วันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

Offshore Patrol Vessel Programme

โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง

บทความเกี่ยวกับการสร้างเรือหลวงกระบี่ทั้งสามตอน มาจากบทความเขียนโดยเจ้าหน้าที่ของกองทัพเรือไทย ผู้เขียนนำมาเผยแพร่ต่อในช่วงเวลาที่เราลืมเลือนกันไปแล้ว เพื่อชี้แจงรายละเอียดต่างๆ ในการสร้างเรือขนาดสองพันตัน ว่ามีความยุ่งยาก วุ่นวาย ซับซ้อน ใช้เทคโนโลยีสูงกว่าเดิม และประสบปัญหาระหว่างก่อสร้างมากน้อยแค่ไหน ค่อนข้างยาวมากต้องใช้ความพยายามเยอะนิดหนึ่ง

แต่รายละเอียดพวกนี้คือหลักฐานชัดเจนช่วยย้ำเตือนว่า ในอนาคตหากประเทศไทยต้องการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำที่สาม หรืออาจจะเป็นเรือคอร์เวตขนาด 2,500 ตันขึ้นไป รวมทั้งเรือฟริเกตขนาด 3,500 ตันซึ่งเป็นสุดยอดปราถนานั้น เราต้องวางแผนให้ละเอียดรอบคอบมากกว่าเดิม และจัดเตรียมอุปกรณ์ทุกอย่างให้เรียบร้อยเสียก่อน มิฉะนั้นอาจประสบปัญหาเหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับเรือหลวงกระบี่ รวมทั้งเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ที่แม้เตรียมการดีขึ้นแล้วก็ตาม แต่การก่อสร้างยังคงล่าช้ากว่ากำหนดพอสมควร

ไม่ทราบเหมือนว่านอกจากเรือตรวจการณ์ยาวไม่ถึง 40 เมตร กองทัพเรือมีแผนการสร้างเรือในประเทศเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ผู้เขียนยอมรับว่าเดาไม่ออกและไม่อยากคาดเดา เอาเป็นว่าของมาเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้นแล้วกันเนอะ


 บทที่ 1: การสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง

กองแผนและประมาณการช่าง อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ

การสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง เป็นโครงการเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ 84 พรรษา ใน 5 ธันวาคม พ..2554 และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนากำลังรบตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ เพื่อรองรับ กับบทบาทและหน้าที่ของกองทัพเรือในด้านการปฏิบัติการทางทหารในการป้องกัน ประเทศ การรักษากฎหมาย และการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งมีขีดความสามารถในการ ลาดตระเวนตรวจการณ์รักษาฝั่ง ป้องกันการแทรกซึมทางทะเล คุ้มครองเรือประมง ป้องกันและ คุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล และการรักษากฎหมายในทะเล ตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ทั้งนี้ขอบเขตของโครงการเป็นการจัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง จำนวน 1 ลำ ในวงเงินรวม 2,871 ล้านบาท ระยะเวลาการดำเนินการ 4 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2551 ถึง 2555

ในการนี้ กองทัพเรืออนุมัติให้กรมอู่ทหารเรือเป็นหน่วยสร้างเรือและกำหนดให้ใช้ พื้นที่ของ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ เป็นสถานที่สร้างเรือ อันเป็นการดำเนินการตามแนว พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงและการ พึ่งพาตนเอง กับเป็นการพัฒนาขีดความสามารถของกรมอู่ทหารเรือ ในการสร้างเรือตรวจการณ์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ชุดเรือ ต.991 และนำไปสู่การพัฒนา และปรับปรุงในการสร้างเรือ ชุดเรือ ต.994 ในปัจจุบัน ซึ่งการดำเนินการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ณ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ จนถึงปัจจุบันมีความก้าวหน้าตามลำดับ และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาทรงประกอบพิธีวางกระดูกงูเรือตรวจการณ์ ไกลฝั่งเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา ณ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เมื่อวันจันทร์ ที่ 23 สิงหาคม พ..2553 และต่อมาได้พระราชทานชื่อเรือตรวจการณ์ ไกลฝั่ง ลำนี้ว่า เรือหลวงกระบี่ หมายเลข ประจำเรือ 551

คุณลักษณะของเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง

เรือหลวงกระบี่ มีคุณลักษณะทั่วไป สรุปได้ดังนี้คือ มีความยาวตลอดลำ 90.50 เมตร ความยาวที่แนวน้ำ 83.00 เมตร ความกว้าง 13.50 เมตร ระดับกินน้ำลึก 3.80 เมตร ระวาง ขับน้ำเต็มที่ 1,969 ตัน ความเร็วสูงสุด 23.00 นอต รัศมีทำการที่ความเร็ว 15 นอต 3,500 ไมล์ทะเล มีกำลังพลประจำเรือ 92 นาย รวมทั้งมีดาดฟ้าเฮลิคอปเตอร์ ที่สามารถรับเฮลิคอปเตอร์ ขนาด 7.00 ตัน ได้ 1 ลำ โดยที่ไม่มีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ในเรือ สามารถปฏิบัติการในทะเลเปิด ต่อเนื่อง ได้อย่างน้อย 15 วัน รวมทั้งตัวเรือมีความแข็งแรงที่จะสามารถทนทะเล ได้ถึง Sea State 5 (คลื่นมีความสูงประมาณ 2.5 – 4 เมตร )

มีระบบอาวุธประจำเรือ ประกอบด้วย ปืน 76 มิลลิเมตร แบบอัตโนมัติ รุ่น OTO Melara 76/62 จำนวน 1 กระบอก ติดตั้งบริเวณดาดฟ้าหลักด้านหัวเรือ และ ปืนกล 30 มิลลิเมตร แท่นเดี่ยว รุ่น Seahawk MSI DS-30M จำนวน 2 กระบอกติดตั้งบริเวณดาดฟ้ายกกราบเรือขวา ซ้าย กราบละ 1 กระบอก นอกจากนี้ยังติดตั้งระบบควบคุมบังคับบัญชาและตรวจการณ์ จำนวน 1 ระบบ ประกอบด้วย ระบบตรวจการณ์ CSS (VARIANT) ระบบควบคุมการยิง FCS ระบบอำนวยการรบ CMC ระบบรวมการสื่อสาร INS และระบบรวมการเดินเรือ ซึ่งจะทำให้เรือมีขีดความสามารถในการรบ ทั้ง 2 มิติ ในการตรวจจับเป้าผิวน้ำและเป้าอากาศ การพิสูจน์ทราบฝ่าย และการเล็งยิงที่มีความสามารถในการปฏิบัติงานในเวลากลางคืนได้ จึงสามารถโจมตีเป้าผิวน้ำและเป้าอากาศ รวมทั้งป้องกันตนเองจาก ภัยคุมคาม ในระยะใกล้ได้ตามขีดสมรรถนะของอาวุธประจำเรือ


แนวทางและความก้าวหน้าการสร้างเรือ

ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาการซื้อขายแบบรายละเอียดและพัสดุ รวมทั้งการบริการทางเทคนิคต่าง ๆ การสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง จะใช้แบบสร้างของบริษัท BVT Surface Fleet สหราชอาณาจักร โดยมีโปรแกรม Tribon มาช่วยในการสร้างเรือ เนื่องจากการสร้างเรือ เป็นกระบวนการที่ซับซ้อน เริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ การปรับปรุงแบบรายละเอียด และการผลิตเอกสารและข้อมูลที่เพียงพอสำหรับ การสร้าง เพื่อให้การบริหารจัดการการสร้างเรือโดยรวมมีความถูกต้อง ใช้เวลาน้อย ลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน และมีประสิทธิภาพตรงตามแบบ โปรแกรม Tribon จึงมีบทบาทอย่างมากในการช่วยในการออกแบบและสร้างเรือ

                โดยในแนวทางการสร้างเรือตามที่ระบุไว้ในกลยุทธ์การสร้างเรือ (Build Strategy) กำหนดให้แบ่งตัวเรือออกเป็นทั้งหมด 17 บล็อกใหญ่ และ 31 บล็อกย่อย เพื่อให้สอดคล้องกับ สิ่งอำนวยความสะดวกและพื้นที่ ๆ ใช้ในการสร้างเรือของอู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ ทั้งนี้เนื่องจากบล็อกตัวเรือในแต่ละบล็อกมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักค่อนข้าง มาก หากไม่แบ่งย่อยออกเป็นบล็อกเล็ก ๆ (Sub Block) จะทำให้ การเคลื่อนย้ายและยกบล็อกต่าง ๆ เป็นไปด้วยความลำบากและเพื่อให้สะดวกรวดเร็วในการ สร้างเรือ ซึ่งตามแผนหลักการสร้างเรือกำหนดให้ใช้พื้นที่บริเวณหัวอู่แห้งและพื้นที่ ลานสร้างเรือ เป็นพื้นที่ ๆ ใช้ในการสร้างและประกอบโครงสร้างรวมทั้งส่วนประกอบของตัวเรือในแต่ละบล็อก (Block Assembly) เมื่อการสร้างประกอบบล็อกตัวเรือแต่ละบล็อกแล้วเสร็จจะทยอยยกบล็อก ตัวเรือต่าง ๆ ลงมาเชื่อมประกอบเข้าด้วยกัน (Block Erection) ตามลำดับ ในอู่แห้งต่อไป

                

              ทั้งนี้ในระหว่างการสร้างประกอบบล็อกตัวเรือและการเชื่อมประกอบบล็อกตัวเรือ เข้าด้วยกันแล้ว งานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องก็ได้มีการดำเนินการในลักษณะคู่ขนานกัน เช่น งานส่วนประกอบตัวเรือทั้งภายในและภายนอก (Outfitting) งานของระบบกลจักร ระบบไฟฟ้า ระบบท่อทาง ระบบอิเล็กทรอนิกส์ งานระบบสรรพาวุธ ซึ่งในปัจจุบันงานในส่วนการสร้างประกอบบล็อกตัวเรือและการเชื่อมประกอบบล็อก ตัวเรือเข้าด้วยกันใกล้เสร็จเรียบร้อยแล้ว และงานการหาศูนย์และติดตั้งระบบเพลาใบจักร รวมทั้งระบบหางเสือก็ได้ดำเนินการจนสามารถติดตั้งได้ พร้อมที่จะ ดำเนินการพ่นทรายและทำสีตัวเรือทั้งภายในและภายนอก เพื่อเตรียมการปล่อยเรือออกจาก อู่แห้ง และประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำ ในวันที่ 2 ธันวาคม พ..2554 โดยพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ ทรงเป็นประธานในพิธี

อันเนื่องมาจากวัตถุประสงค์ในการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำนี้ มีประการสำคัญประการหนึ่งคือ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาส มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ 84 พรรษา ใน 5 ธันวาคม พ..2554 กรมอู่ทหารเรือ โดย อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ ได้ตระหนักถึงความสำคัญ บทบาทและหน้าที่รับผิดชอบ ที่จะต้องดำเนินการสร้างเรือให้บรรลุวัตถุประสงค์และสำเร็จตามเป้าหมาย ด้วยการทุ่มเททรัพยากรทุกด้าน ทั้งบุคลากร เครื่องมือเครื่องใช้ สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ งบประมาณ และการระดมความคิดเพื่อการบริหารจัดการโครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เพื่อพร้อมที่จะส่งมอบให้กับ กองเรือยุทธการ ในการนำเรือไปใช้ในราชการการป้องกันอธิปไตยและผลประโยชน์ ของชาติทางทะเล ในวันที่ 15 มิถุนายน พ..2555 ตามที่กำหนดไว้ในโครงการและแผนหลักการสร้างเรือ

บรรณานุกรม

แผนกลยุทธ์การสร้างเรือ (Offshore Patrol Vessel Build Strategy for Royal Thai Navy Rev.6)

สัญญาซื้อขายแบบรายละเอียดและพัสดุ สำหรับสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ที่ OPV 4/2009

สัญญาซื้อขายปืน 76 มม. สำหรับสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ที่ OPV 2/2008

สัญญาซื้อขายปืน กล. 30 มม. สำหรับสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ที่ OPV 3/2008

สัญญาซื้อขายระบบควบคุมบังคับบัญชาและตรวจการณ์ สำหรับสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งที่ OPV 1/2008

อ้างอิงจาก

วารสารกรมอู่ทหารเรือ ประจำปี 2555 ฉบับที่ 26

http://www.dockyard.navy.mi.th/doced/Homepage/sontetset_files/varasan_dock55/03-CreateOPV.pdf

http://www.theopv.com/index.php

 

 

บทที่ 2:  การควบคุมคุณภาพเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง (OPV)

นาวาเอก สันติรัตน์ ธาระเขตต์ นายทหารปฏิบัติการประจำกรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือช่วยราชการ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ

การสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งโดย อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ นับเป็นภารกิจการสร้างเรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช เปิดใช้งานมา กองควบคุมคุณภาพ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ ในฐานะที่ได้รับมอบหมายภารกิจ ในการควบคุมคุณภาพ การสร้างเรือตรวจการณ์ ไกลฝั่งนี้ จึงได้จัดทำ คู่มือคุณภาพ เพื่อใช้เป็น นโยบายด้านการควบคุมคุณภาพโครงการสร้าง เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการ สร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งได้ทราบถึงนโยบาย ด้านการจัดการการควบคุมคุณภาพ ขอบเขตของ ระบบการควบคุมคุณภาพและใช้เป็นแนวทาง ในการควบคุมคุณภาพโครงการสร้างเรือ

นิยาม

คู่มือคุณภาพ (Quality Manual)

คู่มือคุณภาพ คือ เอกสารที่ระบุถึง นโยบาย การจัดองค์กรและหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ต้องดำเนินงานเกี่ยวข้องกับคุณภาพของหน่วยงาน

แผนคุณภาพ (Quality Plan)

แผนควบคุมคุณภาพ คือ แผนปฏิบัติการซึ่งแสดงรายละเอียดการดำเนินการของหน่วย ในการควบคุมคุณภาพของแต่ละงาน เพื่อให้ผลงานสร้างเรือมีคุณภาพ

เอกสารประกอบการทำงาน (Work Procedure) คือเอกสารที่ระบุมาตรฐาน คำแนะนำ อุปกรณ์เครื่องมือ ลำดับขั้นตอนและวิธีทำงาน เอกสารประกอบการทำงานประกอบด้วย

-เอกสารขั้นตอนการปฏิบัติงาน คือ เอกสารที่ระบุถึงลำดับขั้นตอนในการปฏิบัติงาน

-เอกสารวิธีการปฏิบัติงาน คือ เอกสารที่อธิบายถึงรายละเอียดวิธีการปฏิบัติงาน

เอกสารแบบฟอร์ม คือ แบบฟอร์มสำหรับเก็บข้อมูลที่ได้จากการปฏิบัติงานและเป็นข้อมูล ที่นำไปใช้ในการประเมินคุณภาพของระบบ

เอกสารตรวจสอบ (Test Protocal) คือ เอกสารที่ระบุถึงวัตถุประสงค์ ขอบเขต เอกสารอ้างอิงหรือเอกสารประกอบเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้และขั้นตอนในการ ตรวจสอบ ตลอดจนแบบฟอร์มบันทึกผลการตรวจวัด/ทดสอบที่ทำขณะดำเนินงานนั้น


การทดสอบและทดลองเรือ (Test and Trial)

การตรวจสอบและทดลองในโรงงาน (Factory Acceptance Test, FAT) หมายถึง การตรวจวัดและทดสอบที่กระทำภายในสิ่งแวดล้อมของโรงงาน เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการสร้างไปจนถึงประกอบเป็นอุปกรณ์ที่พร้อมทำงานได้ เช่น การตรวจสอบรอยเชื่อมประสาน การตรวจสอบการทาสีตัวเรือต่าง ๆ เป็นต้น

การตรวจสอบการติดตั้ง (Installation Inspection) หมายถึงการตรวจสอบการนำเอาชิ้นส่วนอุปกรณ์หรือเครื่องจักรที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพในโรงงานแล้วมาประกอบหรือติดตั้ง บนเรือ

การทดลองเรือในท่า (Harbour Acceptance Test, HAT) หมายถึง การทดลอง การทำงานของอุปกรณ์ หรือ เครื่องจักรที่ติดตั้งบนเรือแล้ว เพื่อตรวจสอบระบบการทำงานในขณะที่เรืออยู่ในท่า

การทดลองเรือในทะเล (Sea Acceptance Trials, SAT) หมายถึง การนำเรือที่ผ่าน การตรวจสอบคุณภาพแล้วไปแล่นทดลองในทะเลเพื่อตรวจสอบระบบการทำงานทั้ง สาขาตัวเรือ กลจักร ไฟฟ้า ว่าสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามความต้องการของผู้ใช้เรือหรือไม่

การแบ่งส่วนราชการ

       กองควบคุมคุณภาพ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ มีการแบ่งส่วนราชการดังนี้

ภารกิจ

        กองควบคุมคุณภาพ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ มีหน้าที่ตรวจ วิเคราะห์ ทดสอบ ทดลอง ประเมินค่า และควบคุมคุณภาพ การซ่อมสร้าง ดัดแปลง เรือและอุปกรณ์ การช่าง ตลอดจนการผลิต โดยตลอดทั้งกระบวนการของโรงงานต่าง ๆ และการทดลองเรือ

แผนกตัวเรือ

มีหน้าที่ตรวจ วิเคราะห์ ทดสอบ ทดลอง ประเมินค่า และควบคุมคุณภาพ การซ่อม สร้าง และดัดแปลง โครงสร้าง และส่วนประกอบตัวเรือ ท่อทาง และฉนวน ตลอดจนการพ่น และทาสี ทาน้ำยา เคลือบผิว การพ่นทราย และการเชื่อมประสาน และมีหน้าที่กำหนดวิธีและขั้นตอน รวมทั้งเกณฑ์ในการทดลอง ให้คำปรึกษาทางช่าง และดำเนินการทดลองเรือทั้งก่อนและหลังการซ่อม หรือสร้าง ตลอดจนจัดทำเอกสาร และรายงานผลการทดลองเรือในสาขาตัวเรือ

แผนกกลจักร

มีหน้าที่ตรวจ วิเคราะห์ ทดสอบ ทดลอง ประเมินค่า และควบคุมคุณภาพ การผลิต การซ่อม และติดตั้งจักรกลและอุปกรณ์ของเรือในสาขากลจักร ตลอดจนการถอดประกอบ เพลาใบจักร ใบจักร และหางเสือ การทดสอบศูนย์ และการทดสอบความสั่นสะเทือน และมีหน้าที่ กำหนดวิธีและขั้นตอน รวมทั้งเกณฑ์ในการทดลอง ให้คำปรึกษาทางช่าง และดำเนินการทดลองเรือ ทั้งก่อนและหลังการซ่อม หรือสร้าง ตลอดจนจัดทำเอกสาร และรายงานผลการทดลองเรือในสาขา กลจักร

แผนกไฟฟ้า

มีหน้าที่ตรวจ วิเคราะห์ ทดสอบ ทดลอง ประเมินค่า และควบคุมคุณภาพ การซ่อม และติดตั้ง เครื่องจักร และอุปกรณ์ของเรือในสาขาไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ และมีหน้าที่กำหนดวิธีและขั้นตอน รวมทั้งเกณฑ์ในการทดลอง ให้คำปรึกษาทางช่าง และดำเนินการทดลองเรือ ทั้งก่อนและหลังการซ่อม หรือสร้าง ตลอดจนจัดทำเอกสารและรายงานผลการทดลองเรือในสาขาไฟฟ้า


ระบบคุณภาพ

กองควบคุมคุณภาพ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ ได้จัดให้มีการควบคุมคุณภาพงานสร้างเรือ โดยนำร่างเอกสารมาตรฐานเรือหลวง ตอนที่ 900 (ผนวก ก) และ NAVSEA 0900-LP-039-9010 SHIP WORK BREAKDOWN STRUCTURE มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ โดยกำหนดเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการควบคุมคุณภาพการสร้างเรือ มีดังนี้

1. คู่มือคุณภาพ

2. แผนคุณภาพ (QCP)

3. เอกสารประกอบการทำงาน

4. มาตรฐานพัสดุช่างกรมอู่ทหารเรือ มาตรฐานงานช่างกรมอู่ทหารเรือ คำแนะนำทาง ช่างกรมอู่ทหารเรือ มาตรฐานสากลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนแบบ ข้อกำหนด และคู่มือของเครื่องจักรอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานสร้างเรือ

5. เอกสารตรวจสอบพร้อมแบบฟอร์มบันทึกผล

6. เอกสารรับรองวิธีการปฏิบัติงานและเอกสารรับรองเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน (Procedure Qualification & Personal Qualification)

ในการควบคุมคุณภาพการสร้างเรือได้กำหนดให้มีการตรวจสอบและทดลองระหว่าง การสร้างและทดลองเมื่อสร้างแล้วเสร็จ โดยเริ่มตั้งแต่ การตรวจสอบในโรงงาน การตรวจสอบ การติดตั้ง การทดลองเรือในท่า และการทดลองเรือในทะเล ในการนี้ได้แบ่งการตรวจสอบและทดลองออกเป็น 3 สาขาตามการแบ่งส่วนราชการ ดังนี้

1. สาขาตัวเรือ เอกสารที่เกี่ยวข้องเริ่มต้นด้วย 1xxx

2. สาขากลจักร เอกสารที่เกี่ยวข้องเริ่มต้นด้วย 2xxx

3. สาขาไฟฟ้า เอกสารที่เกี่ยวข้องเริ่มต้นด้วย 3xxx

โดย xxx เป็นการให้หมายเลขตาม NAVSEA 0900-LP-039-9010 SHIP WORK BREAKDOWN STRUCTURE

สำหรับขั้นตอนการตรวจสอบและทดลองได้กำหนดหมายเลข ดังต่อไปนี้

หมายเลขเอกสารตรวจสอบสำหรับการทดสอบระบบต่าง ๆ ประกอบด้วยเลข 2 กลุ่ม

กลุ่ม 1 เป็นเลข 3 ตัว ใช้บอกว่าเป็นการทดสอบและตรวจสอบในขั้นตอนใด

901 - การตรวจสอบและทดลองในโรงงาน (FAT) และการตรวจสอบการติดตั้งบนเรือ

902 - การทดลองเรือในท่า (HAT)

903 - การทดลองเรือในทะเล (SAT)

กลุ่ม 2 เป็นเลข 4 ตัว หลังบอกให้ทราบถึงสาขาและระบบที่ตรวจสอบ

โดยสรุป การให้หมายเลขเอกสารตรวจสอบในระบบการควบคุมคุณภาพของกองควบคุมคุณภาพ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ มีดังนี้

เลข 3 ตัวแรก บอกให้ทราบถึงขั้นตอนการตรวจสอบและทดลอง

เลข 4 ตัวหลังบอกให้ทราบถึงสาขาและระบบที่ตรวจสอบ เช่น

901 – 1185 การตรวจสอบฐานแท่นเครื่องจักรบนดาดฟ้า (ฝ่ายตัวเรือ)

902 – 2230 การทดลองระบบเครื่องจักรใหญ่, ระบบขับเคลื่อน (ฝ่ายกลจักร)

902 – 3311 การทดลองหน้าท่าเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (ฝ่ายไฟฟ้า)

สำหรับการควบคุมคุณภาพเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง กองควบคุมคุณภาพ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ ได้กำหนดให้มีเอกสารตรวจสอบทั้งหมด ดังนี้

901 - การตรวจสอบและทดลองในโรงงาน (FAT) และการตรวจสอบการติดตั้งบนเรือ

สาขาตัวเรือ 21 ฉบับ

สาขากลจักร 21 ฉบับ

สาขาไฟฟ้า 10 ฉบับ

902 - การทดลองเรือในท่า (HAT)

สาขาตัวเรือ 3 ฉบับ

สาขากลจักร 19 ฉบับ

สาขาไฟฟ้า 9 ฉบับ

903 - การทดลองเรือในทะเล (SAT)

สาขาตัวเรือ 3 ฉบับ

สาขากลจักร 19 ฉบับ

สาขาไฟฟ้า 1 ฉบับ

ตัวอย่างแผนควบคุมคุณภาพ (QCP) ที่ใช้ในการควบคุมคุณภาพเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง

ตอนที่ 901 - การตรวจสอบและทดลองในโรงงาน และการตรวจสอบการติดตั้งบนเรือ (FAT)     

ตอนที่ 902 - การทดลองเรือในท่า (HAT)  

ตอนที่ 903 - การทดลองเรือในทะเล (SAT)


การควบคุมคุณภาพเรือตรวจการณ์ ไกลฝั่ง ก่อนการเริ่มงานด้านตัวเรือได้ทำการตรวจสอบกระบวนการเชื่อม (901 - 1074 การตรวจสอบ กระบวนการเชื่อม) ในขั้นตอนนี้ได้ให้ฝ่ายผลิต จัดทำกระบวนการเชื่อมและนำชิ้นทดสอบ ไปตรวจสอบตามขั้นตอนในเอกสารตรวจสอบ โดยดำเนินการตามมาตรฐาน AWS D 1.1 เมื่อได้กระบวนการเชื่อมที่ผ่านการทดสอบตามเกณฑ์แล้ว (901 - 1074 การตรวจสอบกระบวนการเชื่อม) ได้ดำเนินการทดสอบฝีมือช่างเชื่อม ตามมาตรฐานงานช่างกรมอู่ทหารเรือ (มอร.112 – 0001 0831 “การทดสอบวัดระดับฝีมือ ช่างเชื่อมไฟฟ้า”) เมื่อผ่านขั้นตอนนี้แล้วได้เริ่มตรวจสอบในระหว่างการประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ ของบล็อก (901 - 1120 การตรวจสอบระหว่างการสร้างส่วนประกอบบล็อก) เริ่มจากการ ตรวจสอบวัสดุที่นำมาใช้ทำส่วนประกอบบล็อกตรวจสอบความถูกต้องของส่วนประกอบ บล็อก เช่น Bracket, Floor, Beam, Girder ฯลฯ การเจาะช่องต่าง ๆ ของบล็อก ตามแบบที่กำหนด การเตรียมแนวเชื่อมให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดและการตรวจสอบแนวเชื่อม ให้เป็นไปตามมาตรฐาน

โดยขั้นตอนการตรวจสอบได้ดำเนินการตาม Inspectors Manual, Chapter 7, Section 1, Revision 1 และ ตาม IACS 47 รวมทั้ง ตามข้อกำหนดของ BVT และ Lloyd เมื่อดำเนินการตรวจสอบระหว่างการประกอบบล็อกเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไป ได้แก่ การตรวจสอบการประกอบบล็อก (901-1121 การตรวจสอบการประกอบบล็อก) โดยการตรวจสอบขนาดของบล็อก ตรวจสอบระดับความตรงแนว และรอยเชื่อมต่อบล็อก โดยใช้ขั้นตอนและมาตรฐานเหมือนกับ เอกสาร 901 - 1120 สำหรับการตรวจแนวเชื่อมบล็อกในขั้นตอนนี้ จะเพิ่มการตรวจสอบด้วยวิธีถ่ายภาพด้วยรังสี (X - Ray) โดยใช้แบบของ BVT ที่ผ่านการ ตรวจสอบจาก Lloyds เรียบร้อยแล้ว สำหรับเกณฑ์การยอมรับใช้ ตาม Lloyds และ AWS สำหรับระบบอื่น ๆ ที่เหลือกำลังอยู่ระหว่าง การดำเนินการตามเอกสารที่กำหนดในคู่มือคุณภาพ

การควบคุมคุณภาพเรือตรวจการณ์ ไกลฝั่งตาม คู่มือคุณภาพ ที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น จะสำเร็จได้ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง ลำพังกองควบคุมคุณภาพ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ ไม่สามารถที่จะดำเนินการให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจาก ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ข้อบกพร่องที่พบและข้อเสนอแนะที่ กองควบคุมคุณภาพ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ รายงานเป็นคำแนะนำที่ช่วยให้การสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งได้ผลงานที่มี คุณภาพ แต่ถ้า สิ่งที่กองควบคุมคุณภาพ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ รายงานไม่ได้รับการตอบสนองและแก้ไขในระหว่างการสร้าง การแก้ไขภายหลังจะยุ่งยากและใช้เวลามาก ถ้าการควบคุมคุณภาพสามารถดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้ เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง จะได้คุณภาพ สมกับที่จะน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลที่ทรงเจริญพระชมมายุ ครบ 84 พรรษาในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2554

บรรณานุกรม

American Welding Society, AWS D 1.1/D 1.1 M:2004, Structural Welding Code-Steel.

BVT,Guide to BVT Welding (OPVs)

IACS,No.47 Shipbuilding and Repair Quality Standard

LloydRegister of Shipping, Rulefinder 2009, Version 9.12,July 2009

MIL.STD. 1689 A (SH) Fabrication Welding and Inspection of Ship Structures.

NAVSEA 0900-LP-039-9010 Ship Work Breakdown Structure. Washington,D.C.,

The Naval Ship Engineering Center, August 1977.

Royal Thai Navy Dockyard, Quality Assurance Division. Nondestructive Test Section,

Inspectors Manual, Chapter 7, Section 1, Revision 1,VISUAL INSPECTION OF

WELDS AND BASE MATERIALS.

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน. มาตรฐานการทดสอบฝีมือช่างเชื่อมไฟฟ้า. กรุงเทพ ฯ : มปส, มปป.

แบบหมายเลข B90-100-03-0002,Thailand OPV Shell Expansion Non - Destructive

Examination for Welding, Rev.003

อู่ทหารเรือ,กรม. ร่างมาตรฐานเรือหลวง ตอนที่ 900 การควบคุมคุณภาพ.

(อยู่ระหว่างขออนุมัติ ทร.)

อู่ทหารเรือ,กรม. มาตรฐานงานช่าง กรมอู่ทหารเรือ มอร. 100 – 0001 0731

“เกณฑ์ ความคลาดเคลื่อนในการ สร้างส่วนประกอบตัวเรือเหล็ก”. กรุงเทพ ฯ : มปส, มปป.

อู่ทหารเรือ,กรม. มาตรฐานงานช่าง มอร. 112 – 0001 0831 “การทดสอบวัดระดับฝีมือ

ช่างเชื่อมไฟฟ้า”. กรุงเทพ ฯ : มปส, มปป.

อู่ทหารเรือ,กรม. มาตรฐานงานช่าง มอร. 114 – 0002 - 0331 “การทดสอบฝีมือช่างเชื่อมไฟฟ้า

และการทดสอบกรรมวิธีสำหรับงานท่อที่สร้างจากโลหะผสมของทองแดงและนิเกิล”.

กรุงเทพ ฯ : มปส, มปป.

อ้างอิงจาก

http://www.dockyard.navy.mi.th/doced/Homepage/sontetset_files/varasan_dock55/12-QC_OPV.pdf

http://www.theopv.com/index.php

 

บทที่3: เจตนารมณ์การต่อเรือแบบพึ่งพาตนเองของกองทัพเรือ

โดย : นาวาเอก วิทยา ละออจันทร์ รองเจ้ากรมโรงงาน ฐานทัพเรือสัตหีบ

กองทัพเรือได้มอบหมายให้กรมอู่ทหารเรือเป็นแม่งาน ในการต่อเรือหลวงกระบี่ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสพระชนม์พรรษาครบ ๘๔ พรรษาในการนี้ กรมอู่ทหารเรือ ได้มอบหมายให้อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือเป็นหน่วยหลักในการต่อเรือ โดยมีหน่วยงานอื่น ๆ ของกองทัพเรือเข้าร่วมด้วย ได้แก่ กรมอิเล็กทรอนิกส์ทหารเรือ กรมสรรพาวุธทหารเรือ และสำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ เป็นต้น  

ผลจากความร่วมมือของหน่วยต่าง ๆ ใน กองทัพเรือ รวมถึงการทำงานอย่างทุ่มเทของกำลังพลในทุกระดับ ทำให้การต่อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ที่กองทัพเรือเคยต่อมาในครั้งนี้สำเเร็จลงได้ ซึ่งเรือได้เข้าประจำการมาระยะหนึ่งแล้วโดยมีภารกิจแรก คือ การไปอวดธงในงาน Fleet Reviews ณ ประเทศออสเตรเลียเป็นเวลาเกือบ ๒ เดือนได้อย่างเรียบร้อย ความสำเร็จครั้งนี้เป็นเรื่องที่ควรจดจำและในขณะเดียวกันก็ควรจะได้บันทึก อุปสรรค ข้อขัดข้องในการดำเนินการเอาไว้ด้วย เพื่อที่กรมอู่ทหารเรือจะได้เก็บไว้เป็นแนวทางในการต่อเรือในคราวต่อ ๆ ไป


แรงบันดาลใจ : เราต่อเรือถวายในหลวง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์จะให้กองทัพเรือต่อเรือใช้เอง มานานแล้ว โดยเมื่อปี ๒๕๐๓ ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จประพาสยุโรปนั้น ได้ทรงทอดพระเนตรกิจการการต่อเรือยนต์รักษาฝั่งของกองทัพเรือเยอรมัน จึงทรงมีพระราชดำริว่ากองทัพเรือน่าจะต่อเรือยนต์เร็วรักษาฝั่งเช่นนี้ได้ เพื่อที่จะให้เกิดความชำนาญงานและรู้จักใช้เทคนิคต่าง ๆ อันจะเป็นการประหยัดมากกว่าการจัดหาจากต่างประเทศกองทัพเรือโดยกรมอู่ทหารเรือจึงรับสนองพระราชดำริโดยการต่อเรือในชุดเรือ ต.๙๑ ขึ้น ซึ่งในระหว่างการดำเนินการนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานคำแนะนำ ตลอดจนแก้ปัญหาต่าง ๆ อันเกิดจากกระบวนการต่อเรือ รวมถึงทรงเป็นธุระติดต่อกับสถาบันวิจัยและทดลองแบบเรือแห่งชาติของประเทศ อังกฤษ ให้ทำการทดสอบแบบของเรือ ต.๙๑ ให้ แม้แต่การทดสอบเรือในทะเลพระองค์ก็ทรงเสด็จไปร่วมทดสอบด้วยพระองค์เอง ทั้งยังทรงตรวจแก้ข้อผิดพลาดต่าง ๆ จนทำให้การต่อเรือสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

หลังจากนั้นทุกครั้งที่มีความพร้อมและการงบประมาณอำนวย กองทัพเรือจึงได้ต่อเรือเพิ่มเติมมาโดยตลอด เช่น เรือตรวจการณ์ปืน ชุดเรือหลวงหัวหิน ขนาด ๖๐ เมตร ที่ระวางขับน้ำ ๖๐๐ ตัน จนเมื่อเร็ว ๆ นี้กองทัพเรือก็กลับไปต่อเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งอีกครั้ง เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระชนม์พรรษาครบ ๘๐ พรรษา ซึ่งเรือชุดนี้ก็คือเรือชุด ต.๙๙๑สำหรับเรือชุด ต.๙๙๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จพระราชดำเนินพร้อมกับ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เพื่อทรงประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำด้วยพระองค์เอง ภาพปรากฏในครั้งนั้นเป็นที่ปลาบปลื้มแก่เหล่าทหารเรือทุกนายเป็นอย่างยิ่ง ด้วยทรงแย้มพระสรวลอย่างพอพระราชหฤทัยที่ทรงเห็นเรือตามแนวพระราชดำริของ พระองค์ท่านลอยลำอยู่หน้าพระพักตร์อย่างสง่างามเมื่อมีโอกาสได้ต่อเรือถวาย พระองค์ท่านอีกครั้งหนึ่ง กำลังพลทุกนายต่างทุ่มเทแรงกายตั้งใจต่อเรือลำนี้กันอย่างเต็มที่ เวลามีวิกฤติหนัก ๆ ระหว่างการต่อเรือ ผู้เขียนจะได้ยินคำพูดดี ๆ เหล่านี้เสมอ เช่นถ้าไม่ใช่เรือในหลวง ผมเลิกทำไปนานแล้ว  อยากทำให้ดีครับ ถวายพระองค์ท่านหรือเหนื่อยก็มีความสุขครับ ผมอยากทำถวายในหลวง

งานต่อเรือ : งานสร้างคน

จากผลของการต่อเรือใช้เองมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้กองทัพเรือโดยเฉพาะ กรมอู่ทหารเรือได้พัฒนาบุคลากรในการต่อเรือมาตามลำดับ สมดังพระราชประสงค์ ทั้งนายทหารบริหารโครงการขนาดใหญ่ วิศวกรผู้เชี่ยวชาญในงานตัวเรือ กลจักร และไฟฟ้า อีกทั้งสร้างช่างฝีมือในทุกสาขา เช่น ช่างเชื่อม ช่างหาศูนย์เพลา ช่างปรับ ช่างติดตั้ง และช่างเดินสายไฟ เป็นต้น บุคลากรเหล่านี้เมื่อต้องต่อเรือลำแรก ต้องใช้ความรู้ความสามารถที่ได้ร่ำเรียนมา และอาจจะต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง ลองผิดลองถูกบ้าง แต่เมื่อต่อลำที่สองสาม และต่อ ๆ มาก็จะเกิดขบวนการเรียนรู้และมีความเชี่ยวชาญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆเมื่อเว้นช่วงและเริ่มต่อเรือใหม่ ก็เป็นเวลาดี ๆ ที่บุคลากรที่ชำนาญการเหล่านั้นจะถูกเรียกตัวกลับมาปัดฝุ่นเอาความรู้เก่าๆ มาใช้ เรียนรู้เทคโนโลยีเพิ่มเติม และถ่ายทอดความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ให้สืบทอดองค์ความรู้ในการต่อเรืออย่าง ต่อเนื่องเป็นรุ่นต่อรุ่นไป

นอกจากความรู้ทางด้านเทคนิคในการต่อเรือที่ถูกถ่ายทอดกัน จากรุ่นสู่รุ่นแล้วเทคนิคในการบริหารโครงการก็ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อ เนื่อง เช่น การจัดหาพัสดุมาใช้ในการต่อเรือจากเดิมที่ใช้โครงสร้างทางราชการทำการจัดหา ซึ่งค่อนข้างล่าช้าด้วยมีขั้นตอนมากเกินไป กรมอู่ทหารเรือได้เปลี่ยนมาเป็นการว่าจ้างบริษัทเอกชนให้ทำการจัดหาให้ใน ลักษณะเหมารวม เนื่องจากพัสดุในการต่อเรือมีปริมาณมากและหลากประเภท ที่ต้องสั่งทั้งในและต่างประเทศ ที่สำคัญพัสดุเหล่านี้ต้องมาส่งให้ตรงเวลา เพื่อมิให้กระทบกับแผนการต่อเรือ ซึ่งองค์กรที่ดีที่สุดในการทำงานลักษณะนี้ก็คือ บริษัทเอกชน เพราะได้เปรียบภาครัฐทั้งด้านห่วงโซ่การตัดสินใจและการงบประมาณที่ไม่ต้องมี กฎระเบียบมากมาย


เรือสมรรถนะดี : ต้องปรับปรุงงานส่งแบบและพัสดุ

ขบวนการจัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำนี้ เป็นการจัดหาที่ใช้เวลาค่อนข้างมากโดยเฉพาะในช่วงคัดเลือกแบบ เพราะมีแบบเรือมาให้คัดเลือกเป็นจำนวนมาก ต้องมีการแต่งตั้งกรรมการหลายชุดมาทำการคัดเลือก จนสุดท้ายก็ได้แบบเรือที่ต่อมาเป็นเรือหลวงกระบี่ลำนี้ ความเด่นของแบบเรือลำนี้ก็คือเป็นเรือที่มีความกว้าง ทำให้กำลังพลประจำเรือมีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบาย นอกจากนี้ยังเป็นเรือที่พัฒนามาจากเรือชั้น River Class ของสหราชอาณาจักรอังกฤษ ที่เคยเข้าสงคราม Falkland กับประเทศอาร์เจนตินามาแล้ว ซึ่งสมรรถนะที่ดีของเรือลำนี้ได้พิสูจน์ตัวมันเองแล้วในระหว่างการทดลองเรือในทะเล และคำชื่นชมของผู้ใช้     

ข้อที่น่าเสียดายก็คือ ผู้ซื้อแบบเรือลำนี้และได้สิทธิ์ส่งพัสดุในการต่อเรือให้กับกองทัพเรือ ก็คือ บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด รัฐวิสาหกิจภายใต้การดูแลของกองทัพเรือไม่ใช่บริษัทเอกชนอย่างที่กรมอู่ทหาร เรือเคยถือเป็นหลักปฏิบัติมาโดยตลอด ในการว่าจ้างส่งพัสดุ แม้จะเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด ยังใช้ระเบียบการซื้อจ้างเช่นเดียวกับกองทัพเรือ ดังนั้นจึงขาดความคล่องตัวในการซื้อจ้าง ทำให้ส่งผลกระทบต่อแผนในการต่อเรือเป็นอย่างมาก เพราะพัสดุที่ส่งมักไม่ตรงเวลา

นอกจากปัญหาเรื่องพัสดุแล้ว แบบเรือก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องปรับปรุง เพราะมีบุคลากรน้อยเกินไปและไม่เชี่ยวชาญเรื่องแบบทำให้การส่งแบบล่าช้าและ ไม่ค่อยถูกต้อง แบบเรือแม้จะซื้อมาจากต่างประเทศ แต่ได้ถูกแก้ไขบางส่วนให้เหมาะสมกับหลักนิยมของทหารเรือไทย และบางส่วนถูกแก้ไขไปตามพัสดุที่หาได้หรือเปลี่ยนไปตามคำร้องขอของผู้ใช้ ความไม่ช่ำชองในการแก้ไขแบบทำให้ส่งแบบล่าช้า หลายครั้งที่มีความผิดพลาดต้องส่งกลับไปปรับปรุงเป็นเหตุให้การต่อเรือผิด แผนอยู่เสมอ อย่างไรก็ตามบริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเรือเพื่อเป็นพันธมิตรในยามสงคราม โอกาสนี้จึงเป็นโอกาสดีที่บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัดจะได้นำบริษัทเข้ารับงานโครงการขนาดใหญ่ ฝึกฝนบุคลากรให้มีความแข็งแกร่งในการทำธุรกิจเสริมสร้างความชำนาญของวิศวกร และช่างฝีมือที่มีอยู่ ซึ่งตลอดเวลาบุคลากรเหล่านี้ก็มีพัฒนาการมาตามลำดับ พัฒนาการที่สำคัญของบริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด ได้แก่ การจ้างบริษัทเอกชนมารับเหมาช่วงในการส่งแบบและพัสดุในช่วงท้าย ๆ ของการต่อเรือ ส่งผลให้งานไม่สะดุดและมีความต่อเนื่องมากขึ้น ถ้ามีโอกาสต่อเรือลำต่อ ๆ ไป น่าจะได้เห็นพัฒนาการของบริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น

                งานต่อเรือลำหนึ่งมีการใช้ช่างฝีมือเป็นจำนวนมากและหลากประเภท เช่น ช่างเชื่อม ช่างท่อ ช่างแอร์ และช่างไฟฟ้า เป็นต้น บรรดาช่างเหล่านี้ฝีมือเป็นสิ่งสำคัญเพราะฝ่ายบริหารต้องการงานที่เรียบร้อย เสร็จทันเวลาและไม่ต้องมีการแก้ไข ซึ่งการสรรหาช่างฝีมือดีในการต่อเรือนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายช่างฝีมือที่ใช้ มากที่สุดในการต่อเรือก็คือ ช่างเชื่อมและช่างประกอบตัวเรือ ซึ่งจะต้องว่าจ้างกันตั้งแต่วันแรกของการต่อเรือจนถึงวันสุดท้ายของการส่ง มอบเรือ ประมาณการเบื้องต้นในการใช้ช่างเหล่านี้ทำการต่อเรือ โดยเฉพาะช่วงการต่อบล็อกและประกอบบล็อกเข้าด้วยกันจนแล้วเสร็จอยู่ที่ประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ Man-hours หรือต้องใช้ช่างฝีมือดีประมาณ ๑๑๐ คน ทำงานอย่างต่อเนื่องในเวลา ๑ ปี ๖ เดือน

ในจำนวนช่าง ๑๑๐ คนนี้ แบ่งเป็น ช่างเชื่อมประมาณ ๓๐ คน ช่างประกอบประมาณ ๘๐ คน ช่างเชื่อมฝีมือดีในประเทศไทยนั้นหาง่ายและมีให้เลือกเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ช่างเชื่อมมีฝีมือโดยเฉพาะที่ผ่านเกณฑ์คัดเลือกให้สามารถทำงานต่อเรือได้ นั้นมีค่าตัวค่อนข้างสูงอย่างต่ำประมาณ ๘๐๐.- บาทต่อวัน ผู้ว่าจ้างจำเป็นต้องมีสถานะทางการเงินที่ดี จึงจะรักษาช่างไว้ใช้งานได้ในระยะเวลาการทำงานที่ต้องต่อเนื่องและยาวนานแบบ นี้ แรงงานฝีมือของประเทศไทยส่วนใหญ่มีฐานะยากจนถึงพอมีพอกิน จึงใช้ชีวิตวันต่อวันกับค่าแรงที่ได้รับ หากการจ่ายเงินค่าแรงไม่ตรงเวลาหรือมีค่าตอบแทนน้อยกว่าแหล่งอื่น แรงงานเหล่านี้จะเปลี่ยนงานทันทีโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า ซึ่งจะทำให้ขบวนการผลิตล่าช้าเพราะต้องเสียเวลาหาช่างมาทดแทน

เหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นในระหว่าง ต่อเรือหลวงกระบี่เช่นกัน เมื่อมีการต่อเรือจำรวจน้ำมันของบริษัทเอกชนในพื้นที่ข้างเคียงกัน บริษัทเอกชนมีค่าตอบแทนที่ดีกว่า และให้สวัสดิการที่คุ้มค่ากว่า ผู้รับเหมาที่มารับงานต่อเรือหลวงกระบี่ แรงงานเกือบทั้งหมดทยอยย้ายงานไปทำเรือสำรวจน้ำมัน ผู้รับเหมาต้องหาแรงงานมาทดแทน ซึ่งต้องใช้เวลาในการคัดสรร จึงทำให้งานล่าช้าออกไป บางครั้งเมื่อต้องเร่งรีบให้งานเสร็จทันเวลา ทำให้ได้ช่างฝีมือไม่ถึงมาทำงานก็ส่งผลให้คุณภาพงานออกมาไม่ดีอีกด้วย

นอกจากช่างเชื่อมแล้ว ยังมีช่างประกอบตัวเรืออีก ๘๐ คนที่ต้องดูแล ซึ่งช่างประเภทนี้ก็มีธรรมชาติเหมือนกับช่างเชื่อมที่พร้อมจะย้ายทันทีที่มี ค่าตอบแทนดีกว่า ปัญหาที่เพิ่มเติมของคนกลุ่มนี้ก็คือ ฝีมือในการประกอบตัวเรือ ที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจแบบตัวเรือเป็นอย่างดี จึงจะประกอบชิ้นส่วนเข้าด้วยกันให้ตรงตามแบบ เพราะหากผิดพลาดจะทำให้โครงสร้างขาดความแข็งแรงหรือไม่สามารถติดตั้งอุปกรณ์ เข้ากับตัวเรือได้ช่างประกอบตัวเรือที่เคยผ่านงานตัวเรือมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะเอามาฝึกหน้างานโดยผู้ควบคุมงานที่มีคุณภาพซึ่งจะต้องผ่านงานตัว เรือมาอย่างโชกโชน แต่เนื่องจากอุตสาหกรรมต่อเรือของประเทศไทยยังไม่แข็งแกร่งนัก จึงมีงานต่อเรือไม่มาก ทำให้มีผู้ควบคุมงานที่มีคุณภาพเป็นจำนวนน้อยมาก เมื่อมีผู้ควบคุมงานน้อย การคุมงานในการประกอบและเชื่อมตัวเรือจึงมีโอกาสเกิดข้อบกพร่องได้ง่าย การประกอบชิ้นส่วนผิดพลาด รวมกับการเชื่อมที่ขาดการควบคุม จะทำให้โครงสร้างขาดความแข็งแรงและตัวเรือบิดเบี้ยวเสียรูปได้


ผู้รับเหมาประกอบตัวเรือที่เหมาะสมจึงควรเป็นบริษัทที่มั่นคง มีเงินสดหมุนเวียนอย่างน้อย ๓๐ ล้านบาท หรือเพียงพอที่จะจ่ายค่าแรงช่างได้อย่างน้อย ๖ เดือน(เพื่อชดเชยกรณีกองทัพเรือได้รับงบประมาณล่าช้า) และควรมีผู้ควบคุมงานที่มีคุณภาพอย่างน้อย ๑๐ คน เพื่อดูแลช่างเชื่อมและช่างประกอบให้ทำงานได้อย่างเรียบร้อยโดยไม่มีการ แก้ไข

ยังมีเรื่องที่ต้องถกแถลงกันเพราะยังหาข้อยุติไม่ได้ ก็คือบริษัทผู้ส่งแบบและพัสดุกับผู้รับเหมาประกอบตัวเรือควรเป็นบริษัทเดียว กันหรือไม่ ข้อดีของการเป็นบริษัทเดียวกันก็คือการประมาณการในการจัดหาแรงงานกับแบบการ ส่งพัสดุ จะต้องสอดคล้องกัน มีความต่อเนื่องและไม่สูญเสียค่าแรงมาก ความสูญเสียแบบนี้มักเกิดจากการว่าจ้างแรงงานมาเป็นจำนวนมาก แต่ปรากฏว่าการส่งของล่าช้าทำให้ไม่ได้งาน แต่ต้องจ่ายค่าจ้างซึ่งถ้าเป็นบริษัทที่ต้องทำหน้าที่ส่งแบบพัสดุและต้องรับ เหมาประกอบตัวเรือด้วย ต้องมีเงินทุนมหาศาลจึงจะอยู่ได้ หากสายป่านไม่พอก็จะดึงงานทั้งระบบให้ล้มลงได้ แต่ถ้ากระจายความเสี่ยงด้วยการแยกงานส่งแบบพัสดุกับการหาแรงงาน ก็จะเกิดปัญหาความไม่สมดุลระหว่างแรงงานกับการส่งพัสดุ ต้องแก้ด้วยการประสานงานที่ดีของฝ่ายตรวจรับพัสดุและฝ่ายสร้างของกองทัพเรือ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องเป็นการประสานแบบ Real Timeจึงจะมีประสิทธิภาพ

ช่างท่อ เป็นช่างประเภทที่ใช้ Man-hour มากเป็นอันดับสองรองจากช่างเชื่อม/ช่างประกอบ คุณภาพงานของช่างท่อจะอยู่ที่ช่างประกอบท่อเป็นหลัก เพราะจะต้องดัดหรือตัดท่อให้เข้ากับตัวเรือได้อย่างดี การประกอบท่อที่ดีเป็นเรื่องยากมาก การดัดท่อตามแบบไม่ใช่งานง่าย หากต้องการได้มิติที่ถูกต้อง ก็จะต้องเอาท่อลงไปประกอบหน้างานซึ่งเพิ่มความลำบากในการปฏิบัติงานอย่างมาก เพราะความคับแคบของห้องต่าง ๆ ในเรือทำให้การขนย้ายท่อขึ้นลงเรือติดขัด สิ้นเปลืองแรงงานและเวลามาก ช่างท่อจึงเป็นช่างอีกประเภทหนึ่งที่ต้องมีความสามารถพิเศษ และยังต้องมีความแข็งแกร่งอีกด้วยซึ่งช่างประเภทนี้หายากมาก

ปัญหาของช่างท่อในการต่อเรือหลวงกระบี่ก็เป็นลักษณะเดียวกับช่างเชื่อม/ช่าง ประกอบ คือ ขาดผู้ควบคุมงานที่มีฝีมือทำให้คุณภาพงานด้อยลงไป ยิ่งได้ช่างท่อที่ไม่ใช่ช่างท่องานเรือยิ่งทำให้คุณภาพงานลดลงไปอีกทำให้มี การประกอบท่อผิดพลาดค่อนข้างมาก สุดท้ายต้องใช้ช่างท่อของกรมอู่ทหารเรือมากำกับการทำงานจึงจะแล้วเสร็จ

สถานที่ประกอบบล็อกตัวเรือ : โล่งเกินไป

อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดชแม้จะมีสถานที่กว้างขวาง เหมาะแก่การประกอบบล็อกตัวเรือขนาดใหญ่อย่างเรือหลวงกระบี่เป็นอย่างยิ่ง ที่ผ่านมาสามารถประกอบบล็อกขนาดใหญ่ได้ ๖ บล็อกในคราวเดียวกันและยังมีพื้นที่เหลือที่จะต่อบล็อกได้อีกหลายบล็อกถ้ามี แรงงานเพิ่ม อย่างไรก็ตามพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ค่อนข้างโล่ง มีโรงคลุมเคลื่อนที่ได้เพียงแค่ ๓โรง ครอบคลุมพื้นที่ได้แค่โรงคลุมละ ๑๐ x ๑๕ ตารางเมตรเท่านั้น หรือครั้งละ ๓ บล็อก (ไม่รวมพื้นที่ประกอบบล็อกย่อย) บล็อกที่เหลือก็จะถูกสร้างในที่โล่ง มีโอกาสโดนแดดและฝนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ความร้อนจากแดดทำให้ประสิทธิภาพของ แรงงานลดลง เพราะจะทำให้เหนื่อยง่าย

แต่ฝนมีอิทธิพลสำคัญก็คือ ต้องหยุดงาน เพราะงานประกอบบล็อกต้องใช้ไฟฟ้าในการเชื่อม ซึ่งจะอันตรายมากถ้าพื้นที่ปฏิบัติงานเปียก ปีที่ทำการประกอบบล็อกเรือหลวงกระบี่ เป็นปีที่มีฝนปริมาณค่อนข้างมากและตกเกือบทั้งปี จนเกิดมหาอุทกภัยในประเทศ ซึ่งส่งผลให้เกิดการหยุดงานของช่างประกอบตัวเรือเป็นเวลานาน จนกระทบต่อแผนการผลิตและสร้างความขาดทุนให้กับผู้รับเหมาด้วย เพราะจ้างแรงงานมาแล้วแต่ไม่สามารถทำงานได้ ในการต่อเรือใหม่ครั้งต่อไป จึงควรมีโรงคลุมสำหรับประกอบบล็อกต่อเรืออย่างมิดชิด เหมือนกับอู่ต่อเรือมาตรฐานทั่วไป เพราะจะทำให้เพิ่มผลผลิตและลดอิทธิพลของสภาพดินฟ้าอากาศในการดำเนินการ สำหรับอู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดชสามารถสร้างโรงคลุมให้ทำการต่อบล็อกย่อยจน กลายเป็นบล็อกใหญ่ได้อย่างน้อย ๓ บล็อก หรือ๓ สายการผลิต ซึ่งใน ๑ สายการผลิตโรงคลุมจะวางต่อกันเป็นรูปตัวแอล (L) โดยมีมูลค่าในการก่อสร้างสายการผลิตละประมาณ ๒๐ ล้านบาท

โครงสร้างองค์กร :เหมาะสมแต่ต้องปรับปรุงงานแผนและงานกำกับ

โครงสร้างองค์กรที่รับผิดชอบในการต่อเรือจำลองแบบมาจากบริษัท BAE ซึ่งเป็นเจ้าของแบบเรือ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับโครงสร้างในการซ่อมเรือ จึงใช้วิธีดึงคนจากโครงสร้างงานซ่อมเรือออกมาประกอบเป็นคณะกรรมการสร้างเรือ โดยเพิ่มตำแหน่งพิเศษขึ้นมาคือ นายทหารโครงการหรือ Project Manager เพื่อดูแลขบวนการผลิตในภาพรวม จากการทดลองใช้โครงสร้างดังกล่าวถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม มีที่ต้องปรับปรุงอยู่บางประการงานแผน คือ งานแรกที่ต้องปรับปรุง เนื่องจากบุคลากรในฝ่ายแผนมีงานประจำค่อนข้างมากทั้งงานซ่อมและงานปรับปรุง เรือ ประกอบกับไม่มีบุคลากรที่ชำนาญในการต่อเรืออยู่ในฝ่ายแผนด้วย จึงต้องโอนงานนี้ให้กับฝ่ายผลิต แผนการผลิตในวงรอบหนึ่งเดือนของแต่ละสาขาสามารถกำหนดได้ไม่ยาก แต่เมื่อต้องกำหนดเป็นแผนรายวันแล้วแทบจะทำไม่ได้เลย เพราะไม่มีการบูรณาการแผน จึงมีสภาพเป็นการต่างคนต่างทำ ไม่มีการลำดับงานก่อนหลัง บางงานทำไปแล้วต้องรื้อถอน เป็นต้น

การบูรณาการแผนรายวันเป็นเรื่องค่อนข้างซับซ้อน

เนื่องจากมีช่างหลายชุดลงปฏิบัติงานในเรือแต่ละวัน ช่างแต่ละสาขาจะสนใจแค่แบบของตนเอง เมื่อปฏิบัติไปแล้ว งานของตัวเองอาจขวางพื้นที่งานของสาขาอื่นโดยไม่เจตนา การบูรณาการแผนที่ดีจำเป็นต้องใช้ผู้มีประสบการณ์ในการผลิต ที่จะนึกภาพออกว่าช่างสาขาใดควรจะเริ่มงานก่อนหลัง และที่สำคัญก็คือต้องมีแบบสร้างที่สมบูรณ์ จึงจะทำให้นายช่างประมาณการได้อย่างถูกต้อง โดยแบบในแต่ละสาขางานจะต้องอยู่ในแหล่งเดียวกัน เช่นมีแบบที่ถูกต้องทุกสาขาอยู่ในโปรแกรม Tribon เป็นต้น

นอกจากงานแผนแล้ว ยังมีงานที่ต้องปรับปรุงก็คือฝ่ายกำกับการสร้างเรือซึ่งมีหน้าที่ประสานการ ปฏิบัติงานของฝ่ายผลิตให้ต่อเนื่อง และสอดคล้องกับแผนแล้วรายงานอุปสรรค ข้อขัดข้อง ที่แก้ไขไม่ได้ให้กับ Project Manager เพื่อทราบและแก้ไขปัญหาอย่างทันเวลา ซึ่งในโครงสร้างองค์กรไม่มีบรรจุไว้ จึงควรเพิ่มฝ่ายกำกับการสร้างเรือเข้าไปด้วย

เนื่องจากเรือหลวงกระบี่มีขนาดใหญ่มีพื้นที่ปฏิบัติงานจำนวนมาก จึงต้องแบ่งเขตความรับผิดชอบออกเป็น ๓ เขต คือ ภาคหัว ภาคท้าย และภาคSuperstructure โดยมีผู้รับผิดชอบตามเขตทั้งสามภาค รวมทั้งในการวางแผนรายวันและกำกับการสร้าง จะทำให้ผู้รับผิดชอบมีภาระงานไม่มากและซับซ้อนเกินไป อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดชได้พยายามใช้โครงสร้างนี้แต่ก็ไม่สามารถทำให้เป็น รูปธรรมได้ เบื้องต้นน่าจะมีปัญหาจากแบบและพัสดุที่ไม่ค่อยถูกต้องและตรงเวลา ทำให้ฝ่ายแผนและฝ่ายกำกับวางแผนการปฏิบัติไม่ได้เลย


ความสะอาด : สงครามที่ไม่เคยชนะ

ความสะอาดของพื้นที่ปฏิบัติงานเป็นอีกงานหนึ่งที่มีปัญหาค่อนข้างมากเพราะ งานต่อเรือตามพื้นที่ต่าง ๆ ในเรือ สร้างขยะและฝุ่นละอองได้เป็นจำนวนมากในแต่ละวัน ช่างอยู่ในภาวะเร่งรีบและอ่อนล้าหลังเลิกงานในแต่ละวัน มักไม่สนใจที่จะเก็บงานและทำความสะอาด หลายครั้งอ้างว่าเป็นความสกปรกของช่างสาขาอื่นจึงปัดความรับผิดชอบ

การแก้ปัญหาเหล่านี้ที่ได้พยายามทำไปก็คือ ให้ผู้รับเหมาจ้างแม่บ้านมาทำความสะอาด ขอรับการสนับสนุนพลทหารจากหน่วยงานข้างเคียง เช่น ศูนย์ฝึกทหารใหม่ หรือ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝัง มาระดมทำความสะอาดตามระยะเวลาที่เหมาะสมซึ่งสามารถกระทำได้แค่ชะลอปัญหาเท่า นั้น ไม่สามารถทำให้สะอาดได้อย่างยั่งยืน ความสะอาดเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจเพราะจะทำให้พื้นที่ปฏิบัติงานเป็น ระเบียบ มีความปลอดภัย ไม่มีมลภาวะ และไม่ทำให้อุปกรณ์ที่ติดตั้งไปแล้วมีฝุ่นละอองจับ โดยเฉพาะอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่จะก่อปัญหาตามมาคือ การเกิดไฟฟ้าลงกราวนด์ การจะบังคับช่างให้ดูแลเป็นเรื่องยากถึงยากมากจึงควรจ้างพนักงานรักษาความ สะอาดอย่างน้อย ๑๐ คน ในแต่ละวันเพื่อดูแลพื้นที่ ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ทำได้โดยการว่าจ้างโดยตรงและจะต้องมีผู้ควบคุม งานอย่างใกล้ชิด และไม่ควรให้ผู้รับเหมารับผิดชอบ เพราะส่วนใหญ่มักจะปัดความรับผิดชอบโดยอ้างว่าไม่ใช่ของตน

เรือหลวงกระบี่ : กองทัพเรือต่อเอง

เรือรบลำนี้สามารถบอกใคร ๆ ได้เต็มปากว่า กองทัพเรือต่อเอง เพราะงานส่วนใหญ่เป็นบุคลากรของกองทัพเรือเป็นผู้ดำเนินการแทบทั้งสิ้น ที่ต้องว่าจ้างเอกชน ได้แก่งานโครงสร้างตัวเรือ งานปรับ และระบายอากาศ งานตกแต่งภายใน และงานระบบIPMS เท่านั้น ซึ่งเป็นงานที่แรงงานของกองทัพเรือมีไม่เพียงพอ

งานที่กองทัพเรือดำเนินการเอง ได้แก่

งานกลจักร ที่สำคัญคือ การวางระบบขับเคลื่อน ได้แก่ การติดตั้งเครื่องจักรใหญ่ วางเกียร์ หาศูนย์เพลา และติดตั้งใบจักร ซึ่งเป็นงานที่ใช้ช่างฝีมือของกรมอู่ทหารเรือ ข้อสังเกต คือ เป็นงานที่ใช้ช่างซึ่งถ่ายทอดประสบการณ์กันมารุ่นต่อรุ่นมาหลายช่วงอายุคน ผลงานยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ตามงานนี้ยังเป็นงานที่จำกัดอยู่กับตัวบุคคลและเป็นช่างฝีมือซึ่ง มีจำกัด และเริ่มจะสูญเสียไปเรื่อย ๆ จากการลาออกของช่าง การถ่ายทอดองค์ความรู้จึงเป็นสิ่งจำเป็น

นอกจากนี้ การทำงานยังเป็นงานในลักษณะศิลปะมากกว่างานทางวิศวกรรมที่ช่างไม่สามารถ อธิบายขบวนการได้อย่างมีเหตุผลมากนัก และมักเป็นการจำจากรุ่นพี่ที่สอนมา จึงควรส่งวิศวกรไปศึกษาขบวนการนี้ให้ถ่องแท้ จากประเทศที่มีประสบการณ์แล้วนำมาผนวกกับขบวนการที่กรมอู่ทหารเรือเคยใช้นี้ เพื่อพัฒนาให้เป็นขบวนการทางวิศวกรรมอย่างแท้จริง ซึ่งอาจจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นและสะดวกต่อการถ่ายทอดในอนาคต

งานไฟฟ้า เป็นอีกงานหนึ่งที่อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดชดำเนินการเองด้วยกำลังพลที่มี เป็นงานผลิตที่หลายฝ่ายกังวลในช่วงแรก เนื่องจากเป็นการแก้ไขจากแบบเดิมทั้งหมด โดยแก้ไขจากระบบไฟ ๔๔๐ โวลต์ เป็น ๓๘๐ โวลต์ แต่กลับเป็นงานที่มีการเตรียมการเป็นอย่างดีและปัญหาเกิดน้อยที่สุด โดยมีแบบที่ค่อนข้างสมบูรณ์ การประมาณการพัสดุจึงทำได้ง่ายและสามารถเร่งรัดการส่งพัสดุได้ชัดเจนทั้ง เรื่องเวลา และคุณลักษณะของพัสดุ นอกจากนี้ยังมีขบวนการผลิตที่มีการวางแผนเป็นอย่างดี และบริหารแรงงานได้อย่างลงตัว ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า หากแบบและพัสดุมาตรงเวลาแล้วขบวนการผลิตจะไม่สะดุดและมีความต่อเนื่อง

ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือบริษัทที่แก้ไขระบบนี้เป็นบริษัทไทย การประสานการปฏิบัติจึงทำได้ง่าย และการแก้ไขแบบจะอิงพัสดุที่หาได้ในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ทำให้การจัดหาพัสดุทำได้รวดเร็ว สิ่งที่ต้องปรับปรุงก็คือต้องถ่ายแบบจากระบบ AUTO CAD ไปเป็นระบบ Tribon ให้ได้ เพื่อการบูรณาการแบบและแผนที่ดีในอนาคต

งานสรรพาวุธ เป็นงานที่ไม่มีปัญหาในส่วนที่กรมสรรพาวุธทหารเรือรับผิดชอบเลย เนื่องจากกำลังพลมีความคุ้นเคยกับระบบอาวุธเป็นอย่างดี ทั้งปืน ๗๖/๖๒ มม. และปืน ๓๐ มม. การติดตั้งและการ Integrate ระบบจึงเป็นเรื่องง่าย ที่เป็นปัญหามาจากการเตรียมฐานแท่นของฝ่ายตัวเรือซึ่งต้องใช้แบบที่ถูกต้อง

งานอิเล็กทรอนิกส์ กรมอิเล็กทรอนิกส์ทหารเรือมีส่วนที่ต้องดำเนินการเอง คือ งานเดินสายและติดตั้งอุปกรณ์ตามคำแนะนำของบริษัทผู้ส่งพัสดุ ซึ่งสามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดี เพราะบริษัทที่รับจ้างมีความเป็นมืออาชีพจึงแทบไม่มีปัญหาเลย ทั้งนี้เป็นผลมาจากความเป็น Smart Buyer ของกรมอิเล็กทรอนิกส์นั่นเอง งานที่ล่าช้าเป็นปัญหาของการส่งมอบพื้นที่ และสร้างฐานแท่นของฝ่ายตัวเรือที่ได้รับผลกระทบมาจากแบบที่ล่าช้า และไม่สมบูรณ์


วิกฤต : วิกฤตคือโอกาส

วิกฤตที่หนักที่สุดของการต่อเรือลำนี้ก็คือ แบบและพัสดุที่มักจะล่าช้าและไม่ถูกต้อง ในวิกฤตนี้กลับเป็นโอกาสอันดีที่บุคลากรของกองทัพเรือ ได้ฝึกฝนฝีมืออย่างเต็มที่ในเกือบทุกขั้นตอน

แบบที่ล่าช้าและไม่มีรายละเอียดเพียงพอจะถูกแก้ไขโดยกำลังพล ที่จะต้องศึกษาเพิ่มเติมและทำให้ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม งานแก้ไขเหล่านี้มักมีเวลาจำกัดเพราะต้องทำให้เสร็จทันเวลา จึงต้องระดมทุกฝ่ายมาช่วยกันคิด ทำให้เกิดการถ่ายทอดความรู้แชร์ประสบการณ์ร่วมกัน และเกิดความรู้ใหม่ ๆเป็นอย่างดี

พัสดุที่ขอเปลี่ยนแปลง และผิดคุณลักษณะจะต้องมีการศึกษาทั้งเชิงวิศวกรรมและศึกษาจากผู้ใช้ถึงความ เหมาะสมในการใช้งาน เพื่อจะสามารถให้คำตอบกับผู้ร้องขอได้ว่าสมควรเปลี่ยนหรือใช้ของที่ส่งมาผิด ได้หรือไม่ ซึ่งเป็นโจทย์ที่มีเข้ามาแทบทุกสัปดาห์ทำให้ได้ฝึกฝนฝีมืออยู่ตลอดเวลา หากทุกอย่างเรียบร้อยเป็นไปตามเวลาและแผน วิศวกรและช่างฝีมือของกองทัพเรือคงแทบจะไม่ได้ทำอะไรนอกจากประกอบและติดตั้ง ไปตามแบบและพัสดุที่ส่งมา ขบวนการเรียนรู้ชนิด Hands on Experience แบบที่ผ่านมาแทบจะไม่เกิดขึ้น ซึ่งการเรียนรู้ชนิดนี้มีคุณค่ามากกว่าการต่อเรือแบบ Jigsaw มากนัก

สรุป

กองทัพเรือต่อเรือลำนี้เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้กับกำลังพลทุกนายที่ได้ทุ่มเท แรงกาย แรงใจ ต่อเรือลำนี้กันอย่างไม่ย่อท้อ ความสำเร็จนั้นเป็นที่ปรากฏอยู่แล้ว มีปัญหาข้อขัดข้องที่ต้องได้รับการแก้ไขได้แก่ ควรว่าจ้างเอกชนที่มีความคล่องตัวในการจัดหาแบบและพัสดุ ผู้รับเหมาต้องสรรหาช่างฝีมือที่ดีและมีฐานะการเงินมากพอที่จะดูแลช่างไม่ ให้ทิ้งงาน มีผู้ควบคุมงานที่มีประสบการณ์งานด้านต่อเรือจำนวนมาก พอที่จะดูแลและอบรมช่างให้สามารถปฏิบัติงานเรือได้ พื้นที่ในการผลิตบล็อกตัวเรือ ควรมีโรงคลุมมิดชิดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการต่อเรือ

ในส่วนของการทำแผน ควรแบ่งเขตรับผิดชอบในการผลิตเพื่อสะดวกต่อการบูรณาการแผนรายวันของช่างทุก สาขา และง่ายต่อการกำกับงานสร้างให้มีความต่อเนื่อง ควรรักษาความสะอาดด้วยการจ้างพนักงานให้เพียงพอเพื่อความเป็นระเบียบ

งานที่กำลังพลในกองทัพเรือทำเองมักมีปัญหาน้อย เนื่องจากมีองค์ความรู้เดิมอยู่แล้ว มีที่ต้องเพิ่มเติมเล็กน้อยเท่านั้น ได้แก่ งานวางระบบขับเคลื่อน ควรศึกษาเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้โดยมีวิศวกรเป็นแกนนำเพื่อให้เป็นไปตามหลักวิศวกรรมอย่างแท้จริง

งานไฟฟ้าเป็นตัวอย่างความสำเร็จของงาน ที่มีผลมาจากการมีแบบที่สมบูรณ์ทำให้ประมาณการพัสดุได้ถูกต้องทั้งคุณภาพและ ปริมาณ การสั่งพัสดุจึงสามารถทำได้ล่วงหน้า การส่งพัสดุจึงเป็นไปโดยเรียบร้อยทันเวลา ทำให้เป็นงานที่มีปัญหาน้อยที่สุด

ในวิกฤตเหล่านี้เป็นโอกาสที่ดีที่บุคลากรของกองทัพเรือได้มีโอกาสฝึกฝนฝีมือ เป็นเวลานานและต่อเนื่อง ทำให้กองทัพเรือได้สั่งสมประสบการณ์ที่ดีเพิ่มมากขึ้นสมตาม เจตนารมณ์ของการต่อเรือแบบพึ่งพาตนเอง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระปรีชาญาณในการต่อเรือของเราทุกคน

อ้างอิงจาก

วารสารกรมอู่ทหารเรือประจำปี 2557

http://www.dockyard.navy.mi.th/doced/Homepage/sontetset_files/varasan_dock57/DY57-2.pdf

http://www.theopv.com/index.php


 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น