วันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

The Lost Ship: Great Britain

เรือส่งออกที่โลกลืม: ตอนสิงโตคำราม

กาลครั้งหนึ่งเรือรบส่งออกจากประเทศอังกฤษ ถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญสร้างรายได้ให้กับประเทศ ในแต่ละปีมียอดสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก หลายประเทศเจาะจงซื้อแต่เรืออังกฤษ เป็นลูกค้าหน้าเดิมผู้มีความจงรักภักดีไม่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะแคนาดากับออสเตรเลียซึ่งเป็นประเทศใหญ่ในเครือจักรภพ เนเธอร์แลนด์ยังเคยซื้อเรือฟริเกตชั้น Type 12 ถึง 6 ลำ (สร้างเองในประเทศ) หรืออย่างอินเดียกับชิลีก็มีคำสั่งซื้อเป็นระยะๆ บริษัทน้อยใหญ่พลอยมีผลกำไรไปแบ่งสันปันส่วน

ครั้นวันเวลาล่วงเลยเข้าสู่ยุค 80 เนเธอร์แลนด์ทั้งออกแบบและสร้างเรือรบด้วยตัวเอง รวมทั้งส่งออกได้ด้วยกลายมาเป็นคู่แข่งหน้าใหม่ ฝ่ายแคนาดาก็เริ่มสร้างเรือเองเช่นกัน ทั้งเรือพิฆาตอาวุธนำวิถีบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ได้ 4 ลำ และเรือฟริเกตอเนกประสงค์ใช้ระบบแท่นยิงแนวดิ่ง  ส่วนออสเตรเลียยังคิดปันใจจากอดีตคนรักเก่า ด้วยการจัดหาเรือฟริเกตจากอเมริกาและเยอรมันมาใช้งานรวมกัน 14 ลำ ส่งผลกระทบอย่างหนักกับอุตสาหกรรมต่อเรือของอังกฤษ

บทความนี้พูดถึงเรือส่งออกจากเมืองผู้ดี ช่วงเวลาตั้งแต่ปี 1990 ถึง 2020 หรือ 30 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนอยากนับเฉพาะเรือรบติดอาวุธครบ 3 มิติ แต่ทำแบบนั้นบทความนี้คงสั้นที่สุดเท่าที่เคยเขียน ฉะนั้นจึงเพิ่มเรือติดอาวุธ 2 มิติกับเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งเข้ามาด้วย จะได้สมน้ำสมเนื้อประเทศใหญ่มีประวัติยาวนาน ส่วนชื่อตอนที่ใช้คำว่า Great Britain นั้น เพราะมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสก๊อตแลนด์อยู่ด้วยนั่นเอง สิงโตยังคำรามเสียงดังหรือไม่แล้วเราจะได้รู้กัน

สิงโตคำรามเป็นตอนที่สองของซีรีส์ เรือส่งออกที่โลกลืม สามารถอ่านตอนก่อนหน้านี้ได้จากที่นี่ครับ

The Lost Ship: New Rookie

เรือลำแรกเป็นแบบเรือจากบริษัท Yarrow ซึ่งเป็นอู่ต่อเรือชื่อเสียงโด่งดังมีอายุยาวนานมาก คนส่วนใหญ่ล้วนคุ้นเคยบริษัทนี้เป็นอย่างดี รวมทั้งเพื่อนพี่น้องในแวดวงการทหารไทยแลนด์ เนื่องจากที่นี่เป็นอู่ต่อเรือชั้นเรือหลวงมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นเรือฟริเกตติดจรวดต่อสู้อากาศยานลำแรกของประเทศ ทุกวันนี้ยังประจำการอยู่แม้อายุ 47 ปีเต็มเมื่อสองวันที่แล้ว

ในปี 1995 บรูไนสั่งซื้อเรือคอร์เวตรุ่นส่งออกจำนวน 3 ลำ จากบริษัท GEC-Marconi ซึ่งได้ซื้อบริษัท Yarrow มาควบรวม รัฐบาลอังกฤษอนุมัติสัญญาในปี 1998 เรือสามลำถูกสร้างและทดสอบก่อนส่งมอบในปี 2003 ตามแผนจะเข้าประจำการในปีถัดไป ให้บังเอิญรัฐบาลบรูไนปฏิเสธที่จะรับเรือ ด้วยเหตุผลหลายประการทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผย อาทิเช่นเรือไม่เสร็จสมบรูณ์ตามสัญญา หรือกองทัพเรือบรูไนไม่มีความพร้อมใช้เรือทันสมัย มีการฟ้องร้องคดีความก่อนได้ข้อสรุปในปี 2007 ว่า บรูไนเป็นฝ่ายแพ้ต้องจ่ายเงิน 600 ล้านปอนด์แล้วรับเรือทั้ง 3 ลำไปครอบครอง

ถึงแพ้คดีแต่ชีวิตต้องเดินหน้าต่อ กองทัพเรือบรูไนซื้อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งยาว 80 เมตรบริษัท Lurssen ประเทศเยอรมันมาใช้งานจำนวน 3+1 ลำ ติดปืนใหญ่ 57 มม.ปืนกล 20 มม.และจรวดต่อสู้เรือรบ MM40 Exocet มี (ขอเรียกว่า) อู่ลอยปล่อยเรือเล็กยาว 11 เมตรท้ายเรือได้ แล้วให้บริษัทนี้แหละช่วยขายเรือที่ตัวเองไม่ต้องการ เรือถูกจอดทิ้งไว้ในอังกฤษให้เพรียงเกาะเล่นสักพักใหญ่ๆ กระทั่งเดือนพฤศจิกายน 2012 กองทัพเรืออินโดนีเซียตกลงขอเป็นเจ้าของ


ภาพถ่ายเรือที่อินโดนีเซียได้ไปในราคามิตรภาพ จอดอยู่ที่ Barrow-in-Furness ประเทศอังกฤษหลังจากตัวเองได้เป็นเจ้าของ เห็นกันจะๆ ว่าไม่มีปืนใหญ่ติดที่หัวเรือ รวมทั้งยังไม่มีจรวดต่อสู้อากาศยาน ส่วนจะขาดอะไรอีกนั้นผู้เขียนไม่มีข้อมูลในมือ แต่ระบบเรดาร์ ระบบสื่อสาร ระบบอำนายการรบพวกนี้ติดตั้งแล้ว อินโดนีเซียซึ่งต่อราคาเรือจาก 600 ล้านเหรียญมาอยู่ที่ 380 ล้านเหรียญ ไม่แน่ใจว่าต้องจ่ายเงินซื้อปืนใหญ่หัวเรือด้วยหรือไม่

วันที่ 14 กรกฎาคม 2014 เรือ 3 ลำเข้าประจำการกองทัพเรืออินโดนีเซีย ประกอบไปด้วย KRI Bung Tomo หมายเลข 357 KRI John Lie หมายเลข  358 และ 359 KRI Usman-Harun หมายเลข 359 เรือคอร์เวตชั้นนี้ใช้แบบเรือ F2000  ของบริษัท Yarrow ระวางขับน้ำปรกติ 1,500 ตัน ระวางขับน้ำเต็มที่ 2,000 ตัน ยาว 95 เมตร กว้าง 12.8 เมตร กินน้ำลึก 3.6 เมตรไม่รวมโดมโซนาร์ ติดปืนใหญ่ 76/62 มม.1 กระบอก ปืนกล 30 มม.DS-30B อีก 2 กระบอก จรวดต่อสู้เรือรบ MM40 Exocet 8นัด ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ 6 นัด และจรวดต่อสู้เรือรบ VL-Sea Wolf อีก 16 นัด แต่จรวดไม่มาตามนัดเพราะไม่มีสินค้าขายแล้ว มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ขนาด 10 ตันแต่ไม่มีโรงเก็บ มีปล่องระบายความร้อนขนาดใหญ่สไตล์อังกฤษที่แท้จริง


แบบเรือ F2000 ติดอาวุธครบ 3 มิติมาแต่กำเนิด ถือเป็นเรือคอร์เวตเอนกประสงค์ก็จริง แต่ผู้เขียนให้น้ำหนักเรื่องป้องกันภัยทางอากาศไว้สูงสุด เพราะมีจรวดต่อสู้อากาศยานถึง 16 นัด และมีเรดาร์ควบคุมจรวดถึง 2 ตัว โดยมีออปทรอนิกส์ควบคุมปืนแยกต่างหากออกไป อย่าลืมนะครับว่าบรูไนสั่งซื้อเรือในปี 1995 ยุคนั้นเรือชั้นเพอรรี่ใหญ่ 4,000 ตันมีเรดาร์ควบคุมจรวดแค่ตัวเดียว เรือลำเล็กแค่นี้ติดอาวุธขนาดนี้ถือว่าโหดพอสมควร เพียงแต่ว่าระบบเรดาร์ก็ดี ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ก็ดี ระบบสื่อสารหรือระบบอำนวยการรบก็ดี ล้วนทันสมัยบ้างล้าสมัยบ้างตามสไตล์เรือส่งออกเมืองผู้ดี

สมัยก่อนเรือส่งออกของอังกฤษส่วนใหญ่ ใช้เรดาร์ประสิทธิภาพต่ำกว่าเรือราชนาวีตัวเอง หลายประเทศจึงหนีมาใช้เรดาร์ยุโรปอาทิเช่นประเทศไทย แต่บรูไนซึ่งไม่มีความชำนิชำนาญเรื่องพวกนี้ พวกเขาได้ของดีบ้างของตกยุคบ้างทั้งๆ ที่เรือแพงเลือดสาด อีกประการก็คือรัฐบาลอังกฤษใช้เวลาอนุมัตินานมาก จนรัฐบาลบรูไนงอนตุ๊บป่องเกิดคดีฟ้องร้องในที่สุด

เรือลำแรกเนื้อหาค่อนข้างเยอะพอสมควร เรือลำถัดไปรับรองว่ายาวกว่าเดิมแน่นอน ผู้เขียนขอพาทุกคนล่องใต้มาดินแดนเสือเหลือง หนึ่งในดินแดนปกครองของอังกฤษเหมือนกับบรูไน ในปี 1992 มาเลเซียสั่งซื้อเรือฟริเกตชั้น F2000 จาก Yarrow จำนวน 2 ลำ (ก่อนบรูไน 3 ปี) สืบราคาที่ได้ 600 ล้านเหรียญรวมอะไหล่ การบริการ และการฝึกอบรมต่างๆ เรือถูกสร้างในเมือง Glasgow ของสก๊อตแลนด์ (ที่เดียวกับเรือบรูไน) ปล่อยลงน้ำปี 1994 แต่เข้าประจำการปี 1999 ถือว่าช้ามาก รวมทั้งมีปัญหาระหว่างสร้างเรือโดยเฉพาะระบบอำนวยการรบ เรามาชมภาพเรือกันก่อนดีกว่าครับ


ใช้แบบเรือ F2000 เหมือนกันแต่รายละเอียดต่างกัน เรือฟริเกตชั้น Lekiu ของมาเลเซียระวางขับน้ำสูงสุด 2,300 ตัน ยาวเพิ่มขึ้นเป็น 106 เมตร ความกว้างเท่าเดิม กินน้ำลึกเท่าเดิม ปืนใหญ่ 57 มม.แยกต่างหากจากแท่นยิงแนวดิ่ง ใต้สะพานเดินเรือสร้าง Superstructure ลงมาชนตัวเรือดูสวยและทันสมัยมากขึ้น กลางเรือมีจุดติดเรดาร์ตรวจการณ์ระยะกลาง Thales DA-08 ใช้ปล่องระบายความร้อนขนาดเล็กลง เรือยางท้องแข็งย้ายมาอยู่ข้างปล่องควัน และมีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์เพิ่มเข้ามา

มาเลเซียสั่งซื้อเรือก่อนบรูไนหลายปีก็จริง แต่เป็นรุ่นปรับปรุงใหม่ให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น ติดเรดาร์จากยุโรปใช้ระบบอำนวยการรบอังกฤษ ถือว่าทีมงานคัดสรรแบบเรือทำงานได้ดีพอสมควร อยากให้สังเกตเสากระโดงหลักขอเรือลำนี้ จะเห็นจุดระบายความร้อนจุดที่สองทาสีดำติดอยู่หลังเสา ตรงนี้เป็นดีไซน์เฉพาะตัวของเรือประเทศอังกฤษ เสากระโดงฝั่งนี้ต้องทำสีดำเพื่ออำพรางคราบเขม่าควัน รวมทั้งเสาระบบสื่อสารต้องทาสีดำไปด้วย

ดีไซน์นี้สามารถพบเห็นในเรือฟริเกตชั้น Type 22 เรือฟริเกตชั้น Type 23 เรือพิฆาตชั้น Type 45 ซึ่งไม่มีจุดระบายความร้อนแต่ยังแอบเนียนทาสีดำ นัยว่าป้องกันคราบเขม่าจากปล่องระบายความร้อน รวมทั้งแบบเรือฟริเกต Leander ของ BAE ผู้พ่ายแพ้ในโครงการเรือฟริเกต Type-31e มีจุดระบายความร้อนเล็กๆ หลังเสากระโดงหลักเช่นกัน

เรือฟริเกตชั้น Lekiu ถือเป็นเรือรบที่ดีที่สุดของมาเลเซีย จนกว่าโครงการเรือ LCS ของตัวเองจะเสร็จสมบรูณ์ ปัจจุบันเข้าประจำการถึง 21 ปีเข้าไปแล้ว ถ้านับรวมตั้งแต่สร้างเสร็จก็ 25 ปีพอดี มาเลเซียจึงตั้งโครงการปรับปรุงใหญ่อันประกอบไปด้วย ระบบอำนวยการรบ ระบบดาต้าลิงก์ ระบบพิสูจน์ฝ่าย รวมทั้งระบบเรดาร์ควบคุมการยิง แล้วให้บริษัท Marine Crest Technology หรือ MCT ประเทศตัวเองเป็นผู้ดูแล หลังจากเคยปรับปรุงเล็กไปครั้งหนึ่งแล้วระหว่างปี 2015


ต่อมาในงานแสดงการบิน LIMA 2019 ที่เกาะลังกาวี มีการเปิดเผยโครงการปรับปรุงระบบอำนวยการรบ โดยเปลี่ยนจากระบบ Nautis F หรือ Nautis II เหมือนเรือคอร์เวตอินโดนีเซีย มาเป็นระบบ Vibrant 01 ที่ MCT พัฒนาร่วมกับบริษัท T7 Global Bhd ประเทศตัวเอง ตามข่าวก็คือใช้ระบบทัชสกรีนแทนที่ปุ่มกด ทันสมัยเทียบเท่าของยุโรปรุ่นใหม่ราคาแพง อาจพูดได้ว่านี่คือระบบอำนวยการรบของมาเลเซีย โชคร้ายที่ระบบนี้ไม่ถูกใช้งานบนเรือรบสำคัญ เพราะเรือ LCS ชั้น Gowind ใช้ระบบอำนวยการรบฝรั่งเศส มีพิธีปล่อยเรือลงน้ำลำแรกไปแล้วเมื่อ 2 ปีก่อน ปัจจุบันไม่ทราบจริงๆ ว่าโครงการไปถึงไหนแล้ว

ปัจจุบันเรือฟริเกตชั้น Lekiu เป็นเรือแบบเดียวที่ใช้จรวด VL-Sea Wolf เนื่องจากเรือฟริเกตชั้น Type 23 ของอังกฤษเปลี่ยนมาใช้จรวดต่อสู้อากาศยาน Sea Ceptor ส่วนชิลีกำลังปรับปรุงเรือเรือชั้น Type 23 ของตัวเองให้ใช้จรวด Sea Ceptor เช่นกัน รวมทั้งลูกจรวด Sea Wolf ไม่ได้ผลิตมานานมากแล้ว มาเลเซียคงไม่แคล้วตามลายแทงเพื่อนๆ แน่นอน ถ้าไม่บังเอิญเรือ LCS ใช้จรวดต่อสู้อากาศยาน VL MICA ทีนี้ถ้าเขาเลือก Sea Ceptor ซึ่งทุกอย่างใกล้เคียงกันมาก จะเป็นการสร้างภาระให้ลูกหลานในอนาคตหรือเปล่า? ต้องตามดูกันต่อไปในอนาคตไม่กี่ปีนี้แหละ

กลับมาที่แบบเรือฟริเกต F2000 อีกครั้ง ระหว่างปี 2006 มีข่าวโครงการ Jebat Batch 2 ดังกระหึ่มขึ้นมาในมาเลเซีย ใจความก็คือกองทัพเรือจะสั่งซื้อเรือฟริเกตจำนวน 2 ลำ วงเงิน 6 พันล้านริงกิตหรือเท่ากับ 4.5 หมื่นล้านบาท โดยโครงการนี้อยู่ในแผนปรับปรุงใหญ่กองทัพชื่อ The 10th Malaysia Plan อีกที และนี่ก็คือภาพโมเดลเรือในงานแสดงเครื่องบินฟานโบโรห์ 2006 กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ การซื้อเรือ 2 ลำนี้ฝั่งอังกฤษใช้ชื่อว่า Project Brave ช่างน่าปวดหัวดีแท้


รูปร่างหน้าตาเหมือนเรือฟริเกตชั้น Lekiu นั่นแหละครับ แต่เปลี่ยนมาใช้เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Smart-S MK2 ใช้เรดาร์ควบคุมการยิง STIR 1.2 จำนวน 2 ตัว ใช้แท่นยิงแนวดิ่ง MK-56 สำหรับจรวดต่อสู้อากาศยาน ESSM จำนวน 12 นัด และ VL-Sea Wolf  อีก 12 นัด (คอมโบเซ็ตมาเองวุ้ย) ถ้าเป็นเรือเดนมาร์คจะตั้งแท่นยิงบนดาดฟ้าเรือเป็นส่วนใหญ่ แต่เรือยูเออีกับเรือเม็กซิโกใช้วิธีฝังใต้ดาดฟ้าเรือทั้งหมด ที่เลือกแท่นยิง MK-56 เพราะมาเลเซียมีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิต พวกเขาต้องการใส่จรวด ESSM บนเรือ LCS ด้วยแต่สุดท้ายก็บัวแล้งน้ำ หนีจากเรืออังกฤษไปหาเรือฝรั่งเศสก็ได้เท่านี้แหละ

มาดูแบบเรือลำใหม่กันต่ออีกหน่อย เรดาร์ตรวจการณ์ DA-08 หายไปเพราะตกรุ่นแล้ว เสากระโดงหลังย้ายมาตั้งที่เดียวกับเรืออินโดนีเซีย อาจมีโซนาร์ลากท้ายตัวไม่ใหญ่นักใส่เข้ามาด้วย โดยเรือทั้งสองลำจะสร้างขึ้นเองภายในประเทศ ข่าวนี้โด่งดังในแวดวงการทหารแดนเสือเหลืองร่วม 2 ปี ก่อนซาลงไปในที่สุดเมื่อไม่มีการเซ็นสัญญา ผู้เขียนนึกถึงโครงการติดตั้งระบบ Sadral บนเรือหลวงนเรศวรขึ้นมาทันที อุตส่าห์สั่งซื้อเป็นข่าวโด่งดังทั่วโลกแต่ทำไมของไม่มา

แบบเรือ F2000 มีการสร้างจริงจำนวน 5 ลำ ประจำการประเทศเพื่อนบ้านของเรานี่เอง แต่ Yarrow ยังมีแบบเรือทันสมัยกว่าและใหญ่กว่า ย้อนเวลากลับไปในปี 1994 เมื่อสหประชาชาติมีมติยกเลิกการคว่ำบาตร ราชนาวีแอฟริกาใต้เริ่มเดินหน้าโครงการเรือคอร์เวตรุ่นใหม่ทันที ภายใต้ชื่อโครงการ Porject Sitron พวกเขาต้องการเรือรบขนาด 2,500 ตันจำนวน 4 ลำ ใช้เครื่องยนต์ CODAG ทำความเร็วสูงสุด 27 นอต โดยเรือต้องติดเรดาร์และอาวุธต่างๆ ตามความต้องการ

โครงการนี้มีผู้เข้าร่วม 6 ประเทศรวมกันมากถึง 14 แบบเรือ และถูกตัดสิทธิ์ตกรอบแรกไปก่อนจำนวนมาก เนื่องจากพ่อคุณใส่เครื่องยนต์ CODAD บ้าง CADOG บ้าง หรืออย่างแคนาดาส่งเรือตรวจการณ์ยาว 55 เมตรกับ 75 เมตรเข้าร่วมชิงชัย ลำไหนคุณสมบัติไม่ตรงแอฟริกาใต้ตัดทิ้งไม่มีเกรงใจ โครงการนี้เองอังกฤษส่งแบบเรือ F3000 มาเป็นผู้ท้าชิง


ภาพนี้คือภาพเพียงใบเดียวของเรือ F3000 เวอร์ชันปี 1994 ระวางขับน้ำเต็มที่ 3,000 ตัน ยาวประมาณ 109 เมตร หัวเรือติดปืนใหญ่ 76 มม.จำนวน 2 กระบอก สะพานเดินเรือทรงเดียวกับเรือมาเลเซียและอินโดนีเซีย เสากระโดงหลักมีจุดระบายความร้อนแต่ไม่ได้ทาสีดำ ปล่องระบายความร้อนทรงเหลี่ยมขนาดใหญ่เอกลักษณ์ประจำตัว ล้อมกรอบด้วยจรวดต่อสู้เรือรบ Skerpioen หรือจรวด Gabriel Mk 2 แอฟริกาใต้ผลิตเองจำนวน 8 นัด หลังคาโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ติดปืนกล Denel ขนาด 35 มม.ลำกล้องคู่ 1 แท่นยิง โดยเป็นรุ่นต้นแบบที่ไม่มีการผลิตออกมาใช้งานจริง

ตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำสร้างเป็นห้องข้างโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ ติดระบบเป้าลวง Super Barricade ได้ 2 ถึง 4 ระบบ มีเรดาร์ควบคุมการยิง Reutech RTS 6400 สำหรับคุมจรวด Skerpioen อยู่ 1 ตัว ออปทรอนิกส์สำหรับคุมปืนเรือ Reutech อีก 2 ตัว อุปกรณ์ต่างๆ จาก Reutech แอฟริกาใต้พัฒนาขึ้นมาเอง ประเทศนี้มีของดีของเด็ดโดนใจเยอะพอสมควร


ภาพถัดไปคือภาพวาดเปรียบเทียบระหว่างเรือฟริเกต F3000 คุณ Superboy วาดในปี 2015 กับเรือฟริเกต F2000 คุณ Hood ชาวอังกฤษวาดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ขนาดใหญ่กว่ากันแต่มีดีเอ็นเอเหมือนกันมาก นี่คือแบบเรืออังกฤษแท้ๆ ติดอาวุธครบ 3 มิติจากยุค 80 ตอนปลาย (บางทีอาจจะเป็นตอนต้น) ถึงตอนนี้ผู้อ่านอาจมีคำถามในใจว่า แอฟริกาใต้ติดปืนใหญ่ 76 มม.ตั้ง 2 กระบอกเพื่ออะไร? ทำไมไม่ติดจรวดต่อสู้อากาศยานเหมือนเรือบรูไน? ผู้เขียนมีคำตอบให้เลือกประกอบไปด้วย

1.ในเมื่อรัฐบาลไม่ให้งบประมาณติดจรวดต่อสู้อากาศยาน กองทัพเรือจึงขอปืนใหญ่กระบอกสองเสียเลย (เอาสิ!) ข้อดีก็คือสามารถยิงปืนทั้ง 3 กระบอกได้ 3 ทิศทาง เนื่องจากมีอุปกรณ์ความคุมปืนถึง 3 ระบบบนเรือ สู้จรวดต่อสู้อากาศยานแท้ๆ ไม่ได้ก็จริง แต่ย่อมดีกว่ามีปืนแค่ 2 กระบอกไว้คุ้มหัว จะว่าไปก็ดีเหมือนกันเนื่องจากกระสุนถูกกว่าจรวด

2.ติดปืนใหญ่สำหรับภารกิจเอนกประสงค์ไปก่อน เมื่อจรวดต่อสู้อากาศยานที่ตนเองพัฒนาสำเร็จเมื่อไหร่ ค่อยถอดปืนใหญ่กระบอกสองออกแล้วใส่จรวดเข้าไปแทน อย่างที่ทุกคนรู้ว่าแอฟริกาใต้มีจรวดต่อสู้อากาศยาน Umkhonto ซึ่งสามารถขายต่างชาติได้แล้วด้วย แต่ที่อาจลืมไปก็คือจรวดเริ่มทดสอบครั้งแรกในปี 2005 กว่าจะพร้อมเข้าประจำการจริงก็อีกหลายปี ส่วนโครงการที่อังกฤษเข้าร่วมชิงชัยตั้งแต่ปี 1994 ฉะนั้นแผนใส่ปืนใหญ่ไว้ก่อนเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ไม่เลว

3.ใส่เพื่อให้โดนตัดออกจากโครงการ อย่างที่รู้กันนะครับว่าทุกๆ โครงการงบบานปลาย จะด้วยความล่าช้าหรือรัฐบาลเกิดถังแตกโดยไม่รู้ตัวก็ตาม กองทัพเรือแอฟริกาใต้จึงใส่ปืนใหญ่กระบอกสองไว้กันเหนียว มีความจำเป็นต้องหั่นงบสามารถตัดได้ทันที รอจรวดต่อสู้อากาศยานพร้อมใช้งานค่อยเสียเงินใหม่ ทำงานใหญ่ต้องฉลาดแกมโกงหาไม่แล้วจะเป็นแบบบรูไน

 แบบเรือ F3000 เข้ารอบชิงคู่กับแบบเรือ F590A จากสเปน และผลการตัดสินปลายปี 1994 เรือสเปนเป็นผู้ชนะเลิศ บังเอิญโชคร้ายปีถัดไปโครงการนี้โดนดองเค็ม ก่อนมาเริ่มต้นใหม่ในเดือนกันยายนปี 1997 โน่น คราวนี้อยู่ภายในโครงการใหญ่ชื่อ The Strategic Defence Package มีการกำหนดคุณสมบัติเรือไว้สูงกว่าเดิม โดยให้มีระวางขับน้ำ 3,000 ตันขึ้นไป ติดแท่นยิงแนวดิ่งได้มากสุดถึง 32 ท่อยิง ใช้ปืนกล Denel ขนาด 35 มม.ซึ่งทันสมัยมากกว่าเดิม จนใกล้เคียงระบบป้องกันตนเองระยะประชิดหรือ CIWS เท่ากับว่ากองทัพเรือแอฟริกาใต้ถูกรางวัลที่หนึ่งเข้าให้แล้ว

Porject Sitron เริ่มต้นชิงชัยกลางปี 1998 แบบเรือที่อังกฤษส่งเข้าร่วมชิงชัยในโครงการคือภาพใบนี้


ตัดมาจากเอกสารคณะกรรมการคัดเลือกแบบเรือ ในโครงการใช้ชื่อว่าบริษัท GEC Marine และใช้แบบเรือ F3000 Patrol Corvette ที่ผ่านการปรับปรุงจนจำหน้ากันเกือบไม่ได้ เรือลำนี้มีระวางขับน้ำ 3,380 ตัน ยาว 119.5 เมตร กว้าง 15 เมตร ความเร็วสูงสุด 28 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 9,060 ไมล์ทะเล เทียบกับเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ระวางขับน้ำเต็มที่ 3,640 ตัน ยาว 124.1 เมตร กว้าง 14.4 เมตร ความเร็วสูงสุด 30 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 4,000 ไมล์ทะเล เรือเขาวิ่งไกลกว่าเรือเราถึง 2.265 เท่า ทั้งๆ ที่ใช้เครื่องยนต์ CODAG เหมือนกันไม่น่าเชื่อ หรือว่าเรือเราหนักสะพานเดินเรือซึ่งสูงลิบลิ่ว?

จากภาพถ่ายเอกสารเน่าๆ ใบนี้เอง ผู้เขียนนำมาวาดเป็นภาพเรือสไตล์ Shipbuckket ได้ดังนี้


ตัวเรือรูปทรงแหลมและยาวตามสไตล์เรือรุ่นเก่า แม้มีความกว้างถึง 15 เมตรซึ่งกว้างกว่าแบบเรือ DW3000F แต่เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งทุกรายจะดูตกรุ่นที่สุด หัวเรือถูกยกสูงกว่าเดิมอย่างชัดเจน จุดผูกเชือกอยู่ใต้ดาดฟ้าเรือตามสไตล์เรือ Full Stealth สร้างแผ่นเหล็กกันตกรูปทรงแหลมขึ้นพุ่งมาชนแท่นยิงแนวดิ่ง ประหลาดดีแท้เห็นมีบนเรือไล่ล่าทุ่นระเบิดของอังกฤษอีกลำ สะพานเดินเรือรูปทรงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง จุดระบายความร้อนหลังเสากระโดงก็เช่นกัน จุดวางแท่นยิงจรวดต่อสู้เรือรบเจาะดาดฟ้าเรือลงไปหนึ่งชั้นครึ่ง ช่วยลดการตรวจจับด้วยเรดาร์ได้ดีในระดับหนึ่ง

มีเสากระโดงอันที่สองโผล่ขึ้นมากลางลำ ใช้เป็นจุดติดตั้งระบบสงครามอีเล็กทรอนิกส์ ขนาบสองข้างด้วยเรือยางท้องแข็งขนาดมาตรฐาน มีแท่นยิงระบบเป้าลวงตัวที่ 3 และ 4 อยู่ถัดกันไป ท้ายเรือถูกตัดเฉียงลงรวมทั้งเตี้ยลงเหมือนเรือ F2000 (เหมือนเรือหลวงกระบี่ด้วย) ปืนกล 35 มม.เปลี่ยนเป็นรุ่นใหม่ซึ่งผลิตออกมาใช้งานจริง เรืออังกฤษลำนี้รูปทรงแปลกประหลาดมากที่สุด ผู้เขียนเห็นครั้งแรกพลันอุทานคำว่า ‘I Ask Real!’ ทำไมไม่ทำโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ให้เต็มไปเลย ราคาสร้างเรือไม่น่าแพงกว่าเดิมสักเท่าไร (คู่แข่งอีก 4 รายยังทำได้เลยคุณ) ขาดๆ เกินๆ ราวกับรถกระบะสองตอนหาใช่รถตรวจการณ์

แบบเรือรองรับจรวดต่อสู้อากาศยาน Umkhonto ใส่เรดาร์ควบคุมการยิง Reutech RTS 6400 มาด้วยหนึ่งตัว ช่วยในการตรวจจับเป้าหมายคู่กับเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ ยิงออกไปแล้วให้ระบบอินฟาเรดในหัวจรวดค้นหาเป้าหมาย หรือที่เราคุ้นเคยกันดีว่า ‘Locked on after lunch’ นั่นเอง ด้วยวิธีนี้ทำให้จรวดนำวิถีอินฟาเรดใช้งานได้จริงบนเรือ ปัจจุบันมีจรวดแบบนี้ผลิตออกมาขายเกลื่อนโลก ขึ้นอยู่กับว่าสินค้าใครใช้งานจริงได้ดีกว่ากัน และสินค้าใครผ่านการทดสอบของจริงมากกว่ากัน

อย่าเชื่อเพียงเพราะว่าจรวด Locked on after lunch ได้ แต่โปรดดูผลการทดสอบว่าจรวด Locked on เป้าหมายอะไรได้ รวมทั้ง Locked on แล้วทำลายเป้าหมายทันหรือไม่ จรวด Umkhonto กำหนดให้ยิงจรวดต่อสู้เรือรบได้ด้วย อาจได้ประมาณ MM38 Exocet หรือ Harpoon รุ่นแรกจากยุค 80 ก็เพียงพอความต้องการของเขาแหละครับ ปัจจุบันแอฟริกาใต้มีจรวดรุ่นใหม่ยิงไกลกว่าเดิมแม่นยำกว่าเดิม อาจไม่เทียบเท่า ESSM หรือ Aster แต่ผลิตได้เองมันเจ๋งตรงนี้แหละ

Porject Sitron มีแบบเรือเข้ารอบสุดท้ายจำนวน 5 ลำด้วยกัน ประกอบไปด้วย

1.บริษัท GEC Marine จากอังกฤษส่งแบบเรือ F3000 Patrol Corvette

2.บริษัท German Frigate Consortium หรือ GFC จากเยอรมันส่งแบบเรือ Meko A200 SAN

3.บริษัท German Frigate Consortium หรือ GFC จากเยอรมันส่งแบบเรือ Meko 200 SAN

4.บริษัท E.N. Bazan จากสเปนส่งแบบเรือ F-590B

5. บริษัท DCN จากฝรั่งเศสส่งแบบเรือ Patrol Corvette

และผลการตัดสินในปี 1999 นั้นก็คือดูคะแนนจริงจากเอกสารจริงดีกว่าครับ


คะแนนประสิทธิภาพเรือแต่ละลำนั้น Meko A200  Meko 200 และ F-590B ห่างกันไม่มาก ส่วนพ่อพระเอก F3000 ชองเราหล่นไปอยู่ที่สี่ ปิดท้ายด้วยเรือฝรั่งเศสที่มางานนี้แบบล้มมวย ต่อกันด้วยราคาสร้างเรือที่นำเสนอเข้าสู่โครงการ จะเห็นได้ว่าอันดับหนึ่งกับห้าแตกต่างกันพอสมควร เรือสเปนราคาถูกที่สุดตามมาด้วยเรืออังกฤษ ซึ่งเสนอสร้างเรือรบระวางขับน้ำ 3,380 ตัน 4 ลำในราคา 966.3 ล้านเหรียญ หารสี่แล้วออกมาเท่ากับลำละ 241.5 ล้านเหรียญ ขณะที่เรือคอร์เวตบรูไนระวางขับน้ำ 2,000 ตัน มีราคาลำละ 200 ล้านปอนด์หรือ 323 ล้านเหรียญตามค่าเงินในยุคนั้น

เรือแอฟริกาใต้ลำใหญ่กว่าประสิทธิภาพก็ดีกว่า แต่ราคาถูกกว่าเรือบรูไนแบบพลิกประวัติศาสตร์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสัญญามีแค่เพียงตัวเรือ ระบบเรดาร์เดินเรือ ระบบสื่อสาร และอุปกรณ์ใช้งานทั่วไป ส่วนระบบอาวุธจะนำมาติดภายในประเทศ อารมณ์เดียวกับเรือหลวงนเรศวรนั่นแหละครับ ทำให้ตัวเรือมีราคาถูกลงอย่างชัดเจน นอกจากนี้เป็นเพราะการแข่งขันค่อนข้างเข้มข้น อังกฤษอยากได้ชัยชนะจึงตัดราคาสู้อย่างเต็มที่ บังเอิญคะแนนรวมมาเป็นอันดับสี่เมื่อคิดแบบตัวเลขเปรียบเทียบ ถ้าเรือสเปนซึ่งได้อันดับหนึ่งมี 100 คะแนน เรืออังกฤษอันดับสี่จะมีแค่เพียง 74.7 คะแนน

คณะกรรมการคัดเลือกแบบเรือให้เหตุผลสั้นๆ ง่ายๆ ซึ่งพอสรุปได้ใจความตามนี้ว่า

1.แบบเรือ Meko A200 มีประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนแบบเรือที่เหลือมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน

2.แบบเรือ F-590B และ Meko A200 รวมทั้ง Meko 200 มีความคุ้มค่าที่จะซื้อมาใช้งาน ส่วนแบบเรือ F3000 กับ Patrol Corvette นั้นไม่คุ้มค่าเงิน ตกรอบทันทีไม่มีการเจรจาเรื่องการซื้อขาย

ผลการตัดสินแบบเรือ Meko A200 SAN เป็นผู้ชนะเลิศ เนื่องมาจากแบบเรือ F-590B มีปัญหาเรื่องวิธีการชำระเงิน รวมทั้งกำหนดการส่งมอบเรือซึ่งล่าช้าเกินไป โครงการนี้เห็นได้อย่างชัดเจนนะครับว่า ถ้าคณะกรรมการคัดเลือกแบบเรือมีความแข็งแกร่ง จะสามารถคัดเลือกแบบเรือได้ตรงความต้องการมากที่สุด และสามารถเจรจาต่อรองจนได้สินค้าที่ดีที่สุดมาใช้งาน ราคาแพงขึ้นก็จริงแต่ได้เรือที่มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งแบบเรือ F3000 พ่ายแพ้แบบหมดสภาพกลับเกาะอังกฤษ

โครงการจัดหาเรือคอร์เวตกองทัพเรือแอฟริกาใต้ ผู้เขียนเคยเขียนบทความไว้นานแล้วอ่านได้จากตรงนี้

South African Corvette Program

จบจากโครงการนี้ไม่มีโครงการอื่นแล้ว ปีเดียวกันนั้นเอง GEC-Marconi กลายร่างมาเป็น BAE Systems Marines ก่อนไปรวมร่างกับอีกบริษัทเป็น BVT Surface Fleet แล้วกลับมาเป็น BAE Systems Surface Ships บริษัทลูกของ BAE ตราบจนถึงทุกวันนี้ หมายความว่าตั้งแต่ปี 1990 ถึง 2018 บริษัท Yarrow ซึ่งมีชื่อเสียงก้องโลกขายเรือรบได้แค่ 5 ลำ

ผู้เขียนมีคำถามให้ผู้อ่านร่วมสนุกว่า ในเมื่อเรือคอร์เวตบรูไนคือเรือรบติดอาวุธ 3 มิติลำสุดท้ายที่ Yarrow ขายออก ฉะนั้นเรือคอร์เวตบรูไนคือเรือรบติดอาวุธ  3 มิติลำสุดท้าย ที่อังกฤษขายออกนับถึงกลางปี 2018 ใช่หรือไม่?

นี่คือสถานการณ์สุดแสนรันทดใจในเมืองผู้ดี เรือส่งออกที่โลกลืมตอนต่อไปจะพาไปพบบริษัทใหญ่โต ในอดีตโด่งดังมากประเทศไทยเองก็เป็นลูกค้าเช่นกัน ไปดูสิว่าพวกเขาเจอปัญหาเหมือนกับ Yarrow ไหม ใจจริงอยากเขียนให้จบภายในตอนเดียว บังเอิญต้นฉบับ 8 หน้ากระดาษเอสี่กับ 8 บรรทัดเข้าไปแล้ว วันนี้ Superboy ขอลากันไปก่อนสวัสดีรอบวงครับ

                                     -------------------------------

อ้างอิงจาก

https://defence.pk/pdf/threads/bung-tomo-class-corvettes-indonesia.427341/

https://www.malaysiandefence.com/poll-results-jebat-batch-2-and-rm6-billion/

http://www.shipbucket.com/forums/viewtopic.php?f=12&p=194051&sid=dee3d1710e3fde658c2997363504b7ea#p194051

http://defense-studies.blogspot.com/2019/05/vibrant-01-new-cms-for-lekiu-class.html

https://en.wikipedia.org/wiki/Khareef-class_corvette

https://en.wikipedia.org/wiki/Lekiu-class_frigate

https://en.wikipedia.org/wiki/Bung_Tomo-class_corvette

http://www.shipbucket.com/forums/viewtopic.php?f=13&t=5899&hilit=south+africa+corvette

https://www.malaysiandefence.com/jebat-batch-2-mock-up/

 

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น