนกลอัตโนมัติ 30 มม.อีก 2 กระบอก ตกเป็นรองแบบเรือจากตุรกีกับฝรั่งเศสอย่างชัดเจน

แล้ว Damen จะแก้ปัญหานี้อย่างไร? คำตอบก็คือต้องมีการปรับปรุงใหญ่

บริษัทสร้างเรือจากเนเธอร์แลนด์มีความชำนาญเรื่องนี้เป็นพิเศษ สามารถแปลงร่างเรือลำหนึ่งให้กลายเป็นเรืออีกลำ ตรงตามความต้องการลูกค้าเรื่องมากอย่างเหมาะเหม็ง (เหมาะสมกับทร.ไทยประหนึ่งรจนากับสังข์ทอง) อาทิเช่นเรือตรวจการณ์ OPV 1900 กองทัพเรือปากีสถาน Damen ตัดโน่นเสริมนี่จนเรือมีระวางขับน้ำ 2,300 ตัน และมีหน้าตาแตกต่างจากเดิมราวกับเรือคนละตระกูล แต่ถูกอกถูกใจลูกค้าซึ่งอยากได้เรือยุโรปติดอาวุธจีน

SIGMA 9113 รุ่นปรับปรุงใหม่อาจเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ในกรณีที่ Damen สามารถกดราคาได้ต่ำที่สุด ต้องเข้าใจก่อนนะครับว่าในการคัดเลือกไม่ว่าอะไรก็ตาม ถ้าบริษัท A เสนอสินค้าตรงตามความต้องการทั้งหมด โดยมีราคาต่ำสุดสมควรได้รับการพิจารณารายแรก กฎข้อนี้ใช้ได้กับทุกอย่างนอกเสียจากมีการแอบฮั้วกัน

ถ้า SIGMA 9113 ไม่ถูกอกถูกใจลูกค้ารายใหม่ Damen ยังมีแบบเรือที่สองคือเรือฟริเกต SIGMA 10514 มาให้พิจารณา เรือมีระวางขับน้ำ 2,365 ตัน ยาว 105.11 เมตร กว้าง 14.02 เมตร กินน้ำลึก 3.7 เมตร ใช้ระบบขับเคลื่อน CODOE ทันสมัยล้ำยุค ความเร็วสูงสุด 28 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 5,000 ไมล์ที่ความเร็ว 14 นอต

ในภาพประกอบ SIGMA 10514  คือลำบนหมายเลข 331 ยังไม่ได้ติดระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Millennium Gun หน้าสะพานเดินเรือ มีประจำการในกองทัพเรืออินโดนีเซียจำนวน 2 ลำ กับกองทัพเรือเม็กซิโกอีก 1 ลำแต่เป็นรุ่นปรับปรุงเพิ่มเติม ส่งผลให้เรือยาวกว่าเดิม 2.4 เมตร และมีระวางขับน้ำมากขึ้น 210 ตัน เพื่อรองรับโซนาร์ลากท้าย CAPTAS-2 กับระบบป้องกันตนเองระยะประชิด RAM

แบบเรือ SIGMA 10514 ตรงตามความต้องการทุกประการ ปรกติมีแท่นยิงแนวดิ่งจำนวน 12 ท่อยิงหลังปืนใหญ่ 76/62 มม.แต่สามารถเพิ่มเติมเป็น 16 ท่อยิงได้อย่างสบาย ติดระบบป้องกันตนเองระยะประชิดหน้าสะพานเดินเรือ ติดปืนกลอัตโนมัติ 30 มม.ขนาบโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์สองฝั่ง แล้วขยับแท่นยิงเป้าลวงมาอยู่ใกล้กับแพชูชีพกลางลำ ปรับปรุงโน่นนั่นนี่อีกเพียงนิดหน่อยเป็นอันเรียบร้อย

บริษัท Damen Group มีข้อเสนอสร้างเรือลำที่สองในประเทศฟิลิปปินส์เช่นกัน อันเป็นเรื่องปรกติสำหรับการสั่งซื้อเรือชั้นนี้ เนื่องจากอินโดนีเซียกับเม็กซิโกได้สร้างเรือเองในประเทศทุกลำ

แบบเรือ SIGMA 10514 แบ่งออกเป็นโมดูลใหญ่ๆ จำนวน 7 โมดูล ลูกค้าจะสร้างเรือจำนวน 5 โมดูลให้เสร็จเรียบร้อย แล้ว Damen จะนำ 2 โมดูลสร้างในเนเธอร์แลนด์มาประกอบร่าง (โมดูลที่เป็นระบบขับเคลื่อนกับสะพานเดินเรือ) เพียงเท่านี้คุณจะได้เรือฟริเกตสร้างในประเทศ หรืออยากเรียกว่าประกอบเรือก็คงไม่ผิด นี่คือวิธีการที่ Damen ค้นคิดเพื่อเสนอให้ลูกค้าตัวเอง เหมาะสมกับประเทศที่ไม่เคยสร้างเรือรบแท้ๆ มาก่อน

ผู้เขียนขออธิบายว่ากองทัพเรือฟิลิปปินส์ไม่ได้พูดถึงสร้างเรือลำที่สอง บริษัทจากยุโรปทั้ง 3 รายเต็มใจเสนอออปชันเสริมเข้ามาเอง ในเมื่อฟิลิปปินส์ไม่ได้กระเหี้ยนกระหือรืออยากมีอยากได้ ตัวเองจึงมีแต้มต่อในการคัดเลือกและต่อรองอย่างเต็มที่ อาจไม่เลือกออปชันนี้ก็ได้แต่ขอให้ลดราคาเรือลงอีกนิด

การสร้างเรือรบในประเทศย่อมมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่กองทัพเรือฟิลิปปินส์ไม่ต้องปวดหัวเรื่องการบริหารจัดการ บริษัทผู้ถูกคัดเลือกเข้ามาดูแลทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งเรื่องสรรหาอู่ต่อเรือ อุปกรณ์สำคัญต่างๆ กำลังคน วิศวกรผู้เชี่ยวชาญ เรื่องพวกนี้บริษัทจากยุโรปทั้ง 3 รายคุ้นเคยอยู่แล้ว ให้มืออาชีพทำหน้าที่ตัวเองดีกว่า มือสมัครเล่นเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้เยอะที่สุด แล้วค่อยปล่อยพลังแสดงฝีมือกับโครงการอื่นในอนาคต

ฟิลิปปินส์ก็แค่เลือกข้อเสนอที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง

แบบเรือ SIGMA 10514 น่าจะเหมาะสมกับฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะเรื่องการสร้างเรือลำที่สองในประเทศ แต่ผู้เขียนจัดลำดับให้เป็นแค่เพียงเต็งสอง เนื่องจากเต็งหามจากดินแดนกิมจิประกาศสู้ตายถวายหัว

4. บริษัท Hyundai Heavy Industry หรือ HHI ประเทศเกาหลีใต้ ผู้ชนะเลิศโครงการเรือฟริเกตอาวุธนำวิถี เสนอแบบเรือฟริเกต HDC-3100 เข้าร่วมชิงชัย ชมภาพประกอบกันก่อนสักเล็กน้อย

รูปร่างหน้าตา HDC-3100 คล้ายเรือฟริเกตชั้น Jose Rizal ตั้งแต่หัวจรดท้าย ถ้าผู้เขียนเรียกว่าเรือฟริเกตชั้น Jose Rizal Batch II ก็คงไม่ผิด ระวางขับมากขึ้นจาก 2,600 ตันเป็น 3,100 ตัน ความยาวเพิ่มขึ้นจาก 107 เมตรเป็น 114 เมตร ใช้ระบบขับเคลื่อน CODAD เหมือนเดิม ความเร็วสูงสุดยังคงเท่าเดิม

จุดติดตั้งแท่นยิงแนวดิ่งหน้าสะพานเดินเรือใหญ่ขึ้น ติดท่อยิงได้มากสุด 16 ท่อยิงตามความต้องการ สะพานเดินเรือกับเสากระโดงหาจุดแตกต่างไม่พบ คนไหนหาเจอเอาปากกามาวงเดี๋ยวผู้เขียนแจกรางวัล

ระหว่างสะพานเดินเรือกับปล่องระบายความร้อนคือจุดติดตั้งแท่นยิงตอร์ปิโดเบา มีแผ่นอลูมิเนียมหรือตาข่ายไม่แน่ใจปกปิดอย่างดี (เรือฟริเกตชั้น Jose Rizal จะเปิดโล่ง) จุดปล่อยเรือเล็กนำแผ่นอลูมิเนียมมาติดปิดยาวเชื่อมต่อมาถึงโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ เจาะช่องระบายความร้อนจุดติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ

นี่คือการออกแบบเรือ Stealth สไตล์เกาหลีใต้ที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน ถ้าตีแผ่นอลูมิเนียมยาวมาเชื่อมต่อกับสะพานเดินเรือ จะเหมือนเรือหลวงภูมิพลของเราประหนึ่งพี่น้องคลานตามกันมา

โรงเก็บเฮลิคอปเตอร์มีระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Gokdeniz ของตุรกี ใช้ปืนต่อสู้อากาศขนาด 35 มม.มาพร้อมกระสุน Airbrust ซึ่งโดยทั่วไปรู้จักในชื่อกระสุนอัจฉริยะ AHEAD ทำงานโดยการระเบิดหัวรบก่อนถึงเป้าหมาย เพื่อปล่อยหัวกระสุนขนาดเล็กจำนวนมากออกไปสกัดกั้น แบบเรือ HDC-3100 ตรงตามความต้องการทั้งหมด ยกเว้นแค่เพียงไม่มีปืนรองขนาด 30 มม. จำนวน 2 กระบอก

ติดปืนกลอัตโนมัติ 30 มม.เพิ่มตรงไหนดี?

มีให้เลือกสองจุดด้วยกัน หนึ่งข้างเสากระโดงเรือใกล้จุดติดตั้งแท่นยิงตอร์ปิโดเบา อาจต้องตีโป่งออกมาเล็กน้อยใช้เป็นทางเดิน สองด้านหลังระบบป้องกันตนเองระยะประชิด แล้วโยกแพชูชีพไปติดตั้งตำแหน่งอื่น ไม่ว่าจะเลือกจุดไหนไม่น่ามีปัญหารบกวนจิตใจ เสร็จเรียบร้อยส่งแบบเรือเข้าร่วมชิงชัยได้ทันที

แบบเรือจากเกาหลีใต้หน้าตาอาจดูไม่ทันสมัย แต่มีข้อดีคือราคาถูกกว่าแบบเรือยุโรป และฟิลิปปินส์เป็นลูกค้าตัวเองอยู่ก่อนแล้ว ถ้าเลือกเกาหลีใต้จะมีเรือรุ่นเดียวกัน 4 ลำแบ่งเป็น 2 รุ่นย่อยเข้าประจำการ 

แล้วข้อเสียล่ะข้อเสียก็มีเหมือนกัน HHI ไม่เคยชนะโครงการคัดเลือกเรือรบมาก่อน

โครงการเรือฟริเกตสมรรถนะสูงกองทัพเรือไทย  HHI แพ้ DSME จากเกาหลีใต้เหมือนกันแบบไม่เห็นฝุ่น โครงการเรือฟริเกตอาวุธนำวิถีกองทัพเรือฟิลิปปินส์ HHI แพ้ GRSE จากอินเดียซึ่งเป็นน้องใหม่ในวงการเช่นกัน บังเอิญ GRSE ตรวจสอบด้านการเงินไม่ผ่านข้อกำหนด หวยจึงมาออกที่รองแชมป์อันดับสองแบบส้มหล่น

แชมป์เท่านั้นถึงจะรู้ว่าแชมป์คิดอะไรในใจ นาทีนี้ HHI ยังเป็นแค่เพียงผู้ท้าชิง ต้องเบียดเอาชนะคว้าชัยโครงการเรือคอร์เวตให้ได้เสียก่อน ต้องล้มบริษัทยักษ์ใหญ่จากยุโรป ต้องคว่ำดาวรุ่งพุ่งแรงฝีมือฉกาจ เพื่อให้ตัวเองมีที่ยืนบนสนามการแข่งขัน เพราะฉะนั้น HHI ต้องเทหมดหน้าตักและทุ่มสุดตัว

HHI ต้องเทหมดหน้าตักเพื่อคว้าชัย แต่ HHI กลับมีข้อด้อยที่สองเป็นจุดอ่อนสำคัญ เพราะ HHI เป็นเพียงบริษัทเดียวที่ไม่ยื่นข้อเสนอสร้างเรือลำที่สองในประเทศฟิลิปปินส์

ถูกต้องครับ…HHI ไม่ยื่นข้อเสนอสร้างเรือลำที่สองในประเทศฟิลิปปินส์

เบื้องหลังเรื่องนี้ค่อนข้างซับซ้อนจนต้องเขียนบทความใหม่ ผู้เขียนขออธิบายง่ายๆ ว่า HHI เน้นการซื้อมาขายไปเหมือนประเทศจีน ขายเรือคอร์เวต 2 ลำได้เป็นอันว่าจบโครงการ ได้กำไรมากได้กำไรน้อยไม่สำคัญถือว่าได้กำไรเหมือนกัน แตกต่างจากคู่แข่งขันรายอื่นซึ่งมองการณ์ไกลไปยังอนาคต

ทั้ง 3 บริษัทรู้ดีว่าฟิลิปปินส์ซื้อเรือคอร์เวตมากกว่านี้ และฟิลิปปินส์จะไม่ล้มโครงการแบบลมเพลมพัด ไม่เหมือนบางประเทศตั้งโครงการซื้อเรือฟริเกต 2 ลำมูลค่า 1 พันล้านเหรียญ ขอแก้ไขแบบเรือจนซีอีโอบริษัทผู้ชนะแอบไปนอนร้องไห้ แล้วก็ซื้อแค่เพียงลำเดียวให้คนแก้ไขแบบเรือปวดไมเกรนยกแผนก

ผลจากการจัดหาเรือฟริเกต 2 ลำ เรือยกพลขึ้นบก 4 ลำ เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ 2 ลำ ช่วยให้ฟิลิปปินส์เป็นลูกค้าชั้นดีเกรด B++ ไม่ก็ A ทั้ง 3 บริษัทจึงมอบข้อเสนอสร้างเรือลำที่สองในประเทศ เป็นการคาดหวังคำสั่งซื้อเพิ่มเติมในอนาคตข้างหน้า อันเป็นเรื่องปรกติของการทำมาค้าขายยุคพึ่งพาตัวเอง

HHI ไม่ยื่นข้อเสนอสร้างเรือลำที่สองในประเทศฟิลิปปินส์ แล้ว HHI เป็นเต็งหามได้อย่างไร?

เป็นได้สิครับเพราะ HHI ทำตามความต้องการลูกค้าทุกประการ ฟิลิปปินส์ไม่เคยพูดสักคำว่าอยากสร้างเรือคอร์เวตในประเทศ แล้ว HHI จะยื่นข้อเสนอทำแมวเหมียวอะไร สู้เสนอแบบเรือขนาดใหญ่ในราคาประหยัด แล้วอัดฉีดไอเทมลับสุดยอดได้รับมาจากรัฐบาล ท้ายที่สุด HHI จะได้รับชัยชนะครั้งแรกตามที่ต้องการ

ไอเทมลับสุดยอดของ HHI คืออะไร? คำตอบก็คือเรือคอร์เวตราคาหนึ่งดอลลาร์

กองทัพเรือเกาหลีใต้มีเรือคอร์เวตชั้น Pohang ประจำการอีกตั้ง 10 ลำ แบ่งรุ่น Flight IV หรือ Flight V ให้ฟิลิปปินส์ 1 ลำได้อย่างสบาย ถ้ากองทัพเรือฟิลิปปินส์เลือกแบบเรือ HDC-3100 จะได้รับเรือคอร์เวตใหม่เอี่ยม 2 ลำกับเรือคอร์เวตมือสอง 1 ลำ ส่งผลให้ตัวเองมีเรือคอร์เวต 4 ลำน้อยกว่าแผน Horizon สองเพียง 2 ลำ นี่คือหนึ่งในหลายๆ สาเหตุที่ HHI ได้เป็นเต็งหนึ่งโครงการ

          รัฐบาลฟิลิปปินส์อยากให้โครงการจัดหาเรือคอร์เวตเสร็จสิ้นภายในปี 2022 จะได้ตัดงบประมาณมาสั่งซื้อเรืออย่างเป็นเรื่องเป็นราว แล้วเรามาคอยดูกันว่าท้ายที่สุดบริษัทไหนจะเข้าวิน

                                        +++++++++++++++++++++++

อ้างอิงจาก

เอกสารดาวน์โหลด : NAVAL & SPECIAL SHIP BUSINESS UNIT บริษัท Hyundai Heavy Industry

https://gbp.com.sg/stories/four-shipyards-compete-for-philippine-navys-corvette-acquisition-project/

https://web.facebook.com/MaxDefense/posts/hyundai-heavy-industries-updated-its-naval-and-special-ship-business-unit-produc/1600939586743359/?_rdc=1&_rdr

http://maxdefense.blogspot.com/2021/08/the-philippine-navys-new-corvette.html

https://defencehub.live/threads/pn-corvette-acquisition-program-horizon-2.9053/?fbclid=IwAR1LljfrfED0N2Zun4HDV_Z9aTZFWT_YfN-a_kXzRCjN3UYhXdX0IDBUL-E

https://www.navalnews.com/naval-news/2021/01/turkey-launches-the-lead-ship-of-i-class-frigates-istanbul/

https://www.reddit.com/r/WarshipPorn/comments/kp5etg/first_istif_class_frigate_tcg_istanbulf515_it/

https://www.pna.gov.ph/articles/1108665

https://www.phdefenseresource.com/2019/11/corvette-acquisition-project-lots-1-and.html

www.navy.mil.ph

https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_active_Indonesian_Navy_ships

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น