วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2563

Journey to Korea

ตามรอยนิราศเกาหลี

เมื่อกลับมาจากราชการสงครามประเทศเกาหลี พลเรือโทจวบ หงสกุลซึ่งในตอนนั้นยศนาวาเอก ได้เริ่มเขียนกลอนนิราศเล่มแรกโดยใช้ชื่อว่า นิราศเกาหลี หลังจากหนังสือเล่มนี้ถูกเผยแพร่ออกไป บรรดาผู้อ่านพากันบอกว่าอ่านสนุก สำนวนดีมาก มีคารมมีอารมณ์ขัน มีคติพจน์สอนใจและมีแง่คิด ทุกคนพากันยกย่องให้เป็นกวีคนใหม่ของประเทศ

นิราศเกาหลีถูกคัดเลือกให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลา เล่มในมือผู้เขียนสำหรับนักเรียนมัธยมสาม ก่อนเปลี่ยนมาเป็นนักเรียนมัธยมปลายในภายหลัง จำนวนหน้าใกล้เคียงกันคือหกสิบกว่าหน้า มีวงเล็บต่อท้ายฉบับนักเรียนเหมือนกัน ไม่ทราบจริงๆ ว่าฉบับผู้ใหญ่มีจำนวนกี่หน้า บางทีอาจต้องหามาอ่านสักเล่มเสียแล้วสิเรา

บทความนี้ผู้เขียนขอแนะนำตัวละครสำคัญๆ ในนิราศ เพื่อเป็นการขยายภาพให้เห็นชัดเจนกว่าเดิม โดยเฉพาะเมื่ออ่านนิราศเกาหลีต้นฉบับควบคู่กันไป เป็นบทความง่ายๆ ทุกเพศทุกวัยอ่านได้ลุยกันเลย

เปิดเนื้อเรื่องขึ้นมาพลเรือโทจวบต้องเดินทางไปเกาหลี มีการอำลาภรรยาและลูกๆ ทั้งสามคน เนื่องมาจากว่าดึกมากแล้วลูกทุกคนพากันหลับสนิท มีเพื่อนร่วมงานกับบุคคลที่เกี่ยวข้องยกโขยงมาส่ง ขบวนเดินทางมุ่งตรงมายังสมุทรปราการ สมาชิกทั้งหมดทยอยลงเรือเล็กที่กำลังจอดเทียบท่า เนื้อหาใจความนิราศช่วงบทแรกๆ มีดังนี้

ยี่สิบห้านาทีไม่มีเศษ                          มาถึงเขตชุมพลชลละหาน

ยามถือปืนยืนจังก้าท่าเอาการ             ส่งสั่งการเปิดประตูยามรู้ทัน

รถแล่นเรียบเทียบท่าชลาสินธุ์              จึงได้ยิน ต๑ เครื่องบึ่งลั่น

พอลงเรือครบห้าก็พากัน                     ออกผายผันสู่ทะเลว้าเหว่ใจ

เปิดหัวกันด้วยเรือเล็กที่ค่อนข้างมีปริศนา เรือ ต๑ เป็นเรือตรวจฝั่งตัวเรือทำจากไม้ กองทัพเรือสร้างขึ้นมาใช้งาน 6 ลำ ประกอบไปด้วยเรือ ต๑ ถึง ต๖ ไล่เรียงกันไป ระวางขับน้ำและขนาดของเรือหาข้อมูลไม่ได้จริงๆ รู้แค่เพียงเรือ ต๑ ปลดประจำการ 30 พฤศจิกายน 2494 ส่วนเรือ ต๕ ในภาพซึ่งสร้างที่หลังมีอายุยาวนานกว่า คือปลดประจำการ 20 ธันวาคม 2503 โดยในวันที่ 24 มีนาคม 2493 เป็นหนึ่งในเรือเข้าร่วมกระบวนเสด็จนิวัติพระนคร

ข้อมูลมีเพียงเท่านี้เรามาชมจากภาพดีกว่า รูปร่างหน้าตาเหมือนเรือติดเครื่องยนต์ขนาดยี่สิบเมตร หัวเรือติดปืนกลเมดเสน 20 มม.หนึ่งกระบอก พร้อมแมกกาซีนกลมบรรจุกระสุน 40 นัด มีสะพานเดินเรือแบบครึ่งชั้นหลังปืนกล (ลงบันไดไปอีกสามสี่ขั้นประมาณนี้) เสากระโดงเรือขนาดเล็กติดไฟฉายหนึ่งดวง กลางเรือมีช่องรับแสงกับช่องระบายอากาศสู่ตัวเรือ ด้านท้ายเรือเป็นพื้นโล่งๆ มีเสาผูกธงตั้งโด่เด่หนึ่งอัน ตัวเรือค่อนข้างสูงแต่กินน้ำตื้นออกทะเลไกลๆ คงไม่ไหว

เรือตรวจฝั่งเทียบได้กับเรือตรวจการณ์ในปัจจุบัน ตอนนั้นเรามีเรือยามฝั่งซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกัน มีความเร็วสูงติดตอร์ปิโด 2 นัดแบบปล่อยท้าย ต้นแบบมาจากอังกฤษและเราสร้างเพิ่มเติมอีกหลายลำ เทียบได้กับเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีในปัจจุบัน เป็นกองเรือขนาดเล็กที่ทุกวันนี้ไม่มีอีกแล้ว อายุการใช้งานไม่ยาวเท่าไรเพราะทำจากไม้ฮอกกานี

เรือ ต๑ พาทุกคนเดินทางท่ามกลางแสงจันทร์ มุ่งตรงมายังท่าเรือเกาะสีชัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อขึ้นเรือใหญ่ที่สหประชาชาติหรือยูเอ็นส่งมารับเหล่าทหารกล้า เนื้อหาใจความนิราศตอนนี้กล่าวไว้ว่า

ตีห้าครึ่งพึ่งเห็นเป็นครั้งแรก                 ว่าเรือแมคเร รี่เร็วปี่วิ่ง

สู่สีชังดังหมายไม่ประวิง                        เพื่อรับมิ่งทหารไทยไปปูซาน

พอแสงทองส่องฟ้านภาทั่ว                    หายมืดมืดมัวมองซ้ำลำตระหง่าน

ทาสีหมอกหลอกไว้ใหญ่เอาการ          มองสะพานคอตั้งกระทั่งเอน

เรือแมคเรในนิราศเป็นเรือลำเลียงชั้น General G. O. Squier ถูกสร้างขึ้นมาจำนวน 24 ลำช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตระวางขับน้ำสูงสุด 17,250 ตัน ยาว 159.36 เมตร กว้าง 21.79 เมตร บรรทุกทหารได้ถึง 3,343 นาย แต่ในนิราศระวางขับน้ำสูงสุด 19,000 ตัน โดยมีห้องพักจำนวน 2,000 ห้อง ตัวเลขที่ต่างกันอาจเป็นเรื่องวิธีการนับระวาง

เรือเข้าประจำการกองทัพเรืออเมริกาปี 1944 โดยใช้ชื่อว่า USS General J. H. Mc Rae เพราะอยู่ในช่วงสงครามโลกจึงติดปืนใหญ่ 3 นิ้ว 4 กระบอก ปืนกล 30 มม.ลำกล้องแฝด 4 กระบอก และปืนกล 20 มม.อีก 16 กระบอก ต่อมาในปี 1946 เรือถูกโอนไปให้กองทัพบก สังกัดหน่วยงาน United States Army Transports หรือ USAT ถัดมาแค่เพียง 4 ปีจึงได้ย้ายกลับมาอยู่กองทัพเรือ โดยคราวนี้สังกัดหน่วยงาน United States Naval Ships หรือ USNS อันเป็นกองเรือช่วยรบไม่มีการติดอาวุธแต่อย่างใด ยุคนั้นสมัยนั้นจะวุ่นวายประมาณนี้แหละครับ

จากภาพถ่าย USAT General Mc Raeในปี 1949 สังกัดกองทัพบก ขนาดค่อนข้างใหญ่โตมีความสำคัญมากในการรบ เนื่องจากยุคนั้นเดินทางไกลใช้ทางน้ำเป็นหลัก เครื่องบินลำเลียงข้ามทวีปยังเป็นอะไรที่ไกลเกินเอื้อม ระหว่างเดินทางมีการฝึกซ้อมอย่างเข้มงวด เพราะทหารที่มากับเรือส่วนใหญ่ไม่ใช่ทหารเรือ สงครามเกาหลีไทยส่งทหารเข้าร่วมในนามสหประชาชาติ จึงมีทหารกล้านานาชาติโดยสารมาบนเรือแมคเร นิราศเกาหลีพูดถึงเรื่องการฝึกซ้อมไว้ด้วย

ที่สามสิบเมษาเวลาถึง                         สิบสี่ครึ่งปฏิบัติหัดตามแผน

รัวระฆังดังลั่นสนั่นแดน                         ให้หมายแม้นเพลิงไหม้ดับไฟกัน

ไฟไม่ดับกลับไหม้ลามไปทั่ว                  ชักหวูดรัวเร่งเร้าเสียงยาวสั้น

รีบสละเรือใหญ่ให้ทันควัน                    ท่านกัปตันสั่งการชำนาญชล

เรือชูชีพยี่สิบลำขำใช่น้อย                     เลื่อนออกห้อยข้างเรือเหลือฉงน

พร้อมกันหมดเหมือนกดปุ่มมีดุมกล     บรรจุคนสองพันครบครันเทียว

สองกราบเรือแมคเรมีเรือบดจำนวน 20 ลำ เรือซ้อนกันสองลำต่อหนึ่งจุดมีเครนแยกต่างหาก ในภาพคือปล่อยเรือลงมาหนึ่งลำสีเทาสว่าง จอดตรงจุดที่เรือ ต.๑ เข้าจอดเทียบข้างนั่นแหละครับ ตรงนั้นมีสะพานขึ้นเรือจากระดับน้ำทะเล ไม่ต้องปีนบันไดลิงหรือตาข่ายเหมือนขึ้นเรือหลวงจักรี อาวุธทั้งหมดบนเรือถูกถอดออกไปเรียบร้อย นอกจากไม่มีความจำเป็นยังทำให้เรือเบาลงเล็กน้อย ผู้เขียนเพิ่งรู้ตอนเขียนบทความนี่แหละ ว่าทหารบกอเมริกาเคยมีเรือลำเลียงขนาดใหญ่ใช้งาน

หลังพลเรือโทจวบขึ้นเรือแมคเรไม่กี่ชั่วโมง ทหารที่เดินทางไปด้วยกันตามมาสมทบภายหลัง ประกอบไปด้วยทหารบก 57 นาย ทหารเรือ 107 นาย แต่กัปตันเรือได้รับข้อมูลจำนวนทหารมีแค่ 60 นาย ต้องวุ่นวายกับการหาห้องพักให้พอดีกำลังพล ครั้นเมื่อถึงวันวอเวลานอตรงตามนัดหมาย มีเรือเปิดหัวลำหนึ่งแล่นตรงเข้าใกล้เรือแมคเร

สิบโมงเช้ามองเขม้นเห็นเรือ กูด                         เสียงชักหวูดปูดลั่นสนั่นท่า

วิ่งน้ำบานปานจะแทรกแหวกธารา                      ให้มัจฉาตื่นตระหนกว่ายวกไป

สิบ น.ครึ่งจึงแล่นเลียบเทียบกราบขวา                ธวัชชัยใจกล้าเฉียดมาใกล้

หัวเรือเสือกเชือกส่งตรงบันได                               ถอยหลังให้หยุดผับเหมือนจับวาง

เรือหลวงกูดเป็นเรือยกพลขนาดกลางชั้น LSM-1 สร้างขึ้นมาเพื่อใช้งานระหว่างสงครามโลก สงครามจบจึงถูกมัดรวมกับเรือจำนวนมากที่ฟิลิปปินส์ รัฐบาลไทยขอซื้อต่อในราคาหนึ่งในสี่ มีอายุการใช้งานเพียง 3 ปี (ใช้งานจริงหนึ่งปีเศษ) ระวางขับน้ำสูงสุดประมาณ 1,000 ตัน ยาว 61.50 เมตร กว้าง 10.51 เมตร สามารถเปิดหัวเรือเพื่อขนส่งยานพาหนะ ติดปืนกล 40 มม.ที่หัวเรือ 1 กระบอก กับปืนกล 20 มม.อีก 4 กระบอก บรรทุกรถถังขนาดกลางได้ 5 คันหรือรถหุ้มเกราะลอยน้ำ 6 คัน

เรามีเรือชั้น LSM-1 จำนวน 3 ลำ ภารกิจประจำคือขนน้ำ น้ำมัน อาหาร และยุทธปัจจัยไปยังที่ตั้งฐานทัพ หรือเรือของกองทัพซึ่งประจำการตามจุดต่างๆ เรือหลวงกูดเข้าร่วมภารกิจสับเปลี่ยนกำลังทหาร กัปตันล่องเรือมาที่เกาะสีชังจำนวนหลายครั้ง ถือเป็นเรือรบอเมริกายุคแรกที่เข้าสู่ไทย พร้อมกับเรือยกพลขนาดใหญ่เรือหลวงอ่างทอง ต่อมาไม่นานมีโครงการช่วยเหลือทางการทหาร มอบให้กับประเทศที่ถูกภัยคอมมิวนิสต์คุกคาม อันเป็นที่มากองเรือมือสองของอเมริกาขนาดใหญ่โต

ในภาพถ่ายคิดว่าเลยสงครามเวียดนามไปแล้ว เรดาร์เดินเรือเปลี่ยนจาก SG ยุคสงครามโลก มาเป็น Koden หรือ Decca ผู้เขียนไม่แน่ใจ ระบบควบคุมการยิงปืนกล 40 มม.ยังอยู่นะครับ แต่อาจไม่แม่นยำเหมือนของใหม่ต้องทำใจเล็กน้อย เรือหลวงกูดรับราชการยาวนานถึง 57 ปีเศษ เมื่อปลดประจำการยังได้เป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ทะเล และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ บริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะสาก อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรีจนถึงทุกวันนี้

เมื่อทหารทุกคนขึ้นมาอยู่บนเรือแมคเร บรรดาผู้ตามมาส่งต้องปีนบันไดกลับมายังเรือ ต.๑ ก่อนที่เรือลำเลียงอเมริกาจะโบกมืออำลาท่าเรือสำคัญของไทย เนื้อหาในนิราศเกาหลีกล่าวถึงตอนนี้ไว้ว่า

ขอลาแล้วสีชังใช่ชังเจ้า                         จากเพราะเรามีงานคร้านไฉน

เจ้าจงอยู่คู่หล้าร่มฟ้าไทย                     ข้าจากไปก็เพราะรักพะวักพะวน

เกรงว่าไทยจะไม่อยู่เป็นคู่ชื่น               จะถูกกลืนชาติแบ่งทุกแห่งหน

เจ้าจะพรากจากอกฟกเหลือทน           จึงพลีตนสู้สงครามไม่คร้ามเลย

เกาะสีชังเป็นสถานที่ที่คนเรือส่วนใหญ่รู้จักดี เรือสำเภามักเข้ามาหลบพายุในฤดูมรสุม ปี 2420 กัปตันลอฟตันเริ่มสำรวจเส้นทางเดินเรือจากเกาะสีชังถึงปากน้ำจันทบุรี ส่งผลให้เกาะสีชังได้รับความนิยมมากกว่าเดิม กระทั่งในปี 2436 เกิดวิกฤตการณ์ร.ศ.112 ฝรั่งเศสได้ส่งทหารจำนวนหนึ่งมายึดเกาะสีชัง แสดงให้เห็นถึงความสำคัญสถานที่แห่งนี้

สีชังคือท่าเรือน้ำลึกอันดับหนึ่งของไทย สงครามโลกครั้งที่หนึ่งเมื่อเราประกาศร่วมสงคราม วันที่ 20 มิถุนายน 2461 สัมพันธมิตรส่งเรือลำเลียงชื่อเอมไปร์มารับทหารไทยที่เกาะสีชัง ส่วนฝ่ายเราใช้เรือศรีสมุทรขนทหารอาสาจำนวน 1,385 นาย รวมทั้งได้จอมพลเสนาธิการเสด็จมาส่งถึงพาหนะ ก่อนที่เรือเอมไปร์จะออกเดินทางไปยังสิงคโปร์ โคลัมโบ ปอร์ตเตส มาเซย์ เข้าสู่ฝรั่งเศสเพื่อส่งทหารกรุงสยามยังที่หมาย ผู้เขียนมีภาพสวยๆ จากหนังสือตัวเองมาอวด เห็นสะพานขึ้นเรือหรือ Gangway พาดลงสู่ระดับพื้นน้ำ เพื่อรับส่งคนจากเรือเล็กขึ้นหรือลงเรือใหญ่ เรือลำเลียงต้องมีสะพานแบบนี้ไม่อย่างนั้นลำบาก

ปี 2458 ราชนาวีไทยเคยวางแผนให้เกาะสีชังเป็นฐานปฏิบัติการเรือดำน้ำ เพื่อป้องกันบริเวณปากแม่น้ำสำคัญทั้ง 4 แห่ง ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นได้ยึดครองเกาะปรงซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนอเมริกายึดครองเกาะขามน้อยซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกัน (ผู้เขียนคิดว่าน่าจะยึดครองช่วงเวลาต่างกัน) เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลงสีชังกลายเป็นเกาะสวรรค์ ทหารฝรั่งและทหารกรุข่าชอบมาพักผ่อนที่นี่ มีบาร์สร้างใหม่ขึ้นเรียงรายราวดอกเห็ด มีสาวๆ หน้าแฉล้มเดินไปมาทั่วทั้งเกาะ ระหว่างสงครามเกาหลีที่นี่เป็นจุดส่งทหารขึ้นเรือใหญ่ อยู่ห่างกรุงเทพร้อยกว่ากิโลเมตรก็จริงแต่สำคัญมาก

หลังจากนั้นไม่นานเศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะซบเซา สีชังโดนผลกระทบเต็มๆ ไม่แตกต่างจากที่อื่น กระทั่งเข้าสู่ปี 2503 เกาะสวรรค์เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง เพราะเรือสินค้าขนาดใหญ่มากกว่าหนึ่งหมื่นตัน ไม่สามารถเข้ามายังท่าเรือคลองเตยซึ่งตื้นเขินได้ จำเป็นต้องแล่นมาจอดทอดสมอใกล้เกาะสีชัง เพื่อถ่ายสินค้าลงเรือเล็กลำเลียงเข้าสู่กรุงเทพต่อไป

 หลังได้รู้จักเกาะสีชังอย่างละเอียดลึกซึ้ง ทหารไทยออกเดินทางไกลด้วยเรือแมคเร พร้อมกับทหารยูเอ็นหลายเชื้อชาติและผู้หญิง 5 คนบนเรือ มีสาวดัทช์หนึ่งคน สาวกรีกสองคน และอีกสองคนระบุแค่อายุมาก  จุดหมายปลายทางคือท่าเรือเมืองปูซานประเทศเกาหลี การเดินเรือใช้วิธีแล่นซิกแซกหลบหลีกภัยร้ายเรือดำน้ำ บางครั้งเข้าใกล้ชายฝั่งให้คนบนนั้นช่วยดูร่องน้ำ กว่าจะถึงจุดหมายปลายทางใช้เวลาพอสมควร เมื่อมาถึงเกาหลีมีการต้อนรับเหมือนบทกลอนในนิราศ

ได้เวลาเรือเลียบเข้าเทียบท่า                            มีคนมารับมากหลากสลอน

แถวนักเรียนร้องเพลงบรรเลงกลอน                    โบกธงว่อนต้อนรับประทับใจ

มีแตรวงมาบรรเลงเล่นเพลงมาร์ช                       ไม่มีขาดเสียงเป่าเร่งเร้าใหญ่

วงหนึ่งนั้นล้วนนิโกรโก้กระไร                             อีกวงไซร้ของเกาหลีมีฟันฟาร์

ในภาพเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า USNS General J. H. Mc Rae ขนทหารยูเอ็นจำนวนมากมาที่เกาหลีในปี 1951 มีการต้อนรับขับสู้อย่างสมเกียรติ สมาชิกในวงดุริยางค์ส่วนใหญ่ตัวเล็กคิดว่าเป็นวงเกาหลี ที่ท่าเรือเมืองเมืองปูซานทหารไทยทั้งร้อยกว่าชีวิต เมื่อลงจากเรือมีสาวเกาหลีมอบดอกไม้คนละหนึ่งช่อ เป็นพิธีต้อนรับตามปรกติเพื่อสร้างขวัญกำลังใจ

หนุ่มๆ ทุกคนมีเวลาชื่นชมความงามครู่เดียว ก่อนเดินทางต่อพร้อมอาหารเรชั่นหรืออาหารสำเร็จจำนวนหนึ่ง บ่ายโมงตรงขบวนทัพเคลื่อนพลด้วยรถบรรทุก มุ่งตรงมายังเรือลำใหม่เพื่อเดินทางต่อไป เนื้อหาในนิราศเกาหลีกล่าวถึงตอนนี้ไว้ว่า

แล้วนำแถวทหารไทยไปเรือใหญ่                        เป็นเรือใช้ในการทหารทั่ว

ชื่อ โกอันมารู แถวดูตัว                                        ตรวจนับหัวถ้วนทานครบว่านเครือ

เรือลำนี้ที่ทางว่างตลอด                                        ตั้งเจ็ดพันตันกรอสเศษรอดเหลือ

คนประจำทำการงานของเรือ                                 ไม่เหลือเฟือน้อยเห็นตัวเป็นเกลียว

ทหารไทยลงจากเรืออเมริกามาขึ้นเรือญี่ปุ่น ก่อนอื่นผู้เขียนต้องบอกว่าเรือโกอันมารูมีหลายลำ คนจำนวนมากสับสนกับโกอันมารูลำที่จมในสงครามโลก ซึ่งเป็นเรือขนน้ำมันระวางขับน้ำ 3,462 ตัน แต่โกอันมารู K086 ลำนี้เป็นเรือลำเลียงขนาดกลาง ระวางขับน้ำ 7,079 ตันตรงตามนิราศร้อยเปอร์เซ็นต์ (สุดยอด!) ยาว 126.5 เมตร กว้าง 17.46 เมตร กินน้ำลึก 10 เมตร ความเร็วสูงสุด 23 นอต บรรทุกทหารได้มากสุด 1,746 นาย เริ่มใช้งานในปี 1936 และปลดประจำการปี 1970

หลังจากจบสงครามเกาหลีได้ไม่นาน เรือโกอันมารูเดินทางไปอพยพชาวจีนกลับเซี่ยงไฮ้ และอพยพชาวจีน 1,485 คนจากอินโดนีเซียไปยังไต้หวัน หลังรัฐบาลมีคำสั่งห้ามคนจีนทำงานในพื้นที่ชนบท มีเรื่องน่าสนใจมากอีกเรื่องหนึ่งก็คือ โกอันมารูคือเรือขนส่งติดระบบปรับอากาศลำแรกของโลก ถูกบันทึกเป็นสถิติใหม่ในปี 1937 หลังทำภารกิจเที่ยวแรกสำเร็จ

ผู้อ่านอาจสับสนเล็กน้อยเรื่องวิธีการเรียกปี เรือไทยใช้ พ..ส่วนเรือต่างชาติกลายเป็น ค.. เนื่องจากผู้เขียนไม่อยากเปลี่ยนกลัวจะงงไปกันใหญ่ หวังว่าจะไม่งงกันนะครับไทย พ..ต่างชาติ ค..

เรือโกอันมารูรับทหารไทยเดินทางจากปูซาน มุ่งตรงมาที่ญี่ปุ่นซึ่งในตอนนั้นอเมริกาเข้ามาครอบครอง ญี่ปุ่นถือเป็นจุดพักผ่อนทหารยูเอ็นทั้งหมด ใครถึงเวรออกแนวหน้าเดินทางไปที่เกาหลี ใครถึงเวรพักหรือได้รับบาดเจ็บเดินทางมาที่ญี่ปุ่น ที่นี่ใช้เป็นจุดสับเปลี่ยนกำลังทหารแต่ละประเทศ รวมทั้งใช้เป็นจุดซ่อมบำรุงเรือรบต่างๆ ตามวงรอบ สถานที่แห่งนี้ทหารไทยทุกคนได้เจอเพื่อนเก่า เรือช่วยรบเพียงลำเดียวของเราที่เข้าร่วมสงครามเกาหลี

พ้นปากทางข้างในอ่าวใหญ่เหลือ                       เห็นแต่เรือรบทอดจอดไสว

ทั้งพิฆาตลาดตระเวนเป็นหมู่ไป                           หาเรือไทยไม่เห็นเร้นนัยน์ตา

มันยุบยับยั้วเยี้ยไปทั่วอ่าว                                    สีหมอกขาวอเมริกันทั้งนั้นหนา

สีหมอกครามเรืออังกฤษเห็นติดตา                      ฉันหมอกหาหมอกเลนไม่เห็นเลย

ตรงเจ็ดน.ชะลอเลียบเรือเทียบท่า                        พอแลมาเห็น สีชัง พุทธังเอ๋ย

กระจิหริดนิดเดียวเจียวพ่อเอย                             จึงเสบอยจอดจนถึงก้นบึง

จากสีชังสู่สีชังก่อนคืนสู่สีชัง ทหารไทยเดินทางมาพบทหารกลุ่มแรกที่ทำงานมาแล้ว 7 เดือน ถึงเวลาสับเปลี่ยนกำลังมีทั้งคนดีใจและเสียใจ คนดีใจคือคนที่มีลูกเมียอยู่ในเมืองไทย ส่วนคนเสียใจคือหนุ่มโสดผู้ลุ่มหลงสาวเจ้าถิ่น เป็นผู้เขียนก็คงเสียใจเหมือนกันแหละครับ เสน่ห์สาวญี่ปุ่นใครได้พบพานมักไม่อาจถอนตัว แต่ทว่าชีวิตทหารต้องทำตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด เมื่อถึงเวลาเดินทางกลับทหารทุกนายต้องกลับ เหลือเพียงความทรงจำไม่มีวันลบเลือนจากจิตใจ

กลับสู่เนื้อหานิราศเกาหลีกันต่อ ปี 2480 กองทัพเรือไทยสั่งต่อเรือลำเลียงพลจำนวน 2 ลำจากอู่ฮาริมา เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่นในวงเงิน 677,000 บาท เรือหลวงสีชังมีระวางขับน้ำ 1,374 ตัน ยาว 58.5 เมตร กว้าง 9.3 เมตร ความเร็วสูงสุด 12.8 นอต ระยะทำการไกลสุด 2,051 ไมล์ทะเล  ติดปืนใหญ่ลำกล้องสั้น 76/25 มม.จำนวน 2 กระบอกไว้ป้องกันตัว

วันที่ 16 ตุลาคม 2493 เรือหลวงสีชังได้รับภารกิจเข้าร่วมสงครามเกาหลี ทำหน้าที่ลำเลียงทหารกรมผสมที่ 21 หน่วยทหารไทย และหน่วยพยาบาลจากสภากาชาดไทย รวมทั้งเป็นเรือลำเลียงหน่วยทหารไทยประจำเกาหลีและญี่ปุ่น ก่อนเดินทางกลับสู่ประเทศวันที่ 21 สิงหาคม 2494 เรือในภาพถ่ายติดปืนกล Bofors 40/60 มม.จำนวน 2 กระบอก กับปืนกลเมดเสน 20 มม.เหนือสะพานเดินเรืออีก 1 กระบอก ยังไม่มีเรดาร์เดินเรือน่าจะใกล้เคียงตอนไปเกาหลี

ระหว่างสงครามเรือส่วนใหญ่ใช้อาวุธมาตรฐานอเมริกา เพื่อความสะดวกในการใช้งานกระสุนปืน แต่ผู้เขียนเดาว่าเรือหลวงสีชังยังไม่ได้ติดปืนกล 40 มม. หนึ่งเพราะทำภารกิจในพื้นที่ปลอดภัยเพียง 7 เดือน สองปืนกล 20 มม.ไม่ได้เปลี่ยนเป็น Oerlikon รุ่นยอดนิยม (กระสุนปืนกลเมดเสนใช้ขนาด 20x120 เหมือนเยอรมัน แต่ปืนกล Oerlikon ใช้ขนาด 20x110 เหมือนอเมริกา) เพราะฉะนั้นเราน่าจะติดปืนกล 40 มม.เอาเองภายหลัง เพราะฉะนั้นอีกทีเรือหลวงสีชังไม่ได้ใช้ปืนกล Bofors 40/60 มม.ลำแรกของไทย เรือลำแรกควรเป็นเรือฟริเกตตรวจการณ์ชั้น Tacoma จากอเมริกา หรือเรือหลวงประแสกับเรือหลวงท่าจีน

บทความเรื่องตามรอยนิราศเกาหลีคนเขียนสนุกมาก แต่เนื้อหาค่อนข้างยาวไม่สามารถจบในตอน ผู้เขียนจำเป็นต้องขอตัดจบแต่เพียงเท่านี้ โดยที่ยังไม่ได้เอ่ยถึงเรือรบแม้แต่ลำเดียว ก็ดีนะครับไม่ค่อยมีบทความเขียนถึงเรือช่วยรบสักเท่าไร ตอนถัดไปซึ่งเป็นตอนจบมาแน่นอนไม่เกินสองอาทิตย์ วันนี้ต้องอำลากันไปก่อนสวัสดีครับ ^_^

                                     -------------------------------

อ้างอิงจาก

หนังสืออ่านนอกเวลาเรื่องนิราศเกาหลี (ฉบับนักเรียน)

https://www.navsource.org/archives/12/08022.htm

http://chantrabook.com

https://www.flickr.com/photos/kellynigro/42240042912

https://www.nhk.or.jp/archives/shogenarchives/

http://thaiseafarer.com/museum/lsm731.php

http://jpnships.g.dgdg.jp/senreki02/003559.htm

http://topicstock.pantip.com/wahkor/topicstock/2009/04/X7700876/X7700876.html

http://www.navsource.org/archives/09/22/22149.htm

http://thaifighterclub.com


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น