เรือคอร์เวตตรวจการณ์แห่งยุโรป
สหภาพยุโรปหรือ
European
Union หรือ EU
เป็นสหภาพทางเศรษฐกิจและทางการเมือง
ประกอบไปด้วยสมาชิกจำนวน 27 ชาติซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในทวีปยุโรป
มีประชากรรวมกันมากถึง 447 ล้านคน พวกเขาพยายามใช้กฎหมายและนโยบายการค้าร่วมกันมากที่สุด
ใช้เงินสกุลยูโรเหมือนกันเพื่อความคล่องตัว
พวกนี้คือข้อมูลทั่วไปที่ผู้อ่านทุกคนคงทราบกันดี
สหภาพยุโรปยังครอบคลุมมาถึงเรื่องการทหารและความมั่นคงระดับประเทศ
มีการจัดตั้ง Permanent Structure Cooperation หรือ PESCO
ขึ้นมาในปี 2018 โดยมีสมาชิกรวมกัน 25 ประเทศ อันมีจุดเริ่มต้นมาจากสนธิสัญญาลิสบอนในปี 2009 จัดทำขึ้นเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาให้กระบวนการตัดสินใจ
มีประสิทธิภาพมากขึ้นและสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง รวมทั้งให้สหภาพยุโรปเข้ามามีบทบาทในเรื่องใหม่ๆ
หนึ่งในสิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาก็คือ PESCO นั่นเอง
แล้ว
PESCO มีหน้าที่อะไร? หนึ่งในนั้นคือการพัฒนาระบบอาวุธ
อุปกรณ์สื่อสาร และการฝึกอบรมทางทหารร่วมกัน เริ่มจากตั้งโครงการใดโครงการหนึ่งขึ้นมา
มีประเทศเจ้าภาพเสนอสิ่งที่ต้องการพัฒนา ก่อนเชื้อเชิญสมาชิกรายอื่นๆ มาเข้าร่วม
ทำแบบนี้จะมีปริมาณความต้องการเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายทั้งโครงการโดยเฉลี่ยลดลง
ค่าอาวุธหรืออุปกรณ์ที่ถูกพัฒนาลดลง ความเสี่ยงในทุกๆ เรื่องต่ำลงเช่นกัน
โครงการเองก็พลอยมั่นคงไปด้วย สามารถสร้างแผนพัฒนากองทัพ 20 ปีได้ตามใจนึก
นับถึงปลายปี
2019
PESCO มีอยู่ด้วยกัน 47 โครงการ
ที่เข้าสู่กระบวนการเริ่มต้นเดินหน้าพัฒนา อาทิเช่นโครงการเฮลิคอปเตอร์โจมตี Tiger
Mark III ฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพ มีเยอรมันกับสเปนเป็นผู้เข้าร่วม โครงการยานใต้น้ำต่อต้านทุ่นระเบิดเบลเยี่ยมเป็นเจ้าภาพ
มีกรีซ ลัตเวีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ โปรตุเกส และโรมาเนียเข้าร่วม รวมทั้งโครงการ
European Patrol Corvette หรือเรือคอร์เวตตรวจการณ์แห่งยุโรปซึ่งอิตาลีเป็นเจ้าภาพ
โครงการนี้เองคือที่ไปที่มาบทความนี้ ผู้เขียนกล่าวถึงโดยคร่าวๆ ก่อนเพราะยังมีข้อมูลไม่มาก
เน้นมาที่กองทัพเรืออิตาลีหลังปี 2020 เป็นหลักนะครับ
กองทัพเรืออิตาลีอยู่ในช่วงเปลี่ยนถ่ายครั้งใหญ่
มีการทยอยปลดประจำการเรือฟริเกตกับเรือคอร์เวต ซึ่งถือเป็นกระดูกสันหลังของกองทัพออกไปทั้งหมด
แล้วนำเรือรบรุ่นใหม่ทันสมัยกว่าเดิมเข้าประจำการแทน ลำแรกก็คือเรือฟริเกตอเนกประสงค์ชั้น
FREMM
ซึ่งผู้อ่านคุ้นเคยเป็นอย่างดี เรือมีระวางขับน้ำประมาณ 6,500
ตัน ยาว 144 เมตร กว้าง 19.7 เมตร กินน้ำลึกสุด 5.1 เมตร จัดว่าเป็นเรือฟริเกตขนาดค่อนข้างใหญ่ลำหนึ่ง
ราชนาวีอิตาลีจัดหาเรือจำนวน
10
ลำ แบ่งเป็นรุ่นทั่วไป 6 ลำกับรุ่นปราบเรือดำน้ำ
4 ลำ ที่แตกต่างกันก็คือรุ่นปราบเรือดำน้ำมีโซนาร์ลากท้าย CAPTAS
4 ใช้ปืนใหญ่ 76/62 มม.จำนวน
2 กระบอก ติดตั้งระบบเป้าลวงตอร์ปิโด และมีจรวดปราบเรือดำน้ำ
MILAS ด้วย (แต่จรวดต่อสู้เรือรบลดลงเพราะใช้แท่นยิงเดียววัน)
ส่วนรุ่นทั่วไปมีแค่โซนาร์หัวเรือกับโซนาร์เตือนภัยทุ่นระเบิด ใช้ปืนใหญ่ 127/64
มม.กับ 76/62 มม.อย่างละ 1 กระบอก มีแค่ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำไว้ป้องกันตัว
เหตุผลที่แบ่งเป็น 2 รุ่นย่อยเกี่ยวข้องกับภารกิจและหลักนิยม
รวมถึงราคาเรือซึ่งรุ่นปราบเรือดำน้ำแพงกว่าพอสมควร
ในภาพคือเรือลำแรกสุดของโครงการชื่อ
Carlo
Bergamini และเป็นชื่อชั้นเรืออย่างเป็นทางการ ใช้หมายเลข F590 หมายถึงเป็นเรือฟริเกต สร้างครบ 10 ลำแล้วแต่ยังเข้าประจำการไม่ครบ
นำมาทดแทนเรือฟริเกตชั้น Maestrale จำนวน 8 ลำ (ปลดประจำการแล้ว 3 ลำ
ที่เหลือจอดเทียบท่าเป็นงานหลัก) กับเรือฟริเกตชั้น Lupo อีกจำนวน
4 ลำ (ปลดประจำการและขายต่อให้เปรูหมดแล้ว) ว่ากันตามภารกิจกับตำแหน่งในกองเรือตรงๆ
นะครับ
เรือฟริเกตชั้น
FREMM
เป็นกระดูกสันหลังราชนาวียุคใหม่ มีจำนวนมากเพียงพอในการร่วมรบยามเกิดสงคราม
แต่ไม่เพียงพอในการทำภารกิจยามปรกติ รวมทั้งอิตาลีมีเรือรบขนาดกลางอีกจำนวนหนึ่ง
บางลำปลดประจำการแล้วบางลำถูกขายต่อไปแล้ว
จำเป็นต้องหาเรือรบรุ่นใหม่นำมาทดแทนของเดิม โดยที่การจัดหาออกจะแปลกๆ ไปสักเล็กน้อย
โครงการเรือตรวจการณ์อเนกประสงค์
หรือ Multipurpose
Offshore Patrol Vessel หรือเรียกสั้นๆ ว่า PPA กำเนิดขึ้นมาเพื่อทดแทนเรือฟริเกตตรวจการณ์ชั้น Soldari จำนวน 4 ลำ (เรือฟริเกตชั้น Lupo ของอิรักที่ถูกแบนห้ามจัดส่ง อิตาลีจึงนำมาใช้งานเอง) กับเรือคอร์เวตชั้น
Minerva อีก 8 ลำ เรือลำแรกชื่อ Paolo
Thaon di Revel ปล่อยลงน้ำเรียบร้อยแล้วทดลองเดินเรือแล้ว
และจะใช้ชื่อนี้เป็นชื่อชั้นเรืออย่างเป็นทางการ ชมภาพเรือตรวจการณ์ลำใหม่เอี่ยมกันก่อนดีกว่า
เรือใช้หมายเลข
P430
หมายความว่าสังกัดกองเรือตรวจการณ์ มีความยาว 143 เมตร กว้าง 16.5 เมตร กินน้ำลึกสุด 5 เมตร ระวางขับน้ำบริษัทผู้ผลิตไม่ได้ระบุ ที่พอหาได้คือปรกติประมาณ 4,500
ตัน ติดปืนใหญ่ 127/64 มม.กับ 76/62 มม.อย่างละ 1
กระบอก โดยที่ปืนใหญ่ 76/62 มม.จะเป็นรุ่นใหม่ชื่อ Soveraponte และในภาพคือปืนกระบอกแรกของโลก
กระสุนจำนวนหนึ่งได้ถูกบรรจุไว้ในป้อมปืน ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ใต้ดาดฟ้าเรือเหมือนรุ่นเก่า
ปืนใหญ่
76/62
ของอิตาลีขายดิบขายดีก็จริง ทว่าเจ้าของสินค้าเองไม่เคยนิ่งนอนใจ
คู่แข่งสำคัญของพวกเขาคือปืนใหญ่ 57 มม.ของ Bofors นอกจากยิงได้เร็วกว่าเกือบสองเท่าแล้ว
ยังใช้งานแบบไม่ต้องเจาะดาดฟ้าเรือได้ด้วย เพราะมีกระสุนอยู่ในป้อมปืนถึง 120
นัด แบ่งเป็น 3 แมกกาซีน แมกกาซีน ละ 40
นัด ถ้ายิงหมดแมกอาจเสียเวลาเปลี่ยนแมกใหม่ไปบ้าง แลกกับการไม่ต้องเจาะใต้ดาดฟ้าเรือให้เสียพื้นที่
Soveraponte กำเนิดขึ้นมาเพื่อต่อกรปืนใหญ่ 57 มม.ได้ดีกว่าเดิม
ต้องรอดูต่อไปว่า…กระสุนนำวิถี DART ราคาแพงลิบแต่เขาว่าแม่นโคตร
ถึงขนาดเทียบเท่าระบบป้องกันตนเองระยะประชิดแท้ๆ (หรือเปล่าผู้เขียนไม่แน่ใจ?) จะแย่งตลาดกระสุน 3P ซึ่งเลือกวิธีจุดชนวนได้ 6
รูปแบบได้มากน้อยแค่ไหน
เรือตรวจการณ์
PPA ยังมีปืนกลอัตโนมัติ 25 มม.อีก
2 กระบอก เท่ากับว่าเรือมีปืนขนาดต่างๆ ถึง 3 แบบ ไม่นับรวมปืนกล M2 ขนาด 12.7 มม. หรือปืนกลเบา MG42/59 ขนาด
7.62 มม.ซึ่งนำมาติดได้ทุกเมื่อ แค่อาวุธปืนอย่างเดียวผู้เขียนร้องกรี๊ดแล้วครับ
สามารถโจมตีชายฝั่งระยะ 100 กิโลเมตรด้วยกระสุนต่อระยะขนาด 127/64
มม. จัดการกับจรวดต่อสู้เรือรบด้วยกระสุนนำวิถี
DART ขนาด76/62 มม. หรือไล่สอยเรือยางท้องแข็งพลีชีพด้วยกระสุนธรรมดาขนาด 25 มม.
อิตาลีสั่งซื้อเรือรุ่นนี้จำนวน
7 ลำและอาจซื้อเพิ่มอีก 3 ลำ แบ่งเป็นรุ่น Full
จำนวน 2 ลำ ติดเรดาร์ 3 มิติ
KRONOS รุ่น AESA
ฝังเสากระโดง โดยใช้เรดาร์ C-Band กับ S-Band อย่างละ 4 ตัว มีแท่นยิงแนวดิ่งจำนวน 16 ท่อยิง สำหรับจรวดต่อสู้อากาศยาน Aster หรือจรวดโจมตีชายฝั่งระยะไกล
Scalp Naval มีจรวดต่อสู้เรือรบ Otomat Mk2 อีก 8 ท่อยิง มีโซนาร์ลากท้าย CAPTAS 4 กับแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ มีระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ มีระบบเป้าลวงรุ่นมาตรฐาน มีเฮลิคอปเตอร์ EH101 พร้อมโรงเก็บถึง 2 ลำ ฉะนั้นแล้ว PPA รุ่น Full คือเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำดีๆ นี่เอง
ถัดมาคือรุ่น
Light+ จำนวน 3 ลำ อาวุธบนเรือลดลงมาบ้าง
ระบบปราบเรือดำน้ำกับจรวดต่อสู้เรือรบหายไป เรดาร์ AESA ฝังเสากระโดงเหลือแค่
C-Band สำหรับตรวจจับระยะไกล (360 กิโลเมตร)
แต่ยังมีจรวดต่อสู้อากาศยาน Aster หรือจรวดโจมตีชายฝั่งระยะไกล
Scalp Naval เหมือนเดิม และรุ่นสุดท้ายคือรุ่น Light อีกจำนวน 2 ลำ มีแค่ปืน 3 ขนาดไว้ป้องกันตัวเอง
อนาคตอาจติดตั้งแท่นยิงแนวดิ่งจำนวน 16 ท่อยิง
สำหรับจรวดต่อสู้อากาศยานระยะใกล้รุ่นใหม่เอี่ยม เรดาร์ AESA ฝังเสากระโดงเหลือแค่ S-Band สำหรับตรวจจับระยะใกล้
ลำนี้แหละครับเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งตัวจริงเสียงจริง
เรือ
PPA
ไม่ได้ออกแบบลดการสะท้อนเรดาร์ เน้นมาทางความอเนกประสงค์เสียมากกว่า
กลางเรือใส่เรือเล็กขนาด 15 เมตรได้
หรือถอดเครนเดวิดออกเพื่อใส่ตู้คอนเทนเนอร์เอนกประสงค์ 8 ตู้
(มีเครนขนาดใหญ่กลางเรือ) ท้ายเรือมี Mission Bay ขนาดใหญ่โตทันสมัย
มี Stern Ramp สำหรับเรือยางท้องแข็งขนาด 11 เมตร วางตู้คอนเทนเนอร์เอนกประสงค์ได้อีก 5 ตู้ บางภารกิจอาจใส่ยานใต้น้ำไร้คนขับหรืออุปกรณ์ในการปราบทุ่นระเบิด
กราบซ้ายมีพื้นที่สำหรับติดตอร์ปิโดขนาด 533 มม.รุ่น Black Shark
สามารถยิงได้ทั้งเรือดำน้ำหรือเรือผิวน้ำที่ระยะไกลสุด 50 กิโลเมตร
โครงการ
PPA
ซึ่งมีสโกแกนสั้นๆ ว่า ‘One Size Fits All’ และแปลยาวๆ
ว่า ‘สามารถทำหน้าที่ทดแทนเรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศ
ไล่ลงมาถึงเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งรุ่นเก่าทั้งหมด’
โครงการนี้จะสำเร็จเรียบร้อยในปี 2035 ซึ่งถ้าเป็นไปตามแผนไม่มีอะไรขัดขวาง
(อาทิเช่นไวรัสถล่มโลกจนต้องสั่งปิดประเทศ) ราชนาวีอิตาลีในปี 2035 จะเป็นไปตามนี้
ผู้เขียนขอนับเฉพาะแค่เรือรบ
กองเรือบรรทุกเครื่องบินมีเรือ 1 ลำ กองเรือยกพลขึ้นบกมีเรือ
4 ลำ กองเรือพิฆาตมีเรือ 4 ลำ กองเรือฟริเกตมีเรือ
10 ลำ และกองเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งมีเรือ 7+8=15 ลำ โดยเป็นเรือจากโครงการ PPA 7 ลำ
กับเรือจากโครงการใหม่ของ PESCO อีก 8
ลำ ใช้ชื่อว่าโครงการเรือคอร์เวตตรวจการณ์แห่งยุโรป หรือ European Patrol
Corvette Program หรือ EPC อันเป็นที่มาบทความที่ต้องเกริ่นนำยาวที่สุดในอาเซียน
ภาพถัดไปเป็นช่วงเวลาปลดประจำการเรือ
ของกองทัพเรืออิตาลีซึ่งผู้เขียนได้มานานมากแล้ว
ออกตัวเล็กน้อยว่าอาจไม่ตรงข้อเท็จจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ เรือฟริเกตชั้น Maestrale บางลำปลดก่อนและบางลำปลดหลัง ผู้เขียนตรวจสอบพบว่าส่วนใหญ่คลาดเคลื่อนไม่เกิน
2 ปี เพราะฉะนั้นอยากให้ดูเป็นข้อมูลประกอบเนื้อหาบทความ
ขีดเส้นใต้สีเหลืองคือเรือตรวจการณ์ชายฝั่งชั้น
Cassiopea เรือทั้ง 4 ลำปลดประจำการในปี 2022-2023 ส่วนขีดเส้นใต้สีแดงคือเรือตรวจการณ์ชายฝั่งชั้น Comandati เรือทั้ง 4 ลำปลดประจำการในปี 2023-2025 และขีดเส้นใต้สีน้ำเงินคือเรือตรวจการณ์ชายฝั่งชั้น Sirio เรือ 2 ลำปลดประจำการในปี 2024-2025 เท่ากับว่าอิตาลีใช้เวลาเพียง 4 ปีเท่านั้น
ในการล้างบางกองเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งจำนวน 10 ลำ
ให้หายไปจากโลกเบี้ยวๆ ใบนี้หน้าตาเฉย
ตรงนี้แหละครับที่ผู้เขียนไม่มั่นใจ
ระยะเวลาสั้นเกินไปในการหาเรือใหม่ทดแทน คาดว่าเรือหลายจะประจำการต่อไปเรื่อยๆ
จนกว่าเรือ PPA เข้าประจำการในจำนวนเพียงพอ จากนั้นเรือที่ยังเหลือจะถูกแทนที่ด้วยเรือคอร์เวต
EPC
กองทัพเรืออิตาลีเป็นชาติแรกๆ
ที่ใช้เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง เรือลำแรกของพวกเขาคือเรือตรวจการณ์ชั้น Cassiopea ระวางขับน้ำเต็มที่ 1,500 ตัน เข้าประจำการในปี 1989 ใช้ปืนใหญ่ 76/62 รุ่น Allargato จากเรือคอร์เวตรุ่นเก่า กับปืนกลขนาด 25 มม.ไว้ป้องกันตัว มีลานจอดและโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์
ทำหน้าที่ดูแลเรือประมงของตัวเองไม่ให้ถูกคุกคาม นี่คือต้นแบบที่เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งเกือบทั้งหมดในปัจจุบัน
และเป็นเรือลำแรกที่ต้องปลดประจำการตามแผน
ลำถัดไปคือเรือชั้น
Comandati ซึ่งค่อนข้างทันสมัย มีระวางขับน้ำ 1,520 ตัน ยาว 88.4
เมตร กว้าง 12.2 เมตร กินน้ำลึก 3.4 เมตร ถูกออกแบบให้ลดการสะท้อนคลื่นเรดาร์ โดยการสร้าง Superstructure
ปิดกราบเรือทั้งสองข้างอย่างมิดชิด ช่องนำเรือเล็กออกมีแผ่นเหล็กปิดกั้นอย่างดี
ติดตั้งปืนใหญ่ 76/62 STRALES ซึ่งเป็นรุ่นทันสมัยที่สุด โดยมีปืนกล
25 มม.เป็นปืนรอง มาพร้อมเรดาร์กับระบบสื่อสารทันสมัย
มีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์แบบพับเก็บได้ กับลานจอดรองรับเฮลิคอปเตอร์ NH90
และลำสุดท้ายคือเรือชั้น
Sirio ซึ่งใช้แบบเรือเดียวกับเรือชั้น Comandati แต่ไม่ติดปืนใหญ่ 76/62 มม.กับเรดาร์ควบคุมการยิง แต่นำปืนฉีดน้ำแรงดันสูงมาใช้งานแทน ไม่มี Superstructure
ปิดกราบเรือทั้งสองข้าง เปิดโล่งเหมือนเรือหลวงปัตตานีพูดง่ายๆ
ให้เห็นภาพ ใช้เครื่องยนต์กำลังน้อยกว่าความเร็วน้อยกว่า
ทำให้มีราคาถูกกว่าเรือน้องสาวพอสมควร
เรือทั้ง
10
ลำจะถูกแทนที่ด้วยเรือคอร์เวต EPC จำนวน 8
ลำ ไม่แน่ใจว่าอิตาลีใช้หมายเลขเรือว่า F หรือ
P กันแน่ ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือปลดจริงตามแผนหรือไม่
และชาติไหนจะซื้อเรือซึ่งมีอายุเพียง 20 ปีไปใช้ต่อ เดาเล่นๆ
ว่าเรือชั้น Cassiopea ถูกปลดตามแผน เรือชั้น Sirio ถูกขายต่อให้ลูกค้าประจำ (เปรู เวเนซูเอลา บังคลาเทศ ) ส่วนเรือชั้น Comandati ใช้งานต่อไปอีกหลายปี จนกว่าเรือ PPA จะเข้าประจำการในจำนวนมากเพียงพอ
ถึงตรงนี้พอมองเห็นภาพรวมแล้วนะครับ
กลับมาที่นางเอกของบทความกันบ้าง บริษัท Fincantieri มีแบบเรือในมือรองรับความต้องการ เป็นเรือคอร์เวตรุ่นใหม่ระวางขับน้ำ 2,800
ตัน ยาว 107 เมตร กว้าง 14.4 เมตร ออกแบบลดการสะท้อนคลื่นเรดาร์แบบ Full Stealth ติดอาวุธแบบเรือคอร์เวตรุ่นใหม่คือไม่มีระบบปราบเรือดำน้ำ
มีแค่โซนาร์เตือนภัยทุ่นระเบิดซึ่งปัจจุบันค่อนข้างสำคัญมาก
แต่มิตรรักแฟนเพลงส่วนใหญ่มองข้ามอยากได้อาวุธล้นลำมากกว่า
Fincantieri เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่มีอู่ต่อเรือทั่วประเทศ นอกจากกองทัพเรืออิตาลียังมีลูกค้าอื่นจำนวนมาก
โดยเฉพาะตะวันออกกลาง แอฟริกา และอเมริกาใต้ พวกเขามีสินค้าดีๆ
อยู่ในมือค่อนข้างเยอะ รวมทั้งเรือคอร์เวตอเนกประสงค์ซึ่งเสนอให้กับกองทัพเรือ แต่ทว่าบังเอิญหาผู้โชคดีรายแรกได้เสียก่อน
เดือนกันยายน 2017 กองทัพเรือกาตาร์ขอซื้อเรือยกพลขึ้นบกดาดฟ้าเรียบ
1 ลำ เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง 2 ลำ
และเรือคอร์เวตป้องกันภัยทางอากาศอีก 4 ลำ ในวงเงิน 5.9
พันล้านเหรียญซึ่งไม่ทราบว่ารวมอะไรบ้าง ผู้อ่านไม่ต้องสนใจเรื่องอื่นมุ่งมาที่เรือคอร์เวตอย่างเดียว
นี่คือโมเดลเรือคอร์เวตป้องกันภัยทางอากาศ
Fincantieri ใช้แบบเรือที่มีอยู่แล้วมาปรับปรุงให้ทันสมัย ระวางขับน้ำ 3,2500 ตัน ยาว 107 เมตร กว้าง 14.7 เมตร
ติดปืนใหญ่ 76/62 Super Rapid 1 กระบอก ปืนกลอัตโนมัติ Merlin
30 มม. 2 กระบอก
จรวดต่อสู้เรือรบ Exocet MM40 8 นัด
จรวดต่อสู้อากาศยานระยะไกล Aster-30 16 นัด
จรวดต่อสู้อากาศยานระยะใกล้ RAM อีก 21
นัด ใช้เรดาร์ 3 มิติ KRONOS Grand-N
ทำงานร่วมกับจรวดทั้ง 2 แบบอย่างเต็มประสิทธิภาพ
เรือใช้ปล่องระบายความร้อน
2
ปล่องเรียงกัน แต่ติดที่กราบซ้ายกราบขวาไม่ตรงกันตามสไตล์ยุโรป
ข้อดีก็คือมีที่ว่างติดปืนกล 30 มม.ได้
ข้อเสียก็คือการออกแบบภายในวุ่นวายกว่าเดิม เรือลำนี้ไม่มีโซนาร์ตรวจจับเรือดำน้ำกับตอร์ปิโดเบา
ตามสมัยนิยมซึ่งเดี๋ยวนี้เริ่มลามมาถึงเรือฟริเกตบางลำ
กาตาร์เน้นป้องกันภัยทางอากาศจึงตัดระบบปราบเรือดำน้ำทิ้ง
สัญญาสั่งซื้อเสร็จสมบรูณ์ในกันยายน
2017
ต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ 2020 มีพิธีปล่อยเรือคอร์เวตลำแรกลงน้ำที่อิตาลี
และนี่คือภาพเรือคอร์เวตป้องกันภัยทางอากาศชั้น Doha ของกาตาร์
อย่าว่าผู้เขียนบ้าเห่ออะไรเลยนะครับ เวลาเขียนชื่อเต็มๆ
แล้วมันรู้สึกตื่นเต้นเร้าใจ ป้องกันภัยทางอากาศต้องใช้จรวด Aster-30 หรือ SM-2 ไม่ใช่มีแค่ ESSM
แล้วมาทำเนียน
งานออกมาดีมากสมเป็นอิตาลี
ใช้เวลาสร้างเรือค่อนข้างเร็วจนน่าตกใจ
เรือคอร์เวตของกาตาร์เล็กกว่าเรือฟริเกตของเรา 400 ตัน
หัวเรือแบนราบมีการหักมุมลงเล็กน้อย เวลาผูกเรือต้องเปิดช่องใต้ดาดฟ้าเพื่อโยนเชือก
ใช้เรดาร์กับระบบสงครามอีเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่ล่าสุด ราคาแพงแต่ทว่างานดีมีความน่าเชื่อถือ
รวมทั้งเหมาะสมกับภารกิจที่ได้รับมอบหมาย
หลังขายเรือให้กาตาร์ได้ไม่กี่เดือน
อิตาลีตั้งโครงการ European Patrol Corvette
ขึ้นมา พร้อมกับเชื้อเชิญประเทศในกลุ่ม PESCO ให้มาเข้าร่วม
แค่เพียงไม่นานพวกเขาได้เหยื่อคนคุ้นเคยหน้าเดิม กองทัพเรือฝรั่งเศสซึ่งเคยร่วมงานกับอิตาลีมาแล้วหลายครั้ง
ทั้งโครงการเรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศหรือเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำ ฝรั่งเศสต้องการเรือรบรุ่นใหม่มาแทนที่เรือฟริเกตชั้น
Floreal จำนวน 6 ลำ ซึ่งเริ่มเข้าประจำการตั้งแต่ปี
1992 อายุเข้าสู่วัยชราเสียแล้ว
บริษัท
Fincantieri
ของอิตาลี กับบริษัท Naval Group ได้รวมตัวกันเฉพาะกิจในชื่อ
Naviris เพื่อจัดการโครงการ European Patrol Corvette อย่างจริงๆ จังๆ นี่คือภาพแบบเรือในโครงการซึ่งมีการเปิดเผยผ่านเว็บบอร์ดอิตาลี
เป็นแบบเรือเวอร์ชันอิตาลีเท่านั้น
ระวางขับน้ำ 3,000 ตัน ยาว 110 เมตร
กว้าง 15.2 เมตร กินน้ำลึกสุด 5.2 เมตร
ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 4 ตัว ความเร็วสูงสุด 24 นอต ระยะปฏิบัติการณ์ 4,000 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว
14 นอต ติดตั้งปืนใหญ่ 76/62 STRALES
กับปืนกลอัตโนมัติ 25 มม. ใช้เรดาร์ 3
มิติ KRONOS Grand-N
ทำงานคู่กับจรวดต่อสู้อากาศยานระยะใกล้รุ่นใหม่ โดยมีแท่นยิงแนวดิ่งจำนวน 8
ท่อ มีโซนาร์เตือนภัยทุ่นระเบิด
มีช่องปล่อยเรือเล็กสองกราบเรือจำนวน 4 จุดด้วยกัน
ลานจอดและโรงเก็บสำหรับเฮลิคอปเตอร์ NH90 ท้ายเรือน่าจะมี Stern
Ramp สำหรับเรือยางท้องแข็งอีก 1 ลำ
อิตาลีแบ่งเรือออกเป็น
2 รุ่นย่อย รุ่นสูงจะติดจรวดต่อสู้เรือรบอีก 4 นัด
และอาจมีโซนาร์ลากท้าย Towed Array System ทำงานโหมด Passive
เพิ่มเข้ามา แต่ไม่มีตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำบนเรือ
(ใช้เฮลิคอปเตอร์บินไปจัดการหย่อน) ส่วนรุ่นต่ำกว่ายังติดจรวดต่อสู้อากาศยานอยู่ดี
มีระบบเรดาร์ ระบบเป้าลวง ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ครบครัน
แบบเรือถูกปรับปรุงจนดูแตกต่างจากต้นฉบับ
อย่างแรกใช้ปล่องระบายความร้อนแบบท่อคู่ ตั้งอยู่กลางเรือเพียงจุดเดียวเท่านั้น
มีเสากระโดงเรืออันที่สองใหญ่กว่าเดิม เพราะเสากระโดงหลักใส่ลูกโลกกลมๆ ป้องกันเรดาร์
3
มิติไว้ ติดอุปกรณ์สื่อสารกับระบบตรวจจับสัญญาณเรดาร์ไม่สะดวก
ต้องแยกมาติดต่างหากพร้อมเรดาร์เดินเรือช่วยนำร่องอากาศยาน
ความต้องการแรกของอิตาลีคือ
8
ลำประจำการลำแรกในปี 2027 ส่วนฝรั่งเศสต้องการ
3 ลำประจำการลำแรกในปี 2030 ต่อมาไม่นานกองทัพเรือกรีซขอร่วมโครงการด้วย
พวกเขาต้องการ 2 ลำทำให้มียอดรวมอยู่ที่ 13 ลำ แต่เหตุการณ์ยังไม่จบแต่เพียงเท่านี้ ต้นปี 2020
สเปนให้ความสนใจเข้าร่วมอีกหนึ่งชาติ รวมทั้งฝรั่งเศสกับกรีซต้องการสร้างเรือมากกว่าเดิม
มีการประมาณการณ์กันอย่างคร่าวๆ ว่า ถ้าสเปนเซ็นสัญญาร่วมโครงการจริงจะมียอดรวมถึง
20 ลำ
มีเรื่องหนึ่งซึ่งผู้เขียนแปลกใจเล็กน้อย
ทั้งฝรั่งเศสและสเปนมีแบบเรือคอร์เวตในมืออยู่แล้ว มีความทันสมัยไม่แพ้กันขายดิบขายดีเช่นกัน
มีลูกค้าเข้ามาอุดหนุนมากมายหลายชาติ ครั้นพอตัวเองสร้างเรือกลับมารวมกับอิตาลีเฉยเลย
อาจเป็นเพราะจำนวน 20 ลำทำให้เรือมีราคาถูกกว่าเดิม
ในสภาวะที่ทุกประเทศเศรษฐกิจไม่ดีเท่าที่ควร อิตาลีเองใช้คำว่าย่ำแย่ก็คงไม่น่าเกลียด
ยิ่งมาเจอไวรัสถล่มโลกเข้าไปยิ่งหนักหนาสาหัส
และอาจเป็นเพราะเรือมีช่องปล่อยเรือเล็กถึง 4 ช่อง
ก่อนพูดถึงประเด็นนั้นอยากให้ดูของเล่นใหม่
จรวดต่อสู้อากาศยานระยะใกล้รุ่นล่าสุดของอิตาลีชื่อว่า CAMM-ER กองทัพบกกับกองทัพอากาศนำมาทดแทนจรวด Aspide 2000 ส่วนกองทัพเรือนำมาทดแทนจรวด
Aster-15 หมายความว่าจรวด Aspide 2000
ต้องกลับบ้านเก่าแน่นอน ส่วนจรวด Aster-15 อาจไม่สั่งซื้อเพิ่มอีกต่อไปแล้ว
จรวดต่อสู้อากาศยาน
CAMM-ER มีระยะยิงไกลสุด 45 กิโลเมตร โดยการนำจรวด CAMM หรือ Sea Ceptor มาปรับปรุงเพิ่มเติม ใส่ครีบกันโคลงแบบพับไม่ได้เพิ่มเข้ามา
(ครีบบังคับทิศทางยังคงพับได้เหมือนเดิม)
ติดบูตเตอร์ท้ายจรวดเพิ่มระยะทางให้ไกลกว่าเดิม ใส่แท่นยิงแนวดิ่ง Sylver ได้ 2 นัดต่อหนึ่งท่อ ขณะที่ Aster-15 ใส่ได้แค่หนึ่งนัดต่อหนึ่งท่อ ราคาจรวดอาจไม่ต่างกันสักเท่าไรก็จริงอยู่
แต่สามารถเพิ่มจำนวนจรวดได้มากขึ้นถึงสองเท่าตัว
เรือตรวจการณ์
PPA
รุ่น Light กับเรือคอร์เวต EPC จะได้ใช้จรวด CAMM-ER เป็นชุดแรก ส่วนจะเลยไปถึงเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำ
เรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศ เรือบรรทุกเครื่องบินติดสกีจัมป์ และเรือยกพลขึ้นดาดฟ้าเรียบลำใหม่หรือไม่
คงต้องรอดูกันต่อไปในอนาคต แปลกดีเหมือนกันที่อิตาลีใช้จรวดอังกฤษ
แต่ก็อย่างว่าเขาต้องเลือกสิ่งที่เหมาะสมที่สุด
จรวดต่อสู้อากาศยาน
CAMM-ER ยังขอท้าเบียดจรวด ESSM ได้ด้วย
เพราะมีระยะยิงใกล้เคียงกันมาก ไม่ต้องใช้เรดาร์ควบคุมการยิงก็จริง
เพียงแต่ราคาจะสูงกว่ากันอย่างแน่นอน ขึ้นอยู่กับผู้ใช้งานล่ะครับว่าชอบแบบไหน
ปริมาณที่ใส่ต้องน้อยกว่ากันอยู่แล้ว แต่อย่างที่รู้ว่าชาติเล็กๆ ไม่ค่อยมีเงินซื้อจรวด
ใช้แท่นยิง Mk-41 8 ท่อโอกาสใส่ ESSM ครบทั้ง
32 นัดแทบเป็นไปไม่ได้ ใช้แท่นยิงแนวดิ่ง Sylver 8 ท่อและใส่ CAMM-ER 16
นัดยังน่ารักน่าลุ้นกว่าเยอะ
มาถึงประเด็นปิดท้ายก่อนจบบทความ
ประมาณ 10
ปีที่แล้วทั่วโลกต่างฮิตคำว่า Mission Bay ขึ้นมา
แล้ว Mission Bay คืออะไร? พูดง่ายๆ
ก็คือพื้นที่ใช้งานอเนกประสงค์ เพิ่มเติมขึ้นมาจากพื้นที่บนดาดฟ้าเรือตามปรกติ
ซึ่งเรือรบส่วนใหญ่ใช้ติดอาวุธจนแทบไม่เหลือ
จึงหันมามองพื้นที่ท้ายเรือใต้ลานจอดเฮลิคอปเตอร์
ในอดีตไว้ชมพระอาทิตย์ตกดินกับโยงเชือกผูกเรือ (นึกถึงเรือหลวงตากสินเข้าไว้)
ถ้าทันสมัยหน่อยอาจใส่โซนาร์ลากท้ายเข้าไป จุดนี้แหละครับที่ได้ถูกพัฒนาเพิ่มเติม
Mission
Bay รุ่นแรกจะเป็นประมาณนี้ ภาพซ้ายมือเป็นท้ายแบบเรือ
Spartan Project ของบริษัท Steller Systems มี
Stern Ramp สำหรับเรือยางท้องแข็ง 1 ลำ
มีเครนบนหลังคาขนาดใหญ่ สำหรับยกเรือยางเข้ามาเก็บด้านใน หรือยกตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์มาไว้ด้านลึกสุด
ส่วนภาพขวามือมาจากเรือ LCS ชั้น Freedom ของอเมริกา ไม่มี Stern Ramp แต่มีเครนบนหลังคาขนาดใหญ่มาก
ยึดออกมานอกตัวเรือค่อนข้างเยอะ ในภาพกำลังหิ้วยานผิวน้ำไร้คนขับต่อต้านทุ่นระเบิด
ผู้อ่านเห็นเหมือนที่ผู้เขียนเห็นไหมครับ
เรือทั้งสองลำมีท้ายเรือค่อนข้างสูงมาก เนื่องจากต้องยัด Mission
Bay ขนาดใหญ่ใต้ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ สำหรับเรือชั้น Freedom ไม่มีปัญหามากนัก เพราะถูกออกแบบให้สูงกว่าเรือทั่วไปอยู่แล้ว แต่ Spartan
Project กลายเป็นเรือท้ายโด่งไปเลย Mission Bay มีข้อดีคือเรื่องความสวยงาม แยกเป็นเอกเทศและไม่กินพื้นที่ส่วนอื่น แต่แอบมีข้อเสียนับรวมกันได้หลายข้อ
1 ราคาสร้างเรือแพงขึ้นแน่นอน ยิ่งออปชันเยอะยิ่งราคาแพงกระหน่ำ
2 ต้องแก้ไขหลักอากาศพลศาสตร์กันอีกพอสมควร
3 การนำตู้คอนเทนเนอร์เข้าและออกยากมาก มีโอกาสที่จะผิดพลาดสูง
และต้องหันท้ายเรือเข้าหาท่าเรือ
4 ถ้าเครนใช้งานไม่ได้คือจบทันที เรือยางอาจแบกลงมาที่ Stern Ramp ได้ แต่ตู้คอนเทนเนอร์จะค้าคางอยู่แบบนั้น
5
เนื่องจากอยู่ใต้ลานจอดเฮลิคอปเตอร์
อาจได้รับผลกระทบจากแรงกระแทกระหว่างลงจอด หรืออุบัติเหตุต่างๆ
เพราะด้านบนเป็นจุดใช้งานบ่อยครั้ง ส่งผลมายังจุดอ่อนสำคัญก็คือเครนหลังคาสำหรับยกของ
ด้วยเหตุผลต่างๆ นาๆ ที่อ้างถึง ทำให้ Mission
Bay ท้ายเรือไม่ค่อยได้รับความนิยม ที่เห็นว่ามาแน่นอนคือเรือตรวจการณ์
PPA ของอิตาลี กับเรือคอร์เวตขนาด 3,900 ตันของฟินแลนด์ ซึ่งใช้ Mission Bay
วางทุ่นระเบิดเป็นภารกิจสำคัญ ส่วนที่เหลือยังเป็นเรือกระดาษไม่มีคนกล้าซื้อ
โดยเฉพาะเรือประเภท Crossover รุ่นใหม่หลายลำ ต้องนำเฮลิคอปเตอร์ลงลิฟต์มาเก็บใน
Mission Bay เนื่องจากไม่มีโรงเก็บเพื่อให้มีลานจอดกว้างๆ
ดูจากทรงแล้วน่าจะหาผู้โชคร้ายลำบากมาก
การใส่
Mission
Bay ท้ายเรือมีความยุ่งยากและมีราคาแพง อังกฤษจึงออกแบบ Mission
Bay รุ่นใหม่ขึ้นมา เพื่อใช้งานบนเรือฟริเกตชั้น Type 26 ของตัวเอง ตอนเรือลำนี้เปิดตัวในปี 2011 ยังใช้ Mission
Bay ท้ายเรืออยู่เลย ครั้นพอเป็นลำจริงถูกโยกย้ายมาอยู่กลางเรือ
เลือกพื้นที่โล่งๆ ไม่มีอะไรบังประมาณ 20 เมตร
วางเรือยางท้องแข็งหรือยานผิวน้ำไร้คนขับขนาดไม่เกิน 15 เมตรได้
4 ลำ หรือจะเป็นตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ 4 ตู้กับเรือยางท้องแข็ง 11 เมตรอีก 2 ลำก็ได้ มีเครนขนาดใหญ่ซึ่งถูกออกแบบมาเป็นพิเศษ ช่วยเหลือในการยกเรือและหรือตู้คอนเทนเนอร์ขึ้นลงจากเรือ
Mission
Bay ยังเชื่อมต่อกับโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์
นำอากาศยานไร้คนขับขนาดใหญ่มาจอดได้ จะรุ่นปีกแข็งหรือรุ่นปีกใบพัดกรุณายัดมาเลยครับ
ในภาพมาจากแบบเรือฟริเกตลำใหม่ของแคนาดา (ใช้แบบเรือ Type 26
ของอังกฤษ) บริเวณกราบซ้าย (ขวามือของภาพ) มีช่องปล่อยเรือเล็กอีก
1 ลำ ฉะนั้นถ้าบ้าพลังใส่เรือยางได้มากถึง 5 ลำ Mission Bay กลางเรือราคาถูกกว่าและใช้งานสะดวกกว่าท้ายเรือ
โดยมีข้อแม้ว่าเรือต้องมีขนาดใหญ่พอสมควร รวมทั้งถูกออกแบบให้มี Mission
Bay ตั้งแต่เริ่มทำพิมพ์เขียว
นำมาปรับปรุงเพิ่มเติมทีหลังผู้เขียนคิดว่าไม่เหมาะสม
มาถึงตัวอย่างสุดท้ายคือ
Mission
Bay รุ่นประหยัด โดยการออกแบบให้มีช่องปล่อยเรือเล็กฝั่งละ 2 จุด ใส่เครนบนหลังคาเข้าไปทั้ง 2 จุดหรือจุดเดียวก็ได้
เวลาปรกติใส่เรือยางท้องแบนไปตามท้องเรื่อง แต่ถ้าต้องการทำภารกิจต่อต้านทุ่นระเบิด
ให้ถอดเรือยางฝั่งซ้ายมือออกไปทั้งหมด
ช่องแรกใส่ยานใต้น้ำไร้คนขับหรือยานใต้น้ำกวาดทุ่นระเบิด ช่องที่สองใส่คอนเทนเนอร์สำหรับเจ้าหน้าที่ควบคุม
หรือจะใช้ติดตั้งปืนกล 20 มม.เพิ่มในภารกิจปราบโจรสลัดก็ได้
แค่มีช่องปล่อยเรือพร้อมเหล็กปิดซึ่งใช้เงินไม่มาก
เท่านี้คุณก็สามารถทำภารกิจได้ทุกสภาวะอากาศ ไม่จำเป็นต้องตากแดดตากฝนหรือตากหิมะ ตัวอย่างในภาพก็คือเรือฟริเกตชั้น
Leander
ของบริษัท Bae System ประเทศอังกฤษ ส่งเข้าร่วมชิงชัยโครงการเรือฟริเกต
Type 31e แต่พ่ายแพ้ต่อคู่แข่งซึ่งมีช่องปล่อยเรือเล็กฝั่งละ
2 จุดเช่นกัน
เรือคอร์เวตในโครง
EPC ก็มี Mission Bay รุ่นประหยัด
นี่คือแนวคิดใหม่เอี่ยมที่สมควรจับตามอง ไม่อย่างนั้นอาจตกขบวนรถไฟไปอีกหลายปี
ผู้เขียนขอนำเสนอเล็กน้อยพอเป็นน้ำจิ้ม วันนี้ต้องกล่าวอำลากันตรงนี้สวัสดีรอบวงครับ
J
-------------------------------------------------------
อ้างอิงจาก
รายงานเรื่อง
: Permanent Structured
Cooperation (PESCO)'s projects
รายงานเรื่อง
: Piano di dismissioni
delle Unità Navali entro il 2025
รายงานเรื่อง
: Stato Maggiore Marina VII Reparto Navi
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น