วันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2563

Chilean Navy Air-Defence Frigate

 

เรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศชิลี

ช่วงสงครามเย็นระหว่างนาโต้กับวอร์ซอ กองทัพเรือชิลีจัดหาเรือรบรุ่นใหม่เข้าประจำการ ตามความเหมาะสมกับภารกิจและเงินในกระเป๋า ส่วนใหญ่เป็นเรือมือสองจากอเมริกาหรืออังกฤษ เหมือนกับหลายประเทศในอเมริกาใต้และเอเชีย ยกเว้นเรือที่มีความสำคัญเช่นเรือดำน้ำ อันเป็นอาวุธยุทธศาสตร์ใช้คานอำนาจสองฝ่าย และช่วยยับยั้งให้การเกิดสงครามไม่ง่ายเหมือนอดีต ชิลีเลือกเรือดำน้ำมือหนึ่งประสิทธิภาพสูงมาใช้งาน

หนึ่งในชนิดเรือที่น่าสนใจของประเทศนี้ก็คือ เรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศ อันเป็นเรือติดอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะปานกลาง มีราคาค่อนข้างสูงเพราะติดอุปกรณ์ทันสมัยล้นลำ ค่ายใช้จ่ายในการใช้งานและซ่อมบำรุงจึงมากตามกัน แต่เป็นที่หมายปองจากทุกชาติรวมทั้งราชนาวีไทย ชิลีเองมีความต้องการเรือประเภทนี้เช่นกัน ทว่ามีเงินไม่มากเพียงพอที่จะถอยเรือป้ายแดง จึงเบนเข็มมาจัดหาเรือมือสองใช้งานไปพลางๆ

เรือติดอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานลำแรกที่จะพูดถึง เป็นเรือพิฆาตอาวุธนำวิถีชั้น Country จากประเทศอังกฤษ ระวางขับน้ำ 6,200 ตัน ยาว 158.54 เมตร กว้าง 16 เมตร กินน้ำลึก 6.4 เมตร อังกฤษสร้างขึ้นมาจำนวน 8 ลำ ทยอยเข้าประจำการระหว่างปี 1962 ถึง 1970 เมื่อปลดประจำการชิลีขอซื้อต่อจำนวน 4 ลำ ประกอบไปด้วย

1.DLG-11 Captain Prat ประจำการตั้งแต่ปี 1982 ถึง 2006

2.DLH-12 Admiral Cochrane ประจำการตั้งแต่ปี 1984 ถึง 2006

3.DLG-14 Almirante Latorre ประจำการตั้งแต่ปี 1986 ถึง 1998

4.DLH-15 "Blanco Encalada ประจำการตั้งแต่ปี 1987 ถึง 2003

รหัสเรือแตกต่างกันเล็กน้อย DLG คือเรือพิฆาตอาวุธนำวิถี ส่วน DLH คือเรือพิฆาตบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ สาเหตุเป็นเพราะเมื่อรับเรือเข้าประจำการ ชิลีถอดอาวุธบางอย่างออกจากเรือจำนวนสองลำ แล้วสร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์พร้อมโรงเก็บขนาดใหญ่ สามารถจอดเฮลิคอปเตอร์ SuperPuma ได้พร้อมกันถึงสองลำ จึงเป็นที่มาของความแตกต่างเรื่องรหัสเรือ


นี่คือเรือ DLG-11 Captain Prat  ถ่ายในปี1989  ติดปืนใหญ่ขนาด 4.5 นิ้วลำกล้องแฝดหนึ่งแท่นยิง ถูกออกแบบเพื่อภารกิจป้องกันภัยทางอากาศ ปืนรุ่นนี้จึงใช้ยิงเป้าหมายอากาศยานได้ดีมาก ถัดมาเป็นแท่นยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ MM-38 Exocet จำนวน 4 นัด กลางเรือมีปืนกล 20 มม.2 กระบอก แท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำแฝดสาม 2 แท่น แท่นยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะใกล้ Seacat แบบแฝดสี่ 2 แท่น ท้ายเรือมีแท่นยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศระยะกลาง Seaslug พร้อมจรวดในแมกกาซีนมากถึง 24 นัด รวมทั้งเฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็กจำนวนหนึ่งลำ


เรือลำถัดมาคือ DLH-15 Blanco Encalada ซึ่งมีฉายาว่า The White ในปี 1989 หลังซื้อต่อได้ไม่นานชิลีปรับปรุงใหม่ทันที แท่นยิงกับเรดาร์ควบคุมการยิงจรวด Seaslug หายไป แต่จรวด Seacat ยังอยู่ตำแหน่งเดิม ได้ลานจอดเฮลิคอปเตอร์แบบยาวมากมาแทน ในภาพจอดเฮลิคอปเตอร์คู่กันจำนวนสองลำ ใต้ลานจอดแอบใส่รางปล่อยระเบิดลึกไว้ด้วยสองราง

ปรับปรุงใหม่แล้วดูทันสมัยมากขึ้น ที่ทำแบบนี้เพราะจรวด Seaslug เหลือจำนวนน้อยนิด จรวดรุ่นนี้อังกฤษพัฒนาขึ้นมาเอง มีความยาว 6 เมตรหนักประมาณ 2 ตัน ระยะยิงไกลสุดรุ่น Mk2 ร่วมๆ 32 กิโลเมตร แต่ค่อนข้างล้าสมัยยิงเครื่องบินลำใหญ่ๆ ได้เท่านั้น กองทัพเรือชิลีถือคติพจน์ว่ามีดีกว่าไม่มี นี่คือก้าวแรกก้าวสำคัญในการเดินทางไปสู่เส้นชัย

จรวด Seacat ทุกคนคงคุ้นเคยเป็นอย่างดี ประเทศไทยเคยมีบนเรือหลวงมกุฏราชกุมาร ระยะยิงค่อนข้างสั้นเพียง 5 กิโลเมตร ระบบนำวิถีอาจไม่แม่นยำสักเท่าไร แต่ทันสมัยที่สุดและกะทัดรัดที่สุดในปี 1960 อังกฤษนำมาใช้งานแทนปืนต่อสู้อากาศยาน 40 มม.พร้อมเรดาร์ควบคุมการยิงแท่นใครแท่นมัน มีความแม่นยำกว่ากันและแพงกว่ากันพอสมควร

ได้เรือมาแล้วต้องมีการทดสอบยิงจรวด ประชาชนจะได้อุ่นใจนอนหลับฝันดี แม้จรวด Seaslug จะมีข่าวว่ายิงได้เพียงเป้าหมายผิวน้ำ ส่วนเป้าหมายอากาศยานความเร็วสูงอาจมีปัญหา ก็อย่าไปคิดมากถือว่าซื้อเรือแถมจรวดมาด้วย เรือชั้นนี้ใช้ระบบขับเคลื่อนแบบ COSAG หรือระบบไอน้ำกับแก๊สเทอร์ไบ โดยติดเครื่องยนต์ด้วยระบบแก๊สก่อนขับเคลื่อนด้วยระบบไอน้ำ ถือเป็นต้นฉบับระบบขับเคลื่อน COGOG หรือ COGAG ให้กับเรือรุ่นถัดๆ มาอีกหลายลำ


ภาพถัดไปคือเรือ DLG-11 Captain Prat ในปี1998 มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นก็คือ จรวด Seacat สองกราบเรือถูกถอดออกไป เรดาร์ควบคุมการยิงสองกราบเรือก็เช่นกัน ติดเรดาร์ควบคุมการยิงรุ่นใหม่เหนือสะพานเดินเรือกับหลังคาโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ ติดระบบแท่นยิงแนวดิ่งของอิสราเอลจำนวน 16 ท่อยิง บริเวณข้างปล่องระบายความร้อนอันที่สอง เพื่อใช้งานอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะใกล้ Barak 1 ควบคุมด้วยเรดาร์ระยะยิงไกลสุด 12 กิโลเมตร


จรวด Barak 1อิสราเอลเคลมว่ายิงอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบได้ รวมทั้งมีภาพการยิงทำลายจรวดการเบรียลของตัวเอง ทำให้เรือมีโอกาสเอาตัวรอดกลับฐานมากขึ้นกว่าเดิม อาจไม่ดีที่สุดทว่าราคาเหมาะสมที่สุด อิสราเอลการช่างดัดแปลงให้ติดกับเรือลำไหนก็ได้ ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงเรือไม่แพงจนระเป๋าฉีก จากภาพชิลีขยับแท่นยิงตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำมาติดแทนที่จรวด Seacat ส่วนระบบเรดาร์อื่นๆ ของอังกฤษยังอยู่ที่เดิมทั้งหมด


ภาพถัดไปเรือ DLG-11 Captain Prat ถอดจรวด Seaslug ออกเสียแล้ว เรดาร์ควบคุมการยิงขนาดมหึมาก็เช่นกัน แล้วสร้างโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ขนาดใหญ่ขึ้นมา ภาพถ่ายน่าจะประมาณปี 2000 หรือใกล้เคียง ชิลีใช้งานต่อจนถึงปี 2006 ก็ปลดประจำการแล้ว ทั้งๆ ที่เพิ่งสร้างโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ได้ไม่นาน สาเหตุเป็นเพราะอะไรโปรดรอสักครู่หนึ่ง


 กลับมาชมภาพเรือ DLH-15 Blanco Encalada ในปี 1999 กันบ้าง จรวด Barak 1มาตามนัดไม่มีผิดพลาด ดูจากมุมนี้ไม่แน่ใจว่าเรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศระยะไกล Type 695 หายไปหรือยัง ลานจอดรองรับเฮลิคอปเตอร์ SuperPuma ได้สองลำอย่างสบายๆ เวลาบินขึ้นอาจต้องบินทีละลำเพื่อความปลอดภัย เป็นพัฒนาการสุดท้ายท้ายสุดของเรือพิฆาตชั้นนี้

เรือทั้งสี่ลำเข้าประจำการไม่พร้อมกันและปลดประจำการไม่พร้อมกัน บางลำมาทีหลังแต่ปลดก่อนเป็นไปตามสภาพเรือ และเรือสองลำสุดท้ายปลดประจำการในปี 2006 ด้วยเหตุผลมีเรือลำใหม่เข้าประจำการทดแทน

ปี 2004 กองทัพเรือชิลีทำสัญญามูลค่า 350 ล้านเหรียญ เพื่อจัดซื้อเรือฟริเกตมือสองจากกองทัพเรือเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีโครงการลดกำลังพลครั้งใหญ่มหึมา เรียกว่าขายมันหมดทุกอย่างเท่าที่ตัวเองขายได้ อันเป็นผลสืบเนื่องจากการล่มสลายของโซเวียต สัญญาฉบับนี้ประกอบไปด้วยเรือฟริเกตสองชั้นจำนวนสี่ลำ เรือชั้นแรกคือเรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศ Type L


เรือลำที่หนึ่งใช้ชื่อว่า FF 11 Captain Prat  อันเป็นชื่อเดิมของเรือพิฆาตชั้น Country จากอังกฤษ ระวางขับน้ำเต็มที่ 3,750 ตัน ยาว 130.5 เมตร กว้าง 14.6 เมตร กินน้ำลึก 4.3 เมตร หัวเรือมีแท่นยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะใกล้ Sea Sparrow จากอเมริกาจำนวน 8 นัด ระยะยิงหวังผลอยู่ที่ 8 ไมล์ทะเลหรือ 14.8 กิโลเมตร ควบคุมการยิงด้วย STIR 1.8 ซึ่งมีจานส่งสัญญาณกว้าง 1.8 เมตร โดยในภาพจะเป็นตัวบนทรงแหลมเล็กน้อย ส่วนที่อยู่ต่ำลงมาคือเรดาร์ควบคุมการยิง STIR 2.4 ซึ่งมีจานส่งสัญญาณกว้าง 2.4 เมตร ไว้สำหรับไพ่เด็ดไม้ตายที่ติดอยู่ด้านท้ายเรือ

นอกจากนี้ยังมีเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ Thlaes ZW-06 เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Thales Smart-S Mk1 เรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศระยะไกล Thales LW-08 ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ AN/SLQ-503 RAMSES ระบบโซนาร์ตรวจับเรือดำน้ำ Thales PHS-36 ระบบอำนวยการรบ Thales SEWACO V ระบบเป้าลวง Mk36 SRBOC ทำงานอัตโนมัติ


เขียนจนเมื่อยมืออุปกรณ์ไม่ครบเสียที ข้ามมาชมเรือลำที่สองกันบ้าง นี่คือเรือชื่อ FF 14 Almirante Latorre บริเวณกลางเรือมีแท่นยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon จำนวน 8 นัด (ในภาพถอดออกแล้ว) มีห้องยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mk 46 ฝั่งละสองท่อยิง ท้ายเรือมีแท่นยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะกลาง SM-1 ของอเมริกา ระยะยิงไกลสุด 25 ไมล์ทะเลหรือ 46.5 กิโลเมตร ปิดท้ายด้วยระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Goldkeeper  ซึ่งใช้ปืนกลเจ็ดลำกล้องรวบขนาด 30 มม.มีกระสุนในแมกกาซีนประมาณ 1,500 ถึง 2,000 นัด เรียกว่ายิงกันให้เพลิดเพลินหนำใจกันไปเลย


ทีนี้มาดูภาพท้ายเรือกันบ้าง เห็นแท่นยิง Goldkeeper ตั้งโดดเด่นค่อนข้างสูง เพราะต้องการพื้นที่จำนวนหนึ่งในการจัดเก็บกระสุนปืน แต่ไม่อยากกินเนื้อที่ใต้ดาดฟ้าเรือจึงยกสูงประมาณนี้ แตกต่างจาก Phalanx ของอเมริกาที่นำไปวางตรงไหนก็ได้ มีความคล่องตัวกว่ากันติดบนเรือลำเล็กลำใหญ่ได้หมด แต่มีกระสุนจำนวนน้อยกว่ากันเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน


และในภาพนี้แสดงจรวด SM-1 บนเรือรบชิลี ถูกออกแบบมาเพื่อรับมือเครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกล สามารถยิงได้ค่อนข้างสูงอันเป็นจุดเด่นสำคัญ ชิลีเปลี่ยนจากจรวด Seaslug มาเป็น SM-1 ถือเป็นก้าวกระโดด แม้จรวดใกล้ล้าสมัยและมีรุ่นใหม่เข้ามาแทนที่แล้ว แต่ยังถือเป็นของดีมีคุณภาพผ่านการรบจริงมาแล้ว ในราคาสบายกระเป๋าตัวเองสามารถจ่ายได้


ทีนี้เรามาดูเรือลำที่สามในดีลนี้ เป็นเรือฟริเกตเอนกประสงค์ Type M ใช้ชื่อว่า FF-15 Almirante Blanco Encalada               ขนาดเล็กกว่าเรือสองลำแรกไม่เท่าไร ระวางขับน้ำเต็มที่ 3,340 ตัน ยาว 123.72 เมตร กว้าง 14.37 เมตร กินน้ำลึก 6.1 เมตร ติดปืนใหญ่ 76/62 มม.ที่หัวเรือ 1 กระบอก ติดอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon จำนวน 8 นัด และอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะใกล้ Sea Sparrow จำนวน 16 นัด โดยใช้แท่นยิงแนวดิ่งฝั่งซ้ายมือของโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ มีห้องยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mk 46 ฝั่งละสองท่อยิง ทำการรบได้ครบสามมิติโดยใช้อาวุธมาตราฐานนาโต้

เรือติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Thales Smart-S Mk1 เรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศระยะไกล Thales LW-08 ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ Thales APECS-II/AR-700 ECM และ Thales Vigile APX ESM ระบบโซนาร์ตรวจับเรือดำน้ำ Thales PHS-36 ระบบอำนวยการรบ Thales SEWACO Mk.VII ระบบเป้าลวง Mk36 SRBOC ทำงานอัตโนมัติ เรดาร์ควบคุมการยิง STIR 1.8 อีกสองตัว โอยเหนื่อยขาดอุปกรณ์เล็กๆ น้อยๆ ไปบ้างอย่าว่ากันเลยเน่อ


ภาพนี้คือเรือลำที่สี่ชื่อ FF-18 Almirante Riveros หน้าสะพานเดินเรือฝั่งขวามองเห็น Thales APECS-II/AR-700 ใช้ก่อกวนเรดาร์ฝ่ายตรงข้ามได้อย่างชัดเจน มีเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ Thales Scout ติดมาด้วยลืมบอกไป เรือทั้งสี่ลำเพิ่งถูกปรับปรุงใหญ่ในปี 2000 นี้เอง ชิลีขอซื้อต่อและเข้าประจำการจริงในปี 2006 ผู้เขียนอยากใช้คำว่าแก่งแย่งชิงดีจะเหมาสมกว่า เพราะเป็นของดีใครๆ ก็อยากมีอยากได้ เนเธอร์แลนด์เองรีบปล่อยของในราคามิตรภาพที่แท้จริง ไม่ใช่หมกเม็ดแบบโครงการเรือดำน้ำซื้อสองแถมหนึ่ง ไอ้เสือปืนไวอย่างชิลีเป็นผู้ครอบครองเรือสี่ลำ ในราคาไม่แพงจนผู้เขียนอิจฉาตาร้อนไปหมดแล้ว

แต่ก็นั่นแหละครับ โบราณกล่าวไว้ว่าชั่วเจ็ดทีดีเจ็ดหน เรือฟริเกตชั้น Type L ทั้งสองลำประจำการในปี 1986 ชิลีซื้อมาใช้งานต่อก่อนปลดประจำการปลายปี 2019 เท่ากับว่าเรือมีอายุการใช้งานแค่เพียง 33 ปี

ทำไมปลดประจำการไวจัง! สู้เรือประเทศไทยไม่ได้! เราใช้งานเรือหนึ่งลำตั้ง 50 ปีเชียวนะจะบอกให้!

เอ่อเรื่องที่เราใช้งานเรือแบบลากยาวนั้น หาใช่เรือเรามีประสิทธิภาพสูงอะไรไม่ แค่เราไม่มีเงินซื้อเรือใหม่เท่านั้นเอง ว่ากันตามจริง 33 ปีก็ถือว่ามากพอสมควร เรือรบส่วนใหญ่ทยอยปลดประจำการในช่วงนี้ รวมทั้งถ้าชิลีต้องการประจำการเรือสองลำนี้ต่อ พวกเขาจะมีปัญหาเรื่องอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน เพราะจรวด SM-1 ก็ดี Sea Sparrow ก็ดีใกล้หมดอายุ

เรืออีกสองลำที่ซื้อพร้อมกันใช้จรวด Sea Sparrow ก็จริง แต่เป็นรุ่นใช้งานแท่นยิงแนวดิ่งทันสมัยกว่าและใหม่กว่า ยังมีอายุการใช้งานอีกนานพอสมควร ไม่มีทางเลือกชิลีจำเป็นต้องซื้อเรือลำใหม่ โดยคราวนี้พวกเขามองมาที่เรือออสเตรเลีย


วันที่ 15 เมษายน 2020 กองทัพเรือออสเตรเลียได้ส่งมอบเรือฟริเกตชั้น Oliver Hazard Perry จำนวนสองลำ ให้กับกองทัพเรือชิลีภายใต้สัญญามูลค่า 110 ล้านเหรียญ แบ่งเป็นค่าเรือลำละ 45 ล้านเหรียญ ที่เหลือเป็นค่าฝึก ค่าใช้จ่าย รวมทั้งอะไหล่จำนวนหนึ่ง เรือลำใหม่ยังใช้ชื่อเดิมกับหมายเลขเดิม แต่เปลี่ยนรหัสเล็กน้อยเป็น FFG 11 Captain Prat กับ FFG 14 Almirante Latorre และสิ่งที่น่าสนใจมากที่สุดก็คือ เรือออสเตรเลียอายุน้อยกว่าเรือเนเธอร์แลนด์แค่ 6 ปีกับ 7 ปี

ทำไมชิลีซื้อเรืออายุไม่ห่างกันเท่าไรมาแทนเรือเก่า? ข้อมูลส่วนหนึ่งจากเอกสาร ‘Seas of Chile: 2040 Vision’ เขียนไว้อย่างน่าสนใจมากว่า เรือออสเตรเลียมาพร้อมอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะกลาง SM-2 ทันสมัยกว่าและมีประสิทธิภาพสูงกว่าจรวด SM-1 พอสมควร สิ่งนี้เองเป็นประเด็นสำคัญในการพิจารณาจัดหาเรือ รวมทั้งเรือออสเตรเลียมีแท่นยิงแนวดิ่ง MKk-41 จำนวนแปดท่อยิง สามารถติดตั้งอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ESSM ได้มากถึง 32 นัด

จรวดทั้งสองรุ่นถือว่าทันสมัยที่สุดในตอนนี้ จริงอยู่ว่าระบบต่างๆ บนเรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศออสเตรเลีย อาจใช้งานไม่ดีเทียบเท่าเรือใหม่เอี่ยมราคา 450 ล้านเหรียญ แต่ถูกกว่ากันสิบเท่าตัวย้ำอีกครั้งว่าสิบเท่าตัว สามารถใช้จรวด SM-2 ได้ทันทีเดี๋ยวนี้เลย ของมันต้องมีส่วนได้ใช้งานตอนไหนแล้วค่อยว่ากัน


นี่คือภาพถ่ายเรือ FFG 14 Almirante Latorre มีครบทุกอย่างยกเว้นระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx ที่บังเอิญหายไปจากหลังคาโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ ชิลีจะนำ Goldkeeper จากเรือเก่ามาใส่บนเรือใหม่ ติดขัดปัญหาเล็กน้อยที่ Goldkeeper ต้องการพื้นที่ใต้ดาดฟ้าเรือประมาณ 2 เมตร ไม่อย่างนั้นต้องยกสูงขึ้นไป 2 เมตรเพื่อเก็บกระสุนปืน

แล้วชิลีจะทำอย่างไร? ถ้าเป็นผู้เขียนจะใช้แผนง่ายที่สุดก็คือ เรือลำนี้มีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์สองลำใช่ไหม ฉะนั้นให้เจาะดาดฟ้าโรงเก็บฝั่งขวาเป็นคลังกระสุน เหลือฝั่งซ้ายไว้เก็บเฮลิคอปเตอร์ดั่งเดิม มีคำถามตามมาว่าแล้วเรือไม่เสียสมดุลหรือ เพราะ Goldkeeper น้ำหนักรวมประมาณ 10 ตัน ส่วนตัวคิดว่าเรื่องสมดุลไม่น่ามีปัญหา ปรกติเรือใส่เฮลิคอปเตอร์ 10 ตันไว้สองลำ ถ้าลำขวาบินออกไปเหลือลำซ้ายหนัก 10 ตันในโรงเก็บ ถ้ามีปัญหาจริงเรือคงเอียงกระเท่เร่ตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว

FFG 14 Almirante Latorre มีระวางขับน้ำ 4,100 ตัน ยาว 138.1 เมตร กว้าง 13.7 เมตร กินน้ำลึก 4.5 เมตร ยังไม่แน่ใจว่าติดอาวุธครบตามต้นฉบับหรือไม่ ผู้เขียนขอละไว้รอให้เรือเข้าประจำการก่อน อเมริกาสร้างเรือลำนี้เป็นเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำ แต่เนื่องมาจากติดจรวด SM-1 ได้มากสุดถึง 40 นัด ทำให้หลายชาตินำมาใช้งานป้องกันภัยทางอากาศ เรือใช้ระบบขับเคลื่อนแก๊สเทอร์ไบน์ล้วนคนไทยมองว่าเปลือง แต่ถ้าเปรียบเทียบกับสองลำก่อนคนชิลีบอกว่าสบายๆ

-------------------------------

อ้างอิงจาก

https://www.shipsnostalgia.com/gallery/showphoto.php/photo/902146/title/almirante-latorre-dlg-14/cat/513

https://www.armada.cl/site/unidades_navales/511.htm

https://base.mforos.com/1716038/3448624-destructores-tipo-county-dlh-11-prat-dlh-12-cochrane-dlh-15-blanco-y-dlg-14-latorre/?pag=6

https://base.mforos.com/1716042/4015674-fragatas-tipo-l-capitan-prat-ffg-11-almirante-latorre-ffg-14/

http://www.seaforces.org/marint/Chilean-Navy/ships.htm

http://www.shipspotting.com/gallery/search.php?search_title=CNS%20Capitan%20Prat%20FF11

http://www.shipspotting.com/gallery/search.php?query=CNS+Almirante+LaTorre+FF14&x=23&y=5

https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Chilean_frigate_Almirante_Blanco_Encalada_(FF_15)_leaves_Pearl_Harbor_in_July_2014.JPG

http://www.shipspotting.com/gallery/search.php?query=CNS+ALMIRANTE+RIVEROS+FF18&x=35&y=7

https://www.navalanalyses.com/2015/05/jacob-van-heemskerck-class-frigates-of.html

https://web.facebook.com/511544342548156/photos/pcb.1180983582270892/1180983115604272/?type=3&theater

https://www.abc.net.au/news/2020-04-24/australia-gifts-two-retired-war-ships-chile/12179044

 

3 ความคิดเห็น:

  1. มื่อวานเขียนบทความเรือฟริเกตป้องกันทางอากาศของชิลี วันนี้เพิ่งนึกแผนการที่ง่ายกว่าเดิมออกเลยนำมาใส่เพิ่ม การติดตั้งระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Goldkeeper โดยดัดแปลงเรือน้อยที่สุดก็คือ ใส่แทนปืนกล 76/62 มม.กลางลำนั่นแหละครับ

    มุมยิงท้ายเรืออาจโดนปล่องระบายความรัอนบดบังไปบ้าง แต่โอกาสที่จรวดจะวิ่งตรงๆ เข้าท้ายเรือคงมีไม่มากเท่าวิ่งเข้ากลางลำ ตำแหน่งนี้ป้องกันสะพานเดินเรือและห้องควบคุมการรบได้ดีกว่าเดิม รวมทั้งตั้งแต่ดั้งเดิมเรือชั้นเพอรี่กำหนดให้ติดปืนกล 35 มม.ลำกล้องแฝดตรงจุดนี้ บังเอิญต้นแบบไม่เสร็จเสียทีจึงยกเลิกติดปืนใหญ่ 76/62 มม.แทน อันเป็นสาเหตุให้ติดระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Phalanx เพิ่มเติมในภายหลัง

    ถ้ามาแผนนี้จะไม่มีปืนใหญ่อเนกประสงค์ อาจใส่ปืนกล 30-40 มม.บนโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ ไว้ยิงเรือลำเล็กลำน้อยเพิ่มเติมอะไรแบบนี้

    ตอบลบ