โครงการจัดหาเรือฟริเกตกองทัพเรือชิลีตอนจบ
ความเดิมตอนที่แล้ว
‘Tridente
Frigate Program’ หรือ ‘Project Tridente’
ถูกยกเลิกในปี 2000 เนื่องจากรัฐบาลชิลีอยู่ดีๆ เกิดถังแตก
พวกเขาตัดสินใจเลือกเครื่องบิน F-16 Block 50 จำนวน 10 ลำ และยุติโครงการจัดหาเรือฟริเกตกองทัพเรือ
อ่านของเดิมได้ในบทความนี้ครับ
เมื่อสถานการณ์พลิกผันหน้ามือเป็นหลังมือ
ราชนาวีชิลีต้องเปลี่ยนแผนกะทันหัน แผนเดิมคือสร้างเรือฟริเกตจำนวน 6-8
ลำ ในเวลา 15 ปี เริ่มจากเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำ
4 ลำในเฟสแรก ต่อด้วยเรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศ 2-4
ลำในเฟสสอง ระยะเวลาประมาณไว้ตั้งแต่ปี 2002-2017 จึงได้มีการปรับปรุงเรือรองรับแผนดังกล่าว
ปี
2000
พวกเขาเหลือเรือรบหลักเพียง 7 ลำ เพราะเรือพิฆาต
DLG-14 Almirante Latorre ปลดประจำการตามอายุไข
ส่วนเรือพิฆาตอีก 3 ลำได้รับการปรับปรุงใหม่ โดยการติดอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน
Barak 1 จำนวน 16 นัด พร้อมเรดาร์ควบคุมการยิง
ELM-2221 STGR เรือทั้ง
3 ลำจะถูกใช้งานยาวนานมากที่สุด อย่างน้อยๆ ให้เรือเฟสสองลำแลกสร้างเสร็จ
แต่แล้วแผนการที่วางไว้กลับผิดพลาด
กองทัพเรือชิลีต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะ พวกเขาจะแก้ไขด้วยวิธีไหน?
วิธีแก้ไขคือนำเรือฟริเกตชั้น
Leander จำนวน 2 ลำมาปรับปรุงใหญ่ โดยเลือกเรือ PFG-06 Condell กับ PFG-07 Lynch ที่สั่งซื้อป้ายแดงจากอังกฤษ โดยเปลี่ยนเรดาร์ควบคุมการยิงปืนใหญ่ 4.5
นิ้ว มาเป็น ELM-2221 STGR ของอิสราเอล
ใส่ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ ELTA 905 ของอิสราเอลเช่นกัน
ใส่ระบบสื่อใหม่หมดรวมทั้งจานรับสัญญานดาวเทียม แท่นยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Seacat ถูกถอดออก แทนที่ด้วยระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx
การปรับปรุงช่วยยืดอายุเรือได้ถึง
15-20
ปี เพราะมีการซ่อมแซมปรับปรุงเครื่องยนต์เรือ จนกลับมาดีเยี่ยมเหมือนเดิมอีกครั้ง
โดยถอดออกมารื้อใหญ่เปลี่ยนอุปกรณ์สำคัญใหม่หมด ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติภารกิจลดต่ำลง
นี่คือเรือฟริเกตชั้น Leander ติด Phalanx CIWS ลำแรกของโลก
รับประกันคุณภาพโดยอิสราเอลการช่าง
การปรับปรุงครั้งนี้ทำให้กองทัพเรือชิลีมั่นใจได้ว่า
ตัวเองมีเรือรบในสภาพพร้อมรบจำนวน 5 ลำ
ขณะที่โครงการปรับปรุงเรือชั้น
Leander กำลังเดินหน้า ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นนิรันดรเกิดขึ้นอีกครั้ง ปี 2002
รัฐบาลชิลีแก้ไขปัญหาการเงินสำเร็จ พวกเขาจึงกลับมาสนใจกองทัพเรือลูกเมียน้อย
อันเป็นที่มา ‘Frigate Program’ ซึ่งมาแทนที่ ‘Project
Tridente’ แผนการก็คือซื้อเรือมือสองอายุ 15-20 ปีในเฟสแรก ต่อด้วยจัดหาเรือรบใหม่เอี่ยมในเฟสสอง
ทั้งจำนวนเรือและความต้องการของชิลี
ตรงใจหลายชาติในองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือนาโต้
ซึ่งกำลังประสบปัญหาใหญ่โตเรื่องอาวุธส่วนเกิน
อันเป็นผลสืบเนื่องจากการล่มสลายของโซเวียต จำเป็นต้องปลดประจำการหรือขายต่อให้กับพันธมิตร
ทีมที่ให้ความสนใจโครงการนี้ประกอบไปด้วย
ทีมอเมริกา
สหรัฐอเมริกาเป็นพันธมิตรที่ดีของชิลี
เคยโอนเรือรบมือสองมาให้จำนวนหนึ่ง กองทัพเรือชิลีอยากใช้อาวุธอเมริกาใจจะขาด ข้อเสนอของลุงแซมเป็นเรือรบมือสองประกอบไปด้วย
เรือพิฆาตปราบเรือดำน้ำชั้น Spruance จำนวน 2
ลำ ระวางขับน้ำเต็มที่ 8,040 ตัน ยาว 161
เมตร กว้าง 16.8 เมตร กินน้ำลึก 8.8 เมตร และเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำชั้น Oliver Hazard Perry อีก 2 ลำ ระวางขับน้ำเต็มที่ 4,100 ตัน ยาว 138 เมตร กว้าง 14 เมตร
กินน้ำลึก 6.7 เมตร
เรือทั้ง
4
ลำเป็นการโอนให้ชิลีไปฟรีๆ
เหมือนกับที่เคยเสนอให้กับกองทัพเรือหลายชาติ แต่มีค่ายใช้จ่ายในการซ่อมใหญ่เรือแยกต่างหาก
อย่างน้อยๆ ลำละ 40 ล้านเหรียญเท่ากับ 160 ล้านเหรียญ ซื้ออาวุธอเมริกาอีก 90 ล้านเหรียญรวมเป็น
250 ล้านเหรียญ นับเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจมากพอสมควร บังเอิญข้อเสนอทีมอเมริกามีจุดอ่อนขนาดมหึมา
เรือพิฆาตชั้น
Spruance เป็นเรือรบในยุค 70 อายุมากแล้วค่าใช้จ่ายต่างๆ
ค่อนข้างสูง ปรกติติดจรวดปราบเรือดำน้ำ ASROC ก็จริง แต่เรือ
24 ลำจาก 31 ลำถอดออกเพื่อใส่แท่นยิงแนวดิ่ง
61 ท่อยิง ซึ่งอเมริกาไม่ให้มาด้วยอย่างแน่นอน ส่วนเรือติด ASROC ก็ปลดประจำการหมดแล้ว ฉะนั้นชิลีจะได้เรือ 8,000 ตันติดปืนใหญ่
5 นิ้ว 2 กระบอก
อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Sparrow 8 นัด ตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ
6 นัด ระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx อาจมาแค่ 1 ระบบ
เรือชั้น
Oliver
Hazard Perry ซึ่งใหม่กว่าและเล็กกว่า ติดอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน
SM-1 32 นัด อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon
จำนวน 8 นัด ปืนใหญ่ขนาด 76/62 มม.1 กระบอก ตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ 6 นัด ระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx 1 ระบบ แม้เป็นเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำก็จริง
แต่หลายชาติใช้เป็นเรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศ ถ้าทีมอเมริกาเสนอเรือชั้นเพอรี่จำนวน
4 ลำ ชิลีคงคิดหนักและอาจยอมรับข้อเสนอนี้ ครั้นพอมีเรือพิฆาตชั้น
Spruance รวมอยู่ด้วย โครงการซื้อเหล้าพ่วงเบียร์จึงไม่น่าสนใจอีกต่อไป
ทีมสเปน
กองทัพเรือสเปนไม่มีเรือใกล้ปลดประจำการ
บริษัท IZAR
ซึ่งเป็นอู่ต่อเรือในประเทศที่ใหญ่ที่สุด เสนอแบบเรือใหม่เข้าร่วมชิงชัยเฟสสอง
แบบเรือดังกล่าวไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ
ข้อมูลที่หลุดออกมาโดยอับดุลเอ๊ยใช้ชื่อว่า F-100 Downsized เรือชั้น
F-100 คือเรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศชั้น Alvaro de
Bazan ของสเปน
ถูกลดขนาดลงและถอดระบบเอจิสกับเรดาร์ SPY-1 ออก
เพื่อให้ราคาลดลงกว่าเดิมอย่างชัดเจน กลายเป็นเรือรบส่งออกรุ่นใหม่ล่าสุดของบริษัท
ช่วงเวลาใกล้เคียงกัน…นอร์เวย์มีโครงการเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำ บริษัท IZAR ส่งแบบเรือ ว่า F-100 Downsized เข้าร่วมชิงชัย พร้อมระบบเอจิสและเรดาร์
SPY-1 ตามความต้องการลูกค้า
และได้รับการคัดเลือกจนกลายเป็นเรือฟริเกตชั้น Fridtjof Nansen บริษัทผู้ผลิตถือเป็นเรือฟริเกตตระกูล F-100 เช่นกัน
โดยที่เรือสเปนใช้รหัสเรือ F-100 เรือออสเตรเลียซึ่งเหมือนกันหมดใช้รหัสเรือ
F-105 และเรือนอร์เวย์รุ่น Downsized
ใช้รหัสเรือ F-85
ย้อนกลับมาที่ประเทศชิลีอีกครั้ง
เรือที่ IZAR เสนอให้น่าจะใกล้เคียงกับภาพวาดนี้ นี่คือแบบเรือ F-310C หรือ F-100 Downsized อันเป็นเรือฝาแฝดกับเรือฟริเกตนอร์เวย์
แต่ไม่มีระบบเอจิสและเรดาร์ SPY-1
ถาม: ทำไมถึงใช้ชื่อแบบเรือว่า F-310C
ตอบ:
เพราะเรือนอร์เวย์ถูกเรียกภายหลังว่ารุ่น F-310
ถาม
: ทำไมเรือนอร์เวย์ถูกเรียกภายหลังว่ารุ่น F-310
ตอบ:
เพราะเรือลำแรกใช้หมายเลขเรือ 310
มาดูรายละเอียดเรือลำนี้สักเล็กน้อย
ระวางขับน้ำ 4,350 ตัน ยาว 127.1 เมตร กว้าง 16 เมตร ความเร็วสูงสุด 27 นอต ระยะปฏิบัติการ 6,500 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 16
นอต ติดปืนใหญ 76/62 มม.1 กระบอกปืนกล 40 มม.1กระบอก
อาวุธนำวิถีปราบเรือรบ 8 ท่อยิง ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ 4
ท่อยิง แท่นยิงแนวดิ่งสำหรับอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน 16 ท่อยิง ติดเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติระยะกลาง 1 ตัว เรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศระยะไกล 1 ตัว
และเรดาร์ควบคุมการยิงอีก 2 ตัว
F-310C เป็นเรือฟริเกตที่ดีลำหนึ่ง แต่ไม่ใช่ตัวเต็งและน่าจะอยู่อันดับท้ายๆ
เพราะมีขนาดใหญ่เกินไปกดราคาไม่ลง ฝ่ายชิลีก็ไม่เคยซื้อเรือฟริเกตจากสเปนมาก่อน
โอกาสฝ่าเสือสิงห์กระทิงแรดเข้าเส้นชัยมีน้อยมาก
ทีมอิตาลี
อิตาลีส่งเรือตัวเองเข้าร่วมชิงชัยทั้งสองเฟส
เริ่มจากเรือฟริเกตมือสองชั้น Lupo จำนวน 4 ลำ มีอายุประมาณ 22-25 ปี พร้อมโอนให้กับชิลีภายในปี
2002 ทันที เรือมีระวางขับน้ำ 2,506 ตัน
ยาว 113.4 เมตร กว้าง 11.3 เมตร
กินน้ำลึก 3.7 เมตร ใช้เครื่องยนต์ CODOG ความเร็วสูงสุดถึง 35 นอต ติดปืนใหญ่ขนาด 5 นิ้ว 1 กระบอก ปืนกล 40 มม.ลำกล้องแฝด 2 กระบอก อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Aspide 8 ท่อยิง
อาวุธนำวิถีปราบเรือรบ Otomat 8 ท่อยิง
ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ 6 ท่อยิง
มีลานจอดกับโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ขนาด 7 ตัน สามารถทำการรบครบ 3
มิติได้อย่างสบาย
เรือลำนี้เหมาะสมกับกองทัพเรือไทย
แต่ไม่เหมาะสมกับกองทัพเรือชิลี ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
วิเคราะห์ความต้องกองทัพเรือชิลี
เรือชั้น Lupo ไม่เหมาะกับภารกิจปราบเรือดำน้ำ
เพราะมีแค่โซนาร์หัวเรือไม่มีโซนาร์ลากท้าย เรือชั้น Lupo ไม่เหมาะกับภารกิจป้องกันภัยทางอากาศ
เพราะมีอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะยิง 15 กิโลเมตรเพียง 8
นัด เรือชั้น Lupo ไม่เหมาะกับกองทัพเรือชิลี
เพราะมีขนาดเล็กเกินไปจากความต้องการ รวมทั้งเรือชั้น Lupo ใช้อาวุธอิตาลีทั้งลำ
แต่ชิลีต้องการอาวุธอเมริกาทั้งลำ เพราะฉะนั้นเรืออิตาลีตกรอบแบบไม่ต้องคิดมาก
เรือฟริเกตชั้น
Lupo
ทั้ง 4 ลำทยอยปลดประจำการตั้งแต่ปี 2002
และต้องรอคอยพี่มากที่ท่าน้ำนานถึง 7 ปีเต็ม จึงได้กลับมาโลดแล่นในทะเลใต้ธงราชนาวีเปรู
อันเป็นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของชิลีนั่นเอง
เวลาเดียวกันบริษัท
Fincantieri ซึ่งเป็นอู่ต่อเรือขนาดใหญ่ของอิตาลี เสนอแบบเรือฟริเกต Falco ในโครงการเฟสสอง โดยนำเรือคอร์เวตปราบเรือดำน้ำที่เคยเสนอให้ยูเออีในปี 1993
มาขยายใหญ่ขึ้นมีระวางขับน้ำ 3,600 ตัน
จากภาพกราฟิกเห็นปืนใหญ่ 76/62 ที่หัวเรือ ปืนกล 20 มม.กลางเรือ ปืนกลขนาด 40 มม.บนโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์
มีแท่นยิงแนวดิ่งอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานหน้าสะพานเรือ
แท่นยิงอาวุธนำวิถีปราบเรือรบกลางเรือ ส่วนแท่นยิงตอร์ปิโดสร้างเป็นห้องภายในเรือ
มีเรดาร์ตรวจการณ์ระยะกลาง 1 ตัว เรดาร์ตรวจการณ์ระยะไกล 1 ตัว รวมทั้งเรดาร์ควบคุมการยิงจำนวน 2 ตัว
แบบเรือ
Falco
ขนาด 3,600 ตันค่อนข้างทันสมัยมาก กระซิบเบาๆ
ว่าโครงการเรือฟริเกตสมรรถนะสูงราชนาวีไทย แบบนี้เรือนี้แหละครับที่ Fincantieri เสนอให้เรา มีการปรับปรุงจนทันสมัยมากกว่าเดิม เข้ารอบ 5 ลำสุดท้ายแต่ไม่ได้เข้ารอบชิงชนะเลิศ ส่วนโครงการที่ชิลีมีโอกาสคว้าชัยเฟสสองเช่นกัน
แต่ต้องผ่านกระดูกขัดมันเรือลำถัดไปให้ได้เสียก่อน
ทีมเยอรมัน
กระดูกขัดมันที่ว่าก็คือทีมเยอรมัน
ซึ่งส่งของแข็งเรือฟริเกต Meko-A200 เข้าร่วมชิงชัย
นี่คือแบบเรือลดการตรวจจับด้วยเรดาร์ที่แท้จริง ถูกออกแบบสองกราบเรือเป็นรูปตัวเอ็กส์
เพื่อผลักดันคลื่นเรดาร์ให้สะท้อนกลับตกทะเล เรือมีระวางขับน้ำ 3,590 ตัน ยาว 121 เมตร กว้าง 16.5 เมตร
กินน้ำลึก 5.9 เมตร ใช้เครื่องยนต์ CODOG พร้อมระบบ Waterjet
ตามข้อเสนอเรือติดปืนใหญ่
5
นิ้วของอิตาลี มีระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Sea Zenith ซึ่งกาลครั้งหนึ่งเคยเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง มีอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ESSM
อาวุธนำวิถีปราบเรือรบกลางเรือ Harpoon และตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ
Mk-46 ใช้ระบบอำนวยการรบ 9LV ของSaab
เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Sea Giraffe
AMB เรดาร์ควบคุมการยิง CEROS 200 ระบบเป้าลวงอาวุธนำวิถี MASS ระบบเป้าลวงตอร์ปิโด WASS
เยอรมันเสนอเรือจำนวน 6-8 ลำ โดยที่ครึ่งหนึ่งต่อในเยอรมันครึ่งหนึ่งต่อในชิลี
พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการต่อเรือฟริเกตให้กับชิลี
อูย…เสียวฟันเป็นอย่างยิ่ง นี่คือข้อเสนอสุดเร้าใจจากเมืองเบียร์
ปัญหาสำคัญมีเพียงเรื่องเดียวเงินไม่พอ
แบบเรือ Meko-A200 ก็ดี อาวุธจากอเมริกาก็ดี การเตรียมความพร้อมสร้างเรือในประเทศก็ดี
ล้วนมีราคาแพงลิบต้องใช้เงินก้อนโต รัฐบาลชิลีจะไปเอางบประมาณที่ว่ามาจากไหน
โครงการจัดหาเรือฟริเกตเฟสหนึ่ง
ผลการประกวดโครงการจัดหาเรือฟริเกตเฟสหนึ่ง
เรือจากประเทศอังกฤษผู้เป็นมิตรแท้ประกันภัย ได้รับการคัดเลือกแบบนอนพระสวดที่แท้จริง
ชิลีได้รับเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำ Type 22 Batch II จำนวน 1 ลำ ในอดีตชื่อ HMS Sheffield เข้าประจำการราชนาวีอังกฤษปี 1988 ก่อนปลดประจำการวันที่
15 พฤษจิกายน 2002 และเข้าประจำการกองทัพเรือชิลีวันที่
5 กันยายน 2003 โดยใช้ชื่อ FF-19 Almirante Williams พร้อมถูกแต่งตั้งให้เป็นเรือธงมาจนถึงปัจจุบัน
เรือมีระวางขับน้ำ
5,300
ตัน ยาว 148.2 เมตร กว้าง 14.8 เมตร กินน้ำลึก 6.4 เมตร
ติดอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Seawolf จำนวน 12 นัด ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ 6 นัด กับปืนกล 20
มม.2 กระบอก
ออกแบบมาเพื่อปราบเรือดำน้ำในทะเลลึก ทำงานร่วมกับเฮลิคอปเตอร์ AS532SC Cougar ได้ มีโซนาร์หัวเรือ S2016 ทำงาน Active Mode กับโซนาร์ลากท้าย S2031 Towed Array Sonar ทำงาน
Passive Mode ชิลีเป็นหนึ่งในสองชาติที่ได้ใช้งานโซนาร์รุ่นนี้
อาวุธป้องกันตัวเองของ FF-19 Almirante Williams ก็คือจรวด Seawolf รุ่นปรกติหรือ GWS-25 ระยะยิงไกลสุด 6.5 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุด 2 มัคนำวิถีด้วยเรดาร์ เคยผ่านสงครามฟอคแลนด์กับสงครามอ่าวมาแล้ว มีผลงานดีพอสมควรในการป้องกันอากาศยาน แต่กับอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบไม่สามารถต่อกรได้ ราคาเรือฟริเกต Type 22 ลำนี้ไม่ปรากฏอย่างชัดเจน อาจมีหลุดออกมาบังเอิญผู้เขียนหาไม่เจอ ขอพาไปชมเรืออังกฤษอีกสามลำในโครงการนี้
เดือนธันวาคม 2004 ชิลีลงนามในสัญญาสั่งซื้อเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำชั้น Type 23 จำนวน 3 ลำจากกองทัพเรืออังกฤษ ภายใต้สัญญามูลค่ารวม
135 ล้านปอนด์ เรือฟริเกต HM Norfolk HMS
Marlborough และ HMS Grafton จะถูกโอนให้กับราชนาวีชิลี
มีการซ่อมบำรุงตัวเรือให้อยู่สภาพดีก่อนส่งมอบ เรือจากอังกฤษทั้งสามลำประกอบไปด้วย
-FF-05 Almirante Cochrane เข้าประจำการปี 2006
-FF-07 Almirante Lynch เข้าประจำการปี 2007
-FF-06 Almirante Condell เข้าประจำการปี 2008
ในภาพคือเรือฟริเกต
FF-05 Almirante Cochrane ติดธงราชนาวีชิลี
สมัยอยู่อังกฤษใช้ชื่อว่า HMS Norfolk (F230)
เรือมีระวางขับน้ำ 4,900 ตัน ยาว 133 เมตร
กว้าง 16.1 เมตร กินน้ำลึก 5.5 เมตร
ติดปืนใหญ่ 4.5 นิ้ว Mark 8 Mod
1 รุ่นใหม่ล่าสุด ปืนกลอัตโนมัติ DS30B ขนาด 30
มม.2กระบอก อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน VL Seawolf จำนวน 32
นัด อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon จำนวน 8
นัด (ในภาพใส่ไว้ 2 นัด) และตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ
4 ท่อยิง
อังกฤษยอมปล่อยเรือในราคาไม่แพง
สาเหตุข้อหนึ่งชิลีเป็นลูกค้าที่ดีมาอย่างยาวนาน
สองอังกฤษต้องการลดจำนวนเรือฟริเกตกับเรือพิฆาต จาก 31
ลำเหลือ 25 ลำตามงบประมาณท และสามอังกฤษสามารถขายจรวด
VL Seawolf ได้ จรวดรุ่นใหม่ GWS-26
ใช้ท่อยิงแนวดิ่ง ระยะยิงไกลสุด 10 กิโลเมตรที่ความเร็ว 3
มัค มีความทันสมัยกว่ารุ่นเก่าพอสมควร
ที่เห็นลำถัดไปคือเรือฟริเกตชั้น
Lupo
ของเปรู ชื่อเรือ FM-58 Quiñones ที่อิตาลีเคยเสนอให้ชิลีแต่ชิลีไม่สนใจ และที่เห็นไกลสุดคือเรือฟริเกตชั้น
Halifax ของแคนาดา ซึ่งเคยเสนอให้กับชิลีในโครงการ Tridente
Project แต่สู้ทีมอเมริกาไม่ได้จึงตกรอบแรก
สรุปก็คือเรือทุกลำเกี่ยวข้องกับโครงการของชิลี เพียงแต่ได้รับการคัดเลือกหรือไม่เท่านั้นเอง
เรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำชั้น
Type
23 ค่อนข้างทันสมัย นอกจากโซนาร์หัวเรือ S2050 ทำงาน Active Mode Mode แล้ว ยังมีโซนาร์ลากท้าย
S2031 Towed Array Sonar ทำงาน Passive Mode ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับเรือฟริเกต Type 22 นั่นเอง ต่อมาชิลีได้ปรับปรุงให้ทันสมัยกว่าเดิม
โดยการติดโซนาร์ S2087 แทน S2031 ของเดิม
ที่อยู่กราบซ้ายท้ายเรือสีเหลืองเข้มแหละครับ ตัวนั้นคือ Variable Depth
Sonar หรือ VDS ทำงาน Active Mode Mode และสามารถปล่อย Towed Array Sonar ทำงาน Passive Mode ออกจากด้านท้ายได้ด้วย ฉะนั้นชิลีใช้โซนาร์แค่ตัวเดียวทำงานได้ทุกโหมด
โซนาร์
S2087 ก็คือ THALES CAPTAS-4 เวอร์ชันอังกฤษ
ราคาแพงมากแต่ประสิทธิภาพดีเยี่ยมไม่แพ้ใคร ชิลีเริ่มใช้งานอย่างจริงจังในปี 2017
โดยมาครบทุกออปชั่นเหมือนเรืออังกฤษหรือฝรั่งเศส
ทันสมัยที่สุดในบรรดากองทัพเรืออเมริกาใต้ และจะทันสมัยที่สุดไปอีกน้อยๆ สิบปีถัดจากนี้
เพราะยังไม่มีชาติไหนขึ้นโครงการเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำ
ภาพถัดไปผู้อ่านทุกท่านอย่าเพิ่งสับสน
นี่คือกองเรือชิลีในปี 2007 ไม่ใช่กองเรืออังกฤษเมืองผู้ดี
เรือที่เห็นในภาพไล่จากใกล้ไปไกล
ประกอบไปด้วยเรือฟริเกต Type 12I หรือ Leander ชื่อเรือ PFG-06 Condell เห็นระบบป้องกันตนเองระยะประชิด
Phalanx อย่างชัดเจน เรือลำถัดไปคือเรือฟริเกต Type 23 FF-07 Almirante Lynch ซึ่งเป็นเพียงลำเดียวที่ติดปืนใหญ่
4.5 นิ้ว Mark 8 รุ่นเก่า
(เหมือนเรือหลวงมกุฏราชกุมาร) และเรือลำสุดท้ายที่ยาวโคตรๆ ติดแท่นยิงจรวด SeaWolf
รุ่นหกท่อ คือเรือฟริเกต Type 22 ชื่อเรือ FF-19 Almirante Williams เรือ 3 ลำใช้เรดาร์ตรวจการณ์
3 แบบไม่ซ้ำรุ่นกัน และเรือเก่าที่สุดมีเรดาร์ตรวจการณ์ระยะไกลเพียงลำเดียว
โครงการจัดหาเรือฟริเกตเฟสสอง
อันที่จริงเฟสนี้ชิลีอยากได้เรือฟริเกตใหม่
พร้อมกับต้องการสร้างเรือเองอย่างน้อยๆ ครึ่งหนึ่ง ติดอยู่แค่เพียงราคาแพงหูฉี่สู้ไม่ไหว
ต้องกลับมาพึ่งพาเรือฟริเกตมือสองสมาชิกนาโต้
และผู้ได้รับการคัดเลือกก็คือทีมเนเธอร์แลนด์
ปี
2004 กองทัพเรือชิลีทำสัญญามูลค่า 350 ล้านเหรียญ
เพื่อจัดซื้อเรือฟริเกตมือสองจากกองทัพเรือเนเธอร์แลนด์ สัญญาฉบับนี้ประกอบไปด้วยเรือฟริเกตจำนวน
4 ลำ เป็นเรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศ Type Lจำนวน 2 ลำ และเรือฟริเกตเอนกประสงค์ Type M อีก 2 ลำ
ผู้เขียนเคยเขียนถึงอย่างละเอียดไว้แล้วในบทความนี้ครับ
Chilean NavyAir-Defence Frigate
เพื่อไม่ให้เสียเวลาขอสรุปสั้นๆ
ดังนี้ เรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศ Type L มีระวางขับน้ำเต็มที่
3,750 ตัน ยาว 130.5 เมตร กว้าง 14.6
เมตร กินน้ำลึก 4.3 เมตร
มีอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะกลาง SM-1 มากถึง 40 นัดเป็นไพ่เด็ด มีอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Sparrow เป็นไพ่รอง และมีระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Goldkeeper เป็นไพ่ตาย เรือลำแรกชื่อ FF
11 Captain Prat เรือลำที่สองชื่อ FF 14 Almirante
Latorre ย่านอเมริกาใต้ไม่มีเรือลำนี้ติดจรวดมากเท่าลำนี้
ส่วนเรือฟริเกตเอนกประสงค์
Type
M มีระวางขับน้ำเต็มที่ 3,340 ตัน ยาว 123.72
เมตร กว้าง 14.37 เมตร กินน้ำลึก 6.1 เมตร มีอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน VL Sea
Sparrow จำนวน 16 นัด ปืนใหญ่ขนาด 76/62
มม.1 กระบอก อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon
จำนวน 8 นัด และตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำอีก 6 นัด ระบบเรดาร์บนเรือมาแบบจัดเต็มไม่มีกั๊ก เทียบกับเรือฟริเกตชั้น Lupo
ของอิตาลีผู้เขียนขอกล่าวว่า ทิ้งกันร่วมๆ สองเสาไฟชิลีคิดถูกที่เลือกลำนี้
ในที่สุดบทความกองทัพเรือชิลีก็เดินทางถึงตอนจบ
แต่เรื่องราวของเรือบางลำยังไม่จบเพียงเท่านี้ เรือลำไหนจะได้ขึ้นหน้าปกบทความถัดไป
อดใจรออีกไม่นานได้พบกันแน่นอน ขออำลาด้วยภาพสวยๆ ของกองเรือราชนาวีชิลี
อันเป็นเรือที่ได้มาจากโครงการ ‘Frigate Program’
ซึ่งมาแทนที่ ‘Project Tridente’ นั่นเอง
-------------------------------
อ้างอิงจาก
รายงานเรื่อง
: The
Market for Naval Surface Combatants
https://en.wikipedia.org/wiki/Spruance-class_destroyer
https://en.wikipedia.org/wiki/Oliver_Hazard_Perry-class_frigate
https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_active_ships_of_the_Chilean_Navy
https://www.forecastinternational.com/notable/defdaily.htm
https://en.mercopress.com/2002/05/08/chilean-navy-ready-to-shop
https://www.lockheedmartin.com/en-ca/chile.html
http://navalphotos.blogspot.com/2011/06/cs-almirante-williams-ff-19.html?m=1
http://navalphotos.blogspot.com/2011/08/cns-almirante-condell-ff06.html?m=1
https://web.facebook.com/armadaecuatoriana/?tn-str=k*F
http://www.shipspotting.com/gallery/search.php?query=CNS+Almirante+Williams+FF19&x=28&y=11
https://www.secretprojects.co.uk/threads/fincantieri-falco-frigate.10905/
https://en.wikipedia.org/wiki/Lupo-class_frigate
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น