วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2563

Type 23 Frigate Air Defence Project

 

โครงการปรับปรุงเรือฟริเกต Type 23 กองทัพเรือชิลี

โครงการ  Type 23 Firgate Programme ถือกำเนิดขึ้นมาในช่วงปลายยุคเจ็ด อันเป็นช่วงเวลาตึงเครียดมากที่สุดของสงครามเย็น สหภาพโซเวียตมีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์จำนวนมาก โดยมีฐานประจำการอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติก พวกเขามักใช้เส้นทางเดินเรือผ่านกรีนแลนด์ - ไอซ์แลนด์ – สหราชอาณาจักร ซึ่งนาโต้พยายามตั้งด่านสกัดเรือดำน้ำขนาดใหญ่ อังกฤษซึ่งเป็นหนึ่งในชาติระดับหัวแถวของนาโต้ จำเป็นต้องพัฒนาระบบปราบเรือดำน้ำให้แข็งแกร่งกว่าเดิม

โครงการเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำทันสมัย กำเนิดขึ้นมาเพื่อทดแทนเรือฟริเกตชั้น Type 12L หรือเรือชั้น Leander  และเรือฟริเกตชั้น Type 21 หรือเรือชั้น  Amazon กำหนดให้เป็นเรือฟริเกตขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ ทำงานสนับสนุนเรือฟริเกตชั้น Type 22 หรือเรือชั้น Broadsword ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า ติดระบบโซนาร์ลากท้ายทันสมัยเป็นไพ่เด็ด พร้อมเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำอีก 1 ลำ (เรือฟริเกตชั้น Type 22 บรรทุกได้ 2 ลำ) นี่คือคุณสมบัติเรือฟริเกตลำใหม่ของโครงการใหม่

HMS Norfolk (F230) คือเรือฟริเกต Type 23 ลำแรกเข้าประจำการปี 1990 ส่วน HMS St Albans (F83) คือเรือลำสุดท้ายเข้าประจำการปี 2002 จำนวนรวมของเรือเท่ากับ 16 ลำ แต่เนื่องมาจากการล่มสลายของโซเวียตในปี 1998 สมาชิกนาโต้ต้องลดกำลังพลลดงบประมาณแบบฮวบฮาบ ราชนาวีอังกฤษเองเป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน เรามาติดตามผลกระทบกันสักนิด

เรือฟริเกต Type 22 Batch III ซึ่งถูกปรับปรุงจนมีระวางขับน้ำ 5,300 ตัน ติดปืนใหญ่ 4.5 นิ้วที่หัวเรือมาให้เรียบร้อย เรือเฟสนี้จำนวน 4 ลำเข้าประจำการระหว่างปี 1988 ถึง 1990  ต่อมาถูกปลดประจำการในปี 2011 พร้อมกันทุกลำ ถูกรื้อถอนกลายเป็นเศษเหล็กทุกลำในอีก 2 ปีต่อมา เท่ากับว่าเรือเข้าประจำการแค่เพียง 11 ถึง 13 ปี

ผลกระทบไม่ได้จบแต่เพียงเท่านี้ เรือฟริเกต Type 22 Batch II อีก 6 ลำถูกปลดประจำการ โดยมี 3 ลำขายต่อมือสองให้กับโรมาเนีย และชิลี (แปลกใจทำไม Batch III ขายไม่ออก)  ส่วนเรือฟริเกต Type 22 Batch I อีกจำนวน 4 ลำ โดยมี 2 ลำเคยผ่านสงครามฟอคแลนด์ทั้งๆ ที่เพิ่งเข้าประจำการ 1 ปีกับ 3 ปี  ถูกขายต่อให้กองทัพเรือบราซิลตั้งแต่ปี 1994 โน่น

แม้ว่าเรือฟริเกต Type 22 จะถูกหางเลขจนหายเรียบ แต่การลดกำลังรบทางเรือยังไม่สิ้นสุดแค่นี้

อังกฤษจำเป็นต้องขายเรือฟริเกต Type 23 บางลำ ประจวบเหมาะช่วงนั้นชิลีซึ่งเป็นลูกค้ารายสำคัญ ต้องการเรือรบมือสองเข้าประจำการถึง 8 ลำ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการล่มสลายของ Tridente Frigate Program

ธันวาคม  2004 ชิลีลงนามในสัญญาสั่งซื้อเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำชั้น Type 23 จำนวน 3 ลำจากกองทัพเรืออังกฤษ ภายใต้สัญญามูลค่า 135 ล้านปอนด์ เรือฟริเกต HM Norfolk เรือฟริเกต HMS Marlborough และเรือฟริเกต HMS Grafton จะถูกโอนต่อให้กับกองทัพเรือชิลี ราชนาวีอังกฤษเหลือ Type 23 เพียง 13 ลำตามเงินในกระเป๋านั่นแหละครับ

ภาพนี้คือเรือฟริเกต FF-07  Almirante Lynch กองทัพเรือชิลี เข้าประจำการวันที่ 28 มีนาคม 2007  เรือมีระวางขับน้ำ 4,900 ตัน ยาว 133 เมตร กว้าง 16.1 เมตร กินน้ำลึก 5.5 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ 4.5 นิ้ว Mark 8 จำนวน 1 กระบอก ปืนกลอัตโนมัติ DS30B ขนาด 30 มม. อีก 2 กระบอก อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน  VL Seawolf จำนวน 32 นัด อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon จำนวน 8 นัด รวมทั้งตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำจำนวน 4 ท่อยิง

ระบบตรวจจับเรือดำน้ำประกอบไปด้วย โซนาร์หัวเรือ Type 2050  ระบบโซนาร์ลากท้าย Type 2031z Towed Array Sonar ซึ่งเป็นระบบโซนาร์มาตรฐานอังกฤษในยุคนั้น  เรือลำนี้ค่อนข้างทันสมัยพอสมควร มีระบบแท่นยิงแนวดิ่งถึง 32 ท่อยิง ใช้ระบบขับเคลื่อน  Combined Diesel-electric and Gas หรือ CODLAG มีมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัวต่อพ่วงกับเพลาใบจักร มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซล 4 ตัวทำหน้าที่ขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้า ใช้งานที่ความเร็วต่ำทั้งประหยัดและลดเสียงดัง มีเครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์อีก 2 ตัวใช้งานที่ความเร็วสูง ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาให้น้อยกว่าเดิม

            ชิลีได้ของดีราคาประหยัดไปครอบครอง 3 ลำ โดยเฉพาะลำในภาพอังกฤษเข้าประจำการปี 1997 แม้ติดตั้งปืนใหญ่ 4.5 นิ้ว MK8 รุ่นเก่าเหมือนเรือหลวงมกฎราชกุมาร  แต่เรือรบอายุสิบปีราคาเพียง 44.6 ล้านปอนด์ใครกันจะกล้าบอกปัด

หลังจากใช้งานเรือฟริเกต Type 23 ได้หลายปีดีดัก  อังกฤษมีโครงการเปลี่ยนโซนาร์ลากท้ายจาก  Type 2031z  มาเป็น Type 2087 หรือเรียกสั้นๆ ว่า S2087 พูดให้ชัดเจนก็คือโซนาร์ THALES CAPTAS-4 เวอร์ชันอังกฤษนั่นเอง มีทั้ง Variable Depth Sonar หรือ VDS ทำงานในโหมด Active Mode รวมทั้งสามารถปล่อย Towed Array Sonar หรือ TASS ทำงานในโหมด Passive ออกจากด้านท้าย เป็นระบบโซนาร์ทันสมัยที่สุดอันดับต้นๆ ในยุคปัจจุบัน


                เนื่องจากโซนาร์ S2087 มีราคาแพงลิบลับ อังกฤษยังติดบนเรือตัวเองแค่ 8 ลำจาก 13 ลำ ชิลีสามารถจัดหามาใช้งานจำนวน 2 ระบบ ติดตั้งบนเรือ FF-06 Almirante Condell ซึ่งเห็นอยู่ในภาพ กับเรือ FF-07 Almirante Lynch อยู่ลิบๆ ใกล้เรือสนับสนุนยกพลขึ้นบกมือสองจากฝรั่งเศส เรือทั้ง 2 ลำถือเป็นเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำที่ดีที่สุดในอเมริกาใต้

                วันเวลาผ่านพ้นเข้าสู่ปี 2015 เรือฟริเกตทั้ง 3 ลำเริ่มมีอายุขัยพอสมควร ถึงเวลาต้องปรับปรุงใหญ่ครึ่งอายุการใช้งาน ประกอบกับอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน  VL Seawolf ใกล้หมดอายุการใช้งาน กองทัพชิลีตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้จรวดรุ่นอื่น อยากได้รุ่นทันสมัยกว่าประสิทธิภาพสูงกว่า อันเป็นที่ไปที่มาโครงการ ‘Type 23 Frigate Air Defence Project’

                โครงการใหญ่เริ่มเดินหน้าปลายปี 2015 รายละเอียดสำคัญหลักมี 3 อย่างประกอบไปด้วย

1.ปรับปรุงหรือเปลี่ยนระบบอำนวยการรบ

2.ปรับปรุงหรือเปลี่ยนเรดาร์ตรวจการณ์

3.เปลี่ยนอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน VL Seawolf เป็นรุ่นใหม่ (ส่งผลกระทบมาถึงเรดาร์ควบคุมการยิง)

 ทุกบริษัทต้องยื่นซองภายในเดือนกรกฎาคม 2016 จำวันเวลาได้แล้วผู้อ่านทดไว้ในใจก่อนนะครับ

วันที่ 1 กรกฎาคม 2016 สภาคองเกรตอเมริกา ทำการอนุมัติการขายอาวุธให้กับประเทศชิลี ประกอบไปด้วย อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน  ESSM จำนวน 39 นัด (เป็นรุ่น Telemetry ถึง 6 นัด อยากซ้อมยิงบ่อยๆ ว่างั้นเถอะ) ระบบแท่นยิงแนวดิ่ง MK 41 รุ่น Tatical baseline VII จำนวน 3 ระบบ ท่อบรรจุจรวดแฝดสี่ MK25 อีก 10 ท่อ (ไม่มีท่อนี้จะไม่สามารถบรรจุ ESSM ในแท่นยิงได้) รวมอุปกรณ์อื่นๆ ทั้งหมดอยู่ในวงเงิน 140.1 ล้านเหรียญ

อเมริกาเปิดหน้ามาแบบนี้หมายความว่าอย่างไร? กองทัพเรือชิลีขอซื้อจรวด ESSM อย่างนั้นหรือ?

คำตอบคือไม่ใช่ครับ โครงการนี้ยังไม่ทันปิดรับซองประมูล เกิดชิลีสั่งซื้อ ESSM มีหวังโดนบริษัทเอกชนฟ้องล้มละลาย ที่อเมริกาทำแบบนี้เพราะกฎหมายบ้านเขาบังคับ การขายอาวุธผ่านโครงการ Foreign Military Sale หรือ FMS จะต้องเสนอให้สภาคองเกรสอนุมัติเสียก่อน กฎหมายผ่านแล้วทีนี้เอกชนขายของได้ฉลุย แต่เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับชิลีสักนิดเดียว

พูดให้มันชัดเจนกว่านั้นก็คือ คนขายออกมาพูด-คนซื้อไม่ได้พูด ถ้าต้องการทราบข้อเท็จจริงท้ายที่สุด ต้องรอให้คนซื้อออกมาพูดภายหลัง รวมทั้งถ้าเขาซื้ออาวุธอเมริกาจริงๆ ก็ตาม ตัวเลขอาจน้อยกว่านี้ถึงหนึ่งในสี่เคยมีมาแล้ว

การขายอาวุธผ่านโครงการ FMS เป็นแบบนี้ทั้งหมด ผู้เขียนอยากเตือนให้ผู้อ่านระวังตัวสักหน่อย ไม่ใช่เห็นข่าวจากอเมริกาแล้วจัดชุดใหญ่ไฟกะพริบ เหมือนที่ผู้เขียนเคยเจ็บมาก่อนเมื่อกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว

กลับมาสู่การชิงชัยกันอีกครั้ง โครงการปรับปรุงเรือฟริเกต Type 23 มีผู้แข่งขันจำนวน 4 ราย ประกอบไปด้วยบริษัท IAI's MBT Division จากอิสราเอล ซึ่งมีความสนิทชิดเชื้อกองทัพเรือชิลี เคยปรับปรุงเรือพิฆาตชั้น Country จำนวน 3 ลำ เรือฟริเกตชั้น Leander จำนวน 2 ลำ และเรือฟริเกตชั้น Type 22 อีก 1 ลำ ผลงานกับคอนเน็กชันไม่ธรรมดาเอาเสียเลย

ในการชิงชัย IAI เสนออาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Barak 8 มาพร้อมระบบอำนวยการรบอิสราเอล และระบบเรดาร์ ELM-2248 MF-STAR ซึ่งเป็นเรดาร์ AESA แบบฝัง 4 มุมพร้อมระบบควบคุมการยิงในตัว เรดาร์ทันสมัยจรวดก็มีระยะยิงไกลลิบลับ การปรับปรุงจะทำให้มีประสิทธิภาพสูงอย่างไม่น่าเชื่อ แต่มีข้อเสียก็คือราคาแพงระยับเพราะใช้แต่ของดี

ผู้แข่งขันรายที่สองคือบริษัท Thales Nederland ซึ่งต้องถือเป็นอีกหนึ่งบริษัทคนคุ้นเคย เนื่องจากชิลีมีเรือฟริเกตใช้ระบบ Thales  ประจำการอยู่แล้ว 4 ลำ ถ้าเพิ่มเข้าไปอีก 3 ลำบอกได้คำเดียว Common Fleet !

ข้อเสนอของ Thales น่าจะคาดเดาไม่ยาก เพราะได้รับความนิยมแพร่หลายทั่วโลก ประกอบไปด้วยระบบอำนวยการรบ Tacticos  เรดาร์ตรวจการณ์ Smart-S MK2 เรดาร์ควบคุมการยิง STIR 1.2 ปิดท้ายด้วยอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ESSM  ดีที่สุดเหมาะสมที่สุดใช้งานได้จริงแน่นอน แต่ราคาก็แพงจริงการยิงจรวด ESSM ต้องใช้อุปกรณ์พอสมควร

ทั้งสองบริษัทมีสินค้าชั้นดีคนชิลีล้วนคุ้นเคย แต่เป็นแค่เพียงม้ารองบ่อนวิ่งไล่หลังชาวบ้าน เต็งจ๋าพระนอนมาโครงการนี้คือบริษัท BAE Systems (teamed with QinetiQ) จากอังกฤษ เจ้าของโครงการปรับปรุงเรือฟริเกต Type 23 ราชนาวีอังกฤษ  ย่อมรู้ไส้รู้พุงเรือฟริเกตที่ชิลีซื้อต่อไปจากอังกฤษ ให้อังกฤษปรับปรุงเรืออังกฤษเหมาะสมที่สุดในสามโลก

ข้อเสนอคือการเปลี่ยนระบบอำนวยการรบจาก DNA (1) CMS มาเป็น DNA (2) CMS เปลี่ยนเรดาร์ตรวจ 3 มิติจาก Type 996 เป็น ARTISAN 3D (หรือที่อังกฤษเรียกว่าเรดาร์ Type 997) ติดตั้งอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Ceptor มีเรดาร์จับเป้าหมายอยู่ในหัวรบ (ใช้วิธีปล่อยจรวดแบบ Soft-Launch) ไม่จำเป็นต้องมีเรดาร์ควบคุมการยิงตัวใหญ่เบ้อเริ่ม แต่สมควรติดตั้งระบบ mid-course guidance updates สำหรับควบคุมทิศทางจรวดระหว่างเดินทางเข้าหาเป้าหมาย

ที่เห็นในภาพนำมาจากโครงการประเทศอังกฤษ แท่นยิงแนวดิ่ง VL Seawolf สามารถปรับปรุงให้ใช้งาน Sea Ceptor ได้เช่นกัน จรวดรุ่นนี้ระยะยิงเพิ่มขึ้นเป็น 25 กิโลเมตร สามารถยิงสกัดอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบได้ดีกว่าเดิม 

Sea Ceptor ถูกติดตั้งบนเรือฟริเกต Type 26 ลำละ 1,000 ล้านปอนด์ พร้อมเรดาร์กับระบบอำนวยการรบอังกฤษ ถูกติดตั้งบนเรือฟริเกต Type 31e ลำละ 250 ล้านปอนด์ แต่ใช้เรดาร์กับระบบอำนวยการรบของ Thales  รวมทั้งจะถูกติดตั้งบนเรือฟริเกต Type 32 ซึ่งช่วงนี้มีข่าวหนาหูว่าอังกฤษอยากได้เพิ่มเติม นิวซีแลนด์จัดหา Sea Ceptor มาใช้งานบนเรือฟริเกตMeko 200 ของตัวเอง นอกจากนี้ยังมีบราซิลอีกหนึ่งชาติ ฉะนั้นแล้ว Sea Ceptor ยังมีอนาคตสดใสไปอีกยาวนาน

 หลังใช้เวลาพิจารณาสักพักใหญ่ ธันวาคม 2016 คณะกรรมการคัดเลือกประกาศ 2 บริษัทเข้ารอบสุดท้าย ถัดมาในเดือนพฤษภาคม 2017 บริษัทผู้ถูกคัดเลือกเป็นผู้ออกข่าวด้วยตัวเอง ไม่ใช่บริษัทจากอิสราเอลหรือเนเธอร์แลนด์อดีตเพื่อนสนิท ไม่ใช่บริษัทจากอังกฤษอดีตเต็งจ๋าม้าตีนต้น ทว่ากลับกลายเป็นบริษัท Lockheed Martin Canada

บริษัทจากแคนาดาไม่ถึงกับเป็นผู้เล่นหน้าใหม่  ปี 2000 พวกเขาเป็นผู้ชนะเลิศโครงการ Tridente Frigate Program กำลังจะได้รับสัญญาสร้างเรือเฟสแรกจำนวน 4 ลำ ถ้ารัฐบาลชิลีไม่บังเอิญถังแตกกะทันหันเสียก่อน

การปรับปรุงเรือจะผสมผสานระบบต่างๆ จากหลายประเทศ มีการติดตั้งระบบ Link-16,Link-22 บริษัท VIASAT ติดตั้งระบบ Datalink 11,16&22 บริษัท IBM ติดตั้งระบบ Advance Navigation System บริษัท OSI ติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติรุ่นใหม่ TRS-4D บริษัท HENSOLDT ประเทศเยอรมัน มาพร้อมระบบพิสูจน์ฝ่ายรุ่นใหม่ทั้งภาครับและภาคส่ง ที่น่าสนใจมากเป็นพิเศษนั่นก็คือ ใช้อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Ceptor เหมือนข้อเสนอจากบริษัทอังกฤษ

รอบชิงชนะเลิศเป็นการพบกันระหว่าง Lockheed Martin Canada กับ BAE Systems (teamed with QinetiQ) ที่ชิลีไม่เลือกปรับปรุงเหมือนอังกฤษแท้ๆ ซึ่งรับประกันว่าใช้งานได้แน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น เนื่องจากข้อเสนอจากแคนาดามีราคาประหยัดกว่า รวมทั้งมีความยืดหยุ่นในการเลือกใช้อุปกรณ์ต่างๆ เนื่องจาก BAE ใช้สินค้าจากอังกฤษทั้งหมด แต่ Lockheed Martin Canada เลือกของดีมีคุณภาพจากหลายชาติ เทียบน้ำหนักปอนด์ต่อปอนด์คะแนนจึงเทมาทางแคนาดา

ก่อนหน้านี้ Lockheed Martin Canada เพิ่งปรับปรุงเรือฟริเกตชั้น Halifax ให้กับกองทัพเรือแคนาดา ผลงานที่นำมาเสนอเข้าตากองทัพเรือชิลีเข้าอย่างจัง เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญทำให้ตัวเองได้รับการคัดเลือก

ผู้เขียนขอเจาะลึกรายละเอียดการปรับปรุงเรือ เริ่มต้นจากระบบอำนวยการรบซึ่งสำคัญที่สุด มีการติดตั้ง Combat Management System 330 หรือ CMS 330 ซึ่งเป็นของ Lockheed Martin Canada โดยการนำระบบอำนวยการรบ 9LV ของ SAAB ประเทศสวีเดนมาพัฒนาเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องความต้องการกองทัพเรือแคนาดามากที่สุด

รู้สึกคุ้นเคยกันบ้างไหม? เหมือนว่าเคยได้ยินได้ฟังเรื่องนี้มาก่อน? มาครับผู้เขียนจะพาไปพบความจริงที่แสนรันทด การนำระบบอำนวยการรบบริษัท SAAB มาพัฒนาเพิ่มเติม ประเทศไทยเคยทำมาก่อนโดยใช้ชื่อว่าถิร  หรือ ‘TIRA’ อันเป็นชื่อย่อมาจากคำว่า Tactacal Information&Realtime Awareness บริษัทผู้พัฒนาเน้นมาที่เรือขนาดกลางกับขนาดเล็ก พูดให้ชัดเจนก็คือเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งจนถึงเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง อันเป็นเรือราคาไม่แพงเท่าไรสามารถสร้างได้เองในประเทศ

CMS 330 กับ TIRA มีพัฒนาการคล้ายคลึงกันก็จริง เพียงแต่มีชะตากรรมต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะ CMS 330 ถูกใช้งานบนเรือฟริเกตชั้น Halifax จำนวน 12 ลำ เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Harry DeWolf จำนวน 8 ลำ เรือฟริเกตชั้น Type 23 ของชิลีจำนวน 3 ลำ และจะถูกติดตั้งบนเรือฟริเกตชั้น Type 26 ของแคนาดาอีก 15 ลำ  จำนวนรวมขายสินค้าได้ถึง 38 ระบบ

ขณะที่ TIRA อันเป็นความหวังเล็กๆ ของผู้เขียน เคยโมเมนำมาใส่บนเรือรบตัวเองตั้งหลายลำ มาบัดนี้ได้สูญสลายกลายเป็นเม็ดฝุ่นติดส้นรองเท้า หายไปกับแสงแดด สายลม และสองเราพร้อมพี่เบิร์ดธงชัยซ่อมได้

เรื่องสำคัญถัดไปคือเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Lockheed Martin Canada เลือก TRS-4D จากบริษัท HENSOLDT ประเทศเยอรมัน อันเป็นสินค้าใหม่เอี่ยมเพิ่งวางขายได้ไม่นาน โดยเลือกรุ่นหมุนรอบตัวระยะตรวจจับไกลสุด 250 กิโลเมตร ขณะที่รุ่นฝังติดเสากระโดงซึ่งต้องใช้เรดาร์ 4 ตัวเหมือนเรือฟริเกต Type 125 เยอรมัน มีระยะตรวจจับไกลสุดถึง 300 กิโลเมตร จึงมีประสิทธิภาพสูงกว่าเรดาร์ ARTISAN 3D ของอังกฤษ ซึ่งมีระยะตรวจจับไกลสุดหน่อมแน้มเพียง 200 กิโลเมตร

TRS-4D เป็น Active Electronic Scanning Radar  หรือ AESA แท้ๆ ติดตามเป้าหมายได้ประมาณ 1,000 เป้าหมาย ใช้ควบคุมอาวุธปืนได้ถึง 4 หน้าจอ โดยเน้นมาที่จัดการเป้าหมายพื้นน้ำ การยิงเป้าหมายบนอากาศควรเป็นระบบควบคุมการยิงแท้ๆ เหมาะสมกว่า ด้วยประสิทธิภาพที่ค่อนข้างดีของเรดาร์รุ่นใหม่ ทำงานร่วมกับอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Ceptor ได้เป็นอย่างดี เรดาร์ TRS-4D มีใช้งานบนเรือคอร์เวต K130 Batch 2 ของเยอรมัน รวมทั้งบนเรือ LCS ชั้น Freedom ของอเมริกา ขนาดกะทัดรัดน้ำหนักรวมไม่ถึง 900 กิโลกรัม  นำมาติดบนเรือตรวจการณ์ยาว 50 เมตรได้อย่างสบาย

เรดาร์ SAAB SeaGriffe AMB ประเทศไทยมีใช้งานบนเรือหลวงจักรีนฤเบศร และเรือฟริเกตทันสมัยที่สุดอีก 3 ลำ ตกเป็นรองเรดาร์ TRS-4D อยู่พอสมควร บริษัทนี้ยังมีเรดาร์ TRS-3D น้ำหนักรวมเพียง 575 กิโลกรัม ระยะตรวจจับไกลสุด 200 กิโลเมตร ติดตามเป้าหมายได้ประมาณ 750 เป้าหมาย ควบคุมอาวุธปืนได้ 2 หน้าจอ เรดาร์ตัวนี้ทันสมัยกว่าเรดาร์ SeaGriffe AMB สักเล็กน้อย มีใช้งานแพร่หลายเช่นกันรวมทั้งเรือฟริเกตใหม่เอี่ยมของฟิลิปปินส์

หลัง Lockheed Martin Canada ออกข่าวได้รับการคัดเลือก การเซ็นสัญญาจริงพลันตามติดมาในอีกไม่นาน มูลค่ารวมทั้งโครงการหาได้ค่อนข้างยาก ตัวเลขที่ผู้เขียนหาได้อยู่ที่ 600 ล้านเหรียญ เพียงแต่จะนำมาหารสามตามจำนวนเรือไม่ได้ ชิลีต้องการซื้อโซนาร์ลากท้าย S2087 ตัวที่ 3 มาใส่บนเรือ FF-05 Almirante ไม่แน่ใจว่ารวมอยู่ในนี้หรือแยกออกมาต่างหาก

เมื่อมีการเซ็นสัญญาสิ่งที่ตามมาคือการทำงาน เรือลำแรกที่ได้รับการเสริมหล่อคือ FF-05 Almirante Cochrane เข้าประจำการกองทัพเรือชิลีในปี 2006 เป็นลำแรก โครงการนี้ Lockheed Martin Canada เป็นผู้ควบคุม ใช้สถานที่บริษัท ASMAR ซึ่งเป็นบริษัทสร้างเรือใหญ่ที่สุดของชิลี บริษัทเคลมว่าตนเองใหญ่ในที่สุดในอเมริกาใต้  มีอู่ต่อเรือขนาดใหญ่ในสังกัดถึง 3 แห่งด้วยกัน การปรับปรุงใช้อู่ต่อเรือเมือง Talcahuano แถวๆ ภาคกลางชิลีเป็นแอ่งกระทะเว้าเข้ามาในฝั่ง มีธรรมชาติช่วยป้องกันลมมรสุมได้เป็นอย่างดี นี่คือท่าเรือสำคัญที่สุดของชิลีมาตั้งแต่กาลนมนาน

ในภาพถอดเรดาร์ตรวจการณ์ Type 996 ออกจากเสากระโดงหลักแล้ว มองเห็นปืนใหญ่ 4.5 นิ้ว MK8 Mod1 ซึ่งใช้ป้อมปืนลดการตรวจจับด้วยเรดาร์อย่างชัดเจน โซนาร์หัวเรือ Type 2050 ค่อนข้างใหญ่โตน่าเกรงขาม ลำนี้แหละครับที่ชิลีอยากซื้อมหาเทพโซนาร์ลากท้าย S2087 มาใส่เพิ่มเติม ส่วนจะได้ไอเทมลับมาหรือไม่โปรดติดตามต่อไป

ขอเขียนถึงอุตสาหกรรมการต่อเรือของชิลีสักเล็กน้อย  โดยเฉพาะบริษัท ASMAR ซึ่งถือกำเนิดตั้งแต่ปี 1895 บริษัทนี้มีประสบการณ์มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ปี 1981 ASMAR ต่อเรือให้กับกองทัพเรือประมาณ 50 ลำ ไม่ว่าจะเป็นเรือตรวจการณ์ขนาดเล็ก เรือลำเลียงพล เรือสำรวจ เรือยกพลขึ้นบก รวมทั้งเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งขนาด 80 เมตร จำนวน 4 ลำ โดยใช้แบบเรือ OPV 80 ของบริษัท FASSMER ประเทศเยอรมัน มั่นใจได้เต็มที่ทั้งเรื่องประสบการณ์และระดับฝีมือ

สถานที่ก่อสร้างปรับปรุงเรือมีความสำคัญเช่นกัน บริษัท ASMAR ให้บริการเรือรบและเรือช่วยรบกองทัพเรือชิลีทุกลำ รวมทั้งมีอู่แห้งในร่มขนาดใหญ่โตสำหรับเรือดำน้ำ Scorpene และ Type209/1400 จำนวน 4 ลำ ทาสีเรือได้หมดทั้งลำโดยไม่โดนแดดโดนฝนแม้แต่หยดเดียว ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเพียบพร้อมเต็มที่ ชิลีเริ่มมองมาที่การสร้างเรือฟริเกตภายในประเทศ

นี่เป็นเอกสารนำเสนอโครงการในที่ประชุม ซึ่งหลุดออกมาเผยแพร่ได้สักพักใหญ่ๆ  ผู้เขียนอ่านข้อมูลเสร็จร้องไห้ทันที ไม่ใช่อะไรอ่านไม่ออกแม้แต่ประโยคเดียว แต่ยังสามารถหาข่าวลือมาบอกต่อได้สักเล็กน้อย

โครงการสร้างเรือในประเทศจะเริ่มต้นประมาณปี 2030 .ในภาพใช้แบบเรือฟริเกต Type 26 ของอังกฤษมานำเสนอ แต่เชื่อเถอะว่าไม่ใช่ลำจริงอย่างแน่นอน รวมทั้งโครงการนี้อาจล่มสลายเหมือนที่ผ่านมา อย่างที่ทุกคนรู้เรือฟริเกตราคาแพงโหดเลือดสาด ยิ่งนำมาสร้างเองในประเทศยิ่งแพงนรกเรียกพี่ ถ้าชิลีไม่สร้างสัก 4 ลำติดต่อกันโครงการนี้ไม่น่าเกิด เพราะฉะนั้นสิ่งแรกสุดต้องหางบประมาณมาลงเสียก่อน และให้บังเอิญงบผูกพันก้อนโตใช่ว่าจะหากันได้ง่ายๆ

กว่าจะถึงเส้นชัยยังต้องชิลีหกล้มอีกหลายครั้ง วันใดวันหนึ่งเขาจะทำสำเร็จผู้เขียนเชื่อเช่นนั้น

กลับมาที่เรื่องการปรับปรุงเรืออีกครั้ง หลังใช้เวลา 18 เดือนในอู่ต่อเรือเมือง Talcahuano วันที่ 8 พฤศจิกายน 2019 เรือฟริเกต FF-05 Almirante Cochrane เดินทางกลับมายังฐานทัพเรือ และนี่ก็คือภาพถ่ายภาพแรกสุดที่ถูกเผยแพร่

Sea Ceptor มีเรดาร์จับเป้าหมายอยู่ในหัวรบ เรดาร์ควบคุมการยิง Type 911 ก็เลยหายไปทั้ง 2 ตัว ปืนใหญ่ 4.5 นิ้วใช้ออปทรอนิกส์ควบคุมการยิง Sea Archer 30 ที่เห็นกลมๆ บนเสากระโดงหลัก ส่วนที่เห็นเป็นแท่งยาวๆ หัวกลมเหนือสะพานเดินเรือกับโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ คือจานส่งสัญญาณจากเรือไปยังจรวด Sea Ceptor ช่วยควบคุมทิศทางระหว่างเดินทางเข้าหาเป้าหมาย ขนาดเล็กกะทัดรัดกินพื้นที่เพียงเล็กน้อย เป็นอุปกรณ์สำคัญชนิดหนึ่งขาดไม่ได้เลยทีเดียว

ยกตัวอย่างตอนสั่งยิงเป้าหมายอยู่กราบขวา  ทันใดนั้นเองเป้าหมายวิ่งมาทางกราบซ้าย  ไม่มีอุปกรณ์ตัวนี้จรวดจะวิ่งไปยังพื้นที่เวิ้งว้างว่างเปล่า เรดาร์ในหัวรบจับได้เพียงฝูงนกนางนวลบินโฉบไปมา จานส่งสัญญาณคือวิธีแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะเหม็ง เรดาร์ TRS-4D จะช่วยติดตามเป้าหมายและกำหนดทิศทางให้ Sea Ceptor รวมทั้งพลยิงอาจเปลี่ยนเป้าหมายไปเป้าหมายอื่น ซึ่งมีความสำคัญกว่าหรือน่ากลัวมากกว่า การป้องกันภัยทางอากาศจึงมีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม

ที่ผู้เขียนเขียนถึงเป็นหลักการโดยทั่วไป Sea Ceptor ทำได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับจรวดล่ะครับ

หลังปรับปรุงเรือดูโล่งสะอาดตาเอามากๆ ผู้เขียนชอบเรือแบบนี้ครับไม่ต้องมีอาวุธมากมายเกินเหตุ ในอนาคตเมื่อติดโซนาร์ลากท้าย S2087 กับระบบเป้าลวงตอร์ปิโด SSTD ( Surface Ship Torpedo Defence System) ของอังกฤษเข้าไปแล้ว สามารถประจำการต่ออีก 20 ปีได้อย่างสบาย โดยที่ระบบเรดาร์ไม่ล้าสมัยและอาวุธทุกชนิดสามารถใช้งานได้

มิตรรักแฟนเพลงชาวไทยมักไม่ชอบเรือโล่งๆ อย่างแรกที่พูดถึงก็คือไม่มีระบบป้องกันตนเองระยะประชิดหรือ CIWS ถ้าเป็นข้าพเจ้าข้าพเจ้าจะเปลี่ยนปืนใหญ่ 4.5 นิ้วเป็นปืนใหญ่ 76/62 Super Rapid พร้อมกระสุนนำวิถี DART หลังคาโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ต้องมี Phalanx Block 1B สิพ่อคุณ ฝ่ายชิลีตอบกลับมาสั้นๆ แต่ได้ใจความ ข้อมูลจากบริษัทผู้ผลิต Sea Ceptor สามารถจัดการฮาร์พูนสกี้ได้ตั้งแต่ไกลลับตา ข้าพเจ้านำเงิน 40 ล้านเหรียญมาซื้อ Sea Ceptor ให้เต็มทุกท่อไม่ดีกว่าหรือ

การปรับปรุงเรือไม่มีใครผิดไม่มีใครถูก ขึ้นอยู่กับงบประมาณ หลักนิยม ความต้องการ รวมทั้งภารกิจหลักของเรือ ชิลีใช้ชื่อโครงการว่า Type 23 Frigate Air Defence Project นั่นก็ใช่ บังเอิญพวกเขาอยากได้โซนาร์ลากท้าย S2087 มากกว่าปืนใหญ่ 76/62 Super Rapid หรือ Phalanx Block 1B เขาจึงนำเงินไปซื้อโซนาร์ลากท้าย S2087 ก็เท่านั้นเอง

เรื่องถัดไปขอพากลับมายังเรือฟริเกต Type 23 ราชนาวีอังกฤษ ในอดีตติดอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน  VL Seawolf โดยใช้ระบบแท่นยิงแนวดิ่งจำนวน 16 ท่อยิงต่อหนึ่งระบบ (เรือคอร์เวต F2000 ขนาด 2,000 ตันของบรูไนมีพื้นที่รองรับ 16 ท่อยิง แต่ไม่ได้ติดจรวดเพราะมีปัญหาเรื่องสัญญาสร้างเรือ ) เรือฟริเกต Type 23 ใส่ไว้ 2 ระบบเท่ากับมี  VL Seawolf มากสุดถึง 32 นัด ท่อยิงพวกนี้สามารถปรับปรุงให้ใช้งาน Sea Ceptor ได้อย่างเหมาะเหม็ง รูปร่างหน้าตาคล้ายเห็ดชนิดหนึ่งตามป่าเขาลำเนาไพร ผุดขึ้นมาจำนวน 32 ท่อยิงเท่าของเดิมพอดิบพอดี

ขณะที่เรือฟริเกต Type 23 ของราชนาวีชิลี ใส่ท่อยิง Sea Ceptor ไว้เพียงระบบละ 8 ท่อยิง รวมทั้งหมดจึงเท่ากับ 16 ท่อยิง (ใส่หนึ่งแถวเว้นไว้หนึ่งแถว) ถือเป็นจำนวนมากเพียงพอในการป้องกันตนเอง อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon Block II ยังไม่มานะครับ มีเพียงจุดติดตั้งโล่งๆ อยู่ถัดท่อยิงเห็ดขบเผาะเพียงเล็กน้อย

ชมภาพบั้นท้ายเรือ FF-05 Almirante Cochrane กันบ้าง โซนาร์ลากท้าย S2087 ยังไม่มารวมทั้งไม่รู้จะมาตอนไหน เนื่องจากราคาแพงเลือดสาดตามประสิทธิภาพ แต่ถึงอย่างไรชิลีต้องดิ้นรนขวนขวายหามาติดตั้งให้จงได้

ที่จอดข้างกันคือเรือฟริเกต Type M ซึ่งชิลีซื้อต่อมาจากกองทัพเรือเนเธอร์แลนด์ ระวางขับน้ำเต็มที่ 3,340 ตัน ยาว 123.72 เมตร กว้าง 14.37 เมตร มีอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน VL Sea Sparrow จำนวน 16 นัดไว้ป้องกันตนเอง ใช้เรดาร์ควบคุมการยิง STIR 1.8 จำนวน 2 ตัวมองเห็นชัดเจน ทำงานคู่กับเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Thales Smart-S Mk1 และเรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศระยะไกล Thales LW-08 รวมทั้งมีระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์แบบจัดแน่นจัดเต็ม

กองทัพเรือชิลีมีเรือฟริเกตทันสมัยถึง 8 ลำก็จริง เพียงแต่ช่วงนี้เรือ 3 ลำนี้ห้ามป่วยห้ามตายเด็ดขาด เพราะเรือฟริเกต Type 23 อีก 2 ลำต้องเข้าปรับปรุงใหญ่ เรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศ Type L ปลดประจำการแล้ว ได้เรือฟริเกต Oliver Hazard Perry ของออสเตรเลียมาทดแทนก็จริง แต่ยังอยู่ในช่วงปรับปรุงอีกนานเลยกว่าจะพร้อมรบ ขณะที่เรือฟริเกต Type 22 Batch II ซึ่งเป็นเรือธงอีกจำนวน 1 ลำ ใช้เครื่องยนต์ COGOG ค่อนข้างสิ้นเปลืองไม่สมควรใช้งานบ่อย

FF-19 Almirante Williams เรือธงราชนาวีชิลีถูกปรับปรุงใหม่เช่นกัน ติดตั้งอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Barak ระยะยิงไกลสุด 12 กิโลเมตรจำนวน 16 ท่อยิง เรือฟริเกตชิลีทุกลำติดอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน และต้องมีอย่างน้อยๆ 16 นัดขึ้นไป ถือเป็นมาตรฐานที่ต้องทำตามและสามารถทำได้ ผู้เขียนหวังว่าวันหนึ่งราชนาวีไทยจะทำได้เช่นกัน (8 นัดต่อลำก็ได้น่า)

บทความเกี่ยวกับกองทัพเรือชิลีน่าจะหมดแล้ว บทความถัดไปกำลังจะตามมา...วันนี้ขอลาไปก่อนสวัสดีครับ ^_*

-------------------------------

อ้างอิงจาก

https://www.dsca.mil/press-media/major-arms-sales/chile-evolved-seasparrow-missiles-essms

https://www.lockheedmartin.com/en-ca/chile.html

https://www.armada.cl/armada/unidades-navales/superficie/fragatas/ff-05-almirante-cochrane/2014-04-15/113128.html

https://www.moddb.com/groups/ship-lovers-group/images/almirante-lynch-ff-07

https://www.naval.com.br/blog/2019/06/16/fragata-chilena-almirante-lynch-inicia-sua-modernizacao/

https://www.hensoldt.net/products/radar-iff-and-datalink/trs-4d-rotator/

http://www.defensa.pe/forums/showthread.php/124-Fragatas-Type-23/page65

https://www.asmar.cl/en/

https://defensanacional.foroactivo.com/t65p450-armada-de-chile

https://www.lockheedmartin.com/en-ca/cms330.html

https://ukdefencejournal.org.uk/type-23-duke-class-frigate-guide/

https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_active_ships_of_the_Chilean_Navy

https://www.armada.cl/site/unidades_navales/511.htm

www.hensoldt.net

https://www.navalnews.com/naval-news/2019/05/lockheed-martin-details-chilean-navy-type-23-frigates-upgrade/

เอกสารดาวน์โหลด : Combat Management System 330 (CMS 330)

เอกสารดาวน์โหลด : TRS-4D® Rotator Multi-function surveillance and target acquisition radar

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น