วันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2564

Jianghu Facelift Progarmme (What If)

           โครงการปรับปรุงเรือฟริเกตชั้นเจียงหู

ขอต้อนรับผู้อ่านทุกคนเข้าสู่บทความพิเศษ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองบทความผู้เขียนใน Blogger ขึ้นมาแตะหลักร้อย บทความที่หนึ่งร้อยเอ็ดจะเป็นเรื่องเหนือจินตนาการ หรือที่เรียกว่าบทความ What If ซึ่งโดยปรกติเขียนปีละหนึ่งครั้ง

ผู้เขียนอยากเขียนถึงเรือฟริเกตชั้นเจียงหูจากจีน กองทัพเรือไทยมีจำนวน 4 ลำแบบแบ่งออกเป็น 2 รุ่นย่อย แต่ขอเรียกรวบยอดว่าชั้นเจียงหูเพื่อความสะดวก เรือชั้นนี้เคยมีบทความ What If เขียนถึงหลายครั้ง เรือหลวงเจ้าพระยากับเรือหลวงบางปะกงผู้เขียนเคยใส่ระบบ SAAB เข้าไปทั้งลำ เป็นที่โด่งดังมากในยูทูปเพียงแต่ไม่ใช่ยูทูปของผู้เขียน

ถ้าเช่นนั้นจะเขียนบทความถึงเรือเจียงหูอีกเพื่ออะไร?

คำตอบก็คือมีแนวความคิดแตกต่างออกไป โดยการยึดถือวิธีการ Facelift’ จากแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์

ย้อนเวลากลับไปประมาณ 30 ปีที่แล้ว รถยนต์ในเมืองไทยมีตัวเลือกมากมายกว่านี้ แต่การแข่งขันดูเหมือนจะไม่ค่อยเข้มข้นเร้าใจ ทุกครั้งที่มีการปรับโฉมประจำปีหรือครึ่งอายุใช้งาน บริษัทรถยนต์แค่เปลี่ยนสติ๊กเกอร์ติดข้างรถ บางครั้งใจดีเปลี่ยนกระจังหน้าแตกต่างออกไปเล็กน้อย บางครั้งใจดีเปลี่ยนไฟเลี้ยวจากสีส้มเป็นสีขาว บางครั้งก็ใจดีเปลี่ยนลายล้ออัลลอยหรือล้อแม็ก ทว่าส่วนอื่นๆ ของรถยังคงเหมือนเดิมทุกประการ

เมื่อรถของท่านจากรุ่นใหม่เอี่ยมกลายเป็นตกรุ่น วิธีย้อมแมวง่ายๆ คือตรงมาที่ร้านอะไหล่แถววรจักร ซื้อกระจังหน้าหรือไฟเลี้ยวนำมาเปลี่ยนเองที่บ้าน เพียงเท่านี้ท่านจะมีรถใหม่ไว้ขับอวดสาวๆ ในหมู่บ้าน

ต่อมาเมื่อการแข่งขันทวีความเข้มข้นกว่าเดิม การปรับโฉมเริ่มทำมากขึ้นโดยเฉพาะรถยุโรป ซึ่งมีอายุการตลาดนานกว่ารถญี่ปุ่น หนึ่งในบริษัทจากเยอรมันคือเมอร์ซิเดสที่เรารู้จัก เป็นบริษัทแรกๆ ที่ปรับปรุงรถตัวเองใช้งานค่อนข้างมาก เปลี่ยนทั้งกันชนหน้าเอย ฝากระโปรงเอย กระจังหน้าเอย บางครั้งก็เปลี่ยนบังโคลนหรือแก้มข้าง ไม่รวมไฟหน้าซึ่งมักแตกต่างระหว่างรุ่นประหยัดกับรุ่นแพงสุด

การปรับปรุงโฉมรถครึ่งอายุการใช้งาน เมอร์ซิเดสมีคำเรียกขานว่ารุ่น Facelift รถคันแรกที่ใช้คำนี้ที่ผู้เขียนจำได้รางๆว่าเป็นรุ่น E-Class W124 หรือรุ่นโลงจำปา ซึ่งมีอายุการตลาดยาวนานถึง 12 ปี  โดยเริ่มวางขายใช้ชื่อรุ่น 230E  และ 300E ต่อมาเมื่อมีการ Facelift จึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อ E230 กับ E300 โดยเปลี่ยนใหม่หมดทั้งกันชนหน้า-กันชนหลัง กระจังหน้า-ฝากระโปรงหน้า ไฟหน้า-ไฟท้าย-ไฟเลี้ยว รวมทั้งติดกราบข้างประตูเพิ่มความสวยงามและช่วยปกป้องตัวถัง

คำถามถัดไปเรือชั้นเจียงหู Facelift ต่างจากเรือชั้นเจียงหู Saab ตรงไหน?

ข้อแตกต่างก็คือ Facelift เป็นการปรับปรุงระดับโรงงาน ใช้อุปกรณ์ทุกชนิดจากบริษัทตัวเองเท่านั้น ฉะนั้นเรือชั้นเจียงหูที่นำมาเข้าร่วมโครงการ Facelift จะใช้ระบบอาวุธกับระบบเรดาร์จากจีนเท่านั้น ยกเว้นที่เคยติดตั้งอยู่แล้วเช่นปืนกล 12.7 มม.ของอเมริกา หรืออุปกรณ์ตรวจจับคลื่นอิเล็กทรอนิกส์จากอเมริกาเช่นกัน

สรุปความสั้นๆ โครงการนี้จีนทั้งลำ ผู้เขียนนามสกุล อยู่เป็น ครับ ทัพเรือไทยไปอเมริกาผู้เขียนไปอเมริกา ทัพเรือไทยไปรัสเซียผู้เขียนไปรัสเซีย ทัพเรือไทยไปจีนผู้เขียนก็ไปจีน ต่อให้ทัพเรือไทยไปตุรกีหรือยูเครนผู้เขียนไม่พลาดแน่นอนฮา ราชนาวีไทยมีเรือฟริเกตชั้นเจียงหูจำนวน 4 ลำก็จริง ทว่าโครงการนี้มีเรือเข้าร่วมถึง 7 ลำด้วยกัน

ตัดเข้าสู่เนื้อหาหลักโครงการ Jianghu Facelift Progarmme (ผู้เขียนขอเรียกสั้นๆ ว่า Facelift) มีการเปลี่ยนอุปกรณ์หลักๆ จำนวน 5 ระบบด้วยกัน ประกอบไปด้วยทดแทนปืนใหญ่ 100 มม.ลำกล้องแฝดด้วยปืนใหญ่ H/PJ-26 ขนาด 76 มม.อัตรายิงสูงสุด 120 นัด/นาที มีกระสุนในคลังแสงจำนวน 150 นัด นี่คือปืนรุ่นใหม่มีความอเนกประสงค์มากกว่าเดิม มีอัตรายิงสูงสุดเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าตัว สามารถยิงเป้าหมายบนอากาศดีกว่าเดิมอย่างชัดเจน

H/PJ-26 เป็นอาวุธมาตรฐานเรือฟริเกตกับเรือคอร์เวตจีนในปัจจุบัน เมื่อจีนปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้นเราได้ใช้งานเช่นกัน แตกต่างจากปืนใหญ่ 100 มม.ซึ่งค่อยๆ สูญหายไปเกือบหมด เรือพิฆาตรุ่นใหม่ของจีนใช้ปืนใหญ่ 130 มม.ทดแทนเสียแล้ว

อุปกรณ์ที่สองคือเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ SR2410C รุ่นใหม่เอี่ยมอ่อง นำมาแทนที่เรดาร์ตรวจการณ์ 2 มิติ SR-60A บนเรือหลวงกระบุรีกับสายบุรี และเรดาร์ตรวจการณ์ Type 354 Eye Shield บนเรือหลวงบางปะกง (เรือหลวงเจ้าพระยาถอดออกเสียแล้ว) เรดาร์รุ่นใหม่เปิดตัวในงาน LIMA 2017 ประเทศมาเลเซีย จากโบร์ชัวร์บริษัท CSOC ระบุว่า SR2410C ตรวจจับเป้าหมายความเร็วมากสุดที่ 3 มัค ตรวจจับอากาศยานไร้คนขับหรืออาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบระดับต่ำได้ดีมาก มีระยะทำการไกลสุด 150 กิโลเมตร ติดตามเป้าหมายให้อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานที่ระยะไกลสุด 60 กิโลเมตร ทำงานคู่กับระบบป้องกันตนเองระยะประชิด FL-3000N ได้อย่างดีเยี่ยม

นี่คือข้อมูลจำนวนน้อยนิดที่ผู้เขียนค้นพบ เรดาร์จริงอาจมีประสิทธิภาพสูงกว่านี้ (ขออวยหน่อยเถอะตามนามสกุล)

เนื่องจาก CSOC ระบุว่า SR2410C มีคุณสมบัติใกล้เคียงเรดาร์ SMART-S MK2 ของ THALES ทำให้ใครหลายคนเข้าใจว่ามีระยะทำการถึง 250 กิโลเมตร ปัจจุบันเรดาร์ตัวนี้ใช้งานจริงบนเรือคอร์เวต Type 056 กองทัพเรือบังกลาเทศจำนวน 2 ลำเฟสหลัง เรือชั้นนี้ระวางขับน้ำเพียง 1,300 ตันแบกเรดาร์ตัวนี้แทบหลังแอ่นเสียแล้ว

SR2410C ยังถูกติดตั้งบนเรือฟริเกตชั้น Type 054A/P กองทัพเรือปากีสถาน 4 ลำ ทำงานร่วมกับอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน HQ-16 หรือ LY-80 ระยะยิง 70 กิโลเมตร เกินระยะติดตามเป้าหมายเรดาร์ไป 10 กิโลเมตร ต้องใช้เรดาร์ควบคุมการยิงช่วยจัดการกระมังครับ ที่น่าสนุกก็คือเรือคอร์เวตชั้น MILGEM ที่ปากีสถานซื้อจากตุรกี 4 ลำเช่นกัน ใช้ LY-80 ร่วมกับเรดาร์ SMART-S MK2 โดยมีระบบอำนวยการรบ GENESIS ซึ่งตุรกีพัฒนาเองควบคุมอีกที โอยอ่านแล้วปวดหัวแทน

อุปกรณ์ที่สามคือแท่นยิงเป้าลวงขนาด 9 ท่อยิงรุ่นปรับทิศทางไม่ได้ นี่คือรุ่นใหม่ล่าสุดใช้งานบนเรือคอร์เวตชั้น Type 056 โชคร้ายผู้เขียนหาชื่อรุ่นไม่เจอเสียที ขนาดกะทัดรัดเมื่อเทียบกับรุ่น Type 726-4 ขนาด 24 ท่อยิงปรับทิศทางได้ สามารถปล่อยเป้าลวง Chaff สะท้อนคลื่นเรดาร์จากอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือ ส่วนเป้าลวงตอร์ปิโดยังไม่เคยเห็นภาพถ่ายแต่อย่างใด

ระบบเป้าลวงรุ่นใหม่จากจีนจะทำงานคู่กับอุปกรณ์ตรวจจับคลื่นอิเล็กทรอนิกส์หรือ ESM รุ่น ES-3601 ของบริษัท L3HARRIS ซึ่งมีงานบนเรือหลวงกระบุรีกับเรือหลวงสายบุรีรวมทั้งเรือรบชั้นนำของไทยอีกหลายลำ ไม่น่ามีปัญหาอะไรเพราะในอดีตทำงานร่วมกับระบบเป้าลวง  Type 945G รุ่นเก่ามากมาแล้ว

มาต่อกันด้วยอุปกรณ์ที่สี่เลยครับ ระบบป้องกันตนเองระยะประชิด FL-3000N ซึ่งทางผู้ผลิตใช้คำว่า  SHIP SELF MISSILE WEAPON SYSTEM ออกแบบมาเพื่อจัดการอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบโดยเฉพาะ แต่สามารถยิงเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ หรืออากาศยานไร้คนขับที่ทะเล่อทะล่าเข้ามาขวางทางปืน ทำงานโดยการยิงออกไปเลยไม่จำเป็นต้องล็อกเป้าหมาย ควบคุมทิศทางเลี้ยวซ้ายเลี้ยวด้วยเรดาร์ตรวจการณ์เรือ เมื่อ FL-3000N เข้าใกล้เป้าหมายระบบตรวจจับความร้อนที่ปลายจมูก จะช่วยนำวิถีจนกระทั่งจรวดวิ่งเข้าเก็บแต้มอย่างสวยงาม ภาพรวมลักษณะคล้ายคลึงกับ RAM ของอเมริกานั่นเอง

FL-3000N จัดการอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบความเร็วต่ำกว่าเสียงได้ที่ระยะทาง 9 กิโลเมตร จัดการอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบความเร็วเหนือเสียงที่ระยะทาง 6 กิโลเมตร มีความเร็ว 850 เมตรต่อวินาที วิ่งชนเป้าหมายในระยะเวลาไม่เกิน 8 วินาที ความแม่นยำในการยิงนัดแรกอยู่ที่ 80 เปอร์เซ็นต์ ข้อมูลทั้งหมดมาจากโบรชัวร์บริษัทผู้ผลิต CASC ครับผม

อาวุธใหม่เทียบได้กับความหวังของหมู่บ้าน เรือฟริเกตชั้นเจียงหูไม่มีอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ได้ FL-3000N จำนวน 8 ท่อยิงสำหรับป้องกันตัว เท่ากับได้ชุบชีวิตใหม่ในยุคที่ทุกชาติมีอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ

อุปกรณ์ชิ้นที่ห้าค่อนข้างมีเรื่องวุ่นวายเล็กน้อย ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.xilu.com ประเทศจีนระบุว่า เรือหลวงบางปะกงกับเรือหลวงเจ้าพระยาใช้ระบบอำนวยการรบ CCS-3 หรือรุ่นส่งออกของ ZKJ-3 ซึ่งเคยตั้งชื่อว่า Poseidon-4 แต่ถูกยกเลิกไปเสียก่อน ส่วนเรือหลวงกระบุรีกับเรือหลวงสายบุรี ถูกปรับปรุงครึ่งอายุใช้งานโดยถอดระบบอำนวยการรบ CCS-3 ออก แล้วใส่ Poseidon-3 หรือ ZKJ-2 เข้ามาแทนที่ ข้อมูลพวกนี้ผู้อ่านทุกคนคงทราบกันดีอยู่แล้ว

ระบบอำนวยการรบทั้งสองค่อนข้างเก่าพอสมควร CCS-3 ทำงานร่วมกับโพรเซสเซอร์ Intel 8086 จากยุค 1978 โน่น ส่วน Poseidon-3 พัฒนาต่อจาก CTC-1629 ของ Racal Marine Radar ประเทศอังกฤษ จีนใช้งานบนเรือฟริเกต Type 053K เพียง 2 ลำเท่านั้น กองทัพเรือไทยต้องการสร้างมาตรฐานใหม่ของระบบอำนวยการรบ หรือ ‘Common Fleet New Normal’  ประกอบกับโครงการเรือฟริเกตสมรรถนะสูงลำที่สอง พวกเขาหมายตาเรือฟริเกต Type 054A/T แถมเฮลิคอปเตอร์เอาไว้ ถ้าเรือจีนมาจริงๆ เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งเฟสสามอาจเป็นเรือคอร์เวต Type 056 รุ่นส่งออก (ตัดระบบปราบเรือดำน้ำทิ้ง) เรือทั้ง 2 ลำใช้ระบบอำนวยการรบ ZKJ-5 รุ่นใหม่ล่าสุด อันเป็นมาตรฐานเรือฟริเกตกับเรือคอร์เวตจีนรุ่นใหม่ทุกลำ

หลังการพิจารณาทัพเรือไทยตัดสินใจว่า เรือชั้นเจียงหูทั้ง 4 ลำต้องเปลี่ยนมาใช้ระบบอำนวยการรบ ZKJ-5

อุปกรณ์ทั้งหมดในโครงการ Facelift  ไม่น่ามีปัญหาในการสั่งซื้อ เพราะมีติดตั้งบนเรือคอร์เวต Type 056 กองทัพเรือบังกลาเทศอยู่แล้ว ไทยจีนพี่น้องกันคลานตามกันมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก ใช้งานไปก่อนค่อยผ่อนส่งเป็นให้เช่าที่ดิน 99 ปีเนอะ


อารัมภบทมานานชมภาพเรือหลังการปรับปรุง Facelift  กันดีกว่า ภาพแรกคือเรือหลวงสายบุรีซึ่งถูกปรับปรุงพร้อมเรือหลวงกระบุรีในเฟสแรกสุด ปืนใหญ่ Type 79A ขนาด 100 มม.ลำกล้องแฝด แทนที่ด้วยปืนใหญ่ H/PJ-26 ขนาด 76 มม. ปืนกล Type 76A ขนาด37 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 2 แท่นที่หัวเรือ แทนที่ด้วยระบบป้องกันตนเองระยะประชิด FL-3000N รุ่น 8 ท่อยิง เรดาร์ตรวจการณ์ 2 มิติ SR-60A หรือ Type 360 แทนที่ด้วยเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ SR2410C ระบบเป้าลวงกลางเรือเปลี่ยนเป็นรุ่นใหม่ 9 ท่อยิง ระบบเป้าลวงท้ายเรือถอดออกแทนที่ด้วยปืนกล 12.7 มม. ระบบอำนวยการรบเปลี่ยนเป็น ZKJ-5 สามารถปรับปรุงให้ใช้งานอาวุธนำวิถีปราบเรือดำน้ำ Yu-8 หรือ ASROC จีน รุ่นยิงจากแท่นยิง C-802A ได้ทันที

หลังการปรับปรุงหัวเรือเบากว่าเดิมเล็กน้อย เนื่องจากปืนใหญ่มีขนาดเล็กกว่ากันพอสมควร จากประสบการณ์เคยโดยสารเรือขนข้าวเปลือกของผู้เขียน ถ้าหัวเรือเบาลงการบังคับควบคุมเรือจะง่ายกว่าเดิม คล้ายดั่งรถกระบะติดพวงมาลัยเพาเวอร์อะไรทำนองนี้ เพียงแต่ไม่ทราบว่ามีผลกับเรือขนาด 1,924 ตันมากน้อยแค่ไหน

เรือหลวงเจ้าพระยากับเรือหลวงบางปะกงปรับปรุงในเฟสถัดไป โดยถอดระบบเรดาร์กับระบบอาวุธออกไปเกือบหมด หัวเรือติดปืนใหญ่ H/PJ-26 ขนาด 76 มม.กับระบบป้องกันตนเองระยะประชิด FL-3000N เรดาร์ควบคุมการยิงเปลี่ยนเป็นรุ่น TR47C หรือ Type 348  เสากระโดงหลักติดเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ SR2410C ที่อยู่สูงขึ้นไปคืออุปกรณ์ตรวจจับคลื่นอิเล็กทรอนิกส์ ES-3601 ระบบอำนวยการรบ ZKJ-5 มาตามนัดไม่มีเบี้ยว อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-802A จำนวน 8 ท่อยิงก็มาตามนัดเช่นกัน ที่ไม่มีการเปลี่ยนรุ่นใหม่เพราะต้องซื้อเพิ่มจำนวนมาก

ท้ายเรือติดตั้งปืนกล Type 76A ขนาด37 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 2 แท่น โดยนำมาจากเรือหลวงกระบุรีกับสายบุรี ปืนกลรุ่นนี้ได้รับฉายาว่า DRADO เมืองจีน อัตรายิงสูงสุด 190 นัดต่อนาทีต่อกระบอก รวมกันเท่ากับ 380 นัดต่อนาทีต่อแท่นยิง ใช้งานเป็นปืนรองทำหน้าที่ป้องกันท้ายเรือ มีเรดาร์ควบคุมการยิง TR47C คอยควบคุมอีก 1 ตัว ท้ายเรือถอดปืนใหญ่ 100 มม.ออกไปกลายเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ ผู้เขียนให้เรือหลวงเจ้าพระยาลำเลียงทุ่นระเบิดปราบเรือดำน้ำล่องหน ไปจัดการปิดช่องแคบมะละกาไม่ให้เข้าไม่ให้ออกเสียเลย ส่วนจรวดปราบเรือดำน้ำ Type 86 กับโซนาร์หัวเรือ SJD-3  ยังคงติดตั้งตามปรกติ ใช้งานได้มากน้อยแค่ไหนก็ตามนั้นไม่ต้องคิดมาก

ภาพนี้คือแบบเรือซึ่งได้รับการคัดเลือก ผู้เขียนขอเรียกว่า V1 รุ่น Final ท้ายเรือเบากว่าเดิมเพราะถอดปืนใหญ่ 100 มม.ออกไปเก็บในคลังแสง หัวเรือเบาลงเช่นกันแต่หักลบแล้วยังมีส่วนต่างพอสมควร และส่วนต่างนี่แหละที่ใช้ลำเลียงทุ่นระเบิดหรืออะไรก็ตาม ทว่าผู้เขียนยังมีแบบเรือไม่ถูกคัดเลือกในโครงการ เรามาชมภาพแบบเรือเหล่านั้นไปพร้อมๆ กัน

ภาพถัดไปคือแบบเรือ V2 มีชื่อเล่นว่า Balance โดยย้ายแท่นยิงระบบป้องกันตนเองระยะประชิด FL-3000N มาติดแทนปืนใหญ่ 100 มม.กระบอกท้าย เป็นการกระจายน้ำหนักไม่ให้โหลดมาที่หัวเรือเกินไป FL-3000N มีมุมยิงกว้างกว่าเดิมนิดหน่อยไปด้วย ซึ่งอันที่จริงไม่จำเป็นเท่าไรเพราะ FL-3000N  เลี้ยวได้ แต่แบบเรือ V2 จะไม่มีพื้นที่อเนกประสงค์ท้ายเรือ

ภาพถัดไปคือแบบเรือ V3 มีชื่อเล่นว่า Limo โดยการย้ายแท่นยิงระบบป้องกันตนเองระยะประชิด FL-3000N มาติดท้ายเรือ แล้วย้ายปืนกล Type 76A ขนาด37 มม.มาติดตั้งหัวเรือ แบบเรือ V2 ใช้เรดาร์ควบคุมการยิงเพียงตัวเดียว ประหยัดเงินได้นิดหน่อยไว้ทำเรื่องอื่น แต่ท้ายเรือจะโล่งๆ มีเพียงปืนกล 12.7 มม.ติดตั้งไว้กันเหนียว โดยมีพื้นที่อเนกประสงค์เช่นเคย

ภาพถัดไปคือแบบเรือ V4 ซึ่งเป็นแบบเรือท้ายสุด มีชื่อเล่นว่า Combo นับเป็นรุ่นจัดแน่นจัดเต็ม โดยการติดตั้งปืนใหญ่ H/PJ-26 ขนาด 76 มม.บริเวณท้ายเรืออีก 1 กระบอก ประสิทธิภาพสูงสุดราคาแพงที่สุด ผลการลงคะแนนแพ้แบบเรือ V1 ไปอย่างฉิวเฉียด เรื่องพรรคไหนเลือกแบบเรือไหนเรื่องนี้ผู้เขียนไม่ทราบ รับรู้แค่เพียง ‘Common Fleet New Normal’  

หลังการปรับปรุงเรือฟริเกตชั้นเจียงหูของไทยมีประสิทธิภาพสูงกว่าเรือคอร์เวตชั้น Type 056 ของบังกลาเทศเล็กน้อย ตรงที่เรือเราใส่ CC-802A ได้มากกว่ากัน 4 นัด เรือจะทำการรบใต้น้ำได้ดีเท่าเดิม ทำการรบผิวน้ำได้ดีเท่าเดิม 2 ลำและดีกว่าเดิมพอสมควรอีก 2 ลำ รวมทั้งทำการรบบนอากาศได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อทั้ง 4 ลำ

การปรับปรุงจะช่วยยืดอายุเรือได้อีก 15-20 ปี ลากยาวมากกว่านี้ตัวเรือไม่น่าไหวแล้ว

โครงการ Facelift  มีผลสืบเนื่องมาถึงเรือยกพลขึ้นบกขนาด 20,000 ตันชั้น Type 071E ซึ่งกองทัพเรือสั่งซื้อจากประเทศจีนจำนวน 1 ลำ เรือลำใหม่จะติดตั้งอุปกรณ์เหมือนๆ กัน เริ่มต้นจากปืนใหญ่ H/PJ-26 ขนาด 76 มม. ต่อด้วยระบบป้องกันตนเองระยะประชิด FL-3000N ใส่ระบบอำนวยการรบ ZKJ-5 มีเรดาร์ควบคุมการยิง TR47C อีก 1 ตัวเหนือสะพานเดินเรือ เสากระโดงหลักติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ SR2410C ใช้ระบบเป้าลวงรุ่นใหม่ 9 ท่อยิงจำนวน 4 แท่นช่วยป้องกันเรือทั้งลำ บริเวณกลางเรือมีปืนกล Type 76A ขนาด37 มม.จำนวน 2 แท่น พร้อมเรดาร์ควบคุมการยิง TR47C อีก 1 ตัว

ติดอาวุธกับเรดาร์จำนวนเท่านี้อาจดูไม่มาก แต่เพียงเท่านี้เรือหลวงจักรีนฤเบศรก็ค้อนจนตาเขียวแล้ว ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่ามากเพียงพอต่อภัยคุกคามในปัจจุบัน ไว้ปรับปรุงใหญ่ครึ่งอายุการใช้งานค่อยว่ากันอีกที

โครงการ Facelift  ยังมีผลสืบเนื่องต่อไปเล็กน้อย เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้นปัตตานีมีโครงการปรับปรุงใหญ่เช่นกัน เรดาร์ตรวจการณ์ 2 มิติ SR-60A จากเรือหลวงกระบุรีและสายบุรีซึ่งมีระยะตรวจจับไกลสุด 166 กิโลเมตร จะถูกนำมาทดแทนเรดาร์ตรวจการณ์ Selex RAN-30X/I ในตำแหน่งเดิม ทำหน้าที่ตรวจการณ์ทางอากาศตามปรกติ ส่วนเรดาร์ Selex RAN-30X/I จะลดลงมาติดเหนือสะพานเดินเรือ ทำหน้าที่ตรวจการณ์ผิวน้ำระยะเกินขอบฟ้า โดยมีอุปกรณ์ตรวจจับคลื่นอิเล็กทรอนิกส์ ES-3601 ติดตั้งเหนือเรดาร์ตัวบน ทำงานร่วมกับระบบเป้าลวงรุ่นใหม่ 9 ท่อยิงจำนวน 2 แท่น

กลางเรือติดตั้อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-802A จำนวน 4 นัด โดยใช้แท่นยิงซ้อนกันเหมือนเรือคอร์เวต Type 056 เพื่อประหยัดพื้นที่ ปืนกล 20 มม.เปลี่ยนเป็นรุ่น Oerlikon Searanger 20 โดยการซื้อชุดคิทจากบริษัท Rheinmetall มาติดตั้งกับปืนกล GAM-BO1 ของเก่ากองทัพเรือไทย กลายเป็นรุ่นควบคุมด้วยรีโมทมีออปทรอนิกส์ควบคุมการยิงบนแท่นปืน ใช้กระสุนปืนขนาด 20x128 mm.รุ่นใหม่ชื่อ SAPPIE-T ของ Rheinmetall โดยให้ซื้อมาพร้อมกันรวดเดียวไปเลย

กระสุนรุ่นใหม่มีความทันสมัยมากขึ้น เป็นรุ่นกึ่งเจาะเกาะใช้ได้ทั้งเป้าหมายผิวน้ำและอากาศยาน เมื่อ SAPPIE-T วิ่งแหวกอากาศมากระทบเป้าหมาย หัวรบขนาดเล็กจำนวนมากถูกสาดออกมาเป็นวงกว้าง แล้วระเบิดพร้อมๆ กันสร้างความเสียหายมากกว่ากระสุนรุ่นเก่า ข้อดีของ SAPPIE-T คือไม่ติดตั้งระบบตั้งชนวนทันสมัย ราคากระสุนไม่แพงเกินไปสามารถเอื้อมถึงสบาย ทว่าประสิทธิภาพกระสุนขึ้นอยู่กับความเร็วในการพุ่งชน ระยะทาง 1กิโลเมตรกระสุนทำงานได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ถ้าไกลกว่านั้นประสิทธิภาพลดลงไปเรื่อยๆ ปืนกล 20 มม.ระยะยิงหวังผล 2 กิโลเมตรถือว่าเหมาะสมกับ SAPPIE-T

เมื่อการติดตั้งชุดคิทบนเรือชั้นเรือหลวงปัตตานีสิ้นสุดลง ราชนาวีไทยจะนำปืนกล Searanger 20 มาติดตั้งกับเรือรบสำคัญๆ หลายลำ ซึ่งยังไม่มีปืนกลควบคุมด้วยรีโมทใช้งาน ประกอบไปด้วย เรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือหลวงสิมิรัน เรือหลวงรัตนโกสินทร์กับเรือหลวงสุโขทัย เรือหลวงตาปีกับเรือหลวงคีรีรัฐ (ปลดประจำการให้ย้ายปืนไปอยู่ลำอื่น) เรือหลวงบางระจันกับเรือหลวงหนองสาหร่าย หรือแม้กระทั่งเรือตรวจการณ์ชั้นต.111 จำนวน 3 ลำเฟสแลก


ชมภาพเรือหลวงปัตตานีหลังการปรับปรุง ตอนนี้อุปกรณ์เต็มลำแทบไม่เหลือทางเดิน ที่ผู้เขียนนำเรดาร์ RAN-30X/I มาติดตั้งตำแหน่งต่ำกว่าเดิม ไม่ได้คิดเองนะครับลอกการบ้านกองทัพเรืออิตาลีอีกที ประเทศนี้ติด RAN-30X/I เหนือสะพานเดินเรือ ไล่ตั้งแต่เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง เรือฟริเกตปราบเรือผิวน้ำ เรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำ เรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศ จนถึงเรื่องบรรทุกเครื่องบินดาดฟ้าสกีจัมป์ ไม่รู้เรือยกพลขึ้นบกดาดฟ้าเรียบลำใหม่ติดตั้งหรือเปล่านะ

RAN-30X/I สามารถทำงานได้อย่างหลากหลาย เป็นเรดาร์เดินเรือช่วยนำทางเฮลิคอปเตอร์ลงจอดได้ ทำงานโหมด 1 หมุนเรดาร์รอบตัว 15 ครั้งต่อนาที สามารถตรวจจับเป้าหมายทางอากาศได้ไกล 100 กิโลเมตร ทำงานโหมด 3 หมุนเรดาร์รอบตัว 3 ครั้งต่อนาที สามารถตรวจจับเป้าหมายผิวน้ำระยะเกินขอบฟ้าถึง 200 กิโลเมตร ทำงานโหมด 4 หมุนเรดาร์รอบตัว 30 ครั้งต่อนาที สามารถตรวจจับอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบที่ระยะ 25 กิโลเมตร นำมาจับคู่กับเรดาร์ SR-60A ได้อย่างลงตัว เพราะเรดาร์จีนซื้อลิขสิทธิ์เรดาร์ RAN-10 ของอิตาลีมาผลิตเอง เมื่ออิตาลีจับคู่กับอิตาลีผลลัพธ์ย่อมกลายเป็นอิตาลี

เมื่อโครงการ Facelift สำเร็จเสร็จสิ้นครบทุกลำ กองทัพเรือไทยจะมีเรือติดอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบจำนวน 12 ลำ แบ่งเป็น Harpoon จำนวน 6 ลำและ C-802A อีกจำนวน 6 ลำ กองทัพเรือไทยจะมีเรือติดอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานจำนวน 11 ลำ ประกอบไปด้วย 4 กลุ่มใหญ่ๆ ก็คือ หนึ่งเรือหลวงจักรีนฤเบศรติด Mistral ระยะยิง 5 กิโลเมตร สองเรือหลวงเจ้าพระยา เรือหลวงบางปะกง เรือหลวงกระบุรี เรือหลวงสายบุรี และเรือหลวงช้าง (เรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ลำใหม่) ติด FL-3000N ระยะยิง 9 กิโลเมตร สามเรือหลวงรัตนโกสินทร์กับเรือหลวงสุโขทัยติด Aspida 2000 ระยะยิง 25 กิโลเมตร และสี่เรือหลวงนเรศวร เรือหลวงตากสิน รวมทั้งเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชติด ESSM ระยะยิง 50 กิโลเมตร

ผลการปรับปรุงตามโครงการ Jianghu Facelift Progarmme ช่วยอุดช่องว่างการรบผิวน้ำกับการรบทางอากาศได้เป็นอย่างดี เหลือการรบใต้น้ำให้จัดการต่อเป็นงานชิ้นถัดไป เรือฟริเกต Type 054A/T จอดรอที่หน้าประตูทางเข้าแล้ว มาพร้อมเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ SR2410C ปืนใหญ่ H/PJ-26 ขนาด 76 มม. ระบบป้องกันตนเองระยะประชิด FL-3000N ระบบอำนวยการรบ ZKJ-5 เรดาร์ควบคุมการยิง TR47C ระบบเป้าลวงรุ่น 9 ท่อยิง สามารถใส่อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน LY-80 จำนวน 24 นัด กับอาวุธนำวิถีปราบเรือดำน้ำ Yu-8 ได้อีก 8 นัด มีโซนาร์หัวเรือ โซนาร์ VDS โซนาร์ Towed Array ติดตั้งมาครบถ้วน รวมทั้งเฮลิคอปเตอร์ Z-9 พร้อมโซนาร์ชักหย่อนเป็นของฝากนักกอล์ฟ

ทั้งหมดนี้จีนคิดราคาเพียง 12,000 ล้านบาท เท่าเรือดำน้ำ S-26T ซึ่งอาจไม่ได้ไปต่อพอดิบพอดี

                                                +++++++++++++++++++++++

อ้างอิงจาก

http://zhongchuan.zhehc.com/cssc/api/content/detail.htm?id=21

https://thaidefense-news.blogspot.com/2017/04/blog-post_10.html?m=0

https://www.navyrecognition.com/m/index.php/news/naval-exhibitions/euronaval-2014/2105-rheinmetall-defence-exhibits-its-20mm-remote-controlled-gun-station-oerlikon-searanger-20-.html

https://www.shephardmedia.com/news/digital-battlespace/lima-2017-china-promoting-new-radar/

https://en.m.wikipedia.org/wiki/H/ZKJ

https://www.leonardocompany.com/en/products/ran30x

https://www.globaldefensecorp.com/2020/06/21/china-launched-9th-type-056-corvette-in-2020/

https://www.asiapacificdefensejournal.com/2019/04/bangladesh-receives-two-new-shadhinota.html?m=1

https://www.navalnews.com/naval-news/2021/01/chinese-shipyard-launches-2nd-type-054-a-p-frigate-for-pakistan-navy/

http://www.shipbucket.com/forums/viewtopic.php?t=5736&start=200

 

2 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆ และสุดยอดมากๆ มีความเป็นไปได้ด้วย (ถ้ามีเงิน) ไม่ทราบว่า 053HTH ตามรูปแรก และ 053HT V1 สามารถเพิ่มโซนาร์ลากท้าย (แบบเดียวกับที่ติดตั้งกับ 056A)แบบที่ท่าน Superboy ได้เคยโพสก่อนหน้านี้ได้หรือไม่ครับ และด้วยน้ำหนักเรือที่ลดลงจากการเปลี่ยนปืน 100มม. เป็น 76มม. เราจะเพิ่มท่อยิง ASROC ตระกูล Yu เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพการรบใต้น้ำได้หรือไม่ครับ
    ในส่วนของการเปลี่ยนปืน อยากให้เปลี่ยนชุด 053HTH ไว้หลังสุด เพราะเพิ่งเปลี่ยนใช้มาไม่นาน เสียดาย
    หากทำได้ตามนี้ ผมว่า มันสุดยอดกว่า 053H3 ที่จีนยังมีใช้อยู่ซะอีก อาจเรียกว่า The best 053 in the world ก็ได้ 555

    ตอบลบ
  2. จะติดจริงๆ ก็ทำได้เพราะเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีอิสราเอลกับสิงคโปร์เคยติดตั้งเช่นกัน แต่โซนาร์ราคาแพงจะถูก แดด-ลม-ฝนตลอด 24 ชั่วโมง สภาพอากาศบ้านเราทั้งร้อนและค่อนข้างชื้น ภาคใต้ฝนตกตลอดเวลาต่างหาก ฉะนั้นโซนาร์ราคาแพงจะมีอายุการใช้งานสั้นมาก ไม่ก็ใช้ใช้ 2 เดือนซ่อม 1 เดือนอยู่ในสภาพไม่พร้อมทำงาน


    เรือสิงคโปร์ใช้โซนาร์ไม่ถึง 20 ปีก็ถอดออกหมดแล้ว แล้วซืัอเรือฟริเกตใส่โซนาร์ใต้ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ป้องกันอย่างดีเยี่ยม ผลสืบเนื่องจากสภาพอากาศนั่นเอง จะไปเอาอย่างยุโรปหรือตะวันออกกลางไม่ได้

    มีอีกเรื่องก็คือเรือหลวงเจ้าพระยาใช้ท้ายเรือเป็นจุดรับส่งคนหรือสิ่งของจากเฮลิคอปเตอร์ ช่วงเวลาไม่ออกเรือจะกางเต๊นท์ขนาดใหญ่ให้ลูกเรือใช้เป็นพื้นที่อาศัย เนื่องจากภายในเรือมีพื้นที่จำกัดมาก เรือหลวงกระบุรียังมีพื้นที่ใต้ลานจอดพอช่วยได้ ที่นี้ถ้าใส่โซนาร์เข้าไปทุกอย่างจบเลย เรือมีอาวุธล้นลำแต่ลูกเรือไม่พร้อมก็ไม่มีประโยชน์นะครับ

    ตอบลบ