วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

TAK76 The Forgotten Naval Gun

                                                              TAK76 ปืนเรือที่โลกลืม

ระหว่างปี 1962 บริษัท Bofors ได้พัฒนาอาวุธปืนรุ่นใหม่จำนวนสองรุ่น ประกอบไปด้วยปืนใหญ่ขนาด 76 มม.รุ่น TAK76 และปืนใหญ่ขนาด 120 มม.รุ่น TAK120 (ซึ่งมีอัตรายิงสูงสุด 80 นัดต่อนาที) คำว่า TAK ย่อมาจาก ‘Turret Automatic Cannon’ หมายความว่าปืนทำงานอัตโนมัติเต็มระบบ บทความนี้เกี่ยวข้องกับ Bofors TAK76 ปืนเรือที่โลกลืม ซึ่งเป็นระบบอาวุธที่เลือนหายจากควาทรงจำ ก่อนอื่นชมภาพปืนใหญ่อัตโนมัติจากสวีเดนแบบชัดๆ กันก่อน

TAK76 เป็นปืนที่ Bofors พัฒนาขึ้นมาเอง ขนาดลำกล้อง 76/50 มม.คล้ายปืน 3 นิ้วของ นิตยสาร Jane's Naval Weapon Systems ระบุไว้ว่า พัฒนามาจากปืนใหญ่ป้องกันชายฝั่งขนาด 75/57มม.ของสวีเดน แต่เมื่อพิจารณาภาพถ่ายลำกล้องปืนไม่เหมือนเท่าไร ขณะที่ปืนใหญ่ Bofors 75/51 มม.ซึ่งราชนาวีไทยมีใช้งานจำนวนมาก ลำกล้องปืนมีความใกล้เคียงมากกว่า ดูจากตัวเลขมีความใกล้เคียงกันมากกว่า โชคร้ายไม่มีหลักฐานชัดเจนผู้เขียนไม่กล้าฟันธง

ครั้นจะบอกว่านำปืนใหญ่ 76/50 แบบ 93 ของอเมริกามาปรับปรุงใหม่ (ชื่อเรียกราชนาวีไทย) จากภาพถ่ายหน้าตาใกล้เคียงกันมาก ความเร็วต้นหรือความเร็วปากลำกล้องใกล้เคียงกันคือ 823 เมตรต่อวินาทีกับ 825 เมตรต่อวินาที แต่ปรากฏว่ามีข้อแตกต่างในส่วนอื่น กระสุนปืนสวีเดนหนัก 11.3 กิโลกรัม ส่วนกระสุนอเมริกาหนัก 10.9 กิโลกรัม ยังไม่ทันไรมีปริศนาให้ปวดสมองเล่น ทั้งนี้เนื่องมาจากข้อมูลค่อนข้างเก่าและไม่ชัดเจน

ป้อมปืนมีความสูง 1.5 เมตร หันได้รอบตัวประมาณ 350 องศา ปืนมีมุมก้ม 10 องศาและมีมุมเงย 30 องศา ผู้อ่านคงนึกสงสัยทำไมมุมเงยน้อยเหลือเกิน แล้วจะยิงเครื่องบินให้ร่วงทะเลได้เช่นไร (ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ปืนขนาด 3 นิ้วถูกจัดเป็นปืนต่อสู้อากาศยาน) คำตอบก็คือปืนถูกออกแบบให้ยิงเรือผิวน้ำกับเป้าหมายบนชายฝั่ง ถ้าเครื่องบินมิกทะเล่อทะล่ามาเข้าทางเสียเอง กระสุนปืนไม่เข้าใครออกใครถูกยิงร่วงทะเลได้เช่นกัน

ภาพถัดไปเป็นภาพกราฟิกภายในป้อมปืน Bofors TAK76 ใช้พื้นที่ใต้ดาดฟ้าเรือลึก 2.9 เมตร น้ำหนักรวมทั้งระบบ 6.5 ตัน แมกาซีนบรรจุกระสุนได้ถึง 100 นัด ทำงานอัตโนมัติทุกขั้นตอนโดยเริ่มต้นจาก กระสุนถูกโหลดเข้าเครื่องบรรจุแบบจานขนาด 5 นัดหรือ 5-Round Feed Drum เมื่อมีการทำงานกระสุนถูกดึงเข้าถาดบรรจุหรือ Loading Tray ก่อนวิ่งออกจากลำกล้องปืนพุ่งสู่เป้าหมาย ปลอกกระสุนหล่นลงสู่ช่องว่างใต้ป้อมปืน ค่อนข้างซับวุ่นวายแต่ขนาดกะทัดรัดน่ารักน่าชัง

ด้วยความรู้เรื่องปืนระดับงูๆ ปลาๆ ผู้เขียนคิดว่าปืนยิงได้ชุดละ 5 นัดแล้วต้องเว้นระยะเล็กน้อย

ทำไมถึงเป็นนั้น?  ต้องเข้าใจนะครับว่า แม้ใช้ป้อมปืนทันสมัยทำงานอัตโนมัติ แต่ลำกล้องปืนถูกปรับปรุงจากรุ่นเก่า ระบายความร้อนลำกล้องด้วยอากาศ ถูกออกแบบให้มีอัตรายิงสูงสุดแค่ 30 นัดต่อนาที เน้นมาที่จัดการเป้าหมายผิวน้ำเป็นหลัก ต่างจาก Oto 76/62 Compact หรือ Bofors TAK 120 ใช้ลำกล้องปืนพัฒนาขึ้นใหม่และระบายความร้อนด้วยน้ำ

รับรู้รายละเอียดทั่วไปเสร็จสิ้นแล้ว มาชมภาพ TAK 76 ติดตั้งบนเรือลำจริง ระหว่างปี 1966 ถึง 1968 กองทัพเรือนอร์เวย์ประจำการเรือตรวจการณ์ชั้น Strom จำนวน 20 ลำ เรือสุดแสบมีระวางขับน้ำ 138 ตัน ยาว 36.5 เมตร กว้าง 6.2 เมตร  กินน้ำลึก 1.6 เมตร เขี้ยวเล็บประจำตัวประกอบไปด้วย อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ Penguin จำนวน 6 นัด (ติดตั้งระหว่างปี 1970) ปืนกล 40 มม.Bofors 40L70 จำนวน 1 กระบอก และปืนใหญ่ 76 มม. TAK76 อีก 1 กระบอก

ขนาดป้อมปืนค่อนข้างเล็กตามคำกล่าวอ้าง ใครกันจะเชื่อว่าเรือตรวจการณ์ยาว 36.5 เมตรมีปืนใหญ่ 76 มม.ในภาพคือเรือชื่อพี่สกัดหรือ Skudd หมายเลข P967 ประจำการระหว่างปี 1966 ถึง 2000 ด้วยระยะยิงไกลสุด 12.6 กิโลเมตร ทำงานร่วมกับเรดาร์ควบคุมการยิง Siggnal WM26 อยู่ภายในโดมครึ่งวงกลม (ไม่ใช่โดมรูปไข่รุ่น WM22 หรือ WM25 ที่เราคุ้นเคยเป็นอย่างดี) ทำให้เรือตรวจการณ์ชั้น Strom มีเขี้ยวเล็บแหลมคมไม่แพ้เรือใหญ่

คิดว่าปืนเรือ TAK 76 ค่อนข้างลึกลับแล้ว เรดาร์ควบคุมการยิง Siggnal WM26 ลึกลับมากขึ้นได้อีก มีโอกาสผู้เขียนจะเขียนถึงนะครับ ตอนนี้มาชมภาพท้ายเรือจิ๋วแต่แจ๋วของนอร์เวย์ เรือลำนี้ชื่อพี่อ๊อดหรือ Odd หมายเลข P975 ติดอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ Penguin ครบ 6 นัด เห็นปืนกล Bofors 40L70 พร้อมรางใส่กระสุน 4 ตับ ตับละ 7 นัด รวมเป็น 28 นัด ควบคุมการยิงด้วย Target Designstion Sight ติดตั้งอยู่หลังเสากระโดง หมายความว่าเรือลำนี้ใช้ปืนอัตโนมัติทุกกระบอก

กระสุน 40 มม.จำนวน 28 นัดอาจไม่มากสำหรับปี 2020 ทว่าในปี 1966 ถือว่าเพียงพอและดีที่สุด ใช้ยิงเป้าหมายผิวน้ำได้ 4 ชุด หรือยิงเป้าหมายอากาศยานได้ 4 ชุดเช่นกัน เรือค่อนข้างเตี้ยอย่างเห็นได้ชัด ช่วยอำพรางจากสายตาศัตรูได้ระดับหนึ่ง จรวด Penguin ยิงได้ไกลสุดประมาณ 30 กิโลเมตร จึงทำหน้าที่แทนเรือเร็วโจมตีตอร์ปิโดดีกว่าเดิมหลายเท่า

ปี 1995 เรือเรือตรวจการณ์ชั้น Strom จำนวน 8 ลำถูกขายหรือบริจาคให้กับลิธัวเนีย เอสโตเนีย และลัตเวีย ภาพนี้คือเรือชื่อ LNS Skalvis หมายเลข P33 ของลิธัวเนีย (ในอดีตคือเรือชื่อ Steil หมายเลข P969) ไม่มีจรวด Penguin ติดตั้งแม้แต่นัดเดียว เรดาร์ควบคุมการยิง Siggnal WM26 ตอนนี้กลายเป็นเรดาร์ที่หายไป ต้องปรับปรุงให้ใช้ Target Designstion Sight ควบคุมปืน TAK76 ให้อารมณ์เรือรบโซเวียตใช้ Kolonka ยังไงยังงั้น เข้าใจว่าตอนนี้เรือปลดประจำการทุกลำแล้ว

ขอพาผู้อ่านเดินทางมายังดินแดนลอดช่อง ปี 1968 กองทัพเรือสิงคโปร์สั่งซื้อเรือเร็วโจมตีอาวุธปืนจำนวน 6 ลำ จากบริษัท Vosper Thornycroft ประเทศอังกฤษ แบ่งเป็น Type A ติดปืนกล 40 มม. Bofors 40L70 จำนวน 3 ลำ และ Type B ติดปืนใหญ่ 76 มม.TAK76 อีกจำนวน 3 ลำ สร้างเรือในอังกฤษจำนวน 2 ลำในสิงคโปร์จำนวน 4 ลำ ตอนนั้นบริษัท Vosper Thornycroft เป็นช่วงขาขึ้นอย่างแท้จริง มีการเปิดอู่ต่อเรือในสิงคโปร์เพื่อสร้างเรือส่งออกโดยเฉพาะ

ภาพนี้คือเรือชื่อ RSS Sovereignty หมายเลขเรือ P71 ผู้เขียนคิดว่าเป็นเรือตรวจการณ์จะเหมาะสมกว่า แต่หนังสือ Jane's All the World's Fighting Ships 1989-90 ระบุว่าเรือเร็วโจมตีอาวุธปืนซะงั้น เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 142 ตัน ยาว 33.5 เมตร กว้าง 6.4 เมตร กินน้ำลึก 1.8 เมตร (ใกล้เคียงเรือตรวจการณ์นอร์เวย์มาก) ความเร็วสูงสุด 32 นอต ทั้ง Type A และ Type A มีมิติเท่ากันทั้งหมด แต่ Type B สะพานเดินเรือถอยมาอยู่กลางลำ รองรับการติดตั้งปืนใหญ่ 76 มม.TAK76

RSS Sovereignty คือเรือเร็วโจมตีลำแรกของสิงคโปร์ ทันสมัยที่สุดเป็นเสาหลักในการปกป้องน่านน้ำ ต่อมาในปี 1972 เมื่อเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น Sea Wolf ทยอยเข้าประจำการ เรือ Type B ลดระดับความเหนื่อยลงมาพอสมควร เมื่อเรือคอร์เวตชั้น Victory เข้าประจำการตั้งแต่ปี 1988 เรือ Type B ก็แทบไม่เหน็ดเหนื่อยอีกต่อ

นี่คือภาพถ่ายกองทัพเรือสิงคโปร์ยุคเจ็ดศูนย์ จากขวามาซ้ายเริ่มจากเรือยกพลขึ้นบก RSS Persistence หมายเลข L205 เรือลำนี้เป็นเรือมือสองชั้น LST-542 ของอเมริกา สิงคโปร์มีประจำการ 5 ลำเท่ากับไทยแลนด์ ปืนกลหัวเรือเปลี่ยนจาก Bofor 40L60 ลำกล้องแฝดเป็น Bofors 40L70 ลำกล้องเดี่ยว ถัดมาหน่อยเดียวเปลี่ยนปืนกล Bofor 40L60 ลำกล้องเดี่ยว เป็นแท่นยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Mistral ขนาด 2 นัด เครนใหญ่หน้าสะพานเดินเรือเปลี่ยนรุ่นใหม่เช่นกัน

ลำถัดไปคือเรือเร็วโจมตีอาวุธปืน Type A ต่อด้วยเรือเร็วโจมตีอาวุธปืน Type B ปิดท้ายด้วยเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น Sea Wolf รูปร่างหน้าตาเหมือนเรือหลวงปราบปรปักษ์ ที่เราสั่งซื้อจากอู่ต่อเรือประเทศสิงคโปร์ในปี 1976 จากภาพมองเห็นสะพานเดินเรือ Type A ยื่นมาทางหัวเรือมากกว่า Type B มีพื้นที่ใช้สอยภายในมากกว่ากัน จากภาพมองเห็นเรดาร์ควบคุมการยิง Siggnal WM26 เทียบกับ WM22 และจากภาพนี้มองเห็นปืนใหญ่ Bofors TAK76 เทียบกับ Bofors 57mm Mk.1

Bofors 57mm Mk.1ถูกพัฒนาหลัง Bofors TAK76 เพียงสองปี ออกแบบให้ทำงานอัตโนมัติทั้งระบบเหมือนกัน แต่ออกแบบภายในป้อมปืนต่างกันโดยสิ้นเชิง Bofors 57mm ใช้แมกาซีนแบบกล่องขนาด 40 นัดยัดใส่ในป้อม เมื่อกระสุนหมดต้องเปลี่ยนแมกาซีนด้วยมือ ป้อมปืนทั้งใหญ่กว่าและหนักกว่าร่วมสองเท่าตัว บังเอิญขายดิบขายดีจนบริษัทเจริญก้าวหน้า

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? อาจเป็นเพราะ Bofors 57mm Mk.1 ใช้ลำกล้องปืนรุ่นใหม่เอี่ยม ยิงได้ทั้งเป้าหมายผิวน้ำและเป้าหมายอากาศยาน อัตรายิงสูงสุดถึง 200 นัดต่อนาที ระยะยิงไกลสุดปาเข้าไป 17 กิโลเมตร ที่สำคัญไม่ใช้พื้นที่ใต้ดาดฟ้าเรือ นำมาติดตั้งบนเรือขนาด 45 เมตรได้อย่างเหมาะเหม็ง แต่ถ้าเป็นเรือขนาด 33.5 เมตรน่าจะมีปัญหาพอสมควร

นานๆ ครั้งถึงเห็นการออกแบบที่แสนแตกต่างจากบริษัทเดียวกัน  ปืน 2 กระบอกนี้พัฒนาต่างกันเพียง 2 ปีเท่านั้น ทว่าทุกสิ่งทุกอย่างแตกต่างกันโดยสมบรูณ์แบบ ถือเป็นเรื่องแปลกสมควรบันทึกไว้ในบทความนี้

ภาพถัดไปเป็นเรือ Type B ชื่อ RSS Duantless P 74 ในยุคเก้าศูนย์ หลังเข้าประจำการได้ประมาณ 20 ปีปืนใหญ่ TAK76 หัวเรือถูกถอดออกไป แทนที่ด้วยปืนกล 40 มม.Bofors 40L70 เหมือนรุ่น Type A สาเหตุอาจเป็นเพราะขาดแคลนทั้งกระสุนและอะไหล่ ของ Rare Item ก็ประมาณนี้แหละครับ ได้ใช้งาน 20 กว่าปีคุ้มค่างบประมาณแล้วล่ะ

เรือเร็วโจมตีอาวุธปืนขนาด 33.5 เมตร ถูกตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่าเรือชั้น Independence บังเอิญคนสิงคโปร์มักเรียก Type A กับ Type B มากกว่า ต่อมาได้ถูกแทนที่ด้วยเรือตรวจการณ์ชั้น Fearless และเรือตรวจการณ์ชั้น Fearless ก็ถูกแทนที่ด้วยเรือตรวจการณ์ชั้น Independence (อีกแล้ว) ที่คนสิงคโปร์ตั้งชื่อให้ใหม่ว่า Littoral Mission Vessel หรือ LMV

ปืนใหญ่อัตโนมัติ Bofors TAK76 มีใช้งานบนเรือรบเพียง 2 ชั้น จำนวนรวม 23 ลำเท่ากับ 23 กระบอก มีข้อมูลว่าเรือคอร์เวตชั้น Sleipner ของนอร์เวย์มีแผนติดตั้ง TAK76 เช่นกัน ผู้เขียนคิดว่าเป็น Neverbuilt Design มากกว่า เพราะของจริงใช้ปืนใหญ่ 3 นิ้วลำกล้องคู่ของอเมริกา ซึ่งเป็นอาวุธปืนมาตรฐานบนเรือคอร์เวตขึ้นไป

ปัจจุบัน TAK76 ได้หายสาบสูญไปจากโลกนี้แล้ว ด้วยยอดขายน้อยนิดและผู้ผลิตตัดสินใจไม่ให้ไปต่อ Bofors หันมาทุ่มทุนพัฒนาปืนใหญ่ขนาด 57 มม.ให้ดีกว่า ถึงตอนนี้ต้องบอกว่าพวกเขาคิดถูกและเลือกถูกอย่างชัดเจน

ถามว่าสิงคโปร์พลาดเรื่อง TAK76 หรือไม่ผู้เขียนคิดว่าไม่พลาด เรือยาวแค่ 33.5 เมตรมีปืนใหญ่ 76 มม.กับกระสุน 100 นัด นำมายิงถล่มชายฝั่งบอกได้คำเดียวสนุกฉิบเผง ถามใหม่อีกครั้ง TAK76 แปลกไหมผู้เขียนคิดว่าแปลกที่สุด มีโอกาสจะนำเสนอเรื่องแปลกๆ ให้อ่านกันอีก วันนี้ต้องขออำลาไปก่อนสวัสดีฤดูหนาวที่ไม่หนาวของเมืองไทย

-------------------------------

อ้างอิงจาก

 https://en.wikipedia.org/wiki/Storm-class_patrol_boat

http://www.seaforces.org/marint/Norwegian-Navy/Patrol-Vessel/Storm-class.htm

http://en.wikipedia.org/wiki/7.5_cm_tornpj%C3%A4s_m/57

https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_ships_of_the_Republic_of_Singapore_Navy

https://en.wikipedia.org/wiki/Independence-class_patrol_craft

เว็บเพจ The Singapore Navy Lao Peng (Old Soldiers)

เว็บเพจ Singapore Navy Interest Group

นิตยสาร Jane's All the World's Fighting Ships 1979-80

นิตยสาร Jane's All the World's Fighting Ships 1989-90

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น