วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2562

Tuzla Class Anti-Submarine Patrol Boat


เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำจากตุรกี
ตุรกีเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานประเทศหนึ่ง มีดินแดนอยู่ในทวีปเอเชียรวมทั้งยุโรป เข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต้ปี 1952 พร้อมๆ กับกรีซเพื่อนรักเพื่อนแค้นบ้านอยู่ติดกัน อาวุธที่ใช้งานจำเป็นต้องตามมาตรฐานนาโต้ เพราะมีนโยบายพึ่งพาตนเองจึงมีอุตสาหกรรมทางทหารที่ดี ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ได้หลากหลายทั้งใช้งานและส่งออก พวกเขามีความพยายามที่จะเจาะตลาดกองทัพไทย แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่เป็นรูปเป็นร่างอย่างใจฝัน
ปี 2004 กองทัพเรือตุรกีมีโครงการจัดเรือตรวจการณ์รุ่นใหม่ นำมาทดแทนเรือตรวจการณ์ชั้น Kartal กับ Vegesack ภายในระยะเวลา 10 ปี New Type Patrol Project หรือ NTPB คือชื่อเรียกโครงการนี้ กำหนดให้สร้างเรือขึ้นเองในประเทศ จำนวนเรือ 16 ลำ มูลค่ารวมอยู่ที่ 402 ล้านยูโร หรือ 25.125 ยูโรต่อลำ หรือ 840 ล้านบาทต่อลำเทียบกับค่าเงินบาทปัจจุบัน ผู้ชนะเลิศโครงการนี้ก็คืออู่ต่อเรือ Dearsan Shipyard เรามาชมแปลนเรือกันก่อนนะครับ


Dearsan เรียกว่าเรือตรวจการณ์ความยาว 57 เมตร แต่ส่วนใหญ่รู้จักในชื่อเรือชั้น P1200 ระวางขับน้ำ 377 ตัน ยาว 56.9 เมตร กว้าง 8.9 เมตร กินน้ำลึก 2.51 เมตร ติดปืนกล 40 มม.ลำกล้องแฝดเป็นปืนหลัก ปืนกล 12.7 มม.ควบคุมด้วยรีโมทเป็นปืนรอง มีจรวดปราบเรือดำน้ำ 1 แท่นยิง รางปล่อยระเบิดลึกอีก 1-2 ราง มีเรดาร์เดินเรือ X-Band ขนาด 25kW 1 ระบบ ออปโทนิกส์ควบคุมการยิง 1 ระบบ มีโซนาร์ทำงานร่วมกับจรวดปราบเรือดำน้ำ 1 ระบบ ใช้ระบบอำนวยการรบผลิตขึ้นเองในประเทศ ใช้เครื่องยนต์ดีเซล MTU จำนวน 2 ตัว ทำความเร็วสูงสุด 25 นอต ระยะปฏิบัติการณ์ไกลสุด 1,000 ไมล์ทะเลที่ 14 นอต สามารถออกทะเลได้นานสุด 3 วัน และใช้ลูกเรือรวมทั้งสิ้นเพียง 32 นาย
โครงการ New Type Patrol Project เซ็นสัญญาวันที่ 23 สิงหาคม 2007 เริ่มต้นเดินหน้าทันทีในอีก 3 เดือนถัดมา เรือลำแรก TCG Tuzla (P-1200) ทำพิธีปล่อยลงน้ำวันที่ 9 เมษายน 2010 เข้าประจำการวันที่ 9 มกราคม 2011 เรือลำสุดท้าย TCG Kusadasi (P-115) ทำพิธีปล่อยลงน้ำระหว่างปี 2012 เข้าประจำการระหว่างปี 2014 จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ กองทัพเรือตุรกีกับอู่ต่อเรือ Dearsan ทำทุกอย่างตามกฎระเบียบและกำหนดการแบบตรงเผง
ข้อดีก็คือได้เรือใหม่ทดแทนเรือเก่าตามกำหนด ราคารวมของโครงการไม่บานปลาย อู่ต่อเรือสามารถวางแผนการสร้างเรือได้อย่างชัดเจน ทหารเรือเองสามารถวางแผนสร้างกำลังพลและกองเรือได้อย่างชัดเจน ส่วนข้อเสียก็มีพอเหมือนกัน ถ้าพระเดชพระคุณอยากย้ายค่ายหรือยกเลิกโครงการ จะทำไม่ได้อย่างเด็ดขาดเพราะผิดกฎโน่นนั่นนี่นุ่นแน่!


เมื่อเรือลำแรกสร้างเสร็จต้องเป็นข่าวใหญ่ ให้ประชาชนได้รับทราบว่าภาษีของคุณทำอะไรไปบ้าง สังเกตดีๆ จะเห็นว่าเรือสร้างบนอู่ลอยหรือ Floating Dry Dock สร้างเสร็จก็ปล่อยลงน้ำกันง่ายๆ ตรงนั้นแหละ พิธีกรรมของเขามีการประดับลูกโป่ง ธงประเทศต่างๆ รวมทั้งพวงมาลัยเช่นกัน มาชมภาพเรือจริงทดลองแล่นเรือกันต่อเลย


นี่คือเรือลำแรก TCG Tuzla (P-1200) ติดตั้งอาวุธครบถ้วนแล้วยกเว้นออปโทนิกส์ควบคุมการยิง อยากให้พิจารณารูปร่างหน้าตาโดยรวม สะพานเดินเรือขยับอยู่กลางลำพอดิบพอดี ส่วนด้านหน้าสร้างเป็นห้องต่างๆ ลาดเอียงอย่างสวยงาม เสากระโดงขนาดพอดีตีเหล็กปิดทับทั้งหมด จากมุมนี้จะมองไม่เห็นเรือยางซึ่งอยู่กราบซ้ายเรือ 1 ลำ
แบบเรือลดการตรวจจับด้วยเรดาร์ได้ระดับหนึ่ง ใช้ราวกับตกเป็นแผ่นเหล็กตียาวจากกลางเรือถึงท้ายเรือ พื้นที่ท้ายเรือค่อนข้างสั้นแต่ค่อนข้างโล่ง กราบเรือทั้งสองฝั่งไม่ได้ทาสีเข้มป้องการควันไอเสียเครื่องยนต์ เพราะถูกออกแบบให้ระบายควันเสียน้อยกว่าเดิม และติดตั้งระบบบังคับทิศทางให้ควันพ่นห่างตัวเรือ ทำให้มีคราบสกปรกค่อนข้างน้อยจนไม่ต้องทาสีเข้ม แบบเรือรุ่นใหม่ๆ จะเป็นประมาณนี้กันหมดแล้ว รวมทั้งเรือตรวจการณ์ติดจรวด VL-Mica ลำใหม่ของสิงคโปร์


ผู้เขียนนำเรือตรวจการณ์ชั้น M58 ของมาร์ซันมาเปรียบเทียบ สะพานเดินเรือค่อนมาทางหัวเรืออย่างเห็นได้ชัด ใช้เสากระโดงแบบโปร่งให้ระบบออปโทรนิกส์คุมปืนกลท้ายเรือได้ดีที่สุด มีเรือยาง 2 ลำบนดาดฟ้าเรือชั้นสอง พื้นที่ท้ายเรือยาวกว่ากันพอสมควร แต่มีห้องขนาดเล็กพร้อมประตูใกล้กับปืนกล 30 มม. น่าจะเกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้าหรือเครื่องยนต์นี่แหละ สองกราบเรือมีท่อระบายอากาศกับท่อดูดอากาศ (ของจริงขนาดใหญ่กว่าในภาพ) มีที่ว่างตั้งตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ได้ 1 ตู้ กราบเรือทาสีดำตั้งแต่กลางเรือไล่มาถึงท้าย ขนาดโดยรวมใกล้เคียงกับเรือตรวจการณ์ของตุรกี
ต้องบอกว่า P1200 ทันสมัยกว่า M58 รวมทั้งสามารถติดตั้งอาวุธได้มากกว่า เรือของเราติดจรวดปราบเรือดำน้ำของตุรกีได้นะครับ ตรงจุดวางตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์นั่นแหละ ถึงมีห้องควบคุมกับปืนกล 30 มม.ขวางทางไม่เป็นอะไร เพราะปรกติจะยิงจรวดทำมุม 60 องศาข้ามหัวไปเลย P1200 ติดจรวดต่อสู้เรือรบได้แต่M58 ติดไม่ได้ เพราะไม่ได้ออกแบบให้มีที่ว่างเผื่อไว้เหมือนเรือต.944 ซึ่งออกแบบไว้ก็จริงแต่คงไม่ได้ติดตั้งอย่างแน่นอน
ผู้อ่านทางบ้านเขียนจดหมายมาสอบถามว่า P1200 ติดปืนใหญ่ 76/62 แบบ M58 ได้หรือไม่? ถ้าเป็นรุ่น Compact แบบเรือหลวงกระบี่ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นรุ่น Super Rapid พร้อมระบบโหลดกระสุนรุ่นใหม่แบบเรือหลวงประจวบ ผู้เขียนไม่แน่ใจว่ามีพื้นที่ใต้ดาดฟ้าเรือเพียงพอหรือเปล่า อาจต้องปรับปรุงกันเยอะหน่อยถ้าอยากติดจริงๆ


กลับมาที่นางเอกของเราอีกครั้ง ดูบั้นท้ายเหลี่ยมจัดกับสะโพกสุดเสียงสังข์กันบ้าง เห็นจรวดปราบเรือดำน้ำกับรางปล่อยระเบิดลึก อย่างชัดเจน ที่เป็นห้องเปิดประตูทิ้งไว้กราบซ้ายจะเว้าค่อนข้างลึก มุมขวาสุดของภาพคือปืนกล 12.7 มม.ควบคุมด้วยรีโมทรุ่น STAMP พัฒนาโดยบริษัท Aselsan ของตุรกี รูปร่างหน้าตาคล้ายรุ่น HITROLE-NT ของอิตาลีมาก
ท้ายเรือไม่มีอุปกรณ์ตั้งระเกะระกะ ไม่มีท่อระบายอากาศกับท่อดูดอากาศตั้งบนดาดฟ้าเรือ พื้นที่อันน้อยนิดจึงใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ P1200 หรือเรือตรวจการณ์ชั้น Tuzla มีอาวุธที่มิตรรักแฟนเพลงชาวไทยนิยมชมชอบ บางคนขอแลกกับบัตรจับมือน้องๆ BNK48 กันเลยทีเดียว สิ่งนั้นก็คือ Roketsan ASW Weapon System


ผู้เขียนขอเรียกง่ายๆ ว่าจรวดปราบเรือดำน้ำ Roketsan เป็นจรวดปราบเรือดำน้ำแบบไม่นำวิถี บรรจุได้มากสุด 6 นัดต่อ 1 แท่นยิง ควบคุมการทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เมื่อได้ข้อมูลจากโซนาร์ว่าพบเรือดำน้ำทิศทางเท่านี้ระยะทางเท่านี้ คอมพิวเตอร์จะสั่งตั้งค่าระดับความลึกในการจุดระเบิดหัวรบ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะยิงจรวดนัดเดียวหรือซัลโวใส่เป้าหมาย ระยะยิงไกลสุดมากถึง 2,000 เมตร ระยะยิงลึกสุดมากถึง 300 เมตร เป็นอาวุธราคาประหยัดแต่ประสิทธิภาพสูงหรือเปล่า?
เรื่องนี้จำเป็นต้องวิเคราะห์เจาะลึก และควรมีตัวอย่างประกอบให้เห็นชัดเจน จรวดปราบเรือดำน้ำไม่นำวิถีแปลว่าไม่มีระบบนำวิถี จะวิ่งขึ้นฟ้าก่อนตกลงมาแล้วจุดระเบิดตามความลึกที่ตั้งไว้ ถ้าเรือดำน้ำบังเอิญอยู่แถวๆ นั้นอาจเสียหายจนถึงขั้นจม แต่จรวดจะไร้ค่าโดยสิ้นเชิงถ้าโซนาร์ตรวจเป้าหมายไม่พบ ผู้เขียนขอพาไปรู้จักอุปกรณ์ตรวจจับประจำเรือกันต่อเลย
วันที่ 16 กันยายน 2008 กองทัพเรือตุรกีขอซื้อระบบโซนาร์ Simrad SP92MKII จากบริษัท Kongsberg ประเทศนอร์เวย์ จำนวน 16 ระบบมูลค่ารวม 3.6 ล้านยูโร โซนาร์จะถูกส่งให้บริษัท Havelsan ผู้พัฒนาระบบอำนวยการรบ GENESIS เพื่อปรับปรุงให้โซนาร์กับระบบอำนวยการรบทำงานร่วมกันได้ เห็นอะไรที่มันแปลกๆ บ้างไหมครับ
อะไรแปลกๆ ที่ว่าก็คือราคา โซนาร์ 1 ระบบมูลค่าเพียง 225,000 ยูโร ที่เป็นเช่นนี้เพราะโซนาร์ Simrad SP92MKII ซึ่งเป็นรุ่นย่อยของรุ่น Simrad SX90 เป็นโซนาร์ใช้งานบนเรือหาปลา บริษัทผู้ผลิตใช้คำว่า Low Frequency Long Range Fish Finding Sonar มีจอแสดงผลกับรูปร่างหน้าตาใกล้เคียงกับภาพนี้เลย


ภาพกราฟิกที่แสดงเป็นระบบโซนาร์รุ่น Simrad SX90 โดยที่รุ่นย่อย Simrad SP92MKII จะมี Hull Unit ยาว 1.2 เมตร (ท่อยาวๆ สีทองเชื่อมต่อกับ Transducer สีแดงซึ่งจะยื่นออกไปใต้ท้องเรือ) ตรวจจับและติดตามเป้าหมายได้ไกลสุด 3,000 เมตร ทำงานได้ถึงความเร็วระดับ 24 นอต การบีม 1 ครั้งสามารถตรวจจับได้ 90 องศา สามารถบีมติดกันเพื่อสร้างภาพ 360 องศาได้ แต่ประสิทธิภาพสู้โซนาร์ตรวจจับเรือดำน้ำของแท้ไม่ได้ ตามเทคโนโลยี ราคา และขนาดอุปกรณ์นั่นเอง
ประสิทธิภาพของโซนาร์ Simrad SP92MKII เข้ากันได้ดีกับเรือและจรวดปราบเรือดำน้ำ Roketsan แต่เอาเข้าจริงจะทำงานได้มีประสิทธิภาพมากแค่ไหน ผู้เขียนขอเปรียบเทียบกับจรวดปราบเรือดำน้ำ Type 86 หรือ RBU-1200 ซึ่งมีติดตั้งบนเรือฟริเกตชั้นเจียงหูของเราจำนวน 4 ลำนะครับ
เรือเราใช้ระบบโซนาร์แบบ SJD - 5A ฝังหัวเรือหรือเรียกว่า Bow Mounted Sonar ระยะตรวจจับไกลสุด 8 ไมล์ทะเล  เมื่อยิงจรวด Type 86 ในโหมดซัลโวพร้อมกัน 10 นัด ใส่เป้าหมายในน้ำลึกไม่เกิน 100 เมตรและห่างไม่เกิน 1,200 เมตร โชคในการยิงโดนจะน้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เรือตุรกียิงจรวดเพียง 6 นัดที่ระยะมากถึง 2,000 เมตร โอกาสที่จรวดจะเกาะกลุ่มย่อมมีน้อยกว่าตามหลักวิทยาศาสตร์ โชคในการยิงโดนเป้าหมายก็คงไม่ดีไปกว่าเรือเรา เพราะถึงจะใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการกำหนดเป้าหมาย แต่จรวดไม่มีระบบนำวิถีจึงต้องใช้ดวงเยอะพอสมควร
อ้าวแล้วตุรกีพัฒนาจรวดปราบเรือดำน้ำเพื่ออะไร? เอาเรือมาติดโซนาร์กับตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำดีกว่าไหม? ต้องเข้าใจว่าโซนาร์ตรวจจับเรือดำน้ำราคาถูกสุดก็ 10 ล้านเหรียญ ขนาดค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดเรือ จะกินพลังงานมากและอาจทำให้เรือสั่นตอนใช้งาน ถ้าเอาโซนาร์ลากท้าย Variable Depth Sonar หรือ VDS ขนาดเล็กซึ่ง Kongsberg ก็มีขายล่ะ? ราคาอาจถูกลงมาบ้างแต่จะขาดโหมด Passive ในการตรวจจับ และไม่สามารถติดรางปล่อยระเบิดลึกท้ายเรือได้
โซนาร์ 16 ระบบเท่ากับ 160 ล้านเหรียญ แต่ราคาตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำโหดกว่า ผู้อ่านรู้จัก MU-90 กันทุกคนใช่ไหมครับ ราคาที่ฝรั่งเศสซื้อเองเมื่อหลายปีก่อนเท่ากับ 2.2 ล้านยูโร ซื้อมาแค่ 50 ลูกปาเข้าไป 110 ล้านยูโร หรือถ้าเอา MK54 ซึ่งเป็นชุดคิทแปลงร่างตอร์ปิโด MK46 ราคาชุดละ 1.5 ล้านเหรียญ ซื้อมา 50 ชุดปาเข้าไปตั้ง 75 ล้านเหรียญ รวมทั้งต้องเสียตอร์ปิโดเดิมไปถึง 50 ลูก ด้วยเหตุนี้เองตุรกีจึงพัฒนาจรวดปราบเรือดำน้ำ Roketsan
ประเด็นที่สองตุรกีใช้งานเรือในเขตน้ำตื้น ไม่ไกลจากชายฝั่งรวมทั้งบริเวณท่าเรือ ต้องการอาวุธติดเรือเพื่อกดดันหรือขับไล่เรือดำน้ำฝ่ายตรงข้าม ส่วนภารกิจไล่ล่าปราบเรือดำน้ำเป็นของเรือฟริเกตกับเฮลิคอปเตอร์ เพราะฉะนั้นใช้จรวดปราบเรือดำน้ำกับระเบิดลึกก็ดูเหมาะสมดี รวมทั้งในเขตน้ำตื้นมากๆ ทั้งโซนาร์ตรวจจับเรือดำน้ำและตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำอาจทำงานไม่เต็มร้อย บางครั้งโซนาร์เรือหาปลากับจรวดไม่นำวิถีอาจมีประสิทธิภาพมากกว่า ฉะนั้นมีไว้ก็ไม่เสียหายไม่ใช่เหรอ


มาชมภาพการสร้างเรือกันบ้างนะครับ สร้างพร้อมกัน 2 ลำบนอู่ลอยที่กำลังลอยเท้งเต้ง ดูสบายๆ ตามสไตล์ประเทศมีมนต์ขลัง กราบซ้ายเห็นเรือยางขนาด 4.2 เมตรจำนวน 1 ลำ เสากระโดงเรือลงทุนตีเหล็กปิดครบทุกด้าน ไม่ได้ปล่อยโล่งแบบเรือหลวงกระบี่ที่มุมหน้า-หลังส่องแล้วเป็นรูโบ๋ มีอยู่จุดหนึ่งผู้เขียนสงสัยมานานหลายปีแล้วว่า ในกรณีมีสะพานขึ้นดาดฟ้าเรือชั้นถัดไปแค่เพียง 1 อัน มักจะอยู่กราบซ้ายเรือเสมอไม่รู้เป็นเพราะอะไร
หลังจากเรือ TCG Tuzla (P-1200) เข้าประจำการได้ไม่นาน อู่ต่อเรือ Dearsan โชคดีได้ลูกค้ารายใหม่ต่อกันไปเลย กองทัพเรือเติร์กเมนิสถานสั่งซื้อเรือตรวจการณ์ยาว 57 เมตรจำนวน 2 ลำ มูลค่ารวม 55 ล้านยูโรหรือ 27.5 ล้านยูโรต่อลำแพงขึ้นมาเล็กน้อย เรามาชมภาพเรือลำนี้ไปพร้อมกันเลย


ภาพเล็กนะครับไม่ใช่ภาพใหญ่ รูปร่างหน้าตาคล้ายเรือตุรกีถึง 90 เปอร์เซ็นต์ แต่มีเสากระโดงสูงกว่ากันพอสมควร เพราะติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์รุ่น Thales Variant เพิ่มเข้ามา ไม่มีจุดนั่งตรวจการณ์เหนือสะพานเดินเรือ มีปืนกล 12.7 มม.ควบคุมด้วยรีโมทเป็นปืนรอง แต่ไม่มีอาวุธปราบเรือดำน้ำท้ายเรือแม้แต่ชนิดเดียว ราคาแพงกว่าของตุรกีเล็กน้อยเพราะสั่งซื้อเพียง 2 ลำ รวมทั้งเป็นราคาส่งออกต้องบวกกำไรเพิ่มเข้ามาสักหน่อย
เรือใหม่ 2 ลำไม่ทันส่งมอบส้มหล่นอีกรอบแล้ว วันที่ 6 มิถุนายน 2013 หน่วยยามฝั่งเติร์กเมนิสถานขอสั่งซื้อเรือเพิ่มมากถึง 8 ลำ ทว่าคราวนี้จัดแน่นจัดเต็มกว่าเรือกองทัพเรือ ติดตั้งปืนกล 40 มม.ลำกล้องแฝด 1 กระบอก ปืนกล 25 มม.ควบคุมด้วยรีโมท 2 กระบอก ปืนกล 12.7 มม.ควบคุมด้วยรีโมท 2 กระบอก จรวดปราบเรือดำน้ำ Roketsan 1 แท่นยิง จรวดต่อสู้อากาศยาน Simbad-RC 2 แท่นยิง และจรวดต่อสู้เรือรบ Otomat Mk 2 Block IV 4 นัด สามารถทำการรบแบบ 3 มิติได้อย่างสบาย
เรือของหน่วยยามฝั่งก็คือภาพใหญ่นั่นเอง นี่คือเรือหน่วยยามฝั่งที่เปรี้ยวสวยเผ็ดมากที่สุด เหมาะสมกับคนชอบเรือลำเล็กแต่ติดอาวุธล้นลำ ส่วนใช้งานจริงดีไม่ดีนั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง เรามาชมภาพแอบถ่ายกันสักเล็กน้อย


ทายกันหน่อยไหมว่าเรืออยู่บนอู่ลอยหรือบนฝั่ง เสากระโดงสูงขึ้นอย่างชัดเจน มีจุดวางออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง เรดาร์เดินเรือ และเรดาร์ตรวจการณ์ Thales Variant สร้างจุดวางแท่นยิงจรวดต่อสู้อากาศยาน Simbad-RC สร้างจุดวางแท่นยิงจรวดปราบเรือดำน้ำ Roketsan  ทาสีเขียนชื่อเรือทั้งสองกราบอย่างชัดเจน ราคาต่อลำไม่ทราบจริงๆ แต่น่าจะแพงเอาการ


ปัจจุบันเรือทั้ง 8 ลำเข้าประจำการครบแล้ว ภาพนี้คือลำสุดท้าย SG-118 Synmaz ติดอาวุธครบถ้วนเรียกว่าตรงปก หลังปืนกล 40 มม.สามารถยัดแท่นยิงจรวดปราบเรือดำน้ำได้ ปืนกล 12.7 มม. STAMP ย้ายไปอยู่หลังคาสะพานเดินเรือ ส่วนจุดเดิมติดตั้งปืนกลขนาด 25 มม.น่าจะเป็นรุ่น STOP ของ Aselsan ท้ายเรือใช้ราวกันตกแบบโปร่งเพราะติดจรวดต่อสู้เรือรบ นี่คือข้อแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดกับเรือกองทัพเรือเติร์กเมนิสถาน
แปลกพิกลที่เรือยามฝั่งมาแบบอาวุธล้นลำ ส่วนกองทัพเรือโล่งมากจนถึงมากที่สุด เข้าใจว่าเรือเป็นตัวท๊อปลำใหญ่สุดของหน่วยยามฝั่ง ต้องเข้าปะทะกับบรรดาผู้รุกรานเป็นด่านแรก ผู้บัญชาการพยายามผลักดันจนได้เรือหน้าตาแบบในภาพ ส่วนของกองทัพเรือใช้ภารกิจทั่วไปไม่ค่อยสำคัญ เพราะตัวเองมีเรือรบขนาดใหญ่อีกจำนวนหลายลำ จึงเกิดกรณีหวานมันส์ฉันคือเธอให้ทั่วโลกได้จดจำ แปลกดีครับ


มีเรือแล้วต้องทดสอบอาวุธกันสักหน่อย เริ่มจากอาวุธเทพจรวดปราบดำน้ำ Roketsan ควันเยอะมากเพราะไม่ยอมใช้ไดเกียวทูทีฝาเขียว อยากได้มาติดเรือหลวงแหลมสิงห์กันบ้างไหม? แต่ต้องปรับปรุงเข้ากับระบบอำนวยการรบเอาเอง หรือถ้าต้องการเปลี่ยนโซนาร์ตัวใหม่ทีนี้เรื่องใหญ่เลย ไม่รู้คุ้มหรือเปล่าเพราะเราไม่ได้มีเรือ 16 ลำเหมือนเขา อาวุธในปัจจุบันไม่ใช่นึกอยากจะติดก็ติดกันได้เลย โดยเฉพาะอาวุธปราบเรือดำน้ำค่อนข้างยาก แต่ที่ยากที่สุดน่าจะเป็นจรวดต่อสู้อากาศยาน เอามาติดแล้วยิงออกไม่ใช่เรื่องใหญ่โต แต่เอามาติดแล้วยิงโดนหรือเปล่านี่แหละปัญหา


ทดสอบของหนักกันบ้าง จรวดต่อสู้เรือรบ Otomat Mk 2 Block IV ระยะยิงไกลสุด 180 กิโลเมตรพร้อมระบบดาต้าลิงก์ บินเรี่ยน้ำแบบนี้รับรองว่าน้ำเข้าจมแน่นอน ถ้าโดนโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์หรือหัวเรือแบบ C-802 แบบนั้นไม่จม


เดี๋ยวจะว่าไม่ใช่ดูกันอีกสักภาพ บูทเตอร์จรวดจะเริ่มทำงานในช่วงแรกสุด เชื้อเพลิงหมดถังค่อยสลัดทิ้งให้เครื่องยนต์หลักทำงาน ส่วนตัวผู้เขียนชอบจรวดรุ่นนี้เพราะสวยดี ประสิทธิภาพไม่สนใจเพราะไม่มีเงินซื้ออยู่แล้ว
เติร์กเมนิสถานซื้ออาวุธค่อนข้างเยอะ ประเทศที่เจาะตลาดได้มีเพียง 3 ประเทศคือรัสเซีย อิตาลี และตุรกี ในเวลาไม่กี่ปีอู่ต่อเรือ Dearsan ขายเรือได้รวมกันถึง 25 ลำ ประกอบไปด้วยเรือตรวจการณ์ความยาว 57 เมตรจำนวน 10 ลำ เรือยกพลขึ้นบกจำนวน 2 ลำ เรือเร็วโจมตีความยาว 33 เมตรจำนวน 6 ลำ เรือค้นหาและกู้ภัยจำนวน 5 ลำ และเรือสำรวจอุทกศาสตร์อีก 1 ลำ ถ้าผู้อ่านอยากร้องคำว่า โอ้โฮกรุณาหยุดไว้ก่อน ที่เขียนมาทั้งหมดเป็นแค่เพียงหนังตัวอย่าง
วันที่ 2 สิงหาคม 2019 กองทัพเรือ เติร์กเมนิสถาน เซ็นสัญญากับบริษัท Gulhan & Dearsan Business Partnership สั่งซื้อเรือคอร์เวตความยาว 65 เมตรจำนวน 1 ลำ ตามโครงการเรือคอร์เวตชั้น Turkmen ที่เพิ่งตั้งใหม่ รายละเอียดโครงการยังไม่มีแพร่งพราย ทราบแค่เพียงว่าจะสร้างเรือที่เมือง Turkmenbashi แปลได้ว่านี่คือเรือรบลำแรกที่เติร์กเมนิสถานสร้างเองภายในประเทศ ไม่มีของจริงชมแบบเรือจากอู่ต่อเรือ Dearsan ไปพลางก่อน


แบบเรือมีความละหม้ายคล้ายคลึงเรือ P1200 แต่ใหญ่กว่า ทันสมัยกว่า และติดอาวุธหนักกว่า ดูเฉพาะระบบอาวุธกับระบบเรดาร์แล้วอึ้งทึ่งเสียว เหมือนนำเรือหลวงประจวบของเรามาย่อส่วนให้เล็กลง ทว่าลำจริงไม่น่ามีจรวดต่อสู้เรือรบ Harpoon ไม่น่ามีจรวดต่อสู้อากาศยาน RAM ส่วนปืนใหญ่ 76/62 เรดาร์ตรวจการณ์กับเรดาร์ควบคุมการยิงเดาว่ามาแน่นอน อาวุธและเรดาร์ทั้งหมดใช้งานกับระบบอำนวยการ GENESIS ได้อยู่แล้ว ต้องรอดูว่าโครงการนี้มีกี่ลำและติดอาวุธอะไรบ้าง
เติร์กเมนิสถานซื้ออาวุธมากราวกับสามล้อถูกหวยก็จริง ทว่าพวกเขาวางแผนสำหรับอนาคตไว้อย่างดี ถ้าไม่มีเกิดเหตุคดีพลิกระดับโลกทุกอย่างจะไปได้สวย อีก 5-10 ปีอาจถึงขั้นต่อเรือตรวจการณ์ของตัวเองได้แล้ว
แบบเรือ P1200 ปัจจุบันเข้าประจำการแล้วถึง 26 ลำ ถือว่าเยอะมากในโลกที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูง ผู้เขียนขอพามาชมของแปลกปิดท้ายบทความ ไม่ใกล้ไม่ไกลที่ท่าเรือประเทศตุรกีนั่นแหละ


                ลำหน้าก็คือเรือชื่อ TCG Tuzla (P-1200) ลำหลังที่อยู่ใกล้กันสีขาวเป็นเรือหน่วยยามฝั่ง ขนาดใหญ่กว่ากันเพราะเป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ระวางขับน้ำ 1,700 ตันติดปืนกล 40 มม.ลำกล้องแฝดอาวุธยอดนิยม หน่วยยามฝั่งตุรกีมีเรือตรวจการณ์ลำใหญ่อยู่แล้ว รองลงมาเป็นเรือตรวจการณ์ติดปืนยาว 36.6 เมตร ฉะนั้นเรือตรวจการณ์กองทัพเรือยาว 57 เมตร ต้องมีอาวุธมากกว่าปืน ทำหน้าที่ได้มากกว่าตรวจการณ์ จับเรือประมง จับเรือป๊อกเด้งน้ำเต้าปูปลา หรือจับเรือขนบุหรี่เถื่อนเหล้าเถื่อน
หวยจึงมาออกที่เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ ราคาไม่แพง ติดอาวุธพัฒนาเอง ติดระบบอำนวยการรบพัฒนาเอง ติดระบบโซนาร์เรือหาปลา สามารถติดอาวุธเพิ่มเติมได้ และที่สำคัญสามารถขายต่างชาติได้ด้วย เรือชั้น P1200 เป็นเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำรุ่นล่าสุดของนาโต้ และน่าจะเป็นรุ่นสุดท้ายไม่มีใครสร้างอีกแล้ว แต่เธอสวยมากจนผู้เขียนแอบฝันถึง เราเคยซื้อแบบเรือยกพลขึ้นบกกับเรือน้ำมันขนาดเล็กจากตุรกีมาแล้ว ไฉนเลยจะไม่สนใจแบบเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ
แต่กับสถานการณ์ตอนนี้ต้องใช้คำว่าสิ้นหวัง ถ้าแบบเรือ M58 ของมาร์ซันไม่ได้ไปต่อหวยน่าจะออกเรือรัสเซียหรือเรือจีนสองประเทศนี้แหละ พบกันใหม่ในบทความหน้าสวัสดีครับ ;)
                     -------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น